ฉบับที่ 194 ปักษ์หลัง 1-15 พฤศจิกายน 2545

[01] บทนำข่าวอโศก: ชุมชนคนเลี้ยงง่าย
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "รู้โดยไร้รส... "
[03] สดจากปัจฉาสมณะ : งานมหาปวารณา ครั้งที่ ๒๑
[04] จับกระแส ตอ. : ปฎิรูป ต.อ. ระลอกสอง กระจายอำนาจสู่ชุมชน
[05] กสิกรรมธรรมชาติ : ๑๖ ชีวิตที่สดใสของเกษตรแม่ทา หลังกลับใจหันหลังให้สารเคมี (ตอน ๑)
[06] ช่อง ๗ สีขอถ่ายทำ'โรงเรียนศีล ๕' เลือกสัมมาสิกขาสันติอโศก
[07] พ่อท่านชี้ให้เห็นค่าของคนมากกว่าผลงาน ด้วยสูตร แข็งแรง เข้มข้น ทนทาน ยืนนาน แน่นลึก นึกนบ
[08] ศูนย์สุขภาพ: ระวังภัย! ระวังใจ! ไมโครเวฟ
[09] เปิดบัญชี "ศิษย์" โรงเรียนผู้นำ ระดับ "เจ้าสัว" - ใช้จ่ายเดือนเป็นแสน
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] คนรุ่นใหม่ห่างไกลความฟุ่มเฟือย
[12] แจกยิ้มสะกิดธรรม : ใครกันแน่ ?
[13] "ลุงสอน กล้าศึก" คนบ้าปลูกต้นไม้
[14] การประชุมในงานมหาปวารณา ประชุมสัมมนาเครือข่ายกสิกรรม ไร้สารพิษฯ
[15] :นางงามรายปักษ์ นางทองอินทร์ ธรรมสา
[16] 'จำลอง' คัมแบ๊ก ชูธง 'ปั้นคนดี' สานฝัน 'นายกฯทักษิณ'
[17] ธ.ก.ส.ปลื้ม "สมณะอโศก" ขัดเกลาลูกค้า เกษตรกรยิ้มได้ผัวใหม่-เมียใหม่


ชุมชนคนเลี้ยงง่าย

ในช่วงที่ผ่านมากระแสชุมชนนิยมของชาวอโศกกำลังมาแรง

คือมีการรณรงค์ให้อยู่อย่างประหยัด เรียบง่าย กินและใช้ในสิ่งที่เรามีและผลิตได้เอง

ดังกรณีที่บ้านราชฯเมืองเรือ เมื่อมีมะละกอมาก เราก็กินมะละกอเป็นหลัก

ที่ศีรษะอโศก หลังจากร้าน น้ำใจถูกลอบวางเพลิง ชาวชุมชนก็หันมากินพืชผักพื้นบ้านที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ

ที่ปฐมอโศกก็ถึงขนาดงดซื้อพืชผักผลไม้จากตลาดชาวโลก แล้วเขียนป้ายติดที่โรงครัวกลางแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ที่นี่ใช้พืชผักไร้สารพิษ ในการปรุงอาหารเลี้ยงชาวชุมชนเท่านั้น เพื่อส่งเสริมให้ชาวชุมชนปลูกกินเอง

ที่ภูผาฟ้าน้ำ ก็มิให้โรงครัวกลาง นำพืชผักผลไม้ที่ไม่แน่ใจว่า ไร้ สารพิษขึ้นศาลา แต่ก่อนทำกันเฉพาะวันพุธ ซึ่งเป็นวัน ไร้สารพิษ ตอนนี้ก็เป็นนโยบายทำทุกวัน และส่งเสริมสนับสนุนโน้มเน้นให้ชาวภูผาฯหันมาบริโภคพืชผักผลไม้ ในป่าในดอย ที่มีอยู่มากหลากหลายชนิด โดยเฉพาะที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งมีคุณค่าและไร้สารพิษแน่นอน ไม่ต้องใช้เงินตรา ลงทุนปลูก หรือซื้อหามา แถมยังพยายามพัฒนาชาวชุมชนให้มีอุดมการณ์ในการไม่ใช้เงิน แม้ไม่มีเต้าหู้ โปรตีนเกษตร งา ฯลฯ ที่ต้องใช้เงิน ไปซื้อหามากินทุกวัน เราก็สามารถอยู่ได้ ดังชาวบ้านรุ่นปู่ทวดในอดีต ซึ่งมิใช่นักปฏิบัติธรรม เช่นชาวอโศกด้วยซ้ำไป กินน้ำพริก ผักพื้นบ้านเป็นหลัก แต่อายุ ยืนยาวกว่าคนในปัจจุบัน

ฉะนั้น ในยุคต่อไปของชาวอโศก คนที่ยังทำตัวให้เลี้ยงยาก กินยากก็คงจะอยู่ยากในชุมชนเลี้ยงง่าย ดังที่กล่าวมา.

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


จับประเด็นจากหนังสือคนคืออะไร ? (๖)
รู้โดยไร้รส...

เมื่อเราหยุดจิตสังขารได้ด้วยญาณปัญญา ไม่ให้อวิชชามาปรุงแต่งจิตด้วยกิเลสตัณหา อุปาทานต่างๆสุข ทุกข์ ชอบ ชัง สภาพวิญญาณ อันเป็นรสชาติต่างๆ ก็จะไม่เกิด จิตเราสะอาดบริสุทธิ์ เป็นวิมุติ เป็นนิพพาน

หากหยุดสังขารได้ช่วงเวลาใด ช่วงเวลานั้นเราได้นิพพานแล้ว แต่ยังไม่ถาวร เป็นเพียงนิพพานชั่วคราว

ต่อเมื่อเราหยุดสังขารได้เด็ดขาด จิตหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา-อวิชชาอย่างถาวร เป็นผู้อยู่เหนืออารมณ์ทั้งปวง ดวงจิตใสนิ่ง ไม่ขุ่นมัว ดุจน้ำสะอาด ในภาชนะแก้ว นั่นคือ จิตของพระอรหันต์ เป็นสภาพจิตว่างจากกิเลสถาวร

จิตที่ว่างจากกิเลส...ยามกระทบสัมผัสอารมณ์ใดๆก็ไม่เกิดรสความชอบหรือชัง รับรู้สัมผัสนั้นๆ โดยไม่มีอารมณ์สุข หรือทุกข์

เมื่อไม่มีการเกิดความรู้สึกใดในใจเรา จิตวิญญาณจึงว่างเปล่า เป็นสุญตา เป็นนิพพาน

การเกิดสุข-ทุกข์...
ในโลกของสัจจะ ความสุขแท้จริงแล้วไม่มี มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

สภาวะที่เราไปสำคัญหมายมั่นว่าเป็นสุข หากตรองให้ดีเราจะรู้ว่า เพราะเราบรรเทาทุกข์ลงได้ จึงเกิดสภาวะสุขขึ้น ด้วยเหตุนี้... ทุกชีวิต จึงเกิดมาพร้อมกับความทุกข์ ตั้งอยู่บนกองทุกข์ ทนอยู่กับความทุกข์ด้วยใจที่ไม่เร่าร้อน

เพราะได้สมใจจึงไพล่คิดไปว่าเป็นสุข... ต้นเหตุเกิดจากกิเลสเข้าไปปรุงแต่งร่วมกับจิตสังขาร เกิดเป็นความอยากมี อยากได้ มากมาย ในใจเรา ทุกข์กับการแสวงหาจึงตามมา เมื่อได้สมใจหมาย เราก็ว่าสุข หากไม่ได้ก็เป็นทุกข์ วนเวียนเป็นวัฏสงสาร อยู่เช่นนี้ ตราบใดที่เรายังไม่ถึงนิพพาน

ฝึกหัดดับทุกข์...
พยายามให้เรามีสติ อย่าปล่อยให้กิเลสเข้าไปปรุงแต่งร่วมกับจิตสังขาร หยุดมัน ให้ได้ แล้วกำจัดมันซะ เริ่มแรก อาจจะทำได้ยากหน่อย เนื่องจากเราไปสร้างอุปาทานไว้หนาเตอะ ต้องใช้ความวิริยะอย่างมาก ในการขัดล้าง กิเลสออกจากจิต แต่นานไป เราจะชำนาญ และจิตจะใสสะอาดยิ่งๆขึ้น เราจะหยุดสังขารได้ในที่สุด

สมมุติโลกนั้นหลอกเราไว้มาก ต้องกินอร่อย ต้องแต่งสวยแต่งงาม ต้องเสพสุขสบาย ใช้ชีวิตอย่างอลังการ เหล่านี้ ล้วนเป็นตัณหา ที่เราต้องละให้ขาด พยายามหยุดจิตมิให้ไปเสพสมกับตัณหา อย่าบำเรอกิเลสด้วยการหามาให้สมใจตน

หากล้างกิเลสตัณหาได้หมดสิ้นเกลี้ยงจากจิต ทุกข์ทั้งปวงอันกิเลสเป็นเหตุจะหมดสิ้นไป เราอยู่เหนือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสได้ ทุกข์อันเกิดจากกามคุณ ๕ เหล่านี้หมดไม่มีอีกแล้ว

การที่เราเพ่งมองตนเพื่อกำจัดกิเลส เท่ากับล้างอัตตาตัวเราให้สิ้นสูญอนัตตา เข้าสู่นิพพานเป็นพระอรหันต์

เรียนรู้สู่อรหันต์ตามขั้นตอน...
เราพึงเรียนรู้ให้แจ่มแจ้งกระจ่างจิต เพียรพยายามฝึกตนตามขั้นตอนให้ถึงอรหันต์ได้ในที่สุด

เริ่มแรกเราต้องหลุดพ้นจากโลกหยาบต่ำเสียก่อน ออกมาจากโลกีย์ แล้วแสวงหาโลกอันเป็นโลกุตระสูงส่ง เพื่อทำชีวิตให้อยู่เหนือโลกทั้งปวง.

พุทธบุตร ลูกหม้ออโศก

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สดจากปัจฉาสมณะ

งานมหาปวารณา ครั้งที่ ๒๑ ที่เพิ่งจะผ่านไป ๖-๑๐ พ.ย. มีโศลกธรรมหลัก คือ แข็งแรง เข้มข้น ทนทาน ยืนนาน แน่นลึก นึกนบ และมีโศลกธรรมสร้อย "จงเห็นค่าของคน เหนือกว่าผลของงาน"

โศลกสร้อยนี้ เกิดจากช่วงการประชุมมหาปวารณาของหมู่สมณะ พ่อท่านได้ติงเตือนสมณะรูปหนึ่ง ที่มีผู้ร้องเรียนกันมา หลายเสียงว่า มักมีกิริยา เอะอะ มะเทิ่ง ชอบใช้อำนาจ ใช้เสียงดังเข้าขู่กับผู้อื่น ที่มีความเห็นต่าง แม้สมณะรูปนั้น จะเอาภาระ การงานดี แต่ก็มักละเลย เรื่องของจิตใจผู้อื่น มุ่งแต่งานและผลของงานเป็นสำคัญ ทำให้หลายต่อหลายครั้ง ก็เอาแต่ใจตนเอง ตัดรอน จิตใจผู้อื่นอย่างแรงๆ และห้วนกระด้าง โศลกธรรมสร้อย จึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้

งานประจำปีของชาวอโศกทุกงาน จะมีคนหลายวัย หลายฐานะมากราบ มาคุย มาขอให้พ่อท่านตั้งชื่อไทยๆ หรือแม้แต่ ตั้งชื่อให้แล้ว ก็มาขอเปลี่ยนใหม่อีก งานนี้ก็เช่นกัน ซึ่งพ่อท่านก็ให้ค่าให้เวลา กับคนทุกวัย ทุกกลุ่มชน ที่อยู่ตรงหน้า แม้ในขณะฉันพ่อท่าน ก็ยังคงเมตตา มีกะจิตกะใจ ที่จะเอื้อให้อยู่อย่างเป็นปกติ ชีวิตของพ่อท่าน โดยไม่มีท่าทีว่าจะเบื่อ หรือ รำคาญใครๆ ไม่ว่าจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ที่มักหลงๆ สำคัญแต่เรื่องของตน หรือเด็กที่เอาแต่ใจ เห่อของใหม่ๆ สนุกไปวันๆ ยังไม่สามารถทำอะไรๆ ให้มีค่าได้เท่าไหร่นัก แม้กระนั้น พ่อท่านก็ยังให้ค่า ให้โอกาสเวลา ในฐานะที่เกิดมาเป็นคน

มีเกร็ดเล็กๆที่ผู้เขียนอยากจะขอร้องทุกๆคน ที่เวลามากราบ มาคุยกับพ่อท่าน พยายามหลีกเลี่ยง การนั่งด้านข้าง หรือ ด้านหลัง พ่อท่านให้ได้เป็นดี เพื่อความสะดวกกายของพ่อท่าน ยิ่งถ้ามีเรื่องคุยยาว ยิ่งควรนั่งด้านหน้า เป็นดีที่สุด แต่ถ้าเพียงแค่ มาร่วมฟัง ไม่มีเรื่องถามอะไร การนั่งด้านข้าง หรือด้านหลัง ก็ไม่เป็นปัญหา ไม่ทำให้พ่อท่านต้องเอี้ยวต้องบิดคอนานๆ

การเป็นผู้นำชาวอโศกย่อมต้องรับรู้รับฟังเรื่องราวและปัญหาของหน่วยงานต่างๆมาก มีสมณะรูปหนึ่ง อุทานว่า ผมทำอย่างพ่อท่าน ไม่ได้หรอก ดูมันยุ่งวุ่นวายไปหมด พ่อท่านบอก ไม่เห็นจะยากอะไรเลย เขาพูดอะไรก็ฟัง มีอะไรที่จะบอก ก็พูด ก็เท่านั้นเอง ถ้าจิตเราสงบแล้ว แม้เรื่องมันจะมาก จะยุ่งอย่างไร ใจเราก็ไม่ทุกข์ ไม่ได้วุ่นวายอะไรนี่

