ยุทธวิธี ๘ ขั้นแห่งการเป็นผู้พิชิต
(พาหุงฯ ๘ ที่พิสูจน์ได้)

พิมพ์ครั้งที่ ๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม เดือน กรกฎาคม ๒๕๒๐

คำนำ

ทุกชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนต้องเผชิญกับการต่อสู้ ในรูปแบบ และจุดมุ่งหมาย ที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไป ตามเงื่อนไขของสภาพแวดล้อม สัญชาตญาณ และความเจริญ แห่งภูมิจิต ภูมิปัญญา ที่พัฒนาแปรเปลี่ยนไป ในแต่ละยุค แต่ละสมัย

นับตั้งแต่การต่อสู้กับภัยพิบัติ ทางธรรมชาติ ต่อสู้กับความทุกข์ ทรมาน ของโรคภัย ไข้เจ็บ ต่อสู้เพื่อครอบครองกรรมสิทธิ ในที่อยู่อาศัย ต่อสู้เพื่อแย่งชิง ความเป็นใหญ่ ฯลฯ ของมนุษย์ ในยุคสมัยต้นๆ

มาจนกระทั่งถึง การต่อสู้ เพื่อครอบครองอาณาเขต ดินแดนต่างๆ ต่อสู้เพื่อเรียกร้อง สิทธิเสรีภาพ ต่อสู้เพื่อความอดอยากหิวโหย ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ ต่อสู้กับสิ่งแวดล้อม ที่เป็นพิษ ฯลฯ ของมนุษย์ ในยุคปัจจุบัน

จากการต่อสู้ในระดับบุคคล เงื่อนไขของการต่อสู้ ได้บีบรัด ให้มนุษย์ผนึก รวมกันเข้า เพื่อร่วมกัน ต่อสู้กับภัยพิบัติ ทั้งทางธรรมชาติและสังคม จนคลี่คลายขยายตัว เป็นขบวนการต่อสู้ อันยิ่งใหญ่ของ มวลมนุษยชาติ

แต่แทนที่การผนึกรวมกันเข้า ของมนุษย์ จะช่วยให้มนุษย์ ได้พบกับชัยชนะ ในการต่อสู้ และอยู่ร่วมกัน อย่างมีสันติสุข มันกลับก่อให้เกิด ปัญหาอันยุ่งยาก และสลับซับซ้อน ยิ่งขึ้นทุกทีๆ จนกลายเป็นกลไกอันยุ่งเหยิง ของสังคม ในระบบต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพล ผลักดัน ให้วิถีชีวิตมนุษย์ ให้ต้องดำเนินไป ตามวงจร และค่านิยม ที่สังคมนั้นๆ กำหนดขึ้น โดยปราศจาก จิตสำนึกที่แท้จริง ในการอยู่ร่วมกัน และความรู้ซึ้งถึงคุณค่า และความหมาย ของการมีชีวิตอยู่ อันนับว่า เป็นความปราชัย อย่างยับเยินที่สุด ของมนุษยชาติ!

สาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์ ต้องประสบกับความล้มเหลว ในการต่อสู้กับศัตรู ทั้งทางธรรมชาติ และสังคมนั้น เพราะมนุษย์ มัวแต่ไปวุ่นวาย อยู่กับสิ่งเร่งเร้า ภายนอก มากเกินไป จนละเลยและมองข้าม ศัตรูสำคัญที่สุด ของมนุษยชาติ อันคือ "สัญชาตญาณสัตว์ป่า" ซึ่งครอบงำฝังลึก อยู่ในกมลสันดาน ของมนุษย์นั่นเอง ที่ทำให้สังคม ของมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์เมือง มีสภาพไม่แตกต่างไปจาก ฝูงสัตว์ป่า ในด้านของความสำนึก ทางมโนธรรม

จึงกล่าวได้ว่าศัตรูสำคัญ ซึ่งเป็นตัวการที่บ่อนทำลาย มนุษยชาติ ให้ย่อยยับนั้น ก็คือ "สันดานดิบ" ที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจ ของมนุษย์ปุถุชน ทั้งหลายนี้เอง

เมื่อเห็นได้แล้ว พึงช่วยกันกำจัดเถิด สาธุชนทั้งหลายเอ๋ย!

"ยุทธวิธี" ๘ ขั้นแห่งการเป็นผู้พิชิตนี้ มีเนื้อหาสาระ ในการที่จะชำระ ขัดเกลา หรือ อบรมบ่มสันดาน ของมนุษย์ ให้มีจิตวิญญาณ อันบริสุทธิ์หมดจด และเจริญงาม สูงส่ง เปี่ยมด้วยมโนธรรมสำนึก อันไพบูลย์ จนอยู่เหนืออิทธิพล ของสัญชาตญาณ สัตว์ป่า เป็นผู้พิชิต ซึ่งได้รับชัยชนะ เหนือตนเอง และเหนือโลก (โลกุตระ) อย่างแท้จริง

โดยเรียบเรียง ถ่ายทอดจากคำบรรยายเรื่อง "พาหุง ๘ " (บทถวายพรพระ) ซึ่งบันทึกเสียงไว้ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ และได้แก้ไขปรับปรุง และเพิ่มเติม ส่วนที่ยังขาดตก บกพร่องอยู่ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ ก็ได้ตั้งชื่อเรื่องเสียใหม่ เพื่อความเหมาะสม ตามกาลสมัย

ซึ่งบทถวายพรพระ หรือพาหุง ๘ นี้ โดยทั่วไป ก็ใช้เป็นบทสวดอ้อนวอน ขอความเป็น ศิริมงคล อันเป็นลัทธิพิธี ตามความเชื่อ ของศาสนาแบบ "เทวนิยม" ซึ่งเป็นแบบอย่าง ของลัทธิยอมจำนน ที่สอนให้คน งอมืองอเท้า ไม่ต่อสู้กับชีวิต โดยยกอ้าง อำนาจลี้ลับ ของผีสางเทวดา มาพะเน้าพะนอ ความอ่อนแอของตนเอง อันไม่ใช่ วิสัยของชาวพุทธ ที่แท้จริงเลย

รายละเอียดต่างๆ ก็จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ เพราะภายในเนื้อเรื่อง ก็ได้บรรยายไว้ อย่างแจ้ง กระจ่างอยู่แล้ว จนคิดว่าบางที ความแจ้งกระจ่าง ของเนื้อหาสาระ อันเป็นแก่นแท้ อาจทำให้เกิด ความกระทบกระเทือน แก่ผู้ที่ยังติดอยู่ ในสภาวะนั้นๆ ก็ขอความกรุณา โปรดอย่าได้ขัดเคือง หรือขุ่นข้องหมองใจเลย เพราะผู้บรรยาย มีแต่ความจริงใจ และบริสุทธิ์ใจ ที่จะแสดงสารัตถะ แห่งสัจธรรม ให้ปรากฏ อย่างชัดเจน ด้วยกุศลเจตนาแท้ๆ มิได้มีอคติ แต่ประการใดเลย

พระพุทธพจน์ว่า "ผู้ชี้โทษ นั่นแหละคือ ผู้ชี้ขุมทรัพย์"

ในที่สุดนี้ ก็จะเว้นกล่าวเสียมิได้ก็คือ การที่หนังสือเล่มนี้ สำเร็จเป็นรูปเล่ม ขึ้นมาได้ ก็ด้วยความเอื้อเฟื้อของคุณ "พยนต์ เทียนประเสริฐ" และมิตรสหาย ซึ่งเป็นผู้รับภาระ ในการจัดพิมพ์ จนสำเร็จลุล่วงมาได้ด้วยดี จึงขออนุโมทนา สาธุการไว้ ณ ที่นี้ด้วย และขออานิงส์ ในสารัตถะแห่งหนังสือนี้ พึงได้แก่สาธุชน ทุกๆท่าน ผู้อ่าน ด้วยวิจารณญาณอันยิ่ง เทอญ

อัตตา หเว ชิตัง เสยโย ชนะตนนั่นแหละเป็นดี

จาก ชาวอโศก เพื่อมวลมนุษยชาติ


ยุทธวิธี ๘ ขั้นแห่งการเป็นผู้พิชิต
(พาหุง ๘ ที่พิสูจน์ได้)

ลำดับต่อไปนี้ จะบรรยายเกี่ยวกับคำ ที่ได้สวดกัน ฟังกันมามากมาย คือ บทสวดมนต์ ชื่อ "พาหุง สะหัสสะมะภินิม มิตะสาวุธันตัง ฯลฯ" ที่เคยได้ฟังกันมา เป็นพาหุงสั้นๆ หรือเป็นพาหุง ทั้ง ๘ บท ยาวเต็มก็ตาม ณ ที่นี้ จะบรรยายให้ฟัง ครบกันอย่างจะจะ ทั้ง ๘ บท ๘ ขั้น ทีเดียว

ที่ได้ฟังกันมาแล้ว ก็ได้ยึดหลงกันคิดว่า บทสวดพาหุงฯ นั้นเป็น "คาถา" กันโน่นกันนี่ กันผีกันสาง ทำให้สมจิตสมใจ ในสิ่งโน้นสิ่งนี้ เที่ยวให้สำเร็จผล อย่างโน้นอย่างนี้ มีฤทธิ์มีเดช อย่างโน้นอย่างนี้ นั่นเป็นความเชื่อถือ ยึดถือที่งมงาย เพราะอะไร มีเหตุ มีผลอย่างไร? ผู้เชื่อนั้นก็ไม่รู้ เราได้ยินติดหู ภาษาบาลี

"พาหุง สะหัสสะมะภินิม มิตสาวุธันตัง ครีเมขะลัง อุทิตะโฆ...ฯ เราก็นึกว่าเป็น "ถาคา" แหม! ดีจริงๆ ขลังจริงๆ ทั้งๆที่ เราไม่รู้เลยทั้งหมดว่า หมายความว่าอะไร? นอกจาก ได้รับมา โดยเป็นการสวดร้องหมู่

"พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตโฆระสะเสนะมารัง
ทานังทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
"

บท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ นี่ เขาแปลว่า "ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่ง พระพุทธชัยมงคลนั้น" อันนี้เป็นบทจบ ของทั้ง ๘ บท ที่สวดเป็น พาหุงยาวๆ เป็นบท "ขอ" หนะ !

ที่จริงพระพุทธเจ้า ท่านไม่เคยสอนเรื่อง "ขอ" และไม่มีบทสวด "ขอ" ไม่มีการ สวดอ้อนวอน เพราะศาสนาพุทธ ไม่ใช่ "เทวนิยม" ไม่ใช่ศาสนาที่มี "พระเจ้า" (GOD) บันดาล เหมือนศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนาฮินดู ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ฯลฯ เป็นต้น

ศาสนาพุทธ ไม่ได้มีพระจิต พระวิญญาณ คอยแผลงฤทธิ์ แผลงเดช ประทานนั่น บันดาลนี่ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ เห็นยิ่งไปกว่า "ศาสนา" ซึ่งมีความเชื่อใน "เทวนิยม" ในเรื่อง"จิต" เรื่อง"วิญญาณ" แบบเก่าๆเดิมๆ หรือจะเรียก "พระจิต" เรียก "พระวิญญาณ" ตามภาษาศาสนา ทางตะวันตกก็ตาม พระพุทธเจ้า เป็นพราหมณ์ เป็นฮินดูมาเก่า เคยถูกสอนให้เชื่อ ให้"ขอ" ต่อเทวะ ต่ออาตมัน มาก่อน แต่แล้ว พระองค์ ก็มาตรัสรู้ แจ้งในอาตมัน ตรัสรู้แจ้งในเทวะทั้งหลาย อย่างแจ่มชัดแท้ แล้วก็สอนผู้คน ให้รู้แจ้งตาม ศาสนาพุทธเน้น "กรรม" อันคือ "การงาน หรือการกระทำ" ของใครก็ของใคร

นั่นแหละ คือมี"การกระทำ" เป็นของๆตน ใครทำดี ก็ได้ดีนั้น ใครทำชั่ว ก็ได้ชั่วนั้น หรือ ยิ่งไปหลงพึ่ง "ขอ" เอากับวิญญาณภูต วิญญาณผี วิญญาณเทวดา กเฬวราก ที่ต่ำที่ต้อย ยิ่งกว่าวิญญาณ "พระเจ้า" ก็ยิ่งเป็นศาสนาต่ำต้อย ยิ่งกว่าศาสนาที่มี "พระเจ้า" ไปใหญ่ ก็ยิ่งไม่ได้เรื่องเลย ยิ่งเหลวยิ่งแย่!

นี่คนสมัยต่อมา เป็นอาจารย์รุ่นหลัง แต่งบทนี้ขึ้น แต่งบทสวดพวกนี้ขึ้น แล้วก็ใช้เป็น บทขอ อ้อนวอนขอ กราบกรานขอ อ่อนน้อมขอ เดินเวียนรอบขอ ไปเอาอย่าง ศาสนาอื่น ที่เขามี "พระเจ้า" (GOD) ประทาน หรือ บันดาลซะนี่! ซึ่งการสวด ขอเอานั้น ไม่ได้! มันไม่ได้ มันเป็นการขอที่ไม่ได้ เราต้องเป็นคน ช่วยตัวเอง ทำเอาเอง และจะได้เอง มันถึงจะดี

แต่เอาเถอะ จะขอหรือไม่ขอ ก็ตามแต่ ถ้าเราน้อมใจของเรา ตั้งอธิษฐานว่า อยากได้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปเป็นมงคล ! มงคลหรือความดี หรือเป็นชัยมงคล มันก็ดีละ "ชะยะมังคะลานิ" ชัยมงคลมันดี ที่มีชัยมีมงคล ตามว่า แต่มงคล หรือความดี ตามว่านี่ เราควรจะได้อย่างไร? เป็นยังไง?

บทพาหุง ทั้ง ๘ อาจารย์ เกจิอาจารย์รุ่นหลัง (คือ ไม่ใช่คาถาของ พระพุทธเจ้า ตรัสไว้) ได้ไปเรียบเรียง เอาประวัติของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้า ท่านได้แสดง ปาฏิหาริย์ก็ดี หรือว่า แสดงความเก่งกล้า สามารถ โดยการปราบมาร ปราบยักษ์ ปราบเดรัจฉาน ที่โง่เง่ามืดมัว เพราะว่าเมามัน เมาสิ่งที่คนหลง แล้วก็ปราบ คนใจหยาบ อำมหิต ปราบคนที่มัน จอมลวงโลก หรือว่าปราบไป จนกระทั่ง ถึงนักบวช ที่อวดดีหลงตน ปราบนาค เรียกว่า พญานาคก็ได้ เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟัง

พญานาค หมายถึงอะไร ? คนต่างๆ หมายถึงอะไร? เดี๋ยวจะเข้าใจ

ปราบพญานาค ไปจนกระทั่งถึง พระพรหม ปราบหมด เป็นความสามารถ ที่พระพุทธเจ้าของเรา ท่านได้แสดง หรือได้กระทำมาแล้ว ในประวัติของท่าน ที่เราได้ฟัง ได้ยินมา แล้วพระเกจิอาจารย์ รุ่นหลังๆ ก็ไปเอามาแต่ง เรียบเรียงเข้า ร้อยกรองเข้า พระพุทธเจ้าของเรา ที่เรียกว่า พระจอมมุนี หรือ เรียกว่า พระบรมศาสดา เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้แล้วแต่ เป็นผู้ที่ได้ผ่าน การชนะ หมายความว่า ชนะมาหมดทุกอย่าง ตั้งแต่แสนร้ายกาจที่สุด ไปจนกระทั่ง เก่งที่สุด ขนาดไหนๆ พระพุทธเจ้า ชนะมาหมด นี่เป็นความดี เป็นความที่ น่าสรรเสริญ เป็นสิ่งที่เรา ควรจะเอาแบบอย่าง

เพราฉะนั้น ถ้าเราฟังพาหุง ๘ บทแล้ว เราทำความเข้าใจให้ได้ ทั้ง ๘ บทว่า หมายความว่า อย่างไร? แล้วเราก็มีการประพฤติ เจริญรอย ตามพระพุทธเจ้า เจริญรอยไป ตั้งแต่บทที่ ๑ ที่กล่าวมาแล้ว เมื่อกี้นี้ ภาษาบาลี ซึ่งแปลความ เป็นไทย บทที่ ๑ ตั้งแต่ พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง ครีเมขะลัง... (จนถึง) ชะยะ มังคลานิ ที่กล่าวไว้แล้ว แปลเป็นไทย แล้วเขาแปลกันไว้ ว่าอย่างนี้

"พระจอมมุนี ท่านได้ชำนะพญามาร ผู้นิรมิตแขนมากตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่คชสาร ครีเมขละ พร้อมด้วยกองทัพมาร โห่ร้องก้องกึก ท่านเอาชนะได้ด้วย ธรรมวิธี มี ทานบารมี เป็นต้น

