กว่าจะสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ตอน ๒

โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ เนื่องในงานปลุกเสกสมณะฯ ครั้งที่ ๑๖
ณ พุทธสถานศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ


เมื่อวานนี้ เราได้เริ่มต้นรับซับซาบในเรื่องของสัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ในเอกธัมมาทิบาลี ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งกุศลธรรมและอกุศลธรรม คือเรื่องของมิจฉาทิฏฐิกับ สัมมาทิฏฐิ แล้วก็มาว่าด้วยผลแห่งมิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิ

ทีนี้ก็ต่อมาว่าด้วยบุคคลผู้เกิดมาเพื่อประโยชน์แก่โลก

เล่ม ๒๐ ข้อ ๑๙๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียว เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อไม่เป็น ประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความฉิบหาย มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคนเดียวนั้นคือใคร ถ้าเติมคำว่านั้น จะชัดขึ้น บุคคลคน เดียวนั้นคือใคร คือบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต เขาทำให้คน เป็นอันมากออกจากสัทธรรมแล้ว ให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อไม่เป็นประโยชน์ เกื้อกูล ไม่เป็นความสุข แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความฉิบหาย มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทพยดา และมนุษย์ ทั้งหลายฯ

อันนี้ก็เน้นชัด ท่านเจาะลงไปเลยนะ บุคคลคนเดียวนี่แหละ ไม่รู้คนเดียวนั้นเป็นใครบ้าง บุคคลคนเดียวคนนั้นน่ะ ไม่รู้ใครบ้าง คนเดียว คนเดียวนับไม่ถ้วน แหม คนคนเดียว คนนี้นี่นะ มันนับไม่ถ้วน เกิดมาเพื่อความฉิบหายแท้ๆ เจ็บปวดนะ

๑๙๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียว เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์ หิตสุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคน เดียวนั้นคือใคร คือบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฐิ มีความเห็นไม่วิปริต เขาทำให้คนเป็น อันมากออกจาก อสัทธรรมแล้วให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์ หิตสุขแก่ เทพยดา และมนุษย์ทั้งหลายฯ

๑๙๓ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งจะมีโทษมาก เหมือนมิจฉาทิฐิ นี้เลย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลาย มีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่งฯ

อันนี้เรามาเน้นย้ำกันอีกนิดหนึ่ง ก่อนจะผ่านไป ฟังแล้วก็คงจะกระจ่างแล้วละ แต่ต้องเอาให้ มันชัด เอาให้มันหนำใจเลย เอาให้มันจริงๆเลยให้ได้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นี่ เป็นความเป็นคำ ที่มันสั้นๆ กะทัดรัด ในตัวของมันเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดที่เป็นคนซื่อบื้อทื่อๆ ปฏิภาณน้อย อ่านแล้วก็มะลื่อทื่อ บุคคลคนเดียว มันก็ไม่ซึ้งเท่าไหร่ บุคคลคนเดียวเมื่อเกิดมาในโลก ก็ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เขาก็ไม่เป็น ประโยชน์ แค่นั้นน่ะนะ เขาก็ไม่เป็นไปเพื่อสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความฉิบหาย ไม่ใช่ประโยชน์ อะไร เป็นความทุกข์แก่เทวดามนุษย์ทั้งหลาย อะไรก็ว่าไป

บุคคลคนเดียวนั้น เป็นใคร เออ คนเป็นมิจฉาทิฏฐิน่ะ เออ ก็คนมิจฉาทิฏฐิ มันมิจฉาก็มิจฉาไป ฟังแล้วก็ตื้นๆ ฟังแล้วก็เผินๆ แต่แท้จริงแล้วมันยิ่งใหญ่นะ ท่านเน้นแม้แต่ว่าบุคคลคนเดียว คำว่าคนเดียวนี่ หมายความว่า เอ็งนี่แหละ เอ็งนี่แหละ เกิดมาเพื่อความฉิบหายของโลกโดยแท้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อาตมาขยายความให้ฟังแล้ว ถ้าเป็นเรา แล้วเป็นบุคคลผู้นั้นล่ะ มันน่าจะตาย เสียเดี๋ยวนี้น่ะ เราเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ แล้วจะอยู่ไปทำอะไร เกิดมาเพื่อความฉิบหาย มิใช่ประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดา มนุษย์ทั้งหลายด้วย โอ้โฮ หมดนี่ มนุษย์ เทพยดา เขาทุกข์เพราะกู แท้ๆเลย เกิดมาเป็นมนุษย์หนักเหลือเกิน บาปเหลือเกิน เพราะกูคนเดียวแท้ๆ

พระพุทธเจ้าบอก บุคคลคนเดียวนี่แหละ ไม่รู้คนไหนบ้าง คนเดียวคนนั้น เราก็คนหนึ่งหรือเปล่า ฟังแล้วมันแรง ถ้าเผื่อว่ามีปฏิภาณ ฟังเท่านี้ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนี่แรง ถ้าอาตมาเอามาชี้ ไม่ย้ำ พวกคุณอ่าน ก็อ่านผ่านไป หลายคนก็อาจผ่านไปแล้ว สูตรนี้อ่านไปแล้วก็เฉย คือมันไม่รู้ ไม่ชี้ อ่านแล้วก็เฉย ผ่านไปไม่รู้ไม่ชี้ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเท่านั้นแหละ แต่ความจริงแล้ว อื้อฮือ มันแรง ผู้ที่ยิ่งมีความเข้าใจ ยิ่งมีความรู้สึก มันแรง ถ้าคนที่ศึกษาคำว่ามิจฉาทิฏฐิ กับสัมมาทิฏฐิ มันต่างกันอย่างไร แล้วมิจฉาทิฏฐิกับสัมมาทิฏฐินี่แหละ เป็นรากเหง้าทุกอย่าง ผู้ที่ตั้งต้นเป็น มิจฉาทิฏฐิ มันก็ไปกันใหญ่เลย นรกเป็นที่หวัง เป็นที่แน่นอน

