สัมมาทิฏฐิ ๑๐ ตอน ๑
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ เนื่องในงานปลุกเสกฯ ครั้งที่ ๑๖

ณ พุทธสถาน ศีรษะอโศก


เรื่องสัมมาทิฏฐิ หรือ ทิฐินี่ เป็นเรื่องหลัก เป็นประธานของสิ่งทั้งปวง ถ้าทิฐิไม่สัมมาแล้วไซร้ ทุกอย่าง ก็ไปหมดเลย ไม่ต้องเข้าทาง เพราะฉะนั้น ตัวนี้เป็นประธานในทิฐิ ๑๐ นี้ จะเป็นตัว ซอยละเอียด ในมรรคองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นตัวต้น ในมรรคองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ๘ ตัวนี่ เป็นทฤษฎีหลักใหญ่ มโหฬาร อภิมหาบรมใหญ่ ใหญ่ๆจริงๆ ทฤษฎีนี้ ที่อาตมา สอนกันมาแต่ต้น จะสอนอีก จนกระทั่งอาตมาตาย ชาติหน้าเกิดมาอีก สอนก็ สอนทฤษฎีนี้

พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ก็มาสอนทฤษฎีมรรคองค์ ๘ ไม่มีทฤษฎีอื่น ทุกพระองค์เกิดมาอุบัติ จะต้องสอน ทฤษฎีมรรคงค์ ๘ ทั้งสิ้น เป็นทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในมหาจักรวาลนี้ แล้วไม่ใช่ง่ายๆ เราเรียนกันอยู่นี่ฉ่ำแฉะ พูดซ้ำซากอยู่นี่ ก็ทฤษฎีนี้แหละ มีสัมมาทิฐิ หรือมีตัวทิฐิเป็นประธาน มีสัมมาวายามะ สัมมาสติเป็นเครื่องห้อมล้อมสัมมาทิฐิ คือมีความเข้าใจ ทิฐินี่เป็นความเข้าใจ หรือมีความเห็น ความเห็นความเข้าใจ มันจะต้องเป็นจริงที่จิตวิญญาณเรา เราเห็นตรงอย่างนี้ หรือว่าเห็นเป๋ก็แล้วแต่ ตรงเป๋ หรือตรงเป๋ง... บางทีเราเห็นตรงเป๋ ตรงอย่างนี้ ตรงเป๋ๆ อย่างนี้น่ะ ต้องให้ตรงเป๋ง ไม่ใช่ตรงเป๋ ถ้าความเห็นนี้ตรง วายามะคือ ความพยายามกับสติ ที่จะมา ประกอบความเห็น มันก็จะพามีสติ เวลาปฏิบัติ เราก็จะมีสติ สติสัมโพชฌงค์ หรือ สติปัฏฐาน ๔ อะไรก็แล้วแต่ เป็นสัมมาสติ เพราะทิฐิเป็นสัมมา ถ้าฐิติเป็นมิจฉาสติขึ้นมา ก็เป็นมิจฉาแล้ว วายามะก็จะเป็นมิจฉาด้วย เป็นความพยายามอย่างมิจฉา มันก็ไปกันใหญ่เลย สังกัปปะ ความคิด ความดำริเรื่องราวอะไรขึ้นมา ก็คิดเรื่องเป๋ไป ไม่ใช่ตรงเป๋ง ตรงเป๋ ออกนอกลู่ นอกทาง ออกนอกบุญหมด ไม่ใช่ทางแห่งบุญ ไม่ใช่ทางแห่งสวรรค์ นอกขอบเขตบุญไปหมด นอกขอบเขตพุทธ เริ่มต้นตั้งแต่สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีพ ไปด้วยกันหมดเลย องค์ทั้ง ๗ นี่แหละ เป็นสำคัญ ที่จะสั่งสมลงเป็น สัมมาสมาธิ

นี่คือหลักแกนใหญ่ของศาสนาพระพุทธเจ้า ทุกวันนี้ สมาธิก็ไปนั่งหลับตาเอา ซึ่งไม่ได้อยู่ในหลัก มรรคองค์ ๘ เขาเถียงนะ เขาบอกว่านี่ก็ปฏิบัติไปซิ ทิฐิ ก็ศึกษาไปให้ตรง ดำริก็ให้ดำริให้ตรง คิดไปต่างๆ ไม่เกี่ยวพันกันเลย ไม่สัมพันธ์กัน ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ใน มหาจัตตารีสกสูตร มันสัมพันธ์กันหมด มรรคองค์ ๘ สัมพันธ์กันหมดเลย พอบอกตรัส มรรคองค์ ๘ เสร็จ ท่านบอกว่า มรรคองค์ ๘ มีอะไร มีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เสร็จจบ ท่านก็บอกว่า ความเป็นหนึ่งแห่งจิต ทั้งหมดนี้ จะเกิดก็คือ สมาธินั่นเอง ความเป็นหนึ่ง เอกัคคตารมณ์ จะเกิด เมื่อผู้ใดทำให้เกิด เอกัคคตารมณ์ เกิดด้วยองค์ประกอบด้วยมรรคทั้ง ๗ นี้ นั่นเรียกว่า สัมมาสมาธิ ในมหาจัตตารีสกสูตร ท่านตรัสไว้อย่างนั้น เรียบร้อย

หนังสือสมาธิพุทธ เอามาเหมือนกันอ่านเลยดีกว่า เพราะว่ามันเป็นองค์ประกอบที่จะนำเรื่อง ให้เห็นความสำคัญให้ชัดเจนน่ะ เนื้อความในพระไตรปิฏกเล่ม ๑๔ ข้อที่ ๒๕๓ พระผู้มีพระภาค จึงตรัสดังนี้ ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุมีองค์ประกอบ คือสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ [องค์ประกอบ มีเหตุ มีองค์ประกอบ ก็คือ ๗ องค์นี้ ถึงสัมมาสติ ก็ ๗ ใช่ไหม สัมมาสมาธิของ พระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ ถึงสัมมาสติ ก็ ๗ ถ้ารวมสัมมาสมาธิด้วย ก็่เป็นองค์ ๘ ทั้งหมด แต่นี่ก็สัมมาสมาธิ ประกอบด้วยองค์ ๗ นี้ แล้วเป็นยังไงล่ะ] เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง [นี่ละ เอกัคคตารมณ์] ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้างฯ

อย่างนี้ไม่ชัด แล้วจะเอาชัดยังไง องค์ ๗ นะ เกิดจากองค์ ๗ นี่แหละ แล้วก็ปฏิบัติ แล้วก็จะเป็นเหตุ เป็นองค์ประกอบ แล้วก็จะเกิดสมาธิ เสร็จแล้วก็เถียง พวกที่เถียงข้างๆคูๆ บอก สมาธิก็ไปนั่งหลับตาไง จะปฏิบัติสังกัปปะ ก็ไปคิดอย่าไปให้มันเป็นมิจฉาซิ วาจาก็ไปพูด อย่าให้มันผิด อย่าให้มันเป็นมิจฉาซิ นั่นไปโน่นเลย ไปเลย แยกส่วนไปเลย ไปทำกันคนละอัน ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า มันรวมกันเป็นองค์รวม อันมี ๗ สาขานี่แหละประกอบ มีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง แล้วประกอบกันยังไง ท่านก็อธิบายอีก ข้อ ๒๕๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็น ประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฐิ ว่าเป็นมิจฉาทิฐิ รู้จักสัมมาทิฐิว่าเป็นสัมมาทิฐิ ความรู้ของเธอนั้นเป็น สัมมาทิฐิฯ

พูดเหมือนกำปั้นทุบดินนะ ภิกษุรู้จัก คือรู้จักว่า อันนี้เป็น มิจฉาทิฐิ ก็ให้รู้นะ อันนี้เป็นสัมมา ก็ให้รู้ แล้วก็จะต้องตั้งใจอยู่กับสัมมา ความรู้นั้น เป็นความรู้ที่เป็นสัมมา ความรู้ ก็คือศึกษานี่ จะพูดจะเรียนปริยัติ จะเรียน บรรยายใครจะบอกจะกล่าวอะไรก็แล้วแต่ อย่างพวกเรา ฐานะของสาวกภูมิ เราก็ต้องเรียนตามครูบาอาจารย์ ที่แนะนำสัมมาทิฐิให้ เสร็จแล้ว เอาละ ทีนี้ ท่านก็ตรัสถึงมิจฉาทิฐิ เป็นไฉน มิจฉาทิฐิ ก็คือ ๑๐ ข้อนี่

ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้วไม่มีผล ผลวิบากของกรรม ที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่ง ด้วยตนเองในโลกไม่มี นี้มิจฉาทิฐ

ผู้ที่ปฏิเสธว่าทานที่ให้แล้ว ไม่มีผลอะไรหรอก ยัญพิธีบูชาก็ไม่มีผลอะไร เดี๋ยวจะได้อธิบายกัน อย่างนี้ไม่มีทั้ง ๑๐ ข้อ ผู้ปฏิเสธแล้ว ไม่รู้จักพวกนี้ ทั้ง ๑๐ ข้อ ไม่เข้าใจ ๑๐ ข้อนี้ อย่างดี อย่างถูกทางถูกต้อง พวกนี้แหละมิจฉาทิฐิ ทีนี้ ทุกวันนี้บอกว่า สัมมาทิฐิ มิจฉาทิฐิ ก็ตามชอบ ไม่ได้อยู่ในหลัก ในเกณฑ์เลย ใครเห็นไม่ตรงข้า นั่นแหละมิจฉาทิฐิ ใครเห็นตรงกับข้า สัมมา สัมมา เอามันง่ายๆยังงี้ ใครเห็นตรงกับข้าสัมมา เพราะข้าเชื่อว่าอันนี้ถูก ใครเห็นตรงกับข้า อันนี้ถูก เออ สัมมา พอพูดไปแล้ว เฮ้อ มิจฉาทิฐิ เพราะไม่ตรงกับข้า ไม่ตรงกับข้า ไม่ได้เอา ๑๐ หลักนี้ เป็นหลักน่ะเดี๋ยวนี้ เป็นอย่างนั้นน่ะ

ทีนี้ อันนี้ อาตมาอยากจะขยายอีกจุดหนึ่งของพระพุทธเจ้าที่บอกว่า แล้วมันเกี่ยวข้ององค์ ทั้ง ๗ อย่างไร องค์ทั้ง ๗ เกี่ยวข้องอย่างนี้

ข้อ๒๕๘ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ความเห็นชอบ องค์แห่งมรรคของภิกษุ ผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วย อริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรคฯ อาตมาไม่ได้เจตนาที่จะอธิบายอันนี้

ข้อ๒๕๙ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิ ย่อมเป็นประธานอย่างไร คือภิกษุรู้จักมิจฉาสังกัปปะ ว่าเป็นมิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะ ว่าสัมมาสังกัปปะ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ

อ้อ มีอันต้น ท่านบอกอันต้นมาก่อน บอกว่า

ภิกษุนั้นย่อมพยายาม เพื่อละมิจฉาทิฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฐิ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะฯ

ภิกษุนั้น มีสติละมิจฉาทิฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฐิอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติฯ

ด้วยอาการนี้ ธรรมะ ๓ ประการนี้ คือสัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาทิฐิของภิกษุนั้นฯ

หมายความว่า สัมมาทิฐิเป็นประธาน แล้วมีสัมมาวายามะ กับสัมมาสติห้อมล้อม นี่เป็นเหตุ เป็นองค์ประกอบ แล้วมันก็เป็นขบวนการทำอย่างนี้อันนี้ คุณมีความเข้าใจ มีทิฐิความเห็นนี่ อาตมาจะบรรยายทิฐิ วันงานนี้ ถึงงานพุทธาฯนี่ให้สำคัญ จนกระทั่งคุณมีทิฐิที่ดี แล้ว คุณก็ไปเดินสติ ไปเดินความพยายามของคุณ เมื่อคุณไปตั้งสติแล้วก็พยายาม ปฏิบัติตามทิฐิ ของคุณมี เมื่อคุณมีทิฐิอย่างใด แล้วคุณจะต้องทำตรงตามทิฐิคุณ แน่นอนเลย คุณจะเชื่อ คุณจะเห็น คุณจะเข้าใจ คุณจะมีปัญญา คุณจะมีความฉลาดที่จะเออ ทิฐิต้องเป็นอย่างนี้ ความเห็นที่ถูกทาง ต้องเป็นอย่างนี้ คุณจะเห็นจริงๆ ตามที่คุณจะได้ อาตมาจะเก่งเท่าไหร่ อาตมาจะพยายามอธิบายให้คุณเข้าใจให้ตรง ให้ได้ลึก ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ เสร็จแล้ว คุณก็ไปพยายามเอง ไปมีสติเอง

เมื่อคุณได้ทิฐินั้นไปแล้ว จะเป็นประธานของ แต่ละคน แล้วคุณก็ไปพยายาม พยายามปฏิบัติ อะไร ปฏิบัติสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ โดยมีจักรกล หัวแง่สำคัญ ก็คือ ทิฐิกับสติ และวายามะนี่ห้อมล้อมช่วย เป็นหัวแง่ไข เวลาคุณจะ สังกัปปะ เวลาคุณจะดำริ จะนึก จะคิด จะมีอะไรขึ้นมาในใจ มันก็จะต้องให้เป็นสัมมาตามทิฐิ แล้วก็ต้องพยายามเป็นไปตามที่เรา เข้าใจว่า ต้องให้ตรง อย่าให้เป๋ อย่าให้เป็นบกพร่อง ต้องมีสติ รู้ตัวเสมอ มีธรรมวิจัย องค์แห่ง สัมมาทิฐิ ก็บอกแล้วว่า มีปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มีสัมมาทิฐิ หรือมีความเห็นชอบที่จะเจริญตาม ด้วยการปฏิบัติ องค์แห่งมรรค องค์แห่งมรรค ก็คือ ทั้ง ๗ ทั้ง ๘ ที่จริงสัมมาสติ ไม่ต้องปฏิบัติอะไร สัมมาสมาธิ เป็นตัวเกิดตามองค์ทั้ง ๗ เมื่อองค์ทั้ง ๗ ปฏิบัติไปแล้ว สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีพ มีการงาน มีอาชีพครบ มันก็จะสั่งสมลง เป็นสัมมาสมาธิ

อันนี้แหละ มันค้านแย้งกับสมาธิในโลกนี้ที่เรียน อย่าว่าแต่ประเทศไทยเลย ประเทศไทย ก็นั่งเรียนสมาธินี่ ใครไปเรียนจากไหนมาก่อน เรียนสมาธิของพระพุทธเจ้า นั่งหลับตา มาทั้งนั้นแหละ จะมานั่งอธิบายละเอียด แล้วก็หยิบตำราของพระพุทธเจ้ามาแฉ มาอธิบาย อย่างอาตมา มีสักคนหนึ่งหรือยัง ใครได้พบมาแล้วสักคนหนึ่ง มีไหม ยกมือขึ้นซิ ใครเห็นว่า เอา มหาจัตตารีสกสูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เขาก็อ่านกันมาทั้งนั้นแหละ เรียนเปรียญ ๙ มา ฯลฯ.. ก็ไม่ได้เอา มหาจัตตารีสกสูตรนี่มาพูดเลย ซึ่งเป็นสัมมาสมาธิ ที่เป็นสมาธิของพระพุทธเจ้า เท่านั้นค้นพบ สมาธินอกนั้นน่ะ ฤาษีนั่งหลับหูหลับตาเต็มป่า ก่อนพระพุทธเจ้าเยอะแยะ ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติ แต่สมาธินี่ พระพุทธเจ้ามาค้นพบอย่างนี้

แต่ในพระไตรปิฎกเขาพูดถึงสมาธิทั่วๆไป หลายครั้งหลายคราเหมือนกัน ซึ่งผู้ไม่รู้ ดูไม่ออก ว่าอธิบายสมาธิ พอท่านอธิบายแล้ว สมาธินั้น หมายถึง สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้า หรือ หมายถึงสมาธิทั่วไป ไม่ค่อยเข้าใจ ปนกันไปหมด แต่ถ้าผู้ที่รู้ชัดแล้ว ไปอ่านพระไตรปิฎกแล้ว จะรู้ อ๋อ อันนี้ พระพุทธเจ้าท่านหมายถึง สมาธิของพระพุทธเจ้าเอง อันนี้หมายถึงสมาธิ ของทั่วไป เพราะนัย วิปัสสนา นัยที่พิจารณาเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ มันจะบออก ว่าอันนี้หมายถึงสัมมาสมาธิ ไม่ใช่สมาธิทั่วไป แต่คนชอบจะมาถาม สมาธิทั่วไป คำตอบอยู่ในพระไตรปิฎก จึงหมายถึงสมาธิทั่วไปเยอะ เพราะคนในสมัยนั้น ก็ยังชอบสมาธิทั่วไป ยังเข้าใจสมาธิทั่วไป มาถามท่านก็ตอบตามความ หมายของสมาธิ ทั่วไปเยอะ ก็เลยเข้าใจว่า สมาธิเหมือนสมาธิทั่วไปเยอะ ไม่ใช่ง่ายนะ ไม่ใช่ง่ายน่ะ

เอาละ อาตมาเริ่มต้นด้วยจุดนี้ จะเห็นได้ว่า แม้แต่เวลาปฏิบัติก็ปฏิบัติไม่ถูกตัว ที่จะให้เกิด สัมมาสมาธิ ไปปฏิบัตินั่งหลับตา ทั้งๆที่ปฏิบัติของท่านให้ทำการงานมีอาชีพ

อาตมาก็ขอเริ่มต้นด้วย การย้ำกันให้รู้จักสัมมาสมาธิก่อน อย่างที่กล่าวแล้วนะว่า ถ้าเผื่อว่า ไม่รู้จัก สัมมาสมาธิจริงแล้ว ผู้นั้นจะมาเรียนสัมมาทิฐิ ๑๐ นี่ ไม่เอาอย่างที่จะเห็นได้ว่า เขาไม่พูดถึงกันเลย สัมมาทิฐิ ๑๐ เขาจะไม่พูดถึงกันเลย เขาจะไม่เห็นความสำคัญ แต่ผู้ที่รู้จริงแล้ว ผู้ที่เข้าใจจริงแล้ว จะเห็นความสำคัญของสัมมาทิฐิ ๑๐ เพราะทิฐินี้ เป็นตัวประธาน เราจะต้องทำทิฐิให้ตรง ให้เข้าใจให้ได้ลึกซึ้งที่สุดให้ได้ ถ้าเผื่อว่า ทิฐิไม่ตรง ทิฐิไม่สมบูรณ์แล้วละก็ วายามะกับสติที่จะเป็นเครื่องห้อมล้อม องค์ห้อมล้อมจะต้องมีสติ ไปไหน จะต้องปฏิบัติ ด้วยสตินี่ เป็นตัวเริ่มต้นใช่ไหม

และแม้ทุกวันนี้อย่าว่าไปเลย สติเขาปฏิบัติ เขาก็ยังไม่เป็นสติสัมโพชฌงค์ สติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นสติปัฏฐาน ๔ อธิบายเอาตามอำเภอใจ สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม อะไรก็ว่ากันไป นอกทาง ไม่ได้เข้ามาสู่สภาพที่ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จะต้องเอามาใช้กับอะไร สติปัฏฐาน ๔ ก็เอามาใช้ กับองค์แห่งสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ องค์แห่งการงาน องค์แห่งการกระทำ ทางกาย แล้วก็พูดแล้วก็คิดพวกนี้ทั้งหมด สติปัฏฐาน ๔ เขาก็ไปนั่งหลับตาอีกแหละ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็บรรยายกันเข้าไปอยู่แต่ในภพ กลายเป็นภวังค์ไปทั้งหมดนี่แหละ ยกจิตขึ้นสู่ วิปัสสนา ว่ามีสติ มีสติอะไร มันผิดพลาด ความเข้าใจมันไม่เข้าใจถูกต้องมาแต่ต้น แม้แต่ทิฐิ ที่ถูกต้อง เมื่อไม่เป็นทิฐิ ที่ถูกต้อง มันก็เลยไปกันใหญ่ เตือนอีกทีหนึ่ง ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่า สมาธิที่ได้จาก การนั่งหลับตานั้น ไม่ใช่ไม่ใช้นะ ใช้ โดยเฉพาะ เตวิชโช เราก็มานั่งทำสมาธิ หลับตาสมาธิ นั่งสมาธิหลับตานี่ มีประโยชน์ ๓ อย่าง

๑.เพื่อการศึกษา
๒.เพื่อพักผ่อน
๓.เพื่อเตวิชโช

เรานั่งสมาธิ เพื่อการศึกษา ศึกษาหลายอย่างนะ คำว่าการศึกษานี่ แม้แต่คน จะฝึกแรกๆ เริ่มๆ ก็ฝึกหัด ฝึกหัดนั่งสมาธิหลับตานี่ ก็ฝึกหัดให้เป็น เป็นเจโตสมถะ ซึ่งมีอุปการะได้ ก็ฝึกหัดเรียนรู้ ทำยังไงถึงจะทำเป็น ทำแล้วถึงยังไงๆ ก็เรียนรู้ให้มันครบครัน เมื่อเรียนรู้ จากฝึกหัด เรียนรู้ได้ เป็นแล้ว คุณก็จะได้เอามาใช้พักผ่อนก็ได้ จะเอาไปใช้เป็น เตวิชโช ก็ได้

