คาถาธรรม ๑

ผู้อยู่เหนือ
ผู้ก้าวหน้าผู้เจริญ ต้องเป็นผู้ที่มีจิตอันแยบคาย มีความละเอียดในสิ่งที่เรารู้เท่าทัน อยู่เหนือ ทำจิตเป็นผู้ที่ชนะได้เสมอ รู้และอยู่เหนือเป็นปรัชญาของศาสนาพุทธ เราไม่ได้หนี แต่เราอยู่เหนือ เรารู้(ว่า...) สิ่งนั้นตามความเป็นจริง ว่าดีกว่านั้นได้ เราทำให้ดีกว่านั้นขึ้น และปล่อยสิ่งที่เราได้ไปเป็นทาส ทำจิตของเราแปรปรวน ไม่มีอำนาจ ไม่มีความอยู่เหนือ

การอยู่เหนือไม่ใช่ข่ม แต่เป็นผู้วางได้ เป็นผู้เกื้อกูลกันได้ เป็นผู้ช่วยเหลือได้ หรือเป็นผู้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งนั้นๆ และเป็นผู้ช่วยเหลือสิ่งนั้น พัฒนาเจริญได้นั่นเอง.

๒๗ เมษายน ๒๕๒๕


 


ลักษณะของผู้อยู่เหนือ
ได้ซักซ้อม ผู้ที่ได้มีการฝึกปรือจนแข็งแรงสำเร็จเด็ดขาด เราจะมีความสามารถในการหยุด การทำที่แข็งแรง จะหยุดก็หยุดได้เด็ดขาด จะทำก็ทำได้อย่างมีสมรรถภาพ เหมือนกับจะตาย ก็ตายได้อย่างสะเด็ด จะเกิดก็เกิดอย่างมีชีวิตชีวา เหมือนเปิดสวิทซ์ ปิดสวิทซ์ จะหลับเป็นหลับ จะตื่นเป็นตื่น เป็นผู้มีอำนาจทางจิต ที่จะกระทำอะไรได้โดยเด็ดขาด เราเป็นผู้กำหนด เราเป็นผู้สั่ง ตื่นก็ตื่น เป็นตื่นๆ หลับก็หลับ ตายเป็นตาย เกิดก็เป็นเกิด ผู้ได้อย่างนั้น เรียกว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจทางจิตแข็งแรง เป็นผู้อยู่เหนือ ต้องเข้าใจลักษณะอย่างนี้ และทำให้เด็ดขาด ทำให้เป็นจริงเป็นจัง อย่าตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสต่างๆ เราต้องเหนือกิเลสต่างๆ ที่จะทำให้ตนเองมีจิตขาด ตามที่เราสามารถ และสามารถทำสำเร็จ

๒๙ เมษายน ๒๕๒๕


 

 

การฝึกตน
การฝึกตน เราจะฝึกแต่ความเคยชิน ทำแต่ว่าเราจะชิน เราจะพยายามฝืนกระทำ อดทนเอาเฉยๆ นั้นไม่พอ

เราจะต้องมีสติสัมปชัญญะปัญญา คือสอดส่องอ่านพิจารณา ในการกระทำ ในสภาพเกิดอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์จิต อารมณ์ใจของเรา และเราก็ปรับ

๓๐ เมษายน ๒๕๒๕


 

 


ไม่หลบลี้
ตั้งสติ ทำใจแก้ใจเสมอๆ นั่นเป็นหลักสำคัญที่สุดในการปฏิบัติธรรม เมื่อผู้ใดแก้จิตเจตสิกของเรา ให้จางคลายจากสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นอกุศล โดยเฉพาะอรติ ความไม่ยินดี, ตันทิ ความขี้เกียจ, และสิ่งที่ทำให้เราขี้เกียจ ยิ่งหาทางที่จะเป็นจอมบิดขี้เกียจ และดูอาหารทั้งปวง แม้ไม่ใช่อาหารหยาบ อาหารผัสสะ อาหารทางใจ อาหารทางวิญญาณ ต้องดูเจตนารมณ์ของเรา ที่จะสร้างอาหารให้แก่ใจ อย่างเป็นกุศลแก่ตนแก่ท่าน แม้ที่สุด เราจะเป็นคนไม่หลบลี้ ไม่หลีกเร้น เป็นคนประจัญ เป็นคนประสพลักษณะ ๔ ในลักษณะ ๕ นี้ มาจาก ตันทิ วิชัมภิกา ภัตตสัมมโท และ เจตโส จ ลีนัตตัง ที่เราจะต้องพยายามระลึก และแก้อย่างแยบคาย มิฉะนั้น... เราจะกลายเป็นผู้ที่ตกอยู่ในฐานะของผู้ไม่สบายใจ และผู้ที่ตกอยู่ในฐานะ หลบลี้หนีหน้า ถีนมิทธะครอบงำ

๒ พฤษภาคม ๒๕๒๕


 

 

อาศัยมิใช่ติดยึด
ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้คำว่าอาศัย เราอาศัยที่เรามีความเบิกบาน อย่าไปอาศัยสภาพที่เรามีความไม่ยินดี หม่นหมอง จะเป็นการรับทุกข์ใส่ตนอย่างโง่ๆ เราอาศัยความเบิกบานแจ่มใส แล้วก็เป็นผู้พึงมีสติ มีธัมมวิจัย แล้วเราก็ปรับปรุงๆ เป็นไปอย่างนั้น เป็นผู้ปล่อยอยู่ๆ ส่วนที่เป็นอกุศล เราปล่อยเสมอปล่อยเสมอ อาศัยเพียงกุศล กุศลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา กุศลแม้เราทำ อย่าหลงยึดว่าเป็นของเรา ปล่อยอยู่ๆ เราต้องรู้คำว่าอาศัย และเราก็ต้องประพฤติตน เป็นผู้ปล่อยอยู่ ๆ

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๕


 

 

