page: 7/8

สารบัญ
ดวงดาว
[หน้า1]
ดวงคน
[หน้า2] [หน้า3]
ดวงธรรม
[หน้า4] [หน้า5] [หน้า6]
กรรมนิยม
ตามคติของชาวพุทธ
[หน้า7] [หน้า8]

 กรรมนิยมตามคติของชาวพุทธ 

คำว่า พุทธ หรือ ชาวพุทธ ปัจจุบันกำลังเป็นชาวเพ้อชาวเลอะ กลายเป็นลัทธิ หลงพระพุทธ หลงใหลในการบูชา โดยไปติดยึดที่หิน ที่ปูน ที่โลหะ ฯลฯ หลงเผลอไปยึดถือพระพุทธรูป อย่างเป็นพระพรหม ผู้บันดาลให้เกิดลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

หลงบูชาในสรณะที่ไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม เข้าใจพระพุทธ อย่างไม่ใช่พุทธ บางคนเข้าใจดีลึกซึ้ง แต่ก็หลงเผลอยึดถือผิดๆ อยู่บ่อยๆ

ไม่รู้ว่า พุทธ คือ อะไร? จึงไม่ได้ดวงปัญญา ไม่ทำให้ถูก ทั้งกายและใจ จึงไม่ได้ดวงวิมุติ

บางคนมีพระไตรปิฎกตั้งไว้ที่หิ้ง เพื่อกราบไหว้บูชา จะหยิบจะจับออกมาดู ก็ไม่กล้าทำ กลัวพระธรรมจะช้ำ ก็เลยได้แต่เอาใส่หิ้ง ปิดม่านไว้ แล้วกราบไหว้บูชา ดังที่ยึดถือผิดๆ อย่างนี้ก็มีจริงๆ เป็นได้ถึงขนาดนี้ นี่หลง "พระธรรม” เรียกว่ายึดติดใน "สีลัพพตปรามาส” อย่างหนัก เป็นกันมาก ในสายศรัทธา คือ เป็นคนที่เต็มไปด้วย ความศรัทธาตามๆเขาไป ด้วยความเชื่อ ตามประเพณีจารีต

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทิ้ง ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข

แต่บางคนขอแม้กระทั่งให้ได้แฟนสวยๆ รวยๆ เรียกว่า ขอกามคุณ และขอลาภจากท่านด้วย พร้อมๆกัน อย่างนี้ไม่ใช่ชาวพุทธแท้ แม้จะเคารพ กราบไหว้พระพุทธรูป อันเป็นสัญลักษณ์ ของพุทธอยู่ แต่จิตไม่มีปัญญา ไปมีปฏิปทาแบบลัทธิอื่นอยู่ คือ ยังหลงโลก และเข้าใจพระพุทธรูป หรือ พระพุทธเจ้าเป็น “พระเจ้า” หรือ “เทพเจ้า” แบบเทวนิยม ที่จะบันดลบันดาล ประทานให้

“พุทธ” ต้องมีปัญญารู้เท่าทันโลก ไม่หลงโลก แล้วสละโลกออกให้ได้ จึงจะอยู่เหนือโลก

ชาวพุทธพึงมีปัญญารู้ซึ้งในสิ่งใด?

เพราะฉะนั้น “โลกธรรม” อันคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และกามคุณ-ภพอัตภาพ ที่พาให้ต้องอยู่ในโลก ต้องฆ่า ต้องละ ต้องทิ้งให้ได้ อย่าหลงมันเป็นอันขาด

ชาวพุทธที่แท้จริง จึงต้องเข้าใจว่า พุทธะ ต้องมีปัญญาธิคุณ มีบริสุทธิคุณ มีกรุณาธิคุณ

ทำปัญญาให้เกิด ก็คือ ต้องรู้ต้องเข้าใจให้ได้ว่า ปัญญาธิคุณ หรือดวงปัญญา ตามที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น พุทธศาสนาสอนให้ ทิ้งโลก สละโลก ไม่เอาโลกีย์ ไม่เอากาม ไม่เอาภพอัตภาพ

เมื่อมีปัญญาเข้าใจตามนี้แล้ว ก็ต้องทำตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นจริงได้ผลจริง ตามปัญญานั้นด้วย คือ มีดวงวิมุติ หรือ มีบริสุทธิคุณ

รวมลงแล้วก็ไม่มีอื่น นอกจาก ปัญญากับวิมุติ หรือปัญญาธิคุณ กับบริสุทธิคุณ เท่านั้น

