011 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖

นับวันที่เราปฏิบัตินี่ เราจะเห็นคัมภีราวภาโส หรือว่า สภาพหมุนเชิงซ้อน มากขึ้นๆ พยายามชี้มาเสมอ ให้เราเห็น ให้เรารู้ว่า อย่างหนึ่งนั้น ไม่เหมือนอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำไม่เหมือนนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ดี ดีด้วยเหตุปัจจัย ในองค์ประกอบ ที่สมส่วนของชั้นตอนชั้นเชิง ของธัมมัญญุตา อัตตัญญุตา มัตตัญญุตา คือได้ประมาณดีแล้ว ดูชั้นเชิงของธรรมะ ดูเหตุดูผล ดูเนื้อดูหา ดูองค์ประกอบ แล้วก็ดูตัวเอง ประกอบด้วยว่า เรานี้มีฤทธิ์แค่ไหน เราดีแค่ไหน เราสูง เราต่ำ จริงแค่ไหน แล้วเราก็ประมาณ ประมาณแล้ว เราจะทำสิ่งนั้น เราจะประมาณอันนั้น ออกไป แค่ไหนๆ แล้วเราก็จะต้องดูทั้งกาละ กาลัญญุตา เราจะต้องดูทั้ง บุคคล บริษัท หมู่กลุ่ม ดูทั้งบุคคลส่วนตัว ซึ่งเป็นคนอื่น ไม่ใช่เรา ว่าเขาจะต้องได้รับผลกระทบจากเรา แล้วมันจะมีผลสะท้อน แล้วมันจะพอก กลมกลืน หรือ พอจะเป็นไปได้ ไม่ได้แค่ไหน หรือว่า เราจะตัดหรือเปล่า หรือเราไม่ตัด เราจะรวมหรือเปล่า หรือเราไม่รวม เราก็ทำไปด้วยความรู้ ด้วยเจตนา ที่แท้จริงน่ะ แล้วเราจะเห็นว่า มันก็จะต้อง บางทีบอกว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่น อย่างนี้เป็นต้น แต่เราก็จะต้องยึดมั่นถือมั่น อย่างนี้เป็นต้น ฟังแล้ว มันฟังไม่ไหว มันเหมือนกับย้อนแย้ง บอก เอ๊! อะไรกัน บอกว่า จะไม่ยึดมั่นถือมั่น เราก็ต้องยึดมั่นถือมั่น ฟังแล้ว มันก็ย้อนแย้ง เพราะฉะนั้น คำกล่าว ถึงแม้เราจะกล่าว คำสุด บอกว่า เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่น

แล้วอาตมาก็เคยยืนยันว่า พระอรหันต์นี่แหละ ยอดยึดมั่นถือมั่น แล้วก็อธิบายความให้ฟังว่า ยึดอะไร ท่านยึดความถูกต้อง แม้ยึดความถูกต้อง ท่านก็ยังมีอนุโลม ท่านยึดธรรมวินัย ยึดหลัก อย่างนี้เป็นต้น ถ้าพระอรหันต์เจ้า ไม่ยึดหลัก ไม่ยึดธรรม ไม่ยึดวินัย ก็เหลวเละกันไปหมด ส่วนตัวของท่านนั้น ไม่มีอะไร ท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้ท่านยึดหลัก ท่านก็ยึดเพื่ออาศัย ยึดเพื่อให้เป็นไป ให้สมมุติสัจจะเหล่านี้ มันดำเนินไป เพราะส่วนที่บริสุทธิ์ หลุดจริง ไม่หลุดจริงนั้น มันเป็นปัจจัตตัง ผู้ใดว่างแล้วสูญแล้ว ข้างนอก แม้เราจะทำการ สัมพันธ์อยู่ จิตเราว่าง มันก็ว่าง ใครจะมารู้จิตเรา มันย้อนแย้งอยู่อย่างนี้ เสมอๆน่ะ