นี่ คำแปล ว่าอย่างนี้ ถ้าฟังดูเผินๆ การเล่าถึงว่า พระพุทธเจ้า ชนะพญามาร ที่มีแขนยุบยับ ไปหมด ตั้งพัน และแขนตั้งพันนี้ ถืออาวุธหมด ถือทุกๆ มือเลย ครบมือ ขี่พญาช้างสาร ครีเมขละ มีเสียงโห่ร้อง ของเสนา พลพรรค พวกมาร ทั้งหลาย มาพร้อมเลย อย่างนี้ เราวาดรูป หรือเราปั้นรูป แสดงเป็นพญามาร ที่มีแขนตั้งพัน ถ้าเราไปเข้าใจถึงว่า รูปร่าง คอยคิดเอา ดำริเอา หรือปั้นเอา ว่ารูปร่าง ของพญามาร นั้นแหละ ปั้นแขนเข้าไป ตั้งพันแขน ถืออาวุธครบมือ ตั้งพัน แล้วก็ขี่ช้างสารมา มีเสนามาร ถือมีด ถือง้าว ถือหอก โห่ร้อง กึกก้องมา อย่างนั้น เราก็เห็น เป็นรูปร่าง คงจะมีอำนาจมาก ทีเดียวล่ะ! ถ้าเราเห็น เราคงจะวิ่งหนี ก็คนตั้งพัน หอกดาบอะไร เต็มไม้เต็มมือ อย่างนี้ ต้องวิ่งหนีแน่

พระพุทธเจ้าเอง ท่านสามารถเอาชนะ สิ่งที่เรียกว่า ถ้าคนมีรูปอย่างนี้ หรือว่า สัตว์โลก ชนิดไหน ที่มีรูปร่างอย่างนี้ ถือมีดถือหอก ถือดาบมาอย่างนี้ น่ากลัว มีเสียงโห่ร้องส่งมา กึกก้องเสียด้วย

ซึ่งถ้าใครพาซื่อ หลงบัญญัตินั้น เป็นรูปธรรมโท่โล่ๆ อย่างนั้นแล้วละก็ ชีวิตของคุณ ทุกคนนี่นะ ไม่มีทางที่จะเจอ พญามารแบบนี้เลย เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด กี่ร้อยชาติ พันชาติ ก็ไม่เจอ มารที่มีมือตั้งพัน ถือมีดถือหอกดาบ มาตั้งพันมือ มีเสนามาร ร้องโห่ กึกก้องมาอย่างนี้ ไม่มีหรอก ! คุณไม่เจอหรอก ! แต่คุณจะเจอ พญามาร ที่มันร้ายกาจ เหมือนกับ มันมีมีดเป็นพันมือ ถืออาวุธครบมา ทั้งพันมือ จะเจอ"ตัวแท้" ตัวจริงด้วย ถ้าคุณเข้าใจ ใสสว่างเป็น "สัมมาทิฏฐิ" ได้

เมื่อไรคุณจะพบ มารพวกนี้ ฟังดีๆ ! มันโห่ร้องยั่วยวน กวนใจ มากำหราบ ให้คุณกลัว ให้คุณยอมสิโรราบ ถ้ามันจะสั่ง ให้คุณทำเลว ขนาดไหน คุณก็จะทำ คุณกลัวมาร มารมันยิ่งยวน มันบังคับขู่เข็ญ ใช้มีด ใช้อำนาจต่างๆ ใช้หอกใช้ดาบ ทิ่มแทง พยายามที่จะบังคับ ให้คุณทำชั่ว ทำเลวยังไง คุณก็ทำ เพราะคุณกลัวมัน กลัวมารนี้ คิดให้ดี ถ้ามารอย่างนี้แล้วละก็ ไม่เห็นตัว ไม่มีมือไม่มีแขน ให้เห็นโท่โล่ๆ หรอก ! แต่มันเหมือน มีแขนมีมือให้เห็น มันขู่คุณทุกเวลา บางที คุณกำลัง ไม่อยากทำ ในสิ่งนี้ เป็นสิ่งเลว แต่มันก็บังคับคุณ เหลือเกิน บังคับคุณให้ทำ คุณรู้ว่า สิ่งนี้ชั่ว คุณก็รู้ แต่ก็ถูกบังคับไป เหมือนมีมาร มันถือมีด ถือหอกถือดาบ ทิ่มแทง ให้คุณทำ การกระทำชั่ว การกระทำเลวอย่างนี้ โดยที่คุณรู้ คุณเห็นอยู่ คุณเข้าใจอยู่ว่า เป็นของไม่ดี แต่ก็เหมือน พญามารบังคับอยู่ นั่นแหละ มารที่เจ้าของเอง จะเห็นจะรู้ คนเราทุกคน จะเห็นจะรู้ ในชาตินี้ ไม่ต้องชาติไหน อย่างนี้แล้วล่ะก็ ได้ผล ถ้าใครเข้าใจธรรมะ ซึ่งเป็นธรรมาธิษฐาน ที่แปลออกมาแล้ว ไม่ต้องไปปั้นรูป จะเป็นพญามาร ขี่คอช้าง มีมือตั้งพันมือ ไม่ต้องแปลงรูป เป็นปุคลาธิษฐาน อย่างนั้น แต่เป็นความเลว บังคับใจคุณ ให้คุณทำสิ่งนั้น นั่นแหละ "ตัวมาร" มันจะเจอ มาจากไหนก็ช่าง มันอาจจะเป็นเจ้านาย ห้าร้อยคน ก็มาแล้วพันมือ นายมีห้าร้อยคน คนละ ๒ มือ ก็มีแล้วพันมือ และบีบบังคับ ให้คุณทำ ความชั่วนั้น คุณไม่ยอมโกง แต่เจ้านายอีกห้าร้อย ของคุณโกง แล้วบีบบังคับ ให้คุณโกงด้วย นี่แหละเจ้านาย หรือว่ามารพันมือละ ซึ่งบังคับคุณ ถือหอก ถือดาบ บังคับให้คุณโกงตาม คุณรู้อยู่อย่างนี้แล้ว คุณก็แพ้มัน คุณสร้างทำความชั่วนี้ ก็เหมือนกับถูกมาร ที่ยื่นหอกยื่นดาบ เอามีดทิ่มแทง บังคับขู่เข็ญให้คุณทำ เสร็จแล้ว คุณชนะไม่ได้ ชนะความชั่ว ไม่ได้ พ้นความชั่วไม่ได้ คุณทำความชั่วนั้น เรียกว่า คุณแพ้มาร

ถ้าคุณเอง หาทางปลีกออก ไม่ยอมเป็นทาส พญามาร แม้จะมีพันมือ เอาหอก เอาดาบ ทิ่มแทง คุณก็ไม่ยอม ปลีกตัวหนีเสีย ไม่ยอมร่วมมือ นี่คุณรู้ชัดว่า นี่เป็นความชั่ว คุณไม่ทำเลย ใครผู้ใดก็ตาม ถ้าทำได้อย่างนี้ แน่นอน ชนะมาร ที่มีมือตั้งพัน หรือถืออาวุธครบ จริงๆด้วย อย่างนี้คุณจะพบ อย่างนี้คุณจะต้องทำ

เพราะฉะนั้น แม้มารจะมีมือเพียงสองมือ สามมือ ถือมีดมาทิ่มแทงคุณ ก็อย่าทำ อย่าว่าแต่มาร มีอาวุธครบ พันมือเลย มารเล็กๆ น้อยๆ แม้จะมีหอกมีดาบ มาทิ่มแทง ให้คุณทำชั่ว คุณก็อย่าไปทำ อาจจะเป็นพ่อ เป็นแม่คุณ นี่แหละ บังคับ ให้คุณทำชั่ว ทั้งๆที่คุณรู้ว่าความชั่ว เหมือนพ่อแม่บังคับ เหมือนกับถือมีด ถือหอก ถือดาบ นี่แหละบังคับ แล้วคุณก็จะต้อง ทำชั่ว อย่างนี้ เพราะพ่อแม่บังคับ หรือเพราะ พี่น้องบังคับ เพราะญาติโก โยติกาบังคับ เพราะเมียคุณ เพราะผัวบังคับ เพราะลูกบังคับ เพราะแฟนบังคับ เพราะเจ้านายบังคับ ก็อย่าได้ล่วงละเมิด กระทำ เป็นอันขาด คุณต้องชนะ ทุกประเภท แม้แต่มีมือ ตั้งพันมือ คุณจะต้องชนะให้ได้ บังคับคุณ ถือหอกถือดาบ ก็ต้องบังคับตัวเอง ชนะมารอย่างนี้ให้ได้

เพราะฉะนั้น ยิ่งมารมีมือเดียว ถือหอกถือดาบ ยิ่งอย่าไปยอมแพ้ เป็นอันขาด ถ้าเรารู้ได้ว่า ความชั่ว อย่างนี้ เรียกว่า บทที่ ๑ ของพาหุง บทถวายพรพระ ผู้ที่เป็นพระได้ ต้องเป็นคนอย่างนี้

เป็น"พระ" คือ "ผู้ประเสริฐ" คือ"คนดี" อย่าเพิ่งไปหลงเข้าใจว่า "พระ" คือ คนโกนหัว ห่มจีวร อยู่เพียงเท่านั้น เป็นอันขาด

ผู้ที่เป็น"พระ" ได้ ต้องเอาชนะมาร ที่อยู่เหนือหัว(ใจ) ของเราได้ มีด หอก ดาบ คมแหลมหลาวอะไร ก็ตามแต่ รู้ว่าไม่มีใครบังคับเราได้ เอาหอกทิ่ม แทงตำลงไป คมหอก คมดาบ คมมีด คมปืน อย่าไปให้ตัวเอง ชั่วลงไป เพราะคมหอก คมดาบ คมมืด คมปืน อย่างนี้เรียกว่า เป็นผู้ชนะ

พระพุทธเจ้าเอาชนะ แม้แต่มาร มือตั้งพัน ทนได้สู้ได้ เอาชนะได้ ไม่ล่วงละเมิด ความชั่วเลย อย่างนี้เป็น อันต้น

ท่านบอกไว้ในนี้ว่า ท่านเอาชนะมารเหล่านั้นได้ ด้วยวิธีอะไร? ด้วยวิธี ยอมเสียสละ ยอมให้ไป ไม่เอาด้วย ภาษาบาลี แปลว่า ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ชนะลงแล้ว ด้วยทานบารมี สละไป ไม่ยอมเอาด้วย อย่างนี้ เรียกว่า ชนะด้วยการไม่เอาด้วย

เมื่อกี้นี้ ยกตัวอย่าง นายของคุณ ๑๐ คน ๒๐ คน มีมือ ๒๐ มือ ๔๐ มือ หรือว่า นายร้อยคน เหนือคุณ มีมือสองร้อยมือ มาบังคับขู่เข็ญคุณ ให้คุณทำชั่วตาม โกงตาม คอรัปชั่นตาม เพราะนายเขาคอรัปชั่นหมดแล้ว บีบบังคับ ให้คุณคอรัปชั่น คุณก็อย่า เป็นอันขาด อย่าไปเอาด้วย ให้เขาไป เขาจะโกง เขาจะกินอย่างไร ให้เขาไป เรายกเลิก ถ้าเราอยู่ด้วยไม่ได้ ลาออก ให้มันตายไปเลย ไม่ทำชั่ว เมื่อรู้ชั่วแล้ว ต้องเลิก อย่างนี้ นี่เรียกว่า เราชนะมาร ด้วยการรู้ดีรู้ชั่ว มารจะมีฤทธิ์ มีเดช แข็งขันเก่งกล้า ใหญ่อย่างไร เราก็ชนะด้วยการยกเลิก เสียสละ ไม่เอาด้วย ยอมให้ไปเลย ไม่พยายามที่จะไปแย่งมา หรือไม่พยายามไปสุมหัว ร่วมกับเขาทำชั่ว

อย่างนี้เรียกว่าเป็น "การกระทำ" (กรรม) ถ้าใครเข้าใจ พาหุง บทที่ ๑ นี้ ผู้นั้น ก็จะเอาไป ทำประโยชน์ได้ เอาไปก่อประพฤติ ปฏิบัติตน ให้มันเป็นธรรม ไม่ให้ละเมิดความชั่ว

เพราะฉะนั้น ถ้าใครทำ ผู้นั้นก็ได้ทันที ไม่ต้องมาสวด ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ไม่ต้องมาขอ ด้วยเดชแห่ง พระพุทธเจ้า พระชัยมงคล ไม่ต้อง!

คุณทำเอง ไม่ต้องไปฟังพระสวดก็ได้ ได้จริงๆด้วย ถ้าคุณเข้าใจจริงๆแล้ว หรือฟังสวด ก็ได้ประโยชน์ ถ้าคุณรู้เรื่อง แปลออก และหรือ พอฟังแล้ว มันก็มีฤทธิ์ เตือนคุณ เร่งให้คุณละชั่ว นั้นๆได้

แต่ถ้าได้ฟังพระสวดเฉยๆ สิ คุณไม่ได้อะไร ฟังพระสวด เสร็จแล้ว คุณก็ไปนั่งทำชั่ว มันจะได้อะไร คุณไม่ประเสริฐ คุณไม่ได้เป็นพระ คุณจะเป็นพระได้ คุณต้องชนะ ความชั่วอย่างนี้ นี่ พาหุง บทที่ ๑ นะ


 

บทที่ ๒

มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

คำสุดท้าย ลงท้ายเอา ชิตะวา มุนินโท หมายความว่า พระพุทธเจ้า เอาชนะได้ มุนินโท หมายถึง พระพุทธองค์ ชิตะวา หมายความว่า เอาชนะได้ แปลเป็นไทย บทนี้ก็มีว่า

"พระจอมมุนี ได้ชนะอาฬวกะยักษ์ ผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความอดทน มีฤทธิ์ยิ่งกว่า พญามาร เข้ามาต่อสู้ ยิ่งนัก ด้วยวิธีทรมาน เป็นอันดี คือขันติฯ"

ข้อนี้หมายความว่า พระจอมมุนี ได้เอาชนะยักษ์ ตอนนี้ชนะยักษ์ เมื่อกี้นี้ ชนะมาร ชนะอาฬวกะยักษ์ ผู้มีจิตกระด้าง แข็งกระด้าง แต่ไม่อดทนเสียด้วยสิ! ปราศจาก ความอดทน ยักษ์นี่ขี้ขลาด ! ไม่อดทนหรอก ฉะนั้น ใจที่ยังแข็งกระด้าง นั่นแหละ ไม่ดี แต่เขามีฤทธิ์นะ มีฤทธิ์ยิ่งกว่าพญามาร เข้ามาต่อสู้ ยักษ์เข้ามาต่อสู้ พระพุทธเจ้า ท่านเอาชนะได้ด้วย วิธีทรมาน คือพระองค์มีขันติ ใช้ ขันตีสุทันตะวิธินา ใช้ขันติบารมี ใช้ขันติ เป็นสิ่งที่เอาชนะได้ ชนะพญายักษ์ได้

เอาละ คราวนี้แหละ ถ้าคุณฟังแล้ว คุณก็ไปนึกถึงสิ หน้าตาแบะๆ ตาโปนๆ เขี้ยวออกมา สองเขี้ยว สีเขียว สีขาว อะไรก็ตาม ถือไม้กระบอง เพ่นพ่าน ขาโตๆ มือโตๆ ตัวใหญ่ๆ อย่างนี้เขาเรียกว่า เราปั้นรูป เอามาดู หรือมาว่า มาขู่กัน ให้เห็นว่า มันน่ากลัว ว่ายักษ์นี้ เป็นแล้วน่ากลัว น่าเกลียด น่าชัง แต่ถ้าเรารู้ ถึงหัวใจ ของยักษ์แล้ว ยักษ์นี้ เป็นผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความอดทน ไอ้การที่จิตกระด้างนี้ มีจิตไม่อ่อนโยน ไม่สุภาพ มีจิตแข็งกระด้าง กับการที่ปราศจาก ความอดทน อย่างนี้ เราเรียกว่ายักษ์ ถ้าไปนึกถึงยักษ์ ที่ถือไม้กระบอง เที่ยวแยกเขี้ยว เที่ยวตาโปนๆ ปากแบะๆ แล้วละก็ คุณเกิดอีกร้อยชาติ คุณก็ไม่เจอยักษ์ ที่คุณจะต้องปราบ ต้องเอาชนะ

หรือยิ่งไปหลงใน "ภวตัณหา" อยู่ดีไม่ว่าดี ไปหลงว่า"ยักษ์" คือตัวลึกลับ ชนิดหนึ่ง ที่หลอกกัน มอมเมากัน ต้องหลับตาบำเพ็ญ ถึงจะเห็นได้บ้าง หรือไม่หลับตาล่ะ ลืมตากันโพลงๆ ก็เห็นรูป สัมผัสร่างกันได้แล้ว ก็ไม่เข้าใจแท้ ใน"ยักษ์" ได้กันสักที ก็ซวยกันไปกี่ชาติ ก็งมงายกันอยู่ เท่านั้นๆ

"ยักษ์" อย่างนี้ก็มีจริง มีกับเฉพาะผู้ยัง "ไม่หมดอัตตา" ปัญญาขั้น "อนัตตาธรรม" ยังไม่ขึ้นสู่จิต จิตยังมีความหลงผิดใน "อสรีระ" ว่าเป็น"สรีระ" ก็จะยังได้ถือว่า จิตของผู้นั้น ยังอ่อนกว่ายักษ์ เสียด้วยซ้ำ จึงยัง ถูกหลอกอยู่ได้

แต่ถ้าคุณนึกถึง "ยักษ์" ที่หมายถึง จิตปราศจาก ความอดทน ที่หมายถึง จิตแข็งกระด้าง คุณจะเจอ "ยักษ์" ทุกวัน

