page: 12/12

สารบัญ

 

ผู้บรรลุอรหันต์คนแรก [1] |

ผู้บรรลุอรหันต์คนแรก [2] |

คู่รัก, รักแล้วหย่า, ทำความดี, เกิดไม่ทุกข์, เพศหญิงชาย [3] |

สมาธิ, ความกังวล [4] |

ลูกสะใภ้กับแม่สามี, ถูกด่า [5] |

กรวดน้ำ, สวดมนต์อธิษฐาน [6] |

กลัวความตาย [7] |

หญิงจะบวชยังไง, ศาลพระภูมิ, พรหมลิขิต, สวรรค์ นรก ผี [8] |

ตกนรก [9] |

ทำใจให้สงบ, สนใจศาสนา [10]

มรรคผล [11]

ไม่เกิดอีก, บวชชี, วิธีหลุดพ้น [12]

ชีวิตนี้มีปัญหา... โพธิรักษ์    

ถาม[12] คำถามจาก :คุณน้อย พระนคร ๘๑๖/๔ ซ.ร่วมมิตร ถนนจันทน์ ยานนาวา พระนคร

ดิฉันไม่เคยอ่านหนังสือ “ดาราภาพ” มาก่อน วันนี้ช่างโชคดี เหลือเกินค่ะ หลานชายมาที่บ้าน และถือหนังสือดาราภาพมาด้วย บังเอิญเป็นฉบับปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๔ (ดาราภาพ ๑๔) ซึ่งเป็นฉบับที่ คุณเปิดคอลัมน์ “ชีวิตนี้มีปัญหา” พอดี เมื่ออ่านจบคอลัมน์ของคุณแล้ว ดิฉันรู้สึกดีใจมากค่ะ มาสะดุดอยู่ที่ปัญหาข้อที่ ๕ ซึ่งเป็นปัญหาข้อสุดท้าย มีความว่า “ทำอย่างไรจึงจะไม่มีโรค” คำตอบของคุณบรรยายไว้ว่า ถ้าใครอยากจะสิ้นสุด อยากจะเป็น ผู้ไม่มีโรคเลย ก็ต้องหาทางหยุดการเกิด จึงจะหยุดการแก่ จึงจะหยุดการเจ็บ และจะหยุดแม้กระทั่งการตาย นั่นคือ นิพพาน

ปัญหานี้เกิดขึ้นกับดิฉัน มานานพอสมควรแล้วค่ะ แต่ดิฉันไม่ทราบว่า จะไปถามผู้ใด จึงขอถามว่า

๑. ดิฉันเคยได้ยินคนพูดกันว่า (ผู้ชาย) ถ้าไม่อยากเกิดอีก ก็ไปบวชเป็น พระภิกษุตลอดชีวิต เมื่อมรณภาพแล้ว ก็จะไม่เกิดอีก ข้อนี้ถูกต้องไหมคะ หรืออย่างไร โปรดอธิบายให้เข้าใจด้วยค่ะ ?

ในปัญหาข้อนี้ถามมาดีมาก แม้บางคนอ่านแล้ว จะเข้าใจคำตอบ ได้ทันทีก็ตาม แต่ก็น่าจะได้รู้ละเอียด เพราะเป็นเรื่องที่น่ารู้ ให้แจ่มกระจ่าง ถ้าทุกคนมีทางที่จะแก้ไขปรับปรุง ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไปโดยถูกต้อง ก็จะได้ทำ

ก่อนอื่นขอชี้แจงเป็นลำดับขั้น ขอเอาตั้งแต่คำว่า “พระ” ไปเลย อย่าเพิ่งเอาคำว่า “ภิกษุ” มาใส่ เพราะคนทั่วไป พอเอ่ยคำว่า “พระ” ก็เข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึง “พระภิกษุ” นั่นเอง แต่ที่จริงคำว่า “พระ” คือภาษาเรียกกำหนดตำแหน่ง ที่ยกขึ้นไว้ ซึ่งเรียก พระภูมิ พระยา พระเจ้าแผ่นดิน พระธรณี พระคชสาร (ช้าง) พระถ้วย พระชาม พระอะไรต่ออะไรเยอะแยะ ก็ได้อีกมากมาย ข้าพเจ้าจะไม่ขอกล่าว ในความหมายเหล่านั้น จะขอกล่าวแต่ความหมายของ ตำแหน่ง “พระ” แท้ๆ ที่เราชาวพุทธศาสนิกชนควรจะรู้ คือในคำว่า “พระ”นั้น ส่วนมากคนจะเล็งไปถึง “พระภิกษุ” หรือ “สมณเพศ” หรือคนผู้บวช แล้วถือเพศบรรพชิต เรียกว่า “พระ” เรียกนามทั่วไปก็ว่า “พระสงฆ์” หรือ “พระภิกษุ” หรือ “สมณเพศ”

