ฉบับที่ 246 ปักษ์แรก 1-15 มกราคม 2548

[01] บทนำข่าวอโศก สละภพเพื่อสังคม
[02] ธรรมะพ่อท่าน: "จงทำกรรมของตนให้เจริญ จักเป็นอมตบุคคล"
[03] บันทึกปัจฉาสมณะ : จากตลาดอาริยะ-สู่ซับขวัญชาวใต้
[04] รองผู้ว่าฯอุบลฯ ชื่มชมตลาดอาริยะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก งดรื่นเริงในภาคค่ำ เพราะสึนามิ
[05] กสิกรรมธรรมชาติ
[06] รายงานความเป็นไป ของกสิกรรมไร้สารพิษ (ตอน ๖)
[07] จังหวัดไม่อนุมัตินามสกุล "มุ่งมาจน" เพราะเห็นว่ามีความหมาย "หยาบคาย" นายตายแน่ยื่นอุทธรณ์ขอพึ่ง มท.๑
[08] "ฟ้อนเจิง ชลอความจำเสื่อม"
[09] กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ปฐมอโศก - อินทร์บุรี
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] ตัวแทนนร.สัมมาสิกขา เข้าพบนายกฯทักษิณ ได้แสดงละครสะท้อนคุณธรรม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานศูนย์ฯ
[12] ปฏิทินงานอโศก
[13] นางงามรายปักษ์ นางทองคำ วุฒิวัฒน์โกวิทย์

 


สละภพเพื่อสังคม

งานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๘ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปที่บ้านราชฯ เมืองเรือ ครั้งนี้ชาวบ้านมาซื้อของกันแน่นมาก จนหลายคนรู้สึกว่า แน่นกว่าทุกปี

ก็เป็นไปตามเป้าหมายที่พ่อท่านให้ชาวอโศกมีโอกาสบำเพ็ญทาน แม้ว่าชาวเราจะไม่ร่ำรวย แต่ก็สามารถเสียสละเพื่อ ผู้อื่นได้

การขาดทุนของชาวเรา ไม่ต่ำกว่า ๕ ล้านาทในงานครั้งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แล้วเราก็พออยู่ได้ ย่อมเป็นกำไร อาริยะ ให้จิตวิญญาณของเรากล้าจนเช่นพระพุทธเจ้ามากขึ้น

นอกจากนี้ชาวเรายังพร้อมใจกันลดการแสดงสาระบันเทิงลงกว่าปีก่อนๆในการแสดงภาคค่ำ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่มี ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อผู้ประสพภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิใน ๖ จังหวัด ภาคใต้ของประเทศไทย

และมีการเทศนาให้มีสติไม่ประมาทในชีวิต เพื่อเกิดสำนึกในการทำความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป ตอนก่อนจบรายการภาคค่ำทุกคืน

ก็ขอแสดงความประทับใจทุกคนที่เตรียมการแสดงมาเต็มที่ แต่พอเกิดเหตุการณ์ที่น่าสลดใจขึ้นอย่างกะทันหัน เมื่อ ๒๖ ธ.ค. ๔๗ พวกเราก็พร้อมปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบรรยากาศของสังคม

นั่นก็แสดงว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่อยู่ในโลกหรือภพของเราจนเกินไป

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


จงทำกรรมของตนให้เจริญ จักเป็นอมตบุคคล

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ๒๕๔๘ ขอนำคำกล่าวอธิษฐานของพ่อท่านในช่วงทำวัตรเช้าของวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๒๕๔๗ และวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๔๘ ในงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๘ มอบแด่ทุกท่าน เพื่อน้อมนำไปเป็นข้อเตือนใจตลอดปี ๒๕๔๘ นี้

"กาละเวลาย่อมผ่านไปๆอย่างซื่อสัตย์ ผู้ที่ได้ศึกษาเรื่องกรรมแล้ว กรรมเป็นกำเนิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมเป็นของของตนเอง เราต้องรับมรดกของกรรมของเราเองทั้งหมด กรรมเป็นตัวหลักของ ทุกอัตภาพ กรรมย่อมผ่านไป ตามกาละ แต่ละกาละที่ผ่านไป หากผู้ใดไม่สำคัญในกรรม ปล่อยให้กรรมหรือทำให้กรรมนั้นเสียหาย เป็นอกุศล ผู้นั้นก็ย่อมมี สมบัติที่เสื่อม ที่พาตกต่ำ พาทุกข์ร้อน เดือดร้อน

ถ้าผู้ใดสำคัญในกรรม ระมัดระวังตนเอง ตั้งใจ ไม่ประมาท พยายามที่จะทำทุกกรรม ทุกขณะของเรา กาละที่ผ่านไป สังวร สำรวม อันทำกรรมของตนให้ดีที่สุด ให้เป็นกุศลโลกุตระให้ได้เสมอๆ โลกุตระกุศลจะมีทั้งส่วนที่เป็นกุศลโลกียะด้วย กุศลโลกุตระด้วย เป็นสองกุศลเสมอ ผู้ที่ฉลาดได้ศึกษาได้เรียนรู้แล้ว อย่าพึงทำกาละให้เสีย จงทำกรรมของตนให้เจริญ พัฒนาเป็นอริยทรัพย์ ให้แก่ตนทุกๆกาละเทอญ"

และในช่วงทำวัตรเช้าของวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๔๘ พ่อท่านได้กล่าวไว้ในช่วงอธิษฐานว่า

"กาละเวลาย่อมหมุนไปๆ คนผู้ไม่ได้ฟังธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่รู้ในสัทธรรมอันวิเศษ ไม่รู้ในวัฏสงสาร ย่อมมีชาตะ สังสาระ มีการเกิดในวัฏสงสาร นั้นไปตลอด อย่างดีก็ขึ้นสวรรค์ มีสุขแต่ไม่เที่ยง แล้วก็ตกนรก ลงนรกจนหมดบาปเวร หมดในกรรม ใช้หนี้กรรมเสร็จจึงจะได้ขึ้นสวรรค์อีก หรือไปเป็นมนุษย์ ไปเป็นเดรัจฉานอีกไปตามลำดับ ความหมุนเวียน ของสังสารวัฏแห่งสัตว์โลก จะหมุนเวียนไปตราบนานเท่านาน จนกว่าจะได้พบสัจธรรม ที่เป็นโลกุตระ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสัทธรรมที่รู้จัก สังสารวัฏ รู้จักการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และรู้จักเหตุแห่งการเกิด รู้จักวิธีดับเหตุแห่งการเกิดได้ จึงจะเป็นผู้ที่สามารถดับสังสารวัฏ หรือดับความหมุนเวียน ที่เราเกิด เราตาย เกิดตายอยู่ตราบนิรันดร์นั้นได้ เป็นผู้สิ้นสุด การเวียนว่าย ตายเกิดได้ ทุกคนที่ได้ฟังสัทธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว อย่าประมาท จงพยายามเรียนรู้ปรมัตถธรรม ที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิด อันเป็นเหตุในจิตคืออริยสัจ ผู้ใดศึกษา สามารถดับเหตุ แห่งการเกิด ที่เป็นอริยสัจได้แล้ว ผู้นั้นจักเป็นอมตบุคคล เกิดก็ได้ ตายก็ได้ และสูญสิ้นหมดสิ้น ไม่เกิดอีกนิรันดรก็ได้ แต่ก็เป็นผู้มีหลักประกัน ที่ไม่เป็นพิษต่อตน ไม่เป็นพิษ ต่อมนุษย์ชาติในโลก จึงเป็นผู้ประเสริฐตามที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบคนชนิดใหม่นี้ ด้วยประการฉะนี้แล".

- เด็กวัด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สดจากปัจฉาสมณะ - สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ -

จากตลาดอาริยะ-สู่ซับขวัญชาวใต้

ก่อนงานปีใหม่ ๒๖ ธ.ค. ประมาณ ๘.๓๐ น. ขณะ พ่อท่านทำงานอยู่ในเรือที่พัก ซึ่งเพิ่งย้ายห้องทำงานลงมาได้ไม่กี่วัน เรือเกิด โคลงเคลง โดยไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด แม้ผู้ที่คุ้นเคย กับน้ำท่า ก็ยังงงๆว่า ทำไมเกิดอะไรขึ้น อยู่ๆเรือทั้งหมด ที่จอดอยู่ ในบุ่งน้ำที่บ้านราชฯ จึงมีอาการไหว โคลงเคลงออกอย่างนั้น ราวกับว่ามีเรือขนาดใหญ่แล่นผ่าน จึงทำให้เกิดคลื่น แปลกประหลาดอย่างนั้น ทั้งๆที่ไม่ได้มีเรือใดแล่นผ่านเลย พ่อท่านเองเข้าใจว่า จะเป็นเพราะเครื่องสูบน้ำเข้า จากแม่น้ำมูล เข้ามาในบุ่งหรือเปล่า ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่น่าจะใช่แน่ เพราะปริมาณน้ำ ที่เข้าก็ไม่มาก ถึงขนาดทำให้เกิดคลื่นขนาด โคลงเคลงเรือ ที่มีน้ำหนักหลายสิบตันอย่างนั้นได้ ส่วนผู้เขียนรวมถึงชาวบ้านราชฯ ที่ขณะนั้น อยู่บนดิน ไม่ได้รับผล ของการสั่นไหว แต่อย่างใดเลย

ช่วงสายหน่อยได้รับรายงานข่าวว่าเกิดแผ่นดินไหว ที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่ผู้ที่อยู่ตึกสูงๆก็แตกตื่นกัน ฟังรายงานข่าวไป ก็คิดว่า คงไม่มีอะไรมาก ที่ไหนได้ ผ่านมาอีกไม่นาน เริ่มมีรายงานข่าวความสูญเสียมากและถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ทราบว่า ผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดขึ้นไปถึงแสนเศษแล้ว และยังมีทีท่าว่า จะเพิ่มขึ้นอีก อาจจะถึง ๑๕๐,๐๐๐ คน

สึนามิ คือชื่อของ ปรากฏการณ์นี้ จากความสูญเสียของ ผู้คนและทรัพย์สินจำนวนมากอย่างนี้ ส่งผลให้งานบันเทิง รื่นเริง ฉลองในเทศกาลปีใหม่มีอันต้องระงับไป แรกทีเดียว หลังจากนายกฯ ออกมาประกาศงด ในส่วนของราชการ แต่ส่วนเอกชนนั้น ขอร้องให้งด ก็มีผู้สอบถามมามากว่า แล้วการแสดงงานปีใหม่ ของเราในภาคค่ำ จะงดด้วยหรือเปล่า พ่อท่านตอบว่าไม่ต้อง เพราะของเรา ไม่ได้บันเทิงอย่างทั่วๆไปเขา ของเราเป็นเรื่องของศิลปวัฒนธรรมและประเพณี แต่เมื่อมีเสียงทักถามมามากขึ้น พ่อท่านจึงให้งด ในส่วนของการร้องๆรำ เหลือเพียงละครที่แสดง กันเป็นเรื่องเป็นราว ที่มีสาระ ปีนี้ภาคค่ำจึงเสริมด้วยการแสดงธรรม

สำหรับตลาดอาริยะยังคงขายได้ตามปกติ และเป็นเช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆมา คือวันแรกของการเปิดตลาด ๓๐ ธ.ค. จะมีชาวบ้าน มาแย่งเข้าคิว ซื้อสินค้าตั้งแต่ตีสี่ และคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสาย ส่วนวันต่อๆมา ชาวบ้านจะมากันน้อยลง ยิ่งวันสุดท้าย วันที่ ๑ ม.ค. ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก อย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญสินค้าก็หมดเกลี้ยงไปหลายร้านแล้ว

ปีนี้สินค้า ที่พิเศษกว่าทุกปีก็คือ มีรถยนต์ใหม่เอี่ยมอ่อง มาขาย ส่วนรถมือสองพ่อท่านไม่รับเข้ามาขายในตลาดอาริยะ เนื่องจากตรวจสอบยากว่า ราคาอยู่ในเกณฑ์ของตลาดอาริยะ พ่อท่านกำหนดเกณฑ์ ให้ทางบริษัทจะต้องลดต่ำกว่า ราคาปกติ ไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท เนื่องจากเราไม่ทราบราคาทุนของเขาจริงๆ และเขาก็ไม่ยอมบอกเรา ถ้าไม่ลดตามนี้ เราก็จะ ไม่เอามาขาย เมื่อทางบริษัทตกลง ทางเราก็จะลดราคาให้กับผู้ที่โชคดี จับสลากซื้อได้เพิ่มอีก ๑๐,๐๐๐ บาทด้วย ปีนี้มีผู้แจ้ง ความจำนง ต้องการซื้อรถยนต์กว่า ๗๐ ราย แต่จำนวน ที่ขายได้คือ ๒ คัน จึงต้องจับสลากหาผู้โชคดี บรรยากาศ การจับสลาก ก็ดูสนุกคึกคัก มีหลายคนที่แจ้งชื่อแล้วเจ้าตัวไม่อยู่ ตามกติกาก็คือ ถือว่าสละสิทธิ์ ผ่านไป จับหาผู้โชคดีคนต่อไป เชื่อว่า ปีต่อๆไป คงจะสนุกยิ่งขึ้นแน่

จากตัวเลขที่ได้รับจากฝ่ายบัญชี ปีนี้กำไรอาริยะเฉพาะสินค้า ๔,๐๕๔,๘๔๘.๐๐ บาท แต่เมื่อรวมกับเงินที่รับบริจาค เพื่อเตรียมงาน ๑,๐๗๙,๐๒๙.๐๐ บาท ผักและผลไม้ที่ได้รับบริจาค ๑๓๙.๑๖๐.๐๐ บาท แรงงาน ๙๖๔ คนเป็นเงิน ๕๗๘,๔๐๐.๐๐ บาท รวมทั้งหมดที่คิดเป็นพลังแรงบุญ ที่ได้เสียสละ ให้กับสังคม (รูปธรรม) ๕,๘๕๑,๔๓๗.๐๐ บาท (ห้าล้านแปดแสนห้าหมื่นหนึ่งพันสี่ร้อยสามสิบเจ็ดบาทถ้วน)

