ชีวิตจำลอง

๑๓. เหมือนเตรียมเป็นผู้ว่าฯ

“ถูกใจก็คบกันไป คบกันไป เพราะผมเป็นคนไม่สนอะไร ไม่เคยคิดกวนใจใคร สบาย สบาย “ เพลงที่เบิร์ท น้องคุณแค็ทเธอรีน ร้องจนมีชื่อเสียงโด่งดัง คิดๆดู ผมก็มีลักษณะสบาย สบาย อย่างนั้น

นอกจาก “ไม่เคยคิดกวนใจใคร”แล้ว ยัง“ชอบแส่เรื่อยไป” เห็นใครมีปัญหาอะไร ชอบเข้าไปยุ่งกับเขาอยู่เรื่อย ทั้งๆที่บางครั้ง ไม่ใช่หน้าที่ของผมโดยตรง แต่ก็อดไม่ได้

ถูกใจคนที่คบหากันมานาน แล้วยังมีอุดมการณ์เหมือนเดิม เช่น ดอกเตอร์เรือน คุณเครือวัลย์ หมอชิดพงษ์ คุณมาลี และอีกหลายๆคน ซึ่งเป็นชาวหมู่บ้านชินเขต, ประชานิเวศน์๒ และชาวหมู่บ้านอื่นๆ อีกมากมาย

เดือนตุลาปี ๒๕๒๑ ผมเป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยนายกรัฐมนตรี เกรียงศักดิ์ ตอนนั้น ผมมียศเป็นพันโท เห็นชาวบ้านเสื้อผ้าเปียกปอน พากันไปร้องเรียนที่บ้านท่านนายก เพราะน้ำท่วม ต้องแช่น้ำอยู่หลายวัน ไม่มีใครไปช่วย ผมได้ยินท่านสั่งการทางโทรศัพท์ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไปแก้ปัญหาโดยเร็ว

น้ำท่วมบริเวณทุ่งสองห้อง ริมคลองประปา ถนนประชาชื่น แจ้งวัฒนะ งามวงศ์วาน และบริเวณรอยต่อ กรุงเทพ - นนทบุรี - ปทุมธานี รวมพื้นที่นับร้อยๆไร่ บางแห่งน้ำสูงถึงหัวไหล่ ไม่ใช่ธรรมดา

วันนั้นท่านนายก ไม่ได้สั่งอะไรผม เพราะผมไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง แต่ด้วยความเป็นคนชอบ ส.ท.ร. (แส่ทุกเรื่อง) จึงตามไปดูที่เกิดเหตุ บริเวณหน้าซอยชินเขต ถ้าไม่ได้ไปดู ก็ไม่รู้ว่าประชาชนเครียดแค่ไหน

ฝั่งนี้แห้งมาก ข้ามถนนงามวงศ์วานไปนิดเดียว ฝั่งโน้นน้ำท่วมเกือบมิดศีรษะ เพราะอยู่นอกเขตป้องกัน แล้วจะไม่ให้ชาวบ้านเคียดแค้น ได้อย่างไร แค้นถึงขนาด นัดแนะกันแล้วว่า จะพากันไปพังเขื่อน พังและทำลา เครื่องสูบน้ำ ผมจึงรีบโทรศัพท์ เรียนให้ท่านนายกทราบ พร้อมกับเรียนเสนอแนะ ขอให้ท่านแม่ทัพภาคที่ ๑ คือ พลโทเทพ กรานเลิศ และ ผู้บัญชาการทหารบก คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ส่งรถทหาร ไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ขณะเดียวกัน ก็โทรศัพท์ไปประสานกับ พ.ท.มนูญ รูปขจร ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ ๔ (ม.พัน ๔) ไว้ล่วงหน้า เมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา จะได้ปฏิบัติได้ทันที

ไม่เกิน ๓๐ นาที รถ ม.พัน ๔ ก็มา ตามด้วยรถกรมการขนส่งทหารบก วิ่งตามกันมาเป็นทิวแถว ชาวบ้านก็ยิ้มออก ทหารนำรถวิ่งเข้าไป ช่วยทุกซอย ชาวบ้านโบกไม้โบกมือ เลิกคิดที่จะพังเขื่อน พังเครื่องสูบน้ำ นอกจากนั้น ซอยไหนน้ำลึกมาก ยังเอาเรือท้องแบนของทหาร เข้าไปช่วยขนผู้คน ขนข้าวของ อพยพหนีน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อน เรื่องอื่นๆ

ตอนบ่าย พลเอกเปรม นั่งรถบรรทุกของ ม.พัน ๒ เข้าไปตรวจพื้นที่น้ำท่วม ตอนค่ำ นายกเกรียงศักดิ์ นั่งรถจี๊ป ลุยเข้าไปปลอบใจ ประชาชนอีก