ในงานมีญาติธรรมรุ่นเก่าคนหนึ่งหายหน้าไปนาน มาคราวนี้หูตึง ขาเข่าก็ไม่ดีแล้ว มานั่งฟังธรรมก่อนฉันด้วย ช่วงสมณะ ฉันอาหาร ญาติโยมส่วนใหญ่ ก็กำลังรับประทานอาหารเช่นกัน แต่โยมผู้เฒ่าคนนี้ นั่งอยู่เพียงลำพัง ราวกับไม่มีคนสนใจ พ่อท่านจึงบอก ให้คนที่กำลังเดินผ่าน ช่วยจัดอาหารมาให้โยมผู้เฒ่า ที่ลุกเดินเองไม่ได้ (ญาติๆหามกันมา ในขณะนั้น ญาติๆไม่อยู่) แม้ในสายตาของหลายๆคน อาจจะมองข้าม มองผ่านๆ..โยมผู้เฒ่านี้ ไม่ได้มีค่าอะไรกับตัวเรา แต่ในสายตา พ่อท่าน อาจเห็นค่า ของความเป็นคนสูงวัย ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ยาก มีค่าที่ผู้แข็งแร งควรเกื้อกูลผู้ชรา ในสถานการณ์อย่างนั้น ดูเป็นสิ่งเล็กน้อยมาก ด้วยเรื่องราวทำนองนี้ อาจมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ แต่เป็นสิ่งยิ่งใหญ่มาก กับน้ำใจเกื้อกูล ให้ค่าคนทุกวัย ที่อยู่ตรงหน้า โดยไม่หวังผลตอบแทน.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ปฎิรูป ต.อ. ระลอกสอง
กระจายอำนาจสู่ชุมชน

หลังจากที่คณะทำงาน ต.อ. กลางปฏิรูปตนเอง ลดทอนอำนาจการตัดสินใจ ในการกำหนดนโยบายและทิศทาง การดำเนินงาน ไปสู่คณะกรรมการบริหาร ต.อ. ซึ่งมีองค์ประกอบ จากตัวแทนของฝ่าย ผู้ผลิต ชุมชน ผู้บริโภค ร้านค้า นักวิชาการ เมื่อต้นปี ที่ผ่านมานั้น ในการประชุม ต.อ.ชุมชนและคณะกรรมการบริหาร ชุมชนในงานมหาปวารณา ๒๕๔๕ นี้ คณะทำงาน ต.อ.กลาง ได้เสนอการปฏิรูป ระบบงานอีกครั้งหนึ่ง โดยกระจายอำนาจ การอนุมัติการผลิต และการวางจำหน่ายผลผลิต ให้แก่ชุมชน เพื่อให้ชุมชน มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และรับผิดชอบต่อผลผลิตของตนเอง ที่จะผลิตออกไปสู่ผู้บริโภค ภายใต้มติ และความเห็นชอบ จากที่ประชุมสมาชิกชุมชน ทั้งนี้โดยผ่านการกลั่นกรองและ การควบคุมดูแล ตรวจสอบความปลอดภัย และมาตรฐานคุณภาพ ของผลผลิตจาก ต.อ.ชุมชน สมณะ/สิกขมาตุที่ปรึกษา ด้านการผลิตของชุมชน และ ที่ประชุม คณะกรรมการชุมชน ในด้านต่อไปนี้

๑. การจดแจ้งผลผลิต เพื่อประเมินสูตร ส่วนประกอบ ที่มา กรรมวิธีการผลิต ราคา และองค์ประกอบ ความเหมาะสม ในการผลิต เช่น คุณค่าคุณประโยชน์ การทดสอบคุณภาพ ความพร้อมของกำลังคน ความซ้ำซ้อนของผลผลิต

๒. การตรวจสอบสุขลักษณะของสถานที่ผลิต เครื่องมือ อุปกรณ์ และสุขนิสัยของผู้ผลิต

๓. การตรวจสอบฉลากให้เป็นไปตามกฎหมาย

๔. การตรวจสอบความปลอดภัยและคุณภาพของผลผลิต โดยเครื่องมือทดสอบอย่างง่ายในชุมชน หรือจากห้อง ปฏิบัติการ วิทยาศาสตร์ ของหน่วยงาน/สถาบันทางวิชาการ ในท้องถิ่น ตามข้อตกลงร่วม ด้านตัวชี้วัด และเกณฑ์มาตรฐาน ความปลอดภัย และคุณภาพ

ทั้งนี้คณะทำงาน ต.อ.กลางจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และให้การสนับสนุนแก่ชุมชนทางด้านวิชาการ การพัฒนาระบบงาน การพัฒนาบุคลากร หรือ อื่นๆตามที่ร้องขอ

อย่างไรก็ตาม คณะทำงาน ต.อ.กลาง ยังคงทำหน้าที่สุ่มตรวจสอบความปลอดภัยและคุณภาพผลผลิต ของทุกชุมชน เพื่อกำกับ ดูแลผลผลิต และสงวนสิทธิ์ ในการเห็นชอบต่อการผลิต และวางจำหน่ายผลผลิตบางประเภท ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงการใช้มาตรการ ให้หยุดผลิต และ/หรือจำหน่าย ผลผลิตที่พบว่า มีปัญหาและผลกระทบ ต่อผู้บริโภค และต่อชื่อเสียง ของชาวอโศกทั้งมวล ซึ่งเป็นไปตามภารกิจ ที่ได้รับมอบหมายจากพ่อท่าน.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


๑๖ ชีวิตที่สดใสของเกษตรแม่ทา
หลังกลับใจหันหลังให้สารเคม
(ตอน ๑)

ปัจจุบันคงมีเกษตรกรในประเทศนับไม่ถึงหยิบมือ ที่หันหลังกลับใจให้กับสารเคมี และหันมาทำเกษตรแบบดั้งเดิม โดยอาศัย หลักกลไก ของธรรมชาติ และระบบนิเวศ ให้พึ่งพากันและกันตามครรลองของธรรมชาติ พร้อมๆกับการเน้นอนุรักษ์ และฟื้นฟู สิ่งแวดล้อมไปด้วย

ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงทำการเกษตรแบบเคมี และเน้นให้ความสำคัญกับจำนวนผลิตผลที่จะได้ โดยใช้สารเคมี กำจัดศัตรูพืช และปุ๋ยเคมี ในปริมาณมากๆ เพื่อเร่งเพิ่มปริมาณผลผลิต แม้ผลที่ได้จะเป็นไปตามเป้า แต่ก็ตามมาด้วย ต้นทุนการผลิตที่สูง ที่พอหักกลบลบหนี้ กับผลผลิตที่ขายได้ ก็อาจจะไม่เพียงพอกับ จำนวนเงินที่ลงทุน หรือแรงงาน ที่ลงแรงไป

ไม่เท่านั้น สุขภาพร่างกายของผู้ใช้สารเคมียังค่อยๆ หายไปพร้อมกับปริมาณสารเคมี ที่ใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่ลดลง สภาพของดินแข็ง ดินเค็ม หน้าดินถูกชะล้างทำลาย เป็นสิ่งที่กำลังคุกคาม การทำการเกษตรเชิงเดี่ยว และยุคใช้สารเคมี เป็นปัญหาพัลวันตาม มาเป็นลูกโซ่ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ ของเกษตรกรส่วนใหญ่ ในปัจจุบัน

ทั้งๆที่ย้อนหลังไปเมื่อช่วงก่อน ๔๐ ปี การทำการเกษตรแบบยั่งยืน หรือที่ภาษาวิชาการสมัยใหม่เรียกกันว่า เกษตรอินทรีย์ เป็นรูปแบบ การทำการเกษตรของคนไทย กันมานานแล้ว แต่ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่แผ่ขยายวงมาถึง ภาคการเกษตร ได้เป็นช่องทางให้พวกนายทุน ที่ต้องการให้เกษตรกร สร้างผลผลิต ตามความต้องการของตลาด นำสารเคมี ทั้งยา ฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมี มาถึงมือเกษตรกร อย่างช่วยไม่ได้

แต่เมื่อเกษตรเคมี ได้แสดงถึง ผลร้ายต่อวงจรชีวิตเกษตรกร และสิ่งแวดล้อมชัดเจนแล้ว ก็เริ่มมีคนหวนคิดไปถึง เกษตรอินทรีย์ ตามวิถีดั้งเดิม ขึ้นอีกครั้ง.

(จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ ๑๓ ก.ค.๔๕)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ช่อง ๗ สีขอถ่ายทำ'โรงเรียนศีล ๕'
เลือกสัมมาสิกขาสันติอโศก

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ ต.ค.๔๕ คณะ ผู้ผลิตรายการ "โลกสีขาว" ช่อง ๗ สี มาขอถ่ายทำ "โรงเรียนศีล ๕" ที่โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก ซึ่งเป็นวิถีการเรียน การปฏิบัติแบบบูรณาการประจำวันของนักเรียนที่นี่ เริ่มถ่ายทำตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๑๕.๐๐ น. เจาะ รายละเอียดฐานงานต่างๆ ของนร. เช่น ฐานงานแปรรูป, ศูนย์มังสวิรัติฯสาขา ชมร.หน้าสันติฯ, ร้านกู้ดินฟ้า, การเข้าแถว, การขึ้นศาลารับประทานอาหาร -พิจารณาอาหาร หลังจากนั้น ได้ไปสัมภาษณ์พ่อท่าน แล้วไปดู ฐานงาน ขยะวิทยา ซึ่งใช้เวลามากที่สุดประมาณ ๑ ช.ม. หลังจากนั้นไปจำลองภาพ ตั้งแต่การตื่นนอน การทำวัตรเช้า การออกกำลังกาย และสุดท้าย เรื่องของการเรียนวิชาการในห้องเรียน

เขาสงสัยว่า ที่นี่จัดการเรียนการสอนอย่างไร, เด็กนร.มาจากที่ไหน, งบประมาณในการจัดการศึกษาแต่ละปี ซึ่งทาง ร.ร. ได้ให้เอกสาร และแนวคิดการศึกษาภายนอก ในปัจจุบันมีปัญหาอย่างไร

การถ่ายทำครั้งนี้ จะออกอากาศเดือน พ.ย. เวลา ๐๘.๑๕ น. ทุกวันอาทิตย์ ใช้เวลาออกอากาศ ๕ นาที สำหรับวันใดนั้น ยังไม่กำหนด

คุณสุขเกษม สุขภิญโญ ผู้ควบคุมการผลิตรายการ "โลกสีขาว" ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึก ของการมาถ่ายทำ ในครั้งนี้ว่า "จากการที่ได้เดินทาง ไปสัมผัสกับเด็กๆ ในหลายโรงเรียน โดยเฉพาะปีนี้ จะพูดถึงการเล่นให้มีความรู้ เรียนให้สนุก หรือว่า เก่งดีมีความสุข ก็ตั้งโจทย์ว่าเอ๊ะ! เก่งดีแล้ว จริงๆแล้วในสภาพสังคมปัจจุบันนี้ เด็กจะมีความสุขจริงหรือ ก็เลยเกิด เป็นโจทย์ขึ้นมาว่า มีไหมโรงเรียนที่เอาเรื่องของศีล เข้าไปจับ ให้เด็กได้เรียนรู้ ไม่ใช่เรียนเฉพาะชั่วโมงพุทธศาสนา ก็เลยมองหา สถานที่ ที่จะมีรูปแบบการศึกษาในลักษณะอย่างนี้อยู่ ทราบจากสื่อ เลยพุ่งตรงมาที่นี่ พบว่ามีอย่างนี้

มาแล้วก็รู้สึกว่าทึ่ง ที่ทำได้แน่นเหนียวมาก จากกระบวนการเรียนการสอน ได้เห็นฐานงานต่างๆ คิดว่าเป้าหมายของ ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา คงจะได้จริงๆ ดูจากกระบวนการ ที่เด็กมีส่วนร่วม และได้รับการแนะนำต่างๆ จากอาๆ และสมณะทั้งหลาย

ผมว่าเด็กที่นี่เขาได้แน่นอน ในเรื่องของการเรียนกับการรักษาศีล เป็นคนที่มีศีล คิดว่าถ้าเด็กทั่วไปภายนอก ได้มีโอกาส อย่างนี้บ้าง อาจจะไม่ต้องมาอยู่ประจำ ก็คงจะเป็นเรื่องของ การจัดกิจกรรมค่าย ในช่วงปิดเทอม หรือ ในโอกาสพิเศษ ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ต่อเด็กกลุ่มอื่นๆด้วย"

และในวันเดียวกันเวลา ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น. น.ส.ปริยาพร ญาณาชัย นักวิชาการศึกษา จากสำนักงาน คณะกรรมการ การศึกษาเอกชน เป็นผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาประชุม เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ที่ ร.ร.สัมมาสิกขา สันติอโศก อ.ฟังฝน จังคศิริ ได้ให้รายละเอียด เกี่ยวกับการประชุม ในครั้งนี้ว่า "ท่านมาประชุมเกี่ยวกับ การจัดการศึกษา ของโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การจัดการเรียนการสอน แบบบูรณาการ ในวิถีชีวิตประจำวัน ที่ทาง ร.ร.ขออนุญาต กระทรวงฯไป และดูว่า ทางโรงเรียน ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือเปล่า โดยเฉพาะในเรื่องของเอกสาร ที่ค่อนข้างครบถ้วน ซึ่งเขาพอใจมาก เรื่องที่ประชุม จะเป็นเรื่องการบริหาร การเรียนการสอน งานวิชาการ กิจการของนักเรียน ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร ทำให้เรา มีความสนิทสนม กับทางกระทรวงฯมากขึ้น

ท่านมีข้อแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการฝึกงานของ นร.ว่าฝึกหนักเกินไปถึง ๓,๕๐๐ ช.ม. ข้างนอกฝึกประมาณ ๑,๒๐๐ ช.ม.ต่อปี ซึ่งแยกส่วน การฝึกงาน ออกจากวิชาการ แต่ที่นี่ใช้วิถีการเรียนการสอนแบบบูรณาการ คือในการฝึกงาน มีเรื่องของ วิชาการ อยู่ด้วย

การมาของเจ้าหน้าที่จากกระทรวง จะเน้นในเรื่องของเอกสาร ต่างจากของสื่อ ที่จะเน้นกิจกรรมของ นร., การพัฒนาการของ นร. กรณีที่สื่อต่างๆ มาถ่ายทำกิจกรรมของ นร.อยู่เสมอ เป็นผลดีต่อ นร. ทำให้เขากระตือรือร้น ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ตกผลึกค่ะ" .

