โง่ไม่เสร็จ (ตอน๑)
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
ณ พุทธสถาน สันติอโศก


 

เรื่องของธรรมะ พวกเรานี่ มันก็มีเรื่องของอัตตามานะนี่แหละเป็นหลัก ที่อาตมาจะต้องพูด เรื่องอัตตามานะ อันผนวกไปด้วยกาม ต้องพูดอัตตามานะ อันผนวกไปด้วยกามเป็นเหตุ จะเป็นอัตตามานะ ของผู้ที่เป็น ผู้ที่มีตัวกามเองก็ตาม เสร็จแล้วก็...เราประพฤติ หรือว่า เรากระทำ ในส่วนที่เป็นกาม เพื่อนฝูงก็มาช่วยเราไม่ให้มันลุกลามไปในเรื่องของกาม พยายาม จะช่วย อย่างนั้นอย่างนี้ เสร็จแล้วเราก็ถือสา ตัวการถือสานั่นแหละ คือตัวอัตตามานะ หรือ มานะอัตตา ถือตัว ใครว่าไม่ได้ ใครสอนไม่ได้ ใครกล่าวไม่ได้ ใครตำหนิติเตียนไม่ได้

อาตมาเคยบอกไม่รู้กี่ครั้งกี่คราว ปากเปียกปากแฉะ ว่าแม้แต่ใครจะมาด่าเรา ว่าเราอย่างผิดๆ มันก็ไม่ควร ที่จะไปมีความโกรธ ไปมีความถือสา ไปมีความไม่ชอบใจอะไรเลย อาตมาพูด กี่ครั้งกี่หนแล้ว ก็ไม่เคยมาสังวรระวังปฏิบัติได้เลย ทนไม่ได้ ทนไม่ได้อยู่นั่นแหละ เขาด่าเรา ไม่จริงนี่หว่า ไม่จริงก็ไม่จริง นั่นเขาโง่ต่างหากเล่า เขาเข้าใจผิดต่างหากเล่า เขาไม่รู้เรื่องจริง ต่างหากเล่า ก็มันไม่ได้เป็นที่เรา ก็เราถูกด้วยซ้ำไปน่ะ พุทโธ่! ทำไมมันโง่ดักดานหนักหนาถึง ขนาดนั้น แล้วไปโกรธให้ตัวเองซวยตัวเอง โกรธตัวเอง ก็จิตใจไม่ดีแล้ว ตัวเองก็ได้เกิดแล้ว กิเลสเกิดแหละ ตัวกิเลสเกิด ตัวไม่พอใจเกิด ตัวไม่ชอบใจเกิด โกรธจัดเท่าไหร่ ก็ซวยมาก เท่านั้น แค้นเคืองถือสามากเท่าไหร่ ก็ซวยมากเท่านั้นแหละ ก็ตัวเองนั่นแหละได้ ตัวเองน่ะได้ความซวย ทั้งๆที่เขาผิดด้วยซ้ำไป เขาผิดเพราะเขาเองเขาไม่รู้ เขาโง่ เขาเข้าใจผิด เขาเห็นเราเป็น อย่างนั้นๆๆ ไม่ถูกต้อง

แต่ถ้าเราถูกเลยละทีนี้ ไม่ใช่เราผิดน่ะ เราถูกเลย ตามที่เขาว่า คือเขาผิด แหม... จะว่าผิด หรือถูกละ เดี๋ยวก็ว่าผิด เดี๋ยวก็ว่าถูก คือเราเลวจริงน่ะ เราปฏิบัติอกุสล เราปฏิบัติทุจริต เราปฏิบัติเป็นกิเลส ปฏิบัติด้วยกิเลสจริงๆ แล้วเขาก็ด่าเรา ว่าเรา ติเรา เตือนเรา อะไรก็แล้วแต่เถอะ ติเตียน หรือ เตือนอะไรก็ตามใจเถอะ จะติแรง ติเบาก็ตามใจเถอะ แม้เขาติ ด้วยความโกรธ ด้วยซ้ำ เขาติด้วยความโกรธก็ช่าง มันก็เป็นเรื่องของเขา เขาจะโกรธ ก็ซวยที่เขา เขามาติด้วยความโกรธ ก็เป็นความซวยของคนติเอง ส่วนการตินั้น เขาติอย่างถูกต้องด้วย เราเป็นคนที่ไม่ดี ไม่งามอย่างนั้นจริงๆด้วย อย่างนี้ซิ ยิ่งไม่มีสิทธิ์จะไปโกรธเลย ใช่มั้ย ไม่มีสิทธิ์ อาตมาถึงได้วิเคราะห์ให้ฟังแล้วว่า เราถูก เราก็ไม่เห็นจะต้องโกรธ เราผิดจริงๆ เลย เราก็เลวจริงๆ ชั่วจริงๆ ยิ่งไม่มีสิทธิ์จะโกรธเลย ยิ่งต้อง แฮ่ะ แฮ่ะ แฮ่ะ แฮ่ะ เอาไว้ แฮ่...แฮ่ (พ่อท่าน หัวเราะ) ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ยิ่งต้องยอมรับ ยิ่งต้องขอโทษขอโพยเขา ก็ยิ่ง ต้อง... แอ๊คไม่ขึ้นแหละ ใช่มั้ย ยิ่งแอ๊คไม่ขึ้นเลย

เราไปโกรธเข้า เราไปถือสาเข้า เราก็เติมกิเลสของเรา และเราก็ทุกข์ เราไปโกรธ หรือไปถือสาเข้า เราก็ทุกข์ของเรานะ แต่ไม่รู้จักทุกข์อริยสัจ นั่นแหละ ทุกข์อริยสัจล่ะ ทุกข์ของเรา ทุกข์เพราะ อวิชชา ทุกข์เพราะความโง่ ตัวเราโง่ เรามีอวิชชา เป็นทุกข์ ทุกข์อริยสัจเลย แล้วเราเอง เราก็ไม่เข้าเรื่อง

ในที่นี้นี่นะ ในอโศกเรา พวกเรานี่ มันมุ่งหมายดีกัน เพราะฉะนั้น คอยระมัดระวัง ให้แก่กัน และกัน อยู่เยอะ ใครจะปฏิบัติอะไรที่เป็นกิเลส ตัวเรายังไม่รู้ตัวหรอก เพื่อนเห็นแล้ว เพื่อนทักแล้ว เพื่อนนี่ชอบระมัดระวังให้เราด้วยซ้ำนะ เยอะหลายตา มากันเป็นขบวนเลย บางทีงี้ มากัน โอ้โห! แอ่นแอ้เลย มันต้องรับลูกให้เป็น มันต้องรับโจทย์ให้เป็น ว่าเขาหวังดีกัน ที่เขามอง ให้แก่เรานั่นน่ะ มันมีเชิงซ้อน หวังดีได้ด้วย และหวังร้ายได้ด้วย

หวังร้ายคือยังไง ติเตียนเพื่อประจาน ติเตียนเพื่อให้ขายหน้า เพื่อประกาศให้คนนั้น ให้คนอื่น เขารู้ว่าตัวเอง คนที่ถูกติเตียนนั่นชั่ว คนที่ถูกติเตียนนั่นต่ำ มีปัญญาชาญฉลาดก็หาโอกาส ถ้าคนจะเจตนาร้าย ก็หาโอกาสละนะ เพื่อประจาน เพื่อให้เขาถูกฉีกหน้า ให้คนรู้ว่า คนนี้ชั่ว คนนี้เลว นี่ หวังร้ายแน่นอน หวังร้ายแน่นอน ลักษณะประจาน ในภาษาบาลีท่านเรียกว่า ประณาม ประณามมีความหมายทั้งสองด้าน พระบาลีตัวนี้มีความหมายว่า ทำให้ บอกใจความ บอกความดีก็ได้ สรรเสริญคุณ สรรเสริญความดีก็เรียกประณาม อย่างเรามี เราสวดประณาม คาถาพระพุทธเจ้า ไม่ได้หมายความว่า เราประณามนะ ประณามพระพุทธเจ้า ประณามคาถา ที่สวดคาถา ที่สวดประณามคาถานี่ ชมเชยยกย่องพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น ประณามนี่ มีได้ทั้งคำดีและคำชั่ว เวลาเราจะใช้เชิงซ้อนในคนนี่นะ จะให้คนตกต่ำ เลวลงนี่ วิธีการชั้นลึกซึ้งนี่ เราไม่ไปพูดความเลวเขาหรอก เราพูดความดี ที่ให้เขาหลงตัว ให้เขาลืมตัว ดีอย่างป้อยอด้วยซ้ำ บางทีนี่ ไม่ใช่จริงด้วย ให้เขาหลงผิด หลงอะไรต่ออะไร เพริดไปเลยนะ คนนี้เลวลงๆ เพราะหลงนึกว่าตัวดี แต่แท้จริงตัวไม่ดี หลงตัวก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ เรียกว่า ประณามเลยนะ ประณามอย่างประเภทที่ ประณามเพื่อที่จะให้ทำชั่ว ด้วยกลวิธี ก็ยังได้เลย เอาคำดีนี่น่ะ มาชมเชย เอาส่วนดีนี่น่ะ มาพูดกับเขา ให้เขาหลงตัว ลืมตัว หรือบางทีก็ แม้จะไม่เอาคำดี หรือความดีที่มันใส่ความใส่ไข่ ประจบประแจง ด้วยซ้ำไป เอาความดีที่จริงนี่ มาพูดให้เขาหลงตัวลืมตัว ให้เหลิงอะไรไปเลยนะ ให้เหลิงๆ หลงๆไปเลย เขาก็เลวลงได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องไปพูดเรื่องเสียของเขาหรอก ไม่ต้องไปประจานความเสีย ของเขาหรอก เอาแต่ความดีนี่ ก็ยังทำให้คนชั่วได้เลย นี่ วิธีการในโลก มันมีซับซ้อนทุกอย่าง เห็นมั้ย

ทีนี้ก็มาพูดถึงมุมที่เมื่อกี้ พูดอยู่แล้วว่า การติเตียนกันนี่ ถ้าเราไม่มีใจที่จะไปติเตียนกัน ด้วยความหวังร้าย แต่ติเตียนกันด้วยความหวังดี แม้จะแรง หรือแม้จะมีอารมณ์ จะเป็นอารมณ์ โกรธ อารมณ์ไม่ชอบใจ แหม! มาทำไม่ดีทำไม อยู่ในนี้น่ะ ไม่ชอบใจนะ คนที่ตินี่ ไม่ชอบใจ มาทำไม่ดีอยู่ในนี้ทำไม อะไรต่ออะไรต่างๆ นานา มันจะมีอารมณ์ไม่ดี อารมณ์ไม่ชอบใจ อารมณ์โกรธประสมเข้าไปก็ตาม แต่เขาก็ติเตียนเราด้วยความเจตนา ไม่อยากให้เราทำ สิ่งที่มันชั่วๆเลวๆ นั้น ไม่อยากให้เราทำ มันก็ไม่น่าจะเป็นความผิดของคนนั้น คนนั้นอาจจะ ประมาณไม่เก่ง ไม่รู้จักกาละ ไม่รู้จักเทศะ ไม่รู้จักโอกาส ติแหลก ที่ไหนก็ติแหลก มันก็เป็น ความไม่รู้ของเขา แต่เขาเจตนาดี นี่ จะต้องมองบ้าง มองหาเจตนาดีบ้าง

