คาถาธรรม ๔

อำนาจแห่งความเพียร

ผู้ที่มีศรัทธา และมีปัญญาอันชัดแน่แล้ว เป็นความมั่นคง ผู้มีความมั่นคง ตัดสินเป็นหนึ่ง เป็นผู้ที่มีหลัก เป็นผู้ที่ได้จุดได้คิด ได้ทางที่จะเดินไปอย่างดีแล้ว ยังเหลือก็แต่ความเพียร หรือความพยายามจะทำตามความเห็น ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีทิฏฐิอันแน่ชัด เป็นผู้มีความเห็นที่ถึงขั้นญาณ เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีความเข้าใจถึงขั้นญาณ สัมมาทิฏฐิถึงสัมมาญาณ คือ แน่ใจมั่นใจในทิศทาง เห็นเข้าใจในความเป็นทิศที่เราจะเดิน ยังเหลือพยายาม ยังเหลือวิริยะ ซึ่งความพยายามและวิริยะนั้น ก็จะต้องประกอบไปด้วยโพชฌงค์เต็มที่ คือการก้าว รู้ทิศแต่เราไม่ก้าว มันก็ไม่ไป ทั้งๆที่มีทิศเดียว รู้ทิศหนึ่งทิศตรงแล้วแน่นอน แต่เราไม่ก้าวเลย โพชฌงค์ไม่เดินเลย เราก็ไม่ไป ก่อนจะมีโพชฌงค์ ก่อนจะเดิน เราก็หลับตาแน่ และเราก็จะไม่มัวซัว ให้โค้งให้ผิด

เราจะต้องเดินให้ถูกอย่างชัดเจน โดยมีสติมีความตื่น เมื่อมีสติ มีความตื่นเต็ม เราจะเดินได้ตรง เหมือนกัปตันมีเข็มทิศ ก็จะปรับให้เข็มทิศนั้นตรงจุดที่สุด ธัมมวิจัย คือการปรับ ปรับระมัดระวัง อย่างเพียรอย่างพยายาม มีสัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นเครื่องเดิน ประกอบกับสัมมาทิฏฐิ แม้สัมมาทิฏฐิ จะขึ้นถึงขั้นสัมมาญาณดังกล่าวแล้ว เราจะเห็นได้ว่า อำนาจแห่งความเพียรเท่านั้น ที่จะพาเราฟันฝ่า เดินไปสู่จุดหมายปลายทาง แม้กระนั้น เราก็ยังต้องเดินด้วยวิริยะ สติ ธัมมวิจัย วิริยะ

จะเห็นได้ว่า สัมมาทิฏฐิก็ดี สัมมาวายามะ สัมมาสติ องค์ธรรมก็ดี ก็จะตรงกันกับสัมมาสติ ก็จะตรงกันกับสติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ และวิริยสัมโพชฌงค์ อย่างเห็นได้ และมีความแน่ชัด เป็นตัวสำคัญ สัมมาทิฏฐิเกิดก่อน สัมมาสติหรือตัวสติสัมโพชฌงค์จึงเดินตาม

สัมมาทิฏฐิ จึงเป็นตัวสำคัญที่สุด ที่คนเราจะต้องทำให้เกิดก่อน ดังที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเอาไว้แล้วว่า เมื่อจะเห็น เมื่อจะเกิดกลางวัน หรือเมื่อจะเกิดการสว่าง ก็จะมีแสงอรุณมาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ฉันใด สัมมาทิฏฐิ ศีล จึงเป็นสิ่งที่จะต้องมาก่อนสิ่งอื่น ฉันนั้น และเราก็จะต้องเสริมหนุนด้วยกำลัง ด้วยการก้าวเดิน เพียรเท่าใด พยายามเท่าใด ก็มีหวังที่จะถึงได้ ตามแรง ตามการก้าวนั้น เท่านั้นๆ

๑ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

ผู้อยู่สำราญ

ผู้เป็นอยู่สำราญ คือ ผู้ที่มีอะไรอยู่ในตนเอง โดยเฉพาะจิตวิญญาณของตนเองพรั่งพร้อม ความหมายคำว่า พรั่งพร้อม ก็คือ จิตเต็ม ใจเต็ม ไม่มีความพร่อง ถึงแม้จะเป็นผู้ปฏิบัติที่ยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม แต่จิตใจนั้นพร้อม จิตใจนั้นเต็มอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นกุศล เจริญอยู่ เรามีศีลอันสมควรแก่ตน เรามีงานอันสมควรแก่ตน เรามีอะไรต่ออะไรที่เราไม่ขาด แม้แต่ปัจจัยก็มีสมควรแก่ตน ปัจจัย ๔ บริขาร อันสมควรใช้ เป็นผู้สันโดษ ผู้มีความสันโดษอยู่เสมอ ดังนี้ ถือว่าเป็นผู้พร้อม เป็นผู้พรั่งพร้อม จะเป็นผู้อยู่สำราญ จะเป็นผู้ถือได้ว่า สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ดิ้นรนวุ่นวาย ไม่เดือดร้อน จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้อยู่สำราญ

๒ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

ทำใจให้เบิกบาน

ผู้ฉลาด มีหลักแห่งการควบคุมฝึกฝนตน มีสติสัมโพชฌงค์เป็นหนึ่ง ระมัดระวังอารมณ์ได้ สามารถทำจิตใจ ให้เบิกบานแจ่มใสอยู่ได้ก่อนอื่น นั่นเป็นผู้ที่เดินทางเข้าสู่ความพ้นทุกข์ ประตูแรก

ผู้มีสติ และมีธัมมวิจัย รู้ตัว รู้ตน รู้อารมณ์กระทบสัมผัส และก็ได้เลือกเฟ้นกระทำให้แก่ตน ด้วยวิริยะอุตสาหะอยู่ ประตูหนึ่ง ที่มีสัมผัสแล้ว เราจะอยู่ในอารมณ์ที่มีความไม่ชอบใจ เป็นต้น จนกระทั่งถึงอารมณ์โกรธ มากน้อยเท่าใดก็ตาม เมื่อรู้หลักว่า โทสโคตรทุกขนาด ไม่ว่าหยาบกลางละเอียด เราจะสลัดออกอย่างไม่มีข้อแม้

ผู้ใดมีสติ ธัมมวิจัย วิริยะ เป็นสัมโพชฌงค์ ๓ ประจำตนอยู่เสมอ สลัดโทสโคตร อย่างไม่มีข้อแม้ดังกล่าว ทำใจให้เบิกบานแจ่มใส อยู่ทุกเมื่อ

