ธรรมปัจเวกขณ์ (๙๙)
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๒๕

วันนี้เป็นวันพุธ ถ้าที่พุทธสถานอื่น วันพุธนี่ก็จะเงียบ ไม่พูดกัน หัดระวังวจี หัดสำรวมโดยทวารปาก ทวารคำพูด ให้มาก มันเป็นนโยบาย เป็นตบะธรรม เป็นเครื่องประกอบอันหนึ่ง ที่เราจะฝึกฝน เราพูดกันมากทุกวันน่ะ อาทิตย์หนึ่ง ๗ วัน เดือนหนึ่ง ๓๐ วัน เราก็พูดกันทุกวัน เพราะฉะนั้น สักอาทิตย์หนึ่ง หนึ่งวันเราจะฝึกหัด เราจะไม่พูด เราจะสำรวม สังวรวาจา จะรู้เท่าทันคำพูด เพราะว่า วาจานี่ ร้ายกาจมาก ในมิจฉาทิฏฐิ สังกัปปะก็มีมิจฉาอยู่แค่ ๓ หลัก แต่วาจานี่ มีมิจฉาอยู่ถึง ๔ หลัก กัมมันตะ ก็มีมิจฉาอยู่แค่ ๓ หลัก อย่างนี้เป็นต้นนะ

กรรมทั้ง ๓ นี่ มันมีสภาพ วจีกรรม เป็นเรื่องต้องระวัง มีหลักให้ประพฤติ มากกว่าการพูดการกล่าว การทำอะไรต่ออะไรนี่ โดยเฉพาะพวกอโศกเรานี่ จุดนี้ล่ะ สำคัญมากๆ คำพูดนี้ เราไม่มีอะไรมาก กายกรรม ที่โหดร้ายรุนแรง เราก็ไม่เคยปรากฏ สำหรับพวกชาวอโศก เราทำงานมา ๑๒ ปีนี่ กายกรรม ที่ปรากฏรุนแรง โหดร้าย ยังน้อย ไม่ค่อยมีน่ะ ยิ่งหยาบช้า เลวทราม ในกายกรรม ไม่เจอะ แต่วจีกรรมของเรานี่ แหม! ได้เรื่อง มีมาก

เราจึงต้องมีตบะธรรม ในการสำรวมสังวรวจีกรรม ในวันพุธ ทุกพุทธสถาน ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติมา อะไรต่ออะไรมา ก็เราพยายามใช้การสังวรระวัง วจีกรรม เพราะอันนี้ มันสำคัญมาแต่ไหนๆ เรื่องวจีกรรม โดยเฉพาะยิ่งเป็นครู เป็นนักบวช เป็นผู้ที่จะต้องแสดงธรรมเทศนา แสดงคำพูด แสดงวาจาเป็นเอก ก็จะต้องสังวร ในเรื่องวาจานี่ อย่างสำคัญมาก

ถ้าเป็นที่อื่น ในวันพุธนี้ แม้ปัจเวกขณ์ หรือปฏิสังขาร ในการพิจารณาอาหาร เราก็ปฏิสังขารเงียบๆ ไม่พูดไม่จา ไม่อธิบาย ไม่แนะนำอะไร ให้คนสังวรระวัง สำรวมระลึกดู อยู่ในความเงียบนี่ อยู่ในความเงียบ เราจะเห็นอะไรๆ ขึ้นมาได้ เห็นอันนี้ ไม่ใช่ลูกตาเท่านั้น มันเห็นในๆ เป็นทัสสนะ เป็นญาณทัสสนะ ที่เกิดเห็น เกิดรู้ เกิดอะไรต่ออะไรได้น่ะ