เบิกบานเพื่อหาญกล้า
การตั้งต้นไว้ด้วยสติสัมปชัญญะปัญญา รู้ตัวทั่วพร้อม มีความเบิกบานแจ่มใส มีฉันทะ อย่ามีความไม่ยินดี มีความยินดีในอารมณ์เบิกบานร่าเริง ทำในใจไว้อย่างนั้นเสมอ เราต้องรู้สึกตัวว่า... เราเองได้รับกระทบสัมผัสอะไร แล้วทำให้จิตใจแปรปรวนเป็นไม่ยินดี แม้แค่ไม่ยินดี ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เราต้องเปลี่ยนกลับมาเป็น... ความเบิกบาน ร่าเริง โปร่ง ว่าง สบาย อย่าเอาคาหัวใจไว้ ความไม่ยินดีเป็นสื่อแห่งถีนมิทธะ เป็นสื่อแห่งการไม่อาจหาญแกล้วกล้า ไม่แข็งแรง เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้ต้นตอตัวนี้ให้สำคัญ ความขี้เกียจหนึ่ง ความไม่ยินดีหนึ่ง เป็นตัวต้นตอ ทำให้เราไม่แข็งแรง ไม่อาจหาญ ไม่แกล้วกล้า และไม่มีสมรรถภาพ แต่จะเป็นผู้ที่หลบลี้ มีความเฉื่อยและง่วง ถ้าเรารู้ นี้เป็นต้นสำคัญ เราจะต้องพยายามทำกลับ ให้มาสู่กุศลเสมอๆ เราจะแก้อกุศล ดับอกุศลได้ อย่างองอาจแข็งแรง ต้องทำ ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ ต้องรู้สึกตัวอยู่เสมอ และต้องทำเสมอ ด้วยความเพียรอันยิ่ง แล้วเราจะถึงที่สุด

๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๕


 

 

ยินดีที่ปล่อยวาง
เราต้องมีความยินดี มีความเบิกบาน พยายามรู้กรรม รู้กิริยา รู้ว่าเรากำลังจะทำอะไร ในสิ่งที่เราทำ เราพยายามทำความเข้าใจให้ดี แล้วก็อย่าผลัก หรือว่าอย่าไม่ยินดี เมื่อสิ่งนั้นจะต้องทำแล้ว เมื่อเราปล่อยวางแล้ว เราก็จะรู้สึกว่าเป็นของง่าย เช่น เราจะต้องอุจจาระ จะต้องปัสสาวะ เราจะต้องไป เราจะต้องมา เราจะต้องเคี้ยวกลืน มันก็จะเป็นของธรรมดาและเป็นของง่าย เมื่อเราปลดปล่อยแล้ว เป็นของไม่ทุกข์ แต่ถ้าเผื่อว่าเราฝืน เราค้านแย้ง เราไม่ชอบใจหรือไม่ยินดี เราจะทุกข์ ต้องฝึกหัดจิต ใช้ทั้งปัญญา ใช้ทั้งการปล่อยวาง โดยการปล่อยจริงๆ ให้จิตมันปล่อย และทั้งปัญญาที่เห็นเหตุเห็นผล เห็นความเป็นที่สุด แล้วเราก็จะจบที่สุดได้โดยการไม่ทุกข์ และทำทุกอย่างเกิดคุณค่า เกิดประโยชน์

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๕


 

 

พิจารณาก่อนเสพย์
ผู้ใดได้คำนึงถึงการอบรมตนอยู่ทุกขณะ ด้วยการพิจาณาแล้วเสพย์ หรือภาษาบาลีว่า "ปฏิเสวนา" คือ มีการคบคุ้น สิ่งใดก็ตาม จะทำให้มีอย่างนั้นๆ อยู่เสมอก็ตาม ด้วยการรู้แจ้งชัด เข้าใจจริง ต่อเมื่อได้พิจารณาแล้ว ผู้ใดได้พิจารณาอยู่เสมอ พิจารณาแล้วว่า เราควรจะอยู่ในสภาพใด เรียกว่าเสพย์ น่าเป็นอยู่อย่างไร มีการพิจารณา มีการตัดสิน แล้วเราก็ค่อยเป็น ค่อยอบรมอยู่ในสภาพนั้น เช่น เราควรจะทรงกายกรรมอยู่อย่างไร เราควรจะทรงวจีกรรมอยู่อย่างไร เสมอๆ เราควรจะทรงอารมณ์จิตอย่างไรอยู่เสมอๆ ที่เรากำลังกำชับกำชากันอยู่ ว่าเราจะเป็นผู้ปฏิบัติตื่น เราควรจะทำอารมณ์ตื่นอย่างไร

แม้แต่การไม่หลับตา ก็เป็นกายกรรมอย่างหนึ่งที่เราควรเสพย์ เราพิจารณาว่าจริงไหม เห็นด้วยไหม เห็นดีไหม เราควรจะทำอาการที่ไม่ค่อยหลับตา ต้องควรลืมตาไว้เสมอ นี่เป็นกายกรรม แล้วเราก็เสพย์ พิจารณาแล้วค่อยเสพย์ อย่างนี้เสมอ หรือว่าเราควรจะหลับตาบ่อยๆ หลับตาอยู่บ่อยๆ แล้วก็จะได้สภาพที่เราควรจะอบรมตน นี่เป็นเรื่องของกายกรรม ตัวอย่างง่ายๆ แม้ที่สุดในจิต เราควรทำในใจไว้อย่างนี้ จิตของเราจะทรงอารมณ์อย่างนี้ จะรักษาอารมณ์อย่างนี้ไว้เสมอๆหรือ หรือว่าไม่ควรรักษา ควรจะทำอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า พิจารณาแล้วเสพย์ หรือ ปฏิเสวนา เราควรจะได้ทำให้แก่ตน นั่นคือกรรมฐาน นั่นคือ สิ่งที่เราจะต้องรู้

