กว่าจะถึงสัมมาทิฐิ ๑๐ ตอน ๗

โดย พ่อท่านโพธิรักษ์
เมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕
เนื่องในงานปลุกเสกฯครั้งที่ ๑๖ ณ พุทธสถานศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ


เอ้า ขึ้นต้น เมื่อวานนี้เรามาเน้นกันอยู่ที่ คนล่วงธรรมอย่างเอกเสียแล้ว เป็นคนมักพูดเท็จ ข้ามโลกหน้าเสียแล้ว ไม่พึงทำบาปย่อมไม่มี ซึ่งก็ได้ขยายความให้ฟังมากมายแล้วว่า ล่วงธรรม อย่างเอก เอกัง ธัมมัง อตีตัสสะ ภาษาบาลีว่าอย่างนั้น ก็หมายความเอาง่ายๆว่า เป็นคนที่เขา ละเลย ล่วง อตีตัสสะ คือผ่านอดีต นั่นเอง อตีตัสสะ อดีต คือผ่าน เอกัง ธัมมัง ผ่านธรรมอย่าง เอก ธรรมอย่างเอก ก็คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ธรรมะที่อย่างที่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ มานี่แหละ อย่างนี้ แบบนี้ ผ่านไปเสียแล้ว ท่านยืนยันว่าเป็นคนมักพูดเท็จ เท็จนี่มันลึกซึ้งนะ คำพูดเท็จ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย พูดเท็จโดยไม่เจตนา พูดเท็จมันเป็นความไม่จริง พูดเท็จ คือพูด สิ่งที่มันเป็นความไม่จริง ไม่ใช่สัจธรรมนั่นเอง โดยที่เราไม่รู้ว่า เราพูดเท็จ โดยไม่เจตนา

เพราะฉะนั้น ถ้าเอาอาบัติ เอา หมายความว่า ผู้นั้นละเมิดหลักนี้ กฎนี้ แล้วเราก็เข้าใจหลักนี้ กฎนี้แล้ว แล้วเราก็ละเมิด เราไม่ทำตรงกับอันนั้น เรียกว่าอาบัติ เรียกว่าผู้นั้นเท็จแค่อาบัติ แต่โดย สัจจะแล้ว แม้หลักเกณฑ์พวกนี้ก็ไม่มีอะไรก็แล้วแต่ ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรหรอก แต่ว่า เราพูด ไม่ตรงกับสัจธรรม ซึ่งเป็นตัวสัจธรรมเนื้อแท้ เป็นของสัจธรรมเอง ไม่ต้องมีใครมาตั้ง ไม่ต้อง มีใครมากำหนด ไม่ต้องมีใครมาบัญญัติ ผู้ที่พูดไม่ถูกสัจธรรมนั่นแหละ คือการพูดเท็จ โดยไม่เจตนาก็ได้ มันก็จึงเป็นเท็จอยู่เหมือนกัน มักพูดเท็จอยู่เหมือนกัน

สรุปง่ายๆก็คือ เพราะมิจฉาทิฐิ รู้หรือเห็นอย่างไม่ตรง เมื่อรู้เห็นไม่ตรง ก็นึกว่าตัวเองพูดถูกแล้ว เพราะรู้ไม่ตรง ไปเชื่อว่า ไอ้ที่ไม่ตรงเป็นตรง มันก็เป็นเท็จใช่ไหม เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่ไม่ศึกษา ธรรมะของพระพุทธเจ้า ปล่อยให้ธรรมะของพระพุทธเจ้าผ่านไป ล่วงเลย เอกัง ธัมมัง เสียแล้ว เป็นคนมักพูดเท็จ ข้ามโลกหน้าเสียแล้ว ไม่พึงทำบาปย่อมไม่มี ข้ามโลกหน้า ก็บอกแล้ว ปรโลก ปรโลกัสสะ ข้ามก็ วิติณณะ วิติณณปรโลกัสสะ ข้ามโลกหน้า ถ้าเราไม่เข้าใจโลกหน้า ก็อีกแหละ ย้ำเน้นแล้วเมื่อวานนี้น่ะ ว่าโลกหน้า...ปรโลก ก็คือโลกที่พระพุทธเจ้าท่านหมายว่า โลกอื่น โลกอีกต่างหาก จากที่โลกที่สัตวโลกทั้งหลายแหล่ มนุษยโลกทั้งหลายแหล่ จะชั้นสูง ขนาดไหนก็ตาม ถ้ายังเป็นโลกียะ หรือเป็นโลกอันเป็นวังวน ไม่รู้จักโลกนั้นแล้วก็เข้าสู่โลกนั้น ไม่ได้ ข้ามไปเสีย ผ่านไปเสีย ข้ามไปแล้ว วิติณณะ นี่ ข้ามไปแล้ว ที่จริงก็ละเลย เหมือนกัน นั่นแหละ เหมือนกับละเลยนี่แหละ

