001 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖

เหล่าพวกเราที่ได้พึงเพียรปฏิบัติ ที่เราทำท่าทีพิจารณานี้ ก็อยู่ในหลักการของการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น แม้เราจะอยู่กิจ ที่กำลังฉันอาหาร เราก็จะพิจารณาเรื่องอาหาร นี้เป็นกิจที่เราจะทำ ณ บัดนี้ ซึ่งการจะละล้างกิเลสอะไร เราก็ได้พูดกันมาก ในเรื่องของอาหาร โภชเนมัตตัญญุตา ที่เราจะต้องมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม และก็จะต้องพยายาม ลดละกิเลสภายในใจ ในขณะที่เราจะต้องเดินหน้าชน เพราะเราเป็นคน จะต้องกิน เพราะฉะนั้น เราจะทิ้งหนีไปไหนไม่ได้ เราจะต้องกิน แต่กินก็จะต้องกินอย่างละกิเลส นี้เป็นมรรคองค์ ๘ หรือนี้เป็นการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ปฏิบัติธรรมอยู่กับข้าศึกโดยตรง อยู่กับที่มันแฝงกับกิเลส อยู่ในนั้นได้อย่างแน่แท้ และเราก็จะยืนอยู่บนนี้ สู้กันอยู่ตรงนี้ และเราก็ชนะอยู่ตรงนี้ เหนือๆมันอย่างเด่นชัด

แม้แต่อาหารการกิน จะต้องพิจารณา นอกเหนือกว่านั้น เราก็ได้แนะนำให้กว้างขวางไป เพราะเรามีวันเวลาศึกษามาก แล้วพิจารณา ให้ถ้วนทั่ว รอบไปหมด แม้แต่เรื่องอื่นๆ แนะนำแนะเชิงให้เราเข้าใจในการพิจารณา เพื่อที่จะได้ตัดกิเลสไป ทุกเรื่องทุกราว ทุกขณะทุกอิริยาบถ ที่เราจะสามารถ พึงพิจารณา มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ เพื่อที่จะปฏิบัติธรรมให้ถูกวิธีการ ตามฐานานุฐานะ เรามีฐานะเท่าไหร่ จะสมาทานศีลเท่าไหร่ หลักการหรือกรรมฐานที่เราจะกระทำแก่ตน อะไรเด่นอะไรชัด อะไรที่เราได้สมาทาน อะไรที่เราตั้งใจทำกับมัน อะไรที่เรารู้ตัวว่าจะเพิ่มขึ้นอีก เพิ่มให้เป็นอธิศีลอธิจิต อธิปัญญาก็จะเกิดตาม

เมื่อเราทำอธิศีล ได้อธิจิต อธิปัญญาก็เกิดจิตจริง ละจริง ล้างจริง รู้จริง มีปัญญาเห็นยถาภูตญาณทัสสนะ มีปัญญาที่รู้ความจริง ตามความเป็นจริง ว่ามันเกิด เกิดแล้วเราก็ทำให้มันลดจางคลายได้ มันอ่อนจางได้ หรือมันดับได้สนิท ทั้งๆที่เราอยู่กับมัน บนมันเหนือมัน ทุกเรื่องทุกราว ไม่แต่เฉพาะเรื่องกิน แม้แต่จะเรื่องทำการทำงาน

แม้แต่จะสัมผัสสิ่งแวดล้อม องค์ประชุม จะเป็นวัตถุต่างๆ เป็นบุคคลต่างๆ เป็นอิริยาบถต่างๆ แม้ที่สุด เป็นจิตวิญญาณของบุคคล เราก็สามารถที่จะพอรู้ และก็พอที่จะเห็นแก่จิตวิญญาณ แก่กันและกัน เกื้อกูลกัน กระทำกันและกัน ให้สู่ที่สูงไปด้วยกัน