“พระ” คำนี้เรียกคนผู้ “เกิดใหม่” ถ้าโดยสมมุติจาก “ชาติเก่า” คือ ชาติคนธรรมดา หรือเรียกว่า เพศฆราวาส เกิดเป็นเพศสมณะ หรือเพศบรรพชิต โดยเปลี่ยนรูปแบบ ฐานะสมมุติตามกฎเกณฑ์ จึงมีชื่อเรียกนำหน้าใหม่ว่า “พระ” ที่จริงยังไม่ได้เป็น “พระ”จริงๆ เป็นเพียง “พระ”สมมุติเท่านั้น เพราะได้กล่าวแล้วว่า “เกิดใหม่โดยสมมุติ” โดยใช้พิธีการทางระเบียบโลกๆ เข้าประกอบ - เข้าสร้างสรรให้เป็น “พระ” ขึ้นมา

และถ้าผู้ที่รู้ดีเข้าใจดีว่า เรายังไม่ได้เป็น “พระ”แท้ (หมายถึง เจ้าตัวผู้ผ่านพิธีบวชแล้วนั้น) ยังไม่ได้ “เกิดใหม่”จริงๆ ทางจิตวิญญาณ ผู้นั้นก็ย่อมจะเพียรพยามปฏิบัติธรรม คือทำตนให้ “เกิดทางวิญญาณ”ให้ได้ เป็น“พระ”จริงๆให้ได้ เพราะเท่าที่ทำพิธีบวชมา หรือแปลงเพศมาแล้ว โดยใช้เครื่องหมายจำเพาะ คือโกนหัว ไม่รักสวยรักงาม นุ่มห่มก็ด้วยผ้าพันกาย สีสันก็ไม่พิถีพิถันอะไร สีย้อมเปลือกไม้ หรือย้อมน้ำฝาด เป็นการประกาศให้ชนทั่วไปรู้ ให้หมู่สงฆ์รับว่า ข้าพเจ้าคือผู้กำลังจะเป็น“พระ” หรือเป็น“พระ”แล้ว ตามรูปแบบเท่านั้น แต่แม้ยังไม่ได้เป็น “พระ”แท้ๆ ชนทั่วไป ก็เข้าใจไปพลางๆ ก่อนว่าเป็น “พระ” เคารพกราบไหว้ และบูชาโดยอนุโลมไปล่วงหน้าก่อน และพร้อมๆ กันนั้น ประชาชนก็สงเคราะห์ ผู้กำลังจะเป็น“พระ”นี้ไป ประหนึ่งเป็น “พระ”แล้วด้วย จะสงเคราะห์ด้วยความเป็นอยู่ อันต้องสงเคราะห์ใดๆ ก็ตาม หรือสงเคราะห์ด้วยปัจจัยใดๆ ท่านผู้เคยสงเคราะห์พระ ก็คงจะทราบดีอยู่แล้ว แล้วผู้ที่กำลังจะเป็น“พระ” ก็“เป็นอยู่”ได้ โดยถือ“วัตร” หรือถือการเป็นอยู่ประจำ เพื่อเพียรปฏิบัติธรรม ให้“เกิดใหม่”จริงๆ เกิดเป็น“พระ”จริงๆ ให้ได้ ถ้า“เกิดจริงๆ” ยังไม่ได้ตราบใด ก็ยังเป็น “พระ”สมมุติอยู่นั่นเอง

