FMTV โทรทัศน์เพื่อมนุษยชาติ
560324_รายการวิถีอาริยธรรม โดยพ่อครูและส.ฟ้าไท ที่ราชธานีอโศก
เรื่อง สังขารที่อวิชชากับวิชชาเป็นไฉน

ส.ฟ้าไทเปิดรายการ ที่บ้านราชฯ

ส.ฟ้าไทได้สรุปธรรมะที่พ่อครูได้เทศนาที่ผ่านมา เพื่อเป็นการปูพื้นให้คนฟัง ได้มีพื้นฐานเนื้อหาที่จะต่อได้

พ่อครูว่าวันนี้จะเทศนาเรื่องเดิม แต่มีการขยายธรรมะเพิ่มขึ้นอีก คำว่าอยู่ผู้เดียว สมัยพระพุทธเจ้า ก็มีคนข้องใจ แต่พระพุทธเจ้า ก็ตรัสขยายว่า อยู่ผู้เดียวไม่ใช่ตื้นๆ ว่าไปอยู่คนเดียว ปลีกเดี่ยว

อยู่สงัด แต่มีเพื่อนสอง

ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยตา..มีอยู่ (จักขุวิญเญยยา) … จนถึง ธรรมารมณ์ ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ (มโนวิญเญยยา) อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ หมกมุ่น ในธรรมารมณ์ นั้นอยู่ ฯลฯ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิดเพลิน ก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความกำหนัดกล้า ก็มีความเกี่ยวข้อง (นันทิสัญโญชนสัง)

ถึงจะเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าหญ้าและป่าไม้ เงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากลม แต่ชนเดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของมนุษย์ ผู้ต้องการสงัด สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อน ๒ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้น ยังมีตัณหาเป็นเพื่อน ๒ เขายังละตัณหานั้นไม่ได้ ฉะนั้น จึงเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อน ๒ (สทุติยวิหารีติ) มิคชาลสูตร ล.๑๘ ข.๖๖

อยู่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสอง

ภิกษุมีปกติอยู่ด้วยรูปที่พึงรู้แจ้งด้วยตา.. (จักขุวิญเญยยา รูปา) มีอยู่ ธรรมารมณ์ ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ (มโนวิญเญยยา ธัมมา) อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ในธรรมารมณ์นั้นอยู่ ฯลฯ ความเพลิดเพลินย่อมดับ เมื่อไม่มีความเพลิดเพลิน ก็ไม่มีความกำหนัด เมื่อไม่มีความกำหนัด ก็ไม่มีความเกี่ยวข้อง (น โหติ ฯ นันทิสัญโญชนสัง)

แม้จะอยู่ปะปนกับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ในที่สุดบ้านก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว (เอกวิหารีติ) มิคชาลสูตร ล.๑๘ ข.๖๗ ต่อไปพ่อครูจะได้อรรถาธิบาย เรื่องของสังขาร ขยายความจากเดิม

‘สังขารเกิดเพราะอวิชชา
คนที่มี "อวิชชา" จึงมี "สังขาร" ที่ควบคุมไม่ได้ จัดแจงไม่ได้
"สังขาร" ที่เราจะวิจัยในที่นี้ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขารและ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ในพระไตรปิฎก เล่ม ๓๕ ข้อ ๒๕๗ มีเนื้อความว่า

[๒๕๗] สังขารเกิด เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย เป็นไฉน
๑. ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร
ในสังขารเหล่านั้น ปุญญาภิสังขาร เป็นไฉน กุศลเจตนา เป็นกามาวจร เป็นรูปาวจร ที่สำเร็จด้วยทาน ที่สำเร็จด้วยศีล ที่สำเร็จด้วยภาวนา นี้เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร
.อปุญญาภิสังขาร เป็นไฉน อกุศลเจตนา เป็นกามาวจร นี้เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร
.อาเนญชาภิสังขาร เป็นไฉน กุศลเจตนา เป็นอรูปาวจร นี้เรียกว่า อาเนญชาภิสังขาร

กายสังขาร เป็นไฉน
กายสัญเจตนา เป็นกายสังขาร
วจีสัญเจตนา เป็นวจีสังขาร
มโนสัญเจตนา เป็นจิตตสังขาร
เหล่านี้เรียกว่า สังขารเกิด เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย

[๒๕๗] ตตฺถ กตเม อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา
ปุญฺญาภิสงฺขาโร อปุญฺญาภิสงฺขาโร อาเนญชาภิสงฺขาโร
กายสงฺขาโร วจีสงฺขาโร จิตฺตสงฺขาโร ฯ
ตตฺถ กตโม ปุญฺญาภิสงฺขาโร
กุสลา เจตนา กามาวจรา รูปาวจรา
ทานมยา สีลมยา ภาวนามยา

อยํ วุจฺจติ ปุญฺญาภิสงฺขาโร ฯ
ตตฺถ กตโม อปุญฺญาภิสงฺขาโร
อกุสลา เจตนา กามาวจรา
อยํ วุจฺจติ อปุญฺญาภิสงฺขาโร
ตตฺถ กตโม อาเนญฺชาภิสงฺขาโร
กุสลา เจตนา อรูปาวจรา
อยํ วุจฺจติ อาเนญฺชาภิสงฺขาโร ฯ
ตตฺถ กตโม กายสงฺขาโร
กายสญฺเจตนา กายสงฺขาโร
วจีสญฺเจตนา วจีสงฺขาโร
มโนสญฺเจตนา จิตฺตสงฺขาโร

อิเม วุจฺจนฺติ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ฯ

อวิชชา คือ ความไม่มีปัญญา ที่หมายเอา เฉพาะไม่รู้ทางพุทธธรรม ที่สัมมาทิฏฐิ

จึงต้องใช้คำว่า "สัมมาทิฏฐิ" เพราะแม้ผู้ที่เรียนรู้ พุทธธรรม หรือปฏิบัติธรรม โดยเชื่อว่า ตนปฏิบัติแบบพุทธ แต่แท้จริงยัง มิจฉาทิฏฐิอยู่ ยังไม่สัมมาทิฏฐิ ก็ไม่มีผลอย่างถูกต้อง เป็น โลกุตรธรรม หรือเป็น อาริยะที่ "สัมมาทิฏฐิ" แบบพุทธ แน่นอน

ก็ขอพูดถึง สังขาร ๓ หมวดที่เป็น โลกียธรรม คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร

กาย คือ องค์ประชุม, กอง, ฝูง, หมวดหมู่, ที่รวม, ชุมนุม แม้แต่หมวดแห่ง เจตสิกธรรม คือ เวทนา สัญญา และสังขาร ก็คือ ความเป็น "กาย" ด้วย

กายสังขาร คือ เครื่องปรุงแต่งกาย, ปัจจัยปรุงแต่งกาย

กายสังขาร พระพุทธเจ้าตรัสว่า กายสญฺเจตนา กายสงฺขาโร วจีสญฺเจตนา วจีสงฺขาโร มโนสญฺเจตนา จิตฺตสงฺขาโร

คำว่า "กายสังขาร" ในที่นี้ จะหมายเอา การปรุงแต่งเป็น "กาย"นั้น จะรวมเอาทั้ง กายสังขาร -วจีสังขาร -จิตตสังขาร ทั้งหมดเรียกว่า "กาย"

กล่าวคือ กาย หมายเอา องค์ประชุมของสังขารหมดทั้ง ๓ สังขาร ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันอยู่ สัมพันกันทั้ง ๓ สังขาร ก็เป็นกรณีหนึ่ง

หรืออีกกรณีหนึ่ง ใครจะเอาเฉพาะแค่คำว่า "กายสังขาร"เท่านั้น คือ "กาย"
แล้วแยก "วจีสังขาร"ไปเป็นส่วนของ "วาจา" ไม่เกี่ยวกับ "กาย"
"จิตตสังขาร" ก็แยกไปเป็นส่วนของ "จิต" ไม่เกี่ยวกับ "กาย"
นั่นก็เป็นกรณีย์หนึ่ง ที่กำหนดเป็นบริบทเฉพาะ

