ฉบับที่ 230 ปักษ์แรก 1-15 พฤษภาคม 2547

[01] บทนำข่าวอโศก:ขาลง
[02] ธรรมะพ่อท่าน: การเป็นลูกพระพุทธเจ้า
[03] จัดคอนเสิร์ตช่วยศิลปินแห่งชาติ ส.ศิวรักษ์ ชื่นชมกวีซีไร้ท์ อังคาร กัลยาณพงศ์
[04] จับกระแส ตอ. เก็บมาฝากจากงานปลุกเสก ฯ
[05] กสิกรรมธรรมชาติ สัจจธรรมของลุงสวาท
[06] สกู๊ปพิเศษ: สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร ตอน ๑
[07] ครั้งที่ ๒ ของงานรวมศิษย์เก่า สส.ส.
[08] ศูนย์สุขภาพ: ด้วยความห่วงใยของหมอมังฯต่อนักมังสวิรัติ
[09] สันติอโศกจัดอมรมโครงการวิจัย สร้างเสริมสุขภาวะจิตวิญญาณชาวอโศก
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] นางงามรายปักษ์ น.ส.เกษร ตะบูนพงศ
[12] ข่าวสั้นทันอโศก งดขายน้ำผึ้งในร้านค้าชาวอโศก


ขาลง

คุรุสัมมาสิกขาหลายท่านได้สรุปถึงปัญหาการกระทำผิดศีล หรือละเมิดกฎ-ระเบียบของเด็กตรงกันว่า คุรุไม่มีเวลาให้เด็กๆเพียงพอ

เมื่อได้พูดถึงสาเหตุที่ทำให้คุรุ ไม่มีเวลาให้เด็ก ก็สรุปถึงสาเหตุตรงกันได้ว่า

๑. คุรุสวมหมวกหลายใบ คือ รับผิดชอบงานหลายอย่าง มิใช่แค่เป็นคุรุอย่างเดียว

๒. ฝ่ายวิชาการยังไม่สามารถ สอนแบบบูรณาการ คือ เด็กสามารถทำงานอยู่กับผู้ใหญ่ไปด้วย พร้อมกับเรียนไปด้วย

ปัญหา ๒ ประการนี้ที่คุรุส่วนใหญ่ได้สะท้อนออกมา หากเป็นจริงและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัญหาของเด็กก็คงยังมีต่อไป ยิ่งรับเด็กเพิ่มขึ้นปัญหาของเด็กก็เพิ่มขึ้นจนโรงเรียนเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า ขาลง

นี่ยังมิได้พูดถึงปัญหาที่เกิดจากคุรุที่มีเวลาให้เด็ก แต่มีเวลาแค่สั่งและสอน แต่ขาดเทคนิคหรือกุสโลบายในการอยู่กับเด็ก

หากสิ่งที่คุรุส่วนใหญ่ได้สรุปออกมาเป็นความจริง ก็เป็นสิ่งที่คุรุและชาวชุมชน รวมทั้งสมณะและสิกขมาตุ ควรจะได้ช่วยกันแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างรีบด่วน เพื่อมิให้ลูกหลานชาวเราถูกไล่ออกจากชุมชนมากยิ่งขึ้น.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


การเป็นลูกพระพุทธเจ้า

เมื่อวันที่ ๑๓ พ.ค. ช่วงทำวัตรเช้า พ่อท่านได้กล่าวคำอธิษฐานให้แก่ศิษย์เก่า ในงาน "คืนสู่เหย้า เข้าคืนถ้ำ ศิษย์เก่าสัมมาสิกขา" ครั้ง ที่ ๒ ว่า

"...เราเกิดมาเพื่อศึกษา ไม่ใช่เกิดมาเพื่อระเริง เพื่อหลงไปกับโลก มอมเมา ให้เราหัวปักหัวปำไปกับลาภยศสรรเสริญโลกียสุข นั่นเป็นเรื่องของคนโลกย์ๆก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้โลกุตระคือการรู้แจ้งซึ่งการหลงวน หลงหมุน หลงมัวเมาอยู่กับโลกธรรมหรือโลกียะอันประกอบไปด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข พระพุทธเจ้าตรัสรู้โลกุตระอันเป็นอาริยะ เป็นความประเสริฐ เป็นมนุษย์ประเสริฐที่แท้จริง

เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมาเป็นลูกพระพุทธเจ้า จึงต้องพยายามให้หลุดพ้นจากโลกียะ ถ้าไม่หลุดพ้นจากโลกียะ ก็ไม่ใช่ลูกพระพุทธเจ้าอยู่นั่นเอง เพราะโลกก็เป็นอยู่อย่างโลกียะอยู่ตลอดกาลนาน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้สิ่งที่ประเสริฐสุด ทำตนให้หลุดพ้นจากโลกียะได้ แม้หลุดพ้นจากโลกียะแล้ว ทำจิตให้เป็นนิพพานได้แล้ว สูงสุดแล้ว จะเกิดวนเวียนขึ้นมาในโลกมนุษย์นี้อีก ก็เป็นคนประเสริฐ เป็นผู้มีคุณค่าต่อโลกอย่างแท้จริง ไม่ได้ทำลายโลก ไม่ได้ก่อให้โลกวุ่นวาย ไม่ได้ทำให้โลกเดือดร้อน แต่ เป็นผู้ช่วยโลก เป็นโลกานุกัมปายะอนุเคราะห์โลกโดยแท้จริง

เพราะฉะนั้นผู้ใดเกิดมาเป็นพุทธ เกิดมาเป็นลูกพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้รู้เลยว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร และไม่ได้ทำตนให้เข้ากระแสแม้แต่เริ่มต้นเป็นการ เข้ากระแส เป็นการรู้จักทิศทางที่จะไปสู่ความเจริญสูงสุดในการเกิดเป็นสัตว์โลกที่ประเสริฐสุดคือมนุษย์ ทิศทางที่จะเกิดเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐสุดนั้นต้องเข้ากระแส ต้องรู้จักทิศทางมนุษย์ที่ประเสริฐ เป็นมนุษย์ไม่มาทำลายโลก แต่เป็นมนุษย์ที่อุ้มชูโลก เป็นมนุษย์ที่ไม่เห็นแก่ตัว เป็นมนุษย์ที่รู้จักตัวเหตุที่ทำลายชีวิตที่ทำให้ชีวิตวนเวียนตกนรกขึ้นสวรรค์โลกลวงๆ อยู่ เมื่อมาเดินทางเข้ากระแสของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นคนที่รู้จักทิศทางอันนำตนไปสู่ความประเสริฐ เป็นอาริยะที่แท้จริง

เพราะฉะนั้นถ้าเราเกิดมาแล้ว เราไม่ได้เดินทางเข้าสู่กระแสอันทิศทางแห่งความประเสริฐ เราก็คือผู้เป็นโมฆบุรุษ เป็นผู้เกิดมาพบศาสนาพุทธ หรือเป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นพุทธเปล่าๆ น่าเสียดายแท้ๆ ซ้ำมิหนำเราจะได้สร้างวิบากอันเป็นหนี้ เป็นบาป เป็นเวรไปด้วยซ้ำ ก็ยิ่งน่าสมเพชเวทนา ก็ขอให้ทุกคนตั้งจิต เมื่อได้เกิดมาเป็นลูกพระพุทธเจ้าแล้วตั้งจิตตั้งใจ กิเลสมันมีฤทธิ์จริง มันจะนำพาเรา มันจะดึงเราไปโลกีย์เป็นธรรมชาติ แต่เราต้องอยู่เหนือกิเลส หรือพยายามตั้งใจหลุดพ้นออกมา อย่าเป็นทาสกิเลสให้ได้ นั่นคือความชนะอันประเสริฐสุด ขอให้ทุกคนตั้งจิตให้แข็งแรง พัฒนาตนเองให้เข้ากระแส ให้เดินทางเป็นผู้หลุดพ้นให้ได้ทุกคนเถิด"

- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


จัดคอนเสิร์ตช่วยศิลปินแห่งชาติ
ส.ศิวรักษ์ ชื่นชมกวีซีไร้ท์ อังคาร กัลยาณพงศ์
อาจารย์ของขุนอินทร์มาพร้อมวงระนาด

งานมหกรรมกู้ดินฟ้าครั้งที่ ๒
ผนวกงานการกุศลเพื่อกวีศรีอยุธยา
เนาวรัตน์ กวีรัตนโกสินทร์ ร่วมเป่าขลุ่ย
ครูแจ้ง ขับกล่อม ซาบซึ้งย้อนยุค

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ร่วมกับชุมชนสันติอโศก จัดงานคอนเสิร์ต "สืบทอดสายธารน้ำใจ กวีซีไรท์ อังคาร กัลยาณพงศ์" หารายได้ช่วยเหลือศิลปินแห่งชาติกวีซีไรท์อังคาร กัลยาณพงศ์ ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ ณ ศาลาพระวิหารพันปีฯ พุทธสถานสันติอโศก โดยมีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นประธาน การจัดงาน คุณวิชาญ จิระเวชบวรกิจ เป็นผู้ประสานงานฝ่ายศิลปิน มีการประชาสัมพันธ์ทางหนังสือพิมพ์หลายฉบับล่วงหน้าประมาณ ๒ สัปดาห์

ในงานไม่มีบัตรผ่านประตู บริการอาหารมังสวิรัติฟรีแก่ผู้มาร่วมงาน วิทยุชุมชนสันติอโศก ถ่ายทอดสดเกือบตลอดงาน ทางคลื่นเอฟเอ็ม ๑๐๗.๙ เมกะเฮิรต์ซ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๒๐.๐๐ น. เวทีแสดงอยู่บริเวณลานหินใต้พระวิหารฯ หน้าห้อง เผยแพร่เท็ป เป็นโต๊ะรับบริจาค โต๊ะจำหน่าย หนังสือบทกวีของท่านอังคารในราคาต่ำกว่าราคาหน้าปก (เช่น หนังสือ "หยาดน้ำค้าง คือน้ำตาของเวลา" หนังสือกาพย์ โคลง กลอน ของอังคาร กัลยาณพงศ์ หนังสือ ๑๔ ตุลาฯ วันประชาธิปไตย) จำหน่าย เสื้อยืดพิมพ์ภาพวาดลายเส้นเขียนของท่านอังคาร

อาหารสำหรับศิลปิน นักร้อง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์-นิตยสารและโทรทัศน์ มี ๒ จุด คือเต็นท์ด้านหลังพระวิหาร และอาหาร ตามสั่งหน้าห้องธรรมโสต

โต๊ะลงทะเบียนศิลปิน นักร้อง ผู้สื่อข่าว อยู่ด้านหน้าซุ้มอาหารศิลปิน ซึ่งจะได้รับมอบใบโพธิ์กลัดเสื้อสีต่างๆ เขียนว่า สืบทอด สายธารน้ำใจ กวีซีไรท์ อังคาร กัลยาณพงศ์ และมีสัญลักษณ์ชุมชนสันติอโศกอยู่ด้านล่างสุด

กลุ่มศิลปิน จิตกรผู้มีชื่อเสียงในการวาดภาพเหมือนบุคคลสำคัญของโลก นำโดย อ.วสันต์ สิทธิเขตและ อ.หงษ์ทอง เสน่ห์งามเจริญ นำรุ่นน้องมือฉมัง ๒ คนร่วมด้วยช่วยกัน รับเขียนภาพผู้มาร่วมงานในราคาการกุศล จิตรกรต้อมเขียนภาพ ล้อเป็นการ์ตูน จากราคา ๑,๐๐๐ บาทเหลือ ๓๐๐ บาทและจิตรกรบ๊อบบี้เขียนภาพเหมือนจากราคา ๓,๐๐๐ บาทเหลือ ๕๐๐ บาท ใช้เวลาภาพละ ๑๐-๑๕ นาที ได้รับความสนใจจากผู้มาร่วมงานจนต้องเข้าคิว

บรรยากาศของงาน
ก่อนเวลาเริ่มด้วยวงเจ้าบ้าน "วงฆราวาส" หลังจากนั้นตามด้วยศิลปินต่างๆ เช่น ไก่ สุพรรณิกา, วงสตริงวัยรุ่น โอเว่อร์โค๊ซ กับบทเพลงสัจจะชีวิต ครูรัก รักพงษ์ เวอร์ชั่นร็อคสุดมันชุด "จงดิ้นให้แร้งดู" และเมื่อไหร่จะรู้สักที หลังจากนั้น น.พ.ชินโอสถ หัศบำเรอ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อัจฉริยะผู้ฝึกหัดไวโอลินเพียง ๑ เดือน และไม่เคยสีไวโอลินในงานไหนมาก่อน แต่งานนี้คุณหมอชิน ได้สีและร้องถึง ๒ เพลงซึ่งเป็นบทประพันธ์ของท่านอังคาร และท่านอังคารได้นำบทประพันธ์ ที่หมอชิน ขับร้องมาอ่านทำนองเสนาะให้ฟังอีกครั้ง สร้างความซาบซึ้งยิ่งนักที่ได้ฟังจากผู้ประพันธ์โดยตรง หลังจากนั้นนักร้องรุ่นเยาว์ น้องซิน, น.พ.อารีย์ วชิรมโน มาพร้อมกับเพลงดังประจำตัว "อภัย" ต่อด้วยน้องทราย ศิลปินรุ่นเยาว์จาก จ.ชลบุรี

แล้วถึงเวลาของวงดนตรีไทย บ้านดุริยปราณีต ของอาจารย์สุดจิตต์ ดุริยปราณีต (คุณยายแท้ๆของขุนอินทร์ จากภาพยนตร์เรื่อง "โหมโรง" วัย ๗๖ ปี) ขับร้องเพลงกฤษดาภินิหาร มีคุณป้าแหว๋ว ใจดาว ศิลปินของชาวเรารำประกอบเพลง หลังจากนั้นอาจารย์ ศิวกานต์ ประทุมสูตร อ่านบทกวีของท่านอังคารเป็นภาษาปักษ์ใต้

