สำนึกดี สำนึกสาธารณะ สำนึกอาริยะ
 



“สำนึกดี” พ่อท่านฯนำมาใช้เป็นคำทักทายแทนคำว่า “สวัสดี” ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ “สำนึกดีปีใหม่” เพื่อกระตุ้นเตือนใจกันและกัน ให้ฉุกคิด ระลึกถึงคุณธรรมความดี ทั้งที่มีอยู่ และที่ควรจะเพิ่ม ให้ยิ่งๆขึ้น เป็นความหมายทางคุณธรรม ที่ดีกว่าคำว่า “สวัสดี”

“สำนึกสาธารณะ” [public mind] นักวิชาการ นักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหวในสังคม นำมาใช้ เพื่อกระตุ้นสำนึกคนไทย ซึ่งขาดจิตสำนึกสาธารณะเป็นอย่างมาก ถึงขนาดเคยมีผู้ทำวิจัย เปรียบเทียบ คนไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ด้อยกว่านานาอารยะประเทศ เป็นอย่างยิ่ง ผลวิจัยหนึ่ง ระบุว่า เด็กไทยอยากเรียนเก่ง แต่ขาดจิตสำนึกสาธารณะ เมินกิจกรรม ชุมชนอ่อนแอ ห่างเหินศาสนา และชอบโกหก

“สำนึกอาริยะ” เพิ่งได้ยินพ่อท่านฯนำมาใช้ควบไปกับสำนึกสาธารณะ เป็นครั้งแรก ในการแสดงธรรม ทำวัตรเช้า ๙ ก.พ. ในงานพุทธาภิเษกฯ ที่ผ่านมา...

“สำนึกสาธารณะ สำนึกอาริยะ เป็นความหมายที่อาตมาอยากจะให้พวกเราได้ระมัดระวัง เราได้ศึกษาว่า ทุกอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นั้นถูกต้องแล้ว แต่ไม่ใช่ เผินเพี้ยนกลายเป็นปล่อยวาง ซื่อบื้อ ไม่ดูแล ไม่รักษา ไม่ปรับปรุงพัฒนาให้เจริญ ไม่มีกระจิตกระใจ ในการอนุรักษ์

ไม่เห็นแก่ตัวก็ดี แต่ก็ควรเห็นแก่สิ่งที่จะดำรงอยู่ให้ดี รักษาดูแลอยู่ในที่เจริญ ที่ควรจะทำ

มีน้ำใจ มีกระจิตกระใจ ในวัตถุก็ดี ในบุคคลก็ดี เป็นวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ เราน่าจะได้สังวร เรื่องนี้กันให้มาก...”

พ่อท่านฯเน้นสำนึกสาธารณะภายในเป็นสำคัญ ข้ามผ่านสำนึกอาริยะในเชิงอรรถ อาจเป็นเพราะ เทศน์หรือกล่าวทีใด ก็โน้มไปสู่การพัฒนาตน ตามวิถีอาริยธรรมอยู่แล้ว

เมื่อจะมุ่งสู่อาริยผล ก็ควรมีสำนึกสาธารณะด้วย เพราะสำนึกอาริยะนั้น สูงกว่า สำนึกสาธารณะ ผู้มีสำนึกสาธารณะ อาจไม่สนใจ หรือไม่มีสำนึกอาริยะก็ได้ แต่อาริยบุคคล ควรมีสำนึกสาธารณะด้วย

มองอย่างผิวๆโดย รูปของภาษา “สำนึกดี” เน้นประโยชน์ตน คือการลดละกิเลสของตน “สำนึกสาธารณะ” เน้นประโยชน์ท่าน คือการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น และสังคม

แต่สัมมาทิฐิที่พ่อท่านฯได้เพียรตอกย้ำเสมอๆ ประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน เหมือนเหรียญ สองด้าน ไม่ได้แยกขาดจากกัน ในประโยชน์ตนก็มีประโยชน์ท่าน ในประโยชน์ท่าน ก็มีประโยชน์ตน

นั่นคือ “สำนึกดี” และ “สำนึกสาธารณะ” เป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