ฝึกหัด ๑. เพื่อฝึกหัดเรียนรู้ หลายคนดูถูกดูแคลน ไม่ฝึกหัดเรียนรู้เลย เพราะฉะนั้น จะเอาไปใช้พักผ่อนก็ไม่เป็น จะเอาไปเป็นเตวิชโช เพื่อเป็นอุปการะใหญ่ เตวิชโช นี่เป็นอุปการะใหญ่ ในการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าน่ะ เป็นญาณ ๓ เตวิชโช ก็คือวิชชา ๓ จะต้องเอามาทบทวน รู้แจ้ง อาสวักขยญาณ ก็ตรงที่เตวิชโช นี่แหละสำคัญ เพราะเวลา มานั่งไตร่ตรอง ตรวจตราอย่างลึกซึ้ง นิ่งสนิทเป็นสมาธิ แบบหลับตานี่แหละ อยู่ในภวังค์นี่ ตรวจถึง จะเห็นจะชัดเจนว่า อ๋อ จิตของเรามันเกลี้ยงมันหมด มันไม่มีแล้วนะอาสวะ ทบทวน การเกิด การดับ เมื่อนั่น เมื่อนี่ มีกี่เรือง กี่ราว กี่ครั้ง กี่คราว วันนั้นเดือนนี้ เคยประสบเหตุการณ์ อย่างนั้นอย่างนี้อีก ก็ โอ้โห เราไม่เกิดนะ เกิดนิดหนึ่ง ไม่เกิดเลย ไม่เกิดมาแล้ว ตั้งหลายเดือนแล้ว นี่กระทบสัมผัสถูกกระแทก กระเทือนมาตั้ง ๑๐ ครั้ง ๑๐๐ ครั้ง พันครั้ง ทบทวน โอ้ชัวร์ เวรี่ชัวร์ ไม่มีการเกิดอีกแล้วกิเลสเรา ถอนอาสวะขึ้นนิดหนึ่ง ธุลีลออง ก็ไม่มีไหว มีแวบ มันก็ได้มั่นใจ มันแน่ใจของตัวเอง ก็จะต้องใช้เตวิชโช

พวกเรานี่บอก เอามานั่งเจโตสมถะกัน เอาแล้วหลีกได้หลีก เลี่ยงได้เลี่ยง มานั่งก็นั่งไปยังงั้นละ นั่งไป ไม่ได้เป็นสมาธิ สมาเทอะอะไร สู้สายเจโตเขาไม่ได้ สายนั่งหลับตาอันนั้นเขาหลง เขาหลง เขาเลยเอาจริงเอาจัง ก็เขาหลง เขายังเอาจริงเอาจัง ไอ้เรารู้แท้ๆ ทำไมไม่ เอาจริงเอาจังละ แหม ให้มันเป็นโง่ซ้อนโง่เข้าไปได้ จะว่าเขาโง่ เราโง่กว่าเขา เพราะเรารู้เรายังไม่เอา เขาไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ เขายังเอาเลย เขาหลงละนะ เขาบอกว่า แหม อันนี้ดี เขาหลงว่า อันนี้ดี ไอ้เรารู้ว่าอันนี้ดี ผ่าไม่เอาเสียอีกแน่ะ ขนาดเขาหลงว่าดี เขายังเอาจะตายจะเป็น แต่เรารู้ว่าดี ผ่าไม่เอาเสียอีก แหม น่าเอากระบองตีกบาลน่ะ ก็เลยเละๆเทะๆ ไม่ค่อยจะได้เจโตสมถะมาช่วย เพราะฉะนั้น ความมั่นใจ ความแน่ใจจึงไม่ค่อยมี ได้หรือไม่ได้ไม่ค่อยรู้ เพราะไม่ได้ตรวจสอบ

นั่งหลับตาสมาธิ ๑.เพื่อการศึกษา ๒.เพื่อพักผ่อน นั่งทำสงบได้ ก็พักดี นั่งสงบดับจิต ยิ่งเป็นนิโรธ เป็นนิโรธสมาบัติอย่างที่เขาว่าละนะ นั่งหลับตาโอ พักดี สงบ หรือ ใช้เป็นเตวิชโช ใช้เป็นวิชาในการอุปการะ การสร้างธรรมะนี่เองน่ะ

นี่ก็เตือนอย่าไปประมาท อย่าไปดูถูกสมาธิอย่างนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ดีด้วย เป็นอุปการะ ก็เคยพูด เคยบอก หัดพานั่งมาตั้งแต่อยู่แดนอโศกมา เดี๋ยวนี้ยิ่งเรื้อใหญ่เลย อาตมาองก็ไม่มีเวลา ที่จะไป พานั่ง นั่งมาตั้งแต่แดนอโศก ก็นั่งมาอยู่เรื่อย ไม่เคยได้ประมาท ไม่เคยได้ดูถูกดูแคลน แต่พวกเราเอง แต่เวลาเชิงพูดนี่ มันเหมือนกับดูถูกว่า สมาธิอันนั้น มันไม่ใช่สมาธิตรง เป็นสัมมาสมาธิ ของพระพุทธเจ้า เท่านั้นเอง เลยไปเข้าใจเอาเองว่า อันนั้นตีทิ้ง ไปตีทิ้ง สมาธิ อันโน้น ไปเข้าใจเอาเอง จริง เราเน้นว่าสัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ เราก็เลยมาโอ๊ เราต้องเอาของพระพุทธเจ้าอันนี้ ของอันอื่นไม่เอา ไม่เอาก็ไม่ดี เป็นอุปการะยิ่ง เป็นอุปการะมาก พระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่าเป็นอุปการะมากเลย ท่านไม่ได้บอกว่าเป็นอุปการะนิดหน่อย ไม่ใช่นะ ท่านบอกว่า เป็นอุปการะมาก ไปเปิดตำราดูสิ ไปเปิดพระไตรปิฎกดู ท่านตรัสว่า เป็นอุปการะมาก

แต่ไม่เอาถ่าน แถมขี้เถ้าจะไม่เอาด้วยนะ อย่าว่าแต่ถ่านเลย มันขนาดนั้น ไม่เอาทั้งถ่าน ไม่เอาทั้งขี้เถ้า ก็เจ๊งกันพอดีนะ

เอ้า มาเริ่มต้นอ่านนะ เข้าใจต้นๆแล้ว ทีนี้ก็จะได้เข้าใจเหตุประกอบ แล้วที่อาตมาอ่านนี่ มันยังมีแถมอยู่นะ อาตมาจะต้องเติมให้อีก ไอ้ที่บันทึกรวบรวมไปนี้ ก็มีผู้ช่วยรวบรวม อาตมา ก็มาเขียนเติมนิดหน่อย แล้วอาตมาก็เห็นว่า ยังไม่ครบ ก็ยังเอามาเติมอีก เวลาอธิบาย ก็จะเติมอีก

เอาเริ่มต้นตั้งแต่เอกธัมมาทิบาลี เอกธัมมาทิบาลีก็คือ เอกธัม+อาทิ บาลีนั่นแหละ เป็นพระบาลี ที่เป็นต้นของเอกธัม ธรรมะอันเป็นหนึ่งเป็นเลิศ เป็นยอด เหตุเกิดแห่งกุศลธรรม และ อกุศลธรรม อาทิ ก็เป็นเหตุ เป็นต้น พระไตรปิฏกเล่ม ๒๐ ข้อ ๑๘๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่น แม้ข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หมายความว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เราไม่เล็งเห็นธรรมะอย่างอื่น แม้ข้อหนึ่ง ข้อใดข้อเดียวเลย ที่จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิด ขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ฟังดีๆนะ อกุศลธรรมเจริญไพบูลย์ ฟังดีๆ อกุศลธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย เพราะฉะนั้น มันเป็นตัวมหาร้าย มิจฉาทิฏฐิ เป็นตัวที่ว่า ท่านไม่เห็นว่าเหตุอะไร ที่มันจะร้ายเท่ากับ มิจฉาทิฏฐินี้เลย ที่จะทำให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิด หรืออกุศลธรรมที่เกิดแล้ว แหม งอกงามไพบูลย์ โอ้โฮ อกุศลธรรม มันงอกมันงามนะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด แปลมิจฉาทิฏฐิว่าเป็นผู้มีความเห็นผิด ก็อันเดียวกันนั่นแหละ กับมิจฉาทิฏฐิ จะบอกว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้มิจฉาทิฏฐิก็ได้ หรือจะบอกว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความ เจริญไพบูลย์ยิ่งฯ

๑๘๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่น แม้ข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ตอนนี้กลับกัน ตอนนี้เป็นกุศลธรรม เหมือนกับสัมมาทิฏฐินี้เลย ตอนนี้ สัมมาทิฏฐินะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นชอบ ความเห็นชอบก็คือ สัมมาทิฏฐินั่นเอง แปลมาเป็นไทย กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งฯ

ข้อ๑๘๓ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่น แม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น ฟังให้ดีนะตอนนี้ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย แหม มันมหาวายร้ายจริงๆน่ะ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิด แม้มีกุศลธรรมอยู่แล้ว เสื่อมเสียอีกนี่ ตัวมิจฉาทิฏฐินี่นะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด ก็บอกแล้ว ไอ้ตัวนี้ คือตัวเดียวกันกับ มิจฉาทิฏฐิ นั่นแหละ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไปฯ

๑๘๔ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่น แม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็น เหตุให้อกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป ตอนนี้ อกุศลธรรม ที่มันยังไม่เกิด ในตัวคุณ ยังไม่มีอกุศลธรรม ยังไม่เกิดน่ะ หรือมีอกุศลธรรมแล้วก็ตาม แต่ว่า มันจะเสื่อมไป มันอะไรเป็นเหตุละ ซึ่งเป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนกับสัมมาทิฐินี้เลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นชอบ อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และ อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไปฯ

๑๘๕ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่น แม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้มิจฉาทิฐิ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือมิจฉาทิฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ก็ตัวมี มิจฉาทิฏฐิเองละนะ ไม่เกิด มันก็จะเกิด หรือมันเกิดแล้ว มันก็จะเกิดยิ่งขึ้น เจริญยิ่งขึ้น นี่ตัวมิจฉาทิฏฐิเองเลย เหมือนกับการทำในใจโดยไม่แยบคายนี้เลย เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ อันนี้เหมือนกับการทำ ในใจโดยแยบคาย ภาษาบาลีบอก อะ อโย ไม่ใช่โย มีอะด้วย อโยนิโสมนสิการนี้เลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล ทำในใจโดยไม่แยบคาย ตัวเดียวกันกับ ตัวอโยนิโสมนสิการ มิจฉาทิฏฐิ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และมิจฉาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้นฯ ตัวนี้เดี๋ยว ค่อยย้อนกลับมาอธิบายอีกทีหนึ่ง อ่านอีกวรรคหนึ่งก่อน

๑๘๖ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่น แม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็น เหตุให้สัมมาทิฏฐิ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือสัมมาทิฏฐิ ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น เหมือนการทำในใจ โดยแคบคายนี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล ทำในใจโดยแยบคาย สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และสัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้นฯ

ช่วงนี้ มี ๒ วรรค นี่มันสัมพันธ์กันอันหนึ่งว่า ถ้าเผื่อว่า เราโยนิโสมนสิการ ไม่แยบคาย มิจฉาทิฏฐินี่ ไอ้ที่ไม่เกิดก็จะเกิด ไอ้ที่เกิดแล้ว มันเจริญงอกงามไพบูลย์ แต่ถ้าเผื่อว่า ทำในใจ โดยแยบคายน่ะ สัมมาทิฏฐิ ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้น สัมมาทิฏฐิที่เกิดแล้ว จะเจริญงอกงามไพบูลย์ เพราะมีการทำในใจโดยแยบคาย หรือโดยไม่แยบคาย เป็นตัวไข เป็นตัวเงื่อนไขหลัก อธิบายก่อน เพราะว่า อาตมาจะไม่ได้ย้อนมาอธิบายอันนี้ในตอนต่อๆไป โยนิโสมนสิการ ตัวนี้สำคัญ มนสิการ ทำในใจ โยนิโสหรืออโยนิโส นี่แปลว่า โดยแยบคาย หรือโดยไม่แยบคาย โดยถ่องแท้ หรือโดยไม่ถ่องแท้ โยนิโสแปลว่าแยบคาย หรือแปลว่า ถ่องแท้ ถ่องแท้ก็คงจะพอเข้าใจแล้วมั้ง ใช่ไหม แยบคายก็คือละเอียดลออครบครัน ถ่องแท้ชัดเจนหมด สมบูรณ์อยู่ในตัวมัน