ศิลปินแห่งชาติชินกร ไกรลาศ ขับร้องเพลงบ้านแสนสุข พร้อมๆกับสายฝนที่ค่อยๆโปรยปรายลงมา เหมือนจะร่วมอนุโมทนา กับสายธารแห่งน้ำใจที่จัดขึ้นว่า "อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้า สุราลัยสู่แดนดิน.." แต่คนฟังก็ยังไม่ถอย ฝนเริ่มตกหนักจึงต้องตัดไฟชั่วคราว และย้ายเวทีลงมาอยู่ใต้ศาลา พระวิหาร เมื่อไม่สามารถใช้ซาวน์ที่เตรียมมาได้ วงดุริยปราณีตจึงเล่นดนตรีไทยประกอบเพลงยอยศพระลอ ด้วยเสียงสดไม่ผ่านไมค์ ของคุณชินกร โดยมีผู้ชมร่วมร้องคลอไปด้วย บรรยากาศน่าประทับใจยิ่งนัก และตามด้วยเพลงค้างคาวกินกล้วย

แล้วก็ถึงเวลา "มหัศจรรย์พันลึกแห่งดนตรีไทย" โดยศิลปินแห่งชาติ ๒ ท่าน ครูแจ้ง คล้ายสีทอง, อาจารย์สุดจิตต์ ดุริยปราณีต, มีอาจารย์ขวัญดี อัตตวาวุฒิชัย ดำเนินรายการแข่งกับสายฝน เริ่มด้วยศิลปินแห่งชาติครูแจ้ง คล้ายสีทอง ขยับกรับ-ขับเสภา บทเห่เรือพระที่นั่งให้ฟังเป็นตัวอย่าง ขับเสภา "จงดิ้นให้แร้งดู" โดยร้องเป็นสังขารและขับเสภาเกี่ยวกับแม่ อ.สุดจิตต์ ขับร้อง เพลงลาวดวงเดือน นับเป็นโชคดีของผู้ที่ได้ฟังเสียงจริงของ บรมครูทั้ง ๒ ท่าน และได้ทราบว่าครูแจ้งเป็นลูกศิษย์ของ อ.สุดจิตต์ ดุริยปราณีต

ฝนหยุดแล้ว น้องซินขึ้นร้องเพลง ตามครอบครัวศิลปิน คีตาญชลี (พ่อ-แม่-ลูกทั้ง ๓) ขับกล่อมเพลงเพื่อชีวิตแนวหวาน ที่ฟังกี่ครั้ง ก็ยังไพเราะและประทับใจ สลับกับการประมูลภาพต่างๆ เช่น พระวิหารพันปี ภาพ drawing ของท่านอังคาร โดยพิธีกรกิตติมศักดิ์ คุณแซมดิน เลิศบุศย์และคุณหินทอง ดีรัตนา

หลังจากนั้น ลูกเป็ดขี้เหร่ นักร้องวัยรุ่นเจ้าของเพลง ใช่เธอเพียงคนเดียว ขึ้นร้องเพลงที่โด่งดัง และยินดีให้นำเพลงนี้ไปเผยแพร่ คุณวัชระ กรรณิการ์ พิธีกรไอทีวีทูไนท์ ขึ้นทักทายผู้มาร่วมงาน คุณเปียทิพย์ คุ้มวงศ์ ร้องเพลงดังในอดีต คุณวัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์ แม้สุขภาพยังไม่ดีนักก็มาร่วมร้องเพลงกับคุณสุทธินันท์ จันทระ พิธีกรหญิงเพชราพร ไพรีรัก ขึ้นกล่าวทักทาย รู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมงาน ตามด้วยนักร้องกิตติมศักดิ์คุณทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์, คุณสุวัจชัย สุทธิมา, คุณทอดด์ ทองดี, คุณทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล เปิดอัลบั้ม "ทะเลจันทร์" พร้อมมอบซีดีจำหน่ายรายได้สมทบสายธารน้ำใจ ขณะเดียวกัน อาจารย์วสันต์ สิทธิเขต ได้วาดภาพเหมือนท่านอังคารอยู่บริเวณด้านซ้ายของเวที มีผู้ขอให้วาดในราคา ๕๐,๐๐๐ บาท

๑๖.๓๐ น. โดยประมาณ ร่วมค้นหาคุณค่ากวีเอก จาก ๔ นักปราชญ์ อ.ส.ศิวรักษ์, อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรท์ อีกท่านหนึ่ง ของเมืองไทย, พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ปูชนียบุคคลแห่งพุทธแท้ๆ และกวีซีไรท์อังคาร กัลยาณพงศ์ ดำเนินรายการโดย อ.ขวัญดี อัตตวาวุฒิชัย ก่อนจบรายการสมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ หรือท่านจันทร์ ขึ้นพูดกล่าวถึงเนื้อหา และประโยชน์ของบทกวีของท่านอังคารที่ท่านนำไปใช้ในการแสดงธรรมให้ฟัง อ.เนาวรัตน์เดี่ยวขลุ่ย และขับร้องบทกวี ตากับยาย ให้ฟัง และชื่นชมว่าท่านอังคารเป็นศิลปินที่เขียนรูปเป็นกวีและเขียนกวีเป็นรูป

การสนทนาจบลงโดยพ่อท่านฝากว่า ศิลปะเป็นมงคลอันอุดม นำพาไปสู่ความประเสริฐสูงสุด ไม่ใช่งานบำเรออัตตา ศิลปะต้องมีในคน ขอให้ทุกคนมีศิลปะในชีวิตและในจิตวิญญาณ

 

หลังจากนั้นคุณอังคารรับเงินบริจาคที่รวบรวมได้ภายในงานจำนวน ๒ แสนเศษจากพ่อท่าน ทั้งนี้ยังไม่รวมเงินจากการ ประมูลภาพ และจากการจำหน่ายหนังสือ เสื้อยืด ซีดี ซึ่งจะรวบรวมให้ในภายหลัง คาดว่ารวมทั้งสิ้นประมาณ เกือบ ๔ แสนบาท ซึ่งคุณอังคารได้กล่าวว่า "เป็นน้ำใจของทุกๆคนที่จะระลึกถึงไปชั่วกาลนาน"

ฟังเพลงไพเราะก่อนอำลา จากครอบครัวคีตาญชลีอีกครั้งกับเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ขณะเดียวกันอ.วสันต์ สิทธิเขต ได้วาดภาพเหมือนพ่อท่าน ให้ชมบริเวณด้านซ้ายเวที หลังจากนั้นศิลปินจากค่ายแกรมมี่ คุณอุ๊ หฤทัยพร้อม คุณแจ๊ค คุณหน่อย คุณปู ขับร้องเพลงสากลและเพลงเพื่อชีวิตให้สนุกสนานร่วมกัน ปิดท้ายด้วยคุณเปิ้ล (สุทธินันท์ จันทระ) ศิลปินอโศกพันธุ์แท้ ขับร้องเพลงตามคำขอ และเพลงตามใจผมบ้าง "แสงดาวแห่งศรัทธา" พ่อท่านให้โอวาทปิดงาน "ขอบคุณทุกคนที่มา เหน็ดเหนื่อยร่วมกัน" แล้วรับของที่ระลึกจากพ่อท่าน ช่วยกันเก็บบุญ

งานสืบทอดสายธารน้ำใจกวีซีไรท์ กัลยาณพงศ์ จบลงด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกๆฝ่าย ขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านที่มี ส่วนร่วม ในการจัดงานครั้งนี้ ทุกคนมีหัวใจดวงเดียวกันที่ปรารถนาให้กวีซีไรท์คนนี้มีสุขภาพที่แข็งแรง อยู่สร้างสรรค์ งานกวีไทย ที่เปี่ยมล้นคุณค่าคู่ฟ้าเมืองไทยและคู่โลกไปอีกนานแสนนาน เราคนไทยภูมิใจในผลงานอันล้ำค่าของกวีซีไรท์ อังคาร กัลยาณพงศ์ ผู้ควรค่ากับคำว่า "กวีเอกแห่งแผ่นดินสยาม"

คอนเสิร์ตสืบทอดสายธารน้ำใจ ได้จัดมาแล้ว ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๒๐ มี.ค. ๒๕๔๒ ชื่องาน "คอนเสิร์ตธารน้ำใจสู่วัชราภรณ์" จัดให้แก่คุณวัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์ ที่ล้มป่วยด้วยโรคไต เพื่อนำเงินรายได้ช่วยเป็นค่าใช้จ่าย ในการฟอกไต ได้เงิน ๔ แสนบาท ครั้งที่ ๒ จัดให้แก่ คุณวัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์ อีกครั้ง เพื่อนำเงินรายได้เป็น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพื่อเปลี่ยนไต และ ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ ๓ จัดให้แก่กวีซีไรท์อังคาร กัลยาณพงศ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคหัวใจ

อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์(กวีนิพนธ์) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ ที่จ.นครศรีธรรมราช บิดาเป็นกำนัน ชื่อเข็บ มารดาชื่อขุ้ม ปู่ ย่า ตา ทวด เป็นช่าง "ตาผมเป็นช่างใหญ่ ทั้งฝ่ายตา ปู่ ฝ่ายทวดก็เป็นช่างทอง ทางสายแม่ก็เป็นช่างทอง"

เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่ ร.ร.วัดใหญ่และวัดจันทาราม เมื่อเป็นนักเรียนชั้นประถม ครูมักจะให้เขาอ่านบทกวี ให้เพื่อนร่วมชั้น ฟัง ท่วงทำนองที่อ่านคงจะจับใจเพื่อนๆมาก เพราะทุกคนต่างนั่งนิ่งไม่กระดุกกระดิก แม้แต่ครูเองก็นั่งสงบนิ่ง ประหนึ่งถูก มนต์สะกด

เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษา ที่ ร.ร.พระพุทธเจ้าหลวงอุปถัมภ์ และ ร.ร.เบญจมราชูทิศ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ เรียนที่เพาะช่าง ๒ ปี และได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม-ประติมากรรม รุ่นเดียวกับอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฎ อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ อย่างไรก็ตาม ได้มีการรวบรวมผลงานของอังคารและตีพิมพ์เป็นเล่มดังต่อไปนี้

พ.ศ.๒๕๐๗ กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์
พ.ศ.๒๕๑๒ ลำนำภูกระดึง
พ.ศ.๒๕๑๕ บางบทจากสวนแก้ว
พ.ศ.๒๕๒๑ บางกอกแก้วกำศรวลหรือนิราศนครศรีธรรมราช
พ.ศ.๒๕๒๙ ปณิธานกวี
พ.ศ.๒๕๓๐ หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา

จากผลงานดังกล่าว ทำให้อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้รับรางวัลด้านวรรณศิลป์ ดังนี้
พ.ศ.๒๕๑๕ ได้รับรางวัลดีเด่นของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ -นาคประทีป
พ.ศ.๒๕๒๙ ได้รับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (รางวัล SEA Writes) จากบทกวีรวมเล่มชื่อ ปณิธานกวี
พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์)

อังคารสมรสกับคุณอุ่นเรือน มีบุตรธิดารวม ๓ คน คือ ภูหลวง กัลยาณพงศ์ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ และวิศาขา กัลยาณพงศ์

สำหรับศิลปิน ผู้สื่อข่าว ผู้มาช่วยงาน ได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้

คุณสุริยัน สมบุญ เจ้าของกิจการให้เช่าเครื่องเสียง นำเครื่องเสียงราคาหลายล้านบาท มาติดตั้งในงานฟรี "ทีมงานมาช่วยกัน ๑๑ คน ผมมีความภาคภูมิใจที่ได้มาทำงานที่นี่ เพราะว่าผมหาโอกาสมานานแล้วที่จะทำงานบริสุทธิ์ ไม่มีธุรกิจเข้ามาแอบแฝง ส่วนมากผมทำงานอยู่ข้างนอกเป็นเรื่องของธุรกิจที่ไม่ค่อยจะสะอาด เพราะเป็นเรื่องสื่อ เรื่องโฆษณา เรื่องหลอกทั้งนั้นเลย ราคาติดตั้งตามงานต่อหนึ่งโชว์ราคาแสนขึ้น ผมก็เลยปลื้มปิติลึกๆ ว่าเราได้มาทำงานที่เราเคยเขียนภาพไว้ เคยคิดไว้ตั้งแต่ ในสมัยเป็นเด็ก งานครั้งนี้มีความสุข ไม่ใช่สุขที่ได้มาด้วยเงินหรือได้ทรัพย์ มันสุขอยู่ในใจ"

อ.ส.ศิวรักษ์ "การจัดงานครั้งนี้รู้สึกดี บรรลุเป้าหมายหรือไม่ต้องไปถามวิชาญ เขาเป็นหัวเรือใหญ่ ผมเป็นตัวประกอบ"

น.ส. ศิริรัตน์ เกยูร "ไม่คิดว่าคนที่มาช่วยงานจะเยอะขนาดนี้นะคะ คิดว่าท่านอังคารคงจะดีใจ"

นางอุ่นเรือน กัลยาณพงศ์ "อาการป่วยของท่านอังคารภายในเดือนแรกก็ควบคุมตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด ทานยาที่หมอให้ และควบคุมอาหาร แต่ตอนนี้ก็ทำตัวเป็นปกติ ท่านทำงานไปเรื่อยๆ การจัดงานครั้งนี้ท่านดีใจที่ได้รับน้ำใจจากทุกๆฝ่าย ธรรมดาท่านไม่เคยออกงาน ในงานนี้ท่านได้รู้ถึงน้ำใจแต่ละคน น้ำใจซึ่งสำคัญที่สุด"

คุณเปียทิพย์ คุ้มวงศ์ ดารา-นักร้อง "ไม่เคยรู้จักท่านเป็นการส่วนตัว ได้ยินแต่ชื่อเสียง แต่สนิทกับที่นี่ (สันติอโศก) พ่อท่านเป็น ผู้ที่ดิฉันเคารพรักมากที่สุด ท่านขอให้มาช่วยงานคุณอังคาร เมื่อท่านต้องการความช่วยเหลือ มีอะไรที่ดิฉันพอทำได้ ก็ยินดีที่จะทำ"

อาจารย์วสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินอิสระ วาดภาพ กวี เรื่องสั้น วิพากษ์วิจารณ์การเมือง "รู้สึกยินดีมากที่ได้มาร่วมงานครั้งนี้ เห็นว่ามีแต่คนที่ยากจนด้วยกันที่เห็นใจคนที่มีคุณค่า มองเห็นคุณค่าความงามของคน เพราะบุคลากรอย่างท่านอังคาร หรือคนที่ทำงานเสียสละชีวิตทั้งชีวิตเพื่อศิลปวัฒนธรรม เพื่อจรรโลงจิตใจมนุษย์ ไม่ได้รับการเหลียวแลจากสังคม เพราะว่า คนที่มีอำนาจในสังคมก็อาจมองไม่เห็นว่าบุคคลใดที่ควรนับถือหรือไม่ควรนับถือ