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


มหาปวารณา'๔๕ คนล้นศาลา
พ่อท่านชี้ให้เห็นค่าของคนมากกว่าผลงาน ด้วยสูตร
แข็งแรง เข้มข้น ทนทาน ยืนนาน แน่นลึก นึกนบ

การแสดงภาคค่ำของศีรษะฯ ลงทุนหลายล้าน
ปฐมฯนำชมศูนย์เจาะวิจัยสมุนไพร

งานมหาปวารณาครั้งที่ ๒๑ ณ พุทธสถานปฐมอโศก ระหว่างวันที่ ๖-๑๐ พ.ย. ๔๕ วันที่ ๖-๗ พ.ย. เป็นการประชุม ของสมณะ ชาวอโศก และวันที่ ๑๐ เป็นการประชุมของสิกขมาตุ

สำหรับบรรยากาศของงานมีดังนี้
๗ พ.ย. ช่วงหลังฉัน พ่อท่านแจกหนังสือ ๓ เล่ม (คั้นออกมาจากศีล ฉบับปรับปรุงใหม่, มหาทาน, พรแห่งพุทธ) พวงกุญแจ รูปใบโพธิ์ และปฏิทินคั่นหนังสือแก่ ผู้มาร่วมงานทุกคน จนถึง ๕ โมงเย็น และใต้หอลั่นธรรม แจกเทป ๓ ม้วน เช่นกัน

๘ พ.ย. ทำวัตรเช้า พ่อท่านสมณะ โพธิรักษ์ ชี้ให้เห็นความสำคัญของการ ปวารณา และ ประโยชน์ของการมาร่วมงาน

๐๗.๐๐ น. พ่อท่าน สมณะ สิกขมาตุ บิณฑบาตในชุมชน มีญาติธรรมภายใน และภายนอก รอใส่บาตรมากมาย เหมือนเช่นทุกปี ที่ผ่านมา

ก่อนฉันฟังอภิปราย "ชะตากรรม พันธุ์ข้าวไทย" ประวัติของข้าวไทย จนถึงกลวิธีขโมยพันธุ์ข้าวไทยของต่างชาติ โดย คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากเครือข่ายภูมิปัญญาไทย, คุณเดชา ศิริภัทร จากเครือข่าย เกษตรทางเลือก ดำเนินรายการโดย คุณสงกรานต์ ภาคโชคดี ที่ปรึกษา รมว. สาธารณสุข

บริเวณใต้ศาลาเรียน ญาติธรรมแจกขนมกุยช่ายที่ปลูกแบบไร้สารพิษ

บริเวณศาลางานมีผู้มาทำวิจัยเจาะเลือด ตรวจระดับโฮโมซีสทีน, วิตามินบี ๑๒ กรดโฟลิค และวิตามินบี ๖ ของผู้รับประทาน มังสวิรัติ มาได้ ๕ ปี อายุระหว่าง๓๐-๕๐ ปี

๑๓.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. ประชุมสัมมนาองค์กรเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย ที่ศาลาฟังธรรม พ่อท่านกล่าว ขอบคุณทุกคน ที่มาร่วมประชุม และว่าพวกเราพัฒนาขึ้น ที่มานั่งฟังประชุมกัน มากกว่าจะไปคุยเรื่องไร้สาระ

ภาคค่ำวันที่ ๗-๘ พ.ย. บนเวทีธรรมชาติ เป็นการแสดงของนร.และ ญาติธรรมจากพุทธสถาน-สังฆสถาน และกลุ่มต่างๆ ที่น่าสนใจ คือการแสดง จาก มว.ช.เขตศีรษะฯ พร้อมฉายภาพเหตุการณ์ไฟไหม้ร้านน้ำใจ เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ประกอบ การแสดงด้วย หลายคนแซวว่า ฉากนี้ลงทุนหลายล้านบาท ...จากราชธานีอโศก ฉายภาพเหตุการณ์น้ำท่วม ที่ผ่านมาให้ชม ซึ่งหลายคนคิดไม่ถึงว่า น้ำจะท่วมสูงถึงขนาดนั้น และจากภูผาฟ้าน้ำ มีภาพเหตุการณ์ งานศพของคุณภูฟ้า แพงค่าอโศก ขุนพลแห่งดอยแพงค่า ฉายให้ชมเช่นเดียวกัน

๙. พ.ย. ธรรมรับอรุณ สิกขมาตุกล้าข้ามฝัน อโศกตระกูล ชี้ให้เห็นค่ายกลบนเส้นทางมรรคมีองค์ ๘ และสมณะเดินดิน ติกขวีโร ชี้ถึงอันตราย ของนักปฏิบัติธรรม แล้วร่วมกันทำบุญตักบาตร ก่อนฉัน พ่อท่าน แสดงธรรม "บุญกิริยาวัตถุ ๑๐" ภาคปฏิบัติ ที่มีผลโลกุตระถึงนิพพาน คอเท็ป ๕ ดาว ห้ามพลาดเด็ดขาด ๑๓.๐๐-๑๗.๐๐ น. ร่วมประชุมสามัญประจำปี พรรคเพื่อฟ้าดิน เลือกตั้ง คณะกรรมการชุดใหม่

๑๐ พ.ย. ธรรมรับอรุณ พ่อท่านแสดงธรรมอีกครั้ง หลังทำวัตรประชุมวิทยุชุมชน ธรรมก่อนฉัน สมณะเพื่อพุทธ ชินธโร และ สมณะบินบน ถิรจิตโต ร่วมแสดงธรรมตามลำดับ

บริเวณข้างศาลาค้าปฐมอโศก มีตลาดนัดไร้สารพิษ ของโครงการกู้ดินฟ้า ๒ ซึ่งมีเป็นประจำ ทุกวันเสาร์ มีญาติธรรม ไปอุดหนุน คับคั่ง

ช่วงรับประทานอาหารที่ศาลาฟังธรรม ฉายภาพตัวอย่าง ของผู้มาอบรม ที่ปฐมอโศกทั้ง ๑๗ รุ่น ที่กลับไปเปลี่ยนแปลงตัวเอง ส่งผลดีถึงครอบครัว และชุมชน

ที่พักของผู้มาร่วมงาน
นร.หญิง - หอกลั่นขวัญ (ชั้นบนของโรงครัว)
ญาติธรรมหญิง -โรงเรียนสัมมาสิกขาฯ ชั้น ๓-๕ แยกตามพุทธสถาน-สังฆสถาน ส่วนญาติธรรมทั่วไปพักที่ชั้น ๒
ผู้อายุยาวหญิง - ศาลาทอฝัน และเรือนอโศกรำลึก
พระอาคันตุกะ - ศาลางาน
นร.ชาย - โรงเต้าหู้
ญาติธรรมชาย - ศาลาช่าง, ศาลาคลายทุกข์
พี่น้องที่เคยมาอบรม ธ.ก.ส. - ศาลาน้อมเอื้อ

เรื่องจากที่ประชุมมหาปวารณา ที่แจ้งให้ญาติธรรมทราบร่วมกัน มีดังนี้
๑.สมณะร่วมประชุมทั้งหมด ๑๐๒ รูป

๒.การบิณฑบาตช่วงเข้าพรรษา สมณะที่สัตตาหะไปร่วมกิจกรรมกลุ่ม เครือข่าย สามารถบิณฑบาตได้ตามความเหมาะสม ไม่ผิดธรรมวินัย

๓. พระอาคันตุกะ ๕ พรรษา นับเอาพรรษาตามฤดูฝน ถือว่าพ้นนวกะตามแบบหมู่ใหญ่ จึงขอเป็นพระอาคันตุกะลงทะเบียนได้ ในการจะขอเข้า เป็นสมณะ

๔. เงินกู้ที่มีดอกเบี้ย เรียก เงินกู้ เงิน กู้ที่ไม่มีดอกเบี้ย เรียก เงินเกื้อ เงินกู้ที่มีดอกเบี้ย เรียก หนี้ ส่วนเงิน ที่ไม่มีดอกเบี้ย เรียก เงินหนุน

๕. โบสถ์ปัจจุบัน ณ สังฆสถาน ทักษิณอโศก หากในอนาคต มีการสร้างโบสถ์ใหม่ ก็ขอให้อนุรักษ์โบสถ์เก่าไว้ด้วย เพราะโบสถ์ เล็กๆ คล้ายคอกหมู ดูแล้วเกิดสำนึกดี

๖. ปัจฉาสมณะ
ปัจฉาฯพ่อท่าน คือ สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ และ สมณะชัดแจ้ง วิจักขโณ
ปัจฉาฯสมณะเดินดิน ติกขวีโร คือ สมณะฟ้าไท สมชาติโก
ปัจฉาฯสมณะบินบน ถิรจิตโต คือ สมณะโพธิสิทธิ์ โพธิสิทโธ
ปัจฉาฯสมณะผืนฟ้า อนุตตโร คือ สมณะหินกลั่น ปาสาณเลโข
ปัจฉาฯสมณะเสียงศีล ชาตวโร คือสมณะก้อนดิน เสฎฐพโล
ปัจฉาฯสมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ คือสมณะใจเด็ด จิตตคุโณ

๗. สมณะป่วยแห่งปี ๑. สมณะกรรมกร กุสโล ๒. สมณะมั่นแจ้ง พุทธชาโต ๓. สมณะน่านฟ้า สุขฌาโน ๔. สมณะเบิกบาน ธัมมนิยโม

๘. ปฏิทินชาวอโศก
๒๙ ธ.ค.๔๕ - ๑ ม.ค. ๔๖ ตลาดอาริยะฯ ที่ราชธานีฯ
๒๔-๒๖ ม.ค. ฉลองหนาวฯ ที่ภูผาฯ
๑๖-๒๒ ก.พ. พุทธาภิเษกฯ ที่ศาลีฯ
๖-๑๒ เม.ย. ปลุกเสกฯ ที่ศีรษะฯ
๑๖-๑๘ พ.ค.กสิกรรมไร้สารพิษเพื่อฟ้าดิน ที่ราชธานีฯ
๔-๕ มิ.ย. โฮมไทวัง ที่ราชธานีฯ
๙-๑๐ มิ.ย. อโศกรำลึก ที่สันติฯ
๕-๙ พ.ย. มหาปวารณา ที่ปฐมฯ
๓๑ ธ.ค. ๔๖ - ๓ ม.ค. ๔๗ ตลาดอาริยะฯ ที่ราชธานีฯ

จากกันครั้งนี้ อย่าลืมกลับไปปวารณาซึ่งกันและกัน เพื่อความเจริญของตัวเอง และหมู่กลุ่ม แล้วพบกันใหม่ ในงาน ตลาดอาริยะ ปีใหม่อโศก" ๔๖ ณ ราชธานีอโศก เพื่อสืบทอดอุดมการณ์บุญนิยม สู่คนรุ่นต่อไป

ความรู้สึกของผู้มาร่วมงาน ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์มาดังนี้
นางเจือบุญ ชาลี สังฆสถานหินผาฟ้าน้ำ "รู้สึกคุ้มค่ามาก ได้มาช่วยงานทั่วไป เห็นพวกเรามาพร้อมหน้า พร้อมตากัน ได้รับธรรมะ จากพ่อท่านที่ดีมาก ฟังแล้วรู้สึกว่า ตัวเองต้องปฏิบัติอีกเยอะแยะ การแสดงเห็นความพร้อมเพรียง ของทุกๆกลุ่ม"

นางหินตะวัน เพ็งเล็ง สังฆสถาน ทักษิณอโศก "ประทับใจการฟังธรรมะมาก ตรงกับสภาวะของตัวเอง ที่เป็นอยู่ ชอบฟังธรรม มากค่ะ รู้สึกตัวเองได้รับของดีๆยิ่งขึ้น ได้มาเห็นการบิณฑบาต ของสมณะ ซึ่งเคยเห็นแต่ในรูป มาเห็นของจริง แล้วประทับใจ เป็นแบบอย่างที่ดี ที่สมควรเอาแบบอย่าง เราต้องปฏิบัติให้สูงยิ่งขึ้น"

นางจันทร์นวล พวงแก้ว ภูผาฟ้าน้ำ "ได้กำไรเยอะ แม้จะปวดหลัง ปวดแข้งขาบ้าง ก็ต้องมา เพราะฟังเท็ปแล้วไม่ถึงใจ ตราบใด ยังเดินเหินได้ ก็จะมาทุกปี จนวาระสุดท้าย ชอบทุกอย่าง ซึ้งในธรรมะ สมณะทุกรูป เทศน์ถูกใจไปหมด โศลกที่พวงกุญแจ ตรงกับตัวเอง สิ่งไหนไม่เที่ยง คุณจงพอใจในสิ่งนั้น เพราะในโลกนี้ไม่เที่ยง"

ด.ญ.นิชนันท์ ประทุม ศาลีอโศก ม.๒ "มาครั้งที่ ๒ ช่วยงานศาลาค่ะ ไม่เหนื่อยค่ะ ไม่ยุ่ง สนุก ได้แสดงบนเวที ชุดวัฒนธรรมไทย รู้สึกว่าดี ได้มาช่วยงานที่นี่"

นายสมเจตน์ (เพียงพอ) ไตรรัตน์ ศาลีอโศก "ปีนี้สุขภาพไม่ค่อยดี เลยไม่ค่อย ได้ร่วมกิจกรรม ได้ร่วมประชุม วิทยุชุมชน ทำให้เรามีพลัง ต่อสู้อะไรต่อไปได้เยอะมาก มางานนี้ก็เป็นการเพิ่มพลัง ให้กับตัวเอง เป็นประโยชน์ตน"

นายอุทัย สุทธิประภา ร้อยเอ็ดอโศก "ประทับใจมากครับ เพราะเราตั้งใจจะมา ได้ความรู้ใหม่ ได้ฟังพ่อท่านเทศน์ ได้พบ ญาติธรรมเก่าๆ ญาติพบญาติ รู้สึกดีใจนะครับ อาหารการกิน อุดมสมบูรณ์ อากาศก็ดีกว่าแต่ก่อน ไม่ค่อยเหม็นขี้หมู ขี้หมูไปไหนไม่รู้ เจ้าภาพต้อนรับดีมากเลย ยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนกับมาบ้านตัวเอง ขออนุโมทนา กับชาวปฐมฯด้วยครับ

โศลกงานมหาปวารณา แข็งแรง เข้มข้น ทนทาน ยืนนาน แน่นลึก นึกนบ
โศลกธรรมเสริม จงเห็นค่าของคน เหนือกว่าผลของงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ระวังภัย! ระวังใจ! ไมโครเวฟ