ขณะที่ตลาดกำลังจะวาย มีการประชุมเพื่อตกลงกันว่าสมควรจะยกขบวนไปช่วยเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวใต้ที่ประสบภัย สึนามิ หรือไม่ และถ้าจะไปจะไปทำอะไรกันบ้าง มีผู้สนใจ เข้าร่วมประชุมกว่า ๕๐๐ คน มีเพียงเสียงเดียวที่เห็นว่าไม่ควรไป แต่เหตุผลไม่ได้จริงจัง มีน้ำหนักอะไรนัก ใช้สำนวน โวหารมากกว่า ว่าเราปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่มีไปไม่มีมา ที่สุดแล้วก็ว่า แล้วแต่หมู่

เมื่อมีผู้เสนอให้กระจายกันไปหลายๆคณะ ไม่จำเป็นต้องไปคณะใหญ่คณะเดียว แต่พ่อท่านเห็นว่า น่าจะไปเป็นคณะใหญ่เลย เพื่อเป็นพลัง พวกเราจะเน้นการไปช่วยเรื่องจิตวิญญาณ จิตใจของคน เราไม่ได้เน้นเรื่อง การทำความสะอาด เก็บกวาดสิ่งของ

ขณะกำลังประชุมให้แต่ละเครือข่ายรับไปคัดสรรสมาชิกที่จะไป แล้วแจ้งยอดที่แน่นอนโดยด่วน เพื่อการประสานงาน ในเรื่อง อื่นๆ จะได้สะดวก โดยกำหนดคร่าวๆว่าจะไปกัน ๑๑-๒๑ ม.ค.นี้

ผู้เขียนได้ติดต่อ พล.ต.จำลองซึ่งกำลังอยู่ในพื้นที่ประสบภัย อ.ตะกั่วป่า ได้สนทนากับพ่อท่านทางโทรศัพท์ ส่งเสียงออก ลำโพง ให้พวกเราที่อยู่ในที่ประชุมนั้น ได้รับรู้ไปด้วย พล.ต.จำลอง ได้ถามถึงกำหนดการ ที่พวกเราจะไป และเล่าถึงสภาพการณ์ ต่างๆ ในพื้นที่จริงๆ ที่ได้เห็นมาว่าเป็นอย่างไร และรับที่จะประสาน จัดหาเครื่องบิน ให้สมณะและสิกขมาตุที่จะไป

เมื่อมีการพูดถึงชื่อโครงการที่จะไปในครั้งนี้ มีผู้เสนอให้ใช้ชื่อว่าซับน้ำตาชาวใต้ ในการเขียนที่ป้ายผ้าข้างรถ เหมือนอย่าง ที่คณะอื่นๆ และสื่อทั้งหลายเขาใช้กัน แต่พ่อท่านเห็นว่า เราจะไม่ใช้ว่า ซับน้ำตาชาวใต้ และเสนอให้ใช้ "ซับขวัญ" ไม่อยากจะให้ ใช้ว่าซับน้ำตา เพราะมันเหมือนเขาทุกข์มาก อธิบายคำว่า ซับขวัญ หมายถึงซับน้ำตา ซับเลือด และเป็นการเรียกขวัญด้วย นอกจากนี้ มีผู้เสนอคำว่า "ปลอบขวัญ" ก็น่าจะดี แต่พ่อท่านเห็นว่าคำว่า "ปลอบ" มันเหมือนเราเป็นผู้ใหญ่ ไปปลอบเด็กๆ มันดูยกตัวเองไป ไม่เหมาะเท่าคำว่า "ซับขวัญ"

พ่อท่านให้โอวาทปิดการประชุมว่า ปี'๔๘ นี้มีอะไรแปลกๆที่เกิดขึ้นเร็ว จนเราตั้งตัวไม่ทัน การไปซับขวัญชาวใต้ครั้งนี้ อยากให้ พวกเรา สังวรสำรวมให้มาก อย่าได้แสดงท่าที เหมือนเราจะไปให้อะไรเขา หรือไปแสดงความสงสารเขา ควรไปอย่างเป็นมิตร

การจะไปคราวนี้ ๑.อย่าไปพูดถึงเรื่องความเชื่อ อย่าไปอธิบายอะไร เลี่ยงได้เลี่ยง อนุโลมได้ก็อนุโลม ๒.อย่าไปพูดถึง กรรมวิบาก คนที่ไม่เข้าใจธรรมะมีมาก ต้องรู้กาลเทศะ ที่ควรอนุโลมปฏิโลม เราไปเพื่อสัมพันธ์

วันต่อมา (๒ ม.ค.) คุณสุวิดานักศึกษาปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาสนทนาสัมภาษณ์ เพื่อประกอบวิจัย มีคำถามหนึ่งถามว่า ทราบว่าอโศก จะนำกองทัพธรรมไปใต้ พ่อท่านคิดอย่างไร

พ่อท่านตอบว่า มันก็มีเหตุปัจจัย มันต้องมีองค์ประกอบพอสมควร เราจะไปในด้านจิตใจ เราไม่ได้เอาวัตถุไปให้เขา เราจะไป เน้นเรื่อง จิตวิญญาณ ซึ่งเรารู้เรื่องพวกนี้พอสมควร

มีพวกเราบางส่วน ล่วงหน้าไปก่อน เพื่อสำรวจสภาพการณ์ จริงในพื้นที่ และจัดเตรียมสถานที่ สำหรับคณะใหญ่ที่ไปกันกว่า ๕๐๐ คน สมณะและสิกขมาตุอีก ๗๐-๘๐ รูป คนจำนวนมากๆอย่างนี้ กับสภาพพื้นที่อย่างนั้น ถ้าไม่ได้ฝึกวิถีชีวิตกินอยู่ อย่างเรียบง่ายมาก่อนคงจะยุ่งยากลำบากน่าดู แม้พวกเราจะได้รับการฝึกกันมาแล้ว ก็ใช่ว่าจะง่ายไปเสียทีเดียว ได้ทราบว่า ฝ่ายแนวหน้าที่ไปเตรียมสถานที่ และความพร้อมสำหรับคณะใหญ่นั้น มีความขัดแย้งกันอยู่บ้าง ในเรื่องของทิฐิ การทำงาน การเลือกสถานที่ ซึ่งนี้ก็คือส่วนหนึ่ง ของการปฏิบัติธรรม การลดละอัตตามานะ การยอมกันได้บ้าง เอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง ระมัดระวังกิริยาอาการที่จะไปดูถูกความคิดของคนอื่นบ้าง แม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ผู้เขียนก็ได้แต่ย้ำกับ ผู้ประสาน รายงาน มาว่า ให้อดๆทนๆเอาหน่อย พูดแต่เพียงเหตุผล ที่เราคิดเห็นเท่านั้น ระมัดระวังเรื่องของอารมณ์ให้มากๆ ยังไงๆ ก็อย่าไป ทะเลาะกัน ให้ชาวบ้าน หรือคณะอื่นๆเห็น ด้วยเป้าหมายที่ต้องการจะไป ฟื้นฟูจิตใจของชาวบ้าน จะถูกลดทอนลงมาเสีย ตั้งแต่เริ่มต้น งานนี้เป็นงานร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของชาวอโศก เหตุการณ์อย่างนี้ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่ายๆ ในรอบ ๑๐-๒๐ หรือ ๑๐๐ ปีก็ไม่มีใครบอกได้ว่าจะมีขบวนกองทัพธรรมที่ระดมกันมาในสถานการณ์อย่างนี้อีกหรือไม่ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง มีพ่อท่านเป็นแม่ทัพใหญ่ ของชาวอโศก มีพล.ต.จำลองเป็นหัวเรือใหญ่ ในฝ่ายฆราวาส

แม้จะรู้ว่างานนี้ลำบาก การกินการอยู่ไม่สะดวกสบายเท่าเป็นอยู่แน่ แต่แปลกจังเลย จำนวนผู้ที่ต้องการจะไปมากกว่าโควตา ที่มีให้ไปได้ ทุกเครือข่ายเลย ต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ว่าผู้ใดสมควร หรือไม่อย่างไร ทำเอาอัตตามานะของผู้ที่ถูกคัดออก ก็ขึ้นเหมือนกัน

เมื่อวาน (๖ ม.ค.) คณะที่ไปสำรวจพื้นที่ แจ้งมาว่าการจัดเตรียมสถานที่สำหรับคณะใหญ่ที่จะลงไป ๑๑ ม.ค.นี้ มีความเห็น แบ่งกัน เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเห็นว่า น่าจะอยู่ที่โรงเรียน เสนานุกูล ตามที่พล.ต.จำลองได้ติดต่อประสานไว้แล้ว แต่อีกส่วนหนึ่ง เห็นว่า น่าจะไปอยู่ร่วมกับผู้อพยพ หรือชาวบ้านที่ประสบภัย แล้วทางการได้จัดเต็นท์ที่พัก ไว้ให้อยู่รวมๆกัน หลายจุด จุดใหญ่ๆ ก็ประมาณ ๔,๐๐๐ คน จุดย่อยลงมาก็ประมาณ ๒,๐๐๐ คน เหตุผลของฝ่ายที่เสนอว่า น่าจะอยู่ร่วมกับ ผู้อพยพเขา ก็คือจะได้ใจเขา จะประสานสัมพันธ์กันได้ดีกว่า มาแบบเช้าไปเย็นกลับ ส่วนกิจกรรมนั้นได้คิดกันว่า จะมีโรงบุญฯ ทำอาหาร (เลี้ยงผู้ประสบภัย) นวด อบสมุนไพร ลูกประคบ ตัดผม เก็บขยะ ทำความสะอาด สอนทำน้ำยาสระผม+น้ำยาซักผ้า บิณฑบาตและทำวัตรเช้า+เย็น นอกจากนี้ยังได้รับการขอร้องให้พวกเราไปช่วยสร้างที่พักให้เขา

พ่อท่านมีท่าทีปฏิเสธในเรื่องการรับที่จะไปสร้างที่พักให้เขา เหตุผลก็คือพวกเราไม่ได้ถนัดหรือชำนาญ ขนาดบ้าน ในชุมชน ของเรา ยังต้องจ้างแรงงานช่าง เขามาทำเลย อย่าไปอวดดี ทำเป็นเก่ง อย่าเพิ่งไปรับงานกว้าง บอกตรงๆ อาตมายังไม่ได้คิด จะไปทำอะไรมากเลย ตั้งใจว่าจะไปเหมือนอย่างที่ไปกระทูน (อำเภอที่ถูกดินทราย และซุงไม้จากภูเขา ถล่มลงมา ทับเรือกสวน ไร่นา บ้านช่อง ทำให้มีคนตายจำนวนมาก) ตอนนั้นก็ไปปักกลด บิณฑบาตแล้วก็แสดงธรรม สนทนากับชาวบ้านบ้าง ก็เท่านั้นเอง ไม่ได้คิดการณ์ใหญ่ การณ์โตอะไร ก็เข้าใจพวกเรานะ ถึงได้บอกไปว่า อย่าเพิ่งไปคิดหวังอะไรมาก จะคิดอะไร ไปก่อน ก็คิดกันไป เอาไว้ลงไปแล้วค่อยคุยกันอีกที ว่าเราจะทำอะไร ไม่ทำอะไรบ้าง

ก่อนหน้านี้ ได้รับข้อมูลจาก ชาวตะกั่วป่าว่า มีผู้นำสิ่งของไปแจก ถ้ามีท่าทีเหมือนจะดูถูกดูแคลน เขาจะโยนคืนเลย ชาวบ้าน ที่นั่น แม้เขาจะจน แต่เขาก็มีศักดิ์ศรีของเขา นอกจากนี้ มีกลุ่มนักอนุรักษ์ ไปพูดเป็นทำนองว่า เป็นเพราะมนุษย์ ไปทำลาย ธรรมชาติ แม้อย่างนี้ชาวบ้านเขาก็ไม่พอใจ ทำให้พ่อท่าน เห็นว่าคงต้องกำชับพวกเรา ให้ระมัดระวังท่าที คำพูด หรือ การจะทำกิจกรรมใดๆ

ขณะกำลังเขียนอยู่นี้ ยังไม่ถึงวันเดินทาง (๑๑ ม.ค.) และยังไม่สามารถที่จะกำหนดได้ทันทีว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ สิ่งที่พ่อท่าน เปรยไว้ว่า ไม่ควรจะทำ หรือสิ่งที่พวกเราหลายคน เสนอว่าจะทำอะไรบ้าง ถึงเหตุการณ์จริง อาจมีการเปลี่ยนแปลง ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญอารมณ์ความรู้สึก ของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ คงต้องปรับเปลี่ยน ไปตามเหตุปัจจัย เป็นต้นว่า พ่อท่านพูดไว้ตอนประชุมที่บ้านราชฯ ว่าพวกเราจะเน้นเรื่องของจิตใจเป็นสำคัญ เรื่องการเก็บกวาด ทำความสะอาด ต่างๆ อาจจะไม่ไปทำอะไร แต่มาถึงวันนี้ จากข้อมูลที่ได้รับ อาจจะต้องเปลี่ยน กลับไปทำความสะอาดด้วย หรือ พล.ต.จำลอง บอกเรื่องอาหาร พวกเราไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องขนสัมภาระไปทำเลย เพราะทางโน้นมีมูลนิธิหลายมูลนิธิ เขาช่วยกันได้ แต่มาถึงวันนี้ พวกเราอาจจะต้องไปทำอาหาร รวมถึงอาจต้องเอาอุปกรณ์ เครื่องครัวไปด้วยก็ได้ แม้แต่เรื่องที่พ่อท่านเห็นว่า ไม่ควรไปรับงานก่อสร้างอะไร ถึงวันนั้นเข้าจริงๆ พวกเราอาจจะต้องไปช่วยเขา ในเรื่องก่อสร้างก็อาจเป็นได้

ในโลกของสมมุติสัจจะทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้หมด ในฐานะเป็นนักปฏิบัติธรรมก็ควรจะเข้าใจความจริง ของการ เปลี่ยนแปลง สมมุติสัจจะต่างๆนั้น แล้วรักษาใจเรา มิให้อึดอัดขัดเคือง หรือเป็นทุกข์เป็นร้อน ไปตามการเปลี่ยนแปลงนั้นๆให้ได้ แล้วมาร่วมช่วยกันเข็นกงล้อพระธรรมจักร ร่วมกันสร้างหน้าประวัติศาสตร์ ที่ดีงามนี้ ฝากไว้ให้ชนชาวอโศกรุ่นหลังๆ ได้ภาคภูมิ และชื่นชม ถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


รองผู้ว่าฯอุบลฯ ชื่มชมตลาดอาริยะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
งดรื่นเริงในภาคค่ำ เพราะสึนาม

