ฉบับที่ 163 ปักษ์หลัง 16-31 กรกฎาคม 2544
ข่าวหน้า1 | ธรรมะพ่อท่าน | กสิกรรมธรรมชาติ | จับกระแส ต.อ. | สกูป | ศูนย์สุขภาพ | ข่าวหน้าใน | ข่าวสั้น [กลับหน้า index]

[1] ชมร. สาขาจตุจักรย้ายแล้ว ลูกค้ามากกว่าเดิมเท่าตัว แต่ยังขาดแรงงงานฟรีเหมือนเดิม

[2] คิดดี แต่ทำไมมีปัญหา

[3] สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต เขตศีรษะอโศก พัฒนาการศึกษา ระดับอนุปริญญา เป็นวิทยาลัยชุมชนแห่งแรกของชาวอโศก


[1] ชมร. สาขาจตุจักรย้ายแล้ว ลูกค้ามากกว่าเดิมเท่าตัว แต่ยังขาดแรงงงานฟรีเหมือนเดิม

ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาจตุจักร สังกัดสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม แรกเริ่มตั้งอยู่บริเวณตลาด อตก. ถนนกำแพงเพชร 2 มีเหตุที่ทำให้ต้องย้ายที่ทำการหลายครั้ง จนครั้งล่าสุดนับเป็นครั้งที่ 3 ที่ย้ายมา ถือเป็นที่ทำการแห่งที่ 4 ระยะเวลาตั้งแต่แรกเปิด ชมร. แห่งแรก จนถึงเวลานี้ นับเป็นปีที่ 19

ชมร. สาขาจตุจักรแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ในซอยเดียวกัน แต่ลึกเข้าไปอีก ห่างจากที่เดิมประมาณ 50 เมตร ได้เปิดให้บริการไปแล้วตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2544 เวลาให้บริการคือ อังคาร –ศุกร์ เวลา 06.00 – 14.00 น.

เสาร์ – อาทิตย์ เวลา 06.00 – 15.00 น.

อาสาสมัครทำงานประจำคือ คุณบัณฑิต อภิชาติมณีกุล, คุณสมทรง อภิชาติมณีกุล และคุณเพชรเพลิงธรรม อโศกตระกูล

อาสาสมัครจำหน่ายคูปองคือ คุณเบญจวรรณ เจริญวงศ์, คุณใจธรรม สิทธินาวิน, คุณปรับปรุง สิ้นป่าโลกีย์ (จิ๋ว) และคุณพัชรินทร์ คำเสียง (คืนฟ้าเพ็ญ)

สำหรับสภาพอาคารสถานที่ใหม่นั้น การระบายอากาศดีขึ้นมาก ทำให้ไม่ร้อนมากเหมือนที่ทำการเดิม พื้นปูกระเบื้องสวยงาม สะอาด เรียบร้อย ส่วนของศูนย์อาหาร มีลักษณะเป็นระเบียบเรียบร้อยถูกสุขอนามัย มองดูสวยงาม ที่จอดรถก็กว้างขวางกว่าเดิมหลายเท่า

ร้านอาหารภายในส่วนของศูนย์อาหาร มีทั้งหมด 18 ร้าน (รวมร้านหนังสือและเสื้อผ้าชุดไทย) และผู้จำหน่ายอาหารสวมใส่เสื้อม่อฮ่อม มีหมวกและผ้ากันเปื้อนดูถูกสุขลักษณะ

บรรยากาศแห่งใหม่ เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า เพราะมีสภาพตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งดีกว่าที่ทำการเดิมมาก อีกทั้งราคาอาหารก็ไม่แพง (ไม่เกิน 12-15 บาทต่อจาน) 40 บาทก็อิ่มแล้ว ลูกค้าพอใจกันมาก

สำหรับสถานที่ทางสมาคมฯ ได้ทำสัญญาเช่ากับทางการรถไฟ ระยะเวลา 4-3-3 ปี (4 ปี ต่ออีก 3 ปี และต่ออีก 3 ปีรวม 10 ปี)

