ฉบับที่ 177 ปักษ์หลัง 16-28 กุมภาพันธ์ 2545
ข่าวหน้า1 | ธรรมะพ่อท่าน | กสิกรรมธรรมชาติ | จับกระแส ต.อ. | สกูป | ศูนย์สุขภาพ | ข่าวหน้าใน | ข่าวสั้น

[1] บทนำ ข่าวอโศก "พูดให้เกลียดกันทำไม?
[2] ธรรมพ่อท่าน "แก่นแท้สัจธรรม"
[3] บันทึกจากปัจฉาสมณะ ตอน ผู้รักษาความรู้ของพระพุทธเจ้า
[4] สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร
[5] ข่าวศูนย์สุขภาพ ผักพื้นบ้านต้านมะเร็ง
[6] เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.พัฒนาคุณภาพ ขอฝากเนื้อฝากตัวกับชาวนารุ่นที่ 8 :: แก้ไขตารางอบรมประจำเดือน มีนาคม 2545
[7] จับกระแส ต.อ. ตอน บุญหล่นทัน...อีกแล้ว "อึ้บ!"
[8] ศีรษะอโศกติวเข้ม (อีกแล้ว) สส.ษ.มองการณ์ไกล ส่งนักเรียน ม.๖ เข้าอบรมที่ภูผาฯ เข้าค่าย "มหัศจรรย์" รู้วิธีสร้างคน
[9] ชอบสมกระโทก (บุญใส่เกล้า) ทำกสิกรรมธรรมชาติที่ศาลีอโศก ผลคือ???
[10] หน้าปัทม์ ชาวหินฟ้า
[11] เกจิอาจารย์ งานปลุกเสก ครั้งที่ 26 ประจำปี 2545


[1] บทนำ

พูดให้เกลียดกันทำไม?
ความสามัคคี ดีหรือไม่?

ทุกคนคงไม่ปฏิเสธว่า ดีแน่ ถ้าสามัคคีในเรื่องที่ดี โดยเฉพาะในหมู่ชาวบุญนิยม ถ้ามีความสามัคคี ย่อมเป็นประโยชน์แก่ตนโดยตรง และแก่โลกโดยรอบ

ดังนั้นใครที่ทำลายความสามัคคีของชาวบุญนิยม คนนั้นย่อมเป็นผู้ทำลายคนโดยตรง และแก่โลกโดยรอบ

ลักษณะประการหนึ่ง ที่ทำให้ชาวบุญนิยมไม่สามัคคีกัน ก็คือ การใช้ปากพูดให้คนที่เรา พูดด้วย เกิดความรู้สึกไม่ดี หรือรู้สึกเกลียด โกรธ ไม่ชอบคนในสังคมบุญนิยม ด้วยกันเอง ซึ่งเป็นบาปอย่างยิ่ง

ฉะนั้นเราจะหยุดทำบาปทางคำพูดนี้ได้ ก็ต้องพยายามพูดให้คนอื่น มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน แต่การพูด มิใช่หมายความว่า ไม่มีการชี้ถูก-ผิด, ดี-ชั่ว คือชี้ได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ที่กล่าวมา คือ ไม่พูดให้คนที่ฟังเราพูด เกิดความรู้สึกเกลียด โกรธ ไม่ชอบ หรือรู้สึกไม่ดี ต่อบุคคลอื่น

หรือพูดกันแล้ว ให้เกิดความรู้สึก เป็นไปตามพุทธพจน์ ๗ คือ ระลึกถึงกัน-รัก-เคารพ- เกื้อกูลกัน-ไม่ทะเลาะวิวาทบาดหมาง-สามัคคีกัน-เป็นหนึ่งใจเดียวกัน

ในทุกวันนี้พ่อท่านเน้นให้ชาวเรามีความสามัคคีกัน แต่เราเป็นผู้หนึ่ง ที่กำลังพูดสวนกับคำสอน ของพ่อท่านอยู่หรือไม่

ก็ลองตรวจดูตัวเอง ทุกครั้งที่พูดออกไป มิฉะนั้นเราอาจจะกลายเป็นสุนัข ที่เคี้ยว กินควั่นเชือก ที่เจ้านายของมันอุตส่าห์ถัก จนถึงล้มหมอนนอนเสื่อ!.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[2]

"แก่นแท้สัจธรรม"

ปรกติสามัญชน ทุกคนฝันใฝ่ที่จะมั่งคั่งร่ำรวย มีเงินทองกินใช้ อย่างไม่มีวันหมดสิ้น เสพสุขสบายไปจนวันตาย

เพื่อให้ได้สมใจอยาก บทเพลงแห่งการดิ้นรนแสวงหา จึงกลายเป็นท่วงทำนองเดียวกันกับชีวิต จังหวะที่ร้อนแรง ของการแก่งแย่งแข่งขัน ความโลภมาก และเห็นแก่ตัว ทำให้คนทำชั่วได้ อย่างไม่สำนึกกลัวบาป

ชีวิตคนเราก็เท่านี้ กินข้าวก็แค่อิ่ม หามีผู้ใดยัดจนท้องปริแตก อย่างชูชกไม่ มีบ้านก็เพื่ออยู่อาศัย แม้หลังไม่ใหญ่ ก็เอนกายหลับ ได้เหมือนกัน มีเสื้อผ้าห่อกาย แม้มิใช่ของแบรนด์เนมจากนอก เราก็ใส่ได้รับรองไม่เกิดผื่นคัน

แต่ทำไมนะ?…หัวใจคนเราก็เท่ากำปั้น แต่ความต้องการของมัน กลับยิ่งใหญ่มหาศาล เหมือนมหาสมุทร สุดที่จะถมให้เต็ม เส้นทางความร่ำรวย จึงหาที่สุดไม่ได้ มนุษย์มากมาย เดินทางรอนแรม ข้ามภพข้ามชาติ ไปตามหา ความร่ำรวย

แต่แนวทางของผู้ใฝ่หลุดพ้น กลับมีทิศทางตรงกันข้าม พ่อท่านได้บอกกับเราไว้ว่า…

"เราจะเป็นผู้หนีสะสม ไม่ใช่แต่เพียงกล้าจน แต่จะหนีสะสม เพราะเราจะไม่จน ถ้าเราไม่รับ ไม่เลิก ไม่ลดกิเลสลงไป เราจะกลายเป็นคน ที่จะต้องสะสม จะกลายเป็นคนที่มั่งมี จะกลายเป็นคนที่ร่ำรวย เหมือนอย่างผู้ที่ได้อยู่ฐานะ ที่ได้รับ การเคารพนับถือ ยกย่อง และเขาก็จะเป็นผู้มีลาภมาก และเขาก็จะสะสมภาพนั้น อย่างแก้ตัวอยู่ในตัว

เขาจะไม่หนีสะสมอย่างแท้จริง เป็นสภาพที่จะต้องกล้าจนจริงๆ เพราะการแก้ตัวของกิเลส จะมีอยู่เสมอว่า ไอ้นั่นก็จำเป็น ไอ้นี่ก็จำเป็น ไอ้นั่นก็ควรมีควรเป็น ก็เป็นของบริสุทธิ์ที่เราได้ อะไรเช่นนี้เป็นต้น (คาถาธรรม ๙/๗/๒๗)

พระพุทธเจ้าเอกบุรุษของโลก ก็ดำเนินชีวิตมาสู่ทิศทางแห่งความจน ทิ้งปราสาทสามฤดู มานอนโคนไม้ ถอดรองเท้าทอง มาเดินพระบาทเปล่า ฉันก้อนข้าวชาวบ้าน แทนอาหารเลิศหรู อย่างภัตาคาร แถมเติมพลังงาน แค่วันละมื้อ อีกต่างหาก ปานนั้นยังสร้างศาสนาอันยิ่งใหญ่ ไว้ให้กับโลกได้ พระองค์นับเป็นคนจน ที่ปวงชนบูชากันทั่วหล้า

การมาจนอย่างพระศาสดา นับว่าไม่ง่าย เพราะจนอย่างเข้าใจ เข้าถึงแก่นแท้แห่งสัจจะธรรม วิญญาณจึงหาญกล้า ทิ้งความอลังการ ในชีวิตได้ ถ้าจะให้เว้าอย่างภาษาวัยรุ่น ก็คงกระดกลิ้น ได้สำเนียงว่า "จนอย่างมีกึ๋น ไม่ธรรมดา เลยนะครับ"

พุทธบุตร ลูกหม้ออโศก

[3]บันทึกจากปัจฉาสมณะ

ตอน ผู้รักษาความรู้ของพระพุทธเจ้า

ผูถี ซ่านหู้ ผู้สืบสร้างเผ่าพันธุ์พุทธ "ชื่อของท่านถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษ จะมีความหมายว่าอย่างไร และเกี่ยวอะไรกับงานที่ ท่านทำหรือเปล่า" บาทหลวงชาวสวิสเซอร์แลนด์ ถามพ่อท่าน ๖ ธ.ค.๔๔ ที่สันติอโศก "เกี่ยวที่สุด ชื่อของอาตมาหมายความว่า เป็นผู้รักษาความรู้ของพระพุทธเจ้า" พ่อท่านตอบ ในวันสิ้นปีเก่า ๓๑ ธ.ค.๔๔

พระรูปหนึ่ง ที่ศรัทธาและคุ้นเคย ได้มากราบนมัสการพ่อท่านแล้ว บอกเล่าว่า ชาวไต้หวันรู้จักพ่อท่านในนาม ผูถี ซ่านหู้ แปลเป็นไทยว่า โพธิรักษ์ ผูถีแปลว่า โพธิ ซ่านหู้ แปลว่า รักษา

ต้นเดือนธันวาคม คริสต์ศาสนิกชนได้มาศึกษาดูวิถีชาวพุทธที่สันติอโศก (๖ ต.ค.) พ่อท่าน ได้ต้อนรับพูดคุยด้วยเล็กน้อยตามโอกาสที่มี แต่ให้ข้อคิดที่ดีสำหรับพวกเราในหลายๆด้าน บางอย่างไม่สามารถเขียนถ่ายทอดในที่นี้ได้

การไปตรวจภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด GVC (๖ ม.ค.) ที่ ร.พ.พร้อมมิตร ผลการ ตรวจเป็นการเสื่อมตามวัยของพ่อท่าน ไม่ถึงขั้นน่าห่วง ช่วยกลางเดือน ๑๔ ธ.คง๔๔ พ่อท่านได้รับนิมนต์แต่ให้เทศน์กับชาวบ้านที่มาอบรมตาม โครงการของกองทุน SIF ที่วัดสวนธรรมร่วมใจ ซึ่งบรรดาศิษย์ถือเป็นการทำบุญระลึกถึง หลวงพ่อธรรมชาติไปด้วย แทบจะตลอดทั้งเดือนนี้พ่อท่านอยู่ที่บ้านราชฯเป็นส่วนมาก เพื่อช่วยดูและให้คำแนะนำการ เตรียมงานปีใหม่ โดยจะมีการเข้าค่าย ของศิษย์เก่าสัมมาสิกขาและนิสิต สัมมาสิกขาลัยวัง ชีวิต (มวช.) รวามทั้งการเข้าค่ายยุวชนอโศกสัมพันธ์ (ยอส.)ในช่วยปลายปีของทุกปี ซึ่งพ่อ ท่านต้องแบ่งเวลาพบ เพื่อตลกย้ำอุดมการณ์บุญนิยม และให้ข้อคิดอื่นๆ ตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น ในช่วงต่างๆ ของสังคมขณะนั้นๆ ศาสนสัมพันธ์ ๖ ธ.ค.๔๔ ที่สันติอโศก กลุ่มศาสนิกคาทอลิก ประมาณ ๘ คน ได้มาเที่ยวชมกิจกรรมต่างๆ แล้วรับประทานอาหารมังสวิรัติ หลังจากนั้น ได้พูดคุยซักถามพ่อท่านอีกเล็กน้อย ก่อนเดินทาง กับไม่ได้พักค้าง ก่อนการสนทนากับพ่อท่าน ทั้งหมดได้กล่าวแนะนำตัวเอง ถึงชื่อและงานที่ทำอยู่ และสาเหตุŠที่มา ทั้งหมดมาจากหลากหลายประเทศในยุโรป เป็นบาทหลวง ๓ ท่าน ต้องการมาดูการ ดำนเนชีวิตของชาวพุทธ มีคนหนึ่งทำงานเกี่ยวกับระบบนิเวศน์วิทยา ได้กล่าวชมพวกเราที่ สามารถปรับธรรมชาติให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้อย่างดี

คนสุดท้าย เป็นชาวออสเตรีย ได้แสดงความเห็นเสนอแนะว่า น่าจะทำให้กว้างกว่านี้ เพื่อให้เกิดการสนทนา ระหว่างศาสนาให้ มากขึ้นกว่านี้ เป็นการร่วมมือกัน เพื่อขยายไปในวงกว้าง "โดยจริงแล้วมนุษย์มีความปรารถนาดี มีความต้องการจะให้สิ่งดีๆไปสู่มนุษย์ ต้องการที่จะ ให้มีการเปิดกว้าง ด้วยการให้มีการแพร่ไปสู่กันและกันเร็ว และมากนั้นเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ก็เป็นความปราถนาดี มันเป็นความคิดที่ดีอยู่ มันเป็นความต้องการความปรารถนาที่ทางพุทธ เราเรียกว่า กิเลสที่เกินความเป็นไปได้ ที่อาตมาทำงานอยู่ใน้ อาตมารู้ว่าการจะให้คน เป็นคนดีนี่ เป็นคนดีถึงความจริงเข้าไปให้ถึงจิต จิตวิญญาณเป้นเจ้าของความเป็นคน แต่จิต วิญญาณของพุทธนี้ไม่ได้หมายความว่า จิตวิญญาณ ที่เป็นของพระเจ้า ที่จะสั่งการดลบันดาล แต่ จิตวิญญาณนี้คือสิ่งจริงที่อยู่ในคน และ จิตวิญญาณนี่แหละ สั่งการเหมือนพระเจ้าสั่งซาตานสั่ง เพราะฉะนั้น เราจะต้องมาเรียนรู้ในนี้แหละ มาเรียนรู้จิตวิญญาณในตัวเรา เพราะศาสนา เทวนิยมไม่เรียนรู้ซาตาน ไม่รู้ว่าซาตานหรือพระเจ้าอยู่ภายในจิตวิญญาณ ศาสนาพุทธเรียน รู้ตัวตนของซาตานให้ได้ และจัดการทำลายซาตานให้ตาย ให้สิ้นให้ได้ ถ้าเราทำลายสิ่งที่ เป็นซาตานได้จบนั่นแหละ คือ จิตพระเจ้า จิตวิญญาณบริสุทธิ์ และนี่คือ พระเจ้าที่จริงที่สัมผัส ได้" พ่อท่านตอบอย่างมีเจตนาให้ความรู้แลกเปลี่ยน เหมือนกับจะตอบรับทันทีถึงข้อเสนอ แนะให้เปิดกว้างเพื่อจะได้เกิดการสนทนาระหว่างศาสนา ข้าพเจ้าฟังไปก็คิดไปหากเป็น ข้าพเจ้า จะไม่สามารถตอบได้อย่างนี้ ด้วยไม่มีความรู้และความกล้าเท่า การที่พ่อท่านตอบ เช่นนี้ในมุมหนึ่งมองเหมือน ขาดมารยาทสังคมสัมพันธ์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เป็นการประมาณ การตัดสินใจของพ่อท่าน ที่จะให้เกิดประโยชน์ เผื่อคนที่มีใจเปิดกว้าง จะได้ศึกษาเรียนรู้ ความแตกต่างที่ลึกซึ้พื้น แทนที่จะตอบอย่างเรียบๆตามมารยาทสังคมถนอมน้ำใจ ถนอมความ รู้ลึกสัมพันธ์ แล้วก็จากกันไปเฉยๆ "ถ้าท่านมีโอกาสพูดกับเยาวชน ท่านจะพูดสอนแบบไหนก่อน เป็นคำถามของคริสตชนชาว เลบานอนที่สนใจ ทำงานอยู่กับเขาวชน "สอนให้เขารู้จักสิ่งไม่ดีในตัวเอง และสิ่งไม่ดีที่เป็นตัวอย่างอยู่ข้างนอก ว่าเราอย่าไปเป็น อย่างนั้น แล้วเราเป็น"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[4] สัมภาษณ์พิเศษ

สมณะเดินดิน ติกขวีโร

เมื่อชาวอโศกเปิดโลกบุญนิยม อบรมลูกค้า ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ พวกเราควร ระมัดระวังในเรื่องอะไรบ้าง แล้วหากบางคน เกิดอาการเบื่อคนขึ้นมา โดยไม่รู้ตัว จะทำอย่างไรดี กสิกรรมธรรมชาติ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการอบรม พวกเราได้ทำเป็น ตัวอย่างมากน้อยแค่ไหน โอกาสนี้ทีมข่าวพิเศษ ได้กราบสัมภาษณ์ ท่านสมณะเดินดิน ติกขวีโร มาฝากทุกท่านเช่นเคยฮะ

ในยุคชาวอโศกเปิดโลกบุญนิยม มีสิ่งที่เราต้องระมัดระวังหรือต้องให้ความสำคัญใน เรื่องอะไรบ้างคะ

ก. ระวังเรื่องธรรมกาย เพราะยุคนี้ธรรมกายกำลังดัง ดังนั้นชาวอโศกต้องเน้น เรื่องธรรมกาย หรือกายธรรมให้มาก โดยเฉพาะ ในเครือข่ายที่เราได้อบรมชาวบ้านเกี่ยวกับวิชา ๕ ส. วิชาปุ๋ย จุลินทรีย์ น้ำยาอเนกประสงค์ การทำกสิกรรมไร้สารพิษ สิ่งเหล่านี้ จะต้องมีการติดตาม ประเมินผลกับชาวบ้าน ซึ่งทาง ธ.ก.ส.เขาจะมีการให้คะแนนเลย ถือว่าเป็นวิชาของชาวบ้านที่ต้องเรียน และเมื่อ เรียนเสร็จแล้ว กลับไปบ้านเขา วิชาแต่ละเรื่อง ที่พวกเราได้อบรมไป เช่น วิชา ๕ ส. บ้านแต่ละบ้าน เขาสะอาดดี มากน้อยแค่ไหน ปุ๋ยที่ได้อบรมไป เขาไปทำมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในเรื่องเหล่านี้ พวกเราเอง จะต้องมีความชัดเจน ในวิถีชีวิตของเราด้วย เรื่องจุลินทรีย์ พวกเราได้เอามาใช้ ในชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน หรือ ในเรื่องของ ๕ ส. ในเรื่องของความสะอาดสะอ้าน ที่อยู่ที่อาศัย เรามีความชัดเจน มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าเวลาเราอบรม เราจะเน้นเรื่องนี้กันมาก จนชาวบ้านที่มาอบรมกับเรา เขาจะขัดบ้านกัน อย่างขมีขมัน วันละหลายรอบทีเดียว เพื่อให้บ้านที่เขาได้มาอยู่ได้อาศัย ได้เกิดความสะอาด แล้วพวกเรา ซึ่งเป็นผู้ที่ให้การอบรม เราคงจะต้องทำ ให้สม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง

มีเรื่องตลกในช่วงที่ไปติดตามประเมินผล พี่เลี้ยงก็เอาข้าวกล้องไปเผื่อ เพื่อหุงเลี้ยงชาวบ้าน ที่มาอบรมด้วย ปรากฏว่า ทั้งชาวบ้าน และทั้งเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.เขากินข้าวกล้องกันทุกคนเลย โดยข้าวเหนียว ที่สมณะไปบิณฑบาตมาได้ เหลือเป็นกะละมังใหญ่ๆ ไม่มีใครแตะเลย ตอนขากลับ พวกเราเอง ก็เลยมานั่งคุยกันว่า อบรมไปๆ สงสัยจะกลับตาลปัด ผู้เข้ารับการอบรม นิยมกินข้าวกล้องหมด แต่สงสัยพี่เลี้ยง ก็คงจะใช้ข้าวเหนียวขาว ปั้นจิ้มแจ่วกันอย่างเก่า อันนี้ระวัง ไปๆมาๆ พี่เลี้ยงกลายเป็นคนล้าสมัย หรือพวกเรา ที่ทำหน้าที่อบรม กลายเป็นคนล้าสมัย ไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นในยุคที่คนข้างนอกเขาจะตื่นตัว มาเรียนรู้จากพวกเรา ขอให้สิ่งที่เราเผยแพร่ออกไป เป็นวิถีชีวิตของเรา ที่มีความชัดเจน สามารถทั้งพาสอน พาทำ เป็นตัวอย่างที่ทั้งพูดทั้งทำ เป็นวิถีชีวิตจริงๆ อีกด้วย

ข. การให้ความสำคัญกับเรื่องปฏิสันถาร ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ เคยมีประสบการณ์ โดยไปติดตามประเมินผล ในหมู่บ้าน ที่เคยได้รับการอบรม แต่อาจจะเป็นเพราะ เจ้าหน้าที่ทาง ธ.ก.ส. ประสานไม่ดี เมื่ออาตมาไปถึงหมู่บ้านแต่เช้า ก็ออกบิณฑบาต ชาวบ้านก็แทบ จะเหมือนกับไม่รู้ว่า สมณะมาทำไม? สถานที่ก็ไม่ได้จัดอะไรไว้ เป็นงานที่จะมีกันขึ้นวันนั้นเลย แล้วดูหน้าของแต่ละคนๆแล้ว เหมือนว่าไม่รู้เรื่องอะไรเลย แม้บิณฑบาตกลับมาแล้ว ก็ไม่มีใครมาพบมาหาเลย มีพี่เลี้ยงที่ไปด้วย เตรียมขนข้าวขนของ จะออกมาทำอาหารกัน ซึ่งมันเป็นบรรยากาศ ที่เหมือนสูญญากาศ ว่างจากคน ไม่มีใคร ไม่มีคนรู้จักเราเลย สุดท้ายก็เลยตัดสินใจ ยกของขึ้นรถกลับกัน เพราะว่าเราเหมือนกับ มาผิดงานอย่างนั้น ตรงนั้นก็อาจจะเป็นเพราะ ชาวบ้านเกรงใจพวกเราก็ได้ หรือไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรก็ได้ หรือไม่มีปฏิภาณมากพอก็ได้ แต่ก็รู้สึกเลยว่า ปฏิสันถารนี่สำคัญมาก ก็นึกถึงว่า ถ้าคนมาที่ชุมชนของเรา หมู่บ้านของเรา แล้วก็ไม่มีใครสนใจเขาเลย มันคงจะเกิดความรู้สึก อย่างที่เราเคยไปเจอ มาแล้วเหมือนกัน