ผู้ที่สัมมาทิฏฐิ ก็ถึงจะขึ้นสวรรค์ ถึงจะไปนิพพาน โลกียะที่เขาไม่รู้จักโลกุตระนั้น เขาบอกว่า สวรรค์ของเขาก็สวรรค์หอฮ้อ พูดย้ำอีก แล้วเขาก็อยู่กับสวรรค์หอฮ้อนั่นแหละ สวรรค์นั้นไม่ได้ มีไว้เพื่ออื่นเลย สวรรค์นั้น มีไว้เพื่อนรก สวรรค์ของโลกีย์ สวรรค์ของโลกีย์นั้นมีนรกอยู่กำกับด้วย เป็นคู่ สวรรค์อย่างนั้น ไม่เป็นสวรรค์สงบ ไม่ใช่สวรรค์วิเศษ ไม่ใช่สวรรค์แท้ เป็นสวรรค์ลวง นั่นคือ สังสารวัฏ ขึ้นสวรรค์อย่างนี้ ต้องตกสวรรค์ สวรรค์โลกียะต้องตก เพราะฉะนั้น พวกที่มีความสุข ไม่มีทางที่จะไม่ทุกข์ เพราะไม่เที่ยง เพราะไตรลักษณ์ เพราะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แน่นอน เพราะไม่หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ไม่มีการหมด ที่จะไม่เปลี่ยนแปลง ที่จะคงที่ คงเที่ยง สุขเที่ยงแท้ สุขถาวร สุขนิรันดร์ สุขไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีโลกียะ ไม่มีสุข ไม่เปลี่ยนแปลง อนิจจังทั้งนั้น เพราะฉะนั้น สุขมันก็ต้องทุกข์ มันอนิจจัง มันไม่เที่ยง มันไม่แน่ มันไม่อยู่อย่างเก่า สุขนั้นมันต้องตกนรก มันต้องทุกข์ สวรรค์นั้น มันต้องมีนรกอยู่ด้วย นั่นคือ ไม่หลุดพ้นจาก สังสารวัฏ ต้องเข้าใจว่า อันนี้แหละเป็นตัวเหตุ อันนี้แหละเป็นตัวล่อ สวรรค์โลกเป็นตัวล่อ ล่อให้อยู่ ทุกวันนี้อยู่กันกี่ล้านๆ คนในโลก

ขณะนี้ห้าพันล้านคน เขาก็อยู่ด้วยถูกล่ออย่างนี้ ต้องมาศึกษาสวรรค์ลวงพวกนี้ให้หมด แล้วเลิก ไม่มีอัสสาทะ ไม่มีรสอร่อยในสวรรค์พวกนี้ให้ได้ เป็นโลกุตระ เคยอร่อยในสิ่งอย่างนั้นๆ จนกระทั่ง หยุด เราไม่ต้องแสวงหา เราไม่ต้องอยากอีกแล้ว หมดอยากที่จะอร่อย เราไม่ต้องการ อร่อยอีกแล้ว เฉยๆวาง ธรรมดาสามัญ หมดรส หรือแม้แต่มันยังไม่หมดรสทีเดียว รสมันอ่อน เราก็ไม่ต้องซมซานมากมาย อย่างที่เรามาพิสูจน์กันแล้ว แต่ก่อนนี้เราติดมาก รสอร่อยที่เรา ต้องเป็น ต้องได้ ต้องมี ต้องอยาก ตอนหลังมา เราลดนี้ลงไป ลดกิเลส ตัวเหตุใหญ่ ลงไป เรามีความเห็นอย่างนี้จริงๆ เลย ว่าเราจะต้องเลิกโลก เลิกโลกีย์ หรือ เลิกสังสารวัฏพวกนี้ สังสารวัฏนี้ ไม่ใช่ว่าเอาแค่ว่าเราตาย แล้วเราก็เกิดใหม่ ตายแล้วก็เกิดใหม่ วนเวียน อันนั้นก็ใช่ อันนั้น ยังไม่ปรินิพพานก็ใช่ แต่โลกโลกียะที่เราพูดนี่ จะต้องเข้าใจปรมัตถ์ให้ได้ว่า วนเวียนๆ วันแล้ววันเล่า นี่เท่านั้นแหละ

คนดูดบุหรี่ ประเดี๋ยวก็อยาก พออยากนี่แหละลงนรกแล้ว นี่แหละ ลองไม่มีบุหรี่ให้สูบซิ ดิ้นพล่านๆ นรกทั้งนั้น เสร็จแล้ว ก็ประเดี๋ยวก็หาบุหรี่มาได้ พอได้มา ก็ถุนขึ้นสวรรค์ หอฮ้อ ขึ้นสวรรค์ เดี๋ยวตกนรกอีกแล้ว นี่ก็คือสังสารวัฏ สังสารวัฏของบุหรี่ สังสารวัฏของเหล้า สังสารวัฏของอบายมุข สังสารวัฏของกาม นี่ก็รัก ผูกเอาไว้ซิอันที่รักๆ น่ะ ผูกเอาไว้ซิ นึกว่าเที่ยง นึกว่าแท้ นึกว่าหอฮ้อ สวรรค์หอฮ้อ เหน็บฝากันไม่รู้มากี่รายแล้ว รักกันดี แล้วเหน็บฝากัน ไม่รู้ว่ากี่รายแล้ว แล้วมันทุกข์ทรมานกันไม่เข้าเรื่องหรอก นั่นมันก็เท่านั้นเอง เขาหลอก หลอกให้ มาเป็นคู่กัน เสร็จแล้วก็อยู่ กันไป ช่วยเหลือกันไป

ซึ่งทางพระพุทธเจ้าท่านก็ให้ ช่วยเหลือกันได้ โดยไม่ต้องไปผูกพัน ทางเมถุน ทางที่จะต้องมี เกมกาม มีโน่นมีนี่ เลิกกาม เลิกราคะ จะอยู่กัน อย่างพี่กัน น้องกัน จะอยู่กันอย่างผู้เกื้อกูล ช่วยเหลือ ท่านก็ตรัสว่าเกื้อกูลช่วยเหลือ เป็นความสุข แก่ชนเป็นอันมาก เราก็จะเป็นผู้ที่ เกื้อกูล ช่วยเหลือสร้างสรร ช่วยมนุษยชาติ ได้อย่างนี้ได้ อย่าไปมีจิตที่ ไปปฏิพัทธ์ผูกพันกัน จะต้อง ไปเสพ แล้วก็จะต้องมีการ ไม่รู้จักตัด ไม่รู้จักขาดกัน อะไรก็ไม่เข้าท่า อะไรพวกนี้ซิ

ถ้าเราเข้าใจสัมมาทิฏฐิที่จะรู้จักทิศทางของโลกุตระพวกนี้ไม่ได้ ผู้นั้นก็จมอยู่ ในสังสารวัฏ ต้องมีนรก ยิ่งไม่เข้าใจมากเท่าไหร่ ไปยิ่งหยาบ ยิ่งนรกลึก ยิ่งหนา ยิ่งแน่น ยิ่งติด ไปอีกกี่ชาติ ๆๆๆ มาฟังนี่ พันกว่าคนเท่านั้นเอง ที่ไม่ได้ฟังอีกเท่าไหร่ ห้าพันกว่าล้านคน ที่ไม่ได้ฟัง ที่ฟังอยู่นี่ พันกว่าคนเอง แล้วจะเกิดสัมมาทิฏฐิอย่างที่กล่าวนี้ พวกคุณพันกว่าคน จะสัมมาทิฏฐิ หมดหรือเปล่า ยังไม่รู้เลยวันนี้พรุ่งนี้น่ะ อีก ๗ วัน บางคนก็มาแล้วหลายปีแล้ว ก็ยังอยู่นั่นแหละ น้องแน้งๆ พอได้อบายมุข พอได้บางส่วน โลกแห่งกาม โลกแห่งโลกีย์ โลกธรรม ๘ ก็ยังจะต้อง เอาให้ได้ จะต้องลาภ ต้องยศ ต้องเป็นโลกียสุขอะไรอยู่อย่างนั้น ถ้าเราไม่เรียนรู้ อย่างชัดแจ้ง ไม่มีความเห็นที่ชัดแจ้ง แล้วก็มีเจตนา มีความปรารถนา มีความตั้งใจ มีสังขาร

