ฉบับที่ 229 ปักษ์หลัง16-30 เมษายน 2547

[01] บทนำข่าวอโศก:ปล่อยวางแต่ไม่ปล่อยงาน
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "พุทธศาสตร์เชิงพุทธ"
[03] บันทึกปัจฉาสมณะ:ความละเอียดอ่อนของใจคน
[04] จัดยุวพุทธ '๔๗ ร่วมโครงการเยาวชนคนสร้างชาติ
[05] อาหารที่ปลอดภัยที่สุดในโลก" (ตอนจบ)
[06] นายกรัฐมนตรีเยี่ยมภาคอีสาน ขอพักค้างคืนที่ศีรษะอโศก
[07] ชุมชนศาลีอโศกจัดงานสงกรานต์ย้อนยุค
[08] ขิงแก้ไอในไข้หวัดเย็น
[09] ดึงมหาจำลอง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ผ่าน บจ.เท่าทุน
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] นางงามรายปักษ์ น.ส.สุวดี วัฒนพานิชย์



ปล่อยวางแต่ไม่ปล่อยงาน

อีก ๔ เดือน คน กทม.ก็จะได้ใช้รถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลกันเต็มรูปแบบ โดยจะเปิดบริการ อย่างเป็นทางการ ในวันแม่แห่งชาติ (๑๒ ส.ค.๒๕๔๗)

หลังจากที่ได้ทดลองเปิดใช้ให้คนไทยนั่งฟรี (ถ้ามีตั๋ว) ในวันที่ ๑๓ เม.ย.๒๕๔๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. ตรง

มีตายายคู่หนึ่ง ตื่นตั้งแต่ตี ๕ เพื่อเตรียมไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินขบวนประวัติศาสตร์ ที่มีข้อความในตั๋วพิมพ์ ไว้ว่า...บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ขอรับรองว่า คุณ...คือคนไทยที่ได้นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของเมืองไทยก่อนใคร...

แต่ตายายคู่นี้ที่เดินทางมาจากคนละสถานที่ไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะไม่รู้ว่าต้องเขียนไปรษณียบัตรขอรับตั๋ว ล่วงหน้าก่อน ผู้เฒ่าทั้ง ๒ จึงไม่มีตั๋ว แม้จะอ้อนวอน ขอความเห็นใจอย่างไร เจ้าหน้าที่ก็จำต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยให้เหตุผลว่า หากปล่อยให้คนที่ไม่มีตั๋วโดยสารเข้ามา อาจจะเกิดความโกลาหลขึ้นได้

๒ ผู้เฒ่าจึงทำใจยอมรับสภาพ โดยคุณยายรำพึงว่า "ถ้ารู้ ยายก็จะได้บอกให้ลูกสาวเขาเขียนให้ มาวันนี้ก็เสียเที่ยวเปล่าๆ แต่ไม่เป็นไร ไว้มาขึ้นใหม่ตอนเสียเงินก็ได้ มีเงินจ่ายกลัวอะไร"

เรื่องนี้ก็คงให้ข้อคิดกับชาวเราว่า ในความทันสมัยหรือล้าสมัยก็ตาม ถ้ายึดจะเอาให้ได้ ก็มีแต่จะเพิ่มทุกข์ ถ้ารู้จักปล่อยวาง ก็จะเข้าใจชีวิตว่า สิ่งใดที่เข้าไปยึดถือ ไม่ทุกข์ไม่มี แม้แต่ผู้ยึดกฎ-ระเบียบหากมีทางออกที่ดี เช่น ปรึกษาฝ่ายบริหาร ให้ช่วยแก้ปัญหา ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีขึ้นกว่านี้ก็ได้

เมื่อทุกฝ่ายถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยกันแก้ปัญหา และทำใจยอมรับได้ แม้ไม่ได้ดั่งใจ ปัญหาต่างๆก็จะยุติ

ก็ขอฝากถึงญาติธรรมทุกกลุ่มว่า เริ่มปีใหม่อีกปีแล้ว เราคงจะมีความสามัคคี รู้จักปล่อยวาง และช่วยงานส่วนกลาง ได้มากยิ่งขึ้น ก็ดูขนาดตายายยังทำใจได้ แล้วเราล่ะซึ่งได้ชื่อว่า นักปฏิบัติธรรม.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


พุทธศาสตร์เชิงพุทธ

พ่อท่านเคยกล่าวไว้ว่า "ชีวิตคนเราเกิดมาเพื่อศึกษา คนไม่ศึกษาคือเศษสวะของ สังสารวัฏ"

เศษสวะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลอยตามกระแสน้ำ แล้วแต่จะถูกพัดพาไป "เศษสวะของสังสารวัฏ" ก็เฉกเช่นเดียวกัน เมื่อบางคน เกิดมา โดยไม่รู้จักอะไรเลย ไม่เคยสร้างพลัง ที่จะต้าน กระแสน้ำ กระแสมรสุม แม้ที่สุดจะ ตามน้ำหรือทวนน้ำ คนมีสิทธิ์ ทำตนเอง ให้ทวนหรือต้านกระแส ที่จะดูดซัด พัดพาไป ซึ่งเรียกว่า กระแสโลกีย์

แล้วการศึกษาอย่างไรที่มนุษย์ควรมีควรได้! พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ได้เคยให้โอวาทเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

"...พระพุทธเจ้าทรงค้นพบหลักสูตร หรือความรอบรู้สำเร็จรูปมาแล้วสมบูรณ์แบบ ซึ่งหลายคนเข้าใจไม่ได้ เพราะไปเรียนรู้ ตามหลักสูตรของทางโลกีย์ หรือทุนนิยมมา แล้วเอาหลักสูตร อย่างนั้นมาใช้กัน ยิ่งใช้ก็ยิ่งหลงลาภ หลงยศ หลงสรรเสริญ หลงโลกียสุขยิ่งขึ้น

หลักสูตรทุกวันนี้จึงเป็นหลักสูตร ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาให้คนเก่ง เพื่อไปแย่งลาภ ยศ สรรเสริญ และทุกอย่าง เพื่อมา เสพสุข คนเรายังไม่รู้จักความเป็นโลกธรรม ก็จมอยู่กับ โลกธรรม ผู้ไม่ศึกษาการศึกษาวิเศษที่สามารถหลุดพ้นออกจาก กระแส ของโลกียะ จะหลุดพ้นไม่ได้ สำหรับผู้ที่ศึกษา จะสามารถหยุดยั้ง หรือพยายาม ไม่ไปตามกระแส ของโลกียะ ตามกรรมวิธี ของศาสดา ที่ค้นพบวิธีสอนที่เรียกว่าศาสนา และศาสนาก็มีมากมาย พระบรมศาสดา ของแต่ละศาสนา พยายาม หาวิธี ที่จะมาช่วยกันสอน ให้คนฝืนกระแส โลกีย์ ไม่ตกเป็นทาสของกระแสโลกีย์ ให้ได้ ด้วยวิธีของแต่ละศาสนา

พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระพุทธเจ้าโดยศึกษาสายเลือดสายวิญญาณของพระพุทธเจ้า แล้วก็ถ่ายทอด สะสมความรู้ สายพุทธ มาตลอด กว่าจะบรรลุ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องใช้เวลา นับชาติ ไม่ได้ ซึ่งผู้ที่จะได้พบ พระพุทธเจ้า แต่ละชาติไม่ง่าย แต่พระองค์พบพระพุทธเจ้าถึง ๕๑๒,๐๒๘ พระองค์... คนเราเกิดมา เพื่อศึกษาจริงๆ ถ้าเรียนรู้ โลกธรรม ก็จะหลุดพ้นจาก โลกียะ ที่มีฤทธิ์ทำให้คนตกเป็นทาส สุข ทุกข์วนเวียนไม่รู้จักจบสิ้น รสสุขรสทุกข์นี่แหละ คือรสโลกีย์ ซึ่งเกิดจากตัณหาอุปาทาน เป็นตัวปลอม ไม่ใช่ธาตุแท้ ของจิตวิญญาณ จิตวิญญาณเป็นสิ่งบริสุทธิ์ การที่ถูกกิเลส ตัณหา อุปาทาน เข้าครอบงำ เป็นเจ้าของชีวิต เรียกว่า ตัวตน หรืออัตตา ซึ่งมี โอฬาริกอัตตา มโนมยอัตตา อรูปอัตตา การฆ่าอัตตา ฆ่าเหตุ ที่ทำให้ตัวเอง ยึดมาเป็นตัวเราของเรา ที่เสพสุขอยู่ในโลกีย์ เมื่อฆ่าได้หมดแล้ว เราก็ไม่เป็นทาส

เรามีชุมชนหลายชุมชน ไม่มีอบายมุข เด็กๆ ที่มาเรียนกับเราจึงไม่มีปัญหาแบบที่โลกๆเขาเป็นอยู่ ซึ่งลุกลาม อยู่ทั่วโลก โรงเรียน ที่ปลอดอบายมุข หายาก แต่โรงเรียนของเรา ยืนยันได้ว่า ปลอดอบายมุขจริง สามารถรักษาสถานภาพได้ เป็นผล พิสูจน์ที่แท้จริงว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้า ทำให้คนหลุดพ้น เราสอนเน้น ตามหลักการของเรา และให้คะแนน ศีลเด่น ๔๐ %, เป็นงาน ๓๕ %, ชาญวิชา ๒๕ % ซึ่งตรงข้ามกับทางโลก ซึ่งตั้งราคาความรู้ไว้สูง ทุกมหาวิทยาลัย ในโลกสอนคน ให้ไปล่า ลาภโลกียสุข ไม่ได้ลดกิเลส

ผู้ใดได้รู้ว่าชีวิตเกิดมาเพื่อศึกษา แล้วมาศึกษาจนพบหลักวิชา คือพุทธศาสตร์เรียนรู้ตามศาสตร์ของพระพุทธเจ้า จะมี ความรอบรู้ ตามแต่บารมีของแต่ละคน ถ้ามีบารมีมาก ก็จะรู้ได้ง่าย ศาสนามาช่วยสังคมมนุษยชาติ แต่ละสาขา ก็มาช่วย มนุษยชาติ มีหน้าที่เดียวกัน แต่แบ่งงานกันทำ แล้วมาผสมกัน อย่างได้สัดส่วน

ก็ขอให้ตั้งใจทำกันเพื่อการศึกษา เพราะมนุษย์เกิดมาต้องมีการศึกษา "มนุษย์ไร้การศึกษาเป็นสวะของสังสารวัฏ" เพราะฉะนั้น ต้องมาสร้างพลัง ให้กับตนเอง ที่จะมาต้าน กระแสของ สังสารวัฏ ไม่ว่าจะเป็นกระแสอะไรก็แล้วแต่ แม้ที่สุด กระแสสวรรค์ เราก็สามารถต้านได้ ไม่หลงเป็นทาสสวรรค์ สุดท้าย อยู่เหนือสวรรค์เหนือนรก "อทุกขมสุข" ไม่มีทั้งสวรรค์ ไม่มีทั้งนรก ไม่มีทั้งทุกข์และสุข เป็นวูปสโมสุข คือ สุขอันวิเศษ เป็นปรมังสุขัง."