สอดคล้องกับปัจฉิมโอวาท “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ภก.ประชาสรรณ์ แสนภักดี M.P.H. CMU ได้นำเสนอมุมมองสำนึกสาธารณะไว้น่าสนใจ ขอนำบางส่วน มาถ่ายทอดดังนี้

1. Professional ทำงานแบบมืออาชีพ รู้ลึก ในหน้าที่ๆ รับผิดชอบ รู้รอบในงานที่เกี่ยวข้อง ต้องพัฒนาตนเอง อยู่ตลอดเวลา หาความรู้ใหม่เสมอ

2. Unity เอกภาพ ค่านิยมใหม่ต้องเป็นไปในทิศทางของความสามัคคีในหมู่คณะ ไม่กลัวเพื่อน ได้หน้า หรืออิจฉาริษยา กัน ควรจะฝึกการทำงานเป็นทีม เพราะการที่คน ในองค์กรมีเอกภาพ จะช่วยให้การขับเคลื่อน ภาระงานเพื่อมวลประชา เป็นไปด้วย ความเรียบร้อย มีหลายองค์กร ที่คนในองค์กรกลัวกันได้ดี เลยไม่มีใครทำอะไร ประชาชน ก็ไม่ได้อะไรด้วย แต่ในความเป็นเอกภาพ ก็ยอมให้มีความแตกต่างได้ แต่อย่าแตกแยก

3. Believe ความเชื่อ ทำงานด้วยความเชื่อ เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วยึดให้มั่น ถ้าขาดความเชื่อ การทำงานก็จะขาดพลัง

4. Locally ภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อและศรัทธาในความเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ของภูมิปัญญาไทย ลดความเชื่อ ทันสมัยนิยมลง (Modernization) Local wisdom ในด้านต่างๆ จะนำไปสู่ การแก้ปัญหา อย่างเป็นระบบและเข้ากับบริบทของสังคมไทย ต้องเลิกดูถูก ภูมิปัญญาของคน ในระดับรากหญ้า แล้ว หันไปสู่วิถีของการเรียนรู้ร่วมกัน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ของการเรียนรู้ ในชุมชน

5. Integrity ความซื่อสัตย์ ยึดเอาความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้ง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม คิดดี ทำดี เพื่อชาติ งานทุกชิ้น จะต้องตรวจสอบได้ มีความโปร่งใส

6. Creative สร้างสรรค์ คิดและทำงานที่สร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรม (innovation) ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น กับสังคม ต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องมีความเป็นพลวัต ทั้งนี้ก็เพื่อประชาชน และประเทศชาติ

หลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่พ่อท่านฯนำมาอธิบาย ช่วยกระตุ้นให้วิถีชีวิตชุมชน ชาวอโศก สอดคล้องทั้ง ๖ ข้อนี้ไปในตัว โดยเฉพาะข้อ ๒,๓,๔,๕

ส่วนข้อ ๑ และ ๖ ชาวอโศกส่วนใหญ่ดูจะขาดพร่อง อาจเป็นเพราะวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่ต้องไป แก่งแย่ง แข่งขัน ยศตำแหน่ง หรือวัตถุลาภใดๆแล้ว แค่เท่าที่เป็นอยู่ ในสังคมชาวอโศก ก็ไม่เดือดร้อนอะไร จึงเฉื่อยเนือย เช้าชามเย็นชาม ขาดความขวนขวาย กระตือรือร้น เพื่อสังคม

“ระบบสาธารณโภคี” ที่พ่อท่านฯนำมาใช้กับสังคมชาวอโศก เสริมให้ “จิตสำนึกสาธารณะ” เป็นไปได้ มากยิ่งขึ้นกว่าอยู่กันอย่าง ครัวใครครัวมัน โดยอาศัยกิจกรรมชุมชน และการประชุม ช่วยกระตุ้นเตือน สำนึกสาธารณะ

