ทำวัตรเช้า งานปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ ครั้งที่ ๓๗ โดยพ่อครู
 560410_
เรื่อง ตอบกันด้วยวิญญาณพุทธ ตอน ๔


ที่เรามารวมกัน มาปฏิบัติ มาทำงานร่วมไม้ร่วมมือ ไม่ได้หวังอะไรตอบแทน แต่ก็ต้องมีผล แม้แต่หายใจเข้าออก ก็ต้องมีผล ยิ่งเรามีกรรมการงาน ที่มีประโยชน์ทั้ง สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ ก็เป็นผลของแต่ละคน ยิ่งแต่ละคนมารวมกัน ทำอย่างมี ความระลึกถึงกัน ระลึกถึงคนที่จะได้รับผล จากแรงงานของเรา ไม่ใช่อย่าง หลงตัว หลงตน ว่าเราสำคัญ แต่ว่าเรามาออกแรงงาน สามัญก็เป็น แรงงานของตน มีผลผลิต ของตน แล้วตนก็ยึดถือหวงแหน ใครจะมาเอา ก็ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน และต้องได้กำไรด้วย เอาคืนให้ได้มากที่สุดด้วย นี่คือสามัญ แต่ว่าพวกเรา ได้รับการฝึกฝน ให้ลดความเป็นตัวเราของเรา แท้จริงหรือไม่ ให้ตรวจสอบดู ว่าชีวิตเราตั้งแต่เกิดมา เราได้ลดความเป็นตัวเรา เป็นของเราหรือไม่

ใช้ความฉลาดของตนตรวจดูว่า เราได้ลดความเป็นตัวเรา ของเราหรือไม่ มันไม่มีรูปร่าง แต่มีอาการลิงค นิมิต อุเทศ แล้วเราก็สามารถ มีปัญญาหยั่งรู้ ความจริงได้ แล้วก็รู้ว่า เรายึดอะไรบ้าง ในโลกธรรม ในข้าวของ เป็นมหาภูตรูป ที่เป็นข้าวของ หรือบุคคล ตั้งแต่อาหาร (กวฬิงการาหาร) ในสัตว์สิ่งของ ที่เรายึดเราหวงไว้

แต่เราก็ไม่ได้พาซื่อ ว่าคำว่า ไม่ยึดมั่นสำคัญหมายว่า ไม่เป็นเราเป็นของเรา แล้วเราก็จะพาซื่อ ไม่รู้ว่า สิ่งไหนควรอาศัย ไม่รู้ว่าสาธารณโภคี คืออะไร ซึ่งที่จริง ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ว่าเราก็ไม่ควร ไปละเมิดสมมุติ ไปเอาของเขามา ตั้งแต่เขตแดนประเทศ มาถึงบ้านเราของเรา จนลึกถึงนามธรรมในใจ ที่เราไปยึดถือ เป็นเราเป็นของเรา แล้วเราก็ต้องชัดเจนว่า มีสมมุติ แล้วเราก็อาศัย ไปตามสมมุติ ตามควร ถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ขนาดไหน ใครทำชั่ว มาทำละเมิด ไม่ถูกตามสมมุติ เราก็ระวัง ไม่ให้เขาทำชั่ว สิ่งที่สมมุติกันแล้ว ก็ต้องทำตาม แต่ผู้ใดทำ ก็เกิดจากจิต ที่ไปแย่งชิงละเมิด จิตเมื่อมีลีลาอยากได้ แล้วก็ไปเอาของที่ไม่ใช่ของเรา มันก็มีสัจจะ เกิดจริงในจิต อย่างเขามาละเมิดดินแดนนั้น สัจจะสมมุติ ก็บอกกันไว้แล้ว ใครละเมิด ก็มีบาป ตามสัจจะแห่งจิต

