ชีวิตจำลอง

๘. นายร้อยห้อยกระบี่

หนุ่มๆสมัยก่อน มักชอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย และนักเรียนนายเรือ ซึ่งจะต้องสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียม เสียก่อน ผมสมัครสอบ ทั้งเตรียมนายร้อย และเตรียมนายเรือ มุ่งมั่นจะเข้าให้ได้ เพราะฝังใจ อยากจะเป็นมานานแล้ว

เวลาที่นักเรียนบ้านสมเด็จ รุ่นพี่สอบเข้าได้ มักแต่งเครื่องแบบ ไปอวดพวกเราเสมอ ถือว่านำชื่อเสียง มาสู่โรงเรียนอย่างยิ่ง เพราะทั้งสองแห่งนั้น สอบเข้ายาก ถ้าไม่อยู่ในชั้นเรียนเก่งละก็ ไม่มีทางจะเข้าได้เลย

ผมยังจำภาพพี่ชลินทร์ สาครสินธ์ และพี่ๆอีก ๒ คนได้ดี แต่งชุดนักเรียนนายเรือ เสียโก้เชียว ไปอวดเราที่โรงเรียน ตอนสอบเข้าได้ใหม่ๆ

เตรียมนายร้อยสอบก่อน ตามมาด้วยเตรียมนายเรือ ผมสอบไว้ทั้งสองแห่ง รอบแรกผมสอบผ่านหมด รอบที่สองสอบตรงกัน ผมจึงเลือกสอบเข้าเตรียมนายร้อย คิดๆดู ก็เสียดายเตรียมนายเรือ เพราะเราเด็กฝั่งธน มีชีวิตจิตใจเป็นทหารเรือ มานานแล้ว ขณะที่ยังไม่ได้ประกาศผลนั้น เพื่อความแน่นอน ผมสอบเข้าโรงเรียน ม.๗ สวนกุหลาบ เผื่อไว้ด้วย เด็กจนๆ อย่างผม ถ้าคิดจะเรียนต่อ เมื่อจบ ม.๖ ต้องรีบเข้าให้ได้ จะทำเหมือนเด็กที่พ่อแม่รวย เสียเวลารอไปก่อน ปีนี้สอบไม่ได้ ปีหน้าสอบใหม่ รีๆรอๆ อย่างนั้นไม่ได้

โชคดีผมสอบเข้าเตรียมนายร้อยได้ สุชาติต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ดิสทัต” มาส่งข่าวว่า ผมสอบเข้าสวนกุหลาบ ได้ที่ ๑ ส่วนเขาได้ที่ ๒ แล้วเราก็เลือกเข้าเตรียมนายร้อย ด้วยกันทั้งคู่ เพราะจนพอๆกัน

เข้าเตรียมนายร้อย ไม่ต้องใช้จ่ายอะไร พอขึ้นเป็นนักเรียนนายร้อยแล้ว อะไรๆ หลวงแจกทั้งนั้น กินข้าวฟรี ได้เครื่องแบบฟรี หนังสือไม่ต้องซื้อ โรงเรียนมีให้ยืม ที่สำคัญ คือจบแล้ว ไม่ต้องหางานทำ ได้เงินเดือนทันที เหมาะอย่างยิ่งกับคนจนๆ

ยิ่งไปกว่านั้น เข้าไปได้ไม่นานเท่าไหร่ ก็มีการสอบ ผมสอบได้ที่ ๑ ใน “ตอน” ซึ่งแต่ละชั้น แบ่งเป็น ๔ ตอน ผมอยู่ชั้น ๑ ตอน๔ ได้เป็นหัวหน้าตอน กินเงินเดือน เดือนละ ๑๐๕ บาท ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีก พอขึ้นเตรียม ปีที่ ๒ ผมอยู่ชั้น ๒ ตอน ๓ ก็สอบได้ที่ ๑ อีก ได้เงินเดือน เดือนละ ๑๐๕ บาทต่อ เรียนอยู่โรงเรียนเตรียมนายร้อย ผมได้เงินเดือนตลอด ทั้งชั้น มีสมพงษ์กับผมเท่านั้น ที่ได้เป็น หัวหน้าตอน ติดต่อกันทั้งสองปี

ผมมีชื่อเล่นเดิมว่า “หนู” เข้าเตรียมนายร้อย เพื่อนตั้งให้ใหม่อีกชื่อหนึ่งว่า “จ๋ำ” ส่วน “ลอง”นั้น เป็นชื่อเล่น ที่เรียกกันทั่วๆไป จนติดปาก

“จ๋ำ” ตัดมาจากชื่อหน้า แล้วใส่ไม้จัตวาเข้าไป ให้เป็นมงคลขึ้น ถ้าจะใช้ลุ่นๆว่า “จำ” ก็คงจะน่าเกลียดกระไรอยู่

