เห็นความจริงต้องวิ่งลุย
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อ ๓ มีนาคม ๒๕๓๓
ณ พุทธสถานสันติอโศก
 เจริญธรรม ท่านผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย

เรามาฟังพระสูตร ๔-๕ พระสูตร จะอ่านต่อๆกันไว้ แล้วอาตมาจะขยายความ อธิบายกัน ไล่ซับซ้อน วกวนอยู่ในพระสูตรอันนี้น่ะนะ

อาตมาอ่านจากในหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับย่อนี่ ไล่ไปทีละสูตรๆ แล้วก็ขยายความ อะไรกันไปเรื่อยๆ พระสูตรนี้อยู่ในข้อที่ ๑๕๓ ในหนังสือพระไตรปิฎกฉบับย่อ ของคุณสุชีพ ปุญญานุภาพ เอามาเรียบเรียงไว้

ข้อ ๑๕๓ นี่ว่า อะไรยาวนาน สำหรับใคร ราตรีของผู้ที่ตื่นยาวนาน โยชน์ของผู้เมื่อยล้า ยาว สงสารของคนพาล ผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม ยาว อันนี้ลึกซึ้ง เดี๋ยวจะได้วนมาอธิบายอันนี้ หลายรอบ

ข้อต่อๆไปอีก ๑๕๔ บอกว่า ความเป็นสหายในคนพาลไม่มี ความเป็นสหายในคนพาล ไม่มี ถ้าเที่ยวไป ไม่พบคนที่ดีกว่าตน หรือเสมอตน ก็ควรบำเพ็ญ ความเป็นผู้เที่ยวไปในคนเดียวให้มั่น เพราะความเป็นสหายในคนพาล ไม่มี อันนี้คำว่า สหายนี่สูง ลึกซึ้ง เดี๋ยวค่อยพูดกัน

ต่อไปข้อ ๑๕๕ ว่าของเราแน่หรือ คนเขลาย่อมเดือดร้อนว่า บุตรของเรามีอยู่ ทรัพย์ของเรามีอยู่ ก็ตนของตนยังไม่มี บุตรและทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน นี่ก็ลึกซึ้ง แน่นอน เป็นเรื่องที่ปล่อยวาง ในระดับสูงสุด แต่นั่นแหละ ยังมีสภาพ มีปฏินิสัคคะเชิงซ้อน มีสมมติสัจจะ ปรมัตถสัจจะ อยู่ในนี้อีก ตั้งหลายชั้น เดี๋ยวเราค่อยพูดกัน

๑๕๖. บอกว่า พาลและบัณฑิตที่รู้จักตัวเอง คนพาลรู้จักความเป็นพาลของตน ก็เป็นบัณฑิต ได้บ้าง เพราะเหตุนั้น แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต เรากล่าวว่า เป็นพาลแท้ แหม สูตรนี้ นี่มันหนำใจจริงๆ นะ โดยเฉพาะยุคสมัยนี้ ลองฟังดูให้ดี

คนพาลรู้จักความเป็นพาลของตน ก็เป็นบัณฑิตได้บ้าง เพราะเหตุนั้น แต่คนพาลที่สำคัญตน ว่าเป็นบัณฑิต เรากล่าวว่าเป็นพาลแท้ พาลคำนี้ แปลว่าคนโง่ นอกจากโง่แล้ว ก็แสดงอาการพาลๆ ในภาษาไทยเราเข้าใจนะว่า พาลคืออะไร มันมีความหมายอีกอันหนึ่ง ในคำว่าพาล คนพาลในภาษาไทย นี่เรามีความหมายอีกอันหนึ่ง แต่โดยพระบาลี โดยตรงแล้ว นี่โดยอรรถตรงๆว่า ความโง่ ความอ่อนเยาว์ ไม่เดียงสา ความไม่เฉลียวฉลาดที่แท้จริง ความยังไม่แข็งแรง เรียกว่าคนพาล

ของเรานอกจากจะเป็นอย่างนั้นแล้ว ภาษา แล้วที่จริงความหมายมันก็จริง มันไกลไป จนกระทั่งถึงว่า พาลนี่ ไม่ใช่ว่าโง่ ไม่ใช่ว่าอ่อนเยาว์ ไม่ใช่ว่าไม่แข็งแรง ยังอาละวาดด้วย นี่ นอกจาก จะแค่นั้นแล้ว ยังอาละวาดด้วย ทำอะไรที่น่าอายขายหน้า ตรงกันข้ามกับความจริง ตรงกันข้ามกับความฉลาด นี่เรียกว่า พาลแท้ เอ้า ต่อไปอีกสัก ๒ ข้อ ๓ ข้อ เอาอีกสัก ๓ ข้อ ให้หมดธรรมบท อันนี้ เป็นธรรมบทหมวดหนึ่ง

๑๕๗. ทัพพี ไม่รู้รสแกง ถ้าคนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตจนตลอดชีวิต แต่ไม่รู้แจ้งซึ่งธรรม คนพาลนั้น ก็เหมือนทัพพีที่ไม่รู้รสแกง ฉะนั้น อันนี้ก็คงพอเข้าใจไม่ยากนัก แต่มันหนำใจ ตรงที่ว่า มันมีจริงน่ะ มันมีจริง แล้วมันหนำใจ ระวังเถอะ ทัพพีอยู่ในอโศกนี้ ใครเป็นทัพพีบ้าง ไม่รู้รสแกง ระวังก็แล้วกัน

๑๕๘. ลิ้นรู้รสแกง ถ้าวิญญูชนเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิต แม้เพียงครู่เดียว แต่ รู้แจ้งซึ่งธรรม ได้โดยพลัน วิญญูนั้น ก็เหมือนลิ้นที่รู้รสแกง ฉะนั้น มันตรงข้ามกันกับ เมื่อกี้นี้

๑๕๙. ข้อสุดท้ายของธรรมบทหมวดนี้ มีตนเป็นอมิต มีตนเป็นอมิต ว่าอย่างนั้นน่ะหัวข้อ คนพาลย่อมเที่ยวไปกับตน ฟังดีๆนะ คนพาลย่อมเที่ยวไปกับตน ที่เป็นอมิตนั่นแหละ ทำบาปกรรม อันมีผลเป็นที่เดือดร้อน คำว่าตนคำนี้เป็นอมิต มีตนเป็นอมิต เพราะฉะนั้น คนพาลจึงย่อมเที่ยวไป คนพาลจะอยู่ที่ไหน จะไปไหน จะอยู่อย่างไร ที่ไหนก็แล้วแต่เถอะ จะไปหรือจะอยู่ก็ตามใจ คนพาลก็มีตนนั่นแหละเป็นอมิต ไอ้ตัวนี้ มันก็คือผีร้าย คือมาร คือความโง่ คืออวิชชา คือความหลงผิด คือความไม่รู้จริงๆน่ะ แล้วมันก็ทำบาป ทำกรรม อันมีผล เป็นที่เดือดร้อน

เอาละ มาอธิบายตั้งแต่ย้อนอันนี้แหละไปก่อน คนพาลย่อมเที่ยวไปกับตนที่เป็นอมิต นั่นแหละ ทำบาปกรรม อันมีผลเป็นที่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น เขาจะอยู่ที่ไหน เขาก็ทำบาปกรรม เขาจะไปที่ไหน เขาก็เขาก็ทำบาปธรรม ด้วยความเดือดร้อน สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตน ให้แก่ผู้อื่น เพราะเขามีอมิต อมิตอะไร อมิตตนเอง อยู่กับตนเอง ตนเองเป็นอมิตของตนเอง อมิตของตนนั้น ก็เป็นความพาล เป็นความโง่ เป็นความเยาว์ เป็นความอ่อน เป็นความไม่แข็งแรง เป็นความไม่ถูกไม่ต้องอะไรทั้งนั้นแหละ อยู่กับตนนั่นแหละ อันนี้แหละ สำคัญ เพราะฉะนั้น ทำอย่างไร เราถึงจะรู้ความเป็นตนที่มันอ่อน มันเยาว์ มันโง่ มันอวิชชา