ผู้ใดทำปฏิเสวนาเป็น หมายความว่า ทำทวนซ้ำ ในสิ่งที่เราได้พิจารณาแล้วนั้น อย่างนั้นให้เสมอ ให้ได้ทรง นั่นคือ เราฝึกสมาธิ ฝึกสมาบัติ ฝึกสิ่งที่ควรจะกระทำให้คุ้นให้เคย ให้แปรเปลี่ยนมาเป็นดังที่เราหมายนั้นให้ได้ จนมั่นคง จนแน่นอน นี่คือ วิธีการที่จะปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดเข้าใจกรรมฐาน หรือเข้าใจจุดที่แนะ แล้วก็เห็นให้ดี เป็นทัสนา เป็นสังวรา สังวรอย่างที่เราเข้าใจ และให้มันเกิดปฏิเสวนา เกิดเป็นอย่างนั้น คนอย่างนั้น คุ้นอย่างนั้น ไม่คุ้นอีกอย่างหนึ่ง สิ่งใดเราคิด เราจะคุ้นหรือเคยและเป็นง่าย แต่สิ่งใดที่เราจะเพิกกลับ หรือเราจะมาเป็นอีกอย่างหนึ่งนั้น มันจะยาก ก็ต้องกระทำให้บ่อย และตั้งสติ ตั้งใจให้ดีๆ มันจีงจะทำได้ จึงจะเกิดผลสำเร็จ ในที่สุด

๑๐ กรกฏาคม ๒๕๒๕


 

 

เวรมณี
จิตและกาย ทั้งจิตและกายของบุคคลใด ที่ทรงศีลสมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นคือผู้มีปัญญายิ่งอยู่แล้ว ปัญญาอยู่ที่ใด ศีลอยู่ที่นั่น ผู้มีศีลสมบูรณ์ ผู้นั้นคือผู้มีสัมมาทิฏฐิสมบูรณ์ สัมมาทิฏฐิอันสมบูรณ์ เป็นอนาสวะนั้น ย่อมประกอบไปด้วย สภาพของผู้ที่มีจิตเป็นเวรมณีอยู่ตลอดเวลา คำว่า "เวรมณี" นั้นหมายความว่า เป็นผู้เจตนางดเว้น อยู่ตลอดเวลา

คำว่า "เจตนางดเว้น" เป็นจิตที่ตั้งมั่น ตั้งมั่น แม้คำว่าเจตนาจะแปลว่า ตั้งใจมุ่งหมาย ก็ตาม จิตนั้น ก็เป็นจิตที่มีอาการของความมุ่งหมาย ตั้งใจอยู่อย่างตั้งมั่น ที่จะเว้นขาดจากมิจฉาทุกสิ่ง จากอกุศลทุกสิ่ง จากสิ่งที่เป็นทุจริตทุกสิ่ง อยู่เป็นปกติ เรียกว่า ผู้มีศีลเป็นอเสขะ

๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๕


 

 

ผู้อยู่สำราญ
ผู้เป็นอยู่สุขสำราญ คือผู้ที่สบายกายสบายใจ สุขภาพกายผู้สบายนั้น ก็คือ ผู้ที่มีอาหาร มีเครื่องนุ่งห่ม มีที่อยู่ มียารักษาโรค ที่พอประทังพอสมบูรณ์ ไม่มากไป ไม่น้อยไป และได้เป็นผู้ที่มีสิ่งเหล่านั้น หมุนเวียนอยู่ อย่างพอประทัง โดยเฉพาะ คือผู้ไม่มากไป ใจก็เป็นผู้ที่ปราศจากราคะโทสะโมหะ เป็นผู้ที่มีสุขภาพใจอันสมบูรณ์ ผู้ที่ได้ชำระตน ฝึกตน เป็นอยู่อย่างที่มีองค์ประกอบดังกล่าวนี้แล้ว เป็นผู้อยู่สำราญ

๑๙ กันยายน ๒๕๒๕


 

 

จงเป็นผู้ไม่ประมาท
พุทธบุตรทั้งหลายเอ๋ย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท อย่าหลงเสพ อย่าหลงติดอยู่เลย จงมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม สลัดตนออกจากความเสพย์ความติด ให้ได้เสมอเถิด จงมีศีลอันดีงาม อยู่ในหลักในเกณฑ์ อยู่ในหลักในกฎ อยู่ในหลักในระเบียบ ให้ได้พรั่งพร้อม ดีงาม สมบูรณ์ ตั้งความดำริไว้ให้ดี

จิตเมื่อจะเกิด เมื่อจะคิดไตร่ตรอง ต้องเลือกเฟ้น หาแต่ทางที่จะเจริญให้แก่ตนอยู่ทุกเมื่อเถิด จงตามรักษาจิตของตน ให้เป็นนายอันสำคัญ ที่จะนำตนไปสู่นิพพาน ด้วยการเดินทุกๆระยะก้าว ที่ได้ไตร่ตรอง ระมัดระวังอย่างดี ทุกๆเมื่อเถิด

๒๐ กันยายน ๒๕๒๕


 

 

สัจจะ
ความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้มีธรรมะจริง ก็เป็นผู้ที่มั่นคงแน่นอนจริง สัจจะ อันว่าความจริงนั้น คือสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ความจริงนั้น จะมีความตั้งอยู่ด้วยเหตุปัจจัย ถ้าถึงขั้นสมาธิ หรือขั้นตั้งมั่น ก็จะเป็นความตั้งมั่นที่แน่นอน ไม่คลอนแคลน จะเป็นสภาพที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนแปร เพราะความรู้แจ้ง เพราะความ"เป็น"อันจริง เมื่อได้เป็นสภาพอันจริงแล้ว สิ่งนั้นไม่มีสอง สิ่งนั้นย่อมไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้ที่เป็นแล้ว ก็รู้ในความเป็น สิ่งที่เรียกว่า "สัจจะ" คือ ความจริง จึงคือความเป็นที่แท้ และความรู้แจ้งในความเป็นนั้น อย่างไม่มีผิดพลาด แน่นอน แน่จริง จึงไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลย

๒๓ กันยายน ๒๕๒๕


 

 