ในพวกเรานี่ อาตมาเชื่อว่าพวกเราปรารถนาดีต่อกัน แล้วมันมีมากเสียด้ว เพราะฉะนั้น พวกเรา จึงติกันเก่ง อาตมาถึงเรื่องเสือสิงห์กระทิงแรด ในวงการในหมู่อโศกเรานี่ ติกันเก่ง อย่าว่าแต่ติ พวกเราเองเลย ไปติข้างนอกเขาก็เก่ง ในพวกเรานี่ อยู่ด้วยกัน มันก็เจอกันทุกวัน ใครทำบก ทำพร่องอะไร รู้มากเสียด้วยนะ ว่าอะไรไม่ดี รู้มากด้วย ไอ้นั่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ไม่ดี ลึกซึ้งด้วยนะ ซับซ้อนด้วยนะ รู้ว่า อย่างนี้ไม่ดี ไม่ดี ไม่ดี โอ๊ย! ซับซ้อนเลย ติแหลกเลย ติได้มากมาย พวกเรา จึงมีสิ่งเหล่านี้ แต่อย่างไรมันก็ดี การติกันนี่ อย่างไรมันก็ดีนะ ไม่ใช่ว่ามันไม่ดี ถ้าเรายิ่งเป็นคน ที่รับลูกได้ ไม่ด้าน ไม่ด้านหมายความว่า เขาติมาแล้ว ก็เป็นอลัชชี กลายเป็น คนหน้าด้าน เขาติมาก็เฉย ทำไม ฉันจะทำอย่างนี้ ทำไม เฉย ไม่รู้สึก ไม่รู้สมรู้สาอะไรแหละ เขาว่ายังไง ก็ทำหน้าด้านเฉยๆ ไอ้อย่างนั้น มันก็อลัชชี มันก็ไม่ได้เรื่อง

การติกันแล้วก็อย่าให้เกิดภาวะอลัชชี คือภาวะไม่รู้จักอาย ไม่เจริญขึ้น หน้าด้าน หน้าทน อย่าให้เป็นอย่างนั้นเป็นอันขาด เมื่อเรารู้สึกตัวแล้ว เราก็แก้ไขปรับปรุง แล้วก็ต้องขอบคุณ ผู้ติเตียนเรา ผู้ที่ถูกติเตียนแล้วมันก็จะต้องเป็นแบบฝึกหัด ถ้าไม่รู้จักแบบฝึกหัด ตัวเองก็จะมี อัตตามานะถือดี ถือตัว ไม่ให้ใครมาแตะมาต้อง ไม่ให้ใครมาติ มาเตียนได้ ก็แย่ หนักเข้า ก็อยู่กับหมู่ไม่ได้

ผู้ที่อยู่ได้ พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสยืนยันว่า ผู้ที่ทนอยู่ได้ ผู้ที่มีปัญญาญาณ มีความเข้าใจจริง ทนอยู่ได้ ผู้มีมรรคผลหรือผู้ทนอยู่ได้ จึงได้ดีแต่ถ่ายเดียว ผู้มีมรรคผลเท่านั้น จะทนอยู่ได้ ก็คือ ผู้ที่มีญาณปัญญา มีมรรค มีผล อย่างน้อย มีปัญญาเข้าใจอย่างดี แล้วเราก็ไม่ไปละ อย่างไร ก็ไม่ไป ถึงทนได้ ยิ่งมีเจโตแข็งแรง ไม่ไปด้วย เอ้า ! ก็แน่นอนแหละ คนนี้มีทั้งปัญญา มีทั้งจิต ที่แข็งแรง ที่รู้แล้วละ เขาติยังไงก็เอาอยู่อย่างนี้ หมู่นี้แหละ ยังไงก็ต้องเจริญกว่า ดีกว่า อยู่กับหมู่นี้ดี หนีไปไหน เอ้า ! คนนั้น มีทั้งเจโต ทั้งปัญญา เขาก็ทนอยู่ได้แน่นอน ผู้ทนไม่ได้ ก็คือผู้ทนไม่ได้ ที่มีเจโตไม่พอ หรือมีปัญญาไม่เข้าถึงปัญญาไม่เพียงพอ แต่อาตมาว่า พวกเราเข้าใจนะ มีปัญญาเข้าใจเพียงพอ แต่เจโตมันไม่พอ ทนไม่ได้ ใจเราตัวเองอัตตา เจโตนี่อัตตา ทนไม่ได้ ถือตัว มีมานะ มีอัตตา ถือดี อยู่ไปทำไมวะ อยู่ให้เขาด่า ให้เขาว่า ให้เขาติเตียน ไม่เอาละ ก็หนีไป ก็ออกไปได้

ทีนี้ อีกอันหนึ่ง คือไม่ใช่ตัวเราถูกติหรอก ตัวเราเห็นเขาไม่ดี มันซ้อนมากนะอันนี้ เห็นเขาไม่ดีแล้ว เราก็ไม่ติเขาเสียก่อนน่ะ เอาอันนี้ก่อน ไม่ติเค้า แต่ทนไม่ได้ ทนไม่ได้ ทนไม่ได้ ไม่อยากเห็น คนเลวในนี้ เอ้า! มันจะไปดีหมดทั้งร้อยได้ยังไงเล่า มันก็ต้องมีเลวมั่งแหละ เราก็ต้องทำ แบบฝึกหัดของเรา ที่ว่าอัตตามานะของเรานี่ ทำไมมันใหญ่นัก จะมอง แต่จะต้องเห็น แต่คนที่ดีหมดเลย ในโลกได้ยังไง มันต้องมีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามฐานะของเขา ไอ้ทนไม่ได้นี่ คือความอ่อนแอของเราชนิดหนึ่ง ความอ่อนแอที่มีอัตตามานะ ที่ทนไม่ได้ เพราะว่า เห็นเขาไม่ดี เห็นเขาประพฤติไม่ดีตำตา แล้วก็ทนไม่ได้ มันก็เป็นอัตตามานะของเรานั่นแหละ ที่ทนไม่ได้ เป็นการถือดีเกินไป เราดีให้ได้ อย่างที่เรียกว่าเราหมายเถอะ เขาไม่ดีเท่าเรา เป็นไรไป ก็ดีแล้วหละ เราดีกว่าเขาก็ดีแล้วนี่ ไม่ต้องไปยกตนข่มเขา แล้วก็ไม่ต้องไป แหม เขาต้องดี ดังใจเราคิด เอ้า ! เขาจะได้ดีดังใจเราคิดได้ยังไง

แหม... ถ้าอาตมามีจิตตัวนี้ในตัว อาตมาคงจะตายชักไปห้าล้านตลบแล้วละ ถ้าอาตมามีจิต ตัวนี้อย่างนี้นะ บอก แหม เขาไม่ดีดังใจเราเลยนี่นะ อาตมาคงระเบิด ไม่รู้ไประเบิดเท่าไหร่แล้ว คงจะตาย ไม่รู้กี่ทีๆแล้ว คงสลบตาย หรือว่าระเบิดไม่รู้กี่ทีแล้ว เพราะมันเห็นอยู่ นั่นแหละ ก็มีข้อบกพร่องกันอยู่ ทั้งนั้นแหละ หรือว่าใครหมดความบกพร่องแล้ว ยกมือขึ้น ใครหมดความบกพร่องแล้ว ดีเพียบเลย ดีร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ยกมือขึ้น ไม่มีนะ ไม่มีใครกล้า รับรอง อยากรู้เหมือนกัน อยากเห็นเหมือนกัน แม้แต่อาตมาเอง ก็ยังมีข้อบกพร่อง แล้วจะไปพูด ได้ยังไง เราจะไปหวังได้ยังไง ไปหวังว่า จะต้องบริสุทธิ์หมด แล้วเราก็บอกว่า ไม่ใช่บริสุทธิ์หรอก แต่มันหยาบ ว่างั้น ถือว่าหยาบ เอาละ มันก็หยาบ หยาบ ที่หมู่เขาก็ดูว่า มันหยาบขนาดไหน หยาบขนาดนี้ ก็ดูแลกันอยู่ ก็ค่อยๆ แก้ไขกันไป มันก็ไม่หยาบถึงขนาดหรอก แหม มันจะต้อง ถึงขนาดจะต้อง เอาละใครทนไม่ได้ ก็ทนไม่ได้อย่างว่าแหละนะ ทนไม่ได้ก็หลบหนีไป แต่ขอบอกว่า ไอ้ทนไม่ได้นั่นแหละ คือความอ่อนแอ ในเมื่อหมู่คนอื่นเขาทนได้ แล้วเขาก็พยายาม แก้ไขกันอยู่ ถ้ามันไม่ดีถึงมาตรฐาน มันก็ต้องออกกันไปอยู่นั่นแหละ ถ้ามันดีถึง มาตรฐาน เขาก็รับกันไว้ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็ต่างคนก็ต่างเข้าใจ หัดวางใจตัวเอง นี่ป็นสำคัญ หัดวางใจตัวเอง เป็นสำคัญ

เอาละ นี่หมายความว่า คนนั้นไม่ดีตำหูตำตา แต่เราก็ไม่ได้ทำอะไรกับเขาหรอกนะ ไม่ได้ไปว่า ไปอะไร แต่เราทนไม่ได้เอง

ทีนี้ ต่อมาอีกขนาดหนึ่ง ลึกซ้อนขึ้นไปอีก เห็นเขาไม่ดี เสร็จแล้วเราก็ไปท้วงติงเขา ติเตียนเขา ตอนนี้ไม่ใช่อยู่เฉยๆ เหมือนอย่างรายที่กล่าวไปแล้ว ไปติเตียน ติเตียนเขา แล้วเขาก็... แน่นอน คนเรา มันก็มีมานะเหมือนกัน ก็เกิดมานะ มานะก็ชกกะมานะซิ ตอนนี้เจ็บทีนี้ (พ่อท่านหัวเราะ) เจ็บทีนี้ เจ็บ เจ็บ เอ้า ! เราก็เลยประชดเลย บอกว่าหวังดีนี่หว่า หวังดี แล้วก็ทำไมมาว่าเรา มาปะทะเรา อะไรต่ออะไรเรา สู้กันไปสู้กันมา เจ็บ ก็อ่อนแออีกแหละ อย่างนี้ก็มี

เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องรู้ ต้องยอมรับโดยความจริง แล้วก็ต้องฝึกตนเอง อย่าให้มันอ่อนแอ เกินไป ในการที่เจตนาดีก็ดีแล้วละ เป็นความดี เมื่อเราได้ท้วงได้ติงเขาแล้ว เขาก็มีมานะบ้าง จะให้เขายอมรับเลยว่า เขาไม่มีมานะเลย ก็ดีน่ะซี ถ้าไปท้วงใคร ใครก็ไม่มีอะไร ก็โต้ตอบเลย ไม่มีมานะกิเลสเลย มันก็ดีน่ะซี อาตมาก็อยากได้นะ (พ่อท่านหัวเราะ) แล้วมันไม่ได้นี่นา อยากได้เหมือนกันนา แต่มันไม่ได้นะ มันไม่ได้แล้วทำไงล่ะ มันก็ต้องมีภาวะ reaction มี action ก็ต้องมี reaction มันก็ธรรมดา ข้อสำคัญ เรารับลูก reaction ให้ได้ซี ทำไมจะต้องอ่อนแอเกินไป นั่นก็หมายความว่าอ่อนแอ อีกจุดหนึ่ง จะว่าอ่อนแอก็คือ มานะของตัวเองอีกนั่นแหละ แหม...มันไม่ได้ดีดั่งใจกูนะนา เอาไปทำไมมันไม่ได้ดีดั่งใจกู ไม่อยากเห็นเลย ไม่ได้ดี ขอไม่เห็นเหอะ เอ้า ! ก็ขอไม่เห็นก็ต้องหนีไป ถ้าเผื่อว่ามาที่นี่ มันก็ต้องพบที่นี่ มันก็ต้องเห็นที่นี่ มันก็ต้องอยู่ที่นี่ ก็ต้องประสบ มันก็ต้องพบ ต้องเห็น เมื่อพบเห็น เราก็ทนไม่ได้ ก็ลูกอ่อนแอกับ ลูกมานะผสมกัน ก็เลยเป็นอย่างนั้น

มีคนแทรกมาอีก ให้ฟังว่า "ขณะนี้ลูกจิตตก ไม่อยากเข้าพุทธสถาน ไม่อยากมาทำงาน ทั้งๆ ที่ลูกรู้อยู่ว่า งานที่ช่วยศาสนานี้ เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังทำใจให้ยินดีในการงาน และวางใจ กับเพื่อนบางคนไม่ได้ ขอให้พ่อท่านได้โปรด ช่วยลูกให้พ้นจากนรกขุมนี้ด้วย" ว่างั้นน่ะนะ

นี่แหละ กำลังพูดถึงอยู่นี่แหละ กำลังพูดอยู่ว่า ตัวเองมาก็ได้บุญ ได้สร้างบุญ ได้สร้างกุศล ได้ทำดี ได้ขัดเกลา แต่ขัดเกลาไม่ค่อยไหว มันอ่อนแอ นี่บอกให้ฟังว่า อ่อนแอ และนอกจาก อ่อนแอแล้ว ก็เกิดมานะ อัตตาถือดี อย่างที่อธิบายเสริมไปให้ฟังอยู่ด้วย นี่ลูกเสริมไปว่า มันจะได้ดั่งใจเรา มันไม่ได้ดั่งใจเรา เอ้า ! ก็เขายอมรับแล้ว เขาก็บอก เขากำลังปรับปรุงแก้ไขอยู่ ก็ให้โอกาสเขาบ้างซี มันจะได้ดังใจได้ยังไงเล่า อาตมาก็เคยเทศน์ไม่รู้กี่ทีว่า ซ้อนๆ เชิงน่ะ อาตมายิงศร ยิงลูกปืนซ้อนเข้าไปหาตัวของคนนั้นๆทุกที แล้วใจตัวคุณเองนี่นะ คุณเอง คุณมีส่วนบกพร่องของคุณเอง คุณทำให้ส่วนบกพร่องของคุณเอง ให้ได้เร็วไวดั่งใจ ของคุณเองน่ะ ได้รึเปล่าล่ะ ก็ยังน่ะ อ้าว! ก็ขนาดคุณเอง ใจคุณเอง คุณยังทำไม่ได้ดั่งใจคุณเอง แล้วคุณจะให้คนอื่น ใจของเขาให้มาได้ดั่งใจคุณเอง แล้วกัน (พ่อท่านหัวเราะ) มันก็แล้วกัน เท่านั้นเองน่ะซิ ขนาดใจคุณเอง ตัวคุณเอง คุณยังทำให้ได้ดังใจตัวคุณเองยังไม่ได้ แล้ว คุณไปเอาใจคนอื่นมา จะต้องได้ตามดังใจของข้า เอ็งต้องได้ดังใจข้า แหม... อาตมา มิกล้าเลยนะ มิบังอาจเลย ทำไมท่านผู้นั้น ถึงได้บังอาจปานฉะนั้น (พ่อท่านหัวเราะ) ท่านผู้นั้น ทำไมถึงได้ บังอาจปานฉะนั้น มันได้ยังไง ขนาดพระพุทธเจ้าเอง อาตมาก็ว่าไม่ได้นะ จะต้องได้อย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ดังใจ พระพุทธเจ้าเองนะ อาตมาว่าพระพุทธเจ้า ก็ต้องอกหัก เหมือนกันนะ ถ้าเผื่อจะเป็นอย่างนั้น แต่โชคดี ที่พระพุทธเจ้าไม่เป็นคนอย่างนั้น (พ่อท่านหัวเราะ) ไม่เป็นคนอย่างนั้น คนไหนเป็นล่ะ คนนั้นก็นั่งเจ็บปวดไป เป็นทุกข์ อวิชชา ตัวไม่เข้าใจความจริง มีอัตตามานะ ไปถือดี จะต้องให้ได้ดีดังใจกู นั่นน่ะ อัตตากู แล้วก็ มานะของกู กูก็ต้องเจ็บปวดอยู่อย่างนั้นแน่ะ มันจะไปได้ยังไง

เพราะฉะนั้น ต้องเห็นความจริงให้ได้ว่า ใครก็แล้วแต่ จะเป็นเพื่อนสนิท หรือไม่สนิทก็ตาม ไม่ได้ดังใจเราหรอก เมื่อไม่ได้ เราก็ต้องรู้เขารู้เราให้ชัด ก็เขาก็คือเขา แม้อย่าว่าแต่เขาเอง เขาก็ยอมรับว่า เขาเอง เขาก็ไม่ดีแล้วหละ เขาก็รู้แล้วละ แต่ขอเวลาพัฒนาตัวเองเถอะ ขอแก้ตัวเถอะ ขอทำต่อไปก่อน มันยังไม่ได้ทันทีเดี๋ยวนี้ เขาก็ยังพอว่านะ เขาก็รู้ของเขา ถึงแม้เขาจะไม่รู้ตัวเขาเลย เขาจะเถียงเราด้วยซ้ำไปว่าไม่จริง ฉันไม่ได้เป็นอย่างแกว่า ฉันดี ๆ ทั้งๆที่เราก็เห็นอยู่ว่า เขาไม่ดีนะ เขาก็เถียงว่า เขาดี เขาดี เขาไม่เห็นก็ตาม ก็ปล่อยเขาไปเถอะ ก็เขาไม่เห็นจริงๆ ไม่รู้จริงๆ ถึงแม้ว่าเราเห็นโต้งๆ เห็นโทนโท่อยู่เลยว่า เขาไม่ดีจริงๆละนะ แต่เขาก็เถียงเลยว่า เขาไม่จริงน่ะ ไม่ใช่เป็นอย่างที่คุณว่าซักหน่อย ถึงอย่างนั้นก็ตาม เราก็ต้อง วางใจของเราว่า เออ...มาเถียงฉันทำไม นั่น... ยิ่งบอกว่ามาเถียงฉันทำไม อ้าว ! ก็มันเถียงซิ ก็มันมีเถียงน่ะ แล้วบอกว่า เถียงทำไม ก็มันไม่รู้ตัวมันน่ะซิ มันถึงเถียง ก็มันรู้ตัวมันแล้ว มันไม่เถียงหรอก มันก็ยอมรับน่ะซี ก็อย่างที่คนยอมรับไปแล้ว

โอ๊! (พ่อท่านหัวเราะ) อาตมาว่า อาตมาพูดกำปั้นทุบดินหมดแล้วนะ แล้วยังจะงงๆ เมาๆ อยู่อีก ก็ไม่รู้ว่าไงแล้ว (พ่อท่านหัวเราะ) ก็เขายังโง่ เขายังมืด เขายังไม่รู้ตัว นี่สมมุติให้คุณถูกนะ คุณมองถูกด้วย ว่าเขาเอง มองเห็นว่าเขาไม่ดี หรือเขาผิด เขาเสียอยู่ แล้วตัวเขาไม่รู้ตัวเขา เขาก็เถียง เขาก็นึกว่า เขาดีด้วยซ้ำไป เขาก็เถียงน่ะซิ ก็เขาเข้าใจอย่างนั้น เขานึกว่าเขาถูก เขาหลงตัวเองก็ตาม หรือเขามองไม่ออกของเขาก็ตาม แล้วจะให้ทำยังไง มันหมดแล้วนี่ มันจบแล้วนี่ แล้วจะไปเอาดังใจเราไม่ได้ ยิ่งเขาไม่เห็นด้วย เขาไม่รู้ด้วย เขาหลงผิดด้วย เลิกเลย ขนาดเขายอมรับ เขาเห็นแล้ว เขารู้ตัวแล้ว ว่าเขาไม่ดี มันก็ยังต้องมาแก้ไข ขัดๆเกลา ยังอบรม ฝึกฝน ไปอีก กว่ามันจะสมบูรณ์ กว่ามันจะเจริญได้ ใช่มั้ย ไอ้นี่ยังไม่รู้เลย แล้วก็จะไปโกรธ ไปเกลียด เขาได้ยังไง