เราจะต้อง ยอมรับด้วยพื้นฐานก่อนว่า เราเองเรายังไม่ฉลาด เรายังโง่ เราก็ต้องตรวจตน หาความโง่ หาความผิดพลาด หาความบกพร่องของเราให้ได้ เมื่อใดเรารู้ความบกพร่องจริงๆ รู้ความผิดพลาดจริงๆ รู้กิเลส หรือ รู้อวิชชาของตนเองจริงๆ เมื่อนั้น เราก็พ้นคำว่า "พาล" เมื่อใดเรารู้ เราแจ้ง ในตัวเราเอง จุดนี้ข้อนี้ จุดนี้เรื่องนี้ ความเป็นอย่างนี้ๆๆๆ ความเป็นอย่างไหน ก็แล้วแต่เถอะ ถ้าเราไขตัวเองออก รู้ตัวเองได้ขณะใด และเป็นจริง รู้ได้ถูกต้อง ตามความเป็นจริง ว่าอันนี้เราผิด อันนี้เราอกุศล อันนี้เราไม่ดี อันนี้เป็นความโง่ อันนี้เป็น ความไม่ถูกต้อง อะไรก็แล้วแต่ เรารู้ตัวเองเมื่อใด เมื่อนั้น เราก็พ้นจากพาล แล้วต้องแก้ไข คือไม่โง่แล้ว นอกจากไม่โง่แล้ว มันยังเป็นอยู่ เราก็จะต้องแก้ไข อย่าให้มันไปเลวร้าย แต่คนที่รู้ตัวว่าโง่ รู้ตัวว่าผิด รู้โดยที่มีสำนึกที่ดีน่ะ คนนั้นย่อมไม่กล้า ที่จะไปโอหัง ไม่กล้าที่จะไปทำอะไรที่มันละเมิด ในสิ่งที่ตนเองโง่ ตนเองเข้าใจแล้ว ตนเองรู้แล้ว นอกจาก ความดันทุรังซ้อน ความอันธพาลเลย ตอนนี้ไม่ใช่พาลธรรมดา พาลอย่างมืดบอด อันธะนี่แปลว่ามืดบอด อันธพาลเลยทีนี้ เมื่อมันรู้แล้วนี้น่ะ มันพ้นความเป็นพาลแล้ว ยังไม่พอ ที่จริงมันควรจะแก้ไข หรือควรจะต้องยอม แต่เสร็จเราก็ไปดันทุรังไปทำรุนแรง ทำไปตีกลบ ตีเกลื่อน ตีย้ำยืนยันในสิ่งที่ตนเองผิดนั้นลงไป แกล้งทำก็ตาม ทำด้วยอำนาจของกิเลสโกรธแค้น โกรธเคือง โลภโมโทสันอะไรก็ตาม เห็นแก่ตัวแก่ตนอะไรก็ตาม มันก็เป็นการโง่ที่รุนแรง เป็นการโง่ ที่จัดจ้าน โง่อย่างมืดบอด ซ้ำซ้อนลงไปอีก แม้จะรู้แล้ว นั่นแหละ ยิ่งแสดงถึงความโง่ซ้อนชั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำอะไรที่รู้อยู่แล้วว่า ตัวเองผิด ตัวเองไม่ดี แล้วทำซ้อนซ้ำลงไป นั่นแสดงว่า เราอำมหิต อำมหิตนะ ฟังให้ดีนะ คนที่อำมหิต ที่รู้อยู่ว่า มันผิดแล้วยังดันทุรังทำผิดต่อไปอีก นั่นอำมหิตนะ เป็นคนที่หยาบคาย เป็นคนที่ด้าน ด้านจริงๆ มันหยาบคาย มันด้าน มันเลวที่ร้าย ลงไปอีก ก็รู้ว่ามันผิด เราก็ไปทำผิดซ้ำซ้อนลงไปอีก ทำไปโดยเจตนา ทำไปโดยจงใจ แสดงว่า กิเลสมันรุนแรง กิเลสมันภัยแรง

เอาละ ก็คงพอเข้าใจ อันนี้ไม่ค่อยยากอะไรนัก ลิ้นรู้รสแกง แต่ทัพพี ไม่รู้รสแกงนั้น ก็คงจะเข้าใจ ไม่ยากอะไรนัก ลิ้นรู้รสแกง ก็คือวิญญูชน เข้าไปนั่งใกล้บัณฑิต ก็สดับตรับธรรมอะไร ก็รู้แจ้งธรรมโดยพลัน อันนี้ก็เรียกว่า เป็นทัพพีที่รู้รสแกง ทีนี้ทัพพีที่ไม่รู้รสแกง ก็คนพาล เป็นคนพาล ไม่ใช่วิญญูชน เข้านั่งใกล้บัณฑิต จนตลอดชีวิต ก็ไม่รู้แจ้งซึ่งธรรมสักที มันก็เหมือนทัพพี ที่ไม่รู้รสแกง ก็เข้าใจไม่ยากอะไร ทีนี้ข้อสำคัญ ก็คือเราจะต้องสังวรเราว่า เอ๊ เรานี่ เรานี่มันพอเจริญ ในทางธรรมหรือไม่ ฟังธรรมนี่ ได้ประโยชน์จริงหรือไม่ หรือว่าฟังไม่รู้เรื่อง ไม่ได้อะไร ไม่รู้รสแกง ไม่เข้าใจธรรมะ ไม่ได้ลักษณะธรรมะอะไร จะมาคบมาหา บัณฑิต จะมาคบ มาหาผู้รู้ ผู้ที่เป็นอริยะ ถึงขนาดเป็นอริยะด้วยซ้ำ เสร็จแล้วเรา ก็ไม่รู้รสแกง ไม่ได้อะไรเลย มันน่าสงสารยิ่งกว่าคนที่เขาไม่พบบัณฑิต เขาไม่ได้เข้าใกล้บัณฑิต เขาไม่รู้จริงๆว่า บัณฑิตเป็นใคร เขาก็ไม่เข้าใกล้ เขาก็ไม่ได้รู้รส ก็ยังเป็นจริงอยู่ว่า เพราะเขาเอง เขาไม่รู้นี่ ไม่รู้จักบัณฑิต แล้วก็ไม่มีโอกาสได้เข้าใกล้บัณฑิต

แต่ผู้ที่ได้เข้าใกล้บัณฑิต แล้วรู้ด้วยว่าเป็นบัณฑิต รู้ว่าเป็นบัณฑิต ได้เข้าใกล้บัณฑิต แต่เสร็จแล้ว ไม่ใส่ใจ ไม่พากเพียรพยายามที่จะรับรู้ธรรมะจริงๆ แล้วเอาไปปฏิบัติประพฤติ ให้เราได้ลิ้มรสนั้น ไม่ใช่ให้เราได้แค่รู้ แค่เราได้ลิ้มรส แล้วเราก็จะเป็นทัพพีที่รู้รสแกง เพราะฉะนั้น ระวัง อย่ากลายเป็นทัพพีไม่รู้รสแกง

ทีนี้ พาลและบัณฑิต ที่รู้จักตัวเอง คือคนพาลรู้จักความเป็นพาลของตน รู้จักจุดบอด จุดโง่ อย่างที่เราพูดมาแล้ว รู้จักจุดบอด จุดโง่ของตน ก็ยังเป็นบัณฑิตบ้าง เพราะเหตุที่มันมีความรู้ตัว เป็นบัณฑิตซ้อนลงไปในตัวนั่นแหละ เป็นคนพาล แต่เริ่มเป็นบัณฑิต พอรู้ตัว อย่างที่อาตมา พูดแล้ว ผู้นั้นก็ลดความเป็นพาล เมื่อเรารู้ตัวเมื่อไหร่ว่า เออ อันนี้มันโง่ อันนี้มันผิด อันนี้ไม่ถูกต้อง ของเราเอง เมื่อนั้นแหละ เรากำลังลดความเป็นพาล หรือไม่ใช่พาล เช่นนี้ถือว่า เป็นบัณฑิตบ้าง เพราะเหตุที่เราได้รู้ ได้ยอมรับความจริงนั้นๆ

แต่คนพาลที่สำคัญตนว่า เป็นบัณฑิต เรากล่าวว่าเป็นพาลแท้ แล้วคน ที่โง่ คนที่เข้าใจ ไม่ถูกต้อง แล้วก็ยังหลงตัว หลงตนว่าเป็นบัณฑิต ในโลกนี้มีการ ยกยอปอปั้น มีการพยายาม ที่จะแกล้งยกยอปอปั้น แกล้งเสริมแกล้งหนุนให้หลงระเริงกันเยอะเลย โลกทุกวันนี้เป็นมายา หรือแม้ว่าไม่ใช่ แต่จะเป็นผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้ที่เป็นบัณฑิตได้บ้าง เฉลียวฉลาดบ้าง แต่เสร็จแล้ว ก็ยังไม่มากอะไร ก็ไปถูกเขาหลอกยกยอปอปั้น เหลิงลอย แล้วก็หลงตัวหลงตน ทีนี้ก็แสดงภูมิ แสดงอะไรต่อ อะไรใหญ่โต มีอะไรต่ออะไรก็ว่าออกมา จนกระทั่งคนอื่นเขายอมรับกันบ้างหรือ ไม่ยอมรับ ตัวเองปล่อยขี้เท่อออกมาให้คนอื่นเขารู้ แล้วก็ยังไม่อายขายหน้า ไม่รู้ตัวบ้าง ก็มีอยู่ในสังคม ทุกวันนี้กันมากมาย

