ธรรมอันเป็นที่อยู่ของพระ หน้า ๒
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ที่พุทธสถานสันติอโศก ต่อจากหน้า ๑

เขาเชื่อมด้วยตัวบุพบท ด้วย ๒ ด้วย เป็นผู้ประกอบด้วยใจอันรักษา หรือรักษาใจ ด้วยอะไรอีก ด้วยสติ เป็นผู้ประกอบด้วยใจอันรักษา ด้วยสติ ใจ รักษาด้วยอะไรก็ด้วยสติอีกทีหนึ่ง ฟังให้ออก แล้วทีนี้คุณก็ทำให้เป็น สติคืออย่างไร ใจคืออย่างไร รักษาคืออย่างไร รักษาก็คือ รักษาเหมือนกับ ทวาร ๖ เข้ามาก็ รักษา กิเลสเป็นอย่างไรก็ขับออก นิวรณ์ ๕ เป็นอย่างไร ก็ขับออก แน่ะ สัมพันธ์กับข้อต้น

ข้อต่อไปข้อ ๔ ก็ภิกษุเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พักพิง ๔ มีธรรมเป็นที่อาศัย ที่พักพิงคืออย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาแล้วย่อมเสพของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วย่อมอดกลั้น ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วย่อมเว้นของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วย่อมบรรเทาของอย่างหนึ่ง

หนึ่งเสพ สองอดกลั้น สามเว้น สี่บรรเทา นี่จำความหมาย นอกนั้นก็สำนวนคล้ายๆ กัน พิจารณาแล้วย่อมเสพของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วย่อมอดกลั้นของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้ว ย่อมเว้นของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วย่อมบรรเทาของอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องอาศัย พักพิง ท่านใช้คำว่า พักพิง ๔ ประการ

การละนิวรณ์ ๕ นั้น เกี่ยวกับมรรคองค์ ๘ อย่างไรบ้าง ต้องใช้ข้อไหนในมรรค ๘ หรือทั้งหมด กรุณาอธิบายด้วยครับ

โอ๊ะ ก็อธิบายจนปากเปียกปากแฉะหมดแล้ว ละนิวรณ์ ๕ นั้นเกี่ยวกับมรรคองค์ ๘ อย่างไรบ้าง ก็สอนกัน ทุกวันนี้ก็ให้ละนิวรณ์ ๕ ละนิวรณ์ ๕ นั่นแหละคือ การล้างอวิชชา เพราะนิวรณ์ ๕ เป็นอาหารของอวิชชา อวิชชาสูตร ตัณหาสูตร ก็เคยเอามาอธิบายให้ฟังแล้ว ล้างองค์ ๕ หมด ด้วยโพชฌงค์ ๗ ด้วยสติปัฏฐาน ๔ ก็ละล้างนิวรณ์ ล้างอย่างไรก็อธิบายทุกตัว นี่ขอให้เข้าใจ โดยปริยายว่า อธิบายอยู่ทุกคำทุกขณะนี้ กำลังจะบอกว่า พิจารณาแล้วเสพนี่ก็คือ การล้างนิวรณ์ และจะล้างอย่างไร ก็วิธีนี้ และก็ไปทำตลอดเวลา คุณกำลังพูด คุณกำลังคิด นี่มันก็เกี่ยวกับ มรรคองค์ ๘ ทั้งนั้น กำลังคิดก็สังกัปปะ กำลังพูดก็วาจา กำลังทำการงาน อะไรอยู่ก็ กัมมันตะ ทำอะไรมาก ก็อันนี้เรียกว่า อาชีพ

ก็มีความพยายาม มีสติ เห็นให้ได้ รู้ให้ได้ ว่าตัวเองสังวรสำรวมอินทรีย์ มีสติ และก็เข้าใจว่า นี่นิวรณ์มันเป็นอย่างนี้ แล้วก็ล้างมันอยู่ตลอดเวลา กับบทบาททุกบทบาท อิริยาบถทุกอิริยาบถ กระทำอยู่อย่างนี้แล้ว ก็เท่ากับเราสร้างสมาธิ สั่งสมสมาธิ คือสร้างจิต จิตมันก็ตั้งได้ จิตมันก็แววไว จิตมันก็เป็นฌานไปในตัว จิตมันก็เหมาะกับการงานนอก การงานใน ทั้งการงาน ที่ทำอยู่เป็นอาชีพ เป็นกัมมันตะ พูดนี่ก็เป็นการงานชนิดหนึ่ง ทั้งการทำการงานละกิเลส ไปในตัว ล้างกิเลสไปในตัว มันซ้อนกันอยู่ มันจึงไม่ขาดผล ผลได้ทั้งเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์นอก ประโยชน์ใน งานโลก งานธรรม ไม่ขาดทั้งโลก ไม่ขาดทั้งธรรม

มันดีอย่างนี้น่ะ มรรคองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้า วิเศษที่สุด จนไม่รู้ว่า จะวิเศษอย่างไร ยังมองไม่เห็นเลยว่า ทฤษฏีไหนจะวิเศษเท่าทฤษฏีพระพุทธเจ้า ก็ปฏิบัติอย่างนี้ นี่พูดลวกๆ พอเข้าใจไหม มรรคองค์ ๘

ท่านธรรมรังสีน่ะนี่ถามมา เข้าใจแล้วนะท่านทัสสนีโย นี่คร่าวๆ ก็ไม่รู้น่ะ ทอนไปทอนไป อยู่นั่นเอง ก็พูดไม่ได้ไปจากนี้หรอก ที่พาสอนนี่ละนิวรณ์ ๕ เท่านั้นแหละ เพราะนิวรณ์ ๕ เป็นอาหาร ของอวิชชา คุณจะถอนอวิชชาใด ก็ละนิวรณ์ ๕ นี่แหละ

ศาสนามันไม่มีอื่นหรอกคุณ แต่ทีนี้ เราพูดกันมาก องค์ธรรมมันเยอะ แต่แท้จริง แกนแก่น เมื่อจับเป้าได้แล้ว มันไม่มีอื่น แล้วไปละ ไปนั่งหลับตา ลืมตา มาก็ไม่ได้ มันก็ช้าอยู่นั่นเอง ของพระพุทธเจ้าถึงตรัส และประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ช่ำชอง ชำนาญ ไม่เสียผลทางโลก ทางธรรม ทั้งหมดเลย นี่สรุปง่ายๆ ที่อธิบายอยู่นี่ก็เหมือนกัน นี่ไล่มาแล้วตั้งแต่นิวรณ์ ๕ ยิ่งจะเห็นสูตร ที่ท่านเรียงไว้นี่ชัดเจน นี่แม้แต่ในสูตรนี้ ท่านก็อธิบาย มันก็เหมือนเชิงอื่น เชิงอธิบาย เท่านั้นเอง ก็ละนิวรณ์ ๕ นี่เป็นอันหนึ่งที่เรียกว่า เป็นผู้ละองค์ ๕ ได้ และก็สำรวม อินทรีย์ ก็เป็นหลักปฏิบัติแน่

สำรวมอินทรีย์ ๖ อย่างไร ก็มีสติเป็นเอก สติรวมควบคุมระวังใจ แต่ไม่ได้ระวังใจอย่างเดียว มาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็เข้ามาใจ ใจนี่เป็นเอก ดักใจให้ดี แล้วปฏิบัติธรรมให้รู้เท่าทัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วมันก็ มาใจ เสร็จแล้วก็อาศัยสิทีนี้ พักพิงด้วยลักษณะ ๔

พิจารณาแล้วเสพ ปฏิเสวนานี่ สำนวนอันนี้พิจารณาแล้วเสพของอย่างหนึ่ง อะไรก็แล้วแต่ จะเรียกว่า ของอย่างหนึ่ง สภาวะอย่างหนึ่ง อาการอย่างหนึ่งก็ตามใจ คุณจะอาศัยอะไร พักพิงอะไร อันนั้นแหละ ของอย่างนั้น พิจารณาก่อน คุณจะอาศัยอะไร คุณจะอาศัย อาการอย่างนี้ด้วยโง่ คุณก็เอาอวิปปฏิสาร สภาพที่มันไม่ค่อยสบายใจ อวิปปฏิสารนี่ ในอาการที่ไม่ค่อยสบายใจ อวิปปฏิสาร จะไม่สบายใจ มากหรือน้อยก็ตามใจ มันจะเกิดอาการ ไม่สบายใจอยู่ในใจเท่านั้น ยิ่งมีกิเลส แล้วคุณก็อาศัยกิเลสกาม อาศัยเลย พิจารณาให้ดีนะ อาศัยอะไรเข้าไปแล้วน่ะ เอากามนั่นเขามาอาศัย หรือกำลังอาศัยใจ ใจกำลังอาศัยความโกรธ เร่าๆๆ คุณกำลังทรงอยู่ หรือพักพิงอยู่ หรืออาศัยเสือร้ายนะ นั่นน่ะกำลังโกรธ เร่าๆๆ อยู่ ก็ไม่รู้ตัว ขับออก ขับออก อย่าพักพิงมัน อย่าให้มันมาอยู่นี่