บางทีมีแต่น่าสงสาร ปัดโธ่! บอดอย่างนี้หนอ ! คนบอด ก็ต้องสงสารคนบอด ต้องมีจิตโพธิสัตว์ หน่อยซี เป็นลูกโพธิสัตว์ มีจิตโพธิสัตว์หน่อยซิ จะต้องสงสารคนตาบอด คนโง่ คนเมา คนบ้า คนสติไม่ค่อยเต็ม มันก็ต้องสงสารกันซิ คนอย่างนั้นน่ะ จะไปลงโทษ ลงโพยคนเมา คนบ้า คนโง่ คนสติไม่ดีอะไร ไปลงโทษมันก็ตายเปล่าเท่านั้นแหละในโลกนี้ ไปลงโทษได้ยังไง ก็มันไม่รู้ หรือ มันโง่ หรือมันเมา ไปลงโทษเขาได้ยังไง จริง มันไม่ดีจริงๆนั่นแหละ มันยังไม่สมบูรณ์ มันยังไม่เจริญจริงๆนั่นแหละ ก็จริงน่ะซิ แล้วก็ช่วยกันซิ เท่าที่เราจะช่วย ทำยังไงให้เขาเป็น คนตื่น เป็นคนมีปัญญา เป็นคนเห็นตัวเอง เป็นคนยอมรับความจริง เป็นคนเข้าใจตัวเองจริงๆ ว่าตัวเองไม่ดี มันไม่งาม อันนั้นจะได้แก้ไขปรับปรุง ก็ต้องให้เขาเห็นให้ได้ ช่วยเขาให้ได้ ถ้าจะช่วย หรือมันพ้นภาวะที่จะช่วยแล้วละ เราหมดสมรรถภาพ หมดความสามารถ ที่จะช่วยเขาแล้ว เราก็วางมือ ก็ให้คนอื่นช่วย คนไหนที่มือเหนือกว่า เห็นว่าเขาสามารถกว่าเรา ก็ให้เขาช่วย หรือว่าคนนั้นเหมาะสมกว่าเรา ก็ให้เขาช่วย หรือไม่มีใครจะช่วยเลย ก็ต้องปล่อย ให้เขาไปตามเรื่อง ตามประสาเขา ไม่มีใครจะช่วยเขาเลย ถ้าเขาต่ำกว่ามาตรฐาน ที่จะอยู่ในหมู่ หลายๆคน หมู่มากมาย ก็จะแสดงอาการปล่อยวาง เขาก็จะอยู่อย่างหมาหัวเน่า หนักเข้า เขาก็ต้องออกไปเอง ภาวะพรหมทัณฑ์นี่ มันจะทำให้เค้นออกไปเอง หรือไม่ก็ไปเจอเอาคนแรงๆ อย่าว่าแต่ปล่อยให้ออกไปเองเลย บางทีก็ด่าเช้าด่าเย็น ถีบเช้าถีบเย็นให้เขาออก (พ่อท่านหัวเราะ) ก็แล้วแต่ ก็สามารถถีบได้ เขาไม่ถีบตอบก็เรื่องของเขา (พ่อท่านหัวเราะ) ถ้าเขาสามารถ ถีบออกไปได้ ก็เรื่องของเขา ถ้าเขาไม่สามารถ... แต่ก็โดนน่ะ โดนถีบกลับน่ะซิ ไปถีบเขาออก ไล่เขาออก ด่าเขาออก ว่าเขาออก เขาอยากอยู่ เขาก็ต้องตอบโต้เอาบ้าง

เราก็ต้องมีวิธีการซับซ้อนอยู่อย่างนี้แหละ แนะนำกันช่วยเหลือกัน เพราะเรื่องอัตตามานะ มากมายจริงๆนะ เราจะต้องเป็นผู้ฉลาด อย่าเป็นผู้เสียท่า มันน่าขายหน้า เราจะหวังดี อย่างไรก็ตาม อย่าแพ้ภัยตัว อย่าได้โง่ของตัวเอง หรือตัวเอง ว้า! ทุกข์ของตัวเอง เจ็บปวดของตัวเอง เอาชนะคะคาน เกิดมานะอัตตาของตัวเอง แล้วตัวเองก็เลยไม่ชอบใจ แล้วเลยก็ชิงชัง เกิดเบื่อ เซ็ง อะไรก็แล้วแต่ เป็นภาวะที่มันเป็นโรคที่ต่อเนื่องทั้งนั้นแน่ะ โรคที่เกิด จากเหตุแห่งอัตตามานะ ที่จะไปช่วยคนอื่นแล้วช่วยไม่ได้ แล้วตัวเองก็เกิดโรคเหล่านั้น ใส่ตัวเอง ไอ้โรคพวกนี้เป็นโรค psychosis หรือ neurosis ทั้งนั้นแหละ เป็นโรคทางจิต ไม่ใช่โรคทางกายหรอก จะอ่อนเปลี้ย เพลียแรง มันก็มีผลจากจิตมา ดีไม่ดีจะเจ็บหู เจ็บหัว ปวดนั่นปวดนี่ขึ้นมา ระวังเถอะ ไปกันใหญ่เลย ทีนี้โรคนี่ไม่สมใจตัวเอง แล้วก็กลายเป็นพวกโน่นพวกนี่อะไร ยิ่งหนักหนาขึ้น มาในร่างกายอีก โอ๊ ! อาตมาว่า จะซวยกันใหญ่หนอนี่ ทั้งๆที่มันไม่ได้มีเหตุ มาจากกายนะ แต่เหตุมาจากจิตนี่เอง ไปยึดมาก ยึดจัด ไม่สมใจกู มีอัตตามานะเกินไป หัวก็ปวด ท้องก็ปวด อะไรก็ปวดเข้าไป นี่ หนักๆ ประเดี๋ยวเถอะ ปวดไปหมด อย่างน้อยที่สุด มันก็ปวดหัวใจน่ะ (พ่อท่านหัวเราะ) อย่างน้อยที่สุด ก็ปวดหัวใจ พุทโธ่เอ๊ย! ซวยตายเลย เอ๊! คนเรานี่ อาตมาละ แหม ทำยังไงหนอ มันจะทำให้คนหมดอวิชชา ทำยังไงหนอ มันจะทำ ให้คนหายโง่ ทำไมมันยังโง่กันอยู่ จุ๊ย์ จุ๊ย์ มันโรคโง่จริงๆ น่ะนะ

นี่ อาตมาว่านะนี่ ไม่ใช่ไม่ว่านะนี่ ว่าจริงๆน่ะ ว่ามันโง่จริงๆ เอ๊! ทำมั้ย มันไม่รู้... (พ่อท่านหัวเราะ) ไม่ตื่น ไม่คลายโง่อันนี้ แล้วไปเจ็บหัวใจ เจ็บปวดไปจนถึงร่างกาย เจ็บปวดไปถึงอ่อนเพลีย แรงไม่มี อะไรต่างๆนานา หนักเข้าก็กลายเป็นคนไร้งาน ไม่ทำแล้วงาน จะเอาแต่นอน เอาแต่กิน เสร็จแล้วก็ ไปประชดตัวเอง ไปกินเสียกินหาย ไปประชด ดีไม่ดี อย่างโลกเขาเห็นมั้ย ประชด กินเหล้ากินยา ไปเต้นไปดีด ไปอบายมุข ไปโน่นไปนี่ โง่จริงๆ ทำให้ตัวเองโง่ โง่ต่อไปอีก แล้วก็ไปให้ตัวเองเสื่อมเสีย ชำรุดทรุดโทรม เอาอะไรมาด่างมาพร้อย เอาอะไรมาโปะมาปะ ให้ตัวเองเลอะๆ เปื้อนๆ ต่อไปอีก โง่ไม่เสร็จ เรื่องนี้ ชื่อเรื่อง โง่ไม่เสร็จ ดีมั้ย เทศน์กัณฑ์นี้นะ ชื่อเรื่อง โง่ไม่เสร็จ

นี่ อัตตามานะ มันมีตัวอวิชชา หรือตัวโง่ไม่เสร็จ ตัวพวกนี้ซ้อนซับซ้อนตลอดเวลา มันซับซ้อน ลึกซึ้ง หลายชั้น ที่อาตมาพูดไปนี่ ยังพูดไม่หมด และ อาตมาก็ยังพูดไม่ไหว ยังไม่เก่งพอ จะพูดที่ซับซ้อนกว่านี้มีอีก ที่อาตมาเข้าใจๆอยู่ในใจ ในที่เหตุเกิด ในพวกเรานี่แหละ อาตมาไม่ต้อง ไปหาเอาไหนหรอก อู๊ย! มากมายตัวอย่าง (พ่อท่านหัวเราะ) มากมาย นี่ตัวอย่าง มากมายเลย หา speciment ได้เยอะ (พ่อท่านหัวเราะ) ที่จะเอามาใช้มากมาย แล้วอันไหนที่ อาตมาพอพูดได้ หยิบมาอธิบายขยายได้ ก็หยิบมาขยาย เรื่องอย่างที่เอาหยิบมาขยายอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องประจาน ไม่ใช่เรื่องมาทำให้พวกเรายิ่งเสื่อม ไม่ใช่ว่า เราเอามาฉีกหน้าพวกคุณ ขณะที่พูด อาตมายังไม่ได้กล่าวชื่อใครนะ ยังไม่ได้ไปบอกว่าเป็นใคร แต่มีคนละมากบ้าง น้อยบ้าง ก็แล้วแต่ บางคนมีเอามาก บางคนมีอยู่ส่วนกลางๆ บางคนมีน้อยๆ ก็ฟังเอาก็แล้วกัน ว่ามันถูกตัวเองขนาดไหน บางคนน่ะตั้งมากนะ แต่นึกว่า ถูกเรานิดหนึ่ง ฮั่นแน่ ! มันยังโง่ต่ออยู่ มันยังมืดอยู่เยอะ นึกว่าเรามีหน่อยเดียว ที่จริงมีตั้งเยอะแน่ะ นึกว่าถูกเรานิดเดียว ที่ไหนได้ ของตัวเอง ทั้งกระบินั่นแน่ะ (พ่อท่านหัวเราะ) แต่ไม่รู้ตัว บางคนก็รู้ตัว ทั้งกระบิ โอ้โห! เจอเราเต็มเปาเลย นี่หมดเลย นี่ นี่ ด่าเราทั่ว ตั้งแต่ต้น จนกลาง จนปลายเลยนี่ เราคนเดียวเท่านั้นแหละ โดนเข้าปึ้กเลย เสร็จแล้วโกรธต่ออีก ว่าไม่ได้เชียวนะ อัตตามานะนี้ แตะไม่ได้เชียวนะ นี่จะเป็นใครก็ไม่รู้ละนะ ที่จริง อาตมาพูดนี่ กลางๆ ไม่ได้พูดเหมาคนเดียว ทั้งหมดหรอก พูดในหลายประเด็น หลายลักษณะ ที่พูดไปแล้วนี่ แยกวิเคราะห์ให้ฟัง ตั้งหลายประเด็น หลายแบบ