เราจะต้องตรวจตรา แล้วจะต้องกระทำในใจ ทั้งในการพิจารณา ทั้งในการทำให้ได้ ทำในใจ คือใจมันทำได้นะ เกิดกรรม คุณเกิดกิเลส คุณอยากให้กิเลสลด คุณก็ทำให้กิเลสลด เรียกว่า ทำในใจ ไม่ใช่มาทำนอกใจ ยิ่งมานอกกาย ยิ่งมาข้างต้นเสา ยิ่งไม่ใช่ใหญ่ ทำในใจ การทำในใจ นี่นะ พวกสมาธิหลับตา เขาก็จะบอก เขาจะนั่งหลับตา แล้วก็ทำในใจ ตอนหลับตา ถูก ไม่ผิด ถูก ทำในใจอย่างนั้น ถูก ก็ไม่ผิด แต่มันไม่พอ มันไปทำไอ้ตอนจะนั่งหลับตา ไปทำในใจ พอเวลาลืมตา ไปเจอสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันไม่ทำในใจหรอก มันเละในใจเลย ควบคุมในใจไม่ถูก ควบคุมในใจไม่เป็น มันจึงพังหมด ได้แต่ตอนนั่งหลับตา อินทรีย์พละ ก็เลยแข็งกล้า แต่ตอนที่สงบ มันอ่อนแอนะ ทำใจแค่นั่ง ตอนนั่งหลับตาแล้ว ก็ทำในใจตอนนี้ เราหลับตาแล้ว รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มันก็ไม่มี ตาก็หลับ มันก็ไม่มีรูป แต่มีรูปข้างใน สร้างข้างใน หูไม่ได้ยินเสียงแล้ว ปิดหูแล้ว เวลาเป็นฌาน เวลาเป็นสมาธิ แบบนั่งหลับตา หูก็ไม่ได้ยินเสียง จะมีเสียงก็เสียงคิดเอง ปั้นเองข้างใน กลิ่นก็ไม่มี ลิ้นก็หุบปากไว้แน่น สัมผัสกาย กายก็ไม่รู้รับสัมผัสหรอกน่ะ ใครจะเอามาขยิกขยุก ใครจะมาควักมาอะไร ไม่รู้ตัวแล้ว ยิ่งสมาธิดีๆแล้ว ใครจะมาจับมาต้อง มาหยิกอะไรก็เฉย ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จริงๆ ทวาร ๕ ข้างนอก ไม่รับรู้สึก ก็อยู่แต่ทวารใน แล้วก็ทำในใจของตัวเองอยู่แค่นี้ มันก็เลยอยู่ในวงแคบ อยู่ใน กะลาครอบ อาตมาพูดอย่างนี้ เหมือนดูถูกสมาธินั่งหลับตา คนก็เลย ไม่ค่อยอยากจะทำ สมาธิหลับตา ก็ขอยืนยันอีกว่า ต้องฝึก นะ ถึงยังไงก็ต้องฝึก

แต่ทีนี้ อาตมาพูดนี่บอกว่าผลด้อยของมัน มันมีผลดีเหมือนกัน แต่ผลด้อย เพราะมัน ไม่สมบูรณ์เท่า แต่ถ้าทำอันนี้อีก มันจะไปประกอบกับไอ้ที่เราทำลืมตา เราทำลืมตาก็ได้แล้ว แล้วนั่งหลับตาทำอีกก็ได้อีก ผสมกันน่ะ แม้มันจะมีผลด้อย มันก็มีผลดี มันด้อยเพราะ มันไปเทียบ กับไอ้ที่เราลืมตาทำ มันก็สู้ลืมตาไม่ได้ ลืมตามันได้มากกว่า แต่นั่งหลับตา มันก็ได้ ก็ต้องทำด้วยซี ต้องทำด้วยซิ เสร็จแล้ว ก็ไปดูถูกดูแคลน มันก็ทิ้งไปส่วนหนึ่งเปล่าๆ อย่าไปดูถูก ดูแคลนสมาธินั่งหลับตาน่ะ แต่เวลาอาตมาพูดแล้ว หลายคนเข้าใจว่า อาตมาดูถูก คล้ายๆ กับว่าไปหลู่สมาธิหลับตา แต่แท้จริงไม่ใช่นะ นี่มันยากเหมือนกัน บางที ไม่มีเจตนา คนเขาก็เจตนาผิดด้วยน่ะ

เพราะฉะนั้น ในการทำในใจ หลับตาก็ทำ หัดฝึกด้วย ลืมตานี่แหละสำคัญ มนสิการลืมตา เห็นรูป ก็มี มุทุภูเต มีจิตแววไว จิตสามารถที่จะมีสติ สัมปชัญญะ ระลึกเป็นสติสัมโพชฌงค์ หรือ เป็นสัมมาสติ มีสติปัฏฐาน รู้จักองค์ประกอบ นี่ขณะนี้กำลังนั่งห้อมล้อมอยู่กับอะไรนี่ โอ้โห มีคน มีอะไรเยอะแยะ คนนั้นคนนี้นั่ง คนนี้คนนั้นไม่เคารพธรรม บางคนเคารพมากไป อะไรอย่างนี้ ก็ไม่ถือสา ฟังมั่งไม่ฟังมั่ง ก็ไม่ถือสา หรือจะถือสาก็เจตนาว่าไม่โกรธ จะถือละ แต่ว่า จะสอนเขา จะให้เขานั่งดีๆ อย่านั่งหลับ นั่งง่วง นั่งโงก เดี๋ยวน้ำลายจะไหล อะไรก็ว่าไป แก้ แก้เขา โดยจิตของเรา ไม่ให้มีความไม่สบายใจ ไม่ชอบ หรือชังอะไร อย่างนี้เป็นต้น

เราก็รู้จิตของเราว่า เรามีอาการไม่ชอบแล้ว แหม ไอ้นี่ ดูซินี่นั่งต่อหน้าแท้ๆ มันไม่เคารพกู กูเทศน์ ไม่ดีหรือยังไง อะไรอย่างนี้ มันจะถือตัวหรือไม่ถือตัว อ่านใจตัวเองออก ว่าตัวเอง มีมานะอัตตา ตัวเอง ถือดีถือตัวหรือไม่ ชอบหรือชังหรือไม่ อ่าน เมื่อเห็นใจเรามีกิเลส เราก็ต้องดัดปรับ เอากิเลสนั้นออก นี่เรียกว่า ทำใจในใจ ในขณะที่เห็นรูป เห็นสี แหม สีนี้สวย อู๊ย สวย ชอบ รัก อาการรักนั้น เกิดหรือยัง อาการที่เรียกว่าเป็นกิเลสเกิด อ่านใจในใจ แล้วก็ทำใจในใจ ไอ้องค์ประกอบ มันจะมีทั้งตาไปเป็นรูป มีสัมพันธ์ มีกาโย แล้วก็มีเวทนา รู้สึกอย่างไร รู้สึกอย่างนั้น เป็นการเวทนา ทุกขเวทนาอย่างไรแบบโลกียะ สุขแบบโลกียะ พอสัมผัส ทางตา ทางหูแล้ว โอ๊ ชอบปุ๊บ ปรุงปุ๊บ เป็นสังขารปุ๊บ อร่อยแล้ว แยก วิเคราะห์ออก ว่าไอ้อร่อยนั่นน่ะ มันผสมกับกิเลส เป็นโลกียสุข แยกกิเลสนั้นออกให้ได้ แล้วก็ทำใจในใจ นั่นแหละ ให้ละเอียด ลออ ให้โยนิโสให้ถ่องแท้ ให้ชัดเจน

กิเลสก็คือกิเลส แยกกิเลสออกมาฆ่ามัน ให้มันแม่น ให้มันถูก อย่าไปฆ่าตัวจิต จิตคือธาตุรู้ เลยกลายเป็นไม่รู้เลย โง่ นั่งบื้อ อย่างนี้เลย แย่กันพอดี นั่นเรียกว่า ไม่โยนิโส ไม่ถ่องแท้ ไม่แยบคาย ไม่ละเอียดลออ ต้องให้ละเอียดจริงๆ อาการของมันเป็นอย่างไร วิเคราะห์แยก มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มีสติสัมโพชฌงค์ วิจัยมันออก แยกมันออก มีสังวรปธาน มีปหานปธาน มีภาวนาปธาน ทำให้ได้เกิดผล จริงๆ สังวรสำรวม ฝึกหัด ฝึกปรือ ล้างออกจะเป็นรูป เป็นรส เป็นกลิ่น เป็นเสียง ในขณะลืมตา ทำงานทำการขณะคิด ขณะพูด ขณะทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทำการงานอะไรอยู่ หรือทำอาชีพ งานที่เราทำประจำชีวิตอะไรอยู่ก็ตาม มีทาง มีเหตุที่กระทบสัมผัส แล้วเราก็สามารถโยนิโสมนสิการได้ ตามที่เราได้เรียนไปว่า สัมมาทิฏฐิ จะเป็นอย่างไร เสร็จแล้ว คุณก็ไปสัมมาสติ สัมมาวายามะ มีความพยายาม มีสติแล้วก็เป็น สติสัมโพชฌงค์ ต้องเป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติอย่างคนโลกๆ สติอย่างโลกีย์ สติอย่างปุถุชนนั่น มันก็มีสติ ทั้งนั้นแหละ ไม่มีสติมันจะเอาเข้าปากถูกหรือ ไม่มีสติตักข้าว มันก็แทงหูไปโน่น หรือว่าจิ้มจมูกไปโน่น ไม่มีสติกินถูกหรือ มันก็มีสติอย่างปุถุชน อะไรอร่อย ไม่อร่อย มันรู้ด้วยนะ เอ๊ย อันนี้ชอบ มีสตินะรู้ ไอ้นี่ฉันชอบ กิเลสทั้งนั้น ไปกับกิเลส สติที่ไปกับกิเลสตลอดเวลา แล้วกิเลสเป็นเจ้าเรือน มีสติ นั่นสติธรรมดาๆ ของมนุษยโลก ของสัตวโลกทุกทั้งหลาย ทั้งปวง