โดยเฉพาะ ที่จิตของคุณเอง คุณดูจิตของคุณเถอะ ถ้าจิตใดของคุณ มันไม่สุภาพ มันหยาบคาย จิตของคุณ มันไม่อดทนเอาเสียเลย จะโน้มน้อมไป ในทางที่ถูกกว่า ดีกว่า สูงกว่า มันก็ไม่ยอมสักที ยังพะว้าพะวัง ติดที่ผิด ติดที่ต่ำ หลงที่ไม่สูงจริง อยู่นั่นแล้ว ! นี่คือยักษ์ จะทำการทำงาน จะคิดโน่นคิดนี่ ทำคุณงามความดี จะทำให้ใจตัวเอง มันสุภาพ เรียบร้อย อ่อนโยน ก็ทำไม่ได้ เพราะใจ มันแข็งกระด้าง ใจมันมีฤทธิ์ ใจมันอยากทำตามใจ อยากจะอ่อนโยน มันก็ไม่อ่อนโยน จะแข็งกระด้าง อยู่อย่างนั้นแหละ ดูเหมือนมันแข็ง มันแรง ดูเหมือน มันมีฤทธิ์ มีคุณ แต่แท้จริง แข็งกระด้าง ไม่ได้แข็งดี แรงร้าย ไม่ใช่แรงดี มีฤทธิ์เลว ไม่ใช่ฤทธิ์ดี มีคุณหลอกๆ ซึ่งที่แท้ๆ นั้นเป็นโทษ จะอดทนไอ้โน่นนิด ไอ้นี่หน่อย ก็ไม่อดทน ที่จะทำอะไร ดีขึ้นมาหน่อย ก็ไม่กล้า ไม่อดทน เขาถึงเรียกว่ายักษ์ เรียกอีกภาษาหนึ่งว่า "อสุรกาย"

คำว่า "อสูร-อสุรา" ถ้าใครเรียนหนังสือมา จะเคยได้ยิน อสุรา แปลว่ายักษ์ เคยได้ยินไหมล่ะ? อสุรา แปลว่า ยักษ์ ใครเคยได้ยิน ถ้าเรียนมา ทุกคน ไม่มีพลาดแหละ

เพราะว่า อะ แปลว่าไม่ สุระ แปลว่ากล้า อสุร ก็แปลว่าไม่กล้า ใจที่มันไม่มี ความกล้า ใจที่มันปราศจาก ความอดทน ใจที่มันแข็งกระด้าง อย่างนี้คือ "ยักษ์"

อย่าไปนึกถึงรูปถึงร่าง ที่เขาปั้นรูปไว้เลย เป็นอันขาด เราต้องนึกถึงยักษ์ ที่อยู่ในคน ยักษ์คือหัวใจ คือ วิญญาณ การที่มันเป็นรูปร่าง อย่างนี้ จิตใจมันเป็นอย่างนี้ อย่างที่กล่าวแล้ว ถ้าเราเข้าใจเป็น ธรรมาธิษฐาน เข้าใจถึง จิตในจิต ถึงธรรมในธรรม คือ เป็นแบบอธิบาย เนื้อหาสาระ ของพระธรรมแท้ๆ แล้ว คุณจะเข้าใจเลย มันหมายถึงจิตใจ หรือหมายถึง วิญญาณของเราที่"ดี" (กุศลธรรม) หรือที่ "ชั่ว" (อกุศลธรรม)

ถ้าเราไม่มีใจสุภาพ เป็นความใจไม่กล้า นั้นแหละ เรากำลังเป็นยักษ์ รูปร่าง หน้าตาเรา อาจจะไม่เป็นยักษ์หรอก แต่หัวใจเราเป็นยักษ์ พระพุทธเจ้า ก็เหมือนกัน ท่านชนะโดย ธรรมาธิษฐาน คือ ชนะสิ่งที่ ถือว่าเป็นยักษ์แบบนี้ แต่ท่านไม่ได้ชนะ โดยไปตีรันฟันแทง เอาปืนไปสู้กับ ไม้กระบองยักษ์นะ ในนี้ก็บอกอยู่แล้วว่า ท่านเอาชนะยักษ์ด้วย "ขันตีสุทันตะวิธินา" คือ ใช้ขันติ ความอดทน อย่างยิ่งยวด แทนที่จะเป็นคน ไม่รู้จักอด ไม่รู้จักทน ท่านกลับเป็น ผู้อดทน อันยิ่งยอด เอาชนะยักษ์ได้ คิดให้ดี นี้เป็นคำสอนที่ดี ถ้าเราฟังรู้เรื่อง ถ้าเราฟังคำสอนอันนี้ แล้วเอามา ประพฤติตามซิ เอาไปอ่าน (ตรวจสอบ ในจิตของตน) เห็นว่าเป็นยักษ์ ใช่ไหมเอ่ย ? ยักษ์มันอยู่ในตัวเรา ใช่ไหม? ถ้ายักษ์มันอยู่ ในตัวเราแล้ว ก็ชนะมัน ด้วยความอดทน ขันติบารมี อดกลั้น ฝืน ให้กล้าทีเดียว แล้วเราจะชนะยักษ์ อย่างนี้แล้ว คุณจะเห็นยักษ์ ฟังแล้วมีประโยชน์ ไม่ใช่ไปนั่งสวด อ้อนวอนกัน "ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคลานิ" ขอชัยมงคลทั้งหลาย ด้วยเดชะแห่ง พระพุทธชัยมงคลนั้น "ขอ"ให้ตาย มันก็ไม่มี ยี่สิบตาย ห้าสิบตาย ร้อยตาย พันตาย ร้อยชาติ ห้าหมื่นชาติ มันก็ไม่ได้ "ขอ" อย่างไรก็ไม่ได้ ต้องทำเอา และต้อง รู้ด้วยปัญญา ว่ายักษ์คืออะไร? ยักษ์ที่พระพุทธเจ้าท่านสู้ ก็ต้องเก่งกว่ายักษ์ ที่เราสู้ จะขู่ จะกดข่ม หรือว่า มันจะดื้อรั้น หรือมันจะแข็งแรงกว่าเรา เราเองจะเอาชนะมัน ตามภาษา เรารู้ได้ที่ใจว่า ใจของเราเอง มันจะแข็งกระด้าง เท่าไหนๆ เราก็ฆ่ามัน เท่านั้นๆ มันไม่รู้จักอด จักทน หัดทนเข้า แล้วเราจะเป็น ผู้ชนะยักษ์

นี่ พาหุง บทที่ ๒ "มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติงฯ"

นี่แหละ พาหุง ข้อที่ ๒ จำไว้ อย่าไปเที่ยวได้ฟังพาหุง สวดเสร็จ เสร็จ ยิ่งเป็น ภาษาบาลี ยิ่งยอด กันโน่นกันนี่ กันยักษ์กันมาร อันลอยลม เพ้อพก เป็นอันขาด หรือไม่งั้นก็ เกิดผล ลาภ ยศ อะไรอย่างนั้น อย่างนี้ หวังเพ้อ ลมๆ แล้งๆ มันไม่ใช่หรอก ! มันจะต้องทำความเข้าใจ แล้วก็ทำ เอาไปประพฤติเอง ไม่ใช่เรื่องลึกลับ ! ไม่ใช่เรื่องขลัง ! เป็นเรื่องความรู้ ความประเสริฐ ความจริง จงเอาไปปฏิบัติให้ได้ ถ้าปฏิบัติได้ เราก็จะเป็นผู้เจริญ เจริญยิ่งๆ ไม่ใช่เจริญด้วย พุทธชัยมงคล อ่านเป็นภาษา อย่าฟังแต่เพียงเสียง แต่เจริญด้วย พุทธชัยมงคล แบบเราชนะ ด้วยคุณงาม ความดี ชนะด้วย"กรรม" อันคือ "การกระทำแท้ๆ ให้มี"พุทธ" ให้มี"มงคล" ปรากฏขึ้น ที่ตนจริงๆ เราชนะด้วย การกระทำความดี ให้เกิดที่ตัวของเรา เรียกว่า พุทธชัยมงคลแท้ ไม่ใช่ว่า เราไปนั่งสวดเอา หรือไปฟังสวดเด๋อๆ แล้วได้พระชัยมงคล ไม่ใช่นะ! นี่เป็นบทที่ ๒


 

บทที่ ๓

นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวามุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

บทนี้ ชนะอะไร เอาแปลก่อน แปลให้ตรงตัว "ชนะช้างตัวประเสริฐ" ที่ชื่อว่า "นาฬาคิริง" เป็นช้างเมามันยิ่งนัก แสนที่จะทารุณ ประดุจเพลิงป่า และจักราวุธ และสายฟ้า ด้วยวิธี รดลงด้วยน้ำ คือพระเมตตา "เมตตัมพุเสกะวิธินา" นี่สิสำคัญ ชนะด้วยอะไร ท่านเอาชนะด้วย "เมตตัมพุเสกะวิธินา" ชนะด้วย เมตตาธรรม

ทีนี้ช้างตัวนี้ มันแสนจะทารุณ มีจักราวุธ มีสายฟ้า มันร้ายกาจมากนะ ช้างตัวนี้ ถ้าใครเคยได้ฟังประวัติ ของพระพุทธเจ้า ก็คงรู้ ชื่อว่า นาฬาคีรีตัวนี้ เป็นช้างเมามัน ที่เทวทัตปล่อยออกมา เพื่อจะให้มันมาขย้ำ หรือมาเหยียบ มาแทง พระพุทธองค์ ในขณะบิณฑบาต หรือในขณะ "โปรดสัตว์" พระอานนท์ ก็วิ่งออกมากัน ให้พระพุทธเจ้า ท่านก็ห้ามพระอานนท์ไว้ พระอานนท์ก็ปล่อย เข้าไปถึงพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ ก็ทรงพูดกับมัน ด้วยเมตตา ท่านใช้จิตเมตตานั้น ห้ามให้ช้างตัวนี้ หยุดเมามันได้ ฟังอย่างนี้แล้ว เราก็นึกว่า เออ! เก่งนะ พระพุทธเจ้านี่ สู้ช้าง ที่เมามันได้ สามารถหยุดช้าง ที่ขณะเมามัน อย่างหนักได้ ที่มันเมาถึงขนาด ไฟไหม้ป่า ขนาดจักราวุธ สายฟ้าแลบ อย่างนั้น พระพุทธเจ้า ยังเอาชนะได้ ก็จริง! เพราะท่านมีจิตที่เก่ง

ท่านชนะด้วยอะไร? จิตที่เก่งคืออะไร? เมื่อกี้บอกแล้วว่า ด้วย เมตตัมพุเสกะวิธินา ท่านเอาชนะด้วย เมตตาธรรม ท่านมีเมตตา มากพอสูงพอ จึงชนะช้างเมามัน ชนะความมืดมัว ของเดรัจฉาน ทั้งหลายได้ เดรัจฉานสัตว์ ตัวช้างนี้ เป็นเดรัจฉาน

ทีนี้ในทางธรรม ก็ต้องมีธรรมปัญญา เพราะว่า ถ้าเราจะคอยช้างชื่อ นาฬาคีรี หรือช้างที่เมามัน แล้วไปทำตัวเองให้เก่ง โดยไปปั้นจิต เล่นฤทธิ์ พิลึกพิลั่น เล่นอำนาจ ทางพลังจิต ว่างั้นเถอะ พอเห็นช้างเมามัน วิ่งออกมา ก็ใช้จิตบังคับ หรือหักห้าม หรือแผ่เมตตา หรือกล่อมอะไร ก็ตามแต่ จะเรียก จนช้างเมามัน หยุดเมา รู้สึกนึกยอมแพ้ ว่างั้นเถอะ ขอให้มันเป็นตรงๆ ว่ามี"พลังจิต" ขลังๆ ! เด็ดๆ ! จะไปปราบช้าง ที่เมามัน แม้คุณเอง คุณมีฤทธิ์ได้ขนาดนั้น คุณก็ไม่เข้าท่าหรอก คุณจะไปหาช้าง ที่เมามัน ได้ปราบมัน ก็หายาก ถึงหาได้ มันก็เป็นความเก่ง แค่ปราบช้างตกมัน แล้วคุณก็จะไป เป็นลูกจ้าง เจ้าของช้าง ที่เขามีช้างเยอะๆ ก็เห็นจะเท่านั้น ! ไม่ได้ประโยชน์อะไร เสียเวลาไปเรียนวิชชา วิชชาที่จะไปชนะ ช้างเมามันแบบนี้ แล้วก็เอาปราบช้างเมามัน เสียเวลาเปล่า ไม่เห็นจะคุ้ม ยิ่งเป็นคนขนาด "เจ้าชายสิทธัตถะ" ยิ่งไม่คุ้มใหญ่

ตามจริง หรือตามขั้นของ ธรรมในธรรม ชนะเดรัจฉาน ที่เมามันนั้นหนะ มันไม่ได้หมายเอา เป็นตัวสัตว์โต้งๆ อย่างนั้นหรอก ไม่ว่าช้าง ไม่ว่าอะไร ก็ตามแต่ แล้วก็โดยเฉพาะคำว่า "เดรัจฉาน" นั้น ท่านหมายเอา ที่มันอยู่ ในร่างของคน นี้แหละ ใครก็ตาม หรือเรานี่แหละ ถ้าเผื่อว่าใจต่ำ มีจิตโง่เง่า เมามืดมัว มีโมหะเต็ม โมหะ หมายความว่า ความมืดมัว ความหลง ความเมา เมาลาภ เมายศ เมาสรรเสริญ เมาอำนาจ เมาอบายมุข เมากามคุณ ก็ตาม ผู้ใดจิตถูกมอมเมา ด้วยอบายมุข ถูกมอมเมาด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ถูกมอมเมา ด้วยอำนาจ ด้วยฤทธิ์ ถูกมอมเมา ด้วยกาม ด้วยอัตตาต่างๆ ผู้นั้นแหละ เป็นเดรัจฉาน เป็นช้างเมามัน เมามืด โง่เง่า ไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้ตัวเลย มันทำร้ายคนที่ชื่อว่า "เมามืดมัว" นั้นเอง

หรือผู้ใดที่เป็นเพื่อน ติดอบายมุข ก็จะมาทำลายเรา หมายความว่า จะมาชวนเรา ไปเล่นอบายมุขด้วย เพื่อนคนใด เมายศ เมาสรรเสริญ เมาอำนาจ จะมาชวนเรา ไปเมาลาภ ยศ สรรเสริญ เมากับสิ่งทั้งหลาย หรือเพื่อนคนใด เมากามคุณ จะมาชวนเรา ไปเสพกาม เมากาม เมาอัตตา จะมาชวนเรา ไปเมาอัตตา เราพึงรู้เถิด เราจะช่วยเพื่อน ประดุจสัตว์เดรัจฉาน ผู้นี้ให้ได้ เพราะเขากำลังเมาโลก กำลังหลง ไอ้สิ่งที่ ไม่ควรจะไปเมา คนไหนไปเมาอยู่ คนนั้นก็ดำดิ่งอยู่ เป็นสุขเป็นทุกข์ อยู่กับไอ้สิ่งที่ เขาหลงมัน คนนั้นเรียกว่า โง่เง่า เหมือนเดรัจฉาน เดรัจฉาน นี้เรียก สัตว์(คน) โง่เง่า ถ้าโง่เง่าหนักใหญ่ ก็เรียกว่า เท่ากับช้าง ยังมืดมัว เมามันมาก ถ้าโง่เง่า "ไม่มากไม่ใหญ่" ก็เป็นเดรัจฉานน้อยลงไป ตามขนาดตามจริง แต่ก็คือ ยังไปติดมันอยู่ กับสิ่งเหล่านั้น

ถ้าเป็นเรา ก็จงสงสารตัวเอง คือเราจะต้อง เอาชนะให้ได้ เราจะต้องปล่อยเสีย เราต้องทำให้สร่าง ต้องจางคลาย ถ้าเป็นเพื่อน ก็จงสงสารเขา ถ้าสอนเขาได้ ช่วยเขา จงใช้ "อำนาจเมตตา" อย่าไปตามใจเขา

ฟังดีๆนะ ! "เมตตา" หมายความว่า "อย่าไปตามใจเขา" อย่าไปกับเขา เหมือนเรา ชนะมาร อย่าไปยอมแพ้เขา อดทน เหมือนเราชนะยักษ์ อย่าไปเห็นตามเขาแท้ๆ เชียว ถ้าเราไปเห็นตามเขา ไปเห็นว่า แหม! อบายมุขก็ดี ไปหลงลาภ หลงยศ ไปหลงสรรเสริญ ไปหลงเสพกาม ไปหลงเสพอัตตา ถ้าหลงตามเขา เราไม่อดทน เราไม่พยายาม ทำใจให้มันดี ให้มีปัญญา แล้วมันก็ไปหลง ตามเขาไป ไม่ได้ !