เพราะฉะนั้น ความเป็นพาล ที่รู้จักตนเอง นั่นแหละสำคัญ ต้องพยายาม เราจะต้องยอมรับ เสียก่อนว่า เราเป็นพาล หรือว่าเป็นผู้โง่ เป็นผู้เยาว์ เป็นผู้อ่อน เป็นผู้ยังไม่ได้เก่งกาจอะไร ยังไม่ได้เป็นบัณฑิตแท้นั่นเอง แล้วเราก็พยายามที่จะตรวจตน ตรวจจริงๆ ให้มันเข้าใจจริงๆว่า เออ นี่มันไม่ดี จริงๆ มันไม่ถูกต้องจริงๆ หยาบก็รู้ง่าย กลางก็พอรู้ขึ้นมาละเอียดขึ้นมาแล้ว รู้ยาก ขึ้นไปตามลำดับ มันต้องตรวจอย่างโยนิโสมนสิการ ไม่ลำเอียง พยายามหัดฝึก อคติ มันเป็นอย่างไร ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ หรือแม้ภยาคติ มันเป็นตัว แทรกแซง ไอ้พวก อคติพวกนี้ เป็นตัวแทรกแซง ทำให้เราฟั่นเฝือ ทำให้เราสับสน ทำให้เราเบลอ ทำให้เราผิดเพี้ยน เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นอะไรต่ออะไร มันไม่ตรงกับสัจจะได้จริงๆ เราจะต้องพยายาม อย่างไรเรียกว่าถอด ไม่ให้มันเกิดอคติ โดยที่เราไปยินดี ไปรัก ไปชอบ แล้วก็ลำเอียง ไปมีความแค้น ความเคือง ความไม่ชอบ มีความโกรธอะไรผสมผเสอยู่ แล้วทำให้เราลำเอียง ตัดสิน ลำเอียง พิจารณาลำเอียง หรือแม้แต่ความหลงผิดจริงๆ ก็ต้องพยายามที่จะฉลาด พยายามที่จะให้มันตรง ไม่ให้มันหลงผิด ไม่ให้มันกลับหัวกลับหาง กลับชั่ว เป็นดี กลับดีเป็นชั่ว เห็นผิดทำนองคลองธรรม เราก็ต้องพยายามจริงๆ หรือมัน มีอำนาจอะไร ที่ทำให้เรากลัว มีภยาคติ มีสิ่งที่เกรงที่กลัว จนกระทั่งทำให้เรา ลำเอียงได้ เพราะความกลัว สังคมทุกวันนี้ มีภยาคติเยอะ มีอาณาจักรแห่งความกลัว ทำอะไรต่ออะไร แล้วก็มันไม่เกิดการรอบรู้ได้ เพราะภยาคติ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าวิเคราะห์ ไม่กล้าวิจัย ไม่กล้าที่จะ ละลาบละล้วง เลยกลายเป็นคนจำนน ไม่กล้าที่จะมอง ไม่กล้าที่จะคิด กลัวจะเป็นการลบหลู่ กลัวจะเป็นการละลาบละล้วงอะไรก็แล้วแต่ โดยแม้แต่เชิงความคิด พวกนี้ ก็ทำให้ผู้นั้น ไม่ฉลาดเฉลียว ไม่รู้จักความจริง ไม่รู้จักสัจจะเพิ่มขึ้นเหมือนกัน เรียกว่า ภยาคติ ลำเอียงได้ เพราะฉะนั้น พยายามระวังๆ แล้วก็ลดๆ พยายามตั้งอกตั้งใจฝึกฝนดูดีๆ จนเราเป็นคนที่รู้จัก ความพาลของตน รู้จักความโง่ รู้จักความอ่อน ความเยาว์ ความไม่สมบูรณ์อะไร ในทิศทางใด ก็แล้วแต่

ทีนี้ ประโยคที่ว่าคนเขลาย่อมเดือดร้อนว่า บุตรของเรามีอยู่ ทรัพย์ของเรามีอยู่ ก็ตนของตน ยังไม่มี บุตรและทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน นี่เป็นปรัชญาที่เราได้ยินได้ฟังกันมามาก เป็นเรื่องที่สำคัญ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า คนเรานี่มันยึดมันติดอะไรก็เป็นของของตัวของตน ไม่มีอะไร เป็นของตน แม้แต่ร่างกาย อาตมาก็เคยพูด อย่าไปพูดถึงว่ามีบุตร มีทรัพย์ ที่มันนอกตัวเราเลย ว่าเป็นของ ของตนมันไกลแล้ว บุตรเป็นอีกคนหนึ่ง ทรัพย์ศฤงคาร เป็นอีกชั้นหนึ่ง อยู่นอกตัว นอกตนแท้ๆ แขน ขา เนื้อ ตัว หู ตา ร่างกาย ตับ ไต ไส้ พุง อะไรอวัยวะของเรา เรายังจะต้อง พิจารณาเลย เล็บ ขน ผม ฟัน หนัง อะไรต่างๆนานา ว่ามันไม่ใช่ ของเรา มันไม่ใช่ตัวตนเที่ยงแท้ มันไม่ใชสิ่งที่จะยั่งยืน ยึดเอามันให้มันได้ดังใจ ให้มันตั้งอยู่ ไม่เปลี่ยน ไม่แปลง ไม่บุบ ไม่สลาย ไม่แยกธาตุเป็นที่สุด ไม่ได้ๆ มันทำไม่ได้

เพราะฉะนั้น ในโวหารนี้ ในการที่จะใช้ปรัชญาอันนี้มาบรรเทาความทุกข์ ทำให้เราละโลภ ละโกรธ ละความหวงแหน ก็มีอานิสงส์เหมือนกัน ลดความทุกข์ได้ชั่วคราว เป็นการพิจารณา แต่ที่จริงแล้ว เมื่อถึงปรมัตถธรรมแล้ว เรามีตัวพิสูจน์ตั้งแต่วัตถุ ตั้งแต่อะไรต่ออะไร ว่ามันไม่ใช่ ของเรา แล้วเราไม่ต้อง ไปหวงแหนเป็นของเรา ถ้าเราจะสร้าง ก็สร้างขึ้นมาเป็นสมบัติ ขยันหมั่นเพียร กอร์ปก่อสร้างขึ้นมา มันก็จะมีผลผลิต ผลผลิตเหล่านั้น เราเองเราสร้างด้วยมือ สร้างด้วยความรู้ของเรา เราก็มีสิทธิ์เป็นของเรา

ทีนี้ เราจะเอาไปแลกไปเปลี่ยน เอาไปให้ ไปแจกอะไรก็ตามใจ มันก็ไปทำได้ เพราะเราจะมีสิทธิ์ ทีนี้ แม้ว่าเราจะมีสิทธิ์นั้น เราก็ยังจะต้องใช้สูตรที่ว่า เออ! อย่าไป หวงแหนเป็นตัวตน เป็นของเรา ของเราอะไรนัก ถ้าไปหวงไปแหน ไปเหนี่ยวไปยึด ไปติดอะไรอยู่ มันก็จะเป็นทุกช์อื่น ที่เป็นอิทัปปัจจยตา ที่มันเป็นเหตุต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆๆๆ ไปอีกเยอะเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น การจะใช้ปรัชญาสูตรนี้ไปพิจารณา แล้วก็ไปเห็นความจริง จนกระทั่งถึงที่สุด เราได้พิสูจน์ ตามธรรม เห็นอนัตตาที่เป็นสภาวะปรากฏ เห็นอัตนียาว่า มันไม่ใช่ของตัวของตน อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน อัตนียา ไม่ใช่ของตัวของตน เห็นจนกระทั่งว่า สภาพเป็นนามธรรม หรือ เป็นวัตถุก็ตาม ถ้าเรา ขั้นยิ่งเป็นนามธรรม เป็นกิเลส กิเลสไม่ใช่ตัวตน กิเลสไม่ใช่ของ ของตน แต่กิเลสมันมาทำตัวเป็นตน ทำตัวเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ จนให้เรา นี่หลงใหล หลงผิด เข้าใจผิดว่า กิเลสเป็นเรา เราเป็นกิเลส กิเลสเป็นจิตวิญญาณ จิตวิญญาณเป็นกิเลส เป็นตัวเป็นตน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เมื่อเรามาแยกแยะกิเลสออกได้ ฆ่ากิเลสจนตาย จนไม่เหลือตัวตน ตัวตนนี่จะเรียกว่า สักกายะ จะเรียกว่า อัตตา จะเรียกว่า อาสวะ ก็แปลว่า ตัวตนอยู่นะ อาสวะก็แปลว่าตัวตน ตัวตนทั้งหยาบ กลาง ละเอียด อะไรขึ้นไปขนาดนั้น เห็นสภาพ รู้อาการ ลิงคะ นิมิตของมันว่า มันหมดตัว หมดตนแล้ว มันไม่เกิดแล้ว มันไม่มีบทบาท ไม่มีพฤติกรรมของกิเลสนั้นๆๆๆ เห็นได้ว่า หมดตัวตน อย่างนั้น เป็นการเห็นอนัตตา เราพิสูจน์อย่างนี้ได้แล้ว มันจะไปเกี่ยวเนื่อง ถึงสภาพ วัตถุ ถึงสภาพอาการ อารมณ์ แม้กระทั่ง อารมณ์อย่างนี้ เป็นภพ เป็นชาติอยู่ในใจ เออ! อารมณ์อย่างนี้ มันน่าได้เสวยอารมณ์ อารมณ์อย่างนี้อร่อย อารมณ์อย่างนี้เป็นสุข อารมณ์อย่างนี้ เราก็จะเสวย ถ้าได้สมใจมาในอารมณ์ที่สุขสม เสพสม ได้สมใจในวัตถุ ที่เราต้องการ ก็ได้มาสมต้องการ สมปรารถนา จะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ หรือได้รสอร่อย อย่างไรก็แล้วแต่ มาจากพฤติกรรม มาจากอะไรอย่างไรก็แล้วแต่ เป็นรสอร่อย แล้วก็จะเป็นสุข ถ้าไม่ได้ มันก็จะเป็นทุกข์