เมื่อวานนี้ อ่านไปแล้ว เจตนา ๑ ความปรารถนา ๑ ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ ของบุคคล ผู้มีความเห็นผิด หรือเจตนา ๑ ความปรารถนา ๑ ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ ของบุคคล ผู้ที่มีความเห็นชอบ อย่างนี้แหละ ถ้าเผื่อว่าไม่เข้าใจทิศทางอื่นแท้ เจตนาคือความมุ่งมั่น มุ่งหมาย เจตนา ถ้าเราเข้าใจเป็นสัมมาทิฏฐิ ท่านบอกแล้วว่าทิฏฐิ ๑ ในกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี่ เป็นทิฏฐิ

ถ้าไม่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ เจตนาก็ดี ความปรารถนาก็ดี ความตั้งใจก็ดี สังขารก็ดี มันก็จะพา ไปสู่ทิศทางที่เป็นทุกข์ เป็นคนคนเดียวที่เกิดมาเพื่อความฉิบหาย โอ้โฮ เจ็บแสบจริงๆ ฟังแล้ว มันน่าฟังจริงนะๆ ฟัง ถ้าไม่ขยายความ คุณก็ฟังเผินๆ บอกแล้วว่า เหมือนม้าตด อ่านแล้วก็เฉย ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้รส ผู้ที่รู้รสธรรมะแล้วอ่านแล้ว โอ้โฮ มันไม่ใช่เล็กๆ มันไม่ใช่น้อยๆ มันไม่ใช่เบาๆ หนักนะ ท่านว่าเอาหนัก

เมื่อกี้จะขยายเจตนา ปรารถนา ความตั้งใจ สังขาร มันคล้ายกัน ใกล้ๆเคียงกัน เจตนา คือ ความมุ่งหมาย เสร็จแล้วความปรารถนาก็ต่อมา พอมุ่งหมายแล้วเสร็จ ก็จะต้องมี ความปรารถนา มีกังขาวจร หรือมีอิจฉาวจร มีความปรารถนาดี มีความปรารถนาตามทิฏฐิ มุ่งหมายตามทิฏฐิ มีเจตนาตามทิฏฐิ แล้วก็มีความปรารถนาตามทิฏฐิ แล้วก็มีความตั้งใจ เมื่อปรารถนา มีความมุ่งหมาย สมมุติว่าเสาโน้น เราจะเอาเสานี้ให้ได้ ก็ต้องอยากได้ มีปรารถนา มีความต้องการ อยากได้ในใจ เสร็จแล้วก็ต้องตั้ง ตั้งเหมือนพาตั้งเมื่อเช้า อธิษฐานตั้ง ต้องตั้งเสมอ ขนาดตั้งแล้ว ยังตั้งไข่ล้ม ต้มไข่กินอยู่เรื่อยเลย เพราะฉะนั้น ต้องตั้งบ่อยๆ มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวเสมอ ตั้งใจ แล้วก็ต้องเร่งให้มีความปรารถนา ให้มีความยินดี

เรียกฉันทะก็เรียกนะ ความปรารถนานี่ ฉันทะก็เรียก อากังขาวจรก็เรียก จะเรียกจริงๆเลย ภาษาไม่ต้องเลี่ยง คือเรียกว่าตัณหานั่นแหละ เอาตัณหานั่นแหละ มาล้างตัณหาที่มันเป็น ตัณหาโลกีย์ เอาตัณหาโลกุตระนี่ ถ้าพูดกันโดยภาษา ไม่ต้องเลี่ยง ไม่ต้องเลี่ยง ไม่ต้องเบี่ยง ไม่ต้องบ่ายๆ ต้องการหนีจากสังสารวัฏอย่างนั้น ต้องการหนีจากไอ้โลกๆ แบบเดิมๆ เข้าใจให้ถูก เป็นสัมมาทิฏฐิเลยว่า ต้องเลิก ต้องล้าง ต้องละ ไม่ใช่มานั่งกระบิดกระบวน ทำเป็น อ้อยสร้อย ผัดไว้วันนี้ เมื่อหน้า หรือชาติหน้าค่อยเอา ชาติโน้นค่อยเอา โอ เมื่อยไปๆๆ พวกผลัดวัน ประกันพรุ่งนี่ ธรรมใดวินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้น ไม่ใช่ของเรา ตถาคต พระพุทธเจ้าไม่ต้องการความเนิ่นช้า ผัดวันประกันพรุ่ง พวกนั้นไปอยู่กับหมู เพราะหมูเขามี ดินพอกหางหมู เพราะฉะนั้น ต้องไปอยู่กับหมู จะได้มีดินพอกหางหมู ต้องเร็ว ต้องอย่าไปผัดวัน ประกันพรุ่ง ขนาดพยายามพากเพียรแล้ว มันก็ยังไม่ใช่ง่ายๆ เพราะฉะนั้น ต้องมีความตั้งใจ ต้องมีความปรารถนา แล้วก็ตั้งใจ จริงๆ พากเพียร สังขาร นี่ต้องเป็น ปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร หมายความว่า จะต้องปรุงอย่างชำระ ปุญญะนี่คือ ชำระ ต้องปรุงอย่างชำระ เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้ว่า วิธีการทำสมถธุระ หรือสมถภาวนา ทำอย่างไร วิปัสสนาภาวนา ทำอย่างไร เราต้องเรียนรู้

อาตมาเมื่อคืนนี้ ฟังรายการ พาศีลมีค่าเพิ่ม เข้าใจล้อเลียนนะพวกเรา แต่ล้อเลียนในทางที่ดี พาศีลมีค่าเพิ่ม ฟังดูรายการเมื่อคืนนี้ดี แต่ละคนๆ พวกเรานี้อย่างนี้ มันมีของจริง มีเรื่องจริง มีคนจริงมาจะดีในช่วงระยะนั้น หรือว่าดีในช่วงระยะเก่า มีคนเก่า คนใหม่ คนเก่าก็ขี้นเวที ไปแสดงตัว คนใหม่ก็ขึ้นไปแสดงตัวให้มันถูกต้อง คนไหนจะพูดได้ในลักษณะไหน อย่างไรบ้าง ก็เลือกเฟ้นกันไป ดาราพวกเรามีเยอะแยะ เชิญขึ้น ไม่ค่อยอยากจะขึ้นเท่าไหร่หรอก ไม่เหมือน ดาราทางโลก ดาราทางโลกเขาขึ้นดีนัก เขามีรายได้กันหนอ ของเราก็ไม่มีรายได้ ดีไม่ดี ไปขายหน้าด้วย ก็เลยไม่ค่อยอยากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ก็ต้องขึ้นกันบ้างแหละ อะไร แหม จะไม่แสดงตัว กันได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ไปแสดงตัวแล้ว มันก็เป็นหลักฐาน ยืนยันพวกเรา ปีแล้วปีเล่า เราจัดรายการแบบนี้ขึ้นมานี่ ปลุกเสกฯ พุทธาภิเษกฯ เรานี่ มันยืนยัน

