๓. ร่วมกันสู้ หน้า ๓๕ - ๔๘

ค้านนายกฯ

รัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป คือ เลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ ในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๕ นั่นหมายถึง เวลาที่คณะรสช. จะหมดอำนาจ ดังนั้น เพื่อเป็นการสืบทอดอำนาจของ รสช. หรือคณะปฏิวัติ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ต่อไปอีก จึงมีขบวนการที่พยามผลักดัน ให้ "คนกลาง" มาเป็นนายกรัฐมนตรี

คำว่า "คนกลาง" หมายถึง "คนนอก" คนที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งเป็น ส.ส.มาก่อน

หากเป็นสมัยเมื่อสิบกว่าปีก่อนโน้น จะเอา"คนนอก" มาเป็นนายกฯ ก็คงจะไม่เป็นไร ปัจจุบัน กระแสการเมืองของโลก มุ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประเทศยักษ์ใหญ่ เผด็จการคอมมิวนิสต์ อย่างรัสเซีย ก็ไม่สามารถ จะต้านกระแสประชาธิปไตยได้

สิ่งที่ประชาชนวิตกกันมาก ก็คือ การเอานายทหาร ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการปฏิวัติ เมื่อ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ มาเป็นนายกฯ เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจ เผด็จการชัดๆ

แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี

ตอนนั้น กำลังหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.อยู่พอดี เราต้องหาโอกาสป้องกันไว้ก่อน ตั้งแต่เนิ่นๆ แผนการรณรงค์ ต่อต้านไม่ให้คนนอกเป็นนายกฯ จึงเกิดขึ้น แผ่นปลิวที่เขียนด้วยลายมือผม แพร่สะพัดไปทั่ว เชิญชวนให้ประชาชนเลือก ส.ส. เป็นพรรค ถ้าเห็นว่าหัวหน้าพรรคคนไหน เหมาะที่จะเป็นนายกฯ ก็ให้เลือกส.ส. พรรคนั้นทั้งพรรค ถ้าประชาชนพร้อมใจกันเลือก ส.ส. อย่างนี้ทั่วประเทศ คะแนนจะออกมา แตกต่างกันอย่างเห็นเด่นชัด หากเลือกวิธีเก่า เลือกพรรคนั้นคนหนึ่ง พรรคนี้สองคน คละกันไป คะแนนของพรรค จะออกมาก้ำกึ่งกัน จะเป็นข้ออ้าง ให้เอาคนนอกมาเป็นนายกฯ ได้ง่ายๆ

ในการประชุมกรรมการบริหารพรรค เราพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้หยุดคิดเรื่องพรรค ให้คิดถึงประเทศชาติเป็นส่วนรวม ถ้าคิดแต่เรื่องพรรคอย่างเดียว เราจะไม่กล้าบอก ประชาชนอย่างนั้น เพราะพรรคอาจจะได้ ส.ส. น้อยกว่าที่ควร

ขอยืนยันว่า การเชิญชวนให้ประชาชนเลือกเป็นพรรค โดยเลือกนายกฯ พร้อมๆกับเลือก ส.ส.นั่น ไม่ใช่แผนการรณรงค์หาเสียง เลือกตั้งของพรรคพลังธรรม แต่เป็นแผนของการต่อต้าน ไม่ให้คนนอกเป็นนายกฯ

ผมไปหาเสียงที่ไหน หลีกไม่พ้นที่จะเห็นภาพ ผมชูกำปั้น มีข้อความว่า "อยากให้จำลองเป็นนายกฯ เลือกพรรคพลังธรรม ทั้งคณะ"

