ฉบับที่ 270 ปักษ์แรก 1-15 มกราคม 2549

[01] การค้าที่ดี
[02] "สู่ความเป็นพุทธะ"
[03] "ตลาดอาริยะ" ในยุค "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่สังคมยังเมิน บันทึกปัจฉาสมณะ:
[04] สรุป ๑๐ ข่าวอโศกเด่น ปี ๒๕๔๘
[05] พื้นที่ไม่ถึง ๒ ไร่ ปลูกผัก ๔ ชนิด ทำคนเดียว รายได้เป็นหมื่น
[06] สถาบันบุญนิยมรวมน้ำใจสู่ชาวใต้ เกิดศูนย์รวมใจช่วยภัยน้ำท่วม
[07] รองประธานศูนย์คุณธรรมเปิดงาน ตลาดอาริยะปีใหม่'๔๙ ชาวบ้านมารอซื้อสินค้าตี ๒
[08] สารพิษตกค้างในร่างกาย
[09] สถาบันแพทย์ทางเลือก เชิญคุณผืนดิน ร่วมสัมมนาและอภิปราย เรื่อง "ประสบการณ์ปัสสาวะบำบัด"
[10] หน้าปัดชาวหินฟ้า:
[11] กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนปฐมอโศก - อินทร์บุรี :
[12] คุรุสัมมาสิกขาจัดบูรณาการให้เด็ก ม.๓ เรียนจากของจริง ให้งานตลาดอาริยะเป็นห้องเรียน
[13] นางงามรายปักษ์ ชื่อ นางแอ้ม ศรีอุดร
[14] 'อยู่อย่างไรชีวิตจึงไม่ทุกข์' ดร.ปาริชาติ สถาปินานนท์ :
[15] :ปฏิทินงานอโศก



การค้าที่ดี

แม้ชาวเราจะปฏิบัติธรรม ก็สามารถทำการค้าได้ แต่เป็นการค้าที่มุ่งในการทำประโยชน์ตน (ตัดกิเลส) และก่อประโยชน์ท่าน ควบคู่กันไป

แต่มีข้อที่ควรระวังในการทำการค้า ที่มักจะปรากฏตามที่ต่างๆ นั่นก็คือ การนำสินค้าไปจำหน่ายตามร้านค้าของชาวเรา โดยไม่มีการติดต่อล่วงหน้า ไม่ให้ข้อมูลเรื่องราคาและจำนวนของสินค้านั้นๆ

ยิ่งไปกว่านั้น อยู่ดีๆก็เอามาลงในร้านค้าของชาวอโศก โดยไม่มีข้อมูลว่า ร้านค้านั้นจะรับสินค้าของตนหรือกลุ่มของตนหรือไม่ และ ถ้ารับได้ จะรับได้แค่ไหน

การทำงานใดๆที่ขาดประสบการณ์ที่ดีไม่หาข้อมูลของอีกฝ่าย(ร้านค้า) ให้ชัดเจน ย่อมเป็นการทำงานที่สร้างปัญหา ในทุก หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆทั้งทางโลกและทางธรรม.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สู่ความเป็นพุทธะ

ธรรมะพ่อท่านฉบับนี้ ขอเสนอเรื่อง สู่ความเป็นพุทธะ จากหนังสือ นักรบเท้าเปล่า หน้า ๑๑๙ ดังมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

"จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรม เรามุ่งหมายเพื่อที่จะเป็นพุทธะ อันหมายความว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน การรู้ ก็คือ รู้ละเอียดลออ ทั้งกิเลสและการหมดกิเลสและรู้รอบถ้วนทั่ว ว่าอะไรที่เราควรจะสัมพันธ์อยู่ในโลก

การเป็นผู้ตื่น คือ เป็นผู้รู้ความสัมพันธ์ของอะไรต่ออะไรกับชีวิต เข้าใจชีวิต แล้วก็มีบทบาทของชีวิตที่เป็นประโยชน์ เป็นคุณค่า อยู่ใน สภาพสากลโลก ตลอดที่มีชีวิต ยังไม่ตายดับขันธ์

เราจะเป็นคนสร้างสรร เป็นคนตื่นและเราจะมีจิตเบิกบาน ร่าเริง เป็นฐานอาศัยของตน

จิตเบิกบาน ร่าเริงนั้นเอง คือ จุดที่ชี้ชัดว่า เราพ้นทุกข์ หรือ เราสบาย

ส่วนจิตรู้และจิตตื่นนั้น คือ จิตที่มันมีประสิทธิภาพ ในทางสร้างสรร ในทางที่กระทำการอยู่กับโลก อย่างไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นคนที่ยังเป็นๆ ยังไม่ตาย จะทำอะไรไม่เสียหาย ไม่เป็นอกุศล ก็เพราะมีความรู้และเป็นผู้มี ความสร้างสรร เป็นผู้ตื่น ผู้มีประโยชน์คุณค่า

เรามีความเบิกบาน ร่าเริง แจ่มใส เป็นเครื่องพัก เป็นเครื่องอยู่อย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นที่เราปฏิบัติธรรม จุดแรกที่สุด ถ้ารู้ตัวว่า มีจิตที่ไม่มีความสบาย มีจิตที่ไม่แจ่มใส แม้เราจะรู้อยู่ว่า เรากำลังมีกิจการงานอะไรก็ตาม สัมผัสสัมพันธ์อยู่กับอะไร ก็ตาม เราก็รู้จิตตัวที่มันไม่เบิกบานแจ่มใส ให้ได้ก่อน แล้วทำออก ทำออกให้จริง สลัดให้ออกให้ได้ หรือว่าเราจะทำด้วยอิทธิวิธี ใดๆ ก็ตาม เมื่อจิตอันเบิกบานแจ่มใสเกิดแล้ว ความรู้จะดีขึ้น ความตื่นหรือความสัมพันธ์ หรือการสร้างคุณค่าจะพลอยเจริญดี คือกำลังปฏิบัติตามไปสู่ความรู้ยิ่ง รู้จริง ความตื่นแท้ได้เป็นอันดับต่อไป ถึงที่สุดนั่นเอง"

"สู่ความเป็นพุทธะ" นี้ พ่อท่านได้แสดงไว้เมื่อวันที่ ๑๒ ต.ค.๒๕ ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาเป็นชาวพุทธแล้ว ก็ควรมุ่งสู่ความเป็น พุทธะ ให้ได้.

- เด็กวัด

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


- สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ -

"ตลาดอาริยะ" ในยุค "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่สังคมยังเมิน

"ตลาดอาริยะ" เป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของชาวอโศก เพิ่งจะผ่านไปหมาดๆ บางคนอาจจะยังไม่จางหายจากอาการ เปลี้ย เพลีย อันเนื่องมาจากภารกิจที่ต้องรับในงาน "ตลาดอาริยะ" ก็เป็นได้ ไม่รู้ว่าจะมีถึงขั้นนอนฝันละเมอราวกับตนเอง ยังอยู่ ในงานนั้นกันบ้างหรือเปล่า

เป็นต้นว่าผู้ทำงานอยู่ที่จุดร้านอาหาร นอนละเมอขึ้นมาว่าตนกำลังจัดเตรียมอาหาร ผัด แกง หั่น ปอก ล้าง เช็ด ขัด ถู หรือ กำลังตะโกนร้องบอกให้บริการชาวบ้านอย่างไร และขณะกำลังละเมอนั้น ละเมออย่างเร่งรีบกังวล(ให้บริการชาวบ้านไม่ทัน) หรือละเมออย่างกระตือรือร้นสนุกสนาน(แม้จะเหนื่อยแต่ก็มีปีติที่ได้บริการชาวบ้าน) หรือว่าจุดร้านค้าสิ่งของ เครื่องจักสาน จักรยาน น้ำตาล เสื้อผ้า ผ้าห่ม ภาชนะพลาสติก ผักผลไม้ กล้าพันธุ์ไม้ ภาชนะเครื่องครัว หรือจุดจราจรและรักษา ความปลอดภัย ผู้ที่ทำหน้าที่ในจุดต่างๆเหล่านั้น จะมีใครเก็บเอามาฝันเอามาละเมอกันบ้างไหม ถ้ามี การละเมอนั้นๆ อาจบอก ถึงปัญหาของภารกิจตรงนั้น หรือไม่ก็บอกถึงสิ่งประทับใจกับภารกิจนั้นๆก็อาจเป็นไปได้

ที่ว่า "ตลาดอาริยะ" เป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของชาวอโศก เพราะทั้งทุนและแรงงานใช้ไปกับงานนี้สูงมากที่สุด จากเอกสาร ที่ฝ่ายบัญชี ได้จัดทำไว้ประมาณการว่า รายจ่ายทั้งหมดของการจัดงานปีนี้ ๒๘,๖๕๒,๓๘๘ บาท (ยี่สิบแปดล้านหกแสนกว่า) ขณะที่ผู้ช่วยงาน ๑,๑๐๑ คน (ในที่นี้ยังไม่ทราบตัวเลขของผู้มาร่วมงาน และชาวบ้านผู้มาจับจ่ายซื้อสินค้า)

นอกจากนี้กำไรอาริยะ(บุญนิยม) คิดจากตัวเงินจริงๆที่ได้จ่ายไป ๕,๕๔๐,๘๒๐ บาท (ห้าล้านห้าแสนสี่หมื่นเศษ) แต่เมื่อบวก รวมกับ ค่าแรงงานและค่าเช่าสิ่งของอื่นๆ (จริงๆไม่ได้จ่ายค่าแรงและค่าเช่าใดๆ) คิดเป็นตัวเงินตามระบบทุนนิยม มูลค่า กำไรอาริยะ หรือขาดทุน ในระบบทุนนิยม (รายจ่ายที่เป็นตัวเงิน + รายจ่ายที่ไม่เป็นตัวเงิน) ๑๐,๙๓๒,๙๓๔ บาท (สิบล้าน เก้าแสนเศษ)

ตัวเลขการเงินขนาดนี้ หลายสำนักการศาสนา ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมากสำหรับการจัดงานของที่นั่น ป่วยการกล่าวถึง ภาคธุรกิจ ยิ่งถือว่า เป็นแค่เศษๆขนๆจิ๊บจ๊อยมาก แต่สำหรับชาวอโศกแล้วถือว่าสูงมาก เพราะชาวอโศกจริงๆนั้นโดยส่วนตัวแล้วจน ไม่ได้ มีทรัพย์สมบัติอะไรเท่าไรนัก จัดงานบุญแต่ละครั้งก็ไม่ได้เรี่ยไร หรือตั้งตู้รับบริจาค ไม่ได้เก็บค่าเช่าที่จากร้านค้าต่างๆ ไม่ได้แสวง หาผลกำไรจากการขายดอกไม้ ธูป เทียน หรือเหรียญสตางค์สะเดาะเคราะห์ ไม่มีพระเครื่องรางของขลังมาให้บูชา รวมทั้ง การแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆ อย่างที่วัดส่วนใหญ่นิยมกระทำกัน ก็ไม่มีเช่นนั้นเลย เงินที่ได้มาใช้จ่าย ก็จากหยาดเหงื่อ ทุนรอน ของชาวอโศกด้วยกันเองทั้งสิ้น จึงเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากของชาวอโศก

ฝ่ายบัญชียังได้ประเมินมูลค่าทุนทางสังคมของการจัดงานปีนี้ เป็นเงินถึง ๘,๔๕๔,๐๔๖ บาท (แปดล้านสี่แสนห้าหมื่นเศษ) ซึ่งเป็นการนับรวมจาก เงินที่ญาติธรรมและชุมชน ต่างๆได้ให้เงินมาช่วยเตรียมงาน (๒,๑๒๔,๘๔๖ บาท) รวมถึงการคิดราคา ผักผลไม้ ที่ได้รับบริจาคมา (๑๒๗,๗๘๐ บาท) บวกด้วยค่าแรงงานทั้งหมด (๖๖๐,๖๐๐ บาท) รวมกับกำไรอาริยะ (ขาดทุน ที่เป็นตัวเงินจริงๆ) (๕,๕๔๐,๘๒๐ บาท)

 

สินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุดคือของใช้ครัวเรือน เป็นเงินถึง ๑๒,๘๖๕,๕๓๒ บาท (สิบสองล้านแปดแสนเศษ) คิดเป็น ๕๕.๖๗ % ของยอดขายสินค้าทั้งหมดในปีนี้ ซึ่งยอดรวมทั้งหมดเป็นเงิน ๒๓,๑๑๑,๕๖๘ บาท (ยี่สิบสามล้านหนึ่งแสนเศษ)

เป็นที่น่าสังเกตว่า สินค้าที่มียอดขายได้น้อยที่สุด คือ สื่อธรรมะ เป็นจำนวนเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท (เจ็ดหมื่นห้าพันบาทถ้วน) คิดเป็น ๐.๓๒ % (ไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ) ของยอดขายสินค้าทั้งหมด (เป็นสิ่งยืนยันสัจธรรมว่า สิ่งที่เป็นสาระ คนจะมี ปัญญาเห็นคุณค่าน้อย เปรียบเหมือนขนโคกับเขาโคจริงๆ)

สินค้าที่ชาวอโศกไม่แล แต่ชาวบ้านเขาแลคืออะไรเอ่ยรู้ไหม ปุ๋ยชีวภาพไง ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจำหน่าย แม้ร้านจะไม่มีอะไรเด่น แต่ ยอดขายมาแรง พุ่งแซงสินค้าประเภทจักสานที่ร้านดูใหญ่โตสวยงาม จ่อชิดใกล้ๆสินค้าอาหาร และพืชผลการเกษตร เลยทีเดียว โดยมียอดขายเป็นเงินถึง ๑,๑๘๐,๗๘๐ บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนแปดหมื่นเศษ) คิดเป็น ๕.๑๑ % ของยอดขาย สินค้า ทั้งหมด ขณะที่จักสานมียอดขายเป็นเงิน ๑,๐๓๙,๙๒๕ บาท (หนึ่งล้านสามหมื่นเศษ) คิดเป็น ๔.๔๙ % ของยอดขาย สินค้าทั้งหมด ส่วนสินค้าอาหาร(จานละบาท)มียอดขายเป็นเงิน ๑,๖๙๘,๒๗๕ บาท (หนึ่งล้านหกแสนเก้าหมื่นเศษ)

เมื่อคิดเปรียบเทียบกับปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ปี ๒๕๔๗ ยอดขายต่ำกว่าทุนรวม ๑๒,๙๖๖,๑๘๗ บาท (สิบสองล้านเศษ) ปี ๒๕๔๘ ยอดขายต่ำกว่าทุนรวม ๑๕,๒๘๔,๒๙๕ บาท (สิบห้าล้านเศษ) ปีนี้ ๒๕๔๙ ยอดขายต่ำกว่าทุนรวม ๒๓,๑๑๑,๕๖๘ บาท (ยี่สิบสามล้านเศษ) เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๗ เกือบเท่าตัว

กำไรอาริยะ(บุญนิยม) หรือขาดทุนในระบบทุนนิยม คิดจากตัวเงินจริงๆที่ได้จ่ายไป ปี ๒๕๔๗ เป็นเงิน ๔,๑๔๒,๓๘๓ บาท (สี่ล้าน หนึ่งแสนเศษ) ปี ๒๕๔๘ กำไรอาริยะเป็นเงิน ๔,๒๖๒,๔๔๗ บาท (สี่ล้านสองแสนเศษ) ปีนี้ ๒๕๔๙ กำไรอาริยะเป็นเงิน ๕,๕๔๐,๘๒๐ บาท (ห้าล้านห้าแสนเศษ) เท่ากับปีนี้ขาดทุนเพิ่มขึ้น หนึ่งล้านสองแสนเศษ

มูลค่ากำไรอาริยะ หรือขาดทุนในระบบทุนนิยม (รายจ่ายที่เป็นตัวเงิน + รายจ่ายที่ไม่เป็นตัวเงิน) ปี ๒๕๔๗ มูลค่ากำไรอาริยะ คิดเป็น ๗,๒๓๗,๘๒๐ บาท (เจ็ดล้านสองแสนเศษ) ปี ๒๕๔๘ มูลค่ากำไรอาริยะคิดเป็น ๘,๐๑๖,๕๐๖ บาท (แปดล้านเศษ) ปีนี้ ๒๕๔๙ มูลค่ากำไรอาริยะคิดเป็น ๑๐,๙๓๒,๙๓๔ บาท (สิบล้านเศษ) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว สองล้านเศษ

มูลค่าทุนทางสังคม คือการคิดรวมเงินที่รับบริจาคช่วยในการเตรียมงาน + สินค้าผักผลไม้ที่ได้รับบริจาค + แรงงาน + กำไร อาริยะ ปี ๒๕๔๗ มูลค่าทุนทางสังคมเป็นเงิน ๕,๐๑๗,๓๐๔ บาท (ห้าล้านเศษ) ปี ๒๕๔๘ มูลค่าทุนทางสังคมเป็นเงิน ๖,๐๘๙,๐๓๖ บาท (หกล้านเศษ) ปีนี้ ๒๕๔๙ มูลค่าทุนทางสังคมเป็นเงิน ๘,๔๕๔,๐๔๖ บาท (แปดล้านสี่แสนเศษ)