พวกเราที่อื่น ที่พุทธสถานอื่น เขาทำเขามี พวกเราก็น่าจะสังวร ระวังด้วยว่า อันนี้ เป็นตบะธรรมของชาวเรา เป็นนโยบายของชาวเรา เป็นกรรมฐานของชาวเรา ที่เราเอามาใช้ เอามาฝึกฝน แล้วเราไม่ค่อยได้พูดกัน ในสันติอโศกนี่ คนใด ไม่เคยไปอยู่พุทธสถานอื่น ไม่รู้เรื่องในเรื่องพุทธัง หรือเรื่องที่เราใช้อะไรอันหนึ่ง ที่ใช้ในวันพุธ คือ ตบะธรรม ที่ใช้ในวันพุธ เราจะสงบปาก สงบคอ ไม่พูด ไม่จำเป็นที่สุด เราไม่พูดเลย แต่ถ้าจำเป็น บางขณะ เราเขียนหนังสือ ส่งให้กัน เขียนกระดาษ เขียนหนังสือ บอกกันน่ะ นอกจาก จำเป็นที่สุดจริงๆ เห็นจำเป็น แขกเหรื่อที่สำคัญมา เป็นเรื่องที่ควรจะต้องพูดกัน อย่างสำคัญที่สุด เราจะพูด ถ้าไม่เช่นนั้น เราก็จะพยายามนิ่งเงียบ ในวันหนึ่ง เราไม่มีวาจาอย่างนั้น เราไม่ต้องบอกกล่าวกันอย่างนั้น เอาไปวันอื่นบ้าง มันจะได้รู้จักบ้างว่า มันไปได้ มันผัดผ่อนได้ หรือว่า มันไม่ต้องมีสิ่งนี้จริงจริ๊ง มันเป็นได้ ไม่จำเป็นจะต้องบอกกล่าว ไม่จำเป็นจะต้องกระทำออกมา ผ่านไป เลิกเสียบ้าง หยุดเสียบ้างได้น่ะ มันมีอะไรต่ออะไร เกี่ยวเนื่องไป อิทัปปัจจยตา เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ทำให้เราได้ศึกษา เราได้รู้ว่า เพราะเหตุนี้ จึงไปก่อเหตุนั้น ถ้าเราตัดเหตุ ตัดอันนั้นลงเสียบ้าง ให้เป็นจริง แล้วมันจะเกิดผลอย่างไรๆ เราจะเกิดความรู้ เกิดการพิสูจน์น่ะ

ก็ขอให้พวกเราได้ไปพิจารณา ในเรื่องนี้ สังวรระวังภาษา เมื่อถึงวัน ถึงเวลาสำรวมสังวรขึ้น แม้ที่นี่ เราไม่ใช้ตบะธรรมข้อนี้ เพราะว่ามันมีงานมาก มันมีความเกี่ยวข้องเยอะ ทำไปแล้ว มันไม่ศักดิ์สิทธิ์ ทำแล้ว มันฟั่นเฝือ ถ้าจะทำที่สันติอโศกนี่ เอาตบะธรรม พุทธัง มาทำนี่ ทำแล้วไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ขลัง ไม่เป็นประโยชน์ มันจะต้องพูดกันมากเกินไป มันจะอนุโลมเกินไป แล้วมันก็ไม่ได้ความ เพราะฉะนั้น สิ่งเป็นกฎเป็นหลัก ที่อนุโลมมากกว่า ที่เป็นไปได้ เราเสียกฎหมด เสียกฎเสียหลักหมด เสื่อมหมด มันไม่มีประสิทธิภาพ เราจึงไม่ทำที่สันติอโศก เราจะไม่ให้มี เพราะมันจำเป็นนะ มันไม่เหมือนสถานที่อื่น ที่พอเป็นไปได้น่ะ

