เปิดภพ สยบผี
โดย พ่อท่านโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔


... อ้า มีคน เดี๋ยวก็ไขความนิดหน่อย ที่อาตมาตั้งใจจะเทศน์ เมื่อมาอยู่กันพร้อมๆหน้า มากกว่านี้ จะเทศน์ถึงเรื่องว่าขณะนี้ มีเหตุการณ์ เกิดในหมู่เรา คือมีญาติธรรมเราคนหนึ่ง มีอาการเกร็ง มีอาการตกภพๆแล้วก็เบลอๆ เหมือนกับคนมีสติไม่ค่อยจะดีแล้ว ก็เลยหวั่นไหวกัน พวกเราเกรงว่า เราจะเป็นรายต่อไปหรือเปล่า ก็มันไม่ได้เป็นกันได้ง่ายๆหรอก เรื่องพวกนี้ ที่จริงแล้ว มันเป็นอยู่ที่ตน คนมัน ไม่ประสาท หรือว่าจิตที่มันดิ่งมากเกินไป มันก็เป็นนะ เหตุก็บอก สาเหตุให้บ้าง อาตมาพยายามไขให้พวกเราฟังอยู่นี้ สาเหตุมันก็อยู่ที่ว่า มันตกภพ คนบ้านี่นา คนเสียสตินี่ ไม่ใช่ว่าคนเขาไม่มีจิตวิญญาณ ไม่มีอะไร เขามี เขามีจิตวิญญาณ ปัญญาความรู้ของเขาก็มี จะเห็นได้ว่า คนที่มี บางทีที่เรียกว่า มันเป็นคนล้นๆ นี่นา ปัญญาดีน่ะ ปราดเปรียว ฉลาดเฉลียว แต่ว่ามันไม่เหมือนสามัญโลกๆเขา เขาเรียกว่าเฟื่องไง พวกนี้ เขาเรียกว่าเฟื่อง พวกสติเฟื่องเขาว่าอย่างนั้นนะ พวกเฟื่องๆ คือเรียกว่า ฉลาดน่ะ เพราะฉะนั้น คนที่บอกว่าคนบ้านี่ เขาอยู่ในภพของเขานี่นา ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีจิตวิญญาณ ที่เป็นตัวปัญญาน่ะ หรือว่าเป็นตัวที่เฉลียวฉลาดอะไรอยู่ข้างใน ไม่ใช่ เขามีของเขา แล้วเขาก็ไม่เอา ของคนข้างนอกเลย

ทีนี้ไอ้สิ่งที่ไม่เอาของคนข้างนอกเขานี่ มันก็เลยกลายเป็นว่า เป็นคนที่ไม่เหมือนกับหมู่ ไม่รู้จัก ไม่มีสติสัมปชัญญะ ที่จะรับลูกกับหมู่เขา หมู่เขาเป็นอย่างนี้ เราก็เป็นอย่างนี้ไปกับเขา ส่วนเรา จะเข้าใจอย่างไร จะมีอะไรลึกซึ้ง จะมีอะไร เฉลียวฉลาด เหนือชั้นกว่าเราอะไรนี่ เราก็ต้อง เข้าใจเขา หมู่ฝูงเขาเป็นอย่างนี้ เราก็เป็นตามเขา พอเป็นพอไป ไม่ใช่ไปเด๋อๆ เด๋ๆ ไปยังกับตัวเอง ซึ่งไม่เหมือนกับโลกเขาเลย กิริยา กาย วาจา ใจ อะไรก็ไม่เหมือนเขาเลย โดยที่ว่าฉันไม่แคร์ คนอื่นจะเป็นอย่างไร ฉันก็ก็เป็นของฉันไปอย่างนี้ มันก็ออกนอกหมู่ไปเท่านั้นเอง เขาก็เอาไป ที่ต่างกันกับหมู่เท่านั้น เอาไปไว้ที่โรงพยาบาล ที่ควรจะอยู่รวมๆกัน ทั้งๆที่พวกเหล่านั้น ที่อยู่ด้วยกัน เขาพูดกันไม่รู้เรื่อง เหมือนกันนั่นแหละ

เช่นที่ โรงพยาบาลศรีธัญญาอะไรนี่ คนพวกที่อยู่ในนั้น เขาต่างก็พูดกันไม่รู้เรื่อง ทั้งนั้นแหละ เพราะว่าต่างคนต่างภพ ภพใครภพมัน เหมือนพวกเรานี่แหละ ระวังน่ะ ถ้าขืนภพใครภพมัน มากๆ ประเดี๋ยวจะเหมือนนั่นแหละ โรงพยาบาลศรีธัญญา จะเหมือนอย่างนั้นแหละ ภพใคร ภพมัน ช่างหัวใคร ไม่เกี่ยวใคร

พวกฤาษีนี่เกือบๆจะไปอย่างนั้น และจะเป็นอย่างนั้นมาก เพราะฉะนั้น สายเจโตหรือสายฤาษี เอาแต่หมกหมุ่นอยู่แต่ในภพของตนเอง เอาแต่ความคิดความนึก ความเข้าใจของตนเอง ของคนอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ละ ตัวเข้าใจอะไร ก็ดิ่งไปแต่ของตนเอง แล้วของคนอื่นก็ไม่รับรู้รับเห็น รับเข้าใจอะไรด้วย อยู่แต่ของฉันๆๆไป คนอื่นก็ไม่เกี่ยว อะไรอย่างนี้ ระวังเถอะอย่างนั้นน่ะ มันจะมีอาการแบบนี้ มันจะต้องรู้กับคนอื่นเขาให้ดีว่า คนอื่นเขานั้น เขารับอะไร สมมุติสัจจะ ของเขาเป็นอะไร เราก็รับอันนั้นด้วยกัน อย่างเข้าใจ จะอนุโลมปฏิโลมอย่างไรก็ว่าไป

แม้แต่จะชัดขืน เราก็ขัดขืนอย่างรู้นะ ไม่ใช่ว่าขัดขืนอย่างที่ไม่มีเหตุไม่มีผล ดิ่งๆ ดื้อด้าน ไม่พูดไม่จาอะไรต่ออะไร งุบงิบๆ ไปอย่างนั้นแหละ เรียกว่าไม่รู้เรื่องกับคนอื่น เป็นภพของตัวเอง คนเดียวแน่ๆ แต่ถ้าเผื่อว่าเราเอง เราก็พูดจารู้เรื่องกับคนอื่น จะขัดจะแย้งอะไรก็ขัดแย้งกัน ไปตามเหตุตามผล ตามอะไรต่ออะไร ตามควร ถึงวาระที่จะอนุโลมปฏิโลมอะไร ก็ว่ากันไป หรือ แม้แต่ว่าบางครั้งบางคราว มันไม่ยอม ก็ให้รู้ว่ามันไม่ยอม มันก็แต่คนเราจะรับได้นะ คนเรานี่ เป็นผู้ที่มี สัมปชัญญะธรรมดาๆ ที่จะรับรู้ และรับได้ว่า อ้อ...เขาเป็นอย่างนี้ๆน่ะ เขาดื้อด้าน ดื้อดึงเอาแต่ใจตัว อะไรนี่เราก็จะรู้ แต่มันไม่ถึงกับเรียกว่า อยู่ในภพที่เรียกว่าไม่รับ เหมือนกับ คนที่ไม่มีพิษ ไม่มีภัยๆ ไม่มีฤทธิ์ ไม่มีแรงอะไรกับคนอื่นหรอกน่ะ แต่ว่าตัวเอง กลายเป็นคนที่ อยู่ในของตัวเองเท่านั้น

พวกเรานี่ ถ้ามีอะไรอย่าไปให้มันหมกมุ่น อยู่แค่ในของตัวเอง มีอะไรจะพูดจะจา จะเปิดจะเผย ปรึกษาหารือเพื่อนฝูงอะไรก็ปรึกษาหารือ ถ้าเก็บๆกดๆกักๆ หนักเข้าแล้วประเดี๋ยว มันก็จะอย่างนั้นแหละ มันต้องใช้ภาวะที่รุนแรง ที่จะกดเก็บๆกักๆ กดหนักๆๆๆเข้า ก็ไอ้ภาวะ ที่กัก เก็บ หนักๆนั่นแหละ มันเป็นรั้วที่แรงกั้น เสร็จแล้วก็เลยไม่มีครอบรั้วนั่นเลย ไอ้ภาวะ ที่จะเอา สัมปชัญญะนั่นมารับกับผู้อื่น มารับข้างนอกกับผู้อื่นไม่มีแรง เพราะฉะนั้น รับผู้อื่น ไม่ติด เบลอ ผู้อื่นเขาจะว่าอย่างไร ก็แว่วๆๆเหมือนคนละเมอๆน่ะ แว่วๆ แต่ไม่ได้รับเข้าไปได้เลย เพราะว่า ภาวะที่จะรับ สัมปชัญญะที่จะออกมารับกับอันอื่นข้างนอกนั้น ไม่มีแรงพอ เพราะอำนาจ ที่เราไปสั่งสมความตีกรอบอยู่ในภพของเรา ให้มากๆๆ จนกระทั่ง กรอบที่เราตี ให้ตัวเองนั้นแข็งๆ จนตัวเอง ส่งสัมปชัญญะสำนึก ออกไปสู่นอก ไปสู่สามัญ ไปสู่กับคนอื่น ข้างนอกเขาไม่ได้ ไม่ได้ก็เลยอยู่แต่ในภพของตัวเอง เบลอ สัมพันธ์กับคนอื่นไม่ติด คนอื่น จะเป็นอย่างไร ก็เอามาคำนวณ เอามาประมาณ เอามารับรูป รับสัมผัสอะไรต่ออะไร ผสมผสาน ไปกับเขา ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้เรื่อง กลายเป็นไปไหนมา สามวาสองศอก ไม่รับผล รับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เบลอๆ เป็นคนไม่มีสามัญสำนึก ไม่มีสำนึกตามปกติธรรมดาธรรมชาติ ของคนนะ

เรามีอะไรกันในที่นี้ เรามีอะไรก็ควรจะปรึกษาหารือ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มีอะไร ในนัยของเรานี่ เอามาเปิดเผยหมด นั่นก็โป๊เกินไป มีอะไรก็เอามาพูด มาเปิด ถ้าไม่เปิดแล้ว เป็นคนไม่จริงใจว่า แน่ะ มีอย่างนี้อีก ว้าแล้วกัน บางสิ่งบางอย่าง ก็ไม่จำเป็นจะต้องเอามา เปิดเผย โป๊ไปเสียหมด ยิ่งอะไรไม่อะไรหรอก ความไม่ดีไม่งาม เสียด้วยซ้ำไป หรือแม้แต่เปิดเผย ความดีงาม ของตัวเองก็ตาม ความดีงามของตัวเอง บางที เอามาเปิดเผยไป โป๊ไปที่เดียว ทั้งหมด พรึบพรับๆ อะไรมันก็อวดตัว อวดตน มันก็เบ่งก็ข่ม ก็อวด ก็อ้างน่ะ มันไม่เข้าเรื่อง เข้าราวอะไรหรอก เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีก็มี มีเราก็จำเป็นจะต้องเปิดเผยอะไร ก็เอาไว้

ส่วนเรื่องไม่ดีไม่งามนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะเอามาเปิดเผย เที่ยวได้ประจานตัวเองไป พบกับใคร พูดกับใคร ถ้าเผื่อว่า จะเป็นคนสนิทสนมกันจริงใจ ก็จะต้องควักออกมาเปิดหมด ถ้าไม่เปิด ก็ถือว่า ไม่จริงใจกัน มีอะไรลับลมคมใน มีอะไรซับๆซ่อนๆอยู่ ไม่บอกกัน ไม่อะไรกัน ก็ไม่จำเป็น อะไรนักหนา บางสิ่งบางอย่าง ก็ไม่ต้องไปเปิดไปเผยอะไรหรอก เราจะแก้ไขปรับปรุงอะไร ของเราก็แก้ไข แก้ไขปรับปรุงสิ่งที่มันได้ผิดได้พลาดมาแล้ว ไม่ดีไม่งามมาแล้ว ก็เราก็แก้ไข ปรับปรุงจนได้ เมื่อได้มาแล้วก็ถือว่าเลิกกัน สิ่งไม่ดีไม่งาม ไม่ต้องเปิดเผยก็ได้ ปิดเอาไว้เลย ไม่ต้องบอกใครก็ได้ แต่คนอื่นเขารู้ใครรู้ เราก็ไม่ได้หมายความว่า เราเองจะไปโกหก ใครเขารู้ เขาก็รู้ ใครเขาจะเอามาพูดว่า อดีตเป็นอย่างนั้น อดีตเป็นอย่างนี้ อดีตเป็นอย่างโน้น ก็ไม่เป็นไร แต่ไม่จำเป็นเราจะต้อง ไปเปิดเผย ไปประจานตัวเองอะไร