ได้อ่านข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ว่า หญิงอเมริกันคนหนึ่งเกือบกลายเป็นคนตาบอด หลังจากถูกน้ำร้อน ที่ผ่านการต้ม จากเตา ไมโครเวฟ พุ่งกระฉูดใส่หน้า เนื่องจากเธอต้มน้ำในเตา ไมโครเวฟ ๓ นาที ไม่เห็นน้ำมีทีท่าว่าจะเดือด เธอจึงนึ่งรออีกนิด แล้วไปยกถ้วยน้ำ ออกจากเตาไมโครเวฟ ช่วงนั้นเอง น้ำที่ร้อนจัด แต่ไม่เดือดปุดๆให้เห็น ก็พุ่งกระฉูดเข้าใส่ใบหน้า ของเธอ ราวกับ ลูกกระสุนปืน ทั้งยังพุ่งกระฉูด ไปโดนเพดานด้วย เธอได้ถูกนำส่งโรงพยาบาล ในสภาพใบหน้า ถูกน้ำร้อนลวก ทั้งใบหน้า กระจกตา ทั้ง ๒ ข้างของเธอ เกือบมองไม่เห็น ต้องใช้เวลาเกือบ ๖ เดือน กว่าจะมองเห็น เป็นปกติอย่างเดิม สิ่งที่เกิดกับเธอ เพราะน้ำร้อน ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือด หากแต่ไม่เดือดปุดๆ หรือเดือดให้เห็น แต่สามารถเดือด พุ่งพล่าน อย่างไม่คาดฝัน เมื่อได้รับการกระตุ้น ทำให้เธอขาดความระมัดระวังตัว นี่ถือว่าเป็นบทเรียน ของผู้ที่จะใช้เตา ไมโครเวฟ ซึ่งควรอ่านวิธีใช้ และข้อควรระวัง อย่างละเอียดรอบคอบ และปฏิบัติให้ ถูกต้อง

ถึงอย่างไร ความร้อนอันพุ่ง พล่านที่มองไม่เห็นของน้ำเดือดในเตาไมโครเวฟ ก็คงไม่ต่างอะไร กับความร้อนที่พุ่งพล่าน ที่อยู่ในจิตวิญญาณของคน ที่สะสมไว้ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าไม่รู้ตัว สะสมไว้มาก จนเกินพิกัดแล้ว สักวัน ก็คงจะระเบิดออกมา ทำร้ายตัวเองก่อน แล้วกระจายไปทำร้าย บุคคลรอบข้าง ซึ่งอาจจะ ทำร้าย ทำลายได้ แม้กระทั่งชีวิต ร้ายกว่าความร้อนจากเตาไมโครเวฟ หลายเท่านัก ผู้รู้จึงเตือนเราไว้ว่า "อย่าเผลอใจ อย่าห่างใจ" คอยควบคุมจิตใจของเราไว้ให้ดีๆ ด้วยศีลด้วยธรรม จะนำสุขมาให้ทั้งตัวเองและผู้ใกล้ชิด สังคมคงสงบสุข และ น่าอยู่กว่าทุกวันนี้ มาช่วยกันสร้างตรงนี้กัน ดีกว่านะคะ.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เปิดบัญชี "ศิษย์" โรงเรียนผู้นำ
ระดับ "เจ้าสัว" - ใช้จ่ายเดือนเป็นแสน

อาจเป็นครั้งแรกของผู้บริหารธุรกิจหลายคนสำหรับการทำกิจวัตรประจำวันที่แตกต่างจากที่เคยเป็น เพราะต้องตื่นแต่เช้า ก่อนไก่ขัน เพื่อมานั่งสวดมนต์ หลับตาทำสมาธิ แล้ววิ่งออกกำลังกาย เหยียดแข้งเหยียดขา แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน บางคน ดูเหนื่อยหอบบ้าง แต่บางคนรู้สึกสดชื่นสบาย

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน โรงเรียนฝึกอบรมผู้นำ ที่ ต.พุประดู่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ กระทรวงน้องใหม่ ที่เพิ่งตั้งขึ้น ซึ่งการอบรมครั้งนี้ สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จำนวน ๑๒๐ คน ถูกนำไปอบรม "พลังสร้างสรรค์ สู่ผู้นำยุคใหม่ ส.อ.ท." เริ่มตั้งแต่วันที่ ๓๑ ต.ค. ถึง ๓ พ.ย.

การฝึกอบรมดังกล่าว วันแรกผู้บริหารที่เข้ารับการอบรมทั้งหมด ต้องบอกเล่า โดยการเขียนประวัติส่วนตัว ลงในแบบฟอร์ม รวมไปถึง รายรับ-รายจ่าย ทั้งที่เป็นเงินเดือน, รายได้พิเศษ

ในการแจ้งรายรับ-รายจ่าย ทุกคนมีรายรับแต่ละเดือนตั้งแต่ ๕๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป มีผู้ที่มีรายรับตั้งแต่ ๑๐๐,๐๐๐ - ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๓๓ คน รายรับ ๕๐๐,๐๐๐ - ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำนวน ๓ คน และมีรายรับมากกว่า ๑ ล้านบาท ๒ คน แต่มีเพียง ๓ รายเท่านั้น ที่กล้าแจกแจง รายจ่ายของตัวเอง ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น บางคนแจงละเอียดยิบ แม้กระทั่ง รายการเล่นหวยใต้ดิน

ยกตัวอย่าง ระดับผู้บริหารคนหนึ่งกรอกว่า มีเงินเดือน ๒ แสนบาท มีรายจ่ายที่จำเป็น คือค่าน้ำมัน ๒,๕๐๐ บาท ค่าไฟฟ้า-น้ำประปา ๒,๐๐๐ บาท ค่าโทรศัพท์ ๓,๐๐๐ บาท ค่าอาหารเช้า กลางวัน เย็น วันละ ๒,๕๐๐ บาท จ่ายลูก ๔,๕๐๐ บาท เลี้ยงดูพ่อแม่ ๖,๐๐๐ บาท เบ็ดเตล็ดอีก ๑๕,๐๐๐ บาท ส่วนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ผู้บริหารได้เขียนว่า หมดไปกับเสี่ยงโชค โดยซื้อทั้งล็อตเตอรี่ และหวยใต้ดิน ๔,๐๐๐ บาท ดูหนัง-ช้อปปิ้ง ๕,๐๐๐ บาท เที่ยวกลางคืน ๑,๐๐๐ บาท จัดเลี้ยง และซื้อของฝาก ๓,๐๐๐ บาท ค่าน้ำอัดลมอีก ๑๐๐ บาท

ด้านเจ้าของบริษัทอีกคน กรอกลงไปว่ามีรายได้ ๓๐๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน แต่รายจ่าย ก็ไม่น้อยหน้ากับรายรับ เพราะเขากรอกลงไปว่า รายจ่ายที่จำเป็นได้แก่ ค่าน้ำมัน ๓๐,๐๐๐ บาท ค่าไฟฟ้า-น้ำประปา ๑๙,๐๐๐ บาท อาหารเช้า มื้อละ ๕๐๐ บาท จ่ายเบี้ยเลี้ยงลูก ๓๙,๐๐๐ บาท เบ็ดเตล็ด ๕๙,๐๐๐ บาท ส่วนรายจ่าย ที่ไม่จำเป็นได้แก่ ค่าเที่ยวต่างประเทศ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ค่าอาหาร และคาราโอเกะ ๑๙,๐๐๐ บาท อาบอบนวดแผนโบราณ ครั้งละ ๑,๐๐๐ บาท จัดเลี้ยง - ของฝาก ๑๐,๐๐๐ บาท เสื้อผ้ารองเท้า ๑๐,๐๐๐ บาท

รายสุดท้าย มีรายได้ต่อเดือน ๓๐๐,๐๐๐ บาทเช่นกัน มีรายจ่ายที่จำเป็นประกอบด้วย ค่าน้ำมัน ๑๐,๐๐๐ บาท ค่าโทรศัพท์ มือถือ ๘,๐๐๐ บาท ค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำประปา ๙,๐๐๐ บาท ผ่อนรถ ๑๓๐,๐๐๐ บาท อาหารเช้า-กลางวัน-เย็น เดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ให้พ่อ-แม่ ๕,๐๐๐ บาท เบ็ดเตล็ด ๑๕,๐๐๐ บาท ตีกอล์ฟ ๓,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มีไม่มากนัก เช่น จัดเลี้ยง - ซื้อของฝาก ๒,๐๐๐ บาท ของเล่นอีก ๑,๐๐๐ บาท

จากกิจวัตรประจำข้างต้น หลายคนคงนึกภาพนักธุรกิจเหล่านี้ เมื่อเข้ารับการอบรมผู้นำ ไม่ค่อยออก เพราะกิจวัตร ที่ต้องทำ ระหว่างอบรม แตกต่างจาก กิจวัตรปกติอย่างสิ้นเชิง ไม่ได้กิน ไม่ได้ใช้ และไม่ได้เที่ยว อย่างที่เคย เพราะการเข้าอบรมครั้งนี้ ทุกคน ต้องทำงานทุกอย่างเองทั้งหมด บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าการล้างจาน หรือแบกจอบ แบกเสียมขุดดิน ปลูกพืช ปลูกผัก หากเมื่อยก็ไม่มีหมอนวด คอยนวดให้เหมือนเดิม

ทุกคนต้องตื่นเช้าเวลา ๐๕.๓๐ น. ทุกวัน เพื่อมาบริหารร่างกาย จนกระทั่งเวลา ๐๘.๐๐ น.จึงเริ่มเข้ากิจกรรม ประจำวัน ซึ่งเช้าวันแรก นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้บรรยายพิเศษเรื่อง "การสร้างองค์กรใช้พลังความคิดในเชิงสร้างสรรค์" หลังจากนั้น พล.ต.จำลองได้นำรถบรรทุก ๖ ล้อ พาคนทั้งหมดไปชมป่าเขาลำเนาไพรใ นบริเวณโรงเรียนผู้นำ ซึ่งมีเนื้อที่ ๒๐๐ กว่าไร่ ส่วนมาก เป็นไร่ที่ปลูกผัก ข้าวโพด มีบ้านที่อยู่แบบเรียบง่าย

วันถัดมามีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ พล.ต.จำลอง พาผู้อบรมไปเดินชมป่าเขา และปืนขึ้นภูผาชี งานนี้เป็นกิจกรรม ที่หนักเอาการ เพราะผู้ที่เข้าร่วมอบรม ทั้งหมดมีอายุ รวมกันก็หลายพันอยู่ งานนี้จึงมีผู้เข้าร่วมไม่ครบ มีประมาณ ๑๐๐ คน ที่เหลือ จะเป็นผู้สูงอายุ และไม่ค่อยแข็งแรง จึงได้แต่เต้นแอโรบิก รอที่ห้องประชุมไปพลางๆ

ระยะการเดินป่าประมาณ ๑ กิโลเมตร มีฝนตกพรำอยู่ตลอดเวลา จึงมีการแจกหมวกสาน เพื่อกันฝน ถึงอย่างนั้น ก็เปียก แฉะกันทุกคน แต่ก็ไม่มีใครแสดงอาการย่อท้อ แม้ถนนหนทางที่เดิน จะไม่สะดวกสบายนัก เพราะฝนตก ทำให้ดินเฉอะแฉะ มีน้ำขัง ทำให้ลื่นล้มกันไปหลายหน ต้องช่วยกันพยุงกัน ทุลักทุเลพอสมควร กว่าจะถึงยอดเขา ก็ทำเอาเหนื่อยหอบ ไปตามๆกัน

เมื่อถึงยอดเขาทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเหนื่อยมาก แต่ก็คุ้มค่ามาก เพราะได้ประสบการณ์มากมาย จากกิจกรรม โดยเฉพาะ ความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งกันและกัน

การฝึกฝนในครั้งนี้ยังมีกิจกรรมอีกมาก ทั้งการบรรยายจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และการใช้ชีวิต ในแบบที่ไม่เคย ได้สัมผัสมาก่อน หรืออาจจะเคย แต่ไม่ได้ทำมานานแล้ว จะต้องประหยัดมัธยัสถ์ กว่าที่เคยเป็น เรียนรู้จากความลำบาก เพื่อจะได้ออกมา เป็นผู้นำอย่างสมบูรณ์แบบ

แต่การฝึกฝนการเป็นผู้นำในระยะเวลาอันสั้นเพียง ๔ วัน ๔ คืนนี้ ไม่รู้ว่าจะได้ประโยชน์มากแค่ไหน แต่อย่างน้อย การที่บางคน กล้าที่จะสารภาพว่า ชอบซื้อหวยใต้ดิน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

เพราะการยอมรับความจริง ก็เป็นคุณสมบัติหนึ่ง ของการเป็นผู้นำ

นายชุมพล พรประภา รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
"สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะ ให้มีความเมตตาคนให้มากขึ้น กิจกรรมทั้งหมดดีมาก ทั้งการตื่นตีห้า มาออกกำลังกาย สวดมนต์ การทานอาหาร ต้องล้างจานเอง ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นของใหม่ แต่อาจจะไม่ได้ทำมานาน การกินอาหาร มังสวิรัติ ก็เป็นของดี การได้มาสูดอากาศ ที่เป็นธรรมชาติ ก็เป็นการกระตุ้น ให้สิ่งที่กำลังทำอยู่ดียิ่งขึ้น"

นายสุรชัย ชัยตระกูล ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี
"มาอบรมทำให้ได้รู้ถึงสภาพชีวิตความเป็นจริงที่เราจะต้องดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างถูกต้อง ในการสร้างครอบครัว สร้างสังคม และ สร้างประเทศชาติ ให้มีความเจริญ การสอดแทรกในด้าน คุณธรรม คำสอนของพระพุทธองค์ ก็เป็นเรื่องดี แต่ขาดการพัฒนา ทางด้านจิตใจ การเติบโตจะไม่มั่นคง อาจล่มสลายได้"

นายอภิชิต ประสพรัตน์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร
"ผมไม่เคยขุดดินมาก่อน มันเป็นความรู้สึกที่ดี และได้เห็นว่า ความลำบากที่แท้จริง มันเริ่มจากตรงไหน จะนำไปประยุกต์ กับการทำงาน ของตัวเอง อีกอย่าง ได้หันกลับมามองชีวิต ความเป็นอยู่ของคนงาน ซึ่งเป็นระดับรากหญ้า ของสังคม ผมจะนำ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากตรงนี้ ไปพัฒนาองค์กรของผม ที่มีคนงานอยู่กว่าพันคน

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานโครงการ
"การจัดงานครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ถือว่ารุ่นนี้เป็นรุ่นประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมีการอบรม ผู้บริหารแบบนี้มาก่อน รุ่นก่อนๆ ก็เป็นเด็กนักเรียน และข้าราชการปกติ ทั้งนี้ผู้ใหญ่ของสภาอุตสาหกรรม เห็นคุณค่าว่ามีประโยชน์ ตนจะนำ ข้อบกพร่องเล็กๆน้อยๆ ไปแก้ไขต่อไป ส่วนครั้งหน้า จะจัดรุ่นละ ๑๕๐ คน ใช้เวลาอบรม ๔ วัน ๔ คืน เหมือนเดิม ไม่น่าเชื่อว่า คนที่เขาเรียกกันว่า อาเสี่ย จะสามารถปีนเขา ไต่เชือก และ ร่วมกิจกรรมต่างๆได้ โดยไม่ย่อท้อ ไม่ปฏิเสธสักคนหนึ่ง" .