ผมเคยพูดเล่นๆ กับใครต่อใครว่า ชื่อจำลอง ที่ยายผมตั้งให้นั้น แม้จะไม่ไพเราะเพราะพริ้ง เหมือนชื่ออื่นๆ แต่เพราะที่สุด ในชื่อตระกูลเดียวกัน

อันว่าชื่อ จำเลย จำลอง จำนอง จำนำ นั้น ชื่อจำลองเท่กว่าเพื่อน มีอยู่สมัยหนึ่ง ชื่อคำเดียวโดดๆ เป็นที่นิยมกันมาก ผมคิดจะเปลี่ยนหลายที เกรงว่าจะเหมือนเพื่อนๆ ที่เปลี่ยนชื่อไปนานแล้ว ไม่สำเร็จ เปลี่ยนอย่างไรๆ เพื่อนยังเรียกชื่อเดิมอยู่ ไม่รู้จะเปลี่ยนไปทำไม ให้สับสน

ผมอยากเปลี่ยนเป็น ”แมน” ศรีเมือง ก็เขิน เพราะแมน แปลว่าเทวดา และคนชื่อแมน ควรจะต้องหล่อกว่านี้มากๆ ไม่เปลี่ยนดีกว่า ใช้ชื่อเดิมไปเรื่อยๆ ยายอุตส่าห์ ตั้งชื่อไว้ให้ดีแล้ว

มีแปลกอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ ที่เรียนและที่อยู่ของผม มักจะเปลี่ยนไปพร้อมๆกัน ตอนจำความได้ ผมอยู่กับแม่ น้องสาวของแม่ ซึ่งผมเรียก “อี๊” และน้าสาวของแม่ ซึ่งผมเรียกว่า “ยาย” ยายทองสุก เช่าที่ดินของลุงน้อม ปลูกบ้านใกล้ๆลุงน้อม ตรงที่เป็นตลาดสด ทางเข้าวัดสำเหร่ ขณะนี้

ลูกๆลุงน้อมทุกคนใจดี เอื้ออารีต่อผม ผมชอบมาก ทั้งพี่นพ พี่อรุณ พลเรือเอกอุดม พี่นวย พี่นง พี่มงคล และ น้องสาวคนสุดท้อง แต่ผมกลัวลุงน้อม เพราะท่านพูดเสียงดัง

พออายุถึงเกณฑ์เข้าเรียนชั้นประถม แม่พาผมไปอยู่บ้านคุณนาย เวลาจะขึ้นชั้นมัธยม แม่ออกจากงาน เรากลับไปอาศัยอยู่กับยายอีกครั้ง ซึ่งตอนนั้น ยายแต่งงานแล้ว ตาและยาย ถือเสมือนเป็นตาและยาย จริงๆ ของผม

แม่แต่งงานกับพ่อโชตน์ไม่นาน ณี น้องสาวของผมก็เกิด ติ๋มตามเพิ่มอีกคน ทั้งสองคน เป็นหัวแก้วหัวแหวน ของยายกับตา บ้านเล็กๆของยาย เริ่มคับแคบ พ่อโชตน์ต้องเก็บหอมรอมริบ ได้เงินก้อนหนึ่ง จึงแยกไปปลูกบ้าน ริมคลองสำเหร่ ผมโตแล้ว เข้าเตรียมนายร้อย ได้พอดี

บ้านสร้างยังไม่เสร็จ พ่อหมดเงินพอดี เวลานอน มองเห็นกระเบื้อง เป็นแผ่นๆ ร้อน เพราะไม่มีฝ้า ผมเก็บเงินเดือนหัวหน้าชั้น ซื้อไม้กระดานแผ่นยาวๆมา ตอกตะปู ตีฝ้าเอง เอาเชือกเกลียวผูกโยงขึ้นไป ไม่ต้องมีใครช่วยจับ ค่อยทำค่อยไป ไม่กี่วันก็เสร็จ

เพราะไม่ใคร่มีสตางค์ ผมจึงเป็นทั้งช่างไม้ ช่างปูน ไม่ต้องจ้างใคร ตอนหัดเทปูนใหม่ๆ ต้องตวงว่า ใช้ปูน หิน ทราย อย่างละกี่ปุ้งกี๋ ตอนหลังชำนาญฯ ไม่ต้องตวง มองไปที่ส่วนผสม ก็รู้ทันทีว่า พอดีหรือยัง ขาดอะไรอีกเท่าใด

บ้านอยู่ริมคลอง เรามีความสุขมาก น้ำใส ลมพัดเย็นสบาย จะซื้อหาอะไร แม่ค้าพายเรือมาขาย ถึงท่าน้ำบันไดบ้าน มีทั้งของกินของใช้ ไปจนถึงศาลพระภูมิ