เพราะการศึกษาตามแนวพุทธศาสตร์มีความสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์อย่างยิ่งนี่เอง เปิดเทอมใหม่ของลูกๆหลานๆ เราเทอมนี้ ท่านผู้ปกครอง จึงน่าจะได้นำความรู้ ตามแนวพุทธศาสตร์ และหลักการ "ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชชา" ไปปรับ เสริมในชีวิต การศึกษาของลูกหลานของท่านด้วย.

(บางส่วนจากโอวาทพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ในการเปิดการประชุมสัมมนาการจัดทำหลักสูตร การศึกษา เมื่อวันที่ ๑๑ มิ.ย. ๔๖ ณ พุทธสถาน สันติอโศก)

- ทีมข่าวพิเศษ -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ความละเอียดอ่อนของใจคน

ข่าวเหตุการณ์นองเลือดที่ชายแดนใต้ มีการวิเคราะห์กันไปหลายมุมมอง หลายคนพูดถึงความละเอียดอ่อน ในการแก้ ปัญหานี้ ทั้งเรื่องวัฒนธรรม และความเชื่อ ทางศาสนา ที่ต่างไปจาก เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทำหน้าที่บริหารปกครอง มีหลายเสียง วิจารณ์ พร้อมให้คำแนะนำว่า การแก้ปัญหานี้ สมควรที่จะต้องใช้ ความละเอียดอ่อน เป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนเอง ก็ไม่รู้ความจริงทั้งหมด เป็นอย่างไร การแก้ปัญหาควรเป็นอย่างไร เพียงแต่รับรู้เข้าใจได้เช่นกันว่า เรื่องใจคน การแก้ปัญหาคน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มาก ยิ่งอยู่ใกล้พ่อท่าน ได้เห็นการวางตัว การแก้ปัญหาต่างๆของคน การใช้ถ้อยคำ ในการเขียน เพื่อสื่อคำความ เป็นเรื่องที่ พ่อท่านใช้ดุลพินิจ ใช้ความละเอียดอ่อนมาก

ฝ่ายจัดทำข่าวอโศกรายปักษ์ ขอให้ช่วยเขียนอะไรๆแทนสมณะเดินดิน ที่ไม่ค่อยสบาย ในช่วงเวลาที่กระชั้น ก็ได้เร่งทำ ให้เสร็จ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ บุคคลสำคัญคนหนึ่ง ที่พ่อท่าน ได้มีโอกาส สนทนาอย่างกันเอง บรรยากาศเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ

แรกทีเดียวสมณะเดินดินเรียนถามพ่อท่านว่า การสนทนานี้จะนำเผยแพร่สู่สาธารณะในหนังสือของเราได้ไหม เผื่อญาติธรรม ที่อยู่ห่างไกล จะได้ทราบข่าว และบรรยากาศที่ดีๆนี้ พ่อท่านเองก็ยังไม่ได้คิดอะไรมาก จึงเห็นว่าได้ เพราะการสนทนา ก็ไม่ได้ มีเรื่องที่จะทำให้ใครเสียหาย อีกทั้งการสนทนาในวันนั้น (๒๔เม.ย.) มีกล้อง หลายกล้องมาก ที่บันทึกเหตุการณ์ รวมทั้งมีการ ใช้ไมค์โครโฟน กระจายเสียงไปทั่วพุทธสถาน และได้บันทึกเสียง ด้วย ดูบุคคลสำคัญนั้น และคณะก็ ไม่ได้รู้สึกว่า เป็นเรื่องลับ อะไร ทุกอย่างก็ดูเปิดเผย ผู้เขียนจึงคิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จึงเขียนแบบ ถอดคำความออกมาทั้งหมด บอกเล่าเหตุการณ์ แวดล้อม ประกอบด้วย มุ่งหมาย ให้ผู้ไม่อยู่ในเหตุการณ์ และไม่มีโอกาส ได้ดูจากซีดี จะได้เห็นภาพตาม

เมื่อเร่งเขียนจนเสร็จ ส่งให้พ่อท่านช่วยตรวจแก้ เพื่อความเหมาะสม พ่อท่านยังไม่ทันได้ตรวจ มีญาติธรรม โทรมาสอบถาม ถึงความเหมาะสม ในการนำซีดี ภาพเหตุการณ์นั้น ไปเผยแพร่ สู่สาธารณะ ผู้เขียนได้ถามถึงเหตุผลที่เห็นว่า ไม่ควรนั้น เป็นอย่างไร ด้วยญาติธรรมคนนั้น ยังไม่ได้ดูภาพเหตุการณ์นั้น เพียงแต่มีคนอื่นดูแล้ว มาเล่าให้ฟัง ก็ได้รับคำตอบว่า ๑. บุคคลนั้น อาจไม่ต้องการให้เผยแพร่ ๒. การสนทนานั้น อาจมีเรื่องที่ไปกระทบพาดพิงคนอื่น

ผู้เขียนจึงได้บอกญาติธรรมคนนั้นไปว่า เรื่องพาดพิงคนอื่นนั้น ไม่มีเลย ไม่ได้กล่าวชื่อใคร มีช่วง นิดเดียวที่พูดผ่านๆ ถึงพฤติกรรม ของกลุ่มคนหนึ่ง ที่เคลื่อนไหว แสดงออก อย่างผิดธรรม พูดผ่านๆ นิดเดียวเท่านั้น ถ้าจะเกรงด้วยเหตุผลนี้ ก็ไม่น่าจะเกรง เพราะที่พูดให้ข่าวตามสื่อต่างๆนั้น แรงหนักกว่านี้ ส่วนเหตุผลที่ว่า บุคคลสำคัญนั้น อาจไม่ต้องการ ให้เผยแพร่ ก็ยังดูก้ำกึ่ง คือยังไม่ชัดขนาดนั้นทีเดียว เพราะตอนแรก ว่าจะสนทนากันที่ห้องทำงานพ่อท่าน แต่ต่อมาบอกว่า มีคณะติดตาม มาด้วยหลายคน จึงย้ายไปที่ศาลาส่วนกลาง ซึ่งมีทั้งกล้องหลายกล้องมาก ญาติธรรมก็เยอะ การสนทนาก็พูดผ่าน ไมค์โครโฟน เสียงก็กระจายไปทั่ว ดูท่าทีก็ไม่เห็นว่า เขาจะเกร็ง ระมัดระวัง ว่าเป็นเรื่องลับ แต่อย่างใด

แต่เมื่อมีการทักท้วงกันมาเช่นนี้ ผู้เขียนก็ต้องเรียนให้พ่อท่านทราบก่อน เพราะเรื่องจิตใจคน ความคิดของคน บางอย่าง เป็นเรื่องที่ ละเอียดอ่อน เกินกว่าที่คนๆเดียว จะคิด และตัดสินใจทำ หรือไม่ทำอะไร ต้องอาศัยหลายหัวหลายมุมมอง ช่วยๆกันดู โอกาสพลาดจึงน้อยกว่าคนเดียวคิด หรือทำอะไรๆ

เมื่อเรียนให้พ่อท่านทราบถึงการทักท้วงนี้ พ่อท่านพูดเหมือนมีสิ่งที่สะดุดใจ หรือคิดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ต่างไปจากท่าที ตอนแรก ที่สมณะเดินดิน ถามว่า จะเผยแพร่ ในหนังสือ ของเราได้ไหม ครั้งนั้น พ่อท่านตอบว่าได้ คราวนี้พ่อท่านตอบว่า ไม่ควรแพร่กว้าง ให้พวกเราดูกันเอง ภายในเท่านั้น แม้แต่ภาพที่บุคคลสำคัญนั้น มากราบพ่อท่าน ก็ไม่ให้นำเอาไปเผยแพร่ ด้วยเราเอง ก็ไม่ได้รู้ความจริงทั้งหมด บุคคลสำคัญคนนี้ มีคนชอบก็เยอะ คนไม่ชอบก็มาก เราเองไม่ได้อยู่ฝ่ายไหนทั้งนั้น เราสัมพันธ์ด้วยกับทุกฝ่ายได้ แต่เราก็ต้อง ระมัดระวัง ไม่ให้ฝ่ายใดๆ เห็นเราเป็นศัตรู หรือเข้าใจผิดว่า เรานั้นฝักใฝ่ ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง

ฟังแล้วผู้เขียนก็เห็นด้วยกับเหตุผลที่พ่อท่านบอกมา ด้วยสถานการณ์ยามนี้ ถ้าสถานการณ์ชายแดนใต้ มีหลายสิ่ง หลายอย่าง ที่ซับซ้อน เกินกว่าที่คนสามัญ ธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ จะคิดและเข้าใจได้จากสื่อที่นำมาเสนอ เท่านั้น ฉันใด ความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ ของบุคคลสำคัญคนนั้น กับกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ (มีหลายกลุ่มมาก ไม่ใช่กลุ่มเดียว อีกด้วย) ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มันเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าชาวบ้านตาดำๆ เช่นเราๆ ท่านๆ จะคิดทำ หรือเข้าใจได้

ผู้เขียนจึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไปที่จะนำเสนอบทสนทนานั้น แม้ผู้เขียนและชาวอโศกหลายคน จะเห็นว่า เป็นเรื่องดี เป็นบรรยากาศ สนิทสนมกันเอง ที่ดีก็ตาม แต่เราอยู่ในสังคม ที่มีความแตกต่าง ในความคิด ความเชื่อที่หลากหลาย กลุ่มคนอื่น อาจไม่คิดอย่างเรา ยิ่งมีหลายกลุ่ม ผลประโยชน์ ก็ยิ่งเป็นเรื่องยาก ที่จะเข้าใจกลุ่มอื่นๆ ได้หมด สรุปแล้ว เป็นเรื่อง เสี่ยงเกินไป และไม่คุ้มอย่างยิ่ง ผู้เขียนจึงบอกพ่อท่านว่า ไม่ต้องตรวจบทสนทนานั้นแล้ว ผู้เขียน เขียนใหม่เลย ดีกว่า ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่า จะเขียนได้ทันกับเวลา ที่จะต้องพิมพ์ออกมาหรือเปล่า

แรกทีเดียวพ่อท่านไม่คิดจะรบกวนหรือทำให้ท่านต้องเสียเวลา เหตุผลก็เพื่อให้บุคคลสำคัญนั้น ได้สบายใจ ในการมาดู กิจกรรมต่างๆ ของชุมชน แต่ถูกขอร้อง จากบุคคลสำคัญ อีกท่านหนึ่ง พ่อท่านก็ไม่มีปัญหา ทุกเหตุผลเป็นของพ่อท่าน ย่อมมีวินิจฉัยเองอยู่แล้ว

เมื่อบุคคลสำคัญนั้นมาถึง มีการจัดที่นั่งให้พ่อท่านได้นั่งในที่ที่สมควรด้านหน้า พ่อท่านเองก็ปฏิเสธ ที่จะไปนั่ง ในที่มีการ จัดเตรียมให้ ด้านหน้านั้น ด้วยเหตุผลว่า เพื่อบุคคลสำคัญนั้น จะได้ไม่ลำบาก ที่จะต้องฝ่าฝูงคนเข้ามากราบพ่อท่าน ท่ามกลาง สาธารณชนอย่างนั้น ท่านอาจมีความไม่สะดวก ในหลายๆ ประการ ขอยืน และ เดินดูไปเรื่อยๆ เหมือนชาวบ้าน ทั่วๆ ไปจะดีกว่า