พิจารณาแล้วค่อยเสวย หรือค่อยเสวนา ค่อยคบคุ้น เสวนา เสวนะ คบคุ้นอาศัยพักพิงอยู่ เสวนะตัวนี้นี่ เสพ ถ้าเสวยะ หรือ เสพย์ เสพ ถ้ามีตัว ย สะกดเข้าไปอีก มันก็เป็นนาม ขึ้นมาหน่อย หรือว่ามันเป็นคุณวิเศษ เป็นกิริยาวิเศษณ์ขึ้นมาหน่อย มันก็เป็นความหมายว่า น่าคบค้า น่าอาศัย หรือพึงคบค้า หรือควรปฏิบัติอย่างนั้น หรือพึงร่วมอย่างนั้น พึงเสพอย่างนั้นอยู่ อะไรล่ะ คุณก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญา พิจารณาแล้วเสพ นี่มันเอาเราใหญ่ พิจารณาแล้วเสพ จะเน้นตัวนี้ล่ะวันนี้ อาจจะจบเวลาอยู่ๆ ตรงนี้ล่ะ สำคัญมาก

ปฏิเสวนา เป็นภาคประพฤติ ซึ่งก็เอามาสอนเอามาอธิบายอยู่แล้ว ใน สัพพาสวสังวรสูตร จะมีสภาพ ทัสสนา สังวรา ปฏิเสวนา อธิวาสนา ปริวัชชนา แม้ตัวท้ายบรรเทานี้ก็ปริวัชชนา วิโนทนา บรรเทานี่วิโนทนา ภาวนา ก็เกิดผล เพราะฉะนั้น เราจะทำจนกระทั่ง ถึงบรรเทา ก็เข้าฐาน เราอาศัยสิ่งบรรเทา เราอาศัยเสวนา พิจารณาเสียก่อน แล้วย่อมเสพ หรือเสวนา หรือเสวยะ เสวยะก็เหมือนกัน มีรากศัพท์มาตัวเดียวกันคือ เป็นสภาพที่พึ่งอาศัยอยู่ คบอยู่ คุ้นอยู่ หรือปฏิบัติด้วยสภาพอาการนั้นอยู่ หรือร่วม เพราะฉะนั้น เขาแปลนี้ออกมาจาก ปทานุกรม บาลีมาเลยว่า เสพ หรือ เสว นี่แปลว่า น่าอาศัย พึงคบค้า ควรปฏิบัติ พึงร่วม พึงเสพ สุดท้ายก็ใช้ว่า พึงเสพ

เพราะฉะนั้น จะพึงเสพ พึงคบค้าอยู่ พึงปฏิบัติอยู่ พึงร่วมอยู่ ก็จากอะไรล่ะ เราจะเอาอาศัย เช่นว่า เราเอาอาการปราโมทย์ ปามุชชะ กับ อาการของอวิปปฏิสาร คุณควรเอาอาการ อวิปปฏิสารอาศัย หรือ คุณควรเอาอาการของปราโมทย์อาศัย อวิปฏิสาร หมายความว่า มันไม่สบายใจ ปราโมทย์ หมายความว่า มันยินดี เบิกบาน ร่าเริงใจ อาการเบิกบานร่าเริง กับใจที่มัน ไม่สบายใจ คุณควรอาศัยอะไร คุณควรพึงเสพอะไร อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเราจะอาศัย การเบิกบานร่าเริงกว่า

หรือคุณจะทำได้ละเอียดยิ่งกว่านี้ แต่คุณก็ไม่เฉื่อย คุณก็ไม่ถูกฉุด คุณอาศัยความเฉยกว่านั้น ไม่ต้องถึงกับ เบิกบานร่าเริงหรอก แต่เราร่าเริงก็ร่าเริงง่าย ร่าเริงอยู่ เราไม่มีการอวิปปฏิสาร ไม่ไม่สบายอะไร สบาย ไม่ยินดีก็ไม่มี จะเกิดอรติก็ไม่เกิด จะเกิดอวิปปฏิสารก็ไม่เกิด ฟังให้ดี หน่อยนะตอนนี้ ต้องใช้ศัพท์ ภาษาบาลีแล้ว เพราะมันละเอียด ต้องควบคู่ไป แม้แปลเป็นไทย ก็แปลไปพลาง อรติ แปลว่าไม่ยินดี ไม่ยินดี อวิปปฏิสาร แปลว่าไม่สบายใจ ไม่เอาทั้งสองอย่าง

เราควรจะอาศัยอะไร อาศัยปามุชชะ อาศัยปราโมทย์ อาศัยความร่าเริง ยินดี เบิกบาน หรือ จะอาศัยอุเบกขาเฉยที่ว่า ในความเฉยนั้น มันก็ไม่ใช่เฉยเมย ไม่ได้เฉยแฉะ ไม่เฉยเฉื่อย ก็เฉย ก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คำว่าเบิกบาน ภาษาไทย เราก็ไม่รู้จะใช้ภาษาอะไรอีกดีกว่าเบิกบาน มันก็เบิกบานอยู่ จะบอกว่ายินดี ประเดี๋ยวก็จะมากไป ก็เราทำให้ละเอียดลออลงไป สุขุม กว่านั้นได้ไหม แล้วก็อาศัยอารมณ์ อาศัยอาการจิตอย่างนั้นแหละ เราก็พิจารณาให้ยิ่ง แต่ตอนนี้ คุณไม่ได้หรอก แหม ถ้าขืนอาศัยอารมณ์อ่อนๆอย่างนั้น ไม่รอด เพราะถูกผีแรงๆ ดึงไปกินหมด

เพราะฉะนั้น ต้องถ่วงไว้ ถ้าร่าเริงต้องร่าเริงแรงๆ หน่อย ถ้าร่าเริงไม่แรง ประเดี๋ยวไอ้ตัว ที่มันจะฉุดไปหาส่วน อวิปปฏิสารที่ไม่สบายใจ อย่างหนักๆดึงไว้แรง เดี๋ยวจะสู้มันไม่ได้ คนในโลก ก็เลยมีแบบโต่งๆอย่างนี้ จะไปยินดี ร่าเริง จะไปหัวเราะเบิกบาน ก็ต้องไป เขาจี้เส้นแรงๆ ไปดูเจลี่ หลุยส์ หรือเจลลี่ เลวิส มันตลกโบกฮา ไปดูไอ้ ๓ เกลอหัวแข็ง นี่ก็อาตมา เป็นคนโบราณ ก็พูดหนังโบราณ เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่า ดาราตลกมันชื่ออะไร ไปดูล้อต็อกตลก ไปดู ๔ โพธิ์ ก็ต้องไปดู ๔ โพธิ์ ถ้าใครเก่งแล้ว ดีแล้ว ไม่ต้องถึงขนาดไปให้ เขาจี้เส้นขนาดนั้นหรอก มาให้โพธิรักษ์นี่จี้ก็พอแล้ว นี่ก็เบิกบาน ร่าเริงแล้ว นี่ก็บางคนเห็นไหม นี่เห็นไรฟันแล้ว แฮ่ะๆ

เมื้อกี้ ฟังไปแล้ว ยิ่งร่าเริง ก็ไม่เป็นไร เราจะอาศัยอย่างนี้ พึงพิจารณาแล้วเสพ มากไปไหม ถ้าเรามากไป ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ ควบคุม รักษาใจดีอยู่ และปล่อยอยู่ๆ เป็นผู้ที่มี สติสัมปชัญญะ ปัญญา ปล่อยอยู่ วิโมจยัง ปล่อยอยู่ๆ ฟังให้ดีนะๆ ถ้าไม่รู้ศัพท์เทคนิค พวกภาษาพวกนี้บ้าง ก็อย่างยากละ อาตมาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร บรรยายสูงขึ้นมา มันก็ต้อง ใช้ศัพท์เทคนิค อย่างนี้แหละทำไงได้ คุณก็ปล่อยอยู่ๆ นี่ ใจมันก็รู้เท่าทัน แล้วก็ปล่อยอยู่ คุณก็ไม่เป็นไร คุณก็รักษาใจ ด้วยสติอยู่แล้ว เป็นการรักษาใจอันเดียว แล้วก็พิจารณาเสพ