ในอัตภาพที่อยู่ในโลกนี้ ที่ได้พัฒนาจิตวิญญาณ มาอยู่ในโลกนี้ ก็เกิดจากพลังงาน ในมหาจักรวาล ซึ่งจะสูญไปเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ได้ แต่เมื่อเราได้อัตภาพมาแล้ว ก็ควรทำ ให้พัฒนาดีที่สุด ซึ่งจิตเป็นประธานทุกอย่าง มโนปุพพังคมา ธัมมา เราก็อาศัยกรรม (กัมมปฏิสรโณ) อาศัยกรรม พาเกิดพาตาย เราก็ได้เรียนรู้ ความเกิด-ตาย แล้วพัฒนามันขึ้น อย่างมีภูมิปัญญา รู้ว่าเราจะพัฒนา อัตภาพให้ดี แม้เกิดใหม่ ก็ดีขึ้นอีก ให้ดีที่สุด พระพุทธเจ้าตัดรอบ ดีที่สุดคือ อรหันต์ แล้วใครจะต่อ ก็เป็นโพธิสัตวภูมิ ส่วนใครไม่ต่อ ก็จะรู้ว่า เราจะต่อหรือไม่ แล้วเราจะมีภูมิตามจริง สั่งสมไป

ที่ว่าตัดรอบที่อรหันต์คือ ผู้ที่มีอัตภาพจิตวิญญาณ ได้เรียนรู้มาแล้ว ตั้งแต่ปุถุชน กัลยาณชน คืออะไร แล้วก็รู้ว่า จิตที่สูงกว่าคืออะไร นั่นคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือรู้ ภูมิอาริยะ มีเหตุปัจจัย สังเคราะห์สังขารกันอย่างนี้ แล้วมีเหตุปัจจัยอย่างใด ที่จะเกิดภูมิ อาริยะได้ ซึ่งมีจิตเจตสิกอย่างไร รู้จิตตัวอวิชชา รู้การหมุนเวียนในโลก ที่สูงสุดเก่งที่สุด ก็คือกัลยาณชน แม้เป็นศาสดาที่ดีที่สุด ที่จะทำอัตภาพ ของความเป็นคน ให้มีจิตวิญญาณ ที่ดีที่สุด ที่มีทั้งเจโตและปัญญาสูงสุด เท่าที่จะทำได้ดีที่สุด ไม่มีโทษภัย มีแต่คุณค่าประโยชน์ ทางโลกียะ ก็สามารถทำได้คือ ศาสดา และนักบุญ ในศาสนาต่างๆ ทำกุศลดีงาม เพื่อผู้อื่น

คนที่ดีก็รู้กันทั่วไป คือผู้ไม่เห็นแก่ตัว แต่ความจริงแล้ว จิตที่เข้าใจอย่างเดียว กับการสามารถ ทำเหตุให้ถูกละล้างไป หรือเราสามารถกดข่ม อย่างศาสดาหลายองค์ ก็ทำกดข่ม ได้สำเร็จ คือ กดไว้ ไม่ให้ออกมาทำงาน หรือว่า ลืมไป ไม่ใส่ใจ ไปใส่ใจ แต่ข้างนอก ทำงานกับข้างนอก เสียสละช่วยเหลือข้างนอก ศาสดาของ ศาสนาส่วนใหญ่ ทำอย่างนี้ บางศาสดาก็รู้ว่า ยังมีสิ่งเหลืออยู่ แต่บางศาสดา ก็เข้าใจว่า เราเก่งมาก ได้มาก เราก็ควรได้มาก แต่ว่าถ้าเก่งมาก ทำได้มาก แล้วเราจะสละ สิ่งที่เป็นสิทธิ์ของเรานั้น ดีกว่าไหม ก็ต้องดีกว่าตามสามัญสำนึก