แม้กระนั้นนิสัยขี้เกียจ มักง่าย เห็นแก่ตัว ที่ติดมาของแต่ละคน ทำให้ทุกชุมชน ประสบปัญหา เครื่องมือเครื่องใช้ ของส่วนกลาง ชำรุด สูญหายเร็วกว่ากาลอันควร เพราะสำนึกสาธารณะน้อย ขาดการเอาภาระ รับผิดชอบ ดูแลร่วมกัน เกี่ยง เลี่ยง โยนกลอง อ้างไม่ใช่หน้าที่ แต่เรียกร้อง สิทธิประโยชน์นานา

งานพุทธาภิเษกฯ ครั้งที่ ๓๓ ที่บ้านราชฯ คณะทำงานขยะเป็นศูนย์ เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ยังคงสานต่อ งานจากปีที่แล้ว ทั้งพูด-ทำ-จัดโครงการเผยแพร่ -จัดทำแบบสอบถาม มีข้อเสนอใหม่ ในปีนี้ เชิญชวนให้ผู้มาร่วมงานลด-ละ-เลิก การใช้ถุงพลาสติก อีกทั้ง ขอความร่วมมือ ให้นำขยะของแต่ละคน กลับไปทิ้งที่บ้าน

ข้อมูลจากคณะทำงานโครงการขยะเป็นศูนย์ ผู้มาร่วมงานกว่า ๙๐ % ให้ความร่วมมือ เป็นอย่างดี พยายามลด-ละ-เลิก การใช้ถุงพลาสติก มีสติ คัดแยกขยะ ละอัตตามานะ

นักเรียนสัมมาสิกขาได้รับแบบเรียนนอกหลักสูตร แต่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง ฝึกบันทึก การบริหาร จัดการขยะเป็นศูนย์ของตน หาเหตุที่ตนทำให้เกิดขยะ และวิธีการ จัดการขยะของตน เป็นอย่างไร คำนวณปริมาณอาหาร ที่บริโภคในแต่ละมื้อ น้ำหนักเท่าไร ประเมินราคา ค่าอาหาร ทั้งที่บริโภค และที่เหลือ สนทนาสัมภาษณ์เกษตรกร ที่ผลิตอาหาร ว่ายากลำบากอย่างไร นับเป็นวิธีการปลูกฝัง สร้างเสริมจิตสำนึกสาธารณะได้ส่วนหนึ่ง

แบบฝึกหัดข้างต้นนี้ หากชาวอโศกทุกคนนำไปปฏิบัติจริงๆจังๆ จะเป็นบุญเห็นๆ แก่ตนโดยตรง และเป็นประโยชน์กับโลกโดยรอบ แม้จะไม่มีใคร รายงานเป็นตัวเลข ของการลดภาวะโลกร้อน ได้มากน้อยเท่าใด แต่ความเป็นจริง เกิดขึ้นแล้ว เป็นการบ่มเพาะ สำนึกสาธารณะ อย่างมีส่วนร่วม ลงมือปฏิบัติจริง ไม่ขัดผลประโยชน์ใคร แต่ขัดใจขัดกิเลสตน เป็นอย่างยิ่ง

สมณะขยะขยัน สรณีโย ผู้เอาภาระกับโครงการขยะเป็นศูนย์นี้ ได้สรุปข้อคิดถึงโทษภัย จากการใช้ ถุงพลาสติก ๑๐ ประการ ดังนี้
- ทำให้มักง่าย ไม่สันโดษ
- ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติ
- ไม่เจริญในอธิศีล
- เทวดา (ผู้มีจิตใจสูง) ไม่ชื่นชม
- ทำให้เจ็บป่วย เป็นทุกข์
- สั่งสมนิสัยไม่ดี (ไม่ฝึกหยุด แต่ชอบหยุดฝึก)
- อกุศลธรรมเจริญยิ่ง (เพราะชอบตั้งตนบนความสบาย)
- เป็นตัวอย่างไม่ดี (บาปนิยม) แก่สังคม
- ขาดจิตสำนึกสาธารณะ (เพิ่มจิตสำนึกหายนะ)
- ได้ชื่อว่า เป็นผู้ประมาทนักแล