ถ้าเสียสติอีกทีหนึ่ง ก็เรียกว่า ไม่ค่อยเข้าแก๊ปกับเพื่อนเขาแล้ว เขาทำไม่เหมือนแล้ว อีกอย่างหนึ่งแล้ว พวกเสียสติ หรือสติไม่มี ไอ้นั่นเรียกว่า ไม่มีสติ หรือสติเสีย มีสติ แต่เป็น สติปุถุชน นั่นก็อย่างหนึ่ง สติของกัลยาณชน มีสามัญสำนึกรู้ดีรู้ชั่ว ก็มีสติ จะสังวรระวัง อะไรบ้าง ก็สังวรระวัง แต่มีความเข้าใจถึง ขั้นปรมัตถ์ไหม อย่างที่อาตมาอธิบาบไปก่อนแล้ว รู้ กาย วาจา ใจ รู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รู้ใจในใจด้วย ทำใจในใจเป็น กายก็รู้ ประพฤติ ปฏิบัติ

เมื่อกี้นี้ อาตมายังไม่พูดแต่เฉพาะใจ ไม่ได้พูดถึงว่า มีวจี มีกรรมทางกาย หรือ สังกัปปะ เราก็ต้องฝึก ทั้งสังกัปปะ นี่ดำริเท่านั้นคิดแล้ว ดำริก็คือ ตัวจิต มันชักจะเกิดแล้ว เกิดอาการ ทางจิตแล้ว อาการทางจิต เริ่มคิดมีกิเลสประกอบ หรือเริ่มดำริ เริ่มคิด ไม่มีกิเลสประกอบ วิจัยให้ละเอียดลออ โยนิโสให้ชัดเจน ให้ถ่องแท้ ละเอียดลออ แล้วก็จัดการกับมัน มันเป็นเหตุ ที่จะให้กายกรรม หรือวจีกรรมออกมาตามใจนั่นแหละ ใจนั่นแหละเป็นตัวหลัก ใจเป็นประธาน มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา ใจเป็นประธาน ใจนั่นแหละ จะทำให้เกิดอะไรๆ ออกมาตาม

โยนิโสมนสิการ จึงเป็นตัวสำคัญ เมื่อเรามีสัมมาทิฏฐิ ทำความเห็นถูกต้อง เป็นประธานแล้ว เราก็จะต้องไปปฏิบัติ เมื่อปฏิบัตินั่นแหละ กำลังทำโยนิโสมนสิการ ถ้าเผื่อว่าสัมมาทิฏฐิ หรือ ยังไม่มีสัมมาทิฏฐิ มันจะสัมพันธ์กัน อันแรก ถ้ามีสัมมาทิฏฐิ แล้ว กุศลจะเกิด ถ้าไม่มีสัมมาทิฐิ อกุศลจะเกิด และงอกงามไพบูลย์

ทีนี้ เมื่อมาเรียนรู้การทำใจในใจ มาเรียนรู้โยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการก็จะกลับไปซ้อน ทำให้สัมมาทิฐิ เจริญยิ่งขึ้น มิจฉาทิฐิเสื่อมได้ แม้มี ใครไม่มีมิจฉาทิฐิยกมือขึ้น ไม่มีใคร ไม่มีมิจฉาทิฐิแล้ว ยังมีอยู่ จะมีมากหรือน้อยก็ตาม ถ้าคุณโยนิโสมนสิการได้จริง ตามที่เรียนรู้ ซ้อนไปนี่แหละ สัมมาทิฏฐิ ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ สัมพันธ์ไปเรื่อยๆ แล้วก็ประกอบ การปฏิบัติไป เรื่อยๆ โยนิโสมนสิการคือการปฏิบัติ ปฏิบัติแล้ว สัมมาทิฏฐิก็ยิ่งจะเจริญขึ้นๆ มิจฉาทิฏฐิ ก็จะน้อยลงๆ น้อยลง สุดท้ายก็ไม่มีน่ะ มันซ้อนกันอย่างนี้ พระพุทธเจ้าละเอียด ลออ ลึกซึ้งอย่างนี้ เอ้า ทีนี้ ต่อไป

๑๘๗ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฐิเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกฯ อ่านอีกพารากราฟหนึ่ง

๑๘๘ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่น แม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เหมือนกับสัมมาทิฐินี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ฯ

ก็คงไม่ยากนัก เพราะว่าอธิบายมาแล้ว ต้นๆ มันก็คล้ายๆ กัน อันนี้เป็นแต่เพียงว่า มีเงื่อนไขใหม่ ขึ้นมาก็คือ แตกกาย ตายไป แตกกาย ตายไปนี่ เราจะหมายเอารูปธรรมก็ได้ หมายเอา นามธรรม ก็ได้ กายนี่ อย่านึกว่า มีแต่กายรูปธรรมเท่านั้น แต่โลกเขาเข้าใจได้ง่าย แตกกายตายไป ก็คือกาย นี่ตาย ก็ถูกมันหยาบ เข้าใจง่าย แต่ลึกละเอียดลงไปถึงนามธรรม ยาก และเป็นเบื้องต่อไป เป็นแนวลึก เขาก็ไม่พูดถึงกัน ก็เลยไม่ค่อยจะรู้เรื่องกัน ในเรื่องแตกกายตายไป ในเรื่องของ นามธรรม เพราะฉะนั้น สวรรค์ของเขาจึงกลายเป็นสวรรค์ว่า ให้กายนี่แตกตายเสียก่อน ร่างกายตาย เอาร่างกายไปเผา เอาไปฝัง เสร็จแล้วถึงจะไปนรก ไปสวรรค์โน่น ให้วิญญาณ มันลอยตุ๊บป่องๆ ไปขึ้นสวรรค์ ไปลงนรกอะไรก็แล้วแต่ ถึงเป็นอย่างนั้นน่ะ

เอาละ อันนี้ ก็เข้าใจกันทุกคน แต่เราอย่าไปนึกเดาต่อไปก็แล้วกันว่า สวรรค์อยู่บนฟ้า นรกอยู่ในดิน อย่าไปเข้าใจอย่างนั้นก็แล้วกัน จะไปไหนมาไหนช่างมัน เราเข้าใจแค่นั้น ก็พอแล้วว่า กายนี่ตายจริงๆ ร่างกายตาย ฝัง เผาแล้ว แยกธาตุดับขันธ์ไปแล้วจริง วิญญาณก็ไป ตามวิบาก มีกรรมเป็นสวรรค์ก็ไปสวรรค์ มีกรรมไปนรกก็ไปนรก เป็นไปตามกรรม สวรรค์อยู่ที่ไหน อย่าเก่งหน่อยเลย รู้ นรกอยู่ที่ไหน ก็ไม่ต้องไปเก่งรู้

ถ้าจะให้ดีแล้วละก็ เข้าใจให้ได้ว่า สวรรค์อยู่ที่สุข นรกอยู่ที่ทุกข์ ส่วนจะไปอยู่ทิศเหนือทิศใต้ ทิศตะวันออก ตะวันตกนั้น จ้างให้เอาเครื่องมือ อย่างฮวงซุ้ยในหนัง มาจับทิศว่า อยู่ทิศไหน จ้างก็ไม่เจอะ มาจับฮวงซุ้ย ให้มาจับหาทิศยังไง มันก็ไม่เจอว่าอยู่ทิศไหน รับรอง ไอ้นั่นเป็น ความไม่เข้าท่าของเขาเอง แหม เอาเครื่องมือมาจับเชียวนะ หมุนทิศใหญ่เลย หาฮวงซุ้ย ใหญ่เลย ไม่เจอหรอก อย่ามานั่งแอ๊คท์เลยว่าจะรู้ พระพุทธเจ้ายังไม่เคยชี้เลยว่าอยู่เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องโน่น เบื้องนี่ นรก สวรรค์ เอาละ เป็นอันว่าตัดไป ในเรื่องกายแตกนี้ แต่ปัจจุบันนี้ นามธรรมนี้ซิ เมื่อกายแตกตายไป หมายความว่า องค์ประชุมนั้นจบ กาโย กายะ แปลว่า องค์ประชุม องค์ประชุมเหตุการณ์นั้นจบ พอจบเรื่องปั๊บ ผลตามมาก็คือ สวรรค์ และ นรก อย่างนี้แหละ ถ้ามิจฉาทิฐิน่ะ สัตว์ทั้งหลาย เมื่อแตกตายไป มันย่อมเข้าถึงอบาย เหมือนกับ มิจฉาทิฐิ

ถ้าผู้ใดเกิดมิจฉาทิฏฐิแล้ว เกิดเหตุการณ์อะไรที่มีมิจฉาทิฏฐิ เป็นตัวเงื่อนไขหลัก ในกรรมกิริยา ใดๆ เหตุการณ์ใดๆ องค์ประชุมใดๆ พอเสร็จเหตุการณ์นั้นปั๊บ ผลลัพธ์คืออบาย ทุคติ วินิบาต นรก สำหรับมิจฉาทิฏฐิ ส่วนสวรรค์ ก็เงื่อนไขหลักก็คือ สัมมาทิฏฐิ ทีนี้ สัมมาทิฏฐิ หรือว่าสวรรค์ นี่นะ เราเข้าใจสวรรค์ผิด ผู้ที่ไปสวรรค์นี่ เขาเรียกว่าเทพ หรือเทวดา ทีนี้ เทวดามันมี ๒ เทวดา ใหญ่ๆ เทวดาสมมุติ กับเทวดาจริง นี่ก็อธิบายซ้ำ ใครฟังมาแล้ว ก็อย่าบอกว่า เฮ้อ ซ้ำ หลับดีกว่า อย่าเลยดูถูก ฟังใหม่ ฟังซ้ำ

เทวดาสมมุติ สมมุติเทพ นั่นคือ เทวดาที่เสพสุข มีความสุข เป็นสวรรค์ลวง สวรรค์ลวง สวรรค์ลวงนั่นคือ เสพอร่อย รสอร่อย แบบโลกียะ เป็นสวรรค์ทางกาม เป็นสวรรค์ทางภพ สมใจในภพ ก็เป็นสวรรค์เหมือนกัน นั่งฝัน ปั้น โอ๊ แหม เหมือนเราได้ไปเที่ยว ไม่ใช่อะไร เอาง่ายๆ เราไปผูกสมัครรักใคร่ใครไว้คนหนึ่ง เสร็จแล้ว ตัวจริงเราไม่ได้ แม่ก็กัน พ่อก็กัน เราก็ฝันเอา เธอก็หนีจากพ่อแม่หลบมาหาเรา เราก็ฝัน โอ้ นั่งฝันไป เสร็จแล้ว เราก็ได้สมสุข ได้คุยกัน จุ๋งจิ๋งไปตามประสาเรา พ่อแม่กันไม่ได้แล้วตอนนี้สวรรค์ มันตั้งเอาเอง เป็นภพ สวรรค์จริงๆ เลยนะ คุณคิดเมื่อไหร่ องค์ประชุมนั้นเมื่อไหร่ๆ คุณก็สวรรค์เมื่อนั้น จริงๆแล้วนี่ เป็นความรัก หรือว่าเป็นความสมใจแบบโลกๆ อันนี้เห็นทุกข์ง่ายที่สุดเลย คุณสวรรค์ คุณเป็นสุข ขึ้นสวรรค์ ลอยตุ๊บป่องๆ พอตั้งสติใหม่ ภพแตก ภพหายไป ลืมตาขึ้นมา ลูกสาวเขา ยังอยู่บ้าน อย่างเก่า เมื่อกี้นี้ฝันเอาเอง สวรรค์แตกเปี๊ยะเลย หมด ตกนรกอย่างเก่า แล้วมันก็เป็น มิจฉาทิฏฐิ อยู่อย่างนั้นแหละ