สรุปแล้ว ก็จะต้องรู้ตัวทั่วพร้อม ให้ได้ว่าจิตของเรานี่ เกิดอาการ ลิงคะ นิมิต เกิดเครื่องหมาย บอกให้เรารู้ได้ มีญาณ รู้เครื่องหมาย รู้นิมิต มีญาณรู้อาการ รู้ว่าอย่างนี้ มันเป็นกิเลส เป็นอุปกิเลส เป็นตัวลักษณะของกิเลสอย่างต้นกลางปลาย นี่สายโทสะ มานะกิเลสนี่ มันสายโทสมูล สายไม่ค่อยชอบใจ สายนี้เห็นทุกข์ชัดนะ แต่ปัญญาญาณยังไม่เกิด ไม่รู้ตัวแน่ะ ว่าตัวเองทุกข์ แล้ว ใครหามาให้ ตัวเองหา ใครยอมให้มันเกิด ตัวเองยอม ถ้าคนที่เก่งแล้ว ไม่ยอมให้มันเกิดหรอก แล้วมันก็เกิดที่เราไม่ได้ คนที่ฝึกปรือดีแล้ว มันไม่เกิดหรอก ไม่เกิด ไม่เกิดจริงๆ แล้วไม่ใช่หน้าด้านด้วยนะ มีปัญญารู้ด้วยว่า หยาบ กลาง ละเอียด ขนาดไหน เขาเป็นผู้ที่รับลูกเป็น แล้วเราจะจัดการยังไงกับอันนี้แหละ เราก็ไม่ทำตนเองให้ขาดทุน ตัวเองไม่รับแล้ว ตัวเองก็ไม่บกพร่อง ตัวเองก็ไม่เสียเวลา ไม่เสียโอกาสที่จะสร้างบุญ อย่างที่พูดมานี่ โอ๊ย! ไม่อยากจะเข้าพุทธสถาน จะอยู่ไม่ได้อะไรนี่ บอกมานี่ ที่จริงเขา เขียนชื่อเขามา อาตมาไม่อ่านชื่อให้คุณฟัง คนที่เขียนมานี่ คนที่เป็นอย่างนี้ มีอยู่หลายคน อยากจะออกไป จากพุทธสถาน บางคนก็ออกไปแล้วบ้าง ยังไม่เข้ามา บางคนก็เกือบ จะออก อยู่แล้วนะนี่ บางคนก็ยังไม่ออก หนักกว่านี่หน่อย จะทนดูซิ มันหนักกว่านี่ มากกว่านี่ ทนไม่ได้ก็ออก บางคนก็ออกไปแวบหนึ่ง ก็มาใหม่ กลับมา บางคนแวบไปสองวัน (พ่อท่านหัวเราะ) บางคนแวบไปวัน บางคนแวบไปนานเลย โอ้โห! แล้วไปนานนะนั่นน่ะ ไปเสียเวลาด้วยนะ ดีไม่ไดี ไปเที่ยวได้เอาอะไรก็ไม่รู้ เอาเชื้อกิเลส ใส่ตัวเองเพิ่มขึ้นมาด้วย มานี่เขรอะมาเชียว โอ้โห... มอมมาเลย บางคน่ะ โธ่เอ๊ย ! อะไรก็ไม่รู้ (พ่อท่านหัวเราะ) บางคน หายไปเป็นปีเลย ไอ้ตั้งเป็นปีที่หายไปน่ะ ถึงไม่ค่อยรู้สึกตัว ยังไม่ค่อยรู้สึกตัว หายไปเป็นปี ค่อยโงเงง่องแง่งๆ กลับมาแล้วก็ พอมาตอนนี้ ก็ปูเลี่ยน ปูเลี่ยนมา เอ้า! ก็มา ตั้งหน้าตั้งตา เอาใหม่ สู้ใหม่ ก็ยังดีนะที่กลับมาได้ ก็ยังดีนะ ใครกลับมาได้ไวเท่าไหร่ ก็ดีเท่านั้นแหละ ว่ากันจริงๆ กลับมาได้ช้า ก็เสียเวลาไปเท่านั้น

อาตมาไม่ค่อยเชื่อนะว่า ออกจากนี่ไปแล้ว จะมีผลดี ได้ผลดี ได้ความดี เรียกว่าไปแล้ว ก็ไปพัฒนา ได้ดีกว่าอยู่ในนี้ ออกไปข้างนอกล่ะ โอ้โฮ! ไปได้พัฒนาแข็งแรงเลย โอ้โฮ! ไปมีสัปปายะที่ดี มีเสนาสนะที่ดี ออกไปจากนี่แล้ว มีบุคคลสัปปายะ มีเสนาสนะสัปปายะ มีธรรมสัปปายะ มีอาหารสัปปายะที่ดี โอ! ได้ดีแล้ว แข็งแรงค่อยกลับมา อาตมาไม่เชื่อหรอก เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไปได้สัปปายะที่ดี บุคคลที่ดี เป็นบุคคลสัปปายะ เสนาสนะสัปปายะ อาหารสัปปายะ ธรรมะสัปปายะ จากที่ไหนก็แล้วแต่ คุณก็ต้องอยู่ที่นั่นต่อ เรื่องอะไร คุณจะมาที่นี่เล่า ใช่มั้ย (พ่อท่านหัวเราะ) ก็องค์ประกอบสิ่งแวดล้อมที่นั่น สัปปายะทั้งนั้น คุณเจริญ เจริญเพราะที่นั่น แล้วคุณจะผ่ามาที่นี่ทำไม ใช่มั้ย เพราะฉะนั้น คนที่กลับมาที่นี่ หรือมาที่นี่จริงๆนั่นน่ะ ก็ต้องมาด้วยเห็นว่า มาที่นี่แหละถึงจะเจริญ ที่โน่นมันไม่เจริญ หรือมีอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า คุณเจริญจากที่นั่นจริงๆ ถ้ามาที่นี่ ก็เพื่อจะมาสอน มาใหญ่ เพราะได้เจริญจากที่นั่น มาที่นี่ก็จะมาสอนที่นี่ บอกที่นี่ไม่เจริญหรอก และวันหรือต่อไป คุณก็จะแนะนำ ให้พวกเราไปที่นั่น เพราะที่นั่นมีองค์ประกอบที่สัปปายะทุกอย่าง แล้วเขาก็ได้ เจริญจากที่นั่น เขาก็จะมาชวนเราไปที่นั่นแหละ ก็ไม่เป็นไร ถ้าที่นั่นดีๆ จริง เราก็จะไปศึกษาดูบ้าง ไปศึกษาดูจริงๆ แล้วว่าถ้าที่นั่นดีจริงแล้วว่า เออ!ที่นี่ สู้ที่นั่นไม่ได้ เราก็จะยอมรับ ก็อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่ถ้าเผื่อว่าไม่เป็นอย่างที่อาตมาว่านี้น่ะ จากที่นั่นน่ะ มันก็ไม่ได้เจริญหรอก แล้วมาที่นี่ มาก็ต้องมาปูเลี่ยนๆ น่ะล่ะ ว่า เออ...เหมือนกับเราอยู่ที่นั่น มันก็ไม่เจริญ นี่รู้ตัว นอกจากหลงผิด หลงผิดว่าไปที่โน่น นึกว่าตัวเองเจริญ เจริญนี่วัดค่าง่ายๆ ว่าไปที่โน่นสบายใจ มาที่นี่ ไม่ค่อยสบายใจหรอก ออกไปที่โน่นอยู่สักเดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง โอ๊ย! สบายใจเลย อยู่ที่โน่น ไอ้คำว่าสบายใจที่โน่นน่ะ มันสบายยังไงล่ะ มันได้บำเรอกิเลส อยากกินก็ได้กิน อยากนอนก็ได้นอน อยากเที่ยวก็ได้เที่ยว มีใครก็ไม่ขัดเกลาอะไร ไม่มีใครมาติ มาเตียนอะไร โอ๊ย! สมใจอัตตามานะดี ไม่มีใครมาติมาเตียน ไม่มีใครมาข่มมาว่า เสร็จแล้ว อยากจะกิน อยากจะนอน อยากจะละเลงอะไรก็ละเลงของเราไปตามสบายใจ อิสรเสรี อิสรเสรี (พ่อท่านหัวเราะ) เต็มที่เลย ก็สบายน่ะซี ก็บำเรอกิเลสตัวเอง มันก็สบายซิ คนเรา ใช่มั้ย มันก็พอใจ มันก็ระเริง ไอ้ระเริงอย่างนั้นแหละ ถ้าไม่มีปัญญาญาณที่รู้ความจริงแล้วละก็ ยังโง่ไม่เสร็จ อยู่นั่นแหละ ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ตัว ถ้าคนมีลักษณะที่อาตมาขยายความให้ฟังนี่ ก็ต้องระวัง ต้องศึกษา สำนึก สังวรกันดีๆ ศึกษากันดีๆ

อาตมาบอกได้อีกนะ ย้ำได้อีกเลยนะว่า อาตมาทำงานกับพวกเรานี่ พวกคุณมาให้อาตมา นั่งเทศน์ นั่งว่า นั่งด่า นั่งโขก นั่งสับอะไรก็แล้วแต่เถอะ อยู่ทุกวันนี้นี่นะ อาตมาบอกอีกว่า อาตมาเอง อาตมาไม่ได้คิดว่า อาตมาจะมาหาบริวาร ไม่ได้มาหาบริวารหรอก จริงๆ อาตมากั้นมา แต่ไหนๆแล้วว่า อาตมาไม่ได้ต้องการลูกศิษย์ แต่ในความหมายของมันโดยสัจจะ มันมีลูกศิษย์ มันมีบริวารโดยธรรม แต่ใจอาตมา อาตมาพูดความจริงจากใจอาตมาเองว่า อาตมาไม่ต้องการลูกศิษย์ จริงๆไม่ต้องการลูกศิษย์ แล้วก็ไม่ต้องการให้ใครมาเรียกอาจารย์ มาอะไรต่ออะไร ยิ่งๆใหญๆ แต่ก่อนนี้ อาตมาก็เคยบอกว่า มีคนเขาบอกว่า ไม่เรียกอาจารย์ เรียกครูได้มั้ย ก็บอกขอเรียกครู ตกลงมีคนเรียกครู ในสายธรรมนะ ไม่ใช่ทางด้านโน้นนะ มีคนเรียกอยู่คนหนึ่ง เดี๋ยวนี้ ไม่รู้หายไปไหนแล้ว เรียกครู อยู่อยุธยา เรียกครู เดี๋ยวนี้ มีคนเรียก อาจารย์บ้าง เรียกไปอย่างนั้นแหละ เขาไม่รู้ ถ้าเขารู้ เขาไม่เรียกอาจารย์หรอก เขาก็เรียก พ่อท่าน เพราะอาตมาบอก ไม่เอาหรอกอาจารย์ หนักเข้าก็อย่างก็ที่เคยเล่าให้ฟังแล้ว ก็เรียกพ่อท่าน ที่จะให้พ่อท่าน ก็เพราะว่าคนเรียก เป็นสาว อาตมาเป็นหนุ่ม เลยเรียกพ่อก็แล้วกัน มันกลบเกลื่อนไปหน่อย ได้อะไรอย่างนี้ ก็เคยเล่าให้ฟังแล้ว เสร็จแล้ว มันก็เป็นภาษา ยกย่อง ของทางด้านสายพระ เพราะว่าคำว่าพ่อท่าน ทางปักษ์ใต้ เขาเรียกพระผู้ที่ยกย่อง นับถือ เรียกพ่อท่าน ในสายทางใต้ คนเรียกนี่เดิมเขาเป็นคนใต้ อาตมาก็ว่า เอ้า ! สมเหมาะ สมควร ก็เรียกกันไป แล้วก็เลยเรียกพ่อท่านกันมาอย่างทุกวันนี้ แล้วอาตมาก็เห็นลึกไปกว่านั้นด้วยว่า เออ... มาเป็นพ่อ เป็นลูกกันน่ะล่ะดีกว่า มาเป็นพ่อนี่ อาตมาว่ามันจะเกิดญาติธรรม มันจะเกิดสายญาติ ไม่ใช่เกิดสายครูบาอาจารย์แบบโลกๆ อะไรมากมายนัก เดี๋ยวนี้ มันยิ่ง มันใหญ่ เหลือเกิน ครูบาอาจารย์นี่ยิ่งใหญ่ เกิดอันนี้มันยังมีตัวลึกอีกตัวหนึ่ง คือเกิดญาติธรรม จึงได้พยายามใช้ เอ้า! คนไหนจะใช้ภาษา อะไรที่ถูกดี เรียกญาติธรรมอย่างนี้เป็นต้น อาตมาก็เลย เอ้า! รับ คำว่า ญาติธรรม ก็ใช้ญาติธรรม มาจนกระทั่งทุกวันนี้ แล้วอาตมาก็ ให้เขาเรียก พ่อท่าน อะไรนี่ เขาเรียกกันมา ไม่อยากเป็นอาจารย์ ไม่ได้อยากมาเป็นผู้มีบริวาร อะไรต่ออะไรมากมาย อะไรอย่างโลกเขาเข้าใจน่ะ อาตมาว่า อาตมาไม่มีจิตตัวนั้น แต่มันก็มีโดยธรรม มันมีโดยธรรม โดยสัจจะ มันมีของมันเอง แต่ใจอาตมาไม่ได้ต้องการ