เพราะฉะนั้น คนที่เข้าใจอย่างนี้ ก็ทำ เห็นได้ว่า ศาสดาบางคน ท่านไม่สะสม ไม่เอา ของใครเลย แต่หลักจริง ของศาสนาพุทธ คือต้องมีญาณ หยั่งรู้ไปถึง จิต-เจตสิก รูป-นิพพาน จิตคือภาษาหลัก ของอัตภาพ อาการของจิต คือเจตสิก แล้วเราก็วินิจฉัยออกว่า อาการจิต มีกิเลสหรือไม่ เป็น ราคะ-โมสะ-โมหะ แล้วมันมี ลูกหลานของกิเลส ในระดับไหน ต้องศึกษาว่า มันมีไหม เราสามารถ อ่านออก ในตัวเรา ว่ามันมีหรือไม่มี แล้วมันหมดไปจากจิต ถาวรหรือไม่ อย่างนี้คือ ศาสนาที่รู้ จิต เจตสิก รูป-นิพพานที่แท้จริง คือศาสนาพุทธ

เมื่อวานมีผู้ถามค้างไว้ ยังไม่ได้ตอบ ในหน้า ๓๐๙ หนังสือ ธรรมที่เป็นพุทธ ในเรื่องของ  อานาปานสติ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อานาปานสติสูตร หรือ มหาสติปัฏฐานสูตร นั้น พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้แยกกัน แต่มีผู้ที่คิดแบบแยก คือไปนั่งหลับตาในภพภายใน ยึดเป็นหลักใหญ่ คือต้องไปนั่งหลับตา อยู่ในภพภายใน ขอยืนยันว่า ทำอย่างนั้นขาดใหญ่ แม้จิตเป็นใหญ่ แต่จิต ต้องเรียนรู้ให้ครบ ซึ่งภายนอก มีสิ่งรู้ ที่เรายึดเป็นเรา ของเรามากมาย แล้วเราได้มีจิต วางสิ่งเหล่านี้หรือไม่

พระพุทธเจ้าให้เรียนรู้ สติปัฏฐาน ๔ คือให้มีฐานในการฝึก โดยให้รู้ ทั้งภายนอกภายใน ซึ่งมีพยัญชนะ ในวิโมกข์ ๘ ข้อที่ ๒ คือ อัชฌัตตัง อรูปสัญญี เอโก พหิทธา รูปานิ ปัสสติ (พ่อครูแปลว่า มีสัญญาใส่ใจในอรูป คือรู้ทั้งรูปภายนอก ไปจนถึงรูปภายใน ต้องเห็น ทุกเวลา แม้ขั้นอรูป ก็ต้องใส่ใจกำหนด) อย่างศาสดาในศาสนาอื่น เขามีกายสักขี สามารถนิ่งทน ต่อสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม ที่นิ่งได้มากเลย มีกายสักขี แต่พระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่รับรอง เป็นอาริยะ จะต้องเกี่ยวข้องกัน ทั้งรูปธรรม นามธรรม คือต้องสัมผัส วิโมกข์ ๘ ด้วยกาย คำว่ากาย

เราต้องรู้สังขาร ตั้งแต่ปุญญาภิสังขาร คือต้องชำระจิตสันดาน ลดกิเลสไป จนหมด ก็เป็น อปุญญาภิสังขาร สั่งสมจนเป็น อเนญชาภิสังขาร แล้วก็สั่งสมญาณ ที่เจริญขึ้น จนมีโคตรภูญาณ จากโสดาฯ - สกิทาฯ - อนาคาฯ - อรหันต์ -ไปเป็นโพธิสัตว์ จะมีโคตรภูญาณ รู้การเจริญ อย่างไม่ขาดการรู้ ทั้งภายในภายนอก ในมหาสติปัฏฐาน ท่านให้เรียนรู้ในกาย (องค์ประชุม) ให้เกิดการระงับ คือระงับตัวเหตุที่ทำให้วุ่น คือกิเลส ตัณหา อุปาทาน