เราจะรู้รายละเอียดพวกนี้อย่างชัดเจนเลยว่า มันไม่มีกิเลส ที่จะต้องอยาก แล้วก็บำเรอ ความอยาก มันไม่เกิดกิเลสโลภ โกรธ หลง อะไรจริงๆ ไม่มีตัวตน อาการ ของกิเลสเกิดเลย ในจิตวิญญาณเรา นั่นแหละ ที่จะรู้ความไม่มีตัวตน ที่มันเป็นสภาวะ ไม่ใช่เป็นแต่เพียง ตรรกศาสตร์ เฮ้ย ! นี่ไม่ใช่ของตัวของตน บุตรไม่ใช่คน ทรัพย์สินไม่ใช่ของตัว ของตนอะไร ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนหรอก เพราะฉะนั้น พวกนี้ก็วางได้ไม่เดือดร้อน แม้กระทั่งข้างนอก นี่ถ้าได้ฝึกฝนจริงๆ ข้างใน มันก็ฝึกฝน จนกระทั่งเห็นจริงเห็นจังว่า เราอาศัยมันเท่านั้น ถ้าเราจะสร้างจะสรรขึ้นมา ก็อาศัย ถ้าอาศัยแล้ว เราจะไปแจกจะจ่ายก็แจกจ่าย นั่นคือ การไม่ยึดเป็นของตน ไม่หลงคิดว่า เป็นของตน พรากได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนยืนยันว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องพรากจากกันเป็นที่สุด ไม่มีอะไร จะไม่พรากจากกัน

ท่านให้พิจารณาบ่อยๆ ในเรื่องนี้ มันไม่มีอะไรที่จะไม่พรากจากกัน เพราะฉะนั้น มันจะพราก จากกันเมื่อใด ก็ต้องรู้เท่ารู้ทัน มันต้องพรากจากกัน มันไม่มีอะไร อยู่แนบแน่น อยู่ด้วยอย่างนั้น นิรันดร ไม่มี มันต้องพรากจากกันเป็นที่สุด ใกล้หรือไกล เร็วหรือช้า เพราะฉะนั้นจะเห็นจริง เห็นจังว่า เออ! พรากก็เป็นธรรมดา ความพราก จากพรากเป็นธรรมดา ไม่ต้องไปหวงแหน ไปเหนี่ยว ไปรั้ง ไปอาวรณ์อาลัย ใครมีอารมณ์ มีสติปัญญาที่เข้าใจอย่างนี้ แล้ววางใจจริงๆ เลย เมื่อพรากก็พราก เสียก็เสีย ไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่มีก็ไม่มี เห็นจริง แล้วคนนั้น ก็จะรู้จักสภาพ ที่เราวางได้ เราละได้ เราปล่อยได้ ตัวตนไม่มี แล้วมันจะไม่มีความอึดอัดขัดเคือง จะไม่มีความทุกข์ร้อนอะไรเลย เป็น ความสงบที่แท้จริง

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้พิจารณาได้ตั้งแต่หยาบๆ ไปจนกระทั่งถึงนามธรรม ที่ละเอียด ต้องศึกษา เอาของใครของมัน ใครถึงขั้นที่เรียกว่า เรารู้จักคำว่าตนลึก ซึ้งละเอียดไปจนสักกายะ อัตตา จนกระทั่งอาสวะ จนไม่มีอาสวะ ไม่มีตัวตน ในเรื่องละเอียดนี้ จะเป็นเหตุปัจจัยอันไหนก็ตาม เกี่ยวเนื่องไปจนกระทั่งถึงนามธรรม เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ เป็นนามธรรม เป็นกิเลส เป็นอารมณ์อาการ อะไรอยู่ในจิตใจนี่แหละ ถ้าทำได้คนนั้น ก็เป็นที่สุด

ถ้าเที่ยวไปไม่พบคนที่ดีกว่าตน หรือเสมอตน ฟังดูมันจะซ้อนๆอยู่นะ ถ้าเที่ยวไป ไม่พบคน ที่ดีกว่าตน หรือเสมอตน ก็ควรบำเพ็ญความเป็นผู้เที่ยวไป คนเดียวให้มั่น เพราะความเป็นสหาย ในคนพาลไม่มี

อันนี้ เรามาพิจารณาให้ดีๆ ถ้าเที่ยวไปไม่พบคนที่ดีกว่าตน ถ้าเที่ยวไปจริงๆน่ะ ไปแสวงหา จรไป ไม่พบคนที่ดีกว่าเราจริงๆนี่เลย นี่สมมติตามข้อกำหนดให้อันนี้ ไม่พบคนดีกว่าตน หรือ เสมอกับตน เท่าๆกับเรานี่ ประมาณแล้ว ถ้าเที่ยวไปจริงๆน่ะ ไม่ไหน อยู่ไหน ที่ไหน แสวงหาแล้ว ไม่เจอจริงๆ ก็ควรบำเพ็ญความเป็นผู้เที่ยวไปคนเดียวให้มั่น ต้องช่วยตนแล้ว ถ้าไม่มีจริงๆ เราก็ไม่มีที่พึ่ง เพราะความเป็นสหายในคนพาลไม่มี อันนี้สมมติว่า เราต้องไม่ใช่พาล ใช่ไหม ต้องสมมติว่า เราไม่ใช่พาล ถ้าสมมติว่าเราเป็นผู้อ่อน ผู้เยาว์ ผู้พาล ผู้โง่อยู่ เราต้องหาผู้ที่ดีกว่า ในโลกนี้ จะมีผู้ดีกว่าเราไหม หา มีแน่นะ ต้องเจอ ถ้าอย่างนั้น ต้องมีสหาย ต้องเจอ! ถ้าคุณหาไม่ได้จริงๆ คุณจะต้องอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้น อันนี้แหละ ข้อบทที่บอกว่า คนพาล รู้จัก ความเป็นพาลของตน ก็เป็นบัณฑิตบ้าง เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่รู้ความพาล หรือ ความโง่ของตนว่า โอ้ เราดี แต่มีผู้ที่ดีกว่า ผู้นั้นเจอบัณฑิตแล้ว อย่างน้อยก็บัณฑิตของตน

ฟังดีๆนะ มันซ้อนนะ เรานี่ หาคนดีกว่าเรา คนที่เป็นบัณฑิตกว่าเรา เราก็หาจนเจอ ยอมรับเขาว่า เออ! เขาเป็นบัณฑิต ยอมรับเขาว่า เป็นบัณฑิต ยอมรับเขาว่าเป็นผู้รู้ แล้วเราก็จะเป็นคน ที่เรียกว่า เป็นคนลดตัว ลดตนแล้ว ถ้าคนใดที่ไม่เห็นใคร เป็นบัณฑิตเลยในโลก โดยสัจจะ คนนั้น ไม่ใช่บัณฑิตแล้ว เพราะในโลกนี้ ไม่มีเลยที่จะไม่มีบัณฑิต บัณฑิตน้อย บัณฑิตกลาง บัณฑิตใหญ่อะไรนี่ บัณฑิตบรรจุซอง ก็คงจะมี ใช่ไหม มันต้องมี เพราะฉะนั้น ไปหาความเป็น ความดีของคน ไม่ได้เลย มีเราดีอยู่คนเดียว ไม่มี ไม่มีหรอก มันต้องเห็นจนได้ การเห็นตัวเอง มีความบกพร่อง เราก็เป็นบัณฑิต การเห็นผู้อื่นที่เป็นคนเจริญกว่าเรานี่ มีจุดดีกว่าเรา จะจุดดี ในจุดเลวๆ หรือไม่ดีๆ ตั้งมากก็ตาม ในคนๆหนึ่ง มีจุดดี แล้วก็มีจุดไม่ดี แม้จะมี ความไม่ดี ตั้งมาก แต่เขามีจุดดีนะ คนๆนี้ก็มีดวงตาแล้ว ไม่ใช่ไปเหมาเข่ง เขาไม่ดีทั้งหมด เสร็จแล้ว ก็หนักๆเข้า ทั้งๆที่เขามีความดีมากๆ หนักเข้าๆ ไม่รักความดี โยนความดีเขาทิ้งไปเรื่อยๆ เลย ตอนแรก ก็รับว่าเขาดี อยู่บ้างน่ะนา มีความบกพร่องอยู่บ้างแต่น้อย ตอนแรก ทำท่าที อย่างนั้นน่ะ เออ! จุดไม่ดี แก้ไขกันเถอะ จุดดีก็รับรอง นานเข้าๆ เขาไม่ยอมๆ เขาพยายาม ที่จะแก้ เขาพยายามที่จะฉีก อะไรต่ออะไรออกมาอีก จะยืนยันความดีของ เขาหลายๆอย่าง หนักเข้า ด้วยความริษยา ด้วยความไม่ยอมแพ้อะไรก็ตามแต่ ทิ้งความดีของเขาหมดทีนี้ เสาะแสวงหา หรือว่าพยายาม ซอกแซกๆ ขุดค้นหาเหตุหาผล หาอะไรออกมา เอาแต่ความไม่ดี ของเขาออกมา มันไม่ดีจริง หรือไม่จริง ก็ไม่รู้ เอาใหญ่เลย โอ๊! คนนี้จะเป็นบัณฑิต หรือเป็นพาลแท้กันแน่