ผมว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในสังคมที่เราต้องให้เยาวชนหรือคนในสังคมเรียนรู้ว่า ใครเป็นคนดีที่ควรกราบไหว้ หรือใครเป็นโจร ที่อยู่ในคราบของคนดี นี่ไม่ใช่เพราะท่านอังคารป่วยแล้วเราค่อยมามองกัน แต่มีหลายคนที่เฝ้ามอง อย่างเช่นคุณหงษ์ทอง หรือ เพื่อนๆหลายคนที่คอยเฝ้าดูติดตามอยู่

การที่มนุษย์อยู่ร่วมกัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันได้ เท่าที่เรามีความสามารถนั้น เป็นหน้าที่ของการมีชีวิตอยู่ของเรา ผมนับถือ ท่านอังคารมานานแล้ว ตั้งแต่ได้อ่านหนังสือของท่าน คิดว่าที่ผมมาร่วมงานก็อบอุ่นใจ คิดว่าน่าจะได้เป็นกระแส เป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมรับรู้ ไม่ว่าชุมชนไหนก็ตาม ถ้ามีคนที่เสียสละ หรือว่าคนที่กล้าหาญที่จะต่อสู้เพื่อสังคม ชุมชนนั้น เราก็ต้องให้การเชิดชูหรือว่าทำประวัติหรือให้เยาวชนได้ศึกษา ไม่ใช่ไปนับถือคนต่างชาติ ดารานักร้องเป็นฮีโร่ ควรจะมีฮีโร่ ของเราเองในสังคม

บรรยากาศก็ดี ผมเคยมา ๒-๓ ครั้ง ก็มาพบกับท่านจันทร์ ที่นี่เป็นชุมชนที่น่าสนใจ ถ้าเราเลือกมีชีวิตอยู่อย่างสงบ ก็น่าจะเลือก ปฏิบัติดี มีมรรคปฏิบัติเพื่อทำให้วิถีชีวิตอยู่อย่างสงบร่มเย็นได้ เพราะว่าการเลือกของเราก็เป็นต่อสู้ไปอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็น การอยู่ การกิน การดำรงชีวิตทั้งหมดของเราก็ทำให้คนในสังคมได้เห็นความต่างอย่างชัดเจน ขณะที่บริโภคนิยมเป็นอยู่อย่างนี้ แต่วิถีชีวิตที่นี่ทำงานและช่วยเหลือผู้อื่น โดยมีธรรมะเป็นแก่นสารของชีวิต คนต้องเดินไปสู่ความตายอยู่แล้ว การมีชีวิต อยู่ร่วมกัน ปฏิบัติธรรม เผื่อแผ่ความรักไปให้เพื่อนมนุษย์นั้น เป็นชีวิตสิ่งที่ควรกระทำ"

คุณทอดด์ ทองดี ศิลปินนักร้อง "รู้สึกดีครับ รู้สึกปลื้มใจแทนคนที่นี่ ที่รวมความรัก ฉลองชีวิตของศิลปินคนหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ ผมมาด้วยความเห็นแก่ตัวนะครับ เพราะผมมาแล้วมีความสุขจริงๆ"

คุณหงษ์ทอง เสน่ห์งามเจริญ จิตรกร "เห็นคนที่มาร่วมงานก็รู้สึกอบอุ่น โดยส่วนตัวแล้วก็เคารพและชื่นชมบทกวี อย่างท่าน อังคาร และกวีอย่างท่านอังคารในประเทศสยามคงแทบจะไม่เหลือแล้ว นอกจากท่านอังคารแล้วก็มีกวีอีกหลายคน แต่ถ้ากวี แหลมคมอย่างนี้คงไม่มีใครเทียบเท่าท่านอังคารแล้ว งานครั้งนี้ได้มามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมหาเงิน เข้ากองทุน เพื่อท่านอังคาร ก็ดีใจ

เข้ามาที่นี่ก็อบอุ่น มาถึงทุกคนอัธยาศัยดีมาก ให้การต้อนรับตั้งแต่ขับรถเข้ามา คนที่ดูแลเรื่องการจอดรถก็พูดจายิ้มแย้มแจ่มใส อัธยาศัยดีมาก อาหารการกินก็ทั่วถึง กินแทบไม่หมด เยอะมาก จนอิ่มเกิน ดีมากครับ

จิตรกรที่มาวาดภาพเป็นเพื่อนรุ่นน้อง อย่างคนชื่อต้อม เขียนภาพล้อเป็นการ์ตูนได้เก่ง เป็นมือหนึ่งของเมืองไทย ก็เอาเขา มาช่วยเขียนหาเงินเข้ากองทุน อีกคนชื่อบ๊อบบี้เขียนภาพเหมือนอย่างละเอียด ใครที่มาในงานนี้ผมถือว่าโชคดี เพราะถ้าพ้น โอกาสนี้ไป จะเจอเขายาก ปกติเขาจะมีงานประจำ และไม่ได้เขียนกันในราคามิตรภาพอย่างนี้ อย่าง บ๊อบบี้เขียนรูปหนึ่งก็ราคา ๓,๐๐๐ บาท ในงานนี้เรามาเขียน ๕๐๐ บาท อย่างต้อมเขาก็เขียนราคา ๑,๐๐๐ บาท แต่งานนี้ ก็เขียน ๓๐๐ บาท เพราะเราคิดว่า ในบรรยากาศอย่างนี้ เอาคนที่เขาอยากจะได้รูปแล้วสะตุ้งสตังค์น้อยก็สามารถเขียนได้"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


เก็บมาฝากจากงานปลุกเสก ฯ

งานปลุกเสกฯปีนี้มีงานประชุมหลายวงจนต้องจัดรายการสลับวันเว้นวันกับรายการธรรมะ

จับกระแสต.อ.ฉบับนี้เลยมี "เกร็ดข่าว" เก็บตกมาฝากทั้งจากวงประชุมวงใหญ่และวงเล็ก ดังนี้

*** รับขวัญร้านค้าน้องใหม่ "หนึ่งน้ำใจ" (ที่ประชุมคณะกรรมการร้านหนึ่งน้ำใจกับคณะทำงานต.อ.กลาง วันที่ ๔ เม.ย. ๔๗)

คณะทำงานต.อ.กลาง มีโอกาสไปเยี่ยมร้านหนึ่งน้ำใจหลังจากเพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการเพียง ๒-๓ วัน รู้สึกชื่นชมต่อ ความมุ่งมั่น ของชาวศีรษะอโศกที่อยากจะขยายกิจการพาณิชย์บุญนิยมให้เป็นที่พึ่งของชุมชนรอบข้าง ดังนั้น คณะกรรมการ ร้านค้า จึงมีความเห็นชอบร่วมกันกับต.อ.กลางในการจะสร้างสรรและพัฒนาร้าน "หนึ่งน้ำใจ" ดังนี้

๑. จะเลือกสรรสินค้าอุปโภคที่มีคุณภาพ ดี ได้มาตรฐาน

๑.๑ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการ ปนเปื้อนสารพิษ เช่น ภาชนะจานชามพลาสติกที่นำพลาสติกเก่ามาหลอมใหม่ซึ่งเป็นอันตรายโดยเฉพาะเมื่อสัมผัสความร้อน ภาชนะอลูมิเนียม เกรดต่ำ และกระทะเคลือบสารกันอาหารติดกระทะคุณภาพต่ำ ที่สารเคลือบมีโอกาสหลุดมาปนเปื้อนกับอาหารขณะปรุง ฯลฯ

๑.๒ ใช้ได้ทนนาน ไม่ต้องซื้อบ่อยๆ

๒. จะเลือกสรรสินค้าสำหรับการบริโภคที่ "ไร้สารพิษ" ให้เป็นประหนึ่ง "พ่อค้าขายข้าวต้มปลากะพง" หรือมีการตรวจสอบ คุณภาพเบื้องต้นอย่างต่ำที่ "ปลอดสารพิษ" ในสินค้าที่จำเป็นต้องซื้อจากตลาดทั่วไป

๓. จะเลือกสรรสินค้าที่จำเป็นแก่การบริโภคในปัจจัยพื้นฐาน ไม่เป็นตัวอย่างของการนำ "สินค้าแบบโลกๆ" ที่สร้างค่านิยม ตามกระแส "สังคมบริโภค"

โอวาทฝากแถมท้ายการประชุมจากสิกขมาตุจินดา
"สิ่งที่ดีเราไม่ควรจะลังเล ขอให้แน่ใจว่าอันนี้ควรจะทำ อันนี้เป็นโทษ คิดว่าไม่มีใครอยากให้สิ่งมีโทษกับผู้อื่น การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ ง่ายมากในการปรับเปลี่ยน ต่อไปจะมีการคัด กลั่นกรองสินค้า เรื่องปลากะพงเรายังยึดหลักการนั้น ไม่ต้องห่วงว่าสินค้าจะน้อย จะถูกใจคนซื้อหรือไม่ ไม่ต้องหาคำอธิบายเลย เพราะว่าเรามีเหตุผลที่ชัดเจน ชาวบ้านมาร้านเรา เราจะขายอะไร ไม่ขายอะไร เขาพร้อมที่จะรับได้อยู่แล้ว หากเราเปิดกว้างขายอะไรเกินไป เขาก็จะยินดีในสินค้านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะคิดจน ไม่เหลืออะไร ตอนนี้ควรคัดกรองตัดรอบว่าพิษประมาณไหนที่เราจะยอมรับได้ ซึ่งน่าจะเป็นการดีที่สุด"

*** จุดยืนพาณิชย์บุญนิยม (ที่ประชุมพาณิชย์บุญนิยมวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๗)
พ่อท่านประกาศนโยบายเอื้ออาทร
"การไปรับซื้อผลผลิตพวกพืชพันธุ์ธัญญาหารจากชาวบ้าน หากราคาตลาดขึ้นก็เป็น เรื่องดีสำหรับเกษตรกร เพราะจะช่วยให้ชาวนาชาวไร่ได้เงินเพิ่มขึ้น"

ทบทวนบทบาทร้านค้า "ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท(กิจการค้า)"
๑. เป็นสัมมาอาชีวะของชาวอโศก

๒. แสดงตัวอย่างการค้าแบบ "บุญนิยม" ให้ประจักษ์ต่อสังคม กล่าวคือ "ของดี ราคาถูก ซื่อสัตย์มีน้ำใจ" รวมถึงเป็นร้านค้าสาธิต แก่คนที่มาศึกษาดูงาน

๓. รองรับผลผลิต(ไร้สารพิษ) จากเครือข่ายเกษตรกรที่เราไปทำงานด้วย ดังนั้นบทบาทคนทำงานพาณิชย์บุญนิยม ไม่เพียงแค่ทำงานด้านตั้งรับสินค้า (ซึ่งมีโอกาสเป็นเหยื่อของนายหน้าหรือตัวแทนขายสินค้าทุนนิยม) แต่ต้องทำงานเชิงรุก โดยเชื่อมกับเครือข่าย คกร. ในการ

- แสวงหาและรับสินค้าจากเกษตรกร

- สร้างตลาด ของดี ราคาถูก ในท้องถิ่น ในชุมชน เพื่อให้คนในชนบทมีโอกาสได้บริโภคผลผลิตไร้สารพิษของตนเอง มีสุขภาพดี

เพิ่มผู้คัดกรองสินค้าเข้าร้าน ที่ประชุมเสนอให้ ต.อ.ชุมชน หรือบุคลากรด้านสุขภาพแต่ละชุมชน เข้ามามีส่วนในการคัดกรอง สินค้าในร้านค้าของชุมชน ให้มี คุณภาพและปลอดภัยมากขึ้น

*** ทบทวนนโยบายของพ่อท่าน (ที่ประชุม ต.อ.ชุมชน วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๗)
นโยบายด้านการลดการใช้สารเคมี
"ให้ช่วยกันพัฒนาสร้างสรรผลผลิตใหม่ที่เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และลดการใช้สารเคมีให้น้อยลงที่สุด ไปจนถึงการไม่ใช้ สารเคมีเลย เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากจุลินทรีย์ ทดแทนน้ำยาเคมีทำความสะอาด"

"ให้พัฒนาผลผลิตที่มีคุณค่า ฉีกแนว เป็นผู้นำร่อง ทวนกระแส ไม่จำเป็นต้องแข่งกับกลุ่มแม่บ้าน หรือกลุ่มอื่นที่ทำอยู่แล้ว (อาจผลิตเพื่อทำกินทำใช้พึ่งตนเอง หรือปลดหนี้ชุมชน และเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ชาวบ้าน)"

รูปธรรมการขานรับนโยบาย

๑. ให้หน่วยผลิตชุมชนพัฒนาผลผลิตแชมพู จาก แชมพูผสมสมุนไพร (ที่ผลิตอยู่ในปัจจุบัน มีส่วนผสมของ N70) โดยลดการใช้สารเคมีตามลำดับขั้น ดังนี้

๑.๑ ผลิตแชมพูผสมน้ำสกัดชีวภาพ (ลดการใช้สารเคมีบางชนิด เช่น สารกันบูด หรือ ใส่สาร N70 น้อยลง)

๑.๒ ผลิตแชมพูจากน้ำหมักชีวภาพหรือน้ำสกัดจากสมุนไพร (ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีใดๆ เลย)

๒. หลีกเลี่ยงการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม หรืออื่นๆ ซึ่งบริษัทขายสารเคมีมักจะส่งผู้แทนมาเสนอขายสารเคมีให้แก่ผู้ผลิตในชุมชนโดยตรง

๓. ณ งานนี้ ได้เกิดโครงการรวบรวมองค์ความรู้และพัฒนาผลผลิตจากสารธรรมชาติทดแทนสารเคมีในผลิตภัณฑ์ สุขภาพขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากญาติธรรมบอกเล่าความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้สารธรรมชาติทดแทน ผงชูรส สารกันบูด ซีอิ๊ว ฯลฯ จำนวนมาก (ดังรายละเอียดต่อไปนี้)


 

โครงการรวบรวมองค์ความรู้และพัฒนาผลผลิต
จากสารธรรมชาติทดแทนสารเคมีในผลิตภัณฑ์สุขภาพ