ข้ามนี่คือไม่ได้เข้า ไม่ได้เข้าสู่โลกที่พระพุทธเจ้า ท่านพาเราเข้าสู่ คือโลกโลกุตระ หรือ โลกที่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ว่ามาสู่โลกนี้แหละ โลกที่อย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ เป็นโลกที่ควร เข้าที่สุด เพราะฉะนั้น เราต้องได้ไปปรโลกกัน ฟังโดยความหมายเก่าๆนะ หวาดเสียว เราจะต้อง ไปปรโลกกัน เอ๊ะ มาชวนตายหรือไง มาไปปรโลกกัน เหมือนมาชวนตาย ถ้าเข้าใจยังไม่สัมมาทิฐิ

แต่เราตั้งใจจะไปปรโลกกันจริงๆ พวกเรา จะเข้าไปสู่โลกที่พระพุทธเจ้าท่านหมาย โลกหน้า จะเรียกว่า โลกหน้า จะเรียกว่าโลกใหม่ จะเรียกว่าโลกอื่นที่ต่างจากโลกโลกียะ มาเข้าใจ นามธรรม เนื้อหาเป็นธรรมาธิษฐานให้ชัดนะ โลกโลกุตระ ที่ต่างจาก...โลกโลกียะ ที่เป็นไป ด้วยโลกียสุข ล่าลาภยศสรรเสริญ หรือเสพโลกียสุขอยู่ ด้วยกามภพ ภวภพ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น คนที่ข้ามโลกหน้า คือคนที่ไม่ได้เข้าไปสู่โลกหน้า ข้ามโลกหน้าเสียแล้วนี่ ไม่พึงทำบาป ย่อมไม่มี ยังทำบาปอยู่ทั้งนั้น ย่อมทำบาปอยู่ทั้งนั้น ไม่พึงทำบาปไม่มี ยืนยันว่า ไม่มีเลย

ทีนี้ อันหลังขยายความต่อมาว่า คนตระหนี่ อันนี้ เมื่อวานนี้เรายังไม่ได้ขยายความเท่าไหร่ คนตระหนี่ ย่อมไปสู่เทวโลกไม่ได้เลย เทวโลกก็อีกแหละ เมื่อวานนี้ก็พูดได้นิดหน่อย เทวโลก ก็ไม่ใช่เมืองเทวดา หรือสวรรค์นั่นเอง สวรรค์อย่างโลกีย์ สวรรค์หอฮ้อ มันไม่ใช่นะ คนตระหนี่ จะไปสู่เทวโลกไม่ได้เลย คนพาลย่อมไม่สรรเสริญทานโดยแท้ เพราะฉะนั้น คนตระหนี่ ก็คือ คนไม่ทาน คนตระหนี่ก็คือคนไม่ทาน คนตระหนี่จริงๆ คนที่จิตใจยึดติดหวงแหนไม่ปล่อย ก็ไม่ได้ไปสู่เทวโลก