ลักษณะอย่างนี้ มีอยู่ในคนนี่ เราก็สังเกตสังกา อ่านดูว่า เอ๊อ ! อะไร กันนักกันหนาหนอ มันทำไม มันเป็นอย่างนั้น มันน่าเสียดายน่ะ ทำไมมันเป็นอย่างนั้น นี่จะเห็นเลยว่า กิเลสของคนเรา มันมีอย่างนี้จริงๆ โอ้! เป็นไปได้อะไรกันนักกันหนา แล้วก็ไม่พยายามที่จะศึกษาความจริง พยายามที่จะมองไปในแง่ที่จะต้องทำลายล้าง ทำลายล้าง หรือว่าทำอะไรต่ออะไร ที่มันไม่เข้าท่า อาตมาว่ามันไม่เข้าท่านะ อาตมาเห็นตัวอย่างสิ่งเหล่านี้แล้ว โอ้! กลัวตัวเอง เหมือนกันว่า โอ้! เราเอง จะไปเป็นอย่างนี้น่ะ แหม ! มันไม่เข้าท่าแน่ๆ เราก็เลยยิ่งทำให้เรา มองเห็นความพาลของตนเองว่า โอ้ ! เราจะมีบ้างไหมนี่ มีอยู่นิดหน่อยหนึ่ง รีบจัดการเอาออก รีบต้องการ อยากให้มันเป็น ขณะใดที่เราเห็นคนอื่นมีจิตไม่ดี เราก็ไม่ต้องไปถล่มทะลายเขา หรือเห็นเขาแสดงความไม่ดี เราก็ต้องพยายามมองความดีของเขาให้มี ให้เห็นความดีเขาเรื่อยๆ ในขณะใด ที่เราเห็นความดีของเขา ดี อยู่ มีอยู่จริงนะ หมายความว่าจริง ไม่ใช่แสร้งพูด แสร้งทำนะ เป็นจุดดีของเขา จริงๆ เออ จุดดี ยังมีใจเห็นจุดดีของเขาอยู่เรื่อยๆ เราก็เป็นบัณฑิต ขึ้นเรื่อยนะ

ก็มาเห็นจุดเสียของเรา เห็นจุดเสียของเราๆ เราก็เป็นบัณฑิตอีกเหมือนกัน นี่คือ ความเป็นบัณฑิต อยู่ตรงไหน ต้องจริงๆนะ ต้องพยายามโยนิโสมนสิการ แยบคาย รู้ความจริงนี้ ใจเราไปริษยา ใจเราไปโกรธไปเคือง เสร็จแล้ว ก็ยิ่งมีความรุนแรง ล้ำหน้า ไปเที่ยวได้ถล่มทลาย คนอื่น แล้วยิ่งผิดพลาดไปอีก เน้นแต่เป้าที่จะถล่มทลายเขา โดยความจริง เขาอาจจะมีดี อยู่ตั้งมาก มีชั่วอยู่นิดหน่อย คนเรามันก็ควรจะต้อง เออ! พูดกันให้รู้เรื่อง อย่าให้ไปทำลาย อย่าไปชักชวนคนอื่นไปทำลายคนที่ดีอยู่ตั้งมากๆ มีจุดไม่ดีอยู่หน่อยเดียว อย่าไปชักชวน คนมาทำลายเขาซี คนอย่างนี้หายากนะ คนที่เขามีชั่วมากๆ แล้วก็มีดีหน่อยเดียว เออ! เอาเถอะ อย่างนั้น ก็ค่อยว่ากันไปใหม่ ไอ้เจตนาที่จะทำลายคนที่มีดีมากๆ มีชั่วอยู่น้อยหนึ่ง นี่แสดงว่า คนพาล คนโง่ หรือว่าแสดงเป็นบัณฑิตกันแน่ คงตอบกันแล้วในใจหนอ

สิ่งอย่างนี้ เราต้องเข้าหาสัจจะ เราจะต้องมองในสัจจะ แม้แต่ ในศัตรูของเรา ก็อย่าเพิ่งไปดูถูก ดูแคลนกัน เมตตาสงสารกัน เขาจะชั่ว เขาจะเลวอย่างไรๆๆๆ ก็ควรขอบคุณเขาในบางส่วน บางอย่าง ศัตรูนี่ ทำให้เรามีกำลังใจนะ ศัตรูนี่ เป็นเครื่องทดสอบคนนะ ถ้าไม่มีศัตรู ที่เกิดจริงๆ ในโลก ไม่มีเครื่องทดสอบอะไรเลย จริงๆ ถ้ามีศัตรูขึ้นมาบ้าง เราจะได้มี ข้อทดสอบ ตัวเองบ้าง ว่าเราเอง มันจะเก่งไหม จะสามารถไหม จะวางใจได้ไหม จะโกรธตอบไหม จะหาเรื่องเลวๆ ร้ายๆ เข้าไปซัดกับเขาไหม หรือว่าจะสู้เขาด้วยความดี เราจะสู้กับเขา ด้วยความดีอย่างไร อย่างไรเรียกว่าความดี เราก็จะต้องพยายามทำขึ้นมาจนได้ ทำออกไปแล้ว มันเป็นความดี จริงไหม มันเป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ขอยืนยัน อย่าเผลอไผล เป็นอันขาด ถ้าเที่ยวไปไม่พบคนที่ดีกว่าตน หรือเสมอตน ก็ควรเป็น ผู้เที่ยวไปคนเดียวให้มั่น เพราะฉะนั้น เมื่อกี้พูดไปแล้ว เราจะไม่พบคนดีนั้นไม่มี ไปพบคนดีกว่าตน หรือเสมอนั้นยาก ผู้ที่ดีจริงๆ เที่ยวไปแล้ว ไม่พบคนดีกว่าตน ไม่พบคนดีเสมอตน ต่ำกว่าตน ถ้าเป็นความจริง ผู้นั้นจริงๆ นะดีจริงๆ เที่ยวไปแล้ว ก็ไม่พบคนดีกว่าตน ไม่พบคนดีเสมอตนจริงๆเลยนะ ผู้นั้นดีจริงๆ หรือเปล่า ผู้นั้นมีความ เฉลียวฉลาดจริงๆนะ ไม่ลำเอียง พยายามสอดส่องแล้วผู้นั้น ก็จะเป็น คนดีจริงๆ ที่เขาจะไม่ไปชัง คนที่ต่ำกว่า เขาจะไม่ไปลบหลู่คนที่ต่ำกว่า แม้จะไม่ดีเท่าตน หรือ เสมอตนก็ตาม ก็ยิ่งเสมอตน ก็แสดงว่า ดีเท่ากับเรา แล้วจะไปลบหลู่ได้อย่างไร คนที่ต่ำกว่าตน ยังไม่ลบหลู่ แล้วจะไปลบหลู่คนที่ดีเสมอตนได้อย่างไร ใช่ไหม

เพราะสัจจะนี้ไม่มีใครตัดสิน สัจจะอันนี้ ไม่มีใครจะแจ้งจะบอกได้ ไม่มีจริงๆ ไม่มีใครแจ้ง ใครบอกสัจจะอันนี้ได้ แล้วคนก็ขี้มักจะหลงตนเสียด้วย แหม! ไม่มีใครดีกว่าตนนะ ขี้มักจะหลงง่ายๆ แต่ถ้าตราบใด เราไปพบคนที่ดี จริงๆ แล้วเราก็ยอมจำนนนี่นะ คนนั้นแหละ ไม่มีสิทธิ์ไปคนเดียว บอกไว้แล้วนี่ บอกไว้แล้ว ไม่ควร ถ้าผู้ใดไม่เชื่อจริงๆ ควรบำเพ็ญ ควรบำเพ็ญความเป็น ผู้ที่เที่ยวไปคนเดียวให้มั่น เพราะความเป็นสหายในคนพาลไม่มี แต่เมื่อเราเจอคน ที่ดีกว่าตน เป็นบัณฑิตแล้ว ไม่ใช่พาล พระพุทธเจ้าก็ให้คบคนนั้นแหละ คือสหาย

ทีนี้ เราจะพิสูจน์สหาย ก็ต้องพิสูจน์กัลยาณสหาโย จะต้องพิสูจน์เป็น กัลยาณมิตร เป็นสหายที่ดี เป็นกัลยาณะ มีความดีที่แท้ เราก็พิสูจน์สหายได้ สหายที่ดีกับเรานั้น จริงๆเลยนะ แม้เราจะร้ายกับเขา เขาก็ดีกับเรา สหายนี้เหนือกว่าเราแน่ ถึงเราจะร้ายกับเขา เขาก็ดีกับเรานะ ดี พยายามที่จะเย็นกับเรา ไม่ขี้โกรธ ขี้แค้น ไม่เห็นแก่ตัว อดทนให้เก่ง อะไรก็แล้วแต่ ก็นั่นแหละซี คุณธรรมที่แท้ เขาดีกว่าเรา เป็นสหายที่ดี แล้วคนอย่างนี้ เราจะหนีจากไหมล่ะ ถึงจะต้อง ไม่หนีจากไป เราก็จะต้องอยู่ด้วยกันนั่นแหละ เรียนรู้เอาอันนั้นมาให้แก่ตน ถ้าตนยังไม่ดีเท่านั้น ไม่เสมอ เขาดีกว่า เราต้องเอาให้ได้ ถ้าผู้ที่ดีกว่าแล้ว โดยมุมนี้แหละ เขาจะร้าย ก็เป็นคนดี อย่างนี้ ผู้ที่ดีกว่าอย่างนั้น ย่อมมองผู้ที่ไม่ดีกว่านั้นออก แล้วเขาก็มีความมั่นคง ในสิ่งที่ดีกว่า จนผู้ที่ไม่ดีเท่านั้นน่ะ ศรัทธาเลื่อมใสอยู่แล้ว มีคุณธรรมอันนั้นอยู่แล้ว ผู้ที่ดีกว่ากับผู้ที่ไม่ดีเท่า ก็จะอยู่ด้วยกัน อย่างสันติ อย่างพี่อย่างน้อง อยู่อย่างเกื้อกูลแน่นอน