(จาก นสพ.มติชนรายวัน ๔ พ.ย.๔๕)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจริญธรรม สำนึกดี พบกันตามวาระกับ นสพ.ข่าวอโศก ฉบับนี้ฉบับที่ ๑๙๔(๒๒๗) ปักษ์แรก ๑-๑๕ พ.ย.๔๕ ขอเชิญญาติธรรม ติดตามสะเก็ดข่าว ในแวดวงชาวเรา ได้ที่คอลัมน์นี้

น่าประทับใจ...งานมหาปวารณาปีนี้ จิ้งหรีดรู้สึกประทับใจกับสมณะนวกะ มัชฌิมะและเถระจากภูผาฯ ที่รวมทีมเอาภาระ เรื่องบันทึก การประชุมสงฆ์ ในงานมหาปวารณา เพื่อแบ่งเบางานของหมู่ อีกทั้งยังอาสา ช่วยงานท่านลือคม ที่รับผิดชอบ เรื่องการบันทึก และกระจายเสียง ในการประชุมมหาปวารณามาหลายปี ปีนี้นวกะ อาสาแบ่งเบางานหมู่ และภันเต เป็นแบบอย่างที่ดี ให้กับรุ่นหลังๆต่อๆไป เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า มีความขวนขวาย ในกิจน้อยใหญ่ ของเพื่อนสพรหมจรรย์ สาธุ...จี๊ดๆๆ.....

น้อมรับ...สมณะเสียงศีล ชาตวโร แม้ได้รับเลือกเป็น ๑ ในครูภูมิปัญญาไทยของประเทศไทย สื่อทั้งทีวี นสพ.และวิทยุ ต่างมาทำข่าว มาสัมภาษณ์ถึงผลงาน ที่ท่านได้ทำมาร่วม ๑๐ ปี จนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ของประชาชนทั่วไป แต่ท่าน ก็ยังพร้อม และน้อมรับขุมทรัพย์ จากหมู่สงฆ์ จิ้งหรีดได้ยินมาว่า งานมหาปวารณา ครั้งนี้ ท่านร่ำรวยขุมทรัพย์เป็นพิเศษ นี่คงเป็นอานิสงส์ ของการมีชื่อเสียงในหมู่สมณะ อุ๊ย! จิ้งหรีด ยังอินทรีย์พละไม่แก่กล้า ก็ขออยู่ในภพในรูของจิ้งหรีดก่อนฮะ ถ้ามีบารมีพอ คงเข้มแข็ง เหมือนท่านเสียงศีลนะฮะ...จี๊ดๆๆ....

ควันหลงปวารณา ครั้งที่ ๒๑...หลังจากที่หมู่สมณะประชุมกันเสร็จ ตากล้อง ก็นิมนต์ให้ถ่ายรูปร่วมกัน ที่หน้าหอ ระฆังลั่นธรรม หอระฆังนี้ถือว่า เป็นหอระฆังแห่งแรกของชาวอโศก... หลังฉัน (๗ พ.ย.๔๕) พ่อท่านไม่ได้ลุกไปไหนเลย เพราะนั่งแจก หนังสือธรรมะ และพวงกุญแจ ที่ญาติธรรมถวายพ่อท่านจนถึงเย็น มีญาติธรรมต่อคิวรับแจกกัน ยาวเหยียด... กลุ่มสุดฝั่งฝัน พิมพ์หนังสือ คู่มือของนักปฏิบัติธรรมยุคแรกๆของชาวอโศก คือ หนังสือคั้นออกมาจากศีล เล่ม ๑ ซึ่งหลายคน เข้าวัดได้ เพราะหนังสือเล่มนี้ ใครที่สงสัยว่า จะเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างไร? หนังสือเล่มนี้มีคำตอบ

นอกจากนี้สำนักพิมพ์กลั่นแก่น พิมพ์หนังสือ ยอสรรพคุณเยี่ยม มาขายในงานมหาปวารณา รายได้ทุกบาททุกสตางค์ ยกให้ศีรษะอโศก ซึ่งประสบอัคคีภัยไม่นานนี้ จิ้งหรีดก็สาธุดังๆให้นะฮะ... ก่อนทวช.(ทำวัตรเช้า) เมื่อ ๘ พ.ย. ใครมาฟังธรรม ที่ศาลาก่อน จะโชคดี เพราะพ่อท่านนำปฏิทิน หนังสือธรรมะกับพวงกุญแจ ซึ่งมีจำนวนจำกัดมาแจกให้...

การแสดงของศีรษะอโศกในปีนี้ เอาจากเรื่องจริงที่ประสบ อัคคีภัยมาแสดง พ่อท่านจึงแซวว่า การแสดงของศีรษะอโศก ในคืนวันที่ ๗ พ.ย.๔๕ ถือว่าเป็นการแสดงของชาวอโศกเรื่องแรกที่ลงทุน ไปหลายล้านบาท ใครไม่ได้ดู คงเสียดายนะฮะ...

พ่อท่านเป็นคนอารมณ์ขัน จะเห็นได้จากขณะเทศน์พ่อท่านมีอาการไอ พ่อท่านก็บอกว่า แสดงความเป็นตัวกู พวกเรา ฟังแล้วก็งง พ่อท่านก็เฉลยว่า ตัวกูนี่คือ ไอ (I) ไงล่ะ พวกเราเลยยิ้มกับมุขขำของพ่อท่าน... การประชุมสงฆ์ มหาปวารณา ครั้งนี้ มีคณะการกสงฆ์ ไอที พิจารณาสมณะและคนวัด ที่มีมือถือ เท็ปวิทยุ คอมพิวเตอร์ ไว้ใช้ประจำตัว จิ้งหรีดรู้ข่าวนี้ ก็รู้สึกว่า หมู่สมณะนี่ทันสมัย เพราะรัฐบาล ก็เพิ่งตั้งกระทรวงใหม่ ซึ่งมีกระทรวง ไอที และจากการประชุม ของคณะ การกสงฆ์ไอที จิ้งหรีดก็รู้มาว่า ในที่ประชุมได้มีนโยบาย ให้ญาติธรรมที่มาเข้าศาลาฟังธรรม กรุณาปิดเครื่องโทรศัพท์ หรือ จะปิดแค่เสียงก็แล้วแต่ เพื่อมิให้เสียงโทรศัพท์ ทำลายบรรยากาศ การฟังธรรม ก็ขอแจ้งข่าว ให้พวกเราได้ทราบ จะได้ใช้ เครื่องมือไอที อย่างมีความรู้ เรื่องกาล เทศะ...จี๊ดๆๆ.....

มาขออะไร...จิ้งหรีดมีโอกาสช่วยจัดเรียงหนังสือ ๓ เล่ม ส่งผ่านท่านชัดแจ้ง ถวายพ่อท่าน เพื่อแจกญาติโยม ที่มาร่วมงาน มหาปวารณา พอโยมกราบแล้ว พ่อท่านก็ถามว่า "มาทำไม?" บ้างก็ตอบว่า มาขอหนังสือ หรือ มาขอชื่อ พ่อท่านก็เลยเย้าว่า "ไม่ขอศีลขอธรรมกันเลยนะ" ฮั่นแน่!...เป็นไงบ้างฮะ เจอมุขนี้ เข้าที่สำคัญเลยนะเนี่ย ก็ไม่รู้มีใครจุก (ฉุกคิด) บ้างไหม เอ่ย?... จี๊ดๆๆ....

ต.อ.สัญจร... สัญจรไปภูผาฯก็เพิ่งจะรู้จักทาก! เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ ต.ค.ที่ผ่านมา คุณสุรีย์ และคุณสุรชัย วงศ์ปิยธน จนท. ตรวจสินค้าอโศก (ต.อ.) จากกองสุขาภิบาลอาหาร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้สัญจรมาที่ ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ เพื่อตรวจ ผลิตภัณฑ์ สินค้าแปรรูปของชุมชน คือ แยมผลไม้ และหัว น้ำหวานจากผลไม้

ข้อแนะนำจาก ต.อ.คือ
- ควรติดฉลาก วัน เดือน ปี ที่ผลิตหัวน้ำหวาน ถังบรรจุแยม
- ควรเพิ่มแสงสว่างให้พอในขณะบรรจุแยม
- แยมที่ผลิตแล้วควรจ่ายออกโดยเร็ว ไม่ควรเก็บไว้นาน
หลังจากที่ ต.อ.ได้ไปตรวจดูผลิตภัณฑ์ แปรรูปอาหารเรียบร้อยแล้ว จิ้งหรีดก็ได้มีโอกาสพูดคุยสนทนาเรื่องทั่วๆไปกับ ต.อ.สุนีย์ (ส่วน ต.อ.สุรชัย ทราบภายหลังว่า ได้ไปเดินเก็บฝรั่งบริเวณแถวๆ บ้านของคุณปางป่า หรือคุณงานช่างนี่แหละ) มีประเด็นที่ ต.อ.สุนีย์ ประทับใจ ชมร.ช.ม. และคิดจะเอาไปเผยแพร่ต่อ คือ

๑. ช้อนส้อมมีการต้มด้วยเตาแก๊สเพื่อฆ่าเชื้อตลอดเวลา
๒. มีการล้างภาชนะอย่างเป็นขั้นตอน
๓. หลังจากที่ขายอาหารและทำความสะอาดตู้กระจกเรียบร้อยแล้ว ก็มีการคลุมผ้า ซึ่งแลดูสะอาดสะอ้าน

หลังจากที่ได้พูดคุยกับ ต.อ.สุรีย์ สักพักใหญ่ ต.อ.สุรชัยก็ได้เดินมาพร้อมกับถือลูกฝรั่งมา ๔-๕ ลูก แล้วก็ได้นั่งปอกกิน สักครู่หนึ่ง ก็ได้เห็นเลือดที่ขาของตนเอง จึงเริ่มรู้สึกตัวว่าตนเองถูกทากดูดเลือดเข้าให้แล้ว! ก็เกิดอาการตกใจเล็กน้อย เพราะไม่เคยเห็น ตัวทากมาก่อน บวกกับโดนทากดูดเลือดถึง ๔ ตัว! และเกรงว่า เจ้าทากจะไปดูดเลือดคนอื่น จึงคิดจะเหยียบให้ตาย ดีที่จิ้งหรีดร้องห้ามเอาไว้ทัน แล้วบอกต่อว่า " ถ้าไปเหยียบเขาตาย เดี๋ยวเขาจะมาหาเรามากกว่า ๔ ตัวนะ..." กรรมวิบากมีจริง งวดนี้ก็ถือเสียว่า ได้มาบริจาคเลือดก็แล้วกันนะ ต.อ.นะ

งานนี้อาจเรียกได้ว่า ต.อ.ได้มาถึงชุมชนภูผาฟ้าน้ำอย่างแท้จริง เพราะได้บริจาคเลือดให้ทากเขากินแล้วฮะ...จี๊ดๆๆ.....

คัดมาเล่าให้ฟัง...ขอคัดลอกเหตุการณ์ที่ ต.อ.เล่าให้จิ้งหรีดฟังว่า เมื่อเช้าวันที่จะเดินทางมาลานนาอโศก มีเหตุการณ์ ให้เจริญ มรณัสสติ ตั้งแต่เริ่มออกเดินทางจาก ชมร. เรื่องมีอยู่ว่า มีลุงท่านหนึ่ง (ไม่ทราบชื่อ) ขับรถกะบะ ออกจากประตูหน้า ชมร.ช.ม. มาจอดบนถนนชิดขวา ติดเกาะกลางถนน เพื่อรอญาติธรรม ปรากฏว่า รถที่วิ่งลงมาจากสะพาน ด้วยความเร็วด้านขวา ต้องขับเบี่ยง ออกถนนเลนซ้าย ตามด้วยรถ บัสใหญ่อีก ๒ คันที่วิ่งติดๆกันมา คันแรกเห็นรถเรา ก็เบี่ยงไปด้านซ้าย ส่วนคันหลัง เห็นรถเรา ชนิดจวนเจียนแล้ว ก็ขับเบี่ยงออกไป เฉียดด้านข้างรถเราไปนิดเดียว คนที่นั่งหลังรถ หายใจหายคอแทบไม่ออก พอฟังมาถึงตรงนี้แล้วก็ให้รู้สึกเป็นห่วง จิ้งหรีดว่าเรื่องน่าหวาดเสียว เช่นนี้ เป็นเรื่องที่ ควรจะป้องกันได้ และไม่ควรเสี่ยงนะฮะ...จี๊ดๆๆ.....

เพื่อนช่วยเพื่อนและพี่ช่วยน้อง...ทราบข่าวมาว่า คุณปะพัดชา ได้ขอซื้อเทปธรรมะ จากมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อทำเป็นเทปชุด สำหรับให้บริการสมาชิก แผนกธรรมโสตยืมแบบหมุนเวียน เมื่อทางมูลนิธิฯ ทราบ ก็ได้กรุณาให้ม้วนเทป กับทางแผนกธรรมโสต จำนวน ๑๐๐ ม้วน โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ โดยบอกว่า ตั้งใจจะให้ถึง ๒๐๐ ม้วน พอดีเทปหมดสต๊อก โอกาสหน้า จะให้เพิ่มอีก... แว่วๆว่า ไม่จำกัดจำนวนด้วยล่ะฮะ จิ้งหรีดขอร่วมกราบอนุโมทนา ในบุญกุศลที่ผลิดอกบานสะพรั่ง ในใจทุกดวงมา ณ ที่นี้ด้วยฮะ...จี๊ดๆๆ....