แล้วท่านก็ให้พิจารณาว่า ภิกษุทั้งหลายย่อมพิจารณาเห็น กายในกาย ภายนอกบ้าง คือมหาภูตรูป ทั้งคนสัตว์สิ่งของ ภายนอก แล้วพิจารณาเห็น กายในกาย ทั้งภายใน ภายนอกบ้าง จนไปถึง พิจารณาไปถึง ธรรมในธรรม ย่อมอยู่ คือยังเป็นอยู่ ดำเนินอยู่ แม้สิ่งที่เสื่อมไป ตามธรรมชาติ ทำลืมไป มันก็ตกตะกอน จับตัวกันแน่นได้ แต่ไม่ตีแตก ไม่ได้รู้สัจธรรม ไม่รู้ความยึดถือ ที่เป็นยางเหนียว ศาสนาพุทธ ได้ทำลายความยึด ที่เป็นยางเหนียว ให้เป็นนิวทรอน หมดฤทธิ์แรงความยึด

ทำอย่างสมถะ มันก็ไม่ทำอกุศล ไม่ออกฤทธิ์มาทำอกุศลได้ จะเรียกว่า มันไม่เสื่อมก็ได้ แต่ความไม่เสื่อม ของพระพุทธเจ้า คือทำไปที่เหตุเลย เป็นวิปัสสนาวิธี เป็นของพระพุทธเจ้า ที่สมบูรณ์

อย่างศาสนาฤาษี จะหยุดจบ เรียกว่านิโรธ แล้วจิตจะไม่ทำงานเลย รับรู้โลก ภายนอกน้อย แม้จะมีวิกฤติ มากระทบ มีไฟมาจี้ผิวหนัง ก็ไม่ร้อน เอาไฟมาเผาร่างกาย เขาก็ไม่รู้สึกว่าร้อน เขาตัดจิต ไม่รับรู้ได้  นั่นคือนิโรธของเขา ฟังให้เห็นความต่าง ไม่ได้ดูถูก ดูแคลน เราฟังอย่างนักศึกษา ให้อิสระในการเลือกทำ

ศาสนาพุทธนั้น ลืมตารู้ทุกอย่าง แล้วล้างกิเลส ตั้งแต่อบายมุข แล้วละล้างกำจัด อย่างมีภูมิปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง อย่างโสดาบันก็รู้ แม้จะไม่มีญาณละเอียด แต่ก็จะรู้จริง ตามสัจจะ ยิ่งผู้ใดฉลาดรู้ ตั้งแต่โสดาบัน ในอบายภูมิ เราก็สิ้นเกลี้ยง ตรวจในอรูปฌาน ของพุทธได้ รู้อากาสานัญจายตนะ -อากิญจัญญายตนะฌานของพุทธ แม้ในระดับอบาย ก็ได้

ในศาสนาพุทธ ที่เสื่อมลงมาเรื่อยๆ ไปเข้าใจว่าเป็นศาสนา หลับตาหมด ไม่ได้รู้และทำ อย่างมีปัญญา ลืมตาเห็นกิเลส ลดกิเลสสดๆ แต่เมื่อเรามารู้ แล้วเราก็ทำได้ถูกต้อง มาละล้าง ตั้งแต่โสดาบัน -สกิทาคามี ไปเป็นอนาคามี ก็ดับกิเลส ที่เกิดจาก โลกภายนอก ได้หมด แม้กระทบสัมผัสอยู่ เมื่อก่อนเรามีกิเลส แต่เมื่อเราทำได้ ก็ไม่เกิดกิเลส แม้เราลืมตา สัมผัสอยู่ ซึ่งพระอนาคามี ก็จะมีนิโรธแล้ว คือนิโรธ อย่างลืมตา เมื่อได้นิโรธแล้ว ก็ไปล้างกิเลสในรูปภพ อรูปภพ ทำอย่างลืมตาด้วย