ยังไม่มีรายงานว่า ผู้ที่ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับโครงการขยะเป็นศูนย์ในงานนี้ มีเหตุผลอะไรบ้าง

ผู้เขียนได้ยินสมณะผู้ใหญ่ ๒ ท่าน แสดงความไม่เห็น ด้วยกับการที่จะให้ผู้มาร่วมงาน นำขยะ ของตนกลับบ้าน เหตุผลก็คือ มันเป็นภาระให้กับผู้มาร่วมงาน แรกๆคิดว่า เป็นการเย้าหยอก ตามประสาพี่น้อง แต่ท่านไม่จัดการขยะพลาสติกของตน ตามที่คณะทำงาน ได้นำเสนอ ขอความร่วมมือ แสดงว่าท่านไม่เห็นด้วยจริงจัง

๑๐ % ของผู้ที่ไม่ได้ให้ความร่วมมือ ตามที่คณะทำงานประเมิน มองมุมบวกถือว่าน้อย โครงการขยะเป็นศูนย์ ประสบผลสำเร็จแล้ว หากมองมุมลบ ยังเป็นสัดส่วนที่มาก สำหรับ สังคมคุณธรรม ที่อบรมบ่มเพาะ การลดละเสียสละ กันมายาวนาน ยิ่งมวลของผู้มาร่วมงาน คือชาวอโศกเอง ไม่ใช่คนหน้าใหม่ หรือเด็กที่ไร้เดียงสา

ถ้า ๑๐ % นั้นมาจากความขี้เกียจ เห็นแก่ตัว มักง่าย เป็นความด้อยคุณภาพ ด้อยคุณธรรม ที่จะต้องช่วย กระตุ้นสำนึกสาธารณะกันต่อไป

หาก ๑๐ % นั้นมาจากความไม่เห็นด้วยในวิธีการเป็นส่วนมาก เป็นเรื่องน่าเห็นใจยิ่ง เพราะความเห็น เป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้ ทำอย่างไร คณะทำงานโครงการฯ จะสามารถ รับรู้ถึงเหตุผลความคิด ที่ไม่เห็นด้วยเหล่านั้น เพื่อการปรับปรุง ทำความเข้าใจร่วมกัน ไปสู่ความเป็นเอกภาพที่ยิ่งขึ้นได้ เอกภาพจากความเห็นดี เห็นร่วม ดีกว่า เอกภาพจาก การจำยอม

จริงอยู่ที่ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำหรือไม่ทำอะไร เมื่อการทำหรือไม่ทำนั้น ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม แต่การอยู่ร่วมกันในสังคมชาวอโศก ก็ควรมีสำนึกสาธารณะ สูงกว่าสังคมทั่วไป การทำหรือไม่ทำอะไร ควรมุ่งประโยชน์สุข ของชุมชน เป็นสำคัญกว่า ประโยชน์สุขส่วนตัว

ประโยชน์สุขส่วนตัว ไม่ใช่ประโยชน์ตน ในวิถีอาริยมรรค

ประโยชน์สุขส่วนตัว คือ กามสุข การเสพบำเรอตน เป็นโลกีย์มรรค

สังคมไทยด้อยจิตสำนึกสาธารณะ เพราะคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ ของตน มากกว่า สำนึกสาธารณะ หรือเห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนตัว มากกว่าเห็นแก่ประโยชน์สุข ส่วนรวม

ในงานพุทธาฯนี้ กรณีของ นายเดฟ ที่ รศ.รัศมี กฤษณมิษ นำมาบอกเล่าถึงวิถีชีวิตของ นายเดฟ เป็นแบบอย่างที่ดี ของผู้ที่มีสำนึกสาธารณะสูง ในการจัดการขยะของตน กับการรักษา สิ่งแวดล้อม

พ่อท่านฯเห็นว่าหากโลกนี้ มีคนอย่างนายเดฟ สัก ๒๐ % จะสามารถ ช่วยลดภาวะโลกร้อน อย่างเห็นผลได้ชัดเจน

