๕. ร่วมกันสู้ หน้า ๕๕ - ๖๖

เขียนถึงพี่ที่เป็นนายกฯ

หลังจากที่ผมเขียนจดหมายถึงพี่จ๊อดและพี่สุ ไปแล้ว ผู้สื่อข่าวหลายคน ถามหาฉบับที่สอง ผมก็บอกว่า ไม่มีหรอกฉบับที่สอง เพราะไม่มีอะไรจะเขียน ผู้ใหญ่บางท่าน มียศทหารเป็นพลเอก ก็สนับสนุนให้ผมเขียน ท่านเจ้าอาวาสวัดใหญ่วัดหนึ่ง ในเขตลาดกระบัง ชมว่า "อาตมาอ่านจดหมาย ของโยมผู้ว่าฯ ที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์ อาตมาอ่านถึง ๓ เที่ยว ดีจริงๆ"

ในงานเลี้ยงแสดงความยินดี ให้กับศิลปินแห่งชาติ ผมไม่คิดเลยว่า จะได้รับคำชม จากนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ คือ คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่บอกกับผมว่า "จดหมายฉบับที่เขียนถึง พลเอกสุนทร และพลเอกสุจินดา ผู้ว่าฯ เขียนได้ดีมาก เก็บเอาไว้ จะเป็นจดหมายประวัติศาสตร์ ของการเมืองไทย"

และแล้ว เมื่อเหตุการณ์บังคับ ผมก็ต้องเขียนขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง ฉบับนี้ เขียนถึงพี่สุ โดยเฉพาะ

เขียนถึงพี่ที่เป็นนายกฯ

พี่สุครับ ก่อนจะเขียนอะไรๆออกไป ผมขอตั้งนะโมก่อนว่า ผมยังเหมือนเดิมครับ เคยชอบพอพี่ เป็นการส่วนตัวอย่างไร ก็ยังเป็นอย่างนั้น ความเคารพที่มีต่อพี่ๆ รุ่น ๕ ก็คงเส้นคงวาเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

วันเปิดประชุมสภา ๑๖ เมษา นี้ ผมแต่งชุดดำแน่ๆ ไม่ได้แต่งเพื่อไว้ทุกข์พี่ หรือแช่งชักหักกระดูก ให้พี่ต้องล้มหายตายจากไป ก็เปล่า และก็ไม่ใช่เป็นเพราะ เห็นคนอื่นดีกว่าพี่ ครป.เป็นใคร มาจากไหน ผมไม่เคยมีความสนิทชิดเชื้อ กับเขามาก่อน อยู่ดีๆ จะมาชวนให้ผมไว้ทุกข์ คงไม่สำเร็จแน่

ผมต้องการจะแสดงความเศร้า ที่ศีลธรรมถูกย่ำยี โดยการรุกเร้าของคนใกล้ตัวพี่ จนทำให้พี่ ประกาศค่านิยมใหม่ ขึ้นมาในสังคมไทย "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ซึ่งขัดต่อหลักศาสนา อย่างรุนแรง โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ผมต้องคัดพระไตรปิฎก มาเขียนด้านหลังเสื้อ

"คนพูดเท็จ ไม่ทำบาป ย่อมไม่มี"

ส่วนด้านหน้า ก็เป็นคำขวัญ ที่จำได้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ จำไปจนตาย

"เสียชีพอย่าเสียสัตย์"

คำใหม่ของพี่ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" นั้น หลายๆคนรับไม่ได้ ผมคัดค้าน เป็นการคัดค้าน แนวความคิด คัดค้านหลักการ ไม่ใช่คัดค้านตัวพี่ นายกฯต้องเป็นแบบอย่าง ของประชาชน ทั้งประเทศ เมื่อนายกฯ ประกาศอย่างนั้น และทำอย่างนั้น แล้วเห็นคล้อยตามกันหมด สังคมไปไม่รอดแน่

ส่วนส.ส.คนอื่นๆ รวมทั้งพี่จิ๋ว จะไว้ทุกข์ด้วยหรือไม่ ผมไม่รู้ ถ้าโชคร้าย เกิดมีผมแต่งดำ ไปคนเดียว ผมก็ไม่เขินครับ