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการวางตัวกับบุคคล กับสังคมและกลุ่มคนต่างๆ รวมถึงอีกหลายๆเหตุการณ์ ที่ผู้อยู่ ใกล้ชิด จะรับรู้ได้ นี่ถ้าเป็นตาสีตาสา ความละเอียดอ่อน ก็อาจจะใช้ ขนาดหนึ่ง แต่กับบุคคลสำคัญ ที่มีผลกระทบกับ สังคมในหลายๆ เรื่องราว ความละเอียดอ่อน ก็ต้องอีกขนาดหนึ่ง หรือถ้าเป็นกลุ่มบุคคล ที่มีความเชื่อทางศาสนา ที่แตกต่าง ความละเอียดอ่อนยิ่งต้องสูงมาก

การเขียนครั้งนี้ไม่ได้เอ่ยชื่อใครเลย นอกจากอ้างอิงระบุถึงพ่อท่านและผู้เขียนเท่านั้น ต้องขออภัย สำหรับผู้ที่อ่านแล้ว ไม่รู้เรื่องเลย ส่วนผู้รู้แล้วก็รู้ไป เขียนไว้ ให้เป็นประวัติศาสตร์ อีกหน้าหนึ่ง เผื่ออนุชนรุ่นหลังๆ ไปถอดรหัสกันเอาเอง ว่าใคร เป็นใคร

- สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


จัดยุวพุทธ '๔๗
ร่วมโครงการเยาวชนคนสร้างชาติ ได้ประสบการณ์ว่าควรจัดแยก

งานยุวพุทธทายาทของชาวอโศก ซึ่งเป็นงานเข้าค่ายอบรมของเด็กๆ ที่ชาวอโศกจัดขึ้นเป็นประจำในช่วง เดือนเมษายน ของทุกปี โดยปีนี้แต่ละชุมชนต่างรวมกันจัดงาน ยุวพุทธฯ ขึ้นในท้องถิ่นของตนเองเหมือนเช่นทุกๆปีที่ผ่านมา สำหรับ บรรยากาศ การจัดงานของบางชุมชนในปีนี้ มีดังนี้

ปฐมอโศก
จัดงานยุวพุทธทายาทในโครงการเยาวชนคนสร้างชาติ ตั้งแต่วันที่ ๑๒-๑๖ เม.ย.๔๗ มีเด็กสมัครรับการอบรม ประมาณ ๒๐๐ คน

พี่เลี้ยงปีนี้ เป็นหน้าที่ของนักเรียนสัมมาสิกขาปฐมอโศก ชั้น ม.๔

คุณธรรมที่เด็กๆ สะท้อนออกมา ในการอบรมครั้งนี้ คือ เรื่องกตัญญู เนื่องจากปีนี้สมณะได้เทศน์เน้นในเรื่องนี้ รวมไปถึง วิดีโอธรรม ที่ฉายให้เด็กได้ดู ก็เน้นถึงกตัญญู

มีเด็กเข้าอบรมมากกว่าปีที่แล้ว แต่รูปแบบการอบรมแม้จะไม่สนุกสนานเหมือนปีที่แล้ว ซึ่งมีรุ่นพี่อย่างพี่ดาว และพี่สยาม มาช่วย แต่ผลการอบรมก็เป็นที่น่าพอใจไม่น้อย แม้รูปแบบจะเรียบง่ายกว่า

ภูผาฟ้าน้ำ
งานยุวพุทธทายาทครั้งนี้เป็นปีที่ ๓ แล้ว โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ เม.ย. มีเด็กเข้ารับการอบรมจำนวน ๓๓ คน ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเด็กชาวเหนือ โดยเฉพาะ เด็กในพื้นที่ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงชุมชนภูผาฟ้าน้ำ การอบรมครั้งนี้ได้ฝึก นร. สัมมาสิกขาภูผาฟ้าน้ำ ชั้น ม.๑ และ ม.๒ จำนวน ๑๘ คน ให้เป็นพี่เลี้ยง ดูแลเด็กๆที่มาเข้าค่าย โดยนักเรียน สัมมาสิกขาฯ ชั้น ม.๑ รับหน้าที่ดูแลน้องๆที่เข้าอบรม ส่วน นร.สัมมาสิกขาฯ ชั้น ม.๒ ช่วยเรื่องบันทึกภาพ เหตุการณ์ต่างๆ โดยมีสมณะ คอยให้คำแนะนำ

การเข้าค่ายในครั้งนี้ จัดให้มีการฝึกเดินป่าและการผจญภัยด้วย ทำให้เด็กหลายๆคนประทับใจไปตามๆกัน

สันติอโศก
ปีนี้จัดในชื่องาน "เยาวชนคนสร้างชาติ รุ่นที่ ๒" ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ เม.ย.๔๗ โดยมีทีมงานของครูพุทธธรรมและ นร. สัมมาสิกขา สันติอโศกเป็นแม่งาน มีผู้เข้ารับ การอบรม รวม ๒๖๐ กว่าคน บรรยากาศโดยรวมเป็นไปด้วยดี กิจกรรม ต่างๆเน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมพึ่งพาตนเอง อาทิ ให้ฝึกทำอาหาร ทานเอง ทั้งเช้าและเย็น นอกจากนี้ ยังมีฐานงานต่างๆ ให้เด็กได้ฝึกอีกด้วย

เนื่องจากการจัดงานปีนี้จัดรวมกันระหว่างงานของเยาวชนฯและงานยุวพุทธ ทายาท ดังนั้นผู้เข้ารับการอบรม จึงมีอายุ ตั้งแต่ ๑๐-๑๘ ปี โดยผู้เข้าอบรมที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป มีจำนวน ๖๐ กว่าคน ทำให้ การนำเสนอกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสม กับวัย ของผู้เข้าอบรมทั้งหมด จึงค่อนข้างยาก ดังนั้น ในปีต่อๆ ไป จึงมีแนวคิดว่า จะแยกจัดงานออกเป็น ๒ ค่าย คือ ค่ายเยาวชนฯ สำหรับผู้มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป และค่ายยุวพุทธฯ สำหรับอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี เพื่อจะได้จัดกิจกรรม ให้สอดคล้อง กับอายุ และมีประสิทธิภาพ สูงสุด

สีมาอโศก
จัดการอบรมระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ เม.ย. ที่ผ่านมา มีผู้เข้าอบรม ๑๐๘ คน แบ่งเป็นชาย ๔๘ คน หญิง ๖๐ คน

การอบรมแบ่งออกเป็น ๑๐ กลุ่มโดยแยกชาย-หญิง เวลาทำอาหารแยกกันทำแต่ละกลุ่มรอบๆลานโพธิ์ โดยมีวัยรุ่น ที่เคยมา อบรม ที่สีมาอโศกเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลแนะนำ

เนื่องจากวัยของเด็กๆต่างกันมาก มีตั้งแต่วัยอนุบาลไปจนถึงมัธยมฯปลาย เวลา จัดกิจกรรมเด็กเล็กสนุก แต่เด็กโต ก็ไม่ค่อยมี อารมณ์ร่วม แต่ก็มีข้อดีคือ เด็กโต ได้ฝึก เอาภาระ ดูแลน้อง การทำหนังสือการ์ตูนเอง ทำให้เด็กๆ ส่วนใหญ่ เพลิดเพลินกับ การวาดรูประบายสี เด็กๆหลายคน ได้สัมผัส กับงานที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การถากหญ้า การแยกขยะ และ การทำอาหาร มังสวิรัติ

บรรยากาศของงานในปีนี้ เด็กๆที่เคยมาหลายครั้งบอกว่า ไม่ค่อยสนุกเท่าปีก่อนๆ เพราะปีนี้เน้นเนื้อหาสาระมากขึ้น

ศาลีอโศก
ณ พุทธสถานศาลีอโศก การเข้าค่าย ยุวพุทธทายาทครั้งนี้ เป็นครั้งที่ ๓ มีเด็กที่มาเข้าค่ายทั้งหมด ๗๗ คน เด็กที่มาเข้าค่าย ยุวพุทธทายาท ก็มากันต่างถิ่นต่างแดน เช่น ตาก นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย เป็นต้น การเข้าค่ายยุวพุทธทายาท เป็นเวลา ทั้งหมด ๔ คืน ๕ วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๐-๒๔ เม.ย.๔๗ การเข้าค่ายครั้งนี้ มีสมณะ และ สิกขมาตุ เป็นที่ปรึกษา และจัดนักเรียน สส.ศ. เป็นผู้อบรมเด็กที่มาเข้าค่ายในครั้งนี้ด้วย โดยแบ่งให้น้อง ม.๒ เป็นพี่เลี้ยง ให้ ม.ปลาย เป็นทีม สันทนาการ แล้วยังมีพี่ ม.วช. และศิษย์เก่า มาช่วย ในการเข้าค่าย ครั้งนี้ด้วย ตารางเข้าค่ายของเราเริ่มตั้งแต่เวลา ๔.๓๐ น.-๒๐.๓๐ น. เป็นประจำ ทุกวัน ตั้งแต่เริ่มตื่นนอน ก็ทำวัตรเช้า จากนั้นก็ตอบคำถาม แล้วก็ออกกำลังกาย ตามธาตุ และ ออกกำลังกาย โดยการกระโดด เชือกเหมือนแต่ก่อน ชาวศาลีอโศกพยายามจะฟื้นฟู การละเล่นไทย ในสมัยก่อน ให้เด็ก สมัยนี้ ได้เล่นกันดูบ้าง บรรยากาศของ การกระโดดเชือก ค่อนข้างจะสนุกสนาน กว่าการออกกำลังกายตามธาตุ เสียอีก เนื่องจากการออก กำลังกายตามธาตุ บางคนก็ทำ บางคนก็ไม่ทำบ้าง แต่กระโดดเชือก สามารถเล่นกันได้ทุกคน เปลี่ยนกัน หมุนเชือก เปลี่ยนกันกระโดดบ้าง ก็ทำให้สนุกไปอีกอย่างหนึ่ง.