ส่วนปัญหาของชมร. สาขาจตุจักรที่สำคัญคือ อาสาสมัครทำงานมีน้อย ยังขาดผู้ทำงานอีกหลายคน ที่จะช่วยขับเคลื่อนฐานงานแห่งนี้ ให้เป็นไปตามแนวนโยบายระบบบุญนิยม ที่พ่อท่านได้กรุณาวางไว้ให้แล้ว

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว] [กลับหน้า index]

[2] คิดดี แต่ทำไมมีปัญหา

ไม่ผิดอะไร ที่เราจะมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่จะผิดที่เรายึดติดกับความคิดนั้น ปักมั่นไม่ยอมคลาย เพื่อประสานหมู่กลุ่มประเภทเต็งหนึ่ง ไม่เป็นสอง หัวเดียวกระเทียมโทน

ก็อาจใช่… ที่ความคิดนั้นดีเลิศประเสริฐศรี ประเด็นนี้ไม่เถียง

แต่แม้ดีเพียงใดก็เถอะ แต่ถ้าหมู่ไม่เอา เราจะยอมถอนทิฏฐิได้มั้ย? เป็นปัญหาที่ให้เวลาขบคิดนานหน่อย… ลองมาฟังว่าพ่อท่านพูดไว้อย่างไรนัยนี้

“ศาสนาคือ พลังรวมสังคม เพราะฉะนั้น แม้บุคคลใด จะมีความเห็นไม่ลงร่องลงช่องกัน กับหมู่ แม้ว่าจะถูกต้อง เป็นความคิดที่ดีเลิศปานใดก็ตาม แต่ถ้าเผื่อว่า ผู้นั้นไม่เข้าใจคำว่า มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี นั้นเป็นทั้งสิ้นของศาสนา และเราก็ไม่วางใจหรือวางใจไม่ได้ วางใจไม่เป็น รวมเข้าเป็นทั้งสิ้นของศาสนาไม่ได้ ผู้นั้นจึงคือ ผู้ไม่ใช่ศาสนาอยู่แต่ผู้เดียวเท่านั้น”
(คาถาธรรม 8/5/27)

เราอาจะเป็นคนที่ทำลายศาสนา แม้มิได้ตั้งใจก็ตามที เพียงเพราะยึดติดหัวไอ้เรืองเป็นใหญ่ หรือจมฝังอยู่กับทิฏฐิอันตนสำคัญว่า “ดี” แต่เป็นดีที่ทำให้หมู่แตก ดีที่แยกไม่ยอมประสาน

กับการถอนทิฏฐิ ยอมรับว่ามันไม่ง่ายไม่งั้นโบราณท่านจะกล่าวไว้หรือว่า “อัตตาพระ มานะกษัตริย์ ตรัสแล้วไม่คืนคำ”

เอาเป็นว่าค่อยพูดค่อยจาก็แล้วกัน เขาอาจยังยึดมั่นความคิดตน หากไม่รุนแรงเสียหาย ก็เห็นอกเห็นใจเขาบ้าง ไม่ต้องบีบคั้นเอาเป็นเอาตาย จะให้เขาถอนทิฏฐิตนให้จงได้ กลายเป็นเจ็บปวดกันทุกฝ่าย

ให้เวลาและโอกาสซึ่งกันและกัน ได้เรียนรู้สัจจะและค้นหาตัวเอง ด้วยชีวิตจิตวิญญาณของและคน

พุทธบุตร ลูกหม้ออโศก

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว] [กลับหน้า index]

[3] สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต เขตศีรษะอโศก พัฒนาการศึกษาระดับอนุปริญญา เป็นวิทยาลัยชุมชนแห่งแรกของชาวอโศก เน้นเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เปิดสอนเริ่มแรก 3 หลักสูตร

สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต (มวช.) เขตศีรษะอโศกได้พัฒนาการศึกษารับอุดรศึกษาให้เจริญยิ่งขึ้น โดยในปี 2544ได้จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนขึ้นเป็นแห่งแรกของชาวอโศก เปิดสอนนิสิตวังชีวิตในระดับอนุปริญญา (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) ใช้เวลาเรียน 2 ปี จำนวน 6 เทอม เปิดสอน 3 หลักสูตร คือ 1. สาธารณสุขชุมชน สาขาเสริมสร้างสุขภาพชุมชน 2. พัฒนาชุมชน สาขา 3 อาชีพกู้ชาติ 3. วิศวกรรมชุมชน สาขาช่างอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหลักสูตรสาธารณสุขฯ ได้เปิดเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2544 สำหรับอีก 2 หลักสูตร จะทำการเปิดสอนในเวลาอีกไม่นานนัก โอกาสนี้ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์คุรุผู้ร่วมยกร่างหลักสูตรของวิทยาลัยชุมชน ถึงความเป็นมาของวิทยาลัยชุมชนดังนี้

คุรุขวัญดิน สิงหคำ

ที่มาของการก่อตั้งวิทยาลัยชุมชน

คือ เด็กนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากสัมมาสิกขาทุกแห่งของชาวอโศกจะเรียนต่อสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต (ระดับอุดรศึกษา) หรือตามมหาวิทยาลัยข้างนอกอยู่แล้ว ซึ่งเราห้ามเด็กไม่ได้ที่จะไม่ให้เรียน มหาวิทยาลัยข้างนอก ก็คิดว่าจะมีทางไหนที่เด็กอยู่กับเราแล้วก็ได้วุฒิอนุปริญญาด้วย เพราะใจลุก ๆ ไม่อยากให้เด็กออกนอกวัด คิดว่าสิ่งที่พ่อท่านนำเสนอในเรื่องการศึกษาเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้ว คือเด็กระดับ มหาวิทยาลัยต้องเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง ไม่ใช่สะเปะสะปะ แต่เด็กของเรายังไม่สามารถจะอยู่ในระบบนี้ได้ทั้งหมด บางคนที่เขาอยากจะเรียนตรงนี้อยู่ บังเอิญได้อ่านพระราชบัญญัติการศึกษาว่า ในระดับอนุปริญญามีอยู่ก็เลยคิดจะเปิดวิทยาลัยชุมชนนี้ขึ้นมา

คือถ้าเด็กเรียนกับเราอีก 2 ปี ก็เหมือนเพิ่มอายุให้เขาอยู่วัดต่อไปอีก 2 ปี หากเขามีโอกาสได้อยู่วัดมากเท่าไหร่ก็ดีเท่านั้น ในความรู้สึกของดิฉันก็คิดอย่างนี้ แล้วเมื่อเขาไปเรียนต่อข้างนอกอีก 2 ปี วัคซีนที่เขาได้รับก็จะคุ้มกันเขาได้มากขึ้น พอดีพระราชบัญญัตินี้ก็ออกมา คิดว่าเด็ก ๆ น่าจะได้อนุปริญญาก่อน แล้วค่อยไปต่ออีก 2 ปี

วิทยาลัยชุมชน คืออะไร

วิทยาลัยชุมชน คือ ชุมชนจัดการศึกษาเอง ให้คนที่ไม่สามารถไปเรียนในระดับอุดมศึกษา สามารถที่จะเรียนตรงนี้ได้ ชุมชนจัดเอง เช่นเรื่องของการย้อมผ้า ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องย้อมผ้าไปเลย ซึ่งจะเป็นเรื่องของอาชีพ

ดิฉันมีโอกาสไปพบกับผู้ใหญ่ทางการศึกษาที่ทำเรื่องของ วิทยาลัยชุมชนอยู่ ซึ่งของเขาก็ไม่ได้เหมือนกับของเราทีเดียวเลย อีกแบบหนึ่ง เขาก็บอกว่าถ้าพระราชบัญญัตินี้ออกมา เขาคงจะมาดูเรา ตอนนี้เป็นการจุดประกายเฉย ๆ ก็คิดกันว่า น่าจะทำหลักสูตรที่เหมาะกับเด็กนร.ของเรา ก็ทำไว้ 3 หลักสูตร คือ 1. สาธารณสุขบุญนิยม สาขาเสริมสร้างสุขภาพชุมชน 2. พัฒนาชุมชน สาขา 3 อาชีพกู้ชาติ 3. วิศวกรรมชุมชน สาขาข่างอุตสาหกรรม