ตั้งแต่วันนั้นมา ผมก็รับหน้าที่ เป็นผู้ประสานงาน การแก้ปัญหาน้ำท่วมแต่ผู้เดียว ทั้งเรื่องการทำน้ำให้แห้ง และบรรเทา ความเดือดร้อนสารพัด ผมติดอยู่ที่นั่น ๓๑ วันเต็มๆ ชาวบ้านหลายคน นึกว่าผมมีบ้านอยู่แถวนั้น แท้ที่จริง ผมอยู่ถึงซอยจันทิมา (ถนนลาดพร้าว ซอย ๘๐)

ช่วงนั้น ตรงกับวันลอยกระทงพอดี ชาวซอยจันทิมาบางคน นัดกันจะประชด ทำให้ผมเสียหาย ด้วยการจัดลอยกระทง ที่ถนนหน้าบ้านผม ซึ่งระดับน้ำสูงครึ่งหัวเข่า เพราะมัวแต่ไปช่วยที่อื่น หน้าบ้านของตัวเองไม่ช่วย ดีว่าขอร้องทัน จึงไม่เกิด การหักหน้ากันขึ้น

คนที่ไม่ไปเห็นก็ไม่รู้ว่า เวลาน้ำท่วม เขาเดือดร้อนกันแค่ไหน เพียงส้วมตันอย่างเดียว ก็ยุ่งแล้ว จะถ่ายสะเปะสะปะ ปล่อยให้ลอยฟ่อง ไปเข้าบ้านโน้น ออกบ้านนี้ ก็ไม่ได้ ต้องถ่ายใส่ถุง แล้วเอาไปทิ้งลงถัง ถ่ายใส่ถุง อึดอัดขนาดไหน แล้วจะไม่ให้เครียดได้อย่างไร

ใครบ้านอยู่ในซอยลึกๆ เดินลุยน้ำ กว่าจะออกมาถึงปากซอย ใช้เวลาตั้งครึ่งค่อนชั่วโมง เรื่องแรกสุดที่จะต้องทำ คือจัดรถทหาร เรือทหาร ช่วยบริการให้ฟรี ผมเคยให้เจ้าหน้าที่นับสถิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันหยุด ปรากฏว่า ผู้คนเข้าออกกันมากเหลือเกิน แทบจะอยู่ ไม่ติดบ้าน เพราะน้ำท่วมหมด ทำอะไรก็ไม่ได้ ขืนอยู่เป็นโรคจิตกันพอดี เวลาจะถ่ายหนัก ถ่ายเบา ก็อาศัยขึ้นรถทหาร ลงเรือทหาร ไปทำธุระ ที่ปั๊มน้ำมันปากซอย ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง

ศูนย์ประสานงาน ที่ผมตั้งอยู่ริมถนน มีพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดรถ จัดเรือ มีหมอ มีพยาบาล มีตำรวจ บ่ายวันหนึ่ง หมอผู้ใหญ่ จากโรงพยาบาลพระมงกุฎ แวะไปเยี่ยม และถามว่า ขาดแคลนหมอประเภทไหนอีก ผมตอบทันทีว่า “จิตแพทย์ครับ” คุณหมอท่านส่ายหน้า และกล่าวว่า จิตแพทย์ ไปพบเหตุการณ์อย่างนั้น จิตแพทย์เองก็แย่เหมือนกัน

ผู้ที่เข้าไปติดต่อกับศูนย์ประสานงาน ล้วนหน้ายู่หน้ายับ บางรายเดินด่าบรรพบุรุษเรา มาตั้งแต่ไกล ราวกับ เราเคยไปทำอะไร ให้เจ็บช้ำน้ำใจหนักหนา

น้ำในคลองประปา เริ่มเน่าเหม็น เพราะช่วงนั้นน้ำท่วม พื้นน้ำติดต่อเป็นผืนเดียวกันหมด ดูไม่ออกว่า ตรงไหนคลอง ตรงไหนถนน ต้องเอาไม้ไผ่ไปปักไว้ เป็นระยะๆ ให้ทราบแนว คลองประปา

ผู้ที่เดือดร้อน มักมีเรื่องแปลกๆ บางราย มาแจ้งว่ารถหาย จอดใส่กุญแจทิ้งไว้ ที่ริมถนนงามวงศ์วาน เราส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตาม พบว่าไม่หาย เจ้าของลืมใส่เกียร์ ลืมใส่เบรคมือ รถไหลมุดใต้น้ำ ลงไปอยู่ในคูข้างถนน ที่ศูนย์ประสานงานของเรา จึงต้องมีรถยก ประจำ อยู่ด้วย

ผู้สื่อข่าว ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด ที่ศูนย์ประสานงาน จึงเป็นห้องแถลงข่าว ไปในตัว