ข้อสำคัญ เราจงหยุดทำสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่งาม สิ่งที่ไม่เข้าท่าอันนั้นน่ะ สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ไม่เข้าเรื่อง เข้าราวอะไร ที่เรารู้แล้วเราก็เลิกให้เด็ดขาดจริงจังก็แล้วกัน เลิกได้ แล้วก็เรียกว่าจบ สำหรับเรา ไม่ต้องพูดถึงอีกก็ได้ แต่จะพูดถึงอีก ถ้าเป็นสมเหมาะสมควรที่จะเอามาพูด มาเป็นประโยชน์ อย่างอาตมาเคยควักไอ้สิ่งไม่ดีไม่งาม ของตัวเองอะไรออกมาพูด มาบอก พวกเรา มาเล่าอะไรให้ฟังนี่ ได้ฟังกันไปอย่างนั้นน่ะ ก็เป็นเรื่องเป็นราว เป็นประโยชน์นะ เป็นองค์ประกอบ ที่มันสมเหมาะสมควร ถ้าไม่สมเหมาะสมควร ก็ไม่จำเป็นจะต้องเอามาพูด

นี่ก็ระวังๆหน่อย พวกบอกว่ามีอะไรก็เปิดเผยกัน ปรึกษาหารือกัน มีอะไรก็จะเอามาเทกระบะ ทะลักทะเล แหม ไม่เข้าเรื่องเข้าราวเลย เดี๋ยวก็ยุ่งกันใหญ่ ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร แต่ละคนๆ มันก็ถือสากันก็มี นะเอา...คือเรียกว่า ดูถูกดูแคลนอะไรกันอย่างนี้เป็นต้น พอไม่รู้จักประมาณ ไม่รู้จักอะไรต่ออะไร พอเห็นคนนั้นคนนี้ เขาเอามาเล่าให้ฟัง ก็เลยดูถูกดูแคลน ย่ำยีอะไรเขาไป เอาเรื่องเก่า เรื่องอดีตอะไรมา ทั้งๆที่เขาไม่ได้เป็นแล้ว ตอนนี้เขาก็เลิกก็ละแล้ว ไม่ทำอย่างนั้น อีกแล้ว อย่างดีงามไปแล้วด้วยซ้ำ

คนเรามันผิด มันชั่วมาก่อนทั้งนั้นแหละ ผิดชั่วมาแล้วก็เออ...มันก็เป็นจุดด่าง จุดพร้อย เป็นวิบาก ของเราไป เป็นตัวที่มันแล้วไปแล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งของวิบาก เมื่อเรารู้แล้ว มันไม่ดี มันไม่งาม เราก็เลิกให้ได้ หยุดให้ได้ เมื่อเลิกได้ หยุดได้แล้ว ก็เป็นอันว่าเรียบร้อย เป็นผู้ที่ได้ ปรับปรุงแก้ไข พระพุทธเจ้าท่านก็สรรเสริญคนที่ทำชั่วแล้ว แล้วก็เลิกชั่วนั้นมาได้ อย่างเด็ดขาด ส่วนผู้ใดไม่ได้ชั่ว ไม่ได้ทำชั่วทำเลวอันใดก็แล้วแต่ เราก็สะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่องไป ก็ไม่ต้อง ไปแปด ไปเปื้อน ไม่ต้องไปลอง ไม่ต้องไปทำชั่วอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนั้นน่ะ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไปเลย ก็ไม่ต้องไปลองไปอะไรหรอก เป็นที่รับรองกันแล้ว รู้กันแล้ว สิ่งไม่ดีไม่งามอันนี้น่ะ ก็รับรอง ชัดเจน แล้วเราก็ไม่ต้องไปทำมัน ก็สะอาดบริสุทธิ์ไปเลยตลอด แต่ไอ้สิ่งที่เราไม่รู้ เราได้ผิด ได้พลาดมา ก็แล้วไปเถอะ มาแก้ไขตัวเอง มาปรับปรุงตัวเอง อย่าไปเป็น อย่าไปมีอีกก็แล้วกัน ให้มันได้ แล้วได้แล้วก็ดีไปเลย เป็นพระอรหันต์เจ้า ได้ผ่านสิ่งชั่วมาก่อนทั้งนั้น เสร็จแล้ว ตั้งแต่เป็นพระอรหันต์ไป ท่านก็จะไม่ทำชั่ว ไม่ทำบาป ไม่ทำไม่ดีไม่งามอะไรอีก ก็อย่างนั้นนะ ธรรมดาเราปรับปรุงตัว ปรับปรุงตน ก็เป็นอย่างนั้น

ทีนี้มาพูดย้ำกันอีกทีว่า ไอ้สิ่งที่กัก กด กักเก็บ ส่งที่ไม่เปิดเผย เมื่อกี้นี้ก็พูดถึงเรื่องว่า จะเปิดมากไป ทีนี้ก็พูดถึงเรื่องว่า จะปิดมากไป ที่นี้ก็พูดถึง ว่าที่ไม่เปิดเผย ก็พึงรู้ว่าอะไร ที่เราพอไว้ใจกับผู้ใด ที่พอจะปรึกษาหารือ จะโอภาปราศัยถึงสิ่งที่มันกดดัน มันไม่ดีไม่งามนั้น หรือว่าสิ่งธรรมดาๆ ก็บอกกัน ปรึกษาหารือผู้ควรปรึกษาหารือกันไป ไม่ใช่มีอะไร ก็ไม่บอกใคร ไม่อยากบอกใคร ไม่กล้าบอกใคร เก็บ กด กัก ไปหมด จะยิ่งอึดอัดอะไรต่ออะไรต่างๆนานา ไม่รู้ผิด ไม่รู้ถูก อย่างไรก็ไม่รู้ ใครจะช่วยแก้ ช่วยไข ช่วยคลาย ช่วยรับ ช่วยเบาภาระ อย่างโน้น อย่างนี้ไปบ้าง ก็ไม่มีใครจะได้รับรู้ด้วยเลย หนักเข้าๆก็อัดอั้น บอกแล้ว ว่าแรงกดแรงกั้น ที่เราทำ เอาไว้นั่นแหละ มันเลยกลายเป็น ตีกรอบของภพให้แก่ตนเอง จนกรอบนั้นแข็ง จนภพนั้นแข็ง จนกระทั่งตัวเอง ไม่มีสิทธิ์ส่งสำนึก หรือสัมปชัญญะออกไปสู่นอกได้ ดังที่กล่าวแล้ว อธิบายไปแล้ว เลยกลายเป็นตนอย่างนี้ หนักเข้า ก็เลยกลายเป็นคน พูดกับข้างนอก เขาไม่รู้เรื่อง แล้วก็ไม่เหมือนคนข้างนอกเขา รับสมมุติกับเขาไม่ได้ ไม่ประสม ประสานอะไรกับเขา ก็เลอะเทอะกันไปหมด ดีที่ว่าพวกเรานี่ ไม่ได้เป็นสายฤาษี ไม่ได้เป็นสายอะไร จึงไม่ค่อยมี ถ้าเป็นสายฤาษี ป่านนี้คงเยอะ

แต่ผู้ที่มานี่น่ะมาหลายคนมาเป็นไอ้พวกเรานี่ มาในพวกเราแล้วมาเป็น หรือเป็นมาจากข้างนอก ส่วนมาก มีเชื้อมาจากข้างนอก หลายผู้หลายคน แล้วมาหายที่นี่ก็หลายคนฯลฯ...

พวกที่มาที่เรานี่ ไม่ได้เป็นง่ายหรอก จะมาเป็นโรคพวกนี้ไม่ต้องหวั่นหวาดอะไรมากเกินไปหรอก ระวัง อย่าไปสั่งสมเหตุปัจจัยก็แล้วกัน ไปเก็บไปกดไปกัก ไปอยู่ในภพ แหม ตีภพอยู่ของฉัน อะไรๆก็กั้น ไม่เอาใครอะไรมากไปนัก ประเดี๋ยวเกิด

มีบอกมาว่า บางคนเกรงว่า ถ้าปฏิบัติเคร่งแล้วจะเพี้ยน แหม ให้มันเคร่งหน่อย เจ้าประคุณเอ๋ย เห็นแต่มันหลวมน่ะ ปัดโถ! มันไม่ได้เป็นไปเพราะปฏิบัติธรรมหรอก ขอยืนยัน ไม่ได้เป็นไป เพราะปฏิบัติเคร่ง อ้อ แล้วไปเห็นว่า คนที่จะเพี้ยน ไม่กินข้าวไม่นอน คนที่เป็นโรคแบบนี้ ไม่กินข้าว ไม่นอนข้างนอก ก็เหมือนกัน มันเป็นอาการของคนเป็นอันนี้แล้ว ไม่ได้เป็นเพราะ ไปตั้งตบะอดข้าว ไม่นอน แล้วจึงจะเป็น ไม่ใช่ ฟังก่อนฟังหลังให้ชัดนะ

คนที่เขาเป็นโรคนี้น่ะ เขาอดข้าว เขาไม่นอนไปตามธรรมดา เขาเป็นแล้ว เขาเป็นโรค สติไม่ค่อยเต็มไปแล้ว สติไม่ค่อยสมบูรณ์เข้าไปแล้ว จึงอดข้าว จึงเป็นตบะ แต่เผื่อคุณตั้งตบะ อดข้าวอะไรนี่ มันไม่เป็นอย่างนี้หรอก มันไม่ใช่เฉพาะคุณไปตั้งตบะอดข้าว อดนอน แล้วก็เป็น ไม่ใช่ เอาเถอะน่าตั้งไปเถอะ ทำไปให้มันเคร่งๆหน่อยเถอะนะ นี่บอกมาให้ไขปัญหาจุดนี้ด้วย ฟังให้เข้าใจดีๆนะ นี่ไขให้ฟังแล้วว่า ตั้งตบะอดข้าว ตั้งตบะอดนอน พอเหมาะพอดี ไมใช่ไปอดนอน จนโหลเหล อะไรอย่างนั้นนะ อย่างนั้นมันอัตตกิลมถานุโยค ก็อดข้าว พอประมาณ รู้จักที่จะทำกัน จะอดนอนก็มีวิธี จะเนสัชชิ มีวิธีดับ วิธีพักอย่างไร ไม่ใช่อดนอน คือ ไม่นอนเลย อย่างนั้นคงเป็นแน่ ไม่ใช่เป็นโรคธรรมดาหรอก ตายเลย มีอย่างหรือ ไม่นอน ได้อย่างไร หรือจะไม่นอน ก็ต้องมีวิธีพักผ่อน พักผ่อนด้วยเนสัชชิ ฌาน เป็นการทำอย่างไร ก็แล้วแต่คุณ อย่างน้อยก็เป็นฌานเนสัชชิ เป็นฌานฤษี ฌานในภพ ฌานข้างในอะไรนี่ หรือ นั่งหลับอะไรก็ตามใจเถอะ ก็ต้องทำอย่างนั้น จะอดนอน จะนอนน้อย อะไรก็ว่ากันไป หรือ จะอดน้ำอดข้าวอะไรก็ว่ากันไป ให้มันพอเหมาะพอดี ไม่ใช่ไม่กินข้าวเลย ไม่มีอาหารอะไร ไปเสริมเลย จะอดลองดูอย่างโน้นอย่างนี้ก็ทำไป

เคร่งได้ ขอยืนยันว่า เคร่งได้ การเคร่งในเรื่องของตบะ อดข้าว อดน้ำ ไม่ได้พาให้เป็น เสร็จแล้ว มีคนเลยเถิด ตั้งข้อสังเกตว่านี่ละ อาตมาพาให้อธิษฐานนี่ พอเริ่มต้นให้อธิษฐานก็เกิดเรื่องเลย ไปกันอีก ปัดโธ่ เอ๋ย แค่อธิษฐาน บอกว่าต่อให้เคร่ง อดข้าวอดน้ำก็ยังไม่เคร่ง เพราะฉะนั้น อธิษฐานอย่าไปห่วงเลย คุณตั้งใจให้ดีก็แล้วกันแต่ละวัน แต่ละคืน ทุกวันๆ พากันอธิษฐานนี่ วางใจ ทางวิญญาณเลยน่ะ เพราะหมอไม่ได้เรียนอย่างนี้เป็นต้น แหม ไม่ใช่เรื่องเล่นน่ะ พวกเรานี่ จะหาว่าไม่ฉลาด ฉลาดน่ะ รู้อะไรต่ออะไร แต่อยู่ในภพของเขา แล้วเขาก็ไม่รับสมมุติ ไม่รู้สมมุติอะไรต่ออะไร ทางโลกเขาจะพูดได้แค่ไหน จะอธิบายได้แค่ไหน จะทำได้แค่ไหน ไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ค่อยรู้เรื่องนะ ...