แล้วจะบอกว่าอย่างนี้ การคิดนั่งฝันเพ้ออย่างนี้ คือสวรรค์แท้ คือสัมมาทิฏฐิ ก็ไม่ได้ อยู่นั่นเอง น่ะนี่ง่ายๆ นี่เป็นภพง่ายๆ เป็นการปั้น จะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ที่คุณวาดฝัน มันก็เป็นภพ สมใจในวาดฝันนั้น ก็เป็นสุขชั่วคราว สุขลวงๆ หลอกๆ เหมือนพยับแดด เหมือนฟองคลื่นง่ายๆ นี่ สวรรค์ เป็นเทวดาหอฮ้อ เทวดาประเดี๋ยวประด๋าว เทวดาปลอมๆ สมมุติเทพ หรือแม้คุณ จะจริง ว่าอย่างนั้นนะ เขานึกว่าจริงล่ะนะ มีอำนาจ มีเงิน มีทอง เป็นเจ้าใหญ่นายโต ลูกสาว บ้านนี้ ข้าต้องการเอามาแน่ะ ได้สมใจ ขึ้นสวรรค์หอฮ้อ มาจริงๆ

ผู้มีอำนาจ สมัยโบราณ เอาหมดแหละ อยากจะได้อะไรก็เอา อยากได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อยากได้ทรัพย์ ก็ไปปล้น ไปเอากองทัพไปชิงเขาเอามาเลย อยากได้บ้าน ได้เมืองก็ไปตีเอามาเลย เขาถึงเรียกว่า พวกนี้เป็นสมมุติเทพ เพราะมีอำนาจทางทรัพย์ศฤงคาร อำนาจทางอาวุธ อำนาจทางกำลังกองทัพ อำนาจใหญ่โต เป็นจอมจักรพรรดิ

ไม่ใช่จอมจักรพรรดิ์ แบบพระพุทธเจ้าสอนนะ แบบนี้ เป็นแบบจอมจักรพรรดิอะไรนะ เจ็งกีสข่าน ขึ้นชื่อเลยนะ ปล้นเอาเขามาทรัพย์ศฤงคาร บ้านช่องอาณาเขตบ้านเมือง ลูกสาว เมียเขา อะไรก็แล้วแต่ ปล้นเอาหมด เป็นสวรรค์ปลอม เป็นสวรรค์บาป เป็นยังไงสวรรค์บาป แหม พูดไป พูดมา ชักปนๆ สวรรค์บาป จริงๆนะ มันเป็นสวรรค์บาปๆ สวรรค์ลวงๆ เลอะๆเทอะๆ น่ะ ในขณะที่ เขาทำองค์ประชุมนั้นเสร็จ เป็นรูป เหมือนกับขึ้นสวรรค์นะ เขาไปบุกรุกปล้น หรือว่า ไปรบอาณาจักรนี้ได้ แหม ทรัพย์ฤศงคาร มาได้ลูกได้เมีย เขามาเสพสวรรค์ เป็นสวรรค์ หอฮ้อ เหมือนกับ เขามีสวรรค์เดี๋ยวนี้เลยนะ เหตุการณ์นี้ละคุณทำเมื่อไหร่ เสร็จเมื่อไหร่นั่นนะ เมื่อนั้นน่ะ เป็นนรก แต่คนไม่รู้ก็ไม่รู้ เป็นกรรมเป็นวิบาก สั่งสมลงเป็นนรก เป็นอปายะ เป็นทุคติแล้ว ดำเนินชั่วแล้ว ดำเนินไปชั่ว คุณทำเสร็จปุ๊บ ก็เป็นชั่ว ทุคติคือดำเนินไปชั่ว ชั่วแล้ว

ถ้าไม่มีสัมมาทิฐิ คุณจะรู้หรือ เขาหลงใหลกันมาตั้งแต่โบราณกาล เดี๋ยวนี้ ก็ยังทำๆกันอยู่ ยังปล้นกันอยู่ แต่ว่าก็ยังเข้าใจขึ้นเยอะ ก็ไม่รุกรานเหมือนสมัยโบราณเท่าไหร่ พอมีปัญญา เดี๋ยวนี้ แต่ก็ยังทำกันอยู่นั่นล่ะ โดยวิธีไม่ปลงแบบเอาพร้า เอาปืน เอามีด เอาอาวุธเข้าไปรบรา ปล้นจี้กันทันที ก็ใช้วิธีการทางเศรษฐกิจ ใช้วิธีการทางจิตวิทยาอะไรก็แล้วแต่ เล่นกันอยู่ นั่นแหละ เอาเปรียบเอารัดกันอยู่นั้นแหละ เสพสมใจข้า ข้าต้องการอย่างนี้ ข้าต้องการได้กำไร แบบโลกๆนะ ต้องการได้เปรียบ ต้องการที่จะเอาชนะคะคาน ฉันก็เอาอำนาจแห่งความ เอาเปรียบได้นี่ อำนาจฤทธิ์เดช อะไรก็แล้วแต่ ก็เอามาจนได้ ด้วยความเฉลียวฉลาด แบบเฉโก แบบเฉกตา ฉลาดทำจนได้ ทำเสร็จ ปุ๊บ ก็เป็นบาปเป็นนรก ทุคติทันที ฟังเข้าใจไหม

นี่ไม่ต้องรอตายกายแตกนะ ผู้มีญาณปัญญาเห็นๆแล้วว่า นรกของคนนี้นี่มีแล้ว เกิดนรก ของคนนี้แล้ว เกิดนรกทางนามธรรมแล้ว เป็นอกุศลวิบาก ของคนนี้แล้ว นี่แหละ ถ้าผู้ที่เข้าใจ มีสัมมาทิฏฐิแล้ว มีญาณจะเห็น อาตมาเห็น อวดอุตริมนุสธรรมให้ฟัง เห็นมนุษย์มนา ผู้บริหาร ประเทศชาติก็ตาม คนทำงานเป็นนักค้านักขาย ก็ตาม โอ๋ ทำไมสร้างแต่ ทุคติ วินิบาต ให้ตัวเองหนอ แม้แต่พวกคุณก็ตาม เชื่อไหมละว่า อาตมาเห็นน่ะ กรรมกิริยา ของคุณ ยิ่งเห็นอยู่นี่หลัดๆเลยนี่ แหม มาทำนรกให้ตัวเอง ทุคติให้ตัวเองทำไม บางคน ก็ไปหลอกกัน หลงกันอยู่นี่ละ ไปมั่ว เออ หนุงหนิง ก็มันหาทุกข์ให้ตัวเอง หาทุคติ หานรก วินิบาตให้ตัวเอง เลิกมา มันจะได้ปลอดภัย มันจะได้สะอาดบริสุทธิ์ ก็ว่าสัมมาทิฏฐินะ พูดแล้วรู้ เข้าใจ แต่ลับหลัง ก็ไปแล้ว ไปจีบกันแล้ว ก็ไปหาทุคติให้ตัวเองอยู่อย่างนั้น หลงว่ามันเป็นสุข หอฮ้อ เป็นสวรรค์ลวง เป็นสุขัลลิกะ เป็นกามสุขัลลิกะ อย่างนี้แหละ

ฟังดีๆ อาตมาจะเจาะ พยายามอธิบายชอนไชให้ฟัง ให้เข้าใจดีๆ แล้วเราจะได้ปฏิบัติ ตรงกันขึ้น ฟังแล้ว คุณจะได้ไปสังวรใหม่ แต่ก่อนเราก็นึกว่าเราเข้าใจ ตอนนี้ มันเข้าไต เข้าไส้เนาะ มันลึกลงไปอีก จากเข้าใจ เข้าไส้ เข้าไต แล้วมันลึกลงไปแล้ว ลึกลงไปบ้างไหม หรือยังตื้อๆ อยู่ตรงนี้ เพียงเข้าหู ยังไม่ถึงใจเลย โอ๊ย เข้าหูบ้าง เอ๊ คันๆ แค่นี้ ยังไม่ถึงใจด้วยซ้ำ ให้มันเข้าไป ชัดๆยิ่งขึ้น อันนี้ เป็นบาป เป็นบุญที่แท้จริงๆ กรรมที่ลงมือทำ หรือว่าทำด้วยกาย ด้วยใจ แค่ใจคิด มันก็เป็นแล้ว ยิ่งไปทำกายกรรมด้วย แหม ไปนั่ง ก็บอกว่า ไปหาเรื่องไปประพฤติ อย่างนั้น มันเป็นทางแห่งทุกข์ ไปกระทำอย่างนั้น เป็นทางแห่งทุกข์ ทุคติ ไปไม่เจริญหรอก ไม่พ้นทุกข์หรอกนะ

ฟังให้ชัดๆ จะไปแสวงกามก็ตาม พยาบาทไม่คลายก็ตาม โลภ หรือราคะโทสะ หรือโกรธ พยาบาท อย่าไปก่อต่อ อย่าไปโยงใย อย่าไปยืนยาว อย่าไปสร้างอีก มันมีกรรมกิริยาอันใด ที่จะไปเป็นพฤติกรรม ที่จะไปก่อพยาบาท ที่จะไปก่อราคะ ไปก่อโลภะ หยุด เลิกจริงๆ หยุด เลิกนี่ล่ะ มันเป็นวินิบาต มันเป็นเห็นอย่างนี้ นี่นามธรรม เพราะฉะนั้น ตาย เมื่อกายตายแล้ว แล้วก็ค่อยอธิบายกัน คุณก็ไม่ซาบซึ้ง คุณก็รอ ฉันยังไม่ตาย ฉันจะไปนรกนะ ไม่ไปหรอกนรก ที่แท้ไปแล้วตั้งแต่เป็นๆ นี่ คุณมีตาทิพย์ คุณเห็น

อาตมาถึงบอกว่า อาตมามีตาทิพย์ ก็เห็นอยู่หลัดๆ มองแล้วโอ้โห จะเป็นเจ้าใหญ่นายโต ในบ้าน ในเมือง แสดงกรรมกิริยาออกมาโอ๊ ทุคติหนอ ทุคติหนอ เห็นจริงๆ รู้จริงๆ ไม่พราง ไม่ลวงเลยนะ เท่าที่เราจะมีความลึกซึ้ง มีความเฉลียวฉลาดที่แท้ เป็นปัญญินทรีย์ เป็นปัญญาพละ หรือ มีญาณที่เห็น เห็นจริงๆ รู้ด้วยกรรมกิริยา ขนาดไกลๆ มีกรรมกิริยาที่เขา เดี๋ยวนี้มีข่าว มีโทรทัศน์ ให้เห็น โอ๊ะ เห็นพฤติกรรมทางโทรทัศน์ก็เห็น อ่านหนังสือพิมพ์ข่าวคราว มีรูปถ่ายประกอบ ยืนยันเห็นไกลๆเห็น แล้วใกล้ๆอย่างนี้เห็นไหม เห็นไหม เห็นแน่ พอพูดอย่างนี้ จะหลบละน่ะ จะหลบไปไหน ดูซินี่ จะหลบไปไหน มาอยู่ใกล้นี่แล้ว จะหลบไปทำกรรมกิริยาที่มันไม่ดี ไม่งาม โดยที่แอบทำ ก็ลองดู จะแอบได้แค่ไหน อย่างดีก็ไปทำในส้วม จะอยู่ในส้วมตลอดกาล ก็ให้รู้กันไป ไม่ออกมา มาปิดมาบังหน่อย ทีหลังนี่ ส้วมเจาะรูไว้ดีไหม จะได้สอดส่อง กันให้ครบครัน