เออ เราก็เสวย ต้องอาศัยมันอันนี้ ก็อาศัย ดีกว่าอันที่ไม่เข้าท่าไหมล่ะ ดีกว่าก็เอา เกิดคุณเกิดค่า พิจารณา แล้วเสพของอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดที่จะถึงจุดพิจารณาแล้วเสพได้นี่ ที่จริงนะ ละเอียดมาก ฐานอาศัยสุดท้ายเลย เริ่มแรก คุณก็ต้องรู้ สุดท้ายคุณก็ต้องรู้ และสุดท้าย มันก็จะพิจารณาแล้วเสพ สุดท้าย มันต้องเสพ

ที่อาตมาบอกว่า จุดหมายปลายทางของเรา เรามีจุดข้อสุดท้ายว่า สิ้นความเสพย์ ก็คือ ปล่อยแล้ว แต่ก็ต้องเสพ ต้องอาศัย มันเป็นคำสุดท้าย ต้องอาศัย ต้องพักพิง ต้องพึงเสพ หรือพึงคบค้าอยู่ มันน่าอาศัย มันต้องอาศัย มันควรปฏิบัติ มันก็ต้องปฏิบัติอยู่กับอันนี้ มันพึงร่วมมือ มันก็ต้องร่วมอยู่กับอันนี้ เพราะอันสุดท้ายแล้ว มันอันสุดท้ายแล้ว เราก็ต้องพึงร่วม

แต่ไอ้นี่ ไม่ใช่ของเรานะ อย่าพึงหลง ไอ้นี่ไม่ใช่น่าติดนะ ไม่ใช่น่าจะสังฆิกะ ไม่ใช่น่าจะสังสัคคะ ไม่น่าหลงว่าเป็นสวรรค์ อาตมาแปลสังสัคคะว่า หลงสวรรค์ อสังสัคคะ แหลว่า ไม่หลงสวรรค์ เป็นสำนวนของอาตมา เขาจะแปลว่า ไม่คลุกคลี ไม่เกี่ยวข้อง อาตมาเข้าใจกับเขาได้ แต่เขา จะเข้าใจที่อาตมา ให้ความหมายไหมเท่านั้นล่ะ ขณะนี้น่ะ สังฆิกะ เขาแปลว่า ไม่คลุกคลี เกี่ยวข้อง ด้วยคณะ อาตมาก็เข้าใจ แต่เขาจะเข้าใจ ที่อาตมาหมายขึ้นไปได้ไหม อาตมว่า อย่างนั้น อาตมาเข้าใจ มันหยาบ มันไม่ลึกซึ้งอะไรเท่าไหร่หรอก แต่อย่างที่อาตมาว่า ตีความ หรือ พยายามทำความเข้าใจ ให้ละเอียดลึกซึ้ง สุขุม ประณีต ขึ้นไปกว่านี้ เข้าใจไหม ถ้าเข้าใจ คุณก็ปล่อยอยู่ๆ

เพราะฉะนั้น พึงเสพแล้วก็ไม่พึงปล่อย สุดท้ายก็คือ เราสิ้นความเสพย์ ไม่ใช่อาศัยอันนี้แล้ว อาวรณ์ อาลัยมัน แล้วก็ยึดหลงว่าเป็นของเรา จะต้องมีต้องเป็น ไม่ คุณตายเมื่อไหร่ มันก็ปล่อยกัน ไม่ตายเดี๋ยวนี้ คุณก็ปล่อย ไม่ต้องอาลัยอาวรณ์ มันมาเมื่อไหร่ ต้องอาศัย เราก็อยู่กับมัน ใจของคุณอยู่กับอะไร อันนั้นก็อยู่ บางทีไม่ต้องร่าเริงอะไรมาก ก็นั่งเฉย ก็เฉย แต่ก็ไม่เฉยเศร้าสร้อย หม่นหมอง ไม่หมองไม่อะไร ก็เบิกบานอยู่ ก็ไม่รู้จะเอาใช้ภาษาอะไรแล้ว สุดท้าย ก็เบิกบานร่าเริงแจ่มใส ก็แจ่มใสได้ เอ้อ แจ่มใสอยู่ เบิกบานยิ่งกว่าเบิกบาน ดูเหมือน คำว่าแจ่มใส จะดีเหมือนกัน ก็แจ่มกระจ่างรู้อยู่ว่ามันใส จิตเราก็ใสอยู่อย่างนี้ ก็อาศัยสิ่งนั้น

ตัวต้นก็ทำให้ได้ประมาณอย่างนี้เป็นจุดเป้าหมาย ทีนี้เวลาไปปฏิบัติ จริงๆ พยายามควบคุม พยายามดูแล พยายามที่จะปราบปราม ถ้ามันยังมีกิเลสอยู่ มันจะเข้ามา ก็จะต้องใช้พิจารณา แล้วย่อมอดกลั้นของอย่างหนึ่ง ย่อมอดกลั้นของอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น อะไรก็ตาม จะเป็นสภาพ อย่างหนึ่ง จะเป็นอาการอย่างหนึ่ง เอ๊ะ ไอ้นี่เราก็ต้องอดกลั้นมัน อย่าให้มันเข้า อย่าให้มันเป็น อย่าให้มันมี อย่าให้มันเกิด ใจมันจะเกิดอย่างนี้ อย่าเกิด อดกลั้น มันมีขัด ขจัดออก อย่าให้มันมี อดกลั้น ฝืน ทำออก แล้วให้มันมาอยู่จุดที่พึงเสพ พึงอาศัย พิจารณา แล้วพึงเสพ

ตัวพิจารณาเหมือนกันหมดทั้ง ๔ ลักษณะ พิจารณา เอาอันนี้น่า ไม่เอาอันนี้ อาศัยอันนี้ให้ได้ อันนี้ดีกว่า อาการอย่างนี้ดีกว่า อารมณ์อย่างนี้ดีกว่า สภาพนี้ดีกว่า อาตมากำลัง แม้กระทั่ง อาศัยพูดถึงมาให้หยาบขึ้น เอาน่า เราอาศัยการใช้มือ ชี้มือชี้ไม้อย่างนี้ บรรยายกับคุณดีกว่า อาตมาก็พิจารณา อย่าใช้เลย มือไม้ อย่างนี้เขาติ ต้องเก็บมือ เดี๋ยวเขาหาว่าไม่สุภาพ สอนแล้ว ไม่ศรัทธา แหม ชี้โบ๊ ชี้เบ๊ ชี้มือ แสดงท่าทางอย่างนั้นมากไปไม่ดี เก๊กมากกว่านี้หน่อย หรือซีเรียส มากกว่านี้หน่อย

เพราะฉะนั้น บางคราว อาตมาต้องเก๊ก ซีเรียส สีหน้าสีตาขมึงทึง เอาเป็นเอาจริง แอ๊คเป็นผู้ใหญ่ บางทีก็แสดงสนุก เหมือนเล่นกัน เป็นกันเอง เหมือนเล่น แต่ก็ไม่ถึงเล่นหรอกนะ เป็นกันเอง เหมือนเล่น สนุก บางทีก็ดูว่า อย่างไร เราจะพิจารณาแล้วอาศัย และอันนี้ อย่าทำเลย อดกลั้น เลิกเถอะ อาการนี้ อดกลั้น

ถ้าเราจะต้องถึงอาการต้องอดกลั้นอยู่ สำหรับบางคน จิตยังไม่เป็นมุทุ จิตยังไม่อ่อนละเอียด ยังไม่แววไว ยังไม่เชื่อง ปรับเปลี่ยนไม่ได้ ก็ต้องอดกลั้นกัน อย่าเลย อย่าอยากให้เป็นอย่างนี้ เพราะทุกอย่าง มาจากจิต จิตเป็นประธานสิ่งทั้งปวง อาการกาย อาการวาจา ก็ไปจากจิตทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เราควรจะพูดไหมอย่างนี้ แหม ใจบางทีมันมีกิเลส มันอยากพูด อ้าอย่านะ อดกลั้นไว้ อย่าพูดเลย ไม่ควรน่ะ พิจารณาก่อน พิจารณาดีๆ ไม่ควรพูดแล้วล่ะ ลดเถอะ เปลี่ยนเถอะ ก็เปลี่ยนเสีย