พวกที่มาที่เรา ไม่ได้เป็นง่ายนักหรอก จะมาเป็นโรคพวกนี้น่ะ ไม่ต้องหวั่นหวาดอะไร เข้าไปมาก เกินไปหรอก ระวังแต่อย่าไปสั่งสม เหตุปัจจัยก็แล้วกัน ไปเก็บ ไปกด ไปกัก ไปอยู่ในภพ แหม ดี ภพอยู่ของฉัน อะไรๆ ก็กันไม่เอาอะไรกับใคร อะไรๆมากเกินไปนัก เดี๋ยวเถอะ มีบอกมาบอกว่า บางคนเกรงว่า ถ้าปฏิบัติเคร่งแล้วจะเพี้ยน แหม...ให้มันเคร่งหน่อยเถอะเจ้าประคุณเอ๋ย มี่แต่มันหลวมน่ะ ปัดโถ มันไม่ได้เป็นไปเพราะปฏิบัติเคร่งหรอก ขอยืนยัน ไม่ได้เป็นไปเพราะ ปฏิบัติเคร่งนะ อ๋อ เราไปเห็นว่า คนที่จะเพี้ยนนี่ เหมือนจะไปกินข้าวแล้วไปนอน คนที่เป็นโรค แบบนี้น่ะ เป็น ไม่กินข้าว ไม่เอนทั้งนั้นแหละ ข้างนอกก็เหมือนกัน

มันเป็นอาการของคนเป็นอันนี้แล้ว ไม่ได้หมายความว่า เป็นเพราะไปตั้งตบะอดข้าว หรือตั้ง ตบะไม่นอนแล้วก็เลยจะเป็น ไม่ใช่ ฟังก่อน ฟังหลังให้ชัดน่ะ คนที่เขาเป็นโรค นี้น่ะ เขาอดข้าว เขาไม่นอนเป็นไปตามธรรมดาเขาเป็นแล้ว เขาเป็นโรคสติ ไม่คอยเต็มไปแล้ว สติไม่ค่อย จะสมบูรณ์เข้าไปแล้วจึงอดข้าว จึงเป็นตบะ แต่ถ้าคุณตั้งตบะอดข้าว อดอะไร มันไม่เป็น อย่างนี้หรอก มันไม่ใช่เพราะเหตุคุณไปอดข้าว ไปตั้งตบะอดนอนแล้วก็เลยเป็น ไม่ใช่ เอาเถอะน่ะ ทำไปให้มันเคร่งๆ หน่อยเถอะนะ เอานี้บอกมาให้ไขปัญหาจุดนี้ด้วย ฟังให้เข้าใจดีๆ น่ะ นี่ไปไขให้ฟังแล้วน่ะ ตั้งตบะอดข้าว ตั้งตบะอดนอน หรือว่าตั้งตบะจะนอน นี่พอบอกพอดี ไม่ใช่ไปอดนอนนี่จะโหลเหลอะไรน่ะ ไอ้อย่างนั้นน่ะ มันอัตตกิลมถานุโยคนะ พออดข้าว พอประมาณ พอรู้อย่างที่เราทำกัน จะอดนอนก็ต้องมีวิธี จะอดนอน จะเนสัชชิ จะมีวิธีหลับ วิธีพักอย่างไร ไม่ใช่อดนอนเลย ไม่นอนเลย ก็คงเป็นแน่ ไม่ใช่เป็นโรคธรรมดาหรอก ตายเลยน่ะ มีอย่างหรือ ไม่อด ไม่นอนเลย ได้อย่างไรนะ

หรือจะไม่นอน ก็ต้องมีระบบวิธีพักผ่อน จะพักผ่อนด้วยเนสัชชิ เป็นฌาน เป็นการทำอย่างไร ก็แล้วแต่คุณซิ อย่างน้อยก็ต้องเป็น ฌานเนสัชชิละ แบบฌานฤาษี แบบฌานข้างในภพน่ะ ฌานข้างในอะไรนี่ หรือนั่งหลับอะไร ก็ตามใจเถอะ คุณก็ต้องทำอย่างนั้นนะ จะนอนจะอดนอน หรือจะนอนน้อยอะไร ก็ว่ากันไปนะ หรือจะอดน้ำ อดข้าวอะไรก็ว่ากันไป ให้มันพอเหมาะพอดี ไม่ใช่ไม่กินข้าวเลย หรือไม่มีอาหารอะไร เข้าไปเสริมเลย จะลด จะอด ลองดูอย่างโน้นอย่างนี้ดู ก็ทำไปเคร่งได้ ขอยืนยันว่าเคร่งได้ การเคร่งในเรื่องของตบะอดข้าวอดน้ำ ไม่ได้พาให้เป็น เสร็จแล้ว ก็มีคนเลยเถิด ไปตั้งข้อสังเกตว่านี่ละ อาตมาพาให้อธิษฐาน นี่พอเริ่มต้นอธิษฐาน เลยเกิดเรื่องเลย ไปกันอีก ปัดโถเอ๋ย...แค่อธิฐาน บอกว่าต่อให้เคร่งอดข้าว อดน้ำก็ยังไม่เป็น เพราะฉะนั้น อธิษฐานอย่าไปห่วงเลย คุณตั้งใจให้ดีก็แล้วกันแหละ วันแต่ละคืน สิ่งใดไม่ดี ไม่งาม เราจะแก้ไขปรับปรุง ก็ตั้งใจให้มันมันดีเถอะ

อธิษฐาน อย่าอธิษฐานบ้าๆบวมๆ ก็แล้วกัน อะไรก็ไม่รู้ อธิษฐานไปเลอะๆเทอะๆ ขอให้เป็น นางฟ้า นางสวรรค์ ขอให้อะไรต่ออะไร เลอะๆ เทอะๆ อะไรอย่างนั้นก็แล้วกัน หรือว่าขอ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ บันดลบันดาล อย่างโน้นอย่างนี้ ไอ้ขอเขอนี่ อะไรไม่เข้าเรื่องเข้าราว อย่าเป็น ก็แล้วกัน รู้จักอธิษฐานให้ถูกต้องก็แล้วกัน อธิษฐานคือ การตั้งจิต ตั้งใจจริงๆ ตั้งใจให้เป็น คนที่จะประพฤติ ปฏิบัติ จะสังวรระวัง จะทำอะไร แต่ละวัน จะเพิ่มหรือจะลด บางทีบางครั้งนี่ มันก็อาจจะต้องเพิ่มต้องลด ไปในทีน่ะ มันไม่แน่นอน เราทำไปแล้ว ลองไปแล้ว เอ เราตั้งนี่ รู้สึกว่า มันหนักไปกับเราน่ะ เราฝืน ไปไม่ไหว ลดมาหน่อย ก็ตั้งใจในแต่ละวันก็ได้ แต่เหลาะๆ แหละๆ ไม่มั่นไม่คง แต่ละวัน ก็เปลี่ยนไปหมด อธิษฐานแต่ละวัน ก็ไม่เหมือนกันเลย ลดไป ยืดไป หดไปมาก เพิ่มไปอยู่ ตลอดทุกวัน ก็เละเหมือนกัน อย่างนั้น มันก็ไม่เข้าท่าเข้าทางอะไร ก็ต้องให้มันมั่นคงบ้าง มีความแข็งแรง ของจิตใจบ้างว่า เราจะตั้งอย่างไร ก็ตั้งให้มันดีนะ ตั้งใจว่า จะทำก็ให้มันรู้สึกว่า เราเป็นผู้ที่มีสัจจะ หรือมีความแข็งแรง มีความมั่นคง ในการกระทำ ถ้ามันเหลือวิสัย หรือ มันไม่หวาด ไม่ไหวจริงๆ ก็ค่อยๆ ผ่อนคลาย หรือ มันน้อยไป เราก็จะรู้ตัวว่า เออ อย่างนี้มันน้อย และมันง่ายไป และเรารู้สึกว่าจะเพิ่มภูมิเพิ่มตบะ เพิ่มอธิ อธิศีล อธิกรรมฐาน อะไรที่จะเพิ่มขึ้น ไปได้มากกว่านี้อีกสักหน่อยก็เอา ก็ทำเอาของแต่ละผู้ แต่ละคน แล้วมันก็จะพากันเจริญ พาเราพัฒนา ก้าวหน้าไปนะ

อาตมาอยากจะถามนะว่า พวกเรานี่ที่ปฏิบัติหลักของโพธิปักขิยธรรมที่ว่านี้ จะต้องมีสตินำ เมื่อวานนี้ มีคนมาถามอาตมา อาตมาก็ได้คิดอย่างหนึ่งเหมือนกันว่า เออ...จริงนี่นา เราก็พูดๆๆ แต่ไม่ได้เน้น เข้าไปตีเปลาะนี้ทีหนึ่ง เขามาถามว่า เอาแต่สติตัวเดียวนี่ ไปรอดไหมครับ ปฏิบัติธรรมนี่ เขาว่าอย่างนั้น อาตมาก็บอกว่า มันไปไม่รอดหรอก งมงายกันอยู่ทั่วไป เยอะแยะเลยนี่ ดีแต่ว่า มีสติอย่างเดียว มีสติๆๆเดี๋ยวก็ปัญญานำเอง แล้วก็มีปัญญาปลอดโปร่ง แล้วก็ไปเอง อาตมาบอกทุกวันนี้ แม้แต่สติสัมโพชฌงค์ เขายังไม่รู้เลยว่า ต่างกันกับ สติธรรมดาอย่างไร สติสัมโพชฌงค์ มันจะต้องเป็นตัวสติที่อยู่ในหลักโพธิปักขิยธรรม เพราะในโพธิปักขิยธรรม ต้องมีโพชฌงค์เป็นหลักตัวหนึ่งใช่ไหม เป็นทฤษฎีหนึ่ง อยู่ในโพธิปักขิยธรรม

สติต้องเป็นสติสัมโพชฌงค์ เป็นสติปัฏฐาน ๔ ก็คือสติที่เป็น สติสัมโพชฌงค์ นั่นแหละ เริ่มต้นเป็นสติปัฏฐาน ๔ ก็สตินั้น จะต้องอยู่ในคุณภาพของความเป็น สติสัมโพชฌงค์ เป็นสติ ที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นสติที่จะต้องรู้ มีธัมมวิจัย บอกแล้ว สติสัมโพชฌงค์ คือสติที่ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เมื่อรู้แล้วเราก็ต้องมีธัมมวิจัยด้วย ธัมมวิจัยอะไร วิจัยว่าเราเอง เราตลอดเวลา กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี้ เราจะรอบรู้ รู้ตัวว่า เราคิดอย่างไร เราพูดอย่างไร เราทำอย่างไร องค์ประกอบ เรียกว่ากาโย องค์ประชุม องค์ประกอบของมัน ไม่ว่าจะเป็นอะไร ที่เกี่ยวข้องอยู่ เป็นวัตถุนอกก็แล้วแต่ ประกอบอยู่นอก ก็ยังเป็นกายใหญ่ๆ ตัวเรานี้มีกรรมกิริยา ก็เรียกว่ากาย องค์ประกอบของกายกรรม วจีกรรม มโน...มันถึงในมโนด้วยนะ ก็เอามาเกี่ยวข้องกัน ก็เรียกว่า กาย เสร็จแล้วซ้อนลงไป ก็มีเวทนา มีวิจัยๆ เวทนาด้วย ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิจัย อาการ ลิงคะ นิมิตของเวทนาได้ เรียกว่า เป็นปรมัตถ์ รู้จิต เจตสิก เวทนานี้เป็นเจตสิกแล้ว รู้จิตในจิตเข้าไปอีก รู้เจตสิก รู้เวทนา เจตสิกว่าเป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา แล้วสามารถวิจัยสัมโพชฌงค์ ก็หมายความว่า องค์แห่งการตรัสรู้ จะรู้ถึงขั้นว่า เวทนาที่เป็นสุขนั้นน่ะ สุขอย่างโลกีย์ เป็นอย่างไร สุขอย่างโลกีย์ นี่โลกียสุขนี่ ตอนนี้เรากำลังกินข้าว กำลังอร่อย แหม มันอร่อยเลย แล้วไม่รู้ตัวว่า เราจะต้องลดละ ไม่รู้ตัวเลยว่า เราจะต้องปล่อย คลาย จะต้องพิจารณา หรือ จะต้องกดข่ม เปลี่ยนแปลงจิตใจ ไม่ไปหลงใหลได้ปลื้ม กับรสอร่อยโลกียะอย่างนั้น เป็นโลกียรส อย่างนั้น เปลี่ยนมา ให้มันจางคลาย หน่าย อย่าไปหลงยินดี ยินร้าย อย่าไปหลงอะไรต่ออะไร อย่างนั้นนะ ในโลกียรส เราจะเปลี่ยนมาให้เป็นธรรมรส โดยที่ไม่ไปติดใจดูดดื่ม ทั้งผลักทั้งดูด นั่นแหละ ในรสของโลกีย์ บางทีเราไม่ชอบ แหม อันนี้เราไม่ติดใจเลย เราไม่อยาก มันชัง เราก็ต้องรับประทาน มันเป็นธาตุที่ดี มันเป็นอาหารที่ควรกิน ก็กินเข้าไป ทั้งๆที่มัน ไม่เคยอุปาทานชอบ มันไม่ชอบเสียด้วยซ้ำ ก็ต้องกิน