ผมเห็นทีไรเสียวทุกที ถ้าประชาชนหมั่นไส้ผม ไม่เลือกพรรคพลังธรรมเลย จะว่าอย่างไร

ต้องสารภาพซ้ำ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งว่า ผมไม่ใฝ่ฝันที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ที่ต้องมีภาพนั้น ติดทั่วเมือง ก็เพื่อจะชูใครสักคนหนึ่งในพรรค ให้ประชาชนเลือก ที่ประชุมพรรคหยิบผมขึ้นมา เพื่อชูให้ประชาชาชนเลือก เนื่องจากการสุ่มประชามติ ถามความเห็นประชาชน ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอกเปรม มาจนถึงรัฐบาล คุณอานันท์ ผลก็มักจะออกมาว่า ผมเหมาะสมที่สุด ที่จะเป็นนายกฯ ผมเป็น "นายกฯสุ่ม" มาหลายสมัย

ผมถามตัวเองเสมอๆว่า ถ้าเสนอประชาชนอย่างนั้นแล้ว เกิดต้องเป็นนายกฯ ขึ้นมาจริงๆ จะทำอย่างไร

คำตอบก็คือ คงไม่เป็นไร เพราะผมไม่ได้คิดจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. มาก่อน ยังเป็นได้ถึง ๖ ปีเต็มๆ และเป็นได้ ค่อนข้างดีเสียด้วย หากคิดวางแผนจะเป็นผู้ว่าฯ ผมคงเรียนนิติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์แล้ว คงไม่เข้าโรงเรียนนายร้อยแน่

พรรคการเมืองอื่นบางพรรค ก็มีการชูหัวหน้าพรรคเช่นกัน ถ้าอยากให้หัวหน้าพรรคนั้นๆ เป็นนายกฯ ก็ขอให้ประชาชนระดมกันเลือก ส.ส. พรรคนั้นทั้งพรรค

ผลของการเลือกตั้ง ปรากฏว่า ประชาชนเลือกเป็นพรรค เฉพาะกรุงเทพฯ และภาคใต้ เท่านั้น ส่วนที่อื่นเลือกแบบเดิม จำนวน ส.ส. ของหลายพรรค จึงออกมาใกล้เคียงกัน พรรคสามัคคีธรรม ๗๙, พรรคชาติไทย ๗๕, พรรคความหวังใหม่ ๗๒, คะแนนก้ำกึ่งกันอย่างนี้ ล่อแหลมอย่างยิ่ง ต่อการเอาคนนอก มาเป็นนายกฯ

ค่ำของวันเลือกตั้ง ยังรวมคะแนนได้ไม่เท่าไร พรรคการเมือง ๕ พรรค คือ สามัคคีธรรม, ชาติไทย, กิจสังคม, ประชากรไทย และราษฎร ก็บึ่งไปประชุมกันที่ กองทัพอากาศดอนเมือง ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยหนุน พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ ปรากฏว่าตกลงกันไม่ได้ เพราะพลเอกสุจินดา ไม่ยอมให้ผู้ที่ถูกยึดทรัพย์ เป็นรัฐมนตรี รสช. เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบทรัพย์สิน นักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติ แล้วลงมติยึดทรัพย์ พลเอกสุจินดา รองประธาน รสช. จะรับเอานักการเมือง ที่ถูกยึดทรัพย์นั้น มาเป็นรัฐมนตรีได้อย่างไร

"พลเอกสุจินดา ไม่รับเป็นนายกฯ" ทุกคนที่ทราบข่าวนี้ ต่างก็รู้สึกตรงกันว่า "โล่งอกไปที"

เมื่อพลาดจากพลเอกสุจินดา ๕ พรรค รวมกันได้ ๑๙๕ เสียง ก็หันมาชูคุณณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี

ทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป สหรัฐก็บอกมาว่า ได้ประกาศไปตั้งแต่ปีที่แล้ว งดออกวีซ่า คือ ไม่ให้คุณณรงค์เข้าสหรัฐ เพราะสงสัยว่า อาจจะมีส่วนพัวพันกับยาเสพย์ติด ก่อให้เกิด การวิพากษ์วิจารณ์ทั่วๆไป อยู่หลายวัน