ซึ่งในตอนนี้ ก็ขออธิบายตามที่ว่านี้ อาตมาเห็นตามภูมิของตน แม้คำว่า "กายสังขาร"ในความเป็น "อวิชชา"นี้ มันแยกกันไม่ได้ ต้องพัฒนาจาก "อวิชชา"นี้ มันแยกกันไม่ได้ ต้องพัฒนาจาก "อวิชชา" ให้มันรู้ทั้ง"สังขาร" ทั้ง"วิญญาณ" เฉพาะอย่างยิ่งต้อง รู้"นามรูป" นี่แหละสำคัญ

ผู้จะสามารถรู้"นามรูป" จะต้องเรียนรู้ และ สร้าง"ความรู้"ของตน ให้เข้าขั้นมี "ญาณ" หรือ "ปัญญา" จนเข้าขั้น "วิปัสสนาญาณ" (วิชชาที่ ๑ ของวิชชา ๘) ให้ได้ จึงจะสามารถ "สัมผัสรู้นามรูป" ขึ้นมาได้

และ"การรู้" ก็ต้อง"รู้" ด้วยการมี"สัมผัส ๖" แล้วจึงจะเห็นแจ้งรู้จริง ได้ครบทั้ง "สังขาร ๓ (ที่เป็น "กาย-วาจา-ใจ" และ "อภิสังขาร ๓" ) -วิญญาณ ๖ -อายตนะ ๖ -ผัสสะ ๖ -เวทนา ๖ -ตัณหา ๖ - อุปาทาน ๔ -ภพ ๓ -ชาติ ๕" ตามที่พระพุทธเจ้าตรัส รายละเอียด ในการปฏิบัติ "ปฏิจจสมุปบาท" ไว้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ตั้งแต่ข้อ ๑ เรื่อยไปทีเดียว ก็จะค่อยๆ รู้แจ้งรายละเอียด ครบหลักปฏิบัติ

เมื่อสามารถมี "ญาณหรือปัญญา" ที่สามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริง ความเป็น"นามรูป" ก็จะสามารถปฏิบัติมี "สัมผัส" (ผัสสะ) เป็นปัจจัยแล้ว "รู้จักรู้แจ้งรู้จริง" ตั้งแต่ "สังขาร" หรือ "วิญญาณ" ที่เป็น"นามธรรม" ไปตลอดทั้ง "เวทนา –ตัณหา –อุปาทาน –ภพ -ชาติ" ทั้งสายของ ปฏิจจสมุปบาท อย่างมีสภาวะจริง
ในพระไตรปิฎก ที่ท่านแปลเป็นไทย ว่า
กายสัญเจตนา เป็นกายสังขาร
วจีสัญเจตนา เป็นวจีสังขาร
มโนสัญเจตนา เป็นจิตตสังขาร

แล้วท่านก็สรุป ซึ่งอาตมายิ่งเห็นได้ชัดว่า...
หล่านี้เรียกว่า สังขารเกิด เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย

กายสัญเจตนา คือ ความจงใจทำด้วยกาย, ความจงใจทางกาย ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๓๕ ข้อ ๒๕๗ นี้ก็ต้องศึกษากัน ให้ชัดเจน

ซึ่งหมวดแห่งเจตสิกธรรม คือ เวทนา สัญญา และสังขาร ก็คือ ความเป็นกาย (จากพจนานุกรม บาลีไทย ฉบับนักศึกษา ของพระอุดรคณาธิการ (ชวินทร์ สระคำ) รศ.ดร.จำลอง สารพัดนึก) หรือจากพจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ก็ให้ความหมายว่า นามกาย หมายถึง นามขันธ์หมดทั้ง ๔ คือ ทั้งเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หรือทั้งจิต และเจตสิก

เพราะฉะนั้น "กาย" จึงหมายถึง "องค์ประชุมของ ทั้งรูปทั้งนาม ครบเป็นวิญญาณ" เรียกได้เต็มๆว่า "กายวิญญาณ ๖" (องค์ประชุมทั้ง ๖) ซึ่งเป็น"วิญญาณ" ที่ครบด้วย เจตสิก ๓ (เวทนา สัญญา สังขาร ที่สัมผัสรูป) อันเกิดจาก "โผฏฐัพพะ ๕" (การสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย ที่สัมผัสรูป, เสียง, กลิ่น, รส, สัมผัส รวมวิญญาณครบ)