เพราะฉะนั้น ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์นั้น เราวิจัยถึงกระทั่งอาการลิงคะ นิมิตร เวทนา ที่เป็น สุขโลกีย์ แล้วปรับปรุงจากสุขโลกีย์นั่นแหละ ให้มันลดถอยไป จนกระทั่งถึงสงบระงับ นั่นแหละ มันถึงจะเป็นวูปสโมสุข จะเรียกว่าสุขโลกุตระก็ได้ เป็นวูปสโมสุข แล้วสุดทาง ปฏิบัติธรรม คือสงบระงับจากรสโลกีย์หรือสงบระงับจากกิเลสที่ผลัก ที่ดูด ที่ชอบ ที่ชัง นี่เราก็ต้องรู้ เวทนาในเวทนา อย่างนี้มีธัมมวิจัยจริงๆ เลย อาการ ลิงคะ นิมิต เครื่องหมายรู้ รู้ว่ามันเป็น อย่างไร ในอาการจิตใจของเรา มันเป็นอย่างไร รู้อาการนั้น เข้าใจอาการนั้น อ่านออกเลย ยิ่งชัด เท่าไหร่ ยิ่งไม่มีวิจิกิจฉาเท่าไหร่ยิ่งดีใหญ่ แล้วเราก็พากเพียร มีวิริยะสัมโพชฌงค์ พากเพียร ให้มันเกิดการพากเพียรปฏิบัติ ให้มันเกิดผลเกิดมรรค เกิดผลๆๆนั่นแหละ เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ นี่คือ สติสัมโพชฌงค์ จะประกอบไปด้วยธัมมวิจัยและวิริยะ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์อย่างนี้ เกิดผลดีผลได้ขึ้นมา ก็เรียกว่า ปีติสัมโพชฌงค์

แม้มันจะมีอาการฟูใจ ได้ดี แล้วก็เลยยินดีของเรานั้น ดีในทางปฏิบัติธรรมด้วย เป็นโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นผลของการปฏิบัติธรรม แล้วเราก็ได้ดี ได้ดีแล้ว เราก็ฟูใจในดีนั้น เอาละมันเป็นอุปกิเลสซ้อนลงไปอีกก็ให้รู้กัน แล้วค่อยลด ค่อยลดปีติ ที่เป็นอุปกิเลสนั้น อีกทีหนึ่ง ถ้าลดได้อีกก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ลดปีติได้ นั่นแหละคือ เข้าหาฌาน วิธีของฌาน ฌานก็ลดปีติ ลดสุข สุขที่เป็นวูปสโมสุขนี่แหละ แม้เป็นวูปสโมสุขก็ ไม่ต้องไปหลงใหลได้ปลื้มอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปดี๊ด๊า ยินดีฟู่ฟ่าอยู่เป็นรสซ้อน ไม่ใช่รสอร่อย ของโลกีย์ แต่เป็นรสอร่อยของโลกุตระ เป็นรสอร่อยของมรรค ผลน่ะ เป็นรสอร่อยของธรรมะ ที่เราได้ พอได้แล้วมันซ้อนอีก เขาเรียกอุปกิเลส เป็นกิเลสซ้อนไปอีกทีหนึ่ง เราลดได้อีก มันเป็นปัสสัทธิ ก็เป็นสัมโพชฌงค์ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีก กับลดปีติ ลดสุข ที่เป็นวูปสโมสุขนี่แหละ จะเรียกว่า ลดปีติก็ได้ จะเรียกว่าลดสุขก็ได้ ลดสุขก็คือวูปสโมสุข ลดอาการของจิต เป็นปัสสัทธิก็ได้ เป็นความสงบ ในความสงบในระดับวูปสโมสุข นี่คือสุข เพราะสงบ สงบจากกิเลสน่ะ เราก็ไม่หลงใหลไปติดอยู่ในปัสสัทธิธาตุ ธาตุที่สงบ ธาตุที่ระงับ นี้ว่าเป็นเราเป็นของอีก นี่มันซ้อนเข้าไปเรื่อยๆ ลึกเข้าไปเรื่อยๆ เป็นสัมโพชฌงค์ เป็นสมาธิ ที่ตั้งมั่น แข็งแรงเข้าไปจนกระทั่งถึงอุเบกขา

จนกระทั่งวางปล่อยได้เฉย ไม่มี ไม่ติดแค่ปีติ ไม่ติดแค่ปัสสัทธิ เป็นอุเบกขา ก็สุดสูงไปอีก แม้อุเบกขานั้น เป็นคุณค่าเสียสละสร้างสรรค์มีความสงบระงับ วางเฉยได้จริง แล้วก็ไม่หลงใหล อันนี้เป็นเรา เป็นของเราจริงๆอีก นี่มันซ้อนเข้าไป ซ้อนกันไปตั้งเท่าไหร่ เวทนาในเวทนา เป็นอุเบกขาเวทนาโน่นแน่ะ จิตก็เจโตปริยญาณ ๑๖ อาตมาก็สอนแล้วสอนเล่า ให้รู้อาการต่างๆ ของมัน ลงไป พิจารณาเจโตปริยญาณ ๑๖ ให้เห็นชัดว่ามีสภาวะอย่างไร อย่างไรเรียกว่าราคมูล อย่างเรียกว่าโทสมูล อย่างไรเรียกว่าโมหมูล อย่างไรเรียกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่นี่หมายความว่า เรากำลัง ผลักทิศทางไปในทางที่จะลด ลดราคะ ลดโทสะ ลดโมหะ ลดลงไปทิศทางที่เราทำอาการ ให้มันอ่อน จางบางคลายลงไปนั่นแหละ เรียกว่า อราคะ อโทสะ อโมหะ ถูกแล้วนะ เรากำลังทำอยู่นี้ถูกแล้ว ว่าทิศทางนี้มันกำลังลด กำลังไม่ให้มีๆแม้จะยังมี แต่ว่ามันน้อยลงๆได้ ก็เรียกว่าจางคลาย ทำอนิจจัง ทำวิราคะลงไปเรื่อยๆ เราเรียกว่า ถูกทิศของอริยะแล้ว ถูกทางมรรคผลแล้ว เกิดมรรคเกิดผลแล้วเดินสู่ทางเจริญ สุคโตที่แท้จริงหรือสุคติ ที่แท้จริง

นี่เราจะต้องรู้แจ้งด้วยปัญญา ปัญญาชัดเจน ทำได้ดี ทำได้บ่อยๆมันก็ยังหนัก ยังหนาอยู่ เป็นสังขิตตะ เป็นวิขิตตะ เราก็รู้ สังขิตตะอย่างไร วิขิตตะ อย่างไร ก็อธิบายจนกระทั่ง ปากเปียก ปากแฉะ ลดไปได้อีก ลดไปเรื่อยๆ มันได้ดีขนาดไหนก็แล้วแต่ให้มันเจริญขึ้น อย่าให้มันติด อยู่แค่เก่า เจริญยิ่งขึ้นๆ ก็เรียกว่า มหัคคตะจิต จิตเจริญขึ้น สูงขึ้น เลื่อนขึ้น ถ้าไม่แลื่อน ไม่สูงขึ้น ก็คือ อมหัคคตะ รู้ตัวว่ามันไม่เจริญ มันอยู่อย่างเก่าหรือมันเสื่อมด้วยซ้ำ อมหัคคตะ ก็ให้มันรู้ว่า ไม่เจริญ ในเสื่อมกว่าเก่าด้วย ตรวจตราจริงๆ ปฏิบัติจริงๆ รู้ตน รู้ตัวให้จริง อย่างนี้ โดยเฉพาะ รู้ภาวะของจิต ซึ่งเป็นปรมัตถ์สัจจะ ปรมัตถธรรม รู้สภาวะของจิตอย่างนั้นจริงๆเลย แล้วก็ปฏิบัติ พากเพียรแก้ไข จนเป็นมหัคคตะจิตดีๆๆๆ จนดีเห็น โอ้โฮ จิตเราเจริญดีเป็น สอุตตรจิต ดี...โอ้โฮ ดีขึ้นอย่างน่าพอใจ ดีขึ้นมากทีเดียว แต่มันยังมีดีกว่านี้อีก สอุตตรจิต นี้เป็นจิตที่ดี แต่ดีกว่านี้ยังมีอีก ซึ่งเรารู้ๆอยู่ในตัวเรานี่ ว่ามันดีกว่านี้ยังมีอีก น่ะนี่ นี่มันยัง ไม่ดีสุดหรอก แต่ดี ดีขึ้นมาอย่างน่าพอใจทีเดียวนา อาจจะนับเนื่อง สอุตตรจิตนี่ถึงระดับ อนาคมีก็ได้ เป็นจิตอนาคามิจิต เป็นจิตระดับอนาคามี จะดีขึ้นจนกระทั่งเหลือถึง สังโยชน์เบื้องสูง แค่รูปราคะ อรูปราคะ หรือเป็นมานะ

ส่วนที่ไม่ใช่มานะหยาบด้วยน่ะ ไม่ใช่มานะที่กระด้างๆ อย่างต่ำๆ หยาบๆด้วย เป็นมานะบ้าง พอรู้ตัว เพราะได้ฝึกฝนมาเป็นขั้น เป็นตอน มามากแล้ว แล้วเราก็ลดละ ส่วนอุปกิเลส เหล่านั้นอีก ลดละอีก สอุตตรจิตนี้ ไม่ให้มี สอุตตรจิต จนกระทั่ง ตั้งมั่นแข็งแรง เป็นประโยชน์ คุณค่า ยิ่งไม่เห็นแก่ตัวชัดเจนแล้ว ก็เป็นประโยชน์ ต่อผู้อื่น สมาหิตจิตแปลว่าแข็งแรง หรือ สมาหิตะ สมาธิอย่างสมาหิตะนี่ สมาธิ ที่เป็นสมาธิที่มีประโยชน์คุณค่า มีศีลก็มีคุณค่าต่อผู้อื่น มีจิตที่เป็นสมาธิก็เป็นฌาน ก็เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น มีจิตที่ได้ละลดกิเลสลงไป ไม่ใช่ว่าละลด กิเลสลงไปแบบฤาษี ตนเอง ละลดกิเลส อย่างวิธีของฤาษีแล้ว ไม่ได้ประโยชน์ของคนอื่นเลย ไม่ใช่ เป็นสมาธิที่ลืมตา มีประโยชน์ต่อผู้อื่น รู้จักสิ่งแวดล้อม รู้จักการงาน มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ มีอาชีพ มีการงาน สร้างสรร เรามีความเห็นแก่ตัว น้อยลงจริงๆ เป็นสมาหิตจิต จนละเอียดลออ แม้กระทั่งวิมุติอวิมุตก็รู้ว่า มันมีเศษส่วนที่เหลือ มันมีจรไป จรเข้ามา อะไรต่างๆนานา เป็นอวิมุติจรก็รู้ว่าอวิมุติจร ไม่มีเลยแม้กระทั่ง อวิมุติจร ก็รู้ได้ว่า โอ นี่วิมุติแท้แล้ว ยั่งยืนแล้ว แน่นอนแล้วเที่ยงไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรปรวนอีกแล้ว เป็นวิมุติอัน ถาวร ปีหนึ่ง ๒ ปี ๕ ปี ๘ ปี ก็ไว้ใจได้ หรือหลายๆปีเข้า ๒ ปี ๓ ปี... แวบวาบ แหม ผิวผ่านมา สักวาบหนึ่ง เป็นอวิมุติน้อยๆ เป็นรูป เป็นยิ่งกว่าอรูปน่ะ รอนๆไรๆน่ะมานิดๆมี ก็อาจจะเป็นได้ เหมือนส่วนเศษ ที่มันกระเพื่อมลอยอะไร เราก็พยายามรู้ว่า เออ นึกว่า สะอาดแล้วหนอ มันยังมีอะไร วาบมานิดอะไรอย่างนี้ เป็นต้น อาจจะเป็นได้บางคน

