ธรรมปัจเวกขณ์ (๑๓๗)
๑ ธันวาคม ๒๕๒๕

เราจะเกิดความเคยชิน เคยชินจนไม่เกิดปัญญา เข้าไปสอดร้อยอ่าน กลายเป็นชินจนผ่าน ในขณะที่เราเคยชินอะไรก็ตาม และเราก็ยังไม่สำเร็จ คือยังทำอะไรไม่เรียบร้อย แต่เป็นความเคยชินที่เลยผ่าน เลยผ่านโดยไม่มี สติสัมปชัญญะ ปัญญา ไม่มีธัมมวิจัย เข้าไปค้น เข้าไปอ่าน ไปวิเคราะห์ ไปตรวจตรา ไม่ว่าจะเป็นกรรมกิริยา กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม หรือ จะเป็นผัสสะ ต่ออะไร ต่ออะไรอยู่ เมื่อเราไม่มีธัมมวิจัย ทุกอย่างมันก็จะล่วงเลยไป ตามที่เราพอเป็นไปได้ และมันก็จะเป็นไปได้ตามขั้น บางทีมันเป็นไป อย่างผิดๆ มันก็จะเป็นไปอย่างผิดๆ มันจะเลยๆไป อย่างที่เคยเป็น นั้นแหละ โดยเฉพาะ มันเคยเป็นไปอย่างผิดๆ มันก็จะเป็นอย่างเคย คือ ผิดซ้ำซาก ผิดอยู่อย่างเก่า ไม่มีธัมมวิจัย เข้าไปวิเคราะห์วิจัย ว่าดีกว่าคืออย่างไร แล้วปรับมาหาส่วนดีกว่าขึ้นมา มันไม่มีส่วนนี้ เข้าไปกระทำ

อันนี้แหละ ขอให้พวกเราได้สังวร ได้สำเหนียก พยายามตระหนักให้มาก อย่าไปปล่อยอะไร ไปตามเคยๆ ที่เรายังไม่แน่ใจว่า จนเรายังไม่ปกติ เพราะเราได้ สำรวจจนเสร็จสิ้น จนจบเป็นกตญาณ คือ มีปัญญารู้ถึง ความเสร็จแล้ว แล้วมันก็คล่อง เลื่อนเรื่อยไป ผ่านไปโดยปรกติ ที่ไม่มีเสี้ยน ไม่มีเศษ ไม่มีอะไรบกพร่องอีก นั่น เป็นเรื่องจบ

ทีนี้ผู้ที่ยังไม่จบเลย เลื่อนผ่าน เลื่อนผ่าน ดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเลื่อนผ่านด้วยอะไร ดังที่บอกไปแล้ว ไม่ว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม หรือ ผัสสะในทวาร ที่เรารับอะไร ผัสสะผ่านเข้าไป และเราก็ไม่ได้ปรับปรุง ไม่ได้มามีธัมมวิจัย ไม่มีอะไรสะดุด มันจะเป็นการบกพร่อง มันจะเป็นการไม่เจริญ เป็นการขาด ลักษณะนี้ จะมีได้ง่าย สำหรับผู้ที่ทำไปแล้ว ก็ชินชา พอชินชาแล้ว ก็เลื่อนผ่าน เลื่อนผ่าน โดยมีสติ ธัมมวิจัย วิริยะ เป็นโพชฌงค์ทั้ง ๓ นี้ ไม่ได้ทำงานพร้อมพรั่ง เพราะฉะนั้น โพชฌงค์ ๓ ที่กล่าวนี้ สติ ธัมมวิจัย วิริยะ นี่จึงเป็นหลัก อย่างสำคัญมาก ในการปฏิบัติธรรม สติปัฏฐาน ๔ หรือ โพธิปักขิยธรรม หรือ แม้มรรคองค์ ๘ ก็ตาม จะเรียกอะไร จุดใดจุดหนึ่งก็ได้ มันก็เป็นการปฏิบัติ ตั้งแต่ต้นจนปลาย ด้วยระบบทฤษฎีอันนี้ วิธีการอันนี้ ของพระพุทธเจ้า เพราะเราจะต้อง มีสติ รู้ตัว ทั่วพร้อม ที่จะรู้ แม้แต่หยาบ กลาง ละเอียด ว่ามีอะไร ผ่านมาผ่านไป มีการออกการเข้า ไม่ว่าการแสดงออก หรือการรับเข้า เราจะต้องรู้ เราจะต้องมีธัมมวิจัย เพียรพยายามที่จะวิจัย เพียรพยายามที่จะรู้ ให้แยบคายขึ้น ให้ละเอียดลออขึ้น และเกิดการรู้ยิ่ง รู้จริงว่า ถ้าปรับอย่างนี้ ถ้าให้เป็นอย่างนี้ ดีกว่า กลับให้เป็นอย่างเก่าอยู่ ก็รู้ให้จริง มีการให้แท้จริง ขนาดที่จะรู้ว่า แท้จริง หรือ ถูกต้องจริงนี่ มันก็ยังจะต้องเรียน ต้องพยายาม ทั้งทฤษฎี ทั้งเหตุผล ทั้งอะไรต่อมิอะไร มากมายหลาย มารู้