เมื่อใครมีปัญญาและมีวิมุติจริงแล้ว ก็สามารถแสดงกรุณาธิคุณได้ คือ เอาปัญญากับเอาวิมุติ มาสอนพุทธศาสนิกชนด้วยกัน (เพื่อให้เกิดดวงปัญญา และดวงวิมุติต่อไปอีก)

กรรมใดพึงนิยม

ผู้ใดสามารถเข้าใจได้แล้วว่า พุทธสอนสิ่งนี้ (ละโลกธรรม) แล้วพยายามทำให้ได้ ผู้นั้นก็เป็นชาวพุทธที่แท้

ผู้ใดจะทำกรรมอันใด ก็ต้องนิยมให้ถูก ให้เป็นกรรมนิยม ตามคติของชาวพุทธ

อย่าไปนิยมกรรมที่จะพาไปเพื่อเสพ ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข และกามคุณ -ภพอัตตภาพ ซึ่งเป็นกรรมนิยม ตามคติลัทธิอื่น

ตลอดระยะเวลา ๔๕ ปี ที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่มีอื่น ย่นย่อเข้ามาหา “ปัญญา” และ “วิมุติ” โดยทำให้ถูกตามกรรมฐานของแต่ละท่าน คือ ทำฐานะของเราให้ตรงๆๆ เป็นไปเพื่อเกิดปัญญาอย่างแท้จริง คือ ให้เกิดดวงปัญญา แล้วทำให้เกิดดวงวิมุติได้อย่างแท้จริง ตามที่อธิบายมาแล้ว นี้คือ “กรรมนิยมตามคติของชาวพุทธที่แท้”

เมื่อ “ดวงปัญญา” ไม่เกิด ย่อมไม่รู้ว่า พุทธคืออะไร? สอนอย่างไร? มีกรรมนิยมเป็นอื่น ต่างจากที่ศาสนาพุทธสอน เป็นชาวพุทธที่ยังปลอมๆ แปลงๆ ผิดๆ เพี้ยนๆ อยู่จริงๆ

“กรรมนิยมตามคติชาวพุทธ” ย่นย่อสรุปความลงแล้ว อยู่ที่การเข้าถึง “ปัญญา” และ “วิมุติ” อันเป็นที่สุดแห่งธรรม

ผู้ใดทำ “ปัญญาหรือญาณ” แล้วก็ทำ “วิมุติ” ให้ได้เรียบร้อย ก็บรรลุหลุดพ้น ศาสนาพุทธสอนเท่านี้จริงๆ

และวิธีปฏิบัติเพื่อความบรรลุ ก็คือ ต้องสมาทานศีล เพื่อขัดเกลากิเลส ทางกาย-วาจา-ใจ แล้วปฏิบัติอย่างพากเพียร ตั้งตนอยู่บนความลำบาก ต้องเอาจริง (สัจจะ) ต้องข่มฝืน (ทมะ) ต้องอดทน (ขันติ) ต้องละให้ได้ถึงใจ (จาคะ)

ตั้งตนให้ตรงทิศ

เมื่อมีปัญญาเข้าใจ "พุทธ” ได้แล้ว ก็กรุณาตั้งตนให้ดี (อัตตสัมมาปณิธิ) ตั้งใจให้ดี ให้ถูกตรงอย่าเผลอ (อธิษฐาน) อย่าหันทิศให้เป๋ๆ ไป๋ๆ เข้าไปหาโลก ดูตัวดูตนให้ได้แท้ๆ ว่า ตนตั้งตนไปทิศทางใด หลงโลก แล้วสร้างโลกมากกว่าสร้าง ”ธรรม” หรือ สร้างธรรมมากกว่าสร้างโลก

ขอให้หันทิศมาสร้างธรรมจริงๆ ลงมือจริงๆ

เมื่อได้มี "กรรมนิยม” ที่ถูกต้อง มีความเข้าใจถูกสัมมาทิฐิ ด้วยการปิดประตูอบาย ทำทานให้ถูก ทำให้มากเพียงพอ แบบนางวิสาขา แม้จะยังหวังสวรรค์อยู่ ยังทำทานแบบ สุญญตา - จิตว่างไม่ได้จริงๆ ทำทานให้เป็นวิมุติไม่ได้ก็ตาม แต่ปิดอบายได้ ก็เป็น”อริยบุคคล” หรือ”โสดาบัน” ขั้นต้นที่สุด