สรุป จากกายข้างใน แม้จะทำจิตอยู่ในภพ ก็ต้องรู้กายภายนอก อย่างละเอียด คือรู้ลมหายใจ ในอานาปานบรรพ แล้วเข้าไปทำใจในใจ อย่างเตวิชโช รู้ตรวจว่า เราได้ลดละอะไร ตรวจว่าเราได้ผ่าน โสดาฯ -สกิทาฯ –อนาคาฯ -อรหันต์หรือไม่ เราหลับตาก็ตรวจได้ ตามความจริง เน้นว่าแม้หลับตา ก็ไม่ทิ้งภายนอก แต่หลับตา เพื่อตรวจสอบเป็นหลัก ทำเตวิชโช รู้ว่าจิตเกิด จิตดับจริง รู้ว่าเราได้ดับอาสวะ จริงหรือไม่ โดยตรวจของแห้ง ที่พอระลึกได้ แต่การลืมตา สัมผัสสดๆ แล้วเรากิเลส ไม่เกิด จริงหรือไม่ อาสวะไม่เกิด จริงหรือไม่ ไม่ใช่มีแต่ภาษา อนุสัยเกิดเหลือหรือไม่ แม้มีธุลีละออง เกิดแม้น้อยนิดหรือไม่ แล้วก็ต้องรู้ให้จริง รู้บ้างไม่รู้บ้างไม่ได้ ในของจริง ทั้งนอกและใน

ในอิริยาปถบรรพ คือทั้งนอกและใน ในขณะมีอิริยาบถอยู่ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เมื่อเราเดิน-ยืน-นั่ง-นอน เราก็มีสติตั้งมั่น รู้ว่ากายมีอยู่ ไม่ให้ทิ้งกาย ให้สัมผัสวิโมกข์ ๘ อยู่ ให้รู้ตั้งแต่ภายนอก ข้าวของ บ้านช่องเรือนชาน ไปจนบุคคล ก็ให้รู้แต่สักแต่ว่ารู้ รู้ว่าเราไม่ประกอบด้วยตัณหา ทิฏฐิ หรือไม่ แม้หยาบกลางละเอียด สัมผัสอยู่ เราก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นเรา เป็นของเราหรือไม่ จิตเราเมื่อสัมผัส แล้วมีจิต ระลึกนึกอยู่ มีสัมปชัญญะ มีสัมปัชฌานะ คือวิจัยเหตุที่เป็นกิเลส แล้วลดละล้าง ออกไปจากจิต

สัมปชัญญะบรรพ ก็ละเอียด มีการรู้ตัวมากกว่าคือ ในการเหยียดแขนเข้า คู้แขนออก การนุ่งห่ม การเดินเข้าเดินออก การอุจจาระ ปัสสาวะ ภิกษุย่อมตามเห็นกายในกาย สติของเธอ ตั้งมั่นอยู่ว่า องค์ประกอบของกาย ทั้งนอกและในมีอยู่ ก็เพียงสักแต่ว่า อาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้ที่ตัณหา ทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว คือทำให้ไม่มี ไม่ใช่ว่า เอาแต่พยัญชนะ หลงภาษาว่า เราไม่มีแล้ว ต้องทำเอา และไม่ยึดมั่นถือมัน แต่อาศัยกายอยู่ นั่นคือมีสัมผัส วิโมกข์ ๘ ด้วยกาย

ปฏิกูลมนสิการบรรพ คือการทำใจในใจ จัดแจงจัดการใจ ทำให้มันออกให้หมด เหมือนซักผ้า ให้สะอาด ในปฏิกูล คือสิ่งที่จะต้องเอาออก ท่านว่าให้พิจารณา แต่พื้นเท้า ไปถึงเส้นผมว่า เต็มไปด้วย ของไม่สะอาด ต่างๆนานา พระพุทธเจ้า ท่านละเอียด ละเลียด ท่านพูดให้รู้ว่า มนุษย์มีอาการ ๓๒ คือมีอาการ กิริยาอยู่ ท่านก็เปรียบเหมือน ถุงหนัง (ผิวหนัง ) ที่มีทุกอย่าง คือ ตับ ไต ไส้พุง อาหารเก่า-ใหม่ น้ำลาย ฯลฯ อยู่ คือให้พิจารณาหมด แล้วทำให้มันเสื่อมมันหมดไป ซึ่งมีทั้งที่ มันเสื่อมไปโดยธรรมชาติ และที่เราตั้งใจ ทำให้มันเสื่อมมันหมด คือทำให้ตัณหา และทิฏฐิ ไม่อาศัยอยู่แล้ว