เทวโลกก็คือสวรรค์ สวรรค์ของพระพุทธเจ้า คือสวรรค์ที่ยิ่งเป็นสวรรค์บริสุทธิ์ เป็นอุบัติเทพ เป็นเทวดา ที่จะต้องล้างกิเลส จิตเกิด เดี๋ยวจะถึงตอนการเกิดนะ ในข้อที่ ๙ จะถึงการเกิด นี่เพิ่งข้อที่ ๕ เดี๋ยวข้อที่ ๙ จะเป็น...อธิบายการเกิดกัน ตอนนี้ผ่านไปก่อน เราจะเกิดเป็นเทวดา ในเทวโลกแท้ๆ ไม่ใช่เทวดาสมมุติ สมมุติเทพน่ะ ไม่ใช่แค่นั้น เป็นเทวดาแท้ๆ อุบัติเทพ จนกระทั่ง ถึงวิสุทธิเทพโน่นให้ได้ จะต้องเป็นคนไม่ตระหนี่ หรือ เป็นคนทานเป็นที่สุด ที่สุดในที่สุด อะไรก็ทาน เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด คนทานย่อมสรรเสริญทานโดยแท้ ส่วนนักปราชญ์ อนุโมทนาทาน เพราะการอนุโมทนาทานนั่นเอง ท่านย่อมเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า ในโลกหน้า ก็รู้แล้วว่า คือปรโลกนั่นเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่อยู่ในปรโลก จะเป็นปรโลกปัจจุบัน อธิบายแล้ว ย้ำแล้ว ปรโลกนั้นปัจจุบันเดี๋ยวนี้ คนที่มีญาณปัญญา มีสัจจะที่แท้จริง รู้จักโลก ที่เป็น ปรโลก โลกโลกุตระ โลกใหม่ โลกหน้า โลกอื่น จะแปลเป็นไทยว่าอย่างไรก็แล้วแต่ พระบาลีก็ว่า ปรโลกนั่นแหละ ไปสู่โลกนั้นก็เพราะว่าผู้นั้นทาน ผู้นั้นอนุโมทนาทาน แม้ผู้นั้น ไม่ได้ทำทานเองแล้ว ผู้นั้นก็อนุโมทนาผู้ใดๆ ที่เขาทำทาน อนุโมทนา ก็คงพอเข้าใจแล้วว่าอะไร ยินดีด้วย เห็นดีด้วย การที่สละออก ไม่ใช่เห็นดีด้วยกับการได้มา หรือการเอามา ฟังดีๆนะ

ขยายความให้เห็นมุมกลับ มุมตรง แต่ก่อนแต่ไร เรามีแต่ยินดีกับการได้มามีแต่การจะเอา นอกจาก เอาแล้ว ยังไม่พอ เอามาแล้วก็ตระหนี่ ไม่ให้ใครแล้ว ไม่ให้มันเล็ดมันลอด ไม่ให้มันหลุด ยังไงก็ต้องฉวยเอาไว้ เก็บ หวงแหนไปจนตาย ซึ่งอาตมาก็ขยายความมานักหนา เรื่องทานนี่ อะไรๆ ที่สุดแห่งที่สุดแล้ว บารมีทั้งหมดที่สั่งสม บารมีสั่งสมแล้วเสร็จ เรามาจบ อยู่ที่ ทาน เราจะมาจบอยู่ที่ทาน บารมี ๑๐ ทัศ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา บารมี ๑๐ อาตมา ก็เคย อธิบายให้ฟังเป็นหมวดๆ ๔ นี่เป็นหมวดหลัก วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน นี่อีก ๔ หมวดหนึ่ง อันนี้ซ้อน อธิบายให้ฟังแล้วเมื่อปีใหม่ ก็พยายามอธิบายให้ฟังแล้ว เมื่อเราปฏิบัติ ประพฤติ เป็นหยาบยังไงก็ตามให้เกิดทาน ศีล เนกขัมมะ เนกขัมมะก็ออกจากภพทั้งหมดละ กามภพ ภวภพ วิภวภพ ก็ต้องละออกทั้งนั้นแหละ ปัญญา ปัญญาก็ต้องแน่นอน ต้องศึกษา ต้องมี ต้องสั่งสม เสร็จแล้ว มันก็เป็นสภาพรอบหนึ่ง ลึกซึ้งขึ้นไปอีก ที่เราจะทานได้มากกว่านั้น ที่เราจะต้องมีศีลได้มากกว่านั้น ที่เราจะเนกขัมมะได้มากกว่านั้น จะเกิดปัญญาได้มากกว่านั้น ก็คือ จะต้องหนุนเนื่อง วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน ต้องจริงๆ อย่างนี้ต้องมีคุณธรรมอันนี้ ต้องส่งเสริม ต้องสร้าง สร้างวิริยะ