หลายคนทึ่งกับต้นไม้พึลึกพิลั่น
คนมางานแน่นจนที่จอดรถเต็มล้น เปิดขายรถปิคอัพเป็นครั้งแรก

งานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๘ ครั้งที่ ๒๖ ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ ๘ ณ ชุมชนราชธานีอโศก ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีระหว่างวันที่ ๓๐ ธ.ค. ๒๕๔๗ - ๑ ม.ค. ๒๕๔๘

เป็นปีแรกที่นักเรียนสัมมาสิกขาชั้น ม.๓ ของชาวอโศกทุกแห่งมาเข้าค่ายบูรณาการเตรียมงานตลาดอาริยะ ร่วมกับนักเรียน ที่อื่น ที่มาเข้าค่ายผู้นำเยาวชน

และในวันที่ ๒๓-๒๗ ธ.ค.๔๗ เป็นงานค่ายยุวชนอโศกสัมพันธ์ (ยอส.) ครั้ง ที่ ๒๘

ภูมิประเทศของบ้านราชฯปีนี้เปลี๊ยนไปสวยงามขึ้น นอกจากจะมีแปลงผักสีเขียวให้เห็นทั่วทั้งชุมชนและริมแม่น้ำมูลแล้ว ยังมีสวนหินตกแต่ง อย่างมีศิลปะ ตามสถานที่ต่างๆให้ได้นั่งพักผ่อนพูดคุยกันอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นลานพญาแร้ง ข้างเฮือนศูนย์ฯ ที่พญาแร้งยืนเด่นเป็นสง่าอยู่บนต้นตะเคียน ลานหินบริเวณเฮือนโสเหล่ และเฮือนเพิ่งกัน ที่มีพญาหงส์ ประดับตกแต่งอยู่ ลานหินบริเวณสามแยกแท็งก์น้ำทางไปโรงครัว แล้วยังมีบ้านอีกหลายหลัง ที่จัดอย่างมีศิลปะเรียบง่าย ในชุมชน และบริเวณหน้า เฮือนศูนย์สูญ ต้นไม้ยักษ์ไร้ใบ ๒ ต้น ยืนตระหง่านเป็นปริศนาธรรมให้ขบคิด พ่อท่าน ให้ชื่อว่า ต้นพิลึก-พิลั่น หรือ ต้นกรรม -ต้นวิบาก ที่มีกิ่งก้านสาขา เกาะเกี่ยวกัน ดุจการผนึกรวมพลัง ของชาวอโศกทั่วประเทศ

๓๐ ธ.ค. เวลา ๐๙.๐๐ น. รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายอำนาจ ส่งเสริม เป็นตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวเปิดงาน ว่า "...สมัยผมเป็นนายอำเภอ ท่านผู้ว่าฯศิวะ แสงมณี เป็นผู้ว่าฯ ได้นำนายอำเภอทุกคน รวมทั้งผมด้วย มารับการอบรม และปฏิบัติธรรมที่ราชธานีอโศกที่นี่ ผมได้รับความรู้พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งราชธานีอโศก และอโศกหลายๆแห่ง ได้ดำเนินการถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี แก่พี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศ

กระผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดงานปีใหม่อโศก'๔๘ ในครั้งนี้ จากรายงานของ ท่านนายอำเภอ วารินชำราบ ทำให้ทราบวัตถุประสงค์ และความเป็นมาของการจัดงาน จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทราบว่า การจัดงานต้อนรับปีใหม่ส่งท้าย ปีเก่าเปี่ยมไปด้วยบุญกุศล ให้เกิดขึ้นเป็นปีที่ ๘ แล้ว ในจังหวัดของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดอาริยะ นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของเมืองไทยและของโลกทีเดียว ที่ผู้ขายยอมขายขาดทุน ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มอิ่มบุญ ซึ่งตรงกับ กระแสพระราชดำรัส ของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันที่เคยพระราชทานเอาไว้ว่า ขาดทุนของเรา เป็นกำไรของเรา หรือเราขาดทุนเราก็ได้กำไร "Our loss is our gain" นั่นคือทุกๆท่านได้เสียสละ ได้ให้แก่คนอื่น ซึ่งเป็นกำไร คือบุญกลับมา นับว่าเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง และคนที่จะทำได้เช่นนี้ต้องเป็นคนมีบุญ ได้ปฏิบัติธรรมชำระจิตใจ แถมสินค้าที่นี่ ยังเป็นสินค้าไร้สารพิษ ไม่เป็นอันตราย ต่อผู้บริโภคอีกด้วย

ผมได้ดูคนที่มาเที่ยวชมงาน ได้มาซื้อของต่างๆมากมายทีเดียวครับ ก็ต้องกราบขออภัยที่ต้องล่าช้า เกินกว่าเวลา เพราะต้องวกไป วนมาติดคนเป็นจำนวนมาก ที่เข้าคิวซื้อของตามที่ต่างๆ ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจ

ผู้มาเที่ยวงานนอกจากจะได้สินค้าราคาต่ำกว่าทุนไปใช้ที่บ้านแล้ว ยังได้รับอาหารกายเพียงจานละ ๑ บาท ซึ่งมองดูแล้ว อยู่ทางโน้นครับ ก็หาไม่ได้ในที่ไหนอีกแล้ว ในยุคเศรษฐกิจเช่นนี้ และท่านยังได้อาหารใจ จากพระคุณเจ้า และจากปฏิบัติการ ของผู้ทรงความรู้อีกหลายท่าน

กระผมจึงขอขอบคุณชาวชุมชนราชธานีอโศกและญาติธรรมทั่วประเทศที่มาร่วมแรงร่วมใจเสียสละจัดงานปีใหม่'๔๘ ผมอยาก จะเห็นจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ได้จัดงานปีใหม่เช่นนี้ เพื่อสังคมเรา จะได้อยู่เย็นเป็นสุขทุกคน จะได้มีส่วนแบ่งปัน พึ่งพา เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ...ขอให้ตลาด อาริยะ'๔๘ นี้เป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนทั้งญาติธรรมและพี่น้องทั่วไป..." เสร็จแล้ว รองผู้ว่าฯ และแขกผู้มีเกียรติ รับของที่ระลึกจากพ่อท่าน

สำหรับบรรยากาศทั่วไปภายในงาน มีดังนี้

ตลาดอาหารใช้ระบบสาธารณโภคี มีสโตร์กลางบริการวัตถุดิบตลอดงาน พี่น้องแต่ละที่ร่วมลงขันกันแล้วแบ่งความรับผิดชอบ ในการบริการอาหาร ใครมีเงินลงเงิน ใครมีแรงลงแรง หรือลงทั้งเงินและแรงก็ไม่ว่ากัน เพราะงานนี้พวกเราทุกคน ล้วนเป็น เจ้าภาพ พื้นที่ของตลาดอาหาร ได้ขยายให้กว้างขึ้นกว่าเดิม จัดแบ่งร้านอาหารออกเป็น ๔ โซนใหญ่ๆ โดยมีแม่ข่ายต่างๆ รับผิดชอบ ทางเข้าตลาดอาหาร ขวามือเป็นร้านน้ำหวาน ของทีมศิษย์เก่า สัมมาสิกขา ส่วนทางซ้ายเป็นโซนอาหารต่างๆ เริ่มจากโซนที่ ๑ ศีรษะอโศก-ราชธานีอโศก และลูกข่าย จำหน่ายอาหารอีสานบ้านเฮาดั้งเดิม ข้าวเหนียวส้มตำ ข้าวปุ้น-น้ำยาป่า มีกลุ่มภูผาฟ้าน้ำร่วมขายขนมจีนน้ำเงี้ยว-แคบเจด้วย โซนที่ ๒ ทีมสีมาอโศก-ศาลีอโศก รับผิดชอบสลัดผักและขนมหวานต่างๆ โซนที่ ๓ สันติอโศก รับผิดชอบข้าวราดแกง และ ผัดเส้นก๋วยเตี๋ยว และโซนสุดท้ายปฐมอโศก รับผิดชอบก๋วยเตี๋ยวน้ำ, ก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า แถมด้วย ข้าวโพดคั่ว น้ำเต้าหู้-ปาท่องโก๋ โดยเฉพาะข้าวโพดคั่วมีผู้มาใช้บริการเข้าคิว ยาวเหยียดอยู่ตลอดเวลา จนมีการตกลงกันว่า ในปีหน้าจะเพิ่มการคั่วข้าวโพดอีก ๒ เตา เพื่อรองรับประชาชน ที่มาใช้บริการ ให้เพียงพอ และสุดท้าย เป็นเวทีชาวบ้าน การแสดงต่างๆของพี่น้องญาติธรรม โดยจุดขายคูปองแลกอาหารจานละ ๑ บาท อยู่บริเวณกึ่งกลาง ของ ตลาดอาหาร และจุดล้างจาน ที่จัดไว้ให้ผู้มาใช้บริการ ได้ช่วยแบ่งเบาแบ่งบุญกันไป เปิดบริการตั้งแต่ ๖ โมงเช้า - ๔ โมงเย็น สำหรับวันที่ ๑ ม.ค. จำหน่ายถึงบ่ายโมง ปีนี้ตลาดอาหาร กำไรอาริยะ ๒๙๓,๗๕๙ บาท

ตลาดสินค้ามีทั้งหมด ๗๔ ร้าน เริ่มรวมร้านจำหน่ายสินค้ายอดฮิตติดอันดับความต้องการของประชาชน ๔ ชนิดเข้าด้วย กันด้วยระบบ สาธารณโภคี โดยแต่ละแห่งลงขันกันซื้อสินค้ารวมกัน คือ เครื่องครัว พลาสติก น้ำมัน และน้ำตาล ชื่อ "ร้านรวมน้ำใจบุญนิยม" และสินค้าแปลกใหม่ ในงานนี้คือ รถปิกอัพป้ายแดง ๒ คัน โดยเปิดให้ผู้สนใจ ลงชื่อจองกันไว้ก่อน มีผู้สนใจ มาลงชื่อกว่า ๖๐ คน และจับสลากผู้โชคดีที่มีความพร้อม ในการซื้อทันทีในวันที่ ๑ ม.ค.๒๕๔๘ เวลาบ่ายโมง ปรากฏว่าผู้โชคดี เป็นญาติธรรมจากปฐมอโศกคือคุณอนันต์ และสันติอโศกคือคุณหนูพิน

ปีนี้มีผู้มาใช้บริการมากกว่าทุกปีที่ผ่านมาเกินความคาดหมาย ทำให้สินค้าหมดลงในวันที่ ๓๑ ธ.ค. จำนวนหลายร้าน เปิดจำหน่ายสินค้า ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธ.ค.๔๗ - ๑ ม.ค.๔๘ เริ่มเวลา ๘ โมงเช้าถึง ๔ โมงเย็น ยอดขายสินค้าทั้งหมด ๑๔,๘๙๓,๓๙๔ บาท กำไรอาริยะ ๔,๐๕๔,๘๔๘ บาท

เวทีภาคค่ำ จากกระแสความเศร้าโศก ของเพื่อนร่วมโลกที่ต้องจบชีวิตลงเพราะเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้การแสดง ภาคค่ำ ของพุทธสถาน-ชุมชน-กลุ่มต่างๆลดการแสดงลง มีการแสดง วันละ ๑-๓ รายการเท่านั้น และช่วงสุดท้าย เป็นการ แสดงธรรมของสมณะ และฉายภาพเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ให้ได้ชมกัน คืนวันที่ ๓๐ ธ.ค. แสดงธรรมโดย สมณะเพื่อพุทธ ชินธโร, คืนวันที่ ๓๑ ธ.ค. แสดงธรรมโดย สมณะเดินดิน ติกขวีโร และคืนวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๔๘ แสดงธรรมโดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์

รายการพิเศษ ๐๙.๐๐-๑๐.๓๐ น.

๓๑ ธ.ค. มหาเถระ ๕ รูป ขึ้นเวทีปาฐกถาธรรม"พลีชีพให้ถึงโลกุตระดีไหม?" โดยสมณะเก้าก้าว สรณีโย, สมณะกลางดิน โสรัจโจ, สมณะเสียงศีล ชาตวโร และ สมณะผืนฟ้า อนุตตโร ดำเนินรายการโดย สมณะบินบน ถิรจิตโต

๑ ม.ค. รายการ แพทย์ทางเลือกกับเลือกเป็นแพทย์เสียเองดีไหม? โดย น.พ.สมนึก ศิริพานทอง, ท.ญ.ฟากฟ้าหนึ่ง อโศกตระกูล, น.พ.แสนดิน ดำเนินรายการโดย สมณะเดินดิน ติกขวีโร

และเวลา บ่าย ๒ โมงร่วมประชุมตกลงเรื่องการเดินทางไปช่วยเหลือให้กำลังใจพี่น้องภาคใต้ที่ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ โดยจะออกเดินทาง ในวันที่ ๑๐-๒๑ ม.ค. ที่ปฐมอโศก โดยรถบัส ๑๒ คัน

๒ ม.ค. ๐๕.๐๐-๐๘.๐๐ น. ร่วมสรุปงาน และยุทธการเก็บบุญ ทั้งนักเรียนสัมมาสิกขา-ญาติธรรมร่วมกันเก็บบุญ ซึ่งปีนี้ ไม่ต้องเก็บฟาง ไม่ต้องเก็บเต็นท์ เพราะใช้ซาแลนท์แทนเต็นท์ ทำให้ลดงานส่วนนี้ ลงไปได้มาก ตลอด ๓ วัน พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ แสดงธรรมรับอรุณเพื่อคุณวิเศษของพุทธ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เพื่อชาวบุญนิยม

สิ่งใหม่ในงานนี้
ใช้ป้ายเหลือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นผู้มาร่วมงานและช่วยงาน สามารถรับประทานอาหารในตลาดอาหารได้ฟรี และ สามารถ ให้ถูกเรียกใช้ได้ฟรีเช่นกัน

สมาคมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา จัดทำใบอธิษฐาน รวมพลังศรัทธาบูชาพ่อ แด่..พ่อ ผู้ไม่เคยเหน็ดเหนื่อย ครบรอบ ๗๒ ปี แจกแก่ ผู้มาร่วมงาน สำหรับเขียนสิ่งที่ตั้งใจจะทำ เพื่อพ่อท่าน ในวาระที่พ่อท่าน จะมีอายุครบ ๖ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ สามารถส่งได้ที่ สมาคมศิษย์เก่าฯ ตามงานประจำปีต่างๆของชาวอโศกหรือที่สันติอโศก