พี่สุครับ ป่านนี้ชื่อของพี่ คงจารึกอยู่ในหอเกียรติยศ ของโรงเรียนนายร้อย เรียบร้อยแล้ว ซึ่งพี่ตุ๋ย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง บรรจงสร้างขึ้น ตามความริเริ่มของพี่วันชัย เรืองตระกูล สมัยเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ทำไปทำมา เราเอาอย่างโรงเรียนนายร้อย เวสต์ปอยต์สหรัฐ แต่ไม่เหมือนของเขา

ศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ ที่จารึกชื่อและเกียรติประวัติ อยู่ในหอเกียรติยศ ล้วนแล้วแต่เป็น แม่ทัพที่มีชื่อเสียงก้องโลก บางท่านเป็นทั้ง นักการทหาร และนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นนักการเมือง ที่ขึ้นมาด้วยเสียงสนับสนุน ของประชาชนทั้งประเทศ ผ่านการเลือกตั้ง มาอย่างโชกโชน เช่น พลเอก ไอเซนเฮาว์ เป็นต้น

มีคนประจบสอพลอพี่มากเหลือเกิน โดยเฉพาะในวันที่พี่รับตำแหน่ง ล้วนแล้วแต่เป็นการ "จัดฉาก" ของลูกน้องพี่ทั้งสิ้น โทรทัศน์ก็ตั้งหน้าตั้งตา เก็บภาพมาเผยแพร่เสียจริง ผู้ชมมีความรู้สึก คล้ายๆกัน คือ ยิ่งดูยิ่งเอียน ยิ่งคัดค้านพี่

พี่อย่าไปเชื่อใครเขานะครับ ที่บอกว่า พี่ขึ้นเป็นนายกฯ เหมือนป๋าเปี๊ยบเลย เดี๋ยวพี่เคลิ้มตามคำเยินยอ เห็นว่าป๋าเป็นนายกฯ อยู่ได้ตั้ง ๘ ปี ๕ เดือน เอาสองหาร พี่คงอยู่ได้ ๔ ปี สบายๆ

ผมเคยเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ของป๋า ขอยืนยันว่า สถานการณ์ต่างกันมาก และวันนั้นกับวันนี้ ก็ต่างกันถึง ๑๒ ปี แนวความคิดเรื่องคนกลางเป็นนายกฯ นั้น ล้าสมัยเสียแล้ว รัสเซีย ยักษ์ใหญ่ของประเทศ ค่ายเผด็จการคอมมิวนิสต์ ยังต้านกระแส ประชาธิปไตยไม่ไหว ไทยเราประเทศเล็กนิดเดียว จะทวนกระแสไปได้อย่างไร

วันแรกที่ป๋ารับตำแหน่ง ผมนั่งอยู่กับป๋าที่บ้านสี่เสา ป๋าหน้าตาเป็นกังวล เปรยกับผมว่า "จำลอง ป๋าจะเป็นนายกฯ ไปได้เท่าไร เพราะป๋าไม่ได้เตรียมตัว"

ผมตอบป๋าทันที "ป๋าเป็นไปได้ตลอดครับ ถ้าป๋ายืนยง คงความซื่อสัตย์ของป๋า ตลอดไป"

ตำแหน่งนายกฯ ที่พี่สุ ครองอยู่นี้ เป็นทุกขลาภ ลาภที่นำมาซึ่งความทุกข์ ก่อนจะเป็นนายกฯ ก็ถูกค้านเสียแล้ว เมื่อเป็นแล้ว มีอำนาจเต็มที่ ก็ไม่วายถูกคัดค้าน การคัดค้าน จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทนไม่ไหว

นับประสาอะไรกับคนอื่นๆ พี่ๆน้องๆ ที่เรียนคลานตามกันมา ค้านกันอุตลุด

พี่พัฒน์ หัวหน้านักเรียนนายร้อย รุ่น ๑ นายทหารเหล่าปืนใหญ่ เหล่าเดียวกับพี่ ก็ค้าน

พี่จิ๋ว ที่เคยแต่งตั้งพี่มา ก็ค้าน

ผมหลังพี่ ๒ ปี เคยชอบพี่มาแต่ไหนแต่ไร ก็ค้าน

ผมคงจะเป็นคนหนึ่ง ที่จะทำให้พี่ยุ่งยากใจมาก เพราะผมไม่อยากให้พี่ ขึ้นมาเป็นนายกฯ ในลักษณะนี้ ผมและพี่ๆน้องๆ ไม่อยากเห็นเหตุการณ์ บานปลายออกไป