ส่วน “พระ”จริงๆ ที่ว่านั้นก็คือ “พระอริยบุคคล” เกิดจาก“บุคคลธรรมดา” เป็น“อริยบุคคล” เกิดจากทางจิตวิญญาณ ดังนั้น ถ้าผู้บวชแล้ว คือแปลงเพศตามพิธีมนุษย์แล้ว ท่านใดยังไม่บรรลุ หรือ “เกิดใหม่” เป็น“พระอริยบุคคล” ก็ยังถือเป็น “พระ”สมมุติ อยู่นั่นแล้ว ไม่ได้เป็น“พระ”จริงๆ พระแท้ๆ สักที คือไม่ได้“เกิด”สักที นั่นเอง

การเกิดอย่างนี้ ไม่ได้เรียกขานว่า “เกิด”เล่นๆ เป็นการเกิดจริงๆ เกิดที่จิต จิตนั้นเกิด เพียงไม่ได้เปลี่ยนร่างเท่านั้น แต่เป็นการเกิดอยู่ในจิต เป็นการผุดเกิด เกิดทันทีทันใด ผู้เกิดแล้วเป็นคนใหม่ มีจิตลักษณะใหม่ สู่ภูมิสู่ภพใหม่จริงๆ ตามที่ตามนุษย์เห็น ก็เป็นคนเก่า แต่ตามความเป็นจริง เป็นคนใหม่ เป็น“พระ” คือต้องเรียกว่า “พระอริยะ” การ“เกิด”ในลักษณะนี้ พระพุทธองค์ท่านตรัสเรียก ลักษณะการเกิดอย่างนี้ว่า “โอปปาติกกำเนิด” หรือ โอปปาติกโยนิ คือเกิดโดยอาศัยกรรมเป็นการเกิด คือเกิดโดยอาศัยการกระทำ การปฏิบัตินี้เอง จนบรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่ง เกิดใหม่เป็น “พระ”แท้ๆ เกิดในร่างเดิมนี้อยู่อย่างนี้ เกิดทันทีอยู่ในร่างนี้ทันที อยู่ในสภาพนี้ทันที (หรือผู้ทำกรรมชั่ว จิตวิญญาณก็เกิดเป็นสัตว์นรกได้ ในร่างนี้ทันที เช่นกัน)

ดังนั้น ผู้ใด บุคคลใด “เกิดใหม่” ดังนี้ (ดังที่อธิบายมาแต่ต้น) ก็เรียกว่า “พระ” ทั้งนั้น ยิ่งผู้ที่ได้โกนหัว ห่มจีวรแล้ว “เกิด” ก็เรียกว่า ผู้นั้นเป็น “พระ” จริงแล้วทั้งสองส่วน ทั้งรูปนาม

และถ้าบุคคลธรรมดา ในร่างของฆราวาสนี่เอง ผู้ใดที่ได้พากเพียร ปฏิบัติธรรม จน“เกิดใหม่”ได้เช่นกัน ก็เรียกบุคคลผู้นั้นว่า “พระ”เหมือนกัน เป็น“พระอริยบุคคล” ในร่างของฆราวาส เป็น “พระ”แท้ๆ องค์หนึ่ง ควรบูชา ควรเคารพกราบไหว้เช่นกัน เท่าเทียมผู้ที่ห่มจีวร โกนหัวแล้ว ที่ได้เกิดเป็น “พระ”จริงๆ แล้วเช่นกัน และเรียกว่า “พระ” ได้อย่างไม่น่ากระดากตรงใดเลย จะใช้ลักษณะนาม เรียกท่านว่า “องค์” ก็ได้ เพราะท่านเป็น “พระ”แท้ๆ ดูแต่คนที่เกิดมา ในร่างมนุษย์ ที่มีตำแหน่ง“พระองค์เจ้า” หรือ“หม่อมเจ้า” เราก็ยังเรียกขานท่าน เป็น“องค์”ได้ นี่ก็เช่นกัน ท่านอยู่ในร่างมนุษย์ หรือคนธรรมดา แต่จิตของท่านเป็น“พระ”แล้ว เพราะถ้าเป็น “พระโสดาบัน” ก็เรียกท่านผู้นั้นว่าเป็น “พระโสดาบัน” ถ้าเป็น “พระสกิทาคามี” ก็เรียกท่านด้วยนามนั้น และในขณะเดียวกัน ท่านก็เป็นฆราวาส หรือคนธรรมดาโดยสมมุติ เพราะท่านอยู่ใน ร่างคนธรรมดา อย่างคนทั้งหลาย ไม่มีเครื่องหมายภายนอก บอกแจ้งชัดเจนให้รู้ได้ ผู้จะรู้ได้คือ ผู้มีปัญญาเท่านั้น