ตอนนี้ก็เริ่มที่หลักสูตรสาธารณสุขบุญนิยม เพราะมีความพร้อมทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติควบคู่กันไปเลย ซึ่งใช้เวลา 2 ปี มี น.ร. อยู่ 13 คน จากศีรษะฯ 9 คน, ปฐมฯ 2 คน ราชธานีฯ 1 คน, ศาลีฯ 1 คน รวมเป็น 13 คน เด็กกลุ่มนี้เรายังไม่ให้เไปลงเรียนรามคำแหงหรือสุโขทัย เพราะว่าเขาเรียนหนักอยู่แล้ว เมื่อเขาเรียนตรงนี้จบไปเรียนต่อปริญญาก็ยังไม่สายเกินไป ไม่อย่างนั้นเขาจะพะวักพะวน เพราะต้องไปฝึกงานในโรงพยาบาล ทำกิจกรรมเยอะแยะ ต้องย้ายไปเรียนไปรักษาผู้ป่วยตามพุทธสถานต่างๆ เลยคิดว่าอย่าเพิ่งเรียนเลย หลังจากนั้นเขาเรียนก็ไม่เสียเวลา องค์ความรู้ตรงนี้ก็มีมากแล้ว

ตอนนี้เขาก็ไปฝึกงานที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ 2 อาทิตย์ แล้วทางโรงพยาบาลพอใจมาก เพราะว่าตั้งแต่มีบัตรทอง 30 บาท คนป่วยก็มีมากขึ้น พยาบาลก็เหนื่อย พอเด็กเราไปช่วยงานเขาพอใจมาก ช่วยงานเขาได้มากขึ้น

เขาให้เราทำไปก่อน แล้วจะอนุมัติในปี 2544 ในประเทศไทยมีการตั้ง วิทยาลัยชุมชนเพียง 10 จังหวัดเท่านั้น เอาเฉพาะจังหวัดที่ไม่มีสถาบันระดับอุดมศึกษา เขาถึงจะจัดตั้งให้ แต่ของเรานี่ถ้าได้ก็เป็นกรณีพิเศษ ที่แตกต่างจาก วิทยาลัยชุมชนที่เขาจัดตั้งขึ้นก็คือ เราจะรับเฉพาะเด็กนร. ที่จับจากสัมมาสิกขาของชาวอโศกเท่านั้น แต่ของเขาจะรับเด็กทั่ว ๆ ไป ดังนั้นของเราแต่ละรุ่นก็จะไม่มาก สิบกว่าคนอะไรอย่างนี้

ผลที่ได้

ได้พัฒนาถึงระบบการศึกษาของเราไปด้วย ก็เอาแนวคิดตรงนั้นมาจัดการศึกษารูปแบบหนึ่งในตรงนี้ เป็นการกระตุ้นให้เราทำอะไรที่เป็นรูปเป็น่างขึ้นมาในระยะเวลาอันสั้น ถ้าเด็กลงสุโขทัยหรือลงรามฯ ก็เหมือนห่างเราไป แต่ถ้าเป็น วิทยาลัยชุมชน การดูแลของเราก็ใกล้ชิดกับนักเรียนมากขึ้น เอาใจใส่มากขึ้น

โครงการนี้เริ่มตั้งแต่เปิดเทอมของวังชีวิต 5 มิ.ย. 2544 ส่วนหลักสูตรอื่น ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ดูสาธารณสุขฯ ไปก่อน ถ้าลองไปพร้อม ๆ กันก็จะไม่เห็นภาพข้อดีข้อด้อยเป็นอย่างไร

ที่อื่นมีเพียงพระราชบัญญัติขึ้นมาเท่านั้นยังไม่มีรูปร่าง แต่ของเรานี่เป็นรูปร่างแล้ว เด็กก็กระตือรือร้นตั้งใจเรียนดี