ดังนั้น ถ้าพวกเราให้ความสำคัญ ในการปฏิสันถารกัน ก็จะทำให้เป็นความอบอุ่น เป็นความน่าประทับใจ กับคนที่ได้มาเห็นสิ่งดี มารู้สิ่งดี ส่วนใหญ่ พวกเราไม่ค่อยอยากรับแขก เพราะกลัวจะเสียงาน คนทำแชมพู ก็ง่วนๆ อยากจะทำแชมพูของตัวเองให้เสร็จ คนทำเห็ด ก็อยากจะเร่งๆ ทำเห็ดของตนเองให้เสร็จ แต่ถ้าถามว่า ทำทั้งชาติจะเสร็จไหม? หรือเกิดมาชาติหน้า ทำต่อจะเสร็จไหม? ก็คงจะไม่มีวันเสร็จ แต่ถ้าเราเป็นคนมีอัธยาศัยไมตรีดี มีการปฏิสันถารดี เป็นคนที่ไม่ง่วน จมอยู่กับงานของตัวเอง พยายามที่จะเผยแพร่งาน วิธีการทำงาน วิธีการทำเห็ด วิธีการทำแชมพูออกไป ให้คนอื่นรู้ได้มากๆ จริงๆ แล้ว นั่นก็คือ การขยายงานออกไป ได้กว้างขวางทั่วประเทศ มากกว่าที่เราจะมาจมอยู่ในรู แล้วก็ทำง่วนๆๆ กับงานของเรา แล้วเราก็จมกับงานนี้ ไปจนตาย งานก็ไม่ขยายกว้างออกไป

วิธีจะขยายกิจการของเราออกไปให้ได้มากๆ ก็คือว่า ให้ความสำคัญ กับการปฏิสันถาร แล้วก็ยินดีพอใจ ที่จะได้เผยแพร่ ของดีนี้ออกไป ให้คนอื่นทำกัน เป็นมากๆๆ สิ่งนี้ก็จะได้แพร่กระจายออกไป ได้อย่างกว้างขวาง โดยที่ไม่ต้องมีแต่เราเท่านั้น จนตายไม่ลง เพราะงานของเรา ทำเท่าไหร่ๆ ก็ไม่มีวันเสร็จ

พวกเราหลายๆ คนเป็นโรคเบื่อคน ไม่อยากยุ่งกับคน เพราะคนทำให้วุ่นวาย ท่านเห็นประโยชน์อะไร จากการทำงานกับคนบ้างคะ

ก็ได้เห็นประโยชน์มากมายโดย เฉพาะในงานอบรม ที่คนของเราทั้งหมด ทั้งชุมชนเลย ก็ว่าได้ ที่ต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน มาทำงานต้อนรับ ขับสู้อยู่กับคน ได้เห็นชีวิตของเรา ที่แต่ละคนๆ ต้องออกมารับแขก ทุกคนก็มาฝึก มีความยิ้มแย้มแจ่มใส แต่สังเกตง่ายๆ ถ้าแขกมา พวกเราจะยิ้มกัน แต่เวลาแขกกลับแล้ว ต่างคนก็จะเข้าไปหาภพ เข้าหาความปุ้มของตัวเองอย่างเก่า เพราะฉะนั้น แขกมาเราก็ได้ฝึก ความยิ้มแย้มแจ่มใส เราจะออกไปทักทายเขา เราก็ได้ฝึกความอ่อนน้อมถ่อมตน แล้วก็ที่สำคัญ ก็คือว่า ได้ออกจากถ้ำ จากภพของตัวเอง และที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อพวกเรารวมพลังกัน ออกมาช่วยงาน ช่วยการร่วมกัน มันช่วยลดอคติ ที่มีต่อกันลงได้ อย่างมากทีเดียว ความเกลียดชัง บาดหมางกัน ก็จะถูกเปลี่ยนมาเป็น การมีความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งกันและกัน แต่ก่อนศิลปินเดี่ยว มีมากมาย เป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นก๊ก เมื่อเราทำงานร่วมกัน มาฝึกมีความคิดเห็น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็จะช่วยปรับ ให้เกิดขบวนการกลุ่ม ที่แข็งแรงขึ้นมา

ซึ่งในการออกมาทำงานกับคน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คนที่จมอยู่กับตัวเองมากๆ ก็จะพัฒนาได้ช้ามากเลย ส่วนคนที่ออกมาทำงานกับคน พวกเราจะมีพัฒนาการ ที่เป็นไปได้ อย่างรวดเร็วมาก ก็เห็นพวกเราบางคน พอดูเกี่ยวกับรายการ เพื่อสุขภาพ ก็จะเอาเวลา ไปหาข้อดี ข้อเสีย ข้อประโยชน์จากการออกกำลังกายว่า ดีอย่างไรทั้งวัน จนแทบไม่ทำอะไรเลย ซึ่งจริงๆแล้วการมีสุขภาพดี ข้อหนึ่งก็คือ การไม่หมกมุ่น อยู่กับตัวเองมากเกินไป จะสังเกตเห็นได้ว่า คนที่หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง มากเกินไป จะเป็นคนแทบไม่มีเวลาอะไร ลักษณะคน ของพวกเราประเภทนี้ จะมีลักษณะว่า ไม่มีเวลา แม้จะอาบน้ำ ไม่มีเวลาแม้แต่ จะซักผ้าของตัวเอง ไม่มีเวลา แม้แต่จะทำที่อยู่อาศัย ให้สะอาดสะอ้าน จมอยู่กับความคิดของตัวเอง จนแทบจะไม่ได้ทำอะไร แต่เจ้าตัวเอง จะรู้สึกว่า มีงานเยอะแยะ มากมาย วุ่นวายไปหมด ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นงานในภาคความคิด ซึ่งเป็นงานภาคนามธรรม เสียส่วนใหญ่ ไม่สามารถที่จะทำธรรมกาย ออกมาให้เป็นรูปธรรม ที่สัมผัสได้ แตะต้องได้ สุดท้าย ก็จะเป็นการเสพ ทางด้านเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือเสพภวภพ ของตัวเองดุ่ยๆ อยู่ไปอย่างนั้น โดยแทบจะไม่มีประโยชน์ คุณค่าอะไรออกมา ให้เป็นประโยชน์ต่อโลก

จึงได้ข้อสรุปตรงนี้ว่า คนที่อยู่กับตัวเองนั้น ก็คือ คนที่อยู่ในภพดีๆ นี่เอง การทำงาน ศาสนาทุกวันนี้ ไม่มีเวลาอีกแล้ว ที่จะมัวจมอยู่กับตัวเอง คนที่จมอยู่กับตัวเอง คือ คนที่กำลังเสื่อมอยู่ๆ ทุกขณะ คนที่สามารถออกจากตัวเอง ได้มาสร้างสรรเสียสละ เป็นพลังรวม ให้กับหมู่คณะ คนๆ นั้น ย่อมได้ลดละ อัตตามานะ และกำลังเจริญ อยู่ทุกขณะๆ เช่นกัน

กสิกรรมธรรมชาติ ดูจะเป็นหัวใจที่สำคัญ ของการอบรม ท่านอยากฝากอะไรให้กับพวก เราในเรื่องนี้บ้างคะ

ก. อยากให้พวกเราทำกสิกรรมเชิงรุก คือ มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ไม่อยากจะให้พวกเรา ทำอะไรแบบไม่มีการวางแผน ไม่มีการเตรียม องค์ประกอบไว้ ในการทำอย่างราชธานีอโศก เราเคยตั้งใจไว้ว่า พอน้ำลด เราจะหาถั่วหางา หาหัวไชเท้า ไปหว่านทันที แต่ก็พอดีติดงานปีใหม่ เราต้องช่วยเตรียมงาน เลยปล่อยให้น้ำแห้งไปเฉยๆ แล้วสุดท้าย พอน้ำแห้งสักพัก หญ้าก็ขึ้นเขียว งามขจีทั่วไปหมด พอถึงจุดนี้เราเอง ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยง การไม่ขุดไม่ไถได้ สุดท้าย ก็ต้องสั่งรถไถไปไถ ต้องเอารถ บรรทุกไปใส่ปุ๋ย ต้องหาน้ำมารด ซึ่งในบางแปลง ที่เราทำทัน มันจะง่ายมาก พอน้ำแห้งแล้ว พวกเราบางคน ก็ปลูกมันเทศ ก็เอายอดมันเทศมาโรยๆๆ แล้วก็เอาเท้าเหยียบๆๆ ไปในโคลน ก็แทบไม่ต้องดูแลอะไร ความชื้นมันก็มีสูง มันเทศก็ค่อยๆ เจริญ เติบโตงอกงามขึ้นมา รอวันเก็บหัวเท่านั้นเอง คือถ้าเรามีการเตรียมตัว วางแผนไว้อย่างดี ปลูกให้ทัน ถูกต้องตามฤดูกาล กสิกรรมเชิงรุก ก็จะทำได้ง่ายมาก แต่ถ้าเราไม่มีการวางแผย เตรียมพันธุ์ผัก เตรียมเพาะกล้าไว้ให้พร้อม ปุ๊บปั๊บจะมาปลูกทันทีเลย พอมันไม่ทันการ ทันกำหนดเวลาของมันแล้ว ทุกเรื่อง จะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ต้องลงทุนมาก เสียเวลามาก และก็ไม่ได้ผลมากอีกต่างหาก

ข. อยากจะเน้นเรื่องพืชมงคล เนื่องจากในงานเพื่อฟ้าดินที่ผ่านมา พ่อท่านเคยให้พวกเราชาวอโศก ระดมปลูกพืชมงคล ซึ่งมีข้าวถั่วงากันให้มากๆๆ อีกไม่กี่เดือนใน ช่วงวันที่ ๔-๖ พฤษภาคมนี้ ก็จะเป็นงานเพื่อฟ้าดิน ที่ราชธานีอโศก ก็อยากให้ญาติธรรม ช่วยกันปลูกถั่ว ปลูกงากันให้มากๆด้วย มีเมล็ดพันธุ์ ก็เอามาแปลง เอามาแจกกัน

