๑๘. ร่วมกันสู้ หน้า ๒๐๐

พฤษภาทมิฬ

สาเหตุของวิกฤติการณ์พฤษภาทมิฬ!!

การพิจารณาที่สาเหตุของการเกิดวิกฤติการณ์ “พฤษภาทมิฬ” มิใช่เป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บ หากแต่เป็นการมองอย่างรอบด้าน เพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง กับเหตุการณ์ วิกฤติทางการเมือง ในภายหน้า (ซึ่งรอวันเกิดขึ้นได้ทุกเวลา) ได้มีโอกาสทบทวนป้องกัน การเกิดเหตุการณ์ เท่าที่จะเป็นได้ จากกรณีเหตุการณ์วิกฤติที่ผ่านมา จะพบว่า สาเหตุที่เป็น แรงผลักดันให้เกิดขึ้น ได้แก่

๑. การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ของอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่มีต่อ กรณีอดข้าว ประท้วงรัฐธรรมนูญ ของเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร หรือ กรณีอดข้าวของ พลตรีจำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม และ การแถลงโต้ตอบการอภิปราย ของบรรดาสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ในวันแถลงนโยบายของคณะรัฐบาล ซึ่งพาดพิงถึง หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านสองพรรค ลักษณะคำพูดแสดงความคิดเห็น ของอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นไปในทำนอง แข็งกร้าว ดูหมิ่น วางอำนาจ ต่อบุคคลดังกล่าว และ การท้าทายพลังการชุมนุม ของประชาชน ที่กำลังชุมนุมอย่างสันติ ดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดแรงผลักดัน คับข้องใจต่อผู้ชุมนุม ให้อัดแน่นมากยิ่งขึ้น เพื่อพร้อมที่จะระเบิดอารมณ์ออกมาได้ทุกขณะ

ความผิดพลาดในข้อนี้ สะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกภาพ ของอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ชัดเจนว่า มีความเหมาะสม เป็นได้เฉพาะนักการทหารเท่านั้น ขาดคุณสมบัติของนักการเมืองอาชีพ ที่พร้อมจะประสานประโยชน์ และประนีประนอม เพื่อหาทางคลี่คลายเหตุการณ์ ด้วยวิธีการ ละมุนละม่อม

นอกจากนั้น ยังอาจจะกล่าวได้อีกต่อไปว่า คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเอง ก็ขาดความเฉลียว ไม่รู้เท่าทันต่อ สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยประเมินพลังประชาชน ผู้เรียกร้อง ต่ำกว่าความเป็นจริง

การปล่อยให้อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ละครั้ง คำพูดแต่ละประโยค มีแนวโน้ม มุ่งไปสู่การทำลายล้างทางการเมือง ได้ตลอดเวลา

๒. ความพลิกพลิ้วเตะถ่วงของ ๕ พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนเรียกร้อง การเรียกร้องของผู้ชุมนุมในระยะแรกๆ ของการจัดชุมนุมนั้น มีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นต่างๆ อาทิ นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก การเลือกตั้ง และไม่มีบทเฉพาะกาล ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานรัฐสภา เป็นต้น ผลของการชุมนุมเรียกร้องในประเด็นเหล่านี้ ได้รับการประนีประนอม จากแกนนำสมาชิก พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ๕ พรรค ในเบื้องแรก ผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ทำนองเป็นสัญญาประชาคม รับปากจะแก้ไข ซึ่งส่งผลให้ประชาชนสลายการชุมนุม รอฟังคำตอบ

แต่ครั้นใกล้ถึงกำหนดวันประชุมสภาฯ บรรดาสมาชิกแกนนำของ ๕ พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล กลับแสดงทีท่า ไม่รักษาสัญญาประชาคม พยายามเล่นเกม ใช้คำพูดที่คิดว่าชาญฉลาด อ้างหลักนิติศาสตร์ เพื่อเตะถ่วงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ยืดออกไป