เมื่อเกิด "การสัมผัส" ก็จะครบด้วย "วิญญาณ ๖" ซึ่งนับทั้งการรู้ที่เกิด พร้อมทั้ง ตาสัมผัสรูป ก็มีวิญญาณรู้ –หูสัมผัสเสียง ก็มีวิญญาณรู้ –จมูกสัมผัสกลิ่น ก็มีวิญญาณรู้ –ลิ้นสัมผัสรส ก็มีวิญญาณรู้ –กายสัมผัสเย็นร้อน อ่อนแข็ง และทวารทุกทวาร ก็มีวิญญาณสัมผัสรู้ และ "วิญญาณ"เอง มันก็คือ "ตัวรู้เอง" มาตลอดไง จึงเป็น "วิญญาณ ๖"

กล่าวคือ "วิญญาณ ๕" จากภายนอกที่ "สัมผัส"แล้ว ก็จะ"รับรู้" ด้วย"วิญญาณ" คือ "ธาตุรู้" ที่"รู้ทั้ง ๕" รวมตัว "ธาตุรู้" คือ "วิญญาณ"เองด้วย จึงคือ "วิญญาณ ๖"

นั่นคือ เมื่อคนที่ยังอวิชชาอยู่ ก็ย่อม "สังขาร" ด้วย "อวิชชา" ที่ตนยังมีแน่นอน "อวิชชา" คือ ความไม่รู้สาระแห่งธรรมเอาเลย จึง "สังขาร" ไปทั่ว คือปรุงแต่งไปทั่ว ตามอำนาจกิเลสที่มี ซึ่งไม่รู้จัก "สังขาร" หรือไม่รู้อารมณ์ ที่มันปรุงไปเรื่อยนั้นหรอก ว่า กายมันจะสังขารอะไร ไปทั่วยังไง หรือ วจีสังขาร จะสังขารอะไร ไปทั่วยังไง หรือ จิตตสังขาร จะสังขารอะไร ไปทั่วยังไง

ยิ่งเป็น "สังขาร" ที่สูงไปถึงขั้น "อภิสังขาร ๓" ที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้ เป็นต้น ก็ยิ่งไม่รู้ ในความลึกซึ้งของ "สังขาร ๓" นี้ได้ง่ายๆ เพราะมันเป็นความรู้ขั้นสูง ของพุทธศาสนา โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นทั้ง ปรมัตถสัจจะ ที่ลึกเข้าไปถึง ความจริงขั้นสูง คือลึกเข้าไป ถึงขั้นต้อง สัมผัสจิต –เจตสิก –รูป -นิพพาน กันเลย และเป็นทั้ง โลกุตระที่ "ทวนกระแสโลก" "โลก" นั้นเขาเป็นไปแบบ สามัญปุถุชนโลกีย์ เขารู้เขาเป็น เขาต้องการเป็น "โลกธรรมสามัญ" แต่"โลกุตระ"นั้น มันต้องการตรงกันข้ามกัน

กระนั้นก็ยังมีผู้นำ "อภิสังขาร ๓" นี้ไปอธิบายเป็นความรู้ ที่ไม่เป็นโลกุตระ จนได้ อยู่นั่นแหละ ก็เป็นธรรมดาแห่งคน เท่าที่เขามีภูมิรู้ ดีไม่ดี หลงที่ตนได้อีกด้วย ก็รู้แค่ที่ตนรู้นั้นแหละ แล้วหลงว่าเป็น โลกุตระ ก็มี ดังนั้น แม้จะพยายาม ทั้งพูดทั้งแสดง ให้ลึกให้สูง ปานใด ก็ยังแค่เป็นแบบโลกีย์อยู่ดี

เพราะฉะนั้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า กายสัญเจตนา คือ มีความจงใจ ทำทางกาย ให้เป็นไปตามที่ตน มุ่งหมาย นั้นๆ

ความกำหนดจงใจ หรือ ความกำหนดมุ่งหมาย นั้นมาจาก"ใจ" แน่นอน
ดังนั้น ความจงใจทำทางกาย หรือ ความจงใจทำด้วยกาย ก็เถอะ
ก็คือ การจงใจที่ถูกกำหนด สั่งการมาจาก"ใจ" นั่นเองเป็นต้นทาง
นั่นก็คือ มโนสัญเจตนา ก็จิตตสังขาร หรือ จิตตปรุงแต่ง นั่นแหละ