ดังนั้น คนธรรมดาผู้บรรลุธรรม หรือได้เกิดใหม่แล้ว คนนั้นจึงเป็น “พระ”จริงๆ แต่เป็น“ฆราวาส”โดยสมมุติ เพราะฉะนั้น “พระ”โดยสมมุติ คือ ผู้ห่มจีวรโกนหัว ที่ยังไม่บรรลุธรรม คือ ยังไม่เกิดจริงๆสิ ควรต้องเคารพนับถือ “พระ”จริง คือ“พระอริยบุคคล” แต่เป็น“ฆราวาส”โดยสมมุตินั้น

แต่โดยระเบียบรูปแบบการนบไหว้ ก็คงจะต้องให้ฆราวาสนบไหว้พระ โดยรูปโดยระเบียบอยู่นั่นเอง ความจริงความสำคัญ ที่เคารพนับถือจริง ย่อมมีจริง ที่ผู้รู้จริงเห็นจริงแน่

นี่คือ “พระ”จริงๆ “พระ”แท้ๆ ดังนั้นคำว่า “พระ” จึงหมายถึง ผู้ได้ผ่านพิธี บรรพชามาแล้วก็ได้ หรือผู้ที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีบรรพชา คือ ยังไม่ได้โกนหัว ห่มจีวร ยังเป็นฆราวาส อยู่ในร่างคนธรรมดานี้ ก็ได้เป็น“พระ”จริงๆ ด้วยความจริงตามเนื้อแท้ ดังนี้

อธิบายมาถึงขั้นนี้ คิดว่า คุณ “น้อย พระนคร” คงจะพอเข้าใจได้ว่า คำว่า “พระ” นั้น ย่อมหมายถึงผู้ชายก็ได้ ผู้หญิงก็ได้ เด็กก็ได้ ผู้ใหญ่ก็ได้ ผู้ใดปฏิบัติธรรม จนบรรลุเป็น“พระอริยบุคคล” ก็เป็น“พระ”แท้ๆ ได้

ทีนี้ในข้อสงสัยที่ว่า “จะไม่เกิดอีก” ถ้าจะให้“ไม่เกิดอีก”ละก็ ต้องเป็น “พระอรหันต์”ให้ได้ ถึงจะไม่เกิดอีก แม้จะเป็น“พระ”จริงๆ ตามที่ข้าพเจ้าได้อธิบายมาแล้วก็ตาม “พระ” ก็ยังมีอีกตั้งหลายชั้น และ “พระ” ดังที่ว่านี้ มีในศาสนาพุทธเท่านั้น ศาสนาอื่นใดจะไม่มี พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า “สมณะ” หรือ “พระ” ที่ “เกิด” ดังที่อธิบายมาแล้วนี้ จะ“เกิด”ได้ “มี”ได้ ในศาสนาพุทธเท่านั้น มีทั้งหมด ๔ ขั้น คือ

พระโสดาบัน
พระสกทาคามี หรือ พระสกิทาคามี
พระอนาคามี
พระอรหันต์

นี่แหละคือ “พระ” ที่อยู่ในโลกุตรภูมิ ผู้จะมี“นิพพาน” เป็นที่สุดทั้งนั้น และถ้าเป็นพระขั้นที่ ๑ มรณภาพแล้ว ก็ต้องมาเกิดอีก ยังไม่ปรินิพพาน ทว่าเกิดอีกอย่างมาก ๗ ชาติ แต่ถ้ามีความพากเพียรมาก เพียรปฏิบัติธรรมมาก ก็อาจจะไม่ถึง ๗ ชาติ อาจจะน้อยกว่านั้น หรืออีกเพียงชาติเดียว ก็ได้“นิพพาน” พระขั้น ๒ นั้น จะกลับมาเกิด อีกชาติเดียวก็นิพพาน ส่วนพระขั้น ๓ นั้นจะไม่ตกต่ำไปเกิด เป็นทุกข์ในโลกกามอีกแล้ว จะปรินิพพานเป็นที่สุดไปตามวิบาก