ต่อไปจะมีการทำนาในหลักสูตรพัฒนาชุมชน สาขา 3 อาชีพกู้ชาติ ตอนนี้เรากำลังเก็บข้อมูลอยู่ คิดว่าเทอมหน้าน่าจะลงสอนได้ หลักสูตรทำไว้เรียบร้อยแล้ว ยังไม่เรียนภาคทฤษฎี เรียนแต่ภาคปฏิบัติอย่างในเรื่องนาก็ต้องทำนาให้ได้ เทอมนี้เป็นการดำนา ทีมนี้เขาก็ลงนาไปเลย ก็พาน้องไปทำ ไปทดลองจุลินทรีย์ เป็นเหมือนคุรุประจำนาไปเลย แล้วก็มีเรื่องเห็ดฟาง (ในเรื่องของ 3 อาชีพกู้ชาติ) ก็ทำทั้งวัน ทำมา 2 ปี ก็เชี่ยวชาญในเรื่องเห็ด ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เขาก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเห็ดฟางเลย

หลักสูตรพัฒนาชุมชน เขาก็รวมทีมกันประมาณ 9 คน แล้วศีรษะอโศกทำเรื่องกสิกรรมไร้สารพิษ เขาก็ไปส่งเสริมชาวบ้านในการปลูกพืชผัก เด็กกลุ่มนี้ก็จะมาต่อยอดกับชาวบ้านว่า ชาวบ้านควรจะปลูกอะไร ควรจะทอผ้าแบบไหน

หลักสูตรใหญ่นี่คือ มวช. (สัมมนาสาขาลัยวังชีวิต) วิทยาลัยชุมชนนี่เป็นเพียงตัวย่อยซ้อนอยู่ใน มวช. ถือว่าตรงนี้กระตุ้นนิสิต มวช. ให้ตั้งใจเรียนมาก

ไม่ได้หวังอะไรมาก เป็นการจุดหระกายให้สัมมาสิกขาลัยฯ กระตือรือร้นมากขึ้นในการเรียน และกระตุ้นคุรุให้หาความรู้เพิ่มขึ้น เพราะหลักสูตร 2 ปี มันไว เด็กจะรู้อะไรมากขึ้น ได้ทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน

พุทธสถานอื่น ๆ ก็สามารถตั้ง วิทยาลัยชุมชนขึ้นได้ ซึ่งต้องมีความพรอมในเรื่องของบุคลากรที่สามารถถ่อยทอดความรู้เฉพาะด้านในแต่ละเรื่อง เช่นชุมชนนั้น จะทำเรื่องการทอผ้า การย้อมผ้า ก็เรียนเรื่องนั้นจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น สามารถประกอบอาชีพได้

คุรุน้อมบูชา นาวาบุญนิยม

กับหลักสูตรสาธารณสุขบุญนิยม

เริ่มงานตอนงานปลุกเสกฯ ปี 44 ก็คุยกันว่ามีเด็ก ๆ ที่จบแล้วอยากเรียนเรื่องสาธารณสุข จริงๆ แล้วโดยเนื้อหาเราทำเรื่องนี้มาตลอด เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ติดป้าย เมื่อทราบว่ามีเด็กหลายคนสนใจ ไม่ว่าจะเป็นทางศีรษะฯ, ปฐมฯ, บ้านราชฯ, ไพศาลีฯ ก็ยกร่างหลักสูตรกันเลย คือ เด็กวัยรุ่นของเรา ถ้ามีกิจกรรมทางการศึกษา เขาก็จะขมีขมันพร้อมกับทำงานเรื่องชุมชนไปพร้อม

ที่นี้ช่วยกันคิด คุยกันปรึกษากัน ทำหลักสูตรขึ้นมาทั้งหมดว่า แต่ละเทอมเราจะเรียนอะไร ด้านหน้าเป็นแบบหลักสูตรสากลทั่วไป แต่ตอนท้ายของเราจะแบ่งเป็นศีลเด่น 40% เป็นงาน 35%และชาญวิชา 25% ซึ่งเขียนเป็นหลักสูตรแยกออกมาหลมดเลย เป็นการร่วมมือระหว่างเครือข่ายกันจริง ๆ แต่ละคนมีส่วนร่วม