พูดถึงศาลพระภูมิ ผมไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะ ตอนมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.เท่านั้น ที่มีเรื่องฮือฮา เมื่อผมสั่งให้เจ้าหน้าที่ เก็บศาลพระภูมิ ศาลเจ้าเก่าๆ ที่มีคนนำมาทิ้งไว้บนทางเท้า ออกไปหมด ฝ่ายตรงข้ามจะเล่นงานผมแย่ หาว่าผมนอกรีตนอกรอย ทำลายน้ำใจ คนที่เขาเชื่อถือ หลวงพ่อปัญญา พระพยอม และพระองค์อื่นๆ อีกบางองค์ สนับสนุนผม ผมจึงไม่ใคร่ฟกช้ำนัก จากการโจมตี ใส่ไคล้คราวนั้น

ผมจัดการเฉพาะ ศาลที่ทิ้งแล้วเท่านั้น ส่วนศาลที่ยังดีๆ ยังมีคนเคารพกราบไหว้ ผมก็ไม่ได้ไปแตะ เล่นกองทิ้งทับถมกันไว้ ตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่รู้ ถ้าไม่กล้าตัดสินใจขนออก ไม่นาน เจ้าจะครอบครองทางเท้าหมด บ้านเมืองจะรกรุงรัง อีกมากมาย เราใช้รถบรรทุก หลายสิบคัน และขนอยู่หลายวัน

ใครที่เป็นผู้หญิง แม่ผมชอบใช้คำเรียกว่า “ยาย” แล้วตามด้วยอาชีพ เป็นรู้กันว่า แม่หมายถึงใคร เช่น “ยายขายข้าวแกง”บ้าง “ยายศาลพระภูมิ”บ้าง เป็นต้น

“ยายศาลพระภูมิ”คนหนึ่ง มีลูกชายวัยเดียวกับผม รักผมเหมือนลูก ผมมักไปขลุกอยู่ที่นั่นเสมอ ทำศาลพระภูมิ เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว ทำเสร็จแล้ว มีเรือมารับไปขายต่อ ดูเขาทำศาลพระภูมิแล้ว น่าสนุก หลังหนึ่งๆ ใช้เวลาเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ “ยายศาลพระภูมิ” คนนั้น ท่านเป็นผู้สนับสนุน ให้ผมสอบเข้าโรงเรียนบ้านสมเด็จ ส่วน ”อำไพ” ลูกชายท่าน อายุเกินไปปีเดียว โชคไม่ดีเข้าไม่ได้

อยู่ริมคลอง เราผูกพันกับน้ำขึ้น-น้ำลง น้ำขึ้นดีใจ รีบลุยไปกลางคลอง เก็บกิ่งไม้ที่ลอยมาไว้ทำฟืน ตักน้ำใส่โอ่งไว้ใช้ ลงไปดำผุดดำว่าย อย่างไม่รู้เบื่อ คอยจ้องว่า เมื่อไหร่เขาจะเขย่าต้นมะกอกน้ำ ต้นใหญ่ ที่อยู่เหนือน้ำขึ้นไป ออกลูกดกมาก เขย่าแต่ละที เจ้าของไม่มีโอกาส เก็บทัน เราลอยคออยู่ท้ายน้ำ เก็บได้เป็นถังๆ เอาน้ำฝนแช่ เอาเกลือใส่ เอาใบมะดันปิดข้างหน้า ดองเอาไว้กินนานๆ

เวลาน้ำลง ผมสนุกกับการลุยโคลน เด็ดยอดผักหนาม จิ้มน้ำพริก กินสดๆก็อร่อย ดองวิธีเดียวกับที่ดองมะกอกน้ำ ก็อร่อย

ไม่น่าเชื่อ เล่าให้เด็กสมัยนี้ฟัง คงจะนึกว่าโกหก ใต้บันใดท่าน้ำ มักจะมีกุ้งตัวใหญ่ๆ อยากกินเมื่อไร กลั้นใจดำน้ำ ดำลงไปไม่กี่อึดใจ ก็ได้มาสองสามตัวสบายๆ บางวัน ตอนน้ำขึ้นใหม่ๆ เกิดอะไรขึ้นไม่รู้ กุ้งนาง นัดกันลอยสลอนทั้งคลอง เพื่อนบ้านตะโกน บอกกันเป็นทอดๆว่า “กุ้งมัว” ที่จริงน่าจะเรียกว่า ”กุ้งเมา”มากกว่า แต่ละบ้าน จะต้องมีสวิง และข้องไม้ไผ่ สำหรับใส่กุ้ง เตรียมไว้ให้พร้อม กุ้งมัวเมื่อไหร่ ฉวยได้ทันที