จากเอกสารส่วนท้ายของฝ่ายบัญชีที่ได้รวบรวมตัวเลขทางบัญชีมาเปรียบเทียบ ๒๕๔๗-๒๕๔๙ ได้สรุปเป็นหมายเหตุไว้ อย่างน่าสนใจว่า

 

งานตลาดอาริยะเริ่มต้นที่สันติอโศกในปี ๒๕๒๓-๒๕๒๖ ปฐมอโศก ปี ๒๕๒๗-๒๕๓๘ ราชธานีอโศก ปี ๒๕๓๙ ปัจจุบัน ชาวอโศก ดำเนินงานตลาดอาริยะในช่วงปีใหม่มานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว ด้วยจุดประสงค์ที่จะเผยแพร่การค้าขายที่ไม่หวังกำไร ไม่ฉวยโอกาส เอาเปรียบขูดรีด หากคืนกำไร(เฉลี่ยคืน)ถือเป็นการให้ของขวัญให้เกิดความรู้สึกดีๆต่อกัน โดยผู้ขายก็ได้ ปฏิบัติธรรม เสียสละ ลดละอุปาทานด้านความโลภลง

การขายสินค้าต่ำกว่าทุนในความหมายของชาวอโศกที่พ่อท่านเน้นย้ำคือ ขายต่ำกว่าราคาซื้อที่ไม่รวมค่าขนส่ง หากในความ เป็นจริง กระบวนการกว่าจะได้สินค้ามา จะเกิดค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ ค่าขนส่ง ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่าติดต่อ ประสานงาน ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าเตรียมพื้นที่(ตลาด) รวมทั้งค่าแรงงานคนเข้าไปด้วย

ดังนั้นการวิเคราะห์ผลกำไรอาริยะในแง่เชิงการค้า หรือเชิงวิชาการทางการเงินการบัญชี จึงขอแสดงรายละเอียดเหล่านี้ ประกอบ การสรุปผลด้วย ทั้งนี้ในอีกเชิงตัวเลขที่แสดงมาก็จะบอกให้เห็นว่า ชาวอโศกทำการค้าพาณิชย์บุญนิยม จนถึงตลาด อาริยะได้ เพราะชาวอโศกมี "ทุนทางสังคม" อันได้แก่ การเสียสละแรงงาน และทุนทรัพย์รวมทั้งผลผลิตต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และ ต่อเนื่อง มายาวนาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงเป็นไปได้ยากในสังคมอื่น

พ่อท่านเผยถึงดำริที่ให้มีตลาดอาริยะ มาจากความเห็นว่าการพาณิชย์ทุนนิยม เป็นเรื่องโหดร้ายเอารัดเอาเปรียบกัน ตลอด กาลนาน จึงคิดว่าพวกเราน่าจะมาแจกกันดีกว่า ตลาดอาริยะแรกๆที่สันติอโศก มีขนมครก ขนมลา ตะกร้า ผัก เสื้อมาวางขาย โดยให้ เอาใบไม้มาซื้อ เมื่อไปจัดที่ปฐมอโศกก็เห็นว่าน่าจะพัฒนาการขายให้ต่ำกว่าทุน ตอนแรกยังไม่กล้าพูดว่าต่ำกว่าทุน ด้วยซ้ำ ให้ถูกที่สุด เหมือนเสียสละ เหมือนแลกเปลี่ยน เจตนารมณ์แรกจริงๆก็อยากให้มีการแบ่งแจกข้าวของ เป็นเศรษฐศาสตร์ บุญนิยม ใครมีมากก็เอามาแบ่งแจกกัน แจกจ่ายให้กับคนที่ขาดแคลน ใครเสียสละได้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในพฤติกรรมของมนุษย์ พอมา จัดที่ราชธานีอโศกก็เอาแต่ชาวอโศกที่จะมาเสียสละกันจริงๆ มาตั้งใจขาดทุนจริงๆ เจตนาก็เพื่อจะให้เลิกลด การเอาเปรียบ เอารัดกัน เลิกลดกิเลสโลภ เห็นแก่ตัว มาเผื่อแผ่เจือจานเกื้อกูลกันเถอะ

กับข้อสงสัยที่ว่าพ่อท่านสอนให้ไม่สะสม ก็จนกันอยู่แล้ว แต่ต้องมาเสียสละวัตถุออกไปอีกอย่างนี้ จะไม่จนกรอบไปเลยหรือ
พ่อท่าน ไขความว่า แม้จะสอนไม่ให้สะสม ไม่ให้เอาเปรียบ ก็จนอยู่แล้ว แต่กระนั้นก็ดี เรายังพอมีเรี่ยวแรง ที่จะมาเสียสละ ร่วมกันได้ คนละไม้ละมือ รวมกันเป็นกอบเป็นก้อน พอให้ดำเนินกิจการได้ แล้วแต่ละคนก็ยังพอมีส่วนเกินอยู่บ้าง พอสิ้นปี ทีหนึ่งก็บอกกัน เอาน่า ตั้งปีหนึ่งก็พอมีเหลือ ลองน่าเอาออกอีกหน่อย ที่สะสมไว้ก็ยังพอมีเหลือ แต่เราก็ไม่ทำจนเกินเหตุ ไปเป็นหนี้ เสียดอกเบี้ย จนไม่มีแรงพอที่จะไปใช้กลายเป็นหนี้ทับถมตัวเองให้ทุกข์ร้อน

ตราบใดที่คนยังมีความขยัน มีสมรรถนะ มีความสามารถ มีการสร้างสรร มันก็จะมีผลผลิต มีสมบัติ มีสินค้าพอที่จะมาขายได้ อยู่ตลอดกาลนาน ตราบใดที่คนยังไม่หยุดนิ่งเฉยๆ ก็ย่อม จะมีผลผลิตสะพัดกันไปอยู่เรื่อยๆ ไม่มีเสื่อม

แม้ว่า เราจะเป็นคนจน ไม่เอาเปรียบ ไม่ สะสมกักตุน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในวิถีการสะพัดของเศรษฐศาสตร์บุญนิยม เราก็ เสียสละให้แก่งานนี้เป็นสิบๆ ล้านได้ นี่แหละคือสิ่งที่ยืนยันให้เห็นได้ว่าแม้แต่วิธีการแนวคิด และวิธีปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน กับทุนนิยม มันคนละขั้วเลยก็ตาม มันก็ยังสามารถที่จะเปิดตลาดเป็น Expo ที่ค้าขายขาดทุนได้จริง ๆ

นี่เป็นการยืนยันให้เห็นว่าคนเราไม่จำเป็นจะต้องโลภเท่านั้นจึงจะเสียสละได้ เสียสละแล้วยังเสียสละได้อีก

ในยุคนาโนเทคโนโลยี มนุษย์กำลังอัศจรรย์กับการคิดค้นทางวัตถุรูป ที่สามารถประดิษฐ์สิ่งที่เล็กๆ แต่มีประสิทธิภาพ มากมาย มหาศาล สำหรับมนุษย์ด้วยกัน สิ่งที่ทำให้อัศจรรย์สนใจอยากจะเป็นอย่างตามก็คือคนเก่ง คนมีชื่อเสียง คนรวย โดยต่างก็ เข้าใจ และเชื่อกันว่า นี่คือความสมบูรณ์ของการเกิดมาเป็นคน

"ตลาดอาริยะ" โดยจริงคือสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคนี้ การที่มีคนเรือนพันมาช่วยกันตั้งหน้าตั้งตาทำงานเสียสละให้กับผู้อื่น ที่สำคัญ คนเหล่านี้เป็นคนจนเสียด้วย พฤติกรรมความจริงเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดมีได้ง่ายๆในโลกใบนี้ แต่สิ่งนี้สังคมยังเมิน

พระธรรมคำสอนของปราชญ์ศาสดาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า พระเยซูคริสต์ พระนาบีโมฮัมหมัด ฯลฯ คนในโลก ต่างก็ยอมรับ ยกย่องว่าดี แต่ก็ยังมีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่เชื่อถือแล้วปฏิบัติตาม คนส่วนใหญ่ยังเมิน มีไม่น้อยที่เทิดทูนบูชา แต่ก็ไม่ปฏิบัติอะไร

"เศรษฐกิจพอเพียง" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัส เสียงแซ่สร้องสรรเสริญก็มีไปทั่ว ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้บริหารบ้านเมือง นักวิชาการ นักการเมือง สื่อมวลชนต่างๆ ล้วนกล่าว อ้างอิงยกย่อง แต่จะมีสักกี่คนที่ปฏิบัติตนเยี่ยงนั้น

ฉันใดก็ฉันนั้น "ตลาดอาริยะ" พ่อท่านบอกว่าเป็นการสอบไล่ใหญ่ของชาวอโศก แต่เสียดายเอย เสียดายนัก กับช่วงเวลา ที่ผ่านไป หลายคนยังไม่ยอมร่วมทำข้อสอบไล่ด้วย จะเสียดายยิ่งนักกับช่วงเวลาที่พ่อท่านเหลืออยู่ คนเหล่านั้น ก็ยังไม่ร่วม ทำข้อสอบด้วยสักที

วันเด็กปี'๔๙ นี้พ่อท่านให้คำขวัญว่า รู้ดี สำนึกดี ทำดีจนสำเร็จ ประเสริฐแท้กว่า รู้ดี แต่ไม่ทำ หรือทำแต่ทำไม่สำเร็จ แหม ช่างตรงแป๊ะ อะไรปานนั้นกับคนที่ไม่ยอมทำข้อสอบไล่สักที.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สรุป ๑๐ ข่าวอโศกเด่น ปี ๒๕๔๘

อันดับที่ ๑
สถาบันบุญนิยม นำชาวบุญนิยมร่วม "ซับขวัญชาวใต้" ที่ประสบภัยจากคลื่นยักษ์ "สึนามิ" เมื่อวันที่ ๑๐-๒๑ ม.ค.๔๘

อันดับที่ ๒
พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์มอบ "หยาดน้ำใจพระโพธิสัตว์" ให้ลูกๆ ช่วงงานอโศกรำลึก เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘

อันดับที่ ๓
การเปลี่ยนชื่อ-สกุลของนายราเมศ เชียวเขตรวิทย์ เป็น "นายตายแน่ มุ่งมาจน" ช่วงต้นปี'๔๘ เป็นข่าวสนั่นเมือง ในเรื่องชื่อสกุล เมื่อสื่อมวลชนทางวิทยุ โทรทัศน์ นสพ. ออกข่าวในช่วงปลายเดือน ส.ค.๔๘

อันดับที่ ๔
สถาบันบุญนิยมร่วมคัดค้านการนำเบียร์เหล้าเข้าตลาดหุ้นครั้งแรกร่วมกับ ๑๕ องค์กรภาคประชาชน เมื่อ ๒๒ ก.พ.๔๘, ครั้งที่ ๒ ร่วมสัมมนาที่รัฐสภา เมื่อ ๒๐ มี.ค.๔๘ เสียงประชาชน ๙๐ % ที่มาร่วมสัมมนาคัดค้านเบียร์เหล้าเข้าตลาดหุ้น , ครั้งที่ ๓ ร่วมกับศาสนิกชนของพุทธ-คริสต์-อิสลาม ชุมนุมคัดค้านที่หน้าตลาดหลักทรัพย์ฯ พระพยอม กัลยาโณ จากวัดสวนแก้ว ก็มาพูดสนับสนุนผู้ชุมนุมคัดค้าน

อันดับที่ ๕
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานเพื่อฟ้าดิน เมื่อวันที่ ๑๖-๑๘ พ.ค.๔๘ ที่หมู่บ้าน ชุมชนราชธานีอโศก ซึ่งเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในด้านการเกษตรอินทรีย์ จึงมีผลให้ข้าราชการผู้ใหญ่ ของกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสนใจและจัดสัมมนาเรื่อง แนวทางเกษตรอินทรีย์แทนเกษตรเคมี ตามแนวนโยบายรัฐบาล เมื่อ ๒๑-๒๓ มิ.ย.๔๘ ที่บ้านราชฯ เมืองเรือ

อันดับที่ ๖
ชาวอโศกทั่วประเทศตั้งโรงบุญมังสวิรัติ เมื่อวันที่ ๕ ธ.ค.๔๘ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ ๗๘ พรรษา และจะทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี

อันดับที่ ๗
สันติอโศกได้รับเชิญจากรัฐบาล ร่วมงาน วิสาขบูชาโลก ที่พุทธมณฑล ในเดือน พ.ค.๔๘ แต่ถูกคัดค้านจากผู้อ้างตนว่าเป็นพุทธ แต่เป็นชาวพุทธเพียงบางส่วน ทั้งผู้ที่อยู่ในเพศนักบวชและฆราวาส มีผลให้สันติอโศก ขอถอนตัวจากการไปร่วมงาน วิสาขบูชาโลก ที่พุทธมณฑล แต่ก็เป็นข่าวใหญ่ในหน้า ๑ ของ นสพ.แทบทุกฉบับ มีผลให้ชาวพุทธตื่นตัวเรื่องศาสนา สนใจ พระธรรมวินัยมากขึ้น สันติอโศกก็มีโอกาสให้ความรู้เรื่อง พระธรรมวินัย โดยเฉพาะประเด็น "นานาสังวาส" ให้ชาวพุทธได้เห็น ความเป็นนักประชาธิปไตยของพระพุทธเจ้า ในการ ปกครองที่ทรงคุณธรรมหาผู้ใดเทียบได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อันดับที่ ๘
ชมร.เชียงใหม่ใช้พืชผักป่าหรือผักพื้นบ้าน มาทำเป็นอาหารมังสวิรัติจำหน่ายเพื่อสุขภาพที่ดีของสมาชิกหรือลูกค้า จนเป็นที่ นิยม และ ยอมรับของสมาชิก มีผลให้ ชมร.เชียงใหม่ ลดราคาอาหารจากที่เคยขายข้าวและกับข้าว ๑ อย่าง ในราคาจานละ ๘ บาท เหลือเพียง จานละ ๕ บาท เมื่อวันที่ ๑๔ ต.ค.๔๘ จนถึงปัจจุบันเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกค้า

อันดับที่ ๙
ชาวอโศกร่วมเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตน-ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระชนมายุ ๕๐ ชันษา ณ ศูนย์อนุรักษ์ พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆมาครบ ๑ นักษัตร(๑๒ ปี) ที่ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๙-๒๕ ต.ค.๔๘

อันดับที่ ๑๐
งานมหาปวารณา ครั้งที่ ๒๔ (๔-๗ พ.ย.๔๘) ครบรอบ ๒ นักษัตร ที่ชุมชนปฐมอโศก จ.นครปฐม จัดรายการให้ญาติธรรม ฝึกรับคำติ และครั้งนี้พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ให้โศลกธรรม แก่ชาวอโศกว่า
"เอาแต่ใจตัว คือ ชั่วโดยอัตโนมัติ จะดีได้ ต้องหัดให้ หัดเห็นใจคนอื่นเสมอ"

- ทีมข่าว นสพ.ข่าวอโศก รายงาน

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


พื้นที่ไม่ถึง ๒ ไร่ ปลูกผัก ๔ ชนิด ทำคนเดียว รายได้เป็นหมื่น

การตัดสินใจและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังของ "จำรัส ปุ๋ยกระโทก" เกษตรกรวัย ๔๗ ปี ผู้ซึ่งสนองพระราชดำรัส "เศรษฐกิจ พอเพียง" ด้วยการพลิกผืนดินของตนบนเนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน บริเวณริมถนนคลองตาเพชร-เขาชะอางค์ โอน ต.พลวงทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ปลูกผักหวานขาย เป็นรายได้เสริม ทำให้วันนี้เขามีเงินเข้าบ้านอย่างเป็นกอบ เป็นกำ จากพืชชนิดนี้ เดือนๆ หนึ่ง ไม่ต่ำกว่า ๑.๕ หมื่นบาท สามารถเลี้ยงดูสมาชิกของครอบครัวให้ดำรงชีวิตได้อย่างสบาย

จำรัส เล่าถึงที่มาก่อนจะหันมายึดพระราชดำรัส "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ด้วยการปลูกผักหวาน จำหน่าย เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมาว่า ทำงานเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน(อสม.) มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าศูนย์ของ อ.บ่อทอง และ เมื่อปี ๒๕๔๑ มีโอกาสได้พาสมาชิกเดินทางไปดูงานในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริที่เขาหินซ้อน และที่ มหาวิทยาลัย มหิดล ศาลายา เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของสมุนไพร จึงได้ ข้อมูลว่า ผักหวาน เป็นสมุนไพรตัวหนึ่ง ที่มีตัวยา ทำให้ ร่างกายแข็งแรง