[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ปฏิวัติประเทศไทยด้วยเกษตรอินทรีย์
"อาหารที่ปลอดภัยที่สุดในโลก" (ตอนจบ)

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

กระบวนการที่กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืน ต.น้ำอ้อมทำทั้งหมดเป็นหนึ่งในโครงการที่ สสวช. ผลักดันเบื้องหลัง โดยมี ๔ ประสาน คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ทุนก่อตั้ง ๑๐ ล้านบาท ผ่านกลไกให้ความรู้ผลักดัน คือ ธนาคาร เพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมูลนิธิหมู่บ้าน

เอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองกรรมการ ธ.ก.ส. บอกว่า หัวใจของการพัฒนานี้นำมาจากแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งวางอยู่บน ๓ หัวใจหลัก คือ พึ่งตนเอง พึ่งพาซึ่งกันและกันและสุดท้ายจึงพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน

"ครั้งแรกๆ ผมก็ไม่เชื่อว่ามันจะสำเร็จ แต่ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าทฤษฎีในหลวงท่านใช้ได้ผลจริงๆ เพียงแต่ต้องใจเย็น ในขั้นแรกๆ" เอ็นนู บอก

สิ่งที่น่าดีใจก็คือ ทุกวันนี้ชาวบ้านชอบเลียนแบบเมื่อเริ่มมีชุมชนทำสำเร็จก็เริ่มมีผู้ทำตาม ไม่ว่าจะเป็นที่ ต.เขาคราม จ.กระบี่ ที่ ธ.ก.ส.ไปเป็นพี่เลี้ยง

"หลังลงทะเบียนคนจน ยอดหนี้คาดว่าจะมีราว ๒ แสนล้านบาท เป็นของ ธ.ก.ส. สัก ๗-๘ หมื่นล้านบาท ธ.ก.ส. ก็จะใช้ แนวคิดนี้ เข้าไปแก้ไข ขอ เพียง ๕ ปี เราเชื่อว่า จะแก้หนี้ตัวนี้ได้หมด" เอ็นนู บอกดร.เสรี พงศ์พิศ ผู้อำนวยการ สสวช. กล่าวว่า สิ่งที่น่าดีใจคือ การขับเคลื่อนนี้ ที่เคยเป็นเรื่อง นอกกระแสกำลังเป็นกระแสหลัก โดยเฉพาะ เรื่องเกษตรอินทรีย์ หัวใจของการพัฒนานี้คือ การจัดระบบวิธีคิดใหม่ด้วยตัวชาวบ้านเอง ที่ไม่ใช่รัฐบาลหรือทีวีจัดให้

"ประเทศไทยเราผลิตข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เกษตรกรยังยากจนเป็นหนี้ มันผิด ที่การเกษตร หรือมันผิดที่วิธีคิดของเรา" ดร.เสรี ระบุ

ดร.ทรงเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ แผนและกลยุทธ์องค์กรปตท.ซึ่งได้เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ โรงสีชุมชน บอกว่า เขารู้สึกประทับใจ กับการทำงาน ของชาวบ้าน แม้ ปตท.ซึ่งเป็น องค์กรใหญ่ ก็ได้เรียนรู้อะไร หลายๆ ธุรกิจอาจจะมองตลาดเป็นหลัก แต่วิสาหกิจชุมชน ที่มองคุณค่าชีวิต เป็นที่ตั้ง

"ความห่วงใยต่อชีวิตความปลอดภัยผู้ซื้อเกษตรอินทรีย์จึงหมายถึง การให้คุณงามความดีกับลูกค้านั่นเอง" ดร.ทรงเกียรติ ทิ้งท้าย.

(จาก นสพ. คมชัดลึก ฉบับวันที่ ๘ มี.ค.๔๗ โดย พันธ์ศักดิ์ ภักดีฉนวน)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


นายกรัฐมนตรีเยี่ยมภาคอีสาน
ขอพักค้างคืนที่ศีรษะอโศก ร่วมบำเพ็ญอดอาหารเย็น

จัดประชุมเชื่อมร้อยเครือข่ายเกษตรกร
รอต้อนรับนายกฯทักษิณ ชินวัตร
เปิดตัวเกษตรตัวอย่างพ้นหนี้สิน

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๓ เม.ย.๒๕๔๗ ชุมชนศีรษะอโศกร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ จัดงาน "เชื่อมร้อย เครือข่าย" ขึ้นที่บริเวณ ตลาดกลางศีรษะโศก (บริเวณลาน หน้าโรงสีและโรงปุ๋ย) และศาลาปลุกเสก เพื่อประสาน เกษตรกร จากเครือข่ายต่างๆ ที่ผ่านหลักสูตรการอบรมสัจธรรมชีวิต-สร้างผู้นำ และมหกรรมกู้ดินฟ้า มีนิทรรศการต่างๆ เกี่ยวกับการ เกษตร เช่น การผลิตปุ๋ยเม็ด การทำน้ำส้มไม้ ฯลฯ อีกมากมาย

ในส่วนตลาดกลางเริ่มตั้งแต่ ๐๘.๐๐ น. มีการออกร้านจำหน่ายผัก ผลไม้ ไร้สารพิษ จากผู้ผ่านการอบรมทั้ง ๓ หลักสูตร และ ในเวลา ๑๓.๐๐ น. เปิดเวทีชาวบ้าน เริ่มจากการแสดงดนตรี เพื่อชีวิต จากวงฆราวาส และศิลปินเดี่ยว ต่อด้วย ดนตรี พื้นบ้าน อีสาน หมอลำ หมอแคน จากศิลปิน เครือข่ายต่างๆ ได้รับความสนใจ จากผู้มาร่วมงาน อย่างดียิ่ง

๑๗.๔๕ น. พี่น้องที่มาร่วมงานให้ความร่วมมือช่วยกันขนและจัดเก้าอี้บริเวณที่จะต้อนรับนายกรัฐมนตรีบริเวณหน้าร้าน หนึ่งน้ำใจ

บริเวณศาลาปลุกเสก เวลา ๑๒.๐๐-๑๕.๐๐ น. เป็นรายการสัมภาษณ์ปฏิบัติกรผู้ผ่านการอบรมต่างๆ ในช่วงแรก สัมภาษณ์ ปฏิบัติกร จากเครือข่าย สวนส่างฝัน คือ พ่อใหญ่ ชมภู อดีตพ่อค้าขายวัว-ควาย เสี่ยรถสิบล้อ แสวงหาความรวย จนหมดตัว ถูกยึดทรัพย์ เมื่อได้มาอบรมสัจธรรมชีวิต ลดละเลิกอบายมุข จึงพบกับ เศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินรายการโดย หมอใจเพชร

ช่วงที่สอง สัมภาษณ์ปฏิบัติกรจากเครือข่ายกสิกรรม ไร้สารพิษศีรษะอโศก พ่อจำเริญ เกษตรกรจากอ.อุทุมพร เรื่องกสิกรรม ไร้สารพิษ โดยการไถกลบตอฟาง, ดาบวิชัย จาก อ.ปางกู่ ผู้มีอุดมการณ์ปลูกต้นตาล, พ่อประสิทธิ์- พ่อประสาท สองพี่น้อง เกษตกร ผู้พลิกชีวิตจากอบายมุขมาถือศีลห้า ลดละ อบายมุข กินมังสวิรัติ และ ประสบความสำเร็จ ในการทำสวน ผลไม้ ไร้สารพิษ และนำมามอบให้กับคณะรัฐมนตรี ได้รับประทานอีกด้วย ดำเนินรายการโดย อาจารย์ทรงพล ติณรัตน์

สำหรับเกษตรกรผู้มาร่วมงานได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้

นายประยูร ดวงสีเสน อายุ ๔๐ ปี เครือข่ายร้อยเอ็ดอโศก "ผ่านการอบรมทั้ง ๓ มาแล้ว ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง ได้เลิก อบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ เลิกฆ่าสัตว์ หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ ทุกวันนี้รายรับมากกว่ารายจ่าย"

นายเป็นต่อ เมฆาอโศก อายุ ๓๖ ปี เครือข่ายเมฆาอโศก "ผมผ่านการอบรมทั้ง ๓ ชีวิตทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก ผมถือ ศีลห้า รับประทาน อาหารมังสวิรัติ ใช้ปุ๋ยชีวภาพ รายจ่าย ลดลง ชีวิตครอบครัวมีความสุขขึ้นครับ"

นายพฤกษา ใจชื่น อายุ ๔๙ ปี จ.ยโสธร "ได้ไปอบรมที่เครือข่ายสวนส่างฝัน ทุกวันนี้ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ทำน้ำยาซักผ้า แชมพู สระผม น้ำยาล้างจานใช้เอง รายจ่ายลดลง รายได้เพิ่มขึ้น ผมไม่ติดอบายมุขครับ ชีวิตมีความสุข"

เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. คณะนายกรัฐมตรีเดินทางมาถึงบริเวณหน้าร้านหนึ่งน้ำใจ ผู้ว่าฯรายงานกิจกรรมของจังหวัด เสร็จแล้ว นายกฯ รับเรื่องราว ร้องทุกข์ จากประชาชน ด้วยมือของตนเอง หลังจากนั้นนายกฯ เดินชมบริเวณนิทรรศการ ต่างๆ ของจังหวัด และตรวจเยี่ยมโรงปุ๋ยของ ศีรษะอโศก แล้วเข้าที่พัก ที่บริเวณคุ้มคำพุทธ บ้านตะวันฟ้า ชุมชนวัฒนธรรม ศีรษะอโศก สำหรับคณะรัฐมนตรีและผู้ติดตาม แยกย้ายพักตามบ้านต่างๆ บริเวณคุ้มคำพุทธ เช่นเดียวกัน โดยแวะ รับประทาน อาหารมังสวิรัติ ที่ทางชุมชน เตรียมต้อนรับ ที่ศาลาบุญถ่วม ส่วนนายกรัฐมนตรีขอรับเพียงน้ำใบเตยเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่า เมื่อมาพักที่วัดใด ท่านนายกฯ ก็จะงดอาหารมื้อเย็นไปด้วย

วันที่ ๒๔ เม.ย. ๒๕๔๗ เวลาประมาณ ๗ นาฬิกา หลังจากรับประทานอาหารเช้าแบบเบาๆ คือ ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ปาท่องโก๋ และ น้ำเต้าหู้แล้ว นายกฯ และคณะ ได้เดินเยี่ยมชม หมู่บ้าน และแวะทักทายชาวชุมชนที่รอต้อนรับ และได้กรุณาถ่ายรูป กับน.ร. สัมมาสิกขาราชธานีอโศก (กลุ่มสมุนพระราม) ที่เดินทาง มาต้อนรับจากราชธานีอโศก ซึ่งรอต้อนรับ อยู่บริเวณ ที่พักบ้าน "อ้อมฟ้า" และได้เข้ากราบนมัสการ และสนทนาธรรมกับพ่อท่าน ที่บริเวณศาลา ก่อนจะกลับได้ถวายเงินทำบุญ แต่เนื่องจาก กฎระเบียบ ของชาวอโศก จะรับเงินบริจาคได้ ก็ต่อเมื่อผู้นั้น ได้มาคบคุ้นกับชาวอโศกเกิน ๗ ครั้ง หรืออ่าน หนังสือ ของชาวอโศกครบ ๗ เล่ม ดังนั้นท่านนายก จึงขอมอบเงินนี้ ให้เป็นทุน การศึกษาให้แก่นักเรียนสัมมาสิกขาแทน

เวลา ๐๘.๐๐ น. ท่านนายกฯได้ปราศรัยออกอากาศถ่ายทอดสด รายการ "นายกฯพบประชาชน" บริเวณหน้าร้านหนึ่งน้ำใจ หลังจาก เสร็จสิ้น การปราศรัย ได้ทักทาย พูดคุยกับประชาชน ที่มารอส่งและมอบลายเซ็นให้กับนักเรียนสมุนพระราม ที่มาส่ง บริเวณหน้าร้านหนึ่งน้ำใจ อีกด้วย

นับเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกหน้าหนึ่งของชาวอโศก ที่มีผู้นำประเทศมาพักค้างที่ชุมชนของชาวอโศก และ กราบนมัสการ สนทนาธรรมกับพ่อท่าน

โอกาสนี้ผู้สื่อข่าวได้ขอสัมภาษณ์ถึงความรู้สึกของนายกฯและรัฐมนตรีบางท่านที่มาพักค้างที่ศีรษะอโศก

ฯพณฯนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร "มาพักที่นี่แล้วสบายจังเลย สบายสงบดี แล้วก็เงียบ นอนสบาย แล้วบรรยากาศ มันธรรมชาติ พอตื่นปุ๊บก็ไม่นอนได้ต่อ ตี ๕ มั้งผมตื่น