เราได้อาศัยคลอง อยากได้อะไร ก็ลงไปเอาในคลอง วันหนึ่งๆ ไม่ใคร่ได้ใช้เงินเท่าไหร่ เหมาะกับครอบครัวเรา ที่ไม่ใคร่จะมีเงินอยู่แล้ว

คูคลองเดี๋ยวนี้ ไม่น่าสุนทรีย์ เหมือนเมื่อก่อน บ้านเมืองอื่น แต่ก่อนก็เป็นอย่างเราเหมือนกัน คนอยู่มากเข้าๆ คลองกลายเป็น ที่ระบายน้ำเสีย จะไม่ให้ระบายลงคลอง แล้วจะไปลงที่ไหน พอเขาเก็บเงินได้ ทุ่มลงไป น้ำใสก็เกิดขึ้นทันตา

ท่านที่ชอบเรียกตัวเองว่า “ผู้ทรงเกียรติ” หยุดโกงสักสามสี่ปีได้ไหม? เอาเงินมาช่วยจังหวัดใหญ่ๆ แก้ปัญหาน้ำเสีย สำหรับกรุงเทพฯ ใช้สามหมื่นหกพันกว่าล้านบาท ถ้าจะให้ท่านผู้ทรงเกียรติ หยุดโกง ก็เหมือนจะหาหนวดเต่า เขากระต่าย คงจะรอไปชาติหน้า ๒๕ น. จึงค่อยทำ ค่อยไป ตามกำลังเงิน ที่กทม. สามารถประหยัดได้ แก้ไขน้ำเสีย ไปทีละคลองสองคลอง สักวันหนึ่ง คงแก้ได้หมด เด็กๆ คงจะได้ชื่นชมกับคลอง เหมือนสมัยผมเป็นแน่

เมื่อผมขึ้นเป็นนักเรียนนายร้อย ได้ไม่เท่าไหร่ เราก็ย้ายบ้านอีกครั้งหนึ่ง ไปอยู่ซอยสายสัมพันธ์ ทางไปวัดกระจับพินิจ คราวนี้ บ้านใหญ่กว่าเก่าหน่อย พ่อจ้างช่าง มาสร้างเสร็จหมด ผมไม่ต้องตีฝ้า เหมือนคราวที่แล้ว แต่ผมก็ไม่วายขี้เหนียวอยู่ดี วันหยุด ผมนัดเพื่อนนักเรียนนายร้อย ไปช่วยกันสร้างรั้ว วรวิทย์ และวิเชียร ช่างจำเป็น ต่อมาได้เป็นนายพล พร้อมๆกับผม

ขณะเป็นนักเรียนนายร้อย ได้กลับบ้านไม่บ่อยนัก กลับบ้านทีไร ก็หอบหนังสือไปดูที่บ้าน เพราะผมต้องเป็นคน เรียนเก่งตลอด เวลาสอบ ถ้าพลั้งพลาด ก็ไม่ต้องเกินที่ ๓ คะแนนความประพฤติ ต้องเต็ม ๑๐๐ ทุกปี เรื่องมุดรั้วหนีโรงเรียน ที่เพื่อนๆชอบกันมาก ถือว่า ตื่นเต้นดีนั้น ผมไม่เคย

สมัยนั้น ในโรงเรียนนายร้อย มีห้องขังไว้ สำหรับขังนักเรียน ที่ถูกตัดคะแนนความประพฤติด้วย โรงเรียนเข้มงวด เรื่องระเบียบวินัยมาก พลาดเป็นได้เรื่อง ต้องหอบที่นอนเข้ากรง

นักเรียนนายร้อย เรียนหนัก ฝึกหนัก ตามหลักสูตรเวสท์ปอยต์ ของอเมริกา เรียนหมดทุกวิชา ที่เรียนกันตามมหาวิทยาลัย ดูเหมือนจะมี วิชาแพทย์เท่านั้น ที่ไม่ได้เรียน วิศวกรรมก็เรียนหมด ทั้งโยธา ไฟฟ้า เครื่องกล

นักเรียนนายร้อย ถูกบังคับให้เรียนภาษาไทยด้วย เรียนตั้งแต่ อิลราชคำฉันท์ เล่มบางๆ ไปจนถึงรามเกียรติ์ สามก๊ก หลายเล่มจบ

ภาษาไทย ผมก็ต้องสนใจมากเช่นกัน เพราะทุกวิชา จะต้องพยายามเอาที่ ๑ ให้ได้ ตอนเรียน ก็ค้านในใจว่า เราเรียนเพื่อไปรบ ไปฆ่าข้าศึก ทำไมจึงต้องมา นั่งท่องภาษาไทยด้วย