บางคนอาจจะวิมุติชัดเจนแล้วก็ไม่มีอะไรผ่านมาอีกเลย อวิมุติจรอะไรก็ไม่มีอีกเลยก็ได้ แต่แม้แค่ อวิมุติจร ผ่านก็แค่นั้นแหละ ของใครก็รู้ของใคร ของตัวของตน ความจริงตามความเป็นจริง ว่าเออ มันยังมีแวบวาบ ยังมีอวิมุตินี้เป็นได้ ก็รู้ตัวเองเท่านั้นเอง ด้วยความแข็งแรง มั่นคง ตั้งมั่น ตั้งแต่ สมาหิตะ สมาธิอันวิเศษมันก็มีแล้ว แข็งแรงแล้วในระดับคนที่มีภูมิธรรมระดับนี้แล้ว นา เออ มันไม่ต้อง ตัวเองก็จะรู้ตัวเองว่า เราไม่น่ากังวลใจ เป็นแต่เพียงว่า ถ้าจะเสียใจก็เสียตรงที่ว่า หากเรา ไม่สมบูรณ์ด้วยสมาหิตะหรืออวิมุติ เราก็ต้องตรวจตราอยู่เรื่อยๆเท่านั้นเอง แล้วก็ปรับปรุง แม้แต่เศษธุลีอันมีประมาณน้อย จะน้อยเท่าไหร่เราก็ไม่ประมาท เราจะเอา ให้สะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่องสมบูรณ์อย่างไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่มีอะไรหลงเหลือ ไม่มีอะไรเหลือ ทั้งๆที่ไม่หลงแหละ ไม่ให้เหลือเลย สะอาดหมดจดอย่างแท้จริง คุณก็สั่งสมประพฤติปฏิบัติ กระทำเอา

นี่จิตในจิตก็เป็นอย่างนั้น ธรรมในธรรม ก็ไม่ต้องพูดถึงละ ก็ต้องรู้ธรรมะทั้งหลาย ทั้งปวง ตั้งแต่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ ก็ต้องรู้หมดน่ะ ในองค์ธรรม เหล่านั้น ในลักษณะของสภาวะธรรมเหล่านั้น นิวรณ์ ๕ เป็นอย่างไร ขันธ์ ๕ มีอะไรบ้าง ถ้ามีอุปาทานขันธ์ ๕ ด้วยมีอะไรบ้าง ละ ขันธ์ ๕ แล้วก็มีอุปาทาน เราเอาแต่อุปาทานนั้นออก ขันธ์ ๕ มันยังอาศัยอยู่ ก็อาศัยไปด้วยในขณะที่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นขันธ์ ๕ แล้วจะไปทำลายมัน เสียก่อน รูปก็เอาไปเผา เวทนาก็ไปฆ่าแกงมัน อย่างไร ไม่รับเวทนาเลย เวทนาทางหูก็เอา เหล็กแหลมมาทะลวงหูพัง ตามันเป็นรูป ก็เอาอะไรมา ทะลวงตา ให้มันบอดอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่ เราอาศัยก็อาศัยขันธ์ ๕ คือขันธ์ ๕ ที่ไม่มีอุปาทาน อย่างไร เพราะฉะนั้น รู้ว่ามีอุปาทานขันธ์ ๕ ก็เอาออก มีนิวรณ์ ๕ เอาออก มีอุปาทานอยู่ในขันธ์ ๕ ก็เอาออก จนมีขันธ์ ๕ บริสุทธิ์ หรือมีอายตนะ ๖ ที่เป็นไปด้วยความหลงใหลติดยึดอยู่ ก็รู้ว่า มีอายตนะ ๖ อย่างที่ยังเป็นทาส

แต่ถ้าเป็นอายตนะ ๖ แท้ๆ ก็เราดีแล้วก็ เออ มันก็เป็น องค์ประกอบหนึ่ง ของมนุษย์ เป็นองคาพยพ ของชีวิต มีอายตนะ แต่ไม่ใช่ไปมีกิเลสอะไร อยู่ในอายตนะเหล่านั้น ไม่ว่าจะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อย่างไรๆ อายตนะเราก็รับมาจาก ทวาร ก็เข้าไปเป็น อายตนะรับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นั้นๆ โดยไม่ได้หลง ให้มีสังขารธรรม ที่เป็นกิเลส เข้ามาบำเรอตนเลย จึงเรียกว่าเป็นอายตนะ ๖ จริงๆ ที่บริสุทธิ์ เป็นตัวกลาง อายตนะ ๖ นี่ โพชฌงค์ ๗ ใช่ไหม โพชฌงค์ ๗ แล้วก็อริยสัจ ๔ อ้าโพชฌงค์ ๗ ก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะพูดไปแล้ว อริยสัจ ๔ ก็เป็นหลักใหญ่เลย รู้ทุกข์อย่างชัดเจน รู้เหตุแห่งทุกข์ คือตัณหา ทั้งหลาย ดับได้สนิทเป็นนิโรธจริงๆ จนกระทั่งรู้จักมรรค ทางประกอบ ทางประพฤติปฏิบัติ อันเอก อันยิ่ง อันยอด มรรคองค์แปด อริยสัจ ๔ ก็ทำอยู่โดยจริงนั่นแหละ อธิบายไปไหน ก็ไม่ได้นอกไปกว่าอริยสัจ ๔ หรอก ที่อาตมาพูดอยู่เสมอๆๆ ตลอดเวลา ไม่ได้นอก ไปกว่าอริยสัจ ๔ เลย ไม่ได้นอกไปกว่าเลย ขอยืนยัน จะพูดบางทีพูดอดีต อนาคต พูดโน่นพูดนี่ อะไรต่ออะไร อีกตั้งมาก ตั้งมาย เอามาประกอบ แม้แต่เป็นวัตถุ

ดีไม่ดี พูดไปถึงนอกโลกโน่นแน่ ถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์อะไรโน่นแน่ พระพุทธเจ้า ท่านก็ตรัส ตรัสถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์ เหมือนกัน พูดไปนอกโลกโน่นแน่ สมัยพระพุทธเจ้า ไม่มีดาวเทียม อาตมาพูดถึงดาวเทียมโน่นแน่ อา...พูดถึงอะไรต่ออะไรที่มันมีสมัยใหม่นี่ เอามาพูดประกอบ ก็พูดได้ๆ เอามาโยงไยให้เข้าใจ ให้เห็นว่า มันน่าได้น่ามีน่าเป็นหรือไม่ น่าหลงใหลหรือไม่ หรือว่าไม่ต้องเกี่ยวต้องข้องก็ได้ หรือว่าต้องเกี่ยวต้องข้องด้วย ถึงกาละ ถึงโอกาส ถึงฐานะที่ควรจะเกี่ยวข้อง ก็เกี่ยวข้องไป เกี่ยวข้องอย่างอยู่เหนือ เกี่ยวข้องอย่าง ที่เรียกว่า เราไม่ได้ไปหลงใหลได้ปลื้มกับสิ่งนั้นเลยจริงๆ ก็ให้รู้จริง ก็เราสามารถที่จะทำ ได้โดย ... สัมพันธ์ สัมผัส กับสิ่งนั้นจริงๆ แต่ไม่มีกิเลสอะไรของเราที่จะไปสัมพัทธ ไม่มีอาการของกิเลส จนกระทั่ง ไปเกี่ยวข้องแล้วไปปรุงร่วมแล้ว ก็เกิดอาการของกิเลส เป็นส่วน เป็นแรง เป็นลักษณะ อาการ เป็นสภาพที่เกิดลักษณะที่ไม่ดี ลักษณะที่เป็นกิเลสซ้อน จะบางเบาหรือว่าหยาบอย่างไร เราก็ต้องเรียนรู้ของจริง พวกนี้ให้จริงนา

อาตมาพูดไปนี่ก็ฟังเป็นภาษา เป็นทฤษฎีเป็นวิธีการที่จะเอามาปฏิบัติ ฟังดีๆ แล้วเอาไปปฏิบัติ ให้เป็น ให้ถูกในตัวเรานี่ แต่ละวันๆ เรามาปฏิบัติประพฤติ ทุกวันนี้เรามีองค์ประกอบ ที่ทำงาน ทำการ มีการคิด มีการทำการงาน มีการทำเป็นอาชีพ แล้วพวกเรานี้ก็มีอาชีพที่เป็นอาชีพที่ เหนือขั้นเลย เป็นสัมมาอาชีพ หรือว่าพ้นมิจฉาชีพแล้วในระดับชั้นสูงเลย เป็นคนโลกุตรบุคคล ในแวดวงของคนพวกเรานี่ มีโลกุตรบุคคลในระดับสัมมาอาชีพขั้นเข้มข้น คือทำงานฟรี ทำงาน ไม่มีรายได้เลยนะ นี่เป็นสัมมาอาชีพที่พ้นมิจฉาชีพข้อที่ ๕ ลาเภนะ ลาภัง นิชิคิงสนตา ไม่มอบตน ในทางผิด เพราะว่าเราอยู่กับหมู่กับกลุ่มของพวกเรา มีการงานอะไรก็เห็นเป็นกุศล ไปทั้งนั้น ไม่ได้ทำงานอะไรเลยที่ไปเบียดบัง ไปเที่ยวได้เอาเปรียบเอารัดไปเป็นบาป ไปเป็นหนี้ อะไรใครเลย เราทำอยู่ในนี้ มีแต่งานการที่เป็นบุญ ใครก็ได้ส่วนบุญ เราก็ร่วมกันไป ได้ส่วนบุญ ด้วยกัน ไม่ใช่ไปแบ่งเอาของเขามานะ ถ้าคุณไม่ทำ คุณอยู่ในที่นี้คุณไม่ได้ทำอะไรกับเขาเลย อยู่ในนี้ กรรมกิริยาของคุณก็ไม่ได้มาร่วมสร้าง ร่วมสรรอะไร แต่ถ้าคุณได้ร่วมสร้างร่วมสรร แม้จะต่อจะเนื่องกันเป็นระดับไหนก็แล้วแต่ คุณก็ได้ร่วมส่วนบุญนั้นด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า ไปแบ่งเอาส่วนบุญของเขานา มันเป็นของของคุณเอง คุณร่วมส่วนบุญก็เพราะว่า คุณได้ช่วยทำ ช่วยคิด ช่วยสร้าง ช่วยออกแรง ออกทุน ออกอะไรต่ออะไร ออกซึ่งเป็นสิทธิของคุณ เป็นส่วนของคุณ เป็นสมบัติของคุณ แล้วคุณก็ได้เอาสิ่งนี้แหละลงมือ ลงทุน ลงแรง กับอันนี้ ช่วยไปเลย ด้วยการรังสรรค์ คุณก็เป็นคนได้ด้วย แต่ละคนๆก็ได้บุญนั้นด้วย

นี่เรียกว่า เราอยู่ร่วมกันนี่ พวกเรานี่เป็นอาชีพที่ทำบุญ สร้างบุญไป แต่ละวันก็มีอยู่ มีกินกันไป เราทำงาน ทำการสร้างสรรขนาดนี้ เสร็จแล้วเราก็อาศัยนะ อาศัยอาหารกินวันละมื้อ อาศัยน้ำ อาศัยไฟใช้ในนี้ อาศัยอะไรต่ออะไร แม้แต่ที่หลับที่นอน แม้แต่โน่นแต่นี่ เราก็อาศัย ถ้าจะคิด เป็นค่าเอาเป็นราคาเงินในโลก มันก็เป็นได้ แต่เราอาศัยนี่คุ้ม คุ้มเพราะว่าเราสร้างสรรทำงาน ไปวันหนึ่งๆ คุ้มเราทำได้มาก ถ้าตีเป็นราคาแล้ว มากเกินกว่าที่เรากินเราใช้เราอาศัย ด้วยซ้ำ เราก็ไม่เป็นหนี้ ไม่ขาดทุน

เพราะเราเป็นคนที่พึ่งตนเองได้แล้วแถมยังมีส่วนเหลือส่วนกินด้วยแรงงาน ด้วยความสามารถ ความรู้ของเรา ในแต่ละวัน ที่เราทำลงไปนี่แหละ มันก็เป็นกรรม เป็นบุญกิริยาวัตถุ ที่เราก็ ทำลงไปจริงๆ เข้าถึงการกระทำ ที่จริงไม่ใช่เอาแต่กระทำ ได้แต่คิด หรือกระทำได้แต่พูด ส่วนไอ้การ กระทำจริงๆนั้น ไม่ได้ทำเลยก็ไม่ใช่ ทำ ที่จริงความคิดก็เป็นราคา คำพูดก็เป็นราคา ที่จริงน่ะ