ในเรื่องนี้ มีข้อที่น่าคิด จากการถามพวกเรา ที่เคยปลูกถั่วปลูกงากันว่า ปลูกถั่วปลูกงา ง่ายมั้ย? พวกเราจะให้คำตอบว่า ปลูกถั่วปลูกงาง่ายที่สุด แล้วก็เมื่อปลูกถั่วปลูกงา ง่ายที่สุด แต่พวกเราก็ปลูกกันมั๊ย? พวกเรามักจะตอบตามความเป็นจริงว่า ก็ไม่ค่อยได้ปลูกกัน อยากจะถามว่าปุ๋ยอะไร ที่จะใช้บำรุงดิน ได้ดีที่สุด สูตรของอาจารย์อุดม ก็จะมีฟางข้าว มีถั่ว มีงา เป็นต้นพืชคลุมดิน ก็ถือว่าเจ๋งที่สุด ครบสมบูรณ์ทีเดียว สรุปแล้ว ถั่วงาเป็นอาหารที่สำคัญทั้งคนกิน แล้วก็ปุ๋ยที่สำคัญของดิน แล้วก็ปลูกได้ง่ายอีกต่างหาก แต่ถามว่า แล้วทำไม พวกเราไม่ปลูกกัน ตรงนี้ก็เป็นข้อที่น่าคิดอย่างมาก สำหรับ ชาวกสิกรรม ปลูกก็ง่าย แล้วถั่วงาไร้สารพิษ ก็ไม่ค่อยมีในท้องตลาด แล้วสำคัญที่สุด ทั้งคนกิน สำคัญที่สุดทั้งดิน แต่น่างงตรงที่ว่า แล้วทำไมพวกเรา ถึงไม่ค่อยได้ปลูกกัน

ตรงนี้ก็เป็นเพราะว่า เราเองไม่ชัดเจน ไม่สำคัญในสิ่งที่ควรสำคัญ พวกเราเอง จะมุ่งแต่ว่า เราจะได้อะไรจากดิน แต่เราไม่ได้มุ่ง ไม่ได้คิดที่ว่า เราจะให้อะไรกับดิน เพราะฉะนั้น กสิกรรมของเรา จึงเป็นกสิกรรม อยู่ในระบบทุนนิยม คือ ระบบคิดแต่จะเอา เป็นส่วนใหญ่ เหมือนชาวบ้าน เขาปลูกมันสำปะหลัง เขาปลูกข้าว เขาก็หวังจะได้วิทยุ อยากจะได้ทีวี เอามาดูมาฟัง แต่เขาไม่ได้คิดที่จะให้อะไร แก่แผ่นดินเลย เพราะฉะนั้น ถ้าพวกเราผิวๆเผินๆ ในพืชมงคล เราเองก็จะไม่สามารถ ที่จะทำกสิกรรมไร้สารพิษ ให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นมาได้ ก็อยากจะให้พวกเรา รณรงค์ปลูกพืช ตระกูลถั่วให้มากๆ แล้วก็ถ้าจะให้ดี ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือว่า พยายามเก็บเมล็ดพันธุ์ เอามาเผยแพร่ แจกจ่ายกัน เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญ ของพืชมงคล ขึ้นมาให้ได้ ก็จะเป็นการทำให้กสิกรรม ซึ่งเป็นหัวใจ ของการอบรม สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ผู้ใดมีปฏิสันถารก่อน ผู้นั้นไม่ห่างจากพระนิพพาน" ได้รู้อย่างนี้แล้ว คนที่รักการติดภพ หรือเป็นโรคเบื่อคน คงจะคันไม้คันมือ ออกมาต้อนรับ แขกผู้มาเยือน และอย่าลืมว่า พืชหลักของชาวบุญนิยม คือ พืชมงคล ข้าว-ถั่ว-งา ค่ะ.

ทีมข่าวพิเศษ

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[5] ข่าวศูนย์สุขภาพ

ผักพื้นบ้านต้านมะเร็ง

เป็นข่าวฮือฮาและน่าตื่นเต้นกันมาแล้ว เมื่อผลการวิจัยของ อาจารย์สุรัตน์วดี จิวจินดา แห่งมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต แลกินกิ แห่งประเทศญี่ปุ่น พบว่า มีผักพื้นบ้านถึง ๓๙ ชนิดจาก ๑๒๒ ตัวอย่าง ที่มีศักยภาพในการ ยับยั้งการก่อตัว ของเซลล์มะเร็ง ได้เป็นอย่างดี โดยเข้าไปจับตัว กับอนุมูลอิสระ และ ขัดขวางกระบวนการเจริญเติบโต ของเซลล์มะเร็ง และยับยั้ง การแบ่งตัวของ เซลล์มะเร็ง

แม้ว่าการศึกษาจะใช้พืชตัวอย่างเพียงไม่กี่ชนิด แต่ก็สามารถสรุปได้ว่า ผักพื้นบ้านของไทยหลายชนิด มีศักยภาพ ในการต้านมะเร็งได้สูง โดยเฉพาะผัก ในตระกูลเดียวกับขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา พริกและพริกไทย ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นส่วนผสมของเครื่องแกง

ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ หัวหน้าฝ่ายพิษวิทยา สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัย น้ำพริกแกง ๑๑ ชนิด พบว่าน้ำพริกแกงทุกชนิด สามารถต้านมะเร็งได้ โดยเฉพาะ น้ำพริกแกงมัสมั่น มีประสิทธิภาพสูงสุด รองลงมาคือ น้ำพริกแกงเหลือง และน้ำพริกแกงพะแนง ส่วนผักพื้นบ้านอื่นๆ ที่ศึกษาพบว่า ต้านมะเร็งได้ คือ ผักขวง ผักโขม มะกอก เพกา ดอกแก้วเมืองจีน ตังโอ๋ แขนง กะหล่ำ มะระขี้นก ยี่หร่า ถั่วลันเตา ดอกแค สะเดา พลู กระถิน มะแคว่น ขึ้นฉ่าย บัวบก ผักชี ผักชีลาว ผักชีฝรั่ง หอมแย้ กระชาย ผักแขยง เป็นต้น

เป็นที่น่ายินดี สำหรับพวกเรา เป็นอย่างยิ่งคือ มีพวกเราหลายกลุ่ม ที่เห็นความสำคัญ ของผักพื้นบ้าน และรณรงค์ให้กินกัน ก็ขอเสนอ ผลวิจัยทางวิชาการ มาสนับสนุนว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สอดคล้องกับวิชาการจริงๆ ขอเป็นกำลังใจ ให้เดินต่อไป ให้ถึงเส้นชัย ที่สุขภาพสุขสดใส จิตใจใกล้นิพพาน กันทุกๆคนนะคะ.

กิ่งธรรม รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[6]

เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.พัฒนาคุณภาพ ขอฝากเนื้อฝากตัวกับชาวนารุ่นที่ 8

การฝึกอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพชีวิตเกษตรกร หลักสูตร สัจธรรมชีวิต รุ่นที่ ๘

เมื่อวันที่ ๒๓-๒๗ ม.ค.๔๕ ได้มีเกษตรกรจาก ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านสำโรง บ้านกัญจาน บ้านห้วยราช จาก จ.สุรินทร์ ได้มาอบรมที่ พุทธสถานศีรษะอโศก โดยมีสมณะผืนฟ้า อนุตตโร กล่าวเปิดการอบรมว่า

พวกเรามาที่นี่ มานอนในป่า ช่วงนี้ไม่มีฝน และจะได้สัมผัสชีวิต เดินตามรอยพระอรหันต์ มานอนกลางดิน กินกลาง ทราย เราจะได้เรียนรู้ การปฏิบัติว่า เราจะกินอยู่อย่างไร พวกเรามาอยู่ที่นี่ ก็ให้เคารพกฎระเบียน ตื่นตีสามครึ่ง ทำธุระส่วนตัว ตี่สี่ก็ให้มาที่ศาลา ทานอาหาร ๒ มื้อ รักษาศีล ๕ ให้สมาทานศีล และให้สังวรระวัง ในศีลนั้นๆ และอยู่ที่นี่ การถอดรองเท้าเดินนั้น พวกเรามีข้อปฏิบัติว่า "เราจะทำเท้าให้หนา ทำหน้าให้บาง" คือ มีความละอาย ต่อการทำสิ่งไม่ดี

ที่นี่เป็นชุมชนพึ่งตนเอง มีฐานงานต่างๆ ประมาณ ๕๐ กว่าฐาน แต่ละฐานเจ้าหน้าที่ ไม่มีเงินเดือน พวกเราทำผลิตได้ ก็เอาผลผลิตมารวมกัน ของใช้ก็เบิกจากส่วนกลาง มีรายได้ก็เข้าส่วนกลาง เรียกว่า ธนาคารชุมชน แล้วเราก็ได้หมุนเงิน สะพัดออกข้างนอก

หลังจากนั้น ผู้เข้าอบรมได้สมาทานศีล ๕ แล้วต่อด้วยรายการจุดไฟ โดยเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.

การอบรมครั้งนี้มี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ จำนวน ๒๐ นาย เข้าร่วมสังเกตการณ์ และร่วมงานกับเกษตรกรรวม ๔ คืน ๕ วันด้วย โดย พ.ต.อ.พิสิษฐ์ จีนะวิจารณะ ผกก.สภ.อ.กันทรารมย์ มาพบปะกับเกษตรกรและตำรวจ และได้กล่าวกับผู้เข้าอบรมว่า ท่านเป็นผู้มีโอกาสดีที่ได้มาอยู่ตรงนี้

สำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้อบรมได้รับ ตลอดระยะเวลาของการอบรม คือ การสาธิต อาชีพต่างๆ เช่น การทำแหนมเห็ด ปลาร้าถั่วเหลือง การทำปุ๋ย สูตรหัวเชื้อระเบิด การเตรียมแปลงปลูกด้วยการหมักดิน เป็นต้น

ผู้เข้ารับการอบรม ได้ฝึกเรียนรู้ กฎระเบียบ ในการอยู่ร่วมกัน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทย อาทิ การกิน การกราบ การไหว้ ซึ่งพี่เลี้ยงและสมณะ-สิกขมาตุ ต่างใช้พลังกันเต็มที่ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ให้พ้นอบายมุข เพื่อปิดอบาย สิ่งเสพติดต่างๆ มีทั้งเทศน์ ทั้งพาทำงาน ฝึกตน ปลุกจิตสำนึก จนผู้เข้าอบรม ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. และเกษตรกร ต่างเข้าใจ เกิดสัมมาทิฏฐิ จนผู้รับการอบรม จำนวนมาก ตั้งใจ ลด ละ เลิกอบายมุขต่างๆ

และผู้เข้าอบรมรุ่นนี้ ได้มีโอกาสร่วมงานศพ ของคุณยายเกิด ไทยสะเทือน อายุ ๘๔ ปี ญาติธรรม ผู้มีอายุยาว ซึ่งเป็นผู้มีบุญคุณ ของชาวศีรษะอโศกท่านหนึ่ง ที่เสียชีวิต ด้วยโรคชรา ท่ามกลางบรรยากาศ สุดซึ้งใจ ในคุณงามความดีของท่าน ที่เป็นผู้มีน้ำใจ และเมตตาต่อลูกๆหลานๆ ชาวศีรษะอโศก

สุด ท้ายก่อนจากผู้รับการอบรมได้เปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า

ตัวแทนจาก ธ.ก.ส. "สมัยก่อนผมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. เวลาใครมากู้เงิน ผมจะให้ซื้อปุ๋ย สารเคมีไปด้วย แต่เดี๋ยวนี้ผมรู้แล้ว ผมเจ็บปวดครับ แต่ก่อนนั้น ชาวอโศกถูกใส่ร้าย ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ผมกลัว เพราะผมไม่รู้ความจริง บัดนี้ผมรู้ว่า ชาวอโศกเป็นผู้เสียสละมาก ต่อไปผมจะเปลี่ยน การกระทำใหม่ว่า ถ้าใครมาติดต่อธนาคาร ให้เอาปุ๋ยอินทรีย์ไปด้วยนะ พี่น้องครับ อย่าทิ้งกันนะครับ ถือว่าผมคือลูกหลาน จะทำงานร่วมกัน ให้เกิดผลสำเร็จและความสุข"

ตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ "ขอพูดความในใจให้ฟังว่า มาร่วมกับเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ได้อะไรบ้างว่า ข้อมูลครั้งแรก ไม่ทราบว่า จะมาอบรมอะไร เมื่ออบรมมา จนถึงวันสุดท้ายแล้ว ได้รับประโยชน์มาก จะได้เอาความรู้ ที่ได้จากที่นี่ ไปทำงานกับประชาชน เพราะผมเป็นผู้ที่ ได้คลุกคลีกับชาวบ้าน สำหรับผมแล้ว การอบรมถือว่า เป็นการเรียนรู้ไม่มีวันจบ และถ้าไม่ได้มาที่นี่จะเสียใจมาก".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[7] จับกระแส ต.อ.