"สนใจมากจึงเสาะหาพันธุ์ตามบ้าน คนจีน รวมทั้งเข้าป่าในพื้นที่ อ.บ่อทอง เมื่อได้พันธุ์มาจึงเพาะชำและขยายพันธุ์ด้วย ตนเอง จากนั้นนำมาปลูกในพื้นที่นา ซึ่งแบ่งมาปลูกผักหวาน ๑ ไร่ ๓ งาน โดยได้รับการสนับสนุนจากเกษตรกรอำเภอ เรื่อง การขุด สระน้ำ ด้านวิชาการ รวมทั้งเรื่องต้นพันธุ์ด้วย" จำรัสเผยและว่า ภายในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากปลูกผักหวาน ๓,๐๐๐ ต้น เป็นหลักแล้ว ยังมีผักหวานป่า ๒๐๐ ต้น ต้นดอกดิน ๔,๐๐๐ ต้น ต้นเสม็ด ๕๐๐ ต้น

พร้อมกันนี้ จำรัส ยังบอกถึงการดูแลว่า ใช้ปุ๋ย ชีวภาพที่หมักเองเพราะจะช่วยให้ระบบนิเวศดีขึ้น จะไม่ใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด ที่สำคัญผลผลิตที่ได้นั้นจะปลอดสารพิษ ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับสารในผักอย่างเต็มที่ อันจะส่งผลให้สุขภาพดี โดยเฉพาะ ผักหวาน จะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งมีวิตามินเอ ทำให้สายตาดี

"ทุกวันนี้ตื่นตี ๓ เก็บผักส่งพ่อค้าที่มารับถึงบ้านในเวลาตี ๕ โดยผักหวาน นั้นจะส่งราคา ๖๐-๗๐ บาทต่อกิโลกรัม เก็บวันละ ๑๐-๑๕ กิโลกรัม ผักหวานป่า ส่งราคา ๑๕๐ บาทต่อกิโลกรัม ดอกดินส่ง ๖๐ บาทต่อกิโลกรัม และผักเสม็ดราคา ๑๔๐ บาท ต่อกิโลกรัม" จำรัสเล่าถึงแปลงผักด้วยความภาคภูมิใจ และยอมรับว่า ผักทุกชนิด สามารถสร้างรายได้เข้าครอบครัว เฉลี่ยรวมแล้ว วันละไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ บาท

ทุกวันนี้ จำรัส บอกว่า เขาและครอบครัวรวม ๔ ชีวิต ไม่เดือดร้อนเรื่องการเงิน ยามว่างก็จะไปเป็นวิทยากร บ้าง หรือไม่ก็เข้าป่า หายาสมุนไพร ขณะที่ภรรยาก็อยู่บ้าน ลูก ๒ คนก็ไปโรงเรียน

ด้านนางอัจฉรา บุญส่งสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตร จ.ชลบุรี กล่าวว่า จำรัส ปุ๋ยกระโทก เป็นเกษตรกรตัวอย่าง ที่สำนักงานเกษตร จังหวัดชลบุรี ให้การยกย่อง และให้เป็นวิทยากรฝึกอบรมเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ โดยหวังว่า จะขยายกลุ่มผู้ปลูกผักหวาน ให้มากขึ้น

ขณะที่ ตระกูล สว่างอารมย์ กรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำ ต.พลวงทอง อ.บ่อทอง เสริมว่า ผักหวาน ที่ปลูกขณะนี้ ยังเป็นการ เก็บสด อนาคตจะผลักดันให้มีการแปรรูป ทำบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม เพราะเชื่อว่า ผักหวาน สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้.

(จาก นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ ๑๑ พ.ย.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สถาบันบุญนิยม
รวมน้ำใจสู่ชาวใต้ เกิดศูนย์รวมใจช่วยภัยน้ำท่วม

เมื่อปี ๒๕๔๓ น้ำท่วมหนัก ทำให้เมืองหาดใหญ่สูญเสียชีวิตผู้คนและทรัพย์สิน คิดเป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาท

หาดใหญ่เป็นเมืองเสี่ยงภัยน้ำท่วม เมื่อใดที่ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันหลาย คืน พอย่างเข้าเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ฝนก็เท ลงมาทั้งวันทั้งคืน จนอ่างเก็บน้ำที่อำเภอสะเดาไม่สามารถรับน้ำได้อีกต่อไป จึงต้องปล่อยให้น้ำล้นอ่าง ไหลลงคลอง อู่ตะเภา ผ่าน ตัวเมืองหาดใหญ่ จนน้ำล้นฝั่งทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนอย่างรวดเร็ว นั่นคือ ปรากฏการณ์อันเนื่องมาจาก มนุษย์ ทำลายธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายที่หลายแห่งทั่วประเทศและทั่วโลก

ฝนตกหนักทีไร คนหาดใหญ่ผวากันไปทั้งเมือง แม้ว่าหลังน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๔๓ ทางราชการได้ขุดคลองระบายน้ำ หลายสาย ตามโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลา แต่โครงการก็ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีปัญหา การเวนคืนที่ดินของเกษตรกร ทำให้ในปีนี้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง จากที่เคยท่วมหนักในเขตเศรษฐกิจ ตัวเมืองหาดใหญ่ กลับไหลบ่า เข้าท่วมบ้านเรือนในเขตหาดใหญ่ ในซึ่งเป็นพื้นที่รอบนอก

กระแสน้ำไหลเชี่ยวจนมิดหลังคาบ้าน บ้านเรือนถูกน้ำพัดพาเสียหาย บางพื้นที่ท่วมประมาณ ๒-๓ เมตร บางพื้นที่ท่วม ระดับ คอ หน้าอก และสะเอว คนที่อยู่บ้านชั้นเดียวต้องหนีน้ำไปขออาศัยอยู่กับ เพื่อนบ้านที่มีบ้าน ๒ ชั้น หลายครอบครัว อพยพ ไปขออาศัยอยู่กับวัดที่น้ำท่วมไม่มาก ภาวะน้ำท่วมขังในระหว่างวันที่ ๑๗-๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ ทำให้ผู้คนที่หาเช้า กินค่ำ เดือดร้อนหนัก เพราะมักฝากชีวิตไว้กับอาหารถุงสำเร็จรูปที่ซื้อจากตลาด ส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมข้าวสารอาหารแห้ง ไว้สำรอง ให้สอดคล้อง กับวิถีของเมืองเสี่ยงภัยน้ำท่วม ดังนั้นจึงมีคนโทรศัพท์เข้าไปร้องทุกข์ ในสถานีวิทยุของมหาวิทยาลัย สงขลา นครินทร์ (FM 88 MHz) เป็นจำนวนมากทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นเสียงร้องของคนที่ไม่มีข้าวกิน เนื่องจาก ติดอยู่ บนบ้าน ไม่สามารถ ฝ่ากระแสน้ำออกไปไหนได้ บ้างก็เป็น เสียงร้องขอนมให้ลูกกิน บ้างก็ขอน้ำดื่ม เนื่องจากโอ่ง จมอยู่ใต้ กระแสน้ำ บางคนก็ขอยารักษาโรคให้ผู้เจ็บป่วยที่มาขออาศัย อยู่หลายคนผมนอนฟังวิทยุตลอดทั้งคืน ฟังไป คิดไปตลอด ว่าเราจะ นอนหลับได้อย่างไร ในเมื่อพี่น้องของเราไม่ได้นอน เราจะกินอิ่มได้อย่างไร ในเมื่อเพื่อนร่วมแผ่นดิน ยังไม่ได้กิน คิดได้ดังนั้น ผมตัดสินใจลุกขึ้นในกลางดึกคืนนั้น ก้มลงน้อมกราบรูปพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ บอกท่านว่า "ลูกจะทำหน้าที่ ของชาวอโศก ช่วยเหลือ พี่น้องที่กำลังทุกข์ยาก..." ตั้งจิตแล้วก็เตรียมหุงข้าว ทำอาหารเพื่อส่งไปช่วยพี่น้อง ผู้ประสบภัย ในเช้าวันรุ่งขึ้น

ตอนเช้ามีคนในร้านเพียง ๒-๓ คนที่ช่วยกันทำอาหาร เพราะที่เหลือติดอยู่ในบ้าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ในร้านครัวเพื่อนสุขภาพ น้ำท่วม ระดับหัวเข่า ซึ่งไม่เดือดร้อนอะไร เอาเวลาช่วยเหลือพี่น้องที่กำลังทุกข์หนักคงดีกว่า จากนั้นผมโทรเข้าไปออกอากาศ ในรายการวิทยุ บอกกับผู้ฟังว่า... ผมได้เปิดที่ร้านให้เป็น ศูนย์รวมใจช่วยภัยน้ำท่วม เพื่อผลิตอาหารนำไปช่วยพี่น้อง ผู้ประสบภัย หากผู้ฟังท่านใด ต้องการเป็นอาสาสมัคร ก็ขอเชิญมาช่วยงานที่ศูนย์ฯได้ เรามีทั้งงานช่วยล้าง ช่วยหั่น ช่วยห่อ ช่วยตัก ช่วยมัด ช่วยขน ช่วยจัด หรือท่านที่มีรถและเรือ ก็สามารถมารับอาหาร ไปส่งถึงบ้านผู้ประสบภัยได้

หลังจากวางหูโทรศัพท์ได้ไม่นาน ก็มีอาสาสมัครภาคประชาชนมาช่วยงานกันเต็มร้านทุกเพศทุกวัย บางคนปั่นจักรยาน ฝ่ากระแสน้ำ มาหลายกิโลเมตร บางคน นั่งรถโดยสาร มาจากต่างอำเภอ เพราะวิทยุกระจายเสียงไปทั่วทั้งจังหวัด หลายคน อยู่ในเมือง ที่บ้านน้ำท่วมไม่มาก ได้ฟังผมพูดแล้วก็ชวนกันมาช่วยงานบุญ ส่วนนักธุรกิจ ทหาร และตำรวจ ที่มีรถและเรือ ก็อาสานำอาหาร ไปส่งให้จนถึงที่

บรรยากาศการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนดำเนินไปอย่างอบอุ่นและมีความสุข สังเกตได้จากรอยยิ้ม แม้จะเหน็ดเหนื่อย สักเพียงใด ก็ไม่มีใครบ่น ใครหิวก็พักกินข้าว บางคนขอตัวไปรับลูกที่โรงเรียน แล้วก็พาลูกมาช่วยอีกแรง เป็นเช่นนี้ หลาย ครอบครัว ผมนึกในใจและยิ้มกับตัวเองว่า...วิกฤตเป็นโอกาสของคนดีได้เสมอ การงานครั้งนี้ ทำให้เราได้พบ มิตรใหม่ เพื่อนใหม่ และพี่น้องทางธรรม มากมาย

คำพูดที่ว่า คนหาดใหญ่แล้งน้ำใจตัวใครตัวมัน เห็นที่จะไม่จริงเสียแล้ว ในยามสุขต่างคนต่างอยู่ แต่ในยามทุกข์คนไทย ไม่เคย ทอดทิ้งกัน ความจริงนี้สัมผัสได้ทุกครั้ง เมื่อเกิดอุบัติภัยในแผ่นดิน ในแต่ละวัน ศูนย์ของเราผลิตอาหารเจ เพื่อสุขภาพ ได้นับ หมื่นห่อ เพื่อให้เพียงพอแก่พี่น้อง ที่กำลังรอคอย การหุงข้าวเพื่อคนจำนวนมากนั้น ต้องระดมพลังกันเต็มที่ เมื่อหุงข้าว ไม่ทัน ก็ได้เห็นน้ำใจของเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ทั้งโรงแรม ร้านดอกไม้ ร้านอาหาร ร้านขายยา ร้านขายแก๊ส และอีกหลายบ้าน ที่เอ่ยนาม ได้ไม่หมด ต่างช่วยกันหุงข้าว ที่บ้านของตน แล้วขนมาให้ที่ศูนย์ ขนมาให้แล้วกลับไปหุงใหม่ๆ ทำซ้ำอยู่อย่างนี้ แล้วๆ เล่าๆ อย่างไม่เหนื่อยหน่าย มีแต่รอยยิ้มที่ส่งให้กันและกัน นี่คือความงดงามในสังคมมนุษย์ ทุกชีวิตล้วนปรารถนา ที่จะเห็น ภาพฝันเหล่านี้ ตรึงตราตลอดไป ผมได้แต่พนมมือน้อมไหว้ คารวะในคุณธรรมความดี ของหมู่มิตรดี สหายดี มันน่า ซาบซึ้ง จริงๆ ทำให้ผมนึกถึงบทเพลงของพ่อท่านฯ ที่ว่า... ทึ่งตะลึงซาบซึ้งจับใจ ดูไฉนเขาก็คนเช่นเราทุกอย่าง...

งานทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายที่ทำหน้าที่แจกจ่าย รถขนอาหารไปส่งให้เรือ เรือฝ่ากระแสคลื่น ไปส่งให้ผู้ประสบภัย ตามตรอก ซอกซอย โอ...มนุษย์รับใช้ผู้อื่น ได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ โอ...จิตวิญญาณ เป็นประธาน ของสิ่งทั้งปวง

หลังจากวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ เมืองหาดใหญ่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติน้ำท่วมหลายพื้นที่ลดลงบ้างแล้ว อาสาสมัคร ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน ทุ่มเทการช่วยเหลือ ไปที่อำเภอรอบนอกตามแนวชายฝั่งทะเล เช่น อ.สิงหนคร อ.สทิงพระ อ.กระแสสินธุ์ และ อ.ระโนด พื้นที่เหล่านี้ น้ำท่วมใหญ่ หมู่บ้านอยู่ในระดับเดียวกันน้ำในทะเลสาบสงขลา หลายพื้นที่ ถูกตัดขาด จากโลก ภายนอก ที่ไม่ได้กินข้าวถึง ๒-๓ วันก็มี เมื่อได้รับข้าวสารที่นำไปให้ เขาเอามาปรุงเป็นข้าวต้ม เพื่อกินอยู่ให้ได้นานที่สุด ทั้งวัว และคน มานอนกันบนถนน เป็นทั้งครัว เป็นทั้งบ้าน

น้ำยังคงท่วมในพื้นที่เหล่านี้ไปจนถึงปลายเดือนมกราคม ๒๕๔๙ ดังนั้นการบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือพี่น้อง ผู้ประสบภัย จึงได้บุญยิ่งนัก ในขณะที่ถุง ยังชีพที่ได้รับบริจาคใกล้จะหมด อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ท่านหนึ่ง ได้นำ ข้าวสาร และน้ำดื่ม จากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก ซึ่งทรงพระกรุณาช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย จนทำให้เรา สามารถ บรรเทา ความทุกข์ยากแก่พี่น้องได้อีกหลายวัน และเมื่อข้าวสารและน้ำดื่มหมดลง แต่เรายังพบความจริง ในพื้นที่ ว่าเขา เหล่านั้น ยังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก ผมจึงได้ติดต่อประสานงานขอการสนับสนุนจาก คุณแซมดิน เลิศบุศย์ ผู้จัดการ บจ. ฟ้าอภัย จากนั้นในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๘ คุณบุสดี เผ่าพงศ์ ฝ่ายการเงินของชุมชนบุญนิยมสันติอโศก ได้โอนเงิน มาให้การช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ คณะญาติธรรม ได้โอนเงิน มาช่วยเหลืออีก ๑๔,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถ้วน) เงินที่ส่งมานั้นถูกแปลงเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม และ ยารักษาโรค นำไปมอบให้ผู้ประสบภัยในหลาย พื้นที่ซึ่งการช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ถึง

ต่อมาในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๘ อาจารย์ขวัญดิน สิงห์คำ แจ้งให้ทราบว่า สถาบันบุญนิยมรวมน้ำใจสู่ชาวใต้ ได้จัดส่ง ข้าวซ้อมมือ ไร้สารพิษ จำนวน ๑๒ ตัน โดยมีผู้ใจบุญอาสาขับรถมาส่งให้ถึงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๙ นับเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประสบภัยชาวใต้โดยทั่วถึงกัน ข้าวสารและเงินบริจาคทั้งหมด ถูกจัดเป็นถุงยังชีพ นำไป มอบให้พี่น้อง ผู้ประสบภัย ทั้งในจังหวัดสงขลา ยะลา และปัตตานี ซึ่งกำลังดำเนินงานร่วมกับเครือข่าย ภาคประชาชน อยู่ในขณะนี้ ความคืบหน้า จะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป ในนามของชาวใต้ทุกคน รู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจ ของพี่น้อง สถาบัน บุญนิยม ที่บริจาคเงินและข้าวไร้สารพิษ มาช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยความห่วงใยและเอื้ออาทร ขอพลังแห่งความดี ที่ท่าน ได้กระทำ เป็นพลังบุญหนุนนำให้สมาชิกสถาบันบุญนิยมทุกท่าน มีแต่ความสุขความเจริญในธรรม ยิ่งๆขึ้นไปเทอญ.