เมื่อรู้แล้ว ก็ยังจะต้องฝึกฝน ยังจะต้องปรับปรุง ยังจะต้องอบรมเข้าไป ให้เป็นจริง ตามที่เรารู้ ซึ่งมันก็เป็นบทยาก เติมจากที่เรารู้ขึ้นไปอีก กระทำให้มันได้นี่ มันไม่ใช่ง่าย กว่าจะรู้ แล้วก็ไม่เหลือเศษ ได้ไปอย่างดี ได้ไปอย่างคล่อง ได้ไปอย่างง่ายขึ้น ได้ไปอย่างเป็นอัตโนมัติ เมื่อมันเป็นอัตโนมัติ มันคล่อง เลื่อนคล่อง เพราะมันแล้วๆ มันทำเสร็จแล้ว มันรู้จริง ก็ได้อบรมจริงนั้นเป็น เกิดสภาพเป็น ยถา ภูตะจริง ตามจริง และก็มีญาณทัสสนะ เป็นวิมุติญาณทัสสนะ หรือว่าจะสร้างก็ตาม สร้างก็โดยไม่มีกิเลส จะสร้างจะสรร จะคิดจะอ่าน จะคิดจะพูด จะทำการงานอะไรก็ตาม ทำโดยไม่มีกิเลส มันก็เป็นการสร้างที่ผ่าน เลื่อนผ่าน ทั้งคล่องแคล่ว ทั้งชำนาญ ทั้งง่ายดาย ไม่ยากไม่เย็น แต่ก็ประณีต แต่ก็งดงาม ก็ละเอียดลออ สมบูรณ์ มีคุณภาพ มีคุณค่า ไม่ใช่ว่าง่ายๆ คือสะเพร่า ไม่ใช่ว่าง่ายๆ คือสักแต่ว่าทำผ่านๆๆ สักแต่ว่า ให้มันแล้วๆไป ไม่มีการพิถีพิถัน ไม่มีการประณีต ไม่มีการเอาใจใส่ ไม่ใช่อย่างงั้น ง่ายๆ ง่ายเพราะมันคล่อง ง่ายเพราะมันได้เรียบร้อย ง่ายเพราะมันเก่ง ง่ายเพราะมันชำนาญ ง่ายเพราะ เราทำจนอบรม หรือว่าฝึกปรือ จนเป็นได้อย่างดี อย่างไม่ยาก อย่างไม่ลำบากเลย นั่นเป็นความง่าย ในความหมาย ที่เราควรจะรู้ ถ้าง่ายอย่างสะเพร่า ง่ายอย่างสักแต่ว่า ทำผ่านๆ ชุ่ยๆ ไปอะไร มักง่ายอย่างงี้ ไอ้อย่างงั้น ก็เป็นความหมายหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งเราจะต้อง ระวังไม่ให้มี ไม่ให้เกิด