เพียรเถิด อย่ารั้งรอเพียร

ผู้ใดเข้าใจจริงแล้ว จงพยายามพากเพียรทำให้ได้

แม้จะยังสละละทิ้งออกมาไม่ได้ เพราะภาระที่ไปหลง ไปก่อ ไปสร้างไว้ แต่ในชาตินี้ เราก็สามารถเป็น "โสดาบัน” ได้ ขอให้เข้าใจให้แท้จริง แล้วก็ยึดมั่นให้จริง แล้วก็เห็นให้ชัด พยายามทำให้ได้มากจริง

แม้ทำไม่ได้มาก แต่เข้าใจแท้ หมด "วิจิกิจฉา” ไม่สงสัย ไม่แคลงใจ เห็นทิศทางที่ถูกต้องอย่างชัด แล้วก็ปักใจเชื่อแน่ ไม่มีจิตเป็นสอง จิตเป็นหนึ่งจริงๆ เชื่อมั่นไม่โลเล ร้อยคนลวงก็ไม่หลงทิศ เชื่อมั่นที่จะเดินสู่เส้นทาง "โลกุตตระ” อันตรงข้ามกับโลก พ้นวิจิกิจฉา พ้นสีลัพพตปรามาส ก็เป็น”โสดาบัน”ได้ นี่คือ การละสักกายะ

สักกายะ คือ กายอันใหญ่ รวมทั้งร่างกาย และโลกธรรม อันเป็นตัวเป็นตน เป็นความรวมประชุมอันใหญ่ นั่นคือ นอกจากแบกกาย ยังแบกลาภ-ยศ -สรรเสริญ-สุข -กามคุณ-ภพอัตภาพ ไว้เป็นตัวกูของกู นี่แหละคือ สักกายะ ยึดศีลให้มั่นนั่นแหละจริง

ใครเห็น “สักกายะ” ของตนชัดแล้ว ก็พากเพียรปฏิบัติประพฤติ มีหลักเกณฑ์ด้วย “ศีล” ประพฤติ “ศีลพรต” มิให้เป็น "ปรามาส” คือ มิใช่สักแต่ว่าถือ “ศีลพรต” แล้วไม่ได้มรรคผล (ปรามาส คือ สักแต่ว่า ทำแล้วไม่ได้มรรคผล ทำเพียงเหมือนแค่ได้จับได้คลำแต่ไม่ได้จริง เช่น ได้จับได้คลำผลไม้ แต่ไม่ได้กิน หรือไม่ได้เป็นเจ้าของผลไม้จริง)

แต่ต้องยึด "ศีลพรต” มาปฏิบัติประพฤติจริงๆ เรียกว่า สมาทาน (อาทาน = ยึด) ทำจริงๆ ให้ได้ผลมาก เป็น”มหานิสังสา” เป็น “มหัปผลา” = มีผลมาก มีประโยชน์ใหญ่

ประโยชน์มาก ประโยชน์เต็ม ทำให้ได้มากๆ ก็เอียงเข้าไปหาทาง "โลกุตระ” เรื่อยไป

ใครเห็นมรรคผลแท้ของตนได้ พ้นสงสัย ผู้นั้นเป็น “โสดาบัน”

เชื่อหรือไม่ พึงตรึกตรองลองปฏิบัติ

สิ่งที่ได้อธิบายไปแล้ว อย่าเพิ่งเชื่อเสียเลยทีเดียว ขอให้เข้าใจตามเป็น "สุตมยปัญญา” แล้วไปสอบทานทบทวนดู เป็น “จินตามยปัญญา” สอบทาน จากพระไตรปิฎกก็ได้ว่า เป็นเหตุเป็นผลจริง ตามที่อธิบายหรือไม่ เป็นไปเพื่อญาณ เป็นไปเพื่อวิมุติ เป็นไปเพื่อนิพพาน หรือไม่ เป็นความเข้าใจถูกตรงหรือไม่ เป็นธรรม อันฝืนกระแสใจหรือไม่ ไปสอบทานให้จริง แล้วลองปฏิบัติดู ปฏิบัติจริง จะเห็นผลถึงขั้น ”ภาวนามยปัญญา” (ดวงปัญญา)