วัตถุประสงค์โครงการ

เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลผลิตจากสารธรรมชาติทดแทนสารเคมีในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ ทั้งด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด โดย

๑. รวบรวมองค์ความรู้ที่ได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ประสบการณ์การใช้จริง และการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

๒. ส่งเสริมการศึกษา วิจัย และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ให้ได้องค์ความรู้ใหม่หรือผลผลิตใหม่ นำสูตรที่ได้ไปทดลองใช้ ในชุมชน หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญ

๓. เผยแพร่การใช้ประโยชน์ สรุปบทเรียนเพื่อพัฒนาให้เป็นผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานต่อไป

ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดที่มีสารเคมีสังเคราะห์ คือ
๑. สารปรุงแต่งรสอาหาร ได้แก่ ผงชูรส สารกันบูด ซีอิ๊ว สีผสมอาหาร สารกรุบกรอบ
๒. สารไล่แมลง / กันยุง
๓. ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ได้แก่ แชมพูสระผม ครีมนวดผม สบู่ สารให้ความหอม ฯลฯ

เมื่อวันที่ ๘ - ๙ เมษายน ๒๕๔๗ ในงานปลุกเสกฯ ณ พุทธสถานศีรษะอโศก ได้มีการประชุมรวบรวมองค์ความรู้จากญาติธรรม ชาวอโศก มีผู้เข้าร่วมประชุมการประชุม ๔๕ คน ได้องค์ความรู้ดังนี้

๑. สารธรรมชาติทดแทนผงชูรส
ประเภท วัตถุดิบสด
สูตรเดี่ยว เลือกใช้พืชผัก ดังต่อไปนี้ นำมาต้มเป็นนำซุปหรือน้ำแกงช่วยให้ความหวานแทนผงชูรส ได้แก่ มะเขือเทศ หัวหอมแดง ใบหญ้าหยดน้ำ (คล้ายหญ้าหวาน) ลำอ้อย หัวมันต่างๆ ฟักทอง สับปะรด ข้าวโพดผักที่ให้ความหวาน เช่น ฟัก แฟง แตงต่างๆ กะหล่ำปลี หัวไชเท้า รากผักชี คื่นไช่ ฯลฯ ผักพื้นบ้านที่ให้ความหวาน เช่น ผักหวานบ้าน/ป่า ย่านาง ตำลึง

สูตรผสม
- ใบหม่อนสด และซังข้าวโพด
- ใบหม่อนสด หัวไชเท้า และใบโกศล
- น้ำต้มถั่วเหลือง น้ำเห็ดฟางนึ่ง น้ำอ้อยคั้น เกลือเม็ด หอมแดงทุบ กระเทียมทุบ ข่าทุบ
- เลือกใช้วัตถุดิบต่างๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น(จากสูตรเดี่ยวข้างต้น)นำมาต้มรวมกันเป็นน้ำซุป

หมายเหตุ
องค์ความรู้ข้างต้นนี้ยังต้องการ
๑. ข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านสูตร เทคนิค วิธีปฏิบัติ ฯลฯ รวมถึงแหล่งที่มาของข้อมูล
๒. การนำไปทดลองทำ ทดลองใช้เพื่อพัฒนาให้มีคุณภาพดียิ่งๆ ขึ้น
๓. ข้อมูลสูตรตำรับ เทคนิค และวิธีการอื่นๆ ที่สามารถใช้สารธรรมชาติทดแทนสารเคมีในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ

โปรดแจ้งข้อมูลมายัง สำนักงานต.อ.กลาง พุทธสถานสันติอโศก
โทรศัพท์/โทรสาร ๐๒-๓๗๔๙๕๗๐

- ต.อ.กลาง รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สัจจธรรมของลุงสวาท

ลุงสวาท พหลทัพ เกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู มีอาชีพปลูกข้าวและ ข้าวโพดประมาณ ๑๕ ไร่ สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับลุง คือ ภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม และปัญหา ราคาผลผลิตตกต่ำทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆกลับมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียนของลูก ค่าใช้จ่าย ในครัวเรือน และต้นทุนการผลิต เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายาต่างๆ วงเวียนในการประกอบอาชีพทางการเกษตรของลุงสวาท จึงไม่แตกต่าง จากเกษตรกรรายอื่นๆ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลมีโครงการพักชำระหนี้เกษตรกร รายย่อยที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ลุงสวาท จึงเข้าร่วมโครงการกับเขาด้วย

ช่วงพักหนี้ ลุงสวาท นำเงินที่ยังไม่ต้องส่งคืน ธ.ก.ส. มาหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตเช่นเคย แต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม แม้จะได้รับปัจจัยการผลิต และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในเรื่อง การเลี้ยงไก่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้วก็ตาม ระหว่างที่คิดว่าจะทำอะไรให้เงินมันงอกเงยขึ้นกว่าเดิม ธ.ก.ส.สาขาสุวรรณคูหา ได้ชวนไปอบรมหลักสูตรสัจธรรมชีวิต ซึ่งรูปแบบการอบรมหลักสูตรนี้แตกต่างจากการอบรมทั่วๆไป สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การสอนให้รู้จักตนเอง รู้จักความพอดี การลด ละ เลิก อบายมุข การลดสิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ แต่ก่อนลุงสวาทใช้จ่ายโดยไม่คิดอะไรเพราะเชื่อว่า ตนเองประหยัด และไม่มีเงิน มากพอที่จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว แต่พอมาจัดทำบัญชี ครัวเรือนถึงรู้ว่ามีอีกมากมายที่เรายังสามารถประหยัดได้อีก นอกจากนี้ ที่นี่ยังสอนทางแก้ปัญหาเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ การลด ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนด้วยการทำ ของใช้ต่างๆ เช่น สบู่ แชมพู น้ำยาอเนกประสงค์ใช้เอง

เมื่อกลับจากการอบรม ลุงสวาท นำความรู้ที่ได้มาปฏิบัติในครัวเรือน เริ่มจากตนเองที่เลิกดื่มเหล้า ทำให้คนในครอบครัวดีใจ การลองทำแชมพู สบู่สมุนไพร น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า แรกๆทำใช้เอง ต่อมาก็ค่อยๆขายให้กับเพื่อนบ้านทำให้มีรายได้เพิ่ม การทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อนำมาใช้ในไร่ ในนา พร้อมๆ กับเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ที่มีอยู่ให้กับชาวบ้านอื่นๆที่สนใจ เพราะเชื่อมั่นว่า การให้คือสิ่งที่ดีที่สุดและถ้าชาวบ้านทุกคนหันเข้าสู่วิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ประหยัด ทุกคนก็จะไม่ยากจน สิ่งแวดล้อมโดยรวม ของหมู่บ้านของประเทศชาติก็จะดีขึ้น ปัจจุบันนอกจาก ลุงสวาท มีรายได้เสริม จากการขายสบู่ ยาสระผมสมุนไพร และยังเป็นผู้นำในการผลิตปุ๋ยธรรมชาติในหมู่บ้านอีกด้วย

สนใจแนวทางแบบสัจธรรมชีวิต ติดต่อ ลุงสวาท ได้ที่ ๓๗๔ หมู่ ๑ บ้านโคก ต.บ้านโคก อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ๓๙๒๗๐.

(จาก นสพ. เดลินิวส์ ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๔ ม.ค.๔๗)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

- สัมภาษณ์ สมณะเดินดิน ติกขวีโร - (ตอน ๑)

ได้ข้อคิดอะไรกรณีท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มาพักค้างที่ศีรษะอโศกเป็นครั้งแรก กับภาวะของงานมากมาย ที่เข้ามาจะทำอย่างไรถึงจะสอดคล้อง กับวิถีชีวิตของชุมชน แล้วพบกับข้อคิดฉบับนี้ที่ไม่ควรพลาด


- ท่านนายกรัฐมนตรีมาครั้งนี้ท่านได้ข้อคิดอะไรบ้างคะ

ก็ได้ความชัดเจนในวิถีชีวิตของระบบบุญนิยมของพวกเรา ท่านนายกฯมาศีรษะอโศกครั้งนี้ก็คงตั้งใจมาดูวิถีชีวิตของ พวกเราด้วย ก่อนเตรียมงานดูเหมือนว่าค่อนข้างมีปัญหาเยอะ เพราะว่ามีทั้งส่วนราชการ ทั้งบุคคลหลายฝ่ายประสาน เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ ทุกๆฝ่ายก็คาดไว้ว่านายกฯมาครั้งนี้ เขาน่าจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ท่านนายกฯจะอนุมัติโครงการกี่ร้อยล้าน เขาก็เตรียมกันเต็มที่เลย จนพ่อท่านต้องมาให้นโยบายกับพวกเราว่า ถ้าเป็นชาวบุญนิยมแล้ว เราไม่ต้องไปคิดว่าจะได้อะไร จะเอาอะไร ขอให้พวกเราทุกคนทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ เป็นผู้บริการ คอยช่วยเหลือประสานทุกๆฝ่ายให้ดีเท่านี้ก็พอ ก็รู้สึกว่า ตรงนี้ทำให้พวกเรามีทิศทางที่จะเตรียมงานกันได้ง่ายขึ้น

แม้แต่ตัวพ่อท่านเองแต่เดิมทีท่านก็ไม่คิดจะมาพบท่านนายกฯเลย ท่านก็วิเคราะห์ให้ฟังว่า ถ้าท่านนายกฯมาโดยไม่มี พ่อท่านอยู่ ท่านนายกฯอาจจะสบายใจกว่า ไม่ต้องระมัดระวังอะไรมาก เพราะบางทีคนที่ต่อต้านเรามีเยอะ เพราะฉะนั้น ก็ปล่อยท่านนายกฯ ได้เป็นประธานอยู่ในสถานที่เลย น่าจะดีที่สุด แต่ว่าพอใกล้งานจริงๆ ท่าน พล.ต.จำลอง บอกว่าไม่ได้ พ่อท่านน่าจะมา เพราะท่านนายกฯ ก็ต้องการที่จะมาพบปะพูดคุยด้วย แล้วตัวพล.ต.จำลองเองก็อาจจะไม่ได้มา เพราะติดอบรม ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ ร.ร.ผู้นำ แต่ว่าเวลาวันจริงๆทั้งพล.ต.จำลอง ทั้งพ่อท่านต้องมาทั้งคู่ แม้วันที่ท่านนายกฯ มา เจ้าหน้าที่ทางจังหวัด ก็เตรียมจัดที่ไว้ให้พ่อท่านนั่งอยู่หน้าร้านน้ำใจ มีสมณะนั่ง มีทีมนักบวชนั่ง พ่อท่านเองก็ปฏิเสธ ที่จะมาคอยรับ ท่านนายกฯ เพราะพ่อท่านเองก็มองว่า ถ้าท่านนายกฯมาถึง ก็จะต้องเดินเข้ามานมัสการ ต้องเข้ามาทักทาย ซึ่งเรื่องนี้ ก็จะเป็นเรื่องทำให้ท่านนายกฯอาจลำบากใจเปล่าๆ หรือจะเป็นภาพข่าวออกไป จะทำให้ดูไม่ดีกับคนที่เขายังคิด ต่อต้านเราอยู่ พ่อท่านก็เลยเดินดูความเรียบร้อยของงานทั่วๆไปแม้แต่ท่านพล.ต.จำลองเอง ก็ไปอยู่ทางด้านอื่นๆ เก็บตัว ไม่ออกมาเหมือนกัน แต่ว่าพอท่านนายกฯ มาจริงๆก็เดินเข้ามานมัสการสมณะและคิดว่าพ่อท่านจะอยู่ แต่พ่อท่านไม่อยู่ ท่านนายกฯ ก็บอกท่านสมณะที่นั่งอยู่แต่เพียงว่า มาขออาศัยพักด้วย ซึ่งท่านก็อ่อนน้อมถ่อมตนอย่างมาก แล้วสุดท้าย ก็ถามหา พล.ต.จำลอง ซึ่งสุดท้ายพล.ต.จำลองก็ต้องออกมาคอยต้อนรับอยู่ดี เล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพื่อจะได้เห็นว่า วิถีชีวิตของบุญนิยม จะเป็นวิถีชีวิต ที่ไม่ได้คิดที่จะฉวยโอกาส หรือเอาประโยชน์จากใครๆ

จริงๆแล้ว ถ้ามีภาพพ่อท่านกับท่านนายกฯออกไป มองทางโลกที่คิดแต่จะเอาผลได้ของตัวเอง มันน่าจะช่วยยกเครดิต ให้กับ ชาวอโศก แต่สิ่งที่พ่อท่านคิดคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรท่านนายกฯจะไม่เสียนะ แล้วตัวท่านเองก็ไม่คิดจะได้ ผลประโยชน์อะไร แล้วพยายามระวังเรื่องที่จะเป็นผลเสียให้กับผู้อื่น ตรงนี้อาตมาคิดว่า ชาวบุญนิยมจะต้องพยายาม ที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้กัน พยามยามมีพฤติกรรมของความเป็นผู้ให้ให้ชัดเจน เราจะไม่หนัก

ตัวอย่างที่หนักๆ เหมือนเราทำกสิกรรม ทุกวันนี้ ก็ยังเห็นอยู่ว่าเราทำหนักเพราะว่าเราคิดที่จะเอาจากแม่พระธรณีอย่างเดียว เราก็เลยต้องใส่ปุ๋ย ต้องขุด ต้องไถ ต้องพรวน ต้องรดน้ำ เพราะมันไม่เป็นธรรมชาติ เพื่อน ของเราที่คอยช่วยเหลือ เช่น จุลินทรีย์ก็ดี ไส้เดือนก็ดี นกก็ดี เมื่อสิ่งแวดล้อมมันไม่เป็นธรรมชาติที่ดีงาม เพื่อนที่มาคอยช่วยเหลือไถพรวนดินให้เรา ไม่ว่า จุลินทรีย์ ไส้เดือน นก แมลงปอ แมลงมุมที่ช่วยจับพวกแมลงต่างๆก็ไม่มี เพราะเราไปขุด ไปไถ ไปทำลายดิน ทำลายไส้เดือน เพราะให้ได้ดั่งใจของเรา งานตรงนี้จะเป็นงานที่หนักมากเลย เพราะเราไม่ได้คิดที่จะให้อะไรกับแม่ธรณี จะทำแม่ธรณีให้เป็น ดินมีชีวิต หรือคิดจะให้มีสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้อย่างไร เราคิดแต่ว่าเราปลูกแตงโมเราจะได้กินแตงโม เราปลูกผัก เราคิดแต่จะได้กินผัก แต่เราไม่คิดที่จะให้กับสิ่งแวดล้อม