อาตมาพูดนี้อย่านึกว่าไม่เป็นราคา เป็นราคา ทางโลกเขานี่แค่พูดธรรมดาไป พูดไอ้โน่นไอ้นี้อะไร เมืองไทยเดี๋ยวนี้นักพูดมีราคา มีค่าตัวไม่ใช่น้อยเหมือนกันน่ะ อเมริกันนี่เขามีมานานแล้ว เป็นนักพูด โอย...รายได้ดี พวกนักพูดที่เฉลียวฉลาด นักพูดดีๆจ้างๆไป เขาจ้างไปพูดนี้ฟังกันน่ะ ให้ไป อภิปรายตรงนั้น ให้ไปบรรยายตรงนี้ ให้ไปปาฐกถาตรงโน้นนี้เขาจ้างกันน่ะ เขาจ่ายเงิน จ่ายทอง ใครมีฝีปากดีๆนี่ หากินทางพูด เขาจ้างกัน แต่ละงานๆ พูดได้เหมาะสม พูดได้คุณค่า พูดให้เขาเจริญได้ เพราะฉะนั้นหน่วยงานต่างๆ หน่วยบริษัทก็ดี เอกชนอะไรต่างๆนานา แม้แต่รัฐบาล แม้แต่รัฐ จ้างไปน่ะ เดี๋ยวนี้ทางเมืองไทยก็ชักจะมีคนรับจ้างในทางพูด นี่เยอะเหมือนกัน หากินทางพูดนี้ ใครจ้างไปพูด ก็พูด บางคนไม่แต่พูด ทำไม่เป็น เสร็จแล้ว หนักเข้าก็วนๆ เข้าเป็นความรู้เท่านั้น มันหกคะเมนตีลังกาได้ แต่อย่างพวกเรา มันก็มีค่าของมัน แม้เราจะไม่ไปรับจ้าง หรือเราจะไปรับจ้าง เราก็จะรับจ้างได้ดี เพราะว่าเรามีการเสนอ สิ่งที่เราทำได้ เราผ่านพบมา เราได้เป็นมากับตัว ไม่ใช่มีแต่ จากตำรา แต่ตำราเราก็เอามาใช้ ประกอบการบรรยาย การประพฤติก็ได้ ระวัง อย่าไปตีขลุมเอาของเขามาเป็นของเรา ก็แล้วกัน

โดยเฉพาะ อย่าไปตีชลุมเอาของพระพุทธเจ้ามาเป็นของตัว หน้าด้านตาย ตกนรกหมกไหม้ ไปเอาของ พระพุทธเจ้ามาเป็นของตัวเอง ทั้งๆที่อันนี้ เป็นของพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ท่านตราไว้ เราก็ไปบอกว่านี่ของฉัน ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าหรอก ไปแย่งท่านมาได้อย่างไร อย่างอาตมานี่ คนเขาว่าอาตมามาสอนนี้ ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าหรอก ธรรมะที่เอามาสอน นี่นา สอนต่างจากพระพุทธเจ้า เขาก็ว่า ถ้าต่างจากพระพุทธเจ้า จริง มันอาจจะเป็นของอาตมา ถ้าต่างจากพระพุทธเจ้า

แต่ถ้าเหมือนของพระพุทธเจ้าโดยตรงแล้ว อาตมาจะไปตู่เอามาเป็นของอาตมาได้อย่างไร บาปตายพอดี ไปตู่ของพระพุทธเจ้ามาเป็นของตน บาปไม่ใช่เล่นๆด้วยนะ อาตมาไม่กล้าทำ เด็ดขาด เพราะฉะนั้น เขาจะพูดประเดว่านี้เป็นของมันเองน่ะ อาตมาก็เคยพูดเล่นน่ะ เดี๋ยว อุ๊บ ซะเลย เป็นของตนเอง หน็อยมาว่าเป็นของเรา เดี๋ยว อุ๊บ...มาว่าเป็นของเราเองเลยน่ะ มันน่าภาคภูมิ น่าโชว์ น่าอวด น่าอ้าง อย่างกับอะไรดี มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆน่ะ ไม่ใช่เรื่องต่ำๆ ต้อยๆน่ะ เรื่องลึกซึ้ง เรื่องมีประสิทธิภาพ เพราะว่าสูตรทฤษฎีเหล่านี้ ความหมายเหล่านี้ แล้วก็มี ตัวเนื้อหาแก่นแท้ของสาระสัจจะของพระพุทธเจ้าอย่างจริงนี่ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆนะ ไปเที่ยวได้โกงมา เดี๋ยวตาย บาปเวรตาย กินหัวตาย

อาตมาเชื่อบาปเชื่อบุญจริงๆน่ะ บาปบุญเป็นอย่างไร อาตมาเข้าใจว่าบาปคืออย่างนั้น บุญเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็พยายามปรับปรุงแก้ไขบาปบุญ อย่าให้เป็นคนบาป ให้เป็นแต่คนบุญ แม้เป็นบุญแล้ว เราต้องวางบุญนั้นด้วย อย่างที่พูดซ้ำพูดซาก วางบุญนั้นด้วย ใครจะเอาไป ก็เอาไป จำได้อยู่ ถ้าเผื่อว่าไม่ชอบมาพากล อยากจะติดตามก็ติดตาม ไม่ต้องไปครุ่นเหนี่ยวรั้ง ปะติดปะต่อ อยู่ตลอดกาลนานอะไรไม่ต้องหรอก ถ้ามันจะหายมันก็หาย เราต้องระวังด้วย ต้องดูแลรักษา หรือว่าต้องทำให้มันอย่าให้มันมีขโมยไปได้ ไอ้นี่ปล่อยปละละเลยอะไร ก็เอาไปได้ ขโมยไปได้ มันก็แย่กันพอดี ใช่ไหม

ถ้าเผื่อว่าพวกเราได้ศึกษากันจริงๆ อย่างที่อาตมากล่าว ได้รู้สภาวะถึงขั้น นามธรรม อย่างที่กล่าวไป เจาะลึกลงไปตั้งเยอะเลยนะเมื่อกี้นี้ ฟังกันจนเมื่อย จนหลับไปแล้ว หลายคนใช่เปล่านี่ ใช่ไหม ดูโงกเงกๆไปหลายคนแล้ว ใช่ไหม มันฟังไม่รู้เรื่อง หรือว่ารู้เรื่อง เหมือนกันแหละ แต่ว่ามันอร่อยสู้หลับไม่ได้ ฟังธรรมะมันไม่อร่อยเท่า หน็อย ธรรมะในระดับ ปรมัตถ์น่ะนี่ ที่พูดๆสอนๆ แนะนำอยู่นี่เป็นขั้นปรมัตถ์เชียวน่ะ อย่างนี้ไม่อร่อยแสดงว่า เรานะกินของสูงไม่ได้ แล้วคอไม่ถึง กินได้แต่ของชั้นต่ำ (เสียงหัวเราะ) เรียกว่าภูมิเรายังไม่ถึง ก็ได้ ก็เอาเถอะ มันจะถึงไม่ถึงก็ดู พยายามพากเพียรทำความเข้าใจเอาก็แล้วกัน อย่าไปทำเป็น หลงใหลตัวเอง แหม นับว่าหัวสูงจะต้องฟังธรรมะแต่สูงๆ ธรรมะต่ำๆ ฟังไม่ได้หรอก นั่นก็บ้า อีกเหมือนกัน ไม่เข้าเรื่องเข้าราวอะไรหรอก

พวกเรามันมีหลายฐานะหลายระดับ พยายามเข้าใจกันให้ได้ แล้วเราจะสบายใจ คนเรา เข้าใจกันไม่ได้ แล้วก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้าเราเป็นพี่เขาจริงนะ หมายความว่า เรามีภูมิธรรม สูงกว่าเขา พี่นี่อภัยน้องน่ะ น้องนี่ตีพี่ได้ แต่พี่ไม่ตีน้องหรอก เพราะฉะนั้น คนไหนยังตีเขาอยู่ ยังเป็นเด็กอยู่ทั้งนั้นแหละ เป็นน้องเขาน่ะ ยิ่งตีใครเก่งยิ่งเป็นน้องเขาอยู่ตลอด กาลนานเลย นอกจากว่า คุณจะใหญ่จริงๆ เป็นพี่หรือเป็นพ่อจริงๆแล้ว น้องเขาก็ยอมรับว่าเป็นน้อง ลูกเขาก็ยอมรับว่าเป็นลูก ทีนี้คุณจะตีเขายอมรับให้คุณตี เขาอนุญาตให้คุณตี อย่างสยบ อย่างยอม ยกให้เลยว่าเป็นพี่ ยกให้ว่าเป็นพ่อ จะตีๆเข้าไป แล้วเราก็ยินดีต้อนรับตีนั้น โดยไม่เถียง อย่างพยายามตั้งรับ ตั้งฟัง อย่างดีเลย อย่างนั้นอีกชนิดหนึ่ง แต่ถ้าคุณก็ยัง ไม่ใช่พ่อ คุณก็ยังไม่ใช่พี่ หรือคุณเป็นพี่เหมือนกันเป็นพี่ ยังไม่ใช่เป็นพ่อนี่ยังไม่ใช่แน่ เป็นพี่เหมือนกัน เป็นพี่จริงเหมือนกันน่ะ

แต่ไอ้น้องมันยังไม่ศรัทธา มันยังไม่ยอมรับว่าเป็นพี่ คุณต้องยอมน้อง ฟังดีๆน่ะ คุณเป็นพี่จริงๆ คุณจะต้องยอมน้อง มันแสดงคุณธรรมว่า คนโตนี่ ต้องยอมคนเล็ก เพราะคนเล็กน่ะมันกระด้าง มันดื้อ มันยังชั่วอยู่กว่าคุณ คุณไปดื้อกับดื้อ เลยเท่ากัน ไม่มีใครเป็นพี่เป็นน้อง พอดื้อกับดื้อเจอกัน คนยอมก่อนคนนั้นเป็นพี่ คนที่ยังไม่ยอม คนนั้นเป็นน้องต่อไป ฟังออกไหม ภาษาไทยนะนี่ ภาษาไทยแท้ๆง่ายๆ ด้วย เพราะฉะนั้น พี่กับน้อง มันจะเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนๆ แต่ไร ทั้งโลกก็คล้ายๆกัน เพราะฉะนั้น คนที่เป็นพี่ จริงๆ แล้วก็เอา โอบอ้อมอารียอมน้อง ก็แล้วกัน เสียสละ แม้แต่ตัวเองจะถูก ก็จะต้องยอมก่อนเลย เพราะว่าน้องมันต้องดึงดันอยู่ นั่นแหละ มันโง่ มันไม่รู้ว่าถูก พี่บอกๆกันบ้าง พี่ก็บอกแล้วว่า อย่างนี้ดี อย่างนี้ถูก มันก็ไม่ยอม มันว่ามันถูก น่ะ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องทะเลาะกัน เป็นพี่ เป็นน้องกัน อยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะจะอยู่ด้วยกันได้ ก็เพราะมันก็ต้องคนใดคนหนึ่ง ต้องยอม ถ้ายอมได้ทั้งสองคน บอกแล้ว เจ๋งเลย

อาตมาเคยบอกว่าไอ้เรื่องยอมนี่มีสองต่างคนต่างไม่ยอมเป็นอย่างไร ตะลา ต่าต๊า มันก็สงคราม ๑๐๐% น่ะ ต่างคนต่างไม่ยอม

ทีนี้สองคน คนหนึ่งยอม อีกคนหนึ่งไม่ยอมเป็นอย่างไร ก็ลดลงมาได้ บรรยากาศค่อยเบาหน่อย จะเป็นสงคราม ก็เป็นสงครามวิ่งไล่เถิด วิ่งกวดกันเท่านั้นเอง ไม่หันหน้ามาตีกันใหญ่ มันก็พอไป คนหนึ่งยอม คนหนึ่งไม่ยอม เอ้า ก็พอไปได้ แต่ถ้ายอมด้วยกันทั้งคู่ก็สวยเลย สุดท้ายยอม ด้วยกันทั้งคู่ ให้มันเหมือนญี่ปุ่นน่ะ โค้งโค้ง ไอ้นี่ก็โค้งน่ะ โค้งกันใหญ่เลย ต่างคนต่างโค้ง กันใหญ่เลย ยอม ต่างคนต่างยอมอ่อนน้อมด้วยกันทั้งคู่เลย แล้วก็มาใช้สติปัญญาว่า เออ ยอมกันไปแล้ว แล้วทีนี้ก็มาทำกันไป เมื่อยอมกันแล้วก็ดี อันไหนที่พอจะอนุโลมกันแก่กัน ต่างคน ต่างอนุโลมกัน ประเดี๋ยวก็รู้หรอกน่ะ ของใครมันก็จะต้องแบ่งให้ แก่ใครบ้าง เพราะว่า อนุโลมก็หมายความว่า ต่างคนต่างยอมด้วยกันทั้งคู่ มันก็ต้องต่างแบ่งกันทำบ้าง ก็ยอมกันได้ คุณทำอย่างนั้น เราทำอย่างนี้ มันก็ยอมกันได้ หรือแม้ว่าคนไหนจะไม่ทำอย่างนี้ จะไปทำ อย่างโน้น คนโน้นจะมาทำอย่างนี้บ้าง ต่างคนต่างยอม ของคุณว่าดี ทั้งๆที่เราว่าของคุณไม่ดี แต่เรายอม เราก็ไปทำอย่างของคุณบ้าง คุณว่าอย่างนี้ไม่ดี แต่คุณก็ว่าของคุณดีเหมือนกัน แต่คุณก็ยอมอีก คุณก็มาทำอย่างนี้บ้าง ต่างคนต่างสลับทำกัน ประเดี๋ยวก็รู้ว่า เราไปทำอันโน้น อ้าว อันโน้นมันไม่ดีจริงๆนะที่จริง ก็แสดงว่าของคุณดี สุดท้ายนะ ผลที่ถูกต้อง ผลที่ดี มันต้องเกิดจนได้