พระอรหันต์ก็คือผู้ “นิพพาน”แล้ว พูดถึง“นิพพาน” มีคนอีกมาก แปลคำ “นิพพาน” ว่า “ตาย” หรือเข้าใจความหมายเอาว่า “นิพพาน” ไม่ได้หมายความว่า “ตาย” ถ้าใช้คำว่า “ตายอย่างพระอรหันต์ตาย” คือ “พระอรหันต์ดับขันธ์” ละก็ จะต้องใช้คำว่า… “ปรินิพพาน” คือ “ดับไม่เหลือ” หรือ “ดับหมดสิ้นไม่มีอะไรเหลือ” แม้แต่ชีวิต จะใช้คำ “นิพพาน” เฉยๆ แล้วหมายความว่า “พระอรหันต์ตาย” นั้นยังไม่ได้ เพราะว่าพระอรหันต์ ที่บรรลุนิพพานแล้ว หรือบรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านยังไม่หมดลมหายใจ ขันธธาตุของท่านยังไม่ดับ ท่านก็ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทว่าท่านถึง “นิพพาน”แล้ว “นิพพาน” หมายความว่า “ดับกิเลสสิ้นไม่เหลือ” หรือ “หมดความเร่าร้อนแล้ว” ไม่ใช่หมายถึง “ตาย” คือไม่มีชีวิต, เพียง“ความทุกข์” หรือ“เหตุแห่งทุกข์” ในตัวท่านเท่านั้นที่ตาย

ถ้าจะเรียกให้ชัดๆ พระอรหันต์ที่ยังเป็นๆอยู่ ก็เรียกว่า ท่าน “สอุปาทิเสสนิพพาน” แล้ว, และเมื่อท่านตายจริงๆ คือหมดลมหายใจลง จึงจะเรียกว่า ท่าน “อนุปาทิเสสนิพพาน” หรือเรียกว่า “ปรินิพพาน” คือ ดับหมดสิ้น ไม่มีอะไรเหลือ ทั้งชีวิตทั้งกิเลสและความเกิดอีก

และยังมีคนเข้าใจผิดอยู่อีกว่า คำว่า “ปรินิพพาน” นั้น เป็นคน/(คำ)ใช้เฉพาะ พระพุทธองค์ ดับสิ้นอนุปาทิเสสนิพพานเท่านั้น ส่วนพระอรหันต์ธรรมดา ใช้คำว่า “นิพพาน” เฉยๆ จะใช้คำว่า “ปรินิพพาน”ไม่ได้ ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น คำว่า “ปริ” หมายความว่า “รอบ” หรือ “ครบ” หรือ “ถ้วนทั่ว” “นิพพาน” หมายความว่า “ดับ” หรือ “เย็น” ในความหมายของธรรมะก็คือ “ดับกิเลส” เท่านั้น หรือ “กิเลสตาย” นั่นเอง ยังไม่ได้หมายไปถึงชีวิต“ตาย” ถ้า“ดับหมดสิ้น” ทั้งชีวิตด้วย คือ “ปรินิพพาน” จึงจะหมายถึง “ตาย” ครบทั้ง ๒ ส่วน หรือจะเรียกยาวๆ ว่า “อนุปาทิเสสนิพพาน” ก็ได้ จึงจะหมายถึง “ตาย” คือ ตายหมดทั้งกิเลสทั้งชีวิตจริงๆ

เพราะฉะนั้น “จะไม่เกิดอีก” ก็ต้องปฏิบัติให้ได้ ดังที่อธิบายมานี้ ผู้ผ่านพิธีบวชแล้ว ตามพิธีการของมนุษย์ แต่ยังไม่ได้เป็น “พระ”จริงๆ ก็ยังเหมือน “ปุถุชน”ธรรมดานั่นเอง มรณภาพแล้ว ก็ยังเวียนว่าย ตายเกิดอยู่ อย่างไม่แน่นอนเหมือนกัน อาจจะไปเกิดในนรกก็ได้ อาจจะไปเกิดในสวรรค์ก็ได้ เช่นปุถุชนธรรมดาเช่นกัน อย่าเข้าใจผิด เพราะอธิบายแล้วว่า ความจริง การ“บวช”ด้วยรูปแบบพิธีนั้น เป็นเพียง“เกิด” อย่างสมมุติเท่านั้น เป็น “พระ”เพียงเรียกกันเฉยๆ แต่ความจริงแท้ ก็ยังคงเป็น “ปุถุชน” หรือ คนธรรมดานี่เอง

๒. ดิฉันจะถามว่าหากเป็นผู้หญิงละคะ จะทำอย่างไร เพราะว่า การบวชชีนั้น ทางพระพุทธศาสนายังมิได้รับว่า เป็นสาวกของ พระพุทธองค์ ใช่ไหมคะ ?