คือต้องมีความรู้ใน สัมปชัญญะ - สัมปชานะ - สัมปาเทติ - สัมปัชชติ - สัมปาเปติ - สัมปฏิสังขา - สัมปัชชลติ - สัมปัตตะ- สัมปันนะ - สัมปฏิเวธ

จากนั้นเป็น ธาตุมนสิการบรรพ  ธาตุ คือทั้งรูปธาตุ และนามธาตุ คือสิ่งที่เราสมมุติว่า มีตัวตนแล้ว มีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ ที่ประกอบกันอยู่ แล้วก็อธิบาย ลักษณะ ที่มันเป็นอยู่ อย่างในเคมีเป็นต้น แต่ว่าธาตุทางนามธรรม ก็แยกแบ่งได้ อย่างคนฆ่าโค แล้วชำแหละ แบ่งแจกออกไป ภิกษุก็แยกธาตุเช่นนั้น

สุดท้าย คือ นวสีวถิการบรรพ พระพุทธเจ้าท่านอธิบายว่า กายที่เรามีอยู่ ก็แค่อาศัยใช้ ให้พิจารณา ในขณะเราเป็นๆอยู่ เพราะตายไปแล้ว เราก็ศึกษาไม่ได้ เราก็น้อมว่า ความเน่าเหม็น ความเสื่อมของกาย ก็น้อมมาสู่เรา ว่ากายเรา ก็เป็นเช่นนั้นอยู่

นวสีวถิกาบรรพ [๒๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกผุ เป็นจุณแล้ว เธอย่อมน้อมเข้ามา สู่กายนี้ แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้ เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนา มาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น กายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็น กายในกาย ภายนอกบ้าง พิจารณาเห็น กายในกาย ทั้งภายในภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อม ในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอ ที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่า อาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิ ไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็น กายในกายอยู่ ฯ

เชื่อไหมว่า อวิชชา ของคุณไปยึดอัตภาพ นานกว่าโลกลูกนี้แตกเสียอีก แล้วเราจะยึดถือ ไปถึงไหน

ส่วนพิจารณา เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ก็อธิบายมามากแล้ว

คุณอาศัยเวทนามากกว่ากาย หลายคนประคบประหงมกาย ก็คือคุณประคบ ประหงมจิต จิตมันบ้าไป เราควรให้มัน พอเป็นไป ให้สมดุลวันต่อวัน แข็งแรง ไม่มีเชื้อโรค ก็อาศัยมันไป จนกว่าจะปรินิพพาน คนในโลก มันหลงกาย ก็หลอกกันไป เล่าอดีตว่า พ่อครูเคยมีแฟน เขาไปซื้อลิปสติก ราคา ๔๐๐ บาท ซึ่งสามารถ ซื้อทองคำได้ ๑ บาท พ่อครูตอนนี้ก็ว่า จะบ้าหรือ แต่ก็สามารถสอน ให้เขาวางทิ้งได้ ไปซื้อผ้ามา เมตรละ ๔๐๐ บาท เขาจะจำได้หรือไม่ ตอนนี้ไปเป็นภรรยาฝรั่ง อยู่อังกฤษ มีลูก ๑ คน