เพราะฉะนั้น เข้าใจให้ชัดว่า องค์ประชุมหรือว่าแตกกายตายไปนี่ คือจบเหตุการณ์ คำว่า แตกกายตายไป ถ้าแตกกายตายไป โดยความหมายของรูปหยาบ ถูก ไม่ค้านแย้งนะ อันนี้ แล้วก็จะเป็น ทุคติวินิบาต สมบูรณ์ เพราะไม่เหลือขันธ์ ๕ แล้ว ไม่เหลือรูปขันธ์ นามขันธ์ คุณก็ไปสมบูรณ์หมด ถูก แต่ในขณะที่กายยังไม่แตก กายร่างกายนี่ รูปขันธ์นี่ ยังไม่ทันแตกตาย นี่คุณก็ไปเมื่อเสร็จ เมื่อเสร็จองค์ประกอบอันนั้น เมื่อเสร็จกรรมอันนั้น ประสบการณ์อันนั้น เสร็จจบ ถ้ามีตาทิพย์ ก็เห็นเลยว่าทุคติ แม้เขาจะสุขแบบโลกีย์ ไอ้สุขแบบโลกีย์นั่น สุขลวง เป็นสุขัลลิกะ สุขหลอก สุขตอแหล ซึ่งผู้มีตาทิพย์ ก็เห็นชัดเจนว่า เอ๊อมันไปหลงอย่างนี้แหละ มันถึงสร้าง ทุคติวินิบาตต่อไป โดยที่เขาไม่รู้ต่อ ผู้ที่รู้สภาพซับซ้อนที่เป็นสุข แบบโลกีย์ สุขัลลิกะ น่ะ เสร็จแล้ว จริงๆแล้ว สุขัลลกะ นี่เกิดซับซ้ำย่ามใจเกิด ยิ่งประมาทยิ่งขึ้น

เพราะว่าเขาได้เสพโลกียสุข ซับซ้ำเข้า มันก็ย่ามใจ แล้วก็ติดอยู่ไม่ปล่อย ติดไม่ลา ไม่ร้าง ไม่พยายาม อยากจะลด จะละหรอก มันก็ยิ่งจะทับทวีขึ้นไป นั่นคือมิจฉาทิฐิ มิจฉาทิฐิ คอยแต่คิดย่ามใจ จะต้องเสพอีกหน่อยนะ ขออีกนิดหนึ่ง อีกหน่อยอยู่นั่นแหละ เขาจะไม่จาก ไม่พราก ไม่วาง ไม่ปล่อย ไม่หลุด อยู่นั่นแหละ มิจฉาทิฐิ แม้คุณจะเข้าใจ พอตั้งสติที่ว่าเข้าใจๆ แต่ยังไปเป็น ลูกน้องไอ้กิเลสอยู่เอง นั่นละ คือยังไม่พ้นมิจฉาทิฏฐิที่แท้ ยังไม่สัมมาสมบูรณ์ มันอาจจะ สัมมาทิฏฐิบ้าง เหมือนกับคนเมา เหมือนกับคนเบลอๆ ตั้งสติดีๆ ฟังโดยตรง เออ ใช่ๆๆ พอเสร็จแล้ว ไปเบลอๆ ไปแล้ว ไปกับผีแล้ว ผีเอาไว้ นั่นเรียกว่า กำลังยังไม่มีพอ สัมมาทิฐิ ยังไม่สมบูรณ์ สัมมาทิฐิยังต้องเติมๆ เติมให้เป็นอินทรีย์พละที่แข็งแรง แข็งแรงจนกระทั่ง ไม่ทำ อย่างนั้น ได้เด็ดขาด มันต้องเติมอย่างนั้นน่ะ

เอ้า ทีนี้ ว่ากันด้วยผลแห่ง มิจฉาทิฐิ และ สัมมาทิฐิ

๑๘๙ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ๑ วจีกรรมที่สมาทาน ให้บริบูรณ์ ตามทิฐิ๑ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ๑ ก็คือ ๓ นั่นเอง กาย กรรม วจีกรรม มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ คุณจะมีทิฏฐิอย่างไรล่ะ สัมมาทิฐิมาก สัมมาทิฐิน้อย มิจฉาทิฐิมาก มิจฉาทิฐิน้อย คุณจะมีอย่างไรก็แล้วแต่ มันก็มีอย่างนั้นน่ะ เมื่อผู้สมาทาน ให้บริบูรณ์ ตามทิฐินี้แล้ว เจตนา๑ ความปรารถนา๑ ความตั้งใจ๑ สังขาร๑ ของบุคคลผู้มี ความเห็นผิด ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไป เพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เจตนาก็เพื่อทุกข์ ความปรารถนาก็เพื่อทุกข์ ความตั้งใจก็เพื่อทุกข์ ยิ่งสังขารลงไปเลย เพื่อทุกข์ หรือไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์ เกื้อกูล แต่ก็หลงกันว่าน่าใคร่ น่าอยากได้ หลงกันว่าน่าชอบใจ หลงกันว่า น่าจะเป็นประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อสุข หลงนะ แต่ที่จริงเจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ หรือสังขารของบุคคลที่ มีความเห็นผิด หรือที่มีทิฐิเป็นมิจฉา เขาจะเป็นอย่างนี้

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฐิเลวทราม ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี บุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำที่มันถือเอาทั้งหมด ย่อมเป็นไป เพื่อความเป็นของขม เพื่อเผ็ดร้อน เพื่อไม่น่ายินดี น่ะ ก็เปรียบเหมือน ไปหมกไว้ ในดิน ก็เท่ากับเสริมเจตนา เสริมปรารถนา เสริมความตั้งใจ เสริมสังขาร สั่งสมความปรารถนา สั่งสมความตั้งใจ สั่งสมสังขาร ก็เหมือนกับหมกไว้ในดิน เหมือนจะเติมความชุ่มชื้น เติมรสดิน รสน้ำ เติมอะไรๆ ที่จะเป็นอาหาร ทั้งหมดละให้เข้าไป เสร็จแล้ว มันเป็นไปเพื่ออะไร เป็นไปเพื่อ ความขม ให้แก่สะเดา เป็นไปเพื่อความเผ็ดร้อนให้แก่สะเดา ให้แก่บวบขม ให้แก่น้ำเต้า เป็นไป เพื่อความไม่น่ายินดีทั้งนั้นน่ะ เพราะฉะนั้น ตัวมิจฉาทิฏฐิ ก็เป็นตัวสำคัญเลย เป็นตัวร้าย ที่เป็น เหตุต้นทางเลยทีเดียว

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะพืชเลว เพราะฉะนั้น ตัวนี้จึงเป็นต้นเชื้อต้นพืชเลย ทิฐินี่ เพราะฉะนั้น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของใคร ถ้าทิฐิเป็นตัวทิฐิเลวทราม มีอันหวังได้ว่า หนำใจดีไหม มันโง่มานัก ทำให้ทิฏฐิเลวทราม ตั้งต้นเลย กาย วาจา ใจ คุณก็จะสั่งสมเจตนา สั่งสมความปรารถนา สั่งสมความตั้งใจ สั่งสมสังขารลงไป เป็นองค์ประกอบเหมือน กะมันได้ ความชุ่มชื้นของดิน ได้รสน้ำรสดินอะไรนี่ประกอบกันเข้าไป ดูดซับซึมเอามาหมด

ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ๑ วจีกรรมที่สมาทาน ให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ๑ โนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ๑ เจตนา๑ ความปรารถนา๑ ความตั้งใจ๑ สังขาร๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นผิด ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผล ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฐิเลวทราม ฉันนั้นเหมือนกันแลฯ ทุกคนคงพอเข้าใจดีแล้วนะ

๑๙๐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ๑ วจีกรรมที่สมาทาน ให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ๑ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ๑ เจตนา๑ ความปรารถนา๑ ความตั้งใจ๑ สังขาร๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นชอบ ตอนนี้สัมมาทิฐิ ธรรมะทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไป เพื่อผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฐิเจริญ เพราะทิฐิเจริญ ไม่ใช่ทิฐิเลวทราม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพันธุ์อ้อยก็ดี พันธุ์ข้าวสาลีก็ดี พันธุ์ผลจันทน์ก็ดี บุคคลหมกไว้ ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำที่มันถือเอาทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อควมเป็นของหวาน น่ายินดี น่าชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพืชพันธุ์ดี ฉันใด กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ ตามทิฐิ๑ วจีกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ๑ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฐิ๑ เจตนา๑ ความปรารถนา๑ ความตั้งใจ๑ สังขาร๑ ของบุคคลผู้มีความเห็นชอบ ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะทิฐิเจริญฉันนั้น เหมือนกันแลฯ

ทิฐิเลวทราม กับทิฐิเจริญ ทิฐิเลวทรามก็คือตั้งแต่เริ่มต้น และปฏิบัติประพฤติโดยไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ ไม่มีทิศทาง เมื่อไม่มีทิศทาง จะบอกว่าคุณสมาทานก็เหมือนสมาทาน แต่ที่จริง เขาไม่เรียกสมาทาน เขาเรียกอุปาทาน อุป+อาทาน อาทานแปลว่ายึดไว้ ฉวยไว้ ยึดไว้แล้ว เพราะฉะนั้น คุณไปยึดเอาไว้ โดยทิฐิเก่าๆ ที่เป็นมิจฉาฯเดิมๆ ที่ไม่ได้เรียนรู้มา คุณก็มีของเก่า ของเดิมของคุณ สมัยก่อน แสวงหาไอ้ความสุขโลกีย์ จะต้องการได้เปรียบ ฉันจะต้องได้ลาภ มากกว่า จะต้องได้ยศสูงกว่า เร็วๆ ไวๆ ถ้ายิ่งมีมิจฉาทิฐิ ขี้โกงมากเท่าไหร่ละนะ ไม่เป็นไรหรอก มันสู้เราไม่ได้ เราวิ่งเต้น เราแกล้งมันซะ อะไรๆ แล้วแต่ สารพัดที่จะชั่วนะ เป็นความเห็นที่ เลวทราม ไม่ใช่ความเห็นที่ดีงาม ไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง ที่เจริญ คุณมีทิฐิ อย่างนั้น คุณก็ทำอย่างนี้ ในชีวิตมา จะหยาบขนาดไหน ก็อยู่ที่คุณชั่วมากชั่วน้อย ชั่วมากก็ทำหยาบ มากใช่ไหม เคยทำกันมาแล้ว บ้ามากๆ น้อยๆ ก็แล้วแต่ แต่ละคนใช่ไหม อย่าปฏิเสธ ไม่เว้นสักคนเดียว