คำว่า "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" ที่พี่จ๊อดเอามาอ้าง ให้คนอื่นฟังเสมอๆ คงจะต้องตัด "ไม่" ออกเสียทั้งหมด น่าเสียดาย คำนั้นเป็นคำที่ พวกเรายึดถือกันมา ตั้งแต่จบเป็นนายทหารใหม่ๆ

ถึงอย่างไร พี่ก็ต้องตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ แต่สำเร็จแบบ "ไปตายเอาดาบหน้า" และก็ตายจริงๆ เสียด้วย รายชื่อรัฐมนตรี ที่เผยออกมา ส่วนใหญ่เป็นคนที่ชาวบ้านเขาเบื่อ แล้วยังมีข่าวว่า พี่จะเอาคนถูกยึดทรัพย์ มาเป็นรัฐมนตรีอีก พี่ไม่สงสารท่านพลเอกสิทธิ นายเก่าของพี่ บ้างหรือครับ เชิญท่านมาทรมานทรกรรม เป็นประธานตรวจสอบทรัพย์สิน เหน็ดเหนื่อยหนักหนา ยังไม่พอ จะเอาคนที่ถูกยึดทรัพย์ มาเป็นรัฐมนตรี ท่านจะเอาหน้าไว้ไหน ที่สำคัญก็คือ ประชาชนไม่ศรัทธา เอือมระอา ตั้งแต่ตอน ตั้งรัฐบาลเสียแล้ว ลำบากครับ

ห้าพรรคที่สนับสนุนพี่ มีเสียงเกินครึ่งเพียง ๑๕ เสียงเท่านั้น การลงมติกฎหมายสำคัญๆ หรือ การพิจารณางบประมาณ มีสิทธิ์ถูกคว่ำได้ทุกเมื่อ เพื่อประคับประคองรัฐบาล ให้มีอายุต่อไป พี่คงจะต้องตั้งหน่วยส่งกำลังบำรุง หรือตั้งตู้เอทีเอ็ม. ในสภา ส่งกำลังบำรุงไม่อั้น แก่ ส.ส. ที่คิดจะตีตัวออกห่าง และต้องใช้การข่มขู่ ควบคู่กันไป ขู่จะยุบสภา ขู่จะปฏิวัติ พี่จะเอาทุนรอนที่ไหน ไปคอยส่งกำลังบำรุง และการขู่ ก็ได้ผลเฉพาะ ทีแรกๆ เท่านั้นเอง

ด้วยความหวังดีต่อพี่จริงๆ ผมขอเรียนเสนอแนะว่า เป็นนายกฯไปได้สักพัก อย่าให้นานนัก พี่หาทางถอนตัวเถิดครับ ไม่ใช่เพื่อตัวพี่เอง แต่เพื่อชาติ พี่ถอนตัวได้อย่างสบาย สบายกว่าตอนรับตำแหน่ง ไม่เสียสัตย์ เพราะพี่ไม่เคยสัญญากับใครว่า พี่จะเป็นนายกฯ ไปจนตาย

ผมเขียนถึงพี่ที่เป็นนายกฯเสร็จ ผมก็สบายใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพี่ หรือเกิดขึ้นกับชาติ ผมได้ทำหน้าที่ของผมแล้ว ติงเตือนพี่ที่รักของผม ในฐานะนักเรียนรุ่นน้อง และเรียนเสนอแนะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของชาติ

โชคดีครับพี่สุ

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
๑๔ เมษายน ๒๕๓๕

 

ได้ผลอีกเช่นเคย หนังสือพิมพ์หลายฉบับ นำไปลงพิมพ์หน้า ๑ บางฉบับ พิมพ์ลายมือของผม ซึ่งวันนั้น ผมเขียนด้วยความรีบร้อน มีทั้งสกปรก และขีดฆ่าบางแห่ง ถ้ารู้ว่าจะเอาลายมือ ไปพิมพ์หมด จะได้เขียนให้ดีหน่อย เพราะลายมือผม ไม่ใคร่จะดีอยู่แล้วด้วย

ผมมั่นใจว่า ทั้ง ๒ ฉบับ พี่สุคงได้อ่านแน่ เป็นจดหมายเกี่ยวข้องกับการเมือง ที่เขาอ่านกันเยอะแยะ แล้วนายกรัฐมนตรี จะไม่อ่านได้อย่างไร เป็นจดหมายถึงนายกฯ โดยตรงเสียด้วย