ด้วยศรัทธาและคารวะยิ่ง
- ภานุ พิทักษ์เผ่า -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


รองประธานศูนย์คุณธรรมเปิดงาน ตลาดอาริยะปีใหม่'๔๙
ชาวบ้านมารอซื้อสินค้าตี ๒

ส่วนกลางจัดซื้อสินค้ามากขึ้น
พ่อท่านให้พรปีใหม่ เป็นคนจนมหัศจรรย์

งานปีใหม่ตลาดอาริยะของชาวอโศกเริ่มก่อเกิดที่พุทธสถานสันติอโศกระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๗ ต่อมาได้ย้ายไปจัดที่ พุทธสถานปฐมอโศก ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๒๘- ๒๕๔๐ หลังจากนั้นจัดที่หมู่บ้านชุมชนราชธานีอโศกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จนกระทั่ง ถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ในการจัดงานมีดังนี้
๑. เพื่อเพิ่มพูนศรัทธาและปัญญา อันเป็นแสงสว่างแห่งชีวิต ด้วยการฟังธรรม
๒. เพื่อสืบสานพุทธประเพณีการบิณฑบาต
๓. เพื่อเพิ่มพูนญาติศาสนา หรือญาติธรรม ที่สามารถพึ่งเกิด พึ่งเจ็บ พึ่งตายกันได้
๔. เพื่อฟังสัจจะสาระจากปฏิบัติกร ทั้งบนเวทีและนอกเวที ที่จะให้คำตอบ ทั้งในด้านปัญหาชีวิต เศรษฐกิจ สุขภาพ และ กสิกรรมธรรมชาติ
๕. เพื่อความเบิกบานใจและผ่อนคลาย ด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรม บนเวทีธรรมชาติ

งานปีใหม่ตลาดอาริยะ'๔๙ เป็นปีแรก ที่ดำเนินงานโดยสถาบันบุญนิยม สนับสนุนโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนา พลังแผ่นดิน เชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) มีคณะกรรมการ ซีอีโอ เป็นตัวแทนจากชุมชนต่างๆ เริ่มมีการประชุมเตรียมงานครั้งแรก ที่อำเภอ คลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมาในเดือนตุลาคม ต่อมามีการประชุมในงานมหาปวารณา ในส่วนของบ้านราชฯ มีกิจกรรม อบรม เกษตรกรและเตรียมงานปีใหม่ตลอดเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม

วันที่ ๑๖-๒๑ ธ.ค. มีการจัดค่ายบูรณาการนักเรียนชั้น ม.๓ จากโรงเรียนสัมมาสิกขาทั่วประเทศและค่ายผู้นำนักเรียน จาก จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาเป็นค่าย ยุวชนอโศกสัมพันธ์ (ยอส.) ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๗ ธ.ค. ส่งผลให้บรรยากาศของ หมู่บ้าน เต็มไปด้วยพืชผัก ได้บริการญาติพี่น้องที่มาอยู่ช่วงงานปีใหม่ โดยเฉพาะที่บริเวณสวนผักริมมูล ได้ตัดฝากชุมชนต่างๆ หลังเสร็จ งานปีใหม่ นอกจากนี้มีการตกแต่ง สถานที่ให้สวยงาม

วัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่งของงานปีใหม่คือ การจัดให้มี ตลาดอาริยะ ซึ่งเป็นระบบที่เน้นการเสียสละ การช่วยเหลือ การแบ่งปันซึ่งกันและกัน ตลาดอาริยะจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาต่ำกว่าทุน เพื่อเป็นบุญแก่ผู้ขาย และเป็นเสมือน ของขวัญปีใหม่แก่ผู้ซื้อ ตลาดอาริยะประกอบด้วย

ตลาดสินค้า การจัดร้านในปีนี้มีบริเวณกว้างขวางประกอบด้วยร้าน ข่ายปฐมอโศกขายเครื่องครัวอลูมิเนียม สแตนเลส ข่ายศีรษะอโศก ขายผลิตภัณฑ์พลาสติก ศาลีอโศก ขายกระติก ข่ายสีมาอโศก ขายผักไร้สารพิษ ผลิตผลทางการเกษตร กลุ่มปากช่องขายเสื้อผ้า ขายผ้าห่ม ข่ายสันติอโศกประกอบด้วยร้านเครื่องจักสานของบจ.พลังบุญ น้ำตาลของบจ.แด่ชีวิต ร้านน้ำมันพืชของศิษย์เก่าสัมมาสิกขา ร้านขายสื่อธรรมะของธรรมทัศน์สมาคม ร้านกู้ดินฟ้าขายพันธุ์ไม้ และขายผลไม้ ปลอดสารพิษ สับปะรด ส้มโอ มัน ร้านสมาคม นศ.ปธ. ขายเสื้อผ้า ข่ายบ้านราชฯ ขายเสื้อผ้า ขายจักรยาน ข่ายภูผาฟ้าน้ำ ขายเสื้อผ้าม่อฮ่อม ไม้กวาด และของใช้ผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นบ้าน และผ้าห่ม กลุ่มวังสีเมฆ ขายพริกแห้ง ฟักทอง และผัก ต่างๆ เป็นร้านใหญ่ นอกจากนี้มีร้านย่อยของญาติธรรมกลุ่มต่างๆ

ตลาดอาหาร จำหน่ายอาหารจานละ ๑ บาท จากการประชุมตกลงร่วมกันในปีนี้ปรับการบริการอาหารจานเดียวเป็นหลัก ลด ชนิดของอาหารไม่หลากหลาย เป็นการทำงานตามข้อตกลงของที่ประชุม การจัดร้านเป็นรูปตัวแอล เปิดบริการตั้งแต่ เวลา ๐๖.๐๐-๑๔.๐๐ น. ในบริเวณตลาดอาหารมีเวทีชาวบ้านแสดงดนตรีให้ความบันเทิงแก่ผู้ไปรับประทานอาหาร และมีบริเวณ ล้างจาน ล้างใจเพื่อให้ผู้ที่ทานอาหารได้ล้างจานของตนเอง มีญาติธรรมและนักเรียนโรงเรียนสัมมาสิกขาสีมาอโศก คอยให้บริการ

ในแต่ละวันมีกิจกรรมดังนี้
วันที่ ๓๐ ธ.ค. ๔๘
วันสุกดิบกิจกรรมเริ่มเวลา ๐๓.๓๐ น. ทำวัตรเช้าและฟังธรรมจากพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ในเช้านี้ท่านได้แจกแจงให้ลูกๆ ได้ชัดเจนในคุณธรรม พระโสดาปัตติผล และได้บอกวิธีตรวจสอบตนเอง เพื่อประเมินผลการปฏิบัติธรรมของตน หลังจากนั้น เป็นกิจกรรมตามวิถีชีวิต ตลาดอาหารเริ่มมีบริการอาหารในเวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น. เป็นการทดลองตลาดอาหาร

เวลา ๑๓.๐๐-๑๔.๐๐ น. พิธีปฐมนิเทศ โดยพ่อท่านที่บริเวณชั้นล่างเฮือนศูนย์สูญ พ่อท่านเน้นย้ำว่า ชาวอโศกทุกคน เป็นเจ้าภาพ หลังจากนั้นเป็นการพูดคุยกันเรื่องการทำงานและแบ่งงานกันของส่วนตลาดสินค้า ช่วงบ่าย มีการจำหน่ายสินค้า สำหรับญาติธรรม ช่วงสั้นๆ เวลา ๑๘.๓๐ น. เป็นกิจกรรมการแสดงภาคค่ำ

วันที่ ๓๑ ธ.ค. ๔๘
กิจกรรมทำวัตรเช้าในวันนี้พ่อท่านเทศน์เรื่องคนจนมหัศจรรย์คือผู้กอบกู้สังคมให้ไปรอด คนจนมหัศจรรย์คือคนจนที่มีอริยคุณ คนเอาเปรียบ คือคนเป็นหนี้ ท่านแจกแจงคนจนประเภทต่างๆ หลังจากทำวัตรเช้าเป็นกิจกรรมทำบุญตักบาตร พิธีเปิดงาน เริ่มในเวลา ๐๘.๐๐ น. จัดที่บริเวณซุมหินพญาแฮ่ง (ที่รวมของหินและพญาแร้ง) ซึ่งเป็นก้อนหินใหญ่ขนาด ๘ เมตร จัดเป็น เสาหิน และซุ้มประตู บริเวณหน้าตลาดอาหาร ผู้กล่าวรายงานคือ นายบูรณศิลป์ โทบุตรดี นายอำเภอวารินชำราบ ประธาน ที่มาเปิดงานคือ พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ รองประธานคณะกรรมการศูนย์คุณธรรม วันแรก ของการเปิดตลาดอาริยะ มีประชาชน มาเป็นจำนวนมาก บริเวณตลาดอาริยะและตลาดอาหารแน่นขนัดไปด้วยผู้คน ชาวบ้านมา ตั้งแต่เช้ามืด บางกลุ่ม มาถึงหมู่บ้าน ชุมชนราชธานีอโศก ตั้งแต่เวลา ๐๒.๐๐ น. ชาวบ้านเริ่มเข้าคิวตั้งแต่ ๐๕.๐๐ น. วันนี้บริเวณงาน เต็มไปด้วย ผู้คนตลอดวัน เวลา ๑๘.๐๐ น. เริ่มมีดนตรีที่บริเวณเวทีธรรมชาติ การแสดงภาคค่ำเริ่มในเวลา ๑๙.๐๐ น.

วันที่ ๑ ม.ค. ๔๙
ทำวัตรเช้าบริเวณชั้นล่างเฮือนศูนย์สูญพ่อท่านแสดงธรรมเรื่อง ปีใหม่ เหยาะหยด สดใหม่ ใส่ชีวิต สิ่งที่ควรเหยาะหยดใส่ชีวิต คือ ธรรมะในระดับเหนือสามัญ เรียกว่าทิพย์ธรรม เสร็จแล้วจึงเข้าสู่กิจกรรมทำบุญตักบาตรและงานบุญตลาดอาริยะ ในวันนี้ ชาวบ้าน มาจำนวนน้อยกว่าวันที่ผ่านมา ในตลาดสินค้าไม่ต้องเข้าแถวซื้อสิ่งของ พ่อค้า แม่ค้าขายกันแบบสบายๆ ส่วนที่ ตลาดอาหารในช่วงเช้า แม่ครัวและแม่ค้า มีเวลาทานอาหาร ผู้คนเริ่มมีจำนวนมากในช่วงเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. และ ในช่วงบ่าย กิจกรรมการแสดงภาคค่ำเริ่มในเวลา ๑๘.๓๐ น.

วันที่ ๒ ม.ค. ๔๙
กิจกรรมทำวัตรเช้าผู้คนบางตาแต่ยัง นั่งกันเต็มชั้นล่างเฮือนศูนย์สูญ ในเช้านี้ พ่อท่านเทศน์เกี่ยวกับงานอโศกเพื่อสันติ จรณะ วิชชา และอัตตา ๓

ในช่วงเวลา ๐๙.๐๙ น. ที่บริเวณเต็นท์รถยนต์มีกิจกรรมจับฉลากผู้โชคดีได้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า จำนวน ๓ คัน ดำเนินรายการ โดยคุณทิวเมฆ นาวาบุญนิยม บรรยากาศคึกคัก สนุกสนาน มีผู้ลงชื่อไว้ ๒๓ คน ในวันจับฉลากเหลือ ๑๘ คน ผู้ที่แจ้ง ความประสงค์ จะได้จับฉลาก ด้วยตนเอง ถ้าได้ฉลากที่เขียนว่า "ปีหน้ามาใหม่" คือไม่ได้ ถ้าได้ฉลากเขียนว่า "คุณคือผู้โชคดี" คือ ได้ซื้อรถยนต์ ในราคาต่ำกว่าทุน ในปีนี้ ผู้โชคดีที่จับฉลากได้ มาจากจังหวัดอุบลราชธานี ๒ คน มาจากจังหวัดขอนแก่น ๑ คน การขายสินค้า ยังดำเนินไปเรื่อยๆ สำหรับร้านที่ยังมีสินค้า บางส่วนมีการเก็บงาน ตลาด อาหารกำหนดปิดตลาด ในเวลา ๑๑.๐๐ น. แต่เนื่องจากมีชาวบ้านมาซื้อของ ในช่วงเที่ยง ร้านของปฐมอโศก จึงเปิดบริการอาหาร จนถึงบ่าย เวลา ๑๓.๐๐ น. มีกิจกรรม เก็บงานของนักเรียนสัมมาสิกขา ในเวลาเดียวกัน มีการประชุมของตัวแทนคุรุ บริเวณชั้น ๒ เฮือนศูนย์สูญ

เวลา ๑๕.๐๐-๑๗.๓๐ น. ประชุมเตรียมงาน พฟด.ของข่ายแหต่างๆ ในบริเวณชั้นล่างเฮือนศูนย์สูญ เวลา ๑๘.๓๐- ๒๑.๓๐ น. มีการประชุม สรุปงานปีใหม่ โดยมีพ่อท่านเป็นประธาน

ความรู้สึกของผู้มาร่วมงานมีดังนี้
นางบันจง บุญถาวร จ. กาฬสินธุ์ "ได้รู้จักชาวอโศกตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นเครือแหของแก่นอโศก เคยไปงานที่หินผาฯ และอินทร์บุรี มาปีใหม่ครั้งแรก ไม่เคยเห็นงานใหญ่ขนาดนี้ที่ไหนเลย มาเห็นคนแล้วตื้นตันใจ ตลาดอาหารบริการดี ได้ซื้อของต่างๆ ทั้งของใช้ ของกิน งานนี้ได้ช่วยผู้ ยากจน เห็นสีหน้าของแต่ละคน มีความสุขประทับใจ มาที่นี่ ได้ทั้งเพื่อนใหม่ ได้ความรู้ ได้สิ่งที่ไม่เคยได้ สัมผัสแล้วรู้สึกถึง ความเป็นพี่เป็นน้อง"

นางสวา ศรีทา อำเภอตระการพืชผล จ. อุบลราชธานี "หมู่บ้านแม่ห่างจากบ้านราชฯ ๖๐ กิโลเมตร มากันสิบกว่าคน แม่มาครั้งแรก คนในหมู่บ้านเขาไปเล่าให้ฟัง เขาเหมารถมาเยอะ มาวันที่ ๒ ของงานได้ซื้อของสบาย ทั้งน้ำมันพืช ทั้งของใช้ แม่เห็นงานนี้ดี ของขายราคาถูกหมดทุกอย่าง อาหารก็อร่อย เป็นประโยชน์สำหรับคนจน เรามีเงินน้อย ก็พอได้ซื้อ ปีหน้า จะเตรียมเงินไว้ มาซื้อของอีก"

นายสถาพร แสงงาม จ.อุบลราชธานี "ผมอยู่ในจังหวัดอุบลฯ ไปทานอาหารที่อุทยานบุญนิยมเป็นประจำ มางานนี้ ตั้งแต่ เปิดงาน ที่บ้านราชฯ ครั้งแรกและมาเป็นประจำทุกปี ประทับใจในความเป็นธรรมชาติ และความเป็นชีวิตจริง สินค้าไม่มีของ ยั่วยุ ฟุ่มเฟือย ดีสุดๆ เลยครับ ผมมางานนี้ไม่ได้ต้องการของ แต่ได้มาสัมผัสความสมถะ อยากปรับนิสัยปรับสันดานตัวเอง ให้สมถะ เรียบง่ายขึ้น ตั้งแต่ผมมารู้จักชาวอโศก ก็ได้ดำเนินชีวิตให้ใกล้เคียงชาวอโศกให้มากที่สุดเท่าที่ความสามารถ จะทำได้"

นางสาวภาวนา คำหนองไผ่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น "ครั้งนี้มาเป็นครั้งที่ ๓ ช่วยงานอยู่ที่สโตร์ ทุกคนทำงานเป็นระบบช่วยเหลือกัน ด้วยความจริงใจ ในขณะที่เราไม่รู้จักใคร มาอยู่ก็ได้เพื่อนที่ดี ได้รู้จักคนหลากหลายขึ้น ได้แนวคิดใหม่ๆ ในส่วนของ การบริการ ให้ชาวบ้าน ญาติธรรมก็ตั้งใจกันเต็มที่ และชาวบ้านก็ตั้งใจมาซื้อของไปใช้ ดิฉันและพี่ชาย อยากได้รถยนต์ ก็เลยลอง ไปเสี่ยงดวง ลงชื่อไว้ตั้งแต่วันแรก มีคนลงชื่อทั้งหมด ๒๓ คน วันจับฉลากเช็คชื่อ เหลืออยู่ ๑๘ คน จับฉลากได้เป็นคนแรก ความรู้สึกก็ดีใจ ตื่นเต้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็หวั่นๆ ว่าเราจะเป็นหนี้ ก็คิดว่าคงเป็นโชคดี สำหรับปี'๔๙

นายวีระศักดิ์ น้อยโสภา กลุ่มเพื่อนบุญอโศก ตลาดสินค้า "ได้มาร่วมงานปีใหม่ ทุกครั้ง ผมมาช่วยร้านปฐมอโศกขายเครื่องครัว ช่วยที่ ประตูทางเข้าร้าน ผู้คนตั้งใจจะมาซื้อเครื่องครัวเยอะมาก ปีนี้ร้านขยายใหญ่ขึ้น และจัดระบบคิดเงินหลายจุด เพื่อระบายคน ช่วงแรกเขารอนาน ที่เราแทบจะกักคนไม่อยู่ ก็เลยต้องปล่อยเข้าก่อน ประมาณ ๔๐๐ คน คนขายเหนื่อย ถ้วนหน้ากัน แต่การทำงานจะมีการประชุมพูดคุยแก้ปัญหากันไปแล้วแก้ไข พวกเรามีการร่วมแรงร่วมใจกันดี มีการปรึกษา หารือกัน ทั้งการเตรียมงาน และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า งานปีใหม่เป็นจุดหนึ่ง ที่เราได้มาปฏิบัติธรรม ได้มีโอกาสมาทำงาน ร่วมกัน มาเสียสละในเรื่องของกำลังกายกำลังใจกำลังสมอง เราได้มีโอกาสได้เอาเหตุการณ์มาพัฒนาตนเอง ให้ดียิ่งขึ้น ในชีวิตประจำวัน"