เมื่อผู้ใดได้มีสติสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ มีวิริยะสัมโพชฌงค์ ทำจริง เราก็มีหวังได้ว่า จะเกิด ฐานต่อไป ว่าเป็นปีติ เป็นปัสสัทธิ ตามจริงๆ เกิดดี ดีได้โดยเรารู้ โดยเราเห็น โดยเรายินดีอยู่ รู้ดีอยู่ เห็นดีอยู่ ดีนั้นเกิดอยู่ทีเดียว จะมีอาการฟูใจ เพราะได้ดี เพราะเห็นว่า เราเกิดดี มีดีอะไรอีก ฟูใจเสริมเข้าไปอีก เราก็จะต้องรู้ซ้อนซ้ำลงไปว่า ไอ้นั่นว่าเป็นกิเลส เป็นอุปกิเลส เสริมซ้อน เราก็จะต้องลดอุปกิเลสนั้น และแม้ดีนั้น ที่เราได้ดีนั้น เราอาศัยมัน หรือว่าเราสร้างสรรอยู่ เราไม่ได้ติดว่า เป็นตัวเป็นตน ของเราของเขา ซึ่งจะไม่พรากจากกัน พรากจากดีนี้ไม่ได้ ไม่ใช่ เราจะต้องปล่อยอยู่ ปล่อยอยู่ หรือรู้เท่าทัน ความเป็นจริงอันนี้ ปล่อยอย่างไรเราก็รู้ อาศัยอยู่ เพราะเหตุปัจจัย เพราะรูป นาม ขันธ์ ๕ ยังไม่แตกสลาย เพราะว่า ต้องเป็นต้องไป ต้องทำ ต้องสร้างดี เป็นดี มีดีนี้ไป เท่าที่เราจะมีเรี่ยวมีแรง มีระยะเวลา มีโอกาส ที่เราจะต้อง กระทำอยู่ ก็กระทำไป

ในขณะที่เราสร้างดีเป็นดีนี่ เราก็ตรวจลงไปว่า มันสงบระงับจากกิเลสจริง มันไม่มี แม้หยาบกลางละเอียด ปัสสัทธิ สงบจริงๆ ไม่ใช่สงบไม่ทำอะไร ถ้าสงบไม่ทำอะไร ไม่ใช่มรรคองค์ ๘ ไม่ใช่ ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม ที่มีพฤติกรรม ทั้งคิด ทั้งพูด ทั้งการงาน ไม่ใช่ ฟังชัดๆ แล้วจะเห็นจะรู้ได้ ปัสสัทธิ หรือแปลว่า ความสงบระงับนี่ ไม่ใช่ระงับหยุดกดข่ม นิ่งเงียบ ไม่มีบทบาท ไม่มีการคิด ไม่มีการพูด ไม่มีการงาน ไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่อย่างนั้น มันสงบจากกิเลส ไม่มีความโลภ โลภอย่างหยาบ โลภอย่างกลาง โลภอย่างละเอียด ไม่มี อ่านละเอียดชัดเจน อาการอย่างไร เรียกว่ากิเลสหยาบ กิเลสกลาง กิเลสละเอียด ซึ่งมีภาษาบาลี กำกับไว้ ทุกอย่าง เป็นความหมาย ที่ท่านได้อธิบายไว้ อาการอย่างไร เราก็รู้ของจริง ตามความเป็นจริง ให้ชัด มันหมดไป จางคลายไป หรือว่า มันไม่มีเลยแล้ว และเราก็รู้ความไม่มีนั้น เพราะความไม่มีกิเลส นั้นแหละ เราเรียกว่า วูปสโม สุโข เป็นความไม่ต้องต่อสู้อีกแล้วกับข้าศึก สงบศึกแล้ว สบายดี จะสร้างสรร โดยไม่มีอะไรต้าน ไม่มีอะไรขวาง เพราะเราฆ่าข้าศึก ออกไปแล้ว โดยเฉพาะ ข้าศึกของเรา มันเป็นที่ใจ ใจไม่มีต้าน ทำอะไรก็คล่อง ทำอะไรก็ง่ายขึ้น ทำอะไรก็เบาขึ้น ทำอะไรก็สะดวกขึ้น ละทีนี้ เพราะมันเป็น ปัสสัทธิ มันเป็นความสงบ ระงับจากกิเลส