สำหรับผู้มาร่วมงานได้ให้สัมภาษณ์ดังนี้
นายบุญส่ง บุญนำ อายุ ๓๐ จ.ศรีสะเกษ "ผมเคยเข้ามาตอนปี พ.ศ.๒๕๓๙ วันนี้แปลกตาไปมาก ตอนนั้นยังไม่มีตึกใหญ่ ผมประทับใจ ต้นไม้ใหญ่ ๒ ต้นมาก ดูเหมือนของจริง ผมรู้สึกทึ่ง ในจิตรกร ที่เขาปั้นได้เหมือนมาก ปีนี้แม่มาซื้อหม้อใบใหญ่ เอาไปใช้ที่วัด เพราะที่ผ่านๆมาต้องไปยืมเขาทุกปี ปีนี้มีเงินเหลือจึงนำมาซื้อหม้อ แม่ผมก็มาซื้อทุกปี ก็ของเดิมๆนั่นแหละครับ ส่วนผมซื้อกางเกงขาก๊วย และหมวก สินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก ถูกจริงๆครับ"

นายดาบบุญ ดีรัตนา ผู้รับใช้ชมร. สาขาหน้าสันติอโศก "ภาพรวมค่อนข้างลงตัว แต่ประชาชนที่มาซื้ออาหารประมาณ ๓๐% นำถุงพลาสติก มาใส่อาหาร หรือบางคน ซื้อแล้วเทอาหาร ใส่ถุงที่เตรียมมา โดยไม่ล้างจาน และทางข้าวเกรียบทอด และร้านน้ำ ยังคงใช้ถุงพลาสติก จึงทำให้ไม่สามารถงดใช้ถุงพลาสติกได้ ลูกค้ามาช่วยล้างจานประมาณ ๗๐%โดย นร.สีมาอโศก และ มีทีมจรยุทธ์ ถือโทรโข่งชักชวนให้นำจานไปล้าง ตรงนี้ถือว่า ได้ผลพอสมควร

สโตร์กลาง จัดได้ดีขึ้น แต่แรงงานไปช่วยน้อยลง ช่วยล้าง ช่วยหั่น รับของที่มาส่ง เตรียมของไปให้แต่ละร้าน คนไปช่วย ตลาดสินค้าเสียเยอะ พวกเราควรไปช่วยตรงสโตร์กลางให้มากกว่านี้"

นายบูรณศิลป โทบุดดี นายอำเภอวารินชำราบ "รู้สึกว่างานนี้เป็นงานที่ทำให้คนที่มาได้หลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สิ่งแวดล้อม เรื่องของคุณภาพสินค้าที่นำมาขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มาเป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีเงินเท่าไหร่ แล้วมาที่นี่ครบวงจร ทั้งการซื้อ ทั้งการรับประทานอาหาร ที่ปลอดจากสารพิษ ปลอดจากเนื้อสัตว์

ในภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างนี้ ตรงนี้เป็นภาวะที่ได้ช่วยประชาชนในทางตรงเลย ถ้าจัดอย่างต่อเนื่อง จะเป็น ประโยชน์ แก่ประชาชน แต่ต้องสอนเขาว่า สิ่งเหล่านี้ ที่นำมาขายให้เขานั้น ได้มาด้วยความขยัน ความอดทน ด้วยความยาก ลำบาก ต้องต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพราะฉะนั้น ต้องให้เขาได้รู้ประโยชน์รู้คุณค่า ที่เขาเอาไปด้วย แล้วเวลาเขาเอาไป เขาต้องใช้อย่างประหยัด อย่างถูกต้อง ให้ยั่งยืน ถ้าจัดตลอดไปก็จะเป็นการดี ถ้าอยู่ภายใต้ที่ผมว่าดังกล่าว อาหารอร่อยมาก"

นายจิรโรจน์ หิรัญกรประภา นายก อบต.บุ่งไหม "ผมมาบ่อยมา รู้สึกอบอุ่นตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ามา ๗-๘ ปีก็ยังเหมือนเดิม ทุกคนให้ความรัก สิ่งที่ได้รับไม่ว่าการให้การต้อนรับ การให้ความเป็นกันเอง รู้สึกว่าเป็นพี่น้องร่วมหมู่บ้านเดียวกัน".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


รายงานความเป็นไป ของกสิกรรมไร้สารพิษ (ตอน ๖)
(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๗ เดินทางไปเชียงรายอโศกซึ่งได้นัดครูต้น (เสียงธรรม) และคุณไม้เพชรไว้ ไปถึงก็ร่วมรับประทานอาหาร กับพี่น้องชาวชุมพร ที่นั่นพอดี และได้เล่าเรื่อง ความเป็นไป หลังจากวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา และทำให้เกิดการวางเครือข่าย ของกสิกรรมไร้สารพิษใหม่ ที่สันติอโศกทำอยู่ในภาคกลาง และบางจังหวัด ที่มีศักยภาพ สามารถผลิต และจัดส่ง ในปริมาณมาก ให้กับทางสันติอโศกได้ ซึ่งคุณต้นเสียงธรรม และคุณไม้เพชรก็รับฟังด้วย

จากนั้นก็พูดในประเด็นที่มาที่เชียงรายอโศกก็คือต้องการความร่วมจัดวางแผนการผลิตผลผลิตบางตัวซึ่งที่อื่นๆ ไม่สามารถ ผลิตให้ได้ ก็คือผลผลิตจำพวกหอมหัวใหญ่ กระเทียม หอมแดง มันฝรั่ง ได้กำหนดปริมาณการผลิต ให้กับทางเชียงรายอโศก ซึ่งทางสันติอโศกมีตลาดที่ชัดเจน ที่สามารถขายผลผลิต ในปริมาณที่ให้ข้อมูลไปได้ บวกกับผลผลิต ในส่วนทางชมร.เชียงใหม่ ฝากมาประสานงาน ด้วยก็คือ หอมหัวใหญ่ และแครอท ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี

นอกจากนี้ก็ได้รับฟังข้อมูลจากคุณต้นเสียงและคุณไม้เพชรถึงงานที่ทางเชียงรายอโสกทำอยู่ทั้งเรื่องของ กสิกรรมไร้สารพิษ ผลผลิตที่มี และมีเป็นปริมาณมาก ตลอดจน งานด้านการอบรม ซึ่งเสริมด้วยศักยภาพการผลิต ที่เกี่ยวกับกสิกรรมไร้สารพิษ ได้เป็นอย่างดียิ่ง แต่ก็รับรู้ข้อมูลที่เป็นปัญหา เรื่องการตลาด ระดับหนึ่ง เพราะเมื่อผลผลิต ที่ออกมามาก ในฤดูกาล หรือ หากตั้งใจผลิตออกมา ให้ได้ปริมาณมาก ก็จะประสบกับปัญหาด้านการตลาด

เท่าที่สอบถามความจริงเกี่ยวกับตลาดที่ ชมร.เชียงใหม่ หรือร้าน กู้ดินฟ้า ๔ ก็พบว่าไม่เกิดความเป็นไป ในการระบายผลผลิต ไม่ได้มีการเชื่อมต่อ ไห้ชัดเจน อาจจะเพราะ ไม่พร้อมทั้งสองฝ่าย ในเรื่องทีมงานที่ทำหน้าที่ประสานงาน เท่านั้นเอง เท่าที่รับ ข้อมูลส่วนนี้มา ประเมินได้ว่า หากมีทีมงาน ที่ร่วมประสานงาน และกำหนดแผนการผลิต และวางแผนการตลาด ร่วมกันได้ กู้ดินฟ้า ๔ เชียงใหม่และเชียงรายอโศก ก็จะเป็นศูนย์กลาง เกี่ยวกับกสิกรรมไร้สารพิษ ที่เป็นหลักของชาวอโศก ในภาคเหนือได้ โดยไม่ยาก ในศักยภาพขององค์กรที่มีอยู่

๑๒ สิงหาคม เดินทางกลับสันติอโศก

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


๒๐ อันดับข่าวเด่น ในรอบปี ๒๕๔๗

*** อันดับ ๑.
๑ มิ.ย. ๒๕๔๗ หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับลงพาดหัวข่าวหน้า ๑ กรณีพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์เขียนจดหมายปิดผนึกถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร กรณีจะซื้อหุ้น ฟุตบอลลิเวอร์พูล หงส์แดง มีผู้จัดรายการวิทยุหลายสถานี สัมภาษณ์สด ออกอากาศทั่วโลก และทั่วประเทศไทย และนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ มาสัมภาษณ์ที่พุทธสถาน สันติอโศก ออกจากรายการโทรทัศน์ ในวันเดียวกัน ต่อมานายกรัฐมตรีฯก็ยกเลิกซื้อหุ้นฟุตบอลลิเวอร์พูลและในวันที่ ๕ มิ.ย. พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร กล่าวในรายการนายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน ตอนหนึ่งว่า "...ที่ผมถอยนี่ก็เพราะว่า มีผู้หลักผู้ใหญ่ ที่ปรารถนาดีต่อผมและบ้านเมือง ได้ให้ข้อคิดที่ฟังแล้วมีเหตุผลมาก และเราก็ถือว่าเหตุผลเหล่านี้ เมื่อพูดเหตุผลมาแล้ว เราฟังแล้วจริง เพราะท่าน มีความจริงใจอยู่แล้ว ผมก็ต้องถอย"

*** อันดับ ๒
๑ ต.ค. มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยประธานกรรมการ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้มีหนังสือนมัสการมายังพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ว่า คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้มีมติ ประกาศเกียรติคุณ ให้เครือข่ายชุมชนชาวอโศก เป็นองค์กรดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๗ ของมูลนิธิฯ

๑๑ ต.ค. เครือข่ายชุมชนชาวอโศกได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นองค์กร ดีเด่นประจำปี ๒๕๔๗ ของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ- นาคะประทีป ซึ่งมี อ.ส.ศิวรักษ์ เป็นประธานมูลนิธิ

*** อันดับ ๓
๒๓ เม.ย.นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร และคณะเดินทางมาพบปะประชาชนที่บริเวณร้านหนึ่งน้ำใจ หลังจากนั้น ได้เดินชมนิทรรศการต่างๆ ทั้งของจังหวัด และของเครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษ จ.ศรีสะเกษ และได้แวะพักค้างคืน ที่บ้าน ตะวันฟ้า บริเวณคุ้มคำพุทธ หมู่บ้านวัฒนธรรมศีรษะอโศก ในเช้าวันที่ ๒๔ ได้เดินเยี่ยมชมหมู่บ้าน และเข้ากราบนมัสการ พูดคุยกับ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ที่บริเวณศาลา หลังจากนั้นได้ออกรายการสด "นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน" ที่บริเวณ หน้าร้านหนึ่งน้ำใจ หมู่บ้านศีรษะอโศก ต.กระแซง จ.ศรีสะเกษ นับเป็นครั้งแรก ที่นากยกฯ ได้มาพักค้างคืน ที่หมู่บ้านของ ชาวอโศก และเป็นครั้งที่ ๒ ที่นายกฯได้เข้ากราบนมัสการพ่อท่าน โดยครั้งแรกเข้ากราบนมัสการ ที่หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว

*** อันดับ ๔
๑ ส.ค. เครือข่ายชาวอโศกทั่วประเทศ ๑,๕๐๐ คน ร่วมเดินรณรงค์ในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ถือป้ายรณรงค์มหกรรมงดเหล้า เข้าพรรษา บริเวณท้องสนามหลวง มีประชาชน และองค์กรต่างๆ มาร่วมรณรงค์หลายหมื่นคน โดย ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานในพิธี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาส มหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗

*** อันดับ ๕
๑๖-๑๘ พฤษภาคม เครือข่ายกสิกรรม ไร้สารพิษแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สถาบันเพื่อพัฒนาการเกษตร และชนบท จำเนียร สาระนาค (สจส.) ร่วมกันดำเนิน โครงการพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพชีวิต เกษตรกร จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการ "การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ภาคประชาชน เพื่อเอาชนะความยากจนอย่างยั่งยืน" ในงานเพื่อฟ้าดินครั้งที่ ๑๑ ณ ชุมชนราชธานีอโศก มีพนักงาน ธ.ก.ส.เข้าร่วมงาน ด้วยความสมัครใจถึง ๘๗๘ ราย โดยมี ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธานในพิธี

*** อันดับ ๖
๒๖ มี.ค. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต ๑ นำผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน ๓๒๐ คนจาก ๑๕๖ โรงเรียน ใน ๕ อำเภอ จังหวัดอุบลฯ มารับการปฐมนิเทศ ที่โรงเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศก

๒๐-๒๒ พ.ค. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต ๕ จัดอบรมบุคลากรแกนนำโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน ๒๐๙ คน จาก ๘๑ โรงเรียน ๖ อำเภอของ จ.อุบลฯ ที่ราชธานีอโศก

*** อันดับ ๗
๓๐ พ.ย. น.ร.สัมมาสิกขาสันติอโศก ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนต้อนรับนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่วัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี

และ ๒๙ ธ.ค. ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนนำผลที่ได้รับจากการเสวนาในหัวข้อ "คุณธรรมสร้างชาติได้อย่างไร" เสนอต่อ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

*** อันดับ ๘
๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗ พล.ต.จำลอง ศรีเมืองร่วมกับชุมชนสันติอโศก จัดงานคอนเสิร์ต "สืบทอดสายธารน้ำใจ กวีซีไรท์ อังคาร กัลยาณพงศ์" เพื่อหารายได้ เป็นค่าใช้จ่าย ในการรักษา โรคหัวใจของศิลปิน แห่งชาติกวีซีไรท์อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้เงิน ประมาณ ๓ แสนบาท

*** อันดับ ๙
๑๗-๑๘ ก.ค. งานคืนสู่เหย้า เข้าคืนรัง นศ.ปธ. ครั้งที่ ๑ ณ ชุมชนสันติอโศก มี นศ.ปธ.ลงทะเบียนร่วมงาน ๑๗๒ คน และ เตรียม จัดตั้ง สมาคม นศ.ปธ.,

๑๓-๑๔ พ.ย. จัดงานคืนสู่เหย้าชาวพุทธธรรม ครั้งที่ ๑ ณ พุทธสถานสันติอโศก เขตบึงกุ่ม กทม.