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ถ้าพวกเรารู้ ก็พยายามทำในส่วนตน สังวรระวัง พอเป็นพอไป แม้จะไม่ทำเป็นรูปแบบ ถึงขั้นว่า เราจะไม่พูดเลย เราก็สังวร จะพูดสำรวม จะพูดให้มีความสำนึก สำนึกอยู่ว่า อ้อ! วันนี้ เป็นวันที่เคยทำตบะธรรม อันนี้นะ กรรมฐานอันนี้นะ เราก็ทำบ้าง เราก็พยายามบ้าง แล้วก็จะเกิดผล เกิดประโยชน์เอง สำหรับผู้ที่ได้พิจารณา ผู้ที่ได้ฝึกหัด โดยนโยบาย รูปแบบ หรือกรรมฐาน ที่พยายามที่จะสร้างขึ้น พยายามที่จะมี อันใดพึงมี พึงควร ก็ได้คิดแล้ว อาตมาประมาณแล้ว

มีคนมาตู่ท้วงว่า เอ้อ! การไม่พูด พระพุทธเจ้าท่านไม่สอน จริงๆนะ ท่านให้ สำรวมสังวร ปากคำ ท่านไม่ได้สอนถึงขนาดนั้น เพราะว่า เมื่อก่อนนั้น มันไม่ได้มีเรื่องมาก มันไม่มีอะไรต่ออะไรนักหนา ถ้าไม่ถึงขนาดนี้ ท่านก็ได้ แต่การไม่พูด ท่านเคยดุ และเคยว่าโมฆบุรุษด้วยซ้ำ เมื่อไม่พูดน่ะ โดยมีเรื่องราวอยู่คราวหนึ่ง ที่มีพระ ไปจำพรรษารวมกัน แล้วก็สัญญากันว่า ในตลอดพรรษานี้ ไม่พูดกันเลย ๓ เดือน เสร็จแล้ว ก็อยู่ไปจนเสร็จ พอเสร็จแล้ว ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ท่านก็ตรัสถาม ว่าเป็นยังไงเธอ อยู่สุขสบายดีหรือ บอกว่า อยู่ที่นั่นที่นี่ มีหลายๆคน อยู่ด้วยกัน เออ! เป็นยังไง สุขสบายดีหรือ อ้า! ไม่ทะเลาะเบาะแว้งอะไรกัน ไม่มีเรื่องราว บอก ไม่ อ้อ! ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ทำยังไง พวกข้าพเจ้าสัญญากันว่า ไม่พูดกันเลย ตลอดพรรษา พระพุทธเจ้าก็บอกว่า โมฆบุรุษ ใครสอนเธอ ให้ไม่พูดกันทั้ง ๓ เดือน ไม่พูด ตลอดพรรษาน่ะ มันมากไปนะ อันนั้นมันมากไป แล้วก็จะเอาการไม่พูดกันเลยนี่ เป็นสภาพของการที่จะแก้ไข ว่าจะได้ไม่ทะเลาะกัน เพราะมันไม่พูดกัน อันนี้ มันไม่ถูกเรื่อง

แต่ที่เราไม่ได้พูดนี่ ไม่ได้หมายความว่า เราจะได้ไม่ทะเลาะกัน เราไม่พูด เพราะสำรวมวาจา เพราะหัดฝึกสติปัฏฐาน มันเป็นเรื่องเสริมหนุน ให้ปฏิบัติ สติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องแก้ไขไม่ให้ทะเลาะกันน่ะ เพราะมันต่างกันกับ ความมุ่งหมาย ที่เขาเป็นกัน ต่างกันกับสภาพที่ มันจะก่อเกิดอะไรขึ้นมา มันต่างกันมาก มันมากเกินไป เราทำงาน เราต้องมีการบอกการกล่าวกัน มีอะไรต่ออะไรกัน ทีนี้มันมาก ตั้ง ๓ เดือน แล้วก็เลย มันจะไปมีอะไรกันนักหนา มันไม่เจริญน่ะ เพราะว่าคำพูดนี่สำคัญ โดยเฉพาะคนน่ะ เจริญกว่าสัตว์อื่น ตรงมันพูดได้ และมันบอกกล่าวกันได้ แนะนำกันได้ ความรู้ก็พูด นี่แหละสำคัญ โดยเฉพาะ เทศนานี่พูด