แม้แต่เด็กๆ ดูซินี่ ขนาดเด็กชายพูดเมื่อคืนนี้ ฟังดูแล้วละเด็กชายจืด พูดสภาวะปรมัตถ์ พูดสภาวะ จิตใจ อารมณ์ของจิตใจ ลักษณะของจิตใจ แล้วพวกเรามาอยู่วัด ปาเข้าไป ๑๐ ปีแล้ว อายุปาเข้าไปหลายสิบแล้ว บางคนตั้งแต่อายุเป็นเด็กหญิง หรือเด็กชาย เดี๋ยวนี้ก็เป็น นางสาว หรือเป็นนายไปแล้ว นายค่อนๆเข้าไปหาแก่ๆ อายุจะเลย ๔๐ แล้ว อะไรอย่างนี้ แล้วเป็นไงเล่า มันคล่องแคล่ว พอที่จะเอามาพูดได้ไหม เหมือนเด็กชายจืดบ้างไหมเล่า บอกว่า ผมจิตมันเกิด อาการอย่างนี้น่ะนะ เข้าใจ นั่นแหละรู้ปรมัตถ์ ในขณะที่สัมผัสแตะต้องน่ะ ต้องรู้อย่างนั้นจริงๆ เขาก็พูดของเขา ภาษาเด็ก

อาตมาฟังแล้ว เออ ไม่เสียเปล่า อาตมาคิดว่า อย่างน้อยที่สุดก็มีเด็กชายคนหนึ่งละ รู้ปรมัตถ์ นั่งอยู่นี่ ไม่รู้ก็ช่างเถอะ (ผู้ฟังหัวเราะ) ขนาดเด็กก็ยังรู้ปรมัตถ์ได้ รู้อาการอารมณ์ของจิต เป็นยังไง กิเลสมันเกิดนี่ ผมรู้สึกว่ามันไม่สบายใจ แล้วมันขุ่นใจ มันก็อะไร เราก็ เออ ทำออก พยายาม เลิกออก แหม เด็ก ถ้าไม่รู้ มันพูดไม่ถูกนะเด็ก คนเรียนหนังสือพวกนี้มามากๆไม่ถูก พูดภาษาน่ะ แต่ไม่รู้ว่า อารมณ์เป็นอย่างไร เด็กๆไม่ค่อยได้รู้ภาษาพวกนี้มากมาย แกพูดออกมา ก็แสดงว่า จิตออกมาพูด คนพูดภาษาจิต มันก็คือ คนพูดภาษาจิต คนพูดตำราเรียน คนดูหนังสือ มามากๆ นี่พูดเก่งนะ แต่ตัวเองไม่รู้จิตตัวเอง พูดจ้อยๆๆๆๆๆๆ ตามหลัก ตามวิชา ระวังเถอะ พวกปทปรมะ รู้พระพุทธพจน์ก็มาก ทรงจำไว้มาก สอนเขาอยู่แจ้วๆ แต่ก็ไม่ได้รู้เรื่องปรมัตถ์ ของตัวเอง ไม่บรรลุธรรมของตัวเองเลย ไม่ตัดสังสารวัฏของตัวเองบ้างเลย นั่นอย่างนั้น ก็แย่

เพราะฉะนั้น พวกเราได้พยายามเรียนกันมา พยายามรู้จักทิฏฐิให้มันตรง ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ กันได้อย่างนี้ แล้วก็มุ่งมั่น มีเจตนา มีความปรารถนา มีความตั้งใจ ขนาดตั้ง พยายามตั้ง เอาจริงเอาจัง มีความปรารถนา มีความเพียร อุตสาหะวิริยะ เพื่อปฏิบัติให้หลุด ให้ละ ให้พ้น ต้องมีความเพียร มหาศาล ไม่ใช่ง่ายๆ จะหลุดพ้น จะออกไป จะไปนิพพาน จะเลิกอะไรนี่ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แล้วก็เป็นประโยชน์ ขอยืนยันว่า เมื่อเราปฏิบัติตนแล้ว จะไม่ใช่ เพื่อความฉิบหาย ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชน ไม่ใช่แน่นอน เพื่อความฉิบหาย ไม่ใช่แน่นอน จะต้องเป็นประโยชน์ เป็นสุข จะต้องเป็นผู้พาออกจากอสัทธรรม เป็นบุคคล ที่จะเป็นประโยชน์ เป็นบุคคลที่จะเพื่อประโยชน์ หิตสุข เกื้อกูลแก่ผู้อื่นช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ใช่ว่า บรรลุแล้ว แล้วเป็นไง ก็นั่งอยู่เฉยๆ อยู่ป่า อยู่รูไหนอยู่เลี้ยวไหนคนเดียว ไม่ใช่ คนที่พ้นจาก สังสารวัฏของพระพุทธเจ้าแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่มีหิตประโยชน์ มีประโยชน์เกื้อกูลช่วยเหลือ เฟือฟายผู้อื่น อย่างแน่นอน ที่อาตมาก็พาทำกันมามากมายแล้ว ทิศทางนี้ ต้องชัดเจน

มีผู้แถมมาว่า ผู้เกิดมาคนเดียว ที่มีมิจฉาทิฏฐิ ย่อมทำให้คนเป็นอันมากฉิบหาย ถ้ามีมาก เกินกว่า หนึ่งคนล่ะ จะฉิบหายขนาดไหน คงจะมีความหมายอย่างนี้ด้วย

ใช่ มีความหมายอย่างนี้ด้วย ถึงบอกว่ามันลึกซึ้ง พระพุทธเจ้าท่านว่า โอ้โฮ หนัก แสบ อย่างที่ว่า นี่ถูกแล้ว ผู้เกิดมาคนเดียวที่มีมิจฉาทิฏฐิ ย่อมทำให้คนเป็นอันมากฉิบหาย ถ้ามีมากเกิน ๑ คน จะฉิบหายขนาดไหน นี่เราจะชั่งตวงวัดไม่ได้เลย ในตอนนี้ ว่ามันฉิบหายขนาดไหน เพราะฉะนั้น มันฉิบหาย เป็นอันมากจริงๆ โลกทุกวันนี้ เพราะมันมีมิจฉาทิฏฐิ เป็นอันมาก แม้แต่อยู่ในสาย ของถือพุทธ เป็นพุทธศาสนิกชน บวชเรียนมาหลายปีแล้วด้วย ศึกษามามากมายแล้วด้วย แต่ก็ยังพาไป ให้โลกฉิบหายอยู่ นั่นยังมัวเมามุ่นอยู่ใน อย่าว่าแต่กาม อย่าว่าแต่โลกธรรมเลย อบายมุขก็ยังฉ่ำเลย เรียนมา สอนเขาด้วย แต่ก็ยังเลอะอยู่อย่างนั้น ไม่รู้จักลำดับด้วย ลำดับ เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย โลกที่หยาบ โลกกลางๆ โลกละเอียด โลกลึกซึ้ง ไม่เข้าใจโลก ไม่รู้โลก เดี๋ยวจะได้เรียน เดี๋ยวจะได้รู้โลกกัน เอาละ นี่ก็มาขยายความ ก่อนจะผ่านไป บอกแล้ว ว่านี่ย้ำๆ เน้นๆให้ฟังแล้ว นี่จะเข้าใจชัดขึ้นว่า ไม่ใช่เรื่องเล่น อย่าประมาท สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