เมื่อเปลี่ยน ก็ต้องถ้าหากว่ามันยังมีใจตัวอยาก ดันๆ เป็นสสังขาริกังอยู่ เรียกว่า ตัวดุน ตัวดัน ตัวเชื้อของจิต ที่มันยังมีแรงอยู่ ต้องอดกลั้นมันไว้ อย่า แกอย่าดันเอา ให้มันไปออกกายกรรม อย่างนั้น อย่าให้มันออกวจีกรรมอย่างนั้น ดันมันไว้ อดกลั้นไว้ อย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นภาคปฏิบัติ ของผู้ที่ยังต้องอดกลั้น ต้องปรับปรุง ต้องปฏิบัติ พิจารณาแล้ว ย่อมเว้นของอย่างหนึ่ง ทำให้มันขาดได้ อดกลั้นก็คือ ลักษณะอาการที่กระทำ เว้นก็หมายความว่า เอาให้ขาด เว้นให้ได้ จนเป็นการ เว้นของอย่างหนึ่ง หรือเว้นสภาวะอย่างหนึ่ง เว้นอาการอย่างหนึ่ง ก็เว้นได้จริงๆ พิจารณาแล้วเว้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีฤทธิ์แรงเก่งขึ้น อย่าว่าแต่อดกลั้นเลย เว้นได้ เพราะฉะนั้น เราเอาคำพวกนี้มาแปล โดยอรรถ โดยความหมาย ปฏิเสวนาแปลว่าพึงเสพ พินิจพิจารณาแล้วเสพ หรือคบคุ้น อธิวาสนา แปลว่า อดกลั้น ปริวัชชนา แปลว่าเว้นขาด ก็ลักษณะไล่กัน เหมือนกันน่ะ บรรยายไปแล้วก็ไม่เห็นต่างอะไรกัน ถ้าใครจำได้

อาตมาก็ไม่ได้บิดพริ้วนะนี่ มันของจริง ก็พึงเสพ แล้วก็พึงเว้น พึงอดกลั้นก่อน อธิวาสนา เขาแปลว่า อดกลั้น ก็คือให้มันอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น เมื่อมีภาคปฏิบัติก็ ไอ้นี้ไม่ดี เราก็ต้อง พยายามขจัด อดกลั้น ฝืนอย่างไร ก็ต้องทนเอา จะมีปัญญาพิจารณาอย่างไร ก็พิจารณา ให้มันเบาบางง่าย ให้มันไม่ต้องอดอยาก ให้มันไม่ต้องอดลำบาก ให้มันอดได้ง่าย ให้มันอดกลั้น หรือให้มันกลั้นได้ง่าย ให้มันกระทำการตัดอันนั้นไปให้ได้ง่ายๆ เพราะตัดได้ก็เป็นเว้น ตัดได้ เว้นได้ หยุด เออ ไม่ต้องไม่มีละ ขาดไป ไอ้อาการนั้นหยุดไป สภาวะนั้นเลิกไปได้ เว้นได้ แม้ ประเดี๋ยวมันมาอีก เว้นได้ แล้วมันก็มาอีก ก็เว้นไปๆ เว้นมาอยู่นั่นแหละ เว้นก็ต้องตัดมันอีก เว้นอีก ก็ตัด พอเว้นแล้ว มันมาอีก ก็ตัดมันใหม่ เว้นมันใหม่ ทำอยู่แล้วอยู่เล่า

จนสุดท้าย พิจารณาแล้ว ย่อมบรรเทาของอย่างหนึ่ง ก็เข้าล็อค สัพพาสวสังวรสูตร ปั๊ป อีกเหมือนกัน วิโนทนา นี่อาตมายังไม่ได้ไปเปิดพระบาลีดูนะ หมวดนี้ ก็ยังไม่ได้ไปเปิดพระบาลี สำหรับหมวดนี้เลย แต่มาดูแล้ว เอ๊ะมันเข้ากับล็อก ทัสสนา สังวรา ปฏิเสวนา นี่เลย เริ่มตั้งแต่ ปฏิเสวนา ก็พิจารณาแล้วเสพ, พิจารณาแล้วอดกลั้นก็อธิวาสนา, พิจารณาแล้วย่อมเว้น ก็ปริวัชชนา, พิจารณาแล้วย่อมบรรเทาก็วิโนทนา ๔ ตัวนี้ เรียงกันปั๊บอยู่เลย ก็เข้าใจง่ายขึ้น เพราะเราเคยจำได้ ๔ ตัวพวกนั้น เราสอนกันมามากแล้ว สัพพาสวะสังวรสูตร

เพราะฉะนั้น ธรรมะที่เป็นที่พักพิงอาศัย ๔ ประการอย่างไร ก็ ๔ ตัวนี่แหละ จำง่ายๆ พิจารณาแล้วพึงเสพ พิจารณาแล้วพึงอดกลั้น พิจารณาแล้วพึงเว้น พิจารณาแล้วพึงบรรเทา อาการอย่างไร เมื่อทำได้มากๆ มันจะบรรเทา เพราะฉะนั้น เก่งๆขึ้น เว้นขาดได้บ่อยๆ ทำง่ายขึ้น นั่นก็คือ มันบรรเทาแล้ว ก็บรรเทาใช้ลักษณะบรรเทานั่นเลย ใช้ลักษณะวิโนทนานั่นเลย มันก็จะ ผ่านเข้าไปเรื่อยๆ ทำบ่อยๆอีก นี่แหละ เราอาศัย เราพักพิง ลักษณะอย่างนี้ เรื่อยๆไป มันก็จะเข้าสภาวะใน สัพพาสวะสังวรสูตร วิโนทนาแล้วก็ภาวนา

การเกิดผลก็เป็นผลไปสู่ผล เพราะฉะนั้น ในนี่ ก็ไม่ต้องพูดตัวภาวนา เพราะภาวนาเป็นตัวเกิด ถ้าทำ คุณทำบรรเทาได้จริง คุณทำได้ถึงขั้นบรรเทา อ้าทำไมคุณถึงต้องทำตัวยากล่ะ จะต้องไปอดกลั้น ก็อดกลั้น เราก็ฝึกมาแล้ว ไม่ต้อง อดกลั้นมันง่ายๆ บรรเทาเบาบาง สบายๆ คุณก็ใช้ตัวบรรเทา ไอ้นี่อย่างนี้เหรอ อย่างนี้ ไม่เอา อันนี้เปลี่ยน ด้วยยังบรรเทา ก็เอาบรรเทาใช้ ทีนี้คุณ จะไปถึงขั้น คุณเก่งเป็นบรรเทา หรือต้องอดกลั้นอยู่ หรือว่า เว้นได้บ้าง ได้เป็นทีละรอบ ๆๆๆๆ ก็แล้วแต่คุณ

นี่ก็อาศัยพักพิง อาการปฏิบัติด้วยลักษณะ ๔ นี้แหละ แม้ที่สุด สุดท้าย บอกแล้วว่า สุดท้าย คุณก็มาอยู่ที่ตรงเสวย หรือพึงพิจารณาแล้วพึงเสพ พิจารณาแล้วอาศัย คุณจะอาศัยยึดมั่น ว่าเป็นตัวของตัว ทุกอย่างต้องพรากจากกัน แม้แต่ฐานอาศัยที่ดี เป็นฐานขนาด ๔ สอุปาทิเสสนิพพาน สิ่งเป็นรูปนาม ขันธ์ ๕ เหลืออยู่ สุดท้าย แล้วเราก็อาศัยสิ่งนั้น เป็นเครื่องอาศัยไป เพราะมันเป็นส่วนเหลือ สอุปาทิเสสะ หมายความว่า เป็นสิ่งที่เหลือ ก็อาศัย สิ่งที่เหลือนั้นนะ นี่อธิบายให้ฟังละเอียดๆ คุณก็พยายามเข้าใจดู