นางสาวฟ้าฉาย อุดมรักษ์ นิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต วิชชาเขตศีรษะอโศก ทีมสโตร์ "งานที่สโตร์ปีนี้รู้สึกว่า มีความพร้อม ไม่วุ่นวาย เหมือนปีที่ผ่านมา มีพี่น้องเครือแห มาช่วยกันตลอดวัน โดยเฉพาะเส้นมะละกอ ทำตลอดวันทั้ง ใช้เครื่องทุ่นแรง และคน ยังไม่ทัน วันแรกเราใช้เส้น ๑,๗๐๐ กิโล คนผัดแทบหมดแรง ปีนี้งานสโตร์เบาแรง เพราะมีคนจากทุกพุทธสถาน มาเป็น ผู้ประสาน และคนขายก็ดูอบอุ่นขึ้น ไม่แบ่งของใครของมันมีการช่วยเหลือแบ่งกันใช้ของร่วมกัน จึงไม่เกิดปัญหาของเหลือ เพราะปีนี้ อาหารไม่หลายชนิด ในส่วนของผักสด ปีนี้มาไวเกินไป มาตั้งแต่วันที่ ๒๙ ระบายออกก็ไม่ทัน ปีหน้า จะปรับปรุงใหม่ ผักมาเยอะ แต่ก็จัดการได้หมด มีส่วนที่เหลือ คือต้นหอม ระบายไม่ทัน จากการทำงานครั้งนี้ ได้ประโยชน์ตรงจากการที่เรา ได้ทำงาน บ่อยๆ ขึ้นรู้สึกว่าเวลาผ่านไปรวดเร็ว และทำให้เกิดการชำนาญในการลงรายละเอียด ได้เห็นชาวบ้านมารับบริการ ทำให้จิตใจของเรา มีเมตตามากขึ้น คนที่ต้องการความช่วยเหลือ จากเรายังมีเยอะ ทำให้เราต้องไม่เห็นแก่ตัว ต้องเสียสละ และ ต้องประหยัดมากขึ้น"

ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ รองประธานคณะกรรมการสถาบันบุญนิยม "งานปีใหม่ปีนี้การจัดซื้อของต่างๆ มาจากส่วนกลาง ทำให้ สินค้า ตรงกับความต้องการและสามารถ ที่จะกระจายผู้ที่จะมาช่วยตรงนี้ได้ ผู้ที่มีเงินไม่มีแรงงานหรือมีแรงงาน แต่ไม่มีเงิน ทางส่วนกลาง สามารถจัดสรร หรือบริหารในการจัดซื้อสินค้า และจัดสรรทีมขายสินค้า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อย่างไร ก็ตาม ก็จะมีข้อที่เราจะต้องปรับปรุงกันไป ในเรื่องเทคนิค รายละเอียด บรรยายกาศของงานในปีนี้ แม้คนจะมาแน่น แต่ดูมีระบบ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย พิธีเปิดเรียบง่าย ประธานเปิดก็พูดออกมาจากใจ เป็นความสมบูรณ์ของงาน ที่เพิ่มมากขึ้น คิดว่าจะกระจายออกสู่สังคมมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อศูนย์คุณธรรมเข้ามาเกี่ยว การกระจายข่าว ก็ออกไปอีกหนึ่งช่อง อาจจะทำให้ มีคนมาเพิ่มขึ้น สิ่งที่พวกเราจะได้ประโยชน์คือ เราจะทำงานเป็นระบบมากขึ้น การทดลองใช้ระบบซีอีโอ ได้ผล เป็นการบริหาร การทำงานที่ฉับไว มีประสิทธิภาพ มีการคิดทำร่วมกัน เป็นเรื่องที่น่าทึ่งคนมาเสียสละร่วมกันทั้งแรงเงินแรงกาย ดูแต่ละคน ก็ทำเต็มที่ ทำงานเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ไม่ย่อท้อ เราได้ประโยชน์ตรงที่เราสามัคคีกัน และเราก็ลดกิเลส จากการ เสียสละ นี่คือประโยชน์ที่ชาวอโศกจะได้รับ ส่วนชาวบ้านก็ได้ดูได้รู้ ว่ามีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมาเสียสละทำประโยชน์ ให้อย่าง จริงใจ จริงจัง ทำแบบไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ทำอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่แอบแฝง เป็นเรื่องมหัศจรรย์".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สารพิษตกค้างในร่างกาย

เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเที่ยวงานเกษตรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยากาศดีมากและมีเรื่องน่าสนใจที่อยากจะเก็บมาฝากท่าน คือได้มีโอกาสตรวจเลือด หาสารเคมี ที่ตกค้างในร่างกาย โดยการตรวจหาค่าสาร โคลีนเอสเตอเรส ซึ่งผลการตรวจมีระดับอยู่ ๔ ระดับคือ ปกติ ปลอดภัย ระดับเสี่ยง และระดับไม่ปลอดภัย ปรากฏว่าผลออกมาคือพบในระดับไม่ปลอดภัย หมายถึงมีสารพิษตกค้างจากสารกำจัดยาฆ่าแมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารในกลุ่มออร์แกโน ฟอสเฟสและคาร์บาเมตซึ่งพบมากในพืช ผัก ผลไม้

โคลีนเอสเตอเรส (ChE) เป็นเอ็นไซม์ ที่ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของสารเคมี ที่ ทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างปมประสาท อะซิติลคลอลีน โดยเอนไซม์จะย่อยสลายสารเคมีสื่อประสาท เมื่อพาราไธออนเข้าสู่ร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ จะยับยั้งเอ็นไซม์ โคลีนเอสเตอเรส ทำให้เกิดการสะสมของ อะเซททิลคลอลีน ที่ปลายประสาท ซึ่งจะไปกระตุ้นที่ตัวรับ ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ของระบบประสาทส่วนกลาง ระบบการหายใจ และกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ทำให้การควมคุมของระบบประสาทผิดปกติไป จะเกิด อาการ เช่น ตาพร่ามัว เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ เหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย กล้ามเนื้อสั่นกระตุก ม่านตาหด ความดันเลือด ต่ำลง หัวใจเต้นช้า และอาจเสียชีวิตเนื่องจากระบบ การหายใจล้มเหลว

เนื่องจาก "ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม" ยังไม่สายเกินไปมีทางออกเสมอ ได้มีการศึกษาวิจัยพบว่าสมุนไพร "รางจืด" ของไทย มีสรรพคุณในการลดและขับสารพิษนี้ได้ค่ะ (ถ้าไม่ตายเสียก่อน) จึงแนะนำให้ดื่มน้ำรางจืดมากๆ และหาพืชผัก ที่ไร้สารพิษ รับประทาน ความจริง ก็พยายามทำเช่นนั้นมานานแล้ว แต่เนื่องจากอาจจะสะสมมานานมาก จึงยังพบ สารตกค้างอยู่ ต่อแต่นี้ไปก็คงต้องระมัดระวังการรับประทานให้มากขึ้น

จากสถิติที่ตรวจในวันก่อนๆที่ผ่านมาพบว่ามีสารตกค้างในขั้นอันตรายนี้มากก่อนหน้านั้นหนึ่งวันมีคนที่ปลอดภัยเพียง 2 คน เท่านั้นเอง และมีญาติธรรมหลายคนที่ผ่านการตรวจส่วนมากก็จะอยู่ในระดับอันตรายกันทั้งนั้น นั่นก็หมายความว่า พวกเราเอง ก็ยังไม่ปลอดภัย จากสารเคมีในยาฆ่าแมลงนัก คงต้องหันมาตระหนักในเรื่องของสารตกค้างนี้ให้มากขึ้น เพื่อลดการเป็น มะเร็ง และ โรคภูมิแพ้ต่างๆ ในพวกเราให้ลดลง

เมื่อถึงตรงนี้ทำให้รู้สึกซาบซึ้งในความเมตตากรุณา และความมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของพ่อท่านเป็นอย่างยิ่งที่พากเพียรพาลูกๆ ทำในเรื่องเหล่านี้ เพื่อช่วยพวกเรากันเอง และมนุษยชาติ.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


สถาบันแพทย์ทางเลือก
เชิญคุณผืนดินร่วมสัมมนาและอภิปราย
เรื่อง "ประสบการณ์ปัสสาวะบำบัด"

เมื่อวันอังคารที่ ๒๐ ธ.ค.๒๕๔๘ สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์ไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวง สาธารณสุข จัดสัมมนาวิชาการด้านการแพทย์ทางเลือก โดยมีการอภิปราย เรื่อง "ประสบการณ์ปัสสาวะบำบัด"

ผู้ที่ได้รับเชิญมาอภิปรายให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวคือ น.ส.ผืนดิน อโศกตระกูล นายสุประดิษฐ สถีระนาวิน และนายเพทาย คำภา ดำเนินรายการโดย คุณชุติมา ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ณ ห้องประชุมเบญจกูล ชั้นใต้ดิน

เป้าหมายของงานสัมมนาครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้การแพทย์ทางเลือก แก่กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และ ประชาชน ผู้สนใจทั่วไป

เนื่องจากมีการจัดงานตรงกัน ๒ งาน จึงมีผลให้ผู้เข้าร่วมฟังเพียง ๒๐ กว่าคน แต่กลุ่มผู้ฟังจะเป็นผู้ที่มีความสนใจจริงๆ ทั้งผู้ที่ เคยดื่ม ยังไม่เคยดื่ม และกำลังดื่มอยู่ บรรยกาศก็เป็นกันเองดี

นายไพโรจน์ จินดาไพจิตร อาชีพรับจ้าง รับเหมาทำสแตนเลส ซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่งที่มาร่วมฟังการอภิปราย กล่าวว่า เมื่อก่อน เคยบวชเป็นพระ เป็นภูมิแพ้จึงดื่ม ปัสสาวะรักษา อาการภูมิแพ้ก็หายไป

คุณผืนดิน อโศกตระกูล พนักงาน บจ. ฟ้าอภัย เจ้าของคอลัมน์ "น้ำฉี่ดีจริงหรือ?" ใน นสพ. สารอโศก กล่าวว่า รู้สึกประทับใจ ประชาชน ที่มาฟัง เพราะเป็นผู้สนใจจริงๆ เพราะปกติ คนทั่วไป จะไม่สนใจดื่ม เพราะเข้าใจว่า น้ำฉี่เป็นของเสียที่ไร้ประโยชน์ ต่อร่างกาย เมื่อราวเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ก็มีนายแพทย์ชาวญี่ปุ่นมาขอสัมภาษณ์ ซึ่งนายแพทย์ผู้นี้อายุ ๗๐ ปีแล้ว และดื่มน้ำฉี่ มาแล้วถึง ๑๙ ปี ก็ดูหนุ่มกว่าวัย บอกว่ามีชาวญี่ปุ่นรักษาสุขภาพ ด้วยน้ำฉี่จำนวนหลายล้านคน แม้ดื่มได้ยาก แต่หลายคน ก็ยังสนใจ ขนาด ผอ. กองการแพทย์ ทางเลือก (น.พ.เทวัญ) ท่านก็ยัง ยอมรับกับพวกเราตรงๆเลยว่า ช่วงทดลอง ใหม่ๆ ต้องฝืน ดื่มมาก เพราะรู้สึกดื่มยาก แต่ก็มีผลดี ต่อสุขภาพ เมื่อได้ทดลองดื่ม และ ราวเดือน ต.ค.๔๙ ก็ยังได้รับเชิญ ให้ไปร่วมประชุม น้ำปัสสาวะ โลก ที่ประเทศเกาหลีใต้ แต่ก็ยัง ไม่ได้ตัดสินใจ ว่าจะไปร่วมหรือไม่".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

หน้าปัดชาวหินฟ้า

เจริญธรรม สำนึกดี พบกับ นสพ.ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๗๐(๒๙๒) ปักษ์แรก ๑ - ๑๕ มกราคม ๒๕๔๙
พบกันอีกวาระกับข่าวอโศก ฉบับรับปีใหม่ ๒๕๔๙ ทีมงานทุกคนก็ขออวยพรให้ท่านสมาชิกทุกท่านเจริญในธรรม ขอเป็นกำลังใจ และ ร่วมเดินทางบนเส้นทางแห่งธรรมสู่ทางพ้นทุกข์ด้วยกันนะฮะ

แก้ไขข้อผิดพลาด... เนื่องจากแผนกธรรมรูป ได้จัดพิมพ์ปฏิทินประจำปี ๒๕๔๙ ขึ้นมานั้น มีหมายเลขโทรศัพท์ของหมู่บ้าน ชุมชน ราชธานีอโศก ๐๔๕-๒๔๐๕๘๔ ผิด ขอแก้ไขเป็น ๐๔๕-๒๔๗๒๒๒ และบรรยายใต้ภาพปฏิทินพ่อท่านจากวันที่ ๑๑-๒๐ ม.ค. ๔๘ ขอแก้ไขเป็น ๑๐-๒๑ ม.ค.๔๘ กราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

สำหรับข่าวความเคลื่อนไหวของชาวเราในรอบปักษ์นี้ มีดังนี้

สะเก็ดข่าวตลาดอาริยะ'๔๙... ข้างเฮือนใหญ่ของบ้านราชฯเมืองเรือ หลายคนที่ไปร่วมงานตลาดอาริยะ คงเห็นเรือใหญ่ หลายลำ จอดอยู่บนก้อนหินใหญ่ ดูน่าตื่นตาตื่นใจ หินแต่ละก้อนก็สวยงาม บางก้อนมีน้ำหนักถึง ๒๐-๓๐ ตันทีเดียว จิ้งหรีด ได้รู้ที่มาที่ไป จากคนตัวดำ แต่ใจไม่ดำ บอกจิ้งหรีดมาว่า นี่แหละเป็นความคิดของสมณะเดินดิน ที่เสนอว่า น่าจะเอาเรือใหญ่ มาตั้งบนหิน เดิมทีก็คิดกันว่าจะทำฐานหล่อเป็นคานปูนวางเรือ คิดไปคิดมา ก็ต้องเสียเงินราว ๔ แสนบาท แต่งานนี้ท่านเดินดิน ช่วยให้ประหยัดเงินได้ถึง ๔ แสนบาท แถมยังมีฐานวางเรือเป็นก้อนหินใหญ่สวยงาม และเท่กว่ากันตั้งแยะ เพราะก้อนหินนั้น ได้รับบริจาค เสียแต่เพียงค่าขนเท่านั้น และก็ไม่ใช่ขนมาแค่ก้อนสองก้อน แต่ขนมาใช้งาน ทั่วบ้านราชฯเลยล่ะฮะ ส่วนเรื่อง ความแข็งแรง และสวยงามที่ไปกันได้ดีอย่างลงตัวนี้ (แถมประหยัดด้วย) จิ้งหรีดก็ต้องขอชื่นชม คุณธำรงค์ ฝ่ายวิศวะ และ คุณเปีย ฝ่ายศิลปะ ที่พูดคุยกันแบบประสานกันดี เป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม เพราะต่างพยายามเข้าใจกันและกัน ไม่เอาตัวตน มาเป็นตัวขวางกั้น ช่วยให้ความคิดดีๆของผู้ใหญ่มีความสมบูรณ์ลงตัวมากขึ้น แต่ยังไงๆ งานนี้ท่านเดินดินและคณะ ก็มิใช่คิดเอง ทำเองนะฮะ ถึงเป็นความคิดที่ดี แต่เพื่อไม่ให้มีปัญหาผิดพลาด เพราะเป็นงานใหญ่ ก็ได้นำเสนอพ่อท่าน พิจารณาก่อน ซึ่งพ่อท่านก็เห็นด้วย พวกเราก็เลยได้ช่วยกันทำ จนได้ผลงานดีๆออกมา อย่างมีความพอเพียง ประโยชน์สูง - ประหยัดสุด...

อ้าว! พ่อนิทัศน์นี่เอง มาอยู่บ้านราชฯแล้ว ก็ยังขยันเหมือนอยู่บนดอยเลยนะฮะ จิ้งหรีดเห็นหุงข้าว เลี้ยงหลาน ช่วงบ่าย ก็ช่วยทำเตา แบบคุณสามแก้ว หรือจะเรียกว่าเป็นเตาเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้นะฮะ แล้วก็ยังเป็น ช่างเชื่อมเหล็กให้อีกด้วย แหม! แบบนี้ ต้องให้ตำแหน่ง ขยันเข้าเส้นเลือดแล้วกระมัง (ฮา) ส่วนลูกชาย(บอย) ที่แม้จะเป็นคุณพ่อลูก ๑ แล้ว ก็ยังมาฝึกอยู่ บ้านราชฯ ตามคำแนะนำของบิดามารดา ช่วยสร้างส้วม เตรียมงานตลาดอาริยะ และงานด้านอื่นๆด้วย สมกับเป็นลูกกตัญญู จริงๆ จิ้งหรีดเห็นท่านถักบุญยิ้มน้อยยิ้มใหญ่เพราะครอบครัวใหม่ "ฟักเกต" เข้าวัดกันหมดแล้ว เหลือแต่ตัวเอง ที่ไปไหน ไม่ได้แล้วล่ะฮะ นี่ จิ้งหรีดได้ยินเสียงพูดจากในใจ ของท่านนะฮะ...