อาตมาถึงบอก ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร พูดจริงนะ ใครมาถามมาว่า คนสึกไปทุกข์มั้ย ท่านเสียดายมั้ย อาตมาบอก อาตมาก็จะพูดโดยโลก มันก็อย่างนั้นแหละ มันก็ไม่ควรจะสึกไป สำหรับบางคน บางคนแน่ะสึกไปก็ดีแล้ว หรือว่าคนออกไปเสียดายมั้ย อยู่กันมานาน นานแล้วนะ อยู่ด้วยกันมา เป็นฆราวาสก็ตาม ช่วยเหลือเฟือฟาย ฝึกฝน อบรม ฝึกฝนอะไร กันมาตั้งนาน เสร็จแล้วก็แยกออกไป ก็คำตอบเดียวกันน่ะแหละว่า บางคนก็ไม่น่าออกไปนะ จะบอกว่าเสียดายมั้ย อาตมาบอก อาตมาไม่ได้เสียดาย แล้วก็ไม่ได้ฟูใจอะไรว่า แม้คุณจะอยู่ แม้คุณจะเจริญ มีมากมีมายก็ไม่ได้ฟูใจ ออกไปหรือว่าหนีจากกันไป ตกหล่นไป แล้วอาตมา ก็ต้องเสียดาย โหยหาอาวรณ์ ทุกข์ร้อนอะไร ก็คิดว่าไม่ได้ทุกข์ไม่ได้ร้อนอะไร จะออกไป ก็ออกไป หล่นออกไป ร่วงออกไปก็เอา เราก็ทำไงได้ล่ะ ก็เขาไม่อยู่ เขาจะต้องออกไป จะต้องจากไป จะต้องพรากไป ไม่อยู่ด้วยกัน จะให้ทำยังไงล่ะ ใครอยู่ด้วยกัน อยู่ก็มีอะไรดีแก่กันและกัน ก็พัฒนากันไป ช่วยกันไปซิ อาตมาก็ว่าอยู่นี่แหละ ก็มีเท่าไหร่ ก็อยู่ด้วยกัน พัฒนากันไป ช่วยกันไป เท่าที่ช่วยกันได้ ก็คิดว่า เท่านี้ที่ทำอยู่ตลอดเวลา ก็วางใจอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่ง อาตมาคิดว่า อาตมาวางใจได้ไว ได้เร็ว ได้ง่าย วางก็เหมือนกับไม่วาง มันก็อยู่ในตัวของมันเอง มันวาง อาตมาก็วางใจ แต่ไม่ได้วางประเภทที่เรียกว่า วางใจประเภทไม่เอาภาระ วางตะพึด อะไรก็วางเรื่อยไป ไม่ยึด ไม่ติด ไม่เกาะ ไม่สัมพันธ์ ไม่ใช่ สัมพันธ์ ยึด ติด เกาะ ในส่วนที่ ขนาดเท่าที่อาตมา จะสัมพันธ์ได้ จะยึด ใช้ภาษาเรียกว่ายึด จะให้มันยังรวมกันอยู่นั่นเอง หรือยึดก็คือ ให้มันรวมกันอยู่ ให้มันติดกันอยู่ ให้มันไม่ต้องเกี่ยวอะไรกันเลย ก็ไม่ใช่ ให้มันเกี่ยวอยู่ แต่เกี่ยวเพื่ออะไร เกี่ยวเพื่อพัฒนา อาตมาไม่ได้เป็นเถรวาทสุดโต่ง ประเภทที่ จะวางอะไร ก็วาง ๆๆ วางไปหมด ไม่เอาอะไร อะไรก็ไม่เอา ใครจะยังไงก็ช่างหัวมัน อาตมาไม่ใช่ เถรวาทสุดโต่งอย่างนั้น ที่จะต้องวางตะพึดตะพือ อะไรก็ไม่ใช่เราของเรา หรือแม้แต่มหายาน ก็เหมือนกันแหละ มหายานนั่นอีกส่วนหนึ่งก็เหมือนกัน อะไรก็วางตะพึด ไม่ใช่ ที่จริงเถรวาท น่ะเกาะ ยึด ยึดติดมากกว่ามหายานด้วยซ้ำ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าลึกๆ ของเถรวาทก็ตาม เขาก็...หนักเข้า ก็ไม่ยึดในสิ่งที่ตัวเองเลยเถิดเหมือนกัน มันก็ไม่เข้ารูป เข้าร่องอะไรนะ

เพราะฉะนั้น ความซับซ้อนที่พูดไปให้ฟังนี่ มันถึงเยอะ ความลึกซึ้งซับซ้อน คัมภีรา ทุททสา ทุรนุโพธา ทุรนุโพธาก็คือมันไม่รู้ได้ง่าย ทุททสาก็มันไม่ได้เห็นได้ง่าย ไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้ง่ายๆ ไม่ใช่สิ่งที่รู้ได้ง่ายๆ มันลึกซึ้งซับซ้อน ศึกษาแต่เพียงบัญญัติภาษา ที่อาตมาเล่าให้ฟังนี่ ก็เป็นเพียงเหตุผล เป็นการรู้เหตุ รู้ผล รู้อะไรซับซ้อนขึ้นไปขนาดไหนก็แล้วแต่ มันยังไม่มีตัวจริง ก็เห็นยาก แต่ก็พอเข้าใจ ตามความคิดคะเนคำนวณ เป็นเหตุผล เป็นตรรกะ วิตรรกะ อยู่เท่านั้น แต่ถ้ามีของจริง ที่ตัวเองแล้วจะ โอ! อาตมาอธิบายไปประกอบนี่ มันเห็นง่าย เข้าใจง่าย เห็นชัด จริงจังขึ้นเยอะ ถ้ามีสภาวะประกอบ คนไม่มีสภาวะ ก็อาจจะต้องใช้แต่ความเฉลียวฉลาด ทำความเข้าใจ ให้มันได้ถูกๆ ตรงๆไปอย่างนั้น แล้วก็ต้องรู้ตัวว่า ได้แต่เข้าใจ ได้แต่รู้เหตุผล รู้แต่ตรรกะ วิตรรกะ แต่เรายังไม่ได้เป็น ก็ต้องรู้ตัวเอง คนที่เป็นแล้ว ได้จริงแล้ว แล้วก็รู้ความจริง จริงๆ ด้วย ก็ต้องให้ชัด คนที่มีทั้งอุภโตภาค มีทั้งตัวเป็น มีทั้งตัวปัญญาที่เห็นแจ้ง เห็นจริง ของตัวเองที่เป็นจริง เป็นจริงถูกต้อง ไม่หลง ไม่ผิด ปัญญาคมตรงดี คนนั้นก็จะมั่นใจเอง นั่นล่ะ ตัวบรรลุ ตัวบรรลุอยู่ตรงนั้นน่ะ ตัวบรรลุธรรม

อาตมาขยายความของอัตตามานะ จากแม้แต่ในพวกเรานี่ จะเป็นมีอัตตามานะเอง เราก็ท้วงติงกัน จะเป็นคนยังมีกาม เราก็ท้วงติงกัน ติเตียนกัน เพราะฉะนั้น ก็เกิดสงคราม อัตตามานะ กันอยู่ไม่ใช่น้อยในพวกเรา ก็ขอให้พวกเราได้เรียนรู้อัตตามานะ อย่าโง่ไม่เสร็จ อยู่อย่างนั้น เรื่อยไปเลย ไม่งั้นมันก็ มันอวิชชาอยู่นั่นแหละ อาตมาห้ามก็ไม่ได้หรอก ที่จริง ถ้ามันจะโง่น่ะนะ (พ่อท่านหัวเราะ) ไปบังคับให้ฉลาด มันก็คงห้ามไม่ได้หรอกนะ ต้องพยายาม ศึกษาดีๆ พยายามฝึกฝนดีๆ เพื่อให้เกิดคุณค่า เกิดความจริงพวกนี้ให้ได้ เกิดความเฉลียวฉลาด ที่เห็นความจริง ตามความเป็นจริง อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า คนผู้ที่เขาผิด หรือผู้ที่เขายังไม่รู้จริง ยังโง่ ยังเข้าใจไม่ได้ เราก็ต้องเข้าใจเขาว่า เออ...เขาเข้าใจไม่ได้ ก็ต้องอภัยกัน อย่าไปถือสา กันมาก คบหากันไปตามประสา น่าจะเมตตาสงสารเขาเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่ไปเที่ยวได้ฮึดฮัด ฟัดเหวี่ยง บังคับอยู่ในใจว่า เอ็งต้องรู้ เอ็งต้องเข้าใจ เอ็งทำไมจะต้องเป็นอย่างนี้ อ้าว ! ก็เขาจะเป็นอย่างนั้น จะไปทำยังไง (พ่อท่านหัวเราะ) เพราะฉะนั้น ตัวเรานั่นแหละ อย่าแพ้ภัยตัว ตัวเรา อย่าไปมีอัตตามานะอะไรมาก