ต่อมา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีปัจเจกสัจจะบรรเทาแล้วอย่างไร ก็ปัจเจกสัจจะ เป็นอันมาก เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ของสมณะพราหมณ์เป็นอันมาก คือ สัจจะว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง โลกมีที่สุดบ้าง โลกไม่มีที่สุดบ้าง ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นบ้าง ชีพเป็นอื่น สรีระเป็นอื่นบ้าง สัตว์เมื่อตายไป ย่อมเป็นอีกบ้าง สัตว์เมื่อตายไป ย่อมไม่เป็นอีกบ้าง สัตว์เมื่อตายย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มีบ้าง สัตว์เมื่อตายไป ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้บ้าง พวกนี้เป็นปัญหาโลกแตก ๑๐ ข้อ เขาก็ถกกันมาตั้งแต่ สมัยพระพุทธเจ้า ก่อนพระพุทธเจ้า มาเดี๋ยวนี้ ก็ยังมาถกกันอยู่ พวกสัปปะรังเคพวกนี้ ก็คงอยู่กับ ความสัปปะรังเคนั้นเรื่อยไป ปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาสัปปะรังเค ใช้ศัพท์นี้คิดว่า คงเข้าท่า เพราะฉะนั้น เมื่อคุณเอง คุณมีปัจเจก คือ ส่วนตัวคุณเกิด สัจจะปัจเจกบรรเทา คุณบรรเทา ความเป็นปัญหาในเรื่องเหล่านี้ ในเรื่องสัปปะรังเค ๑๐ อย่างนี้ คุณบรรเทาได้ไหม

อาตมาแน่ใจว่า พวกคุณมาศึกษากับอาตมานี่ คุณไม่ต้องมาถกเถียง ไม่ต้องมาสงสัย ไม่ต้อง มาลำบากใจหรอกว่า จะเกิดใหม่อีกไหม หรือไม่เกิดใหม่อีกไหม โลกคืออะไร โลกนี้มี โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง อาตมาว่าคุณเข้าใจ เกิดการรู้ ไตรลักษณ์ เกิดการรู้ความจริง และ เกิดตัวสภาวะ ที่จะพิสูจน์อะไร จนกระทั่งไม่ต้องไปยุ่งยากหรอก ไอ้เรื่องนั้น เขาเถียงไปแล้ว มันก็ไม่รู้ เกิดไปแล้วตายแล้ว ค่อยไปรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง คุณไม่ต้องสงสัย ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ไม่อันนั้นก็อะไรก็แล้วแต่

ในปัญหา ๑๐ ข้อนี่ แจกละเอียดแล้ว เขาก็สรุปกันมาแค่ ๑๐ ข้อนี่ ถก กันมาเถียงกันมา ตั้งแต่ยุคไหนต่อยุคไหน เดี๋ยวนี้ก็ยังมีพวกสัปปะรังเค หรือพวก CONSERVATIVE พวกอนุรักษ์นิยม จะต้อง ไปถกปัญหาพวกนี้เสียก่อนซี่ รู้เรื่องพวกนี้ เสียก่อน แล้วฉันจึงจะ ถึงจะสอน เอ้ย แล้วฉัน จึงจะเรียน ถึงจะเป็นลูกศิษย์ ฉันถึงจะปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าก็เทียบให้ฟังว่า พุทโธ่เอ๋ย มันก็เหมือนไอ้คนไปถูกยิง ด้วยลูกศรอาบพิษมา จะตาย ชักแด๊กๆ อยู่นี่ พอมาถึง เขาก็บอกว่า เอ้า รีบผ่า เอาลูกศรออก ไม่เอา ฉันจะต้องรู้เสียก่อน ปัดโธ่ ไปรู้ปัญหาสัปปะรังเค เมื่อไหร่มันจะได้รู้ล่ะ ฉันจะต้องรู้เสียก่อนว่า ใครยิงมา คนยิงชื่ออะไร อาบยาพิษอะไร ไม้นี่ไปตัดมาจากป่าไหนมายิงฉัน ตายพอดี เขาบอกว่า รีบผ่าเอาพิษออก รีบผ่าเอาศรออก อย่าไปมัวหาปัญหาสัปปะรังเคนั่นมาเลย ไปมัวคิดอยู่อย่างนั้น ตายก่อน และก็ตายมาแล้ว หลายล้านๆๆๆๆๆๆ คน คุณจะเป็นคนหนึ่งในนั้นอีก ก็นิมนต์

คุณจะเป็นหนึ่งในนั้นอีกก็นิมนต์เชียว จะไปถกปัญหาสัปปะรังเค หรือ ปัญหาโลกแตกอันนี้อีก ไม่ต้องถกมาเอานี้ มาผ่าลูกศรออก กิเลสเป็นอะไร ทุกข์เป็นอะไร มารู้เหตุ มาล้าง มาละ มาปลดปลงไป แล้วปัญหาสัปปะรังเคพวกนี้ คุณจะเกิดปัจเจกสัจจะบรรเทา คุณจะเกิดบรรเทา เบาบางมา การที่จะไม่ต้องสงสัย ค่อยรู้ค่อยเห็น เพราะมันเกิดปัญญาขึ้นมาแล้ว มันจะคลุม การรู้ปัญหาเหล่านี้เอง

คุณรู้สึกไหม รู้สึกไหม เอ้า ชี้มาทางนี้หน่อย แหม ใช้ซ้ายบ้าง คุณรู้สึกไหม นั่นน่ะ ไปถามท่าน พิสุทธโธนั่นแน่ะ ไม่ค่อยพูด ฝึกหน่อยๆ ประเดี๋ยวมันจะใบ้ เอาแต่เคี้ยวข้าวอย่างเดียว มันก็เคี้ยวข้าวได้ แต่มันใบ้ คุณรู้สึกไหม สัจจะบรรเทาในปัญหา ๑๐ ข้อนี่ รู้สึกว่าเราบรรเทา ลงไหม แต่ก่อนนี้ คุณลองย้อนทวนไป ตั้งแต่ก่อนจะมาเรียนมาปฏิบัติกันนี่ ปัญหาเหล่านี้ มันข้องใจน่ะ เอ้อ มันจะรู้ได้ยังไงน้า มันจะละคลายได้อย่างไร หรือมันทำไมอย่างไร มันอยากรู้อยู่บ้าง จนกระทั่ง ความอยากรู้ก็ลดลง เราพอเข้าใจแล้ว พอรู้แล้ว โลกนี้ โลกหน้า อย่างโน้นอย่างนี้ โลกเที่ยง ไม่เที่ยง สรีระ ชีวะ อะไรต่างๆ นานา จนกระทั่ง ถึงสัตว์ตายไปแล้ว จะเกิด หรือไม่เกิด เกิดบ้าง ไม่เกิดบ้าง จะเกิดก็หามิได้ จะไม่เกิดก็หามิได้ อะไร อย่างนี้ ในปัญหา แง่มุมอย่างนี้น่ะ เอ๊ะ เราไม่ค่อยสงสัยละ ค่อยบรรเทาลงมา เกิดปัจเจกสัจจะบรรเทานี่ไหม บรรเทาในใจแน่นะ

นี่คือ ลักษณะสัจจะบรรเทา โดยส่วนตน ปัจเจกตนเกิดเอง ไม่ต้องคนอื่น คนอื่นเขาจะมา บรรเทาเราไม่ได้ เราจะบรรเทาได้ เพราะเราเกิดญาณ ถ้าคุณได้ปฏิบัติ พยายามเป็นผู้ละองค์ ๕ มา สังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ มา รักษา ใจเป็นด้วยสติมา มาเรื่อยๆ จนกระทั่ง แล้วก็ปฏิบัติ สัพพาสวสังวรสูตรมาเรื่อยๆ จริงๆ หรือแม้แต่ย่นย่อเอามาพิจารณาแล้วเสพถึง ๔ ระดับ มีองค์ธรรม ๔ นี้ขึ้นมาจริงๆ เรื่อยๆ แน่นอน ในปัจเจกคุณจะเกิด ตัวคุณเองจะเกิดสัจจะเหล่านี้ บรรเทา คุณจะรู้สัจจะ จะเกิดสัจจะ แล้วบรรเทาความข้องใจสงสัยไปเรื่อยๆ เอง อย่างนี้คุณเกิด

ต่อมา ท่านก็บอกว่าอย่างนี้ สัจจะเหล่านั้นทั้งหมดเป็นของอันภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรเทาได้แล้ว กำจัดออกแล้ว สละได้แล้ว คลายได้แล้ว พ้นได้แล้ว ละได้แล้ว สลัดได้เฉพาะแล้ว อาตมาบอกคุณได้ว่า อาตมาสลัดได้เฉพาะแล้ว ปัญหา ๑๐ อย่างนี้ แม้จะอธิบายไม่ได้ และแม้พระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่อธิบาย ว่า เราไม่อธิบายหรอก ไอ้ปัญหาสัปปะรังเค ๑๐ อย่างนี้ มาถามเรา มีคนไปถามท่าน ใครไปถาม พระมาลุงกยบุตรหรือเปล่า ใช่มั้ย มาถาม ปัญหาสัปปะรังเค ๑๐ ข้อนี่ พระพุทธเจ้าได้บอกว่า มาลุงกยะ เราไม่พยากรณ์ละ ๑๐ ข้อนี่ เสร็จแล้ว ท่านก็บอกว่า มาปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อปฏิบัติมาแล้วเข้าร่องเข้าช่องมา มันก็จะบรรเทาเอง นอกจากบรรเทาแล้วก็ไปได้เรื่อยๆ กำจัดออกไป สละออกไป คลายได้ พ้นได้ ละได้ สลัดได้เฉพาะไปเลย