ประทับใจ...แม้จะผ่านไปแล้วสำหรับงานฉลองน้ำที่บ้านราชฯเมืองเรือปีนี้ แต่จิ้งหรีดรู้สึกประทับใจแกมทึ่ง กับบรรยากาศ ยามนั้นจริงๆ เพราะแม้จะประสบกับความลำบาก อันเนื่องมาจากฟ้าประทานน้ำฝนมาให้อย่างล้นหลาม เป็นเหตุให้แผ่นดิน แปรรูปเป็นทะเลเกิดใหม่ แต่ถึงกระนั้นชาวบ้านราชฯก็ยังคงดำเนินชีวิตอย่างขยันขันแข็งและร่าเริงเบิกบานกันดี

ไม่เพียงเท่านี้ บรรดาฝูงปลาในบุ่ง ก็พลอยรื่นเริงไปกับงานฉลองน้ำด้วย กระโดดโชว์ตัวโตเบ้อเริ่มขึ้นมาบนผิวน้ำให้พวกเรา ยลโฉมเป็นระยะ ยิ่งตอนบางคนเอาอาหาร เช่น ข้าวกล้อง มะละกอ สับปะรด(ที่เหลือแล้ว นะฮะ) ไปเลี้ยงพวกปลา ตัวเล็ก ตัวใหญ่ จะพากันเบียดเสียด ขึ้นมาบนผิวน้ำ แล้วอ้าปากรอรับอาหารหน้าสลอน โดยไม่กลัวว่า จะถูกจับไปต้มยำทำแกง มองดูแล้ว น่าเอ็นดูจริงๆฮะ...จี๊ดๆๆ....

ควันหลงจากน้ำท่วม...พระเอกของเรื่องคือ เรือ ๑๑ ลำที่ต่อเป็นทางเดิน ช่วงน้ำท่วมได้ทำปาฏิหาริย์ ให้บางคนหายไป อย่างไร้ร่องรอย ฟังแล้วอย่าเพิ่งคิดไปไกล จิ้งหรีดพูดให้หวือหวาเล่นน่ะ ก็มีบ้างคนเดินไปๆ พลันตกร่องเรือลง ไปนอนแอ่งแม้ง อยู่ใต้ท้องเรือ นี่เอง ทำให้เพื่อนๆที่เดินมาด้วยกันหาไม่เจอ อย่างน่าอัศจรรย์ ก็เอ๊ะ!...เดินมาด้วยกันอยู่ดีๆ แล้วหาย ไปไหนแล้วล่ะ อย่างเช่น คุณลึกกล้า หลังจากตกไปที่ท้องเรือแล้ว อารมณ์ช่วงนั้น ก็ง่วงด้วย ก็เลยนอนหลับไปเลย (เออ!...น่ารักไปอีกแบบ) รายต่อมาก็ถึงคิวของ ด.ช.กระทง วัย ๓ ขวบที่พลัดหล่น เพราะคุณพ่อสมัย เดินไปหาไม้ หมายจะมา ปิดร่องเรือ กั้นคนตกลงไป แต่ลูกชาย หล่นไปเสียก่อนแล้ว ดีแต่หากันเจอ เพราะเสียงร้อง ของเจ้าหนูนั่นเอง ส่วนรายสุดท้าย ได้แก่ สิกขมาตุสร้างฝัน ส่วนตกแล้วความรู้สึกเป็นอย่างไร จิ้งหรีดว่า ไปเรียนถามสิกขมาตุเองก็แล้วกัน...ตี ๕ ก่อนที่เรือ แงกเบิ่งแน จะออกจากบ้านราชฯ เพื่อพาสมณะ-สิกขมาตุไปบิณฑบาต ปรากฏว่าที่หางเสือเรือ มีเถาวัลย์พันอยู่ หากแล่นไป รับรองมีปัญหาแน่ๆ หลวงตาพรหมจริโย จึงบอกให้ผู้ที่หนุ่มกว่า ช่วยลงไปตัดเถาวัลย์ ขณะรอแต่ก็ไม่มีใครลง หลังจากนั้น จิ้งหรีด ก็ได้ยินเสียง "จ๋อม!" พอรีบหันไปดู ปรากฏว่า เป็นหลวงตาพรหมฯนั่นเอง ที่หนุ่มที่สุด ครั้นพอตัด เถาวัลย์เสร็จก็ ๐๕.๑๕ น.ได้เวลา เรือก็ออกทันที ทุกคนต่างลืมหลวงตา ที่กลับไปเปลี่ยนสบง และอังสะไปสนิทใจ หลวงตาจึงตกเรือไป ด้วยประการฉะนี้ โธ่!ใครหนอใคร ทำกับหลวงตาของจิ้งหรีดได้...จี๊ดๆๆ....

ฟังผิดไป...ที่บ้านราชฯนั้น ทุกครั้งก่อนเรือจะออกพาสมณะ-สิกขมาตุไปบิณฑบาตช่วงน้ำท่วม หลวงตาพรหมจริโย จะประกาศ ตามปกติว่า " ขณะนี้เวลา ๕ นาฬิกาแล้ว" เพื่อ ให้ทุกท่านเตรียมตัวมาขึ้นเรือเวลา ๐๕.๑๕ น. แต่มาวันหนึ่ง หลวงตาพรหมฯ กลับประกาศ ต่างไปจากเดิมๆ ว่า " เหลืออีก ๕ นาทีจะตี ๕ แล้ว" ส่งผลให้ท่านเดินดิน ติกขวีโรต้องเร่งรีบสุดๆ เพื่อมา ให้ทันขึ้นเรือ พอมาถึงก็นั่งอยู่เป็นนานสองนาน เรือก็ยังไม่ออก แถมก็ยังไม่เห็นใคร ครั้นพอนั่งอยู่จนเรือออก เหลือบไปเห็น นาฬิกาบอกเวลา ๐๕.๑๕ น. ท่านถึงได้พูดขึ้นว่า " ตอนนั้น ท่านได้ยินว่าอีก ๕ นาทีจะตี ๐๕.๑๕ น.เลยรีบมา" จบรายงาน...จี๊ดๆๆ.....

ร่วมงาน...ราชธานีอโศกร่วมงาน " ผลิตภัณฑ์ตำบลไทย ความภูมิใจของแผ่นดิน" ๓๖ ปี ธ.ก.ส.มุ่งสู่การพัฒนาชนบท ระหว่าง วันที่ ๓๑ ต.ค.-๑ พ.ย. ๔๕ ณ ฮอลลŒ ๕ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี จัดโดย ธ.ก.ส., มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สมาคมนิสิตเก่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่ถ่ายทอด และแสดงผลความสำเร็จ ที่เป็นรูปธรรม ทั้งด้านวิชาการ และ ผลิตภัณฑ์คุณภาพ ของเกษตรกร ลูกค้า ธ.ก.ส. ทุกภาคทั่วประเทศ

บรรยากาศของงาน มีทั้งการแสดง ผลงานทางวิชาการ, การสาธิต และจำหนˆายผลิตภัณฑ์ของแต่ละภาค ในส่วนของ ราชธานีฯ ประกอบไปด้วยนิทรรศการ เรื่องดิน-ปุ๋ยจากศีรษะอโศก, สาธิตการทำแชมพู -น้ำยาซักล้าง -ปุ๋ยชีวภาพ จาก นร. กันทรลักษวิทยา จ.ศรีสะเกษ, จำหน่าย ปุ†ยชีวภาพ จากเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ ต.บ้านม่วง, จำหน่ายอาหารมังสวิรัติ-ผลิตภัณฑ์ จากชุมชนชาวอโศก ในงานนี้เกษตรกร ผู้เข้ารับการอบรม หลักสูตรสัจธรรมชีวิต จากเครือข่ายต่างๆ ได้แวะ เข้ามาทักทาย ด้วยความอบอุ่น...จี๊ดๆๆ....

ก่อนจากขอฝากโศลกธรรมที่ว่า จงเห็นค่าของคน เหนือกว่าผลของงาน
พบกันใหม่ฉบับหน้า.

จิ้งหรีด

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


คนรุ่นใหม่ห่างไกลความฟุ่มเฟือย

ต้องยอมรับว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเราในขณะนี้ยังไม่ดีขึ้น ยังเปราะบางเหลือเกิน ต่อความเปลี่ยนแปลง ที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างฉับพลัน ถ้ามีเหตุการณ์ภายใน หรือภายนอกประเทศ มากระทบเข้า ผลลัพธ์จากเหตุนี้ ทำให้กำลังซื้อ ของคนในประเทศส่วนใหญ่ ลดน้อยถอยลงไป

ในขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กลับเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ แม้รัฐบาลพยายามอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ แต่คงช่วย อะไรไม่ได้มาก กำลังซื้อของคนในชนบทขณะนี้ถือว่าสาบสูญ รัฐบาลจึงเพ่งมองมายัง คนหนุ่มสาว ซึ่งถือเป็นชนชั้นกลาง คนรุ่นใหม่ กำลังไฟแรง มีรายได้ดี ด้วยการกระตุ้นกำลังซื้อ ของคนรุ่นนี้ ให้พยายามใช้จ่ายมากขึ้น กับระบบเครดิตต่างๆ ที่มีมา หลายรูปแบบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบบัตรเครดิตที่ใช้แทนเงินสด บรรดาบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตก็หาทางล่อใจลูกค้า ด้วยการผ่อนปรน เงื่อนไข การทำบัตร ให้สะดวกรวดเร็ว และง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น บรรดาคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย อย่าได้หลวมตัว กับนโยบายแบบนี้ รัฐบาลที่ดี จะต้องสอนให้คนรู้จักประหยัด รู้จักขยันขันแข็ง ให้ประกอบอาชีพ ไม่ใช่หลอกล่อคนในชาติ ให้ใช้จ่ายเงินกัน อย่างฟุ่มเฟือย เพราะคนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ย่อมต้องการซื้อโน่นนี่ มากกว่าคนรุ่นอื่น ถ้าคนรุ่นใหม่ ใช้เงินกันอย่างฟุ่มเฟือย ประมาท อาจทำให้เกิดภาวะ "มีหนี้สินล้นพ้นตัว" ได้ ถ้ามีหนี้สินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนหาทางออกไม่ได้ อาจกระทบกระเทือน ถึงตำแหน่งงาน ที่ตัวองทำอยู่

การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐฉันใด การไม่มีหนี้ก็เป็นลาภอันประเสริฐฉันนั้น the best men's credit is money ความเชื่อ ที่ดีที่สุด ของมนุษย์เรา ก็คือความเชื่อถือ ทางด้านการเงิน ขอให้คนรุ่นใหม่ จงมีชีวิตอยู่ในโลก แห่งความเป็นจริง ชีวิตแบบ พอเพียง รู้จักการบริหารการเงินที่ดี คนรุ่นใหม่ มิใช่แต่จะต้อง ห่างไกลจากยาเสพติดเท่านั้น จะต้องห่างไกล จากความฟุ่มเฟือยด้วย

ขอคนรุ่นใหม่จงวางตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนรุ่นอื่นๆ

ปรีชา อินทรวิรัตน์
(จาก นสพ.มติชน วันที่ ๑ พ.ย.๔๕)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ใครกันแน่ ?
แจกยิ้ม v นักข่าวเบอร์จู๋น

ตอนสายในวันแจกอาหารฟรีครั้งที่ ๘ ที่ ชมร.ช.ม. ได้มีชายหนุ่มร่างสูง ไว้หนวดเครานิดๆ เดินเข้ามาพลัน ส่งภาษาต่างประเทศ ที่พอเข้าใจได้ว่า ประสงค์จะซื้อคูปองจำนวน ๕๐ บาท ซึ่งผู้ขายก็ได้พยายามส่งภาษา ที่จะสื่อให้เขาเข้าใจ เป็นภาพที่น่าเอ็นดู สำหรับผู้ที่ผ่านมา ได้ยินพอดี
ผู้ขาย : Today Free.
ผู้ซื้อ : Free everyday ?
ผู้ขาย : No. Free today.
ผู้ซื้อ : วันนี้แจกฟรีหรือครับ?
ผู้ขาย : ค่ะ (ทำหน้างงๆ) แล้วพูดต่อว่า "คุณพูดไทยได้นี่คะ"

เมื่อลูกค้าเดินจะไปสั่งอาหาร ผู้ขายคูปอง ก็อดตามตื้อเขาไม่ได้ เพราะอยากจะรู้ว่า เขาเป็นคนชาติใดนั่นเอง
แล้วก็ได้ คำตอบว่า เขาเป็นคนญี่ปุ่น
เอ!...รู้อย่างนี้แล้ว ใจคอจะไปฝึกภาษาญี่ปุ่น มาให้บริการอีกหรือเปล่าหนอ?!.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


"ลุงสอน กล้าศึก" คนบ้าปลูกต้นไม้

ด้วยสำนึกในคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อว่าทุกอย่างเกิดขึ้นด้วย "ธรรมชาติ" อย่างแท้จริง เป็นหลักความคิดที่ "ลุงสอน กล้าศึก" ชายวัย ๗๐ ปี ที่บ้านโดนเสลา จ.ชัยภูมิ ยึดถือและปฏิบัติเสมอมา จึงคิดทำความดีด้วยการสร้างธรรมชาติ คือ การปลูกต้นไม้ด้วย ๒ มือมานับหมื่นต้นแล้ว

ลุงสอนเล่าว่า "จุดเริ่มแรกของความคิดนั้น เชื่อว่าคนเราเกิดมา ทำมาหากินเพื่อรอวันตายเท่านั้น หรือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดา เราทุกคนยอมรับความจริง ทำมาหากินเพื่อรอวันตายเป็นธรรมชาติ ประจวบกับคำสอน ของพระพุทธเจ้า กล่าวว่า คนเราเกิดมาอายุสั้นนิดเดียว เราควรรีบทำความดีทิ้งไว้ในโลก เมื่อคิดได้อย่างนี้ ก็เลยอยากจะทำความดี ทิ้งเอาไว้ ให้ลูกหลานเห็นสักอย่าง ซึ่งการทำความดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมเรียนก็ไม่จบ ม.๓ จะมานั่งฝันทำความดี ยิ่งใหญ่ มันก็เกินตัว คงไม่มีปัญญาหรอก เมื่อผมศรัทธาในการทำความดี จึงเชื่อว่าทำดีได้ดี การทำความดี อยู่ที่ไหน ก็สามารถทำได้ ผมจึงมองหาสถานที่ทำความดี สุดท้ายก็คิดได้ว่า ความดีก็อยู่ในตัวเรานี่เอง