ไม่ว่าจะเป็น "กายสัญเจตนา"ใดๆ แม้แต่ วจีสัญเจตนา เป็นวจีสังขาร หรือ สังขารออกมาข้างนอกทั้งหมด เช่น วาจา (คำพูด) กัมมันตะ (การกระทำทั้งหลาย ทุกกรรมกิริยาหมดทั้งสิ้น) อาชีวะ (การงานเลี้ยงชีพ) ก็ต้องมาจาก "มโนสัญเจตนา"นั่นเอง เป็น ตัวต้นทาง และแถม สังขารด้วยอวิชชาเสียอีก

พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา

ซึ่งหมายความว่า "ใจ"เป็นต้นทาง มาก่อนสิ่งอื่น หรือ เป็นประธาน ทั้งกาย-วาจา และ ใจเอง "ใจ"เป็นนาย "กาย"เป็นบ่าวแน่นอน

เจริญประเสริฐได้ด้วย"ใจ" (มโนเสฏฐา) หรือเสื่อมตกต่ำก็ด้วยใจ (เหมือนกันนะ)
สำเร็จได้ด้วย"ใจ" (มโนมยา)

เพราะฉะนั้น ถ้ายัง"อวิชชา"อยู่แท้ๆ สังขารหรือการปรุงแต่งทั้งหลาย เป็นกายสังขาร –วจีสังขาร -จิตตสังขาร ก็ล้วนมาจาก"ใจ" หรือ"มโน" สำหรับผู้ยังไม่ได้ศึกษาอย่างเอาจริง จนกระทั่ง "สัมมาทิฏฐิ" และทำ"สังขาร" ให้เป็น"อภิสังขาร" ที่เจริญสัมบูรณ์สูงสุดไม่ได้

ดังนั้น กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร จึงล้วนเป็นทุกข์ และก่อความลำบากยุ่งยาก ให้แก่ตนแก่สังคม เพราะยัง "อวิชชา"

สรุป "สังขาร ๓" ที่เป็น "กายสังขาร -วจีสังขาร -จิตตสังขาร" ของคนที่ยังมี "อวิชชา"ทั้งหลาย จึงยังบริบูรณ์ด้วย "ทุกข์" บริบูรณ์ด้วย การปรุงแต่ง หรือ การจัดแจง (สังขาร) ที่มี "ความจงใจ" ให้เป็นไปตาม"ใจ" ที่มีกิเลสนั้นๆอยู่

จึงเป็นผู้ยังสร้างทุกข์ สร้างความลำบากยุ่งยาก ให้แก่ตนแก่สังคมอยู่ ตราบที่ยังเป็นคนมี "อวิชชา" จะมีมากหรือน้อย ขนาดไหน ก็เป็นไปตามที่มีจริงนั้นๆ

ลิงชิมแปนซี กับกอริลล่า ก็สังขารนะ อาจะไม่รู้ตอนแรก แต่พอทำไปแล้ว คนชอบ ได้อาหาร ก็ปรุงไป

ปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นสูตรแห่งการเรียนรู้และปฏิบัติ ให้ "อวิชชา" ลดลงๆ และที่สุด "หมดสิ้นอวิชชา" อย่างวิเศษ ถ้าปฏิบัติได้อย่าง "สัมมา" จนดับ"อวิชชา" หรือ "อวิชชาดับสนิท" ด้วยความสามารถของ ผู้ศึกษาและปฏิบัติ กระทั่ง มีผลจริงจบ