อาตมาแน่ใจว่า อาตมาไม่มีปัญหาใน ๑๐ ปัญหาสัปปะรังเคนี่ ไม่มีความข้องใจใน ๑๐ ปัญหา สัปปะรังเคนี้ ปัญหาสัปปะรังเค ๑๐ อย่างนี้ ไม่มีความข้องใจ จริงๆ แล้วก็ไม่ต้องไป ทำพยากรณ์ พยากรณ์อย่างไร ก็ไม่รู้เรื่อง พูดกันอย่างไร บรรยายกันอย่างไร ก็ไม่ค่อยเข้าใจได้ มันจะบรรเทาความสงสัยไปได้ ด้วยการปฏิบัติ เข้าร่องมาจริงๆ นี้เป็นอีกอย่างหนึ่งนะ เพราะฉะนั้น นี่เป็นธรรมเครื่องอาศัย เป็นธรรมของอริยะ ผู้ใดมีอย่างนี้ก็มีอยู่ พูดไปนี่ ถ้าคุณเข้าใจแล้ว เออ จริงด้วยนะ ที่นี่เราไม่ค่อยถกกันเลย เรื่องปัญหาเหล่านี้ เราไม่ค่อยพูดกัน แต่เราบรรเทาๆๆๆ ไปเรื่อยนะ ใครแน่ใจว่าหมดความสงสัย พ้นวิจิกิจฉา แน่แล้ว เราสลัดพ้น โดยเฉพาะได้แล้ว เราสลัดได้เฉพาะแล้ว คุณก็จะรู้ตัวเองว่า เออ เราสลัดได้เฉพาะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีปัจเจกสัจจะบรรเทาได้แล้วอย่างนี้แล ไม่ต้องไปทำอะไรมัน แต่เราปฏิบัติให้ถูกทางมา แล้วคุณจะเกิดเป็นธรรมอันเป็นที่ อยู่แห่งพระอริยะเอง อันนี้ก็เป็นธรรมข้อหนึ่ง เป็นข้อที่ ๕ ๑,๒,๓,๔,๕ แล้ว อ่ะ ทีนี้ ข้อที่ ๖

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้แล้ว มีการแสวงหาอันสละ คือสละการแสวงหา นี่สำนวนภาษาของพระไตรปิฎก มันก็เข้าใจยากอย่างนี้ ถ้าอาตมาจะมาพูด เป็นสำนวนใหม่ ล่ะก็บอกได้ว่า ก็ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้ แล้วด้วยดี ก็คือ เราไม่ต้องแสวงหาอีกแล้ว แต่ก่อน เราต้องแสวงหา เดี๋ยวนี้ เรามาถึงขั้น อันสละกับ การแสวงหานั้นได้ด้วยดีแล้ว ไม่ต้องแสวงหาอีกแล้ว อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละ การแสวงหากามได้แล้ว ฟังให้ดีนะ เป็นผู้ละการ แสวงหาภพได้แล้ว เป็นผู้สงบระงับ การแสวงหาพรหมจรรย์ได้แล้ว ดูกร ภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหา อันสละได้แล้วด้วยดี อย่างนี้แลฯ

ถ้าใครเข้าใจสำนวนนี้ง่ายๆ ก็จบในตัว ก็เป็นผู้ที่เป็นพระ หรือเป็นอริยะ ผู้มีธรรมะเป็นเครื่องอยู่ ได้แล้ว เพราะเราหมดแสวงหา เรียกว่าการแสวงหา อันสละได้แล้ว การแสวงหาก็ไม่ต้องแล้ว เพราะอันสละได้แล้วนี่ สละการแสวงหา ไม่ต้องแสวงหา เพราะเราได้ละอะไรออกไปหมด

หนึ่งละกาม ไม่ต้องแสวงหากามอีก ขณะนี้คุณมีการแสวงหากามน้อยลงใช่ไหม ใช่ไหม เป็นการแสวงหากาม แต่ก่อนนี้ โอ้โฮ เขายั่วคุณ คุณก็เมาเลย ไปบ้าจี้ แสวงหากามตามเขา ซอกแซกๆ ซอกๆ โอ้ย อาตมาพูดอย่างนี้ อะไรมันขึ้นในภาพของจิต ภาพหมาน้ำลายไหล อาตมาพูดว่าซ็อกๆนี่ แล้วมันมีซ้อน คือจิตอาตมามันปรุงเร็วนา แล้วอาตมาก็เอาภาพจิต อาตมาพูดว่า แหม ซอกๆ ภาพที่ต่อมา ที่จะมาพูด เป็นวจีสังขารให้คุณ ก็คือมันออกมาเป็นภาพ ก่อน แต่มันไม่เป็นภาพเหมือนลิเกหรอกนะ เห็นภาพหมาที่มันวิ่ง เหนื่อย ซอกๆ แล้วน้ำลายเยื้อยๆ เยื้อยๆ เหมือนหมาน้ำลายไหลอย่างนั้นจริงๆ มนุษย์มันวิ่งหากาม มนุษย์มันวิ่งหากามอย่างนั้นจริงๆ ฟังดีๆเถอะ โอ้

แต่บัดนี้ คุณได้เลิกการแสวงหากามมาแล้ว และถ้าคุณตอบตัวเองได้ว่า เราเป็นผู้ละ การแสวงหากามได้แล้ว มีธรรมอันอาศัยของพระอริยะ เป็นผู้ละการแสวงหาภพได้แล้ว แม้แต่จะไปนั่งเองในภพของจิต แหม มันส์ มันส์ ก็เหมือน หมาน้ำลายไหลตัวนั้นเหมือนกัน ไม่ต้องแสวงหา มันมีเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ ไม่ต้องเอาภพนอก กามทวารทั้ง ๕ ก็ไปหามาเสพ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ไม่เอา ภพในจะต้องไปติดรูปฌานแบบฤาษี ไม่เอา มันมีเอง อาศัย มันมีเอง สภาพอาศัย มันมีเอง ใจที่จะอาศัย อาศัยความวางว่างอะไร มันมีเองตามที่ มันผ่านมาแล้ว รักษาใจไว้เถอะ แล้วพึงเสพ พึงเสพ เอ้อ ตอนนี้ อาการอารมณ์ ปามุชชะ อย่างนี้ ก็เสวยอยู่อย่างนี้ธรรมดา เอามันจะสูญภาพ ตอนนี้มันไม่มีงานอะไรนั่งเฉยๆ ว่างๆ หา อาตมาสมมุติ สักหนี่งนาที

อ้า อานาปาณสติ หนึ่งนาทีย่อยๆ ใครจะว่างบ้างล่ะ อาตมาก็นั่งว่างๆ อาตมาก็พึงเสพว่างๆนั้น ไม่ต้องไปนั่งสร้างภพเอา จะทำงานก็อาศัยสภาพนั้น พึงอาศัย พักพิงอันนั้นเป็นเครื่องอาศัย ก็ทำงาน ขณะนี้กำลังทำงาน แม้มันจะมี เอ้อ เจ้ามารร้ายมันมาทำเช็ดขี้หมูไป อะไรไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร ก็อาศัยอาการนี้ อารมณ์อาการของอาตมาก็อาศัยได้สบายนะ และไม่ต้องไปปั้นเสพ ไม่ต้องแสวงหาภพ ไม่ต้องไปปั้นสร้าง จะอาศัยอะไรพึงอาศัย พิจารณาแล้วก็พึงอาศัย พึงพักพิง อาตมาก็พิจารณาแล้ว อาตมาควรทำอย่างนี้