การสั่งสมให้จิตมันสู่จุดปลายๆ ดังที่อธิบายความหมาย ลึกซ้อนแหละ จะเข้าสู่กับคำว่า สมาธิ หลักก็จะเป็น อธิศีล จิตใจที่เราละกิเลสออก ก็จะออกเกลี้ยงเรื่อยๆ เป็นอธิจิต เราจะรู้ความจริง เห็นความจริงที่จริง ความจริงที่เกิดจริง จิตที่เป็น อธิจิตจริง ก็จะเกิด จิตหมดกิเลสลง หรือว่า จางจากกิเลสลง ขึ้นไปเรื่อยๆ ดีขึ้นๆๆ เราก็จะเห็น จะรู้ตัวจริงที่เห็นตัว เห็นที่มัน ด้วยญาณปัญญานี่ เห็นของจริง ตัวจริงของเรา เห็นเรารู้นี่แหละ เราเรียกว่า อธิปัญญา และมันก็จะเป็นปัญญา ที่เห็นของจริง ที่เข้าใจลึกซึ้ง เห็นมุมเหลี่ยมอะไร ต่อมิอะไร มากมายขึ้น เป็น ยถาภูตญาณทัสสนะ เป็น ญาณทัสสนะ เป็นความรู้ ที่รู้จริง ตามความเป็นจริง ไม่ใช่คิดนึก ไม่ใช่ด้นเดา ไม่ใช่เป็นเหตุเป็นผล เป็นตรรกวิทยา ไม่ใช่เลย ไม่ใช่ความผกผัน ไม่ใช่ความคาดคะเน ไม่ใช่การประเมินประมาณ อะไรทั้งนั้น แต่มันเป็น ความรู้ที่รู้ยิ่ง รู้จริง รู้แจ้ง รู้ของจริง สัมผัสจริง มีจริง เป็นจริง เป็น ยถาภูตญาณทัสสนะ นี่กำชับกำชากัน กำกับความรู้ ความหมายอันนี้ ให้ชัดๆ กันเสมอมา ก็ขอให้รู้จริง เห็นจริงให้ได้

ถ้าใครเข้าใจโพชฌงค์ ๗ ถูกหลักถูกสภาพ แล้วเราก็ปฏิบัติ มีสภาพเห็นจริง รู้ยิ่ง รู้จริง เกิดจริง เป็นจริง อย่างนี้ เราเดินทางถูกแล้ว เรากำลังเป็นจริง มันจะเกิดผล เกิดอะไรคุณจะรู้เอง คุณจะมั่นใจ แน่นอน ของคุณเอง จนสุดท้าย อุเบกขา ถ้าแปลจริงๆ อุเบกขาแปลว่ายอด มันเกิดยอด อุปะ + เอก ขะ มันเกิดยอดแล้ว มันเข้าใกล้ ไปเรื่อยๆ หรือว่า ถือเป็นเอก เป็นความว่าง เป็นความเบา เป็นความปราศจากกิเลสลงไป ว่างจากกิเลสไปจริงๆ เป็นเอกในความว่างจากกิเลส เกิดสิ่งที่เป็นเอก ที่เรามั่น เราหมาย ที่เรียนมาตามทฤษฎี ที่เราได้อบรม ปั้นสร้างขึ้นมาจนเป็น อย่างแน่แม่น ไม่แปรปรวน ทรง ทน เรียกว่า ธรรมะ ธรรมแปลว่าทรง แปลว่ามั่นคง ทรงทน ทรงทนอันนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ทรงทนตีไม่แตก ไม่ใช่พรากไม่ได้ ปล่อยไม่ได้ ไม่ใช่อีก นี่ความหมายธรรมะ มันลึกซึ้งอย่างนี้ ธรรมาธิษฐาน เพราะมันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน แต่เป็นเรื่องจิตวิญญาณที่รู้ ที่สร้างที่สรร ประวัตถุก็เกิดวัตถุ วัตถุเราก็สร้าง แล้วก็ให้คนอื่น ไม่ยึดเป็นของเรา จิตใจของเรานี่แหละ เป็นตัวไม่มีของเรา จิตใจของเรานี่แหละ ไม่มีอะไรสะสม ไม่มีอะไรเกาะติด ไม่มีอะไรยึดถือเอาไว้ ไม่มีอะไรยึดฉวย เอาอะไรไว้ ไม่มีเศษ ไม่มีอะไรเลย อย่างนี้ เราเรียกว่า เป็นยอด เป็นเลิศ ฐานของมัน เข้าไปสู่ความปล่อย ความว่าง เป็นอากาสา เป็น วิญญาณ ก็เป็นธาตุที่ทำด้วยรู้ ที่มีธาตุรู้ ก็ทำไปตามที่รู้ สร้างสรรไปตามที่รู้ แล้วเราก็ทำจริงตรงตามนั้น เป็นการรู้ การปล่อย การวาง การเลิก การหลุด สร้างอะไรก็สร้าง ตามสมมุติโลก จะเข้าไปยึดไปติด ตามความสมมุติ เราไปยึดไปติด ตามความสมมุติ คือไปเกาะไปเกี่ยว ตามความสมมุติ ไปจับไปยึดมาสร้าง มาเป็นมาไป แต่ไม่ใช่สร้างเพื่อตัวตน ไม่ใช่ของของเรา ไม่ใช่เพื่อเราๆ ไม่มีสูงสุด นี้เป็นภาษาที่พูดได้ โดยความจริง คุณจะรู้ความจริงนี่ เกินกว่าภาษานี่ จะพูดไปอีกด้วยซ้ำไป จะรู้เอง