เมื่อจบมาแล้ว จึงทราบความจริงว่า ทุกวิชาที่เรียนไป ได้ประโยชน์ทั้งนั้น การตัดสินใจได้ถูกต้อง ในแต่ละครั้งนั้น เราไม่สามารถ แยกแยะได้ว่า เป็นเพราะ เราเรียนวิชาไหนมา

แม้กระทั่ง วิชาภาษาไทย ผมก็เคยได้ใช้ประโยชน์บ่อยครั้ง เช่นตอนที่เพิ่งกลับจาก เรียนปริญญาโท การบริหาร จากสหรัฐอเมริกา มาใหม่ๆ ตอนนั้นมียศแค่พันตรี กองบัญชาการทหารสูงสุด กำหนดให้ผมและคณะ ที่จบมาจากนอก สอนหลักสูตร การบริหารทรัพยากร เพื่อการป้องกันประเทศ ร่วมกับอาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เช่น ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นต้น ผมหยิบยกกลอนที่ว่า “ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอย ยังไม่เคยเชยชิดพิสมัย ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย จะชื่นใจเหมือนสตรี ไม่มีเลย” ขึ้นมาอธิบาย เกี่ยวกับเรื่อง”นามธรรม” นักบริหาร จะต้องคิดทั้งรูปธรรมและนามธรรม นามธรรมวัดเป็นตัวเลขไม่ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ ของผู้ที่ตีราคา ว่าจะให้ค่าเท่าไร เช่นที่กลอน บทนั้นบอกไว้ พระอภัยเห็นว่า ดอกไม้ร้อยชนิด หอมหวนชวนชม สู้สตรีนางหนึ่งไม่ได้

เรียนภาษาไทย ทำให้จำเก่ง โดยเฉพาะโคลงกลอน มีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณสุภาพ คลี่ขจาย หรือที่ใช้นามปากกาว่า “ฉัตร เชิงดอย” เข้าพิธีแต่งงานอีกครั้ง เขียนโคลง เที่ยวบอกกับชาวบ้าน ใส่ไปในบัตรเชิญว่า “ครั้งหนึ่ง ชีวิตคู่เคยก้าวพลาด…” น่าทึ่งมาก แต่งงานมา ครั้งหนึ่งแล้ว ยังมาเที่ยวบอกให้คนอื่นรู้ คนอย่างนี้ก็มีด้วย แสดงให้เห็น ถึงสัญชาตญาณของคนตรง

ผมอยากจะเขียนโคลง เสริมให้กำลังใจ แต่ผมก็ไม่ถนัด เลยโทรศัพท์ ให้คุณศิริลักษณ์เขียน และบอกผม พอเข้าไปในงาน ผมก็ไปกระซิบ กับเจ้าบ่าวเจ้าสาว และคุณพ่อคุณแม่ของเจ้าบ่าวเจ้าสาว เจ้าสาวดีใจใหญ่ บอกว่า ชอบโคลง บรรทัดสุดท้ายมากที่สุด จะท่องให้เจ้าบ่าวฟัง จนขึ้นใจ หรือไม่ก็ตัด แปะไว้บนหัวเตียง

เมื่อถึงเวลากล่าวอวยพร พล.อ.วันชัย เรืองตระกูล ซึ่งเมื่อตอนเป็นนักเรียนนายร้อย ปีที่ ๕ เป็นหัวหน้ากอง ปกครองผม ผมเป็นนักเรียน เตรียมนายร้อย ปีที่ ๑ ท่านได้ขึ้นไปกล่าวถึงความรู้สึก เกี่ยวกับโคลงที่เจ้าบ่าวแต่ง คุณสุภาพรีบขึ้นไป กล่าวเสริมว่า โคลงของผม เพราะกว่านั้นเสียอีก เจ้าสาวชอบมาก ขอให้ผมออกไปท่อง ให้แขกทั้งหมดฟัง

ครั้งหนึ่งชีวิตคู่เคยก้าวพลาด
ครั้งนี้อย่าประมาทจงก้าวใหม่
จงสุขสันต์วันวิวาห์ตลอดไป
อย่าก้าวใหม่บ่อยนักมักไม่ดี”

เมื่อผมท่องเสร็จ ก้าวลงจากเวที หลายคนขอจดทันที ล้วนแล้วแต่ เป็นสุภาพสตรีทั้งนั้น

กลางเดือนธันวาคม ๒๕๓๒ สวนหลวง ร.๙ จัดงานใหญ่ เจ้านายท่าน ให้ผมอ่านบทกวีด้วยคนหนึ่ง ในหอรัชมงคล ซึ่งมีการถ่ายทอดโทรทัศน์ ผมอ่านบทของอิเหนา ตอนบุษบา อ่านสาร ดอกปะหนัน ซ้อมอยู่เป็นเดือน เพราะกลัวจะพลาด เวลาทำงานเหนื่อยๆ เครียดๆ กลับไปบ้าน ซ้อมอ่านบทกวี หายเครียดได้เหมือนกัน