บรรยากาศเหมือนตอนผมอยู่บ้านนอก แล้วบ้านอยู่ใกล้ๆกัน ตอนกลางคืนเด็กๆก็จะมาวิ่งเล่นกัน ถึงเวลาก็แยกย้าย ขึ้นไปนอน

จริงๆแล้วเด็กต้องหลอมตั้งแต่อายุน้อยๆ ฐานมันแน่น บางทีพออายุ ๑๕ แล้วชวนเข้าวัดแล้วไม่เข้า ๑๒ เริ่มไปเรียนรู้อีกแบบ ที่นี่เน้นเรื่อง ของการดำรงชีวิตถูกต้องที่สมถะ"

นายเนวิน ชิดชอบ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "สงบดีครับ หลับดีครับ อากาศดีครับ บรรยากาศดีครับ เป็นธรรมชาติดี ตอนเสียงทำวัตรเช้า ผมตื่นแล้วครับ"

นายสุธรรม แสงประทุม รมช.กระทรวงศึกษาธิการ "รู้สึกดีครับ ร่มรื่นดี สบายใจ เรามันอยู่ในสังคมเมือง ห่างชีวิตอย่างนี้ ไปนาน อยู่แล้วสบายกาย สบายใจ ได้เห็นการ ผสมกลมกลืน ทุกอย่างเข้าด้วยกันได้ดีมาก ก็ไม่คิดว่าศีรษะอโศก จะมีองค์ประกอบ ที่แข็งแรง ใหญ่โต รองรับในการปรับปรุงชีวิตคน ปรับปรุงปัญญาคนได้ดีขนาดนี้ ดีใจครับ ดีใจ"

นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "มาที่นี่แล้วรู้สึกว่าเป็นชีวิตที่ดีมากๆเลยครับ เพราะว่า มีการผลิต มีการพึ่งตนเองได้ เป็นวิถีชีวิตแบบไทย ที่ไม่มีสารปนเปื้อน อะไรต่างๆ"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชุมชนศาลีอโศกจัดงานสงกรานต์ย้อนยุค

วันพุธที่ ๑๔ เม.ย.๔๗ ทางชุมชนศาลีอโศกได้จัดงานสงกรานต์โดยมีชาวชุมชน และนักเรียนสัมมาสิกขาศาลีอโศก ร่วมกิจกรรม ในงานนี้ ซึ่งเนื้อหาสาระของงาน เน้นไปสู่ ความเรียบง่าย สร้างสรรค์ประเพณีอันดีงาม โดยมีกิจกรรมภาคเช้า ทำบุญ ตักบาตร และฟังธรรม ส่วนกิจกรรมภาคบ่าย เป็นกิจกรรม การละเล่นแนว สร้างสรรค์ เช่น กีฬา กระโดดเชือก, กุบกับ, ทอยล้อรถ, ตาเขย่ง, หมากเก็บ, ลูกช่วง, ขี่ม้าส่งเมือง, อีกาฟักไข่, ตาเตะ, หลับตาตีปี๊บ, งูกินหาง, รีรีข้าวสาร ฯลฯ ซึ่งกีฬาต่างๆ เหล่านี้ สร้างความสนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจแก่บรรดา นร.สัมมาสิกขาฯ เป็นอย่างมาก เพราะนับวันกีฬาเหล่านี้ กำลังจะสูญหาย ไปจาก ความทรงจำ ของเยาวชนไทย ด้วยจิตสำนึก ของผู้หลัก ผู้ใหญ่ในเขตอำเภอไพศาลี จึงได้ร่วมมือกับ ชุมชนศาลีอโศก จัดงาน "วันกตัญญูผู้สูงวัยด้วยน้ำใจลูกหลาน" เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในแง่สร้างจิตสำนึก ให้เห็น คุณค่า ผู้สูงอายุ และเป็นการ สืบสานวัฒนธรรม อันทรงคุณค่าที่มีมาเก่าก่อน

กิจกรรมในวันนี้เริ่มต้นเป็นกิจจะลักษณะ ในวันที่ ๑๕ เม.ย.๔๗ โดยผู้สูงอายุในเขตตำบลต่างๆ ของอำเภอไพศาลี ประมาณ ๘๐ คน ได้เดินทางมาถึง ชุมชนศาลีอโศก พร้อมกับร่วม กิจกรรมต่างๆ เช่น การใส่บาตร, ฟังธรรมก่อนฉัน ร่วมรับประทาน อาหารกับลูกๆหลาน ในชุมชนศาลีอโศก ภาคบ่าย เป็นกิจกรรม รดน้ำดำหัว และรับพร จากผู้สูงอายุ กิจกรรมนี้ เป็นไปด้วย ความเรียบง่าย และทรงคุณค่า ผู้สูงอายุหลายท่านรู้สึกประทับใจ บางคนถึงกับปลื้มปีติ จนกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหว บางคน ถึงกับ บอกว่า อยากให้มีกิจกรรม แนวสร้างสรรค์อย่างนี้ ในปีต่อไป

ด้านเยาวชนที่ร่วมงานในครั้งนี้ก็ได้รับความปลื้มปีติที่ได้เห็นผู้สูงอายุมาร่วมงานกันมากมายและยังได้รับความเมตตา จากผู้สูงอายุ ถ่ายทอด ประสบการณ์ชีวิต ในรูปของคำสอน และการละเล่นของเกมต่างๆ

กิจกรรมวันที่ ๑๖ เม.ย.๔๗ ชาวชุมชนศาลีอโศกและนักเรียนสัมมาสิกขา ได้ไปร่วมกิจกรรมงานสงกรานต์บริเวณตลาด อำเภอ ไพศาลี ซึ่งทางเทศบาลตำบลไพศาลี ได้จัดขึ้น กิจกรรม ในครั้งนี้ มีการแข่งขันหลายอย่าง เช่น กีฬาตำข้าว, กีฬาจักสาน, แข่งขันทำบายศรี, แข่ง กินวิบาก สำหรับทางชุมชน ศาลีอโศก ได้ร่วมแข่งขัน กีฬาตำข้าว, และ แข่งกิน ข้าวต้มมัด ส่วนกิจกรรม บนเวที มีการแสดงละคร ประวัติความเป็นมา ของวันสงกรานต์ ของ นร.สัมมาสิกขา ศาลีอโศก

การได้รับเกียรติจากทางเทศบาลตำบลไพศาลีในครั้งนี้ ทางชุมชนศาลีอโศก รู้สึกภูมิใจและเห็นความสำคัญ ของการ จัดงาน สงกรานต์ แนวสร้างสรรค์แบบนี้ ซึ่งคาดว่า ปีต่อไป ทางชุมชนของเรา คงมีกิจกรรมเข้าร่วมเช่นเคย.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ขิงแก้ไอในไข้หวัดเย็น

เมื่อไม่นานมานี้เองผู้เขียนมีอาการ ไอมากๆ มีเสมหะมาพันคออยู่ตลอดเวลาที่คอยกระตุ้นให้ไอ ไอจนรู้สึกเกรงใจ คนที่อยู่ ใกล้ๆ มาก รู้สึกรำคาญตัวเองอยู่เหมือนกัน กินมะนาว ผสมเกลือก็แล้ว ดื่มน้ำอุ่นๆไม่รู้ต่อกี่แก้ว อาการก็ทุเลาลงได้ เพียงระยะ เวลาสั้นๆ แล้วก็ไออีก รู้สึกตัวเองว่า เป็นหวัดเย็น คือรู้สึกหนาว ไม่ค่อยมีเหงื่อ เสมหะเหลวใส ยังไม่มีไข้ จึงไม่อยาก กินยาแผนปัจจุบัน ลองรักษาแบบธรรมชาติดูก่อน

แต่ ๒ วันผ่านไป อาการก็ไม่ดีขึ้น จู่ๆน้องสาวที่อยู่ด้วยกันก็ยื่นขิงที่ปลอกแล้วให้ ๑ ท่อนเล็ก บอกให้อมเอาไว้ แล้วค่อยๆ เคี้ยวขิง ให้ละลายออกมาทีละน้อย ผู้เขียนจึงทำตาม คำแนะนำนั้น ไม่น่าเชื่อว่า อาการไอแบบค่อนข้างจะดุเดือด กลับสงบ ลงได้ ขณะที่อมขิง จะรู้สึกออกร้อนคอเล็กน้อย แต่ก็ชุ่มคอ เสมหะที่พันคออยู่ก็ละลายหายไป ทางเดินหายใจ รู้สึกโล่งโปร่ง สบายขึ้น พอหมดขิงสักพักก็จะเกิดอาการไออีก จึงต้องพกขิงไปอมที่ทำงานด้วย พกง่าย อมสะดวกมาก จึงอมเป็นระยะๆ ที่ทำงาน ทำให้อาการไอหายไปเกือบสนิท

เคยอ่านในหนังสือหมอชาวบ้านฉบันที่ ๒๘๓ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ ได้พูดถึงสรรพคุณของขิงไว้มากมาย แต่อ่านแล้ว ยังไม่รู้ซึ้งเท่าไร เมื่อลองประสบกับตนเองจึงรู้ว่า ขิงใช้แก้ไอ และแก้หวัดได้ดีจริงๆ แต่ต้องเป็นหวัดเย็น ถ้าเป็นหวัดร้อนคือ มีอาการปวดหัว ตัวร้อน เหงื่อออก คอแห้ง เจ็บคอ เสมหะเหนียวข้นสีเหลือง ขิงช่วยให้ อาการดีขึ้นไม่ได้ แต่จะทำให้อาการ ทรุดหนักลงไปอีก ท่านที่เป็นหวัดเย็นลองดูซิคะ พกขิงซอยเป็นชิ้นเล็กๆไว้อม รสชาติอาจ ไม่ถูกปากถูกใจ แต่ก็พออมได้ นะคะ ถือว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา คล้ายๆกับธรรมนะคะที่คอยขัดอกขัดใจ ขัดเกลาทั้งเจ็บทั้งแสบ เมื่อกระทบกับ กิเลสร้าย แต่ธรรม ก็เป็นยารักษาใจ ถือว่าเป็นธรรมโอสถ

ขิงก็เช่นเดียวกัน ยังมีสรรพคุณอีกมากมายนัก เช่น แก้ท้องอืด-ท้องเฟ้อ-จุดเสียดแน่น-คลื่นไส้-อาเจียน ทาแก้ปวดข้อ แถม ยังเป็น ยาอายุวัฒนะ แต่ต้องรู้จักกิน ให้พอเหมาะ พอควร และถูกต้องกับตนด้วยนะคะ เพราะแต่ละคน มีธาตุที่ แตกต่างกัน ควรสังเกตและศึกษาด้วยตนเองด้วย จะเป็นการดีว่า สิ่งใดเหมาะสมกับตน ซึ่งอาจแตกต่างจากคนอื่น.