ผู้หญิง เขาหลอกเอาขี้หมาทาสีก็ซื้อ เคยได้ยินข่าวว่า ลูกสาวขอเงินเป็นแสน ไปซื้อกระเป๋า แม่ไม่ให้ก็โกรธ แต่แม่ก็ลองดู ก็เซ็นเช็คให้ แต่ลูกก็มีสำนึกได้ เอาเงินมาคืน ซึ่งก็คือ เล่นลิเกไปเท่านั้น บางคน ซื้อกระเป๋า ใบละสี่แสน จะบ้าหรือ (นี่คือโวหาร)

เราพิจารณาในสิ่งหลอก ในกายก็ดี ในเวทนาก็ดี ก็พิจารณาในเวทนา ๑๐๘ ก็พิจารณาว่า เราไปทำตาม ตัณหา อุปาทาน เราก็ต้องรู้มัน ขณะเกิด ก็กำจัดมัน อย่างสดๆ

ธรรมในธรรม ก็พิจารณาในนิวรณ์ ๕ ที่ย่อมาสั้นที่สุดแล้ว ให้รู้ให้ชัด ว่าพ้นหรือไม่ ?

คนสามารถรู้รูปนามขันธ์ ๕ โดย ขันธบรรพ รู้โพชฌงค์บรรพ รู้ว่าขันธ์ ๕ สะอาดหรือยัง ในรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ขันธบรรพ [๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออุปาทานขันธ์ ๕ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออุปาทานขันธ์ ๕ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นดังนี้ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับ แห่งสังขาร อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณา เห็นธรรมในธรรม ภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อม ในธรรมบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอ ที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่า อาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฐิไม่อาศัย อยู่แล้ว และไม่ถือมั่น อะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ ฯ

อายตบรรพ  ในอายตนะในไม่ต้องมีสัมผัส คือมีมนายตนะ และธรรมายตนะ คือสิ่งทรงไว้ กับ ใจ มันเป็นของแห้ง ที่ทรงไว้อยู่ในเก๊ะ แต่ชีวิตคุณมีทวาร ๖ ต้องศึกษา อายตะ ๑๒ ต้องรู้ทั้งนอกและใน

โพชฌงคบรรพ ไปจบที่อุเบกขา จิตคุณไม่หวั่นไหว แม้กระทบสัมผัส หรือ คุณจะเขย่าปรุงเอง ก็ไม่หวั่นไหว แม้ข้างนอก กระทบกระแทก เราก็ไม่หวั่นไหว มีสังขารุเปกขาญาณ เราก็รู้ว่า เรามีธาตุของสังขาร ขนาดไหน คุณจะอนุโลม ได้ขนาดไหน จะแสดงปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรับปวาทะ ให้เรียบร้อยโดยสหธรรม ถ้าสามารถทำได้

เมื่อจบโพชฌงคบรรพ ก็พิจารณา [๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณา เห็นธรรมในธรรม  คืออริยสัจ ๔ อยู่ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออริยสัจ ๔ อยู่

สรุปที่จูฬสุญญตสูตร
[๓๔๑] ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจ อากิญจัญญาตนสัญญา ไม่ใส่
ใจ เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียว เฉพาะเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต จิตของเธอ ย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า

เจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิตนี้แล ยังมีปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้ ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้นั้น ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ

เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี เธอจึงรู้ชัด อย่างนี้ว่า ในญาณนี้ ไม่มีความกระวนกระวาย ชนิดที่อาศัย กามาสวะ ชนิดที่อาศัย ภวาสวะ และชนิดที่อาศัย อวิชชาสวะ

มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย (ทรถ) (ท่านไม่ต้องทุกข์ในโลกีย์ แต่ท่านทุกข์ ในโลกุตระ ของท่าน) คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เอง เพราะชีวิตเป็นปัจจัย เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ ว่างจากกามาสวะ สัญญานี้ ว่างจากภวาสวะ สัญญานี้ ว่างจาก อวิชชาสวะ