อธิบดีกรมชลประทาน ท่านให้สัมภาษณ์ ออกโทรทัศน์ว่า กำลังสูบน้ำออก ด้วยเครื่องสูบน้ำ ใหญ่ขนาดไหน จำนวนเท่าใด ท่านบอก ท่านชี้แจงหมด ยืนยันระดมกัน ทั้งกลางวันกลางคืน แต่ก็แปลก ๗ วันผ่านไป น้ำไม่เห็นลด ผมจึงชวนกรรมการหมู่บ้านต่างๆ นั่งรถไปตรวจกัน พบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ปิดคลองถึง ๔ คลอง คือคลองบ้านเก่า บ้านใหม่ บางพัง บางพูด ที่สูบก็สูบออกไป ที่ไหล ก็ไหลทะลักเข้ามา

ผมรีบไปเรียนท่านนายกเกรียงศักดิ์ และประสานงานกับกรมชลประทาน กรมทางหลวง ให้ช่วยกันปิดคลองทั้ง ๔ หลังจากนั้นไม่นาน เราก็ยิ้มออก ระดับน้ำลดลงเรื่อยๆ จนเข้าสู่สภาพปกติ

น้ำท่วม เป็นเรื่องน่าประหวั่นพรั่นพรึง บางราย เดิมทีเดียวอาศัยอยู่ในเมือง เมื่อน้ำท่วมปี ๒๕๑๘ หลังจากนั้น อพยพย้ายหนี ออกไปอยู่ชานเมือง ที่หมู่บ้านชินเขต ซึ่งน้ำท่วมพอดี ปี ๒๕๒๑ ย้ายอีกครั้ง ไปอยู่หมู่บ้านเสรี น้ำก็ตามไปท่วมที่นั่นอีกจนได้ เมื่อปี ๒๕๒๓ หลายคนรู้เข้า เลยจ้องมองดูว่า จะย้ายไปไหนต่ออีก จะได้หลีกให้ห่าง

ตอนที่น้ำยังไม่ลด ถนนแทบใช้ไม่ได้ จำได้ว่า พันเอกหม่อมอดุลยเดช จักรพันธ์ นั่งรถจิ๊ปไปกับลูกน้อง มุ่งไปตรวจงาน ที่หมู่บ้านประชานิเวศน์ ๒ ไปได้ไม่เท่าไร รถจิ๊ปมุดเข้าไปอยู่ใต้น้ำ เพราะระดับน้ำสูงจริงๆ

ผมต้องตัดสินใจ นำเรือมาวิ่งในคลองประปา ทั้งๆที่ผิดกฎหมาย มิฉะนั้น ประชาชนย่านนั้น ไปไหนมาไหนไม่ได้เลย ได้อาศัยทั้งเรือของทหาร ของกทม. ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานอื่นๆ

พอด้านฝั่งกรุงเทพฯน้ำลด ฝั่งเมืองนนท์ไม่ลด ชาวนาที่อยู่เหนือๆขึ้นไป ก็มาร้องเรียน ว่าต้นข้าวตายหมด เพราะมีการถมคลอง ส่วนที่ขนานกับคลองประปา ตรงบริเวณสี่แยกประชาชื่น งามวงศ์วาน ผมรีบประสานงาน กับกรมชลประทาน เรียกรถขุดขนาดยักษ์ จากนครสวรรค์ เดินทางมาตอนกลางคืน รุ่งเช้าก็เริ่มลงมือขุด แม้ตึกแถวริมคลองส่วย จะคัดค้านก็ต้องทำ เดี๋ยวนี้ยังเป็นคลองให้เห็น ไม่ถมตันหมด เหมือนเมื่อก่อน ยังระบายน้ำได้ดี จนถึงขณะนี้

หมู่บ้านประชานิเวศน์ ๒ ที่หมอชิดพงษ์ และคุณสุมาลี อาศัยอยู่นั้น มีความสามัคคี กลมเกลียว เหนียวแน่น ช่วยกันสู้น้ำ มาเป็นเวลานาน อย่างได้ผล จนหนังสือพิมพ์บางฉบับ ขนานนามว่า “หมู่บ้านมหัศจรรย์”

จะไม่เรียกว่า มหัศจรรย๋ได้อย่างไร ตลอดเส้นทางที่เข้าไปถึงหน้าหมู่บ้าน น้ำท่วมแค่หัวไหล่ พอก้าวเข้าไปในหมู่บ้าน น้ำแห้งผากทันที ชาวบ้านสู้ศึกน้ำ เหมือนชาวค่ายบางระจัน สู้ศึกพม่า

ยิ่งสู้ก็ยิ่งล้า เพราะขาดกำลังหนุน ระดับน้ำนอกหมู่บ้าน ก็สูงขึ้นทุกที ปริ่มๆจะล้นเขื่อน ที่กั้นไว้รอบๆ ชาวบ้านส่งผู้แทนไปพบผม ที่ศูนย์ประสานงาน หน้าหมู่บ้านชินเขต ผมก็ได้อาศัยกำลังทหาร ที่มีพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ เป็นผู้บังคับกองพัน เข้าทำการช่วยเหลือ ได้ทันท่วงที หมู่บ้านประชานิเวศน์ ๒ จึงครองความมหัศจรรย์ไปได้ ตลอดหน้าฝนปีนั้น

 

อ่านต่อ ๑๔. วัดค่าสังคม