ในวันเดียวกันกับที่ผมเขียนจดหมาย แจกหนังสือพิมพ์นั้น ผมได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า การที่พรรคพลังธรรม ต้องออกมาต่อสู้ ก่อนพรรคอื่นนั้น ไม่ได้มีเจตนา ที่จะเป็นผู้นำ ในการต่อต้าน แต่เห็นว่า พรรคพลังธรรมมี ส.ส. ในกรุงเทพฯ จำนวนมาก หากล่าช้า จะได้รับคำตำหนิจากประชาชน อีกอย่างหนึ่งนั้น ในขณะนี้ ใกล้การประชุมสภา จึงไม่อาจรออีก ๓ พรรคได้ สำหรับการดำเนินการในสภานั้น ทางพรรคจะเสนอ ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่า ความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะกติกาไม่ถูกต้อง

ตอนห้าโมงเย็น ได้มีการแจกจ่ายใบปลิว เรียกร้องให้ประชาชนทั่วไป ร่วมประท้วง คัดค้านนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และให้แต่งดำ ในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๓๕ แล้วมาพร้อมกัน บริเวณหน้ารัฐสภา

วันที่ ๑๕ เมษายน นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร หัวหน้าขบวนการรัฐบุรุษ ได้เดินทางไปสนับสนุน เรืออากาศตรีฉลาด ประกาศร่วมอดข้าว ประท้วง พร้อมจะแต่งชุดดำไว้ทุกข์ด้วย

วันที่ ๑๖ เมษายน นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมอดข้าวประท้วง โดยมี นายชวน หลีกภัย และเพื่อน ส.ส. ออกมาส่ง และให้กำลังใจ

ต่อจากนั้น ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ได้ประกาศมาอยู่เป็นเพื่อน ประท้วงด้วย ๓ วัน เนื่องจากกำลังตั้งครรภ์ ๔ เดือน จึงจะทำเพียงถือศีล ๘ ซึ่งจะร่วมกับชาวบ้านอีก ๓๐ คน อดข้าวเย็นเพื่อประท้วง ซึ่งต่อมา ได้มีเยาวชนจากพรรคความหวังใหม่ อีก ๑๐ คน มาร่วมอดข้าว ประท้วงด้วย

นางสาวดาว สีหานาม ชาวสวนยาง จังหวัดพัทลุง ร่วมอดอาหาร ประท้วงพลเอกสุจินดา เพิ่มอีกคนหนึ่ง

ตัวแทนองค์กรเอกชน อันได้แก่ ครป. สนนท. และกลุ่มพรรคฝ่ายค้าน ๔ พรรค จัดให้มีการปราศรัย โดยใช้ชื่อว่า "รวมพลังประชาชน เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย" จัดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เย็นวันที่ ๒๐ เมษายน นับเป็นประวัติการณ์ ของการปราศรัย ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งมีคนฟังมากมาย ขนาดนั้น ผู้คนแออัดยัดเยียด เต็มไปหมด แทบไม่มีที่ว่างเหลืออยู่เลย ซึ่งหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านทุกคน ได้ไปปราศรัยด้วย

กลุ่มนักศึกษา สนนท. ขอให้ประชาชนร่วมลงชื่อ เรียกร้องนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ได้ชื่อรวมกันทั้งหมด หลายหมื่นชื่อ

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เสนอ ๓ ประการ คือ

๑.ให้ ๕ พรรคร่วมรัฐบาล เลิกสนับสนุน พลเอกสุจินดา
๒.ให้สภา รสช. ทำตามความต้องการของประชาชน
๓.ให้พลเอกสุจินดา ลาออกจากตำแหน่ง แล้วสมัครรับเลือกตั้ง เป็นส.ส.

พรรคพลังธรรม เรียกประชุมกรรมการบริหาร และ ส.ส. เป็นการด่วน พิจารณาเรื่องวิกฤตการณ์ ทางการเมืองโดยเฉพาะ เห็นว่า การเรียกร้องให้พลเอกสุจินดา ลาออกไปสมัคร ส.ส.นั้น หากตำแหน่ง ส.ส.ไม่ว่าง พลเอกสุจินดา ก็ไม่สามารถสมัครได้ ตามกฎเกณฑ์ ของกฎหมายเลือกตั้ง พลเอกสุจินดา สมัครได้เพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น คือกรุงเทพฯ เนื่องจาก พรรคพลังธรรม มี ส.ส.อยู่ครบทุกเขตในกรุงเทพฯ ส.ส.พรรคพลังธรรมทุกคน และทุกเขต ที่ไปร่วมประชุมในวันนั้น จึงพร้อมใจกัน อาสาจะลาออก เปิดทางให้พลเอกสุจินดา สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้จะเลือกสมัคร ในเขตไหนก็ได้