ตอน บุญหล่นทัน...อีกแล้ว "อึ้บ!"

บุญแรก คือ งานอบรมเกษตรกรในโครงการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส.ทั่วทั้งประเทศ ขณะนี้เครือข่าย ชุมชนชาวอโศก ที่พร้อมและค่อนข้างพร้อม ๑๘ ชุมชน ก็รับโครงการ ไปช่วยอบรมกันแล้วอย่างแข็งขัน "เคี่ยวเราเพื่อเอามิตร"

บุญ...อีกแล้ว เห็นจะเป็นงบ กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ผ่านมาทางสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปสนับสนุน ให้ชุมชน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้หมุนเวียน ในส่วนของการพัฒนา (มาตรฐาน) คุณภาพผลิตภัณฑ์ สุขภาพชุมชน เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ แก่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหลายแห่ง ให้ความสนใจชุมชนชาวอโศก เพราะเขาเห็น เป็นชุมชนเข้มแข็ง มีศักยภาพ ที่จะพัฒนาต่อไปได้ง่าย เพื่อจะได้เป็นฐาน เป็นแม่แบบ เกื้อกูลชุมชนอื่น ต่อไปอีก "ผลิตผลเผื่อคนอีกหลาย"

จึงเป็นจังหวะชีวิต ที่เลี่ยงไม่ได้ ความรักต้องถูกขยายมิติออกไป คงต้องมีเรา เป็นความหวังหนึ่ง ถึงเวลา "ขวนขวายงานแบบสานหมู่" อโศกจึงจะแบกรับไปได้ตลอด สมปณิธาน "ชาวอโศกเพื่อมวลมนุษยชาติ"

หนึ่งคนเป็นหลายคน ไปสัญจรเชียงใหม่คราวนี้ (ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๖-๒๙ ม.ค.๔๕) เห็นพัฒนาการ ของชุมชนภูผาฟ้าน้ำ โรงสีลานนาอโศกเยี่ยมขึ้น มีระบบระเบียบมากขึ้น ก็ปลื้มใจ แม้แต่ทาง ชมร.ชม. ทราบว่า ตัวหลักของร้าน บาดเจ็บหนึ่ง ป่วยหนึ่ง อาสาสมัครช่วยงาน ก็มีเหตุจำเป็นกันบ้าง แต่ร้าน ชมร.อันกว้างใหญ่ ราวสวนอาหาร หรือภัตตาคารอย่างดี ก็ยังดูดี สะอาด มีระเบียบ อาหารก็ดูประณีต หลากหลาย อ้า!ดูอโศกนี้ เป็นบุญตาได้เห็นศักยภาพของคน เพราะได้ "ดึงความสูญเสีย (ในสิ่งไร้สาระ) ของข้าฯ กลับคืนมา" แล้ว

เด็ก คือ ขุมพลังของชาติ ถ้ารู้จักผลักเบนมาในทางดี ต่อจากงานฤดูหนาว ที่ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ (๒๖-๒๗ ม.ค.๔๕) ต.อ.กลาง ได้ขอกำลังพล เด็ก ม.๖ ชุมชนศีรษะอโศก มาช่วยกันทำ ๕ ส.ที่โรงสีลานนาอโศก แต่มีเหตุจำเป็นบางประการ จึงได้โยกเด็กมาช่วยกันที่ ชมร.ชม.แทน ก็แข็งขันทำงานกัน ดูแล้วน่ารักน่าเอ็นดูจริงๆ เด็กกลุ่มนี้ ได้เคยแสดงฝีมือ ๕ ส.ที่ชุมชนของเขา จน ต.อ.กลาง เคยสำลัก ความประทับใจมาแล้ว ก็ขอให้อยู่รวมหมู่ เป็นพลังกันต่อไปนะหนูนะ รวมกันเราอยู่ แยกหมู่ ระวังจะถูกงาบ!นะจ๊ะ

ก้าวหน้าสีมาอโศก ชุมชนสีมาอโศก ได้สร้างโรงอาหาร โรงแปรรูป และโรงงานยา เสร็จไปบางส่วนแล้ว ตามแบบแปลน ที่วิศวกร และทางการทำ มาช่วยดูให้ แต่เพื่อให้การก่อสร้าง ต่อเติม การจัดวางภายในอาคาร ไม่ผิดพลาด จึงได้เชิญ ต.อ.กลางไปช่วยดู คุณขอมา เรายินดี แสดงถึงการเริ่มใส่ใจ ต่อการวางแผนการปลูกสร้าง เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ เกิดความปลอดภัย คล่องตัวในการใช้งานได้ มากที่สุด (วางแผนให้เป็นไปตามสายงานการผลิต) สาธุ!

โรงงานน้อง โรงงานพี่ ไปสีมาอโศกครั้งนี้ (๓ ก.พ.๔๕) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ ต.อ.กลางได้เชิญ คุณหมอฟากฟ้าหนึ่ง ผู้จัดการโรงงานยา และอดีตประธานชุมชน ปฐมอโศก ไปช่วยให้คำแนะนำด้วย ผลปรากฏเกินคาด คุณหมอแนะนำได้ทั้งโรงอาหาร โรงงานยา และโรงแปรรูป เพราะมีประสบการณ์ จากชุมชนปฐมอโศกมาก่อน ซึ่งนับว่า ได้ประโยชน์มากทีเดียว นำประสบการณ์ จากชุมชนสู่ชุมชน ถ้ามีทำนองนี้อีก คงต้องขอหิ้ว คุณหมอไปอีก (ขออนุญาตจองตัว ล่วงหน้าเลยนะคะ)

ข่าวดีโรงงานเส้นหมี่จะเกิด (อีกครั้ง) เป็นหลักการของผู้ผลิต ผู้ใหญ่ในชุมชนของเรา เคยเสนอไว้ว่า ชุมชนแต่ละชุมชน ควรจะผลิตสินค้าของชุมชน ให้มีจุดเด่น ให้มีเอกลักษณ์ของตน ไม่ผลิตซ้ำซ้อนกัน และวัตถุดิบในการผลิต หาได้ในท้องถิ่น สีมาอโศก ก็เลยคิดจะฟื้นฟู โรงงานผลิตเส้นหมี่ (ข้าวกล้อง) ซึ่งเคยผลิตมาแล้วในอดีต และเคยส่งออกขาย ถึงประเทศญี่ปุ่น กลับมาอีก ใคร (เด็กเส้นทั้งหลาย) รู้ข่าวนี้ มีแต่ยินดี ยินดี ก็ขอช่วยลุ้น ให้ชุมชนสีมาอโศก ประสบความสำเร็จ เป็นชุมชนนำร่องให้ดูทีนะ.

ตอ.กลาง รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[8]

ศีรษะอโศกติวเข้ม (อีกแล้ว) สส.ษ.มองการณ์ไกล ส่งนักเรียน ม.๖ เข้าอบรมที่ภูผาฯ เข้าค่าย "มหัศจรรย์" รู้วิธีสร้างคน

ฝึกรู้เท่ากันจิตของตนเอง ไม่ถือสาเพ่งโทษผู้อื่น

เมื่อวันที่ ๒๖ ม.ค. - ๑๐ ก.พ.๔๕ รร.สัมมาสิกขาศีรษะอโศก(สส.ษ.) ได้ส่งนักเรียน ชั้น ม.๖ จำนวน ๑๖ คน เป็นนักเรียนชาย ๑๔ คน หญิง ๒ คน เข้าค่ายมหัศจรรย์ หลักสูตรอาริยมรรค ณ พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นำโดยสมณะร่มเมือง ยุทธวโร

ตลอดระยะเวลา ของการเข้าค่าย นักเรียน สส.ษ. ชั้น ม.๖ จะต้องฝึก หมั่นเยี่ยมเยียนสมณะ ไม่ละเลยการฟังธรรม ศึกษาในอธิศีล ฯลฯ เพื่อความเจริญของชีวิต อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าวันละ ๓ เวลา คือ เช้า-กลางวัน-เย็น เพิ่มจากกิจวัตร และกิจกรรม ที่ทางพุทธสถาน ได้กระทำอยู่เป็นปกติ

ในบางวัน นักเรียนที่มารับการอบรม จะได้ทำวัตรร่วมกับสมณะนวกะด้วย ทำให้ได้สัมผัสกับ ชีวิตนักบวชอย่างใกล้ชิด ส่วนนักเรียนหญิง จะได้มาฝึกใช้ชีวิต เป็นคนวัด เพื่อศึกษาพระธรรม ให้ลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ มากขึ้น

สมณะบินบน ถิรจิตโต อาจารย์ ๑ ของพุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ กล่าวถึงการอบรมใน ค่ายมหัศจรรย์ว่า เพื่อให้ผู้มารับการอบรม ได้พัฒนาชีวิต ให้รู้จักงานสร้างคน แต่ก่อนที่จะสร้างคนให้ดี มีคุณธรรมได้ ก็จะต้องรู้จักวิธีสร้างตน ให้มีคุณธรรมตามหลัก สัมมาอาริยมรรค มีองค์ ๘ ก่อน

สำหรับนักเรียน ที่มารับการอบรม ในค่ายมหัศจรรย์ ในรุ่นนี้ มีชื่อรุ่นว่า รุ่น "รวมกันให้ได้" ได้ให้สัมภาษณ์ แก่ผู้สื่อข่าว ดังนี้

นายวิโรจน์ พรหมเลิศ (จอห์น) "ในตอนแรกๆเลย ที่มีกระแสข่าวว่า จะได้มาอบรมที่นี่ ใจลึกๆดีใจมาก ที่จะได้มาเชียงใหม่ ซี่งเป็นบ้านเกิด ของตัวเอง แต่ก็มีความวิตกกังวล ในเรื่องวิธีการฝึกอบรมว่า จะเป็นในรูปแบบใด รู้สึกว่าถ้าเป็นเหมือนที่วัด คงไม่สนุกและตัวเอง คงไม่ได้รับประโยชน์ แน่ๆ เลย เพราะรู้สึกว่าที่ทำมา เป็นแค่เพียงการกดข่ม ซึ่งอาจมีประโยชน์ ในช่วงแรกๆ แต่พอนานๆไป ก็กลับไปเหมือนเดิม คือ ยังตามจิต ตามกิเลสไม่ทัน และฟุ้งซ่านเหมือนเดิม เพราะเราไม่ได้ทำออกมาจากตัวเอง หากแต่หมู่กลุ่ม ช่วยกันดึง ให้เป็นไปเท่านั้น ความรู้สึกกังวลนี้ บั่นทอนความอยากมาให้น้อยลง แต่ก็พยายามปรับ เปลี่ยนใจใหม่

พอมาถึงจริงๆ ก็เกิดความรู้สึกว่า ตัวเองยังไม่พร้อมอีก หลังจากได้พบสมณะ ก็รู้สึกดีขึ้น และ รู้สึกดีขึ้นๆเรื่อย สมณะสอนให้เรามีความยินดี ในทุกๆเรื่อง อยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่าการฝึก แบบตรวจจิตตัวเองแบบนี้ ตรงกับฐานตัวเองมากมาย สิ่งแวดล้อมที่นี่ ก็ช่วยเกื้อหนุน ทำให้เราปฏิบัติ ได้มากขึ้นกว่าเดิม และปฏิบัติออกมา จากใจได้ จนไม่อยากกลับวัดเลย เพราะคิดว่า ยังมีประโยชน์อีกมาก ที่เราจะได้รับ...