ก่อนที่จะมาเทศน์นี่ อาตมาก็ถามตัวเอง พิจารณาก่อนว่า เอ๊ นี่เรารู้สึกมันจะเป็นหวัดนะ มีไข้ไหม อาตมาก็ดูว่าอาตมาไม่มีไข้ จะสู้ได้มั้ยวันนี้ เดี๋ยวเย็นจะต้องกลับไปปฐม สู้ได้ มามองดูงานซิ เอ้ อธิบายค้างไว้นะ เมื่อวานนี้ วันนี้ ควรจะได้อธิบายต่อเสีย จะได้ติดต่อ ผู้ที่อยู่เมื่อวาน วันนี้ก็ได้ติดต่อไป ไม่งั้นจะค้างไปอีกหลายวันนะ เห็นความควรพิจารณา แล้วท่านวรพุทโธ ไปถามว่า จะลงศาลามั้ย ตอบได้ เพราะพิจารณาแล้ว ลง ก็บอกมา อย่างนี้ เป็นต้น

อาตมาก็อาศัย พิจารณาเสมอ ตัวเองว่ามันสมควรมั้ย มันพอไปมั้ย และเราเป็นไง ทุกข์มั้ย ไม่ได้ทุกข์ ไม่ได้ทรมานเกินไป อาตมาบรรยายนี้อยู่ จริง มันมีสภาวะของมัน แต่ก็ไม่ พอได้ ทุกข์ร้อนอะไร แล้วเราเป็นอภิชฌาวิสมโลภะมั้ย แหม อยากจะสอนเหลือเกินนะ เอ้! เราก็ ไม่ได้มีอะไรนะ ถ้าพักก็เบากว่านี้อีก ถ้าพักก็สบายกว่านี้ เบากว่านี้อีก สบายนี่เป็นแบบ กิเลสหน่อยๆ มันไม่กิเลสหรอก มันก็เบา มันก็ง่ายกว่านี้ แต่ที่ไม่ง่ายก็มาทำงาน ก็เป็นคุณมั้ย เป็นคุณ เป็นประโยชน์ เป็นคุณค่า วันนี้ วันอาทิตย์ด้วย คนมากหน่อยนะ เออ ก็ดูแล้วก็น่าทำ มันก็น่าจะเป็นไป ผู้เรียนตั้งเมื่อวานนี้ก็มี วันนี้ก็นอนค้างคืน มานี่อีก อยู่อุโบสถ ก็ควรจะต่อสูตรนี้อีก มันก็ดีนี่นะ เห็นเหตุเห็นผลแล้ว พิจารณาแล้ว ทำประโยชน์เป็นกุศล ถึงพร้อม อาตมาก็ยังกุศลให้ถึงพร้อมดังนี้ อ้า ไม่ไปนั่ง แสวงหาภพ

ถ้าอาตมาติดภพหน่อย เออ ถ้ามีใจอีกตัวหนึ่ง เป็นตัวสสังขาริกัง มันบอกว่า เฮ่ย! อย่าเลย เอาไอ้เรื่องนี้ไปแก้ได้ ก็น้ำมูกมันไหลจริงๆนี่ ไปอ้างได้ ไม่มีใครติเราหรอก แล้วก็นั่งเสพอยู่เฉยๆ อาตมาก็ทำได้ แต่อาตมาว่าอาตมา ไม่ต้องหรอก อาตมาเดี๋ยวก็พัก พอ หมุนเวียน นี้มันก็ไม่ใช่ หนักหนาอะไร พอเป็นได้นะ เอานะ เราปรุงพอประมาณ ใช้พอประมาณ ไม่ต้องไปทำ ให้มันแรงกว่านี้ ก็ประมาณเอา และอาตมาก็ไม่ได้ติดภพ อาตมาก็รู้นะ ไม่ ไม่มีเถียงนะว่า การนั่งเฉยๆ ว่างๆนี่ สบายกว่าทำงาน เบากว่าทำงาน ง่ายกว่าทำงาน พระโพธิรักษ์นี่แสนเจ๋ง ชัดเจน แจ่มใส ไม่เถียงเลย

แต่เราควรนะ เราพิจารณาแล้วเราควร พึงอาศัยหรือพักพิงสภาพใดอยู่ เพราะฉะนั้น คนจึงอยู่ โดยพิจารณาสภาพนั้น เราไม่ติด ไม่ติดภพ ไม่ติดกาม ถ้าอาตมามีลักษณะฤาษีมาก อาตมาก็ต้อง นั่งพักแล้ว อะไรนิด อะไรหน่อย ก็แก้ตัว ขอพักดีกว่า อะไรนิด อะไรหน่อย ก็พัก เพราะพักมันง่ายกว่า แต่อาตมารู้ ไม่เป็นไรหรอก อาตมาตายแล้ว อาตมาจะได้พักกว่านี้ อ้า จะได้สงบตอนตายแล้ว จะไม่กวนคุณเลย คุณก็จะกวนอาตมาไม่ได้ เมื่อตายแล้ว อาตมาพักแน่ แต่ตอนนี้ ยังไม่ตาย พอทำได้ อาตมาก็คิดว่า พอทำได้ อ้า

ประมาณ ไม่ ไม่ทรมานตนเองเกินไป แล้วไม่ได้ทำพูดไปไย ไม่ได้ทำแลกลาภ ยศสรรเสริญอะไร คุณด้วย คุณเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ไม่ได้ทำเพื่อแลกลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่ได้เป็นไปเพื่อโลกีย์ ไม่ได้เป็นไปเพื่อกาม ทำนี่แหละ มันดี อร่อยรูป อร่อยรส อร่อยกลิ่น อร่อยเสียงอะไรก็เปล่า ไม่ได้เป็นไปเพื่อ แสวงหากาม ไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหาภพ เป็นผู้สงบรำงับ เป็นการแสวงหา พรหมจรรย์ได้แล้ว นอกจากเป็นผู้ละกาม แสวงหากาม เป็นผู้ละการแสวงหาภพแล้ว ก็เป็นผู้สงบรำงับ การแสวงหาพรหมจรรย์ได้แล้ว ถ้าอาตมาบอกว่า อาตมาเป็น พระอรหันต์ อาตมาก็อยู่จบพรหมจรรย์ อาตมาก็หยุดการแสวงหาพรหมจรรย์ เพราะเป็นผู้สงบระงับ การแสวงหาพรหมจรรย์ได้แล้ว ก็หมายความว่า เป็นผู้ที่เป็นพระอรหันต์

เมื่อเป็นพระอรหันต์ก็ใช้สำนวนว่า เป็นผู้สงบระงับการแสวงหาพรหมจรรย์ได้แล้ว ก็จบเลย การแสวงหาอื่นอีกไม่มีแล้ว เป็นอันละได้แล้วหมด เป็นผู้มีการแสวงหาอันละได้แล้วด้วยดี เพราะเป็นผู้ระงับ เป็นผู้สงบระงับการแสวงหา แม้แต่พรหมจรรย์ ก็ได้แล้ว ได้พรหมจรรย์แล้ว คือได้ศาสนาทั้งหมด ได้ธรรมวินัย ได้สถานภาพของพรหม ย่อมพึงเสพ หรือพึงเสวย หรือพึงอาศัย พักพิง สถานภาพของพรหม เป็นตัวงาน เป็นตัวเป็นไป

หรือไม่เรียกว่าพรหม ใช้อีกคำหนึ่งว่า ก็อาศัยสถานภาพของความเป็นก๊อด เป็นพระเจ้า เราจึงเป็นฉายาของพระเจ้า เราจึงเป็นพระบุตรกับของพระเจ้า เราจึงเป็นตัวพระเจ้าเอง นั้นแหละ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระเจ้า พระเจ้าเป็นคนอย่างไร พระเจ้าเป็นคนสร้างสรร พระเจ้าเป็นคนกรุณา ปรานี พระเจ้าเป็นคนเมตตา เอื้อเฟื้อ ถ้าเอาอย่างพรหม ก็พระเจ้าเป็นผู้ อาศัยสุทธาวาส อาศัยสภาพเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จนละเอียด ไม่น้อย ไม่ยิ่งกว่าใคร เป็นขนิษฐาพรหม ไม่น้อย ไม่ต่ำกว่าใครให้ได้ คือ เป็นคนที่มีความดี ความสูงสุดให้ได้ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