ในโลกนี้ จะเที่ยวไปแต่คนเดียว ถ้าเผื่อว่า ไม่พบคนดีกว่าตน หรือ เสมอตนอย่างที่ว่านี่ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ก็ควรบำเพ็ญตนไปแต่ผู้เดียว ทรงตนเป็นผู้เดียวให้มั่น เหมือนช้าง มาตังคะ ในนี้ไม่มีเขียนต่อไว้ไม่มี แต่อาตมาจำได้สูตรนี้ เหมือนช้างมาตังคะ ที่ออกจากฝูง ถ้ามันไม่มีคนดีกว่าตัว ถ้ามันไม่มีผู้เสมอตัว ก็จงเหมือนช้างมาตังคะ ที่จะต้องออกไป อยู่แต่ผู้เดียวให้มั่น สูตรนี้ อาตมาจขออธิบายหน่อยนะ ว่าอาตมาเหมือนช้างมาตังคะเหมือนกัน ซึ่งเห็นแล้วว่า โอ ไม่ดีเสมอตน แล้วก็ไม่ดีกว่าตน เสร็จแล้ว เขาก็ทำเลว ทำร้าย เราก็ไม่มีฤทธิ์ ไม่มีแรง เพราะเขาฮั้วกัน เพราะเขาทำอะไรๆ จึงออกมาเป็นช้างมาตังคะ เสร็จแล้ว มาเป็นช้างมาตังคะ จะสร้างตนได้ อาตมาก็เคยอธิบายนะ ว่า ช้างมาตังคะ จะมีหมู่ มีกลุ่ม ในอนาคต สร้างกลุ่มสร้างหมู่ได้ ตนเองมั่นคง แล้วก็สร้างหมู่สร้างกลุ่มได้ จะมีสหาย จะเกิดสหาย สหายที่ว่านั้นน่ะ เขาจะดีกว่าตน หรือไม่ดีกว่าตนก็ตาม บางทีก็ไปเจอสหาย ที่ดีกว่าตน ก็เข้ารวมหมู่ หรือตนนั่นแหละเป็นหลักเป็นแหล่ง แล้วก็มีคนอื่นมาเข้าใจตน แล้วก็เป็นหมู่ เป็นได้ทั้งสองนัย

ลักษณะแบบนี้มีจริง อาตมาขอพูด นี่ก็พูดไป ไม่ใช่ว่าพูดเพื่อเข้าตัว เข้าตน พูดเพื่อยืนยันตนเอง อะไรนักหนาหรอก มันเป็นความจริงที่เป็นแล้ว มันเป็นความละเอียดลึกซึ้งของสัจธรรม มันเป็นอย่างนี้

ในหมู่พวกเรานี่ อาตมาก็คิดว่า คงจะไม่มีปัญหาอะไร พวกเราก็คงรู้อยู่ว่า พวกดีกว่าตนนี่มีอยู่ ผู้เสมอตนมีอยู่ เราก็ไม่จำเป็นต้องปลีก ต้องแยกอะไรออกไปจากที่นี่ หรือจากที่หมู่ที่เราเป็น ถ้าเรารู้ เราเห็นจริง แต่ก็ไม่ได้พูดเอาไว้ เพื่อที่จะบังคับให้พวกคุณจะต้องไม่ออกจากหมู่ ไม่ใช่ อาตมาขอยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ในหลายๆครั้งๆ และคงจะต้องยืนยันไปอีกตลอดตายว่า อาตมา ส่งเสริม อิสรเสรีภาพ ไม่ต้องการการบังคับ แต่สภาพที่จะต้องมีหลัก มีเกณฑ์อยู่ในข้อบังคับ อะไรต่ออะไร หรือจะต้องบังคับบางสิ่งบางส่วนบ้างนั้นน่ะ เป็นการกำราบกิเลส ซึ่งเป็นวิธีการ แต่ไหนๆ ต้องทำเป็นอาณา เป็นอาชญา มันต้องมีบ้าง เป็นลักษณะอย่างนั้น แต่จำเป็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า แม้จะมีอาชญา มีอาณา มีข้อกฎ ข้อเกณฑ์อะไรแล้ว จะหนีจาก กฎเกณฑนั้นไม่ได้ จะต้องดึงเข้ากฎเกณฑ์ เหมือนกับเรากำลังเจออยู่เดี๋ยวนี้ จะต้องดึงเรา เข้าไปในกฎเกณฑ์อีก ไม่ อาตมาก็จะไม่ทำ ใครจะออกจากกฎเกณฑ์ คุณจะออก ไปอยู่ที่ไหนได้ก็ไป ถ้าคุณแน่จริง ถ้าคุณเป็นช้างมาตังคะออกไปจริง คุณก็จะต้องไปทำอะไร ดีขึ้นได้ จริงๆ นะ

อาตมาว่าอาตมาแฟรงค์ (frank) แฟร์ (fair) แฟรงค์ แฟร์ เรามีออกเอ็กเซ่นส์ ให้มันแฟร์ อาตมาว่า อาตมากล้า แล้วก็ยุติธรรมพอ ออกไปเลย แล้วก็ไปทำของตนเองให้ดี ไม่ใช่ลบหลู่ และไม่ใช่ไล่ มันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมจะต้องไปดึงเขาเข้ามา ถ้าเราแน่จริงแล้ว เราจะต้อง ไปกลัวทำไม กับคนที่เขาไม่แน่เท่าเรา ปล่อยให้เขาบ้าไปเต็มที่เลย ปล่อยให้เขา ออกฤทธิ์ ไปเต็มที่เลย มันจะออกมา มันจะฟ้อง มันจะประกาศ มันจะยืนยัน อันนั้นเอง ถ้าเขาดี มันต้องประกาศออกมาได้ ฟ้องตัวเองออกมาได้ว่าเขาดี ถ้ามันไม่ดี เอ้า ทำไป เดี๋ยวมันก็ฟ้อง ออกมา ว่ามันไม่ดี ถ้าเราดีอยู่แล้ว ก็ทำความดีของเราให้ยั่งยืน ให้ตลอดไป เถอะน่า อันนั้น มาทำลายเราไม่ลงหรอก แล้วโดยเฉพาะ ยิ่งปลีกออกไปย่อยๆด้วย พุทโถ! เราใหญ่อยู่แล้วด้วย แล้วไอ้ปลีกย่อยไปนี่ ไปกลัวย่อยๆเสียอีก ตัวเองแน่ใจว่าดี แล้วไอ้ที่ปลีกออกไปน่ะ ย่อยๆด้วย แล้วตัวเองนั่นไปกลัวไอ้ย่อยนั่นอีก ขี้ขลาดน่าดู ขี้ขลาดจริงๆ เราตัดสินของเราเอง มันอาจจะผิดพลาด เพราะฉะนั้น ให้เหตุการณ์ให้กาลเวลา ให้ของจริง มันตัดสินตัวมันเองซี ไปบีบบังคับทำไม ไปดึงเขาเข้ามาทำไม เผด็จการทำไม อิสรเสรีภาพซี เอาเลย ทำให้ดีก็แล้วกัน จริงๆแล้วนี่ นะ ถ้าเผื่อว่า สิ่งนั้นดี จริงๆ ไม่มีใครอยากออกหนีหรอก แล้วเมื่อไม่ออกหนี สิ่งนั้นดีจริงๆ ก็แสดงว่า มีสิ่งดีอยู่ คนดีอยู่ รังสรรค์สิ่งดีอยู่ มันก็เจริญ ไปเรื่อยๆ เมื่อคนที่ดีอยู่ ด้วยกันมากๆๆๆ มันก็กอร์ปก่อสิ่งที่ดีไปเรื่อยๆ ไปกลัวทำไม กลัวว่ามันจะสูญ มันจะพัง ไปกลัวทำไม เพราะฉะนั้น เกิดความกลัว แม้แต่ตัวเอง มีหมู่กลุ่มก็ใหญ่ มีหลักฐานอะไรก็ ลูกหมู่มหาศาลอยู่แล้ว แล้วยังไปกลัวสิ่งเหล่านั้น แสดงว่าคนนั้นน่ะ ไม่มั่นใจ ไม่มีความมั่นใจ ไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองเป็น ตัวเองมี แล้วก็เลยใช้ลีลา ใช้ลีลาที่จะต้อง ไปดึงไปรั้ง ไปเอาเขาเข้ามา ไปอะไรต่ออะไรต่างๆ นานา มันเป็นอย่างนั้นจริงๆนะ สุดท้ายก็ข่มขี่ เบียดเบียน อะไรต่ออะไรต่างๆ นานา ซึ่งมันเป็นไปได้ ที่ไม่ดี ซึ่งเป็นสภาพที่ครอบงำ