นักการเมืองบางคนใน ๕ พรรค หาว่าสหรัฐ แทรกแซงการบ้านการเมือง ของเมืองไทย สหรัฐก็โต้กลับมาว่า ไม่ได้แทรกแซง เป็นสิทธิของเขา ที่จะห้ามใครที่เขาสงสัย ไม่ให้เข้าประเทศ และเคยห้ามคนต่างชาติ มาแล้วหลายคน ไม่ใช่เฉพาะแต่คุณณรงค์คนเดียว

การสรรหาตัวนายกรัฐมนตรี จึงค้างเติ่ง เถียงกันไม่จบว่า คุณณรงค์ ผิดหรือไม่ผิด

พรรคพลังธรรม ในฐานะเป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ต้องแสดงความคิดเห็น ในเรื่องนี้ ออกมาชัดๆว่า เป็นอย่างไร จึงจัดให้มีการประชุมกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ของพรรค เป็นการด่วน มีมติว่า "เรื่องส่วนตัวของคุณณรงค์ วงศ์วรรณ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ กันทั่วไปนั้น ต้องใช้เวลานาน กว่าจะทำความกระจ่างให้เกิดขึ้น ขณะนี้ประเทศชาติ จำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรี มาบริหารงานโดยไว พรรคพลังธรรมจึงเห็นว่า เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง คุณณรงค์ วงศ์วรรณ ควรจะถอนตัว จากการได้รับเสนอชื่อ เป็นนายกรัฐมนตรี"

ต่อมามีข่าวหนาหูว่า จะเอาพลเอกสุจินดา เป็นนายกฯ อีก

พลเอกพัฒน์ อัคนีบุตร พรรคความหวังใหม่ เพื่อนร่วมรุ่นของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะอดีตหัวหน้า นักเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ รุ่น ๑ เหล่าทหารปืนใหญ่ นายทหารเหล่าเดียวกับ พลเอกสุจินดา และเป็นคนหนึ่ง ที่พลเอก สุจินดา เคารพนับถือ ได้รุดเข้าพบเป็นการด่วน เตือนพลเอกสุจินดาว่า อย่ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเชียวนะ ถ้ารับละก็จะลงเหว

ผมได้ถามพลเอกพัฒน์ว่า พลเอกสุจินดา ท่านว่าอย่างไร

คำตอบก็คือ เฉยๆ ไม่รับ - ไม่ปฏิเสธ

ผมเดาได้ทันทีว่า พี่สุของผม ต้องรับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีแน่เลย

ใครต่อใครหันมาท้วงติง พลเอกสุจินดา เป็นการใหญ่ ด้วยความหวังดี กลัวจะก้าวพลาด

ส่วนคุณณรงค์นั้น ยังยืนยันด้วยความมั่นใจว่า "จะสู้จนคอหัก" ผมคนหนึ่งละที่เป็นห่วงพี่สุ รีบโทรศัพท์ถามพี่จิ๋ว (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ว่า ไปพบพี่จ๊อด (พลเอกสุนทร คงสมพงษ์) หรือยัง

พี่จิ๋วตอบทันทีว่า "พบแล้ว จ๊อดเสนอ สุ เป็นนายกฯ"

ผู้สื่อข่าวคาดคั้น ถามประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า จะเสนอใครเป็นนายกฯ

คุณอาทิตย์ อุไรรัตน์ ยืนยันว่า จะเสนอคุณณรงค์ เป็นนายกฯ แน่นอน

พอตกบ่าย ข่าวก็ออกมาชัดว่า ประธานสภา รสช. พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ พร้อมด้วย เลขาธิการสภา รสช. พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี และประธานสภาผู้แทนราษฎร คุณอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้เข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลเสนอ พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงกับนักข่าวว่า ไม่ได้โกหก หลังจากให้ข่าวว่า จะเสนอชื่อคุณณรงค์ เป็นนายกฯ ไปแล้ว