รู้และละ
ทำจิตใจให้เบิกบานร่าเริงอยู่เสมอเป็นนิจ รู้อารมณ์ตนให้ดี อย่าเผลอไผล เท่ากับเราได้ปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ ตลอดอยู่แล้วหนึ่ง มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ดำเนินโพชฌงค์ ๗ ตามมรรค ๘ ที่เราจะมีชีวิตอยู่วันคืน และวันคืน พยายามกำหนดรู้อกุศลธรรม ให้ชัดเจนถูกต้อง และพยายามขจัดปัดเป่า ละวางอกุศลธรรมให้ได้เสมอ ทั้งรู้และทั้งละ ทุกข์เกิดจากอกุศล ทุกข์ไม่ได้เกิดจากการงาน ทุกข์ไม่ได้เกิดจากการกระทำดี ที่เรียกว่ากุศลกรรม ทุกข์เกิดจากอกุศลเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น เรารู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ ขจัดเหตุแห่งทุกข์ ให้ถูกตัว

เหตุแห่งทุกข์ มาจากอกุศลภายในใจของเรา แล้วเราก็สั่งการให้กายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี หรือสั่งสมลงในใจก็ดี เป็นอกุศลแก่ตนอยู่เสมอ ถ้าเรารู้อกุศลถูก มีธัมมวิจัยอย่างเฉียบขาดแยบคาย และมีกำลังอินทรีย์ มีอำนาจในตน สามารถละวางอกุศล ได้อย่างเฉียบขาดเด็ดขาด นั่นคือ เราก้าวเข้าสู่ความสบาย ก้าวเข้าสู่ความสำเร็จ

ถ้าเผื่อว่า เราแยกแยะอย่างนี้ไม่ถูก กระทำไม่ได้ เราก็ยังไม่ได้ ยิ่งไม่ถูกด้วยแล้ว ก็ยิ่งช้า ยิ่งไกลที่จะถึงจุดหมาย จุดเป้าสำคัญที่สุด ก็คือ รู้และละ รู้ให้ถูกว่าเราจะละอะไร และละให้ได้ นั่นคือ ผลสำเร็จแต่ละครั้งแต่ละจุด ที่เราได้ปฏิบัติธรรม อย่างถูกต้อง

๒๔ กันยายน ๒๕๒๕


 

 

นิพพานธรรม
ท่านทั้งหลายทั้งปวง ทุกคนล้วนแต่ประสงค์ดี มาดี ใฝ่เอาความดี ความดีที่ว่านี้ มีพระธรรมของพระพุทธองค์เป็นที่สุด พระธรรมมีทั้งคำสอน มีทั้งสิ่งที่จะประพฤติปฏิบัติ ทดสอบ พิสูจน์ และมีทั้งสิ่งที่จะเกิดเป็นผล ผลดังกล่าวนั้นคือ วิมุติธรรม อมตธรรม นิพพานธรรม

ในวิมุติธรรมคือการหลุดพ้น อมตธรรมคือธรรมะที่เรากำหนดรู้ สามารถดับ สามารถเกิดอยู่ได้ นิพพานธรรม คือความสมบูรณ์ ความสงบสนิท ไปปราศจากแล้ว ซึ่งราคะโทสะโมหะ สิ้นอาสวะ

ผู้กระทำตนด้วยความพากเพียร ขยัน รู้จักทิศทางแห่งการปฏิบัติ ประพฤติอันถูกตรง ได้อุตสาหะ วิริยะ ขะมักเขม้น ไม่ท้อถอย มีสติและสัมปชัญญะ ประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกเวลา มีกุศล กุศลอันพึงได้พึงเป็นนั้น เป็นผลอันจะเกิดอยู่ ทุกขณะลมหายใจเข้าออกของผู้พึงเพียร อกุศลใดบกพร่องอยู่ ก็รู้อยู่ และพึงปรับปรุงให้เป็นกุศลทุกเวลา มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ เกิดดี เป็นปีติ เป็นปัสสัทธิ สั่งสมลงตั้งมั่นเป็นสมาธิ และยอดสุด เป็นอุเบกขาอยู่เสมอๆ ผู้เดินด้วยก้าว ๗ ก้าว แห่งพระพุทธองค์พาเป็นพาไป ผู้ใดกระทำอยู่อย่างขะมักเขม้น ไม่ท้อถอย มีสติและสัมปชัญญะ ผู้นั้นพึงหวังได้ ซึ่งเป้าประสงค์ที่ตนปรารถนานั้นแล

๒๕ กันยายน ๒๕๒๕


 

 

ผู้เรียนรู้
ผู้เรียนรู้อารมณ์จิต เมื่อมีอารมณ์จิตที่ยังเป็นกามตัณหา มีอารมณ์จิตที่ยังมีภวตัณหา โดยเข้าใจกามภพ เข้าใจภวภพที่แท้ที่ชัด เข้าใจอย่างอ่านออก และมีสภาวะที่เราสัมผัสอยู่ เรารู้อยู่ แม้ในกาม แม้ในภพ ภวภพ

กามภพ ได้แก่แดนเกิด ที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัสรู้อยู่รอบตัว องค์ประชุมต่างๆ เราเอง เราก็ยังมีความกำหนัดใคร่ ยินดีเสพย์ดื่ม เอร็ดอร่อยอยู่ เมื่อเราเรียนรู้แล้ว เราก็เรียนรู้การจางคลาย ละลดอารมณ์เสพย์ ดื่ม ติดยึด เอร็ดอร่อย เหล่านั้นลงไปได้

ผู้ปฏิบัติธรรม รู้จักวิราคธรรม รู้จักความจางคลายของกาม กามตัณหา ภวตัณหา แม้ในภวภพ เราก็เรียนรู้ว่า มันอยู่ในภพของจิตที่สร้าง ทั้งเป็นมโนมยอัตตา อรูปมยอัตตา ที่เรายังสร้างเองบ้าง อุปาทานยึดติด ยังมีการหมุนเวียน ดื่มเสพย์ เรายังเอร็ดอร่อยเพลิดเพลิน ติดยึดอยู่บ้าง เราจะรู้ความจริงด้วยปัญญาอันยิ่ง ไม่ใช่เดา แต่ต้องเข้าใจอย่างเป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นแจ้งรู้จริง แล้วเราก็ทำให้ลด จางคลายลงไปได้จริง จนกระทั่งหมด ก็รู้ว่าสภาพดับสิ้น ไม่มีอารมณ์ ไม่มีกามตัณหา จนสิ้นกามาสวะ ไม่มีภวตัณหา จบสิ้นภวาสวะ รู้ยิ่งด้วยวิชา สิ้นอวิชชาสวะ