และรู้ชัดว่า มีไม่ว่างอยู่ก็คือ ความเกิด แห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เอง เพราะชีวิต เป็นปัจจัย ด้วยอาการนี้แหละ

เธอจึงพิจารณาเห็นความว่างนั้น ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ ในเจโตสมาธินั้นเลย และรู้ชัด สิ่งที่เหลืออยู่ ในเจโต สมาธินั้น อันยังมีอยู่ ว่ามี ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ เป็นการก้าวลงสู่ ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้น ฯ

ต้องมีปัญญาตรวจความไม่มี เป็นความว่าง จากที่ที่ไม่ควรมี แม้เล็กน้อย ละเอียดยิ่งกว่า ธุลีละออง คุณมีหรือไม่ เป็นความกระวนกระวาย ความทุกข์ที่เราทนได้ แค่ไหน คุณออกไป ทำงานกลางแดด คุณทนได้หรือไม่ คุณกำลังถูกเขาตอกขมับ ทับเล็บ ถ้ามีวิบาก คุณก็ไม่มีขุ่นใจ โกรธเคืองเลย แต่ก็รู้ว่า มันทุกข์โดยสภาวะ ถูกเขาด่า ก็รู้ว่า เป็นสภาวะที่ไม่ดี กินพริกที่เผ็ดมากๆ ก็มีสภวะที่ทุกข์ แต่ใจเราก็ไม่ได้หมองอะไร เขาใส่พริกมาในอาหาร ก็ตั้งใจให้เราเจริญอาหาร แต่เราทนไม่ได้เอง แต่ก่อนแม้เผ็ด แต่ถูกเขาหลอกว่าอร่อย ก็หลงเชื่อเขามาแล้ว แม้แสบเผ็ดก็กินเข้าไป เราล้วนเคย ถูกหลอก มาแล้วทั้งนั้น 

เราฟังธรรม แล้วก็มีบทปฏิบัติ แม้ว่าเราต้องเจอแดดร้อน ไปทำปุ๋ย ต้องไปทำงาน ก็ล้วนเป็นเหตุปัจจัย ของสัมมาอาชีพ แม้คุณไม่ได้ทำไปตลอด แต่ว่าคุณได้มาร่วม ที่บ้านราชฯ บางคนก็อาจได้รับทุกข์ บาดเจ็บ ก็มีทุกข์กาย แต่ใจคุณ ถ้าเข้าใจมีปัญญา ก็จะไม่ทุกข์ มันก็จะมีทรถ (กระวนกระวายใจ) มันไม่เฉยๆทั้งนอกและใน ใจมันก็มีสะดุ้ง ก็เจ็บ พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็เจ็บ มันร้อนมันหนัก บางทีไม่ได้ตั้งสติ ก็เป็นไป แต่ใจเราไม่ได้ขุ่นเคือง จองเวรจองกรรม รู้เหตุปัจจัย สรุปใน จูฬสุญญตสูตร เรากำหนดรู้ อาสวะ คือสิ่งหมักดอง แตกตัวได้ เหมือนแบคทีเรีย หรือยีสต์ ถ้ารู้แล้วก็จบ รู้ว่าอันนี้ มันร้อนเย็นหนาว ก็เข้าใจ แม้ปะทะข้างนอก หรือใจมันเองก็ตาม แปล๊บมาก็รู้ แก้ไขได้ก็ทำ ไม่ได้ก็ปล่อย แม้อย่างพระโมคคัลลานะ มีวิบากก็ตาย แม้จะเนรมิตกี่ที ก็มีวิบากมาทำ สุดท้าย ท่านก็ยอมตาย ด้วยวิบากนี้ ต้องชดใช้ เขาฆ่าก็ต้องให้ทำ อย่างนี้เป็นต้น

 ................. จบ

              

 
10 เมษายน 2556 ที่ พุทธสถานราชธานีอโศก