เราก็ถูกมาร หรือถูกกาม กลืนกินอีก ถูกอบายมุข ถูกลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และถูกอัตตา กลืนกินอีก เราจะชนะมาร ชนะยักษ์ ต้องอดทนให้ได้ เราจะชนะ ความเป็นเดรัจฉาน ต้องมี "เมตตา" ให้ถูกให้ดี แท้จริง

แม้แต่ใจเราไปอยากติดอบายมุข บางทีเราอยาก จะไปเสพกาม บางทีอยากจะไป หลงลาภ บางทีไป ตะกละ ตะกลาม ไปโลภลาภ โลภยศ หลงสรรเสริญอยู่ ใจเราเป็นอย่างนั้นอยู่ เราก็จะต้องอดทน ฝืนกลั้น ให้ชนะยักษ์ ให้ได้ อย่าไปปล่อยให้ยักษ์ มันมาข่มขู่เรา เราจะชนะยักษ์ด้วย "ขันติบารมี" เสร็จแล้ว เมื่อไหร่ รู้ทันอย่างนั้นแล้ว ทีนี้เราจึงใช้ "จิตเมตตา" ในความเป็นมิตรที่ดี

"เมตตา" ตัวนี้ รากศัพท์ ภาษาเดิม เรียกว่า "มิตตะ" หรือ "มตะ" หมายความว่า ที่รู้ รู้แล้ว เราก็เป็นมิตร กล่าวคือ ให้ช่วยผู้อื่นให้ได้ดี เมตตาหมายความว่า สงสารผู้อื่น หรือตนก็ตาม ตนเมา ตนโง่เง่า ตนมืดมัว ก็ต้องเมตตาตนเอง ช่วยตนเองนั่นแหละ ให้ได้ดี ให้รู้ตัว ให้ตัวเองหยุดเมา หยุดมืดก่อน แล้วก็ช่วยเขา บอกเขาบ้าง เมื่อเราเองไม่ไปเลว อดทนได้แล้ว เราไม่ไป ไม่เมามันเหมือนเขา แล้วเราก็ช่วยเขา สงสารเขา ให้เขาหยุดเสพ อบายมุข หยุดหลงลาภ เมาลาภ เมาสรรเสริญ หยุดหลงกาม เมากาม หยุดเสพกามเสีย เขายังมีเศษ "อัตตา" เมาอัตตา ก็ให้เขาหยุด เขารู้เท่าทันใน "อัตตา" ให้ได้ เราก็จะเป็นผู้เมตตา อย่างดีอย่างถูก ช่วยเขาได้อย่างนี้

พระพุทธเจ้าท่านมีจิตเมตตา อันนี้แรง ทำไม? ต้องใช้คำว่า "เมตตา" เมื่อจะช่วย "เดรัจฉานที่เมามัน" ก็เพราะผู้โง่ ผู้เมาโลกียะนั้น ไม่รู้ตัวหรอก ! เขาติดเขาหลง ว่ามันน่าได้ น่ามีน่าเป็น เขาอร่อย เขาหลงจริงๆ เขายังไม่รู้ชัด เขายังเห็นว่ามันดี ถ้าเราจะไปว่า"ไม่ดี" มันก็ขัดใจเขา เขาจะโกรธจะแค้น เราจะไปห้าม สิ่งที่เขาอร่อย ที่เขาได้เขามี เขาเป็นกันนั้น เขาจะไม่ชอบใจ เขาจะโต้ตอบ ย้อนแย้ง บางที ถึงขั้นร้าย ขั้นแรง ออกมาเลย ซึ่งเดรัจฉาน เขาก็มีฤทธิ์ มีกำลัง มีอำนาจ ของเขาเหมือนกัน เราก็จะต้องมี "เมตตา" ให้มาก ต้องใจเย็น ยังไงๆ ก็อย่าทิ้งเขาเลย แม้เขาจะโต้ตอบ เล่นงานเราเท่าใดๆ ก็จงช่วยเขา สงสารเขา และต้อง "สงสาร" ให้ถูก ! อย่าไปสงสารโดย ส่งเสริมเขา ให้เมาหนักเข้าไปอีก เป็นอันขาด

"สงสาร!" นี้ คือจะต้อง "ขัดเกลา"เขา ย้อนแย้งเขาให้เก่ง ถ้าย้อนแย้งไม่เก่ง ก็จะขาดกัน จะไม่ได้ช่วยกัน ถือว่าหมดมิตร จึงต้องฉลาดขัด ฉลาดทำลายความมี ความเป็น ของเขาให้ได้ ต้องพยายาม ควักของอร่อย ออกจากปากเขาให้ได้! แม้จะถูกเขาย้อนแย้ง ทุบตี โต้ตอบรุนแรง (เพราะเขายังไม่รู้ จริงๆ ว่าเราช่วย เขาจะนึกว่า เราเบียดเบียนเขา เอาเสียด้วย) ก็ต้องอดทน ให้คง"สงสาร" เขาอยู่ อย่าเสื่อมถอย ท้อแท้ อย่าหยุดสงสาร เช่น พระพุทธองค์ ยังคง"สงสาร" (เมตตา) พระเทวทัตอยู่ดุจเดิม นั่นทีเดียว แม้พระเทวทัต จะออกฤทธิ์ แผลงเดช ย้อนแย้ง แข่งขัน อวดดี ตีข่ม ดุร้าย แกล้งทำร้าย ทำลาย พระพุทธองค์ เสียๆหายๆ อย่างไรๆ พระพุทธองค์ ก็ยังทรงใช้ "เมตตา" เป็นฐาน เป็นการทรงจิต คงที่อยู่ตลอดไป ไม่โกรธตอบ ไม่ทิ้งขว้าง (จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ ไม่ได้จับสึก) แม้จะลง พรหมทัณฑ์ ขนาดหนักปานใด แต่ไม่ปฏิฆะ ไม่เสียใจ ไม่น้อยใจ ไม่ท้อแท้ใจ ไม่ลด"สงสาร" ลงเลยจริงๆ

ต้องสงสารช้างร้าย ที่เมามันกันจริงๆ "ช้างร้าย" หมายถึง ความเป็นส่วนใหญ่ หรือ คนส่วนใหญ่ "เมามัน" ก็หมายถึง เขายังพากันหลง "มันส์" อยู่กับโลกีย์ อยู่จริงๆ เขายัง"เมา" เขายังไม่สร่าง ยังไม่ซา กันอยู่จริงๆ เขายังโง่ ให้โลกีย์หลอก เขายังเป็นทาส ที่ยอมให้โลกีย์ มีอำนาจเหนือ "ตน" (อัตตา) นี้เป็นสัจธรรม มิใช่แกล้งใส่ความ หรือ ยกตนข่มท่าน ถ้า"พระ"ใด ไม่มี"เมตตา" อย่างนี้ "พระ"นั้นก็จะไม่ได้ช่วยโลกเลย เพราะคนในโลก ที่ยังไม่ใช่ "พระ" จะยังหลง โลกียารมณ์อยู่ ทั้งนั้นจริงๆ "เมตตา" จึงเป็นธรรม ค้ำจุนโลก ช่วยโลก ช่วยสัตวโลกแท้ๆ "พระ"แท้ๆ "พระ"อริยะของ พระพุทธศาสนา จึงต้องมีในโลก คือ "พระ" ผู้รู้แจ้ง ช่วยตนได้แล้ว ก็ขวนขวาย ช่วยผู้อื่นอยู่ อย่างขมีขมัน ถ้าไม่ช่วยกัน ก็เป็น"พระ"เดียรถีย์ เห็นแต่แก่ตัว ไม่พ้นขี้เกียจ ไม่ขวนขวาย ไม่มีปัญญา รู้ความควร ก็เป็น"พระ" ของลัทธิอื่น ศาสนาอื่น ไม่ใช่พุทธ

เพราะฉะนั้น ถึงใครจะดุร้าย ถึงขนาดไม่รู้เรื่องแล้ว โถ เราจะช่วยเขาแท้ๆ เขาก็ไม่รู้ ก็โกรธ ก็จะแว้งกลับมา เล่นงานเรา จะพยายามบังเบียดเรา ถึงขนาดจะฆ่า จะแกงเราเอาด้วย ดั่งพระเทวทัต ที่โกรธ จะฆ่าพระพุทธองค์ อย่างแรงร้าย ขนาดเท่าช้าง นาฬาคิริง ตกมันตัวนี้ พระพุทธเจ้า ท่านก็เอาชนะได้ คือเอาชนะ "แรงร้าย" อันนั้นให้ดีที่สุด แล้วก็ยัง"สงสาร" คนร้ายที่ใช้ "แรงร้าย" นั้นอยู่ต่อไปคงเดิม

นี้คือ "เมตตัมพุเสกะวิธินา"

ดังนั้น เราเองไม่มีโอกาสเจอช้าง นาฬาคิรี ตัวแรงตัวร้าย ดั่งเช่น บริวารพระเทวทัต เราจะเจอช้าง ตัวย่อยๆ สัตว์ย่อยๆ ที่อยู่ในโลก กับเรานั้นแหละ ซึ่งจะแรงจะร้าย ขนาดเท่ากรรม เท่าวิบากของเรา แล้วเราจะต้องเอาชนะ อันนี้ให้ได้ คือ ถึงอย่างไรๆ ก็อย่าหมด"เมตตา" เข้าใจได้เลยว่า บท นาฬาคิริง คะชะวะรังฯ พาหุง บทที่ ๓ มันหมายความว่า เราจะต้องเอาชนะ เดรัจฉานที่โง่เง่า เดรัจฉานก็คือ สัตว์ที่โง่เง่า หรือแท้ๆ ก็คือ"จิต" คือ"ใจ" เราเองนั่นแหละ ตรวจให้ดีๆ เถอะ

สำคัญที่มีใจโง่เง่า มันจะเอาแต่หลงโลกีย์ ต้องอย่าตามใจมัน ต้องขัด ต้องพยายามฆ่า ความหลงนั้นๆ หรือคนอื่น ที่มีใจโง่เง่าเหมือนกัน เหมือนกันทีเดียว เขายังโง่เง่า เขาหลงโลกีย์ ต้องอย่าตามใจเขา ต้องขัด ต้องพยายาม ฆ่าความหลงนั้นๆ ให้เขา ไอ้นี่เป็นเดรัจฉานอยู่ ต้องเอาชนะให้ได้ ต้องสงสาร คนอื่นเขา อย่างนี้ เช่น เพราะเขาโง่เง่าอยู่ เขามาชวน หรือมาต่อต้าน เขาโง่เง่า เขาก็เป็นเดรัจฉาน เขาก็จะชวนจะจูง หรือจะต่อต้านเรา ตามประสาของเขา หรือไม่ก็จะยุแหย่ แกล้งประชดประชัน แดกดันเอาเสียด้วย เราก็สงสาร เห็นเขาให้ออก แล้วเราต้องยืนหยัด เป็นมนุษย์ที่ดี อย่าไปใจอ่อน ตามใจเขา ต้องขืนไว้ ต้องขัดเขาไว้ และ "การขัด" ต้องขัดให้เก่ง ขัดให้สำคัญ อย่า"ขัดจนแตก" หรือ จนวิวาท บาดหมาง แค่"ขัดแย้ง" หรือ"ขัดเกลา" อยู่เสมอ

นี่คือ "เมตตัมพุเสกะวิธินา" เราไม่มีศัตรู เราไม่มีโกรธตอบ แค้นตอบ แม้เขา จะย้อนมาอย่าง "ดุ" อย่าง "ร้าย" ขนาดไหนก็ตาม เราก็ยังจะขัด ยังจะหาทางเกลา ช่วยเขาอย่างดี อย่างเก่ง อยู่เสมอ สงสารเขาเสมอ

นี่คือ "เมตตัมพุเสกะวิธินา" ถ้าช่วยไม่ได้ ก็หาทางอื่น หรือเพลาๆก่อน ถ้าช่วยได้ ช่วยไป แต่ตัวเราเอง ต้องเป็นผู้ชนะด้วยนะ ชนะไอ้สิ่งที่เขามาชวน ชวนไปเป็นคนเลว อย่างนี้ ชวนไปเสพโลกีย์ เราต้องชวนกลับ ย้อนทางให้ได้ อย่างนี้ จะเป็นผู้ชนะ นาฬาคิริงฯ นี้เป็นบทที่ ๓ ของพาหุง จะมีประโยชน์ กับมนุษย์แท้ๆ อย่างนี้

อย่าไปหมายใจว่า พอสวด "นาฬาคิริง คะชะวะรังฯ แล้วละก็ ตัวเราเอง จะเป็นผู้ได้อะไร ก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ หลงคาถา อยู่อย่างนั้น นึกว่าแค่ได้ท่อง แล้วได้ฟัง ก็สำเร็จแล้ว มี"วิมาน" แล้ว ได้บุญแล้ว ได้ศิริมงคลแล้ว สร้างอุปาทาน อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ปั้นเป็นรูปรอย อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไอ้สิ่งที่ปั้นนั้น ไปเป็น"วิมาน" อยู่ที่ไหน ก็ไม่รู้ จนกระทั่ง ไม่รู้"วิมาน" นั้นคือ ถ้าใครยังหลงวิมาน ยังหลงใจ ตัวเอง(อัตตา) ไปสร้างไปก่อ อยู่ในใจ ไปปั้นรูปปั้นรอย ปั้นภพ ก่อชาติ อยู่ในใจ เอาใจตัวเอง ไปวาดรูป วาดร่าง วาดลมๆ แล้งๆ นั้นว่าเป็นความสุข วาดความสำราญ อะไรอยู่เป็น "วิมานะ" หรือเป็น "วิมาน" ไปสร้างไปก่ออยู่ ผู้นั้นก็ยังหลงอยู่ ยังมืดอยู่ ยังมัวเมาอยู่

ถ้าผู้ใดยังมัวเมาโลกียะอยู่ เป็นเดรัจฉานอยู่ทั้งนั้น เป็นผู้ที่ยังมัวเมา มืดมน แล้วเราเอง ก็ไม่รู้จักเอาชนะ ด้วยการสงสารตัวเอง โดยอย่าไปติดต่อ เชื่อมโยงอยู่ใน สังสารวัฏฏ์

อันนั้น เลิกมาเสีย อย่างนี้ ที่จะชนะกันแท้จริง ถ้าผู้ใดเลิกมาได้ ไม่ไปหลงมัวเมา ในสิ่งใดๆ หลงอารมณ์สุขไปต่างๆ หลงตั้งแต่ หลงสุขในอบายมุข หลงสุขในลาภ ยศ สรรเสริญ หลงสุข ที่มันเสพกามต่างๆ อะไรพวกนี้ แม้ที่สุด ไม่หลงสุข ใน"อัตตา" (วิมาน) ต่างๆ อย่าไปหลง อย่าไปยึดถือ อย่าไปวุ่นวายกับมัน ถ้ามีชีวิตอยู่อย่าง ทำการทำงาน ของดิบของดี ก็ทำแต่งานดีๆ นั้น มีทาน มีขันติ มีเมตตา ผู้นั้นก็เป็นธรรมะทุกอย่าง ไม่หลงที่เป็น วิมานต่างๆ

อันนี้เป็นพาหุง หมวดที่ ๓ ถ้าผู้ใดเข้าใจ จะเอามาใช้ประโยชน์ได้ ไม่มัวไปนั่งท่อง นั่งหลงอยู่ได้ ไอ้นี่เป็นคาถา ท่องแล้ว จะได้ไอ้โน่น มีไอ้นี่ มีไอ้นั่น อย่างนั้น อย่างมงายกัน เป็นอันขาด ชาวพุทธเอ๋ย !


บทที่ ๔

อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง
ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

ความบทนี้ แปลว่า "พระจอมมุนี มีพระหฤทัยไปในทางที่ กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ได้ชนะใจโจร ชื่อ องคุลิมาล แสนร้ายกาจ มีฝีมือ ถือดาบเงื้อง่า วิ่งไล่พระองค์ไป สิ้นทาง ๓ โยชน์" อย่างนี้ พระพุทธเจ้า ท่านก็ชนะ องคุลิมาล ที่เป็นคนใจหยาบ ใจร้าย ดื้อดึงรุนแรง แสนอำมหิต ขนาดจะฆ่า แม่ของตนก็ได้ ออกปานนี้ พระองค์ก็สามารถ ชนะได้ เพราะท่านเป็นถึง พระพุทธเจ้า พระองค์ก็ต้องชนะ ถึงขั้น องคุลิมาล ซึ่งเป็นบุคคล ที่ใจหยาบ ฆ่าคนเป็นพัน และจะฆ่าแม้แต่ แม่ของตัว แต่คนที่มีใจหยาบ อำมหิต ขนาดรุ่นของเรานั้น ใครก็ได้ ที่มีใจหยาบ อำมหิต ไม่ต้องร้ายเท่า องคุลิมาล เราก็ต้องเอาชนะเขาให้หมด อย่าให้เขา มีอำนาจเหนือเรา

ถ้าเผื่อว่า เราจะไปตีความหมายเอาว่า เราจะต้องเจอ องคุลิมาล คงจะเจอยาก เพราะองคุลิมาลบอกแล้ว เป็นคนที่ใจหยาบ อำมหิต อย่างร้ายกาจที่สุด เพราะถูกอาจารย์ หลอกมา ให้ไปฆ่าคนมา ตั้งพันหนึ่ง แล้วจะสอนวิชาให้ ถ้าฆ่ามาได้ ถึงจะสอนให้ แล้วองคุลิมาล ไม่รู้หรอกว่า อาจารย์หลอกเอา ที่จริงอาจารย์ หลอกให้ไปตาย เพราะอาจารย์คิดแล้ว ถ้าไปฆ่าคน ตั้งพันหนึ่ง คงไม่รอดมาแล้วละ ก็คงถูกเขาฆ่าตาย ก่อนจะถึงพันแน่ๆ แต่องคุลิมาลก็เก่งเกินอาจารย์คาด และ ฆ่ามาได้ตั้ง ๙๙๙ คน อีกคนเดียว ก็ไม่เห็น จะแปลกอะไร แต่ก็แปลกจนได้ คือ จะต้องหยุดฆ่า! เสียก่อน ที่จะถึงคนที่พัน แค่เพียงมาพบ พระพุทธเจ้า บอกว่า "หยุดเสีย !" เท่านั้น พระพุทธเจ้าทำสำเร็จ โดยไม่น่าจะสำเร็จ ดูมันง่าย มันได้เร็ว จนไม่น่าเชื่อ มันไม่น่า เป็นไปได้ แต่มันก็เป็นไปได้ ดูช่างไม่เห็นว่า จะมีฤทธิ์มีเดชอะไร แต่ก็เป็นฤทธิ์ ที่ประหลาดยิ่ง นี่แหละ คือ "มหาปาฏิหาริย์" ไม่ใช่ "ปาฏิหาริย์" ที่เล่าสู่กันฟัง อย่างพิลึกพิลือ เกินเชื่อ อะไรนั่นหรอก!