สำหรับแบบฟอร์มออกไปฝึกงานของผู้หญิงจะเป็นผ้าถุงฝ้ายมีเชิงด้านล่างสีกรมท่า เสื้อผ้าฝ้ายสีขาว คอพระราชทาน แขนสั้น ที่กระเป๋าบนด้านซ้ายปักสัญลักษณ์ของเข็ม มวช.อยู่ในวงกลม รอบ ๆ วงกลมปักคำว่า สาธารณสุขบุญนิยม 2544 ส่วนผู้ชายเสื้อเหมือนกัน แต่จะมีปกฮาวายเพิ่มขึ้นมา และสวมกางเกงไทยสีกรมท่า

ตอนนี้เรียนถึงเก็บบันทึกสะสมประสบการณ์และประเมินผลวิชา ตอนนี้มีประเมินผลโรงพยาบาลกันทรลักษ์ ที่เขาไปฝึกเป็นเรื่องของวิชาการรักษาพยาบาลเบื้องต้นสำหรับครอบครัวและชุมชน

เขาไปเรียนรู้เรื่องของการดูแลเพื่อที่จะรักษาและพยาบาลกันในชุมชน ว่าสถานการณ์จริงของที่นั่น มืออาชีพเขาทำกันอย่างไร เราก็ช่วยสอนเขาด้วย ตึกที่ไปฝึกงาน ก็มีตึกสูตินรีเวช, อายุรกรรม, ศัลยกรรม, อุบัติเหตุ, ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน และหน่วยจ่ายกลาง เขาก็เรียนรู้กันหมก

เมื่อวานประเมินผลกันยิ้มแย้มแจ่มใส เขาบอกว่าน่าจะอยู่อีก เราฝึกกันสนุกมาก เสร็จจากกันทรลักษ์จะยกทีมไปบ้านราชฯ ร่วมมือกับ ร.พ.สรรพสิทธิประสงค์ลแะสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นสัปดาห์วิชาการครั้งที่สอง และสลับกันไปดูงานที่ ร.พ.สรรพสิทธิฯ ก่อน แล้วอาจจะไปเรียนวิชาการฝึกอบรมด้วย และเราจะให้เขาลงภาคปฏิบัติจริง การฝึกอบรม ธกส. ที่นั่นด้วย และมีคอร์สส่งเสริมสุขภาพจาก ร.พ.สรรพสิทธิฯ ด้วย เป็นวิทยากรยกชุดมาช่วยกัน แล้วจะให้ผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งจากพุทธสถานต่างๆ ไปเป็นครูฝึกรุ่นแรก พวกเราจะไปทำงานสุขภาพเชิงรุกในพุทธสถานต่าง ๆ ของชาวอโศก รวมทั้งเครือข่ายที่ยังไม่เป็นพุทธสถาน แต่ว่าแข็งแรง คือ ไม่ปล่อยให้ป่วยก่อนแล้วค่อยรักษา

ความรู้สึกกับผลที่ดำเนินมาถึงตรงนี้

ทีมงานสดชื่น นิสิตก็มีชีวิตชีวา คิดว่าเป็นการเริ่มต้น คงมีเรื่องที่ต้องนำไปปรับปรุงไป ถ้าใครจะช่วยชี้แนะ ทีมงานก็พร้อมที่จะปรับให้ดีขึ้น

ดิฉันเคยสอน นร.พยาบาลข้างนอกมากก่อน บางคนถูกบังคับให้เรียน แต่เด็กเราเขาอยากเรียน อยากดูแลคนไข้ เขาตั้งใจว่า จะกลับไปทำชุมชนของเขาให้ดี ไปดูแลพี่ๆ น้อง ๆ ผู้ใหญ่ ทีมผู้ชายก็อยากไปดูแลสมณะ อีกส่วนหนึ่งก็อยากจะไปทำศูนย์ส่งเสริมสุขภาพวิถีไทย ให้พ่อท่านที่บ้านราชฯ ต่อไปชาวอโศกจะสุขภาพดี ไม่น่าจะป่วยเดินยิ้มกันทั้งวัน ซึ่งต้องการกำลังของคนหนุ่มสาวจริง ๆ เขากระตือร้นมาก บางทีเราสอนไม่ทันเลย ขนาดศัพท์ใหม่ 2-300 คำ เขาก็รับเต็มที่กันเลย มีความกระหายใคร่อยากที่จะเรียน และอยากทำงานด้วย ของเราเปิดเรียนไม่นานก็ได้ไปฝึกงานแล้ว เพราะเราสอนกันเร็วมาก จบแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และจะพาเขาไปสอบใบประกอบโรคศิลป์ เภสัชและเวชกรรม ถูกต้องตามกฎหมาย