จากนั้นผมก็ทำความดีตามความคิดของผม เริ่มจากการดายหญ้าตามวัด ทำอยู่หลายปี เห็นว่ามันเกิดประโยชน์น้อยมาก จึงเริ่มหา แนวความคิดใหม่ๆ นั่งพักเหนื่อยอยู่ใต้ต้นไม้ ได้เห็นนกจับอยู่บนกิ่งไม้ เห็นรังมดแดง จุดประกาย ความคิดขึ้น มาเลยว่า ป่าไม้มีประโยชน์มากกว่า ทุกอย่างในโลก เอื้อประโยชน์ให้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ป่าไม้เป็นผู้สร้างโลก สร้างความอุดม สมบูรณ์ ผมเป็นคนหนึ่ง ที่มองเห็นความสำคัญของป่าไม้ ป่าไม้ไม่ต้องการใคร มาช่วยเหลือ แต่คนต้องการป่าไม้ ถ้าไม่มีป่า คนคงอยู่ ไม่ได้ เพราะป่าไม้เป็นอาหารของสัตว์โลก ป่าไม้เป็นธรรมชาติ เกิดขึ้นเอง ไม่มีใครรดน้ำให้ เขาจะสร้าง ความอุดม สมบูรณ์ ด้วยตนเอง แล้ววันหนึ่ง ก็มีมือคนเข้าไปทำลาย

ผ่านมา ๘ ปีแล้ว ผมลงมือปลูกป่าในพื้นที่สาธารณะที่ปล่อยรกกว้าง เริ่มจากที่วัดทั่วบริเวณพื้นที่ว่างเปล่า และในป่าช้า ผมก็จะนำต้นไม้มาปลูก ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ประดู่ ปลูกแบบไม่มีกำหนดเวลา อยากทำตอนไหนก็ทำ ผมจะมีอุปกรณ์พร้อม ไฟฉายที่ติดหัว มีด เสียมและแกลลอนใส่น้ำ ใส่รถลากไว้เสมอ เพื่อไปขุดต้นไม้ประดู่ต้นเล็กๆ ที่อยู่บนโคก คันนา ฯลฯ กลางค่ำกลางคืน ที่ผมตื่นมาแล้ว นึกอยากทำงาน ผมก็ออกไปปลูกต้นไม้ ชาวบ้านเห็นผม เข้าไปปลูกต้นไม้ ในป่าช้า เขาว่าผมเป็น "ผีบ้า" ถามว่าทำไมผมไม่ปลูก ในที่ของตัวเอง ผมก็เฉย คิดว่าถ้าปลูกในที่ของตัวเอง ก็จะเกิดกิเลส ใครจะมาตัด ใครจะปล่อยวัว มากินก็ไม่ได้ เกิดความโกรธ เกิดความทุกข์ใจอีก ใครจะว่าใครจะด่ายังไง ผมก็ทำหน้าที่ของตัวเอง เหมือนเดิม เช้าเอารถลากไปหาต้นไม้ วันละหนึ่งคันรถ เพื่อนำมาปลูก จนวันนี้ มันกลายเป็นป่าไม้ธรรมชาติ ให้ความร่มเย็น พอพื้นที่วัดเต็ม ก็เริ่มหาที่ใหม่ เป็นพื้นที่โดยรอบ ที่ริมบึงหนองตูม บึงน้ำขนาดใหญ่

ผ่านมา ๓ ปี ตอนนี้ไม้ประดู่กำลังเจริญเติบโตนับหลายพันต้น ไกลสุดลูกหูลูกตา พอเต็มพื้นที่ทั้งหมด ผมก็เริ่มออกซ่อมแซม ตัดกิ่งไม้บ้าง ต้นไหนตายก็ปลูกทดแทน ดายหญ้าบ้าง ให้ดูสะอาดตา ลมพัดเย็นสบายตลอดวัน กลายเป็นแหล่ง พักผ่อน หย่อนใจ ของชาวบ้านโนนเสลา เห็นแล้วชื่นใจครับ

ต้นไม้เหล่านั้นกลับเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชน ให้ความร่มเย็น หลบแดดหลบฝน วัวจะกินชาวบ้านจะตัด จะโค่น เอาไปใช้งาน ผมก็ไม่เคยปริปาก ไม่โกรธด้วย ยังคงเอาต้นไม้ตามปลูกซ่อมแซม ที่เขาตัดตอทิ้งไว้ให้เห็น จากที่เขาว่า ผมเป็นผีบ้า เสียงลือนั้น ก็ค่อยๆจางหายไป แต่ก็ไม่มีใครมาช่วยผมปลูกต้นไม้หรอก

เคยมีคนต่างหมู่บ้านมาขอเก็บดอกบัวในบึงไปบูชาพระ พอมานั่งคุยเรื่องการทำความดี ด้วยการปลูกต้นไม้แล้ว เขาทึ่งมาก และหันมาปลูกต้นไม้ แทนการเก็บดอกบัวไปทำบุญ ไม่รู้ว่าตอนนี้ ยังทำอยู่หรือเปล่า

ทุกวันนี้ผมก็ยังคงยึดมั่นความตั้งใจเดิมว่า การทำความดีด้วยการปลูกต้นไม้สร้างความสุข เป็นบุญกุศล ไม่ได้ยึดเอาป่าไม้ มาเป็นของเรา ใครจะใช้ประโยชน์จากมันก็ได้ เราทั้งหลายต้องอาศัยธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เราทุกคนต้องช่วยกันรักษา ให้คู่แผ่นดินสืบไป"
ผลแห่งการทำความดี ด้วยการปลูก ต้นไม้นั้น ลุงสอนบอกว่า ไม่ได้หวังว่าจะมีใครมาเห็น หรือคำสรรเสริญเยินยอจากใคร สิ่งที่ทำเป็นความสุขใจ ความอิ่มเอมใจของตัวเอง ก็พอแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ผลนั้นก็ตอบแทนน้ำใจอันดี สร้างความ ปลาบปลื้มใจ ให้กับลุงสอน กล้าศึก และครอบครัวเป็นอย่างมาก เมื่อได้รับพระราชทานรางวัล เข็มทองคำ รางวัลชนะเลิศ การปลูกป่าถาวร เฉลิมพระเกียรติ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรางวัลเข็มทองคำ อาสาสมัคร พิทักษ์ป่า จากสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ลุงสอนยังมีความสุข อยู่กับการทำความดี โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ขณะเดียวกัน ชีวิตของ ลุงสอน ก็ได้กลายเป็นแบบอย่าง ของคนทั่วไป เมื่อความดีจากปากต่อปาก ได้ขยายวงเป็นคำสัมภาษณ์ ตามสื่อต่างๆ และ ล่าสุด ในรายการที่นี่ประเทศไทย วันอังคารที่ ๑๑ มิ.ย.๔๕ เวลา ๒๑.๑๕-๒๒.๐๐ น. ทาง ททบ.๕.

(จาก นสพ. X-cite เอ็กซ์-ไซท์ ไทยโพสต์ วันที่ ๑๐ มิ.ย.๔๕)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


การประชุมในงานมหาปวารณา

ประชุมสัมมนาเครือข่ายกสิกรรม ไร้สารพิษฯ

เริ่มประชุมเวลา ๑๓.๐๐ น. บริเวณศาลาฟังธรรม มีพ่อท่าน สมณะ สิกขมาตุ เป็นประธาน ดำเนินการประชุมโดย คุณธำรงค์ แสงสุริยจันทร์ ประธานเครือข่ายฯ ได้พูดคุยถึงเรื่องการอบรมลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ผ่านมาของเครือข่ายทุกแห่ง ตัวแทนนิสิต ม.วช. กล่าวถึงการเตรียมงาน ตลาดอาริยะฯ โดยนิสิตฯแต่ละเขต จะเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมงาน และแบ่งงานในวันที่ ๒๐-๒๒ ธ.ค. และงานค่าย ยอส.ของนร. สัมมาสิกขาทุกแห่ง วันที่ ๒๔-๒๗ ธ.ค., การจัดตลาดแบ่งเป็นตลาดสินค้า, ตลาดอาหาร, เวทีชาวบ้าน และมีตลาดสละของรัก เป็นสินค้าของรักของหวง ของแต่ละคน ที่นำมาสละเพื่อขาย ในราคาต่ำกว่าทุน โดยแม่ข่าย แต่ละแห่งรับผิดชอบ

การประชุมวิทยุชุมชน
ประชุมเวลา ๐๖.๐๐-๐๙.๐๐ น. พ่อท่าน สมณะ-สิกขมาตุ เป็นประธาน ที่ประชุมได้พูดคุยกันถึงเรื่อง สถานีวิทยุชุมชน ที่ตั้งแล้ว ดำเนินการแล้วและยังไม่ได้ดำเนินการ, สถานีวิทยุชุมชนที่คิดจะตั้ง ต้องคำนึงถึง ที่ตั้งสถานี, ทุนทรัพย์, มีบุคลากร ดำเนินการหรือไม่

ชื่อสถานีวิทยุชุมชน ให้ใช้ชื่ออื่นที่ไม่มีคำว่าอโศก เพื่อลดแรงเสียดทานจากภายนอก

นโยบายของรายการวิทยุ ให้ประกอบด้วยเนื้อหาของศาสนา ๕๐%, สารคดี ๓๕ % และรายการบันเทิง ๑๕ % ซึ่งเนื้อหา ของศาสนา สามารถอยู่ในรูปของเพลงได้ เช่นเพลงของพ่อท่าน มิใช่ต้องเป็นคำเทศน์เพียงอย่างเดียว

ในการเคลื่อนไหวกับสหพันธ์วิทยุชุมชน ได้แต่งตัวตัวแทนจากวิทยุชุมชนทั้ง ๑๑ แห่ง เพื่อเป็นตัวแทน ๑ แห่งเข้าไปร่วมประชุม โดย พิจารณาความเหมาะสมเป็นคราวๆไป

วิทยุชุมชนทั้ง ๑๑ แห่ง ของเครือข่ายชาวอโศกมีดังนี้
๑.สันติอโศก ๒.ปฐมอโศก ๓.สีมาอโศก ๔.ราชธานีอโศก ๕. ร้อยเอ็ดอโศก ๖.เพื่อนช่วยเพื่อนอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
๗.เลไลย์อโศก ๘.ดินหนองแดนเหนือ ๙.ศีรษะอโศก ๑๐.ดอยแพงค่า ภูผาฟ้าน้ำ เชียงใหม่ ๑๑. ศาลีอโศก

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ชื่อ นางทองอินทร์ ธรรมสา
เกิด พ.ศ.๒๔๗๕ อายุ ๗๐ ปี
ภูมิลำเนา บ้านน้ำเกลี้ยง จ.มหาสารคาม
การศึกษา ป.๔
สถานภาพ แต่งงาน
น้ำหนัก ๔๓ ก.ก.
ส่วนสูง ๑๔๓ ซ.ม.

คุณยายทองอินทร์อยู่ที่ศีรษะอโศก ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๘ ปัจจุบันอยู่กลุ่มผู้อายุยาว นกกระยางขาว รับผิดชอบ ฐานงานโรงกี่ กับเพื่อน ๔ คน ทอผ้าย้อมสีครามตามธรรมชาติใช้กันในหมู่บ้าน ชุมชนวัฒนธรรมศีรษะอโศก ไปรู้จักกับคุณยายค่ะ

เรียบง่าย
มีพี่น้อง ๕ คน ยายเป็นคนที่ ๓ ตอนอายุ ๘ ปีแม่ก็เสียชีวิต เรียนจบ ป.๔ แล้วก็ช่วยพ่อทำนา แต่งงานตอนอายุ ๑๘ ปี พ่อบ้านแก่กว่า ๘ ปี แต่งงานแล้ว มีลูก ๘ คน เสียชีวิต ๑ คน เหลือชาย ๒ คน หญิง ๕ คน มีลูกมาปฏิบัติธรรม ๒ คน มีหลานๆมาเรียนที่สัมมาสิกขาศีรษะฯ ๔ คน

กว่าจะพบเจอ
ปี ๒๕๒๘ ตอนนั้นบวชเป็นแม่ชีในช่วงเข้าพรรษา ลูกชายซึ่งรู้จักอโศกก่อนพามาที่ศีรษะฯ มาเห็นแล้วก็ประทับใจ ว่านี่แหละ คือสิ่งที่ยาย แสวงหามานาน เริ่มปฏิบัติทันที กินมังสวิรัติ และละทิ้งสมบัติ ทั้งพ่อบ้าน และลูกๆ ก็ไม่คัดค้าน พ่อบ้าน มาปลูกบ้าน ให้ที่ชุมชนฯ อยู่วัดได้ ๖ ปี พ่อบ้านก็แต่งงานใหม่ เพราะเขาต้องการ มีคนมาปรนนิบัติ ส่วนยายใจสบาย เพราะคิดว่า คนใหม่มาทำหน้าที่แทนเรา เราก็จะได้ปฏิบัติธรรมสบายๆ ไม่หวง ไม่หึง เพราะคิดมานานแล้วว่า จะมาปฏิบัติธรรม

น้ำตานองอาบ ๒ แก้ม
การงานเอาหมดทั้งทอผ้า ลงสวน ทั้งซำตาโตง สวน ๓ ก้าว ทำนา ลูกชาย ก็เตือนกลัว จะล้มป่วยลง ต่อมาก็รับผิดชอบ โรงกี่กับเพื่อนๆ ทอผ้าย้อมครามด้วยวิธีธรรมชาติ ติดต่อซื้อเมล็ดพันธุ์ต้นครามมาจากอุดรฯ ตอนนี้ทอผ้าให้นิสิตวังชีวิต และผู้หลักผู้ใหญ่ ในศีรษะฯ ยังไม่ได้ทำขาย มีคนมาดูงานมากมาย มีทีมงานทั้งหมด ๔ คน เป็นผู้อายุยาว กลุ่มนกกระยางขาว