ผู้ที่ได้เรียนรู้จริง ถอดถอนจริง ก็จะยืนหยัดยืนยันอย่างแท้จริง กามเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ภวภพก็เป็นทุกข์เช่นเดียวกัน เราจะเป็นผู้ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ และอยู่อย่างเป็นสุข ว่า "สุข"คำนี้ ไม่เหมือนโลก แต่เป็นวูปสโมสุข ไม่ใช่สุขเสพย์สม แต่เป็นความว่าง ความสบาย เบา แม้จะมีงานหนักอยู่เต็มที่ ดังเช่น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำงานสร้างพระศาสนา ๔๕ พรรษา มีงานอยู่เต็มที่ แม้แต่จะตาย ก็ยังต้องทำงานโปรดพระ จนเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นองค์สุดท้ายก่อนตาย นั่นทีเดียว เราก็จะรู้ได้จากพระตำนานบ้าง จากความเป็นจริง ที่เป็นประวัติศาสตร์บ้าง ดังนี้ จะเห็นจริงได้ เมื่อเรามีของจริง พิสูจน์ตรงกัน ทั้งที่สภาพที่ท่านเล่าเป็นเรื่องเป็นราว และหลักธรรมของพระพุทธองค์ เราจะเข้าใจความหมาย และความจริงที่เรามี สอดคล้องต้องกัน

ผู้ใดถึงที่สุด แม้แต่ในตัวอย่างบางเรื่องบางเหตุปัจจัย เราจะเข้าใจจิตที่ว่างเปล่า จิตที่ปราศจากกาม และแม้จิตที่ปราศจากภพ ภวภพต่างๆ แล้วเราเองจะเป็นผู้ที่อิสระเสรี จะเป็นผู้ที่มีความยินดี ร่าเริง เบิกบาน เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่นอยู่ รอบถ้วนอย่างกว้างขวาง นับวันเราก็จะเป็นผู้ที่รู้โลกวิทูยิ่งขึ้นๆ ไม่ใช่ผู้มืดบอด หลบลี้ หลบเลี่ยงหนี แต่เราจะรู้ยิ่ง จะยืนอยู่เหนือโลก อย่างผู้ที่จะสะสมความรู้ในโลกไป อย่างผู้ชนะอย่างสมบูรณ์

๒๗ กันยายน ๒๕๒๕


 

 

รู้ตัว ตรวจตน
สำหรับผู้ที่มีอินทรีย์พละยังไม่เก่ง ยังไม่แก่กล้า การชำระกิเลสของตนก็ยาก จึงต้องอาศัยความเพียร อาศัยความอุตสาหะ วิริยะ พยายามกระทำเสมอ สอดส่องอ่านตน รู้ตัว ปฏิบัติสติปัฏฐานให้มากให้มั่น การปฏิบัติเพื่อละกิเลส ที่ตัวรู้อยู่ว่าตัวเองมี เพื่อจะให้กิเลสนั้นจางคลาย หมดสิ้น ก็ย่อมยาก แต่การจะรู้กิเลสที่ลึกซึ้ง ต่อ...ต่อขึ้นไปอีกนั้น ยากยิ่งกว่าหลายเท่า คนที่มองตน อ่านตนเองไม่ออก ในกิเลสช่วงที่จะต่อรอบขึ้นไปอีก ละเอียดขึ้นสูงขึ้น หรือกิเลสที่เราติดใจมาก กินใจมาก โมหะบังมาก เราแสนจะอ่านตัวเองยากที่สุด ขอให้ตรวจตนอ่านตน รู้ตนเองให้ดีๆจริงๆ ถอดตัวถอดตน อย่าเป็นทาสของกิเลสมากนักเลย ผู้ที่รู้ตัวรู้ตนเองนั้นมีบุญ รู้ว่าตัวเองมีกิเลสเมื่อใด ผู้นั้นยิ่งกว่าได้ลาภมหาศาล ในโลก

๒๘ กันยายน ๒๕๒๕


 

 

ผู้หมดตัวตน
คนผู้ควบคุมปรับปรุงกรรม ไม่ว่ากายกรรม วจีกรรม โดยเฉพาะมโนกรรมของตน ด้วยสติสัมปชัญญะ ปัญญาอันรู้พร้อม รู้ตัวอยู่เสมอๆ โดยปัญญา ก็จะวิจัยให้เข้าใจให้ดี เห็นดีในการปรับปรุงกรรมของตนอยู่ทุกเมื่อ พร้อมกระนั้น ก็หัดวางใจ วางอารมณ์ที่มันยึดถือ มันยึดถือตัวถือตน มันยึดถือรสอร่อย มันยึดถือรสที่ตนเสพย์ ตนเห็นว่าดีว่าสนุก ว่าเป็นของตัวของตน รู้จักสังคมสิ่งแวดล้อม รู้จักองค์ประชุม ปรับกรรมกิริยา การกระทำทุกอย่างของตน ให้เป็นคุณค่าอันสมเหมาะสมควรที่ดี ที่จะประสานอยู่กับสังคม อย่างจริงจังจริงใจ เราได้ปฏิบัติธรรม ทั้งปฏิบัติตนที่มีกรรมอันเจริญ ได้ปฏิบัติทั้งละลดกิเลสตัณหาของตน ได้เป็นผู้อยู่กับสังคม อันอยู่เหนือสังคม เป็นคุณค่าของสังคม ความทุกข์ความสุขของเรา ก็จะลดละจางคลายหมดไปได้ แต่กรรมของเรา การกระทำของเรา กิริยาของเรา จะยิ่งชำนาญขึ้นๆ และการกระทำของเรา จะยิ่งรู้แจ้งรู้จริงว่า... อยู่กับสังคมนั้น เราจะทำอะไรให้แก่สังคมเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่เหมาะสมเหมาะควรเป็นที่สุด คนผู้นั้นจึงหมดอัตตาตัวตนด้วย และเป็นผู้ที่ไม่เสื่อมต่ำเลย มีการงาน มีกิริยา และมีความรู้กับสังคมๆ ว่าอะไรเหมาะสมกับสังคม มีเศรษฐศาสตร์อันสูง จึงเป็นผู้มีคุณค่า และเป็นผู้มีความเป็นอยู่อย่างสุขสำราญ

