[exit]

โพธิรักษ์ โพธิกิจ | โลกาภิวัฒน์ 2000 | เศรษฐศาสตร์บุญนิยม |  ความรัก ๑๐ มิติ ฉบับชาดก 

"ณวมพุทธ"  เรียบเรียง

มติที่1 | มติที่2 | มติที่3 | มติที่4 | มติที่5 | มติที่6 | มติที่7 | มติที่8 | มติที่9 | มติที่10

สังคมนิยม / สหายนิยม

"สังคมนิยม" เป็นความรักที่กว้างใหญ่ยิ่งขึ้น ไม่ใช่ติดยึดช่วยเหลือแค่เชื้อสายเครือญารติของตนเท่านั้น แต่จะแผ่กระจายความรักไปสู่มวลชนในสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพวกพ้องเพื่อนฝูงในหมู่บ้าน คนอื่นๆในตำบล ในอำเภอ ในจังหวัด หรือในภาคก็ตาม

มีความรักที่ทุกข์มากขึ้น เพราะต้องแบกภาระหนัก เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ผู้อื่นในสังคม กล้าเผื่อแผ่ผลประโยชน์ของตนเอง แจกจ่ายทั้งวัตถุทรัพย์สิน แรงกายและแรงปัญญาออกไปรับใช้สังคม นับเป็นความรักที่มีคุณค่าสูงขึ้น โอบอุ้มเอื้อมเอื้อมากขึ้น ก่อผลดีผลประโยชน์แก่สังคมมากยิ่งขึ้น

กุกกุรชาดก

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี มีอยู่วันหนึ่ง…ทรงเสด็จขึ้นรถเทียมม้าอาชาไนยขาว เสร็จไปยังพระราชอุทยาน ทรงพักผ่อนเล่นอยู่ตลอดกลางวัน ครั้นเมื่อพระอาทิตย์อัสดง จึงเสด็จกลับเข้าพระนคร

พอถึงแล้วสารถีก็เอาสายเชือกหนังที่รั้งม้า ผูกไว้ที่พระลานหลวง เมื่อฝนตกตอนกลางคืน รถและเชือกหนังจึงเปียกชุ่ม พวกสุนัขที่เลี้ยงไว้ในพระราชวัง พากันลงจากปราสาทชั้นบน มากัดกินเชือกหนังเล่นจนหมดสิ้น

วันรุ่งขึ้น นายสารถีแม้ไม่รู้ความจริง ก็ด้นเดากราบทูลพระราชาว่า

"ข้าแต่สมมุติเทพ คงมีพวกสุนัขลอบเข้ามาทางท่อน้ำ แล้วกัดกินเชือกหนังของรถไม่เหลือเลย พระเจ้าข้า"

พระราชาจึงทรงกริ้ว ตรัสว่า

"พวกเจ้าจงฆ่าสุนัขทุกตัว ในที่ใดที่ได้พบเห็นก็ตาม"

ตั้งแต่นั้นมาความพินาศใหญ่หลวง จึงเกิดขึ้นแก่สุนัขทุกประเภททั่วพระนคร ยกเว้นสุนัขภายในพระราชวังเท่านั้น ที่อยู่รอดปลอดภัยอย่างสุขสบาย ส่วนสุนัขนอกนั้นหากถูกพบเห็นในที่ใด ก็ถูกฆ่าในที่นั้นทันที

เหล่าสุนัขจำนวนมากจึงหนีตายไปที่ป่าช้า ได้พบกับสุนัขจ่าฝูงตัวหนึ่ง ซึ่งมีบริวารห้อมล้อมด้วยสุนัขฝูงหนึ่งอยู่ในป่าช้าใหญ่นั้น

สุนัขลี้ภัย จึงเล่าว่า

"พระราชาทรงกริ้ว ที่สุนัขไปกินเชือกหนังของราชรถภายในพระราชวัง จึงทรงสั่งฆ่าสุนัขทั้งหมด มหาภัยจึงเกิดขึ้นแก่พวกเรา"

สุนัขจ่าฝูงตัวนั้นฟังแล้วคิดว่า

"ในสถานที่ซึ่งมีการอารักขาอย่างดีในพระราชวัง สุนัขภายนอกทั้งหลายย่อมไม่มีโอกาสแน่ น่าจะเป็นการกระทำของพวกสุนัขเลี้ยงภายในพระราชนิเวศน์นั่นมากกว่า เหตุการณ์คราวนี้ภัยอะไรๆไม่มีแก่พวกโจร ส่วนพวกที่ไม่ใช่โจรกลับต้องได้รับความตาย ฉะนั้นเพื่อ"ความชอบธรรม" เราจะพิสูจน์พวกโจรตัวจริงแก่พระราชา แล้วทำทานชีวิตแก่หมู่ญาติทั้งปวงของเรา"

จึงทำการปลอบโยนเหล่าญาติให้เข้าใจ กล่าวว่า

"ท่านทั้งหลายอย่ากลัวเลย เราจะนำความปลอดภัยมาให้แก่พวกท่าน จงรอกันอยู่ที่นี้แหละ จนกว่าเราจะได้เฝ้าพระราชาแล้ว"

สุนัขจ่าฝูงออกจากป่าช้าเพียงลำพังตัวเดียว ลักลอบเข้าไปภายในพระราชวังอย่างระมัดระวัง

ขณะนั้นเองพระเจ้าพรหมทัต กำลังประทับนั่งในที่วินิจฉัยคดี สุนัขจ่าฝูงได้วิ่งเข้าไปในที่วินิจฉัยนั้นเอง โดยรีบหลบอยู่ใต้อาสน์ของพระราชา พวกราชบุรุษจึงตรงเข้าไปเพื่อจับลากตัวออกมา แต่พระราชาทรงห้ามเอาไว้ ดังนั้นสุนัขจ่าฝูงจึงออกมาจากใต้อาสน์ แล้วถวายบังคมพระราชาพร้อมกับทูลว่า

"ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ พระองค์ทรงรับสั่งให้ฆ่าสุนัขทั้งหมดจริงหรือ พระเจ้าข้า"

"เออ…เราให้ฆ่าทิ้งเสีย เพราะพวกมันกินเชือกหนังสายบังเหียนรถของเราจนหมดสิ้น"

"พระองค์ทรงรู้ว่า สุนัขตัวใดเป็นตัวที่กินแล้วหรือ"

"ไม่รู้"

"ข้าแต่สมมุติเทพ การไม่ทรงทราบโดยถ่องแท้ว่า โจรที่กินเชือกหนังนั้นเป็นผู้ใด แล้วทรงให้ฆ่าสุนัขมากมายในที่ใดที่ได้พบเห็นนั้น เป็นการไม่สมควรเลย พระเจ้าข้า"

พระราชาทรงโต้แย้งกลับว่า

"ก็เพราะไม่รู้ว่าตัวใดมากัดกินนะซี เราจึงสั่งฆ่าสุนัขทั้งหมด"

สุนัขจ่าฝูงฟังแล้วก็ทูลย้อนว่า

"ฆ่าสุนัขทั้งหมดทุกตัวทีเดียว โดยไม่ละเว้นว่า จะเป็นสุนัขในที่ไหนๆเลยหรือ พระเจ้าข้า"

พระราชาทรงอึกอัก แล้วตรัสเสียงเบาลงว่า

"เว้นไว้แต่สุนัขเลี้ยง ในตำหนักของเราเท่านั้น ที่จะไม่ถูกฆ่า"

"ข้าแต่มหาราช พระองค์เพิ่งตรัสเมื่อตะกี้นี้ว่า เพราะพวกสุนัขมากัดกินเชือกหนัง จึงสั่งฆ่าสุนัขทั้งหมด แต่บัดนี้พระองค์ตรัสว่า สุนัขเลี้ยงในตำหนักของเราไม่ถูกสั่งฆ่า หากเป็นเช่นนี้ พระองค์ย่อมลุแก่อำนาจอคติ ลำเอียงอย่างไม่สมควร ไม่เป็น"ความชอบธรรม"เลย เพราะปกติของพระราชาผู้แสวงหาเหตุและมิใช่เหตุ ย่อมเป็นเช่นดังตาชั่งจึงจะควร ควรข่มพวกที่เป็นโจร ส่วนพวกไม่ใช่โจร ไม่ควรข่ม แต่ในเหตุการณ์นี้ โทษอะไรๆกลับไม่มีแก่พวกโจร พวกไม่ใช่โจรกลับได้รับความตาย โอ! ในโลกนี้ หากสิ่งที่ไม่ควรได้รับการเป็นไป อธรรมย่อมฟูเฟื่อง"

พระราชาทรงสดับคำติเตียนแล้ว ให้รู้สึกไม่ยินยอมในพระทัย จึงตรัสว่า

"แล้วเจ้ารู้หรือว่า สุนัขตัวใดกินเชือกหนังเข้าไป"

"รู้พระเจ้าข้า ก็คือพวกสุนัขเลี้ยง ที่อยู่ในตำหนักของพระองค์นั่นเอง เป็นผู้กัดกินเชือกหนัง"

"เจ้าเอาอะไรมาพิสูจน์ว่า สุนัขของเรากิน"

สุนัขจ่าฝูงทูลอย่างเชื่อมั่นว่า

"ข้าพระบาทจะแสดงหลักฐานให้ดู ขอให้พระองค์ทรงนำสุนัขเหล่านั้นมาเถิด แล้วให้หาเปรียงกับหญ้าแพรกมาด้วย พระเจ้าข้า"

พระราชาทรงจัดการให้ตามนั้น เมื่อทุกสิ่งพร้อมแล้ว สุนัขจ่าฝูงก็ให้ขยำหญ้ากับเปรียงเข้าด้วยกัน แล้วทูลว่า

"ขอพระองค์ทรงให้สุนัขเหล่านี้ดื่มกินลงไปเถิด"

สุนัขเลี้ยงในตำหนักดื่มกินแล้ว ก็เกิดอาการขับถ่ายออกมา ซึ่งมีเชือกหนังติดออกมาด้วย พระราชาทอดพระเนตรดังนั้น ก็ทรงพอพระทัยในสติปัญญา ความแกล้วกล้า และความทรงธรรมของสุนัขจ่าฝูงนั้น จึงทรงทำการยกย่องสรรเสริญ ด้วยพระทัยศรัทธายิ่ง สุนัขจ่าฝูงจึงกล่าวเตือนพระราชาไว้ว่า

"ข้าแต่มหาราช พระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติอยู่ในความชอบธรรมเถิด"

แล้วโปรดให้พระราชาดำรงอยู่ในศีล ๕ นับแต่นั้นมาพระราชาก็ทรงให้อภัยทานแก่สัตว์ทั้งปวง ทรงทำบุญกุศลตลอดพระชนมายุของพระองค์

พระศาสดาแสดงชาดกนี้จบแล้ว ตรัสว่า

"พระเจ้าพรหมทัตในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนสุนัขจ่าฝูงนั้นก็คือ เราตถาคตนั่นเอง"

ณวมพุทธ ๑๙ พ.ค.๒๕๓๘ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๒๒, อรรถกถาแปลเล่ม ๕๕ หน้า ๒๘๒)

มติที่1 | มติที่2 | มติที่3 | มติที่4 | มติที่5 | มติที่6 | มติที่7 | มติที่8 | มติที่9 | มติที่10

  Asoke Network Thailand