วันที่ ๒๔ เมษายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดอภิปราย ระดมความคิดเห็น ในหัวข้อเรื่อง "ประชาชนต้องการได้อะไร จากรัฐบาลใหม่" ในการระดมความคิดนี้ มีนักวิชาการ จากหลายที่ มาแสดงความเห็น สรุปได้ว่า นักวิชาการ หมดหวังกับรัฐบาลของ พลเอกสุจินดา โดยสิ้นเชิง

วันที่ ๒๖ เมษายน มีผู้มาร่วมอดข้าวกับ เรืออากาศตรีฉลาด อีกประมาณ ๒๐ คน ได้จัดให้มีการทำบุญ ตักบาตร ที่บริเวณหน้ารัฐสภา เรืออากาศตรีฉลาด เรียกร้องให้วัดใจ เผด็จการอีกครั้ง โดยนัดให้มีการชุมนุมใหญ่ หน้ารัฐสภา ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕ แล้วจะยอมเข้ารักษาตัว ในโรงพยาบาลวชิระ ในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕ แต่จะยังคง อดอาหารต่อ

วันที่ ๑ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และพนักงานบริษัท ไทรอัมพ์ จำนวน ๒,๐๐๐ คน ได้มาเยี่ยม ให้กำลังใจ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หลังจากนั้น ก็เคลื่อนขบวน สมทบกับกลุ่มกรรมกร ย่านพระประแดง อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ พากันมุ่งหน้าไป อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับชูป้ายผ้า และโปสเตอร์ เรียกร้องให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง และขอร้องให้ผู้กุมอำนาจ คืนอำนาจให้ประชาชน

ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ได้ร่วมอดอาหาร ประท้วงเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง ในฐานะแม่ของลูกคนหนึ่ง ซึ่งจะกำเนิดขึ้นบนแผ่นดิน ที่ผู้มีความไม่จริงใจ ขึ้นปกครองประเทศ "แม่และลูกได้ร่วมกันต่อสู้" ด้วยมือ และจิตใจอันว่างเปล่า เพราะอยากเห็น สิ่งที่ดีงามในสังคม

วันเดียวกันนี้ ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมประชาชน พิทักษ์ประชาธิปไตย จำนวน ๓ คน ได้เข้าร่วมอดอาหาร ประท้วงด้วย

วันที่ ๓ พฤษภาคม เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนนท.) แถลงว่า การจัดชุมนุมปราศรัยใหญ่ ที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ ๔ พฤษภาคมนั้น จัดโดย สนนท. และคณะกรรมการรณรงค์ เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ต้องเปลี่ยนจาก ลานพระบรมรูปทรงม้า มาเป็นสนามหลวง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ยอมให้จัดที่นั่น โดยไม่แจ้งเหตุผล

ตัวแทนของกลุ่มนักวิชาการ เพื่อประชาธิปไตย ๑๐ สถาบัน ได้มีการประชุมร่วมกัน และลงมติ ส่งตัวแทนของนักวิชาการ เข้าร่วมการอดข้าวด้วย โดยจะเวียนกันอดข้าว สถาบันละ ๑ คน ต่อหนึ่งวัน โดยเริ่มจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย ๑๐ สถาบัน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มหิดล สุโขทัยธรรมาธิราช ศิลปากร เกษตร สงขลานครินทร์ รังสิต รามคำแหง และสถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก)

มติของกลุ่มนักวิชาการ ๑๐ สถาบัน มีมติให้พลเอกสุจินดาลาออก ในวันที่ ๖ พฤษภาคม และเรียกร้อง ให้อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาทุกสถาบัน หยุดการสอนและการเรียน เพื่อมาร่วมแสดงประชามติ ในวันนั้น พร้อมกับมีตัวแทนของกลุ่มนักวิชาการ ร่วมอดอาหาร วันละ ๑ คนด้วย


 

อ่านต่อ ๖
อายใครต่อใคร

 

จากหนังสือ... ร่วมกันสู้ ...พลตรี จำลอง ศรีเมือง * เขียนถึงพี่ที่เป็นนายกฯ * หน้า ๕๕ - ๖๖