ทีมวิศวะที่บ้านราชฯ ช่วยให้อาหารพื้นบ้านอีสานที่คนนิยมทั้งในและนอกประเทศ กลายเป็นเรื่องไม่ยาก ถ้าต้องบริการคนกิน เป็นจำนวนมาก ก็อาหารยอดนิยมของคนอีสาน ที่ว่าก็คือ ตำส้มบักหุ่ง หรือ ส้มตำนั่นเองฮะ เพราะกำลังประดิษฐ์เครื่องขูด มะละกอ อุตส่าห์ ไปดูงานที่เทคโนฯราชมงคล แถวคลอง ๖ เพราะรู้ข่าวจากทางหนังสือพิมพ์ คุณถึงดิน ก็ได้ข้อมูล อีกแห่ง จากทางเว็บไซต์ ศึกษาข้อดีข้อด้อย เพื่อที่จะประดิษฐ์เครื่องสับมะละกอ ต่อไปมือสับมะละกอ ตามงานใหญ่ๆ แบบงานปีใหม่ ก็จะได้ไม่ต้อง มือหงิกมืองอกันอีกต่อไป หรือการ ขายอาหารมังสวิรัติที่อุทยานบุญนิยม ก็จะสะดวกขึ้น เพราะที่นั่น ส้มตำ ก็ขายดีนะฮะ ก็ไม่รู้ว่าทันงานปีใหม่ปีนี้หรือเปล่าหนอ อ๋อ...ทันหรือฮะ ยังไงๆ เรื่องนี้ก็คงเข้าทำนอง ได้อย่างเสียอย่าง แต่ได้ มากกว่าเสีย นั่นคือ คำตอบสุดท้ายฮะ...

รายได้ของบ้านราชฯเมืองเรือ จิ้งหรีดไปสืบมาก็รู้ว่า ส่วนใหญ่ก็มาจากร้านอุทยานฯ, สหกรณ์ฯ,หม่องค้าผง,โรงสี และที่สำคัญ อีกแหล่ง ซึ่งเป็นเงินปิดทองหลังพระ ก็คือเงินที่ญาติธรรมบริจาคให้พ่อท่านโดยตรงนั่นแหละ จิ้งหรีดก็รู้มาอีกนั่นแหละ แถมเห็น กะตาว่า ทุกบาททุกสตางค์ พ่อท่านให้นำไปใช้ประโยชน์แก่ส่วนกลาง หรือส่วนรวมทั้งหมด...

สิ่งที่เห็นในงานตลาดอาริยะอีกอย่างหนึ่ง ก็ต้องบอกว่า สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยินอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ได้ยิน ดังนั้น ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อตัวเองง่ายๆนะฮะ เดี๋ยวจะทำบาปโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่เห็นที่ว่า ก็คือ เครื่องอัดฟาง ที่บ้านราชฯ ซื้อมานี่สิฮะ ตอนแรก จิ้งหรีดก็คิดตามประสาคนช่างค้านแบบจิ้งหรีดปีเก่าฮะ คือคิดว่าจะเหมาะหรือ? ถูกเขา หลอกขายมาให้หรือเปล่า? แต่ไม่ได้พูดให้ใครได้ยิน เพราะคิดได้ว่า คุมวาจาไว้สักนิดจิตแจ่มใส ก็ไปสังเกตการณ์ และติดตามดู ให้รู้จริงๆ ปรากฏว่า พอมีคนใช้งานเครื่องนี้เป็นนะฮะ เราก็สามารถประหยัดแรงงาน เงินตรา เมื่อใช้ไปบ่อยๆ นานๆ จิ้งหรีด ก็เห็นคุณค่า แถมเอามาใช้ตั้งแทนโต๊ะ ในงานตลาดอาริยะได้ด้วย พลันฟางข้าวที่เห็นเหลืองซีด ก็กลายเป็นฟางข้าว เหลืองอร่าม ดุจทองคำ ได้เห็นคุณค่าของมันมากขึ้น ตาจิ้งหรีดเลยเปลี๋ยนไป๋ อะไรทำนอง นี้นะฮะ ก็เลยตั้งใจไว้ว่า ปีใหม่ปีจอนี้ จะเปลี่ยน วิธีคิดจากที่ชอบเห็นค้าน มาเป็นพยายามเห็นตามไว้ก่อน สงสัยก็ถาม ไม่ใช่คอยคิดค้านแบบดูถูกไว้ก่อน เขาว่า ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็จะเปลี่ยนไป คือไม่ช่างทุกข์ ช่างเดือดร้อน หรือเป็นช่างทำให้ผู้อื่นทุกข์เดือดร้อนเพราะ ตัวเอง ชนิดไม่รู้ตัว นี่ถ้าจิ้งหรีดรู้ตัวว่า จะเบียดเบียนตน-เบียดเบียนท่าน จิ้งหรีดก็จะหยุดได้ฮะ...

งานตลาดอาริยะ ปี'๔๙ นี้ ชาวบ้านมาซื้อสินค้ากันตั้งแต่ตี ๒ ของวันที่ ๓๑ ธ.ค.๔๗ ฝ่ายจราจรว่า จะไปฟังเทศน์ ต้องเปลี่ยน โปรแกรม ไปช่วยจัดระเบียบรถ เท่าที่จิ้งหรีดรู้มีชาวบ้านบางคนรอซื้อสินค้า จนเป็นลม (ราว ๕-๖ ราย) บางทีมีลูกค้ายืนรอ เข้าคิว ซื้อสินค้า ยาวไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ม. จิ้งหรีดเห็นบางแห่งขายสินค้าได้ไว ก็เลยไปยืนดูใกล้ๆ ก็เห็นแนวทางไว้แนะนำ ร้านค้า ที่ลูกค้ารอนานว่า ราคาสินค้า ถ้าปรับให้ลงตัวที่หลักสิบ หรือหลัก ๕ เช่น ๓๐ บาท ๕๐ บาท ก็จะขายได้ไวกว่า ๓๒ บาท ๕๔ บาท อะไรทำนองนี้ นี่จิ้งหรีดก็แนะนะฮะ ถือว่ามีอะไรดีๆ ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง อีกอย่าง ถ้าแยกขาย เป็นสินค้าราคาเดียวกัน ก็ยิ่งสะดวกรวดเร็ว ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ไม่เชื่อก็ลองดูปีหน้าก็ได้นะฮะ...

ก็มีแม่ค้าตลาดอาริยะฝากบอกมายังซีอีโอ อ๋อ!ก็ซีอีโอของตลาดอาริยะปีนี้ไงฮะ บอกปีนี้ลงตัวดี ซีอีโอก็ให้การต้อนรับที่ดี ไม่มีซีอีโอ ประเภทพกยาฉุน (ชอบฉุน) ให้เห็น (แต่อาจจะเห็นกันเองในหมู่ซีอีโอก็ได้นะฮะ) ช่วยรับรู้เรื่อง และพยายาม แก้ปัญหาทุกเรื่อง มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ปีนี้คงแก้ปัญหาไม่ทัน เพราะผ่านงานไปแล้ว ก็คือวันที่จำหน่ายสินค้า ถ้าจำหน่ายตั้งแต่ วันแรก ไม่ต้องกำหนดตายตัวว่า ต้องเป็นวันที่ ๓๑ ธ.ค. เท่านั้น คือลูกค้าอุตส่าห์เดินทางไกลมาถึง ก็น่าจะให้ทยอยขายไปได้ ปีนี้ สินค้าเหลือ ก็อาจเป็นเพราะสั่งมามากกว่าปีที่แล้ว แต่ถ้าเสริมจุดนี้ ก็น่าจะช่วยชาวบ้าน ที่เดินทางมาก่อน จะได้ไม่ต้อง เสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้น เพราะน้ำมันราคาแพง วิ่งไปวิ่งกลับ ก็ซื้อสินค้าได้หลายอย่าง ถ้าคิดถึงค่าน้ำมันที่เสียไป แต่จิ้งหรีด ก็รู้สึกประทับใจนะฮะ เห็นลูกค้าพกเงินมาแค่ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท หลายคนซื้อของ จนหมดกระเป๋า แม้อยากซื้ออีก ก็หมด สตางค์แล้วล่ะฮะ คงต้องเก็บเงินไว้อีกเพื่อรอปีหน้า ส่วนพ่อค้าแม่ค้าของเรา จิ้งหรีด ก็ยิ่งประทับใจฮะ อยากขายสินค้าได้มากๆ เพราะถ้าขายได้มากๆ ก็จะได้ขาดทุนหรือกำไรอาริยะได้มากขึ้น แต่คงไม่เป็นไรนะฮะ สำหรับสินค้าบางอย่าง บ้านราชฯ ก็คงช่วยรับซื้อ ไปขายต่อได้...

ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าในตลาดอาริยะ แต่ไม่ยอมจ่ายเงินก็มีนะฮะ จิ้งหรีดเห็นซีอีโอ และญาติธรรมบางคน ช่วยงานซีอีโอ ในส่วนนี้ ก็รู้สึกประทับใจ บางคนมาเวียนเทียนก็มี แต่ถ้าเราจัดระบบดี หรือแต่ละแห่งมีอาสาสมัคร คอยดูด้านนี้ โดยเฉพาะ ก็จะช่วยได้มากฮะ ก็ขอแค่คนเดียว ก็ราบรื่นง่ายงามได้ไม่น้อย...

ปีนี้ พล.อ.ปรีชา มาช่วยเป็นประธานเปิดงาน ใช้วิธีตีระฆังเป็นการเปิดตลาดอาริยะ ก็เก๋ไปอีกแบบฮะ... ปีนี้ทางผู้จัดงาน และ ผู้ร่วมงานบอกว่า ลงตัวกว่าทุกปี เพราะญาติธรรมไปช่วยงานได้หลายจุด หลังจากฟังทำวัตรเช้าแล้ว ช่วงก่อนฉันและภาคบ่าย ที่เคยระดมคน มาฟังรายการต่างๆ เช่นทุกปี ก็เปลี่ยนให้ไปลงภาคปฏิบัติ คือช่วยงานส่วนกลาง งานหลายอย่าง จึงลงตัว เพราะมีคนช่วย...

ช่วงงานตลาดอาริยะ มีลูกค้าบางคนซื้อก๋วยเตี๋ยว แต่ตักน้ำตาลไปเป็นกอบเป็นกำ พวกเราทำใจได้ก็น่าชื่นชม...

ฝ่ายจัดจราจรเห็นรถขายไอศกรีม ซาลาเปา ฯลฯ เฉียดเข้ามาบริเวณตลาดอาริยะ ก็ไม่เห็นเป็นคนอื่นคนไกล ก็คนบ้านเฮา นี่แหละนา จึงเข้าพูดคุยขอความร่วมมือ ช่วยให้สบายใจด้วยกันทุกฝ่าย แม้เราจะขายไอศกรีมเองในปีนี้ แต่ไม่มีปัญหา เพราะคนของเรา ไม่ยึดจัด เล็กๆ น้อยๆ ก็ให้กันได้... แต่บางกรณีนอกจากเห็นใจพวกเรากันเองแล้ว ก็อดเห็นใจลูกค้า ที่มารอ ต่อคิวยาวไม่ได้ ยิ่งถูกแม่ค้าในตลาดอาริยะ ให้ไปแตกธนบัตรเป็นใบย่อย ก็ต้องออกจากแถวไปแลกเงิน แล้วต่อคิวใหม่ พ่อท่าน จึงบอกข้อมูล ในที่ประชุมสรุปงานตลาดอาริยะปีนี้ว่า น่าจะหาทางออกให้กับเขาด้วย เพราะน่าเห็นใจชาวบ้าน ที่มารอต่อคิว นานๆ แล้วผิดพลาดทางเทคนิคของฝ่ายเรา แต่เขากลับต้องร่วมรับไปด้วย จึงควรหาวิธีช่วยเขาสักหน่อย...

เรื่องการขนส่งมีประเด็นน่าคิดว่า เราขนเองจะคุ้มไหมหนอ เพราะเราต้องเสียค่าน้ำมันทั้งขาไปและขากลับ อีกทั้งมิใช่มืออาชีพ เรื่องนี้ ถ้าใช้คนขับรถบุญนิยมหนักเกินไป อาจมีอันตรายที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ดังนั้นคนใช้รถควรคำนึงถึงคนขับ ให้มีโอกาส พักผ่อนอย่างพอเพียง บางทีเจอคนขับใจดี ขี้เกรงใจ ถูกใช้ให้ขับก็ขับ หากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงก็ไม่คุ้มนะฮะ ยังไงถ้าจ้างคนขับ ดีๆ หรือจ้างรถขนส่ง ซึ่งเป็นมืออาชีพอาจจะคุ้มกว่าคนขับของพวกเรา ภายในที่มีอยู่ไม่มาก ก็อาจเป็นได้...

คนวัดที่สันติอโศกบอกจิ้งหรีดว่า ประทับใจสมณะแต่ละรูปที่พบปะสนทนาในงานปีใหม่ ที่บ้านราชฯว่า จะเน้นจิตวิญญาณ มากกว่า การงานยิ่งขึ้น แต่ก่อนจะเน้นไปทางการงานมาก แต่เดี๋ยวนี้จะคำนึงถึงจิตวิญญาณด้วยยิ่งขึ้น ก็แสดงว่า ทุกอย่าง ย่อมมีการพัฒนา ตราบใดที่เรายังอยู่ในเส้นทางสายนี้นะฮะ...

สินค้าที่เหลือในงานตลาดอาริยะปีนี้ได้ข่าวว่า ทางชุมชนปฐมอโศกจะนำไปเปิดตลาดอาริยะที่ปฐมอโศก เนื่องในวาระที่พ่อท่าน มีอายุครบ ๗๒ ปี เป็นการกตัญญูกตเวที เอ... เรื่องนี้ที่อื่นก็เห็นท่าจะเอาดีเช่นนี้ด้วย จิ้งหรีดก็ขออนุโมทนาล่วงหน้า นะฮะ... จี๊ดๆๆๆ .....

ของขวัญปีใหม่'๔๙...พอดีทางทีมงานข่าวอโศกจะมอบรางวัลให้กับสมาชิก นสพ.ข่าวอโศก คือ นสพ.เราคิดอะไร พร้อม พ็อกเก็ตบุ๊ค เรื่อง นักรบเท้าเปล่า แต่เนื่องจากมีจำนวนจำกัด จึงขอมอบให้กับสมาชิกที่เขียนจดหมายตอบรับ นสพ.ข่าวอโศก จำนวน ๑๐ ท่านแรกหลังงานปีใหม่ตลาดอาริยะ'๔๙ นี้ โดยส่งไปที่ กอง บก. นสพ.ข่าวอโศก ๖๕/๑ ซ.นวมินทร์ ๔๔ ถ.นวมินทร์ คลองกุ่ม บึงกุ่ม กทม.๑๐๒๔๐ แล้วเจ้าหน้าที่ของเราจะจัดส่งรางวัลดังกล่าวถึงบ้านท่านเลยนะฮะ...จี๊ดๆๆๆ .....

มรณัสสติ
เมื่อวันพุธที่ ๑๔ ธ.ค.๔๘ สมณะ ๓ รูป พระอาคันตุกะ ๑ รูป ร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ นางอำนวย มะกรูดทอง (มารดา ของญาติธรรม) ที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน กทม.

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ ธ.ค.๔๘ สมณะ ๑๐ รูป และพระอาคันตุกะ ร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ คุณแม่เพ็ญศรี เศรษฐนนท์ อายุ ๘๒ ปี (มารดาของคุณฟ้างาย) ที่วัดธาตุทอง กทม.