มันไม่มี เราก็ต้องพยายามมีวิริยะ จะสร้างยังไง วิริยะเอาแต่นอนเอือกๆๆ จะเกิดวิริยะไหมล่ะ หา อะไรนิด อะไรหน่อย ก็แงะๆ แล้วมันจะเกิดขันติไหมล่ะ หา แล้วไม่เอาจริงสัจจะ อยากจะได้ สัจธรรม เหลาะๆ แหละๆ แล้วก็ไม่เรียนไม่รู้ สัจจะเป็น ยังไง ก็ไม่เรียน ไม่ใส่ใจ ฟังธรรมก็ไม่ฟัง ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ได้ถึงความจริง แม้แค่รู้ก็ยังไม่รู้ แล้วลงมือทำ เอาจริงๆ พยายามอย่างมาก อย่างหนัก ก็ไม่พยายาม แล้วเมื่อไรมันจะถึงสัจจะ เพราะฉะนั้น ต้องตั้งใจ ตั้งเสมอตลอดเวลา มีสติรู้ตัว แล้วก็ต้องอธิษฐาน

อธิษฐานแปลว่า ตั้งใจ ไม่ใช่แปลว่าขอ บอกแล้วนะ ยืนยัน ยืนยัน มาตั้งมาตั้งมายแล้ว แม้แต่ ในพจนานุกรม ของบาลี ก็ไม่เคยมีอธิษฐานแปลว่าขอ แต่คนไทยมาแปลอธิษฐานแปลว่าขอ บอก เอ้า อธิษฐาน พออธิษฐานบอกใคร บอก บอกว่า เอ้า อธิษฐานนะ เอาแล้ว อธิษฐาน จะประณมมือ หรือไม่ประณมมือก็ตาม พออธิษฐานเอาแล้ว จัดแจงขอเชียว ขอช้าง ขอม้า ให้น้องข้าขี่ ขอเก้าอี้ ให้น้องข้านั่ง ไม่ให้น้องเข้านั่งข้าเอาเอง ขอตะพึดอะไรที่เราเอง เราอยากได้ ทั้งนั้น ขอแฟนสวยๆ แฟนรวยๆ ขออะไรที่ตัวเองจะยังปรารถนา ขอไปหมด

เอ้อ ถ้าขอนิพพานนี่ดี แล้วนิพพานมันก็ขอเอาไม่ได้ ขอนิพพานก็ยังดี แต่มันก็ขอเอามันก็ไม่ได้ มันต้องทำเอา นิพพานมันต้องทำเอา มันต้องตั้งใจ อธิษฐานตั้งใจ ตั้งให้เกิดวิริยะ ตั้งให้เกิด ขันติ ตั้งให้เกิดสัจจะ ตั้งใจที่ต้องเสริมหนุนวิริยะ พากเพียร วิริยะอะไร วิริยะที่จะทาน พากเพียร ที่จะทานให้ได้ พากเพียรที่จะให้มีศีล ให้มันเป็นอธิศีลให้ได้ เพียร ศีล เราไม่ปฏิบัติจริง ไม่อดทน ไม่เอาจริง ก็ต้องเอาจริง ให้มันเกิดศีล ให้มันเกิดทาน ให้มันเกิดศีล ให้มันเนกขัมมะ ให้มันออก จากกาม ให้มันออกจากภพ ตีภพให้แตก ตีกามให้แหลก เอาให้ออกให้หมดให้เกลี้ยง เอาวิภว เอาไว้เสียก่อน ก็แล้วกัน