ต่อมาพรรคการเมือง ๕ พรรค ก็มายืนยันว่า ขอเปลี่ยนด่วนเป็นพลเอกสุจินดา การให้ข่าวช่วงเช้า กับผลที่ออกมาช่วงบ่าย จึงต่างกัน

พี่สุเป็นนายกฯ ผมต้องค้าน ค้านมาตั้งแต่ต้น และจะต้องค้านตลอดไป จนกว่าพี่สุ จะพ้นจากตำแหน่ง

"คนหนึ่ง จบจากโรงเรียนนายร้อย เป็นเผด็จการได้ อีกคนหนึ่ง จบจากโรงเรียนนายร้อย เหมือนกัน ก็ต่อต้านเผด็จการได้"

เป็นข้อความที่เขียนตัวโตๆ ใส่กระดาษ ติดไว้ที่กำแพงรั้วเขาดิน ข้างหลังที่ ที่ผมนั่งอดข้าว อยู่หน้ารัฐสภา ระหว่างวันที่ ๔-๗ พฤษภาคม

ผมไม่ได้เกลียดพี่สุ ไม่มีอะไรขัดแย้งกัน เป็นส่วนตัว

กับนักเรียนนายร้อย รุ่น ๕ รุ่นเดียวกับพี่สุ ผมก็ไม่มีอะไรขัดกัน

ผมสนิทกันมากกับพี่ๆรุ่น ๕ หลายคน เช่น พี่ศัลย์ (พลเอกศัลย์ ศรีเพ็ญ) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ไปเวียดนาม ผลัดเดียวกัน ตำแหน่งเดียวกัน คือ ผู้ช่วยหัวหน้ายุทธการ กองพลอาสาสมัครไทย ในเวียดนาม

นักเรียนนายร้อยรุ่น ๕ เกือบทุกคนชอบผม เจอกันที่ไหน คุยกันสนุกสนาน

หลังเหตุการณ์พฤษภามหาวิปโยค ผู้ไม่หวังดี ต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย บิดเบือนข่าวว่า เหตุการณ์นั้น เป็นศึกสายเลือด พลเอกสุจินดา นักเรียนนายร้อยรุ่น ๕ ทะเลาะกับผม รุ่น ๗ ซึ่งไม่เป็นความจริง

ตอนพี่สุเป็นผู้บัญชาการทหารบก และผมเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผมไปพบพี่สุได้ ทั้งที่ทำงาน และที่บ้าน มีอยู่ครั้งหนึ่งไปพบที่บ้าน พี่สุยังฝากขนมไปให้ พันเอกวินัย สมพงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รุ่นน้องอีกคนหนึ่ง ที่พี่สุชอบ

ขณะที่เป็นนักเรียนนายร้อย ตอนกิน ตอนนอน ผมไม่ได้ใกล้ชิดพี่สุ เพราะเราอยู่คนละกองร้อย พี่สุ อยู่กองร้อยที่ ๓ ผมอยู่กองร้อยที่ ๔ แต่ตอนเล่น ผมได้ใกล้ชิดบ้าง เพราะเป็นนักบาสเกตบอล ของโรงเรียนนายร้อย พี่สุ พี่ตุ๋ย (พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี) เป็นตัวจริง ส่วนผมเล่นไม่เก่ง เป็นได้แค่ตัวสำรอง มีครูชุ่ม ยิ้มสมบูรณ์ เป็นผู้ควบคุมทีม และ เฮียเพียว เป็นผู้ฝึกสอน

เป็นเรื่องที่น่าคิดอีกเหมือนกัน การชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกคราวที่แล้ว นักบาสเกตบอล ทีมเดียวกัน เล่นผมเสียงอมไปเลย

แถลงการณ์ที่ออกมาบ่อยๆนั้น ไม่ทราบว่า ใครเขียนให้พี่สุอ่าน ผมขอคัดบางตอน ของฉบับวันที่ ๑๘ พฤษภาคม มาเป็นตัวอย่าง