ลักษณะเช่นนี้ เมื่อบวกเข้ากับการเสียสัจจะ ของอดีตนายกรัฐมนตรี และยิ่งเพิ่มการให้สัมภาษณ์ ของหัวหน้าพรรคการเมือง และรองหัวหน้าพรรคการเมือง ฝ่ายรัฐบาลบางพรรค เกี่ยวกับผู้ชุมนุมประท้วงว่า เป็นกลุ่มคนเพียงเปอร์เซ็นต์เล็กน้อย เมื่อเทียบกับคนทั้งประเทศ หรือตราหน้าผู้ชุมนุม เป็นเพียงม็อบรับจ้าง ตลอดจนการจะจัดม็อบออกมาต่อต้าน ปะทะสู้ทำนองนี้ จึงยิ่งเพิ่มอุณหภูมิ ความคับแค้นไม่พอใจ ให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่มีต่อคณะรัฐบาลเป็นทวีคูณ

๓. บทบาทของรัฐสภาที่ไร้ประสิทธิภาพ ในการหาวิธีการแก้ไขปัญหา จะเห็นว่า ในขณะที่อุณหภูมิ ทางการเมือง เกี่ยวกับการชุมนุม เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มดีกรีร้อนแรงขึ้นทุกขณะนั้น รัฐสภา ที่ประกอบไปด้วย คณะรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ไม่ได้แสดงบทบาทอย่างเข้มแข็งแท้จริง ในการเสนอแนวทางแก้ไข ยุติปัญหา การชุมนุมเรียกร้องของประชาชน ให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ทว่า การหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ กลับกลายเป็นว่า อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความไว้วางใจกองทัพ เป็นผู้เสนอแนวทาง แก้ไขปัญหาให้กับตน ซึ่งกรอบการมองแก้ไขปัญหา ของกลุ่มนายทหาร ระดับผู้บัญชาการ กองทัพนั้น ย่อมอยู่ในขอบเขตจำกัด และเชื่อมั่นในพลังอำนาจของกองทัพว่า จะสยบความเคลื่อนไหว กลุ่มผู้เรียกร้องได้

ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหา จึงนำไปสู่บทสรุป ในการใช้กองกำลังทหารเข้าจัดการ จึงเป็นความผิดพลาด ในการตัดสินใจดำเนินการ ของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ใช้คณะที่ปรึกษาผิดกลุ่ม

เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีคำถามให้น่าคิดเหมือนกันว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ ๕ พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล จงใจโดดเดี่ยว อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ถูกฆ่าทางการเมืองอย่างเลือดเย็น เพราะปัจจุบันนี้ ภายหลังเหตุการณ์วิกฤติผ่านพ้นไป เริ่มมีนักการเมืองจาก ๕ พรรค ออกมาให้สัมภาษณ์กลับลำ แสดงความคิดเห็น ในเหตุการณ์ที่ผ่านมา เป็นไปในทำนอง ถีบหัวเรือส่งอดีตนายกรัฐมนตรี โดยสิ้นเชิง

๔. การปิดกั้นเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร อย่างเที่ยงตรงของสื่อมวลชน จากเหตุการณ์วิกฤติ ที่เกิดขึ้น กล่าวได้ว่า การที่ฝ่ายรัฐบาลใช้อำนาจแทรกแซง เสนอข่าวสารผ่านโทรทัศน์วิทยุ ตลอดจน หนังสือพิมพ์บางฉบับ เป็นไปในทำนอง ปิดกั้นเสรีภาพของผู้สื่อข่าว บิดเบือนโฆษณาชวนเชื่อ ให้ข่าวด้านลบ ในการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการเสนอข่าวด้านเดียวนั้น ยิ่งทำให้เกิดความสงสัย ต่อกลุ่มคนที่ได้รับฟังข่าวสาร และอยู่ในบริเวณโดยรอบกรุงเทพมหานคร หลั่งไหล เดินทางไปยังถนนราชดำเนิน เพื่อรับรู้ข้อมูลที่แท้จริง เนื่องมาจาก การได้รับข่าวลือ ข่าวลวงต่างๆ นานา จากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรสาร โทรศัพท์ เป็นต้น

ดังนั้น ปริมาณของผู้เข้าร่วมชุมนุม จึงเพิ่มมากขึ้น ทุกๆครั้ง ทุกๆชั่วโมง ของการชุมนุมเรียกร้อง ซึ่งข่าวสารที่เสนอจากฝ่ายรัฐบาล บิดเบือนออกไปมากเท่าใด จำนวนคนที่เข้าร่วมชุมนุม ก็มากตามไปยิ่งขึ้น โทรทัศน์ วิทยุ และผู้ประกาศข่าวบางคน บางสถานี สูญเสียความเชื่อถือ ไว้วางใจต่อผู้ชม จนยากที่จะกู้ภาพพจน์คืนกลับมา