๔ ตุลาคม ๒๕๒๕


 

 

เบ้าศีล
เหล็กหรือทอง ที่นำสู่เบ้าหลอม เมื่อมันเข้าไปอยู่ในเบ้าหลอม เบ้าหลอมได้ทำงานหล่อหลอมอยู่ มันก็ย่อมเป็นรูปเป็นร่าง ตามที่อำนาจประสิทธิภาพของเบ้าหลอมนั้น จะขัดจะเกลาจะกล่อม จะกระทำให้มันเป็นรูปนั้นร่างนั้น ฉันใด

คนที่อยู่ในศีล อยู่ในหลักธรรม อยู่ในวินัย อยู่ในกฎระเบียบแบบอย่าง วันแล้ววันเล่า ก็จะถูกหล่อถูกหลอม เป็นไปตามทิศทางที่ถูกต้อง ของหลักระเบียบแบบอย่างวินัยนั้นๆ เช่นเดียวกัน

แต่ถ้าผู้ที่อยู่ในเบ้าหลอมนั้น ยิ่งรู้ตัวทั่วพร้อม ยิ่งทำตนเองให้เห็นแจ้งจริง และการกระทำตน ตามทิศทางเส้นทางตรง ให้ตรงยิ่ง ทิศทางที่เป็นไปสู่จุดหมายให้เร็วยิ่ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยความเพียรอันยิ่ง ผู้นั้นๆ ก็ยิ่งจะเป็น จะได้รับความเป็น ตามที่เรามั่นหมาย ตามที่บ่อ ตามที่เบ้าหลอมนั้นจะให้เป็น ตามที่ได้เคยใช้มาแล้ว เร็วยิ่งขึ้น ไวยิ่งขึ้น และจะสำเร็จ ตามที่เราต้องการทุกประการ

๗ ตุลาคม ๒๕๒๕


 

 

สติ
นักปฏิบัติธรรมที่มีโพธิปักขิยธรรม จะต้องเป็นผู้มีสติเป็นเอก จะต้องรู้ส่วนที่ตนเองจะประหารเสมอ วิจัยได้เสมอ จะเป็นผู้ที่มีความเพียร เร่งตน สังวรตนอยู่ไม่ขาด เป็นผู้ที่เสริมอินทรีย์ เสริมพละของตนให้ได้อยู่ทุกเมื่อ และเป็นผู้ที่จะต้องได้ก้าวเดินอย่างพุทธะ ตลอดเวลา จะต้องเขยิบไป เจริญขึ้น มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ เกิดปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ก้าวเดินไป รอบแล้วรอบเล่า ด้วยความเป็นอยู่ที่เห็นถูกต้อง และสำรวมสังวร ความคิด การพูด การงาน แม้ส่วนที่กระทำอยู่ส่วนใหญ่ เป็นการกระทำประจำทุกวันทุกเวลา เราก็พยายามมีสติ รู้องค์ประชุม รู้สิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลาที่มีผัสสะ กำหนดเวทนา รู้เวทนาในเวทนา จัดแจงปรับปรุงเวทนาในเวทนา เข้าถึงจิต เข้าถึงธรรมารมณ์ ได้กระทำการปฏิบัติ ทั้งภายนอก โยงใยไปถึงภายในของตนๆ อยู่ตลอดเวลา และได้เจริญอยู่ ดังที่กล่าวนั้น หมุนวนเป็นวงธรรมจักร เกิดแรงกลแห่งการปฏิบัติธรรม เราก็เป็นพระโยคาวจร ที่จะมีมรรคมีผล อยู่ตลอดเวลา

๘ ตุลาคม ๒๕๒๕


 

 

เหนือโลก
ความน่ามหัศจรรย์ใจ ยังคงมีอยู่ในสังคมมนุษย์ ที่โลกเต็มไปด้วยโลกียารมณ์ เต็มไปด้วยสังขารโลก ที่ได้ปรนปรุง ยั่วย้อมมอมเมา เพื่อให้เกิดราคะโทสะโมหะอันมหามหันต์ แต่บุคคลผู้ใฝ่การละ ลดราคะโทสะโมหะ หาทางที่จะดิ้นรนออก มีฉันทะในการที่จะละล้างกิเลส และดิ้นรนออกจากโลกียารมณ์ จากสังขารโลก มีฉันทะ มีการเอาใจใส่ ตั้งใจ จดจ่อ ที่จะหาแดนเกิดอันสำคัญ เพื่อจะเกิดเป็นอริยะ เพื่อจะพ้นสังขารโลก พ้นโลกียารมณ์ มาผัสสะ มาคลุกคลีเกี่ยวข้องกับเหตุที่จะเกิดเป็นอริยะ มาเรียนรู้ความรู้สึก มาเรียนรู้ความกระทบสัมผัส มาปรับปรุงความรู้สึกวิญญาณตน ให้ประชุมลงสู่จุดหมายปลายทาง จนเกิดความเป็นไปได้ เจริญขึ้น มีจิตอันเจริญขึ้น ตั้งขึ้น จนกระทั่ง สามารถนำมาเป็นหัวหน้าของชีวิต อยู่กับโลกเขา แต่ก็มีสภาพที่อยู่เหนือโลกเขาได้ สามารถที่จะนำพาชีวิต เบาบาง พอเป็นพอไป จนกระทั่ง จะก้าวหน้าขึ้นมาสู่ทิศทางอันเจริญ มีสติเป็นใหญ่ มีปัญญาเป็นความเหนือโลกอยู่อย่างยิ่ง มีวิมุติเป็นแก่นสาร มีความสามารถที่จะเป็นอมตบุคคล ได้หยั่งลงไปเรื่อยๆ นิพพานนี้ ยังไม่สิ้นหวังหนอ ยังมีบุคคลที่เดินทางไปสู่นิพพานได้อยู่ แม้จะยังไม่ครบบริบูรณ์ แต่ก็มีสภาวะของนิพพาน อันได้พากเพียร สั่งสม ยังเกิดอยู่หนอ