ทีนี้ก็เข้าสู่สัมมาทิฏฐิ ๑๐ มีอะไรบ้าง พยายามจำให้ได้ วันนี้ต้องขอเน้น ทุกที อาตมาก็เคยสอน เคยแนะนำมา ไม่ใช่เพิ่งสอนวันนี้ ไอ้ มิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ก็เคยสอนมาหลายทีแล้ว แต่ก็ไม่ได้ย้ำ ได้เน้นให้ แต่คราวนี้จะขอย้ำ ขอเน้นว่าพยายามจำให้ได้ จำภาษาบาลีตื้นๆ มันก็สั้นๆ ภาษาไทย มันก็ไม่ยาวกว่ากันเท่าไหร่ ถ้าแปลแค่นั้น มันก็ไม่ยาวเท่าไหร่ พยายามจำให้ได้ มันจะได้รู้หัวข้อ แล้วมันได้เรียงลำดับ อาตมาจัดหมวด จัดหมู่ให้แล้วด้วย หมวดทีละ ๓ ทีละ ๓ ทีละ ๓ แล้วก็สุดท้าย ๑ มี ๑๐ ข้อ ก็สาม สาม เก้าเป็นหมวดๆ หมู่ๆ ซึ่งอาตมาก็เคย ขยายความ เขียนมา จนกระทั่งเป็นเล่ม บรรยายมาแล้ว จนกระทั่งมารวมเป็นเล่ม สมาธิพุทธ นี่ก็มาจาก พวกนี้หมด มีในนี้ มีหมดน่ะ

มิจฉาทิฏฐิ ๑๐
๑.ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล นัตถิ ทินนัง
๒.ยัญพิธีที่บูชาแล้ว ไม่มีผล นัตถิ ยิฏฐัง
๓.สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล นัตถิ หุตัง
๔.ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วไม่มี นัตถิ สุกตทุกกฏานัง กัมมานัง ผลัง วิปาโก
๕.โลกนี้ไม่มี นัตถิ อยัง โลโก
๖.โลกหน้าไม่มี นัตถิ ปโร โลโก
๗.มารดาไม่มี นัตถิ มาตา
๘.บิดาไม่มี นัตถิ ปิตา
๙.สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี นัตถิ สัตตา โอปปาติกา
๑๐.สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลก นี้ โลกหน้า ให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลก ไม่มี นัตถิ โลเก สมณพราหมณา สัมมัคคตา สัมมาปฏิปันนา เย อิมัญจ โลกัง ปรัญจ โลกัง สยัง อภิญญา สัจฉิกัตวา ปเวเทนตีติ

นี่ ๑๐ ข้อนี่ มิจฉา นัตถิก็มิจฉา

ทีนี้ สัมมาก็ อัตถิ อัตถินี่แปลว่า มี ก็เหมือนกันน่ะ กับเมื่อกี้นี้ เป็นแต่เพียงว่าเปลี่ยนตัวหน้าเป็น อัตถิ เท่านั้น

๑.ทานที่ให้แล้ว มีผล อัตถิ ทินนัง
๒.ยัญพิธีที่บูชาแล้ว มีผล อัตถิ ยิฏฐัง
๓.สังเวยที่บวงสรวงแล้วมีผล อัตถิ หุตัง
๔.ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วมีอยู่ อัตถิ สุกตทุกกฏานัง กัมมานัง ผลัง วิปาโก
๕.โลกนี้มี อัตถิ อยัง โลโก
๖.โลกหน้ามี อัตถิ ปโร โลโก
๗.มารดามี อัตถิ มาตา
๘.บิดามี อัตถิ ปิตา
๙.สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี อัตถิ สัตตา โอปปาติกา
๑๐.สมณะพราหมณา ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ โลก หน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกมีอยู่ อัตถิ โลเก สมณพราหมณา สัมมัคคตา สัมมาปฏิปันนา เย อิมัญจ โลกัง ปรัญจ โลกัง สยัง อภิญญา สัจฉิกัตวา ปเวเทนตีติ

อาตมาท่องบาลีอันนี้ได้ ไม่ลืม คล่อง ไม่ได้ท่องมากด้วยนะ แต่จำได้แม่น มันสำคัญ ก็เลยได้

เอาละ หลัก ๑๐ นี้ มิจฉาก็อย่างหนึ่ง สัมมาก็อย่างหนึ่ง แต่ก็หลักเดียวกัน ทีนี้นัยนี่ มันจะต้อง อธิบายกันมาก เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็ขอผ่านอันนี้ไปก่อน แล้วก็ค่อยไปย้ำ มันจะย้ำ ๑๐ หลัก นี่แหละ สำคัญ แล้วก็จะได้แบ่งกันไปเรื่อยๆ อธิบายไปเป็นข้อๆ

ทีนี้สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ เหล่านี้ มันก็แบ่งออกเป็นอย่างนี้อีก มิจฉาทิฏฐิก็ว่าแล้ว ๑๐ ข้อ สัมมาทิฏฐิก็ว่าแล้ว ๑๐ ข้อ ทีนี้ สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็น ท่านแบ่งออกเป็น ๒ สัมมาทิฏฐิ ที่เป็น สาสวะ ๑ กับ สัมมาทิฏฐิที่เป็นอนาสวะ อีก ๑ ท่านบอกว่า

เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๖ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว สัมมาทิฏฐิเป็น ๒ อย่างคือ สัมมาทิฐิที่ยังเป็น สาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง๑ สัมมาทิฏฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง๑

เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องเข้าใจตรงนี้ไปอีกนิดหนึ่ง เป็นขั้นตอน ว่าสัมมาทิฏฐินั้น มี ๒ อย่าง สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ สาสวะหมายความว่า ยังไม่หมดอาสวะ สาสวะยังมีอาสวะอยู่ แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นสัมมาทิฏฐิแล้วลดได้บ้าง ลดไปได้บ้าง แต่ว่ายังไม่หมดสิ้น ยังเหลือ ส่วนเหลือ สาสวะ ยังเหลือส่วนเหลืออยู่ ก็เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ คือเราก็ได้สั่งสมบุญ นั่นแหละ เป็นส่วนแห่งบุญ ยิ่งปฏิบัติไป แม้ว่าจะยังไม่หมดอาสวะก็ตาม เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เป็นส่วนแห่งบุญ ภาษาบาลีเรียกว่า ปุญญภาคิยา เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อุปธิเวปักกา เป็นส่วนแห่งบุญ ก็หมายความว่า เราปฏิบัติได้ ชำระไปได้เรื่อยๆ ก็มีส่วนแห่งบุญไปเรื่อยๆ เจริญ มีบุญสูงขึ้นไป มีบุญมากขึ้นไปเรื่อยๆ