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธ.ค.๔๘ สมณะ ๘ รูป พระอาคันตุกะ ๑ รูป นำโดย สมณะกรรมกร กุสโล ร่วมงานฌาปนกิจ นางกิ่งพร สุขคำ อายุ ๕๙ ปี ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ที่วัดหนามแดง ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

คติธรรม-คำสอนของพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
จงรู้จัก "วิหารธรรม" ให้แจ่มแจ้ง
แล้วเราจะคือ ผู้มีชีวิตที่เรียกว่า "พระ" นิรันดร
"วิหารธรรม" ที่ควรรู้ยิ่ง
ก็คือสุญญตวิหาร ๑ ทิฏฐิธรรมสุขวิหาร๑ สันติวิหาร ๑

(จากหนังสือโศลกธรรมสมณะโพธิรักษ์ หน้า ๒๕)

พบกันใหม่ฉบับหน้า
- จิ้งหรีด -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


กิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนปฐมอโศก - อินทร์บุรี

ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีคุณจุฑามาศ ประทีปะวณิช, รองผู้ว่าฯปราณีต บุญมี, รองผู้ว่าฯวีระศักดิ์ อนันตมงคล, จนท. เกษตรจังหวัด, จนท.พัฒนาที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี มาปรึกษาหารือวางแผนพลิกฟื้นแผ่นดินสิงห์บุรี สู่เกษตรอินทรีย์ กับสมณะ เสียงศีล ชาตวโร ที่ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน เมื่อวันก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา (วันที่ ๔ ธ.ค.๔๘) พร้อมกับฟังความก้าวหน้า ของเกษตรกร ที่เคยผ่านการอบรมและทำเกษตรอินทรีย์จนหมดหนี้หมดสิน จำนวนกลุ่มก็ขยายเพิ่มขึ้น เพราะได้เห็นตัวอย่าง ที่ดี พร้อมกับฟังเกษตรกรจากลพบุรี อาจารย์เชาว์วัช หนูทอง และ คุณวิชัย พรหมมี เล่าเทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์ และ การทำ การตลาดในท้องถิ่น ไม่ต้องส่งผักไปไกล ได้รับความนิยมจากลูกค้าจนผักไม่พอขาย และไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด ขอให้ทำให้ได้จริงๆ และมีความซื่อสัตย์

สนใจวีซีดีชุด "ผู้ว่าฯ-รองผู้ว่าฯ พบเกษตรกรที่ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน" ติดต่อได้ที่ ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนปฐมอโศก หรือที่ ธรรมทัศน์สมาคม.

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


คุรุสัมมาสิกขาจัดบูรณาการให้เด็ก ม.๓
เรียนจากของจริง ให้งานตลาดอาริยะเป็นห้องเรียน

ค่ายยุวชนชาวอโศก (ยอส.) จัดเมื่อวันที่ ๒๓-๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๘ เป็น การเรียนรู้และทำงานเตรียมงานปีใหม่ ตลาดอาริยะ ร่วมกัน ของนักเรียนสัมมาสิกขาทั่วประเทศ จำนวน ๕๓๕ คนจาก ๙ โรงเรียนทั่วประเทศดังนี้

๑. โรงเรียนสัมมาสิกขาปฐมอโศก
๒. โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก
๓. โรงเรียนสัมมาสิกขาศีรษะอโศก
๔. โรงเรียนสัมมาสิกขาสีมาอโศก
๕. โรงเรียนสัมมาสิกขาศาลีอโศก
๖. โรงเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศก
๗. โรงเรียนสัมมาสิกขาภูผาฟ้าน้ำ
๘. โรงเรียนสัมมาสิกขาหินผาฟ้าน้ำ
๙. โรงเรียนสัมมาสิกขาดินหนองแดนเหนือ

กิจกรรมในปีนี้จัดให้เป็นวิถีชีวิต มีความเรียบง่าย เริ่มจากค่ำของวันที่ ๒๒ ธ.ค.เวลา ๑๘.๓๐ -๒๑.๐๐ น. รวมพลังและแบ่งกลุ่ม ณ บริเวณลานโคกใต้ดิน ตารางชีวิตในช่วงกลางวันเหมือนกันทุกวันคือ ในเวลา ๐๕.๐๐ น. รวมตัวออกกำลังกาย ที่บริเวณ ลานโคกใต้ดิน เวลา ๐๖.๐๐-๐๙.๐๐ น. ลงฐานงานเตรียมงานปีใหม่

เวลา ๐๙.๓๐-๑๓.๐๐ น. รับประทานอาหาร และพักผ่อนตามอัธยาศัย เวลา ๑๓.๐๐-๑๔.๐๐ น. บูรการการเรียนรู้
เวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ น. ลงฐานงานเตรียมงานปีใหม่ ๑๗.๓๐-๑๘.๓๐ น. รับประทานอาหาร

กิจกรรมในภาคเย็นของแต่ละวันมีดังนี้
วันที่ ๒๓ ธ.ค. ๔๘
ฟังการอบรมให้ข้อคิดจากสิกขมาตุกล้าข้ามฝันครึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วพบสมณะเป็นกลุ่มตามกลุ่มที่แบ่งไว้ ณ บริเวณชั้นล่าง เฮือนศูนย์สูญ

วันที่ ๒๔ ธ.ค. ๔๘
ชมวีดิทัศน์เรื่อง Big Fish เป็นเรื่องราวของความเสียสละและความรักระหว่างพ่อกับลูก หลังจากนั้นตัวแทนกลุ่มสรุป ดำเนิน รายการโดยสมณะฟ้าไท สมชาติโก

วันที่ ๒๕ ธ.ค. ๔๘
พบสมณะเดินดิน ติกขวีโร ท่านเทศน์เกริ่นเล็กน้อยก่อนที่จะชมวีดิทัศน์เรื่องช่างทำรองเท้ากับพระเจ้า นักเรียนได้เรียนรู้ชีวิต ที่มีความสุข จากพลังศรัทธาและการได้ช่วยเหลือผู้ยากไร้คือการได้อยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้า หลังจากนั้นเป็นการสรุป ของตัวแทนกลุ่ม

วันที่ ๒๖ ธ.ค. ๔๘
ในค่ำของวันนี้นักเรียนแต่ละคนทำรายงานบูรณาการเพื่อรวมเล่มส่งในเช้าวันต่อไป

วันที่ ๒๗ ธ.ค. ๔๘
ชมวีดิทัศน์เรื่องอิทธิฤทธิ์หนูน้อยชาล์คบอยกับสาวน้อยลาวา เป็นเรื่องราวของความฝันและจินตนาการของเด็ก

ความรู้สึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีดังนี้
คุรุเพียรงาม เถาว์สุวรรณ คุรุสัมมาสิกขาศีรษะอโศก "ค่าย ยอส. ปีนี้รู้สึกว่า มวช. มาร่วมงานน้อยไปหน่อย เวลาแบ่งงาน มีความรู้สึกว่าเหงาๆ แต่ฐานงานที่บ้านราชฯ สมบูรณ์ แต่ละฐานมีครูฐานมารับงาน องค์ประกอบผู้ใหญ่ของที่นี่พร้อม การบูรณาการ ตอนแรกๆเด็กก็ทำอย่างสบายใจดี แต่ช่วงสุดท้ายรายการตอนเย็บเล่มส่ง มีบางส่วนไม่นอน เพราะต้องการ ให้งานเขาดี ตามความรู้สึกของตน เขาทุ่มเทจนอดหลับอดนอน ส่งผลเสียถึงฐานงานตอนเช้า การบูรณาการ ควรให้จบ ในแต่ละวัน เพราะทำให้เด็กกังวลใจ มีผลต่อการทำงานรวม ปีนี้จะ แตกต่างจากปีที่ผ่านมาตรงจุดนี้ แต่ไม่มีการประเมิน ตามฐานงาน ถ้าจะให้สมบูรณ์อีกหน่อยตอนลงฐานงานน่าจะมีการประเมินในเรื่องศีลเด่นและเป็นงาน การทำงานครั้งนี้ พอเป็นพอไป เป็นการเรียนตามความสมัครใจของเด็ก จะมีบางส่วนที่ไม่อยากทำแต่ก็จำนวนน้อย การเตรียมงานปีใหม่ปีนี้ ผู้ใหญ่ไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับเด็กในการเรียนรู้ ดูทั้งหมดแล้ว ก็พอเป็นพอไป ปีหน้า อาจจะดีกว่านี้"

นายธีระวัฒน์ สล่าแว โรงเรียนสัมมาสิกขาภูผาฟ้าน้ำ ชั้น ม. ๓ "เข้าค่ายครั้งนี้สนุกดีครับ ได้ปฏิบัติงานและได้ทำบูรณาการ ทำให้ ไม่เครียด ทำงานสนุกดี งานที่ผมได้ทำเช่น กางซาแลน ขุดหลุม ขนโต๊ะ เตรียมในตลาดอาริยะ เพื่อนๆ ช่วย กันดี ผมอยาก ให้มีเวลาในการบูรณาการเยอะขึ้น ผมชอบเพราะทำให้ขวนขวายมากขึ้น การได้พบเพื่อนๆ หลายโรงเรียน ช่วยให้เรา ได้ปรับตัว และคิดว่าต้องเข้ากับเพื่อนให้ได้ ในกลุ่มหนึ่งจะมีหลายโรงเรียนและหลายชั้น มีความสัมพันธ์กันด้วยดี ในค่ายนี้ ผมตั้งใจถือศีล ๕ ให้ดี เรื่องสังคมบุญนิยมผมว่าดีเหมือนที่พ่อท่านบอกคือ อย่างแรก เป็นสังคมที่จะไม่เห็นทั่วไป เป็นสิ่ง ไม่เคยเห็น ๒. ก็คือการไม่เอาแต่ใจตัวเอง ประเด็นนี้ช่วยให้เห็นใจผู้อื่น ผมว่างาน ยอส. ดีขึ้นกว่าปีก่อน ผมรู้สึกเห็นใจ เพื่อนๆ บ้านราชฯ งานหนักพอสมควร ผมอยากให้เด็กสัมมาสิกขาอยู่ในชุมชนอโศกให้ได้"

นางสาววิภารัตน์ เปี่ยมไพบูลย์ โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก ชั้นม. ๔ "ค่าย ยอส. ก็เป็นงานที่พี่ๆ น้องๆ ได้มารวมกันปีหนึ่ง ครั้งหนึ่ง เมื่อเทียบกับปีแรกๆ รู้สึกว่าปีนี้ไม่ต้องปรุงอะไรมาก ถ้าเราไม่ต้อง รู้สึกว่าเป็นการเข้าค่าย ก็เหมือนครอบครัวมารวมกัน ทำงาน และทานอาหารร่วมกัน เป็นวิถีชีวิต หนูรู้สึกว่าดีไม่ต้องฟุ้งซ่านมาก เรียบง่าย อาจจะเป็นเพราะหนูโตขึ้น จึงชอบแบบนี้ ความสนุก แบบค่ายเก่าๆ ก็อาจจะเหมาะกับน้องๆ ม. ต้น การเตรียมงานปีใหม่ปีนี้ไม่หนักอะไรมาก คงเป็นเพราะ มีการ เตรียมงานไว้แล้ว พวกหนูก็ได้ช่วยทำ ๕ ส. ลงสินค้า จัดร้านเครือข่ายต่างๆ ในปีนี้มีการบูรณาการ คือจะมีชั่วโมงให้เรานำสิ่งที่ ได้ทำงาน มาบูรณาการเข้า ๘ สาระวิชาคือภาษาไทย ให้เห็นชัดเจนและทำเป็นรูปเล่ม โดยความรู้สึกส่วนตัว หนูไม่ค่อยชอบ แต่ถ้าพูดถึง ดีไหมมันก็ดี เพราะอย่างน้อยได้เห็นว่า เราได้คิดได้ทำอะไรบ้าง หนูว่าการทำบูรณาการ ช่วยให้ไม่ผิดศีล เพราะเรา ต้องเอาพลัง มาทำส่วนนี้ และผู้ใหญ่ก็ไม่เหนื่อย รู้สึกเพื่อนๆ ขวนขวาย เป็นการเปิดโลกทัศน์"

ด.ญ.วิภา ทิศกระโทก สัมมาสิกขาหินผาฟ้าน้ำ ชั้น ม. ๒ "มาเข้าค่ายได้เพื่อนทุกพุทธสถาน ได้ทำงานกับเพื่อนๆ ทำให้เห็นใจ เพื่อน บางครั้งเขาเมื่อย เขานั่งเราก็ไม่โกรธเขาและการบูรณาการตอนแรกคิดว่าจะไม่สนุก แต่พอทำก็ได้แง่คิดหลายอย่าง ได้มอง กลับมาหาตัวเอง ประทับใจกว่าทุกครั้ง ชอบบูรณาการมากที่สุด ตอนแรกไม่อยากมาแต่พอมาอยู่ไม่อยากออกจากค่าย และ มาอยู่บ้านราชฯรู้สึกว่าน้ำหนักจะขึ้นอาหารอร่อย มีความสุข เบิกบาน ได้ทำงานหลายอย่าง ถ้าอยู่ที่วัด ก็คงจะทำ แต่งานเดิมๆ"

นายผาก้อง พรหมรักษา ศิษย์เก่าศีรษะอโศก "ค่าย ยอส. ครั้งนี้ผมได้เป็นแม่งานในส่วนตลาดอาริยะ และเป็นทีมงาน แบ่งกลุ่มน้องๆ ไม่ได้เน้นกิจกรรมของค่าย ผมว่าเป็นห้องเรียนงานปีใหม่มากกว่า ความรู้สึกของเด็กจะเห็นตรงกันว่า มันไม่สนุก เพราะมันไม่เป็นค่าย คิดว่าผู้ใหญ่อยากให้เป็นห้องเรียนมากกว่า และส่วนของพวกเรา รับงานเรื่องตลาด จึงไม่สามารถ ที่จะไป ทำกิจกรรมกับน้อง ปีนี้ มวช.มาน้อย ค่าย ยอส.จึงกลายเป็นห้องเรียนงานปีใหม่"

นิสิตแพรน้ำค้าง รวมธรรม นิสิตสัมมาสิกขาราชธานีอโศก ผู้ประสานงาน "ในวันที่ประชุมมีคุรุที่มากับเด็กประมาณ ๑๐ คน และพี่ๆ วัยรุ่น มวช. และศิษย์เก่า ประมาณ ๖-๗ คน ด้วยแรงงานผู้ใหญ่ขนาดนี้เมื่อเทียบกับน้องประมาณ ๕๐๐ กว่าคน เราไม่สามารถ จะทำค่ายในลักษณะเดิมได้ จึงเกิดการคิดร่วมกันเรื่องใช้บุคลากรที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพ จึงกำหนดกันว่า จัดค่ายแบบวิถีชีวิต ไม่ต้องใช้ทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก เท่าที่ทำมาน้องบางคนก็บอกว่าดี สบายๆ ไม่ต้องมีอะไรมาก บางส่วน ก็บอกว่าไม่สนุก เพราะไม่มีกิจกรรมบันเทิง ไม่มีรอบกองไฟ ไม่มีพี่ๆ มาเล่นกับน้อง ซึ่งเราก็รับฟังในส่วนที่บกพร่อง และเราก็รู้ว่า มีส่วนจำกัดในเรื่องอะไรบ้าง ถ้าปีหน้ามี มวช. และศิษย์เก่ามาร่วมมากกว่านี้กิจกรรมก็อาจจะเพิ่มได้มากกว่านี้ ขึ้นกับคนที่จะมาช่วยเราด้วย ในเนื้องานปีใหม่ทางทีมงานบ้านราชฯก็ได้ทำงานโครงสร้างไว้เราก็มาต่องาน พี่มาน้อย น้องก็เลย ได้ทำงานเยอะขึ้น ในส่วนแม่ข่ายแต่ละข่ายก็มาช้าและมาน้อยกว่าทุกปี เราต้องการข้อมูลเรื่องการจัดร้าน ผู้ที่มากับเด็กก่อน ไม่ใช่คนที่รู้ข้อมูลเรื่องนี้ คนที่มีหน้าที่ประสานงานแต่ละข่าย ยังไม่ลงพื้นที่ เราไม่รู้ก็ไม่สามารถช่วยทำให้ได้ ทำให้แต่ละ ข่ายงานช้า เพราะต้องรอแม่ข่ายมาก่อน แต่ถ้าข่ายไหนมา เขาก็จะรับเด็กเข้าทุกวันๆ เขาก็สามารถจัดร้าน ของเขาเสร็จ".