- กิ่งธรรม -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


รู้เขารู้เรา - โดย เศษเหล็ก -

ดึงมหาจำลอง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ผ่าน บจ.เท่าทุน

ดึง "มหาจำลอง" นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรมเตรียมปัดฝุ่น บริษัท เท่าทุน จำกัด รับทันควัน เดินเครื่อง ธุรกิจขั้นแรก จ้างชาวบ้าน และโรงงานผลิตก่อนบริษัทเป็นแค่เอเยนต์จำหน่าย ฝันเฟื่อง อนาคตภาคเกษตรไทยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ผู้ประกอบการ ปุ๋ยอินทรีย์ผวากระทบธุรกิจ ขณะที่ ผู้ค้าปุ๋ยเคมีไม่หวั่น เชื่อปุ๋ยเคมี ยังจำเป็น ชี้นโยบายเกษตรอินทรีย์ กระทบยาปราบศัตรูพืชและวัชพืช รวมถึงสารเคมี มากกว่าปุ๋ยเคมี

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ปรึกษา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อดีต หน.พรรค พลังธรรม /ผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เนื่องจากการพัฒนาคนจำเป็นต้องพัฒนาคนส่วนใหญ่ คณะทำงาน จึงมีแนวคิดร่วมกันที่จะพัฒนา เกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ของประเทศ ว่าจะทำอย่างไร ให้เกษตรกรลด เลิกการใช้ สารเคมีในภาคเกษตร เพราะการใช้สารเคมีเป็น ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ เกษตรกรยากจน เนื่องจากราคาแพง และ เมื่อใช้ติดต่อกัน เป็นเวลานาน ผืนดินจะเสียต้องใช้ในปริมาณ ที่มากขึ้น ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่าย เพิ่มขึ้นทุกปี หากลดการใช้ สารเคมีลง จะช่วย ลดความยากจนในระยะยาว

พล.ต.จำลองเปิดเผยต่อไปว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนาม ประกาศแต่งตั้ง คณะกรรมการ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ โดยมีตน (พล.ต.จำลอง ศรีเมือง) เป็นประธาน นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เป็นรองประธาน

ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริม เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ มีแผนการดำเนินงาน ลดเลิกการใช้สารเคมี ในภาคเกษตร ของไทยว่า จะสนับสนุน ให้เกษตรกรไทย หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แทนปุ๋ยเคมีให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยในเบื้องต้น จะดำเนินการ โดยบริษัทเท่าทุน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมา ตั้งแต่สมัยที่ตน ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อรัฐบาล มีนโยบาย สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น่าจะนำบริษัทเท่าทุนฯ มาดำเนินธุรกิจดังกล่าวได้

"นโยบายการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเห็นด้วยอย่างมาก และ พร้อม ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานทุกอย่าง โดยขั้นต้นนี้ บริษัทเท่าทุนฯ จะใช้วิธีจ้างชาวบ้านผลิต จ้างชาวบ้านขาย และจ้างบริษัท ผลิต และบริษัทเท่าทุนฯเป็นผู้จำหน่าย" พล.ต.จำลองกล่าว และว่า ตนได้เสนอ ให้หน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ธนาคาร เพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำปุ๋ยอินทรีย์ ขายให้กับเกษตรกรด้วย เพื่อดูว่าหน่วยงานใดผลิตได้ทุนต่ำที่สุด จะได้ ให้รัฐบาล นำมาเป็นต้นแบบ ในการลงทุน ผลิตเป็นโครงการใหญ่ต่อไป โดยการจำหน่าย บนหลักการที่ว่า ขายแล้ว ต้องได้ ทุนคืน และเกษตรกรต้องได้ใช้ ปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูกอย่างแท้จริง

พล.ต.จำลอง กล่าวว่า จากข้อมูลที่มีอยู่พบว่า ปุ๋ยอินทรีย์หากผลิตถุงขนาดบรรจุถุงละ ๕๐ กก. ราคาถุงละ ๒๒๐ บาท สามารถ อยู่ได้ ขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ขายตาม ท้องตลาด ทั่วไป ขนาดบรรจุเท่ากันจะตกถุงละ ๓๕๐ บาท และไม่ใช่ ปุ๋ยอินทรีย์ แท้จริง แต่เป็นปุ๋ยอินทรีย์ผสมปุ๋ยเคมี ขณะที่ปุ๋ยเคมี จะตกถุงละ ๔๐๐ บาท

สำหรับเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยนี้ นายกรัฐมนตรีอยากให้ทำให้มากและเร็ว แต่วิธีปฏิบัติต้องทำ อย่างค่อยเป็น ค่อยไป เพราะปัญหา ๑.เกษตรกร เขาเคยชิน กับการใช้ ปุ๋ยเคมี ๒.ธุรกิจปุ๋ยเคมีจะเสียประโยชน์หรือไม่ ซึ่งต้องทำอย่าง ค่อยเป็น ค่อยไป มิฉะนั้นจะถูกต่อต้านได้

ด้านนายไพบูลย์ รัตนาภรณ์ชัย กรรมการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายงานขายและการตลาด บริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา การใช้ปุ๋ยเคมี อยู่ที่ประมาณ ๓.๓-๓.๔ ล้านตัน ส่วนปีนี้จะใช้มากขึ้น หรือน้อยลง อยู่ที่ปัจจัย คือ สภาพ ดินฟ้าอากาศ ซึ่งปีนี้ตั้งแต่ต้นปี ฝนยังไม่ตก ประกอบกับ ราคาพืชผล ทางการเกษตร ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยดี หากเทียบ กับราคา ปุ๋ยเคมีที่ปรับเพิ่มขึ้น จึงประเมินยากมากว่าปีนี้ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมี จะเป็นอย่างไร

สำหรับนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้นว่าไม่น่าจะกระทบกับตลาดปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยเคมี ยังมี ความจำเป็น ต่อการเจริญเติบโตของพืชผล ทางการเกษตร หากจะสนับสนุนให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ยังจำเป็นต้องใช้ควบคู่กับ ปุ๋ยเคมี หากจำเป็นต้องลดเคมีจริงๆ น่าจะเป็นพวกสารเคมีต่างๆ แต่ไม่ใช่ปุ๋ยเคมี

ขณะที่นายฌาณ บุรพัชร์พงศ์ ประธานกรรมการบริษัทเทพเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เม็ดและ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ตรา "เทวดา" กล่าวว่า สำหรับตลาดปุ๋ยอินทรีย์ โดยภาพรวม เกษตรมีความต้องการใช้มากขึ้น แต่ตัวเลข อย่างเป็นทางการ สำหรับการใช้แต่ละปียังคำนวณได้ลำบาก เพราะปุ๋ยอินทรีย์ มีทั้งเกษตรกรเป็นผู้ผลิตใช้เอง และ โรงงานผลิต ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๐๐ ราย หากรัฐบาลจะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ขึ้นมาขายแข่งกับเอกชน มีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดี คือเกษตรกร ได้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อย่างแพร่หลาย และราคาถูก ส่วนผลเสีย แน่นอนต้องกระทบต่อธุรกิจของเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นรายเล็ก และยังไม่เข้มแข็ง.

(จาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ ๑,๘๙๗ วันที่ ๑๘-๒๑ เม.ย.๔๗)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

หัวข้อข่าว

หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี พบกับ นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๒๙ (๒๕๑) ปักษ์หลัง ๑๖ - ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗

สำหรับข่าวความเคลื่อนไหวในแวดวงชาวอโศกประจำปักษ์มีดังนี้

เน้นเนื้อให้เหนือกว่ามาก...หลังจากสมณะเกจิในงานปลุกเสกฯ ที่ผ่านมาได้พูดถึงงานอบรมของชุมชนบุญนิยม และได้รับรู้ ถึงปัญหาของบางชุมชน ก็ได้มีแนวทางร่วมกันว่า ชุมชนใด ที่คนในชุมชนยังมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงและหยาบคาย จนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้หรือยอมกันได้ ก็จะไม่ไปช่วย อบรมในชุมชนนั้น และควรให้ชุมชน ดังกล่าว ยุติการอบรม คนภายนอก เพื่อนำคนภายในมาช่วยงานอบรมในพุทธสถาน หรือจัดอบรมคน ภายในชุมชน เพื่อกล่อมเกลาจิตใจ ให้ลด ทิฐิ ลดความกระด้าง หยาบคาย

เพราะคนที่อบรมผู้อื่นได้ หากยังขาด วุฒิภาวะของการเป็นผู้นำและผู้ตาม การอบรมนั้นย่อมส่งผลเป็นความล้มเหลว มากกว่า ความสำเร็จ ดุจคำพังเพยที่ว่า แม่ปูกับลูกปู

ด้วยชาวเรามีนโยบายเน้นเนื้อให้เหนือกว่ามากอยู่แล้ว เพราะถ้าเราขาดเนื้อแก่นในทางธรรม การเผยแพร่ออกไปสู่รอบกว้าง ก็เท่ากับ เป็นการทำร้ายตนและสังคมโดยรวม

ถ้าเราขาดแก่นก็คงไม่ต่างจากต้นกล้วย ที่เติบโตไวพอให้ผลเพียงครั้งดียวก็ตาย เพราะความฟ่ามของตัวเอง ก็คงเหมือนกับ ชาวบ้าน ที่มารับการอบรมแล้ว พอมาอยู่ ในชุมชน ก็ขาดศรัทธา เพราะขาดความจริงที่พิสูจน์ได้ ศรัทธาหายก็คือ ตายลูกเดียว ...จี๊ดๆๆๆ...

เด็กไป...งานเยาวชนคนสร้างชาติในช่วงเดือน เม.ย.ที่ปฐมฯ หรืออีกหลายแห่ง เป็นการอบรมยุวพุทธทายาท ซึ่งชาวเรา ได้จัด กันมาทุกปี เป็นประจำ เดิมจัดกันที่ ปฐมอโศก แห่งเดียว ต่อมาก็ให้แต่ละแห่งได้จัดกันเองตามอัธยาศัย สำหรับ ที่ปฐมอโศก ในปีนี้ นักเรียน สส.ฐ. ม.๔ ช่วยกันเป็นพี่เลี้ยง ดูแลเยาวชน คนสร้างชาติ งานก็ผ่านไปด้วยดีอีกปี แต่มีผู้ให้ ข้อคิดว่า เดี๋ยวนี้คนมาช่วยอบรมมีน้อย อีกทั้งนักเรียน สส.ฐ.ชั้น ม.๔ ที่เป็นพี่เลี้ยง ก็ดูอายุไล่เลี่ยกับ น้องๆ หากได้พี่ ที่โตกว่านี้ ก็น่าจะดี จึงได้นำเสนอ ฝากจิ้งหรีด มาว่า จะเป็นไปได้ไหม ถ้าจะให้นักเรียนสัมมาสิกขา ชั้น ม.๔ และ ม.๖ ในปีการศึกษาใหม่มาอบรม น้องๆ โดยถือเป็นการเรียน เก็บคะแนน ไปในตัว อีกทั้ง ยังจะเป็นปลูกฝังจิตสำนึก เยาวชน ของเรา ให้เห็นความสำคัญของ วัฒนธรรม พี่ดูแลน้อง จิ้งหรีดรู้สึกว่าความคิดนี้เข้าท่า จึงขอเสนอผ่านไปยัง ผู้ดูแล ด้านการศึกษา ด้วยนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

สถาปนิกคนใหม่...หลังจากกลับบ้านไปสร้างบ้านดิน เพื่อฝึกอดทนและพิสูจน์การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พึ่งตนเองได้ ก็ทำเป็นหลัก อยู่คนเดียว ในที่สุด บ้านดินหลังแรก ของตัวเอง ก็สำเร็จ ดังนั้นใครที่เห็นหุ่นคุณหนึ่งเพียรในช่วงนี้ ไขมัน จะน้อยลงกว่าเดิมมาก

ส่วนบ้านดินที่คุณหนึ่งเพียรสร้างจะอยู่ได้หรือไม่ ก็คงต้องสอบถาม หรือติดตามตอนต่อไป แม้จะเป็นสถาปนิกใหม่ ทำได้ ขนาดนี้ จิ้งหรีดก็ทึ่งฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

ร่วมสานฝัน...นายอโศก แม้จะจบ กศน. สันติอโศกไปหลายปี ก็ยังติดตามความเป็นไปของหมู่กลุ่มเสมอ แม้จะมีครอบครัว ไปแล้วก็ตาม ช่วงงานปลุกเสกฯที่ผ่านมา ก็พาเพื่อนๆ ศิษย์เก่าไปตอนกิ่งไทร เพื่อเอาไปปลูกบริเวณตลาดอาริยะที่บ้านราชฯ เพื่อสานฝันให้ตลาดอาริยะ ร่มรื่น ด้วยร่มไทร นอกจากนี้ยังมีการปลูกไม้ประดู่ขายอีกด้วย จิ้งหรีดก็ขอโฆษณาให้ฟรีๆ สำหรับ ผู้สนใจนะฮะ

อ้อ! ลืมบอกไปว่า ตอนนี้นายอโศกตั้งหลักแหล่งสร้างเนื้อสร้างตัวตามอัตภาพอยู่ที่ อ.น้ำยืน จ.อุบลฯ ไม่ใกล้ไม่ไกลจาก บ้านราชฯ ฮะ... จี๊ดๆๆๆ...