ให้พิจารณา ซับซ้อนๆ แล้วก็อย่าไปหลงเรื่อย เลือนๆ เรื่อยไป โดยที่เราเรียกว่า เราก็เลยกลายเป็น เลือนเรื่อยไป ผ่านไป ไม่เจริญ ไม่มีวิจัย แม้แต่โพชฌงค์ ๓ ไม่เกิดบทเต็ม เพราะฉะนั้น โพชฌงค์บทอื่นๆ ในระดับอื่นๆ ก็แน่นอน เอาอะไรมาสั่งสม เอาอะไรมาเจริญ ถ้าบทที่สำคัญ เป็นตัวปฏิบัติแท้ คือสติ ธัมมวิจัย วิริยะ เป็นตัวได้ดีนี่ เกิดแท้จริง ถ้าตัวเกิดแท้ ไม่มีตัวที่จะเป็น การสูงขึ้น ตัวที่จะอธิบาย ขยายความ อย่างที่กล่าวไปแล้ว ให้เป็นจริง เป็นจังขึ้น มันก็ไม่เกิดตาม เพราะฉะนั้น ก็ขอให้เรา ทุกขณะ ทุกเวลา ที่ทุกสัมผัสผ่านในโลก จงพยายามรู้เท่าทัน ให้รวดเร็ว มีอิทธิวิธี ที่จะแก้ไขปรับปรุง ให้เลื่อนเจริญๆ ไม่ใช่เลื่อนเรื่อย จนไอ้เลื่อนเรื่อยนี่แหละ เพราะมันเรื่อย เพราะมันง่าย และ มันเจริญยิ่ง จนจบได้ เป็นได้ เรามีแค่พฤติกรรมที่เจริญ ที่จะสร้างสรร จะอยู่อะไร ใจก็ว่าง ก็สบาย ไม่ยาก ในการปรับปรุง และ ยังแถมเจริญๆๆ งอกอยู่ ทุกคนก็ได้ประโยชน์ พร้อมกันนั้น เราผู้รู้ ถึงบาปถึงบุญ เรารู้ส่วนได้ ส่วนเสีย ที่ชัดแจ้งแล้วว่า “เราเสียสละนั้นแหละ คือเราได้” มันจบในตัวของมันเอง “คนที่ถึงจริงแล้วก็จบ” ผู้นี้เป็นผู้มีบุญอยู่ ผู้นี้เป็นผู้ที่ได้อยู่ ได้อยู่ คือผู้ที่เสียสละอยู่ เสียสละอยู่ สร้างสรรแล้วก็เสียสละ ด้วยจิตละเอียดลึกซึ้ง ไม่โลภ ไม่โค้งงอมาให้แก่ตัวเอง ไม่เหลืออัตตาใดๆ ที่พูดให้ละเอียดที่สุด ในอัตตา ความหมายปลาย ที่มันจะมาเป็นตัวเป็นตน เห็นแก่ตัวแก่ตน หรือยึดติดตัว ยึดติดตน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราจะศึกษาให้ละเอียด ลึกซึ้ง แยบคาย และก็กำกับ กำชับกำชาตนเอง ให้ทุกขณะ ทุกขณะ มีคุณค่า ไม่ให้ปล่อยผ่าน เลื่อนเรื่อย โดยที่ไม่เกิดคุณค่า เราก็จะเป็นผู้ที่สั่งสม หรือปฏิบัติธรรม ได้ผลไปทุกเมื่อ สักวันหนึ่ง เราก็จะถึงที่สุดแห่งที่สุด ได้แล.

สาธุ

*****