มีผัสสะเยอะ ก็ได้ทำใจเยอะ รู้เท่าทันผัสสะ เตือนตัวเองว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรม อย่าไปโกรธ มันผิดศีล อย่าพูดมาก เจอผัสสะ ก็วางได้เร็ว เคยร้องไห้ ๒ ครั้ง โจทย์แรงมาก ก็ทำใจได้

เลือกที่ตายแล้ว
ทุกวันนี้มีความสุขอยู่กับงาน รู้สึกตัวว่าใจเป็นสาวขึ้น แต่สังขารไม่อำนวยเหมือนใจ ถือศีล ๕ กิน ๒ มื้อ ไม่มี จุบจิบ ตอนเช้า ลูกหลาน เอาน้ำข้าวมาบริการ ถ้าไม่ได้ไปที่สวน ก็ขึ้นศาลา ทำวัตรเป็นประจำ หากทำงานที่สวน ก็ค้างที่สวน ก็ไม่ได้กลับ มาทำวัตร

ยายไม่มีสมบัติ ห่วงลูกอยู่บ้างเป็นบางครั้งที่เขาไม่มาหา เพราะเขาทำมาหากิน และมีครอบครัว ไม่กลัวตาย ทุกวันนี้ สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย อยากอยู่ ๑๕๐ ปี ทำดีท็อกซ์เป็นประจำ มั่นใจว่าสังคมของเรา พึ่งเกิดแก่เจ็บตายกันได้ จะตายอยู่ที่นี่ เผาที่นี่ พูดกับลูกไว้แล้ว ก่อนจะตายก็จะพูดอีก

ไฟไหม้ร้านน้ำใจ
รู้ข่าวแทบหมดแรง ไม่โกรธคนเผาหรอก เขาคงไม่พอใจเรา เป็นห่วงคนที่มาเผา เขาจะมีวิบากกรรม แม้เราทำดี แต่คนที่ไม่ชอบเรา ก็ยังมี เพราะเรายัง ทำดีไม่มากพอ เขาจึงมาทำเราอย่างนี้

ฝาก
จะอยู่ที่ศีรษะฯไปตลอดชีวิต ฟังธรรมะพ่อท่านรู้เรื่อง จำได้ไม่หมด แต่จำเอาหัวข้อที่สำคัญมาปฏิบัติ ประทับใจ ที่พ่อท่าน บอกว่า ให้เราทำดี จนคนตาบอดเห็นได้

ยายทองอินทร์ได้กำหนดชีวิตตนเองแล้ว เลือกที่จะอยู่กับชาวอโศกไปตลอดชีวิต พระพุทธองค์ตรัสว่า มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งหมดทั้งสิ้น ของพรหมจรรย์ แล้วท่านล่ะ คิดจะอยู่กับโลกียะไป ตลอดชีวิตหรือเปล่า?

บุญนำพา รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

'จำลอง' คัมแบŠก ชูธง 'ปั้นคนดี'
สานฝัน 'นายกฯทักษิณ'

การตั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ที่มี อนุรักษ์ จุรีมาศ เป็นรัฐมนตรีว่าการ เกิดขึ้นในรัฐบาล "ทักษิณ ๔"
กระทรวงดังกล่าว จะมีแนวความคิด มาจากบุคคลที่ใกล้ชิด กับนายกรัฐมนตรีอย่างไร หรือไม่ ไม่มีใครทราบ แต่ที่แน่ๆ คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม ที่เคยยกพรรค ให้นายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้รับมอบหมาย ให้เป็นที่ปรึกษา กระทรวงพัฒนาสังคมฯแห่งนี้ด้วย นอกเหนือจากเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

สำหรับ พล.ต.จำลอง ก่อนหน้าจะกลับเข้ามามีบทบาทในแวดวงการเมืองอีกหน ได้ใช้ชีวิตใน "โรงเรียนผู้นำ" ของตนเอง อยู่ที่บ้านพุประดู่ ต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

โรงเรียนแห่งนี้ มหาจำลอง ต้องการให้เป็นสถาบัน สำหรับพัฒนาและสร้างคนให้เป็นผู้นำ ซึ่งช่วงที่ตั้งโรงเรียนนั้น ประเทศไทย ประสบปัญหา "วิกฤตผู้นำ" ขาดแคลนผู้นำมืออาชีพ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ให้เจริญก้าวหน้า

มาวันนี้ พล.ต.จำลอง มีโอกาสกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง หลังสั่งสมประสบการณ์เพิ่มเติม มากขึ้นกว่าแต่ก่อน อดีตหัวหน้า พรรคพลังธรรม บอกว่าก่อนจะมีการจัดตั้ง กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ๓ เดือน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ติดต่อ ให้ไปเป็น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

นายกรัฐมนตรีบอกเลยว่า การทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านนี้ ให้สิทธิท่านมหาเต็มที่ โดยสามารถบอกผ่าน คำแนะนำ หรือ แผนงานต่างๆ ไปยังกระทรวงได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านนายกฯ

'คุณจำลองรู้จักรัฐมนตรีหลายกระทรวงอยู่แล้วนี่' เป็นคำบอกกล่าวของนายกรัฐมนตรีต่อมหาจำลอง และที่นายกฯ ทักษิณ ออกปากเช่นนั้น เพราะรู้ดีว่า งานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เกี่ยวพันกับหลายกระทรวง

'ช่วงระยะ ๓ เดือนที่ผ่านมา ผมได้ร่างแผนทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว กำลังรอขออนุมัติจากนายกรัฐมนตรี แผนดังกล่าว ครอบคลุม การพัฒนาสังคมทั้งหมด เรียกว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เชิงคุณธรรม' มหาจำลองบอกกล่าว

เหตุที่ต้องเป็น "การพัฒนาเชิงคุณธรรม" มีคำอธิบายว่า เพื่อให้แตกต่างจากที่ผ่านมา ที่เน้นการพัฒนาให้คน เป็นคนเก่ง เชี่ยวชาญ และเรื่องความเก่งนั้น สังคมไทยปลูกฝังกันมา ตั้งแต่อนุบาล ประถม กระทั่งจบปริญญาเอก สร้างกันมาตลอด แต่ในเรื่อง สร้างคนให้มีคุณธรรม หรือให้เป็น "คนดี" ของสังคมมีน้อยมาก และไม่เคยมีแผนงาน อย่างต่อเนื่อง

"กว่าจะได้แผนนี้ออกมา ต้องพาคณะเล็กๆเดินทางไปพบปะกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน เพื่อฟังความคิดเห็น ซึ่งล้วนมีความห่วงใยบ้านเมือง จากข้อคิดเห็นดังกล่าว เกิดการสังเคราะห์ออกมาเป็นแผน โดยสิ่งที่เน้นในแผน คือ การพัฒนาบุคคล ระดับบริหาร ให้เป็นนักปกครอง ที่มีคุณธรรมในจิตใจ

พล.ต.จำลองบอกว่า รัฐบาลเองเห็นปัญหาสังคม จึงหันมาจับที่ "คน" มากขึ้นกว่าเดิม เพราะถ้าพัฒนาคน ให้เป็นคนดี มีคุณธรรม เท่ากับสังคม ได้รับการพัฒนาไปด้วย ปัญหาของสังคม จะลดน้อยลง หรือหมดไป "ตอนนี้กำลังหาลู่ทางว่า ทำอย่างไร จะให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่เกิดขึ้นใหม่ ดำเนินงานได้ ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล" มหาจำลองกล่าว

มหาจำลองให้ความคิดเห็นต่อไปว่า สำหรับตนแล้ว การพัฒนาคนมี ๒ ทางกว้างๆ คือ พัฒนาให้เป็นคนเก่ง และ พัฒนา ให้เป็นคนดี การเป็นคนเก่ง มีการทำกันมามากแล้ว อย่างที่กล่าวมาแต่ต้น แต่การทำให้คนเป็นคนดี ยังไม่มีมากนัก ที่สำคัญ สังคมทุกวันนี้ ขาดแคลน "คนดี"

"คนดีในความเห็นผม และที่จะเสนอไปให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ พิจารณาคือ แผนที่จะทำให้เกิดคนดีในสังคมมากๆ โดยคนดีที่ว่านี้ มีลักษณะ คือ
๑. เป็นคนที่รู้จักเสียสละเพื่อส่วนร่วม
๒. มีความรับผิดชอบ ต่อชาติบ้านเมือง
๓. มีความเอาจริงเอาจังต่อหน้าที่การงาน และขาดไม่ได้คือ
๔. ต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกง ที่ผ่านมาเรามองข้ามเรื่องเหล่านี้ มาถึงวันนี้ บ้านเมืองจึงล้าหลัง"

เรื่องเหล่านี้ มหาจำลองบอกว่า ถึงแม้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เป็นเรื่องหญ้าปากคอก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ ต้องชี้ออกมาว่า คนดี มีลักษณะเช่นนี้ๆ และเมื่อกำหนดอย่างนี้แล้ว กระทรวงใหม่ที่ตั้งขึ้น ต้องไปติดตามว่า ในบ้านเมืองนี้ มีใครบ้าง ที่จะหยิบยก ขึ้นมาให้เป็นตัวอย่างได้ จะได้เกิดกำลังใจ

"ทุกวันนั้เราไม่มีกำลังใจ เพราะได้ยินแต่เรื่องคนที่แย่ๆ ออกมาเป็นข่าว แต่คน ดีๆไม่เคยได้ฟังเรื่องของเขา แท้จริงมีคนดี เยอะแยะ และกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ จะต้องเป็นหน่วยงานหลัก เป็นเจ้าภาพ ในการทำหน้าที่ เปลี่ยนค่านิยม ของคนไทย ให้มาสนับสนุนคนดี ไม่ใช่หันมาสนับสนุน แต่คนมีเงิน มีอำนาจ ต้องเอาพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวที่ตรัสไว้ เราจะไม่สามารถทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ แต่เราจะต้อง ส่งเสริมคนดี ให้คนดี ได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ"

"ดังนั้น การเป็นคนดีเป็นไม่ยาก ขอให้มีความตั้งใจ และถ้าเป็นคนดีไม่ได้ ก็ลาออกจากการเป็นคนไทยไปเสีย" เป็นคำบอกกล่าว ของมหาจำลอง.

(จาก นสพ.มติชน ๑ พ.ย.๔๕)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ธ.ก.ส.ปลื้ม "สมณะอโศก" ขัดเกลาลูกค้า
เกษตรกรยิ้มได้ผัวใหม่-เมียใหม่

"สมณะเสียงศีล ชาตวโร" เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าในจำนวนไม่กี่รูป ที่ได้รับการคัดเลือก จากสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ประจำปี ๒๕๔๕

หากใครเคยรับฟังรายการวิทยุธรรมะของทีมงาน "เพื่อนช่วยเพื่อนและเพื่อนชีวิต" ที่จัดหลายรายการ กระจายไปตาม สถานีวิทยุต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค เป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี ย่อมจะคุ้นเคยกับการสอนธรรมะ ของสมณะท่านนี้ดี ซึ่งมีรูปแบบ ไม่เหมือนรายการ ธรรมะทั่วไป คือเน้นการสอนธรรมะ เพื่อการพัฒนา จิตวิญญาณ และปลุกจิตสำนึก ให้คนรู้จัก การจัดการ กับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อย่างเหมาะสม และช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งกันและกัน ที่สำคัญไม่น่าเบื่อ เพราะมีสาระ ที่สามารถนำมาใช้ ในชีวิตประจำวันได้

ด้วยน้ำเสียงชวนฟังและมีศิลปะในการนำเสนอ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่มีแฟนๆรายการธรรมะของท่านเสียงศีล เขียนจดหมาย มาชมเชย และให้กำลังใจ นับได้หลายกระสอบปุ๋ย อีกทั้งมีผู้สนับสนุน เป็นสปอนเซอร์ ในรายการตลอด ไม่ต้องบอกบุญ ขอเรี่ยไร ในรายการ ให้คนฟังเกิดความรำคาญ

ซึ่งท่านเสียงศีลได้อธิบายในเรื่องต่างๆมากมาย เช่น การนำตัวอย่างของ ผู้มาอบรมที่ประสบผลสำเร็จ มาออกรายการวิทยุ, การทำปุ๋ยชีวภาพ, การอบรมลูกค้า ธ.ก.ส.หลักสูตรสัจธรรมชีวิต ๙ เครือข่ายของชาวอโศก เป็นปีที่ ๒ หลายหมื่นคน, ผลของ การอบรมฯ ทำให้ครอบครัวของผู้เข้ารับการอบรม เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น จนหมดหนี้สิน และ สามารถ ซื้อที่ดิน กลับคืนมาในที่สุด พร้อมกับปลูกบ้านหลังใหม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ประเมินผลแล้ว ออกมาเกินคาด นอกจากนี้ ยังเปิดกว้าง อบรมแก่บุคคลภายนอกที่สนใจ อีกด้วย

สุดท้ายท่านเสียงศีลกล่าวว่า "ทุกวันนี้ภาวะเศรษฐกิจกำลังวิกฤติหนัก สงสารชาวบ้าน จะต้องอดอยาก ยากจน เพราะพื้นความรู้ ไม่ทันคนที่เขารู้มาก เอาเปรียบมากกว่า วิธีการที่จะช่วยชาวบ้านได้ดีที่สุดคือ หนึ่ง ชาวบ้าน ควรจะรู้จักเตรียมตัว ต้องเอาหลักธรรมคำว่า มักน้อยสันโดษมาใช้

ทุกวันนี้อาตมาคิดว่า ชาวบ้านก็คงจะทราบดีว่า ภาวะมันบีบขึ้นมาเรื่อยๆ มันวิกฤติจนกระทั่งเป็นหนี้เป็นสิน หลายครอบครัว ล่มสลาย ต้องขายที่ขายทาง ต้องไปขายแรงงานกับต่างชาติ สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่รีบแก้ไขแล้ว ต่อไปมันจะสิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน"

ถ้าใครมีปัญหาชีวิต มีปัญหาเรื่องการทำมาหากิน สมณะเสียงศีลบอกยินดีช่วยแก้ไข จะโทรศัพท์มาก็ได้ที่ปฐมอโศก จ.นครปฐม โทร.๐-๓๔๒๕-๘๔๗๐ หรือ ๐-๓๔๒๕-๘๔๗๑ ส่วนชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ที่อินทร์บุรี เบอร์ ๐-๓๖๕๘-๑๙๒๒

(คัดย่อจาก นสพ.มติชน ๓๑ ต.ค. ๔๕)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]