เป็นผลแก่ขันธ์ ก็หมายความว่า เราได้รับผลทันที เป็นผลแก่ขันธ์ ขันธ์ของเรา มันก็เป็นทุกข์ อยู่แล้ว ยิ่งไปมีมิจฉาทิฏฐิ ยิ่งไม่เข้าใจต่อสัจธรรม หรือสัทธรรม มีแต่อสัทธรรม มีแต่ธรรมะ อันเลอะ ธรรมะอันไม่ดี เราก็ไม่รู้ว่า เราไอ้แค่รูปนาม ขันธ์ ๕ ไอ้แท่งนี้นะ คนตัวใหญ่ ตัวเล็ก อะไรก็ตัวคนหนึ่งละ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์นี้ มีกายกับใจ แต่ละแท่งนี่ มันก็ได้ไปหาเรื่องทุกข์มาให้แก่ตัว ไปสวาปาม ไปแสวงหา ไปสะสม ไปเอาเรื่องเลวๆ ร้ายๆ มาให้แก่ตัวเอง เป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นบาป เป็นหนี้มากมาย เพราะมิจฉาทิฏฐิ แต่พอมาเข้าใจ มิจฉา และมาเข้าใจสัมมา แล้วก็พากเพียร ปฏิบัติ เพื่อละมิจฉาทิฏฐิ เข้าสู่สัมมาเรื่อยๆ ก็เป็นส่วนแห่งบุญ ทำให้ขันธ์ของเรามีผล ทำให้ขันธ์ของเรา ทุกข์น้อยลงๆๆ ชีวิตที่ประกอบ ไปด้วยขันธ์ ๕ นี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงทุกข์น้อยลงเรื่อยๆ ให้ผลแก่ขันธ์ หมายความว่าอย่างนั้น มีผล ลดทุกข์ลงๆลดบาป ลดหนี้ลงเรี่อยๆ

ทีนี้สัมมาทิฏฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เมื่อกี้นี้เป็นสาสวะอยู่ ท่านบอกไว้แล้วว่า มีสาสวะ มันยังแบ่งเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่ง ยังเป็นสัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ อีกอย่างหนึ่ง เป็นอนาสวะ สัมมาทิฏฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นอย่างไร

เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๘ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฏฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
๑.ปัญญา
๒.ปัญญินทรีย์
๓.ปัญญาพละ หรือปัญญาผลัง
๔.ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
๕.ความเห็นชอบ
สัมมาทิฏฐินั่นเอง ซึ่งสัมมาทิฏฐิตัวนี้ ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิตัวต้น สัมมาทิฏฐิตัวนี้ เป็นสัมมาทิฏฐิที่เจริญ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ขึ้นมาเรื่อยๆแล้ว

๖.องค์แห่งมรรค คือมรรคทั้ง ๘ มัคคังคะ อริยมรรคทั้ง ๘ นี่ องค์ทั้งหมดนั่นแหละ องค์แห่งมรรค ได้ปฏิบัติเป็นสมังคีของภิกษุ องค์แห่งมรรค ของภิกษุ ผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตอันหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แลสัมมาทิฏฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคฯ

แต่นี่ย่นย่อมาไว้ในหนังสือ แค่ของสัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็น อนาสวะ เป็นโลกุตระก็มี ๖ ข้อ ย่นย่อมาไว้ในหนังสือ พิมพ์แค่ ๖ ข้อ แต่โดยทั้งหมด ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสแล้ว ก็อย่างที่พูดให้ฟังไปแล้ว อ่านให้ฟังไปแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสความอย่างนั้น เสร็จแล้ว ท่านก็ตรัสต่อว่า

ข้อ ๒๕๙ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิ ย่อมเป็นประธานอย่างไร คือภิกษุรู้จักมิจฉาสังกัปปะว่ามิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะ ว่าสัมมาสังกัปปะ ความรู้ของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฐิฯ

คนที่ไม่ได้ศึกษาภาษาธรรมะ หรือไม่ได้เรียนธรรมดีๆ อ่านก็เผินๆ อีกแหละ เหมือนม้าตด อย่างเก่า น่ะแหละ จริงๆ อ่านแล้วก็เผินๆ ฟังตัวภาษาบัญญัติก็อ่านแล้วก็เฉย ปฏิบัติไม่ได้หรอก ฟังแล้วก็ปฏิบัติไม่ได้หรอก ต่อให้เรียนจบเปรียญ ๙ มา ก็อ่านมาเยอะเหมือนกันละ ผู้ที่จบเปรียญ ๙ แต่ไม่ได้ปฏิบัติหรอก ปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจจริงๆ ทำไม่ถูกต้องจริงๆ ไม่เห็นความสำคัญ ที่แน่ๆก็คือ ไม่เห็นความสำคัญอย่างยิ่งของชีวิต ชีวิตถ้าได้ความรู้อันนี้ แล้วก็ปฏิบัติ อันนี้จริงๆน่ะนะ เป็นชีวิตเจริญ เป็นชีวิตไม่ฉิบหาย อย่างที่พระพุทธเจ้า ท่านยืนยันแล้ว เป็นชีวิตเจริญแน่นอน อาตมาก็ขอแวะตรงนี้นิดหนึ่งว่า คุณเกิดมาเอาอะไร เอาเงินใช่ไหม เกิดมาเอาอะไร

เอาความสุข เอาความสุข สุกๆดิบๆ น่ะนะ สุขโลกียสุขน่ะนะ ตอนแรกๆ ก็เป็นอย่างนั้น

มาถามกับคนรู้เสียแล้วนี่มันยากน่ะนะ รู้แล้ว ถามแล้วนี่ เลี่ยงได้ปั๊บๆๆๆ เลย ตอบถูกเป๊ะเลย แต่ความจริง ยังไม่ได้หมดไอ้ที่ตอบนั่นหรอก แต่รู้แล้วว่า อย่างนั้นเถอะนะ

นี่แหละ เราเองมาศึกษาปานนี้แล้ว เราจะรู้ว่าเราเอาอะไร แต่ก่อนนี้ เรายังไม่ได้ศึกษาธรรมะ อย่างที่มาฟังอาตมาพูด มาฟังอาตมาอธิบายนี่ พระไตรปิฎกเหล่านี้มี เขาก็อ่านกันมา ก่อนอาตมา ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคนแล้ว เอาไปเรียน เอาไปท่องสอบได้เปรียญ โอ้โฮ แล้วได้เป็นใหญ่ เป็นโต ได้เป็นเจ้าคุณ คนกราบ คนไหว้ มีเงินหลายล้านมาเยอะแยะแล้ว จริงไหม เชื่อไหม