เพราะฉะนั้นคนที่ไม่คิดแบบบุญนิยมทำอะไรก็จะหนักหนาสาหัสสากรรจ์ แต่ถ้าเราคิดจะให้ ท่านพุทธทาสบอกว่า จิตที่คิด จะให้ ย่อมสบายกว่าจิตที่คิดจะเอา คนที่คิดจะให้นั้นจะเป็นบุญนิยมมีความสุขมีความสบายกว่าความคิดที่จะเอา ซึ่งเป็นวิถีชีวิต แบบทุนนิยม

ข้อคิดอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า อโศกยุคนี้เป็นยุคไร้พรมแดนจริงๆเลย ในงานต้อนรับท่านนายกฯครั้งนี้ พวกเราจากทุกที่ มาระดม ช่วยกัน ที่ศีรษะอโศก เผอิญที่ศีรษะอโศก เด็กก็ไม่อยู่ ผู้ใหญ่ก็น้อย แต่ละที่แทบจะเข้ามาเป็นเจ้าภาพแทนศีรษะอโศก ก็ได้เห็นถึง ความไร้พรมแดนที่ว่า พอเราไม่ได้ติดว่าเราเป็นคนบ้านราชฯ เราเป็นคนสันติอโศก ทุกๆที่คือสมบัติของเรา ก็รู้สึกว่า สมบัติของเรามีเยอะแยะมากมายเลยนะที่เราต้องช่วยเหลือกัน พ่อท่านก็ถามเด็กๆเหมือนกันว่า ถ้าผู้ใหญ่ตายไปแล้ว ที่ของอโศก ทั้งหมดจะเป็นของใคร ก็เป็นของเด็กๆนั่นแหละที่จะต้องสืบทอดต่อ ก็ได้เห็นชัดเจนว่า เมื่อเราไม่ติดยึดแต่สถานที่ ของเรา เมื่อเราทำตัวเป็นกองกลาง เป็นส่วนกลาง ก็จะทำให้ชีวิตเราเป็นชีวิตที่ไร้พรมแดน ความเป็นภราดรภาพของเรา ก็จะออกไปกว้างขวาง

เพราะฉะนั้นทำอย่างไรที่ให้ชีวิตของเราเป็นคนส่วนกลาง ทำเพื่อส่วนกลาง ไม่ใช่ทำส่วนกลางก็จริง แต่ก็มีอะไร ที่มีความเป็น ส่วนตัวอยู่เยอะ ตอนนี้มีคนที่เฉโกที่ใช้ ระบบสาธารณโภคีเข้ามาอยู่ในส่วนกลาง ตอนที่ส่วนกลางได้ผลประโยชน์ตัวเอง ก็พลอยได้ผลประโยชน์ไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็สะสมสมบัติส่วนตัวเอาไว้ข้างนอก ด้วย คือตอนกินตอนอยู่ร่วมกัน ก็ใช้เป็นส่วนกลาง แต่ตอนเอาตอนมีอะไรก็เก็บเอาไว้เป็นส่วนตัว ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นกำไร แต่ก็เป็นกำไรโลกียะ เป็นกำไรให้กับ การสะสมบาปให้กับตัวเองอยู่ ดังนั้นถ้าใครสามารถที่จะเป็นคนส่วนกลาง ทำงานเพื่อส่วนกลาง โดยไม่มีความเป็นสมบัติ ส่วนตัว ไม่มีความเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวได้มากเท่าไหร่ ก็คิดว่าคนๆนั้นน่าจะเป็นบุญนิยมที่สมบูรณ์ที่สุด


- งานของเรานับวันมีแต่จะหนักหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ จะแก้ปัญหาความหนักหนาสาหัสสากรรจ์นี้ได้อย่างไรบ้างคะ

เราคงจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต หรือพฤติกรรมของเราที่หนักไปในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า คนที่ชอบคิดอะไรหนักๆอยู่คนเดียว คิดดุ่ยๆอยู่คนเดียว ก็คงจะต้องมาเปลี่ยนแปลงว่า ทำยังไงเราถึงจะช่วยกันคิด มาประชุมร่วมกัน ร่วมด้วยช่วยกัน ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะออกจากปัญหาที่คิดหนัก แล้วก็แปลกจริงๆ คนที่เก็บตัวเงียบๆ คิดหนักๆอยู่คนเดียว พวกนี้เขาประชุมอะไรกันก็ไม่รู้เรื่อง แต่เวลามีคนสำคัญๆมา อย่างเช่นมีท่านนายกฯมา พวกเงียบๆกลับโอ้โห โผล่ออกมาจากไหนไม่รู้เรื่อง เตรียมเข้ามาประกบ ท่านนายกฯ จนดูไม่เหมาะสม อันนี้คนที่ดุ่ยๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่เข้าประชุม คิดอะไรไว้ คนเดียว แล้วเวลาโผล่ขึ้นมา มันก็ไม่ค่อย ที่จะรู้สมมุติโลก รู้ความเหมาะสมเท่าไหร่

หรือเราก็ชอบพูดหนักๆ พูดเพื่อให้เกิดการแตกแยก พูดแบบปืนกลหนัก พูดแล้วคนมีอันเป็นไปเยอะเลย เราคงต้องมา ปรับเปลี่ยน พูดยังไงเพื่อก่อให้เกิดการประสานสัมพันธ์ ก่อให้เกิดความสามัคคี เพื่อให้เกิดมิตรภาพ ไม่ใช่พูดให้ได้อย่าง ที่ใจเราคิด เพื่อนจะเป็นยังไงไม่สนใจ พูดหนักๆอย่างนี้ก็เป็นทิศทางของความหนัก

หรือแม้แต่ทำ ก็ทำหนักๆ ทำอย่าง ยึดมั่นถือมั่นค่อนข้างจะมาก ใครมาเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ จะต้องเอาอย่างที่เราคิด ต้องเป็นความสำเร็จอย่างที่เรากำหนด อันนี้เป็นความหนัก มันไม่มีแนวร่วม มีแต่แนวรบ สุดท้ายก็ต้องทำคนเดียว ทำคนเดียว ก็หนักอยู่แล้ว เสร็จแล้วเพื่อนก็พร้อมที่จะถล่มอีกต่างหาก อย่างนี้ก็เป็นการทำ ที่หนัก เราจะทำอะไรก็ควรเป็นการที่จะประสาน ร่วมไม้ร่วมมือ ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ได้ก็เพราะเราไม่ยึดเอาแต่ความคิดของเรา ก็จะทำให้ทำงานไม่หนัก พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงก็ได้ ความสำเร็จของชีวิตไม่ได้อยู่ที่จะต้องเป็นอย่างที่เราคิด แต่อยู่ที่เราพร้อมที่จะให้หมู่กลุ่มเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเราไม่ได้มีทิฐิ ปักมั่น ไม่ได้ยึดเอาแต่ใจตัวของเรา เราได้ล้างอรูปอัตตาของเรา อันนี้คือความสำเร็จของชีวิต เป็นความสำเร็จของจิตวิญญาณ และ เป็นความสำเร็จของงานที่สมบูรณ์ออกมาที่สุดอีกด้วย

สุดท้ายแม้แต่กินอาหารหนักๆ ความเจ็บป่วยของชาวอโศก หลายๆคนก็เนื่องมาจากกินอาหารหนักๆ มีทั้งผลไม้หวาน มีทั้งขนมหวาน มีทั้งอาหารปรุงแต่งเต็มที่ แม้พ่อท่านจะกำหนดกินไม่ให้เกิน ๕ อย่าง พวกเราก็คงทำได้ยาก อาหารก็มาก ขนมก็มาก ผลไม้ก็มาก คือเป็นของหนัก ย่อยยาก กินก็กินหนักๆ วิถีชีวิตก็มีแต่ความหนัก กินก็หนัก คิดก็หนัก พูดก็หนัก ทำก็หนัก แล้วงานก็หนักเข้ามาอีกด้วย ตายแน่ๆ เราก็คงจะต้องหาทางที่ว่า กินอาหารยังไงให้ร่างกายเบาสบาย ได้อานิสงส์ของ การกินอาหาร ไม่ใช่อาหารกินเรา คิดยังไงที่จะทำให้จิตของเราเบา ไม่ใช่คิดไปแล้วหนักขึ้น ถ้าคิดจะเอาจิตก็จะหนัก ถ้าคิดจะให้ จิตเราก็จะเบา แม้แต่พูด พูดยังไงที่จะทำให้เกิดมิตร ไม่ใช่พูดไปแล้วมีแต่ศัตรูรอบตัว สุดท้ายแม้แต่ทำ ทำยังไงที่จะให้เบาขึ้น เรื่อยๆ เพราะไม่ปักมั่นหรือยึดจัด ไม่ใช่ทำไปแล้วมีแต่หนักหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อคิดเบา พูดเบา ทำเบา กินเบา เป็นผู้ไปเบามาเบา เบาหมายความว่ามีความแววไว มีมุทุภูเต มีสัปปุริสสธรรมที่ดี ก็จะทำให้เราผ่าวิกฤติที่มีแต่จะหนักหน้าขึ้นไปเรื่อยๆได้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ครั้งที่ ๒ ของงานรวมศิษย์เก่า สส.ส.
พ่อท่านเอื้อกลับบ้านเถิดลูก
หลายคนอยู่ร่วมงาน พฟด.ต่อ

"งานคืนสู่เหย้า เข้าคืนถ้ำ สัมมาสิกขา" ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ พ.ค. ๒๕๔๗ ที่ราชธานีอโศก มีศิษย์เก่าสัมมาสิกขา มาร่วมงานน้อยกว่าครั้งแรก (๔๑๗ คน) ครั้งนี้เหมือนจะพิสูจน์ศิษย์เก่าสัมมาสิกขาว่าเป็นพันธุ์แท้หรือไม่ เพราะไม่ตรงกับ วันหยุด หากรับราชการหรือทำงานเอกชนก็ต้องลา ผู้ทำธุรกิจส่วนตัวก็อาจสูญเสียรายได้ที่โลกย์หลอกว่ามีค่าไปหลายวัน
ภาคเช้าลงทะเบียนแยกตามพุทธสถาน มี ๖ แห่ง คือ ปฐมอโศก, สันติอโศก, ราชธานีอโศก, ศีรษะอโศก, ศาลีอโศก และสีมาอโศก มีผู้มาลงทะเบียน ๒๑๘ คน ฟังธรรมก่อนฉัน "โหมโรง" พ่อท่านบอกว่าอยู่บ้านเถิดลูกพ่อปลูกอโศกให้เจ้า ซึ่งจะแตกกิ่งก้านสาขาขึ้นมาในประเทศไทยในอนาคต ซึ่งทุกสิ่งที่สร้างจะเป็นสมบัติของชาวอโศก คือสัมมาสิกขาทุกคน ที่จะเข้ามาอยู่

ภาคบ่าย พิธีไหว้ครู เริ่มด้วยรายการศิษย์เก่าเปิดใจ บอกเล่าถึงความรู้สึกสมัยเป็นสัมมาสิกขาจนจบการศึกษา ออกไปใช้ชีวิต ภายนอกนั้น ได้นำสิ่งที่คณะอาได้อบรมสั่งสอนมาตลอด ๖ ปี นำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข มีพี่ๆศิษย์เก่าจาก ศีรษะอโศก ๒ คน, สันติอโศก ๑ คน, ปฐมอโศก ๑ คน ดำเนินรายการโดยสมณะฟ้าไท สมชาติโก หลังจากนั้นตัวแทน ๖ พุทธสถาน มอบพวงมาลัยแทนคำขอบพระคุณคุรุที่ได้อบรมสั่งสอนมายาวนาน ๖ ปี พร้อมกับเพลงก้าวตามพ่อที่เปิดคลอ และ ศิษย์เก่าสัมมาสิกขาทุกคน กราบคุรุ และตัวแทนคุรุเปิดใจ

ภาคค่ำกินข้าวร่วมกัน สนุกสนานกับวงฆราวาส ศิษย์เก่าร่วมสร้างความบันเทิง แล้วแยกย้ายกันไปพักผ่อนนอนหลับ

วันที่สอง ๑๓ พ.ค. ธรรมะรับอรุณ โดยพ่อท่าน ที่วันนี้พ่อท่านถึงกับย้ายลงมานั่งเทศน์ พูดคุยกับลูกๆ บรรยากาศเหมือน เอื้อไออุ่น พูดคุยกันเหมือนพ่อๆลูกๆ เมื่อลูกๆกลับมาบ้านมาเรือนทั้งทีจะต้องไปมีกำหนดการพิธีการเท่านั้นทำไม

หลังจากนั้นออกกำลังกาย โฮมแฮงทิ้งหยาดเหงื่อเพื่อกตัญญูสถานที่อันเป็นเครื่องหมายของคนดี รับประทานอาหาร พักผ่อน ตามอัธยาศรัย ประชุมจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา และจัดตั้งกองบุญสัมมาสิกขา พ่อท่านเป็นประธานการประชุม

ภาคค่ำร่วมสนุกสนานกับการแสดงของศิษย์เก่าแต่ละโรงเรียนที่ต่างก็สะท้อนชีวิตในวัยเด็กของการเป็นสัมมาสิกขา และ อนาคตที่จะต้องกลับมาช่วยงานศาสนาทดแทนพระคุณของพ่อท่านแน่นอน แต่ขอเวลาอีกสักนิด

วันสุดท้าย ๐๔.๐๐-๐๖.๐๐ น. ศิษย์เก่าพบสมณะ สิกขมาตุและคณะคุรุ แล้วทำบุญตักบาตร ถ่ายรูปร่วมกัน ก่อนฉัน พ่อท่าน ให้โอวาทสุดท้าย ศิษย์เก่าที่จบ ม.๖ คนที่ยังไม่ได้ของที่ระลึก "จี้เงิน" รูปใบโพธิ์ รับจากพ่อท่าน แล้วรับประทานอาหารร่วมกัน แยกย้าย กันเดินทางกลับ หากใครสามารถอยู่ต่อได้ก็อยู่ช่วยเตรียมงานเพื่อฟ้าดิน