เช่นเดียวกัน ถ้าเราเอง เหมือนองคุลิมาลสำนึกผิด เลิกเสีย หยุดเสีย ด้วยจิต อันเก่งกล้า สามารถ คือ ทำปาฏิหาริย์ พลิกล็อก "ปาฏิหาริย์" หมายความว่า "พลิกล็อก" มันพลิกล็อก คือ มันไม่น่าเชื่อ มันเก่ง เกินคาด มันเหนือใครคิด มันมีความสามารถ เหนือชั้นจริงๆ มันไม่น่าจะได้ เอ๊ะ! มันได้ง่ายๆ กะว่า มันจะชนะ หนอย ไอ้คนนี้ กลับชนะได้ เหมือนปาฏิหาริย์ มันพลิกล็อกเลย มันพลิกกระเป๋าเลย มันเป็นของเก่ง ชนิดที่ไม่เห็นว่า จะเป็นของเก่งอะไร แท้ๆมันช่างเป็นไปได้ ชนิดที่ ไม่น่าเป็นไปได้ เช่น อย่างที่พระพุทธเจ้า ท่านปราบองคุลิมาล มนุษย์ผู้ใจหยาบ โหดร้ายอำมหิต ให้เปลี่ยนจิตเสียได้ โดยไม่น่า จะเป็นไปได้ เพราะพระพุทธเจ้า ไม่ได้ทำอะไร พิลึกพิลั่น แปลกๆ อย่างที่เล่าผิดๆ กันมานั่น เสียด้วยซ้ำ มันจึงยิ่งแปลกใหญ่ ! ยิ่งเป็นปาฏิหาริย์ใหญ่! เพียงพระพุทธองค์ ใช้ความสามารถ ทำจิตของ องคุลิมาลให้ "รู้ดี - รู้ชั่ว" ทำใจของ องคุลิมาลให้ "เข้าใจ" ได้อย่างซาบซึ้ง จนเปลี่ยนจิต จากคนโหดร้าย คนชั่วร้าย มาเป็นคนดีได้ ภายในเวลา ไม่นาน และ โดยไม่เห็นมีอะไร น่าทึ่งเลย นั่นสิยิ่ง "น่าทึ่ง"! นี่แหละคือ "ปาฏิหาริย์ ซ้อนปาฏิหาริย์"

พระพุทธองค์เพียงแต่ เข้ามาห้าม ให้"หยุด"เสีย เมื่อองคุลิมาล จะไปฆ่าคน เป็นคนสุดท้าย คือคนที่พัน คนที่จะครบจำนวน เป็นผลสำเร็จแล้ว ซึ่งมันไม่น่า จะหยุดเลย แต่ก็หยุดได้ มันไม่น่าจะง่าย แต่มันก็ง่าย อย่างแปลกประหลาด ! มันไม่มีอะไรมากเลย !

นี่ต่างหาก คือ"มหาปาฏิหาริย์" คือ เป็นเรื่องท ี่น่าอัศจรรย์ยิ่ง จริงๆ ยิ่งกว่า เพราะถ้าอย่างที่ เกจิอาจารย์ รุ่นเก่าๆบางคน เล่ามาเป็นว่า พระพุทธเจ้า แสดงปาฏิหาริย์ พิลึกๆ มากมาย เช่นเล่าว่า องคุลิมาล วิ่งตามพระพุทธเจ้า ใหญ่เลย ท่านก็แสดง อภินิหาร ไม่ให้วิ่งทัน เงื้อดาบจะฟัน ก็เงื้อค้าง ฟันไม่ลง เหมือนมีอะไร มาค้ำให้ค้างไว้ หรือเรื่องแปลกประหลาด ที่พิลึกๆ อะไร ยิ่งกว่านี้อีก ก็ตาม จะเป็น ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า อะไรต่างๆ ตามความเห็นของ "คนหลง" ที่เขาชื่นชูกันว่าเป็น "ความเก่ง" ก็ตาม มันก็จะน่า อัศจรรย์อะไร?!

ถ้าองคุลิมาลเจอเข้าแบบนั้น แล้วจะต้องหยุด จะไม่ฆ่าพระพุทธองค์ ก็เพราะ องคุลิมาล ทำไม่ได้ เขาก็ต้องยอม เขาก็ต้องไม่ทำ หรือเพราะเขา"ทึ่ง" ความเก่งแปลกๆ นั้น แล้วเขาก็หยุด แต่นี่เจอคำสอน พระพุทธองค์ เป็น "อนุศาสนีปาฏิหาริย์" นี่สิ! เพียงแต่สอน เพียงแต่ห้าม เพียงแต่บอกธรรมดา ก็หยุดแล้ว นี่สิ มันยิ่งมหัศจรรย์ใหญ่ ! ซึ่งถ้าองคุลิมาลจะฟันก็เข้า และ พระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้วิ่งหนี เดินหนี อะไรด้วย พระพุทธเจ้า ไม่ได้แสดงอะไร เพียงแต่บอกดีๆ ห้ามง่ายๆ

อธิบายชัดๆ เท่านั้น เป็นแต่แสดง "ความเก่ง" (อิทธิ) ในเรื่อง "ปรับปรุงจิตใจ" (สังขตมโน) ขององคุลิมาลให้"เข้าใจ" ให้รู้ดี รู้ชั่ว ชัดยิ่งแท้ (อภิ) เท่านั้นต่างหาก จึงเรียกว่า "อิทธีภิสังขตมโน" มันยอดเก่ง (มีอิทธิ) มันยิ่งยอด ในการกระทำ เป็น "การปรับเปลี่ยนจิต" (อภิสังขตมโน)ได้ ทั้งๆ ที่ไม่มี "อิทธิฤทธิ์" อย่างเดรัจฉานวิชชา ไม่ต้องมี "อาเทสนา ปาฏิหาริย์" อย่างเดรัจฉานวิชชา แต่พระพุทธองค์ ก็มี"อิทธิฤทธิ์" (เก่งจนสามารถ เปลี่ยนร้าย ให้เป็นดี) อย่างพุทธวิชชา และมี "อาเทสสนาปาฏิหาริย์" อย่างพุทธวิชชา (เก่งเพราะหยั่งรู้กิเลส รู้จริตในจิต ขององคุลิมาลได้ถูกแท้ จึงสามารถ ปรับเปลี่ยนได้) จนดูช่างง่ายเสียจริง ที่เสือร้าย แสนอำมหิต ขนาดองคุลิมาลยอมวางดาบ ก้มลงกราบ ยอมมอบตน โดยเฉพาะ เปลี่ยนจิต มาเป็น"พระ" ได้ทันที อย่างจริงๆ ยิ่งพระพุทธองค์ พูดยิ่งสั้น สอนยิ่งน้อย ทำอะไรยิ่งไม่มากเลย แต่มีผลให้ องคุลิมาล กลับหยุดได้ นั่นแหละ ยิ่งหมายถึง "อิทธีภิสังขตมโน" คือยิ่งเป็นปาฏิหาริย์ ที่แปลกประหลาดใหญ่!! เพราะมันยิ่งไม่มี "ความมาก" แต่มันกลับไปหยุด "ความมาก" ขององคุลิมาลได้ นี่ล่ะ ! "ยอดปาฏิหาริย์" ที่สุด

ทำความเข้าใจให้ดีๆ เราทำให้ได้อย่างนี้ เราก็ชนะด้วย อิทธีภิสังขะตะมะโน คือ ชนะแบบเก่ง สามารถสร้างจิต ของเราเป็น อิทธีภิสังขะตะมะโน หมายความว่า จิตจะสามารถ รวบรวม กระทำการขึ้นมาได้ เหมือนมันเล็ก มันบาง เบา มันง่าย มันดูไม่มีน้ำหนัก แต่มันยิ่งใหญ่ มันเก่งกาจ เป็นอิทธิฤทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ มันอิทธิวิธี อย่างเดียวกัน (กับพระพุทธเจ้ามี) เก่งกล้า สามารถอย่างนี้ เอาชนะใจตนเอง ที่เป็นอย่าง องคุลิมาลนั้นแหละ สำคัญก่อนอื่น อย่างนี้ก็ได้ประโยชน์ สูงที่สุด หรือได้เอาชนะ ใจคนอื่น ที่ได้เป็นองคุลิมาลอำมหิตแล้ว ก็แก้อำมหิต เปลี่ยนใจหยาบ ลงมาได้ง่ายๆ มีอิทธิวิธี ที่จะปรับเปลี่ยน เขาได้อย่างเก่ง (มีอิทธิ) ตามขั้นตอน สำหรับ ผู้มีปัญญา พอจะปรับจิต ของเขาอื่นได้

ส่วนผู้กระด้างที่สุด ร้ายที่สุด ปรับเขาไม่ได้ ก็เมตตาเขาถึงที่สุด โดยเฉยๆ ไม่ต้องไปยุ่ง ไปเกี่ยวกับเขา เราเมตตาเขาเสีย อย่าโกรธ อย่าเคือง อย่าชัง อย่าเบียดเบียนใดๆ แก่เขาเลย ดังนี้ เป็น เมตตัมพุเสกะวิธินา ซึ่งเราก็ทำได้ โดยใช้วิธีต่างๆ นี่ เป็นบทที่ ๔

เป็นผู้ที่ชนะใจอันหยาบ ใจอำมหิต ถ้าใครสามารถทำตน จนสำเร็จ ทำผู้อื่นจนสำเร็จ ผู้นั้น ก็จะมีจิตพุทธะ หรือเป็นองค์มุนี เป็นผู้ที่มี "มุนินโท" ชิตะวา มุนินโท ผู้ใดสามารถ เป็นผู้ประเสริฐ คือ "มุนินโท" มุนินโท แปลว่า นักพรต นักปฏิบัติธรรม หรือพระ ถ้าเราทำตัวเป็น"พระ" ได้ด้วยการชนะแบบนี้ ได้ประโยชน์จากที่ พระพุทธเจ้า ท่านพาทำ ตามบทพาหุง ที่สวดกันอยู่นี้ ก็คือ คาถาพาหุงมีผล ทำความเข้าใจให้ดีๆ และทำให้ตรง ทำให้ถูก ตามแบบ พระพุทธเจ้านี้เถิด


บทที่ ๕

กัตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

อันนี้แปลว่า "ตอนนี้ชนะการกล่าวร้าย ของนางจิญจมาณวิกา ทำอาการ ประดุจว่า มีครรภ์ เพราะทำไม้ มีสัณฐานอันกลม ให้เป็นประดุจมีท้อง ด้วยวิธีอันงาม เอาไปใส่เอาไว้ ที่ใต้ร่มผ้า พระพุทธเจ้าท่าน เอาชนะด้วย สมาธิอันงาม คือระงับพระหฤทัย ในท่ามกลางหมู่ชน ท่านทำเฉยเสีย "สันเตนะ" "สันตะ" แปลว่า เฉย สงบ สันเตนะ โสมะวิธินา ท่านชนะด้วยอาการ ทำความสงบเฉยนิ่ง ไม่ตอบโต้ อะไรเลย ท่านเอง ท่านทำความเฉย แบบนี้ แม้ใครจะมา กล่าวร้าย ป้ายสี ว่าร้าย

ถ้าลงขนาดพระพุทธเจ้านี่นะ เป็นนักบวช ขั้นศาสดา แต่แล้วก็มีคน ไปกล่าวร้าย ว่าไปทำให้เขาท้อง แหม ! มันร้ายกาจ ขนาดหนัก เป็นปาราชิก เป็นร้ายกาจแล้ว ไปทำให้เขาท้อง แล้วเราไม่รับ ว่าเราไปทำ อันนี้ความเลวขั้นสุด ของพระ

พระรูปใดที่ละเมิด ด้วยเมถุนธรรม ไปทำให้ผู้คนท้องได้ จะต้องเกี่ยวยุ่ง เป็นกงเป็นการ ในเรื่องผู้หญิงผู้ชาย ชู้ๆ สาวๆ คนนั้นเลวที่สุด ในวงการพระนี้ เลวที่สุด เหมือนกับ พวกเราคงรู้ พระรูปไหน ไปเกี่ยวข้องผู้หญิง ผู้ชายไปมีเมีย หรือไปละเมิดอย่างนี้ ขึ้นมา คนนั้นเลวมาก เลวที่สุด

พระพุทธเจ้า ท่านจึงถูกใส่ความ ในจุดนี้เหมือนกัน นางจิญจมาณวิกา ได้ทำเสแสร้ง เอาไม้กลมๆ ใส่เอาไว้ในผ้านุ่ง เหมือนกับคนมีท้อง มาตู่พระพุทธเจ้า ว่าเป็นสามี พระพุทธเจ้า ท่านก็เฉย แล้วท่านก็กล่าวขึ้นว่า มีน้องหญิงกับเรา เท่านั้นแหละนะ ที่จะรู้กัน จริงหรือไม่จริง จริงไหมล่ะ? ท่านไม่ได้ยุ่งเกี่ยว นางจิญจมาณวิกา แต่นางจิญจมาณวิกาซิ เข้ามาเกี่ยวตัวท่านเอง ท่านก็เลย พูดขึ้นอย่างนั้น ท่านเกี่ยวเขา หรือไม่เกี่ยว เขาก็รู้ดี ท่านก็รู้ดี

เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าท่านรู้ว่าท่านถูก ท่านไม่ใช่เป็นคนผิด ท่านจึงเฉย เฉยจริงๆ เพราะฉะนั้น การหยุดการเฉย สันเตนะ โสมะวิธินา เฉยสงบ เมื่อถึงที่สุดนั้น เป็นคุณสมบัติ ของอริยะ ที่แท้จริง ความสงบนี่แหละ ชนะอะไรทั้งปวง ในโลก ท่านไม่เดือดร้อน เพราะท่านรู้ ท่านเฉยอยู่ สุดท้าย นางนั้น เต้นไปเต้นมา ไอ้ไม้ที่ซุกอยู่ในท้อง มันหล่นตกลงไปเอง โธ่ มาหลอก ! อย่างนี้ นางจิญจมาณวิกา ก็ถูกคนเขาด่าไป ถูกคนเขาว่า ให้เสียไปเลย ท่านเอาชนะมารอย่างนี้

ฉะนั้น เราก็เหมือนกัน ต้องจำยุทธวิธี บทนี้ให้ดีๆ อย่างพระพุทธเจ้าท่านทำ ใครจะมาด่า กล่าวว่าร้ายอย่างไร ก็ช่าง ถ้าเราตรวจดูตัวเรา ว่าเราไม่ได้เลว เราไม่ได้ร้าย ก็ไม่ต้องหวั่นไหว เราไม่ได้เสียหาย เราไม่ได้ทำผิด ก็เก่งนั่งยิ้มแป้น อยู่เฉยๆเถอะ ไม่เดือดร้อนใจเลย ไม่มีเคือง ไม่มีระคาย ไม่หวั่นไหว เฉย สงบ พูดได้ดี มีสติ สัมปชัญญะ มีความจริง มีความสัตย์ บริสุทธิ์อยู่ อย่างนี้ก็เป็น ผู้ที่ได้ผล ในการฟังพาหุง บทที่ ๕ คือ ชนะ คนจอมลวงโลก หรือ คนกล่าวร้าย เสียดสี หรือคนพาล หาเรื่อง เราจะชนะคนเหล่านั้นได้ อย่างเก่งเป็นธรรมะ ที่จะต้องรู้ ต้องเข้าใจเรื่อง เข้าใจเหตุผล ไม่ใช่ธรรมะ สวดเสร็จแล้ว ก็ขลัง ! มีอะไรมาบันดล บันดาล อย่างนั้นไม่ อย่าไปขอ อ้อนวอนเอา อ้อนวอนยังไง ก็ไม่สำเร็จ หรือ ไม่ใช่พุทธวิธี วิธีการที่พระพุทธเจ้า ทำเป็นตัวอย่างนี้ เป็นการเรียนรู้ แล้วลงมือ กระทำ ให้ถูกตรงตาม นี่ พาหุง บทที่ ๕


บทที่ ๖

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

บทนี้ ท่านแปลกันไว้ว่า

พระพุทธเจ้าท่านชนะนักบวช ผู้มีอัชฌาสัย ที่จะละเสีย ซึ่งความสัตย์ มีใจที่จะยกถ้อยคำ ของตนให้สูง ดุจยกธง เป็นผู้มืดมนยิ่งนัก ด้วยเทศนาญาณวิธี คือ รู้อัชฌาสัย แล้วตรัสเทศนา