เรามีหมู่มาก เรามีคนมาก จริตมาก จิตวิญญาณมาก พฤติกรรมมาก หลายๆอย่างมากขึ้น กระทำให้เราเอง จะต้องระมัดระวังมากขึ้น สำรวมมากขึ้น สังวรมากขึ้น สติเราก็จะต้องกล้าแข็งมากขึ้น แม้จะมีมากก็ตาม เราก็คงทำตามฐานะของเรา แต่ละบุคคล ที่สมาทาน ตามความพอเหมาะพอดี เราทำได้แค่นี้ เราก็เอาแค่นี้ก่อน เพราะฉะนั้น อันอื่น แม้จะรุมล้อมมาเยอะ แต่เราตัดแล้ว เราจะต้องแม่น จะต้องเข้าใจให้ชัดว่า สิ่งนี้เกินตัวเรา สิ่งนี้เรายังไม่รับ เรายังไม่เอา ไม่ใช่เราไม่รับ มันก็เป็นอยู่ละ แต่ว่าเรายังไม่เป็นบทปฏิบัติ หรือว่า เรายังไม่ลดไม่ละอันนี้ เพราะว่าเราสู้ไม่ได้ เราต้องลดละไปในฐานที่เราได้ ตั้งสมาทานให้แก่ตนเสียก่อน ทำไปจนกระทั่ง ค่อยอ่อนค่อยจาง ค่อยมีแรง ค่อยมีเรี่ยว เพิ่มขึ้นๆๆ เราจึงค่อยสมาทานสูงขึ้นเพิ่มขึ้น เพิ่มกฎเพิ่มหลัก เพิ่มเรื่อง ที่เราจะต้องต่อสู้กับมันมากขึ้น ตามที่จะสามารถเพิ่มได้ อย่างแท้จริง

เราก็จะเป็นผู้ปฏิบัติไป ถูกขั้นถูกตอนถูกระดับ แล้วก็จะสมส่วน ที่เราพอสู้ได้ ไม่เกินแรง สามารถทำได้อย่างแข็งแรง อาจหาญ ชาญกล้าชนะ

ขอให้เราทำให้แข็งแรง อุตสาหะวิริยะ มีความมานะอดทน ทั้งพิจารณา ที่เห็นความจริงด้วยปัญญา ที่ซับซาบ ทั้งทำให้ลดให้ละ ด้วยจิตใจแข็งแกร่งขึ้น อธิจิตสูงขึ้น เจโตก็กล้าแข็ง ปัญญาก็เฉียบแหลม เห็นจริงเห็นชัด ยิ่งๆขึ้น

การปฏิบัติธรรมด้วยทฤษฎี หรือด้วยระบบของพระพุทธเจ้า ที่ดำเนินโพธิปักขิยธรรม ที่เรียกภาษาเต็ม ไม่เช่นนั้น เราจะแบ่งเรียกว่า มรรคองค์ ๘ เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องปฏิบัติธรรม ทางเดียว ทางเอก เอกะ ทั้งนั้น เอกายน มัคโค หรือว่า เอเสว มัคโค เป็นทางเอกทางเดียว หรือ ทางสายนี้สายเดียว ไม่มีทางอื่น เป็นทางที่เรียกต้น หรือเรียกปลาย ก็อยู่ในตัวของมัน หรือเรียกรวม เรียกต้น ก็เรียกว่าสติปัฏฐาน เรียกปลาย ก็เรียกว่ามรรคองค์ ๘ เรียกรวมก็เรียก โพธิปักขิยธรรม เรียกย่อก็เรียกว่า โพชฌงค์ ๗ ที่เคยสรุป ที่เคยวิจัยวิจารณ์ให้ฟังมากหลาย ถ้าเข้าใจอย่างดีแล้ว ไม่มีสงสัยในหลักการแล้ว ก็เหลือแต่เราจะปฏิบัติ ประพฤติจริง

ขอให้ทุกคน จงได้พิจารณาทุกเมื่อ มีธัมมวิจัยทุกอารมณ์ทุกเวลา ให้มากเวลา ให้มากขณะ มีสติอันแข็งแรง และเราก็มีธัมมวิจัย แล้วมีวิธีที่จะลด จะละกิเลสนั้น ได้ทุกๆคน เป็นไปสู่ทางดี ทุกๆคนเทอญ

สาธุ.