สำนึกสาธารณะ ในหมู่ชาวอโศก หมายถึง การเอาภาระ เอาใจใส่ ทุกเรื่อง ทุกสิ่งที่เป็น ของส่วนกลาง ของส่วนรวม แม้จะไม่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลโดยตรง แต่ก็ควรช่วยทำ ช่วยคิด เมื่อมีโอกาส

เมื่อพบเศษขยะตามพื้นทางเดิน พ่อท่านฯจะก้มลงเก็บเอง ไม่ใช้ปัจฉาฯ หากเป็นสิ่งของมีคม พ่อท่านฯ จะทำลายคมนั้น ป้องกันอันตราย ที่อาจจะเกิดกับคนอื่น ทุกครั้งที่พบเห็น

เศษกระดาษที่ไม่มีใครใช้แล้ว พ่อท่านฯจะตัดส่วนที่ขาวว่างพอจะขีดเขียนได้ เก็บไว้ใช้งานเอง แม้จะเป็น ชิ้นเล็กชิ้นน้อย แค่ประมาณ ๒ คูณ ๕ ซ.ม.

การเข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ ก็ด้วยสำนึกสาธารณะต่อสังคม แม้เหล่าเสื้อแดงหลายคน ก็เข้าร่วม ด้วยสำนึกสาธารณะเหมือนกัน เพียงแต่ข้อมูล ความคิด ความเชื่อต่างกัน

ผู้เขียนเชื่อว่าบรรดาเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ที่เข้าร่วมด้วยสำนึกสาธารณะ อันบริสุทธิ์ จิตใจจะพัฒนา มาสู่วิถีอาริยะได้เร็วกว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ที่ยังคงตั้งหน้าตั้งตา ล่าลาภ ยศ สรรเสริญ ให้กับตน เสพโลกีย์สุข บำเรอตนไปวันๆ ไม่ได้สนใจทุกข์สุข ของสังคมเลย

การเสียสละเอาภาระสังคม แล้วเกิดกิเลส โลภ โกรธ ภายหลังการกระทบสัมผัส เหตุหนุน หรือต้าน ก็ตาม ยังดีกว่าผู้มีกิเลสเห็นแก่ตัว เอาตัวรอด หนีปัญหา แต่อ้างปล่อยวาง อย่างข้ามขั้นเมตตา ไร้กรุณา อ้างเป็นกลาง อย่างจิ้งจกเปลี่ยนสีผิว เข้าได้กับทุกฝ่าย ทุกสิ่งแวดล้อม ทำเป็นไม่เห็นกิเลส โลภ โกรธ ที่แฝงในตน

การสัมมนา “การเมืองไทย พ.ศ.๒๕๕๒ ในบริบทของการเปลี่ยนแปลง” ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ่อท่านฯได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมเป็นวิทยากร

คุณบุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่) นักเขียนชื่อดังของ มติชน ได้แสดงความเป็นห่วง ถึงความขัดแย้ง สองฝ่ายในสังคมไทย แล้วเสนอว่า ทุกฝ่ายควรปรองดอง รับลูกตามข้อเสนอของ สส.เพื่อไทย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทุกคดีการเมือง ให้พ้นผิด เพื่อความปรองดองแห่งชาติ หากไม่เช่นนั้น ชุมชนของชาวอโศก ก็จะถูกพวกเสื้อแดง ก่อกวนดังที่ผ่านมา

ความเห็นของคุณบุญเลิศที่ใช้คำว่า “ปรองดอง” ฟังดูดี นอกจากนายใหญ่และบริวาร ที่โดนคดีจะพอใจ คนส่วนใหญ่ในสังคม ที่ด้อยสำนึกสาธารณะ ก็เห็นด้วย เพราะเบื่อเสื้อเหลือง เสื้อแดงเต็มที

ความคิดแก้ปัญหา ด้วยวิธีอย่างนี้ ยังไม่ใช่การหาเหตุแล้วแก้ที่เหตุ แต่เป็นการหยิบเอาผล (กรณีเหลือง - แดง) มาเป็นเหตุ แล้วแก้ที่ผล ไม่แก้เหตุ