สภาพคัมภีราวภาโส หรือ สภาพหมุนรอบเชิงซ้อน กลับไปกลับมาเหมือนกัน มันไม่ลงตัวกันอย่างนี้ จะต้องเกิดความรู้ยิ่ง เป็นญาณทัสสนวิเศษ และ มีสัจธรรมของจริง และทุกอย่าง ภาษาบอกว่า เป็นมายาทุกอย่าง เป็นเรื่องไม่ให้พูด ถ้าพูดแล้วมันไม่จริง ไอ้ที่จริงแล้ว มันไม่ต้องพูดหรอกน่ะ ผู้ที่จะรู้กันว่า ผู้นั้นมีจริง หรือไม่มีจริง ก็คบหากันไป แล้วก็จะเข้าใจว่า มีจริงหรือไม่มีจริง ในจิตใจนั้นน่ะ เสร็จแล้ว จิตใจที่จริงแล้ว มันก็เป็นไปได้จริงน่ะ แล้วก็กระทำกันไป สอดร้อยกันไป อนุโลม ปฏิโลม ไปเสมอๆ

ก็ขอให้เราอ่าน ด้วยปัญญาอันยิ่ง ให้เห็นความหมุนรอบเชิงซ้อน ไม่ใช่เรื่องเหลาะแหละ ไม่ใช่เรื่องตลบไปตลบมา ต้องมีความมั่นคง ต้องมีความจริงจัง ยืนหยัด สอดคล้อง ต้องฉลาด จริงๆ สัปปุริสธรรม ๗ ประการ เป็นเรื่อง ละเอียดลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่ต้อง ประมาณยืดหยุ่น หรือเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่แท้จริง

ไม่ใช่เราเอาตามใจเรา ลำเอียงให้แก่ตน ลำเอียงให้แก่คนนั้นคนนี้ เป็นมีอคติอยู่ ไม่ใช่ แต่เราจะต้องเห็นแก่ส่วนรวม เห็นแก่ส่วนสัจจะ ถ้าผู้ถอดตัว ถอดตนแล้ว ไม่เอาอะไร ที่จะเป็นแม้แต่ส่วนกิเลส สักนิดสักหน่อยของตัวเอง ไปประกอบกับการตัดสินอันอื่น แล้วจะทำให้คนอื่น เขาเอาตามใจตน ให้เขามาเห็นแก่เรา โดยเอาตามใจเรา มันเป็นเชิงเผด็จการ หรือเป็นเชิงอัตตาอย่างนั้น เราไม่เอา เราจะต้องปลดปล่อยตัวตน ให้ได้มากที่สุด และเราก็ต้องพิจารณา ด้วยเหตุผล ด้วยความเป็นจริง ความกลาง ให้ดีที่สุด

ในสิ่งแวดล้อม ที่มันมากมันมาย เราไม่สามารถประมวล ไม่สามารถ เอามาร่วม เป็นข้อมูลตัดสิน แล้วเราก็ตัดสินยังไม่เป็น หรือยังไม่ออก เราดูอะไร ยังไม่ได้ เพราะฉะนั้น เหตุผล หรือว่าองค์ประกอบ หรือว่าสิ่งที่มันเกิดอยู่ ทุกวันนี้ มันมีอะไรย้อนแย้ง ย้อนแย้งอยู่ในตัว ซึ่งเราจะต้องใช้ปัญญา เรียนรู้ จริงๆน่ะ แม้แต่อย่าง ตัวอย่างเมื่อกี้นี้ เรื่องของความเมตตา จะรู้สึกเลยว่า ความเมตตานั้น ไม่ใช่อย่างที่เราคิดหมากรุกชั้นเดียว ตื้นๆง่ายๆ ว่าเมตตาก็คือ จะต้องเห็นแก่เขาไปหมด แล้วคนนั้น ก็เกิดมีแต่ตัวกิเลส เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตัว จะให้แต่เขาประคบประหงมตัว มาเห็นความสำคัญของตัว มีอะไรต่ออะไรของตัว อยู่เท่านั้น ถ้าเขาไม่ทำ ก็นึกว่าเขาไม่เกื้อกูล ไม่เอื้อเฟื้อ ทั้งๆที่เขาก็เอื้อเฟื้ออยู่ โดยนัย บางที ก็ไม่ต้องถึงขนาดผู้นั้นหรอก ใครเขาก็เอื้อเฟื้อกันอยู่ คนอื่นเขาก็เอื้อเฟื้อกันอยู่ และผู้ใหญ่ท่านก็เห็นอยู่ว่า เออ! ก็นั่น ก็มีคนรับรอง ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้ออยู่แล้ว เราก็ไม่ต้องไปหรอก ขนาดขั้นนั้น ผู้นั้น เขาทำด้วยกัน ช่วยเหลือปรานีกัน เอื้อเฟื้อกันอยู่แล้ว ก็สมบูรณ์พอเพียง มีครบ มีครันอยู่แล้ว