ยิ่งได้ศึกษาเข้าใจแจ่มแจ้ง "อวิชชาสูตร" ที่ตรัสถึง "อาหาร" ทางธรรม เป็นต้นว่า
อวิชชา มีนิวรณ์ ๕ เป็นอาหาร
นิวรณ์ ๕ มีทุจริต ๓ เป็นอาหาร
ทุจริต ๓ มีการไม่สำรวมอินทรีย์ เป็นอาหาร
การไม่สำรวมอินทรีย์ มีความไม่มีสติสัมปชัญญะ เป็นอาหาร
ความไม่มีสติสัมปชัญญะ มีการกระทำใจในใจ โดยไม่ถ่องแท้ (อโยนิโสมนสิการ)
เป็นอาหาร
การกระทำใจในใจโดยไม่ถ่องแท้ (อโยนิโสมนสิการ) มีความไม่มีศรัทธา ที่บริบูรณ์ ด้วยสัมมาทิฏฐิ เป็นอาหาร
ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ด้วยสัมมาทิฏฐิ เป็นอาหาร มีการไม่ได้ฟังสัทธรรม เป็นอาหาร
การไม่ได้ฟังสัทธรรม มีการไม่ได้คบคุ้นสัตบุรุษ เป็นอาหาร

"การไม่ได้คบคุ้นกับสัตบุรุษ" นี่แหละ เป็นต้นทางสำคัญมากที่สุด

นั่นคือ ถ้าใครยังมี "อวิชชา" ก็จะมี "อาหาร" ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น อยู่ตลอดเวลาแน่นอน จึงเจริญความรู้ที่มี "อาหาร" เป็น"อวิชชา" หนาแน่นขึ้นทุกวัน

ถ้าผู้ใดได้พบ "สัตบุรุษ" และได้ "คบคุ้นสัตบุรุษที่บริบูรณ์" ก็จะเป็นมนุษย์เจริญ ได้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสใน "อวิชชาสูตร" นี้ได้จริง (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๖๑)

ในยุคนี้ "สัตบุรุษ" คือ ผู้เป็น "อาริยบุคคล" สัมมาทิฏฐิแท้นี่ หายากจริงๆนะ

การคบคุ้นสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์
การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้สัมมาทิฏฐิบริบูรณ์
ศรัทธาที่บริบูรณ์ด้วยสัมมาทิฏฐิ ย่อมยังการทำใจในใจโดยแยบคาย
(โยนิโส
มนสิการ) ที่บริบูรณ์
การทำใจในใจโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ที่บริบูรณ์
ย่อมยังสติสัมปชัญญะ ให้บริบูรณ์

สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ ให้บริบูรณ์
การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์
สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติ ให้บริบูรณ์
วิชชาและวิมุตตินี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ผู้ใส่ใจศึกษาและปฏิบัติจริง จึงจะดับ "อวิชชา" เจริญ "วิชชา "และ "วิมุตติ " ได้บริบูรณ์จริง

แล้วลดทุกข์ และก่อความลำบากยุ่งยาก ให้แก่ตนแก่สังคม น้อยลงๆ จนกระทั่งที่สุด "ดับทุกข์ และ ไม่ก่อความลำบากยุ่งยาก ให้แก่ตนแก่สังคม " เพราะสัมบูรณ์ด้วย "วิชชา " ครบ ๘ ตามหลักสูตรของ พระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น จึงต้องตั้งใจศึกษา "ปฏิจจสมุปบาท "ให้สัมมาทิฏฐิ แล้วตั้งใจปฏิบัติ ให้เป็น "สัมมาปฏิบัติ " จริงๆ ก็จะบรรลุมรรคผลได้จริง อาตมามั่นใจ

"สังขาร" จึงคือ การประชุมของสภาวะ ที่ปรุงแต่งกันขึ้นมา แล้วก็มีอำนาจ มีบทบาท ออกฤทธิ์แรงจัดแจงความเป็นคน แล้วก็มีพฤติกรรม เกิดขึ้นในสังคม เป็นพฤติภาพในโลก

อาตมาต้องการสำทับย้ำคำว่า "กาย" ซึ่งเป็น "องค์ประชุม" ที่ต้องเข้าใจ ในการปฏิบัติธรรม ว่า เมื่อท่านหมายถึง " กาย " ที่ รวมทั้งภายนอก - รวมทั้งภายใน ไม่ได้ขาดการเชื่อมต่อ กันอยู่นั่นแหละ ที่เรียกว่า "กาย" คือ องค์ประชุมของรูปของนาม ทั้งจากภายนอก ต่อเนื่องเข้าไปสู่ภายใน ก็รับรู้ติดต่อกัน ทำงานร่วมกันอยู่