"…ผมและรัฐบาล พร้อมที่จะดำเนินการ บรรเทาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชน อย่างสุดความสามารถ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พี่น้องประชาชนคงประจักษ์แล้วว่า ทางรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ ได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด ในอันที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยความประนีประนอม เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย

แต่เนื่องด้วย การปลุกปั่นยุยงของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และบุคคลบางคน ที่มีพฤติกรรม เป็นภัยต่อความมั่นคง ของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดเหตุการณ์ อันน่าเศร้า ในที่สุด

พล.ต.จำลอง และกลุ่มบุคคลนิยมความรุนแรง ได้จัดการชุมนุมทางการเมืองขึ้น หลายครั้ง มีพฤติกรรมหลายอย่าง มุ่งมั่น ปลุกปั่น ยุยง ให้ผู้ร่วมชุมนุมใช้ความรุนแรง เพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์ทางการเมือง….. … เมื่อเหตุการณ์ ลุกลามมาถึงระดับนี้ ในชั้นต้น ทางราชการก็ยังคงยึดมั่น ในหลักขันติธรรม พยายามอดทน อดกลั้น แต่ พล.ต. จำลอง และกลุ่มผู้นำในการชุมนุม ไม่ยอมละความพยายาม กลับยุยงผู้ชุมนุม ให้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ หนักมือยิ่งขึ้น…"

ทั้งๆที่พี่สุ รู้ดีว่า ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น พี่สุ ก็ยังอ่านไปได้

ผมไม่ได้ปลุกปั่นยุยง ผมไม่มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อ ๓ สถาบัน สูงสุดของชาติ ผมไม่นิยมความรุนแรง ไม่ได้ยุให้ขว้างปา ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบดูได้ จากวิดีโอ ทั้งของนักข่าวไทย และนักข่าวต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๕ ได้เปิดเผยรายงานข่าวของ น.ส.แมรี่ เคย์ มากิสทาด ผู้สื่อข่าวพิเศษของ เนชั่นแนล พับลิก เรดิโอ ของสหรัฐอเมริกา และสถานีซีบีซี ของแคนาดา ที่ได้รายงานข่าวสดๆ จากเหตุการณ์พฤษภาวิปโยค ไปยังผู้ฟังกว่า ๑๐ ล้านคน ในสหรัฐ และแคนาดา ตลอดทุกระยะ เล่าเหตุการณ์ที่ตนได้เห็นว่า…

"สิ่งที่ประหลาดใจมากที่สุด คือ ตอนที่มีการเผชิญหน้า ที่สะพานผ่านฟ้า ในคืนวันที่ ๑๗ มีหลายคน ในฝ่ายผู้ชุมนุม หยิบก้อนหินออกมาจากเสื้อคลุม แล้วขว้างไปยังตำรวจ ทั้งๆที่มีคนห้าม ก็ไม่ฟัง เหมือนเตรียมการกันมาก่อน จากนั้น ตำรวจก็เริ่มขว้างกลับมาบ้าง

ส่วนคนที่ไปเผาสถานีตำรวจ และรถต่างๆ ก็ดูน่าแปลก ตรงที่ไม่ได้ทำเพราะความโกรธ เหมือนกับผู้ชุมนุมประท้วง ที่เคยเห็นมา คิดว่า น่าจะเป็นฝีมือ ของฝ่ายที่ต้องการทำให้ภาพพจน์ ของผู้ชุมนุมโดยสงบ เสียไป

รู้สึกประทับใจ ความร่วมมือร่วมใจ ของผู้ที่มาชุมนุม ซึ่งไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน การชุมนุม จึงเป็นไปด้วย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นระเบียบมาก

จึงเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับ ฝูงชนบ้าระห่ำ ในคืนวันที่ ๑๗ "