ฟังคำแปลแค่นี้ ก็แสนจะเข้าใจยากแล้ว ก็จะขอแปลซ้อนลงไป ให้ง่ายขึ้นอีกหน่อย คือ

"พระพุทธเจ้าท่านชนะนักบวชอื่นๆ ที่"เบี้ยว" แล้ว"ไม่จริง" แล้ว"ไม่ตรง ไม่ถูก ตามสัจธรรม" แล้ว และยังเจตนา ที่ยกตนอยู่ ว่าตนสูง ตนดีเสียอีก มืดมนอยู่ หรือโง่อยู่ ยังบกพร่องอยู่ พระพุทธเจ้า จึงพยายาม เอาชนะ ได้ด้วยการใช้ พระปัญญา แสดงธรรม สอนไป เผยแพร่ออกไป กระจายสัจธรรมออกไป ตามอัธยสัย ของบุคคล ตามอัธยาสัย ของตนเอง และกาละเวลาอันควร ความกระจ่าง สว่างไสว แห่งสัจธรรมแท้ ก็จะเป็นประทีป ไปจุดให้ผู้"ไม่รู้" ผู้ยังยึดดี ถือตนนั้นๆ เห็นได้ตาม เป็นที่สุด

พระพุทธเจ้าชนะเขาด้วยการสอน สอนด้วยอะไร สอนด้วย "ปัญญาปะทีปะชะลิโต" สอนด้วยปัญญา ที่เป็นประทีป ที่ท่านมี เช่น มีความสว่าง หรือ มีความรู้แจ้งชัด อยู่เท่าใดๆ ท่านก็ใช้ปัญญานี้ สอนนักบวช ดื้อด้าน ยึดถือดี อวดดี หลงตนทั้งหลาย นักบวชที่ยึดดี หลงตน ที่ร้ายกาจนั้นๆ ในสมัยพระพุทธเจ้า ท่านก็มีคู่แข่ง มีนักบวช ทั้งที่เขาก็ยืนยันว่า เขาประพฤติ ถูกต้องแล้ว พระโคดมสิ มาประพฤติ มาสอนผิดๆ เขาก็พากัน ต่อต้านโต้แย้ง และมีทั้ง ประกาศศาสนากัน คนละศาสนา พระพุทธเจ้า ก็สอนนักบวช ที่ยังผิดๆเพี้ยนๆ อวดดี ทั้งหลายแหล่ นี้แหละ หรือนักบวชอื่นๆ อีกก็ตาม สอนเขา จนเห็นดี เห็นชอบด้วย สอนเขาด้วย "ปัญญาปะทีปะชะลิโต" พวกนักบวช ที่ยึดดี ถือตน อวดดี ทั้งหลายแหล่ เหล่านี้ พระพุทธเจ้าทำอย่างนี้

นักบวชในสมัยพระพุทธเจ้า มีหลายลัทธิ แยกออกมา จากพราหมณ์ ด้วยกันนั่นเอง ก็เยอะแยะ แต่งตัวเหมือนกันก็มี แต่งตัวอย่างโน้น แต่งตัวอย่างนี้ นับถือจารีต อย่างโน้น นับถือประเพณี อย่างนี้ มีแบบนี้แบบนั้น หลายๆอย่าง หลายๆแขนง ต่างกันมากมาย แต่ก็มาจากพราหมณ์ เหมือนๆกัน นั่นแหละ ส่วนใหญ่ ต่างก็ล้วน จะประพฤติพรหมจรรย์

เหมือนกันกับสมัยนี้ เรียกว่า พุทธศาสนาเท่านั้น แต่ก็มีการปฏิบัติกัน ไม่รู้กี่จารีต กี่ประเพณี กี่แบบอย่าง โดยเฉพาะทาง "ความเข้าใจ" หรือ "เป้าหมาย" ทางนามธรรมนั้น แตกแง่ แยกทาง มากมายหลายอย่าง เหลือเกิน เพราะฉะนั้น ได้หลายอย่างๆ นี้แหละ ก็เหมือนกันกับ สมัยโน้น ใน "พระพุทธศาสนา" ก็มีแบบอย่างกัน หลายอย่าง มี"ทิฏฐิ" กันคนละ"ทิฏฐิ" ในสมัยนี้ ผู้รู้จริง ก็จะต้องใช้ "ปัญญาปะทีปะชะลิโต" ซึ่งจะสามารถ เทศนา แสดงคำสอน ด้วยญาณวิธี หมายความว่า ทำด้วยความเก่ง แห่งปัญญา มีเชิง มีกลวิธีต่างๆ คนอื่นที่เขาเป็น นักบวชต่างๆ นั้นก็จะรู้ได้ จะได้ประโยชน์ เช่นเดียวกัน

สมัยพระพุทธเจ้ามี "ปัญญาปะทีปะ" มีญาณ มีปัญญา อันเป็นประทีป ถ่ายทอดกันอยู่ สมัยนี้ก็ต้องใช้ "ปัญญาประทีป" อย่างเดิมอยู่นั่นแล เพราะสมัยไหนๆ ก็พยายาม ใช้ปัญญาประทีป

นี่แหละแสดงเทศนา เพื่อที่จะให้พระ หรือนักบวช ผู้ที่มืดมน หลงตน ยึดดี ถือดี อวดดี อยู่ต่างๆนั้น คลายทิฏฐิ ยอมแพ้ หรือพระท่านมี ญาณประทีปนั้น ท่านก็จะพยายาม แสดงธรรมเทศนา สั่งสอน กล่าว หรือว่า แสดงวิธี ให้พระ ที่กำลังมืดมน หลงตน ยึดดี ถือดี ว่าตัวดี อวดดี เหล่านั้น ยอมเห็นตามได้ เข้าใจในสัจธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นสมัยไหน ถ้าใครมีปัญญา แก่ตนแล้ว "ปัญญาปะทีปะชะลิโต" เป็นปัญญา เป็นดวงประทีปสูง ก็สามารถ ที่จะเป็น ผู้สาดส่องกระจาย รังสีแห่งสัจธรรม ออกไปข่มรัศมี ที่ยังไม่จริงได้ จะปราบความอวดดี ปราบความหลงตน เย่อหยิ่งของนักบวช แม้รุ่นเก่า เกิดก่อน หรือรุ่น ที่ยังไม่ดีแท้ ยังไม่เป็นสัจธรรมจริงได้ ซึ่งก็ยากยิ่งแท้ แต่ถ้าคุณเป็นนักบวช ผู้มี ปัญญาปทีป นั้นจริง คุณก็ทำได้จริง ถ้าคุณไม่ได้เป็นนักบวช ที่มีปัญญาปทีป จริงนั่นสิ ! คุณก็ทำอันนี้ไม่ได้ ก็ให้ฟังไว้เท่านั้น

แต่ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงขึ้นมาแล้ว เมื่อกี้นี้ ชนะคนชั้น หลอกลวงในโลก ขนาดนั้น ฉะนั้น ขั้นต่อไป ตั้งแต่บทที่ ๖ นี่ก็ขั้นสูงขึ้นๆ ผ่านขั้นชนะ "คนลวง" ต่อมาก็ชนะ "พระลวง" หรือ "นักบวชลวง" ก็ต้องเตือนกัน บอกกัน แม้จะเป็น "นักบวช" ผู้ที่ยัง ไม่บริสุทธิ์สูงสุด ก็ยังหลง "โลกียสุข" อยู่อีกต่างๆ ที่มันทำให้ต้องถือดี ต้องอวดดี ยึดตัวยึดตน ต้องยุ่งยาก ลำบากกัน เพราะเป็นเรื่องของ ความสุขขั้นสูง ที่"นักบวชก็ยังหลง" เป็นเรื่องของ จิตชั้นสูง ขั้นสอนเขา ปราบมาร เรียกว่า "มารในนักบวช" ที่ปราบครั้งนี้ เรียกว่า "ปราบมารชั้นนักบวช" ไม่ใช่ปราบมาร ชั้นคนธรรมดา มารชั้นคนธรรมดา มีมือตั้งพัน บอกไปแล้วแต่ต้น ตั้งแต่บทที่ ๑ มีมือที่มีมีด แต่นี่เป็นมาร ที่อวดกล้า ว่าตัวเองนี่เก่ง มีสัจจะ มีตบะบ้าง มีแบบ มีวิธีบ้าง อะไรบ้าง ก็ตามแต่ แต่ตัวเองยังมี ความหลอกอยู่ ไม่มีสัมมาทิฏฐิ อย่างนี้ พระพุทธเจ้า ท่านปราบมาแล้ว และเราเอง พุทธศาสนิกชนเอง นักบวชของ พุทธศาสนา ในสมัยนี้แหละ ถ้าใครเป็นนักบวชที่มี "ปัญญาประทีป" อันรุ่งเรือง "ปัญญาปะทีปะชะลิโต" ปัญญาที่เป็น ประทีป รุ่งเรืองนี้ ก็ช่วยปราบ นักบวชเหล่านี้ด้วย อันนี้เป็น พาหุง บทที่ ๖


บทที่ ๗

นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุทธัง มะหิทธิง
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

อันนี้ก็แปลกันมาว่า "พระพุทธเจ้าชนะคนที่ติด ในเรื่องที่ ตัวเองได้แล้ว เป็นเจโต ที่มา ที่รู้ นึกว่าตัวเองถูก อันนี้เป็นนักบวชเหมือนกัน ปราบนักบวช ขั้นสูงต่อมา ปราบนักบวชขั้นใหญ่ ที่คิดว่าตัวเอง เป็นผู้ที่ได้แล้ว ซึ่งความสูง ด้วยฤทธิ์อันนั้นถือว่า ตัวเองเป็น "เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต" นึกว่าตัวเอง เป็นเถระที่ใหญ่ ที่มีฤทธิ์เดช ดังหนึ่ง พญานาคราช ใหญ่โตแล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้านักบวชผู้ใดถือว่า ตัวเองเหมือน พญานาคราช อันนี้ก็ไม่เน้น "ปัญญา" แต่อันนี้ เน้น"เจโต" คือได้ความสงบมาก ได้"วูปสโม สุโข" มาก สงบมากที่สุด เป็นพญานาค สงบจนกระทั่ง นิ่งเงียบ ชั้นพญานาค เหมือนคนนอนหลับ พญานาค นอนหลับทีหนึ่ง พระพุทธเจ้า เกิดหนหนึ่ง ถึงตื่นทีหนึ่ง หรือ รู้สึกตัวทีหนึ่งน่ะ

"พญานาค"นี้ หมายความว่า สงบถึงขั้นนั้น สงบดิ่งเก่ง เป็น"เจโตสมถะ" ไม่รับรู้ ไม่รับทราบ อะไรทั้งนั้น นี้หมายความว่า เป็นผู้ที่มาปฏิบัติธรรม มาแล้ว ได้รับความสงบ พระพุทธเจ้า ปราบคนที่ มิจฉาทิฏฐิ พวกนี้เหมือนกัน โดยเกจิอาจารย์ (ผู้แต่งบทพาหุงฯ) ก็จับความ ผูกเรื่องมาว่า พระโมคคัลลาเถระ ซึ่งเป็นพระสาวก นิรมิตรกาย เป็นนาคราช ไปทรมาน พญานาค ชื่อนันโทปะนันทะ ถ้าเราปราบคน เดี๋ยวนี้ อย่างนี้ ก็คือ เราปราบนักบวช ที่มีคุณลักษณะ เป็นดั่งพญานาค และนักบวชผู้นั้น มีความสงบรำงับ ได้อย่างลึก แล้วก็ปราบ ด้วยวิธี "อิทธูปะเทสะวิธินา" ก็คือ เทศนาให้มีผลเก่ง แสดงความจริง ให้ปรากฏเก่ง "อิทธูปะเทสะวิธินา" ด้วยอุปเทศ มีฤทธิ์ ท่านแปลว่า อุปเทศมีฤทธิ์ เป็นอิทธิ อีกประเภท ต้องเทศนานั่นแหละ ให้มีความเก่ง หรือมีฤทธิ์ (อิทธิ) ยิ่งๆขึ้น ให้มีรายละเอียด มีแง่มีมุมต่างๆ ยิ่งๆขึ้น (อุปเทศ) ให้มีเทศนาที่ดี มีอิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ มีความเก่งกล้า ถูกต้องอริยธรรม (คือ ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ ที่เป็นเดรัจฉานวิชชา) ด้วยวิธี อันเยี่ยมยอด เพื่อจะทำวิธี ให้เขาเห็นได้ เข้าใจได้ ว่ากลายไปหลงความสงบ เป็น นันโทปนันทะ พญานาคตัวใหญ่ มันก็ยังไม่เป็นที่สุดหรอก ไปหลงความสงบนี้ ก็ยังไม่เข้าท่า อันนี้เป็นเรื่องของ นักบวชแล้ว หรือ คนปฏิบัติธรรมชั้นสูง นักบวชด้วยการพึงรู้ นักบวชคนไหน ติดทิฏฐิของตัวเอง ว่าตัวเองเก่ง (หลงในความหยุด ความนิ่ง ความสงบของตน) อย่างนี้แล้ว ซึ่งเหมือนกับนักบวช เก่งในความลึกซึ้ง อย่างนั้นอย่างนี้ สามารถเรียนไอ้โน่น เรียนไอ้นี่ ทำเก่ง มีคำพูดเก่ง สามารถที่จะแสดงไอ้นี่ ได้เก่ง แล้วก็หลง ในความรู้ หลงในความเก่ง ความสามารถของตน อย่างนั้น ก็จัดว่าเป็นประเภทที่ ยังหลงตัว อยู่เหมือนกัน การแสดงธรรม เอาชนะ ด้วยการใช้วิธี ใช้ปัญญา อธิบาย ใช้พลังของ ความจริงที่มี ยืนยันด้วยวิธี ต่างๆ นานา มากหน่อย เพราะว่า คนที่หลง ความสงบนี้ มันเป็น"มานะ" ขั้นสูง เป็นความยากแสนยาก และนักบวชชนิดนี้ ปัญญาจะไม่ค่อยแล่น หรือ ส่วนมากไม่ชอบคิด ปัญญาน้อย

เพราะฉะนั้น ต้องมี "อิทธูปะเทสะ" มีวิธีที่จะแสดงอุปเทศต่างๆ เหลี่ยมนั้น เหลี่ยมนี้ แสดงถึงกายธรรม วจีธรรม มโนธรรม ออกมาให้เขารู้ได้ เขาหมดทิฏฐิได้ จนเป็นผู้มี "สัมมาทิฏฐิ" รอบถ้วน และพร้อมกับ แก้ไขความติด ความผิดนั้นๆ ได้ ถ้าใครได้สามารถ ช่วยคน อย่างนี้ได้ คนนั้นก็เป็น "ชิตะวามุนินโท" เป็นพระมุนี ที่เราชนะได้ ซึ่งเป็นมาร ชั้นสูงมาก

ก่อนอื่นจริงๆ ก็ตรวจตัวเราเอง นั้นแหละก่อนว่า เราหลงความสงบ หรือไม่? เรามีความสงบนั้น ต้องมีให้ได้จริง! แต่เราติดสงบ ติดหยุด ติดคุดคู้หรือไม่ ถ้าไม่ติด เป็นผู้รู้แจ้งจริง ก็เป็น ชิตะวามุนินโท เอาทีเดียว จากนั้น จึงช่วยผู้อื่น ที่มีมิจฉาทิฏฐิ มีมิจฉาสมาธิ ให้นักบวชผู้มี"มิจฉา" เหล่านั้น เข้าใจถูก เป็น"สัมมาทิฏฐิ" และถอดถอน ส่วนที่ไปหลงผิด จนเป็น "มิจฉาสมาธิ" นั้นๆ เสีย

"สัมมาสมาธิ" ของพระอริยะ อันมีมรรคองค์ ๘ นั้น ไม่ใช่สภาพที่ จะเข้าใจ ได้ง่ายๆ หรือเป็นได้ง่ายๆ ดั่ง สมาธิหลับตา ต้องมีความเข้าใจ อย่างถูกต้อง จริงๆ (ผู้สนใจ โปรดอ่าน "มหาจัตตารีสกสูตร" มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์) และเป็นของ ศาสนาพุทธ เท่านั้น มันมีประโยชน์สูงสุด และมีสภาพ ประหยัดสุด มีระดับ อนุโลม - ปฏิโลม อยู่ครบพร้อม เกื้อกูล เกี่ยวพันกับผู้อื่น เป็นความสมบูรณ์ของ ศาสนา หรือ เป็นความประเสริฐ สมบูรณ์ ของความเป็นมนุษย์ ผู้เข้าถึง ผู้เป็นได้จริง คนผู้ได้ความสงบ แล้วก็หลงความสงบ ติดสงบ ก็จะขี้เกียจเฉื่อยชาเนือย ปัญญาก็จะเสื่อมลงๆ เมื่อความเกียจคร้านเข้าจับ นั่นไม่ใช่ความเป็น มนุษย์ประเสริฐ ของศาสนาพุทธเลย

ศาสนาเดียรถีย์ ที่ปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ไปจบที่"หยุด" เลิกโลกแบบพาซื่อ ทิ้งโลกแบบเถนตรง ไม่รับรู้กับโลก ไม่เกื้อกูลโลก ไม่เกื้อกูล มวลมนุษยชาติ ไม่เข้าใจความสุขของ มวลมนุษยชาติ ไม่ช่วยมวลมนุษยชาติ ให้มี อริยญายธรรม ได้ชื่อว่า ศาสนาหนีเอาตัวรอด หรือ ลัทธิเห็นแก่ตัว ศาสนานั้น ลัทธิอย่างนั้น หรือ ทิฏฐิอย่างนั้น เป็นเดียรถีย์

แต่ศาสนาพุทธนั้น พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า ธรรมวินัยนี้ ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล มวลมนุษยชาติ

ปฏิบัติเพื่อความสุข แห่งมวลมนุษยชาติ เพื่อยังหมู่มวล มนุษยชาติ ทั้งหลายทั้งปวง ให้มากที่สุด อันจะตั้งอยู่ใน อริยญายธรรม (คือ เป็นอารยชน เป็นมนุษย์ที่เจริญ ไม่ด้อยพัฒนา นั่นเอง)