วันซ้อมครั้งที่สอง ผมสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ ได้หมายเลขแล้ว ขณะซ้อมอ่าน เมื่อมาถึง ตอน “แม้นแผ่นดิน สิ้นชายที่พึงเชย…” คุณหญิงท่านหนึ่ง เสนอว่า ท่อนต่อไป ควรเปลี่ยนให้ทันสมัย ผมจึงซ้อมอ่านใหม่ อ่านเล่นๆ

“แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย เลือกผมเสียเลยจะดีกว่า เบอร์ ๕ ครับ”

ประชาธิปไตยเบ่งบาน ในโรงเรียนนายร้อย มานานแล้ว ทุกปีจะมีการคัดเลือก นักเรียนชั้น ปีที่ ๕ ให้ดำรงตำแหน่งสูงสุด ของโรงเรียน คือหัวหน้านักเรียนนายร้อย มีหน้าที่ปกครอง ดูแลนักเรียนนายร้อยทั้งหมด มีอำนาจที่จะตัดคะแนน ความประพฤตินักเรียนนายร้อย ได้ด้วย เป็นหัวหน้านักเรียนนายร้อย แต่งตัวโก้ ติดเครื่องหมาย ตราแผ่นดินบนบ่า เวลาเดินสวนกัน นักเรียนนายร้อยชั้นผู้น้อย จะต้องหยุด ทำความเคารพ ได้เงินเดือน เดือนละ ๒๔๐ บาท ซึ่งสมัยนั้น ก็เป็นเงินไม่น้อยนัก พอใช้จ่ายอย่างสบาย คัดเลือกจาก คะแนน ของนายทหาร ผู้บังคับบัญชา อาจารย์ และนักเรียนนายร้อยด้วยกันเอง ทั้งโรงเรียน

ผมได้เป็นหัวหน้านักเรียนนายร้อย เมื่อปี ๒๕๐๒ คาดกระบี่เดินหน้าแถว นำนักเรียน จากโรงเรียนนายร้อย หน้าสนามมวยราชดำเนิน เดินข้ามสะพานมัฆวาน ไปเรียนที่ กองการศึกษา หน้ากระทรวงศึกษาธิการ และเดินกลับ ซึ่งสมัยนั้น รถรายังน้อย เดินแถวได้สะดวก เป็นขบวนเดิน ที่สวยงามทีเดียว

เป็นหัวหน้านักเรียนทั้งที ก็ต้องทุ่มเทให้กับโรงเรียน เห็นผู้ใหญ่ทำอะไรไม่ถูกไม่ต้อง ผมก็คัดค้าน โดยเฉพาะ เรื่องที่ส่อไปในทางทุจริต เช่นเรื่องที่เกี่ยวกับ กำไรค่าข้าว เรื่องการประมูลต่างๆ จึงไม่เป็นที่พอใจ ของนายทหารบางคน แต่เอาผิดผมไม่ได้ เพราะผมดี ทั้งการเรียน และความประพฤติ

มาถึงเรื่อง ที่ผมจะต้องถูกทำโทษแน่ๆ แต่คิดแล้วว่า เลี่ยงไม่ได้ ถ้าจะต้องทำเพื่อส่วนรวม เหมือนอย่างที่ รุ่นพี่ๆ เคยทำกันมาแล้ว จะมีโทษก็ต้องยอม

เพื่อความไม่ประมาท ผมก็ขอร้องให้เพื่อน ที่เป็นลูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ มาร่วมเป็นกรรมการกับผมด้วย เช่น นักเรียนนายร้อย วีรยุทธ อินวะษา และนักเรียนนายร้อย เอื้อมศักดิ์ จุลละจาริต ซึ่งคุณพ่อ เป็นพลเอกทั้งคู่ อีกคนหนึ่งชื่อ ธรรมนูญ สมัยนั้น คุณพ่อใหญ่มาก เป็นที่สอง รองจากจอมพลสฤษดิ์

เราจัดฉายหนังรอบพิเศษ ที่ศาลาเฉลิมไทย เรื่อง “สลี้บปิ้งบิวตี้” ฉายเสร็จแล้ว ไม่บิวตี้สมชื่อ

โรงเรียนนายร้อย ออกหนังสือชมเชยว่า ผมและคณะกรรมการ ประกอบคุณงามความดี ฉายหนัง นำกำไรทั้งหมด มาซื้อเครื่องดนตรี เครื่องกีฬา และวิทยุเครื่องใหญ่ ให้กับสโมสรนักเรียน ถัดจากนั้น ก็มีคำสั่งปลดผม และกรรมการทุกคน ออกจากตำแหน่ง นักเรียนผู้บังคับบัญชา มาเป็นนักเรียนลูกแถว

“ขัดคำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก” เป็นข้อหาแรก ตามด้วยอีกหลายข้อหา “มีโทษจำคุก ก็ไม่เกิน ๒๐ ปี” โดนข้อหานี้ เพียงข้อหาเดียว ก็เหลือที่จะรับ

นักเรียนนายร้อยธรรมนูญ นึกอย่างไรไม่รู้ ปฏิเสธว่า ไม่ได้ร่วมกันจัดฉายหนัง ผมขี้เกียจอ้อนวอน ไม่รับก็อย่ารับ โชคดีที่ คุณพ่อของวีรยุทธ และคุณพ่อของเอื้อมศักดิ์ ท่านให้กำลังใจลูกๆว่า เมื่อทำเพื่อส่วนรวมแล้ว จะต้องรับผิด ก็ไม่เห็นเป็นไร ประกอบกับพวกเราเกือบทุกคน เรียนเด่น ความประพฤติดี นายทหารปกครอง และอาจารย์ช่วยไว้ จึงถูกลงโทษ รับกระบี่หลัง ๓ เดือน ๗ คน และรับกระบี่หลัง ๑ เดือน ๓ คน ผมแน่นอน อยู่ในพวกแรก ธรรมนูญอยู่ในพวกหลัง

ที่จริงแล้ว ผมไม่ใช่รุ่น ๗ แต่เป็นรุ่น ๗/๒ วีรยุทธ และเอื้อมศักดิ์ ต่อมาเป็นนายพลหมด ส่วนธรรมนูญรุ่น ๗/๑ นั้น ลาออก ตอนเป็นร้อยโท เดี๋ยวนี้ ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน หายเงียบไป

เราขัดคำสั่งจริงๆ เพราะจอมพลสฤษดิ์ ท่านเคยสั่ง ห้ามนักเรียนนายร้อย จัดฉายหนังรอบพิเศษ เพราะจัดทีไร ต้องไปรบกวน เชิญนายทหารผู้ใหญ่ทุกที เราจะจัดรอบธรรมดา ก็ไม่มีกำไร จัดฉายรอบหกโมงเช้า ค่าเช่าโรงถูกดี

เมื่อเกิดเรื่องขึ้นมา จอมพลสฤษดิ์ท่านเห็นใจ ฝากพระกริ่ง ผ่านอนุศาสนาจารย์ ไปให้พวกเราคนละองค์ เพื่อปลอบใจ และให้บำเหน็จพิเศษ คนละขั้น ซึ่งที่จริงจะต้องงดบำเหน็จ เพราะออกรับกระบี่หลังเพื่อนๆ ทำงานไม่เต็มปี

เคยใหญ่ที่สุด ต้องกลับมาเล็กที่สุด มาเป็นลูกแถว เพื่อนจบเป็นนายทหารไปแล้ว เราต้องเป็นนักเรียนถูกแถว ต่ออีกถึง ๓ เดือน เพื่อนได้เงินเดือน ๑,๐๕๐ บาท ผมและคณะ ได้เบี้ยเลี้ยงวันละ ๑๐ บาท เดือนกุมภาพันธ์ปีนั้น เกิดมี ๒๘ วัน เลยได้แค่ ๒๘๐ บาท

ไพโรจน์ ตัวตั้งตัวตีคนหนึ่ง ของรุ่น ๗/๒ เล่าให้ฟังว่า คุณพ่อเสียใจมาก เพราะซ้อมไปงานรับพระราชทานกระบี่ ไว้ล่วงหน้าหลายเดือน ตัดเสื้อผ้าใหม่เอี่ยม เตรียมจะถ่ายรูปกับลูก แล้วจู่ๆ ไพโรจน์ก็อดรับพระราชทานกระบี่ ทั้งๆที่เป็นคนเรียนเก่ง มาตลอดเหมือนกัน เมื่อครบกำหนดโทษ พวกเราทั้ง ๑๐ คน รับกระบี่อย่างเงียบๆ เศร้าซึมๆ จากรองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย รับเสร็จแล้ว ก็เดินลงบันใดไป ไม่มีใครไปแสดงความยินดี ไม่มีพิธีฉลองกระบี่

ในงานศพคุณพ่อไพโรจน์ ผมกราบที่ศพ พร้อมกับพูดในใจ “คุณลุงครับ คุณลุงจากพวกเราไปแล้ว คุณลุงยกโทษให้ผมด้วย ผมขออโหสิ ที่เป็นหัวโจก จัดฉายหนัง ทำให้คุณลุงผิดหวัง ไม่ได้ไปงานรับพระราชทานกระบี่”