ผู้นั้นเป็นผู้ปฏิบัติตนมุ่งสู่นิพพาน และเป็นผู้ได้ประสบสุข พ้นทุกข์ เป็นประตูแรก แล

๓ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

พิณ ๓ สาย

ผู้เข้าใจทฤษฎีพิณ ๓ สาย คือ ผู้ที่รู้จัก ต้น กลาง สูง รู้จักความประมาณที่พอดี คำว่าเป็นกลาง พิณ ๓ สายนั้น จะต้องตึงทั้ง ๓ สาย ตึงอยู่ในระดับพอดี เราจึงจะรู้เสียงของพิณสายต่ำ พิณสายกลางและพิณสายสูง ชัดเจน แต่ผู้ที่ไม่รู้เช่นนี้ จึงเอาความพอใจเป็นที่ตั้ง และไม่มีความเคร่งครัด หรือความตึงอันพอดีของตนเอง จะประมาณเป็นความหย่อนให้แก่กิเลส นั่นเป็นธรรมดาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น

ผู้เข้าใจความหมาย ในหลักของพิณ ๓ สายดังกล่าวนี้ จึงจะเป็นผู้ที่เคร่งครัดต่อศีล ต่อสมาธิ ต่อปัญญาของตน ที่จะพยายามมีสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ตัวทั่วพร้อม เคร่งครัดและตึงอยู่ในศีล อันที่ได้ประมาณแก่ตนแล้ว พยายามทำให้จิตใจของตน ได้รับผลขึ้นไปหาเสียงสูง ขึ้นไปหาทิศสูงอยู่เสมอๆ

ผู้ไม่เข้าใจดังนี้ จะปฏิบัติพิณ ๓ สาย อย่างเอาใจกิเลส แล้วก็จะหล่น หรือหย่อนลงมาหาความชอบของกิเลส และได้ตกหล่น เสื่อมลงไปทั้งหมด

ส่วนผู้ที่เข้าใจอย่างชัดแจ้ง ในทฤษฎีพิณ ๓ สาย รู้ว่าทิศทางที่จะตึง เส้นที่กลาง ถ้าเขม็งขึ้นไป ก็จะขึ้นไปหาเส้นที่สูง หรือทิศสูงอยู่เสมอ ไม่ใช่ตายตัวอยู่กับที่ ขอให้สังวรระวังการปฏิบัติ ตามทฤษฎีพิณ ๓ สาย ดังกล่าวนี้ ให้ถูกความหมายเฉพาะตน เฉพาะตน

นั่นคือ การปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทา สำหรับตน แต่มีทิศเดินทางที่สูงขึ้น ถูกต้อง ตามความหมาย ที่พระพุทธเจ้าท่านหมาย

๔ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

มานะละยากยิ่งกว่ากาม

การประพฤติปฏิบัติ ที่เราสังวรระวังและละล้างกันอยู่ ของนักปฏิบัติ คือ แกนกามกับแกนมานะ นี่เป็นหลักสำคัญ ที่จะต้องสังวรรู้ตัวอยู่เสมอๆ เพื่อที่จะได้ไม่หลงไปข้างใดข้างหนึ่ง ถ้าเผลอ เราก็จะหลุด เราก็จะขาด เราจะบกพร่อง

แกนกาม ก็คือ เราจะต้องไม่พยายามจะปล่อยให้มันเสริมกิเลสส่วนกาม เพื่อที่จะตกไปสู่กามสุขัลลิกานุโยค และแกนมานะ ก็เพื่อที่จะไม่ตกไปสู่ทางอัตตกิลมถานุโยค เพราะฉะนั้น เราจะต้องมาละกาม มาละอัตตา หรือมาละมานะ กามเป็นของหยาบกว่า เราก็พูดกันพอรู้เรื่อง และเราก็ได้พยายามสังวรตนเอาเอง

ใครรู้มาก รู้จริง รู้ชัด และมีสติ มีความเพียร ที่จะพยายามละล้างของตนๆ ก็ย่อมได้ การละกามสุขัลลิกะไปเรื่อยๆ ถ้าผู้ใดรู้ตัวมานะรู้อัตตา รู้อย่างมีสติ เช่นกัน มีสติรู้ วิจัยรู้ และก็พยายามลด พยายามละจริงๆ อย่าให้มันใหญ่กว่าเราเป็นอันขาด มันยิ่งรู้ตัวยากกว่ากาม เพราะว่ามันยึดตัวยึดตน มันยึดดี ยึดความหลงของตนว่าถูก หรือความจริงของตนว่าถูก แล้วมันไม่ฟังเสียงใคร ไม่เอา ไม่ยอมให้ใคร นี่แหละ เป็นตัวที่ร้ายกาจอยู่ ยิ่งอยู่กันอย่างสามัคคี ก็จะไม่สามัคคี จะอยู่ร่วมกันได้ มันก็ไม่อยู่ร่วมกันได้ แม้จะมีความดีกันบ้างแล้ว อย่างที่เป็นตัวอย่างมีอยู่ ว่ามีความดี แต่เสร็จแล้ว ก็ต้องพรากจากกัน จากหมู่จากกลุ่ม

น่าเสียดายที่สุด ถ้าไร้ซึ่งความดีเสีย ก็ไม่มีปัญหา ไม่น่าเสียดายอะไร เพราะฉะนั้น ขอให้สังวรในเรื่องมานะ ในเรื่องอัตตา ให้สำคัญมากๆ เพื่อจะได้เป็นเนื้อเป็นมวล จะได้อยู่ร่วมกัน จะได้สร้างสรรกันให้ทวีคูณ มันทำลายตน และทำลายสังคม คือ ทำลายตนแล้ว ก็ไม่ได้ร่วมอยู่กับสังคมที่ดี ไม่ได้ร่วมอยู่กับมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็ไม่ได้เป็นเนื้อเป็นมวลที่จะได้สร้างสรรสิ่งดี ให้แก่สังคมประเทศชาติ หรือมนุษยชาติในโลก ต่อไปนั่นเอง

จึงขอย้ำเตือน เรื่องมานะ เรื่องอัตตา ที่ลึกซึ้งละเอียดกว่ากามนัก และขอให้ละลด หรือว่าเรียนให้รู้ยิ่ง รู้จริง แล้วก็ต้องพยายามตัดจริง ละจริง ลดจริง เราถึงจะได้เจริญต่อไปอีก เป็นรอบกว้าง และรอบลึกไกลไปอีก อย่างที่หาประมาณมิได้

๕ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

ชนะคือแพ้

การเอาชนะใจตนเอง นั่นคือการยอมแพ้ โดยตนเองต้องยอมแพ้ ที่คำว่า"แพ้"นั้นก็คือ แพ้ต่ออำนาจมานะอัตตา แพ้ต่อความคิดเห็นของตนเองที่มันยึดมันถือ เมื่อได้พิจารณาถึงความคิดเห็น พิจารณาความจริง พิจารณาสิ่งแวดล้อม พิจารณาทุกอย่าง เมื่อเป็นกุศลแล้ว แต่เราก็ยังยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่เรารู้ว่า เราควรจะต้องเลิก ต้องปล่อย ต้องวาง แต่เราก็ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง

ตัวไม่ยอม ตัวไม่แพ้ ตัวนั้นแหละคือตัวที่เอาชนะใจตนเองไม่ได้ ดังนั้น ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่น หรือผู้ที่ไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง แม้รู้ด้วยเหตุผล แม้รู้ด้วยสัจจะความจริง แม้จำนนต่อความถูกต้องแล้ว แต่เราก็ยังยึดมั่นถือมั่น เอาแต่ใจตนเอง ผู้นั้นแหละคือ ผู้ไม่ชนะใจตนเอง

๖ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

วางชอบ-วางชัง

ปรับปรุงความเห็น ปรับเปลี่ยนความเห็น จากที่เคยหลงชอบหลงชังในโลกียะ หรือหลงเฉยๆ ไม่มีปัญญา ไม่รู้ตัวกับโลกียะ จนมาเป็นผู้มีความเห็นไม่ชอบไม่ชัง และรู้ยิ่งรู้จริง ในความวางเฉยกับโลกียะ รู้อย่างเป็นอธิปัญญา อย่างเป็นญาณทัศนวิเศษ ทำความวางเฉย ไม่หลงชอบไม่หลงชัง ไม่หลงเป็นสุข ไม่หลงเป็นทุกข์กับโลกียะต่างๆ ที่บรรดาปุถุชน หรือแม้แต่เสขบุคคลในระดับต่ำที่ยังไม่รู้ เราก็ได้มารู้ ได้มาฝึกพิสูจน์ ได้มาเห็นความจริงว่า เราวางความชอบความชัง เราเลิกรสโลกียะ มาวางเฉย โดยมีความรู้ โดยมีปัญญาญาณ อย่างพอใจยินดี เห็นว่าเป็นความสงบชัดแจ้งได้

การเหนือโลก หรือ สภาพคนที่เหนือโลก มนุษย์เหนือโลก ก็คือลักษณะเช่นนี้แล

๘ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

ความสมบูรณ์ของชีวิต

ความสมบูรณ์พูนสุขของชีวิต คือ ความมีสุขภาพกายดี พอดี ความมีสุขภาพใจดี ผ่องใส สดชื่น เบิกบาน ไม่ได้หมายความว่า ความมีสมบัติมาก ความมียศสูง ความมีสรรเสริญเยินยอมาก ความหลงได้โลกียสุข เสพย์สมสุขสม อยู่เช่นนั้นไม่

ยิ่งมีลาภมาก ประสงค์จะได้ลาภมาเป็นสุข ได้ยศมาเป็นสุข ได้สรรเสริญ ได้สิ่งที่เราไปหลงสมมุติไว้ และก็ได้มาเสพย์สมเป็นสุข ยิ่งเป็นความทรมานชีวิต ยิ่งเป็นความหนัก ยิ่งเป็นความไม่มีสุขภาพทั้งกายและใจ แต่เมื่อผู้ที่รู้แจ้ง เข้าใจดี ได้มาปลดปล่อยความหลง ที่ไปหลงเสพย์โลกียสุขที่เขาสมมุติหลอก แล้วก็ไปหลงตามว่าได้มาเสพย์เป็นสุข ตั้งแต่อบายมุขก็ดี ลาภยศสรรเสริญก็ตาม รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสก็ตาม แม้แต่ในจิต ในอัตภาพต่างๆ

เมื่อปลดปล่อยมาได้เรื่อยๆ เราถึงจะเห็นความเบา ความไม่ต้องเป็นภาระ ความไม่ต้องเป็นหนักหนา ชีวิตไม่ถูกทรมานเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มาบริการตนเองที่เป็นทาส

เรามีแรงงาน เรามีกำลังวังชา แม้จะเหน็ดเหนื่อย เราก็สร้างสรรเป็นประโยชน์คุณค่า ให้แก่มนุษย์โลกอื่น ผู้อื่น สำหรับตนนั้น ก็ทำงานอย่างหมุนเวียน ได้สัดส่วนแข็งแรงดี เป็นคุณค่า เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นประโยชน์อย่างชัดแท้ เราก็แข็งแรง

ยิ่งจิตใจของเรา ไม่มีความอยากไม่มีความติด จิตใจของเราก็ไม่มีโหยหา ไม่มีอาวรณ์ ไม่มีความเดือดร้อน จิตใจก็เบิกบานแจ่มใสร่าเริง สุขภาพจิตดี และยิ่งทำบุญ เข้าใจในบุญ ยิ่งสร้างสรร เราเข้าใจในคุณค่าที่สร้างสรร ภาคภูมิในคุณค่าประโยชน์ของเรา โดยไม่จำเป็นต้องแย่งชิง ไม่จำเป็นต้องแข่งขัน ที่จะมีมากมีมายกับคนอื่น

เราจึงเป็นผู้มีสุขภาพกายสมบูรณ์ มีสุขภาพใจสมบูรณ์ นี้คือ ความสมบูรณ์ของชีวิต

๙ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

ผู้รักดี

ผู้รักดี ก็ย่อมพยายามพากเพียรทำดี ใฝ่เอาดี ผู้นั้นก็ได้ดี ความดีนั้นจะได้ ไม่ได้หมายความว่า มันมาเอง แต่หมายความว่า เราจะต้องพยายาม ทั้งๆที่รู้ว่าสิ่งใดดี ทำอย่างไรมันจะดีกว่า แต่เวลาจะทำจริงๆ กิเลสที่ไม่ให้ทำดี มันยังมีอยู่อีกไม่ใช่น้อย ซึ่งเราจะต้องใช้ความอุตสาหะวิริยะ พากเพียรกระทำ มันจึงจะได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ใฝ่ดี จะเอาดี จะทำให้ตนเป็นคนดี คนประเสริฐ คนพ้นทุกข์ เราจะต้องอุตสาหะพากเพียรจริงๆ

ถ้าเผื่อว่า เราไม่รู้ตัวว่า เราเองไม่ได้พ่ายแพ้ต่อกิเลส แม้แต่คำว่าตัวขี้เกียจ ตัวไม่อุตสาหะ ไม่วิริยะพากเพียร แม้เท่านั้นเอง เราจะรู้ดีแสนดีปานใด เราก็คือ คนไม่ได้ดีจนตาย

๑๓ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

ผู้สบาย กับ ผู้เป็นทุกข์

วันคืนแห่งความเป็นอยู่ของผู้ที่สบาย กับวันคืนแห่งความเป็นอยู่ของผู้ที่เป็นทุกข์ ซึ่งวันคืนต่างกันนั้น เพราะจิตใจของผู้ที่มีวันคืน แต่ละวันคืน ด้วยความไม่เข้าใจ ด้วยความไม่สนิทใจ ด้วยความปรารถนาอันไม่สบาย ผู้ที่มีวันคืนแห่งความสบายนั้น เป็นผู้ที่ทำสัมมาทิฏฐิ เป็นผู้ที่เข้าใจถูกต้อง เป็นผู้ที่เห็นความเป็นอยู่นั้นเจริญ

คำว่า "เจริญ" ไม่ได้หมายความว่าร่ำรวย มากมายไปด้วยปัจจัย ๔ หรือลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข แต่เป็นผู้เจริญ เพราะตนเองมีสุขภาพกายดี สุขภาพใจโดยเฉพาะดี มีการได้ละลดกิเลส และเป็นผู้แข็งแรง เป็นผู้ร่าเริงเบิกบาน เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาญาณ ในการรู้ว่าความมีคุณค่าของชีวิต ความมีประโยชน์ของชีวิตนั้น เป็นเช่นใด และพบตนเองว่า แต่ละวันคืน ตนเองนั้นเป็นผู้ที่มีความเจริญ มีความได้ลดกิเลสลงไปตามควร และเป็นผู้มีคุณค่า มีประโยชน์ อย่างพอใจยินดี มีฉันทะ

ส่วนผู้ที่มีวันคืนแห่งความทุกข์นั้น เป็นผู้ที่ไม่รู้จักชีวิต ไม่รู้จักทิศทางของชีวิต แม้จะเป็นผู้ที่ไม่รู้จักตัวเองว่าทุกข์ เป็นผู้เฉยๆ ก็จะเป็นผู้ที่รู้สึกว่า เป็นผู้เฉยๆ อย่างจืดชืดหรือเซ็ง และไม่เบิกบานร่าเริง เพราะฉะนั้น

ถ้าผู้ใดได้รู้สึกว่า ตนมีอารมณ์ หรือมีชีวิตดังกล่าวนี้ ก็จงรู้สึกตัว และปรับปรุงแก้ไขตนเองอย่างสำคัญ

มิเช่นนั้น เราก็จะเป็นผู้ตกต่ำ หรือ คือผู้ตกนรกนั่นเอง

๑๕ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

รู้ให้ชัด ตัดให้แรง

จะมีความพากเพียร ที่จะทำชีวิตของตนเอง ให้เป็นชีวิตที่มีคุณค่า มีความประเสริฐ และมีความเป็นอยู่สุข อย่างถาวรได้ ก็เพราะผู้เป็นเจ้าของชีวิต ย่อมต้องทำเอาเอง ผู้ใดมีผีหรือมีกิเลส ที่มันคอยมีอำนาจ ใช้อำนาจดึงถ่วง และเราก็แพ้อำนาจที่มันดึงมันถ่วงนั้น ไปตามใจผี ตามใจกิเลสมากไป ชีวิตก็ตกต่ำ หรือชีวิตก็ถูกดึงรั้งเอาไว้ ให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ นานเท่านั้นๆ

ผู้ใดสามารถชนะอำนาจผี ชนะอำนาจกิเลส ได้อย่างอุตสาหะวิริยะ ผู้นั้นก็สามารถที่จะนำชีวิตขึ้นมา เป็นชีวิตที่มีคุณค่า เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่พ้นทุกข์ถาวร ได้อย่างแท้จริง

ผู้ที่รู้สึกตัวว่า เราตกอยู่ใต้อำนาจ แต่เราก็หลงไป โมหะไป ตามกับอำนาจฝ่ายต่ำ หรืออำนาจที่เป็นแม้โลกียสุข ที่รู้สึกแม้แต่ว่า เราได้หลับได้นอนก็เป็นรสอร่อย ดังนี้เป็นต้น กิเลสเหล่านี้ จะทำให้เราชักช้า จะทำให้เราเสียเวลา ที่จะประสบผลสำเร็จที่เรามุ่งหมาย ได้อย่างนานช้า

เพราะฉะนั้น คนแข็งแรงและมีสติเต็ม มีปัญญาแหลมคม เห็นความจริงที่ชัด สามารถที่จะแข็งแรงต่อสู้ แม้เราจะเคยหลง ก็พยายามที่จะห้ำหั่นด้วยความสามารถ จึงจะเป็นผู้ที่เอาชนะได้ อย่างห้าวหาญแกร่งกล้า และสู่หลักชัยได้เร็วไว

จงพยายาม เป็นผู้ที่... รู้ให้ชัด และตัดให้แรง เสมอๆ เถิด

๑๖ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

อริยะ

สัจธรรมของความเป็นบุคคลเหนือโลก เป็นบุคคลที่จะเข้าใจความจริง อันเรียกว่า สัจธรรมแท้ๆนั้น เป็นของลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต ไม่ใช่วิสัยที่จะรู้กันได้ด้วยการคาดคะเน หรือตรรกะ เป็นเรื่องละเอียดวิจิตร รู้ได้เฉพาะบัณฑิตจริงๆ

เช่น ผู้ที่ได้ทำงานอริยะแล้ว เป็นการทำงานอย่างสร้างสรร ให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยที่ไม่ได้อะไรตอบแทนมา เป็นวัตถุก็ไม่มี เป็นการแลกสรรเสริญแลกยศก็ไม่มี โดยเฉพาะจิตวิญญาณ เราไม่ได้แลกเอาความโลภ หรือราคะ ใส่จิตมา อย่างนี้เป็นการไม่แลกเอาอะไรๆเลย มาให้แก่ตน เป็นการให้อย่างบริสุทธิ์ ได้กำไร เพราะเราได้ค่าได้คุณ เหล่านี้เป็นบุญแท้ๆ

เป็นเรื่องยากที่คนจะรู้ได้ แต่ว่าพวกเราก็ยังมีผู้เรียนและรู้ และได้พิสูจน์ แต่กระนั้นก็ดี ก็ยังมีคนที่ทำงานอริยะ แล้วยังขาดทุน ตรงที่ตนเอง และโกรธใส่จิต ขุ่นเคืองในจิต ได้แล้วยังไปหลงว่าตัวเสีย เพราะเห็นผู้อื่นขี้เกียจ เห็นผู้อื่นเอาเปรียบเอารัด ซึ่งเขานั่นแหละขาดทุน ตนเองก็ยังไปทำการขาดทุน ด้วยการไปริษยาคนขี้เกียจ ไปริษยาคนที่เขาโง่ เขาอวิชชา เพราะเขาทำความขี้เกียจเป็นความเลว ผู้นั้นไม่เห็นสัจจะจุดสำคัญ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ทำงานอริยะแล้ว จงฉลาด รู้ตนว่าได้เป็นอริยะ แล้วกำลังเป็นอริยะขาเป๋ เป็นอริยะขาหัก เป็นอริยะที่ทำร้ายตน โดยจุดหนึ่ง แม้ยังทำในจิตในใจ ก่อความโลภความโกรธ หรือก่อความริษยา ก่อความเข้าใจผิด อวิชชาให้แก่ตนอยู่ อย่ากล่าวไปถึง การที่เราไม่แลกสรรเสริญ ไม่แลกยศ ไม่แลกลาภ อยู่เท่านั้นเลย อันนั้นก็ชัดแล้ว ความเป็นอริยะ ที่จะรู้เท่าทันอย่างลึกซึ้งดังกล่าวนี้

จึงเป็นเรื่องลึกซึ้งจริง คัมภีรา เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต ไม่ใช่วิสัยที่จะรู้ได้ด้วยการคาดคะเน หรือตรรกะ เป็นเรื่องที่ละเอียดวิจิตร เป็นเรื่องของบัณฑิตเท่านั้น ที่จะรู้ได้ตาม รู้ได้เฉพาะบัณฑิตเท่านั้น

ขอให้ผู้ที่ได้ทำงานอริยะแล้ว จงพยายามฝึกตน และทำความแยบคาย ให้เข้าใจความจริง หรือสัจธรรมดังกล่าวนี้ ให้ชัดเถิด แล้วเราจะภาคภูมิในใจ จะเป็นผู้อาจหาญแกล้วกล้า เป็นผู้ที่มีบุญมีคุณค่าอยู่ในโลก เป็นตัวอย่างแก่คนทั้งปวง ตราบนานเท่านาน

๑๗ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

แง่หนึ่งของความเจริญในธรรม

ความเจริญในธรรม แง่หนึ่งของเรา ซึ่งสามารถจะสังเกตได้ คือความไม่เฉื่อยเนือย หรือไม่รู้สึกเบื่อๆ ในหมู่ฝูงที่เป็นนักธรรมะ ในกิจกรรมที่เป็นคุณธรรม โดยเฉพาะ ยิ่งในทั้งอาจารย์ เพื่อนฝูงที่มีคุณธรรมด้วยกัน เราจะไม่เบื่อๆ ไม่เฉื่อยๆเนือยๆ แต่จะรู้สึกอบอุ่น จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าสดชื่น เพราะฉะนั้น ถ้าหากผู้ใด สังเกตเห็นอาการที่เรารู้สึกเฉื่อยเนือย และรู้สึกเซ็งๆเบื่อๆ ไม่อบอุ่น เหี่ยวๆห่อๆ กับมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ตั้งแต่บรรดาคณาจารย์ พี่ๆเพื่อนๆที่เป็นนักธรรมะ ที่เป็นหมู่กลุ่มสพรหมจรรย์ ไปจนกระทั่ง ถึงเนื้อหาสาระธรรมะ

ถ้าเรารู้สึกเบื่อ รู้สึกเฉื่อย รู้สึกเนือย รู้สึกจะไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่าอบอุ่นพอใจ แล้วละก็ จงรู้อาการเถิดว่า เราตกต่ำแล้ว ในขณะนั้นๆ เรากำลังจะเสื่อมลงๆ ขอให้แก้ไขโดยรีบด่วน เหมือนมีไข้ เหมือนถูกโรคเข้ารุกราน ปรับเปลี่ยนให้เป็นผู้ที่ยินดีในธรรม เป็นผู้ที่ไม่เบื่อสิ่งที่ไม่ควรเบื่อ เพราะนักธรรมะ หมู่มิตรสหายที่เป็นธรรมะ เป็นผู้ที่อยู่กับธรรมะ ตั้งแต่ครู อาจารย์ เพื่อนฝูง จนกระทั่งเนื้อหาสาระธรรมะ ถ้าเราเบื่อสิ่งนี้ เฉยเมย เบื่อ เฉื่อยเนือยต่อสิ่งนี้เสียแล้ว นั่นมันคืออะไร

ขอให้วิเคราะห์วิจัย และรู้สึกตัว สะดุ้งต่ออาการเช่นนี้ของตนๆ ให้มาก แล้วเราจะไม่มีอาการโรคที่ร้ายแรงนี้ ทำให้เรา จนกระทั่ง ตายไปจากธรรมะได้เลย

๑๘ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

อีก อีก อีก

คนผู้ที่เชื่อแต่ทิฏฐิของตนเอง ยึดแต่ความเห็นของตนเอง ผู้นั้นก็คือ คนๆนั้นเอง จะชั่วหรือจะดี ก็เท่าผู้นั้นเอง

ผู้ที่จะเจริญ ใฝ่แสวงหาเพื่อที่จะเจริญ เมื่อมาพบตัวอย่างคนที่ประเสริฐ เช่น พระพุทธเจ้า เช่น พระมหาสาวก และมาพบคำสอน เหตุผลที่ดี จึงมาศรัทธาในคนเช่นพระพุทธเจ้า คนเช่นพระมหาสาวกทั้งหลาย และมีปัญญาพอฟังคำสอนต่างๆ เห็นเหตุเห็นผล เห็นความจริง รู้ความจริง จึงมาศรัทธาและมาพิสูจน์ มาเอาตามปฏิบัติตาม จึงได้เปลี่ยนความเห็น ล้างความเห็นออกมาเรื่อยๆ จนได้มาพบความดี ความประเสริฐ

แต่แล้ว ความเห็นที่มีกิเลสซ้อนเล่นตัว เล่นงานเข้า ก็จะทำให้เกิดความเห็นยึดดี เท่ากิ่งก้อยของตัวเอง ซ้อนเข้าไปอีก ผู้ที่ไม่มากไปด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระเถระ ในพระผู้ปานกลาง หรือในพระผู้ใหม่ เป็นความเสื่อมของอุบาสกของอุบาสิกา ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เตือนอุบาสกอุบาสิกา ได้อย่างสำคัญ

ผู้ไม่ฟังธรรมเป็นความเสื่อม ผู้ไม่เข้าเยี่ยมเยียนใกล้พระเป็นความเสื่อม ผู้ไม่เพิ่มในอธิศีล เป็นความเสื่อม สิ่งเหล่านี้เป็นสัจจะ ผู้ที่หลงตน หลงความเห็น หลงตัวเอง เสื่อมได้อย่างเร็ว เสื่อมได้อย่างง่ายดาย

จึงขอเตือนผู้ปรารถนาดี ที่จะมาเปลี่ยนความเห็น อย่าหลงความเห็น ที่เพิ่งกระเถิบไปได้เท่ากิ่งก้อยเป็นอันขาด เพราะความเห็นของตนนั้น ยังจะต้องเปลี่ยนไป ให้เป็นทิฏฐิสามัญญตา กับพระมหาสาวกที่ชื่อว่า "อรหันต์" ทั้งสิ้น กับพระพุทธเจ้า ยังไม่ใช่ขั้นตอน ที่จะมีความเห็นถึงเช่นนั้น ได้ง่ายๆ

ขอให้สังวรให้มาก เรื่องความเห็นของตนที่เพิ่งได้ เพิ่งได้ยังไม่ใช่ความเต็ม ยังไม่ใช่ความถูกต้องอันครบครัน

จึงต้องสังวร สำเหนียก และติดตามใฝ่ศึกษา ค้นคว้าพิสูจน์ อีก อีก อีก และอีก จนถึงที่สุดให้ได้

๑๙ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

ดีเท่านั้น

คนเราเกิดมา ทำทุกสิ่งสารพัดจะหัด สารพัดจะทำให้เป็น เกินสัตว์ใด กว่าสัตว์ใด ที่มันจะทำได้ แต่สุดท้าย คนผู้รู้ ก็ต้องมาลดการกระทำที่เปล่าดาย ลงไปเรื่อยๆ เหลือเพียงการกระทำความดีเท่านั้น ให้เป็น และให้เก่งที่สุด เพียงอย่างเดียว

๒๐ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

ศรัทธา

ผู้ที่มีศรัทธา คำว่า"ศรัทธา" ก็ยังมีน้ำหนัก ศรัทธาแปลว่าความเชื่อ เชื่อในเบื้องต้น เราเชื่อด้วยฟัง เชื่อด้วยได้ยินมา เชื่อด้วยเห็นด้วยตา เชื่อด้วยรู้ในขั้นต้น ว่าเป็นความเชื่อถือ ซึ่งความเชื่อในระดับต้น ในระดับกลาง ในระดับปลาย มันยังมีความซ้อนอยู่อีกตั้งหลายชั้น และในความเชื่อนั้น เมื่อผู้ใดได้พิสูจน์เพิ่มขึ้น ได้ปฏิบัติเพิ่มขึ้น เมื่อปฏิบัติพิสูจน์ทดสอบ จนตนรู้ตนเห็น ตนได้เป็นตามไปบ้าง เราก็จะเพิ่มความเชื่อนั้นขึ้นไปอีก เรียกว่าศรัทธินทรีย์ เป็นศรัทธาที่มีอำนาจเพิ่มขึ้น แม้เราจะมีศรัทธาความเชื่อถือเพิ่มขึ้น มีอำนาจเพิ่มขึ้น ก็ยังมีน้ำหนักต้นกลางปลาย ในความเชื่อขั้นศรัทธินทรีย์ อยู่อีกหลายชั้นหลายเชิง และเมื่อยิ่งผู้นั้น ได้ปฏิบัติพิสูจน์ไป จนกระทั่งถึงแก่นถึงที่สุด ถึงสภาพที่สูงยิ่งเห็นจริงเป็นจริง เกิดปัญญาญาณ เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ ก็ยิ่งจะเป็นคนเชื่อมั่น เป็นศรัทธาพละ เป็นความเชื่อที่มีกำลังสูง มีอำนาจสูง แนบแน่น แน่วแน่ ปักมั่น หรือมั่นคงเป็นที่สุด เป็นความเชื่อเพราะความจบ เป็นความเชื่อเพราะความจริง เป็นความเชื่อเพราะได้เป็นได้มี ได้ถึงที่สุดแห่งความดีความประเสริฐ นับเป็นอันยอด ดังนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจว่าเราเชื่อ ก็อย่าเพิ่งนึกว่า ความเชื่อนั้นอย่างงมงาย หรือว่านึกว่าความเชื่อนั้นจะเป็นจริง โดยไม่พิสูจน์ โดยไม่ทดสอบ โดยไม่ประสบผล ให้ถึงแท้ถึงจริงเป็นที่สุด ซึ่งเราจะรู้ความสุด หรือความจริง จบนั้น ได้ด้วยตนเอง

ขอให้ได้ประสบ ได้พบสัจจะความจริง ที่เป็นความจริงอันที่สุด อันที่จบนั้น แต่ละขีดแต่ละขั้น แต่ละเรื่อง แต่ละตอน ที่เราเองเรียนรู้ และก็พิสูจน์เอง ของทุกๆคนเทอญ.

๒๒ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

โพชฌงค์ ๗

การปฏิบัติโพชฌงค์ ๗ ซึ่งเป็นทฤษฎีสำคัญอันเอกของศาสนาพุทธ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ โพชฌงค์ ๗ ก็ไม่เกิด เพราะพระพุทธเจ้าเกิด โพชฌงค์ ๗ หรือ การก้าวไปสู่ความสำเร็จ ๗ ก้าว จึงเกิด หนึ่ง. มีสติ การมีสตินั้น ไม่ใช่การปล่อยปละละเลย สำคัญยิ่งอื่นๆ ก็จะเกิดตาม ถ้าเราคุมสติและกระทำก้าวแรก คือ สติให้เป็น และก้าวที่สองให้ตามมา ก้าวที่สามให้เกิดหนุนเนื่อง เมื่อมีสติ รู้ตัวจริงๆ ในทุกขณะ

แม้ขณะที่เราเป็นผู้ที่ซ้ำซาก เราจะต้องพยายามรู้ตัว ฝึกตื่นฝึกรู้ตน อย่าปล่อยปละละเลย อยู่ตามความเคยชิน เมื่อมีความตื่น มีสติ มีธัมมวิจัย หรือมีสติ มีสัมปชัญญะ ให้เกิดการใช้ปัญญาวิเคราะห์ ตรวจตราไตร่ตรอง กายกรรมวจีกรรมมโนกรรม พร้อมกับสิ่งที่เราสัมผัสสัมพันธ์อยู่ทุกขณะ มีความเพียรที่จะเป็นแรงหนุนเนื่อง ให้เราใฝ่กระทำ และได้กระทำเสมอๆ ก้าวต่อไปเป็นปีติ ก้าวต่อไปเป็นปัสสัทธิ ก้าวต่อไปเป็นสมาธิ และก้าวที่ ๗ ก้าวเป็นสูงสุดของโพชฌงค์ ๗ ก็ย่อมถึงได้เสมอ เพราะเราได้ศึกษาทั้งทฤษฎี ที่ประกอบด้วยโพชฌงค์ ๗ และเราทำอยู่ เป็นมรรคองค์ ๘ อยู่ตลอดเวลานาที การก้าวหน้าของโพชฌงค์ ๗ จึงจะก้าวจริง และก้าวได้อยู่ตลอดเวลา ตลอดขณะ

นั่นคือ สิ่งที่เราควรสำเหนียกควรสังวร ให้เป็นการก้าวแห่งพุทธะ อย่างที่จะพาเราไปเกิด สู่ความเป็นในอริยะได้

๒๓ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

คนที่มีน้ำใจ

จุดมุ่งหมายปลายทาง ของผู้หวังความประเสริฐ มีประโยชน์พร้อมกับเป็นอยู่อย่างเป็นสุข คือ ผู้ที่จะละความโลภโกรธหลง ซึ่งเป็นภาษาหลักๆนั้น โดยลักษณะ ก็จะเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณ ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา เป็นคนที่มีน้ำใจ ไม่ดูดาย ไม่เกียจคร้าน เป็นผู้ที่มีกะจิตกะใจ เมื่อเห็นผู้อื่น ที่ตกทุกข์ที่ลำบาก ก็เป็นผู้ที่มีกะจิตกะใจไม่ดูดาย เป็นน้ำใจ เป็นความเสียสละ ซึ่งเป็นสภาพที่พิสูจน์ ความไม่เห็นแก่ตัวตน ความหมดตัวหมดตน ซึ่งเดายาก

คนที่เดาว่า ถ้าเผื่อว่า ผู้ที่หมดกิเลสโลภแล้ว จะเป็นคนที่อยู่เฉยๆ ไม่กระทำอะไร ไม่มีจิตปรารถนาจะทำอะไร นั้นเป็นเพราะ การคาดคะเนของคนธรรมดาปุถุชน ที่เขาทำงานขยันขวนขวาย ไม่ดูดายที่จะสร้างสรรนั้น เขากระทำด้วยแรงโลภ เขากระทำด้วยความโลภ เมื่อเขาคะเนว่า แล้วถ้าเผื่อว่า เขาไม่มีสิ่งที่จะโลภอยากได้อะไร เขาก็จะหมดแรง และเขาก็จะไม่ทำอะไร นั้นคือการคาดคะเนด้นเดา ส่วนความจริงนั้น ขอให้พิสูจน์ และมันจะสมความจริง ตรงที่ว่า

เมื่อผู้ที่หมดความโลภ หมดความเห็นแก่ตัวตนแล้ว ผู้นั้นก็จะเห็นแก่ผู้อื่นเป็นธรรมดา และจะสร้างสรรให้แก่ผู้อื่น เป็นธรรมดา จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลช่วยเหลือ ประสงค์ให้ผู้อื่นเป็นสุข เพราะเราเอง เราก็รู้ว่าเราสุข เราเองเราก็มีใจพอ มีใจสันโดษแล้ว มีความสบายยิ่งแล้วจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นผู้อื่นทุกข์ด้วยความหลง ด้วยความไม่รู้ อวิชชา จึงเกิดเมตตากรุณา มุทิตาอุเบกขา ซึ่งจะกระทำครบครัน อุเบกขาด้วย เพราะกระทำอย่างไม่รับอะไรตอบแทน ได้หมดตัวหมดตนที่แท้จริง

ดังนั้น ก็ขอให้ผู้ที่ยังไม่หมดตัวหมดตน ได้ทำบทฝึกหัดที่จะเป็นผู้ไม่ดูดาย เป็นผู้เอื้อเฟื้อ เป็นผู้ฝึกฝน เป็นการสละตัวตนไปเรื่อยๆ เพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประเสริฐ ผู้มีคุณค่าประโยชน์ และเป็นผู้ที่จะหมดกิเลส เป็นผู้สุขสบายเป็นที่สุด ไปพร้อมๆกัน

อย่าเข้าใจผิดว่า เราจะอยู่เฉยๆ คือผู้ว่าง คือผู้เบา คือผู้หมดกิเลส ไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ตามการคาดคะเนด้นเดา เป็นอันขาด เพราะฉะนั้น ถ้าฝึกหัดอบรมให้สอดคล้อง เราก็มีการงาน มีการขยันหมั่นเพียร เป็นคนมีกะจิตกะใจ ไม่ดูดาย เป็นผู้ที่ได้สร้างสรรคุณค่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งส่งเสริม ในการละตัวตน ล้างตัวตน ไม่หยุด ไม่ติด ไม่เสพย์ เป็นการสอดซ้อน ส่งเสริมหนุนเนื่อง ทำให้เราหลุดพ้นจากตัวตน อันเป็นสิ่งลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่ละเอียดประณีต ไปพร้อมๆกันได้

ขอให้มีสติสัมปชัญญะ และระลึกรู้ โดยนัยะประการอย่างนี้ เพื่อปฏิบัติประพฤติ ให้เราได้เดินทางไปสู่ความสูงสุด ได้เร็วไวยิ่งขึ้นด้วยเทอญ.

๒๔ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

มัชฌิมา และ สัมมา

สิ่งสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นักปฏิบัติธรรม สาวกของท่านจะต้องรำลึก และตรวจตรา พร้อมกับประกอบ หรือกระทำ ประมาณให้พอดี ให้ลงตัวที่สุด ก็คือ กระทำให้เป็นมัชฌิมา และสัมมา

"มัชฌิมา" ก็คือ จะต้องรู้กำลังแห่งตน ตรวจตน กระทำให้แก่ตน ให้พอเหมาะพอดี อย่าให้เคร่งจัดเกินไป ทำแข็ง ทำสูงเกินตัว นี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าเผื่อว่า ทำจัด ทำแรง ทำสูงเกินตัวไปแล้ว เราจะไม่ได้ และจะเข็ดขยาด และจะลำบาก ถ้าทำอ่อนเกินตัว ทำน้อยเกินตัว ไม่มัชฌิมา ไม่พอดี ก็ไม่ค่อยจะเกิดผลอีก เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะจัดแจง ประกอบ และประมาณให้พอเหมาะพอดีแก่ตนนั้น จึงต้องตรวจตรา แล้วกระทำให้สมตัวสมตน ให้ดีจริงๆ จึงจะเป็นการปฏิบัติที่สบาย ไม่ลำบากลำบนแก่ตน และเจริญ จะเบิกบานแจ่มใส แต่ว่าการปฏิบัตินั้น ไม่ใช่ว่าจัด หรือประกอบประมาณให้แก่ตนเองอย่างย่อหย่อน แล้วเราบอก แล้วเราจะสบาย ก็ไม่ใช่

ความเจริญนั้น อยู่ที่ความพอดี คือ ก็ได้เคร่งครัดนะ อยู่ในภูมิ อยู่ในขนาดของศีล ของกรรมฐาน ที่อยู่ในระดับต้องพยายาม ต้องพากเพียร ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ มันทำง่ายๆ เราก็ไปเรื่อยๆ แต่เสร็จแล้วก็ชักช้า หรือเสพย์ติดได้ง่าย เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีสภาพที่ต้องใช้วิริยะ ต้องใช้ความพยายามอยู่เสมอ เราจึงเป็นผู้ตื่น เป็นผู้ที่ขวนขวาย เป็นผู้ที่อยู่ในธรรมะส่วนที่เป็นกุศล

ส่วนอีกคำว่า "สัมมา" นั้นก็คือ การกระทำให้พอเหมาะพอดีเช่นกัน คือจะต้องเรียนรู้ธรรมะ เข้าใจสิ่งที่มันประมาณ และประกอบแล้ว ได้พอเหมาะพอดี ทั้งกรรมกิริยา กายก็ดี วาจาก็ดี จิตใจก็ดี และอะไรอื่นๆ ที่ประกอบเป็นกาโย เป็นสิ่งที่ประชุม ทั้งอิริยาบถ ความประพฤติต่างๆ ที่เราจะประมาณ ให้ดูเหมาะดูสม มีประโยชน์สูง ประหยัดสุด ทุกกาลเทศะ จึงจะเกิดความชำนาญ เกิดความรู้โดยอัตโนมัติ จึงจะเป็นผู้ที่มีประโยชน์ตนและท่าน อย่างสมบูรณ์ และเจริญเร็ว

มัชฌิมา และสัมมานี้ จึงเป็นหลักใหญ่ เป็นหลักสำคัญของพระพุทธองค์ ที่เราจะต้องสังวรระวัง และตรวจตรา กระทำอย่างแท้จริง สำเหนียกสังวรจริงๆ

กว่าจะรู้จักมัชฌิมา และสัมมาดีที่สุด และกระทำได้จบสิ้นเป็นที่สุดนั้น ไม่ใช่ง่าย

๒๕ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

เลือกเฟ้นสิ่งที่ดีที่สุด

ผู้ใดที่มีใจอันแน่นอน มั่นคง ที่สามารถรู้ สามารถทำความตัดสิน ในสภาพที่เราเลือก เมื่อตัดสินสิ่งที่เราเลือกได้แล้ว ผู้นั้นจะสามารถกระทำ ปฏิบัติไปได้เร็ว ไปได้ก้าวหน้า เพราะไม่ต้องลังเล ไม่ต้องคลางแคลงสงสัย อยู่ที่แรงความเพียร ความตั้งใจของเราเท่านั้น ว่ามีมากหรือน้อย ที่จะเป็นแรงหนุนนำ ให้แก่ผู้นั้น เดินไปได้เร็วยิ่งๆขึ้นอีก เพราะฉะนั้น ในปัญหาแรก สำหรับผู้ที่ยังลังเลสงสัย ยังไม่แน่นอน ยังกลับไปกลับมา ยังวกวน ผู้นั้น ถึงแม้เดินก็เหมือนไม่เดิน ถึงแม้ก้าวก็เหมือนไม่ก้าว เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุด ที่เราจะต้องใช้ปัญญาอันยิ่ง เท่าที่เรามี หัดตัดสินใจให้แน่นอนเด็ดขาด เลือกเฟ้นสิ่งที่ดีที่สุด ที่เราจะเลือกได้ แล้วก็ใช้ความเพียร เป็นเครื่องประกอบในการเดินทาง หรือปฏิบัติก้าวหน้าให้แก่ตน

เราจึงจะเป็นผู้เจริญในทางธรรม และ สบายใจ เป็นที่สุด

๒๖ มีนาคม ๒๕๒๗


 

 

กรรม

ผู้ใดศึกษาธรรมะด้วยสัมมาทิฏฐิ ได้พิสูจน์ธรรมะด้วยมรรคองค์ ๘ ได้ประพฤติจนถึงภาวนามัย มีผลแก่ตนๆ จนสามารถแจ้งในสัจธรรมพอสมควรแล้ว รู้นรกรู้สวรรค์ รู้บาปรู้บุญ เชื่อในกรรม ผู้นั้นๆ ย่อมสังวรระวังในกรรมนั้น เพราะกรรมเป็นอันทำ กรรมเป็นของจริง กรรมเป็นความจริง ผู้ใดทำกรรมแม้น้อยแม้นิด ก็ย่อมเป็นของจริง

นรก สวรรค์ บาป บุญ ขึ้นอยู่ที่กรรม ผู้ทำกรรมเป็นบาปย่อมเป็นนรก ผู้ทำกรรมเป็นบุญย่อมเป็นสวรรค์ นรกมีจริง สวรรค์มีจริง ผู้ใดทำ ก็เป็นทายาทของกรรม ทำชั่วย่อมได้บาปได้นรก ทำดีย่อมได้บุญได้สวรรค์ ผู้ซึ่งกระทำจริงแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่มีแล้ว ผู้ระวังดีแล้ว ย่อมละบาป ละนรก

ผู้ระวังให้จริง สังวรด้วยสติปัฏฐาน ๔ ด้วยโพชฌงค์ ๗ อย่างยิ่ง แยบคายขึ้นเท่าไร สวรรค์ย่อมเป็นของผู้นั้นๆจริง เราเป็นทายาทของกรรม กรรมเป็นกำเนิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัยอยู่ เราจะได้ดี ได้ชั่ว เราจะถึงสวรรค์ ถึงนิพพาน ก็ด้วยกรรม

ดังนั้น การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคองค์ ๘ อย่างที่เราได้เข้าใจกันแล้ว จึงเป็นการสั่งสมกรรม เป็นการกระทำ ด้วยความเพียรของแต่ละบุคคล ที่จะทำสวรรค์ หรือทำนรก หรือทำนิพพาน ให้แก่ตนแก่ตนเอง เป็นกัมมัสสกตา ของตนๆ จริงๆ เท่านั้นๆ

๒๙ มีนาคม ๒๕๒๗


สมณะโพธิรักษ์