ชีวิตจำลอง

๑๑. สมใจนึก

คำสั้นๆว่า “หัวเส” นั้นหมายถึง หัวเสนาธิการ วางแผนเก่ง “เส” มาจากตัวย่อ “เสธ” ซึ่งคำเต็มก็คือ “เสนาธิการ” นายทหารทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทหารบก ถ้าอยากก้าวหน้า ก็ต้องเข้าโรงเรียนเสนาธิการ

คนที่จบจากโรงเรียน เสนาธิการทหารบกใหม่ๆ มีสิทธิ์เลือก จะไปรับราชการที่ไหน ตำแหน่งอะไรก็ได้ ที่ยังว่างอยู่ โดยใครได้คะแนนดี ก็มีสิทธิ์เลือกก่อน ผมเลือกไปเวียดนาม ในตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายวางแผน ของหัวหน้ายุทธการ กองพลอาสาสมัครไทย ในเวียดนาม เข้ารับการฝึกที่กาญจนบุรี ๖ เดือน แล้วเดินทางไปอยู่ที่ค่ายแบร์แค็ท จังหวัดเบียนหว่า รุ่นนั้นมี พลเอกวันชัย เรืองตระกูล พลเอกปัญญา สิงห์ศักดา พลโทชัชชม กันหลง และ พลโทเสริม ไชยบุตร เป็นหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการ ล้วนแล้วแต่เป็นรุ่นพี่ ที่เคยรู้จักกัน มาก่อนแล้วทั้งนั้น

กลับจากเวียดนามได้ประมาณ ๑ ปี ผมได้รับคัดเลือก จากกองบัญชาการทหารสูงสุด ให้ไปศึกษาปริญญาโท ทางการบริหาร ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งผมใฝ่ฝันมานานแล้ว เมื่อตอนจบใหม่ๆ โรงเรียนนายร้อย ขอตัวไปเป็นอาจารย์คณิตศาสตร์ เพื่อเตรียมตัวรับทุน ไปทำปริญญาโท แต่โชคไม่ดี ทุนหมด เลยไม่ได้ไป

ผมไปนอกคราวนั้น พร้อมกับอาจารย์สมพันธ์ (พลโทสมพันธ์ เรืองไวทยะ) ซึ่งเคยสอนผมมา สมัยที่ผมเป็นนักเรียนนายร้อย ไปกับครูบาอาจารย์ ยิ่งอุ่นใจขึ้น นับเป็นรุ่นแรก ที่ได้ไปเรียญปริญญาโทด้านบริหาร ที่บัณฑิตวิทยาลัย มอนเตอเรย์ แคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยแห่งนั้น เป็นของทหาร ดำเนินการโดยคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายพลเรือน มีชื่อเสียงทางด้านวิชา “การวิจัยเชิงปฏิบัติการ” และวิชาการบริหาร นักเรียนส่วนใหญ่ จะคัดมาจาก ผู้ที่จบโรงเรียนนายร้อย และโรงเรียนนายเรือของสหรัฐ ซึ่งเป็นหัวกะทิ เกือบทั้งสิ้น

อาจารย์สมพันธ์และผม ต่างก็พาภรรยาไปด้วย ไปช่วยทำกับข้าว ช่วยทำงานบ้าน และช่วยเรียนหนังสือ เรื่องค่าใช้จ่าย ไม่ต้องพูดถึง เขาออกให้ อยู่ได้อย่างสบาย เวลาเจ็บป่วย ก็รักษาพยาบาลให้ฟรี ทั้งสามีภรรยา

มอนเตอเรย์ เป็นเมืองเล็กๆ นอกจากเป็นเมืองการศึกษาแล้ว ยังมีชื่อเสียงมาก เรื่องการท่องเที่ยว ชายหาดสวยงามยิ่ง ไปใหม่ๆ ผมเช่าบ้าน อยู่บนเนินเขาริมทะเล มีความเป็นอยู่ คล้ายๆ เศรษฐี ขี่รถมัสแตงเสียด้วย

อยู่ต่อมารู้สึกว่า ไปโรงเรียนไม่สะดวก เพราะรถมัสแตงเสียอยู่เรื่อย ผมซื้อมาราคา ๓๐๐ เหรียญ เท่านั้นเอง จะซื้อรถดีกว่านั้น ก็ไม่มีเงิน จึงตัดสินใจย้ายไปเช่าบ้านอยู่ ข้างโรงเรียนดีกว่า อยู่ในหมู่นักเรียนไทยด้วยกัน รถเสียหรือมีปัญหาอะไร จะได้พึ่งพากัน