ขอให้ทุกคน จงถึงที่สุดแห่งที่สุดของนิพพาน นั้นถ้วนทั่วเถิดเทอญ

๙ ตุลาคม ๒๕๒๕


 

 

สู่ความเป็นพุทธะ
จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรม เรามุ่งหมายเพื่อที่จะเป็นพุทธะ อันหมายความว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน การรู้ก็คือ รู้ละเอียดลออทั้งกิเลส และความหมดกิเลส และรู้รอบถ้วนทั่ว ว่าอะไรที่เราควรจะสัมพันธ์อยู่ในโลก การเป็นผู้ตื่น ก็คือ เป็นผู้รู้ความสัมพันธ์ของอะไรต่ออะไรกับชีวิต เข้าใจชีวิต แล้วก็มีบทบาทของชีวิตที่เป็นประโยชน์ เป็นคุณค่า อยู่ในสภาพสากลโลก ตลอดที่มีชีวิต ยังไม่ตายดับขันธ์ เราจะเป็นคนสร้างสรร เป็นคนตื่น และเราจะมีจิตเบิกบานร่าเริง เป็นฐานอาศัยของตน จิตเบิกบานร่าเริงนั่นเอง คือจุดที่ชี้ชัดว่า เราพ้นทุกข์ หรือเราสบาย ส่วนจิตรู้ และจิตตื่นนั้น คือจิตที่มันมีประสิทธิภาพในทางสร้างสรร ในทางที่กระทำการอยู่กับโลก อย่างไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น คนที่ยังเป็นๆ ยังไม่ตาย จะทำอะไรไม่เสียหาย ไม่เป็นอกุศล ก็เพราะมีความรู้ และเป็นผู้มีความสร้างสรร เป็นผู้ตื่น เป็นผู้ทีมีประโยชน์คุณค่า

เรามีความเบิกบาน ร่าเริง แจ่มใส เป็นเครื่องพัก เป็นเครื่องอยู่อย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ที่เราปฏิบัติธรรม จุดแรกที่สุด ถ้ารู้ตัวว่า มีจิตที่ไม่มีความสบาย มีจิตที่ไม่แจ่มใส แม้เราจะรู้อยู่ว่า เรากำลังมีกิจการงานอะไรก็ตาม สัมผัสสัมพันธ์อยู่กับอะไรก็ตาม เราก็รู้จิตตัวที่มันไม่เบิกบานแจ่มใสให้ได้ก่อน แล้วทำออก ทำออกให้จริง สลัดให้ออกให้ได้ หรือว่าเราจะทำด้วยอิทธิวิธีใดๆ ก็ตาม เมื่อจิตอันเบิกบานแจ่มใสเกิดแล้ว ความรู้จะดีขึ้น ความตื่นหรือความสัมพันธ์ หรือการสร้างคุณค่า จะพลอยเจริญดี คือกำลังปฏิบัติตามไปสู่ความรู้ยิ่ง รู้จริง ความตื่นแท้ได้ เป็นอันดับต่อไป ถึงที่สุดนั่นเอง

๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๕


 

 

เคร่งครัด แต่ไม่เคร่งเครียด
สิ่งหนึ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้ทรงสอน เตือนเราไว้เป็นสำคัญ คือ ท่านไม่สรรเสริญคน แม้แต่จะได้ดีแล้ว ก็ทรงอยู่เท่าเดิม ไม่เลื่อนฐานะเจริญยิ่งขึ้นๆ ป่วยการกล่าวไปไยถึงความเสื่อม ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสไว้ในฐิติสูตร ที่เราได้เอามาแจ้งกัน บอกกัน เตือนกัน เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องสำคัญมาก ทุกคนจะต้องรู้ตัวเองว่า ทุกเวลาทุกขณะนั้น เราเจริญอยู่ๆ ถ้าผู้ใดไม่สำเหนียกไม่สังวร ถ้าแม้ว่าตัวเองได้ดีขึ้นมาบ้างแล้ว มันจะเผลอตัวที่จะหยุด ที่จะติดแป้น ที่จะไม่ทำดีนั้นต่อ เพราะการทำดีที่สูงขึ้นไป จากบารมีเดิมนั้น จะนับวันยากขึ้นๆ ความยากไม่ทำให้คนเพียร นั้นหนึ่ง ความได้สบาย เพราะเราได้ดีขึ้นมาพอสมควรนั้น จะทำให้เราติดสบาย นั้นอีกหนึ่ง และความไม่ขยันหมั่นเพียรของคน ซึ่งเป็นธาตุที่ล้างออกยากที่สุด กว่าจะหมด อีกหนึ่ง จึงทำให้การเลื่อนชั้น เจริญยิ่งๆ ในขณะที่เราจะสูงขึ้น ยิ่งสูงขึ้น เกินบารมีเดิม สั่งสมบารมีใหม่นั้น เป็นความยากมาก

ขอเตือนพวกเรา ต้องใส่ใจตน อุตสาหะวิริยะพากเพียร ด้วยความเบิกบานแจ่มใส ไม่อึดอัดขัดเคือง ไม่เคร่งเครียด แต่เราควรเคร่งครัดกับตนเอง ความเคร่งเครียดและความเคร่งครัด ต้องแยกให้ออก การกระทำการ เกินการไปนั้น หนึ่ง เป็นความเคร่งเครียด สอง มุ่งหมายเอาจัด เราทำอย่างหมกมุ่น นั่นเราก็จะเคร่งเครียด และเราไม่มีจิตใจที่เบิกบาน เป็นกระสาย หรือเป็นเนื้อที่เราจะต้องอาศัย ก็ทำให้เราเคร่งเครียดได้