ได้ดีเพราะทีม...จิ้งหรีดแอบได้ยินมาจาก จิ้งหรีดอีกตัวที่สะท้อนความรู้สึกของเยาวชนอโศกที่มาช่วยเตรียมงาน ชาวอโศกว่า "... มาเตรียมงานพุทธาฯช่วงแรกๆคิดว่า คงไม่ไหว นอนสู้ดีไหม? แต่พอมองดูทีมงานแล้ว ก็ทำให้ไม่อยากยอมแพ้ ใจตัวเอง ก็หาวิธีทำยังไงให้มีความสุข ทีมทำงานทำให้หนูมีพลัง ถ้าทำงานคนเดียว ก็คงไม่สนุกแน่... หลังงานพุทธาฯ ก็คงกลับ เตรียมงานปลุกเสกฯ ในใจลึกๆ ยังขี้เกียจอยู่ แต่ที่ลึกๆกว่านั้นคือ หนูติดหมู่กลุ่ม ถ้าไปทำกันไม่กี่คน ก็คงหมดแรง แต่หนู คิดว่า งานปลุกเสกฯ จะพยายามทำ ให้เต็มที่..."

ในที่สุดงานปลุกเสกฯ ก็ลุล่วงด้วยความสามารถของเยาวชนคนนี้พร้อมทีมงานที่ให้พลังใจแก่เธอ...จี๊ดๆๆๆ...

ตายแล้วหรือ?...จิ้งหรีดได้ยินท่านโพธิสิทธิ์เล่าให้ญาติธรรมฟังว่า ช่วงไปปฐมอโศกเห็นรูปคนตาย ๒ คน รู้สึกคุ้นๆหน้า เป็นชาย กับหญิงตั้งอยู่คู่กันที่ตึกสัมมาสิกขา ด้านล่างของรูป เขียนวันเกิด (ชาตะ) -วันตาย (มรณะ) ชัดเจน ท่านเพ่งดูรูป ฝ่ายชายก็นึกออกว่า คือคุณสู่แดนธรรม ส่วนฝ่ายหญิง ก็คือ แม่เล็ก (น้องสาวป้าช่วยบุญ) นั่นเอง

ท่านเห็นรูปแล้ว ก็รู้สึกปลงสังเวชอย่างคาดไม่ถึงเลยว่า ญาติธรรม ๒ ท่านนี้จะจากไปไวขนาดนี้ แม่เล็กก็เพิ่งย้ายจาก จ.เชียงใหม่ มาอยู่ที่ปฐมอโศก

ขณะที่ท่านกำลังปลงอยู่ในใจ ทันใดนั้น คุณสู่แดนธรรมก็เดินเข้ามาทำงานที่ห้องป๊าดดิโท้

ในที่สุดท่านโพธิสิทธิ์ก็ได้คำตอบชัดเจนว่า ทั้ง ๒ ท่านได้ตายแล้วจริงในภาพยนตร์ของชาวอโศกเรื่อง "ฝากฟ้าแด่ดิน" ซึ่งกำลัง เร่งสร้าง ให้ทันฉายในงาน พ.ฟ.ด. ที่บ้านราชฯ เมืองเรือ ใครอยากรู้ว่าทั้ง ๒ เป็นอะไรตาย ก็คงต้อง ติดตามไปดู กันเองนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

น่าสงสาร...ช่วงเดือนเมษายนเป็นช่วงที่เด็กหลายคนสมัครเข้าเรียนสัมมาสิกขาของแต่ละชุมชน ซึ่งมีทั้งเปิดรับสมัคร และไม่เปิดรับสมัคร ได้ข่าวว่าที่ปฐมอโศกเปิดรับ ๓๐ คน มีเด็กมา สมัครเรียน ม.๑ จำนวน ๖๐ คน คนไม่ได้หลายคน ที่สอบไม่ผ่าน ก็น้ำตาตกกันพอสมควร

ที่สันติอโศกก็รับสมัคร แต่ที่น่าสงสารก็คงจะเป็นผู้ปกครองของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งอุตส่าห์โทร.มาสอบถามฝ่ายรับโทรศัพท์ ถึง ๖ ครั้ง เพื่อสอบถาม วันรับสมัคร นักเรียน สัมมาสิกขาฯ ชั้น ม.๑ ซึ่งฝ่ายหลังก็บอกว่า ให้พาเด็กมาสมัครวันเข้าค่าย ยุวพุทธทายาท ก็แล้วกัน

ในที่สุดผู้ปกครองของเด็กคนนี้ก็พามาสมัครเข้าในวันดังกล่าว แต่ปรากฏว่า ทางโรงเรียน สส.สอ.เปิดรับก่อนหน้านั้นแล้ว ทางโรงเรียน จึงไม่รับเพิ่ม เพราะถือว่า มาไม่ตรงวันสมัคร ผู้ปกครองท่านนี้รอคอยถึง ๑ ปี และโทรศัพท์ถามตรวจสอบ ถึงวันสมัครถึง ๖ ครั้ง ยังพลาดจนได้ เป็นไงฮะ รู้สึกสงสารผู้ปกครอง ท่านนี้ เหมือนจิ้งหรีดไหมฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

ต้อนรับนายกฯ...พอมีข่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะแวะมาเยี่ยมที่หมู่บ้านศีรษะอโศก ชาวเรา ก็เตรียมพร้อม ต้อนรับ ก็มีชาวเรา จากหลายแห่ง ซึ่งพอรู้ข่าว ก็ไปช่วยชาวศีรษะฯ โดยเฉพาะชาวบ้านราชฯ ขนกันมาหลาย เพื่อแบ่งเบาบ้านพี่เมืองน้อง ข้าราชการทาง จ.ศรีสะเกษ ก็เกรงจะต้อนรับไม่สมเกียรติ ก็พยายามจัด สิ่งอำนวย ความสะดวก ทั้งคนทั้งอุปกรณ์ของใช้หากท่านนายกฯมา พักค้าง (เช่น ตู้เย็น ฯลฯ) แต่ปรากฏว่า ทางกองเลขาฯ มาบอกว่า ให้เอาเครื่อง อำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เตรียมไว้ออกให้หมด เพราะท่านนายกฯเป็นคนง่ายๆ ชอบแบบธรรมชาติ ชาวบ้าน อยู่กันอย่างไร ท่านก็จะอยู่อย่างนั้น ขนาดเข้าวัด รู้ว่าพระท่านไม่ฉันข้าวเย็น ท่านก็ฝึกงดไปด้วย

อาหารเย็นที่เตรียมให้ท่านนายกฯ ก็เกือบเป็นหมัน ดีว่าผู้ใหญ่ที่ติดตามท่านนายกฯ มาช่วยรับบริการ แต่ทางจังหวัด บอกไว้ว่า ให้ท่านนายกฯ ทานก่อน คนอื่น จึงค่อยทาน อ้าว! พอดีท่านนายกฯ ไม่ได้ทาน คนอื่นก็เกือบไม่ได้ทานเหมือนกัน ก็มีข้อบกพร่องเรื่องข้อกำหนดต่างๆ ที่ผู้ใหญ่บอกนี่แหละ แต่ก็มีการปรับ ตามสถานการณ์ จึงพอเป็นพอไป พวกเรา ที่เคย จัดงาน พ.ฟ.ด. เมื่อปีที่แล้วบอกว่า ที่ว่างานนั้น มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยแล้ว งานนี้ยิ่ง อนิจจังกว่า จะยึดอะไรเป๊ะๆไม่ได้ ทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ในปัจจุบัน คนทำงาน ถ้าอยู่ในภพมาก ก็จะปรับไม่ทันสถานการณ์แน่

แม่ศรีฟ้ากับแม่สุวรรณาก็มีโอกาสไป ช่วยงานพร้อมลูกสาว โดยอยู่ฝ่ายทำก๋วยเตี๋ยว ก็ช่วยกันทำจนหมดเรี่ยว หมดแรง ต้องบอก อาวันชัยว่า ขอลาพักก่อน ล้างหางต่อไม่ไหว อาวันชัย ก็เข้าใจ ให้คนอื่นช่วยจุดนี้แทน

งานครั้งนี้มีผู้เสนอว่า แม่งานตามจุดต่างๆ ควรมีเครื่องหมายบอก คนที่มาช่วยงานจะได้รู้ว่า ควรรับงานจากใคร

อีกประการคือ การสั่งงานซ้ำซ้อน ก็น่าจะมีศูนย์กลางคอยตรวจสอบ มิฉะนั้น ต่างก็ไปจุดเดียวกัน โดยมิได้นัดหมาย ทำให้ งานอื่น ที่คอยอยู่ เกิดความล่าช้า โดยไม่จำเป็น

หลังงานอาขวัญรักษ์ก็ถูกตามตัวให้รีบกลับไปแสดงหนังต่อ เพราะจะปิดกล้องแล้ว ก็โทร.ตามกันจ้าละหวั่น จิ้งหรีด ก็ขอขอบคุณ หนูดี ที่ช่วยติดตามจนลงตัว

ท่านนายกฯไปเยี่ยมศีรษะฯ และพักค้างครั้งนี้ก็สร้างความประทับใจแก่ชาวเราอย่างยิ่ง เพราะท่านดูเป็นกันเอง ไม่ถือเนื้อ ถือตัว ประชาชนก็เข้าพบ ร้องเรียนเรื่องต่างๆได้ง่าย

จิ้งหรีดคิดว่า จ่าน้อยคงจะภูมิใจกว่าหลายคน เพราะนายกฯมากางมุ้งนอนที่บ้านจ่าน้อย ซึ่งเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย แต่นายใหญ่ ก็ให้เกียรติมานอน ไม่แตกต่างกัน ใครมีบ้านเล็ก ก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะท่านนายกฯ ก็นอนเหมือนเรา ...จี๊ดๆๆๆ...