การเป็นหัวโจก กล้ารับผิด กล้าเสี่ยง ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น แต่สืบต่อมาจนถึงวันนี้ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ผมจะแอ่นอกเข้าไปรับ เป็นไรก็เป็นกัน เพราะผมคือผม จำลอง ศรีเมือง เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเป็น

ผมเป็นคนไม่มีอนาคต เป็นหรือไม่เป็นอะไร ก็ได้ทั้งนั้น ขอแต่ให้คงความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ลู่ไปตามลม ทำความดีเพื่อส่วนรวม เป็นใช้ได้

พล.อ.ปัญญา สิงห์ศักดา เล่าให้ผมฟังว่า ตอนที่ท่านเป็นเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี ได้ไม่นาน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ของกทม. คนหนึ่ง ทราบว่า ผมเคยเป็นลูกน้องท่าน สมัยไปรบเวียดนาม จึงถามถึงอุปนิสัยของผม

“จำลอง น้องอย่าโกรธนะ พี่บอกกับคนที่มาถาม พี่บอกว่า จำลองมีลักษณะผู้นำสูงมาก เป็นลูกน้องใครไม่ใคร่ได้ เป็นนายได้อย่างเดียว และเป็นได้อย่างดี ขอให้ทำตามจำลองเถอะ เป็นใช้ได้ ไม่มีปัญหา”

ผมไม่รู้ว่า พี่ปัญญาชมหรือด่า คงทั้งสองอย่าง ตอนอยู่เวียดนาม ผมเคยขัดกับท่านน่าดู นายทหารฝ่ายเสนาธิการ ที่ทำงานอยู่กับท่าน จึงได้สองขั้นหมด ยกเว้น พี่ศัลย์ ศรีเพ็ญ พี่มงคล พุ่มหิรัญ และผม

เราสามคนชอบค้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรการ เรื่องการฝึก หรือการรบ เห็นว่าอะไรไม่ถูกต้อง ค้านทั้งนั้น ค้านทั้งๆที่รู้ว่า พี่ปัญญาเป็นนาย เราเป็นลูกน้อง แล้วจะได้สองขั้น ได้อย่างไร

โรงเรียนกินนอนแห่งแรกของผม คือบ้านคุณนาย แห่งสุดท้ายคือโรงเรียนนายร้อย ที่อบรมบ่มสอน ทุกอิริยาบถ ผมได้อะไรๆ ติดตัวมาจาก โรงเรียนนายร้อยมากมาย

หลักสูตรเวสท์ปอยต์ มุ่งสอนให้เป็นสุภาพบุรุษ เรานักเรียนนายร้อยทุกคน ต้องผ่านระบบ ”ซ่อม” ซึ่งเหน็ดเหนื่อย สาหัสสากรรจ์ที่สุด ในชีวิตนักเรียนนายร้อย เวลากินไม่เป็นอันกิน เวลานอนไม่เป็นอันนอน รุ่นพี่จะออกคำสั่ง ให้ทำอะไรแปลกๆ เหนื่อยๆ และอายๆ จนไม่อาย เพื่อฝึกให้มีความอดทน รักหมู่ รักคณะ รักพวก รักพ้อง เคารพเชื่อฟังรุ่นพี่

จบจาก รั้วแดงกำแพงเหลือง เมื่อวันเวลาผ่านไปๆ อะไรดีๆที่เราได้รับ สมัยเป็นนักเรียนนายร้อย ก็ค่อยๆเลือนเลอะ และเลือนหายไป หลายคน เมื่อผลประโยชน์เข้ามา ความเข้มข้นของสายเลือดก็จางไป พี่ฆ่าน้อง เพื่อนฆ่าเพื่อน ได้อย่างเลือดเย็น

“ถึงจะชั่วก็ชั่วแต่ตัวยักษ์ สุริยวงศ์ พงศ์ศักดิ์หาชั่วไม่” ผมจะไม่มีวันเป็นเช่นนั้น เป็นอันขาด

ตลอดเวลา ๕ ปี เต็มๆ ทุกครั้งที่ผ่านพระบรมรูป ในหลวงรัชกาลที่ ๕ องค์พระประมุข ผู้พระราชทานกำเนิด โรงเรียนนายร้อย เรานักเรียนนายร้อย จะต้องหยุด ทำความเคารพ และเปล่งด้วย เสียงอันดังว่า “ข้าฯ จักรักษามรดก ของพระองค์ท่านไว้ด้วยเลือด”

คำนั้น จะก้องหูอยู่เสมอ สำหรับผู้ที่คงไว้ ซึ่งอุดมการณ์

 

อ่านต่อ / ๙. นายทหารใหม่