แต่ว่ามันอยากได้มากกว่านั้น ถ้าผู้นั้นยังไม่รู้ตัว เมื่อทุกสิ่งที่เราอยากได้ เขาไม่ให้ เราก็มองตื้นๆได้ ก็นึกว่า ผู้นั้นไม่มีเมตตา อะไรอย่างนี้ อย่างนี้ มันมองได้ง่ายๆ เพราะว่า เขาไม่เข้าใจในรายละเอียด ในองค์ประกอบ ที่มีอยู่มากมาย อย่างนี้เป็นต้น

ก็เลยวัดเอา ในเรื่องของความเข้าใจง่ายๆ ว่าเมตตานี่ จะต้องกลั้วเกลี้ย ติดต่ออะไรต่ออะไร กันไว้เยอะแยะ ยุ่มย่ามไปหมด เมตตาจะต้องอ่อนๆ จะต้องติดๆ จะต้องมีอะไรที่มันง่ายๆ ที่จริง มันมีสภาวะซับซ้อน ดังที่กล่าวนี้ พูดไปนี้ ก็พูดยาก และพูดไม่หมด ถ้าใครฟังดีๆ ก็จะเข้าใจ

สภาพหมุนรอบเชิงซ้อน หรือ สิ่งที่สลับซับซ้อน มีเชิงซ้อน ว่ามันแย้งบ้าง มันตามบ้าง เป็นอนุโลม และเป็นปฏิโลม ที่ชัดลึกนี่ เราจึงจะต้องรู้ ด้วยญาณปัญญา ที่มีข้อมูล มีองค์ประกอบ มีอะไรต่ออะไร มากเพียงพอ แบ่งเหตุแบ่งผล แบ่งสภาวะ แบ่งเหตุปัจจัย อยู่ในหน่วย อยู่ในชั้น อยู่ในขีดที่ เออ! อันนี้เขามีมากจริง อันนี้เขาได้จริง อันนี้เขามีสัดส่วนที่สมบูรณ์จริง เราจึงจะรู้ได้ลึก ได้ละเอียด

เพราะว่าสิ่งนี้ ก็เคยบอกว่า อาตมานี่ ได้รู้แจ้ง ... เห็นอันนี้ล่ะ เป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องสำคัญเหลือเกิน ในองค์ประกอบของจักรวาล ทั้งหลายแหล่นี่ มันมีสภาพ ยากที่จะรู้ว่า มันสอดร้อยกันอย่างไร มันหยักไปหยักมา มันซับซ้อนไปมา ที่เหมือนกะ พูดไปพูดมา เหมือนตลบตะแลง เอาหัวเป็นท้าย เอาท้ายเป็นหัว เอาผิดว่าถูก ถูกว่าผิด ดีไปอีกเชิงหนึ่ง ก็ว่าไม่ดี อะไรอย่างงี้ ทั้งๆที่เป็นความหมาย หรือว่า เป็นคำพูดเดียวกัน อะไรยังงี้ๆ คล้ายๆกันอย่างงี้