(จากสุตตันต. อังคุต จตุกก.ข้อ ๓๕ ตามพระบาลีที่ว่า อิธ พราหมณะ พะหุชะนะหิตายะ ปฏิปันโน โหติ พะหุชะนะสุขายะ พหุสสะ ชะนะตา อริเยญาเย ปติฏฐาปิตา)

ศาสนาพุทธสอนคน ให้เป็นปราชญ์ ให้เป็นมหาบุรุษ ยิ่งบรรลุธรรม ก็ยิ่งเป็น ประโยชน์ต่อโลก โลกุตตรธรรม ของพระสัมมา สัมพุทธเจ้านั้น เป็นคุณธรรมของ มหาปราชญ์ ของมหาบุรุษ ที่จะค้ำจุนโลก ช่วยมนุษยชาติ ไม่ใช่ธรรม ที่ปฏิบัติแล้ว กลับกลายเป็น ผู้ได้แต่ประโยชน์ตน เห็นแก่ตัว ไปชิบ ! อย่างนั้นก็ไม่เลย อย่าเข้าใจผิด หลงผิด (มิจฉาทิฏฐิ) กันว่า การปฏิบัติตาม โลกุตตรธรรมนั้น ก็เพื่อ"ตัวเอง" เท่านั้น หรือบวช เป็นภิกษุเสีย จะได้ไม่ต้อง มาอยู่ในโลก ปฏิบัติไปในทาง โลกุตตรธรรม แล้ว ก็หมายความว่า เรารอดพ้นแต่ตัว เราไม่อยู่ในฐานะ ที่จะทำอะไร ให้เกิดแก่คนอื่นได้ โลกุตตรธรมนั้น หมายถึง การแยกตน จากหมู่คณะ หรือ แยกตน ออกจากสังคม ถ้าขืนใครเข้าใจ "โลกุตตรธรรม" ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอย่างนี้ ผู้นั้นก็ซวยมาก ก็น่าสงสาร ที่ไปเห็นศาสนาพุทธ เป็นอย่างนั้นเสียนี่ เพราะมันเท่ากับ หมายความว่า ศาสนาพุทธ เนื้อๆ แท้ๆ กลับไม่มีค่าอะไรเลย กับมนุษยชาติ หรือ ขัดกับพระพุทธพจน์ ที่ยกขึ้นมา ยืนยันให้ฟัง เมื่อกี้นี้แน่ๆ

ศาสนาฤาษีที่สอนให้มีทิฏฐิ แบบทิ้งโลก ทิ้งมนุษย์ "หยุด" ไปอย่างพาซื่อ ดื้อๆ เป็นเถนตรง ไม่มีสติปัฏฐาน ไม่มีวิปัสสนา แล้วก็ "เบื่อหน่ายแบบเกลียดชัง" ความเป็นจริงของทุกๆ สิ่งในสังคม เกลียดชังวัตถุ เกลียดชังในพฤติกรรม ของมนุษย์นั้น มันมีมาก่อน ศาสนาพุทธจะเกิด และมีมากลัทธิด้วย และมันก็ไม่ใช่ ความประเสริฐ ของความเป็นมนุษย์ อะไร? มันเป็นเพียง "ความเห็นแก่ตัว" ของมนุษย์เชิงหนึ่ง เท่านั้น มันเป็นลัทธิ ที่สอนให้คนกลัว ! ไม่ใช่ลัทธิที่สอน ให้คนแกล้วกล้า องอาจแข็งแรงต่อโลก เป็น"ที่พึ่ง" ของมนุษยชาติ มันตรงกันข้ามกับ ลัทธิพุทธน่า ! มันเป็นเรื่องตื้นเขิน และ ไม่ใช่ความลึกซึ้งอะไร ที่จะเรียนรู้ หรือ ทำความเข้าใจ มันจึงไม่เข้าใจง่าย และใครๆ ก็เข้าใจได้ ไม่ยากจริงๆ

คนเป็นจำนวนมาก จึงเข้าใจกันอย่างนี้ และแล้วจึงคิดว่า ศาสนาพุทธ ก็มี "ทิฏฐิสัมบูรณ์" แบบนี้บ้าง ซึ่งมันไม่ใช่!

แต่ศาสนาพุทธ ก็ไม่เป็นทาสสังคม ไม่หลงใหลติดใจ ในพฤติกรรม ของมนุษย์ ไม่เป็นทาสวัตถุ ไม่เป็นทาสอารมณ์จิต และมี"กรรมวิธี" (มรรควิธี) ในการปฏิบัติ เพื่อเรียนรู้ เพื่อลดละ เพื่อขัดเกลา อารมณ์จิต ที่เคยหลงเคยติด เคยเป็นทาส สิ่งเหล่านั้น ออกให้เกลี้ยงสนิท จนอยู่กับโลก อยู่กับสังคม อยู่กับวัตถุ อยู่กับพฤติกรรม ของมนุษย์ทั้งหลายได้ โดยจะได้ชี้ ช่วยลด ช่วยเพิ่มให้แก่สังคม เป็นครูของมนุษย์ ของสังคม เกื้อกูลเขา ช่วยให้เขาอยู่เป็นสุขขึ้น และฉลาดขึ้น อย่างแท้จริง ตรงตามพระพุทธพจน์ แน่ๆ ผู้เป็นครูนั้นๆ ก็เป็นผู้ "ประหยัดสุด" เพื่อ "ประโยชน์สูง" จริงๆ

ดังนั้น แม้จะปฏิบัติกัน จนบรรลุได้ ในช่วงหนึ่ง ได้รับผลเห็นแจ้งว่า การหยุด การพัก การไม่ต้องยุ่งกับ อะไรๆ นั้นมันสบาย มันว่าง มันง่าย มันสงบจริงๆ นักปฏิบัติธรรม ที่ไม่มีครูอาจารย์สอน ถูกทิศถูกทาง จริงๆ ก็จะติดสงบ หลงความสงบ หลงความหยุด หลงความพัก ความไม่ต้องยุ่งกับงานการ กับเรื่องอะไร ทั้งหมดเลย จะอยู่มันเฉยๆ นิ่งๆ เนือยๆ ไม่มีความขวนขวาย ไม่มีความขยัน เป็นใบ้ เป็นเศษมนุษย์ เป็นกากคน ที่เหมือน ของสูญเปล่า ไร้ค่า ไร้แรงงาน ทั้งทางกาย ทางปัญญา แต่ก็ยังกินอาหารในโลก อยู่กับเขา ยังใช้สอยวัตถุต่างๆ บางราย ที่ยังไม่ใช่รายเก่ง ก็จะเป็นเศษมนุษย์ที่เปลือง พอได้ แต่บางราย ก็เก่งเหมือนกัน เป็นเศษมนุษย์จริง และไม่เปลือง วัตถุโลก ไม่มีพฤติกรรมเยี่ยง มนุษย์ปุถุชนโลกๆ นั่นก็นับว่า เป็นความเก่งอย่างหนึ่ง เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หมดกิเลส เพียงแต่ห่างวัตถุ ห่างสิ่งที่เป็น"เหตุ" แห่งกิเลสภายนอก ไปเท่านั้น ถ้าจิตที่หมด กิเลสจริงแล้ว อยู่กับ เหตุปัจจัยภายนอก อะไรก็ได้ จึงจะเรียกว่า เหนือโลก เหนือวัตถุในโลก จึงจะชื่อว่า "โลกุตระ" แท้

แต่นี่ยังสัมผัส สัมพันธ์กับวัตถุบางอย่าง พฤติกรรมของมนุษย์ บางอย่างไม่ได้ ก็ยังไม่เปล่า ไม่ว่าง ในจิตจริง ยังหวั่นไหว ต่อการกระทบอยู่ จึงต้องหลบลี้ หรือเลี่ยงอยู่ป่า อยู่เขาอยู่ถ้ำ ที่ห่างไกลโลกีย์ จนตายไปก็เยอะ ซึ่งที่จริง ก็ไม่ใช่ของง่ายเลย ที่คนจะปฏิบัติตน จนปละปล่อยจิต หยุดจิต ละมาได้ ถึงขั้น ทิ้งพฤติกรรม ที่ปุถุชนเขาติด ทิ้งโลกียะ ทางกามราคะ ขั้นละเว้นกันได้นานๆ จนดูประหนึ่งเป็น "อนาคามี" หรือเป็นผู้ไม่ใยดี บ้านช่อง เรือนชาน ทรัพย์สินสมบัติอะไร บางคน ทิ้งละไปได้ จนตราบตาย จากไปเลย ก็มีไม่น้อย แต่มันก็ยังไม่ใช่ จุดสูงสุดของ ศาสนาพุทธ

การลด ละ สงบ รำงับมาได้ออกปานนี้ก็เป็น "ผู้ประเสริฐ" (นาค) ขั้นหนึ่ง แง่หนึ่ง เหมือนกัน แต่ยังไม่สูงสุด จริงๆนั้น อาจจะละ จะเว้นสมบัติโลก ละเว้นพฤติกรรม อย่างมนุษยโลก ออกมาได้ เพียงเพราะติดสงบ ซึ่งเป็นการเสพย์ติด ชนิดหนึ่ง เพราะอุปาทานสุดโต่ง ชนิดหนึ่ง หรือเพียงเพราะ ห่างเหตุ ห่างปัจจัยแห่งกิเลส อันเป็นเพียงวัตถุหยาบ เป็นเพียงรูปธรรม มิใช่เหตุที่เป็นนามธรรม เป็นที่สุดพร้อม เป็นเพียงภายนอก มิใช่ในภายใน อย่างถูกจุดแท้ ด้วยปัญญาจริง เท่านั้นเอง จึงทนได้ แต่ถ้ายังสัมพันธ์ สัมผัสโลกอยู่ จะทนไม่ได้ จึงจะต้องเอาชนะ ความติดสงบ ติดหยุดนี้ให้ได้ และจะต้อง เรียนรู้ พิสูจน์แท้ว่า "ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ น กัมปติ" คือสัมผัสโลกธรรมใดๆ สัมพันธ์อยู่กับโลก ทั้งหลายอย่างไร จิตใจของเรา ก็ไม่มีหวั่นไหว จริงๆ ได้แท้ จึงจะเป็น "ชิตะวามุนินโท" เป็นมุนีผู้ชนะ สูงขึ้นไปให้ได้อีก

นี่ก็เป็นสภาพธรรม และความรู้อันได้มาจาก "พาหุง บทที่ ๗" ก็สูงขึ้นๆ มาตามลำดับ ขั้นนี้มันขั้น "ปฏินิสสัคคะ" คือ ขั้น"ย้อนคืน" หรือ "สละคืน" มันเป็นขั้นสูง ถึงขนาดเข้าใจ สภาพจริงที่แท้ว่า ได้แล้ว ก็เป็นอันได้ และไม่ต้อง "ติด"นี่ ! ไม่ต้องเอาก็ได้ ซึ่งเราก็รู้ว่า เราก็ยังได้ อยู่นั่นเอง


บทที่ ๘

ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง
พรหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

ซึ่งก็แปลกันมาว่า "พระพุทธองค์ชนะพรหม ผู้มีนามว่า ท้าวพะกา ผู้มีฤทธิ์ อันสำคัญว่า เป็นผู้รุ่งเรือง ด้วยคุณอันบริสุทธิ์ มีมืออันท้าวภุชค์ คือทิฏฐิ ที่ตนถือผิด รัดรึงไว้ แน่นแฟ้นแล้ว ด้วยวิธีวางยา อันพิเศษ คือ เทศนาญาณ ฯลฯ"

ขั้นนี้มันขั้นสุดท้ายแห่งมุนีจริง คือขั้นปราบ พระพรหม เป็นอภิญญา ขั้นสุดท้าย หรือเป็น "อิทธิวิธี" ลำดับปลายขั้น "ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลก" มันเป็นขั้นสูงกว่า "เหาะไปในอากาศ เหมือนนก" ขั้นสูงกว่า "ลูบคลำ พระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก ด้วยฝ่ามือ" กันเสียอีก

คือ ขั้นต้องชนะ สภาพที่เรียกว่า "พรหม" ทั้งหลาย เกจิอาจารย์ ท่านก็จับ เรื่องขึ้นมาว่า พระพุทธองค์ชนะ พระพรหม ผู้มีนามว่า ท้าวพะกา ผู้มีฤทธิ์ ซึ่งสำคัญว่า ตนเป็นคนเก่ง ยิ่งใหญ่ ถ้าผู้ใดยัง "มิจฉาทิฏฐิ" อยู่ ยังไม่มีปัญญารู้ว่า "พรหม" นั้นก็คือ "จิตวิญญาณ" และไม่ใช่อยู่ฟากฟ้า ฟากดินไหนหรอก ! มันก็คือ จิตวิญญาณ ของเรานี่เอง อยู่ในตัวเรานี่เอง

นี่แหละ! ต้องตรวจ ต้องอ่าน ต้องรู้แจ้งให้ได้ จะปราบพระพรหมฯ ก็ไม่อยู่ไหนหรอก พระพรหมก็อยู่ ในจิตของเราเอง พระพรหมอยู่ในจิต ของคุณทุกคน ทุกคนมีจิต พระพรหม อันนี้ภาษาพระ ท่านเรียกว่า "มมังการ" หรือ "อหังการ" อยู่ในตัวคนเป็นๆ นี่เอง ไม่ใช่ล่องลอย อยู่ในอากาศ อยู่บนยอดไม้ ยอดเขา ยอดดินอะไร หรือ ไม่ใช่ไปสิงสู่ อยู่กับรูปปั้น รูปหล่ออะไร ถ้าใครยังงมงาย "มิจฉาทิฏฐิ" อยู่ รู้ไม่ออก จับในตนไม่ได้ ก็ไม่มีหวังได้เป็น "ชิตวามุนินโท" พระพุทธเจ้า ท่านก็ปราบพระพรหม นี้ตั้งชื่อเป็น ปุคคลาธิษฐาน ท้าวพะกาพรหม มีฤทธิ์ คือสำคัญตนว่า เป็นผู้รุ่งเรือง เป็นผู้ยิ่งใหญ่ สูงส่ง ว่างั้นเถอะ สูงด้วยคุณอันบริสุทธิ์ มีทิฏฐิ ถือตน ถือตัว มีมืออันท้าวภุชงค์ คือทิฏฐิ ที่ตนถือผิดนั้นหนะ มันหมายความว่า เจ้าของจิตวิญญาณเอง นั่นแหละ ยังหลงยึด เอาจิต เอาวิญญาณ ที่ตนเป็นอยู่ มีอยู่ ว่าเป็น "ตน" เป็นประหนึ่ง "ของของตน" เลยไม่หมดสิ้น "อัตตา" ไม่จบกิจ เป็นผู้บรรลุอรหันต์ ไปได้สักที "พรหมโลก" หรือ ลักษณะพรหม มันมีอีกหลายแบบ หลายขนาด หลายชั้น ต้อง "รู้ชัด" และ มีอำนาจเอาชนะพรหมได้จริงๆ ซึ่งล้วนแต่คือ "จิตวิญญาณ" ในตัวเรา นี่เองจริงๆ

แม้"จิตวิญญาณ" ของใครจะเก่ง จะดีบริสุทธิ์ จากกิเลสหยาบต่ำ จากกิเลส อย่างกลาง แม้จะกิเลส อย่างสูงละเอียด มาได้จริงแท้ สูงจริง เก่งจริง ดีจริง บริสุทธิ์จริง ออกปานใดก็ดี มันก็เป็นความดีจริง สูงจริง เก่งจริง บริสุทธิ์จริง ของจิตวิญญาณนั้นๆ ตามขนาดที่ตนละตนเลิก ตนหลุดพ้นมาได้จริง แต่อย่าเผลอไป "หลงตน" ว่าตนมีดี ตนมีตัวเก่ง ตนบริสุทธิ์ แล้วก็หวงแหน ห่วงหวงความบริสุทธิ์ ถือ "เจ้าตัวสูง" ยึดเจ้าตัวเก่ง ตัวดีนี้เหนียวแน่น จนมันกลายเป็นเหตุให้ "ตนทุกข์ตนลำบาก" หรือ ตนทำการงานอะไร ก็ไม่บังเกิดผล สูงส่ง ดียิ่งขึ้นไปๆ ได้กว่านั้นอีก เป็นอันขาด ได้รู้มานิด ได้ดีมาหน่อย ก็จะไปหลงตัว หลงตนเข้า ก็นั่นแหละ ระวังๆ เถอะ!