การปฏิบัติธรรม ด้านสุขาปฏิปทานั้น จะต้องมีจิตเบิกบานแจ่มใส หรือปราโมทย์ยิ่งอยู่ อาศัย แล้วเราก็ทำไปตามความเพียร ตามทิศทางที่ถูกต้องของเรา เราก็จะก้าวหน้า กระเถิบการเจริญขึ้นได้เสมอๆ

๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๕


 

 

ฉันทะ

ความมีฉันทะ มีความยินดีเป็นมูล เป็นสิ่งจูงนำ เป็นสิ่งที่จะพาให้เราใส่ใจในกิจ ใส่ใจในกรรมนั้นๆ เมื่อเรามีฉันทะ มีความยินดี มีความพอใจ ไม่ว่าจะพอใจไปในทางโลก เราก็จะนำตนไปใส่ใจ ตั้งใจในกิจในกรรมนั้นๆ เหมือนกัน ยิ่งเป็นทางธรรม ถ้าเราได้พอใจยินดี เราก็จะตั้ง ใส่ใจ ในกิจกรรมที่จะเป็นไปในทางเจริญของธรรมะ เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไร ทำให้เราเป็นผู้พอใจ เป็นผู้ยินดี เป็นผู้มีฉันทะ ในสิ่งที่เราปรารถนานั้นๆได้ ก็ขอให้เราได้หาวิธีการ ทำให้ตนเองก่อเกิดรากเค้าอันสำคัญ คือ ฉันทะในสิ่งนั้นๆ ให้ได้ก่อนอื่นเถิด

๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๕


 

 

แสวงหา
ทุกคนล้วนแสวงหา เราก็เป็นผู้แสวงหา ผู้ที่แสวงหาโดยไม่รู้จักการละความแสวงหา จะไม่มีวันพบความหยุดความพัก และจะไม่มีวันได้เห็นนิพพาน ผู้แสวงหาและก็ละการแสวงหา ได้เป็นระดับ เป็นระดับ ตั้งแต่ละการแสวงหากาม ก็จะมามีภพที่สูงขึ้น ภูมิที่สูงขึ้น ถ้าติดภพ แล้วเรายังแถมโง่ แสวงหาสิ่งที่อยู่ในภพอีก ติดอารมณ์ในภพอีก เราก็ยังคงแสวงหาอารมณ์ในภพอีก นานับชาติได้ เราต้องละการแสวงหาในภพอีกต่อไป และเราก็ยังจะมีสิ่งที่ละเอียดลึกเข้าไปอีก ที่เราจะแสวงหา ก็คือความสูงของภพของภูมินั้นต่อไป จนที่สุด เราก็แสวงหาพรหมจรรย์ได้สูงขึ้นๆ จนที่สุด เราจะละการแสวงหาพรหมจรรย์เป็นที่สุดอีก ผู้ละการแสวงหาพรหมจรรย์ ได้แล้วด้วยดีเท่านั้น จึงจะถึงซึ่งนิพพานบริบูรณ์

๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๕


 

 

คุณค่าสูงสุด
ทางปฏิบัติสู่ความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า เบิกบานร่าเริง ไม่ประมาท มีสติตั้งมั่น วิจัยธรรม สัมผัสรู้ทุกอิริยาบถ แล้วก็ปรับปรุงตนเสมอๆ เป็นการกระทำอย่างสั้นๆย่อๆ แต่นั่นแหละ คือทางปฏิบัติของเรา ที่เราจะเดินทางไปสู่ความเป็นมนุษย์ ผู้สำราญใจ และมีคุณค่าสูงสุด

๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๕


 

 

ละนิวรณ์
บุคคลผู้อาศัยการศึกษา รู้อารมณ์ รู้อาการของจิต เฝ้าเพียรตรวจอ่านจิต ว่าอารมณ์กามนั้นเป็นอย่างไร แล้วเราก็ขจัด รู้วิธีทำออก ไม่ให้มีกาม ไม่ให้มีอาการหรืออารมณ์พยาบาท ไม่ให้มีอาการหรืออารมณ์ของถีนมิทธะ ไม่ให้มีอาการ อารมณ์ของอุทธัจจะกุกกุจจะ ไม่ให้มีอาการของวิจิกิจฉา เป็นผู้เพียรทำตน ให้ปราศจากนิวรณ์อยู่เสมอๆ มีฐานของฌานอาศัย ฌานนั้นจะทำให้ผู้นั้นเป็นอยู่สุข เรียกว่า ทิฏฐธัมมสุขวิหาร เป็นเครื่องอาศัยให้ตน นั่นก็เป็นกำไรแล้ว

ผู้มีฌาน ย่อมเป็นจิตที่จะสอดส่องอะไรก็สะอาด จะตรวจตราจะรับสัมผัส ก็จะตรวจตราธัมมวิจัย ในสิ่งที่จะพลัดเข้ามาเป็นกิเลสได้ชัด จะได้หัดขจัดอีกเป็นปัจจุบันธรรมเสมอๆ ฌานย่อมเป็นฐานที่จะไปสู่วิมุติ ในขณะที่มีฌาน ผู้นั้นก็คือผู้มีวิมุติลำลอง เป็นผู้ที่ได้ทั้งอาศัยเป็นอยู่สุข ได้ทั้งเป็นผู้ได้ เป็นเครื่องมือที่จะจัดการ เข้าไปสู่วิมุติอย่างสำคัญ

ผู้ใดยังไม่ได้ จึงพึงทำ จงรู้อาการของกาม พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา ให้ชัดจริง และรู้วิธีทำออก ใน ๕ สภาพนี้ให้จริง และทำให้ได้อยู่เสมอๆจริงๆ ผู้มีองค์ฌาน และมีการปฏิบัติต่อ เพื่อขจัดอยู่ในปัจจุบันทุกปัจจุบัน นั่นคือ การปฏิบัติธรรมด้วยมรรคองค์ ๘ หรือ สติปัฏฐาน ๔ อย่างถูกต้อง

๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๕


สมณะโพธิรักษ์

คาถาธรรม ๑