*** อันดับ ๑๐

๖ ก.ย. พ่อท่านให้สัมภาษณ์ทางวิทยุรายการเจาะลึกทั่วไทยเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับเรื่องการเมืองของพรรคเพื่อฟ้าดิน เพื่อปรับ ทิฏฐิเรื่องการเมือง มี น.ส.พ. หลายฉบับ ลงข่าวกรณีดังกล่าว ของพ่อท่าน เช่น The Nation Monday, กรุงเทพธุรกิจ, โพสต์ทูเดย์, คมชัดลึก

๒๔ ก.ย. ผู้สื่อข่าว นสพ.ร่วมด้วยช่วยกัน, โทรทัศน์ช่อง ๑๑ news one และไททีวี ได้มาขอสัมภาษณ์และถ่ายทำ พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ เกี่ยวกับพรรคเพื่อฟ้าดิน ที่พุทธสถานสันติอโศก ตามลำดับ

*** อันดับ ๑๑
๔-๗ พ.ย. งานมหาปวารณาครั้งที่ ๒๓ ณ ชุมชนปฐมอโศก และครบรอบ ๒๐ ปี ชุมชนปฐมอโศก, ครบรอบ ๑๒ ปี (๑ นักษัตร) โรงเรียน สัมมาสิกขาปฐมอโศก, ครบรอบ ๒ นักษัตร (๒๔ ปี) ของการเกิด พุทธสถานปฐมอโศก และฉายภาพยนตร์เรื่องแรก ของชาวอโศก "ฝากฟ้าแด่ดิน" ที่ใช้ทุนสร้างน้อยกว่าภาพยนตร์ทั่วไป เพราะดาราส่วนใหญ่ เป็นชาวชุมชนปฐมอโศก ซึ่งแสดงฟรี ไม่มีค่าตัว

*** อันดับ ๑๒
๑๙ ต.ค. โทรทัศน์ช่อง ๑๑ ถ่ายทำรายการเวทีชาวบ้าน พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ร่วมเสวนาประเด็นเรื่อง "ทำไมแม่จึงฆ่าลูก ของตัวเอง เพื่ออุทิศให้พระอินทร์และ สุริยะเทพ" ณ ศาลาทรงไทย "ถ่าหมู่แน" อุทยานบุญนิยม จ.อุบลราชธานี พ่อท่าน ยอมเปิดตัว ทางโทรทัศน์ เพื่อเปิดเผยเทวนิยม และอเทวนิยม หลังจากงดสื่อด้านทีวีมานาน

*** อันดับ ๑๓
๗ ก.พ. ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ จัดงาน "สืบสานวัฒนธรรมไทย เวียดนาม พุทธ คริสต์ อิสลาม" ณ บ้านแด่แผ่นดิน กราบนิมนต์ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ เป็นประธานฝ่ายพุทธ ร่วมเสวนากับ ตัวแทนฝ่ายคริสต์และอิสลาม ในหัวข้อ เรื่อง "ศาสนาช่วยคนได้อย่างไร"

*** อันดับ ๑๔
๒๓-๒๕ ม.ค. ๒๕๔๗ งานฉลองหนาว ธรรมชาติอโศก ครั้งที่ ๒ ก่อนงานมี นร.สัมมาสิกขา ชั้น ม.๖ จากทุกแห่งมาเข้าคอร์ส ขบวนการกลุ่ม และช่วยเตรียมงาน ในวันที่ ๒๒ ม.ค. มีการประชุม มหาเถระครั้งที่ ๑ ของปี ๒๕๔๗ อุณหภูมิต่ำสุด ๖ องศา เซลเซียส ตลอดงานใช้ไฟฟ้า ที่ได้จากการแปรพลังงานน้ำ และพลังแสงอาทิตย์ มีการเปิดตลาดอาริยะเล็กๆ ขายสินค้า ต่ำกว่าทุน พี่น้องปกากะญอจากดอยแม่แจ่ม เดินทางมาร่วมงานด้วย สรุปว่าเป็นงานแรกของชาวอโศก ที่ไม่ใช้ไฟฟ้า จากภายนอกเลย เพราะผลิตเอง พึ่งตนเอง

*** อันดับ ๑๕
๒๑ เม.ย. สมณะเสียงศีล ชาตวโร ได้รับโล่ "เป็นคนดี 'ศรี' เกษตร (อินทรีย์) " จากชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย โดยมี อาจารย์ชนวน รัตนวราหะ ประธานชมรมฯเป็นผู้มอบ

*** อันดับ ๑๖
๑-๒ ก.ค. เครือข่ายชาวอโศก ๑๐๔ คน เข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงานและการประชุมวิชาการเรื่องมาตรฐานและ ความปลอดภัย ของผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพ เพื่อการบริโภค โดยสำนักงาน พัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ณ ห้องนนทรี โรงแรมที.เค.พาเลส ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ ผลการวิจัยน้ำหมักชีวภาพ มีประโยชน์มากกว่าโทษ และมีสารต้านอนุมูลอิสระ

*** อันดับ ๑๗
ชาวภูผาฟ้าน้ำ จ.เชียงใหม่ ร่วมสนับสนุนรัฐบาล เปิดปั๊มไบโอดีเซลแห่งแรกของภาคเหนือ เพื่อประหยัดพลังงาน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นประธานเปิดงาน เมื่อ ๒๘ มิ.ย. ที่ปั๊มน้ำมันบางจาก ข้าง ชมร.เชียงใหม่ หลังพิธีเปิดงาน รมว. กระทรวงพลังงานและคณะ ให้เกียรติมารับประทานอาหาร ที่ชมร. เชียงใหม่

*** อันดับ ๑๘
๓๑ มี.ค. สมาชิกสภาพที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินิมนต์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ร่วมประชุมสัมมนาธรรมะ- เศรษฐกิจพอเพียง กับการป้องกัน และแก้ปัญหาคอรัปชั่น และร่วมอภิปราย แนวทางการแก้ปัญหาสังคม ณ ห้องสัตตบงกช ศูนย์วัฒนธรรมกาญจนาภิเษก อุบลราชธานี สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี มีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุสวท. ระบบเอฟเอ็ม คลื่นความถี่ ๙๘๕ เมกะเฮิร์ซ

*** อันดับ ๑๙
๑๗ มี.ค. รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายปราโมช รัฐวินิจ และคณะเยี่ยมชมราชธานีอโศก โดยเฉพาะกิจกรรมวิทยุชุมชน บัวกลางมูล วันรุ่งขึ้น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ออกข่าวที่รองอธิบดีฯ มาเยี่ยมวิทยุชุมชน บัวกลางมูล

*** อันดับ ๒๐
พ.ย. เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษและสถาบันบุญนิยม ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) โครงการอนุรักษ์ พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ สมเด็จพระเทพฯ ม.เกษตรศาสตร์ กระทรวงเกษตรฯ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และ ๔๘ องค์กรเอกชน ร่วมจัดงานสมัชชาเกษตรกรรมทางเลือก ครั้งที่ ๓ "มหกรรมเกษตรกรรมยั่งยืน" ณ สำนักพิพิธภัณฑ์ และวัฒนธรรม การเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน กทม.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


จังหวัดไม่อนุมัตินามสกุล "มุ่งมาจน"
เพราะเห็นว่ามีความหมาย "หยาบคาย"
นายตายแน่ยื่นอุทธรณ์ขอพึ่ง มท.๑

ชาวบ้านแปลกใจจังหวัด
ขัดแย้งคำสอนพระพุทธเจ้าที่สอนให้มนุษย์ ฝึกจนเช่นพระพุทธองค์

ผู้สื่อข่าวอโศกได้ไปร่วมงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๘ ก็ได้ทราบเรื่องว่านายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์ มีความประสงค์ขอเปลี่ยน ชื่อสกุล จากเชียวเขตรวิทย์ เป็นมุ่งมาจน

นายตายแน่ ได้นำเสนอการขอเปลี่ยนแปลงชื่อสกุลต่อนายรินไท สุขเกษม ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก
เพื่อตัวเอง จะได้มีชื่อสกุล ไว้เป็นธรรมานุสติ เพื่อตือนสติตัวเอง ไม่ให้ประมาทในวัยและชีวิต หรือหลงใหลความร่ำรวย จนก่อทุกข์ให้ตน และคนรอบข้าง

นายรินไท เห็นว่า เป็นชื่อสกุลที่ดี ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด จึงทำเรื่องขอเปลี่ยนชื่อสกุลของนายตายแน่ไปยังหัวหน้า ฝ่ายทะเบียน และบัตร ของ อ.วารินชำราบ เมื่อวันที่ ๒ ธ.ค. ๒๕๔๗

ปรากฏว่า ในวันที่ ๒๑ ธ.ค. ๒๕๔๗ ได้มีหนังสือจาก ที่ว่าการอำเภอวารินชำราบ ลงนามโดย นายมงคล ศรีใส ในฐานะ ปลัดอำเภอ ที่รักษาการแทนนายอำเภอวารินฯ ถึงนายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์ ว่า ทางอ.วารินชำราบได้รับแจ้งจาก จ.อุบลราชธานีที่มีมีหนังสือถึงนายอำเภอวารินฯ ลงนามโดยนายเนาวรัตน์ บุญหล้า ในฐานะปลัดจังหวัด ที่ปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

หนังสือดังกล่าวมาจาก ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ ถึงนายอำเภอวารินฯ ว่า ชื่อสกุล ที่นายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์ ขอเปลี่ยน และจดทะเบียนใหม่ ไม่มีความเป็นสิริมงคล แก่วงศ์ตระกูล และมีความหมาย หยาบคาย ส่อเสียดสังคม ซึ่งขัดกับกฎหมาย

เมื่อข้าราชการผู้ทำหน้าที่แทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ ได้มีหนังสือทางราชการชี้แจงเหตุผลมาแบบนี้ ชาวบ้านราชฯเมืองเรือ ก็มีความรู้สึกว่า คงมีความเข้าใจกันผิดแน่ และต่างก็มีความเห็น ตรงกันข้ามกับเจ้าหน้าที่ของทางราชการ ที่มีอำนาจ ในการอนุมัติ

ดังนั้นนายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์ หลังจากได้รับหนังสือชี้แจงจากทางอำเภอแล้ว จึงได้ทำหนังสืออุทธรณ์คำสั่ง ขอจดทะเบียน ตั้งชื่อสกุลใหม่ไปยัง รมว.กระทรวงมหาดไทย เมื่อเห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากทางจังหวัด ซึ่งอาจเป็นเพราะมีความเชื่อ ที่แตกต่างกัน โดยได้ชี้แจงเหตุผลไปทางกระทรวงมหาดไทย เพื่อเปลี่ยนชื่อสกุลของตัวเอง เมื่อวันที่ ๒๙ ธ.ค. ๒๕๔๗ ดังนี้


๑๗๔ หมู่บ้านราชธานีอโศก หมู่ ๑๐
ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ
จังหวัดอุบลราชธานี ๓๔๑๙๐

๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๗

เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งขอจดทะเบียนตั้งชื่อสกุลใหม่เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
อ้างถึง ๑.หนังสือจังหวัดอุบลราชธานี ที่อบ ๐๐๑๗/๑๙๓๗๕ ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗

๒.หนังสือที่ว่าการอำเภอ วารินชำราบ ที่ อบ ๐๒๑๗/๗๒๓๙ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๗

๓.กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐

๔.พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๕

๕.ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการทะเบียนชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๖

ตามที่จังหวัดอุบลราชธานี โดย นายเนาวรัตน์ บุญหล้า ปลัดจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตรวจสอบ และพิจารณาชื่อสกุลใหม่ ตามคำขอ จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลใหม่ ของนายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์ อยู่บ้านเลขที่ ๑๗๔ หมู่ที่ ๑๐ หมู่บ้านราชธานีอโศก ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ตามคำขอแบบ ช.๑ ขอตั้ง ชื่อสกุลใหม่จาก "เชียวเขตรวิทย์" เป็น "มุ่งมาจน"

จังหวัดอุบลราชธานีได้ตรวจสอบและพิจารณาแล้ว เห็นว่าชื่อสกุลที่นายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์ ขอเปลี่ยนและจดทะเบียนใหม่ เป็น "มุ่งมาจน" นั้น ไม่มีความเป็นสิริมงคลแก่วงศ์ตระกูล และมีความหมาย หยาบคาย ส่อเสียดสังคม ซึ่งขัดกับ พระราชบัญญัติ ชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๕ และระเบียบ กระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียน ชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๖

กระผม นายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์ ไม่เห็นพ้องด้วยกับการวินิจฉัยตรวจสอบและพิจารณาของจังหวัดอุบลราชธานี กระผม เห็นว่าชื่อ "มุ่งมาจน" เป็นคำไพเราะ เป็นที่ประทับใจยิ่งนัก เพราะเป็นคำที่ยืนยัน ความจริงจัง จริงใจของผู้ปฏิบัติ โลกุตระ ในพระพุทธศาสนา แต่อาจจะทวนกระแสความรู้สึก (ปฏิโสตัง) คนที่ยังติดยึดในความเป็นโลกียะอยู่บ้าง ซึ่งปณิธานในการ "มุ่งมาจน"นี้ เป็นอุดมคติที่แท้ของเรา ผู้ปฏิบัติธรรมชาวอโศก เป็นเศรษฐศาสตร์บุญนิยม ที่วิธีคิดแตกต่างจาก เศรษฐศาสตร์ ทุนนิยม อย่างมีนัยสำคัญ และเกิดความเป็นไปได้ ที่ได้พิสูจน์แล้วด้วย มิใช่แค่คำส่อเสียดสังคม ไม่ใช่คำประชด ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นความจริงใจแท้ๆ ที่เราเห็นเป็นความประเสริฐของคน และไม่ผิดกฎหมาย แต่อย่างใด จึงขอยื่นอุทธรณ์ คัดค้านคำสั่ง ของจังหวัดอุบลราชธานี ต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดังประทานกราบเรียน ดังนี้

ข้อ ๑. คำว่า "มุ่งมาจน" ผู้นั้นจะต้อง "ใจพอ มีฉันทะ มีเจตนากระทำ มุ่งปฏิบัติให้เข้าถึงความจน" ตามแนวทางที่องค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเป็นตัวอย่าง ทิ้งราชสมบัติ มาเป็นคนจน มาเป็นนักบวช มาเป็นบุคคลที่มี วรรณะ ๙ ได้แก่