มุนีขั้นนี้ จะต้องมี "ปัญญา" ขั้นชาญเชิง ขั้นฉลาด เหนือชั้นจริงๆ เป็น "ญาณาคะเทนะวิธินา" ตัวจริงตัวแท้ ที่จะต้องรู้ "ความจริง" ที่ตัวเอง (มีอัตตัญญู) และจะต้องรู้ "ความดีความเก่ง" หรือ "ความยังไม่ดี ยังไม่เก่งจริงๆ" ของผู้อื่น (ปุคคลปโรปรัญญู) ทั้งของหมู่กลุ่มต่างๆ (ปริสัญญู) เพื่อดำเนินการ จรรโลง ก่อการรังสรรค์ที่ดี ให้เกิดแก่สังคม แก่มวลมนุษยชาติ จึงจะต้องมี "มัตตัญญู" คือ จะต้องรู้ขนาด รู้ประมาณจริงๆ อย่าว่าแต่วัตถุเลย ถึงสภาพของ "อรูป" หรือ "นามธรรม" แท้ๆ ว่าจะปั้นขนาดใด ประมาณกันขั้นไหน จะต้องปั้น ออกมาให้ได้ ตามประมาณจริงๆ และจะต้องมี "กาลัญญู" คือกาละอย่างไรควร กาละอย่างไรเคร่ง ก็จะต้องรู้จริง ให้ถูกต้อง "อัตถะ" ลงตัวเป็น "กุศลธรรม" และหรือ "อกุศลธรรม" กันให้ดีที่สุด ที่สามารถตลอด ไม่ใช่เอาแต่ "ตน" เป็นใหญ่ ไม่คำนวณ ของคนอื่น ไม่อนุโลมผู้อื่นเลย เห็นแต่ตน มองออกแต่ตน ตามใจแต่ตน เชื่อแต่ตนตะพึด ฝ่ายเดียว อย่างนี้แหละพระพรหม (อัตตาธิปไตย)

โดยเฉพาะ ต้องปราบความถือดี ยึดตัวยึดตน ที่ตนเอง นั่นแหละก่อน นั่นแหละคือ "การปราบ พระพรหม" หรือคือ "มานะสังโยชน์" ตัวสำคัญนั่นเอง

ถ้าเรา"หลงความใหญ่" ท่านเรียกว่าเป็น พระพรหม หลงตัวเองว่า มีฤทธิ์ มีความสามารถ มีความดี มีความเก่ง (แม้จะมีจริง) มีอำนาจ หลงตัว หลงตน ว่าตัวเองใหญ่ ตัวเองโต อะไรอย่างนี้ จิตตัวเองนั่นแหละ คือ พระพรหม หลงตนเอง มี"วิมานะ" หรือมี"วิมาน" ที่ไม่ยอมปล่อย มีจิต "มานะทิฏฐิ" ถือตัวถือตน ถือสิ่งที่ตนมี ตนเป็นมากๆ ขึ้น หรือ ไม่ยอมปล่อย ยอมวางเลย มันก็จะนึกว่า ตัวเองเก่ง นึกว่าตัวเอง เหนือเขาทั้งโลก อย่างไม่มีโอกาสว่าง ไม่หมด"ชาติ" สภาพจิต จะยึดจัด จนเห็นชัดว่าเป็น พระพรหม (พระเจ้า) ทีเดียว เป็นผู้บงการ เป็นผู้บันดาล เป็นผู้สร้าง เป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้เผด็จการ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าใครรู้เท่าทันในตน จะต้องพยายาม ประมาณตน กำราบตัวเอง ถ้ามัน "มากไป" ก็ดี หรือ "ดูไม่ดีไม่งาม" ก็ดี ด้วยวิธีต่างๆ ที่จะสามารถ ปราบตนลงไป "ใช้ปัญญา ประกอบให้มาก"

อนึ่ง ถ้าตนดีจริง ใหญ่จริง เก่งจริง ก็ไม่ใช่ จะ"หลงผิด" เสียอีก ไม่ยอมแสดงตัว ตามจริง ให้มันวนซ้ำ กลับกลายไปเป็นว่า ตนเล็ก ตนน้อย ตนด้อย ตนไม่ดี ตนไม่เก่ง อยู่ตะพึด มันก็วนไม่รู้จบ ไม่องอาจ ไม่ยืนหยัดความจริง ไม่มีที่พึ่งสุดท้าย คนผู้ยังไม่ละเอียดแท้ ยังไม่แน่จริง ก็จะ"วน"ดังนี้ แล้วก็มักจะแก้ตัว ด้วยคำว่า "นั่นเป็นการถ่อมตัว" ลักษณะเช่นนั้น คือ "อุทธัจจะสังโยชน์" แท้ๆของ "พระพรหม" ตัวร้าย จะต้องปราบให้ "หยุด" ให้มั่นคง ให้เลิกวน ให้ได้ละเอียดไปอีก ดั่งนี้ เป็นต้น

ที่จริงตนดี ตนกลาง ตนเล็กขนาดไหนๆ ก็ขอให้รู้ "ความจริง" และใช้ความจริง ให้ถูกกาละ ถูกเทศะ ถูกฐานะ อย่างองอาจ แกล้วกล้า มั่นใจ และสุภาพที่สุด ตามปัญญา ที่ได้ไตร่ตรอง อย่างสูงสุดเถิด ซึ่งบางที บางกาละ จะต้องจำ "ถ่อมตน" ในบางเหลี่ยม แต่ก็ต้องแสดง ความดีจริง ความใหญ่จริง ที่ตนมีจริงนั้น ออกมาได้จริงๆ จึงจะต้อง ใช้ปัญญา ใช้ญาณ เป็น "ญาณาคะเทนะวิธินา" อันยิ่งกว่า "ปัญญาปะทีปะชะลิโต" กันจริงๆ

จะเห็นได้ว่า มันสุดยอดสุดยากที่สุด แต่แค่ขั้นจะปราบ ความเป็น "พระพรหม" ของตน ลงไปได้นั้น ก็สุดแสนจะยากยิ่ง นักแล้ว ยิ่งจะไปปราบความเป็น "พระพรหม" ของผู้อื่น อีกละก็ เอ๋ย! มันไม่ใช่ ของง่ายเลย มันต้องใช้ "ญาณาคะเทนะวิธินา" คือ ต้องใช้ "ญาณปัญญา" ใช้การแสดง ด้วยกรรมวิธี แสนฉลาด ซ้อนเชิง กันจริงๆ ลึกซึ้ง มีอิทธิฤทธิ์จริงๆ

และการ "หมดตัว-หมดตน" หรือ "ไม่ถือตัว ไม่ยึดตน" ที่ว่ากันเป็นภาษา สำนวนกันนั้น ก็มิใช่ว่า จะเป็นคนต่ำ ปล่อยให้ใครๆ ก็เหยียบก็ย่ำไป จนคนเขา เข้าใจผิดไปหมด ไม่มีการแสดง "ความจริง" ว่าเรามีความดี มีความสูง ชั้นนั้น ชั้นนี้จริง ก็ไม่ใช่จะเถรตรง พาซื่อ เสียอย่างนั้นไปหมด จนกลายเป็น "หมดตัว-หมดตน" ก็คือ ให้ใครดูถูกได้หมด ทำตนต่ำไปตะพึด ว่า "ไม่ถือตัว ไม่ยึดตน" ก็ไม่ยึด ไม่ถืออะไร ไปตะพึด ความดีก็ไม่ยึด อนุโลมตามชั่ว ตะพึด ความถูกก็ไม่ยึด ถูกก็ได้ ผิดก็ได้ ตะพึดไปหมด เป็นพระก็ไม่ยึดศีล ไม่ยึดวินัย หรือ ทั้งๆ ที่เห็นใน "สัจจะ" แต่ก็ไม่ช่วยกันยึดใน "สัจจะ" นั้น ไม่พยายามต่อสู้ ยืนหยัด เพื่อยืนยง "สัจจะ" นั้น อะไรอย่างนั้น มันก็สุดโต่ง เลยเถิดไป เป็นคนไร้ปัญญา และไม่เป็นหลัก เป็นผู้นำ เป็นที่พึ่ง อะไรในโลกกันได้เลย "สรณัง" ก็เลยไม่มี "โลกนาถ" ก็ไม่มี เท่านั้นเอง จงระวังเถิด ! ในคำว่า "ไม่ยึด ไม่ถือ" ก็มิใช่ว่าจะเป็น คนหลักลอย เลอะๆ เทอะๆ

แท้จริงที่สุดนั้น ผู้บรรลุหรือผู้รู้ยิ่ง ผู้หมดตัวหมดตน อย่างแน่แท้ มีปัญญารู้ดี รู้ชั่ว ชัดเจน รู้ถูก รู้ผิด จริงจัง นั่นแหละ คือ ตัวผู้ต้อง"ยึด" ต้อง"ถือ" หลักความจริง ยึดความถูก ถือ "สัจธรรม" แท้ๆ เป็น "ที่พึ่ง" ให้แก่ มวลมนุษยชาติ ให้แก่โลก จึงจะเรียกว่า "สรณัง" (ที่พึ่ง) ของผู้ยาก หรือถ้าเป็น ผู้สูงยิ่งเยี่ยมมาก ก็เป็น "โลกนาถ" อันคือ ที่พึ่งของชาวโลกได้จริง

ดังนั้น ผู้เป็นมหาบุรุษ หรือเป็นอริยบุคคล จึงจะต้องเป็น ผู้รู้แจ้ง ในความจริงแท้ ของความจริง ตนเป็นอย่างไร? มีอย่างไร? แค่ไหน? ก็จะต้องแสดงตามจริง นอกจาก บางคราว ท่านอนุโลม "ถ่อมตน" ให้เท่านั้น ก็จะไม่ชัด ตามจริงเท่าไหร่! ส่วนจะ "เบ่งตน" ใหญ่เกินจริง นั้นไม่ควร และ อริยบุคคลจะไม่ทำ ฉะนั้น คราใด ท่านต้องแสดงตัว "ตามจริง" ว่าท่านใหญ่จริง สูงกว่าจริง ดีเหนือเขาจริง คนก็มักจะมองไปว่า เป็นการ "ยกตน" เป็นการ "ข่มขี่ผู้อื่น" อยู่บ่อยๆ เสมอๆ ก็เป็นความจริง !

และท่านก็"รู้"แจ้งในความจริง อย่างนี้ แล้วท่านก็ "ไม่ยึดไม่ถือ" ในคน ผู้ไม่รู้ความจริง นั้นๆ อีก ท่านเห็นใน"สัจธรรม" และเห็นใน"ความจริงใจ" เป็นความจริงจัง เป็นที่สุดเอง แล้วท่าน ก็รู้จักจบ รู้จักที่สุดเอง เป็น "สัจจะ" ลงตัว ตรงกับ พระพุทธพจน์ที่ว่า "อลัญจ ปน โว ภิกขเว ตุฏฐียา อลัง อัตตมนตายะฯ"

จะเป็น "ชิตวามุนินโท" หรือมุนีผู้ชนะกัน ขั้นสูงสุดยอดนั้น จึงต้องมี ญาณวิเศษ มีญาณทัสสนะ หรือ มีอธิปัญญา กันขั้นปลายสุด (อันต) รู้ความเหมาะสม เป็นที่สุดจริงๆ แม้จะรู้ตนเองว่า เราไม่มีกิเลสแล้ว (อรห) ก็ดี จึงจะเกื้อกูล มวลมนุษยชาติ จะเพื่อความสุข ของมวลมนุษยชาติ ยังมวลมนุษยชาติ เป็นอันมาก ให้เข้าถึง ความเป็นอารยชน (อริยญายธรรม) ได้จริงๆ เป็นที่สุด

บุคคลเช่นนั้นแล คือ "อรหันต์" (อรห+อันต)

ผู้ชนะพระพรหม ผู้เหนือพระเจ้าได้จริงอย่างนี้ จึงคือ "ชิตวามุนินโท" ที่มีผล เพราะได้เรียนรู้ พาหุง ๘ เป็นคาถา พาให้ศึกษาค้นคว้า จนหยั่งแจ้ง แทงทะลุได้จริง มิใช่ว่าเรียน "พาหุง ๘" แล้วก็ได้แค่ท่อง แค่สวด แลกข้าว แลกของกินๆ ใช้ๆ จนตายไปเท่านั้น หรือมิหนำซ้ำ เอาไป"หลอก" ผู้คน ให้งมงาย หลงใหล เลอะเทอะ ว่าคาถานี้ เป็นของขลัง เป็นคำที่ท่องแล้ว กล่าวขึ้นมาแล้ว จะเกิดฤทธิ์พิลึกๆ สวดเดินหน้า ถอยหลัง เท่านั้นเที่ยว เท่านี้เที่ยว แล้วจะบันดล บันดาลอะไร ตลกๆ แฝงซ้อน ซ่อนเงื่อน มีแต่ความมืดมัว งงงวย งมงาย ไม่รู้เหตุ ไม่แจ้งปัจจัย ไม่เข้าใจเหตุ ไม่แทงทะลุผล อย่างนั้น ไม่ควรเลย ผู้หลอกนั้น ก็ได้อเวจีไปแท้ๆ ระวังๆ กันเถิด !

ผู้ใดศึกษาเข้าใจถ่องแท้ใน "มาร" ที่มีพันมือ คืออะไร?

"ยักษ์" ที่แข็งกระด้าง ไม่อดไม่ทน คืออะไร?

"เดรัจฉาน" ที่เมามัน โง่เง่าคืออะไร?

"คนใจหยาบ" ที่อำมหิตคืออะไร?

"คนลวงโลก" ที่แสนใส่ร้าย ต่อต้านคืออะไร?

"นักบวชผู้ลวงโลก" ที่ยกตนถือดี ดื้อด้าน แต่มืดมนคืออะไร?

"นักบวชที่ติดหยุด ติดสงบ" ดั่งพญานาค คืออะไร?

"พระพรหม" ผู้แสนใหญ่ แสนสูง แสนดีจริง คืออะไร?

แล้วมี "อิทธิวิธี" ต่างๆแก้ไข ปราบปราม จนปราบมาร ปราบยักษ์ ปราบเดรัจฉาน ปราบคนใจหยาบ ปราบคนลวงโลก ปราบนักบวชจอมลวง ปราบนาค ปราบพระพรหม ได้เป็นผู้ชนะ ครบ ๘ อย่าง แปดระดับนี้ ถูกตัว ถูกตนจริง หมดเชื้อ หมดวิญญาณร้าย อย่างนี้ ผู้นั้นก็สุด

"เอตาปิ พุทธะชะยะมังคละอัฏฐะคาถา
โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที
หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวะนิ
โมกขัง สุขัง อธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ"

ซึ่งเป็นบทสรุปสุดท้าย ของเกจิอาจารย์ ผู้ประพันธ์คาถา พาหุง ๘ นี้ว่าไว้ มีความหมายไทยๆ ก็ว่า
"นรชนใด มีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี ระลึกก็ดี ซึ่งพระพุทธชัยมงคล ๘ คาถา แม้เหล่านี้ ทุกๆวัน นรชนนั้น พึงละเสียได้ ซึ่งอุปัทวันตราย ทั้งหลาย มีประการต่างๆ เป็นอเนก ถึงซึ่งวิโมกขศิวาลัย อันเป็นบรมสุขแลฯ"

ก็จริง ถ้าใครมีปัญญาแท้ ไม่เกียจคร้าน สวดขึ้น รำลึกขึ้น แล้วก็ร่วม "ประพฤติปฏิบัติไปด้วย" จนละเสียได้จริง เลิกเสียได้จริง เข้าถึงซึ่งวิโมกขศิวาลัย ก็จะเป็นบรมสุขแท้

แต่ถ้าเอาแต่ท่อง เอาแต่สวดร้องกัน รุ่นแล้วรุ่นเล่า คนแล้วคนเล่า ไม่ได้รู้อะไร ยิ่งกว่านั้น มันก็ไม่มีทาง ช่วยให้ละเสียได้ ซึ่งอุปัทวอันตราย อันใดแน่ๆ

ข้อสำคัญคือ เรื่อง"ขอ" ซึ่งสวด "ขอ" "อ้อนวอนขอ" เดินเวียนรอบ "ขอ" ใดๆ ก็ตาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเรา ติงเตือนไว้ชัดเจนว่า "ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปได้" พูดอย่างนั้นๆ ขึ้นแล้ว ก็"ขอ" ให้เป็นตามที่พูด มันจะเป็นไปได้ ง่ายๆ เหรอๆ? พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเราเน้น "การกระทำ" (กรรม) ที่ครบครัน จริงจัง ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่ต้องรู้แจ้ง แล้วทำให้เป็นจริง ถูกจริง ตรงจริง โดยไม่ต้อง "ขอ" มันก็เป็นจริง มีจริง ได้จริง เอาแต่ปากพูดท่อง มันจะได้จริง เป็นจริงแท้ กันแค่ไหนกัน

ก็ลองคิดเห็นกันดีๆ ขอให้"ทำ" เถิด รู้ให้ถูกให้ตรง แล้วทำให้เกิด ให้เป็นเถิด ถ้ายังไม่เกิด ยังไม่เป็น ก็อย่าพูดอวด พูดอ้าง ว่าเราเป็น ถ้ายังไม่รู้จริงๆ ก็อย่าพูดอวด พูดอ้างว่าเรารู้

ที่ได้เล่า ได้ขยายความมาทั้งหมดนี้ ก็คิดว่า คงจะพอรู้กันได้ ตั้งแต่บทที่ ๑ ถึงบทที่ ๘ ไม่มากก็น้อย ผู้รู้ได้ และ ทำได้จริง ก็เป็น "ชิตวา มุนินโท" จริงๆ โดยไม่ต้อง "ขอให้ชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่ง พระพุทธ ชัยมงคลนั้น" ขอเอาไม่ได้ !

มันเรื่องของการปราบกิเลส ตัณหาของตนเอง จะไปขอให้กิเลส ออกไป มันบอกง่าย ปานนั้นหรือ เจ้ากิเลสหนะ ! ถ้าจะใช้เพียงว่า ขอให้คุณ เอาไปประพฤติ ให้บรรลุ ประสบผลเทอญ อย่างนี้ล่ะก็ พอพูดได้ แต่คุณจะเอาไป ประพฤติหรือไม่ ก็คุณล่ะทีนี้ จะทำหรือไม่ทำ ก็จบล่ะ ไม่ "ขอ" อะไรกันอีก