การคัดค้านพลเอกสุจินดานั้น เริ่มคัดค้านกันจริงจัง ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๓๕ โดย อาจารย์วิฑิต มันตราภรณ์ จากครป. (คณะกรรมการ รณรงค์เพื่อประชาธิปไตย) แถลงว่า ครป. ได้ส่งจดหมายถึง หัวหน้าพรรคการเมือง ๕ พรรค ที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลอยู่ขณะนี้ มีใจความว่า ครป. ไม่เห็นด้วยกับ การที่มีการเสนอแต่งตั้ง พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก ขัดกับหลักการ ประชาธิปไตย และความพยายามให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯนั้น เป็นการสืบทอดอำนาจ ทางการเมือง ซึ่งพลเอกสุจินดา คราประยูร เคยได้สัญญาต่อประชาชน หลายครั้งแล้วว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และอาจจะคืนอำนาจ ให้กับประชาชน

ดังนั้น หากพลเอกสุจินดา คราประยูร คืนคำ ก็จะเป็นการเสียสัจจะ ซึ่งบุคคลที่ไม่รักษาสัญญา ก็ไม่เหมาะสม จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี

คณะกรรมการรณรงค์ เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้เตรียมมาตรการ ที่จะเคลื่อนไหว เพื่อคัดค้าน นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๕ จะมีการอภิปรายที่ลานโพธิ์ ภายในมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ ได้นำนักศึกษาอีก ๒๐ คน เดินทางไปยังพรรคสามัคคีธรรม เพื่อประณามพรรคการเมือง ๕ พรรค ที่ยอมสยบให้ทหาร โดยได้นำสัญลักษณ์ของ ๕ พรรค เผาประท้วงด้วย และได้มีการเรียกร้องให้ ส.ส.ของทั้ง ๕ พรรค ที่ไม่เห็นด้วยกับแกนนำของพรรค ออกมาร่วมคัดค้าน เพราะการตัดสินใจครั้งนี้ เป็นความเห็นของแกนนำพรรค ไม่ใช่มติพรรค ในขณะนั้น ตำรวจสันติบาล และตำรวจท้องที่ ๓๐ นาย ได้ติดตามดูเหตุการณ์ ตลอดเวลา

ซึ่งองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ประกาศสนับสนุน สนนท.ในเวลาต่อมา

ผมได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า "ตามที่ ๕ พรรคการเมือง ๑๙๕ เสียง ประกาศสนับสนุน พลเอกสุจินดา ซึ่งเป็นคนกลาง ที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ๔ พรรคการเมือง ไม่เห็นด้วย กับการดำเนินการลักษณะดังกล่าว มาแต่ก่อนการเลือกตั้ง จนทำให้กระแส เรื่องคนกลาง เงียบหายไปแล้ว ประชามติทุกครั้ง ประชาชนต้องการนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ประชาชนถูกหลอกลวง จึงอยากให้ ๕ พรรคการเมือง ทบทวนเสียใหม่ และ "การคัดค้านนายกรัฐมนตรี ที่มาจากคนกลาง จะเริ่มต้นตั้งแต่คืนนี้ เป็นต้นไป"

ในส่วนของพรรคพลังธรรม และพรรคประชาธิปัตย์ จะออกรณรงค์ ติดโปสเตอร์ ตั้งแต่คืนนี้ ทั่วกรุงเทพฯ และ ๔ พรรค จะมีการประสานงาน ร่วมกับองค์กรอื่นๆ"

ผมยังได้กล่าวเสริมอีกว่า ในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๕ พรรคการเมือง ๔ พรรค จะร่วมกันแถลงข่าว คัดค้าน การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พลเอกสุจินดา คราประยูร

ขณะเดียวกัน คนใกล้ชิดของพลเอกสุจินดา ก็ได้จัดให้มีการชุมนุม สนับสนุนในที่ต่างๆ และผู้บังคับบัญชา ระดับสูงของกองทัพ ได้สั่งให้สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ เสนอข่าว การสนับสนุน พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นระยะๆ ด้วย