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


ชื่อ นางแอ้ม ศรีอุดร อายุ ๗๓ ปี
เกิด ๙ สิงหาคม ๒๔๗๕
ภูมิลำเนา จ. ขอนแก่น
การศึกษา ป. ๔
สถานภาพ สมรส มีบุตร ๗ คน
น้ำหนัก ๔๗ กิโลกรัม
ส่วนสูง ๑๕๖ เซนติเมตร

ประวัติ
คุณยายมีพี่น้อง ๑๒ คน ยายเป็นคน ที่ ๖ ปัจจุบันมีชีวิต ๗ คน ชีวิตแต่ยังเด็กทำไร่ทำนาช่วยแม่ เพราะพ่อตายตั้งแต่ น้องคน สุดท้อง อยู่ในท้องแม่ของคุณยาย ท่านเลี้ยงลูกคนเดียวไม่แต่งงานใหม่ คุณยายบอกว่า สมัยก่อนลูกหลายคน แต่เลี้ยงง่าย พี่ก็ดูแลน้องและช่วยกันทำงาน คุณยายแต่งงาน เมื่ออายุ ๑๗ ปี พ่อบ้านอายุ ๒๗ ปี ไม่ได้รักเขา แต่ผู้ใหญ่ให้แต่ง เพราะเขา เห็นว่า เขาเป็นลูกชาวนา ค่าสินสอด ๓๐๐ บาท พ่อบ้านของคุณยายเป็นครู มีลูก ๘ คน ตายตั้งแต่แรกคลอด ๑ คน

# # เจออโศก
เหตุที่ได้เจออโศก เพราะลูกสาวชื่อดินนา มาปฏิบัติธรรมที่กลุ่มขอนแก่น ในสมัยนั้นลูกสาวเป็นครู ทุกวันหยุดจะต้อง มากลุ่ม ขอนแก่น พอลูกกินเจ คุณยายก็ด่าเพราะไม่เห็นด้วย แต่ลูกก็ยังคงปฏิบัติตัวแปลกๆ รู้สึกสงสัยที่ลูกทำตัวแบบนี้ จึงได้ตามไป ที่กลุ่มขอนแก่นอโศก ก็ได้พบกับญาติธรรม ซึ่งมีแต่ข้าราชการ จึงรู้ว่าเขาไม่ใช่คนบ้า ต่อมาลูกขอลาออกจากราชการ ไปทำงาน ในวัด

ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ คุณยายไปร่วมงานปลุกเสกฯ ที่ศีรษะอโศก พอไปถึงตอนตี ๓ ได้เวลาทำวัตรพอดี คุณยายจึงเข้าศาลา ฟังธรรมเลย ได้ฟังพ่อท่านเทศน์เรื่องศีลประทับใจมาก แม้เดินทางทั้งคืนก็ไม่ง่วง เปลี่ยนแปลงมากินมังสวิรัติเลย หมากก็ทิ้ง ในงานนั้นเลย แม้พ่อบ้านไม่ทำด้วย แต่ก็ไม่ต่อต้าน ให้คุณยายไปร่วมงานชาวอโศก ทุกงาน

# # ชุมชนบุญนิยม
ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ คุณยายไปจำพรรษาที่สันติอโศก ๒ ปี และที่ปฐมอโศก ๒ ปี พ.ศ.๒๕๔๔ พ่อท่านไปเทศน์ที่สีมาอโศก แล้วท่าน ก็มาที่อุบลฯ คุณยายจึงเหมารถตามมา อยากมาอยู่ที่บ้านราชฯ ปี ๒๕๔๓ แม้น้ำท่วมมาก แต่ดั้นด้นนั่งเรือเข้ามา เพื่อดูบ้าน ที่จะซื้อ ลูกสาวชื่อเรียวฟ้า จึงซื้อบ้านให้คุณยายมาอยู่ที่ชุมชนบุญนิยม ในปี ๒๕๔๔ คุณยายเล่าว่า ชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่า จะได้มา เพราะไม่เคยเห็น แม้แต่เมืองอุบล มาอยู่แล้วก็มีความสุข เห็นใครก็เหมือนพี่เหมือนน้อง มาอยู่ใหม่ๆ ไม่มีอะไร ก็มีเพื่อนบ้าน ที่เป็นผู้อายุยาว เอาของมาให้ ทั้งฟืนทั้งโอ่งน้ำ ทุกคนดีเหมือนพี่เหมือนน้อง ตอนแรกตั้งใจว่า จะลองมาอยู่เป็นระยะ กลับไป กลับมา ลูกบางคนก็อยากให้ไปอยู่บ้านกับเขา จึงแวะเวียนกลับไปที่ขอนแก่นบ้างเป็นระยะ เมื่อปี ๒๕๔๗ รถจากบ้านราชฯ ผ่านที่บ้านคุณยาย ท่านสมณะจิรโส และสมณะถักบุญ แวะไปรับที่บ้าน มาอยู่วัดประทับใจมาก จึงอยู่บ้านราชฯ มาตลอด เดี๋ยวนี้รู้สึกว่า ถ้าอยู่บ้านข้างนอกเหมือนนรก อยู่บ้านราชฯ เหมือนอยู่สวรรค์ ได้ทำงานกับเพื่อนๆ มีความสุข ได้ฟังเทศน์ ทั้งยามเช้า ยามเย็น ได้ใส่บาตร ไปช่วยที่โรงครัว ถ้าไม่มีงานส่วนกลาง คุณยายจะสานตะกร้า อยู่ที่บ้านพัก คุ้มที่คุณยายอยู่ อบอุ่น เพราะมีผู้อายุยาวอยู่ด้วยกันหลายคน คุณยายรักษาสุขภาพด้วยการตื่นออกกำลังกายทุกวัน โดยการแกว่งแขน

# # มรรคผล
ปฏิบัติธรรมแล้วรู้สึกว่าทำใจได้ อดใจยับยั้งช่างใจได้เรื่องความโมโห แต่ก่อน ถ้ามีเรื่องอะไรขัดใจ ความโมโห มันจะขึ้นมาก ตอนแรก ที่มาอยู่วัด จะคิดถึงบ้าน คิดถึงลูกหลานแล้วก็กลับ แต่ปัจจุบันนี้คุณยายไม่คิดห่วงหาแล้ว คิดว่าเราได้ช่วยเหลือเขา ถึงที่สุดแล้ว แม้จะไปบ้านบ้าง ก็ไปเท่าที่จำเป็น และก็ไปไม่นาน ใจอยากอยู่วัด

# # ทุกวันนี้
ตั้งใจอยู่วัดและจะตายอยู่วัด แม้ป่วยก็จะอยู่ที่นี่ แม่มีทั้งลูกที่ปฏิบัติธรรมและไม่ปฏิบัติธรรม กับลูกที่เขาดี แม่ก็ไม่คิด หนักใจ กับเขา ส่วนลูกที่เกเร แม่ทุกข์กับเขา พยายามดึงเขามาทางที่ดี แต่เมื่อดึงอย่างไร เขาก็ไม่ดีขึ้นมาได้ ทุกข์มากๆ ใจแม่ก็ตัด ปล่อยเขาไปตามกรรม เพราะคิดว่าได้ช่วยจนหมดความสามารถแล้ว มันขึ้นกับบุญกรรมของเขา

# # ฝาก
ศาสนาเป็นเรื่องแล้วแต่ศรัทธา ทุกคนมีศรัทธาไม่เหมือนกัน แม้แต่เป็นแม่ก็ไม่สามารถบอกให้ลูกที่เขาเกิดอยู่ในท้องเรา มาทำ อย่างที่เราศรัทธาได้ เราแก่แล้วควรพากเพียรอยู่กับหมู่จะมีศรัทธาที่นำพาให้จิตวิญญาณของเราเจริญ.

- หิ่งห้อยริมมูล -

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]


'อยู่อย่างไรชีวิตจึงไม่ทุกข์'
ดร.ปาริชาติ สถาปินานนท์

"เมื่อวันที่ชีวิตเดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยนจน บางครั้งคนเราไม่ทันได้ตระเตรียมหัวใจ ความสุขความทุกข์ ไม่มีใครรู้ว่า จะมาเมื่อไหร่ จะยอมรับความจริงที่เจอได้แค่ไหนเพราะชีวิตคือชีวิต เมื่อมีเข้ามาก็มีเลิกไป มีสุขสม มีผิดหวัง หัวเราะหรือหวั่นไหว เกิดขึ้น ได้ทุกวัน อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน เติมความคิดสติเราให้ทันอยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด สุขก็เตรียมไว้ ว่าความทุกข์ คงตามมาอีกไม่ไกล จะได้รับความจริงเมื่อต้องเจ็บปวดไหว"

บทเพลง Live And Learn ที่ร้องโดย กมลา สุโกศล ที่สร้างกำลังใจให้แก่ ดร.ปาริชาติ สถาปินานนท์ อาจารย์ประจำคณะ นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสูญเสียสมาชิกของครอบครัวไปทั้งหมด ๔ คน ในมหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปลายปี ๒๕๔๗ ประกอบด้วย ดร.ประสม สถาปิตานนท์ ผู้เป็นพ่อ คุณแม่กรรณิการ์ พร้อมๆกับ น้องสาว ๒ คน (ฉันท์-กชกร, ฉม -นวมลลิ์)

ทั้งนี้เธอได้ถ่ายทอด เรื่องราวของความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตออกมาเป็นหนังสือ ตรงเส้นขอบฟ้า เพื่อนำรายได้เข้าโครงการ รักลูก เพื่อสึนามิ

ดร.ปาริชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้น้องสาว(ฉม) ได้บัตรฟรีไปดูคอนเสิร์ตของคุณกมลาร้องเพลงนี้แล้วทุกคนกรี๊ด พอเราได้ฟัง แล้ว มีความรู้สึกว่าเป็นบทเพลงที่มีพลัง ทำให้เห็นชีวิตว่า แท้จริงแล้วก็เหมือนกับการเรียนรู้ รู้จักที่จะยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา ในชีวิต และสิ่งต่างๆเหล่านี้คือ การทดสอบที่โลกหรืออะไรก็แล้วแต่ ส่งมาหยั่งความแข็งแกร่งของมนุษย์ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า และใครจะรู้เล่าว่า ต่อมาไม่นานเท่าไร เพลงนี้กลับมาช่วยปลุกปลอบให้กำลังใจอย่างที่สุด

จากเหตุการณ์อันเลวร้ายที่สุดของชีวิต ทำให้เข้าใจสัจจธรรม เรื่องความตาย ว่าเป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ เมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับ จนเป็นเรื่องปกติ

วันหนึ่งการสูญเสียได้เกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้ได้ หลักธรรมที่นำมาใช้ในสองส่วนนี้ คือ ส่วนแรก เชื่อในคำสอนของ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เสถียรธรรมสถาน การที่เราได้มีโอกาสมาร่วมบำเพ็ญกุศลในครั้งนี้ ขอให้ท่าน ปล่อยจิต ตามสบาย แล้วพิจารณาให้เห็นความจริงของชีวิตว่าเมื่อมีการเกิด เราก็มิอาจปฏิเสธการตายได้ เราได้การตายมา พร้อมกับการเกิด อยู่ที่ว่า เราไม่อาจรู้ว่าจะตายเมื่อไร และโดยวิธีใด ขอจงอย่าประมาทให้พิจารณาถึงความตายอยู่เนืองๆ เพื่อเรา จะได้ไม่มีชีวิตอยู่อย่างตายทั้งเป็น เพราะมัวแต่หลงอารมณ์ ขอให้ทำชีวิตที่เหลือ ให้เป็นอนุสาวรีย์แห่งความดี ความงาม และความจริงของบิดามารดา และน้องสาวที่ล่วงลับไปแล้ว จงมีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ

แม่ชียังบอกว่า ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น ดังนั้น วันนั้นพยายามจะทำตัวเองไม่ให้เป็นทุกข์ พยายามทำความเข้าใจ ที่มาที่ไปว่า เกิดอะไร อย่างมีเหตุมีผลของเหตุการณ์สึนามิ

พอเราตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดเฉพาะครอบครัวเรา เราก็จะเริ่มเห็นว่า สิ่งนั้นก็เกิดกับครอบครัวคนอื่นด้วย

ดร.ปาริชาติ บอกด้วยว่า ความสูญเสียและความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับทุกคน และทุกครอบครัว ไม่ว่าครอบครัวเรา ครอบครัวคนอื่น ไม่ใช่แค่สิบ แต่มีผู้ประสบภัยแบบเราเป็นหมื่นครอบครัว และไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีหลายประเทศ ที่ได้รับ ผลกระทบ จากคลื่นสึนามิ

พอมองย้อนกลับมายังครอบครัวของเรา จึงกลายเป็นเรื่องเล็ก ที่เกิดท่ามกลางเรื่องอื่นๆอีกมากมาย พอเราคิดได้แบบนี้ ก็ทำให้เรามีสติ ไม่ตกอยู่ในความทุกข์ มีสติไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมเสมอไป

การมีสติแล้วมีสะท้อน ก็คือ เป็นการตั้งคำถามกับ ตัวเองว่า ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เราได้เรียนรู้อะไรใหม่บ้าง เราจะทำอะไร ให้มันดียิ่งขึ้นได้

เมื่อตั้งคำถาม ก็พยายามหาคำตอบ ตัวสะท้อนเป็นภาวะที่สำคัญ เป็นจังหวะที่ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง พออยู่กับตัวเองได้มาก จึงถามตัวเองว่า จะทำอะไรต่อไป ต้องการทำอะไร เป้าหมายของเราคืออะไร ทุกวันนี้ก็ไม่ลืมที่ทำอาหารที่ทุกคนชอบ ใส่บาตร พระทุกเช้า

"คนเราเกิดมา สุดท้ายก็เอาอะไรไปไม่ได้เลย บางคนอาจจะไปยึดกับลาภยศสรรเสริญ ชื่อเสียง เงินทอง ในที่สุดเราก็ไม่สามารถ เอาอะไรไปได้ เพราะฉะนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายคนยังยึดติดอยู่ แต่ถ้าใครลองเจอเหตุการณ์แบบตัวเอง ก็คงไม่อยากยึดติด อะไรอีกแล้ว พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บอกว่า ความยิ่งใหญ่คือ ความไม่ยั่งยืน ความไม่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และแน่นอน ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ คือ ชีวิตที่อยู่ด้วย ทาน ศีล เมตตา และกตัญญู" ดร.ปาริชาติ กล่าวทิ้งท้าย.
(จาก นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ ๒๕ ธ.ค.๔๘)


 

'ปีแห่งวิบัติภัยและภัยธรรมชาติ'
ภัยพิบัติและภัยธรรมชาติที่รุนแรงสุดในรอบปี มีดังนี้

๑. ภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติในรอบศตวรรษก็คือธรณีพิบัติภัย "สึนามิ" ที่ทำให้คนทั่วโลก ตระหนัก ถึงภัยร้าย ที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปได้นับแสนคนในชั่วพริบตาเดียว จนถึงขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตและบุคคลสูญหายรวมทั้งสิ้น ๒๓๑,๐๐๐ คน ขณะที่บางคนคาดว่าอาจสูงกว่า ๔ แสนคน

๒. เฮอร์ริเคนแคทรีนา ริตา และวิลมา เป็นพายุเฮอร์ริเคนที่มีความร้ายแรงสุด โดยเฉพาะแคทรีนา ที่ออกอาละวาด ในรัฐ นิวออร์ลีนส์ และอ่าวเม็กซิโกเมื่อเดือนสิงหาคม ทำให้มีผู้คนล้มตายมากถึง ๑,๓๐๐ คน ส่วนวิลมาเป็นเฮอร์ริเคน ที่มีความรุนแรง มากที่สุดเท่าที่เคยมีการจดบันทึก ส่วนเฮอร์ริเคนสเตนพาดผ่านย่านชุมชนคนยากจน ในประเทศกัวเตมาลา และ เอล ซัลวาดอร์ ทำลายไร่กาแฟและพืชพันธุ์อื่นๆ ทั้งยังมีผู้เสียชีวิตจากโคลนถล่มและน้ำท่วมมากกว่า ๑,๐๐๐ คน

สำหรับพายุโซนร้อนที่ก่อตัวขึ้นรอบทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโกในปีนี้มีมากถึง ๒๖ ลูก ทุบสถิติจากจำนวน ๒๑ ลูกเมื่อปี ๒๕๓๖ และมากกว่าที่ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติสหรัฐพยากรณ์ไว้ที่ ๒๑ ลูก จนทำให้ต้องนำชื่อภาษากรีกมาใช้ตั้งชื่อพายุ เช่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา และเอฟซิลอน เนื่องจากชื่อภาษาโรมันที่เตรียมไว้ไม่พอใช้

๓. แผ่นดินไหวรุนแรงในปากีสถาน อินเดียและอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม วัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง ๗.๖ ริคเตอร์ มียอด ผู้เสียชีวิต จากภัยพิบัติครั้งนี้เกือบ ๑ แสนคน เป็นชาวแคชเชียร์ในเขตปกครองปากีสถาน ๗๓,๓๒๐ คน และอินเดีย ๑,๒๔๔ คน ขณะที่แผ่นดินไหวบริเวณเกาะสุมาตรา ในอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ ๑,๐๐๐ คน ประชาชน อีกหลายล้านคน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย

๔. น้ำท่วมหนักทางฝั่งตะวันตกของรัฐมหาราษฏระ ทำให้ชาวโรตีจมน้ำและเสียชีวิตจากโคลนถล่มมากกว่า ๑,๐๐๐ คน อันเนื่องจาก ฝนตกหนักที่สุดเท่า ที่เคยมีการบันทึกสถิติมาเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม.

(จาก นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ ๒๖ ธ.ค.๔๘)

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

ปฏิทินงานอโศก
ตลาดไร้สารพิษ 'เพื่อฟ้าดิน' ณ พุทธสถานราชธานีอโศก งด
ฉลองหนาวธรรมชาติอโศก ครั้งที่ ๔ (๖) ณ พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ ศุกร์ที่ ๒๗ - อาทิตย์ที่ ๒๙ ม.ค.๔๙

[จบข่าว...กลับไปหัวข้อข่าว]

 

เจ้าของ มูลนิธิธรรมสันติ สำนักงานและพิมพ์ที่ โรงพิมพ์มูลนิธิธรรมสันติ
67/1 ซ.ประสาทสิน ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม กทม. 10240 โทร.02-3745230 ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายประสิทธิ์ พินิจพงษ์
จำนวนพิมพ์ 1,300 ฉบับ

[กลับหน้าสารบัญข่าว]

อ่านฉบับย้อนหลัง: