คาถาธรรม ๑๕

การดำเนินไปดี

คนผู้ยังมีชีวิตอยู่ ก็คือผู้ที่ยังดำเนินไปอยู่ การดำเนินไปดี ก็คือผู้มีปัญญา มีความมุ่งมั่น มีความเพียรพยายามอุตสาหะ แล้วก็ดำเนินไป

ส่วนผู้หยุดอยู่ หรือผู้ท้อถอยนั้น คือผู้หมดกำลัง ผู้ไร้ปัญญา ผู้ไม่มีความพากเพียร

คนสองชนิดนี้ ไม่ต้องกล่าวให้ยาก แม้ความรู้สามัญ ก็เป็นที่รู้กันแล้ว

ดังนั้น เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ควรคำนึงถึงการดำเนินไป หรือการหยุดอยู่ การท้อถอยถดถอยของชีวิตให้มาก ถ้าชีวิตของเรายังมีลมหายใจ แล้วทำไมเราจึงเป็นชีวิตที่หยุดอยู่ หรือถดถอยให้เสื่อมต่ำ ให้ตกสู่ที่ไม่เจริญอีกเล่า

๑ กรกฎาคม ๒๕๒๙


 

ยิ่งสงบ ยิ่งเบิกบาน

บุคคลผู้มีความสงบในจิต ที่ปฏิบัติดีแล้วชอบแล้ว ตามทฤษฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ยิ่งสงบเท่าใด ก็ยิ่งจะมีความแคล่วคล่องว่องไว คือผู้ที่ยิ่งสงบ ก็ยิ่งเป็นผู้ที่ไม่หยุดอยู่ เป็นผู้ขยัน เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบานร่าเริง กระปรี้กระเปร่า เบากาย เบาใจ

ส่วนผู้สงบในทฤษฎีอื่นลัทธิอื่นนั้น ส่วนมากจะสงบอย่างเป็นผู้ที่มีความหนัก ความหนึด ความเนือย ยิ่งสงบก็ยิ่งหยุดอยู่ ยิ่งจะไม่ขับไม่เคลื่อน ยิ่งจะเป็นผู้ที่ไม่มีกิจกรรม ไม่มีกิริยา เป็นการสงบประเภทไม่ลึกซึ้ง ชั้นเดียว ดังนั้น ประโยชน์คุณค่าของความสงบสองชนิดนี้ จึงมีนัยที่ต่างกัน

ผู้ปฏิบัติถูกปฏิบัติตรง ตามทฤษฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะสังเกตได้ว่า เรายิ่งสงบ เรายิ่งเบิกบาน เรายิ่งสงบ เรายิ่งรู้ต่อโลกต่อสัมผัส ต่อสังคมมนุษยชาติ ยิ่งเป็นผู้ที่จะมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่ชัดแท้

ดังนั้น ผู้ที่สงบเช่นนี้ จึงเป็นผู้ที่เป็นประโยชน์ตนอย่างยิ่ง และเป็นประโยชน์ท่านอย่างที่สุด

๔ กรกฎาคม ๒๕๒๙


 

 

อิสรเสรีภาพ อย่างเต็มรอบ

มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งสิ้นของศาสนานั้น แม้พระอานนท์จะได้อุทานว่า เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของศาสนา ก็ยังถูกพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำราบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีนั้น เป็นทั้งสิ้นของศาสนา เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ จริงๆ

ทำอย่างไร เราจะเข้าใจลึกไปถึงคำว่า มิตตัง ทำอย่างไร เราจะเข้าใจลึกไปถึงคำว่า สหายะ ทำอย่างไร เราจะเข้าใจลึก และรู้รอบไปกับคำว่า สัมปวังโก

มิตโตก็ดี สหาโยก็ดี สัมปวังโกก็ดี มีลักษณะที่แตกต่างกัน ละเอียด ทั้งกว้างลึกต่างกัน ผู้ที่มีสภาวะ ได้สัมผัส เรียนรู้ปฏิบัติประพฤติ จะเข้าใจถึงมิตตะ มิตโต ที่หมายเอาตนนั่นแหละเป็นหลัก เรื่องของจิตใจของตนเป็นหลัก ที่มีความเป็นมิตร ตนเองเป็นมิตรกับใครๆก็ได้ ใครๆก็เป็นมิตรของเรา สหาโย เราร่วมกับใครก็ได้ ใครๆก็ร่วมกับเรา ในสิ่งส่วนที่เป็นประโยชน์ เป็นคุณค่าอย่างแท้จริง และสังคมสิ่งแวดล้อมทั้งหมด จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามัคคี สมานฉันท์ มีเมตตากายกรรม มีเมตตาวจีกรรม มีเมตตามโนกรรม มีลาภธรรมิกา มีการเฉลี่ยลาภ ตั้งแต่ลาภที่เป็นวัตถุ จนกระทั่งถึงลาภที่เป็นธรรมะ

มีศีลสามัญตา มีทิฐิสามัญตา มีความเห็นตรงกัน มีอุดมการณ์ตรงกัน มีจุดมุ่งจุดหมายจุดเดียวกัน ตรงขึ้น ตรงขึ้นทุกวัน เป็นสัมมาทิฏฐิ และมีศีลประพฤติตามขั้นตอน ผู้ก่อน ผู้หลัง ผู้เบื้องต้น ผู้ท่ามกลาง ผู้บั้นปลาย เข้าใจในศีล อธิศีล อริยกันตศีล ปาริสุทธิศีล และถึงที่สุดซึ่งอเสขศีล

ดังนั้น ผู้ถึงซึ่งมิตโต-สหาโย-สัมปวังโก และเป็นผู้ปฏิบัติได้ทะลุ ครบรอบล่วงส่วน ในสิ่งทั้งหมดนี้ ก็จะได้เห็นถึงหมู่ชนที่เป็นสังคม ที่เป็นหมู่กลุ่มอันสมบูรณ์พร้อม ซึ่งความสมานสามัคคี อยู่อย่างสันติ และมีภราดรภาพ มีสมรรถภาพ อันสมบูรณ์ด้วยบูรณภาพทุกผู้ มีอิสรเสรีภาพอย่างเต็มรอบ

๕ กรกฎาคม ๒๕๒๙


 

 

ผู้มีธรรมสมควรแก่ธรรม

ตามทฤษฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ดูง่าย แต่จะปฏิบัติประพฤติ เพื่อให้เกิดเพื่อให้เป็นนั้นยาก โดยเฉพาะ กว่าเราจะเกิดสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ อยู่อย่างต่อเนื่อง มีความเพียร ที่เกิดความต่อเนื่องได้ เรียกว่า เกิดสาตัจจะนั้น ไม่ใช่ของง่ายเลย ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะยากแสนยากปานใด เราก็จะต้องรู้ เข้าใจความหมายทั้งปวงให้ชัด ด้วยการเรียนรู้ทางบัญญัติ หรือปริยัติให้พร้อม แล้วก็ฝึกตน ให้มีสติสัมโพชฌงค์ ให้มีธัมมวิจัย เพียรกระทำด้วยวิริยะ ด้วยโยคะ ด้วยติกขะ เพื่อให้เกิดสาตัจจะ ให้เกิดความเพียรเผากิเลส ที่ต่อเนื่องอยู่เสมอ

เมื่อเราเรียนรู้ว่า สติสัมโพชฌงค์นั้น แตกต่างจากสติสามัญ หรือแตกต่างจากความไร้สติอย่างไร เราก็จะต้องพยายามสร้างให้เกิด ด้วยความเพียร สร้างสติสัมโพชฌงค์ให้เป็น และตัวจักร คือธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ก็จะต้องเดินบทอยู่เสมอๆ เพียรให้เกิดคุณค่า มีโยคะ มีวิริยะ มีติกขะ ที่จะต้องให้เกิดธัมมวิจัย ให้เกิดผลเป็นปีติ และปัสสัทธิ ให้ได้อยู่เสมอๆ เราจึงจะได้ชื่อว่า ผู้สั่งสมสมาธิสัมโพชฌงค์ หรือผู้สร้างสัมมาสมาธิ เกิดได้ผลอันเป็นสัมมาญาณ และสัมมาวิมุติ หรือจิตเจโตของเราจะเกิดฌาน จนถึงขั้นอุเบกขา จิตจึงจะเกิดตาม

เมื่อผลเกิด เราจึงจะรู้ว่า เรามีความพ้นทุกข์ หรือมีความเจริญ ด้วยญาณด้วยปัญญา ที่จะต้องตรวจสอบ ตรวจทาน พิจารณา เห็นความจริงตามความเป็นจริง เมื่อได้ฟัง เมื่อได้ศึกษา ก็ต้องฟังอย่างใส่ใจ ฟังอย่างพิจารณา ติดตามเอาเนื้อหาให้ชัดเจน แล้วพากเพียรปฏิบัติตามด้วยโยนิโสมนสิการ

เราจึงจะได้ชื่อว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ เป็นผู้ปฏิบัติธรรม มีธรรมสมควรแก่ธรรม

๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๙


 

 

หมั่นตรวจดูผลการปฏิบัติ

พ่อค้าผู้ทำการค้า เมื่อขายสินค้าได้แล้ว ก็ย่อมตรวจรายได้ หักกลบลบหนี้กับทุนรอน ค่าใช้จ่าย และตรวจส่วนเหลือส่วนเกิน ที่เรียกว่ากำไรอยู่ทุกเมื่อ เพื่อจะได้รู้ว่า การค้าของตนนั้น มีผลกำไรหรือขาดทุน ฉันใด นักปฏิบัติธรรมก็ต้องตรวจตราในการปฏิบัติธรรมของตน เพื่อจะได้รู้ทุน รู้กำไรของตนๆ เช่นเดียวกัน

การค้า เมื่อตรวจดูผลที่ตนทำอยู่เสมอ เพื่อความเจริญ เพื่อรู้จุดบกพร่องผิดพลาด การปฏิบัติธรรม ก็ต้องตรวจตรา ดูการปฏิบัติ ดูผลปฏิบัติ ว่าเราปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติได้ผล เจริญดีหรือไม่เจริญเลย หากตรวจเสมอๆ เราก็ยิ่งจะช่ำชอง ยิ่งจะไม่ผิดพลาด และมีการไหวทันต่อการผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นนั้นได้ง่ายและเร็ว ความเจริญจึงจะไม่ชะงักงัน และเมื่อรู้ว่าเราปฏิบัติดีแล้ว เดินทางถูกแล้ว มีมรรคมีผลแล้ว ผลได้เหล่านั้น จะทำให้เรามั่นใจ มีกำลังใจ ปีติ ยินดี และเชื่อมั่นในการปฏิบัตินั้นยิ่งขึ้น

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙


 

 

ผู้เบิกบานอยู่เสมอ

ผู้รู้จักความจริงอย่างฉลาด อย่างน้อยที่สุด ก็ทำตนให้เป็นผู้เบิกบานอยู่เสมอ จิตใจของตนเอง ตรวจตรา สอดส่องดูเสมอ ถ้ามันไม่เบิกบาน เราก็จะต้องปรับปรุงให้มันเบิกบาน ให้ได้ตลอดเวลา นั้นเป็นกำไรชิ้นแรกของผู้ฉลาดในความจริง

ใจเราดำ ใจเราคล้ำ ใจเราพอกไปด้วยความอาฆาตมาดร้าย ความแก้แค้น หรือแม้แต่ริษยา หรือที่สุด แม้แต่เพียงความไม่พอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือในใครๆก็ตาม เราจะขจัดออก ให้รู้อาการนั้นว่ามีอยู่ ถ้าตามเหตุได้ยิ่งดี และพิจารณาให้เห็นจริงว่าอยู่อย่างไม่มีภัย อยู่อย่างไม่มีโทสมูลนั้น เป็นความสุข เป็นความเบิกบานของมนุษย์ และเราไม่ควรจะไม่สบายใจ ไม่ชอบใจในสิ่งใดๆเลยในโลก แม้แต่เขาผู้นั้น จะเป็นศัตรูที่ร้ายกาจของเราก็ตาม

ดังนั้น ความหม่นหมองใจที่มีศัตรู มีคนที่เราไม่ชอบ ที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ที่ทำให้เราไม่สบายใจ เราจะขจัดและปรับจิตใจ รู้จักสิ่งที่เราเห็นว่ายังไม่ดีนั้นๆ แล้วหาทางทำสิ่งดี ที่จะประสาน ที่จะสมานสร้างสรร นำพากันเจริญ และเจริญไปสู่ความเป็นมิตรสหาย ความสามัคคี ภราดรภาพให้ได้ นั่นคือเป้าหมายใหญ่อันหนึ่งของการเป็นนักธรรมะ หรือเป็นคนที่จะประเสริฐได้

๑๓ กรกฎาคม ๒๕๒๙


 

 

ผู้งามพร้อม ทั้งกาย วาจา และใจ

ความสำรวม ความสังวร หมายความว่า สภาพที่ผู้หนึ่งผู้ใดระลึกรู้ตัว รู้ทั้งกายกรรม รู้ทั้งวจีกรรม โดยเฉพาะรู้จักมโนกรรมของตน ในขณะทุกขณะ หรือเพียรให้ตนรู้อยู่ทุกขณะให้ได้มากที่สุด แล้วก็วิจัยธรรม แม้แต่เราจะเดิน จะย่างจะก้าว จะแกว่งแขน จะไกวขา จะเอี้ยวหน้าเอี้ยวหลัง จะมีความประพฤติใดๆก็ดี เราจะพยายามปรับ พยายามวิจัยธรรมไปพร้อม ปรับเข้าสู่สภาพที่ดีกว่า ดีที่สุด เห็นว่าสุภาพ เห็นว่าเป็นภาวะที่เกิดคุณค่า ประโยชน์แก่ตนและแก่ท่านอยู่เสมอๆ นั่นคือ การสำรวม การสังวร

ศาสนาพุทธ ไม่ได้สอนแต่เรื่องของจิตใจเท่านั้น แต่สอนทั้งกายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม ทั้งสามส่วน ดังนั้น ผู้ใดประพฤติธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้นั้นก็จะต้องประพฤติทั้งสามส่วน จะต้องสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ โดยแท้จริง

เมื่อเราศึกษาถึงกุศลกรรม อกุศลกรรม อย่างถูกทางถูกต้อง ซึ่งมันมักจะสวนทางกันกับทางโลกียะอยู่มาก แต่เมื่อได้ศึกษาอย่างถูกต้องแล้ว เราจะเกิดความเข้าใจ ความเห็นที่ถูกทาง แล้วเราจะปรับตนเองเข้ามาสู่จุดที่เข้าใจ หรือเห็นจริงถูกทางว่า ดีกว่า ดีที่สุด นั้นๆได้

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติประพฤติ อบรมตนอย่างแท้จริง จึงจะงามพร้อมทั้งกายวาจาและใจ ทั้งงาม ทั้งมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อตน และต่อผู้อื่นโดยรอบ

๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๙


 

 

ผู้เข้าถึง โลกนี้ โลกหน้า

พุทธบริษัท ย่อมประกอบไปด้วยบุคคล ประกอบไปด้วยองค์ประกอบอื่น ทั้งจารีตประเพณี ทั้งพฤติกรรมคำสอน และสภาพสัจจะที่เป็นมรรคเป็นผล จึงจะเรียกว่าพุทธบริษัทที่สมบูรณ์

บุคคลที่เป็นพุทธมามกะแท้จริงนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ เป็นผู้เห็นทานมีผลที่แท้จริง อย่างเชื่อมั่นด้วยปัญญา เป็นผู้ที่เห็นยัญพิธี ย่อมมีผลที่แท้จริงอย่างชัดแท้ เป็นผู้ที่เห็นการสังเวย ย่อมมีผลอย่างรู้ลึกซึ้ง เห็นกรรมเป็นเรื่องจริง เห็นโลกนี้โลกหน้าเป็นเรื่องจริง เข้าใจชัดเห็นชัดในความเป็นพ่อเป็นแม่ ในความเป็นสัตว์โอปปาติกะ และเห็นพระอริยะผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ เห็นความจริง เข้าใจชัด ยิ่งเป็นผู้ที่มีคุณธรรมนั้นเอง เป็นผู้มีทาน เป็นผู้มียัญพิธี เป็นผู้มีการสังเวย เป็นผู้มีกรรม เป็นผู้เข้าถึงโลกนี้โลกหน้า เป็นผู้เป็นแม่เป็นพ่อ เป็นผู้ที่เข้าถึงความเป็นสัตว์โอปปาติกะ เป็นพระอริยะเสียเอง โดยความจริง ผู้นั้นก็ยิ่งเป็นพุทธมามกะที่แท้จริง ที่เป็นอริยบุคคล เป็นผู้ได้สาระสัจจะแก่นสาร ของศาสนาพุทธ

พุทธมามกะ ที่มีเนื้อหาสาระดังนี้อยู่ มีมากเท่าใด ความเป็นพุทธบริษัท ก็ยิ่งมีเป็นมากเท่านั้นๆ หากขาดความจริงเหล่านี้ พุทธบริษัทก็ยิ่งหลวมออก และยิ่งเป็นเพียงชื่อ เป็นเพียงรูปแบบหลวมๆ ปลอมๆ และที่สุดก็เพี้ยนๆ กลายๆ

แต่ถ้าเป็นพุทธบริษัท ที่มีพุทธมามกะเป็นพระอริยเจ้าจริง ที่รู้ยิ่งเห็นจริงเอง ในโลกนี้โลกหน้า และประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามได้ มีภูมิธรรมขั้นสูง สามารถชี้ สามารถนำพา ให้คนเข้าสู่สัตว์โอปปาติกะได้ เป็นผู้ที่ยังให้คนถึงซึ่งสภาพพ่อสภาพแม่ แล้วเลื่อนเข้าสู่โลกหน้าโลกนี้อย่างชัดแท้ โดยกรรม เชื่อกรรม จนกระทั่งมีการสังเวยอยู่แท้ มียัญพิธี มีรูปแบบ มีจารีตประเพณีวัฒนธรรม สามารถเป็นผู้นำพากันอยู่ด้วยทาน เป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละอยู่ ตั้งแต่ลึกซึ้ง จนกระทั่งถึงหยาบ เป็นวัตถุรูป ให้ได้รู้ได้เห็น แจ้งชัดอยู่จริงๆ สภาพของพุทธบริษัทที่อบอุ่น มีภราดรภาพ มีสันติภาพ มีสมรรถภาพ ย่อมจะชี้ ย่อมจะแสดง ย่อมจะปรากฎอยู่ในโลกโดยตน

พุทธมามกะนั้นๆ มีอิสรเสรีภาพสมบูรณ์ โดยหมู่ โดยสังคมสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นบูรณภาพอันชัดเด่น

ขอให้ท่านทั้งหลาย จงสังเกต อ่าน และเห็นความจริง เข้าถึงความจริงดังกล่าวนี้เทอญ ท่านจะเห็นพุทธบริษัทนั้นๆ ปรากฏแก่ญาณ ของผู้ที่มีญาณนั้นๆ แล

๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๙


 

ชีวิตประเสริฐ

ในชีวิตมนุษย์นั้น มีการศึกษาอยู่สองอย่าง การศึกษาเพื่อสร้างสรร เพื่อกระทำอะไรขึ้น ให้มีประโยชน์คุณค่าในโลกนั้นอย่างหนึ่ง การศึกษาอีกอย่างหนึ่งนั้น คือ การศึกษาถึงกิเลส แล้วก็วิธีละกิเลส ล้างกิเลส จนกระทั่ง สามารถขจัดกิเลสนั้นออกได้จากตนจริงๆ ที่เราเรียกว่าธรรมะ หรือศาสนา หรือการศึกษาทางจิตวิญญาณ การศึกษาที่จะสร้างสรร จะมีความสามารถในการกระทำ ให้มีคุณค่าประโยชน์ในโลกนั้น ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดาธรรมชาติ

ตั้งแต่เกิดมา พ่อแม่จะสอน สอนให้หยิบนั่น ยกนี่ ปรับตรงนั้น ขันตรงนี้ จนที่สุดแม้กระทั่งทำนาทำไร่ทำสวน สร้างนั่นสร้างนี่ ไม่ใช่พ่อแม่ก็เพื่อนฝูง สิ่งแวดล้อม จนกระทั่งทุกวันนี้ กลายเป็นสถาบันการศึกษา ซึ่งรุ่งเรืองอยู่ในโลก

แต่เขาก็ลืมการศึกษา ที่เป็นการศึกษาทางจิตวิญญาณ ศึกษาเพื่อที่จะรู้จักกิเลส หรือศึกษาธรรมะ ลืมกันจริงๆ ลืมกันหมดโลกแล้ว หลักประกันชีวิตนั้น เมื่อคนมีความสามารถทางฝีมือ สร้างอะไรได้เก่ง และเรียนรู้สิ่งที่รู้นอกตัวได้มาก คนนั้นก็สามารถที่จะสร้างสรร มีผลผลิต มีแรงงาน ที่จะเอาไปแลกเปลี่ยน เอาลาภยศสรรเสริญโลกียสุข ได้มากขึ้น แต่เมื่อกิเลสไม่ได้ลดลง กิเลสมีแต่วันจะพอกเพิ่ม มีความโลภโดยไม่รู้ทันไม่รู้ตัว ความสามารถเหล่านั้น จึงเป็นพิษเป็นภัยต่อตน และสังคมประเทศชาติ เพราะมันจะไปเอาเปรียบเขา และจะไปโลภเอามาให้แก่ตน แก่พรรคพวกของตน จนกระทั่งไม่มีที่จบที่สิ้น คนในโลกจึงเกิดมีช่องว่าง ระหว่างคนจนคนรวย และกดขี่ข่มเหงกันอยู่ตลอดมา นานับกัปกาล

ดังนั้น ผู้รู้แล้ว ยิ่งเห็นความจำเป็น เห็นความสำคัญของการศึกษา ทางวิญญาณ ทางธรรมะ ทางการลดละกิเลส ก็จะกระทำสิ่งนั้นให้แก่ตน และแก่ประเทศชาติได้อย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น ธรรมะ หรือการศึกษาทางจิตวิญญาณ จึงยังมีอยู่ในโลก แต่ทว่า มีจริงบ้างไม่จริงบ้าง เป็นการศึกษาที่กลับซับซ้อน และเติมคนหลอกคนลวง หรือเอาเปรียบเอารัดอยู่ในโลกได้ด้วยเช่นกัน ผู้จะศึกษาให้มีคุณค่าประโยชน์แก่ชีวิตที่แท้จริง จะเป็นชีวิตที่มีทั้งความรู้ ที่จะสร้างสมให้แก่โลก และมีหลักประกัน เพราะได้ลดความโลภ ความเห็นแก่ตัว จึงจะเป็นผู้ที่เสียสละ สร้างสรร ทำความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ประเทศชาติ หรือมวลมนุษยชาติในโลกได้

ผู้ที่มีความรู้ ในการศึกษาทั้งสองด้าน ดังนี้
จึงชื่อว่า ผู้เกิดมามีชีวิตประเสริฐยิ่งในโลก

๓ สิงหาคม ๒๕๒๙


 

ครรลองแห่งชีวิต

มนุษย์ผู้มีครรลองแห่งชีวิต ที่เป็นครรลอง เดินทางไปสู่ความประเสริฐอันแท้จริง ผู้ที่มีความพากเพียรอยู่ และได้เดินไปตามครรลองนั้น การเดินของชีวิตแต่ละวัน ประกอบไปด้วยการศึกษา เมื่อผู้ใดเพียรมาก รู้ทิศทาง หรืออยู่ในครรลองที่ถูกตรงมาก ก็จะประเสริฐหรือเจริญได้มาก ชีวิตจะมีคุณค่าทั้งตนและผู้อื่นอยู่ตลอดไป จวบชีวิตจะหาไม่

สำหรับผู้ที่เพียรมาก แต่เดินทางอย่างสับสน ครรลองแห่งชีวิตยังไม่ค่อยตรง ก็จะมีภาวะลบล้างได้บ้างเสียบ้าง ส่วนผู้ที่มีครรลองแห่งชีวิตดี ถูกต้องชัดเจน แต่ความเพียรน้อย ก็ยังสบาย ยังไม่ถูกลบมากนัก แต่ทว่าการเดินก็เจริญไปได้ช้า

ดังนั้น เมื่อได้ศึกษา ได้เรียนรู้ถึงครรลองของชีวิตชัดเจนดีแล้ว จึงยังเหลือเพียงความเพียร ความพยายาม ที่เราจะต้องเสริมหนุนให้แก่ตนเอง แต่ว่าคนเมื่อได้ดี ขี้มักจะหลงตัว ขี้มักจะระเริง ติดดี หรือติดส่วนที่มันสบาย มันเจริญนั้นๆ แล้วทำให้ความเพียรนั้นหย่อน นี้เป็นจุดที่เราจะต้องสำนึกให้มาก ผู้ใดเข้าใจความหมายนี้ดีแล้ว จึงควรจะพากเพียรอุตสาหะ หนุนตนเอง แม้เราจะสบาย เป็นสุข ก็ควรจะเร่งเพียรนั้นๆ ให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป เพื่อถึงปลายทาง หรืออย่างน้อยก็เพื่อประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน อันควรที่จะพึงได้พึงเป็น

ผู้ใด ได้แต่เสวยได้แต่เสพ แม้จะอยู่ในสวรรค์
ผู้นั้น ก็ถือว่าเป็นผู้ประมาทอยู่
ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สรรเสริญเลย

๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๙


 

 

ผู้มีน้ำใจอันบริสุทธิ์

มนุษย์ผู้ประสริฐ ก็คือ คนผู้สร้าง คนผู้ได้ให้ คนผู้มีน้ำใจอันบริสุทธิ์ ดังนั้น เมื่อผู้ใดมีงานมีหน้าที่ วันแต่ละวัน ไม่ต้องวุ่นไม่ต้องยุ่ง ในเรื่องที่จะต้องคิดว่า เราจะทำอะไร แต่มีงานให้เราทำอย่างราบรื่น มีหน้าที่ให้เราปฏิบัติ ให้เราก่อสร้างอย่างดี สิ่งที่เราสร้าง มีประโยชน์ มีคุณค่า เป็นบุญ และเราก็ได้ให้ ได้เสียสละ

ชีวิตที่ยังมีจิตยังไม่บริสุทธิ์ เราก็ได้ปฏิบัติเพื่อสู่ความบริสุทธิ์นั้นอยู่ วันแล้ววันเล่า เจริญขึ้นประเสริฐขึ้น ผู้ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อโลกต่อสังคมต่อตน ด้วยประการฉะนี้ แม้จะยังไม่ใช่ผู้ประเสริฐสุด ได้สร้างสิ่งที่ดีที่สุด และได้ให้ได้เสียสละอย่างสะอาดที่สุด หรือยังเป็นผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส น้ำใจจิตใจยังไม่สะอาดถึงที่สุด ทว่า ก็ได้สร้างได้ก่อคุณค่าประโยชน์ ได้ให้ได้เสียสละ ได้กอปรบุญไปทุกวัน ๆ

มีทางปฏิบัติ มีการศึกษา มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เกื้อกูลกัน นำพากัน ให้ล้างละกิเลส ที่เราก็พากเพียร เพื่อความสะอาดหมดสิ้น ต่อเนื่องกันไป อยู่...อยู่

บุคคลผู้เช่นนั้นแล ชื่อว่า เป็นผู้มีโชคที่สุด

๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๙


 

 

ยิ่งสงบปานใด
จิตใจเรา ยิ่งเป็นอิสระเท่านั้น

พระเสขบุคคล หรือยิ่งเป็นพระอเสขะ ได้ศึกษาปฏิบัติธรรมะ รู้แจ้ง มีของจริงในความสุขที่เป็นวูปสโมสุข ผู้ได้พบความสุข ที่จิตสงบจากกิเลสได้จริงนั้น ความสุขเช่นนั้น จะเป็นผู้ที่รู้แจ้งทะลุถึงโลกียสุข รอบถ้วน และจะรู้ว่าวิมุติรสนั้น เหนือกว่าโลกียรส ขนาดใดๆ

ผู้ที่ได้ปฏิบัติ ฝึกเพียรเริ่มต้น และได้ผลขึ้นมาบ้าง จงพึงตรวจสอบ เรียนรู้ความจริงดังกล่าวนั้น เหตุใดปัจจัยใดก็ดี ที่เราได้ฝึกเพียร ได้อบรมตน ได้มรรคได้ผลขึ้นมาบ้างแล้ว เราจะเห็นความเบาความว่าง ความปลงภาระ ความสะอาดขึ้นมา

ธรรมรสนั้น เป็นอย่างนั้นๆ แม้ยังไม่ถึงวิมุติ ยังไม่สมุจเฉท ยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม เราก็จะรู้แจ้งในธรรมรสของตนๆ ยังมีตัวอย่างของวิมุติรสตามศีลตามธรรม ที่เราได้พึงปฏิบัติมาแล้วโดยจริง

ผู้แจ้งความจริงนั้น เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ บอกกันก็ได้บ้าง แต่ลิ้มรสนั้น เราจะพอใจหรือไม่ ก็อยู่ที่เจ้าตัว

เพราะฉะนั้น คำว่า ผู้เบา ว่าง ง่าย สบาย ผู้ที่มีธรรมรสที่เป็นวิมุติรสเช่นนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า เบาว่างง่ายที่ไร้ค่า, ที่เบาคือไม่ทำอะไร, ว่างคืออยู่เฉยๆ ง่ายๆก็คือทำแต่สิ่งง่ายๆ อย่างมักง่าย

ทว่า เบา นั้นคือ เรื่องของภาระหนักในจิต กิเลสที่เป็นเจ้าเรือน อำนาจที่มันข่มขู่ และเราก็ต่อต้านมัน ในขณะที่เราได้ปฏิบัติ เราได้ต่อสู้กับกิเลสหนักหนาอย่างไร นั่นคือความหนัก และได้ปลดปลง ได้ทำลายกิเลส จางคลายลงไปมากเท่าใด นั่นคือความเบา จนที่สุด เมื่อสะอาด เมื่อบริสุทธิ์ ก็จะเห็นความสงบ ความหมดฤทธิ์ของกิเลส จึงเรียกว่า สงบยิ่ง

จะเห็นว่า ยิ่งสงบปานใด จิตใจเรายิ่งเป็นอิสระเท่านั้น และยิ่งมีกำลัง ยิ่งมีพลัง ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสไม่ผิด ว่าวิมุตินั้นเป็นพลังของสมณะ และเป็นความสงบ ที่ยิ่งมีคุณค่า ยิ่งมีประโยชน์เกื้อกูล เป็นพหุชนะหิตายะ และก่อความสุขแก่พหุชนอีก เป็นโลกานุกัมปายะ ถูกต้อง สอดคล้องตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกประการ

๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๙


 

 

ผู้รู้แจ้ง เห็นจริง และมีของจริง

ผู้ปฏิบัติที่เดินอยู่ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ จะต้องเป็นผู้มีความจริง ที่รู้ตัวอยู่จริง มีสติ ที่เป็นสติสัมโพชฌงค์จริงๆ และได้ทำหน้าที่ธัมมวิจัยจริงๆ

บทบาทของสติ ที่จะดำเนินเป็นสติปัฏฐาน ๔ ต้องเกิดอยู่จริงๆ และมีผลถึงสัมมัปปธาน ๔ มีการสังวร มีการประหารสิ่งที่ควรประหาร มีการเกิดผล ตามที่ตนได้กระทำประพฤติอยู่ และได้รักษาคุ้มครอง ให้สิ่งที่ควรจะรักษาคุ้มครองอยู่จริง มีวิริยะ มีอิทธิบาท สนับสนุนส่งเสริมอยู่ มีความยินดีในการประพฤติปฏิบัติ มีความเบิกบานร่าเริง และเป็นผู้ที่พอใจ เป็นผู้ที่ยินดี มีอริยกันตศีล เจริญในศีล เจริญอธิจิต เป็นจิตสะอาดขึ้น เป็นจิตที่ได้ลดได้ละขึ้น

มีปัญญา มีญาณทัสสนวิเสส อันรู้ ได้พิจารณา มีวิมังสา สอดส่อง เห็นความจริงตามความเป็นจริง เกิดผลอยู่ตลอดเวลา

ทฤษฎีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพาทำ จะมีบทบาทสอดร้อย สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา สู่ฌาน สู่วิมุติ และเห็นรู้ ตามเห็นตามรู้ มีอนุปัสสี ตั้งแต่อนิจจานุปัสสี ซึ่งเป็นการตามรู้ความไม่เที่ยงของกิเลส และเกิดวิราคานุปัสสี เห็นความจางคลายของกิเลส แม้ที่สุด เห็นความดับของกิเลส เป็นนิโรธานุปัสสีอย่างชัดแจ้ง มีของจริงเป็นจริง

สุดท้าย เราได้ดีเราก็ไม่ได้ยึดดี มีการสลัดคืนทุกสิ่งทุกอย่าง ได้อย่างสูงสุด เป็นปฏินิสสัคคานุปัสสีอย่างแท้จริง ได้ปฏิบัติประพฤติอยู่ ทุกลมหายใจเข้า-ออก กระทำอย่างถูกต้อง ตามอานาปานสติ

ผู้ปฏิบัติจะลึกซึ้ง จะเข้าใจสภาวธรรม ที่มีทฤษฎีของพระพุทธเจ้านั้น สอดร้อย ส่งเสริม สนับสนุนกัน

โดยหลักของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ นั้น สติปัฎฐาน ๔ ก็ดี สัมมัปปธาน ๔ ก็ดี อิทธิบาท ๔ ก็ดี ก็จะมีสภาพซ้อน มีสภาพสนับสนุนส่งเสริม เข้าออก-ออกเข้าอย่างลึกซึ้ง สร้างอินทรีย์ ๕ สร้างพละ ๕ ด้วยโพชฌงค์ ๗ เป็นวิธีของมรรคองค์ ๘ อยู่ทั้งสิ้นทั้งมวล

ผู้ปฏิบัติเป็นประจำชีวิต มีสติที่รู้ตัวรู้ตน กระทำถูกทิศถูกทาง เกิดปีติ และสู่ปัสสัทธิ สั่งสมลงเป็นสมาธิ ที่สุด มีจิตอาศัยเป็นอุเบกขา และได้สลัดคืน เป็นปฏินิสสัคคานุปัสสี อยู่เสมอๆ จนรู้ยิ่งเห็นจริงว่า บาปคืออะไร กุศลคืออะไร จนเราเองละเว้นบาปทั้งปวงได้สนิท ยังกุศลให้ถึงพร้อมได้จริงๆ

ผู้รู้แจ้งเห็นจริง และมีของจริงถึงปานฉะนี้แล คือผู้ประสบผลสำเร็จอันสูงสุดนั้น สำหรับการเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว

๑ กันยายน ๒๕๒๙


 

 

ดูตนไม่มีตัวตน

จงคอยดูตน อย่างคนมีดวงตา
จนในดวงตานั้น ไม่มีตัวตน

๒ กันยายน ๒๕๒๙


 

 

ผู้รู้จริง

ผู้รู้จริงนั้น เห็นความผิดของผู้ผิด เป็นความถูกแล้ว
ส่วนผู้ยังไม่รู้จริง เห็นความถูกของผู้ถูก เป็นความผิด

๔ กันยายน ๒๕๒๙


 

 

ธรรมะทำให้เป็นผู้เจริญ

คนสบาย ก็คือ คนที่มีที่อยู่สบาย
คนสบาย ก็คือ คนที่มีบุคคลผู้อยู่ร่วมสบาย
คนสบาย ก็คือ บุคคลที่มีอาหารสบาย และ
คนสบาย ก็คือ คนที่มีธรรมะสบาย

ผู้สบายได้แล้ว คือ ผู้เจริญแล้ว
ผู้เจริญย่อมรู้ที่อยู่ที่ควรอยู่
ที่อยู่ที่ควรอยู่ของผู้เจริญนั้น
ย่อมเป็นที่อยู่ที่ไม่เป็นมลพิษ ที่ไม่เป็นภัย
ย่อมเป็นที่อยู่ ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะ
จะอยู่อย่างสบาย จะอยู่อย่างเจริญ

ผู้ที่เจริญแล้ว ย่อมรู้จักบุคคลที่จะอยู่ร่วม
และบุคคลที่จะอยู่ร่วมนั้น
ก็จะต้องพากันเจริญ
อยู่กันอย่างสบายอย่างแท้จริง
ย่อมไม่สร้างความต่ำ
ย่อมจะพากันสร้างความสูง
สร้างสิ่งที่เป็นกุศล
มีแต่บุญ มีแต่กุศลร่วมกัน
พากันดำเนินไปเท่านั้น

คนเจริญ ย่อมรู้จักอาหารที่เจริญ
และ ยังอยู่ด้วยอาหารที่พาเจริญ
พร้อมกันนั้น ก็ย่อมจะทั้งสร้าง และ
นำพากันให้รู้จักอาหารอันเจริญนั้นอยู่

ที่สุด คนเจริญย่อมมีธรรมะอันเจริญ
สิ่งสูงสุดของมนุษย์ ก็คือธรรมะ
ผู้ที่ไม่รู้ธรรมะ ไม่ทรงไว้ซึ่งธรรมะ
ย่อมเป็นทุกข์ ย่อมไม่เจริญ
ดังนั้น ผู้ศึกษาธรรมะ ประพฤติธรรมะ
ได้ผลของธรรมะ และ
อาศัยธรรมะนั้น มีชีวิตอยู่
ย่อมเป็นผู้ที่เจริญอย่างยิ่ง
และเป็นผู้ประเสริฐในโลก

๘ กันยายน ๒๕๒๙


 

 

สังคมมนุษย์ประเสริฐ

มนุษย์ผู้มีจิตมักน้อยได้จริง มีจิตใจพอ หรือมีจิตสันโดษได้จริง มีจิตสงบจากกิเลสได้จริง และมีจิตใจที่ไม่หลงสวรรค์ จิตใจไม่ซัดส่ายออกไปคลุกคลีเกี่ยวข้องกับโลกียะ มีจิตใจเป็นผู้ที่ขยัน ปรารภความเพียรอยู่จริง มนุษย์ผู้นั้น ย่อมจะมีชีวิตเป็นอยู่สุขโดยแท้ ในประมาณหนึ่ง เพราะได้ศึกษาศีล ได้มีสมาธิ ได้มีปัญญา เป็นเครื่องฝึกฝนอบรมมาจริง จึงเกิดวิมุติจริง มีวิมุตติญาณทัสสนะ ได้แท้

เมื่อผู้ที่ปฏิบัติถูกทาง ของศีลสมาธิปัญญา ย่อมมีผลของวิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะนั่นเอง จึงเป็นผู้มักน้อยได้ เป็นผู้สันโดษได้ มีจิตสงบอย่างถูกธรรม ของศาสนาพระพุทธเจ้า มีความไม่คลุกคลีเกี่ยวข้องทางจิต แม้จะอยู่กับโลกอยู่กับโลกีย์ แต่จิตก็ไม่เกี่ยวไม่ข้อง ไม่ติดไม่ยึดในโลกีย์ เพราะมีลักษณะหลุดพ้นที่แท้จริง และเป็นคนปรารภความเพียร เป็นคนมีความขยันอยู่ เป็นลักษณะของคนเจริญ

ดังนั้น ผู้ที่มีความจริง ในความมักน้อย ในความสันโดษ ในจิตที่สงบจากกิเลสแท้ ประมาณใดประมาณหนึ่งแล้ว ผู้นั้นจะอยู่เป็นสุข ไม่ว่าในสถานที่ใดใด

ยิ่งอยู่ในสถานที่ ที่มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีอีกด้วยแล้วไซร้ มนุษย์นั้น ผู้นั้นย่อมไม่ไปไหนจากมวลมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีนั้นเลย เพราะมนุษย์ผู้นั้น ย่อมมีปัญญา ความรู้ที่รู้ยิ่งเห็นจริงว่า สังคมสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น เป็นสังคมสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ที่เป็นกัลยาณมิตร หรือเป็นมนุษย์ที่มีสังคมสิ่งแวดล้อม ที่อยู่กันอย่างสังคมมนุษย์ประเสริฐ มนุษย์อารยะ อย่างแท้จริง

๙ กันยายน ๒๕๒๙


 

 

ชีวิตที่อยู่บนสวรรค์

ผู้ฉลาด ตั้งตนอย่างมีความสุข ขั้นแรกที่สุด จะมีสติรู้ตัว รู้ว่าการมีใจเบิกบานแจ่มใสนั้น ไม่มีใครในโลกมาทำให้เราได้ เราทำของเราเอง เรากำหนดฝึกฝนของเราเอง เรารู้รสของเราเอง

ดังนั้น ผู้รู้เบื้องต้น ว่าเราจะมีความสุขนั้น ก็คือเราจะต้องเป็นผู้เบิกบานแจ่มใส อุปสรรคในโลกมีอยู่ไม่รู้จบ

แม้เป็นพระอรหันต์เจ้า ก็ยังต้องมีอุปสรรค อุปสรรคเป็นแต่เพียงสิ่งประกอบของการงานเท่านั้นเอง จะมีหนักมีเบาปานใดก็ตาม ผู้ที่เข้าใจดีแล้วว่า อุปสรรคคือองค์ประกอบของการงาน ย่อมจะไม่ท้อถอย และไม่รู้สึกหนักอกหนักใจฉันใด ถ้าเราเป็นผู้ที่มีกำลังใจกล้า เข้าใจความจริงว่า องค์ประกอบของจิตมนุษย์นั้น จะมีอุปสรรคให้เรากระทำสม่ำเสมอ ผู้ได้พบอุปสรรค และได้ฝ่าฟันอุปสรรคมามากๆ จะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ เป็นผู้ที่เข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์ เข้าใจสิ่งที่ตนเองจะกระทำกับมัน อย่างรอบรู้

ดังนั้น ผู้ใดยิ่งพบอุปสรรคมาก ย่อมยิ่งเป็นผู้มีความสามารถมาก ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่ใช่เรื่องควรจะท้อถอย

ก่อนอื่น เราพึงทำใจให้เบิกบาน และก็รับรู้ในวาระ ที่เรากำลังจะดำเนินกิจการงานต่อไปเรื่อยๆ และเลือกเฟ้นกระทำสิ่งที่สำคัญก่อน สิ่งที่จำเป็นก่อน ให้รู้ความสำคัญในความสำคัญ รู้ความจำเป็นในความจำเป็น และเราก็กระทำไปตามกำลัง ตามแรงที่เราสามารถทำได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องไปกังวลอุปสรรคใด ที่จะดาหน้ากันเข้ามา เราก็แบ่งรับและแบ่งสู้ไปเรื่อยๆ อย่างเบิกบานร่าเริง

ผู้กระทำได้ดังนี้ จะรู้สึกว่าชีวิตนี้
เป็นชีวิตที่อยู่บนสวรรค์ นั่นทีเดียว

๑๒ กันยายน ๒๕๒๙


 

 

ความสุขอันสงบ ที่สูงส่ง

เมื่อได้ประพฤติถูกทาง ก็จะเห็นผลแห่งความละ จางคลายของกิเลส เมื่อจิตก็สงบ ปัญญาก็มีพร้อม จะรู้แจ้งว่าความสันโดษ หรือความพอในใจของตนๆนั้น มีได้จริง จิตมีสันโดษ เป็นความหยุด เป็นความพอ ซึ่งทำให้จิตนั้นสงบไม่ดิ้นแส่

จิตที่พอ ไม่ใช่จิตที่ไม่มีกำลัง จิตที่พอเป็นจิตที่มีปัญญารู้ ว่าสิ่งที่เราไม่ควรดิ้นรนต้องการมาเสพสมนั้น ก็คือความพอที่แท้จริง ดังนั้น ตนเองไม่ดิ้นรนมาให้ตนเอง ตนไม่ต้องเสพ ตนไม่ต้องสุขเพราะได้มาเสพ จิตจึงมีความสงบความสุข ในรสสงบอย่างนี้

ผู้ที่มีจริง ทั้งจิตที่หลุดได้ ไม่มีกิเลส ทั้งปัญญาที่เข้าใจได้ว่า เราไม่ประสงค์จะเสพ เราพอ เรารู้แล้วว่าชีวิตไม่จำเป็น ไม่ต้องมีรส เพราะรสไม่จริง รสอร่อยที่เคยถูกลวงมานั้น ดับ-จาง-คลายไปสนิท ผู้มีความเป็นจริงดั่งนี้ จึงจะรู้ความสุขอันสงบที่แท้จริง ความสงบ ความสุข ที่เกิดจากความสงบทางจิตอย่างนี้ ผู้มีจริงเท่านั้นจะรู้จริง ผู้ไม่มีจริง จะเดาจะคาดคะเนเอาไม่ได้เลย ผู้พึงได้สันโดษในสิ่งต่างๆ ที่โลกเขาลวง เขามอมเมายั่วยุ ผู้ใดรู้ได้มาก ปฏิบัติตนลดละได้มากจริงๆ แม้กระทั่ง สันโดษในความสมใจที่ตนเองมีดี กระทำดี และต้องการที่จะได้รับสรรเสริญก็ดี หรือทำดีแล้วยังหลงติดดี นำดีนั้นไปเบ่งข่ม มีอำนาจต่อผู้อื่นอยู่ ก็เป็นรสในใจของตนก็ดี ซึ่งเป็นมานสังโยชน์

ถ้าผู้ใดกระทำได้จริงแล้ว ผู้นั้นยิ่งจะเห็นความสุขอันสงบที่สูงส่ง แต่ก็จะเป็นผู้มีปัญญาอันยิ่ง รู้ความจริงว่า ชีวิตนั้นมีคุณค่าประโยชน์อย่างไร ชีวิตนั้น แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ขยันหมั่นเพียร สร้างสรรเกื้อกูลต่อพหุชนอยู่อย่างไร ก็ยังเป็นความสุขอันสงบ ที่แตกต่างจากความสุขที่เป็นโลกีย์ อันเราเคยมากันทุกคน เป็นความสุขที่วิเศษ ที่ภาษาบาลีเรียกว่า วูปสโมสุโข นั้นแล

๑๕ กันยายน ๒๕๒๙


 

 

วัฏสงสาร

เรียนรู้ อย่างถูกทฤษฎีแล้ว จะเป็นผู้ที่รู้จักวัฏสงสาร รู้จักการตัดวัฏสงสาร และจะเป็นผู้ที่มีคุณค่าประโยชน์ เป็นผู้ประเสริฐ หากจะเหลือการสืบต่อ จะเป็นมนุษย์ จะวนเวียนเกิดอีกต่อ และต่อไป ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ ผู้มีคุณประโยชน์แก่โลกอยู่ ตลอดกาลนาน

และ เราจะตัดวัฏสงสาร ดับสิ้น ดับสูญ ณ บัดใด เมื่อใดอีก เราก็มีสิทธิ์ ด้วยความรู้แจ้ง รู้จบ ตรัสรู้จริง ตามที่พระบรมศาสดาได้พบแล้ว และนำมาประกาศแล้ว ท้าทายให้พิสูจน์นั้นแล้ว เป็นความจริงทุกประการ

๒๐ กันยายน ๒๕๒๙


 

 

ผู้ได้จิตที่สงบ

บุคคลผู้ที่รู้จักความจริง ในความมักน้อย และยังทรงความมักน้อยนั้นๆ อยู่อย่างพอใจ บุคคลที่มีจิตถึงจุดสันโดษที่แท้จริง และเป็นบุคคลที่เห็นความสงบ เป็นที่อาศัยอันน่าพอใจยิ่ง

คำว่า ความสงบ ก็คือจิต ไม่ได้หมายถึงสิ่งนอก ผู้ได้จิตที่สงบจริง รู้แจ้งชัดในจิตที่ปราศจากกิเลส แต่ก็เป็นจิตที่สร้างสรร ขยันเพียร เป็นจิตที่แคล่วคล่องว่องไว มีเมตตากรุณามุทิตาที่แท้จริง สร้างคุณค่าประโยชน์อยู่ ทว่า ไม่ได้หลงในคุณความดี ไม่ได้หลงสวรรค์ อันเป็นสวรรค์ที่แท้จริง ไม่ใช่สวรรค์ลวงๆ นั้นๆด้วย

เป็นคนที่อยู่ได้กับทุกๆสภาพ แม้นรก แม้สวรรค์ แต่ก็ไม่หลงสวรรค์ ไม่ติดสวรรค์ และไม่ได้เจ็บปวด พ่ายแพ้กับนรก เป็นผู้ปรารภความเพียร เป็นผู้ขยันอยู่ เข้าใจในสภาพเหล่านี้ดีจริงๆ และมีสภาพเหล่านี้เกิดในตนจริงๆ คือ อัปปิจฉะ มักน้อย สันตุฏฐิ สันโดษ ปวิเวกะ สงบระงับ อสังสัคคะ ไม่คลุกคลีเกี่ยวข้องกับกิเลส ในจิตวิญญาณนั้นๆจริงอีก และยอดขยัน ผู้กระทำได้ดังนี้ หรือเป็นดั่งนี้ มีสภาพอย่างนี้เกิดในตนจริง ก็แน่นอนว่า จะต้องเป็นผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และ วิมุตติญาณทัสสนะ นั้นแน่แท้

ดังนั้น ผู้มีความจริง เป็นความจริงอยู่อย่างนี้ ถึงจะกล่าวจะพูด ก็จะเป็นไปในลักษณะทั้งสิบอย่าง สิบข้อนี้อยู่เสมอ เป็นเรื่องราวที่เป็นธรรมดา ของผู้กล่าวนั้น คนที่เห็นจริง ในสภาพที่เป็นความดี ความประเสริฐ ความอาศัยอย่างเป็นสุขเกษม ก็ย่อมจะประสงค์ให้ผู้อื่นได้มีความสุขเกษม ได้เห็นจริงตามความจริง ที่ตนได้นั้นๆด้วย อย่างแท้จริงสิบข้อสิบอย่างนี้ จึงได้ชื่อว่า กถาวัตถุสิบ ซึ่งหมายความว่า การพูดที่เป็นเรื่องราว ดังความหมายที่กล่าวมาแล้ว คร่าวๆ ทั้งสิบนั้น อยู่เสมอๆ ของผู้ที่เข้าใจแจ้ง และมีความจริง ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น

๒๒ กันยายน ๒๕๒๙


สมณะโพธิรักษ์

คาถาธรรม ๑๕ /

(ตรวจทาน ล่าสุด สิงหาคม 2565)