ถ้าถามว่าได้อะไรจากการฝึกจิตใจครั้งนี้บ้าง โอ๊ย!มีมากจนเขียนไม่ไหวเลยล่ะ ทุกๆครั้ง ที่เจอที่ฟังสิ่งดีๆ ดวงจิตดีๆ จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ได้หลักๆ ก็คือ การได้ฝึกสติ เรียนรู้เท่าทัน จิตใจตัวเอง มีจิตที่ตั้งใจบำเพ็ญ สิ่งที่ดีจากใจ ไม่ใช่ทำตามคนอื่น ตามกระแส เห็นเพื่อน ทำได้ก็ทำตาม เพราะเห็นว่าเท่ดี นอกจากนี้ ยังได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจเพื่อนมากขึ้น เข้าใจเหตุปัจจัยต่างๆ ไม่ถือสาเพ่งโทษผู้อื่น..."

นายสาธิต (หินแสงไฟ) เชียงกางกุล อายุ ๑๘ ปี "รู้สึกยินดีมาก ที่ได้มางานปอยเล็ก เพราะเป็นการเพิ่มประสบการณ์ ให้กับชีวิตด้วย ตอนแรก ก็ไม่รู้หรอกว่า จะต้องมาเข้าค่ายฝึกอย่างนี้ มารู้ทีหลัง ก็ค่อนข้างเกรงๆอยู่เหมือนกัน แต่ก็พยายามทำใจ ให้รับให้ได้อย่างเต็มที่

การต้อนรับ รู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง สภาพอากาศ ภูมิประเทศก็ดี บุคลากรก็จริงใจ

ในช่วงเข้าค่าย ๑๐ วันแรก รู้สึกยินดีอย่างยิ่ง ที่จะได้ฝึกหัด ให้เป็นคนมีจิตวิญญาณ ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็มีบ้างช่วงที่คิดถึงวัด คิดถึงน้องๆ ที่อยู่ทางนั้น คิดถึงฐานงาน คิดถึงสมณะ คิดถึงคณะอา ฯลฯ ยอมรับว่า ช่วงนี้ต้องอดทนพอควร เห็นสภาพจิตใจที่ดิ้น เหมือนปลาที่ขึ้นจากน้ำ ก็พยายามสร้างความยินดี

ส่วนช่วง ๕ วันสุดท้าย และก่อนกลับ ได้เห็นความเย็นของตัวเอง ความสงบดูจิตสำรวมใจที่ยาก สำหรับคนทั่วไป ถ้าไม่มีโอกาสฝึก คงทำไม่ได้ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ของสภาวะ ทางจิตใจ เห็นตัวเอง เข้าใจตัวเองเพิ่มขึ้น พอถึงวันสุดท้าย ผมก็สร้างความยินดี ในการอยู่ต่อ ได้อย่างสบาย"

นายจันทรา (บึกบึน) สามารถ อายุ ๑๘ ปี "ตั้งแต่ก้าวเข้ามา ถึงอากาศจะหนาว ก็รู้สึกอบอุ่น สำหรับตัวเองรู้สึกว่า ไม่เหมือนกับการเข้าค่าย รู้สึกว่า มาใช้ชีวิตเหมือนชาวภูผาฯ มาสัมผัสวิถีชีวิต มาอยู่เป็นสมาชิกของที่นี่ เหมือนครอบครัวเดียวกัน รู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง ภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม ก็เงียบสงบ เย็นสบาย บางวันก็เย็นเกินไป ทำให้ไม่สบายก็มี มีชีวิตเรียบง่าย ไม่ต้องวุ่นวาย กับการงานมาก มีเวลาอยู่กับตัวเอง ถึงผมจะเป็นคนอยู่กับจิต อยู่กับใจตัวเองยาก เพราะไม่ค่อยจะได้ฝึกมา ก็ได้มาฝึก มาเรียนรู้ที่นี่ ก็รู้สึกว่า การที่จะอยู่กับตัวเองได้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย สำหรับผมแล้ว หลังจากจบค่าย รู้สึกว่า เรารู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักเพื่อนๆมากขึ้น มีเวลาคบคุ้นกันบ่อยขึ้น ได้มีวิธีที่จะอยู่กับตัวเอง ได้เรียนรู้ขบวนการกลุ่ม ทำงานไป ทำใจไปด้วย ขยันมากก็ได้มาก และยิ่งให้ไปก็ยิ่งได้มา".

เพลง รวมกันให้ได้

สูงขึ้นไปสุดขอบฟ้าดังภูผาชวนท้าทาย
เป็นที่ขัดเกลาใจมองขึ้นไปยังไม่เห็น
เส้นทางแม้ต้องเดินถึงลำบำกจะยากเข็ญ
กิเลสยังซ่อนเร้นก็ไม่เห็นมันจะตาย
เหนือฟ้ายังมีฟ้าไกลสุดตาต้องค้นหา
เป็นโลกละอัตตาไร้มายาฝ่าโลกีย์
คนเราใจเป็นเหตุให้กิเลสต้องพานำ
ชีวิตไม่มีธรรมมีแต่กรรมจะพาไป
ไม่ติดขัดเกลาใจมัวสงสัยโลกมายา
ชีวิตไร้คุณค่าไม่พึ่งพาศีลธรรม
จิตใจของคนเรามีใครรู้จะหยั่งถึง
ตนแหละที่รู้ซึ้งลึกไปถึงซึ่งแก่นใน
รีบละสลายอัตตาคบหากันอย่างจิตใจ
มัวช้าอยู่ทำไมถอดหัวใจฝั้นเป็นเกลียว
รวมกันให้ได้ยินดีกันไว้
แม้อยู่ที่ใดให้ใจเป็นหนึ่งเดียว
รวมกันให้ได้เข้าใจกันไว้
ไม่ถือสาใครให้ใจถึงใจ
รวมกันให้ได้เข้าใจกันได้
ยินดีกันไว้รวมกกันด้วยใจ
ให้เป็นเลือดสีเดียวเถิดผองเรา

(แต่งโดย หนึ่ง ธนาวุฒิ นร.สส.ษ. ในโอกาสเข้าค่าย "มหัศจรรย์" ที่พุทธสถาน ภูผาฟ้าน้ำ)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[9] กสิกรรมธรรมชาติ

การใช้ปุ๋ยหมัก และน้ำจุลินทรีย์ ที่ศาลีอโศก

ชื่อเดิม นายชอบ สมกระโทก
ชื่อที่พ่อท่านตั้งให้ บุญใส่เกล้า
ที่อยู่ บ้านตะคร้อ ต.ตะคร้อ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์
อาชีพหลัก กสิกรรม

พื้นที่ทำการเกษตร ประมาณ ๑๕ ไร่ ในพื้นที่ ๑๕ ไร่นี้ได้ดัดแปลงเป็นไร่นาสวนผสม เนื้อที่ ๘ ไร่ใช้ทำนา พื้นที่เหลือเป็น ร่องสวน สระน้ำ ๔ ลูก ลานข้าวไม่เกวียน เพราะหน้าดินถูกนำไปใช้ทำหัวคันนา สำหรับปลูกผลไม้ ในปีต่อมา ได้มีการปรับปรุงหน้าดิน โดยไม่เผาซังข้าว และมีการขน ฟางจากที่อื่น มาเสริมในแปลงนา ทำเช่นนี้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี ๒๕๔๔ ผลผลิต ข้าวในเนื้อที่ ๘ ไร่ ได้ข้าวประมาณ ๑ เกวียนกับ ๑๙ ถัง

สาเหตุ ที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าเดิมนอกจากใช้ฟางคลุมและสงวนซังข้าวไว้แล้ว ยังใช้น้ำ หมักชีวภาพ ฉีดพ่นและสาด ในช่วงข้าวกำลังงอกมา ประมาณหนึ่งฝ่ามือ เว้น ช่วงประมาณ ๑๕ วัน ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพอีกระยะหนึ่ง หลังจากนั้น พอข้าวเริ่มตั้งท้อง จึงฉีดพ่นและใช้สาดไปตามคันนา
หมายเหตุ ช่วงข้าวโตได้ฝ่ามือ ใช้สูตรน้ำหมัก (แม่) และในช่วงข้าวตั้งท้อง ใช้สูตรน้ำหมัก (พ่อ)

ความเปลี่ยนแปลงที่ได้จากการทำเกษตร ดังที่กล่าวมานี้
๑. น้ำหนักของเมล็ดข้าวแตกต่างจากการทำเกษตรแบบเคมี เมล็ดข้าวจะแกร่งมี น้ำหนัก
๒. ข้าวจะงามรวงไม่งามใบ ซึ่งผิดจากการทำเกษตรแบบเคมี ยิ่งใส่ปุ๋ยเคมีมากข้าว จะงามใบแต่รวงจะไม่งาม
๓. ต้นข้าวจะมีภูมิต้านทานต่อศัตรูพืชและสภาพดินฟ้าอากาศ
๔. สร้างระบบนิเวศที่ดีขึ้นในพื้นนา จะมี กบ เขียด กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ อยู่อาศัย และควบคุมกันเองโดยธรรมชาติ
๕. ช่วยลดต้นทุนการผลิต (ไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง)
๖. ผลดีด้านสุขภาพทั้งกายและใจ ผลจากการทดลองทำเกษตรแบบธรรมชาติ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า เกษตรกรจะสามารถทำกสิกรรม แบบธรรมชาติได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัย สารเคมีอีกต่อไป.