แม้แต่อาตมาก็ไม่เว้น มันเคยทำมามากน้อย แล้วแต่เราชั่วมากชั่วน้อย จริงๆ เขาทำน่ะ ด้วยทิฐิ นั่นเป็นหลัก เสร็จแล้ว เราไม่เคยมาเรียน แต่ก่อนนี้ เราไม่ได้เรียนธรรมะ ยังไม่ได้มาพบอาตมา ยังไม่ได้มาเรียนอย่างนี้ แม้คุณจะไปปฏิบัติธรรมที่ไหน ก็แล้วแต่นะ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีพ คุณก็อย่างนั้น เสร็จแล้ว ไปปฏิบัติยังไง นั่งหลับตา แล้วก็เรียกว่า ปฏิบัติธรรม พอออกมา เหมือนเก่า จะมาล่าลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ยังไงก็เหมือนเดิม ดีไม่ดี หนักกว่าเดิมด้วย จริง หนักกว่าเดิมด้วย แล้วยิ่งหลงตัวว่า ข้าเป็นนักธรรมะธัมโม เพราะไปวัดนั่งสมาธิ ปฏิบัติกับ อาจารย์ใหญ่ๆ ด้วย ข้านักธรรมะธัมโมนะ แต่เสร็จแล้ว กรรมกิริยานี่ไปเลย ล่าลาภ ล่ายศ ล่าสรรเสริญ โลกียสุข อะไรก็เสพไม่รู้อิ่ม รู้เต็ม รู้พอ ไม่เข้าใจ มันไม่สมบูรณ์สมดุลอะไร

มันไม่เข้าเรื่องกันเลย มันคนละเรื่องกันเลย แต่เขาพูดว่า เรื่องเดียวกัน แต่เปล่า คนละเรื่อง คนละเรื่องเดียวกัน ได้ยังไงเห็นไหม มันอย่างนี้ คนละเรื่องเดียวกัน ได้อย่างนี้ เขาว่าเขาเป็น นักธรรมะธัมโม แต่ธรรมะธัมโมไม่ใช่พุทธ ธรรมะธัมโมนอกพุทธ ก็ปฏิบัติกันไป ทำกันไป เพราะทิฐิ ที่เลวทราม ทิฐิที่ผิดอยู่นั้นอย่างไร มันก็พาไปทุคติวินิบาต เพราะมันอุปาทาน อยู่อย่างเก่า มันไม่ได้มาสมาทานให้สมบูรณ์ถูกทางเลย ไม่ได้มาตั้งใจใหม่ สมาทานคือตั้งใจยึด สมาทาน มาตั้งใจยึดกับครูบาอาจารย์ มาขอสมาทาน ศีล

แม้แต่สมาทานศีลกับครูบาอาจารย์ที่ไม่ถูกเรื่อง ก็ไปสมาทานเป็น สีลัพพตุปาทาน ไปสมาทาน ศีล มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง บางทีเช้า กลางวัน เย็น สมาทานมันตั้ง ๓ เที่ยว ๘ เที่ยวน่ะ บางที ปาณาติปาตา เวรมณี เพราะกว่าอาตมาพูดนี่อีกเยอะแยะเลย ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปทัง สมาทิยามิ แหม อร่อยน่ะ เสร็จแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติ ถูกความหมาย ไม่ได้ปฏิบัติ เพื่อลด เพื่อละ อะไรเลยเป็นสีลัพพตุปาทาน สีลัพพตุปาทานคือยึดติดอุปาทานเดิมๆ อย่างเก่า อย่างนั้นละ เป็นจารีต เป็นประเพณี เป็นยังไงก็ทำไปอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่มีปัญญา

ส่วนสีลัพพตปรามาส นั้นคือ ปฏิบัติศีล ปฏิบัติพรต โดยมีความเข้าใจ แล้ว เข้าใจถูกทาง ดีแล้วละน่ะ สีลัพพตุปาทาน นั้นน่ะ หยาบกว่าสีลัพพตปรามาส สีลัพพตปรามาสนั้นรู้ศีล รู้พรต ดีแล้ว มาสมาทานแต่ปฏิบัติไม่ถึงขีด ไม่ถึงเขต ไม่ถึงรอบ ปฏิบัตไม่เกิดมรรคเกิดผล ได้แต่แค่ ลูบๆ คลำๆ ได้แต่แค่จับๆ ต้องๆ ได้แต่แค่ทำเหมือนพวกเรานี่เยอะ สีลัพพตปรามาส เข้าใจถูก ถูกทางด้วยนะ แต่แค่ปรามาส แค่เราทำเหมือนกัน มีศีล เราไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็อย่างนั้นแหละ ไม่ได้ถึงการโยนิโสมนสิการ ไม่ถึงขั้นปฏิบัติที่มีบทบาท ของทำใจในใจได้ละ ได้ลดจริงๆ เมื่อมีผัสสะ ขณะนี้ก็มีมุทุภูเต กัมมนิเย ทำฌาน ทำวิมุติ ทำละทำลด ไม่ถึงวิมุติ ก็วิราคะ เห็นว่าเรามีวิราคานุปัสสี อย่างน้อยก็ อนิจจานุปัสสี อย่างน้อย ก็ทำให้มันไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ให้มันเล็กลง ตีแตก

อาตมาอธิบายแล้ว อนิจจานุปัสสี ไม่ใช่อนิจจาอะไรๆก็ไม่เที่ยง อะไรก็ไม่เที่ยง เป็นตรรกศาสตร์ ไม่ใช่ เห็นกิเลสเราเป็นก้อนอย่างนี้เลย แล้วก็ตีแตกตกลงมา ให้มันเล็กลง ตีแตก ไม่ใช่ว่า มันเที่ยงอยู่อย่างเก่า นอกจากเที่ยงแล้วยังไม่พอ ยังแถมโตกว่าเก่าอีก อย่างนั้นก็ไม่ได้ ไม่เที่ยง แต่โตขึ้น กิเลสโตขึ้น อย่างนั้นก็ไม่เอาน่ะ ไม่เที่ยงแต่เล็กลงวิราคะ จางลง จางคลายลงไปเรื่อยๆ เห็นวิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี เห็นว่ามันจนดับนิโรธะ จนสลัดคืนได้ แล้วสอดซ้อนนะ สลัดคืนได้นี่ หมายความว่า กลับมาแตะต้อง เหตุแห่งกิเลสนี้อีกก็เฉยๆ เหมือนเราก็จะเล่นกับ กิเลสนี้ แต่เราไม่ดูดไม่เสพ อุเบกขา ไม่ดูดไม่ซึมน่ะ ปฏิบัติให้จนได้ถึงขนาดนั้น แต่นี่ปฏิบัติไปก็ ไม่รู้สมาทาน ไม่รู้อุปาทาน ดีไม่ดี แค่สีลัพพตปรามาส ระวังเถอะ นั่งอยู่นี่ สีลัพพตปรามาส เยอะ อาจจะรู้แล้ว สมาทานแล้ว ตั้งใจดีแล้ว เข้าใจดีแล้ว แต่ ไม่เอาจริงเอาจัง ปฏิบัติไม่ถึง ขีดขอบนั่นแหละ จึงไม่เป็นพระอริยะกับเขาสักที เพราะไม่พ้นสีลัพพตปรามาส อาจจะพ้น สีลัพพตุปาทาน แต่ไม่พ้นสีลัพพตปรามาส น่ะ ได้แค่เล่นๆ กับเขาลูบๆคลำๆ แตะๆต้องๆ อยู่กับหมู่นี่แหละ ปฏิบัติไหม ฉันก็เล่นด้วย เล่นด้วย ทำอยู่เหมือนกัลล์ .....แต่ไม่ได้ขัด ได้เกลา อะไรเลย ไม่ได้ถึงขั้นโยนิโส แล้วก็มนสิการ ทำใจในใจจนบรรลุ จนสำเร็จผล ไม่ถึงขั้นนั้น เมื่อไม่ถึงขั้นนั้น ก็ไม่เจริญน่ะ

เอาละ วันนี้ ก็เริ่มต้นอะไรต่ออะไรไปยาวยืดยาดมากความ ก็เลยได้แค่ ๒ บท พรุ่งนี้ เราจะมา บทต่อ แล้วก็คงจะเข้าหามิจฉาทิฐิ ๑๐ สัมมาทิฐิ ๑๐ ทีนี้ ก็จะได้ไล่ไป มิจฉาทิฐิ ๑๐ สัมมาทิฐิ ๑๐ ก็คงจะไม่อธิบายมากกว่านี้ เพราะว่า อันนี้ที่อธิบายไว้ก่อนนี่ มันจะไม่ได้ย้อนมาหา บทพวกนี้อีก ซึ่งอาตมาจะหยิบไปพูดนัยๆ เท่านั้น แต่ส่วนพวกนี้นี่จะย้อนมา พอตั้งต้นมิจฉาทิฐิ ๑๐ สัมมาทิฐิ ๑๐ นี่ก็อ่านแล้ว ก็จะอธิบาย คือ อ่านไปก่อน อ่านไปจนกระทั่งถึงข้อ ๑๐ จบ พอจบ ๑๐ แล้ว จึงจะอธิบาย ไล่ย้อนมาตั้งแต่ข้อ ๑๐ น่ะ นัตถิ โลเก สมณพราหมณา สัมมัคคตา สัมมาปฏิปันนา เย อิมัญจ โลกัง ไล่มาจนกระทั่ง แล้วก็ย้อนมา แล้วถึงจะย้อนกลับ ทินนัง ไปหานี้อีกทีหนึ่ง จะทำอย่างนั้น ตั้งใจจะอธิบายอย่างนั้น แล้วมันจะเข้าใจ ตั้งแต่ตั้งหลัก พอตั้งหลักไป ดูบันไดดีแล้ว เราก็เดินดูก่อน แล้วก็ไล่มา เพราะเราทำงานมาอย่างนั้นด้วย เราทำจากยอดมาหาต้น

เราปฏิบัติธรรมนี่ อาตมาทำงานนี่ ทำงานจากยอดมาหาต้น แต่พวกคุณปฏิบัติไม่ใช่จากยอด มาหาต้นนะ พวกคุณปฏิบัติต้นๆไปหายอด นี่ มันจะย้อนกันอย่างนี้ แต่อาตมาทำงาน จากยอดมาหาต้น แต่พวกคุณจะต้องปฏิบัติต้นไปหายอด อาตมาจะอธิบาย ยอดมาหาต้น เพราะว่า คุณจะได้เทียบเคียง เห็นว่าโดย ยอดมาหาต้น โดยหลักนี้ มันมีลักษณะอย่างไร แล้วคุณจะเข้าใจ แล้วคุณจะรู้ว่า ตอนนี้ เอื้อมมาถึงเราแล้ว ตอนนี้ถึงแล้ว ตอนนี้ยังไม่ถึงเรา ตอนนี้ถึงแล้ว ตอนนี้ถึงแล้ว เราก็จะรู้ได้น่ะ

เอ้า สำหรับวันนี้ หมดเวลาแล้ว เอาเท่านี้ สาธุ

ถอด โดย ประสิทธิ์ ฝ่ายทอง
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ๒๓ มี.ค.๒๕๓๕
พิมพ์ โดย สม.มาบรรจบ ๒๔ มี.ค. ๒๕๓๕
ตรวจทาน ๒ โดย โครงงานถอดเท็ป ๒๔ มี.ค. ๒๕๓๕
FILE:2312A.TAP