๕. ขาดผู้ควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม และไม่มีการจัดประสานงาน ระหว่างผู้ดำเนินการชุมนุม อย่างมีประสิทธิภาพ จากจำนวนคน ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก จะพบว่า ผู้นำกลุ่มการชุมนุมนั้น มีเพียงพลตรีจำลอง ศรีเมือง เท่านั้น ที่มีความสามารถเพียงพอ ต่อการชี้นำ หรือห้ามปรามกลุ่มผู้ชุมนุมได้ ในสถานการณ์ล่อแหลม ที่พร้อมจะเกิดการปะทะ ระหว่าง ผู้สลายการชุมนุม และผู้ร่วมชุมนุม

ในขณะที่องค์กรหรือบุคคลอื่นๆ ที่ประกอบกันเป็น สมาพันธ์ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น องค์กรนิสิต นักศึกษา องค์กรเอกชน หรือคนอื่นๆ เช่น นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ไม่สามารถห้ามปราม จัดรูปขบวนการชุมนุมได้ อย่างมีทิศทางเด่นชัด ดังนั้น เมื่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง ถูกควบคุมตัวไป สภาพการเข้าแทรกแซง ของกลุ่มคนบ้าคลั่งจำนวนหนึ่ง เข้ามายั่วยุ กระตุ้นให้เกิดการปะทะกันขึ้นอย่างง่ายดาย กอปรกับความคับแค้นใจต่อรัฐบาล ที่เก็บสะสมไว้ ของผู้เข้าร่วมชุมนุม เหตุการณ์วิกฤติจึงเกิดขึ้น อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

๖. การใช้เจ้าหน้าที่และวิธีการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่เหมาะสม การสูญเสียชีวิตของผู้ร่วมชุมนุม และทรัพย์สินทางราชการ ที่ยังประเมินตัวเลข ปริมาณผู้เสียชีวิต ไม่ลงตัว แต่ก็คาดว่า เป็นจำนวนร้อยขึ้นไป และอาคาร เอกสารทางราชการที่เสียหาย ไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท ตลอดจนความสูญเสีย ทางด้านคุณภาพจิตใจ ความรู้สึกของ ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทุกฝ่าย ไม่น่าจะเกิดขึ้น เช่นที่กล่าวได้ หากทางด้านฝ่ายผู้ดำเนินการสลายผู้ชุมนุม มีการวางแผน จัดเตรียมขั้นตอน การดำเนินการ ค่อยเป็นค่อยไป และใช้กำลังเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับการฝึกหัด เพื่อสลายฝูงชนโดยตรง
แทนที่จะใช้กำลังทหาร ที่ถูกฝึกให้เป็นหน่วยล่าสังหารศัตรู ของประเทศชาติ มาทำหน้าที่ สลายฝูงชน ผู้เขียนสามารถกล่าวยืนยันได้ว่า ทหารที่เข้าสลายฝูงชน บริเวณโรงแรมรัตนโกสินทร์ ในคืนวันที่ ๑๘ พฤษภาคมนั้น เป็นทหารจากหน่วยศูนย์สงครามพิเศษ ซึ่งมีศักยภาพในการรบสูง เป็นที่ยอมรับทั่วไป ของประชาชนไทย

ดังนั้น การใช้ทหารหน่วยดังกล่าว ทำหน้าที่นี้ ความสูญเสียของชีวิต ผู้เข้าร่วมการชุมนุม ตลอดกระทั่ง การทุบตี กระทืบ ที่ทหารกระทำต่อผู้ชุมนุม ที่ปรากฏภาพออกไป ตามวิดีโอต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยง่ายดาย และความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ ก็ยังไม่อาจจะกล่าวได้ว่า ทหารเป็นผู้ปฏิบัติการผิด เพียงผู้เดียว เพราะเป็นทหารชั้นผู้น้อย ที่อาจจะกระทำการใดๆลงไป เนื่องมาจาก ได้รับข้อมูลบิดเบือนจากผู้ออกคำสั่ง

บทความพิเศษของ
ดร.รัตนะ บัวสนธ์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

ฉบับ ๑๔-๒๐ มิ.ย.๓๕


 

อ่านต่อ ๑๙ ร่วมกันสู้อย่างอหิงสา

จากหนังสือ ... ร่วมกันสู้ ... พลตรี จำลอง ศรีเมือง * พฤษภาทมิฬ * หน้า ๒๐๐