โศลกธรรมประจำใจ "จงเห็นความเป็นทองในกองฟาง"

(หากเกษตรกรท่านใดสนใจวิธีการทำเกษตรแบบนี้ สามารถติดต่อสอบถามราย ละเอียดได้ที่ คุณชอบ (บุญใส่เกล้า) ตามที่อยู่ข้างต้น


[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[10] หน้าปัทม์ ชาวหินฟ้า

:: เจริญธรรม สำนึกดี น.ส.พ.ข่าวอโศกฉบับนี้ ฉบับที่ ๑๗๗ (๒๑๐) ปักษ์หลัง ๑๖-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

:: ญาติธรรมอาจแปลกใจว่าทำไม๊ ทำไม ฉบับปักษ์แรกเดือน ก.พ.เพิ่งออกกันหยกๆ ไงฉบับนี้คลอดตามมาติดๆ เรื่องของเรื่อง ไม่ใช่อะไร แต่เป็นเรื่องดีๆ ที่อยากเก็บ มาเล่าสู่กันฟัง เหตุเพราะทาง ร.พ.ฟ้าอภัย มีโปรแกรมจะปิด ตั้งแต่วันที่ ๒๔ ก.พ. เพื่อให้พนักงาน ได้ไปร่วมงาน พุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ ครั้งที่ ๒๖ ที่ไพศาลี บจ.ฟ้าอภัย และทีมงานทำหนังสือทุกฉบับ จึงร่วมมือกัน สะสางงานให้เรียบร้อย จะได้ไม่เสียประโยชน์ ส่วนใดส่วนหนึ่งไป

:: สำหรับเรื่องในฉบับ งวดนี้เรามีสัมภาษณ์พิเศษ จากท่านเดินดิน ติกขวีโร เป็นเรื่องเด็ดที่นำมาฝาก ขอแนะนำว่า ไม่ควรพลาด เพราะท่านให้ข้อคิด กับชาวเรา ได้ดีจริงๆ การได้รู้ข้อบกพร่อง หรือจุดอ่อนของตัวเอง จะทำให้เรา สามารถพัฒนาตัวเอง และหมู่กลุ่ม ให้เจริญก้าวหน้าไปได้ หากมีแต่เสียงสรรเสริญ ชื่นชมเพียงอย่างเดียว ต่อไปเราคงล่มสลาย ท่านญาติธรรม ว่าจริงหรือไม่?

:: และพอเสร็จจากงานพุทธาฯแล้ว ก็จะต่อกันด้วย งานปลุกเสกฯ ครั้งที่ ๒๖ งานใหญ่ อีกงาน ที่ชาวเราจะได้ไป ประจุพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณให้ตน ก็ขออนุโมทนาบุญ ที่แต่ละท่าน จะได้รับนะฮะ

ทีนี้วกมาเรื่องของเรากันต่อนะฮะ

:: แปลงร่าง... เพื่อจะเปิดโอกาสให้ทีมงานทั้งหลาย ได้มีโอกาสไปร่วมงาน พุทธาภิเษกฯ ที่ไพศาลีปีนี้ หนังสือของชาวเรา ไม่ว่าจะเป็น สารอโศก ข่าวอโศก ต่างก็ต้องเร่งรีบ ปิดต้นฉบับ เพื่อส่งพิมพ์ ให้ทันเวลา เราจึงได้เห็นทุกๆทีม ผนึกกำลัง กันเต็มที่ ดูแล้วให้ความรู้สึก หลากหลาย เป็นความรู้สึกดีๆ ที่น่าชื่นชม ไม่ต้องดูที่ไหนไกล ใกล้ๆจิ้งหรีดเอง อย่างข่าวอโศก พอทีมงานรู้เข้า ต่างก็แปลงกลาย เป็น"ทศกัณฐ์"ในบัดดล (เฉพาะมือนะฮะ ไม่ได้กลายเป็นยักษ์ เป็นมารอะไรหรอกฮะ) ปั่นงานจนทัน ก่อนโรงพิพพ์จะปิด จิ้งหรีดเห็นความเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกันแล้ว ก็เลยต้องรีบบิน ไปเก็บข่าวกับเขาเหมือนกัน โชคดีที่ได้เพื่อนพ้อง จิ้งหรีดภูธร ช่วยชีวิตเอาไว้นะเนี่ย ไม่อย่างนั้น คงต้องร้องเพลง "ตายหยั่งเขียด" (ฮา...) จี๊ดๆๆ...

:: น่าชื่นชม...กลุ่มแสงดาวแห่งศรัทธา ที่ปฐมอโศก ขณะนี้กำลังรวมตัวกัน อย่างแน่นเหนียว มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะมีวงดนตรี ของกลุ่มให้ความบันเทิง อันมีสาระ แก่เกษตรกร ที่มารับการอบรม ที่ปฐมอโศกแล้ว ข่าวว่าตอนนี้ มีนักเรียน สส.ฐ.ในกลุ่ม กำลังมาฝึก ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงบ้างแล้ว โดยไปร่วมทำงาน และพูดคุยกับเกษตรกร ที่ทยอยมารับการอบรม ที่ปฐมอโศกอย่างต่อเนื่อง เป็นชุดๆ ผู้ใหญ่ได้เห็น ความศรัทธาของเด็กๆ ที่เข้ามาช่วยงาน ส่วนกลางแล้ว คงมองเห็น แสงดาวแห่งศรัทธา ในระบบการศึกษาบุญนิยม ที่พ่อแม่พาทำ ได้มากขึ้นแล้ว ใช่ไหมฮะ...จี๊ดๆ

:: ผรช.ชมร.ชม. ...เมื่อวันศุกร์ที่ ๑ ก.พ.ที่ผ่านมา สมาชิกชมร.ชม.มีการเลือกตั้ง คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ปรากฏว่า คุณหนึ่งในธรรม (รัตนาภรณ์) เป็นผู้รับใช้ ของชมร.ชม. คุณใบจริง เป็นเหรัญญิก คุณห่มหล้า เป็นเลขานุการ และคุณหนึ่งในธรรม ได้เสนอคุณบัวดาว เป็นรอง ผรช. ซึ่งที่ประชุม ได้ลงมติเห็นชอบ มีข่าวแว่วมาว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นไป ทางชมร.เชียงใหม่ ในผู้บริหารชุดใหม่ แต่หน้าเก่า จะจัด ตั้งโรงบุญฯ แจกอาหารเดือนละ ๑ ครั้ง โดยจะเป็นการร่วมมือ ระหว่างชมร.เชียงใหม่ ชุมชนภูผาฯ ลานนาอโศก และญาติธรรม ทั้งใกล้และไกล มาร่วมกันสานหลักการ หรือ แนวทางบุญนิยม ให้เป็นจริง ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแจกอาหาร ในโรงบุญฯ จะใช้เฉพาะพืชผัก ไร้สารพิษ จากดอยแพงค่า จากลานนาอโศก และที่ญาติธรรม ปลูกเองเป็นหลัก ดังนั้นบ้านใครมีที่ดินว่างๆ หรือ กระถางเปล่าๆ ก็เตรียมปลูกผัก ที่กินได้ทุกชนิด มาบริจาคให้ทำอาหาร ในโรงบุญฯ ได้นะฮะ เพื่อทำประโยชน์ตน และ ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด สาธุ...จี๊ดๆ ๆ...

:: ที่นี่ประเทศไทย...จิ้งหรีดได้ข่าวว่า ชุมชนศีรษะอโศก ได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้ของประเทศ อีกแห่งหนึ่ง และเมื่อ ๒๑ ม.ค.๔๕ ทีวีช่อง ๕ มาถ่ายทำรายการ "ที่นี่ประเทศไทย" เรื่องการทำแคปซูลกระเทียม และการทำโจ๊กเห็ดหอม ขณะถ่ายทำรายการ ก็ตรงกับชาวบ้านจาก จ.ขอนแก่น จำนวน ๕๐ คนมาดูงาน ก็หวังว่าชาวเรา คงไม่ทำให้สังคมผิดหวังนะฮะ...จี๊ดๆ ๆ...

:: งาน งาน งาน...ช่วงนี้คงเป็นที่รู้กันดีว่า ศีรษะอโศกมีงาน งาน งานและงาน ชุกมากขนาดไหน อย่างเมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คนในชุมชนบางส่วน ได้ไปช่วยกันบุกเบิก พื้นที่นาซำเบ็ง ในขณะที่ ภายในหมู่บ้านศีรษะฯ ก็มีกลุ่มหรือคณะต่างๆ มาดูงาน และศึกษาวิถีชีวิต ภายในชุมชน ไม่ได้ขาด ดังนี้
๑. กลุ่มผู้นำ ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ประมาณ ๑๘๐ คน
๒. กลุ่มชุมชนแออัด อ.เมือง จ.ขอนแก่น จำนวน ๕๐ คน
๓. คณะจากกองทุนซิฟ ประมาณ ๒๐ คน
๔. คณะนักศึกษาจากสถาบันราชภัฏมหาสารคาม ระดับปริญญาโท ประมาณ ๔๐ คน

:: มาเข้าอบรม ในหลักสูตร "คนสร้างชาติ" รุ่นที่ ๔๔ โดยมี ม.วช. ศีรษะอโศก เป็นพี่เลี้ยง ในการอบรม จิ้งหรีดเกาะอยู่ที่เสาศาลา สังเกตการณ์ ก็รู้สึกประทับใจ ในผู้เข้าอบรมครั้งนี้มาก เพราะเป็นวัยหนุ่มสาว อายุประมาณ ๒๓-๒๕ ปี ที่มีความตั้งใจ รับฟังธรรมะ สอบถามปัญหาต่างๆ ที่สงสัยกับสมณะมากมาย ด้วยกิริยาวาจาเรียบร้อย การวางตัวดีมาก มีระเบียบสมกับเป็นนักศึกษา เวลาลงทำงาน แบบกระบวนการกลุ่ม ทำแปลงสาธิต กสิกรรมธรรมชาติ ก็ร่วมแรงร่วมใจกันทำ อย่างขยันขันแข็ง ยิ้มแย้มเบิกบาน สนุกสนาน

:: จิ้งหรีดได้มีโอกาส สัมภาษณ์ น.ศ.ปริญญาโท คนหนึ่ง ชื่อนายณรงค์ฤทธิ์ ประเสริฐสุด อายุ ๒๓ ปี เรียนคณะบัณฑิตวิทยาลัย ได้เปิดเผยความรู้สึกว่า "ทีแรกที่จะมา คิดว่า สถานที่แห่งนี้ จะเหมือนที่ปฏิบัติธรรมทั่วไป คงมีการนุ่งขาวห่มขาว แต่พอมาถึง กลับเป็นอีกแบบ คือ คิดไม่ถึงว่า ที่นี่จะมีชุมชน ซึ่งมีบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) อยู่รวมกัน ซึ่งอยู่และใช้วิถีชีวิต แบบนักปฏิบัติธรรม มีความเรียบง่าย พึ่งตนเอง คิดว่าวิถีชีวิตแบบนี้ หาได้ยาก และเป็นสิ่งดีงาม ซึ่งแตกต่าง จากความเป็นอยู่ ของบุคคลทั่วไป ในสังคมภายนอก และที่นี่มีการฝึก การสอน ให้รู้จักศาสนาพุทธ ตั้งแต่เด็กเล็กๆ จนถึงผู้ ใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นสังคมข้างนอกนั้น จะเปลี่ยนแปลงคน ให้หันมาศึกษา และอยู่ร่วมกันอย่างนี้ได้ยากมาก" จิ้งหรีดได้ถามต่อว่า "ได้อะไรจากการอบรม?" ก็ได้คำตอบถึง ๔ ข้อคือ
๑. ได้วิธีการทำกสิกรรมไร้สารพิษ ไปทำที่บ้าน ซึ่งพ่อแม่มีอาชีพกสิกรรม
๒. จะไปทำน้ำยาล้างจานใช้เอง
๓. ทานอาหารมังสวิรัติ
๔. นำธรรมะที่ได้ไปฝึก ให้พึ่งพาตัวเอง และลดรายจ่าย เพื่อเผื่อแผ่สังคม...สาธุ...จี๊ดๆ ๆ...