ความรู้สึกของศิษย์เก่าที่มาร่วมงานได้พูดถึงสมัยที่เป็นสัมมาสิกขาและเมื่อจบออกไปแล้ว ดังนี้

นายสุทธิพงษ์ ศรีเชียงสา ศิษย์เก่าปฐมอโศก นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ ม.ขอนแก่น คณะศึกษาศาสตร์ "ชีวิตประจำวันของผมทุกวันนี้ ผมนำมาจากวัดทั้งนั้นเลยครับ รู้สึกคุ้มค่ามากกับการมาอยู่วัด ๖ ปี และศีล เป็นอาภรณ์คุ้มครองผมได้ดีที่สุด เมื่ออยู่ใน กระแสโลกีย์ ผมคิดว่าสัมมาสิกขาที่ออกไปเพื่อกลับมา จะช้าหรือเร็วนั้นอยู่ที่แต่ละคน เพราะทุกคนรู้อะไรดีๆแล้ว หากใครมาก่อน ก็มารอเพื่อนก่อน ใครมาทีหลังก็มาเจริญธรรมเพื่อนครับ

ปีที่แล้วไม่มีพิธีไหว้ครูปีนี้ผมว่าดีมากๆ เลยครับ คำว่าครูที่นี่มากกว่าคำว่าครูที่อยู่ข้างนอก ผมคิดว่าผมพูดไม่ผิดนะครับ ว่าความหวังของชาติไทยอยู่ที่ศิษย์เก่าสัมมาสิกขา เพราะไปเพื่อกลับมาช่วยกันเข็นกงล้อครับ"

นางจริยา(ทอฟ้า) สมสวัสดิ์ ศิษย์เก่าสันติอโศก "งานครั้งนี้ได้เจอเพื่อนๆ ประทับใจพ่อท่านที่สอนลูกๆ และอยากให้ลูกๆ เข้ามาช่วยกันทำงานศาสนา หนูเข้ามาอยู่ที่ราชธานีอโศก ไม่คิดจะออกไปจากที่นี้ ก็พยายามช่วยงานเยอะๆ"

นายธรรมนูญ เวียงแก้ว ศิษย์เก่าศีรษะอโศก "ผมเป็นศิษย์เก่ารุ่นที่ ๒ ประทับใจตั้งแต่งานครั้งแรกแล้ว ครั้งที่สองก็ต้องมาซิครับ เพราะมันกลายเป็นประเพณีไปแล้ว ไม่อยากให้มันสูญหายไป ก็จะพยายามรักษาประเพณีอันนี้เอาไว้ให้ได้ ไม่ให้ขาดหายไป จากสังคมของชาวอโศก ประทับใจคนที่มาร่วมงานเขาก็สละเวลา เพราะวันนี้ไม่ใช่วันหยุด แต่คนที่ไม่มาก็รู้สึกเสียดาย ที่เขาไม่ได้มาฟังพ่อท่านเทศน์ ผมได้อะไรดีๆไปหลายอย่าง ผมออกจากวัดไปนาน ได้มาฟังอะไรดีๆ ก็จะกลับเอาไปทำไปใช้ ในชีวิตประจำวัน เพื่อจะทำให้ชีวิตดีขึ้นครับ"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ด้วยความห่วงใยของหมอมังฯต่อนักมังสวิรัติ

ิ* นักมังสวิรัติกับดีท็อกซ์
การทำดีท็อกซ์เหมาะสำหรับคนกินเนื้อ มีการวิจัยกันว่า คนที่กินผักเยอะ พอกินเสร็จ ๑๘ ช.ม. ก็จะถ่าย เพราะ ไฟเบอร์จะเยอะ มันจะล้างตลอดเวลา อย่างพวกหรรษาที่อายุยืน เขาถ่ายวันละ ๓ ครั้ง และส้วมที่เราใช้ ถ้าเป็นส้วมนั่งโถชักโครก อุจจาระจะค้าง ก้อนสุดท้ายจะไม่ออก แต่ถ้าเป็นส้วมนั่งยองๆ อุจจาระเกือบทั้งหมดจะออก

เพราะฉะนั้นถ้าเรากินมังสวิรัติแล้ว นั่งยองๆถ่าย ไม่จำเป็นต้องไปดีท็อกซ์ เพราะชาวหรรษาอายุยืนเป็นร้อยๆปี เขาไม่รู้จัก ดีท็อกซ์ ไม่รู้จักกาแฟด้วยซ้ำ เขาอยู่มาเป็นร้อยๆปี ดีท็อกซ์เหมาะสำหรับคนเมือง พวกฝรั่งที่ชอบกินแต่เนื้อ เพราะกินวันนี้ อีก ๓ วัน เขาถึงจะถ่าย เพราะมันไปค้างอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ประมาณ ๒ วัน แล้วสุดท้ายเขานั่งถ่ายเขานั่งโถชักโครก อุจจาระมันไม่เคยหมด มันก็เลยเน่า

ที่ดีท็อกซ์ดังก็เพราะจอนห์เวย์ตาย พอเขาไปผ่าตัด โอ้โห! ลำไส้อุดตันเลย มีแต่เนื้อ เราเป็นนักมังสวิรัติ แล้วนั่งโถเตี้ย การดีท็อกซ์ ก็ไม่จำเป็น มันไม่มีท็อกซิน อาหารเราก็ปลูกเอง กินเอง ท็อกซินจะมาจากไหน อยู่ที่นี่มีแต่ธรรมชาติ

เพราะฉะนั้นจึงอ้างอิงไปถึงชาวหรรษา ทำไมอายุยืน เขาไม่มีการดีท็อกซ์ และผักที่เรากินเข้าไปคือแปรงฟันอย่างธรรมชาติ เพราะผัก มีไฟเบอร์เมื่อเรากินเข้าไปมันก็กวาด เป็นตัวกวาดตลอด โดยเฉพาะข้าวกล้องมีเส้นใยที่ละลายน้ำได้ด้วย

ในความเห็นผมดีท็อกซ์เหมาะสำหรับคนเมือง คนกินเนื้อ คนนั่งโถชักโครก

* อันตรายของอัลฟ่าท็อกซิน
ข้าวอาร์ซีที่เขาห่อขายตามห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เคยเอาไปตรวจพบมีสารก่อมะเร็งโดยส่วนใหญ่ ๑๐ % มีอัลฟ่าท็อกซิน ถ้าเราไปดูจะเห็นเป็นขุยๆเยอะ ขึ้นเชื้อรา ข้าวกล้องอย่าไปเก็บนานแค่เดือนหนึ่ง (สี่อาทิตย์) เชื้อราก็ไปแล้ว ดังนั้น นักมังสวิรัติกลายเป็นมะเร็งตับเยอะ เพราะไปกินธัญพืชที่เก็บไว้นาน

อย่างถั่วเหลืองที่อเมริกาเคยเป็นอัลฟ่าท็อกซินทั้ง Lot อเมริกาห้ามขาย เขาก็เก็บเอาไว้รอต้นปีเอารุ่นใหม่มาผสม แล้วส่งมาขาย ให้ประเทศไทย เพราะฉะนั้น มังสวิรัติกินธัญพืชเกิดอัลฟ่าท็อกซิน พวกมังสวิรัติปลูกเองกินเองปลอดภัยที่สุด แต่เก็บนานก็ไม่ได้

ทำไมนักมังสวิรัติถึงเป็นมะเร็งตับ ก็ไปเจอสาเหตุเดียวคือธัญพืช

* ผักพื้นบ้าน
ผักพื้นบ้านมีอ็อกซาเลส (oxalate) สูง ถ้ากินเยอะจะเป็นนิ่ว ซึ่งคนอีสานเป็นนิ่วเยอะ การแก้ก็คือถ้าเรากินผักพื้นบ้าน เราต้องกินถั่ว หรือเต้าหู้เยอะ เพราะในเต้าหู้มีฟอสเฟตเยอะ กินเข้าไปแล้วไปผสม ผสานกัน คือถ้าเรากินน้ำพริกกับผักกระโดน ผักเม็ก แล้วกินข้าว พวกนี้จะเป็นนิ่วเพราะว่าเป็นอ็อกซาเลส (oxalate) ต้องกินถั่ว.

(น.พ.สมนึก ศิริพานทอง รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สันติอโศกจัดอมรมโครงการวิจัย
สร้างเสริมสุขภาวะจิตวิญญาณชาวอโศก

ศึกษาวิธีการเก็บข้อมูล วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี

ระหว่างวันที่ ๓-๕ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ชุมชนสันติอโศกร่วมกับสมาคมวิจัยเชิงคุณภาพแห่งประเทศไทย (THAI ASSOCIATION QUALITATIVE RESEARCHERS) จัดอบรมวิธีวิจัยเชิงคุณภาพกับโครงการวิจัย "การสร้างเสริมสุขภาวะจิตวิญญาณ ศึกษากรณีชุมชน ชาวอโศก" ให้แก่ผู้ช่วยวิจัยในโครงการฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่ม/ชุมชนชาวอโศกจำนวน ๙ แห่ง ประกอบด้วยชุมชนที่มี พุทธสถาน ๕ แห่งและกลุ่ม/ ชุมชนที่ไม่มีพุทธสถาน ๔ แห่ง คือ
๑.ภาคเหนือ พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ จ.เชียงใหม่
๒.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พุทธสถานศีรษะอโศก จ.ศรีสะเกษ
๓.ภาคกลาง พุทธสถานปฐมอโศก จ.นครปฐม
๔.กรุงเทพฯ พุทธสถานสันติอโศก
๕.ภาคใต้ สังฆสถานทักษิณอโศก จ.ตรัง
๖.ภาคกลาง กลุ่มปราการอโศก จ.สมุทรปราการ
๗.ภาคตะวันออก กลุ่มศรีบูรพา จ.ปราจีนบุรี
๘.ภาคเหนือ ชุมชนดอยรายปลายฟ้า จ.เชียงราย
๙.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชุมชนดินหนองแดนเหนือ จ.อุดรธานี

การอบรมจัดขึ้นที่ห้องสัจจะออมทรัพย์ ชุมชนสันติอโศก มีผู้เข้าอบรมและสังเกตการณ์ทั้งหมด ๓๒ คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

๑. ศึกษาแนวทางของชุมชนชาวอโศกในการสร้างเสริมสุขภาวะจิตวิญญาณ ได้แก่ ค่านิยมและความเชื่อ บรรทัดฐานทางสังคม วิถีชีวิตประจำวัน การงานอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี การศึกษาและการบริหารปกครอง

๒. ศึกษาสุขภาวะจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นเป้าหมายของสมาชิกชุมชนชาวอโศก คือ ความเป็นคนเลี้ยงง่าย (ใช้ชีวิตเรียบง่าย) บำรุงง่าย (สอนง่าย พร้อมที่จะพัฒนาตนเอง) มักน้อย มีใจพอ (ยินดีในสิ่งที่ได้ที่เป็นอยู่) มีการขัดเกลากิเลสของตนเอง และ ผู้อื่น มีศีลเคร่ง มีอาการน่าเลื่อมใส ไม่สะสมกอบโกย และขยัน

หลังอบรม ตัวแทนทั้ง ๙ แห่งจะกลับไปเก็บข้อมูลกลุ่ม/ชุมชนของตนเองเป็นระยะเวลา ๓ เดือน และจะนัดพูดคุยกันครั้งแรก ในวันที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๔๗ ในงานอโศกรำลึก โครงการวิจัยนี้ใช้ระยะเวลา ๒ ปี

ผู้อบรมจะไปสัมภาษณ์เจาะลึกบุคคลผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ๑๔ คน ประกอบด้วย

๑. ผู้นำชุมชน ๑ คน เป็นบุคคลที่สมาชิกชุมชนเคารพนับถือ เป็นผู้นำจิตวิญญาณ

๒. ที่ปรึกษาคณะกรรมการชุมชน ๓ คน เป็นผู้ทรงคุณธรรมและคุณวุฒิ ซึ่งกรรมการชุมชนขอคำปรึกษา ทั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ

๓. คณะกรรมการชุมชน ชุมชนละ ๕ คน ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนฝ่ายการศึกษา ผู้แทนฝ่าย สาธารณสุข ผู้แทนฝ่ายเศรษฐกิจ

๔. สมาชิกชุมชน ชุมชนละ ๕ คน ประกอบด้วยบุคคลที่ดำรงฐานะต่างๆกัน ได้แก่ นักบวช ผู้เตรียมบวช คนวัด สมาชิกชุมชน ญาติธรรม และสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงการไม่จำกัดจำนวน ซึ่งจะดูตามความเหมาะสม

๓ พ.ค.พ่อท่านให้โอวาทเปิดประชุมว่า ขอบคุณทุกคนที่เสียสละมาประชุม ซึ่งงานนี้ไม่มีสิ่งใดเป็นค่าตอบแทน ก็ขอขอบคุณ ทุกคน หลังจากนั้น ดร.สุภางค์ จันทวานิช บรรยายเรื่องปรัชญาและหลักการพื้นฐานในการวิจัยเชิงคุณภาพ, กระบวนการ ในการวิจัยเชิงคุณภาพ, การพัฒนาประเด็นการวิจัย, การเก็บข้อมูลด้วยวิธีการหลักๆ (การสังเกต, การสัมภาษณ์เจาะลึก, สนทนากลุ่ม), การสังเคราะห์ข้อมูล และการเขียนรายงาน ในช่วงท้ายเปิดโอกาสให้ซักถาม

๔ พ.ค. ภาคเช้า ดร.ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ บรรยายเรื่องหลักการสังเกตโดยทั่วไป, แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การสังเกต, สรุปบทเรียนเบื้องต้น เกี่ยวกับ การสังเกต ภาคบ่ายระดมสมองจัดหัวข้อวิจัยเพื่อฝึกปฏิบัติการสังเกต ๓๐ นาที และแบ่งกลุ่ม ฝึกภาคสนามทดลองสังเกตหน่วยงานต่างๆของชุมชนสันติอโศก ฝึกนำเสนอ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน

๕ พ.ค. ภาคเช้า ดร.ชมพูนุท โสภาจารีย์ บรรยายการสัมภาษณ์เจาะลึก แล้วแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัดการสัมภาษณ์เชิงลึก ภาคบ่ายดร.เพ็ญพักตร์ อุทิศ บรรยายการสนทนากลุ่ม แล้วแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกหัดการสนทนากลุ่ม พ่อท่านให้โอวาท ปิดการประชุม