แต่อย่าไปยึดว่า นี่เป็นแดนจะต้องไปเกิด ไปตาย ไปเป็น พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า เราไม่เคย ไปเกิดสุทธาวาส แต่พอพูดจบ ท่านก็ไปสุทธาวาส นี่มีสูตรสอนอยู่ พระสูตรบอก พอพูดจบ ท่านก็ไปสุทธาวาส นี่มีสูตรสอนอยู่ พระสูตรบอก พอพูดจบ ท่านก็เหมือนเหยียดแขนเข้า เหยียดแขนออก ท่านก็ไปสู่สุทธาวาส เทวดาทั้งหลายก็มาห้อมล้อม ฟ้องไอ้นั่น ฟ้องไอ้นี่ เรื่องนั่น เรื่องนี่ ทูลท่าน ท่านก็แก้ปัญหาให้ คือไปแสดงเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ช่วย

นี่อธิบายเป็นบุคลาธิษฐาน อธิบายเป็นธัมมาธิษฐาน ก็คืออย่างนี้อยู่ ถ้าจะว่าไปแล้ว อย่าหาว่า อาตมาเทียบกับพระพุทธเจ้าละ พออธิบายพระพุทธเจ้าเข้าปั๊ป แล้วเราก็อธิบายตัวเราเอง แล้วก็เลยคุย แหม เทียบเคียงพระพุทธเจ้า คนก็หมั่นไส้ แต่พวกคุณ คงไม่หมั่นไส้หรอกนะ อาตมาก็เจตนามีเป็น มีเมตตา จิตของเราว่าจะเมตตา อย่างอาตมาคิดดู ทบทวน ก่อนจะตื่นนอนขึ้นมา เอ๊ะ! เราจะไปสอนได้มั้ย มันมีอาการอยู่เหมือนกันนะ อาการไม่สบาย อาการป่วย อย่าไปเรียกว่าไม่สบาย คำว่าไม่สบาย ในใจของอาตมาไม่มี อาตมาสบายใจ แม้ป่วย ได้มั้ย อาตมาพิจารณาแล้วเสร็จก็ เออ ได้ เอา นั่นคือ เมตตาเกิดแล้ว อาตมาก็คือ มาเกิดที่เมืองสุทธาวาส

จิตเมตตา ก็เกิดจิตกรุณา ก็มาทำแล้วนี่ มีมุทิตา เอาคุณได้ดี ก็ดีไป นะ เอ้อ นี่สอนแล้วก็ได้ดีนะ บางคนสอนแล้วก็ โอ้ย ไม่ได้เรื่องอะไรเลย ก็ได้แต่สงสาร ก็ปล่อยไปก่อน คนหลายคนได้ อีกคนไม่ได้ ก็ปล่อยไปก่อน ช่วยคนตกน้ำ ๑๐๐ คน เอาช่วยเก็บได้ ๖๐-๗๐ -๘๐ อีก ๑๐ จมน้ำ ต่อหน้าต่อตา ก็ต้องจมไปก่อน มันหมดมือแล้วนี่ หมดแรงแล้วนี่ สามารถเท่านี้

เพราะฉะนั้น บางคนก็อย่าหาว่าใจดำ ไม่ช่วยดึงบ้างเลย บางทีก็ช่วย แหม่ มันก็สะอึกๆๆ น้ำนี่เห็นชัดๆ ก็ดึงเผยอขึ้นมาก่อน เอ้า เราก็ช่วยทางนี้ ทางนี้มันเขาช่วยตัวเองได้บ้างแล้ว ก็เอา จนรอดจนพ้น ไอ้คนนี้ก็ดึงมาบ้าง ดึงไม่ได้ บอกเอาจมไป เอาตาย เห็นแล้ว ตาย ตาย เต่าซัดไปแล้วด้วย นั่นนะ ปลา ซัดไปแล้ว เอาตาย ตายก็ตายกัน เอ้อ ก็มีอย่างนี้นะ

เป็นการช่วย เป็นการเกิดจิต เพราะฉะนั้น อาศัยสิ่งที่พักพิงสูงสุด เมื่อผู้ที่สูงสุด ไม่ต้องหาพรหมจรรย์ ไม่ต้องแสวงหา แม้พรหมจรรย์อีก ก็ได้พรหมจรรย์แล้ว ได้ศาสนาแล้ว ได้ที่พักอาศัยของชีวิต อันแสนสบาย อันแสนสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นผู้สงบรำงับการแสวงหา พรหมจรรย์ได้แล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้แล้วอย่างดีไปด้วยแล้ว สละได้แล้วด้วยดี อย่างนี้แล อันต่อมา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีความดำริไม่ขุ่นมัวอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละความดำริ ในกามได้แล้ว เป็นตัวเศษพริ้วของแม้แต่ดำริ นี่ เป็นตัวสังกัปปะ อ่านเข้าไป การงานก็มา สังกัปปะ เป็นตัวจิต เป็นตัวคิด เป็นตัวตักกะ วิตักกะ เป็นตัวดำริ เป็นตัวริเริ่มนะ เป็นผู้ละความดำริในกามได้แล้ว เป็นผู้ละความดำริในพยาบาทได้แล้ว เป็นผู้ละความดำริ ในวิหิงสาได้แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ดำริ เป็นผู้มีความดำริ ไม่ขุ่นมัวอย่างนี้ ที่ไม่มัวเพราะ มิจฉาสังกัปปะ ๓ ไม่มีเลย ไม่มีตักกะ วิตักกกะ ที่มีสภาพของ กามประกอบ ที่มีสภาพของพยาบาทประกอบ ป่วยการกล่าวไปไย กามกับพยาบาท ซึ่งเป็นการเบียดเบียนตน และเบียดเบียนท่านอันหยาบ แม้แต่จะเบียดเบียนวิหิงสา ขนาดอ่อน เบาบางขนาดใด ก็ต้องรู้ด้วยตน อันนี้ต้องอธิบายกันพอสมควร

เช่น อาตมากำลังดุด่าว่า คนที่กำลังสอนอยู่เดี๋ยวนี้บางคน แล้วหาว่า อาตมาเบียดเบียน อาตมาไปว่าพระที่ท่านปฏิบัติผิด ไปเบียดเบียนเขาทำไม อาตมาขอยืนยันว่า อาตมาไม่ได้เบียดเบียน อาตมาสงเคราะห์เขา บอกเขาให้รู้ตัว สอนเขาให้รู้ตัว แต่เขาก็ตีความว่า เขาไม่ชอบใจนี่ ตัวไม่ชอบใจนั้น เป็นกรรมกิริยาของคุณน่ะ คุณไม่พิจารณาควรชอบใจ คนที่ชี้ขุมทรัพย์ให้หรือเปล่า หรือควรจะไปเที่ยวได้โกรธคนชี้ขุมทรัพย์ให้ แล้วคุณจริงมั้ยเล่า ผู้มีจริง อาตมาก็ระบุชื่อเลยบางคน ผู้ไม่ได้ระบุชื่อ ก็พูดกลางๆ ว่า นี่แหละคำว่า พระ เป็นคำ common noun เป็นคำทั่วไป

เพราะฉะนั้น พระทำการไปเที่ยวได้ปลุกเสกอะไรอยู่อย่างนี้ เป็นการรดน้ำมนต์อยู่อย่างนี้ ไม่ดี อาตมาก็ติกลางๆ อาตมาเจตนาช่วยเขา แต่เขาไม่เข้าใจคำติอาตมา เขาเอง เขาก็มาโกรธแค้น โกรธเคืองเอาอาตมา เขาก็ซวยของเขา อาตมาเมตตา อาตมาเกื้อกูล อาตมาไม่ได้ไปเบียดเบียน แม้อย่างนี้ ก็เป็นแนวเชิงที่จะต้องเข้าใจ และจะต้องอธิบายกันนะ ความจริงใจเป็นอย่างไร แล้วมีจิตเจตนาอย่างไร ที่สำคัญ เราก็จะต้องรู้ความหมายที่ชัดแจ้ง และ เป็นจริงให้ได้นะ

สำหรับวันนี้ ไม่มีเวลาต่อ เพราะฉะนั้น ยังเหลืออีก ๒-๓ เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียด สำคัญนั่นนะ ข้อหลังๆ นี่ ก็เอาไว้โอกาสหน้า

สำหรับวันนี้ หมดเวลาแล้ว พอเพียงเท่านี้ไปก่อน


ถอด โดย ประพจน์ วิริยะพาณ * อรุณศรี สติดี
ตรวจทาน ๑ โดย มาลินี โภคาพันธ์
พิมพ์ โดย สม.มาบรรจบ ๒๘ ก.พ.๒๕๓๕
ตรวจทาน ๒ โดย โครงงานถอดเท็ป ๒๙ ก.พ.๒๕๓๕
เข้าปกโดย ปะคมกล้า
เขียนปกโดย พุทธศิลป์
FILE:2219B.TAP