เราต้องหัดวาง วางจริงๆ ว่า เขาคือเขา เราคือเรา เขาและเรา ก็เป็นแต่เพียงเกื้อกูลกัน เกื้อกูลกันได้ ก็เกื้อกูลกันไป ถ้าเกื้อกูลกันไม่ได้ ก็ให้คนที่เขา สามารถจะเกื้อกูลได้ช่วยกันไป ช่วยเกื้อกูลกันไป ก็หวังดีแก่กันและกัน อย่างนี้มันถึงจะอยู่กันได้ มีมาตรฐาน ที่ไม่ต่ำกว่ากัน เกินไปนัก ก็อยู่กันไป หลายคนเห็นว่าไม่ถูก มันต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่อยากให้มันลุกลาม พยายามช่วยแก้ช่วยไข แต่แก้ไขก็ดีแล้ว ก็นึกถึงความจริงว่า เออ! เราได้แก้ไขไปขนาดนั้น ขนาดนี้ก็ดีแล้ว ได้ช่วยเขา ขนาดนั้นขนาดนี้ก็ดีแล้ว แต่เขาไม่ดีขึ้น ก็ให้ผู้อื่นเขาช่วย เขาไม่ดีขึ้น ผู้ใดจะช่วยได้ก็ช่วยกัน ช่วยกันไปช่วยกันมา ถ้ามันต่ำกว่า มาตรฐาน ผู้อื่นที่อยู่ร่วมๆกัน ก็ช่วยกันดู ไอ้นี่มันต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว อ้าว! ช่วยกัน ต่ำกว่ามาตรฐาน เดี๋ยวก็มีมาตรการ ที่จะให้ผู้นั้นออกไป หรือว่า ไม่อยู่ด้วยกัน เพราะมันต่ำกว่า มาตรฐาน แต่ถ้าไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ยังพอเป็นไป เราก็จะต้องยอมรับบ้างว่า เออ... เขาไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน หมู่ฝูงส่วนใหญ่ ก็รู้ครบครันหมดแล้ว เขาก็ยอมให้อยู่ อนุญาตให้อยู่ ได้ร่วมกันอยู่ เราก็ต้องวางใจเราว่า เออ... ก็หมู่เขาเอาแล้วน่ะ แต่เราจะไปนั่งถือสา ไปนั่งติดใจ อยู่ทำไม ปลด วางใจ ปลดใจ วางใจออก อย่าไปนั่งติดอยู่ ก็เพื่อนฝูงหมู่ฝูง เขายอมรับแล้ว ตัดสินแล้วว่า ค่าเฉลี่ยของคนนี้ มีมาตรฐาน อยู่ด้วยกันได้ จบ เราก็ต้องจบด้วยบ้าง ถ้าเรายังติดยึดอยู่ เรายังถือสาอยู่ ยังเห็นว่า ไม่ควร อย่างโน้นอย่างนี้ ก็อัตตาตัวเองแหละ ตอนนี้ ไม่มีใครอื่นแล้ว อัตตาตัวเอง แล้วก็ไม่มี เมตตาด้วย อัตตาตัวเองแท้ๆเลย มันไม่ได้ดังใจกู นั่นแหละ แล้วก็ไม่มีเมตตา

ทำไมไม่ให้โอกาสคนอื่นเขาบ้าง ทั้งๆที่เพื่อนฝูงเขาก็ช่วยแบกช่วยหาม ตัวเองจะไม่ทำ ตัวเอง จะไม่แบก ไม่หาม ก็ไม่เป็นไร ก็วางใจไปของตัวเอง คนอื่นเขาแบกเขาหาม คนอื่นเขายอมรับ ให้อยู่ในหมู่ได้ ก็คือเขารับ เขาจะช่วยเหลือเฟื่อฟายกันเอง ก็ปล่อยเขาซี่ คนอื่นเขารับอยู่น่ะ หลายคน หมู่เขารับ ก็เราคนเดียวเราไม่รับก็เอาเถอะ เราไม่รับก็ไม่รับไปซิ คนเดียว จะต้องไปทุกข์ ของเราทำไม โง่ไม่เสร็จอยู่นั่นแหละ เราไม่ต้องทุกข์หรอก เราก็วางใจ คนอื่นเขารับไปแล้ว จะดีไม่ดี จะชั่วไม่ชั่ว หมู่เองก็ต้องรู้ดี ถ้าเผื่อว่า มันไม่ดี หมู่โง่ รับคนโง่เข้าไว้ รับคนชั่วเข้าไว้ แล้วก็มาทำให้ขายขี้หน้าหมู่ หมู่ก็พากันเน่าไปเองน่ะแหละ ถ้าเผื่อว่าหมู่โง่ๆ มันก็ทำโง่ๆ อย่างนี้แหละ แต่ถ้าเผื่อหมู่เขาไม่โง่ เขารับไว้แล้ว ก็ไม่ได้ไปทำให้ตัวเองเสื่อมเสียอะไรหรอก ก็พัฒนากันขึ้นไปได้ ด้วยซ้ำไป ก็ตัวผู้ถือสานั่นแหละทีนี้ ...โง่ ก็หมู่เขาไม่ได้โง่ หมู่เขาทำ พอเหมาะ พอสมแล้ว พอถูกแล้ว แต่ตัวเองจะต้องเอาดังใจตัวเอง จริง...เราถือ เราเห็นว่า ดีกว่านี้ มันดีกว่า...ก็จริง แต่ดีเท่านี้ หมู่เขาบอกว่าพอรับได้ ขนาดนี้อยู่ด้วยกันได้ บอกแล้วว่า ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน แล้วเขาก็จะพยายามแก้ไขให้เจริญขึ้น ให้ดีขึ้น ก็เรื่องของเขา เพราะฉะนั้น เราจะต้องเอาอัตตาของเราไปผูกพัน เอาอัตตาของเราไปกำหนด ไปใหญ่ ต้องเป็น ตามใจกู อัตตามันคือกูนั่นแหละ ก็คือใจนั่นแหละ ใจของกูนี่แหละ เป็นตัวร้าย ก็ต้องเอา ตามใจกู ให้ได้ดังใจกู มันไม่ไหวหรอกแบบนั้น อัตตาตัวเอง ก็ไม่รู้จักหมดเสียที

ฟังดีๆ ฟังเรื่องอัตตาให้มาก ฟังให้ดีๆ แม้แต่ก่อนจะจบ แม้แต่เป็นอรหัตตา เป็นจิตวิญญาณ เป็นจิตใจ ของผู้ที่ได้มรรค ได้ผลอรหันต์เลย เป็นอรหัตตผลเลยแหละ ก็จะต้องเห็นจริงเลยว่า แม้เราจะได้ จิตวิญญาณที่สะอาดบริสุทธิ์แล้ว ไม่มีอะไรอีกแล้ว มันก็เป็นสักแต่ว่าจิต สักแต่ว่า เหตุปัจจัย ที่เกาะกุมกันอยู่เท่านั้น ถ้าเราไม่ติดใจ ที่จะมีอะไรต่อไปอีก สำหรับ พระอรหันต์จริงๆ น่ะนะ ท่านก็วางได้ วางจริงๆ มันก็หมดไป

แต่ถ้าท่านจะเอาอยู่ ถ้าท่านจะยังไม่วาง ท่านจะต่อ อัตภาพนี้ต่อไป พระอรหันต์ท่านก็ต่อได้ ต่ออัตภาพนี้ต่อไป เป็นโพธิสัตว์ โพธิญาณอะไร เพื่อที่จะบำเพ็ญบารมีเสียสละ แล้วมันก็อยู่ กับทุกข์ ทุกข์ของพระอรหันต์นี่ คุณอย่าไปพูดถึงเลย มันก็ทุกข์เกิดขึ้น พระอรหันต์นี่แหละ เป็นผู้พูดเองว่า ทุกข์เท่านั้นแหละเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้น ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป ตราบใด ยังมีขันธ์ห้า มันก็ยังเป็นทุกขขันธ์ ยังมีสภาวะทุกข์ ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย แต่ก็ยังไม่วาง ยังจะทำสิ่งที่ดีกว่านี้ขึ้นไปอีก และมีความจริง มีหลักฐาน ความจริงว่า ท่านได้ความจริง ท่านเป็นคนดี ท่านเป็นประโยชน์ ท่านไม่ได้มา ผลาญโลก แต่ท่านมาช่วยโลก จริงๆ โลกเราก็จะไปน้อยใจอะไรล่ะ ก็คนดีๆ อย่างนั้น

ถ้าจะยังไม่ยอมตาย ท่านยังจะมาเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก สร้างสรรให้แก่โลก เสียสละ ให้แก่โลก ช่วยเหลือมนุษยโลกให้พ้นทุกข์อีก แล้วช่วยเหลืออย่างพระอริยเจ้า พระอรหันต์เจ้า อย่างนี้น่ะ ช่วยเหลืออย่างไม่ใช่มาล่าลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ไม่ได้มาเปลือง มาผลาญ อะไร มีแต่ประโยชน์เนื้อแท้ ประโยชน์ของจริง เป็นสัจจะสาระให้แก่โลก ให้แก่มนุษย์ มันจะไปมีปัญหาอะไร คนอย่างนี้ เกิดมามากๆเถอะ

ยุคกาลนี้ซิ พระโพธิสัตว์ไม่ค่อยเก่ง ไม่ค่อยมา จริงๆนะ ยุคกาลอย่างนี้ พระโพธิสัตว์ไม่ค่อยเก่ง ไม่ค่อยมาหรอก เพราะเขาเบี่ย เขาทนไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์ที่จะมายุคนี้ ก็จะต้องทนได้ ทนไม่ได้ก็หลบไปอยู่ใต้ต้นโพธิ์โน่น (พ่อท่านหัวเราะ) แม้จะเป็น พระโพธิสัตว์ ก็จริง ก็อยู่ใต้ต้นโพธิ์โน่น พระโพธิสัตว์ไม่เอาถ่านนั่นน่ะ เขาไม่เรียกเลือดโพธิสัตว์หรอก ไอ้อย่างนั้นน่ะ สัตว์ใต้ต้นโพธิ์ (พ่อท่านหัวเราะ) เลือดโพธิสัตว์เขาไม่ไปหลบอยู่ใน ใต้ต้นโพธิ์ โน่นหรอก เลือดโพธิสัตว์นี่ เป็นนักสู้ เป็นผู้มีความขยัน เป็นผู้มีความมีน้ำใจ เป็นผู้ที่เห็นแก่ผู้อื่น เป็นผู้ที่จะมา ทำการเสียสละ สร้างสรรจริงๆ โพธิสัตว์จึงเรียกว่า ผู้รื้อขนสัตว์ ผู้มีความสามารถ ผู้มีความอดทน ผู้มีความเกื้อกูลจริงๆ เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์ จะมาเกิดอีก หรือว่า พระอริยเจ้า พระอรหันต์เจ้าอะไรก็ตามแต่ ที่พูดไปแล้วมากๆ เกินๆนี่

อย่างเถรวาท เขาฟังไม่ค่อยได้ ฟังแล้วหูหัก (พ่อท่านหัวเราะ) ฟังแล้วเขาหูหัก ก็พูดไปนะ ฟังไม่ได้ ก็ต้องฟัง ก็พูดไปแล้ว จะทำยังไง คนที่ฟังได้เข้าใจดี ไม่มีปัญหาก็ไม่มีปัญหา คนที่ยัง มีปัญหาอยู่ เขาก็ยังมีปัญหาอยู่นั่นแหละ เพราะเขาเข้าใจปัญหานี้ยังไม่ได้ มันยังไม่เกิดญาณ มันยังไม่รู้ ทะลุทะลวง จนกระทั่งสิ้นสงสัย เข้าใจอย่างได้ระบบ ได้ระบอบ สอดคล้องอย่างดี เขายังไม่เกิด ญาณอันนั้น เมื่อไม่เกิดญาณอันนั้นแล้ว จะไปบังคับเขาได้ยังไง คนไหนไม่มีญาณ มันก็คือ ไม่มีญาณ ไปบังคับกันไม่ได้หรอกเรื่องญาณ ญาณมันจะเกิดของผู้ที่ถึงรอบ ของญาณเอง มันถึงจะเป็นได้นะ