ทีนี้มาถึงราตรีของผู้ที่ตื่น ยาวนาน โยชน์ของผู้เมื่อยล้า ยาว สงสาร หรือสังสารวัฏนี่ของคนพาล ผู้ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม ยาว

ในความหมายอันนี้นี่นะ ถ้าเราจะแปล อาตมาอธิบายไปแล้ว เป็นปรมัตถ์ อยู่ที่ปฐมอโศก สูตรนี้ ว่าราตรีนั้นเป็นความมืด ความดำ เป็นความที่ไม่มีองค์ประกอบ ที่จะสร้างสรรอะไรได้ เป็นความไม่สว่างไสว ไม่เจริญ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตื่นอยู่ ไม่เหมาะสมกับสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น จะหนีจากสิ่งนั้น หนีจากความมืดบอด ความไม่สว่างไสว ความเป็นองค์ประกอบ ที่ไม่กระจะกระจ่าง ไม่รังสรรค์

ถ้าดิ้นออกไม่ได้จากราตรีอย่างนั้น มันก็จะเหมือนมัน ยาวนาน อาตมาอธิบายมาแล้ว ทีนี้ ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เขาไม่ได้แปลอย่างนั้นหรอก เขาหมายความแค่ว่า ราตรีของคน ผู้นอนไม่หลับ แน่ะ แปลว่า ผู้ตื่น นี่ ไปแปลว่า ผู้นอนไม่หลับ ราตรีของผู้นอนไม่หลับ นี่ โอ้โฮ! มันยาวนาน มันทุกข์ โอ้! เมื่อไหร่ มันจะสว่างซะที มันทุกข์ มันราตรีของผู้นอนไม่หลับ นี่มันทุกข์ทรมาน แปลว่าอย่างนั้น อาตมาก็ว่า เอ๊! คำว่า ผู้ตื่น คำนี้ มันน่าจะเป็นคำว่า ชาคริยา เป็นชาคะ เป็นชาคโร มันไม่น่าจะเป็นคนนอนไม่หลับ คนนอนไม่หลับว่าอย่างไร บาลีเขาว่า อย่างไร นอนไม่หลับ คนนอนไม่หลับ มันไม่น่าจะว่าพวก ชาคริยา ชาคริตใช่ไหม ชาคโร อะไรพวกนี้ ผู้ตื่น มันไม่น่าจะเป็นคำนี้ มันน่าจะ เป็นอะไร ผู้นอนไม่หลับ ก็ได้อธิบาย ความหมายว่า ผู้นอนไม่หลับนี่ ราตรีมันยาวนาน คุณก็เข้าใจใช่ไหม โอ๊! มันอึดอัด ขัดเคือง มันนอนไม่หลับ มันไปอะไรเสียก็ดีกว่า มันไม่ไหว มันอึดอัด มันไม่เข้าท่า มันสว่าง จะได้ไปโน่น มานี่ ทำโน่น ทำนี่ อะไรต่างๆ นานา มันก็จริง มันทุกข์นั่นเอง สรุปง่ายๆ

ราตรีของผู้มีทุกข์ ความมืด ความดำ ความไปไหนก็ไม่เห็นหน ไม่รู้เรื่องอะไร ไม่มีอะไร ที่จะเปิดจิตเปิดใจ เปิดความสว่างโล่งอะไร สะดวกสบายอะไร มันไม่มีสะดวกสบายอะไรทั้งนั้น มันก็อึดอัดแน่นอน มันยาว โอ๊! มันอึดอัด ทำไมมันไม่จบสภาพอย่างนี้ซักที มันทุกข์ อยู่ในความทุกข์ อยู่ในวังวนของความมืด ความทุกข์นั่นเอง ก็แน่นอน ก็ถูกละ

ทีนี้ไปเปิดบาลีดูแล้ว ในคำนี้ ชาคระจริงๆ ชาครโต ประกอบอยู่ในประโยคนี้ อาตมาก็ว่า อาตมาอธิบายถูกแล้ว เพราะเขาว่าไม่มีคำอธิบาย มีแต่ พวกเคยได้ยินมา พระอรรถกถาจารย์ อะไรๆ ก็อธิบาย อาตมาก็บอกว่า อาตมาก็อ่านว่า พระสูตรนี้ เขาก็คงมีคำบรรยาย คำอะไร ขยายความ แต่มันมีอย่างนี้จริงๆ คุณสุชีพ ก็ต้องแปลออกมาเท่านี้ แปลออกมาว่า ราตรีของ ผู้ตื่น ยาวนาน อาตมาก็จับคำความนี้ได้ อาตมาก็คิดว่า อาตมาไม่วิปริต ในภาษาแน่ อาตมาก็รู้ แล้วอาตมาก็เอานามธรรมมาอธิบายแก่พวกเราเลย เอาแค่ต้นๆ ก็ได้

คนที่ติดหลับ ติดนอนก็คือผู้ไม่ตื่น เอาละนะ แค่นี้น่าเอาง่ายๆ คนที่ติดหลับ ติดนอน ก็ผู้ไม่ตื่น เสร็จแล้ว ถ้าราตรีมันสว่างปั๊บ คนที่ติดหลับ ติดนอนมากๆ น่ะ นอน ...ที่จริง นอนมาแล้ว ๑๗ ชั่วโมง ฟังดีๆน่ะ ที่จริงนอนมาแล้ว ๑๗ ชั่วโมง เสร็จแล้วก็ มันหมดแล้วละ ราตรีสว่างแล้ว ดวงตะวันส่องๆๆ มันไม่ต้องส่องก้นนะนา เขาว่าให้มันประชด เขาก็ว่าส่องก้นน่ะนา ดวงตะวัน ส่อง สว่าง หมดทั้งตัวแล้ว ยังเอาหัวซุกอยู่ในหมอนโน่น ก้นโด่งขึ้นอยู่อย่างนั้นน่ะนา แน่นอน ใครจะไปปลุกก็บอกว่า แหม! ทำไมมันสว่างไวจังโว้ย ราตรีมันรู้สึกว่า มันสั้น ที่จริงนอนมาแล้ว ๑๗ ชั่วโมง ใครมาปลุก ก็มันยังหลงใหลความหลับ มันไม่ตื่น มันหลับๆใหลๆ มันอร่อย ในความหลับ ความนอน แน่นอน คนนั้น ราตรีเขาจะต้องสั้น แน่นอน เพราะเขาไม่ใช่คนตื่น เขาเป็นคนหลับ เอาล่ะ แปลโดยภาษา บรรยายโดยภาษากันดีๆ เขาเป็นคนหลับ มันอร่อย ในหลับ เขาเหลือเกิน เอาละ เอาง่ายๆ นี่แหละ ในพวกเราก็มี ย่อมรู้ละ มันเป็นกิเลส แน่ๆ มันอร่อย มันเป็นอัสสาทะชนิดหนึ่ง มันอร่อยเหลือเกิน ความหลับ ความนอน แน่นอน กลางคืนของเขา เวลาที่จะต้องนอนนี่มันต้องสั้นแน่นอน ราตรีของผู้หลับ ไม่ใช่ราตรีของผู้ตื่น ไอ้นี่เขาบอกราตรีของผู้ตื่น ราตรีของผู้หลับ ต้องสั้นแน่นอน ก็ถูกต้องแล้ว ไม่ค้านแย้งกับอันนี้ ราตรีของผู้หลับมันต้องสั้น

ถ้าเป็นผู้ที่ตื่น ไม่เป็นคนอย่างนี้ ทีนี้อธิบายกันให้ชัดๆ ไม่เป็นคนติดหลับติดนอน แน่นอน ราตรีก็รู้สึกว่า มันยาวๆ อาตมายกตัวอย่าง คนคนหนึ่ง ให้ฟัง ว่าราตรีมันยาว ทำไมมันมืด อยู่อย่างนี้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ อาตมายกตัวอย่าง คุณเข็มน้อย มีอยู่คนหนึ่ง อายุ ๘๒ นี่ มาที่เรานี่ คุณเข็มน้อย วิริยศิริ อายุ ๘๒ แกบอกว่า แกนอนตีสอง ตื่นตีห้าทุกวัน ทำมาตั้งแต่ไหนๆ เดี๋ยวนี้ก็อยู่อย่างนั้น ท่านติกขวีโร ก็บอกว่า อ๋อ ! ก็นอนวันละสามชั่วโมงซี่ครับ เสร็จแล้ว กลางวันนอนไหม กลางวันก็ทำงานมากกว่าเก่าน่ะซี จะไปนอนอย่างไรล่ะ บอกว่า อยู่ได้อย่างไรล่ะ ก็ไม่รู้ แต่ผมจะต้องอายุร้อยกว่า เพราะหมอดูดูไว้ ตอนนี้ก็ ๘๒ แล้ว ผมยังไม่ รู้จักความเจ็บความป่วย ผมไม่เคยเข้าโรงพยาบาล แกจะต้องอายุร้อยเก้าปี แกว่าอย่างนั้น หมอหลวงทำนายไว้ แล้วผมก็เชื่อว่า ผมต้องอายุร้อยเก้า แล้วนอน วันละสามชั่วโมง เก่งกว่า พระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้านอนวันละ ๔ ชั่วโมง แล้วแกก็บอกว่า แกเคยนอน ทีนี้ ท่านติกขวีโร ก็ถาม ทำไมไม่นอนสองยามล่ะ ไปนอนทำไมตีสอง ผมเคยนอนสองยาม เสร็จแล้ว ตีสาม ผมก็ตื่น ตื่นมาแล้ว ผมก็ไม่รู้จะทำอะไร มันยังไม่สว่าง โอ้! ทำไมไม่สว่างสักที ถ้าตีห้า ผมก็ออกวิ่งแล้ว นี่มันก็ตั้งตีสาม ไม่รู้จะไปทำอย่างไร ทำไมราตรีมันยาวนานของคนตื่น ราตรีมันยาวนานของคนตื่น ผู้ตื่นราตรีมันยาวนาน โอ้! ทำไมไม่สว่างสักที มันยาวนานอยู่ นั่นแหละ เอ้า! ก็จริงนี่ แค่รูปปธรรม แล้วก็ความรู้สึกของคนตื่น เอ้า! อธิบาย คนหลับให้ฟังแล้ว คนติดหลับมันสั้น คนไม่ติดหลับ มันก็ตื่น ไม่ต้องบอกน่ะว่า ให้ควรฝึกเป็นคนแบบไหน ถ้าไม่รู้ ไปโง่อยู่ที่ไหนก็จงไป ถ้าไม่รู้ ฟังอันนี้แล้วไม่รู้ว่า อะไรคือความควร ความไม่ควร จงโง่อยู่ต่อไป ไปโง่ดักดาน อยู่ที่ไหนก็เชิญ