:: ทรหด...จิ้งหรีดได้ไปดูการทำน้ำอ้อยทรายของชาวปฐมอโศก ที่บ้านทุ่งมะเซอย่อ ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี โอ้โฮ! ไม่ง่ายเลยแฮะ ยิ่งเห็นนร.สส.ฐ.ชาย ที่ทำหน้าที่ ตัด-มัด-แบก อ้อย มาส่งยังเครื่องหีบ ต้องผจญกับตำแย และใบอ้อย ทำให้เกิดผื่นคันขึ้นทั้งตัว

:: สำหรับการทำ น้ำอ้อยทรายมี ๔ ขั้นตอนใหญ่ คือ
๑. ตัด-มัด-แบก ขนอ้อย กลุ่มนี้ต้องสู้กับแดดร้อนจัด และผดผื่นคัน
๒. ทำความสะอาดลำอ้อย และฉีกอ้อย กลุ่มต้องนั่งนาน อยู่กับงานจำเจ
๓. รับน้ำอ้อยไปเคี่ยว กลุ่มต้องอยู่กับความร้อน ควันไฟ ต้องมีสติ ระมัดระวังตัวเองสูง ไม่เช่นนั้น ถ้าพลาดจะโดนน้ำตาลอ้อย ที่เคี่ยวร้อนๆลวกได้
๔. ขั้นสุดท้าย นำน้ำอ้อยที่เคี่ยวแล้ว ไปทำให้เป็นน้ำตาลทรายอ้อย กลุ่มนี้ต้องทนกับการ นั่งทุบก้อนน้ำตาลทรายอ้อย ให้ละเอียด

:: จิ้งหรีดดูพฤติกรรม ของเด็กๆ แล้ว ถือว่าใช้ได้ พอลงไปลุยงานกับเด็กๆ ก็ได้รู้ว่า พวกเขาเก่งทีเดียว ต้องใช้ความอดทนสูง ถ้าใจไม่อดทน ร่างกายไม่แข็งแรง คงไปไม่รอดแน่เลยฮะ...จี๊ดๆ

:: ศีรษะอโศก...ได้ข่าวแว่วมาว่า เมื่อวันที่ ๓๑ ม.ค.ที่ผ่านมา อาแอ๊ด อาเปิ้ม พี่สุ และสมณะผืนฟ้า ได้เดินทางประชุม กับคณะอาจารย์ ของสถาบันราชภัฏ มหาสารคาม สืบเนื่องที่ทางสถาบันราชภัฏฯ ขอให้อาแอ๊ดและอาเปิ้ม ไปเป็นอาจารย์สอนพิเศษ ให้นักศึกษาด้วย คณะชาวเรา จึงได้ไปประชุม เพื่อตกลงร่วมกันว่า จะจัดสรรอย่างไร ให้เกิดความลงตัว โดยทางเราตกลงว่า ให้ทางสถาบันราชภัฏฯ ส่งนักศึกษา มาเรียนรู้ที่ ชุมชนศีรษะอโศก โดยมีอาแอ๊ด และ อาเปิ้ม จัดหลักสูตรสอน ให้เหมือนเข้าค่ายอบรม คนสร้างชาติ แล้วมีการประเมินผล เวลาล่วงเลยมา พอสมควรแล้ว ก็ไม่รู้ว่า ทางสถาบันราชภัฏฯ จะรับข้อเสนอนี้หรือไม่ ก็คงต้องติดตามกันต่อไปฮะ

:: ส่วนบรรยากาศภายในชุมชนศีรษะอโศก ที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่า นอกจากจะมีงานอบรม เป็นงานหลักอยู่แล้ว ตอนนี้ทุกฝ่าย ต้องแบ่งกันทำหน้าที่ ทุกๆเย็น เด็กๆ สส.ษ. ต้องช่วยกันขนฟาง เตรียมไว้ใช้ ช่วงงานปลุกเสกฯ ที่จะถึงนี้ ,ทีมควายศาสนา กำลังเตรียมแปลงปลูกผัก, ทีมอาชีวฯเร่งทำโรงปุ๋ย, ทีมโรงเห็ดสร้างโรงบ่มใหม่ และเร่งผลิตก้อนเห็ดไว้ใช้ ในงานปลุกเสกฯ แหม!โกยบุญกันน่าดู ไม่เสียชื่อศีรษะอโศกจริงๆ...จี๊ดๆ

:: คกร. ... วันก่อนจิ้งหรีดมีโอกาสป๊ะหน้า คุณธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ ประธานโครงการกู้ดินฟ้า เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ ก็เลยถามถึงงาน ที่ดูแลอยู่ คุณธำรงค์ก็เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้กิจการในโครงการ กำลังเจริญขึ้นตามลำดับ ได้รับความร่วมมือ จากกสิกรเป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาคกลาง ได้ผลผลิตมาก มีบจ.ขอบคุณ เป็นผู้จัดจำหน่าย ส่วนปัญหาก็คือ ขาดแรงงาน และโกดังไม่พอ สำหรับเก็บพืชไร่ ตั้งใจว่า จะประชุมกันอีกครั้ง ในช่วงงานพุทธาฯ ที่จะถึงนี้ ก่อนจากยังฝากเชิญชวนญาติธรรม ที่พอมีเวลา ไปช่วยกันที่ บจ.ขอบคุณด้วยฮะ...จี๊ดๆๆ...

:: ขยันเดินทาง... ขออนุโมทนากับ คุณป้าขวัญรัก เลือดคนใต้เข้มข้น ที่เทียวขึ้นลง บ้านราชฯ กับทักษิณอโศก เพื่อไปช่วยงานอบรมที่โน่น ป้าบอกกับจิ้งหรีดว่า เมื่อยังพอเดินทางไหว ก็รีบช่วงชิง แก่เมื่อไหร่ ไปไม่ไหวแล้ว ค่อยว่ากัน จิ้งหรีดฟังแล้ว ก็ให้คึกคัก มีŠไฟวิริยะ ตามป้าไปด้วย ยังไงๆ ก็ขอให้ป้า ดูแลสุขภาพดีๆ ด้วยนะฮะ...จี๊ดๆ

:: ฉบับนี้ขอส่งท้ายก่อนจาก ด้วยคติธรรม-คำสอนของพ่อท่านที่ว่า
"ขอเตือนพวกเรา ต้องมีปรโตโฆษะ รู้จักรับฟังเสียงอื่น"

พบกันใหม่ฉบับหน้าฮะ.

จิ้งหรีด

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

[11] เกจิอาจารย์ งานปลุกเสกพระแท้ๆ ของพุทธ ครั้งที่ 26 (31 มี.ค. - 6 เม.ย.2545)

สมณะเกจิอาจารย์

๑. สมณะดินดี สันตจิตโต
๒. สมณะเดินดิน ติกขวีโร
๓. สมณะทำดี อโสโก
๔. สมณะบินบน ถิรจิตโต
๕. สมณะผืนฟ้า อนุตตโร
๖. สมณะเสียงศีล ชาตวโร
๗. สมณะพิสุทธิ์ พิสุทโธ
๘. สมณะมั่นแจ้ง พุทธชาโต
๙. สมณะเด็ดขาด จิตตสันโต
๑๐.สมณะถ่องแท้ วินยธโร
๑๑.สมณะณรงค์ ชินธโร
๑๒.สมณะพอแล้ว สมาหิโต
๑๓.สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ
๑๔.สมณะกลางดิน โสรัจโจ
๑๕.สมณะแดนเดิม พรหมจริโย
๑๖.สมณะกล้าดี เตชพหุชโน
๑๗.สมณะสร้างไท ปณีโต
๑๘.สมณะคิดถูก ทิฏฐุชุกัมโม
๑๙.สมณะเก้าก้าว สรณีโย
๒๐.สมณะกำแพงพุทธ สุพโล
๒๑.สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ
๒๒.สมณะซาบซึ้ง สิริเตโช
๒๓.สมณะร่มเมือง ยุทธวโร
๒๔.สมณะหม่อน มุทุกันโต
๒๕.สมณะฟ้าไท สมชาติโก
๒๖.สมณะลือคม ธัมมกิตติโก
๒๗.สมณะกล้าจริง ตถภาโว
๒๘.สมณะเด่นตะวัน นรวีโร
๒๙.สมณะร้อยดาว ปัญญาวุฑโฒ
๓๐.สมณะดวงดี ฐีติปุญโญ
๓๑.สมณะเลื่อนฟ้า สัจจเปโม
๓๒.สมณะกล้าตาย ปพโล
๓๓.สมณะแก่นเกล้า สารกโร
๓๔.สมณะนานุ่ม กัสสโก
๓๕.สมณะดงเย็น สิติภูโต
๓๖.สมณะดาวดิน ปัฐวัตโต
๓๗.สมณะนาไท อิสสรชโน
๓๘.สมณะชัดแจ้ง วิจักขโณ
๓๙.สมณะฝนธรรม พุทธกุโล
๔๐.สมณะหินกลั่น ปาสาณเลโข
๔๑.สมณะมือมั่น ปูรณกโร
๔๒.สมณะบินก้าว อิทธิภาโว
๔๓.สมณะหนักแน่น ขันติพโล
๔๔.สมณะโพธิสิทธิ์ โพธิสิทโธ

สิกขมาตุ

๑. สม.มาบรรจบ เถระวงศ์
๒. สม.จินดา ตั้งเผ่า
๓. สม.บุญแท้ ปลาทอง
๔. สม.รินฟ้า นาวาบุญนิยม
๕. สม.กล้าข้ามฝัน อโศกตระกูล
๖. สม.ปราณี ธาตุหินฟ้า
๗. สม.พึงพร้อม นาวาบุญนิยม
๘. สม.หยาดพลี อโศกตระกูล
๙. สม.บุญจริง พุทธพงษ์อโศก
๑๐.สม.ต้นข้าว อโศกตระกูล
๑๑.สม.สร้างฝัน อโศกตระกูล
๑๒.สม.พูนเพียร ชาวหินฟ้า
๑๓.สม.นวลนิ่ม ชาวหินฟ้า
๑๔.สม.มาลินี โภคาพันธ์
๑๕.สม.ผาแก้ว ชาวหินฟ้า
๑๖.สม.ทองพราย ชาวหินฟ้า

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,300 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]