อาจารย์ผู้บรรยายและผู้อบรมได้ให้สัมภาษณ์ ดังนี้

อุบาสิการินธรรม อโศกตระกูล ผู้วิจัย "คือว่าพวกเราคณะหนึ่ง มีความคิดว่าเราน่าจะเก็บข้อมูลชาวอโศกทั้งข้อมูล รูปธรรม กายภาพ ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติธรรม ที่จะสามารถตอบคนอื่นได้ว่าพวกเราปฏิบัติธรรมยังไง เผื่อคนที่อยากจะศึกษา ได้มาดู มาอ่าน เข้าใจว่ามีวิธีปฏิบัติธรรมอย่างไร ทีนี้ก็พยายามให้นิสิตวังชีวิตเก็บข้อมูลชุมชน ตัวเองและเก็บข้อมูล ในด้าน การปฏิบัติธรรม ของตัวเองด้วย แต่ว่ายังไม่ถึงเวลาของนิสิตวังชีวิตที่จะทำตรงนี้ พอดีทาง สสส.ให้ทุนวิจัยการสร้างเสริม สุขภาวะ ทั้งกาย สุขภาวะจิต สุขภาวะสังคม และสุขภาวะจิตวิญญาณ จึงขอทุนทำวิจัยเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะ จิตวิญญาณ ของชาวอโศก ทาง สสส.เขาเห็นประโยชน์จึงให้ทุนมาทำวิจัย

คือจะศึกษาว่าชาวอโศกปฏิบัติธรรมอย่างไร พัฒนาจิตวิญญาณตัวเองอย่างไร ทาง สสส.บอกว่า ในการวิจัยอย่างนี้ น่าจะได้ ความร่วมมือจากชุมชน โดยให้สมาชิกในชุมชนเก็บข้อมูลพื้นฐานของชุมชนมาก่อน ไม่ใช่ทีมวิจัยแค่ ๔-๕ คนเข้าไปเก็บเท่านั้น เขาอยากให้คนในชุมชนเก็บด้วย ก็เลยต้องมีการอบรมวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ วิธีการเก็บข้อมูลชาวชุมชน ที่จะมาเก็บข้อมูล ให้ทีมวิจัย

จึงประสานงานไปทั้ง ๙ แห่งนี้ว่าใครจะมาช่วยเก็บข้อมูล แล้วก็เชิญวิทยากรมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิธีวิจัย วิธีการเก็บข้อมูล ทีนี้เนื่องจากว่าเป็นการเก็บข้อมูลเป็นลักษณะนามธรรม เป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวกับเรื่องจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก ก็เลยต้องใช้วิธี วิจัยเชิงคุณภาพๆ เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลในลักษณะของข้อมูลที่เป็นคุณลักษณะ เป็นอารมณ์ ความรู้สึก ไม่ได้เป็นวัตถุ ไม่ได้เป็นตัวเลข"

ดร.สุภางค์ จันทวานิช "รู้สึกสนุกดี รู้สึกว่าพวกเราเข้าใจอะไรกันได้เร็ว ก็ดีใจ เพราะวิจัยหากหลงทิศแต่แรก แก้ยากมากเลย เพราะข้อมูลกระจัดกระจาย ดูแล้วไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร ต้องพยายามไปพัฒนาประเด็นวิจัยให้ละเอียดกว่านี้ ก็จะไม่ค่อย หลงทาง ในแง่ของชุมชน รู้สึกแปลกหูแปลกตา ไม่ทราบว่ามีชุมชนอยู่ ชอบต้นไม้ ที่นี่มากดูร่มรื่น"

ดร.เพ็ญพักตร์ อุทิศ "เป็นเหมือนกับประสบการณ์ใหม่อย่างหนึ่ง ที่ได้เข้ามาสัมผัสชุมชนอโศก จริงๆแล้วตัวเองก็แค่ ผ่านไป ผ่านมา จุดสำคัญที่นี่เคร่งทางเรื่องศาสนา แล้วก็ทานมังสวิรัติ พอได้เข้ามาก็มีความรู้สึกดีเหมือนกับได้รู้มุมมอง บางส่วน ว่าเป็นมุมมองที่ดี และน่าสนใจ คิดอยู่เหมือนกันว่าถ้ามีโอกาสจะพาลูกมา เพราะที่นี่เหมือนกับเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ที่ย้อนกระแสกับสังคมปัจจุบันที่มีความวุ่นวายแล้วก็เกิดปัญหาต่างๆ ก็ดีใจที่ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสค่ะ แม้ว่าจะแค่ผิวเผิน"

ทันตแพทย์ทศพล เปี่ยมสมบูรณ์ กลุ่มศรีบูรพา "ผมเก็บข้อมูลชุมชนบูรพาฯ ก็หนักใจนิดหน่อยเรื่องจะต้องถอดเท็ป มาอบรม ครั้งนี้ ก็เหมือนได้ทบทวนเพราะผมเรียนมาบ้างแล้ว"

น.ส.เสรี ทองพันธุ์ ทักษิณอโศก "ตอนแรกคิดว่าจะได้ทำหรือเปล่า พอเห็นพวกเรามาอบรมพร้อมกัน มองเห็นแนวทาง ก็คงจะเป็นไปด้วยดีตามที่วางไว้"

น.ส.สุภาณี บูรพ์ภาค กลุ่มปราการ อโศก "ไปเก็บข้อมูลกลุ่มปราการซึ่งไม่มีชุมชน บรรยากาศของการอบรม ได้ประโยชน์เป็น อย่างยิ่ง เพราะยังไม่เคยอบรม การวิจัยด้านคุณภาพ มาอบรมครั้งนี้โอกาสที่จะทำประโยชน์มีมาก ได้รู้หลักวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งเดี๋ยวนี้แพร่หลาย เราต้องใช้มาตรฐานหรือบรรทัดฐานที่คนยอมรับ ดังนั้นเราต้องวิจัยให้เป็น"

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี พบกับ นสพ. ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๓๐ (๒๕๒) ปักษ์แรก ๑ - ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๗

สำหรับข่าวความเคลื่อนไหวในแวดวง ชาวอโศกประจำปักษ์มีดังนี้

ผ่าน...อาหลอมเหลานอนอยู่ชั้นบนที่พักในชุมชนปฐมอโศก ได้ยินเสียงหนุ่มสาวถกเถียงกันอยู่ข้างล่าง ก็คิดในใจว่า มาปฏิบัติธรรมแล้ว ขนาดเพิ่งจะแต่งงานกัน ยังทะเลาะกันไม่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไป ช่างน่าละอายจริงๆ

ขณะที่อาหลอมเหลาคิดรำพึงอยู่ในใจเป็นอนุสสติเตือนตัวเองอยู่เช่นนี้ว่า ชีวิตคู่นึ้ทุกข์จริงหนอ ก็คิดจะลงไปดูเหมือนกันว่า ญาติธรรมคนไหนหนอมาทะเลาะแบบโลกๆ ในวัดในวาเช่นนี้ ช่างไม่อายผู้อายคนกันเลย แหม! อย่างน้อยก็น่าจะเกรงใจพระ-เจ้ากันบ้าง

ก็ได้ยินเสียงอีกคน ซึ่งเป็นบุคคลที่ ๓ ส่งเสียงว่า "คัต!"

อ้อ! อาหลอมเหลาเข้าใจเหตุการณ์ได้ทันทีว่า ที่ได้ยินเสียงทะเลาะถกเถียงกันเมื่อสักครู่ ก็คือการแสดงภาพยนตร์ของดารา จำเป็นที่มาซ้อมแสดงกันอยู่ข้างล่างที่พัก

การแสดงที่ว่านี้ เป็นบทหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องแรกของชาวอโศก

ข่าวมาว่า กำลังรีบสร้างให้เสร็จ คุณภาพ จึงได้แค่ ๖๐ %

จิ้งหรีดก็คิดว่า นี่ขนาด ๖๐ % อาหลอมเหลายังเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริงเลยอย่าง นี้แสดงว่า สอบผ่านนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

ออกจากสุข...ชีวิตนี้แม้จะอยู่เฉยๆก็สบายแล้ว เพราะลูกๆเลี้ยงได้ แต่แม่ศรีฟ้าจากอโรคยา ข้างพุทธสถานสันติอโศก มีเวลาว่างก็มาช่วยคุณกรักน้ำเย็นทำปุ๋ยที่เป็นขยะสดในชุมชน ลูกสาวเล่าให้ฟังว่า ประทับใจคุณแม่ศรีฟ้ามาก ปกติจะเป็นคน รักสะอาด ไม่นิยมทำงานแบบนี้ แต่เห็นคุณแม่โดดขึ้นเอาขยะสดใส่เครื่องบดแล้วเศษอาหารกระเด็นใส่หน้า บางชิ้นเข้าปาก! คุณแม่ก็ยังทนได้ และมีความสุขกับการช่วยงานของชุมชนสันติอโศก แถมยังรู้สึกมีความสุขพิเศษมากกว่าเดิมด้วย จิ้งหรีดฟังแล้วก็รู้สึกทึ่ง และเห็นสัจธรรมว่า ใครที่กล้าออกจากสุข ก็จะพบความสุขที่ยิ่งกว่า แถมยังเป็นการสละความสุข ให้ผู้อื่นด้วย อย่างน้อยคุณกรักน้ำเย็น แค่เห็นคุณแม่ศรีฟ้า เดินมาช่วยก็ยิ้มอย่างมีความสุขแล้ว หรือแค่จิ้งหรีดได้ฟังเรื่องดีๆ เช่นนี้ ก็มีความสุขกับเขาด้วยเหมือนกัน สาธุ...จี๊ดๆๆๆ...

บารมีพ่อท่าน!...นับเป็นประวัติศาสตร์ของชาวอโศกอีกหน้าหนึ่ง ที่มีการเททอง(เหลือง) งานหล่อพญาแร้งและ ศิลปะอื่นๆ ที่สวน ซ.วัดสุวรรณประสิทธิ์ เพื่อนำมาตกแต่งพระวิหารพันปีฯ โดยฝีมือทีมวิหารฯ ซึ่งในวันสุดท้ายของการทำงาน พ่อท่าน ได้แวะเข้าไปชมงานศิลป์ และหลังจากพ่อท่าน เดินทางกลับได้ไม่นาน ฝนก็โปรยปรายลงมาอย่างหนัก ดูเหมือนว่าจะช่วยดับ ความร้อนของงานเททองเหลือง และทำให้บรรยากาศ เย็นชุ่มฉ่ำ ซึ่งปกติเบ้าที่หล่อในการเททองเหลือง จะต้องเผาด้วย อุณหภูมิเป็น ๑,๐๐๐ องศาเซลเซียสขึ้นไป กว่าจะกระเทาะเบ้าออกมาได้ จะต้องรอให้เย็นก่อน เพราะจะร้อนมากๆ แต่ด้วยบารมี พ่อท่านจริงๆ ฮะ ทำให้การทำงานขั้นต่อๆไป เสร็จเร็วยิ่งขึ้น บารมีฮะ บารมี...จี๊ดๆๆๆ...

ธารน้ำใจ...เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ พ.ค. ๒๕๔๗ ที่สันติอโศก ก็ได้มีโอกาสจัด คอนเสิร์ต ธารน้ำใจสู่คุณอังคาร กัลยาณพงศ์ ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ และเป็นกวีซีไรท์

ก่อนงานชาวสันติอโศกก็ประชุมกันหลายรอบเตรียมงาน จนผนวกงานมหกรรมกู้ดินฟ้าครั้งที่ ๒ เข้าไปอีก ทำให้รูปงานใหญ่ขึ้น มีกสิกรเอาพืชผักผลไม้ไร้สารพิษ ที่ปลูกเองมาจำหน่ายในวันที่ ๑-๒ พ.ค. แถมยังมีการสาธิตทำน้ำยาล้างจาน ทำอาหาร มังสวิรัติต่างๆ เป็นต้น

แน่นอนเมื่อผนวกงาน ๒ งานเข้าด้วยกัน ในวันที่ ๒ พ.ค.คนก็ย่อมมามากเป็นธรรมดา ช่วงประชุมก็ห่วงเหมือนกันว่า อาเล็ก (กังงา) กับอาโต้ง(ธวัชชัย) จะมาทันดูแลเรื่องการจราจรไหมน้า ? เพราะทั้งสองท่านติดภารกิจที่อื่น ไม่แน่ใจว่า จะมาช่วยงาน ได้หรือเปล่า แต่ยังไงๆ จิ้งหรีดที่เข้าประชุมอยู่ก็ใจชื้นอยู่นิดๆ ที่ยังมีอาหลอมเหลา ร้อยเมฆ และ ดื่มธรรม พร้อมจะช่วย เรื่องการจราจร

พอถึงวันงานทีมเตรียมงานหลายคนก็โล่งใจ เพราะอาเล็ก กับอาโต้งมาช่วยในวันอาทิตย์ ส่วนวันเสาร์ซึ่งเป็นวันแรกของงาน มหกรรมกู้ดินฟ้า ไม่มีรถเข้า-ออกมากจนเป็นปัญหา สถานที่ยังพอรับได้

อาเล็กกับอาโต้งแม้มาช่วยวันเดียว ก็เป็นวันที่รถเข้า-ออกมาก เพราะตรงกับงานธารน้ำใจฯด้วย จึงมีศิลปินมากันมาก แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ก็จะมีรถส่วนตัวทั้งคันเล็ก-คันใหญ่

ยังไงก็ต้องขอบคุณญาติธรรมที่เสียสละขับรถไปจอดที่อื่นที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งทางเราจัดไว้ให้ และขอบคุณ คุณต้นไพร ที่อุตส่าห์ ไปนั่งเฝ้ารถให้...