เช่น "อัชฌัตตัง อรูปสัญญี เอโก พหิทธา รูปานิ ปัสสติ" (วิโมกข์ ข้อที่ ๒) ซึ่งอาตมาขอให้ความหมายว่า ผู้ที่ "เห็น" (ปัสสติ) ด้วยการ "สัมผัส" ภาวะจริง เห็นทั้งรูปทั้งหลายภายนอก และเห็นทั้งรูปทั้งหลายภายใน แล้วลึกซึ้งเข้าไปเห็นทั้ง อรูปภายในไปทั้งหมด ด้วย "สัญญา " คือ ความรู้ที่สามารถ กำหนดหมาย สัมผัสรู้ ภาวะรูปทั้งปวง ตลอดไปจนถึง ภาวะอรูปทั้งปวง นั้นๆได้จริง โดยตัวเอง (เอโก) ของตนเอง ในตนเอง สำเร็จเอง (เอโก)

"รูป"หรือ"อรูป" คือ สิ่งที่ถูกรู้ ด้วย "ปัญญา" หรือ "ญาณ" ที่แท้คือ "วิชชา"

ดังนั้น แม้จะเป็น "นามธรม" ที่ประชุมกันเป็นหมู่เป็นกองขึ้น แล้วเรียกว่า "นามกาย" ก็เป็น "รูป" คือ เป็น "รูปของนามธรรม"นั้นๆ เพราะอยู่ในภาวะที่ "ถูกรู้" ไง

ที่บาลีว่า "อิเธกจฺโจ ปุคฺคโล อัฏฐ วิโมกฺเข กาเยน ผุสิตฺวา วิหรติ ปัญญาย จสฺส ทิสฺวา อาสวา ปริกฺขีณา โหนฺติ"
ท่านแปลไว้ว่า "บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย สำเร็จ อิริยาบถอยู่ ทั้งอาสวะ ของผู้นั้น ก็หมดสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา" (พระไตรปิฎก เล่ม ๓๖ ข้อ ๑๕๑)

คำว่า ด้วยกาย ในที่นี้ ยืนยันให้เห็นชัด ว่าเป็นคำสำคัญ ที่จะละเลยไม่ได้ และอีกคำคือ "ถูกต้อง" หรือ "สัมผัส" (ผุสิต) ที่เป็นตัวชี้บ่งว่า จะเป็น"ความจริง" ที่เรียกว่า"สัจธรรม" ต้องมี "สัมผัสภาวะนั้นอยู่หลัดๆ" แม้จะเป็น "นามธรรม" หรือ "นิโรธ"

ส.ฟ้าไทสรุป... วันนี้พ่อครูได้เน้นว่า อวิชชาคือ หมายเอาความไม่รู้พระธรรม อย่างสัมมาทิฏฐิ เท่านั้น และคำว่ากายสังขาร คือองค์ประชุมคืออย่างไร คือองค์ประชุม ทั้งรูป ทั้งนาม ทั้งวิญญาณ (เกิดเมื่อมีการกระทบสัมผัส)

"การไม่ได้พบสัตบุรุษ นี่คือต้นทางสำคัญของอวิชชา"

จริยธรรมของพระโพธิสัตว์ ๑๐ ประการ
๑. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
๒. พระโพธิสัตว์ ครองชีวิตโดยไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีภยันตราย
๓. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตให้บริสุทธิ์
๔. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีมารมาขัดขวาง การปฏิบัติภารกิจ
๕. พระโพธิสัตว์ คิดว่าจะทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนา จะให้สำเร็จผลเร็ว
๖. พระโพธิสัตว์ จะคบเพื่อน โดยไม่ปรารถนาจะได้รับผล
๗. พระโพธิสัตว์ จะไม่ปรารถนาว่า จะให้คนอื่นต้องตามใจตนเอง เสมอทุกอย่าง
๘. พระโพธิสัตว์ จะทำความดีกับคนอื่น โดยไม่ปรารถนา สิ่งตอบแทน
๙. พระโพธิสัตว์ เห็นลาภแล้ว ไม่ปรารถนา จะมีหุ้นส่วนด้วย
๑๐ พระโพธิสัตว์ เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียน นินทาแล้ว ไม่ปรารถนา จะโต้ตอบ หรือฟ้องร้อง

จบ......