ถ้าคุณน้อย พระนคร อ่านคำตอบ ข้อ ๑ ละเอียด คิดว่าข้อนี้ ก็คงจะเข้าใจได้แล้ว ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ อาจบรรลุ“นิพพาน” ได้ทั้งนั้น และจะ“บวช” หรือไม่บวช ก็ได้เช่นกัน อยู่ที่ตัวเราเอง เราต้องเรียนรู้พระธรรม เรียนรู้ทางแห่งการปฏิบัติ ให้ได้มาซึ่งธรรม แล้วก็ลงมือปฏิบัติให้ได้มาซึ่งธรรม เราก็จะถึงซึ่งนิพพานได้แน่นอน จะบวชเป็นชีก็ได้ หรือไม่บวชก็ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ใจของเรานั่นเอง แต่ถ้ามีสิ่งแวดล้อมส่วนประกอบ ช่วยเรามากๆ เราก็ยิ่งมีโอกาส จะบรรลุได้ง่ายเข้าเร็วเข้า เช่น คุณบวชเป็นชีมันก็ดีกว่า ผู้ชายมาบวช เป็นพระก็ดีกว่า จะมีโอกาสกว่า แต่เรื่องบวชเป็น “พระ” นั้น ข้าพเจ้าก็ได้เคยออกความเห็นไว้แล้วว่า ถ้าเรายังไม่แน่ใจว่า จะต้องการบวชเพื่ออาศัยสภาพ “พระ” เป็นเครื่องช่วย ในการปฏิบัติธรรม ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จริงๆละก็ ก็ไม่ควรบวช ด้วยเหตุผลดังเคยกล่าวมาแล้ว

ชี ก็ถือเป็นสาวกของพระพุทธองค์เช่นกัน ถ้าใจเป็นจริงๆ คือมีการเกิดทางจิตวิญญาณได้จริง ท่านเรียกว่า “พุทธบริษัท” ซึ่งหมายความว่า หมู่ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนโดยแท้จริง ท่านแบ่งเป็น ๔ มี “ภิกษุ”หนึ่ง “ภิกษุณี”สอง “อุบาสก”สาม “อุบาสิกา”สี่ ถ้าคุณเป็นพุทธศาสนิกชนจริงๆ ปฏิบัติในข้อธรรมของพระพุทธองค์ จะมีมรรคผลจริง คุณก็เป็น“อุบาสิกา”แท้ๆ ที่เป็น“พระจริงๆ” แต่ถ้าคุณไม่มีมรรคผล ก็เป็นเพียง“อุบาสิกา”สมมุติๆ อยู่นั่นเอง

๓. ดิฉันมีความคิดว่า ตนเองไม่อยากเกิดอีก ก็เลยคิดว่า จะไม่แต่งงาน เพราะการแต่งงาน คือหาห่วงมาคล้องคอเสียแล้ว เราจะหลุดพ้นไม่ได้ ใช่ไหมคะ หรืออย่างไร โปรดอธิบาย ?

คุณเป็นผู้มีความซาบซึ้งในความจริงแท้ ตามแนวทาง ของพระพุทธองค์ ทรงสอน ได้ดีมาก ข้าพเจ้าคิดว่า ถ้าคุณพยายามใส่ใจในพระธรรม ในการปฏิบัติธรรมให้มาก คุณจะเป็นผู้หนึ่ง ที่มีโอกาสบรรลุนิพพาน ได้ดังประสงค์ การคิดจะไม่อยากเกิดอีก ก็เป็นการคิดที่ถูกอย่างยิ่ง และการคิดจะไม่แต่งงาน ก็เป็นการคิดที่ถูกที่สุดอีก แต่งงานไม่ใช่ คือการหาห่วงมาคล้องคอ อย่างเดียวเท่านั้น ยิ่งการแต่งงาน ที่เป็นเรื่อง ของราคะตรงๆ ก็ยิ่งคือ การสร้าง“มาร” ขึ้นมาคอยประหัตประหารตัวเอง ให้ห่างจากการบรรลุนิพพาน อย่างแท้จริงด้วย “มาร” คือพระยาแห่งความทุกข์ ความทรมาน เป็นผู้คอยชักนำให้คน ไปสู่ที่ต่ำเสมอ