ถ้าเผื่อว่า ไม่รู้ละเอียดลึกซึ้ง แยกอย่างได้ละเอียดแท้ แบ่งอะไร ถูกจริง แล้วละก็ เราก็จะเป็นอย่างนั้นๆ อยู่ในมุมนั้น อย่างนั้นอยู่น่ะ ก็ขอให้อย่าเพิ่ง ตัดสินอะไรเร็วนัก ขอให้ศึกษาให้ละเอียดลออ แล้วก็มีความรู้ ที่จะประมวล นับเหตุ นับผล นับเหตุ นับปัจจัย เป็นนักสถิติ ที่นับให้ครบ มีอะไรที่เป็นความดี ของความดี มีละเอียดยังไงๆ มีความดีที่มันซับซ้อน ที่เรายังไม่รู้ว่า เชิงนั้นดี เชิงนี้ดี เราก็ไปนำเอามาเป็นข้อมูลว่า ล้วนดีไม่ได้ เพราะว่าเรามองผิดอยู่ เห็นผิดเป็นถูก เห็นดีว่าไม่ดี อะไรต่างๆพวกนี้ เราก็จะต้องศึกษา อบรมต่อไป เพราะฉะนั้น จุดใดจุดหนึ่ง ที่เป็นของดีแล้ว ที่เรามั่นใจว่า นี่มีมากพอ เพียงพอ ก็อย่าเพิ่งทำเป็นปล่อยปละละเลย หรือว่า พรากจากเร็วนัก ไม่เช่นนั้น จะทำให้เราพลาดโอกาส เราเป็นคนที่แพ้ภัยตัว เพราะอำนาจที่จะตัดสิน โดยเอาตัวเอง เอาอารมณ์ของตัวเอง เอาปัญญาของตัวเอง เอาความยึดของตัวเอง ตัดสินอย่างเดียว เร็วเกินไปน่ะ มันก็ไม่ครบครัน

ดูรายละเอียด อะไรต่ออะไรอื่นๆให้มาก ศึกษาไป เราจึงจะได้รู้ถึง สภาพหมุนรอบเชิงซ้อน มากขึ้นๆ ชี้ขึ้นอย่างนี้ หลายๆคน ก็คงจะเข้าใจ แล้วก็คงจะได้เห็นความจริงว่า สภาพหมุนรอบเชิงซ้อนนี้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เป็นเรื่องมากหลาย เป็นเรื่องที่เกิดจาก ญาณปัญญา ที่แยบคายจริงๆ ที่เราจะเห็นกลับได้ เหมือนกัน อย่างหลายคนที่รู้สึกว่า เอ้อ! อาตมานี่ มีเมตตามากๆ เอ๊! มันเป็นไปได้ยังไง บางคนนี่ ว่าอาตมาไม่มีเมตตา อย่างนี้เป็นต้น มันกลับกันแล้ว มันเห็นความจริงเชียวนะ เป็นความจริงเลยว่า เราได้รู้ว่า อ๋อ! มีเมตตาเป็นอย่างงี้ เมตตามากๆ เป็นอย่างงี้น่ะ ทั้งๆที่ลีลาลักษณะอย่างนี้ บางคนสัมผัสแล้วบอก โอ้โห! ไม่มีเมตตา หรือเมตตาน้อยไป บางคนว่า เมตตามากๆ มันก็ย้อนแย้งกันน่ะ

ก็ขอให้ศึกษาดีๆ เราจะเป็นผู้รู้จักคัมภีราวภาโส หรือ สภาพหมุนรอบเชิงซ้อน อันละเอียดถ้วนทั่ว ทุกรอบทุกมุมไปได้เรื่อยๆ และเราก็จะเป็นผู้รู้ว่า ธรรมะนี้ มันลึกซึ้ง ก็เพราะมันมีความซับซ้อน มีคัมภีราวภาโส มีสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน นี้แหละ อย่างแท้จริง

สาธุ

*****