การยอมก่อนจึงเป็นพี่เขา การที่ไม่ยอมอยู่จึงกลายเป็นน้องเขา กลายเป็นตัวเล็กอยู่ กลายเป็นคน ภูมิฐานยังไม่สูง นี่อาตมาพูดหลายชั้นหลายสลับซับซ้อนแล้วนะ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ยอมจริงๆ เป็นผู้ใหญ่จริงๆ นั่นน่ะไม่ยอมก็ได้ แต่เราต่างหากยอม คนอื่นเขายอมให้ เพราะฉะนั้น คุณเอง คุณไม่ยอม คนอื่นเขาก็ยอมให้ เขายอมให้โดยศรัทธาด้วยน่ะ ไม่ใช่ยอมให้ โดยที่เรียกว่าดื้อด้าน ประเภทที่เรียกว่าจริง คนที่มีมานะของตนเองไม่ยอม ก็มีเหมือนกัน บังคับกันไม่ได้หรอก แม้จะเป็น ครูบาอาจารย์นะนา โดยปริยายก็เรียกว่า ต้องยอม นะนา ยอม ครูบาอาจารย์ เพราะฉะนั้น ข้างนอกในทียอม แต่ใจจริงๆ กิเลสมันไม่ยอมๆ จะบังคับกันได้อย่างไรมันก็ไม่ยอม ใช่ไหม มันไม่ยอม ก็ไม่ยอม มันก็แข็งขืนอยู่นั่นแหละ แต่ถ้ามันยอมแล้ว มันลองปฏิบัติตามดู มันก็จะได้ปฏิบัติตาม ถ้ามันผิด มันก็จะรู้ว่าผิด คุณก็จะรู้ว่า ผลของเรามันผิด อาจารย์ก็ จะเห็นว่า นี่ไงเล่า พิสูจน์แล้วมันผิดน่ะ ก็จะรู้เอง แต่ถ้ามันถูก มันก็ไปดีไปเลย ไม่ต้องเสียเวลา แต่ส่วนมากอาจารย์หรือผู้รู้ ย่อมจะถูกมากกว่าผิด เพราะฉะนั้น จะไปเลี่ยงตามอาจารย์ ตามครูผู้รู้ มันไม่เสียหายมากหรอก ถ้าเขาเป็นครูจริง เป็นผู้รู้จริง มันก็จะต้องถูกมากกว่าผิด

ไอ้เรายังไม่เป็นอาจารย์ ยังไม่เป็นครูอะไรเลย แน่นอน จะแข็งจะขืน จะค้าน จะแย้งอย่างไรไป ก็จะผิด มากกว่าถูกน่ะ แล้วมันน่าเสี่ยงตรงไหนล่ะ ใช่ไหม มันก็จะผิดมากกว่าถูก เพราะว่าโดย สัจจะความจริงที่ผู้รู้ หรือผู้ที่ยิ่งใหญ่ เขาก็จะต้อง รู้มาก ถูกมากกว่าเป็นแน่นอน ถ้าเป็นสัจจะ ความจริงอย่างนั้นนะ เราเป็นผู้น้อย เรายังไม่เก่ง เรายังไม่ถึงขั้น ถึงฐาน ถึงภูมิ เราก็ต้องผิด มากกว่าถูกกับอาจารย์ผู้รู้กว่า มันต้องผิดมากกว่าถูก

ถึงแม้เราจะถูกบ้างก็เอาเถอะ มันน้อย เพราะฉะนั้น จะไม่มีปัญหาหรอก ถ้าเรา ยอมทำง่ายๆ ซะแล้ว ก็มันก็ไม่เสี่ยง ไม่เสียเวลาย้ำย้อน นี้เป็นวิธีการ เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่ว่านอน สอนง่ายแล้ว ก็มีอาจารย์ที่ดีด้วย ที่ว่านอนสอนง่ายด้วย มักไปได้ดีได้เร็ว แล้วก็เป็นไปได้ อย่างง่ายดาย แต่ถ้าเผื่อว่า ต่างคนต่างต้าน ต่างคนต่างแย้ง ต่างย้อนแย้ง ยึกยักๆๆๆ กันอยู่ โอ๊ย จะเจริญอะไรก็ไม่เจริญ พะอืดพะอม ปวดๆเจ็บๆด้วย หนักเข้าก็ทรมาน ทรกรรมกัน นี่มันก็คือ ความไม่เจริญ ที่มันมีอยู่ในโลก

พวกเรานี่ศึกษากันไปก็ได้เข้าใจกันขึ้น พยายามดูกิริยา กิริยาพวกเราบ้างว่า พวกเรานี่ มีกิริยา ที่หยาบ มีกิริยาที่ต้องเข้าใจคนอื่นเขาบ้าง กิริยาที่ เราแสดงออกจากคนอื่น บางทีเขาอาจ จะมองเราไปในเชิง เราดูถูกเขา หยามหยันเขา กระด้างต่อเขา ก็ได้ ที่เขาไม่สนใจนี่ เขาจะรู้สึกง่าย รู้สึกเป็นแต่เพียง เราเฉยๆนี่แหละ เขารู้สึกว่า เอ นี่ดูถูกกันนี่หว่า ก็ได้ใช่ไหม ฟังดีๆ ใช่ไหม อ้า คนนั้นบอกว่าแย่ อยากจะได้อะไรจากเรา แล้วเราก็ทำเต๊ะเฉย เอ๊ นี่มัน เหยียดหยามกันนี่หว่า เขาเป็นคนไม่มีค่า ไม่มีศักดิ์ศรีอะไรเลยหรืออย่างไร ดูถูกกันนี่หว่า แบบนี้ก็เป็นได้น่ะ เพราะหัดระวังท่าทีลีลาพวกนี้บ้าง บางคนถือ ถืออย่างที่ว่านี่แหละ บางคนไม่ถือหรอก บางคนไม่ถือ อย่างอาตมาทำบ่อย คือทำกับพวกเรา แล้วพวกเราก็ยอมให้ ไม่ถือก็เลยชินชา หนักเข้าพวกคุณก็เลยจะเป็นอย่างอาตมาบ้าง มันไม่เหมือนกันนา อาตมาทำ มันดูคือนะ แต่คุณทำมันไม่คือน่ะ ภาษาอีสานบอกว่าคือ นี่ใช้ได้ แต่ภาษาภาคกลาง เป็นอย่างไร คุณทำอย่างไร มันก็ไม่เข้าท่า คุณทำแล้วมันไม่เข้าท่าหรอกนะ แต่อาตมาทำ เข้าท่านะ ได้ มันคือ มันดูดีน่ะ มันดูได้น่ะ มันไปได้ แต่คุณทำดูแล้วมันไม่เข้าท่า มันน่าอ๊วก มันน่าหมั่นไส้ อะไรอย่างนี้ เอ้อ เหมือนกับมันดูถูกเขา ข่มเขา เบ่งเขา อะไรเขาไปได้อย่างนั้นเลย มันทำเหมือนกันแหละ แต่มันไม่เหมาะสม อันนี้แหละสำคัญนะ ฟังดีๆเพราะฉะนั้น เราประมาณให้ดีเชียว เราจะฉลาดเฉลียว เราจะเป็นผู้ที่รู้จักเป็นสัตบุรุษ รู้จักประมาณบุคคล รู้จักประมาณกาล เทศะ รู้จักประมาณบริษัท รู้จักประมาณสัดส่วน ขนาด ธัมมัญญุตา อัตถัญญุตา รู้จักประมาณ เราก็ต้องดูตน รู้อัตตัญญุตา เราชื่อว่าพระโพธิรักษ์หรือเปล่า เปล่า ยังไม่ใช่ เรา...นี่มันแค่พวกอยู่ใต้ต้นโพธิ์ คือโพธิ์ขี้นก ใต้ต้นโพธิ์นี้คือ ลูกโพธิ์มันร่วงๆ หล่นๆ เป็นลูกโพธิ์เหมือนกันแหละ เป็นลูกโพธิ์หล่นๆ ลูกโพธิ์ นี่ ลูกอภิสินชื่อลูกโพธิ์ (เสียงหัวเราะ) นาลูกโพธิ์น่ะ เป็นลูกโพธิ์ขี้นก (หัวเราะ) หล่นก็ไม่เข้าท่า ต้องเป็นลูกโพธิ์ที่ดีน่ะ เป็นลูกโพธิ์

เราก็จะต้องรู้ตัวเราเป็นอะไรกันแน่ ขนาดไหน ซึ่งถ่อมไว้หน่อยดี จะได้ไม่น่าเกลียด ถ่อมไว้หน่อย ดี อย่าเพิ่งไปหลงตัวหลงตน ถ่อมไว้หน่อยๆ มันค่อยยังชั่วทั้งนั้นแหละ แต่ถ่อมมากเกินไป จนผิด ไอ้ตัวสูงก็ว่าตัวต่ำตนเกิน มันก็น่าเกลียดเหมือนกันแหละ ไม่เข้าท่าเลย ตัวสูงก็คือ ตัวสูง ให้รู้ว่า เออ ก็เราสูง จะอ่อนน้อมถ่อมตนก็ในที แต่ในทีจะต้องรู้ฐานะว่า เออ ทำอะไร ต่ออะไร เกินการเกินไปนัก ไอ้ท่าทีพวกนี้ไม่รู้จะบอกรายละเอียดอย่างไรน่ะ ซึ่งมันก็มีท่าทีของมัน เราก็รู้ สิ่งเหล่านี้ก็แล้วกัน ก็ปรับไป เพราะฉะนั้นก็ขอเตือนขอย้ำ กิริยาท่าทีกายด้วย วาจาด้วย อย่าไปดูเชิง ข่ม เชิง...บางที เฉยเมยเกินไป ก็น่าเกลียด เฉยเมยเกินไปก็ดูเหมือนกับหยิ่งผยอง เหลือเกิน ดูถูก ดูแคลนเขาหรืออย่างไร เขาพูดด้วยก็ไม่พูดด้วย หยามกันนี่หว่าแบบนี้อะไร ระวังเถอะ ไอ้ข้างนอกมันมีนะ พวกอันธพาลพวกอะไรกันนี่ พอพูดทักทาย ไม่พูดด้วย ก็บอกว่า เอ็งแน่เหรอ ฉัวะ (หัวเราะ) ข้างนอก หน็อยถามด้วยไม่พูดนี่ ทำเป็นเฉยเมยบึ้งๆ ไม่นึกว่าดูถูกมัน น่ะ เหมือนกันแหละ