ดังนั้นใครไม่แต่งงานได้ ก็คือผู้ไม่คบกับ “มาร” ไม่สร้างทั้ง “ห่วง” แต่ถ้าเราไม่แต่งงาน แล้วจะอยู่โดยไม่ปฏิบัติธรรม ก็จะไม่แจ้งในความจริงแท้ จะคอยถูก“มาร”กวน และชักชวนหลอกล่ออยู่เสมอ กิเลสในตัวเรา จะยิ่งกักกดจะยิ่งร้าย เพราะฉะนั้น ต้องรีบหาทางศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม แล้วคุณจะบรรลุหลุดพ้น จาก “มาร” ได้อย่างแท้จริง นั่นคือ จิตคุณจะผ่องใสสว่างไสว พ้นจากอารมณ์ปุถุชน คืออารมณ์ทางเพศ ถ้าไม่เรียนรู้ และปฏิบัติธรรมจริงๆ ให้ถูกทาง เจริญธรรมจริงตราบใด จะพ้นจากอารมณ์นี้ เด็ดขาดไม่ได้เป็นแน่แท้ แล้วทุกข์อื่น อันเนื่องมาจากอารมณ์นี้ ก็จะพาลติดตามมาเพิ่มเข้าไปอีก มากมายก่ายกอง

เพราะฉะนั้น เมื่อคุณเองเห็นทางที่ถูกอย่างนี้ได้แล้ว ก็รีบใฝ่ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมเสียเถิด คุณจะเป็นสุขนิรันดร์กาล พ้นจากทุกข์ชั่วกัปกัลป์

๔. ถ้าข้อ ๓ เป็นดังที่ดิฉันเข้าใจ ดิฉันจะปฏิบัติตนอย่างไร จึงจะได้พบกับนิพพาน?

ข้าพเจ้าเชื่อว่า คุณจะได้ติดตามอ่านข้อเขียน ของข้าพเจ้ามาตลอดเวลา ดังนั้น การปฏิบัติธรรม หรือปฏิบัติตน เพื่อให้ใกล้นิพพานเข้าไปนั้น ข้าพเจ้าได้แนะนำมาแล้วเป็นลำดับ ถ้าจะเขียนในที่นี้อีก ก็จะซ้ำซากมากไป เพราะธรรมดา ข้าพเจ้าก็ได้เขียนซ้ำๆ วกๆวนๆอยู่แล้ว เพื่อจะเน้น จะแยกแยะให้ละเอียดลออ เข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ายังไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ก็เขียนไปถามข้าพเจ้าใหม่ แล้วเรามาเริ่มต้นกัน แต่ถ้าคุณได้เริ่มต้นไปแล้ว มีอะไรข้องใจสงสัย อยากทราบอะไรเพิ่มเติม ก็ถามข้าพเจ้าไป แต่ข้อสำคัญ คุณต้องปฏิบัติ คุณต้องลงมือทำจริงๆ คุณจะเพิกเฉยผัดผ่อน แม้สักวินาทีก็ไม่ได้ ควรทำทุกวินาที

พระพุทธองค์ตรัสสอน แม้ก่อนปรินิพพานว่า “อย่าพึงอยู่ในความประมาท” ดังนั้น จะผัดผ่อนแม้แต่วินาที หรือ เราจะประมาทว่า ไม่เป็นไรน่า ไม่ทำตอนนี้ หรือปล่อยให้เราทำไม่ดี นิดหน่อยนี่ไปก่อน ช่างมัน คงไม่เป็นไรหรอก แล้วค่อยปฏิบัติชอบ โอกาสหน้าเอาใหม่ ถ้าคิดอย่างนี้ ก็คือยังอยู่ในความประมาท ไม่ได้ปฏิบัติตรงตามคำสอน ของพระพุทธองค์ ย่อมตกต่ำเป็นธรรมดาแน่ๆ


  ชีวิตนี้มีปัญหา
 
page: 12/12
   Asoke Network Thailand