เช้ามืดวันที่ ๗ เมษายน มีโปสเตอร์คัดค้าน ติดเต็มไปหมด ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

พรรคประชาธิปัตย์ ใช้ข้อความว่า "ประชาธิปไตยไร้ศักดิ์ศรี ถ้านายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาจาก การเลือกตั้ง"

ส่วนพรรคพลังธรรมพูดตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ด้วยข้อความสั้นๆ เขียนตัวโตๆ "คัดค้านคนกลางเป็นนายกฯ"

ในตอนสายที่รัฐสภา ผู้แทนของพรรคทั้งสี่ ได้ประชุมกัน เป็นเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง แล้วได้เปิดเผย การแถลงการณ์ร่วม เรื่องคัดค้าน การเสนอบุคคลภายนอก เป็นนายกรัฐมนตรี แก่สื่อมวลชน โดยสรุป มีใจความว่า ตามที่ ๕ พรรคการเมือง มีมติเสนอบุคคลภายนอก เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ๔ พรรคการเมือง คือ พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ ยืนหยัด ที่จะสนับสนุน บุคคลที่เป็น ส.ส.เท่านั้น เป็นนายกรัฐมนตรี และเห็นว่า การที่พรรคการเมืองทั้ง ๕ พรรค จำต้องเสนอบุคคลภายนอก เข้ามาดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีนั้น สาเหตุแท้จริง มาจากความกดดัน จากอำนาจ นอกระบบประชาธิปไตย ขอเสนอว่า ในการสรรหานายกรัฐมนตรีนั้น ประธานสภาผู้แทนฯ ในฐานะที่ได้รับเกียรติ เป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมวลสมาชิกทั้งหลายโดยตรง ควรดำเนินการ หารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง ให้รอบคอบ เพื่อสรรหาบุคคลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทย

ผมได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า โปสเตอร์คัดค้านคนนอกเป็นนายกฯ ของพรรคพลังธรรม ถูกคนแต่งชุดสีดำ เก็บไปเป็นจำนวนมาก ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็คงเหมือนกัน

ในตอนเย็น เวลาประมาณห้าโมงครึ่ง องค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนประชาธิปไตย ได้จัดการปราศรัย ที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อคัดค้านนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนเข้าร่วมฟัง ประมาณ ๑,๐๐๐ คน

พรรคทั้ง ๔ ได้จัดผู้แทนไปร่วมด้วย…

ในระหว่างการอภิปรายนั้น ได้มีรายงานเป็นทางการว่า มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ทำให้ผู้ร่วมฟังส่งเสียงโห่ แสดงความไม่พอใจ

เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ผู้เข้าร่วมฟังก็ได้สลายตัว แล้วตัวแทนนักศึกษา และประชาชนบางส่วน ประมาณ ๖๐ คน นำโดย เลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปยัง สวนรื่นฤดี เพื่อวางหรีดไว้อาลัยแด่ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพลเอกสุจินดา คราประยูร

เวลาประมาณสามทุ่มครึ่ง ของวันที่ ๗ เมษายน ขบวนนักศึกษา ได้เดินทางมาถึงสวนรื่นฯ เพื่อมอบดอกไม้ดำ และหรีด ที่เขียนข้อความว่า "ขอประณาม พลเอกสุจินดา คราประยูร ต่อการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ด้วยวิธีการแทรกแซงทางการเมือง และบ่อนทำลายประชาธิปไตย"

พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่ง และได้มอบดอกไม้ และหรีด ผ่านทางเลขานุการกองทัพบก


 

อ่านต่อ ๔
ฉลาดอดข้าว

 

จากหนังสือ... ร่วมกันสู้ ...พลตรี จำลอง ศรีเมือง * ค้านนายก * หน้า ๓๕ - ๔๘