๑.เป็นคนเลี้ยงง่าย
๒.เป็นคนบำรุงง่าย
๓.เป็นคนมักน้อย
๔.เป็นคนใจพอ สันโดษ๕.เป็นคนขัดเกลาได้
๖.เป็นคนมีศีลเคร่ง
๗.เป็นคนมีอาการที่น่าเลื่อมใส
๘.เป็นคนไม่สะสม
๙.เป็นคนยอดขยัน

ตามแนวทางปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังกล่าวนี้ ชาวอโศกได้ปฏิบัติให้มาเป็นคน "มุ่งมาจน" เป็น คนจน ที่มีวรรณะ ๙ มีโพชฌงค์ ๗ เป็นตัวขับเคลื่อน ให้เข้าทาง อยู่ในอริยมรรค มีองค์ ๘ ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นประจำทุกวัน เป็นปกติธรรมดา กระทั่งเป็นคนจนอย่างสมบูรณ์ ตามที่ได้ตั้งใจ "มุ่งมาจน" ด้วยคำขวัญที่ว่า ลด ละ ขยัน กล้าจน ทนเสียดสี หนีสะสม นิยมสร้างสรร สวรรค์นิพพาน แล้วพากเพียรปฏิบัติให้บรรลุความเป็นจริง เมื่อเกิดคน "มุ่งมาจน" มีจำนวนมากขึ้น จึงเกิดเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ จังหวัด อุบลราชธานี และหมู่บ้านศีรษะอโศก หมู่ที่ ๑๕ ตำบลกระแชง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านปลอดอบายมุข อย่างถาวร เป็นชุมชนเข้มแข็ง มองเห็นได้เด่นชัดถึงคุณสมบัติ ๑๔ ประการ ดังนี้

๑.เป็นคนมีศีลในตัว
๒.เป็นคนพึ่งตนเองได้
๓.เป็นคนมีงานทำที่เป็นสัมมาอาชีพ
๔.เป็นคนขยัน สร้างสรรค์
๕.เป็นคนมีความเป็นอยู่ผาสุก
๖.เป็นคนไม่ฟุ้งเฟ้อ
๗.เป็นคนมีความประณีตประหยัด
๘.เป็นคนไม่มีอบายมุข
๙.เป็นคนมีความพร้อมเพรียง
๑๐.เป็นชุมชนมีความเป็นปึกแผ่น เป็นภราดรภาพ
๑๑.เป็นชุมชนแข็งแรงมั่นคง
๑๒.เป็นชุมชนสร้างทุนทางสังคม มีประโยชน์ต่อสังคม
๑๓.เป็นชุมชนอุดมสมบูรณ์ ไม่สะสม
๑๔.เป็นชุมชนที่มีน้ำใจและเสียสละอย่างสูง

ดังนั้น "มุ่งมาจน" จึงมาเป็นคนจนที่มีวรรณะ ๙ เป็น สิริมงคลแก่วงศ์ตระกูลอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่จะต้องเอาจริง ปฏิบัติให้ถึงจริง ไม่ใช่ทำกันเล่นๆ แต่ละคนทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตเพื่อสืบสานการ "มุ่งมาจน" ให้ถึงแก่นแท้ของสัจธรรม ทุกคน"มุ่งมาจน" มาอยู่ รวมกันเป็น "สาธารณโภคี" เป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งมั่นพากเพียร ดำเนินชีวิตให้ได้ตามรอย พระยุคลบาท ดังพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของปวงชนชาวไทยว่า "มีคนบอกว่า คนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้องทุกวัน เรานี่แหละคนจน"

"มุ่งมาจน" ทางจังหวัดอุบลราชธานี เห็นว่ามีความหมาย หยาบคาย ส่อเสียดสังคม ซึ่งเป็นการเข้าใจที่แตกต่างกัน คนละ มโนทัศน์ ด้านหนึ่งมองอย่างโลกียะ แต่เรามองอย่างโลกุตระ จึงอาจจะทำให้ ผู้มองอย่างโลกียะ เห็นเป็นมุมลบ เห็นเป็น ความต่าง จึงเป็นเหตุให้เข้าใจผิดว่า "เป็นการส่อเสียดสังคม หยาบคาย"

สังคมปัจจุบัน รัฐบาลดำเนินนโยบายให้ทุกคนในสังคมในประเทศชาติมีเศรษฐกิจดี ให้ทุกคน ทุกครอบครัว หลุดพ้นจาก "ความยากจน"

"มุ่งมาจน" เป็นลักษณะของใจที่พอแล้ว พอเพียงแล้ว เมื่อคนพอแล้ว ก็จะไม่มีความยากจนอีก "ความยากจน"ก็จะหมดไป จากแผ่นดินไทย จึงสอดคล้องพ้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งจะให้ความยากจน หมดไปจากประเทศไทย

ข้อ ๒. จังหวัดอุบลราชธานีเห็นว่า "มุ่งมาจน" ขัดกับพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๕ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วย การจดทะเบียนชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๖

พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๘ วงเล็บ ๔ มีใจความว่า "ชื่อสกุลต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย"

คำว่า "มุ่งมาจน" จังหวัดอุบลราชธานี มีความคิดเห็นเข้าใจว่า มีความหมาย "หยาบคาย ส่อเสียดสังคม" จึงเห็นว่าขัดกับ กฎหมาย ดังกล่าว ซึ่งความจริงนั้นเป็นเพียงความคิด ความเข้าใจ ที่แตกต่างกัน คนละแนวคิด คนละมโนทัศน์เท่านั้น มิได้มีความหมายหยาบคายแต่อย่างใด

อนึ่ง กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา ๔ บัญญัติว่า "ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับ ความคุ้มครอง ตามมาตรา ๒๘ บัญญัติว่า บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพ ของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อ รัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน"

กฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ให้สิทธิและเสรีภาพแก่กระผมที่ขอใช้ชื่อสกุล "มุ่งมาจน" เพราะคำว่า "มุ่งมาจน" ไม่ไปละเมิดสิทธิ และ เสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ประกอบกับกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตร ๓๐ กฎหมายได้วางหลักความเสมอภาคไว้ให้ความเป็นธรรมแก่บุคคล ไม่ว่าเพราะเหตุแห่ง ความแตกต่าง ในเรื่อง สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษา อบรมหรือความคิดเห็น ทางการเมือง อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ดังที่ได้เรียนมา กระผมขอยืนยันถึงความจริงใจ ขอความเห็นใจ ขอท่านได้โปรดอนุเคราะห์ พิจารณาให้กระผมได้ใช้ชื่อสกุล "มุ่งมาจน" จักเป็นพระคุณอย่างสูง

ขอแสดงความนับถือ

(นายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์)

เรื่องการเปลี่ยนชื่อสกุลของนายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์ ซึ่งเป็นลูกบ้านของหมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศก จะได้รับความเห็นใจ หรือไม่ ทางผู้สื่อข่าวอโศก จะติดตามเรื่อง นำมาเสนอญาติธรรมทั่วประเทศต่อไป.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ฟ้อนเจิง ชลอความจำเสื่อม

คนเรายิ่งเกิดนานก็ยิ่งความจำเสื่อม นะคะ อวัยวะอะไรก็หย่อนยานไปเสียหมด ยกเว้นอย่างเดียวที่ตึงคือหู เพราะการได้ยิน จะลดลง สำหรับสมองแล้ว ถ้าไม่อยากให้เสื่อมเร็วกว่าเพื่อนร่วมรุ่น ก็ต้องใช้งานให้มากหน่อย อย่าปล่อยให้อยู่เฉยๆนะคะ วิธีใช้งานของสมอง มีหลายวิธี แต่มีวิธีหนึ่งที่นักวิจัยได้ทำการวิจัยไว้ คือการเต้นรำ หรือกิจกรรมเข้าจังหวะ

ได้มีการทดลองของแพทย์ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา โดยนำเอาอาสาสมัครที่อายุมากกว่า ๗๕ ปี จำนวน ๔๖๙ คน เข้าร่วม การวิจัย โดยคุณปู่ คุณย่าเหล่านี้ ไม่มีใครเป็นโรค ความจำเสื่อมมาก่อน แต่ละคนมีการกระทำในกิจวัตรประจำวันที่แตกต่างกัน เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นรำ หรือนั่งๆนอนๆอยู่เฉยๆ

อีก ๕ ปีต่อมา นักวิจัยติดตามผลการวิจัย จากการมีกิจกรรมที่แตกต่างกัน พบว่ากิจกรรมที่ทำให้สมองเสื่อมช้าที่สุดคือ การเต้นรำ เรื่องนี้นักวิจัยให้เหตุผลว่า การเต้นรำ เป็นการออกกำลังกาย และการใช้สมองควบคู่กัน การออกกำลังกาย เป็นการกระตุ้น ให้เลือดไปเลี้ยงสมอง ส่วนการต้องจำท่าเต้นรำ ก็เป็นการกระตุ้นสมอง ให้ทำงานเพื่อให้เต้นได้ถูกท่า และถูกจังหวะ ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร สมองและร่างกายเสื่อมเร็วกว่าผู้สูงอายุ ที่มีการขยับเขยื่อน เคลื่อนกาย บ่อยๆ และยังมีการวิจัยออกมาอีกว่า การขาดกิจกรรมยามว่าง ในผู้สูงอายุ ทำให้ความจำเสื่อมเร็วด้วยค่ะ

ทำให้นึกถึงการออกกำลังกายด้วยการ "ฟ้อนเจิง" ที่ลานนาอโศก คราวเข้าค่ายสุขภาพที่จัดที่เชียงใหม่เมื่อปลายปี'๔๗ การ "ฟ้อนเจิง" น่าจะเป็นการออกกำลังกาย ที่ชลอความเสื่อม ของสมองได้ ไม่ต่างอะไรกับการเต้นรำของ อเมริกา และยังเป็น การอนุรักษ์ วัฒนธรรมและประเพณีโบราณอันดี เอาไว้ด้วย ดูจากผู้นำทำแล้วก็รู้สึกว่าทั้งฉลาด และแข็งแรง น่าจะเป็น การออกกำลังกาย ที่ควรเผยแพร่และปฏิบัติไม่น้อยเลย และการออกกำลังกายแบบนี้จะมีที่งานฉลองหนาวฯ บนภูผาฟ้าน้ำปีนี้

อย่าลืมไปออกกำลังกายร่วมกันเพื่อป้องกันความจำเสื่อม และทำให้ร่างกายแข็งแรงนะคะ หมู่เฮาจาวเหนือยินดีต้อนรับทุกๆ ท่านเลยเจ้า.

- กิ่งธรรม -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ปฐมอโศก - อินทร์บุรี

ผลสำเร็จของการทำนาอินทรีย์ไร้สารพิษ ที่ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ที่ได้รับรายงานมาทางข่าวอโศกเป็นระยะๆ ครั้งหลังสุด เราไม่ต้องลงทุนทำอะไรเลย แค่ปล่อยน้ำ ผสมจุลินทรีย์ หมักฟางทิ้งไว้เฉยๆ พอฟางถูกย่อยสลาย ก็จะกลายเป็น ปุ๋ยอย่างดี ข้าวที่หลงเหลืออยู่ จากการปลูกครั้งก่อนๆ ก็ขึ้นเองเต็มทุ่งนา ๕๐ ไร่ กอใหญ่ สูงท่วมหัว เป็นที่น่าอัศจรรย์

เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอก็พาชาวนาไปดูตัวอย่าง และวิเคราะห์ให้ฟังว่า การไม่เผาฟาง และหยุดใช้สารเคมีได้ จะลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต อย่างที่เห็น ข้าวต้นใหญ่ แข็งแรง ไม่มีโรคแมลง รบกวน ส่วนนาที่ใช้เคมีอยู่ล้อมรอบฉีดยาฆ่าเพลี้ย ฆ่าแมลง เหม็นคลุ้งไปหมด นาของเพื่อนช่วยเพื่อนไม่เห็นเขาต้องทำอะไรเลย ข้าวก็ต้นใหญ่ กอใหญ่ อย่างกับพ่อกับลูก ด้วยความจริง ที่ปรากฏ ชาวนาต้องยอมจำนน

วันที่เราเกี่ยวข้าว ก็มีนักเรียนสัมมาสิกขาและญาติธรรมจากปฐมอโศกไปช่วยเกี่ยวข้าว และร่วมพิธีทำขวัญข้าว โดยมีชินกร ไกรลาศ มาทำพิธี และมีเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และเกษตรกร มาร่วมพิธีด้วย ร้อยกว่าคน จัดกันสนุกสนาน สืบสาน ตำนานโบราณของไทย ซึ่งหาดูได้ยากแล้วสมัยนี้

อาจจะเป็นเพราะเราเคารพบูชาแม่โพสพ แม่พระธรณี แม่คงคา และกตัญญูต่อธรรมชาติ ธรรมชาติจึงตอบแทนให้กับเรา ทุกวันนี้ คนทำร้ายธรรมชาติ ธรรมชาติจึงกลับมาทำร้ายคน ต้องให้เดือดร้อน ล้มตายกันอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

สนใจรายละเอียด พิธีทำขวัญข้าว และเกี่ยวข้าว เรามี VCD ๒ แผ่น ติดต่อได้ที่ สมณะเสียงศีล ชาตวโร ปฐมอโศก.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

สวัสดีปีใหม่ นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๔๖ (๒๖๘) ปักษ์แรก ๑-๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘

ก่อนอื่นขอแสดงความซาบซึ้งประทับใจต่อพี่น้องชาวไทยทั้งชาติที่ได้ร่วมใจกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เอื้ออาทรต่อกัน จากเหตุการณ์ คลื่นยักษ์สึนามิ ถล่มหลายจังหวัดทางภาคใต้ ฉบับนี้จริ้งหรีด ขอโอกาสร่วมซับขวัญชาวใต้ ด้วยบทกลอนของ คุณอิสรา มอบแด่พี่น้องชาวใต้ ที่ประสบภัยฯ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆท่านด้วยนะฮะ...