เชื่อครับ

เออ นึกว่าจะไม่เชื่อ นั่นน่ะ เรียนกันมา แต่เสร็จแล้วก็อ่านอย่างนี้ อ่านด้วยกันนั่นแหละ ท่านจะอ่าน เก่งกว่าอาตมาด้วย ท่านเข้าใจบาลี แปลบาลีได้เสร็จเลย เข้าใจบาลี แปล พลัวะ ๆๆๆๆ ได้ อาตมาก็ต้องอาศัยเขาแปลเป็นไทยมาด้วยซ้ำไป

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็น ประธานอย่างไร คือภิกษุรู้จักมิจฉาสังกัปปะว่ามิจฉาสังกัปปะ สัมมาสังกัปปะ ว่าสัมมาสังกัปปะ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ อ่านแล้ว เหมือนมันเบาหวิว ความจริงแล้ว ผู้ที่เห็นความสำคัญ ในความสำคัญ อ่านแล้วก็ต้องรู้ว่า มันหมายความว่า ผู้ที่จะเข้าสัมมาทิฏฐิ จะต้องมีความรู้ ของตนเองเลยนะว่า ในขณะใดๆ บอกแล้วว่า ผู้จะปฏิบัติตนเป็นอนาสวะได้ จะต้องมีปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล ซึ่งอาตมาจะต้องอธิบายซ้อนให้ฟัง จะต้องมี ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ตัวนี้แหละเป็นตัวกลไก ซึ่งอาตมาเคยย้ำมา ตั้งไม่รู้เท่าไหร่ เป็นตัวกลไก สำคัญมากเลย ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์ ๗

สติสัมโพชฌงค์
ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์
วิริยสัมโพชฌงค์
วิริยะก็คือความเพียร ต้องตั้งใจ ต้องเพียรอยู่ให้ได้นะ ต้องพยายามอยู่ ให้ได้นะ ไม่มีตัวเพียร ประเดี๋ยวก็ลืม ประเดี๋ยวเผลอ ประเดี๋ยวก็ร่อยๆๆๆๆๆไปแล้ว สติแทนที่ จะเป็น สติสัมโพชฌงค์ ไม่สติเสียก็บุญแล้ว สติไปหาปุถุชนโน่นเละ ไปแสวงหาอยู่แบบโลกๆ ไปเรื่อยๆ โน่นแหละ สติจะไม่เป็นหรอก สัมโพชฌงค์ จะเป็นสติกัลยาณชน จะเป็นสติแบบ กัลยา แค่นั้นก็ยังยากแล้ว เพราะฉะนั้น คนที่จะปฏิบัติ พยายามวิจัยตัวเองว่า มีสติอย่างไร

สติสัมโพชฌงค์ ต้องวิจัยตนเอง ว่าตอนนี้เรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วรู้อะไร รู้แต่แค่รู้ตัวทั่วพร้อม แล้ววิจัยมิจฉา วิจัยสัมมาหรือไม่ เริ่มต้นตัวปฏิบัติอยู่ตรงไหน ปฏิบัติอยู่ที่สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ นั่นเป็นตัวปฏิบัติ โดยมีสติ มีวายามะ ก็คือวิริยะสัมโพชฌงค์ กับ สติสัมโพชฌงค์ นั่นแหละ

สัมมาสติก็คือสติสัมโพชฌงค์ สัมมาวายามะก็คือวิริยสัมโพชฌงค์ แล้วต้องมีอีกตัวหนึ่ง ก็คือ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ต้องวิจัย มีตัววิจัยอยู่ในตัวเอง วิจัยนี่ เอ๊ ตอนนี้เรากำลังพูดสัมมา หรือ มิจฉา ตามศีลของแต่ละคนที่ตั้งเอาไว้ ตามขอบเขตของตนที่ตั้งเอาไว้ กายกรรม กระทำทางกาย หรือ แม้แต่คิด นี่เราดำริเกินตัวเองไปหรือเปล่า เกินขอบเขตตัวเองหรือเปล่า อันนี้เป็นมิจฉาของเราแล้วนะ ต้องแก้ไข ละมิจฉาทำให้สู่สัมมา จริงๆ เสมอไม่ต้องทำอย่างนี้ ท่านตรัส รู้มิจฉาสังกัปปะว่ามิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะว่าสัมมาสังกัปปะ

รู้แล้วว่าเราดำริ ดำริมันไม่ใช่ภาษาที่ตื้นนะ อาการของตรรกะ วิตรรกะ สังกัปปะ นี่คือให้ พิจารณา อีก ๗ องค์ อธิบายซ้อนไปตรงนี้เสียก่อนเลยก็แล้วกัน ๗ องค์สังกัปปะ อาการของ ตรรกะ เป็นอย่างไร อาการของวิตรรกะ เป็นอย่างไร อาการของสังกัปปะ เป็นอย่างไร ตรรกะหนึ่ง วิตรรกะสอง สังกัปปะสาม อัปปนาสี่ พยัปปนาห้า เจตโส อภินิโรปนาหก วจีสังขาราเจ็ด นี้เป็น องค์ธรรมของสังกัปปะ เหมือนกับองค์ธรรม ๖ ของสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นอนาสวะ ที่เป็นตัวปัญญา เป็นสัมมาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ มีองค์ธรรม ๖ มีปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ แล้วก็ความเห็นชอบ หรือสัมมาทิฏฐิ แล้วก็องค์แห่งมรรค หกองค์นั่น อันนี้มี ๗ องค์ของสังกัปปะ นี่ อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา ๗ องค์นี่ จะต้องอ่านออก จะต้องเข้าใจ จะต้องมีปัญญา มีทิฏฐิ ความเห็น มีญาณ บอก แล้วทิฏฐินี่จะเป็นปัญญา เป็นญาณ เป็นปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญินทรีย์ก็เป็นปัญญา ที่ลึกขึ้นอีก เป็นปัญญาที่แรง ขึ้นอีก ปัญญาพละ หรือปัญญาผล ก็เป็นปัญญาที่ถึงที่สุด ประกอบไปด้วย ซ้อนไปด้วย ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ซ้อนไปด้วยสัมมาทิฏฐิ ที่จะเกิดสัมมาทิฏฐิซ้อนไปด้วย มัคคังคะ หรือ องค์แห่งมรรค ก็คือปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ องค์ นี่ซ้อนเกิดหมุนรอบเชิงซ้อน หมุนรอบเชิงซ้อนเข้า หมุนรอบเชิงซ้อนกันเข้า