ใครจะทุจริต ใครจะทำผิดกฎหมายอย่างไรก็ให้แล้วๆ จบๆ กันไป...สมานฉันท์... ปรองดองๆๆ ฝังกลบปัญหา ด้วยกฎหมายนิรโทษ แล้วคดีมโนสาเร่ ของชาวบ้านล่ะ มันเป็นธรรมไหม หากไม่นิรโทษ ต่อไปหากนักการเมืองทุจริตอีก แล้วปลุกปั่นมวลชน ก่อกวนสังคม สร้างเงื่อนไขให้นิรโทษอีก จะนิรโทษกันไปเรื่อยๆไหม

การแก้ปัญหาที่เหตุคือ เมื่อมีผู้กระทำทุจริตทำผิดกฎหมาย ก็ต้องดำเนินการเอาผิด ต้องรักษา กฎหมายให้ได้ และต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เป็นที่พึ่งของผู้บริสุทธิ์ให้ได้

เมื่อเกิดความเป็นธรรมจริง เหลือง-แดง จะสลายกันไปเองในที่สุด

เบื้องต้น ตำรวจต้องแข็งขันในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้ฝ่ายใดกระทำผิดกฎหมาย เพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะ การไปทำร้ายอีกฝ่าย อย่างมากแค่ชุมนุมประท้วง ด่าว่ากันไปมา ในกรอบ รัฐธรรมนูญ

ตำรวจ อัยการ ศาล ปปช. กกต. ต้องเร่งสะสางในองค์กรของตน ลงโทษผู้ที่ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ สร้างความยอมรับ สร้างความเชื่อมั่น ให้กลับคืนมาโดยเร็ว

รีบสะสางคดีของสองฝ่ายที่คั่งค้าง ถูก-ผิด ว่ากันไปตามหลักฐานและความจริง

ความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรม และความรักความเข้าใจ คือปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้ความปรองดอง ความสมานสามัคคี ของสังคมไทยกลับคืนมาได้

ส่วนทัศนะที่เป็นลบกับผู้มีสำนึกสาธารณะ เพราะเลือกฝ่ายเหลือง ทำให้ชุมชนอโศก ถูกรุกราน เบียดเบียนจากฝ่ายแดง (แทนที่จะช่วยกันหยุดยั้ง การทำผิดของฝ่ายแดง กลับมาโทษ การมีสำนึกสาธารณะ เพราะไปร่วมจึงเดือดร้อน) ไม่มีฝ่าย ไม่มีสี อยู่เฉยๆ ปลอดภัยกว่า ทัศนะโลกีย์ชน ที่เห็นแก่ตัวเยี่ยงนี้ เป็นภพภูมิจริง ที่มีมากในสังคม ดุจดั่งขนโค ย่อมมีมากกว่าเขาโค ฉันใด คนที่เห็นแก่ตัว ย่อมมีมากกว่าคนที่เสียสละ มีสำนึกสาธารณะ ฉันนั้น

ทัศนะของอาริยชน มองความยากลำบาก หรืออุปสรรคที่เกิดจากทุรชน เป็นการบำเพ็ญ สร้างสมบารมี เป็นการไถ่บาป เป็นการถวายชีวิตให้พระเจ้า เฉกเช่น ปราชญ์ ศาสดา ที่ถูกทุรชน ในยุคนั้นๆทำร้าย สูญเสียอิสรภาพทางกาย ถึงขั้นสูญเสียชีวิตก็มาก แต่คุณธรรม ความดีงามของท่าน กลับเจริญงอกงาม ได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญ ทุกยุคทุกสมัย จวบจนปัจจุบัน

หากปราชญ์ ศาสดา ไร้ซึ่งสำนึกสาธารณะต่อมวลมนุษย์ สาธุชนจะไร้แบบอย่างการเสียสละ ถ่ายทอดมา จนถึงปัจจุบัน โลกนี้คงเต็มไปด้วย ทุรชนครองเมือง

มาช่วยกันเร่งสร้างสำนึกดี สร้างสำนึกสาธารณะ สร้างสำนึกอาริยะ เพื่อประโยชน์สุข แก่ผองชนเทอญ

5202_February-News PACCHA