ทางธรรมนี่ก็เหมือนกัน มันเข้าใจได้ อาตมาคิดว่าอธิบายนี่ คงเข้าใจได้ นะ แล้วไปไตร่ตรอง ไปพยายาม ปรับตัวกิริยาท่าทีไม่ว่ากาย ไม่ว่าวาจา เพราะฉะนั้น เรื่องดูคน ดูกาละ ดูทั้ง ข้างนอกทั้งข้างใน ดูคนนอกดูคนใน ดูเขาดูเรานี่ให้ดีๆ แม้แต่ในพวกเราเอง ก็ไม่เท่ากัน บางคน ก็ถือสามาก บางคนไม่ยกให้นะ อาตมานี่ถ้าพวกคุณไม่ยกให้ พวกคุณ หมั่นไส้อาตมา น่ะตาย เยอะแยะเลย จริงๆ นะ เพราะท่าทีของอาตมาดูกระด้าง ดูหยิ่ง ดูผยอง อะไรเยอะ แตะดูยกตัว ยกตนอะไรอีกเยอะด้วยนะ ในพวกเรานี่ แต่พวกคุณไม่ถือ ไม่ถือ อาตมาก็ทำได้ เพราะต่างคน ต่างเข้าใจกัน คุณยกให้ อาตมาก็รู้ว่า อาตมาฐานะขนาดนี้ คุณให้เท่านี้ เอาเท่านี้ได้ เพราะฉะนั้น อาตมาก็เลยเร็วขึ้นลัดขึ้นหลายๆอย่าง ไม่ต้องไปยั้วเยี้ย โยเย ไม่ต้อง แหม ใครมา ก็ต้องคอยอ้าๆๆงี้ อาตมาก็เลยไม่ต้องทันกินอะไรกันพอดีหรอก มัวแต่ คอยประดิด ประดอย มารยาทอยู่นั่นแหละ แล้วก็ต้องหวาน ใครทักก็ต้องคอยยืนคุย กันตั้ง นานๆ ไอ้สั้นก็ไม่ได้ ไอ้กระด้างก็ไม่ได้ อย่างพวกคุณนี่บางทีกราบอาตมา เลยเดินไปแล้ว เอ้า คุณก็ไม่ว่าอะไรก็ให้ เพราะบางทีมันก็กราบไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็ต้องรีบไปอย่างนั้น ก็ไม่ว่า ถ้าเป็นคนอื่นถือ หลายคนถือนะ เพราะฉะนั้น ถ้าคนนอกบางคนที่นี่ต้องให้เขาน่ะ ไม่ใช่คุณ ไม่ใช่พวกเรา ที่เข้าใจกันแล้ว ต้องให้เขา ก็บางทีบางอันอะไรก็หาท่าทีลีลาจะต้องรีบตัด รีบรวบรัด อะไร ไม่อย่างนั้น มันไม่ไหวน่ะ งานการมันไม่ทันหรอก มัวแต่จมด้วยมารยาทอยู่ ทุกอย่าง ทุกอัน ไม่รู้กาลเทศะเลย อาตมาก็ว่ามันเป็นคนไม่รู้กาลเทศะเหมือนกันนะนา อะไรๆก็จะต้อง เข้ากันหมดทุกอย่าง ใครๆก็เหมือนกันหมดทุกอย่าง ไม่ทันกินหรอกๆ จริงนะ มัวแต่เอา ไอ้โน่น ไอ้นี่อยู่นั่น ไม่พอ ไม่หวาดไม่ไหว นี่ มันลึกซึ้ง มันละเอียดลอออย่างนี้ อะไรต่างๆ ในธรรมะ ไม่ใช่พูดแก้ตัวน่ะ คุณฟังดีๆ อาตมาพูดนี่ ไม่ใช่พูดแก้ตัว

พวกคุณต้องรู้ตัวจริงๆว่าเรานี่ไม่ได้รับความศรัทธาเลื่อมใส มากมายเหมือนอย่างอาตมา อย่ามาทำ เหมือนอย่างอาตมา หรือแม้แต่อย่างท่านติกขฯ อย่างท่านสุขฌาโน อะไรก็ตาม หรือแม้แต่ สิกขมาตบางรูปก็ตาม เขาได้ฐานะพอสมควรที่เขายกให้พอสมควร ก็เอาของเขาๆ ฐานะของเขา ไอ้เราซิเป็นฆราวาส บางคนอาจจะบอกว่า เอ้ย ฉันเป็นฆราวาสก็ตามเถอะ ฉันก็ภูมิธรรม อย่าว่าเลย สิกขมาตบางรูปก็สู้ฉันไม่ได้หรอก ฮึ แม้แต่สมณะบางรูปก็สู้ฉัน ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้น ฉันจะต้องตามฐานะของฉันนั่นแหละ คุณฆราวาสน่ะ มันก็ต่างกัน อีกแหละ จริง จะมีคนยกให้บ้าง บางคนที่เขาเข้าใจคุณ แต่คนที่เขาไม่เข้าใจคุณ คุณอยู่ในรูป ของฆราวาส เขาจะยกให้อะไร คุณจะไปทำตัวเหมือนกับอย่างสมณะตีขลุมไปเลยว่า คนนั้น ยกให้ฉันนี่ เอ้า ก็คนนั้นเขาเข้าใจ แล้วคนอื่นเขาไม่เข้าใจ คุณก็ต้องรู้เขาอีก แล้วเขาจะเข้าใจ คุณได้ง่ายที่ไหน ถ้าอย่างนี้เขายกไว้ให้ก่อน เพราะว่ามีรูปบอก มีฐานะบอก บ่งบอกอะไรอย่างนี้ มันก็ง่ายขึ้น แต่คุณก็ฆราวาสเหมือนกันละว้า ซึ่งไม่ค่อยรู้จักกันเลย เพิ่งมาพบกันวันนี้ เขาจะไป ยกอะไรให้คุณ เขาไม่ยกอะไรให้คุณ แล้วคุณไปทำแสดงท่าทีลีลาแข็งกระด้างกับเขา เหมือนกับ คนที่เขายกให้ จ้างก็ไม่ได้กิน ต้องโอภาปราศัยไปจนกระทั่งคุณรู้ว่า อ้อ คบคุ้นกันไปแล้ว เขาเข้าใจเราแล้วว่า เรามีภูมิธรรม เขายกให้แล้วก็ค่อยเป็นไป ค่อยปรับท่าที เราจะแข็งแรงขึ้น เรียกว่า อยู่ในฐานะที่เรียกว่า เอาละ เขายอมให้ เราก็ทำอย่างนี้บ้างก็ดี แข็งขึ้น ไม่ต้องไป อ้อยสร้อยมากนัก ไม่ต้องมารยาทมาก ไม่ต้องไปอะไรมากนักกับผู้นี้ มันก็ค่อยๆได้ไปตามลำดับ

นี่มัน ละเอียดลอออย่างนี้ ที่อาตมาใช้หลายทีแล้ว รู้จักรับบทรับลูกที่จะต้องต่อเนื่องกัน ได้สัด ได้ส่วน ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น มัชฌิมาต่างๆนี้ หรือกรรมกิริยาจึงไม่ตายตัว มัชฌิมาต่างๆ ในกรรมกิริยา จึงไม่ตายตัว แต่ละคนแต่ละผู้ แต่ละกาละ แต่ละหมู่กลุ่ม แต่ละบริษัท แต่ละการประมาณ ไม่ได้ตายตัวจริงๆ ยาก แต่แม้ยาก เราก็ต้องศึกษา ไม่มีทางเลือก ไม่มีทางเลี่ยง ต้องศึกษา ต้องประมาณ ต้องฝึกฝนอบรม จึงจะเกิดเป็นคนที่มี เจโตปริยญาณ เป็นคน เป็นผู้ที่หยั่งรู้กาลเทศะ รู้บุคคล รู้เรา รู้เขา รู้อะไรต่ออะไรได้ดี ทำอะไรได้ดี ถูกเวลา ถูกกาละ ถูกสัดส่วน ได้ประโยชน์มาก เพราะฉะนั้น คนที่ไม่เข้าใจอาตมานี่นา อาตมาจะออก ทุกวันนี้ อาตมาจะออกในลักษณะๆ อาการที่กระด้าง หยิ่ง ยกตัวยกตนมากอยู่ คนข้างนอกที่ ไม่เข้าใจ แล้วเขาก็ถือสา โอ้ โพธิรักษ์นี่มันไม่ได้เรื่องหรอก มันเบ่ง ข่ม หยิ่ง ผยอง อวดดี แข็งกระด้าง ไม่นิ่มนวลเหมือนอาจารย์บางรูปบางคน อาจารย์บางรูปบางคนท่านเมตตาสูง ท่านเอื้อเฟื้อ ท่านอ่อนหวาน สุภาพเรียบร้อยดี ท่านก็ดี อาตมาบอกแล้ว อาตมาไม่ปฏิเสธ ในเรื่องคุณค่า ของความสุภาพเรียบร้อย คุณค่าของความสุภาพเรียบร้อยมันดีจริง แต่ใช้ ต้องถูกกาละ สุภาพเรียบร้อยที่ว่านี่ ขนาดไหนเรียกว่าสุภาพ

สุภาพ คือในภาวะที่ดี ภาพ หรือภาวะนี่ในภาวะที่องค์ประกอบของมันได้สัดส่วน เป็นมัชฌิมา ๆ ได้สมบูรณ์ สมดุล ได้เหมาะสมอย่างที่อาตมาได้อธิบายไปแล้ว อาตมาว่าอาตมาทำได้ อย่างสุภาพ ซึ่งคนอื่นมองว่าแข็งกระด้าง มองว่าหยิ่งผยอง ยกตัวยกตน แต่คุณไม่ถือ อาตมา ทำกับพวกเราได้เป็นสุภาพ สุภาวะ สุภาวะอย่างดี สำหรับคนอื่นอย่างข้างนอก หลายคน อาตมายินดีที่จะให้เขาเห็นว่า อาตมาแข็งกระด้าง แล้วยังไม่เข้ามาใกล้ชิด ไม่เข้ามาพะเน้า พะนอ สบายอาตมามาก ถ้าขืนเข้ามาพะเน้าพะนอ อาตมาเองอาตมาสอนไม่ได้ เพราะคนนั้น ยังอยู่ระดับ อนุบาลบ้าง อยู่ในระดับประถมบ้าง ให้เด็กเล็กๆ ให้ครูชั้นต้นๆเขาสอน เขารับเลี้ยง รับดูไปก่อน ยังไม่ต้องมาใกล้อาตมาเลย อีกสองชาติมาพบกันก็ได้ บางคน อีก ๕ ชาติ ค่อยมา พบกันก็ได้ ไม่มีปัญหาหรอก ฟังแล้วเป็นอย่างไร ข่มเขามากไหมอย่างนี้ ข่มเขามากนะ ฟังแล้ว น่าเกลียดน่ากลัวนะ อาตมาพูดความจริงให้ฟัง ต้องฟังดีๆนา

บางคนยังไม่ต้องมาหาอาตมาหรอก ไม่ศรัทธาเลื่อมใสอาตมา อาตมาก็ไม่มีปัญหา ไม่มีจริงๆน่ะ นี่ขนาดนี้ อาตมาก็เมื่อยจะตายอยู่แล้ว สอนขนาดนี้จะไปหอบมาทำไม อาตมาไม่ต้องการ บริวารมากมายอะไร ไม่ต้องการยิ่งใหญ่ เพราะมีบริวารมาก มีลูกศิษย์มาก ไม่หรอก อาตมา จริงๆนะ พูดอย่างจริงใจ ไม่ได้หมายความว่า ไปว่าคนโน้น ว่าคนนี้ แต่ถ้ามีบริวารมากได้ มันก็ดี แต่ดีต้องเหมาะสม ที่เรามีแรงพอที่จะสอน จะดูแล ขนาดนี้ยังยุ่งขิงจะตายเลย โอ๊ย ว่าความกัน แต่ละวันๆ นี่เกือบจะทุกวัน มันตายกันพอดี เดี๋ยวมากันกระจองอแง ไม่ต้องทำอะไร นั่งว่าความ อย่างเดียว ก็ไม่ต้องทำงานอื่นแล้ว ตายกันพอดีซิ ยิ่งโตๆพอสมควร ไม่ต้องนั่งว่าความกัน ทุกวันก็ขนาดนี้ ก็ยังพอไป พอเป็น

นี่มันสำคัญนะในการนี้ที่จะสั่งสอนสร้างกลุ่มสร้างหมู่ ในการที่จะสร้างพุทธบริษัท พูดกัน ให้ชัดๆ แต่ไม่ใช่อาตมาสร้างหรอก อาตมามาช่วยพระพุทธเจ้าสืบต่อพุทธบริษัทนี่ มันไม่ใช่ เรื่องเล่นๆ มันลึกซึ้ง ซับซ้อนมากมายมหาศาล

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจกันดีๆ ต้องศึกษากันดีๆ พยายาม ได้ฟังแล้วก็เอาไปศึกษาซ้ำๆ ซ้อนๆ แล้วก็ทดสอบ ปรับปรุง เรียนรู้ว่าเราจะต้องปรับ ต้องปรับไปทุกๆอิริยาบถแหละ ทุกๆขณะ ทุกๆลม หายใจเข้าออก ต้องปรับ ปรับกาย วาจา ใจ ทำไปให้มันสมเหมาะสมควร ทำให้มันดี มันงาม ทำให้ได้สัดได้ส่วน ให้มันได้คุณค่า ได้ประโยชน์ขึ้นไปตามลำดับ

เอ้า เอาละ สำหรับวันนี้พอสมควรแก่เวลา


ถอดโดย จอม ศรีสวัสดิ์ ๓ ธ.ค.๒๕๓๔
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ๔ ธ.ค.๒๕๓๔
พิมพ์โดย อนงค์ศรี ๘ ธ.ค.๒๕๓๔

2032A.TAP