รายการที่น่าสนใจยิ่งในช่วงเย็น เป็นการ ร่วมค้นหาคุณค่ากวีเอก จิ้งหรีดเห็นพ่อท่าน นั่งอยู่กับปราชญ์แห่งยุครัตนโกสินทร์ มี อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คุณอังคาร กัลยาณพงศ์ กวีแห่งศรีอยุธยา จิ้งหรีดได้ฟังอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ก็รู้สึกเห็นคุณค่าบทกวี ของคุณอังคาร ที่อาจารย์ ส.ศิวรักษ์เปรียบเทียบว่าไม่แพ้เจ้าฟ้ากุ้ง ยอดกวีในอดีต ที่หาผู้เทียบยาก แต่ยุคนี้ มีกวีอังคารนี่แหละ

ส่วนคุณเนาวรัตน์ กวีแห่งรัตนโกสินทร์ ยุคนี้ ได้มีโอกาสรับรางวัลกวีซีไรต์ถึง ๒ ครั้ง โดยอีกครั้งหนึ่งก็รับแทนคุณอังคาร โดย คุณเนาวรัตน์ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า เป็นอดีต แฟนเพลงของท่านพ่อ แต่ไม่รู้ว่าเป็นท่านพ่อ รู้แต่ว่า รัก รักพงษ์ แต่ง เพลงนั้น คือเพลง "ผู้แพ้" นั่นเอง

คุณทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล (หญิง) เป็นนักร้องรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน พูดถึงงานสืบทอดสายธารแห่งน้ำใจ เพื่อมิให้ขาด สายธารศิลปวัฒนธรรม รู้คุณ เห็นค่า กวีศรีอยุธยา อังคาร กัลยาณพงศ์ ว่าเป็นงานคอนเสิร์ตแบบวัดๆ แถมยังเหมือน ได้มาเข้าสปา เพราะช่วงที่คุณทิพวัลย์ร้องเพลงนั้น อากาศร้อนอบอ้าวมาก ฝนก็ตกหลายระลอก แต่คุณทิพวัลย์ ก็รู้สึกยินดี ที่ได้มามีส่วนร่วม ช่วยคุณอังคารในงานนี้

นอกจากนี้ ถ้าใครสนใจเสียงร้องของคุณ ทิพวัลย์ ก็สามารถเปิดฟังวิทยุที่คุณทิพวัลย์จัด ชื่อรายการ "เมล็ดพันธุ์เพลิง" ใครสนใจ ก็ติดตามฟังเอาเองนะฮะในคลื่นเอฟเอ็ม

ส่วนคุณเปียทิพย์ คุ้มวงษ์ ก็มาร้องเพลง กับลูกสาวที่มีคนแซวเล่นว่า แก่กว่าแม่ ช่วงที่คุณเปียทิพย์ร้องเพลง "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" ก็ได้เดิน ไปร้องต่อหน้าพ่อท่าน ด้วยความรู้สึกเคารพศรัทธาและกตัญญู จิ้งหรีดก็เห็นใบหน้าของพ่อท่านยิ้มแย้มเบิกบานเอ็นดู เหมือนลูกมาร้องเพลงให้พ่อฟังกระนั้น คุณเปียทิพย์นั้น ช่วงวัยเด็กก็เคยฝึกร้องเพลง ในช่วงที่พ่อท่าน (สมัยเป็นฆราวาส) จัดรายการทางทีวี...

งานนี้ออกวิทยุชุมชนฝนปรอยฯ แบบสดๆ เกือบตลอดรายการตั้งแต่เช้าถึงค่ำ พอคณะคีตาญชลีร้องอยู่ไม่กี่เพลง ก็ตัดเข้ารายการปกติ ผู้ฟังทางบ้านจึงไม่ได้ฟังคุณอุ๊ หฤทัย ที่มาร่วมร้องเพลงปิดท้ายรายการ รวมทั้งคุณสุทธินันท์ จันทระ นักร้องชาย ระดับถ้วยพระราชทานอีกคน ที่ร่วมงานกุศลนี้เสมอมา จนคุ้นหน้า...

หลังจบงานนี้ ยอดเงินบริจาคเป็นเงินประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาทเศษ โดยทางคณะผู้จัดได้นิมนต์พ่อท่านเป็นเกียรติมอบเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทให้คุณอังคาร กัลยาณพงศ์และภรรยาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาตัว (เนื่องจากทั้งสองท่าน ต้องเดินทาง กลับก่อน ส่วนที่เหลือจะได้นำมอบในภายหลังต่อไป) ก็หวังว่าถ้ามีงานเช่นนี้อีกชาวเราก็คงจะได้มีโอกาส มาช่วยกันอีกเด้อ สาธุ...จี๊ดๆๆๆ...

ยอดกวี... อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ได้พูดถึงกวีอังคาร กัลยาณพงศ์ ว่า เป็นคนๆเดียวที่เป็นทั้งจิตรกรรม ปฏิมากรรม สถาปัตยกรรม แม้วรรณกรรมในบทกวี และยังพูดถึงข้อดีของงานกวีอังคารว่า

๑. เป็นวรรณกรรมร่วมสมัย ๒. งานเขียนย้อนสมัย ๓. งานกลอนแนวเจ้าฟ้ากุ้ง คือ เอาหัวใจเจ้าฟ้ากุ้งมาร่วมสมัย เป็นยังไง บ้างฮะ ฟังความเห็นนี้จากอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ แล้ว รู้สึกสนใจบทกวีของคุณอังคาร ขึ้นมาบ้างไหมฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

ก่อนจากขอฝากคติธรรม-คำสอนของพ่อท่าน ที่ว่า
ยิ่งทำงานร่วมกัน ก็ต้องมีวรยุทธ์ให้ดี ในการตัด การละ การปล่อย
(จาก หนังสือ พ่อท่านสอนว่า...ฉบับ คำคม ๒ หน้า ๓๒)

พบกันใหม่ฉบับหน้าฮะ

- จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ น.ส.เกษร ตะบูนพงศ์
เกิด ๒๘ ก.ย. ๒๔๘๐ อายุ ๖๗ ปี
ภูมิลำเนา บ้านแหลม เพชรบุรี
การศึกษา ป.๔
สถานภาพ โสด
สูง ๑๕๕ ซ.ม.
น้ำหนัก ๔๖ กก.

คุณป้าเกษรเป็นอาสาสมัครช่วยงานฟรี อยู่ที่บริษัทพลังบุญจำกัด ประจำอยู่แผนกผ้า เป็นที่รักของลูกหลานที่ร่วมงาน เสร็จงาน ที่รับผิดชอบ ก็ขวนขวายช่วยงานคนโน้นคนนี้ไม่ได้หยุด ด้วยหน้าตายิ้มแย้ม เบิกบาน และยังเป็นโสดอีกด้วย น่าสนใจแล้ว ใช่ไหมล่ะ

*** วัยเด็กที่มีค่า
มีพี่น้อง ๖ คน ป้าเป็นคนที่ ๕ ทางบ้านฐานะยากจน เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เผาถ่าน ตอนเด็กเคยออกทะเลกับพ่อ เอาไม้ไปปักในน้ำ เพื่อเลี้ยงหอยแมลงภู่ เคยแจวเรือจากปากอ่าวเข้าป่าไปตัดไม้โกงกางมาเผาถ่าน ต้องรีบไปอย่าให้น้ำขึ้นมาก มิฉะนั้น เข้าไปไม่ได้ ตอนเผาถ่าน ก็ต้องคอยเอาไฟเข้า-ออก ร้อนนะต้องระวัง แล้วบรรทุกลงเรือเอี้ยมจุ๊น ไปขายแถวโอเดี้ยนที่กรุงเทพฯ

ตอนสาวๆก็มีคนมาสู่ขอ พ่อให้แต่งเพราะเป็นห่วง แต่แม่ไม่ว่าอะไร แต่ป้าไม่อยากแต่งเพราะไม่ชอบที่เขาพูดโผงผาง เห็นคน ที่เขาแต่งงานกันแล้วทะเลาะกัน มีลูกก็ทุกข์ ป้าเลยหนีไปกรุงเทพฯ เขาก็ตามมาเซ้าซี้ แต่ป้าไม่ยอม คนดีๆที่เราชอบก็เคยเจอ แต่ก็ไม่อยากแต่งอยู่ดี

*** อานิสงส์การฟังธรรม
ปี ๒๕๐๗ ป้าเข้ากรุงเทพฯมาเป็น ลูกจ้างขายล็อตเตอรี่ ทำถึง ๒๐ ปี ได้เงินเดือนจาก ๓๐๐ บาทจนสุดท้าย ๔,๐๐๐ บาท เงินที่ได้ ป้าก็ส่งให้ทางบ้าน แล้วผ่อนซื้อที่ดิน ๕๐ ตารางวาเดือนละ ๒๐๐ อยู่แถวไปรษณีย์ ตลิ่งชัน ตอนนี้ยกให้หลานไปแล้ว

ปี ๒๕๒๑ ป้าขายล็อตเตอรี่อยู่แถว วงเวียนใหญ่ คุณตะวันธรรม(บุญเจือ) ตอนนั้นยังทำงานธนาคารอยู่ เดินผ่านร้านป้าทุกวัน เขาก็ชวนไปสันติอโศก ไปแล้วก็ชอบ เริ่มกินมังฯทั้งแบบเขี่ยและบริสุทธิ์จนถึงทุกวันนี้ ติดตามฟังธรรมทุกอาทิตย์ แต่ก็ยังขาย ล็อตเตอรี่อยู่เพราะมีภาระต้องส่งหลานเรียน

ปี ๒๕๓๔ ป้าชวนนายจ้างมาฟังธรรม เขาฟังแล้วไม่ชอบ ป้าขอให้เขาซื้อบ้านให้ที่ซอยสุวรรณฯ เพื่อจะได้อยู่ตอนแก่ๆ ปี ๒๕๓๙ นายจ้างก็เสียชีวิต หลานก็เรียนจบ ป้ารู้ว่าภาระหมดแล้ว เลิกขายล็อตเตอรี่ทันที ตั้งใจช่วยงานวัดตลอดชีวิต ไม่อยากหา เงินแล้ว แม้จะได้เงินเยอะก็ตาม

*** พอเมื่อไร รวยทันที
คุณต้อย (น้อมนบ) ชวนมาทำงานที่พลังบุญ เงินเดือนป้าไม่อยากได้ ป้าพอแล้ว มีเงินเก็บนิดหน่อย ก็เจียดทำบุญทุกเดือนด้วย แม้จะไม่มาก

ทุกวันนี้ ตี ๔ ป้าก็มาช่วยทำผักที่ ชมร.หน้าสันติอโศก ตี ๕ ครึ่งก็ไปออกกำลังกายที่สวนพฤกษชาติ เสร็จแล้วจึงไปทำงาน ที่พลังบุญ

ป้าคิดเสมอว่าเมื่อก่อนเราทำบาป ขายล็อตเตอรี่ มอมเมาคน เราต้องชดใช้ เลยทำดีไว้ให้มากที่สุด ป้ายังจำได้ดีก่อนที่ป้า จะออกจากบ้าน ไปกรุงเทพฯ พ่อบอกว่าให้ป้าขยัน ก็จำมาถึงทุกวันนี้

*** ในสังคมบุญนิยม
มั่นใจนะ ว่าเราพึ่งกันได้ ป้าไม่คิดพึ่งหลาน ป้าเคยป่วยไม่สบาย พลังบุญฯเขาก็ดูแลป้าอย่างดี อยู่ที่นี่อบอุ่น มีความสุข เรื่องการดูแล ป้าว่าอยู่ที่บารมีของเรา ขอให้เราทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน ป้าคิดว่าป้าจะช่วยงานพ่อท่านจนหมดลมหายใจนั่นแหละ

ทำงานอยู่กับเด็กรุ่นลูกรุ่นหลาน บางที ป้าก็ติงเขาบ้าง เขาก็ตอบกลับ ก็ไม่ถือสา มันแป๊บเดียว จิตก็รู้ทันว่าเขาเป็นอย่างนั้น ทุกวันนี้ มีความสุขกับการทำงาน

*** ฝาก
ให้ทุกคนประพฤติ ปฏิบัติ เป็นคนดีของชาวอโศก

ป้ารู้ว่าเคยมอมเมาคน สักวันต้องชดใช้ เมื่อมีโอกาสจึงรีบทำความดี บางคนทำบาปอยู่แล้วๆเล่าๆ แต่ต่อมกระตุ้นจิตสำนึกไม่ ทำงาน เขาจะรู้ไหมหนอว่าทุกกรรมมีวิบากรออยู่ข้างหน้า อนิจจา...สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม...

- บุญนำพา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


*** งดขายน้ำผึ้งในร้านค้าชาวอโศก
จากการประชุมพาณิชย์บุญนิยม ที่สันติอโศก เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๖ โดยมีพ่อท่านเป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาเรื่อง น้ำผึ้งกับการปาณาติบาต ที่ประชุมพิจารณาจากข้อมูลบุคคล ข้อมูลราชการ และข้อมูลจากการไปเยี่ยม หน่วยผลิตน้ำผึ้ง โดย ชาวภูผาฟ้าน้ำ (ทีมคุณชัดคม) ซึ่งได้มาเสนอข้อมูลพร้อมภาพถ่ายจากฟาร์มผึ้ง

ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติดังนี้

"ร้านค้าชุมชนชาวอโศกจะไม่ขาย น้ำผึ้งหรือผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร ที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้ง ยกเว้นใช้ในการผลิตยาสมุนไพร ต่างๆ โดยสินค้าที่ยังเหลืออยู่ ให้ขายได้จนกว่าจะหมด"

สัพเพสัตตาอเวราโหตุ

*** การใช้ตราสัญลักษณ์ คกร.
ตราสัญลักษณ์ คกร. ได้เริ่มถูกนำมาพิมพ์บนฉลากผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายชาวอโศกบางกลุ่ม โดยทาง คกร.กลางเอง ก็ยังไม่ได้ตั้งหลักกับเรื่องนี้ ที่ประชุมพาณิชย์บุญนิยมเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน จึงเสนอให้ตั้งคณะทำงานพิจารณามาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ ในเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.) เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การใช้ตราสัญลักษณ์ คกร. พิมพ์บน ฉลากบรรจุภัณฑ์ และมีมติให้ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเครือข่าย คกร. และผู้ประสานงานองค์การสมาชิก คกร. ขอชะลอ การพิมพ์ตราสัญลักษณ์ดังกล่าว สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้พิมพ์ตราสัญลักษณ์ คกร. บนฉลากบรรจุภัณฑ์ แล้วนั้น จะได้เชิญผู้ผลิต ปรึกษาหารือ ในรายละเอียดต่อไป (รายงานข่าวล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้ให้ผู้ผลิต ส่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมด มาส่งตรวจมาตรฐาน "ไร้สารพิษ" โดยเร็ว)


[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,500 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]