นักกฎหมายดีเด่น...ขอแสดงความยินดี กับคุณทองใบ ทองเปาด์ ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น "นักกฎหมายดีเด่นประจำปี ๒๕๔๗" จากกองทุน ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เนื่องด้วย ท่านได้สร้างเกียรติประวัติและผลงานอันดีเด่น ตลอด ชีวิตการทำงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ท่านก็ได้รับรางวัลการันตี ความดีงาม มาแล้วหลายรางวัล อาทิ รางวัล "แมกไซไซ", "คนดีศรีสารคาม" เป็นต้น สาธุ...จี๊ดๆๆๆ...

สนามบุญ...จิ้งหรีดได้ข่าว ชมร.เชียงใหม่ มีเรื่องแจกฟรีอยู่บ่อยๆ ก็เลยสงสัยว่า ร้านที่แจกฟรีบ่อยๆ จะมีบรรยากาศอย่างไร ต่อไปนี้ ก็เป็นเหตุการณ์ที่จิ้งหรีดในร้าน เล่าให้ฟังว่า "วันนี้ (พฤ.๒๒ เม.ย.๔๗) แม่บัวหลวงได้ทำบุญ เหมาแจกฟรีในโอกาส ที่อายุครบรอบ ๘๒ ปี เป็นการทำบุญวันเกิด โดยเหมาอาหาร ในร้านทั้งหมด เพื่อแจกฟรี จำนวน ๑๐,๑๐๐ บาท และโชคดี มากๆ ที่มีสมณะมาโปรด ๓ รูป

แม่ศรีประยูร ได้นำผักในสวน และทำแกงเขียวหวาน ๑ หม้อใหญ่ มาร่วมสมทบบุญครั้งนี้ด้วย

จิ้งหรีด(ในร้าน)ขอขอบคุณคุณบัวดาวที่สละเวลาไปนั่งโต๊ะคิดเงินแทนแม่อิ่มใจให้ได้มานั่งฟังธรรมก่อนฉันในวันนี้ด้วย (ผู้อายุยาว ที่ชอบเสียสละแต่ยังมีหางช้างติดพวยกา วันนี้หลายคน ได้ฟังธรรม ก็คงจะหลุดได้ในวันนี้)

ลูกค้า ๒ คนได้ถามราคา ถ้าเหมาทั้งร้านจะราคาเท่าไร?

ลูกค้าอีก ๑ คน วันนี้เขาเห็นแจกน้ำเต้าหู้ ฟรี เขางง! และถามว่า "แจกทำไมครับ?"

นี่ก็เป็นบรรยากาศการแจกอาหารในวันเกิด ของญาติธรรมที่เหมาแจกฟรีทั้งร้าน

ยังมีเหตุการณ์ในวันอื่นๆ ที่แต่ละวันจะมี ลูกค้ามาเสียสละอยู่เสมอๆ สมกับ ชมร.เชียงใหม่เป็นสนามบุญ เพื่อให้นักบุญ ได้ลงสนามแข่งขัน เพื่อชัยชนะ เหนือกิเลสความโลภ (ขี้จิ๊) จริงๆ... จี๊ดๆๆๆ...

มรณัสสติ
นางภู่ ไขโพธิ์ อายุ ๘๔ ปี (มารดาของคุณศรีนวล ไขโพธิ์ ญาติธรรมกลุ่มปากช่อง) เสียชีวิตด้วยโรคชรา ฌาปนกิจศพ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๑ เม.ย.๔๗ ที่วัดหนองมะค่า จ.นครราชสีมา มีสมณะกล้าดี เตชพหุชโน และสมณะฝุ่นฟ้า อัคคชโย เดินทางไปร่วมงาน

นายเฮงฮั้ว แซ่เฮ้ง อายุ ๙๑ ปี (โยมพ่อสมณะฝุ่นฟ้า อัคคชโย) เสียชีวิต ฌาปนกิจศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ เม.ย.๔๗ ที่วัดศรีเอี่ยม กทม.

คติธรรม-คำสอนประจำฉบับนี้มีดังนี้
จงอ่าน "บุญบารมี" ที่เราฝึกเพียรปฏิบัติให้เห็นจริงเสมอ
แล้วเพิ่มบุญใหม่ บารมีในจุดใหม่อีกให้ได้เสมอๆ ด้วย
เราจึงจะเป็นผู้เจริญอย่างแท้จริง
(๑๙ ธ.ค.๒๐)
(จากหนังสือ "โศลกธรรม สมณะโพธิรักษ์" หน้า ๓๗)

พบกันใหม่ฉบับหน้านะฮะ

- จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ น.ส.สุวดี วัฒนพานิชย์
เกิด ๑๖ มิ.ย. ๒๔๘๒ อายุ ๖๕ ปี
ชื่อใหม่ ขวัญเย็น
การศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ ๓
ภูมิลำเนา อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
สถานภาพ โสด
น้ำหนัก ๕๕ กก.
ส่วนสูง ๑๕๙ ซ.ม.

ตั้งแต่ร้านกู้ดินฟ้าขายอาหารมังสวิรัติ ยังไม่ได้ขายผักไร้สารฯเหมือนทุกวันนี้ ร้านชมร.หน้าสันติอโศกก็ยังอยู่ที่ จตุจักร คุณป้าสุวดีน่ะ อยู่ช่วยงานฟรีมานานแล้ว ตอนนี้รับผิดชอบ ช่วยคิดเงิน อยู่ที่ชมร.หน้าสันติอโศก แล้วที่น่าสนใจอีกยิ่งกว่า ทำไม เป็นโสดด้วยนะ ตามไปคุยกับป้ากันค่ะ

ลูกพ่อค้า
มีพี่น้อง ๔ คน ดิฉันเป็นคนที่ ๓ พ่อแม่มาจากเมืองจีน เกิดมาก็เห็นที่บ้านขายของทุกอย่าง แม่เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อน แซ่โค้ว พ่อทำการค้า ทางฝั่งมาเลย์ เลยต้องเปลี่ยนนามสกุล เป็นวัฒนพานิชย์ เพื่อจะได้ค้าขายสะดวก

เรียนภาษาจีนกลางก่อน จึงมาเรียนโรงเรียนไทย จบ ม.๓ แล้วไปสอบเทียบ ม.๖ แต่ไม่ได้ ก็เลยไม่ได้เรียนต่อ ช่วยทางบ้าน ค้าขาย ตั้งแต่นั้นมา

คนมีบุญ
อายุเกือบ ๓๐ ก็มาเปิดร้านขายเสื้อผ้า บูติคอยู่แถววงเวียนใหญ่ที่กรุงเทพฯ เพื่อนๆพี่ๆน้องๆพากันแต่งงานกันหมดแล้ว ก็เลยอาย ว่าทำไมเรายังไม่แต่งงาน ผู้ใหญ่ จึงแนะนำ ให้คนหนึ่ง ก็คบคุ้นกันและหมั้นกันไว้ ได้เรียนรู้จริตนิสัยกัน จึงรู้ว่า ขืนแต่งงานทุกข์แน่ จึงขอถอนหมั้น

ตอนสาวๆก็มีเพื่อนผู้ชายนะ แต่พอเห็นใครมาทำท่าทีพิเศษก็จะโวยวายใส่ เขาจะถอยไปเอง คือดิฉันเป็นคน หวานไม่เป็น และ เรื่องอย่างนี้ไม่ใส่ใจมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว พอมารู้จักอโศก จึงรู้ว่าเราเป็นคนโชคดี ที่เป็นโสด มาอยู่กับหมู่กลุ่ม อบอุ่นกว่า

เคยคิดแว้บๆเหมือนกันว่าแก่แล้วจะไม่มีใครเลี้ยง เชื่อเรื่องกรรมมากที่สุด อะไรจะเกิดก็อยู่ที่ผลกรรมที่เราทำ ก็จะยอมรับว่า มันเป็น ผลกรรมของเรา

สู่เส้นทางอโศก
น้องสะใภ้(คุณศรีฟ้า) จากสุราษฎร์ มาเยี่ยมที่กรุงเทพฯแล้วชวนไปหาพระอโศก ที่สวนลุมพินี ปรากฏว่า ท่านกลับไปแล้ว ตำรวจ บอกทางไป ก็ต่อรถเมล์ มาเรื่อยๆ จนถึงแฮปปี้แลนด์ แล้วนั่งแท็กซี่ต่อมาจนถึงสันติอโศก เริ่มกินมังฯตั้งแต่ ปลายปี ๒๕๒๕ ต่อมาไม่นาน ก็เลิกขายเสื้อผ้า แล้วชีวิต ก็เปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้

ลองไปเข้าพรรษาที่ปฐมอโศกก่อน เห็นว่าอยู่ได้ จึงปลูกบ้านอยู่ที่ปฐมฯ ช่วยงานอยู่ที่ศาลาค้าช่วงรอยต่อ เป็นหลังคาจาก กำลัง จะเปลี่ยน เป็นอาคารหลังปัจจุบัน เผอิญ น้องชาย เสียชีวิต จึงกลับไปอยู่สุราษฎร์ฯ พักหนึ่ง แล้วพาแม่ย้ายมาอยู่ ทาวน์เฮาส์ หน้าสันติอโศกจนถึงทุกวันนี้

ชีวิตเปลี่ยนแปลงแน่นอน
ใหม่ๆก็มาช่วยขายอาหารอยู่ที่ร้านกู้ดินฟ้า ตอนนั้นยังขายอาหาร ช่วยขายคูปองสมัยที่ ชมร.หน้าสันติฯ ยังใช้ระบบคูปอง จนถึงช่วยคิดเงิน เมื่อเลิกคูปอง และช่วยเป็นพี่เลี้ยงงานอบรมฯ คนสร้างชาติ (อบรมผู้ใหญ่) ๔ รุ่น

เมื่อก่อนเป็นคนหนีผัสสะ ชอบคนพูดดีๆใครขออะไรให้หมด คนพูดไม่ดีจะไม่เข้าใกล้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่หนีแล้ว แต่เข้าใกล้ จะมีตัวระวัง เพราะคนเราจริตต่างกัน

ต่อสู้กับกับอัตตาของตัวเอง ไม่อยากให้ใครขัดใจ แต่ตอนนี้กำลังพัฒนาตัวเองขึ้นมา คือยอมให้มากๆ และเรื่องกินนั้น เวลา มีงานยุ่งๆ จะกิน ๒ มื้อได้ พอไม่ยุ่งก็คอยจะจุบจิบ ก็ต่อสู้อยู่ บางทีก็ขี้เกียจสู้แต่ก็ฝืน

ฝากสุดท้าย
มีความสุขอยู่กับศีล จะเพิ่มอธิศีลขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่อยากตายอยู่ที่เก่า

เส้นทางปฏิบัติธรรม แต่ละคนพบโจทย์แตกต่างกันไป ขอเพียงมีใจนักสู้ที่จะฝ่าฟันไปให้ได้ก็ถือว่าชนะไปแล้ว ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งนั้น จะแพ้หรือชนะไม่สำคัญ แล้วทุกวันนี้ เราได้ต่อสู้ กับกิเลสอะไรบ้างนะเนี่ย หรือจะตายอยู่ที่เก่าเท่านี้ หากใคร ปล่อยเวลาให้ผ่านไปวันๆก็เป็นได้แค่เศษสวะ ของสังสารวัฏฏ์ นี่พ่อท่านพูดเชียวนะ

- บุญนำพา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,500 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]