สื่อการเรียนการสอนมีพร้อมทุกเรื่องที่จำเป็นต้องเรียน ตำราบางเล่มใช้ของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหนังสือและวีดีโอ ต้องขอขอบคุณผู้มีอุปการะคุณทุกท่านเข่น ธรรมทัศน์สมาคม คุณปัทมาวดี กสิกรรม บจ.ฟ้าอภัย

ในงานมหาปวารณา นิสิตเขาจะรวมตัวตรวจสุขภาพประจำปีชาวอโศก ช่วยไปใช้บริการและติชมหน่อย จะมีแบบฟอร์มสำรวจสุขภาพตนเองทั้งด้านจิตใจ สุขภาพและสังคม

เรียกว่าการเริ่มต้นประสบความสำเร็จเกินคาด เลยทำให้คุรุพลอยมีฉันทะไปด้วย

คุรุเกื้อ ศรีโพธิ์

รู้สึกดีใจที่มีเพื่อนร่วมทีมในการทำสาธารณสุข คาดว่าอนาคตงานสาธารณสุขของเราคงจะเป็นรูปร่าง ชัดเจนมากขึ้น ทำงานไม่มีวันหยุด ได้ออกจากภพ ได้ทั้งประโยชน์ตน-ท่านไม่มีเวลาคิดเรื่องส่วนตัวที่ผ่านมาก็ทำงานราชการด้วย แล้วกลับมาดูแลเด็กด้วย

คุรุรุ้ง สีดำ

สอนวิชากายวิภาคและสรีรวิทยา ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับกลไกในการทำงานของร่างกายของมนุษย์ ก็ตื่นเต้นดี ตื่นแต่เช้าเลยคงเป็นสถาบันเดียวในโลกที่เรายังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยในการกราบพระธาตุและกราบคุรุผู้สอนก่อนเรียน ซึ่งในระดับอุดมศึกษาไม่มีแล้ว

ยังพักอยู่ข้างนอก ก็ตื่นตั้งแต่ดี 3 แล้วขี่มอเตอร์ไซค์มาสอนที่ศีรษะฯ บางวันสอนทั้งเฃ้า-บ่าย เด็กๆ ให้ความสนใจกันดี เด็ก ๆ ตื่นเต้นกับการเรียนมาก เปรียบเทียบกับเด็กข้างนอก ผมมาสอนที่นี่ด้วยความตื่นเต้นทุกครั้งเลย เพราะไม่มีความรู้สึกว่าเราอัดให้เขา สภาพการณ์กลับมาเจอกับสายตาแป๋วที่พร้อมจะฟังจะถาม คนสอนตื่นเต้นนะ ถ้าข้างนอกเป็นอย่างนี้ ระบบการศึกษาไทยคงะไม่ล้มเหลวเหมือนที่เป็นอยู่

นับเป็นความก้าวหน้าอีกก้าวหน้าของระบบการศึกษาบุญนิยมของชาวอโศก เพื่อลูกหลานของชาวอโศกโดยแท้จริง สำหรับความคืบหน้าของ วิทยาลัยชุมชนจะเป็นอย่างไร ผู้สื่อข่าวจะรายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป คิดว่าคงจะเป็นทางเลือกของการศึกษาบุญนิยมให้กับผู้ปกครองหรือลูกหลานชาวอโศกอีกทางหนึ่ง

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว] [กลับหน้า index]


เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,300 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]