เห็นผลแม้เล็กน้อย หลุดพ้นได้จริง ก็เป็นสุขจริง(วูปสมสุข) พ้นทุกข์ได้จริง ก็จะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นศรัทธินทรีย์ เป็นศรัทธาที่เกิดในอินทรีย์ เกิดในตัวตนจริงๆ

ไม่ได้เชื่อใคร ศรัทธินทรีย์เกิดแล้ว เป็นแล้ว เพราะเข้าถึง ”ภาวนามยปัญญา” (ดวงปัญญาเกิดจริง)

พระพุทธเจ้า จึงสอนไม่ให้เชื่อใคร อาจารย์ไหน แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ท่านก็ไม่ให้เชื่อดายๆไป ต้องปฏิบัติจริง เห็นผลจริง เป็นจริง แล้วเชื่อตัวเอง

ผู้ใดทำได้ ผู้นั้นก็เกิด "โสดาบัน” บริบูรณ์แท้จริง เป็นอริยบุคคลขั้นต้น

เพียงชี้ทางบรรเทาทุกข์

เท่าที่อธิบายมานี้เป็นเพียงการชี้บอกทางให้ มีแต่มรรคภาษา และมรรคตรรกะ ผู้ปฏิบัติต้องไปมีมรรค "อริยสัจ” คือ เดินทางเอง ด้วยการทำจริงเอง จนเกิดจนเป็น นั่นแล เป็น "โสดาปัตติมรรค” ยังไม่เกิดผล (วิมุติ) ยังไม่บรรลุผลเป็น”โสดาบัน”แท้ เกิด "โสดาปัตติผล” (ปัตติ = เกิดผลจริง)

ได้ลิ้ม(ธรรมรส)นิดๆ เชื่อหน่อยๆ ก็เป็นมรรคอริยสัจ พอเห็นผล ถึงรอบชัด ก็จะปริวัฏฏัง(ตัดรอบ) เป็น”โสดาปัตติผล” คราวนี้จะเชื่อแน่ อย่างปักจิต ปักใจ ไม่โลเล เส้นทางชีวิต

จะมุ่งสู่ทิศที่สูงขึ้น

เมื่อเข้ากระแสแล้ว มีทิศเดียวที่จะไปไม่มีทิศอื่น ไม่มีการหลอก การหลงอีกเลย จะเดินเข้าหาทางจบ ก็สงบเท่านั้นเอง

“วิมุติ” คือ ความสงบ เพราะกิเลสตายสนิทไม่ฟื้น เป็นความจบชีวิต จะไม่แคร์ ไม่ไยดี ในลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข

ภูมิธรรม ระดับโสดาบัน จะมีได้ เป็นได้มากคน เพราะเพียงลดลาภ -ยศ-สรรเสริญ -โลกียสุข ได้เพียงส่วนต้น

แต่ ระดับอรหันต์ จะมีได้เป็นได้น้อยคน เพราะไปหลงสร้างกรรมไม่ดี สร้างความติดเอาไว้มาก จึงหลุดออกมาได้ยาก สำหรับผู้มีบารมี สะสมกรรมดีไว้มาก จนกระทั่ง ส่งผลทำให้หลุดพ้นได้ในชาตินี้ก็มี

บางคนมีภาระ ก็อาจจะหลุดพ้นออกมาได้ แต่จะสู้หนุ่มสาวไม่ได้ เพราะหนุ่มสาว ไม่มีภาระ ที่ไปหลงสร้างกรรมใหม่เอาไว้ จะเข้าใจ และทำได้ง่ายกว่า มีอินทรีย์พละ กล้าลดละหลุดพ้น ลอยลำมาอยู่แต่เพียงพอดีได้ สมัยพระพุทธเจ้า หนุ่มสาวที่ยังไม่มีครอบครัว บวชกันมาก ไม่ค่อยมีคนแก่ คนแก่มากๆ แม้หมดภาระแล้ว มาปฏิบัติลดละ ได้อย่างเก่งก็”โสดาบัน” เพราะใจไม่กล้า อำนาจของอินทรีย์กับพละชักเปลี้ย คือ ใจไม่เด็ด ไม่ตัด ทนรสของกามไม่ได้ ห่วงลูก ห่วงหลาน ห่วงอะไรๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน และแม้”แก่” ก็ต้องยิ่งเพิ่มบารมีให้ได้ ก่อนจะตาย


  ดวงดาว ดวงคน ดวงธรรม
 
page: 7/8
   Asoke Network Thailand
อ่านต่อ ถาม-ตอบ