สวัสดีปีใหม่ใจหดหู่
แม่ธรณีสิ้นเอ็นดูหรือไฉน
แม่คงคาที่เห็นก็เป็นไป
ชีพหมื่นแสนจึงร้างไร้ใต้ทะเล
ชีวิตมีเคราะห์ร้ายให้ฟันฝ่า
จงรู้ทันอนิจจาอย่าสนเท่ห์
ตราบยังมีลมหายใจไม่รวนเร
จะทุ่มเทใจสู้กอบกู้คืน
* อิสรา
๔ ม.ค.'๔๘

กลับมารายงานความเคลื่อนไหวของชาวบุญนิยมกันต่อนะฮะ

ตลาดอาริยะ'๔๘... ด้วยเหตุแห่งแผ่นดินไหว บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มีผลกระทบให้เกิดคลื่นยักษ์ สึนามิ ถล่มชายฝั่งอันดามัน ของประเทศไทย มีผลให้มีผู้เสียชีวิตนับพัน การแสดงที่บ้านราชฯ เมืองเรือ ในงานตลาดอาริยะ'๔๘ ก็ลดลงกว่าเดิม เพื่อแสดงความรู้สึกเห็นใจต่อผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ ขณะสมณะรวมตัวที่โบสถ์สันติอโศกเตรียมทบทวนพระปาติโมกข์ ไฟในโบสถ์ก็ไหว ทางบ้านราชฯ หลวงตาจิรโส เล่าให้จิ้งหรีดฟังว่า เรือโคลงเคลงเหมือน ไกวเปล แสดงว่าแรงสั่นสะเทือน ของแผ่นดินไหวใน ครั้งนี้ไม่ธรรมดา ทำให้คนตาย ร่วมแสน ฟังแล้วก็เหลือเชื่อ จิ้งหรีดได้ข้อมูลว่า มีผู้พบศพรวมทุกประเทศกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คน

มีข่าวมาถึงจิ้งหรีดว่า นฤมล แซ่จิว (พี่สาว เล็ก กังงา) อยู่ในรายชื่อผู้เสียชีวิต แต่มารู้ ภายหลังว่าไม่ใช่ เพราะเป็นนฤมล แซ่จึง โอ้ก็เฉียดเหมือนกันนะ (เฉียดตรงนามสกุล)

พ่อท่านอายุย่างเข้า ๗๑ ปีแล้ว พวกเราหลายคนก็ถือเป็นยิฏฐังในการทำความดีให้ยิ่งๆขึ้น ทางสมาคมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา จึงได้จัดทำใบอธิษฐาน มีคำอธิบายว่า รวมพลังศรัทธาบูชาพ่อ แด่พ่อผู้ไม่เคยเหน็ดเหนื่อย ครบรอบ ๗๒ ปี จิ้งหรีดเห็น ใบอธิษฐาน "รวมพลังศรัทธาบูชาพ่อ" แล้ว รู้สึกว่าลูกหลานชาวอโศก คิดได้ดี แถมทำออกมาได้อย่างงดงามน่าอธิษฐาน ใครที่ไม่ได้รับแจก ในงานตลาดอาริยะปีใหม่'๔๘ ก็ติดต่อขอได้ที่สมาคมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา ซึ่งมีสำนักงาน ตั้งอยู่ในชุมชน สันติอโศก สอบถามหากันเองนะฮะ...

ปีนี้รองผู้ว่าฯจ.อุบลราชธานี มาเป็นประธานเปิดงาน ท่านบอกว่ามาสายนิดหน่อยเพราะรถชาวบ้านที่มาซื้อข้าวของ ในตลาด อาริยะ แน่นมาก จิ้งหรีดเดินไปดูตลาด เห็นชาวบ้าน มากันแน่นเอี๊ยด ชนิดแทบไม่ต้องเดิน เพราะไหลไปเอง ตามแรงดัน ของฝูงคน ชาวบ้านกินก๋วยเตี๋ยว ชามละบาท หลายคนติดใจกินถึง ๓ ชาม

ญาติธรรมจาก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่มาขายเสื้อผ้า ที่นอน ฯลฯ ทุกปี ในนามกลุ่มปากช่อง บอกจิ้งหรีดว่า ปีนี้รู้สึกคน จะมามากกว่าปีที่แล้ว ชาวบ้านซื้อไปแล้ว ก็มั่น่ใจว่า ที่ตลาดอาริยะ ขายถูกสุดๆ คุณสัญชัย ตุลาบดี สาธารณสุข จาก จ.มุกดาหาร ก็มาช่วยน้องสาว ขายทุกปี ปัจจุบันก็ทำหน้าที่ เป็นหัวหน้าฝ่าย ป้องกันยาเสพติด ที่น่าทึ่งก็ตรงที่ ยังรักษา ความโสดไว้ได้ ทั้งๆที่มีสาวๆ มาชอบหลายคน จิ้งหรีดก็ขออวยพรให้รอดจากนารีไปอีก ๑ ปี ส่วนน้องสาว ๒ คนที่นำสินค้า มาขายขาดทุน ก็ยังดำรงเป็นโสดได้ ใครอยากรู้เคล็ดลับ หรือวิธีเป็นโสด ทั้งๆที่แม่อยากให้แต่ง ก็ไปสอบถามกันเองนะฮะ...

พ่อท่านได้พูดถึงนโยบายหรือความตั้งใจในปี'๔๘ ว่า จะเทศน์เรื่องบุญนิยมมากขึ้น เพราะพวกเราสามารถทำได้ผลที่ท้าทาย ให้คนมาพิสูจน์ได้...

ในปีใหม่หลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นภาพหญิงชราพร้อมลูกๆช่วยประคองใส่บาตร มาปีนี้หญิงชราคนดังกล่าว นามว่า นางชิด ปั้นลี้ อายุ ๘๖ ปี ได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อ ๑๙ ก.ย. ๒๕๔๗ และประชุมเพลิง ที่วัดชลประทานฯ เมื่อ ๒๗ ก.ย.๒๕๔๗ พ่อท่านได้รับ นิมนต์ไปเทศน์หน้าศพด้วย ปีนี้จิ้งหรีดจึงเห็นแต่ลูกๆ มาร่วมงานตลาดอาริยะพอดี จิ้งหรีดได้พบ ลูกของนางชิด ๒ คน คือ นายอำนวย เจริญกุล อายุ ๕๒ ปี น.ส.อัมพร เจริญกุล อายุ ๔๙ ปี ก็ได้รู้ว่าลูกๆของนางชิดส่วนใหญ่ รับประทานมังฯ คนโตชื่อ นายบุญธรรม เจริญกุล อายุ ๖๔ ปี ช่วยสอนนักเรียน อาชีวสิกขา ปฐมอโศก ในบางคราว น.ส.อนงค์ เจริญกุล อายุ ๕๕ ปี นายอำนวย ทำงานเป็นพนักงานกรม ชลประทาน จ.นนทบุรี น.ส.อัมพรทำงานอยู่ กฟผ. และน้องชายคนเล็กชื่อ นายสมพงษ์ เจริญกุล อายุ ๔๗ ปี เป็นพนักงาน กฟผ. มีภรรยาแล้ว ทุกคนยังมีความใฝ่ธรรม และขยันไปร่วมงานชาวอโศก อย่างสม่ำเสมอ...

สิ่งที่ได้เห็นเป็นครั้งแรกในงานตลาด อาริยะปีใหม่'๔๘ นี้ที่แตกต่างจากงานตลาดอาริยะในปี'๔๗ คือ การติดธงบุญนิยม แบบใหม่ ไม่ติดเหมือนปีที่ผ่านมา ปีนี้ติดธงรวมกัน เป็นจุดเดียว, ปีนี้ไม่มีการกางเต็นท์ ใช้ซาแลนติดแทน แบบลงหลัก ปักเสาถาวร ถึงปีหน้ากันเลย, มีต้นไม้พิลึก พิลั่น อยู่หน้าเฮือนใหญ่, มุ่งมาจนคือนามสกุล ที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนเห็นว่า เป็นคำหยาบคาย, พลีชีพ คือวลีที่เกิดในการประชุมมหาเถระ และเป็นคำฮิตติดปาก ที่พูดกันบ่อยและมาก เพื่อให้เกิดสำนึก ในการปฏิบัติบูชา ก่อนพ่อท่านอายุครบ ๗๒ ปี, การแสดงบนเวที ภาคค่ำ มีสมณะแสดงธรรมเป็นครั้งแรก และตัดรายการ สนุกสนานออกไป, ย้ายจุดฉันอาหาร สมณะจากเฮือนใหญ่มายังเฮือนเพิ่งกัน, ก่อนเปิดตลาดอาริยะในปีนี้ สมณะ-สิกขมาตุ ได้รับนิมนต์ ไปฉันที่กลางตลาด เป็นการทำบุญก่อนเปิดตลาด, การลอกสระ การวางหินขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากข้างบุ่ง, สมณะ ญาติธรรม รวมกันไปบริจาคโลหิตเต็มรถหกล้อ ให้ผู้ประสพภัย จากคลื่นยักษ์สึนามิ, พ่อท่านนำประชุมวางแผน เพื่อไปซับขวัญชาวใต้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง โทร.มาพูดคุยกับพ่อท่าน เรื่องการนิมนต์สมณะ-สิกขมาตุไปโปรดญาติโยม ๖ จังหวัดภาคใต้, สิกขมาตุ ทำคอร์สกับกรัก-ปะ เป็นการพัฒนาคุณธรรม โดยได้ชื่อรุ่นนี้ว่า "พลีชีพสลายภพ", ได้เห็นโครงการ แผนผัง การปรับปรุงบ้านราชฯ โดยใช้เวลา ๓ ปี, ได้ยิน มาว่า ผู้ดูแลการจอดรถ มีวัยรุ่นจะมาทำร้าย ถึงขั้นใช้กำลัง, มีการติดบัตร สีเหลือง ซึ่งหมายถึง อาสาสมัครบุญนิยม ที่ทำงานฟรีและกินฟรี, มีการขายรถปิคอัพ ในตลาดอาริยะเป็นครั้งแรก มีคนต้องการซื้อ เป็นจำนวนมาก แต่รถมีขายเพียงแค่ ๒ คัน จึงต้องใช้การจับสลาก

นี่ก็เท่าที่จิ้งหรีดนึกได้ อาจจะมีเรื่องราวอื่นอีก จิ้งหรีดก็จะคอยดูว่า ปีหน้ามีอะไร ใหม่ๆเป็นครั้งแรกอีก เพราะทุกปีก็จะมีการ ปรับปรุงพัฒนาไปเรื่อยๆ แบบว่าไม่หยุดอยู่ในกุศลธรรมไงล่ะฮะ...จี๊ดๆๆๆ...

เฉียดอีก... ต้นปี'๔๗ รถปิคอัพของภูผาฯล้อหลุด พอปลายปีรถเจื้องเจื้องรับคนวัดภูผาฯไปร่วมงานตลาดอาริยะ คราวนี้ล้อหลัง วิ่งแซงล้อหน้า คนในรถช่วยกันหาล้อรถแบบว่าเกือบไม่เจอ พอดีญาติธรรม ชื่อจันทร์ จาก จ.ลำปาง ช่วยให้ความสะดวก พักค้างที่บ้าน พอตอนเช้าวิ่งๆไป เบรกก็มีปัญหานิดหน่อย ช่วยให้หลายคนได้ตั้งสติ เจริญภาวนา หรือมรณะ กันตามภูมิปัญญา ของแต่ละคน

ก่อนอาหลอมเหลาจะขับรถไปบ้านราชฯ ก็ได้ไปให้ช่างที่เชียงใหม่ตรวจดูความเรียบร้อย แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดได้

เรื่องนี้จิ้งหรีดนึกถึงตัวเองก็เคยประสพคราไปร่วมงานวันธรรมชาติฯที่สวนธรรมชาติอโศก อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ครั้งนั้นท่านดินไท ยังเป็นฆราวาส เป็นโชเฟอร์ พาคณะไปร่วมงาน วิ่งไปอยู่ดีๆ ก็เห็นล้อหลัง วิ่งแซงล้อหน้า พวกเราช่วยตามหาล้อไม่เจอ ทั้งไปและกลับ ดีว่ามีล้อสำรองไว้

ข้อสำคัญที่จิ้งหรีดรอดชีวิต ไม่เกิด พลิกคว่ำในคราครั้งนั้น เพราะโชเฟอร์ใจเย็น ไม่รีบแตะเบรก แต่จะค่อยๆปล่อยรถ ให้หมดแรง การที่รถวิ่งไม่เร็วเกินไป ก็ช่วยให้เกิด ความปลอดภัยได้มาก อาหลอมเหลา ก็ควบคุมสถานการณ์ ในเหตุการณ์ ครั้งนี้ได้

เรื่องนี้จิ้งหรีดคิดว่าน่าจะเป็นแบบเดียวกับจิ้งหรีดที่นำรถไปตรวจความเรียบร้อย แล้ว ช่างลืมไขน็อตที่ล้อ ย้ำให้แน่น ลืมไป ๑ ล้อ เลยเฉียดตาย หรืออุบัติเหตุหนัก จิ้งหรีดก็ขอให้โชเฟอร์ระวัง ช่างจะลืม โดยไม่เจตนา ก็ช่วยกันตรวจสอบอีกที

ข้อสำคัญ ขอย้ำ วิ่งไม่เร็ว ชีวิตจะปลอดภัยมากกว่า ชีวิตคนวัดภูผาฯที่ขึ้นมากับรถเจื้องเจื้อง จึงปลอดภัยทั้งไปและกลับ จี๊ดๆๆๆ...

ฉบับนี้ขอลาไปก่อน ไว้พบกันใหม่ฉบับหน้านะฮะ...

- จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ตัวแทนนร.สัมมาสิกขา เข้าพบนายกฯทักษิณ
ได้แสดงละคร สะท้อนคุณธรรม

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานศูนย์ฯ ร่วมชม

เมื่อวันที่ ๒๗ ธ.ค. ๒๕๔๗ นักเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก และราชธานีอโศก รวม ๔ คน ได้รับเชิญจากศูนย์ส่งเสริมและ พัฒนา พลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม เข้าร่วมเสวนา และแสดงความคิดเห็น ในหัวข้อ "คุณธรรมสร้างชาติได้อย่างไร" ร่วมกับตัวแทน เยาวชน จากชั้นประถมศึกษา-อุดมศึกษา จากสถานศึกษาต่างๆประมาณ ๑๕๐ คน ณ สำนักงานใหญ่ บริษัทบางจาก ปิโตรเลี่ยม จำกัด (มหาชน)

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ มีดังนี้

พิธีเปิดงาน อ.นราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวแนะนำเรื่องการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ หลังจากนั้น อ.จุฬา สุดบรรทัด กล่าวเปิดงาน แล้วแบ่งกลุ่มคละกันทั้งประถม-อุดมศึกษา ระดมความคิด ว่าจะเอาอะไร ไปเสนอท่านนายกฯ ให้คิดปัญหา กลุ่มละ ๑ ข้อ แล้วเขียนใส่กระดาษแผ่นใหญ่ พร้อมวาดรูปประกอบ

ช่วงบ่าย ให้แต่ละกลุ่มนำปัญหาที่คิดไว้มาแต่งเป็นละครและซ้อม ภายใน ๓๐ นาที แล้วออกมาแสดงบนเวที โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานกรรมการศูนย์ฯ นั่งชมอยู่ด้วย และคัดให้เหลือ เพียงกลุ่มเดียว ปรากฏว่ากลุ่มของ น.ร. สัมมาสิกขา ชนะใจกรรมการ ได้รับคัดเลือกให้แสดงให้นายกฯ ชมในวันที่ ๒๙ ธ.ค. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

บ่าย ๓ โมงเย็น เยาวชนทั้งหมดซ้อมร้องเพลง คุณธรรมนำไทย และซ้อมวิธีการนำเสนออีกรอบ โดยเยาวชนได้รับแจก เสื้อยืดสีฟ้า สำหรับใส่มาในวันที่ ๒๙ ธ.ค. คนละ ๑ ตัว

๒๙ ธ.ค. หลังลงทะเบียนแล้ว ก็ซ้อมการแสดงอีกครั้ง โดยใช้เวลาในการแสดง ๑๐ นาที เวลา ๑๐.๐๐ น. ผู้แทนเยาวชน นำเสนอผลการสัมมนา ภาคีเยาวชน เริ่มจากแสดง ละครเรื่อง "เอาใจเขา มาใส่ใจเรา" เป็นเรื่องไม่พยายามฟังกัน ของแม่ และลูกสาว จนเกิดเหตุการณ์ทำให้ลูกสาวพิการ สุดท้ายแม่และลูกสาว ต่างก็บอกว่า เป็นความผิดของตนเอง หลังจากนั้น ทีมถือป้าย ก็ถือป้ายโปสเตอร์ของแต่ละกลุ่มออกมา ซึ่งจะมีคนอ่าน เรื่องที่จะบอก และขอจากท่านนายกฯ ๙ ข้อ คือ

๑.สนับสนุนให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม
๒.ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
๓.ให้การศึกษาเด็กมีคุณภาพ เรียนจบมีงานทำ
๔.ส่งเสริมกิจกรรมเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว
๕.จัดระเบียบ"สื่อ" เพื่อเด็กและเยาวชน
๖.สร้างพื้นที่สำหรับเด็กมากขึ้น เช่น สนามกีฬา ศูนย์เทคโนโลยี ธนาคารเด็ก
๗.เปิดโอกาสให้เยาวชนแสดงความคิดเห็นต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น
๘.ส่งเสริมให้เด็กทุกคนมีโอกาสเรียนหนังสือ
๙.ส่งเสริมวัฒนธรรม ประเพณีไทย มิให้สูญหาย

หลังจากนั้น ตัวแทนเยาวชนอ่านคำขวัญของกลุ่มเยาวชน

เสร็จแล้ว ฯพณฯนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี กล่าวปฐกถาให้ข้อคิดในการทำงานและทำพิธีเปิดศูนย์ฯ ว่า
"
ศูนย์คุณธรรม พอพล.ต.จำลองเสนอไป ผมอนุมัติเลย ผมเห็นด้วยที่มีคนมาเอาภาระด้านนี้ ศูนย์คุณธรรมจะเป็นศูนย์รวมคนดี มีคุณธรรม โดยไม่แบ่งแยกศาสนา จะเป็นศูนย์รวม ของทุกศาสนา และไม่ใช่แต่รวมคนดีที่เป็นผู้ใหญ่อย่างเดียว จะรวมทั้ง เด็กด้วย การจะอยู่ในสังคมทุกวันนี้ได้นั้น คนต้อง มีคุณธรรม มีการเสียสละ มีการให้ คนไหนจะเอาอย่างเดียว อยู่ไม่ได้ จะต้องเห็นใจเขา ใจเรา อย่างที่เยาวชนที่แสดง ออกมานั้น "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" นั้น แม่และลูกสาว ฟังความคิดเห็นกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เรื่องร้ายๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น" เสร็จแล้ว ท่านนายกฯ เดินทางไป จ.ภูเก็ต

รายการต่อไป ผู้แทนเยาวชนขับร้อง บทเพลงพิเศษของศูนย์ฯและการแสดง ดนตรีของนักเรียนดุริยางค์ทหารบก แล้วเยาวชน ทุกคนร่วมร้องเพลง "คุณธรรม นำไทย" เสียงดังกระหึ่มไปทั่ว

รายการสุดท้าย น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว กล่าวให้ข้อคิดและกล่าวปิดงาน

สัมมาสิกขาที่ไปร่วมงานได้ให้สัมภาษณ์ ดังนี้

นายธนกิจ ทะทำมัง ม.๖ สันติฯ "ได้รู้โลกข้างนอกอย่างชัดเจนมากขึ้น เด็กข้างนอกเขารู้ว่าสิ่งเสพติด สื่อลามก เกม อินเตอร์เน็ต เหล้า บุหรี่ ยาบ้า มันไม่ดี แต่เขาก็ติดและติดมากด้วย เขาเลิกไม่ได้ โลกข้างนอกมันแรง มันดูดจนคนหลง น่ากลัวมาก เขาไม่รู้ว่า นอกเหนือจากเงินทอง ลาภยศชื่อเสียง และการอยู่ไปวันๆแล้ว ยังมีอีกมุมหนึ่ง ที่เป็นสัจธรรม คือการหลุดพ้น จากบ่วงโลกีย์ สงสารคนข้างนอกที่เขายังติดอยู่ในวังวน และยิ่งสงสารคนที่อยู่ที่นี่ แล้วยังขวนขวายจะออกไปสู่ข้างนอก และยิ่งสงสารนักเรียนสัมมาสิกขา ที่คิดจะออกไปข้างนอก อยากใช้ชีวิต แบบข้างนอก"

น.ส.ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี ม.๒ ราชธานีฯ "ได้เปิดมุมมองของตัวเองให้กว้างขึ้น ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกับคนภายนอก ได้เห็นว่า เยาวชนถูกมอมเมา จนโงหัวแทบไม่ขึ้น จึงไม่แปลกใจเลย ที่มุมมองของเขา ค่อนข้างจะแคบและไม่กว้างเท่าที่ควร ต้องกราบขอบพระคุณสมณะ-สิกขมาตุ คณะคุรุที่พร่ำสอน แนะนำ เพื่อให้อยู่ในวิถีของ สัมมาสิกขาที่ดี และขอบคุณ ชาวสันติอโศก ที่ต้อนรับเป็นอย่างดี"

น.ส.น้ำแสงรุ้ง แซ่เล่า ม.๖ ราชธานีฯ "ได้ฝึกมีมนุษยสัมพันธ์มากขึ้น ได้ฝึกพูดมากขึ้น"

น.ส.นันทนา สุขสวัสดิ์ ม.๒ สันติฯ "ประทับใจที่ท่านนายกฯกล่าวว่า "เชื้อโรค เข้า ภูมิคุ้มกันลด แน่นอนสังคมป่วย" คือภาวะ ของประเทศไทยในขณะนี้ และได้ฝึกกระบวนการ ที่เรียกว่า คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ในเหตุการณ์ต่างๆไปพร้อมๆกัน

เด็กแต่ละคนที่ไปร่วมงานเป็นหัวกะทิที่ทางโรงเรียนคัดไป ทำให้หนูเห็นจุดอ่อนจุดแข็งทั้งโรงเรียนข้างนอกและโรงเรียน สัมมาสิกขา แม้เราจะมีจุดอ่อน แต่จุดอ่อนของเราก็คือจุดแข็งของเขา แต่เราก็มีจุดแข็ง หลายต่อหลายจุด ที่เขาไม่สามารถ พัฒนา ให้เป็นให้มีอย่างเราได้ ด้วยเหตุผลหลายๆประการ ของความเหนือชั้นกว่า ในระบบการศึกษาบุญนิยม ทำให้หนูมั่นใจว่า เส้นทางสายนี้ ช่วยกอบกู้และสร้างชาติได้จริงๆ".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ปฏิทินงานอโศก

ฉลองหนาวธรรมชาติอโศก ครั้งที่ ๓ ณ พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ ศุกร์ที่ ๒๘ -อาทิตย์ที่ ๓๐ ม.ค.๔๘
งานพุทธาภิเษกฯ ครั้งที่ ๒๙ ณ พุทธสถานศาลีอโศก อาทิตย์ที่ ๒๐ -เสาร์ที่ ๒๖ ก.พ.๔๘

 

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ชื่อ นางทองคำ วุฒิวัฒน์โกวิทย์
เกิด เดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีระกา อายุ ๗๑ ปี
ภูมิลำเนา จ.สุพรรณบุรี
การศึกษา ป.๔
สถานภาพ ม่าย บุตร ๕ คน
ส่วนสูง ๑๔๖ ซ.ม.
น้ำหนัก ๔๕ กก.

คุณยายทองคำ นิสิตสัมมาสิกขาลัย วังชีวิต วิชชาเขตปฐมอโศก ไปร่วมเตรียมงานปีใหม่ตลาดอาริยะ'๔๘ ที่บ้านราชฯ กับลูกๆ หลานด้วยความขยันขันแข็ง คุณยายบอกว่า ชีวิตนี้ทุกข์มากจนไม่อยากเกิด เพราะอะไร? ไปคุยกับคุณยายกันค่ะ

*** นิยามแห่งความรัก
มีพี่น้อง ๑๕ คน ยายเป็นคนที่ ๒ พี่น้องตายไปตั้งแต่ยังเล็กๆอีก ๕ คน เหลือ ๑๐ คน เตี่ยและแม่เกิดที่เมืองไทย เป็นชาวนา จบ ป.๔ ยายก็ช่วยงานทางบ้าน อายุ ๒๒ ปีแต่งงานกับพ่อบ้านซึ่งแก่กว่า ๕ ปี เป็นคนที่ยายเลือกเอง ตอนรักกันมันหวาน แต่นานไปน้ำผึ้งมันขม มีลูกด้วยกัน ๖ คน เสียชีวิตไป ๑ คน แต่งงานแล้วก็ค้าขาย และเย็บเสื้อผ้า

ปี ๒๕๒๗ ยายแยกมาทำการค้า กิจการด้านรถกับลูก ที่นครปฐมฯ ส่วนพ่อบ้าน ยังค้าขายอยู่ที่สุพรรณฯ

*** ไม่อยากเกิด
สมณะ-สิกขมาตุ บิณฑบาตให้หนังสือลูกสาวคนเล็ก (นิสิตหนึ่งเพียร) เขาจึงตามไปดูที่วัด และกลับมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ยายจึงเริ่มปฏิบัติ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๑ ช่วงนั้นยายทุกข์สุดๆ เพราะพ่อบ้านเล่น การพนัน เงินหามาได้เท่าไหร่ก็ไม่เหลือ พ.ศ.๒๕๔๑ ยายไปปลูกบ้านที่ไพศาลี อยู่ไม่ถึง ๒ ปีก็ขายบ้าน ยกเงินให้วัด แล้วมาปลูกที่ปฐมอโศก

มาอยู่ปฐมฯได้ ๕ ปีแล้ว ตอนเช้าก็ไปช่วยงานที่ร้านก๋วยเตี๋ยว ศาลาค้า ๓ ตอนบ่ายก็ไปช่วยงานสมุนไพรที่ศาลาเจาะวิจัย

มาอยู่วัดปฏิบัติธรรม เพราะไม่อยากเกิดแล้ว ทุกข์สุดๆ ทุกข์เรื่องพ่อบ้านนี่แหละ กลัวชาติหน้ามาเจอกันอีก มันเป็นเรื่องที่ทุกข์ที่สุดในชีวิต เพราะเงินหามาได้เท่าไหร่ พ่อบ้านก็หมดไปกับการพนัน

*** ความสุขในพริบตา
มาอยู่วัดแล้วสบายใจ มีหมู่กลุ่ม ไม่ต้องไปคิดอะไร ทรัพย์สินไร่นาก็ยกให้ลูกพ่อบ้านก็เสียไป ๓ ปีเศษแล้ว ตอนเขามีชีวิตอยู่ เขาเห็นยายปฏิบัติธรรม ก็ไม่ขัดขวาง ตอนเขาเสียชีวิต ก็มาเสียที่ปฐมอโศกนี่แหละ เอาไว้คืนเดียวก็เผาเลย ตอนนี้ก็อยู่กับลูกสาว ๒ คนที่ปฐมอโศก

ไม่ห่วงอะไรแล้ว ผัสสะกับคนอื่นไม่มีหรอก มีแต่กับลูกของยายนี่แหละ ยายคบได้หมดทุกคนแม้แต่คนที่คนอื่นเขาไม่อยากคบ

มีความสุขอยู่กับงาน แก่แล้วจะเอาอะไร ไม่ต้องวุ่นวาย ลูกๆก็ชวนกลับไปอยู่บ้าน แต่ไปแล้วยายก็คิดถึงวัด ต้องกลับมาอยู่วัด

เกิดชาติไหนก็อยากมาเกิดเป็นลูก พ่อท่านทุกชาติ อยากมาอยู่วัดตั้งแต่เล็กๆเหมือนเด็กๆที่บ้านราชฯ เด็กเยอะดี เพื่อนเยอะดี

*** สุดท้าย
เราเกิดมาเป็นคน เป็นผู้ให้มีความสุข ให้แล้วสบายใจ เป็นผู้ให้ดีกว่า

ยายบอกว่าเป็นผู้ให้ดีกว่า มีความสุข ปีใหม่นี้ชาวอโศกได้มาแสดงรูปธรรมของการเป็นผู้ให้ทั้งทรัพย์สิน แรงงาน และการลดละ กิเลส ในงานตลาดอาริยะ

ตลอดปีนี้เรามาเป็นผู้ให้ทุกๆสิ่งที่เราสามารถให้ได้ เพื่อบูชาพ่อท่านในวาระครบ ๗๒ ปีกันดีไหมคะ.

- บุญนำพา รายงาน -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,300 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]