อาตมา มานึกหลายทีว่า จะต้องมีกระดานดำ แล้วก็เขียนเป็น pattern เป็นสายโยงใย สอดซ้อน ให้ดู ก็ไม่ได้เขียนอย่างนั้นสักทีหนึ่ง ตั้งโรงเรียนจริงๆ เมื่อไหร่ ก็คงจะต้อง ได้ขีดเขียนเหมือน ครูเขียนโยงให้ฟัง ตัวพยัญชนะพวกนี้เขียนเส้นสายโยงไป สอดซ้อน กันเมื่อไหร่ อย่างไร โอ้โฮ มันจะสอดซ้อน สัมพันธ์กันเหมือนรอบเชิงซ้อน ขัดเกลากัน ขยายกัน เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น ตัวที่จะเจริญด้วยสังกัปปะเท่านั้น ก็คือจะต้องมีดำริ เกิดที่จิตเลย อาการของตักกะ เป็นอย่างไร อาการของอัปปนาเป็นอย่างไร อัปปนาหมายถึงตัวเจโต ตักกะหมายถึงตัวปัญญา อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา คือลำดับของคุณภาพของจิต ลักษณะของเจโต ลักษณะของตัวเป็น ได้ แน่น มั่นคง แข็งแรง ตัวจิตที่เป็นจริง อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา ที่แปลอัปปนาว่าแน่วแน่แนบแน่น พยัปนานี่แนบแน่น เจตโส อภินิโรปนา คือ ปักมั่นเลย ตอนนี้มั่น ไม่มีถอด ไม่มีถอนเลย เจตโส อภินิโรปนา ไม่ถอดถอน ไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว เที่ยงแท้ แน่นเลย

ทีนี้จิตตัวปัญญามันก็จะมีตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ นี่แหละ ตัวที่จะเกิดมา เป็นลำดับๆ จนเป็น ตัวความรู้ เพราะฉะนั้น เราเริ่มคิด เริ่มรู้อะไรขึ้นมา เริ่มมีอะไรรู้สึกรู้ขึ้นมา นี่ แรกๆที่สุดเลย ตั้งแต่อาตมา เคยขยายพวกนี้ ตั้งแต่สภาพของการเกิดตัวปรารภ ปรารมณ์ ตัวความเพียรนั่น รู้ว่าตัวเอง ไอ้นั่น ลักษณะของความเพียร อาการของความเพียร ว่าเราเกิดเขยิบนิดขึ้นมาจากจิต ว่าเราจะเพียร ปรารภ ปรารมย์ แล้วก็มี นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ ถามธาตุ ธิติธาตุ อุปักกมธาตุ [เล่ม ๒๒ ข้อ ๓๐๙]

ธาตุความเพียร มันไล่มา มันเริ่มมีที่จิต จิตตัวลักษณะที่จะถาม ทำให้ตัวเอง มีความเพียร มีกำลัง ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ตักกะ มันเริ่มรู้อะไรล่ะ แล้วในจิต นั่นแหละ ตักกะ ยิ่งขึ้น ก็คือวิตักกะ เริ่มรู้ยิ่งขึ้น รู้อะไรขึ้นมา ไม่รู้อะไรเลย ดับดิ่งอยู่เฉย นั่นเรียกว่า ไม่มีตักกะ ไม่มีดำริ ไม่มีความคิด ไม่มีความรู้สึก ไม่มีความนึกอะไรทั้งนั้น พอเริ่มนึก เริ่มรู้สึก เริ่มคิด เริ่มรู้ตัว รู้อะไรก็แล้วแต่เถอะ รู้ในจิตนั่นแหละ นั่นแหละเริ่มมีตักกะ รู้มากขึ้นกว่านั้น โตมากขึ้นกว่านั้นก็เป็น วิตักกะ รู้จนกระทั่ง เป็นเรื่องเป็นราว เป็นอะไรขึ้นมาแล้ว เรียกว่า สังกัปปะ

ผู้ที่อ่านปรมัตถธรรมของตัวเอง อ่านอาการพวกนี้ของตัวเองออกนั่นแหละ คือผู้ที่รู้จักสังกัปปะ เพราะฉะนั้น สังกัปปะตัวไหนมันเป็นมิจฉา จัดการแก้ไขมันรู้แล้วว่า นอกจาก จะรู้ธรรมดาแล้ว มีปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล ซึ่งเป็นทิฏฐิ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล ธัมมวิจัย สัมโพชฌงค์ สัมมาทิฏฐิ มัคคังคะ นั่นคือ องค์ทั้ง ๖ ของสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาทิฏฐิ รู้ว่า อ๋อ ไอ้เจ้านี่ กำลังสังกัปปะเป็นมิจฉา มิจฉาสังกัปปะ จัดการแก้เป็นสัมมา ผู้ใดมีอาการ มีญาณ รู้อย่างนี้ ผู้นั้นกำลังรู้น้อยๆ ปฏิบัติเริ่มรู้ก็คือ เริ่มรู้ทิฏฐิ กำลังเปลี่ยนทิฏฐิ เข้าไปเป็นญาณปัญญา กำลังปรับ มีการประพฤติเข้าไป เป็นญาณปัญญาเรื่อยๆ แหม อธิบายๆ จนเมื่อย พอเข้าใจไหมนี่ อาตมาว่า อธิบายได้เก่งพอใช้แล้วนะ แต่ยังรู้สึกว่ายังไม่เก่งอีกล่ะ มันน่าจะอธิบายได้ดีกว่านี้ มันน่าจะเป็นรูปธรรม เป็นชิ้นเป็นอันกว่านี้ แต่อาตมาก็ว่า อาตมาอธิบายได้ เก่งไม่ใช่ย่อยแล้ว ขยายปรมัตถ์ ขยายสภาพพวกนี้แล้ว มันซับซ้อน มันลึกซึ้งมาก ฟังดีๆนะ

เอาละ บรรดาองค์ทั้ง ๗ สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธาน สัมมาทิฏฐิเป็นประธาน อย่างที่ว่านี้ ต้องรู้จักสังกัปปะ นอกจากนั้นก็จะต้อง รู้มากไปกว่าสังกัปปะ ก็ไปรู้วาจา ไปรู้กัมมันตะ ไปรู้อาชีพ ซึ่งมันบานออกไปข้างนอก ผสมร่วมเป็นวาจา ผสมร่วมเป็นภาษา พอเริ่มต้น อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา มีอีกคำหนึ่งว่า วจีสังขารหรือวจีสังขารา มันอยู่ในจิตนะ วจีสังขารา ไม่ใช่วจีกรรมออกมาข้างนอก มันเริ่มปรุงอยู่ข้างใน เป็นวจีสังขารา มันจะออกมา เป็นภาษาแล้ว มันจะออกมาเป็นกรรมทางกายแล้ว มันจะออกมาเป็นกรรมทางข้างนอกแล้ว ยังไม่ออกมาหรอก แต่ผู้นั้นมีจิตไว อ่านจิตตัวเองทันเลย มีมุทุภูตธาตุ มีมุทุภูเต จิตไว อ่านจิต ตัวเองทัน

มันปรุงอย่างไร เราวิจัยออก เราอ่านออกเลย แยกมันออกว่า ไอ้นี่ตัวดี ไอ้นี่มันปรุง มาแล้ว

อ่านต่อหน้าถัดไป
:2312B.TAP