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่อง สลับซับซ้อนอยู่ คนเขาจะตู่จะท้วงอะไรเรา เอ๊อ! พระพุทธเจ้าไม่สอนอันนี้ แล้วอันนี้ จะตีเลยเถิดไปว่า ไม่ได้ ไม่พูดไม่ได้ ก็ช่างเขา เราก็ฟัง เราได้ประโยชน์อันนี้หรือไม่ เราได้ประโยชน์อันนี้ เราก็ทำ ไม่ได้ประโยชน์ ใครไม่เห็นด้วย ก็ไม่ต้อง ที่กฎนั้นระเบียบนั้น อยู่ที่ ที่นั่นที่นี่ เราก็ไม่ต้องไปที่ ที่เขามีกฎระเบียบ อย่างนี้น่ะ กฎระเบียบที่เขาไม่พูดกัน เราก็ไม่ต้องไป หรือไป ก็ไปวันอื่น วันที่เขาไม่พูดกัน เราก็อย่าไป เราจะได้ ไม่ต้องไปเที่ยวได้ละเมิดกฎ ละเมิดระเบียบเขา ถ้าเราอยู่ในที่นั้น เราก็ต้องเคารพระเบียบ วินัยของสถานที่นั้นเขา ถ้าไม่เช่นนั้น เราก็ไปไม่ได้น่ะ

ประเทศทุกประเทศ มีกฎหมาย มีกฎมีระเบียบ มีวินัยของประเทศ เข้าไปประเทศเขา เราบอก เราไม่ปฏิบัติกฎหมายของประเทศนั้น ไม่ได้ แม้จะไปจรๆไป ก็ไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้น ของเขาเสมอ ที่ใดก็แล้วแต่ สถานที่ที่เขาเอง เขาดูแลครอบครองน่ะ ดูแลจัดการ เขาก็ต้องมีหลักมีเกณฑ์ ของใครของเขา ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศ ผู้คน หมู่ชน หรืออะไรต่ออะไรของเขา เขาก็เอามาเป็นเหตุปัจจัย ในการจะตั้งกฎ ตั้งหลัก เพื่อความชอบ

กฎหมายของประเทศใดๆ บางทีเราฟังแล้ว แหม! กฎหมายของประเทศนี้ อย่างนี้นี่ ฟังแล้ว พิเรนพิลึก เราอย่าไปว่าเขา เพราะว่า กฎหมายของแต่ละประเทศ มันก็เหมาะกับของเขา ที่เขาได้ตัดสิน ตามความคิดเห็นของเขา เขาก็ใช้ผู้รู้ เป็นคนตรากฎหมาย ตราหลัก ตรากฎ ตราระเบียบขึ้น เราอย่าไปดูถูกดูแคลน ลงโทษเขาไม่ได้ทีเดียวน่ะ อันนี้เราก็ต้องเข้าใจ แล้วก็ระมัดระวัง

ที่เราทำอยู่นี้ ไม่ใช่แก้ตัว แต่ว่าเราทำ เพราะมีความมุ่งหมาย ที่เป็นประโยชน์ เป็นผล แล้วก็เราทำ ก็ไม่ได้ทำเกินเลย จนกระทั่ง มากเกินไป ยาวเกินไป จนกระทั่งเสียหาย การเป็นอยู่ หรือเสียหายอะไรต่ออะไร ต่างๆนานา แล้วก็มันก็ไม่ได้แก้ไขอย่างแท้จริง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เราทำนี่ มันแก้ได้จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้ไปถึงขนาด ไม่มีช่องไม่มีช่วง ไม่มีเงื่อนไข เรามีเงื่อนไขน่ะ

แม้ในที่สุด ขนาดนั้นขนาดนี้ เราก็มีเงื่อนไข จำเป็นที่สุด เราก็พูด เราก็บอก พูดกันบ้าง ถ้าจำเป็น เห็นสมเหมาะสมควร แต่เราจะพยายามตั้งใจ แม้พูดก็มีสติ สัมปชัญญะ และจะให้น้อย ในกาละวันอย่างนั้น หรือไม่พูดได้เลย ก็ยิ่งดี วันหนึ่งคืนหนึ่ง สิ้นวันสิ้นคืน เราจะรู้ว่า มันมีอะไรเกิดขึ้น มันมีอะไรเป็นคุณเป็นค่า เป็นผลประโยชน์บ้าง เราจะรู้ เราจะเข้าใจน่ะ มันสร้างสติได้อย่างดี แล้วระมัดระวัง คำพูดคำจา มันเป็นการฝึก เหมือนเรามานั่งเฉยๆ แล้วก็ดูจิต จะตกภวังค์ เป็นเจโตสมถะ อะไรนี่ล่ะ ก็เหมือนกัน มันเป็นอุปการะ มันเป็นผลได้ ที่เราควรจะกระทำน่ะ

จุดนี้ก็ขอให้พวกเราระลึก โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยไป ที่พุทธสถานอื่นเลย ก็ให้รับรู้ หรือคนเคยแล้ว แล้วก็เรื้อ ปล่อยปละละเลย ไม่สังวรระวัง ไม่อะไร ก็ขอให้ระลึก แล้วก็ใช้บ้าง ถ้าพอเป็นไป แม้มันไม่ตรงตรึงเต็ม ตามที่เราใช้ในพุทธสถานอื่น ในสันติอโศกนี่ เราก็ควรจะมีบ้าง ถ้าเป็นไปได้ พอสมควร

ขนาดคนเข้ามาในที่นี้ พอถึงวันพุธ รู้สึกมีอะไร มันเงียบสงบดี เขาก็จะมีอะไร เป็นที่สังเกตบ้าง เหมือนกันนะ แล้วเราเอง เราก็ได้กรรมฐานอันหนึ่ง ที่เป็นอุปการะ เพื่อประพฤติธรรมให้แก่ตัวเรา คิดว่าทุกคน คงเห็นความสำคัญอันนี้บ้าง แล้วจะได้มีอะไรเพิ่มเติม แถมเป็นอุปการะ ใช้ในการประพฤติธรรมของเรา แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้พูดกันเลยนะ ในสันติอโศกน่ะ ไม่ใช่ว่าให้ไป พุทธัง กันไปอย่างเหมือนๆกับ พุทธสถานอื่น ไม่ใช่นะ แต่ แต่ละคน ทำสำรวมขึ้นมาบ้าง มีมวลมากๆ มันจะมีรูปอะไรอันหนึ่ง ก็ลองทำดู ก็เป็นไปพอสมควรดูน่ะ สังวรระวังของตนนั่นแหละ สำนึกของตนนั่นแหละน่ะ ถ้าไม่สำคัญจริงๆ หรือว่าไม่สำคัญพอสมควร เราก็เงียบเสียบ้าง เราก็เฉยเสียบ้าง แต่อย่าให้มันเป็นเฉยเมย โดยเฉพาะแขกเหรื่อ หรือโดยเฉพาะ ผู้ที่เขาไม่รู้ เพราะที่นี่ มันมีอะไรหลายอย่างนะ หรือว่าจะเสียงาน ก็เกินไป ก็อย่าน่ะ

เพราะฉะนั้น ก็รู้จักความสำคัญที่สำคัญ ในกาละเทศะ ในเวลา ในสถานที่ ที่มันสำคัญ เราก็จะได้เป็นประโยชน์ เป็นการปฏิบัติธรรม ตามนโยบาย หรือกรรมฐาน อะไรต่างๆ ของเราทุกคน

สาธุ

*****