ผู้ที่จะอยู่ได้ อยู่ในพุทธสถานก็ดี เข้ากับหมู่ได้ก็ดี ก็คือผู้ที่ได้อบรมฝึกฝนดี ได้มรรค ได้ผลดี อัตตามานะ ลดน้อยลง แล้วก็เฉลียวฉลาดที่จะรับลูกเป็น อยู่กับคนไหนอยู่กับใคร อยู่กันยังไงๆ ใครจะร้ายยังไง อยู่ในหมู่เดียวกัน แล้วหมู่เดียวกันก็รับรองกันอยู่ ยังไม่ยอมไล่ออก ก็คนไหน ที่เข้ากันได้กับใครๆ ทุกๆคนมากๆๆๆ นั่นแหละ คนนั้นเจริญ คนนั้นมีความสามารถ มีสมรรถนะ ใจคอแข็งแรง แล้วก็มีปัญญาญาณเพียงพอที่จะทำให้ตัวเองไม่ทุกข์ และตัวเอง อยู่อย่าง ไม่หน้าด้านด้วย ตัวเองอยู่อย่างประสานที่ดี ถ้าเก่งกว่านั้น ก็หมายความว่า นอกจาก ประสานแล้ว ยังช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่าตน แทนที่จะไปถือโทษคนที่ด้อยกว่าตน คนที่ต่ำกว่าตน คนที่เลวกว่าตน ไม่ถือโทษแล้วก็ช่วยด้วย

ป่วยการกล่าวไปไยกับคนที่หลงตน นึกว่า ตนเหนือกว่าเขา แล้วก็ไม่อยากอยู่ใกล้เขา แท้จริง ตัวเองน่ะต่ำกว่าเขา แล้วไม่อยาก อยู่ใกล้เขา คุณคิดดูซิว่า ตัวคนที่ต่ำกว่าคนที่สูง แล้วไม่อยาก อยู่ใกล้คนที่สูง โดยหลงตนว่า ตัวเองต่ำกว่าเขาน่ะ มันเป็นคนขนาดไหน มันมหาโง่ไม่เสร็จ หรือ อภิมหาโง่ไม่เสร็จ หรือ โง่ไม่เสร็จยกกำลังสอง ใช่มั้ย ตัวเองต่ำกว่าเขาด้วย แล้วก็ไม่อยากจะอยู่ ใกล้กับคนสูง คือตัวเอง หลงตัวเอง อัตตามานะหนักหนา นึกว่าตัวเองสูงกว่าเขา ดีกว่าเขา แล้วก็ไม่อยากอยู่ใกล้เขา ทั้งๆที่เขาสูงกว่า จริง เขามีจุดบกพร่องบางจุด คุณอาจจะไม่มี จุดบกพร่องอันนั้น แต่ค่าเฉลี่ยแล้ว รวมแล้ว เขาดีกว่าเรา เขาสูงกว่าเราหลายๆอย่าง แต่ตัวเอง ไม่รู้หรอก หลงผิด ไปเพ่งโทษอยู่จุดนั้น แต่จุดอื่นมองไม่ออก มองไม่เห็น อะไรต่างๆนานา สารพัด อะไรก็ตาม เสร็จแล้ว ตัวเองก็ไม่เข้าใกล้ ตัวเองก็ยังโง่ไม่เสร็จอยู่อย่างเดิมนั่นแหละ อย่างที่ว่านี่

นี่ก็วิเคราะห์อะไรต่ออะไรต่างๆหลายๆมุม หลายๆอย่างให้ฟัง แล้วก็เอาไปตรวจตรา แล้วก็แก้ไข คนที่เจริญงอกงามที่สุดแล้ว เป็นพระมาลัยอยู่กับชาวนรก นรกผีร้ายเลยแหละ จะเลวจะร้าย ยังไงก็เอา ก็ทนได้โดยไม่ต้องทน ทนได้โดยไม่ต้องทนคือผู้วางได้อย่างจริง แล้วก็กอบกู้กันไป ตามความสามารถ อาตมาไม่ต้องทนหรอกนะ อาตมาว่า อาตมายังไม่ได้ทนเลยนะ ต่อใคร ๆๆๆๆๆๆ ในสังคมขณะนี้ สังคมสงฆ์น่ะ ไม่ได้แต่พวกคุณน่ะ แม้แต่ในสังคมสงฆ์ อาตมาก็ยังคิดว่า อาตมาทนได้ โดยไม่ต้องทน พวกเราก็หลายผู้หลายคน เคยถามอาตมาว่า นี่จะทนได้มั้ย ทนเขาได้มั้ย อาตมาก็ว่าอย่าถามบ่อยๆนักเลย มันจะทนไม่ได้ตรงถาม บ่อยๆนี่ (พ่อท่านหัวเราะ) ถามจังเลย นอกจากถามบ่อยๆ แล้วก็ยังไม่พอนะ ยังเล่นลูกอัดอาตมา อยู่เรื่อยเลย ลูกถ่วงอาตมาอยู่เรื่อย ลูกกัดอาตมาอยู่เรื่อยเลย อะไรนี่ ประเดี๋ยว มันจะทนไม่ได้ เอานะ แต่อาตมาก็ว่า ยังทนได้นะ ก็ยังแข็งแรงอยู่ ก็พิสูจน์ความทนของเรา

เพราะฉะนั้น วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน นี่ มันไม่ใช่เรื่องเล่นนะ เป็นเรื่องของจริง มันเรื่องจิตใจ ของเราจริงๆ ว่าเรามีธรรมะได้มากขนาดไหน เรามีความอดทนได้มากขนาดไหน ไม่ใช่อดทน อย่างดื้อๆ ไม่ใช่อย่างอดทน อย่างคนหน้าด้าน ไม่ใช่ทนอย่างนั้นนะ ทนอย่างรู้ อย่างเข้าใจ ทนได้ เพราะว่า เออ... เราต้องทน อย่างนี้ต้องทน แล้วมันก็ทนได้ โดยไม่หนัก ไม่หนาอะไร รู้ว่า ทนไปเพราะอะไร ทนแล้วเราจะทำอะไรต่อไป ทนเพื่อที่จะเอาของเขา หรือว่าทนเพื่อ ที่จะให้เขา อาตมาว่าอาตมาทนเพื่อที่จะให้เขา ไม่ใช่ทนเพราะอาตมาจะเอาอะไรจากเขา อาตมาว่า อาตมาไม่เอาหรอก เอาอะไรจากเขา เอาอะไร มันมีเยอะนะ ไอ้อย่างนี้ นี่เราทนอยู่ เพราะว่า อย่างน้อย เราจะได้เงิน นี่อย่างหยาบ เราจะได้เงิน เราจะได้ลาภ เราจะได้ยศ ได้สรรเสริญ ทนอยู่กับเขา ทนอยู่ไปให้ได้ เพราะเราจะได้สุขจากเขา ได้สมใจอะไรของเราเอง นี่แหละ จะได้สุข จะได้ตั้งแต่โลกียสุขไปเลยละ หรือว่าสุขอะไรก็แล้วแต่เถอะ ทนเพราะเรา จะได้สุข เป็นโลกียสุขสมใจ ตั้งแต่อบายมุข ไปจนกระทั่งเป็นกาม เป็นโลกธรรมไหนๆ จนกระทั่ง ถึงภพ ชาติ นี่ซ้อนลึกไปเรื่อยๆ ถ้าทนในระดับถึงวิภวภพ ทนอยู่เพราะเราจะได้ วิภวภพ ไอ้อุดมการณ์ ชั้นดี ได้เจริญ ด้วยอุดมการณ์ เออ...ทนอย่างนี้ทนเถอะ ทนเพราะเรา จะได้เจริญ ทางอุดมการณ์ ของเรานี่ ...ทน อ๊า! อย่างนี้ไม่ว่าอะไร ทนเพื่อที่จะเอาอุดมการณ์ เพื่อที่เราจะได้ สิ่งที่ดี ที่งามจริงๆ แต่ทนเพื่อเอาโลกีย์นั่นน่ะอาตมาว่า อาตมาไม่มีอะไรให้หรอก นอกจาก จะมีอุดมการณ์ที่ดีนี่ให้

คุณทนอยู่กับอาตมา เพราะจะเอาอุดมการณ์นี่ เชิญ แต่ทนอยู่กับอาตมา เพราะจะได้ลาภ จ้างก็ไม่มี ไม่มีลาบเป็ดลาบไก่อะไรก็ไม่มีทั้งนั้นแหละ จะเอาลาภแบบนั้นไม่มี เอายศเหรอ ไม่มีน่ะ (พ่อท่านหัวเราะ) ยศ สรรเสริญ...ยาก ส่วนมากด่า (พ่อท่านหัวเราะ) มีบ้าง สรรเสริญน่ะ มีบ้าง แต่ยาก น้อย แต่ด่าเยอะ ติเตียนเยอะ ยิ่งโลกียสุขแล้ว ก็อย่ามาหวัง จากอาตมาเลย โลกียสุข ยากนักยากหนา ไม่มี จะเอาโลกียสุขอย่างไหนล่ะ อย่างรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แบบหยาบๆ ขั้นอบายมุขเลยนี่ เยิ้มเลยอย่างนั้น ยิ่งไม่มี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แบบกลางๆ ก็ไม่เอา ไม่ส่งเสริม รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสแบบละเอียดยังไงก็ไม่เอา มันต้องละ ต้องล้าง ต้องลดจริงๆ ต้องทำจริงๆ มันถึงจะจริง มันถึงจะออก มันถึงจะหมด เราต้องรู้ ต้องมีญาณปัญญา ให้ชัดเจนพวกนี้

วิเคราะห์ต่อไปอีกก็ได้นะ ต่อไปจนกระทั่ง ถึงเที่ยงก็ได้ ไม่ต้องกินข้าว แต่ก็สมควรแก่เวลานะ นี่ขณะนี้ ก็สิบโมงยี่สิบเข้าไปแล้ว ก็ขอจบวันนี้ไว้ก่อน ไว้ต่อ วันหลัง

สาธุ


ถอด โดย ศิริวัฒนา เสรีรัชต์ ๒๖ ธ.ค.๒๕๓๔
ตรวจทาน ๑ โดย อุทัยวรรณ ตั้งมั่นสกุล ๒๘ ม.ค.๒๕๓๕
พิมพ์ โดย สม.มาบรรจบ ๔ ก.พ.๒๕๓๕
ตรวจทาน ๒ โดย สม.ปราณี ๕ ก.พ.๒๕๓๕
:2173.TAP