รสมัสแตง เอาไว้ให้คุณศิริลักษณ์ ขับไปซื้อกับข้าว และใช้สำหรับไปเที่ยวด้วยกัน ในวันหยุด ส่วนผมซื้อรถใหม่อีกคันหนึ่ง รถจักรยานราคา ๒ เหรียญ จากร้านขายของเก่า เส้นทางจากบ้านไปโรงเรียน เป็นทางลาด ผมเพียงแต่นั่งบนอานจักรยานเฉยๆ ปล่อยให้รถไหลไป ก็ถึงโรงเรียน โดยไม่ต้องออกแรงถีบเลย ขากลับต้องออกแรงมากหน่อย

ต้องสารภาพว่า เคยร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ จนเป็นพันตรี ไม่เคยเรียนหนักเท่าคราวนั้นเลย นายทหารต่างชาติหลายคน ถูกส่งตัวกลับ เพราะเรียนไม่ไหว นายทหารฝรั่งบางคน ตกกลางคัน เรียนไม่จบ

กลับมาเมืองไทย กองบัญชาการทหารสูงสุด เปิดหลักสูตรบริหาร สำหรับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ยศพันเอกและพลตรี ผมใส่เสื้อนอก สอนหลักสูตรนั้น พร้อมๆกับนายทหารคนอื่นๆ ที่จบจากมอนเตอเรย์ใหม่ๆ วิทยากรส่วนใหญ่ ได้จากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เช่น ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นต้น

ผมสอนเรื่องการบริหาร เพียงคำว่า “การบริหาร” ก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร จึงจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง เพราะเรียนมาจากฝรั่ง ตำราเล่มหนึ่ง ก็ว่าไปอย่างหนึ่ง นึกถึงคำกลอน ที่อาจารย์กนก นักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับ ท่านอดีตนายกเปรม ซึ่งบ้านอยู่ใกล้ๆกัน และท่องให้ผมฟังบ่อยๆ ท่านเป็นคนชอบสนุก ยกเอาตอน ขุนหมื่น อำมาตย์เอกของท้าวสามล กำลังควบคุมการก่อสร้างกระท่อม

“ไอ้มีโค่นไผ่ ไอ้ใจขุดหลุม ไอ้ชั้นไอ้ชุ่ม คุมกันไปเกี่ยวแฝก เสร็จแล้วเกลาเสา เอาไว้ย้ายแยก เสร็จงานกูจะแจก ของแปลกๆ ชอบกล”

เลยเอากลอนบทนี้ ไปอธิบายความหมายของการบริหาร นายทหารผู้ใหญ่ ที่เข้ารับการอบรม ชอบใจกันใหญ่

“การบริหาร คือการทำให้คน ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ทำงานร่วมกันได้ โดยบรรลุวัตถุประสงค์ จากบทกลอนนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้บริหาร คือขุนหมื่น ที่อำนวยการ ให้คนชื่อมี ชื่อใจ ชื่อชั้น ชื่อชุ่ม ทำงานร่วมกัน สร้างกระท่อมสำเร็จ ส่วนสี่คนนั้น ไม่ใช่ผู้บริหาร”

ผมยังสอนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์อีกด้วย ในเรื่อง “การวิเคราะห์ความคุ้มทุน” ซึ่งวิชานี้ จำเป็นมากสำหรับนักบริหาร ตัวผมเอง ก็ได้ประโยชน์จากวิชานี้ ในการตัดสิน ตกลงใจทุกครั้ง

การเรียนต่อปริญญาโท ทำให้ผมหูตากว้างขวางขึ้น พูดคุยกับนักวิชาการรู้เรื่อง ต้องขอขอบพระคุณ ท่านอาจารย์ พีรยุทธ (พลตรีพีรยุทธ พิริยะโยธิน) อาจารย์สมัยผมเป็นนักเรียนเสนาธิการ ที่กรุณาสนับสนุนแนะนำ ให้ผมได้ไปเรียนต่อสมใจนึก

 

อ่านต่อ / ๑๒. ๖ ตุลา /