ความหลับ มันเป็นรสอร่อยจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า คนที่จะหลุดพ้น มีอยู่ ๓ อย่าง ที่ไม่มีความอิ่ม ความเต็ม
๑.เมถุน
๒.ความหลับ
๓.ความเมา

สามอันนี้ ไม่มีวันอิ่ม ไม่มีวันเต็ม คุณจะไปเที่ยวได้สั่งสมมันเท่าไหร่ๆ มันยิ่งจะมากๆๆๆๆ เมถุนก็ตาม ความหลับก็ตาม โอ้ย! เราจะได้นอนมากๆหน่อย จะได้ไม่ง่วง โอ้โห! เชิญฝึก เข้าไปเถอะ รับรอง ๑๗ ชั่วโมงยังน้อยไป ฝึกเข้าไปซี ไม่มีความอิ่มความเต็ม พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้ใน สังยุตนิกาย จำได้ว่า อยู่ในสังยุตนิกาย ไม่มีความอิ่ม ความเต็ม สามประการนี้ เมถุนหนึ่ง ความหลับหนึ่ง นิทรา เคยได้ฟัง ยังจำได้ว่า อันนี้คือนิทรา ความหลับ ความเมาหนึ่ง มัชชะ ท่านใช้คำว่า มัชชะ ความเมา สามคำนี้ เมถุน นิทรา และมัชชะ ไม่มีความอิ่มความเต็ม ไม่มีความอิ่มความเต็ม

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงว่า มันติด มันอร่อย มันเป็นความลวง การพักผ่อน หลับนอนนั้น พักผ่อนได้ ต้องพักผ่อนหลับนอน พักผ่อนให้พอเหมาะพอดี คนไม่เหมือนกัน คนแต่ละคน ก็ไม่เท่ากัน ก็เอาละ แต่ถ้ามันน้อยลงไปได้ มันก็ยิ่งมีเวลาเหลือเยอะ ยิ่งสร้างสรร ได้มาก เมื่อเราพักผ่อน เพียงพอแล้ว มันก็จะต้องตื่น ไม่ติดหลับติดนอน มันก็จะนอนได้ลงตัว นอนได้สัดส่วน เสร็จแล้วเราก็มีเวลาที่จะทำงานทำการสร้างสรร ถ้าเผื่อว่าเราเอง เราเป็นคน ตื่นอยู่ เราก็จะรู้สึกความมืด มันเป็นความมืด ทำอะไรต่ออะไรน่าพรักพร้อม ทุกวันนี้ กลางคืน มันก็ทำอะไรได้ เพราะมันมีฟืนมีไฟ ถ้าเป็นคนป่า แล้ว คุณลองคิดดูซี ไม่มีอะไรอยู่ในป่า กลางคืน จะเดินออกมาเดี๋ยวก็ไปเหยียบหนามตาย จะไปทำอะไรได้ เดี๋ยวเดินเหยียบเขี้ยวเสือ เสือมันนอนอ้าปากอยู่ เดินเหยียบเขี้ยวเสือไม่รู้ตัว ก็ตายน่ะนา พิษมัน เขาเดินเหยียบเขี้ยวงู ตายเอาก็มี มันมืดน่ะ มันไม่ได้เรื่องอะไรใช่ไหม แต่สมัยนี้อย่างว่า พูดกันก็ไม่รู้เรื่อง เพราะว่ามี มันเป็นอะไรนี่ เปิดไฟได้ มีไฟทำงานได้ จริง ก็ไม่ต้องอึดอัดอะไร เพราะมันไม่ใช่ความมืดแล้วนี่ คุณเปิดไฟ คุณจะสร้างสรรอะไร คุณก็สร้างสรรไป คุณตื่นมา ก็ดีแล้ว ก็เป็นสภาพอย่างนั้น

ทีนี้ เป็นนามธรรม อาตมาก็อธิบายว่า ราตรีหมายถึงความมืด ความที่ไม่มีองค์ประกอบพร้อม หมายความว่า มันไม่กว้าง ไม่โล่ง ไม่โปร่ง ไม่อะไรต่ออะไร มันเป็นสิ่งที่อึดอัด เป็นวังวน ของความอึดอัดอันหนึ่ง ราตรีนี่

ผู้ที่ตื่นแล้ว หรือผู้ที่รู้แจ้ง แม้รู้แจ้งเขาก็จะต้องออกจากอันนี้ให้ได้ ออกไม่ได้เมื่อใด เขารู้สึกว่า มันยาวนาน ออกไม่ได้เมื่อใด เขารู้สึกว่ามันยาวนาน เหมือนคนตกนรกนี่ก็ยาวนาน เวลาในนรก นี่ยาวนาน เวลาในสวรรค์นี่เร็ว เวลาไปรอคู่รักนี่ โอ้โฮ! นาทีหนึ่ง เหมือนหนึ่งปี รอนาทีหนึ่ง เหมือนหนึ่งปี เวลาที่คุณกำลังเพลิดเพลินในอะไรก็แล้วแต่เถอะ โอ หมดไปแล้ว ตั้ง ๑๒ ชั่วโมง ว้าย! ทำไมมันค่ำไวนักล่ะ หมดไปแล้ว ๒๐ ชั่วโมง คุณก็บอกว่า ทำไมมันเร็วจัง เวลาในสวรรค์ มันจะเร็ว เวลาในนรกนี่มันจะช้า เพราะฉะนั้น ความมืด ความอึด ความอัด ความทึบ ความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่ว่าง ไม่อะไรนี่ มันรู้สึกว่า มันยาวนาน มันรู้สึกว่า มันทรมาน มันอยากจะออกจากสิ่งตรงนั้น

คุณไม่อึดอัดบ้างหรือ คุณยังไม่เป็นพระอรหันต์น่ะ หือ นี่ กระแทกปังเข้าไปเลย คุณรู้สึก บ้างไหมล่ะ ไม่รู้สึก แสดงว่าเป็นพาล เอ้า! เอาละ เข้าเป้าหมดแล้วนี่ แสดงว่ายังเป็นพาล ยังโง่อยู่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้สึกว่า เรายังอยู่ในวังวน ยังรู้สึกในความมืด ยังรู้สึกในความทุกข์ ความอึดอัด ความไม่โล่ง ไม่โปร่ง ไม่อิสรเสรี คุณยังไม่เป็นผู้ตื่นแท้ ยังไม่เป็นพุทธะ จนสมบูรณ์ มันก็ยังยาวนาน อยู่นั่นแหละ คุณจะรู้สึกว่า มันน่าจะหลุดพ้นเสียเดี๋ยวนี้ อิสรเสรีเสีย เดี๋ยวนี้

ทีนี้ มันก็ต้องไปก่อเหตุ ถ้าเรารู้สึกอย่างนั้น เราจะต้องพากเพียร เพื่อที่จะออกจากตรงนี้ ให้ได้ สมมติว่า คุณไปถูกกักขังอยู่ในหลุมที่อึดอัดอยู่หลุมหนึ่ง มืดตึ๊ดตื๋อหลุมหนึ่งนั้น แน่นอน คุณจะต้องหาทางออกให้จนได้ คุณจะต้องดิ้นรนสุดขีด นั่นผู้ฉลาด แต่ทุกวันนี้ คุณดิ้นรน สุดขีดแล้วหรือยัง คุณรู้ตัวไหมว่า คุณอยู่ในถ้ำมืด ฟังดีๆนะ อาตมาขยายความให้พิสดารให้ฟัง ราตรีของผู้ตื่นนี่ ย่อมยาวนาน ฟังให้ดีๆ เพราะฉะนั้น เราเอง เรายังเป็นพาลอยู่นะ เราโง่อยู่ เรายังไม่รู้

อ่านต่อหน้าถัดไป