วิภวตัณหา เป็นตัณหาอุดมการณ์ ซึ่งอาตมาก็อธิบายเสริมเหมือนกัน คุณเรียนกับอาตมาไปนี่นะ ละกาม ละภพไปเรื่อยๆๆๆ วิภวภพ หรือภพพิเศษ เป็นภพอุดมการณ์ ภพที่เกิด แต่ไม่ได้เกิดมา เพื่อตน เกิดมาเพื่อเสียสละ เพื่อสร้างสรร มีความรู้ความสามารถ มีความเอื้อเฟื้อ เจือจาน เกื้อกูล ช่วยเหลืออุ้มชู โลกานุกัมปายะ เพื่ออนุเคราะห์โลก ตัณหาอย่างนั้น ก็เป็นตัณหา เป็นความอยาก เป็นความปรารถนา อยากช่วยผู้อื่น มันไม่เป็นภัย เป็นพิษอะไรกับโลกเท่าไหร่ ศาสนาหลายศาสนา ไม่เรียนวิภาตัณหาเพื่อล้าง ไม่เรียนวิภวตัณหาเพื่อล้าง เขามีแต่จะให้เกิด วิภวตัณหา อย่างมาก มากๆๆๆ ไม่เคยหัดละ หัดวางวิภวตัณหา

ศาสนาอื่นๆ เขาจึงมีไฟ ศาสนาอื่นๆ นี่มีไฟ จะเห็นได้ว่าศาสนาอื่นๆ นอกจากพุทธนะ มีไฟ เพราะเขา ไม่ล้างวิภวตัณหา เขาไม่ลด เขามีแต่จะต้องให้มีตัณหาอุดมการณ์ มีความอยาก ช่วยเหลือ อยากเสียสละ อยากสร้างสรร อยากไปอยู่กับพระเจ้า อยากจะทำดีๆๆๆๆ

ส่วนของพุทธนั้น แม้ดี ก็ต้องวางดี ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเรา ทำจริงเป็นของ เราจริง แต่อย่าเอามาเป็นของเรา ทานออก ทานออก ทาน ทานในทีนี้ ทาน ทางทำใจในใจ อย่าเห็นว่า ดีนั้นเป็นเรา เป็นของเรา มันลึกซึ้งอย่างนี้ ปรัชญาพุทธแล้วเป็นจริง จึงจะเรียกว่า นิพพาน ที่จะหมดอัตภาพ หมดปรมาตมัน นี่มันสูงส่งอย่างนี้

เอาละ วิภวตัณหา อาตมาก็บอกแล้วว่า เอาไว้ก่อน เอาไว้ ใช้ให้มันขยัน จนกระทั่งเป็นอัตโนมัติ จนกระทั่ง มันละกาม ละภพได้อย่างดี เป็นผู้ที่มีวิภวตัณหาอย่างแข็งแรง จนกระทั่ง วางใจ ในใจได้ แต่ข้างนอกนี่ เป็นลักษณะของปฏินิสสัคคะ ลักษณะย้อนไปย้อนมา กลับไปกลับมา คืนไปคืนมา เอาแล้วก็ไม่เอา ไม่เอาแล้วก็เอา เอาแล้วก็ไม่เอา เอาแล้วก็ไม่เอา เอาแล้วก็ไม่เอา ก็เอา ไม่เอาอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งมันลงตัว มันกลางจริงๆ จนกระทั่ง แข็งแรง เอารู้ว่าเอา สร้างรู้ว่าสร้าง วางรู้ว่าวาง เพราะฉะนั้น เรา สร้างวาง สร้างวาง สร้างวาง สร้างวาง สร้างวาง สร้างก็เป็นโล้ เป็นพาย สร้างหรือว่าทำ หรือมีสมรรถภาพ ก็เป็นชิ้นเป็นอันเป็นโล้เป็นพาย เป็นสิ่ง ที่ดีที่งาม แล้วางก็วางเป็นเป็นด้วย ซึ่งเป็นภาวะลึกซึ้งสุด ในศาสนาพุทธเท่านั้น วางตัวนี้

เพราะฉะนั้น คนอื่นที่เขาสอนกัน บอกวางๆๆๆๆ ไปเอายอดปลายมาสอนก่อน แล้วสอนปรมัตถ์ ด้วยนะ บอก โอ๊ อะไรก็ต้องวางหมดแหละ วางๆๆๆ อะไรก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของเรา สร้างก็ไม่เป็น อะไรก็ไม่เป็น เสพยังไม่รู้เลย แล้วหัดวางมันลูกเดียว ไม่เรียนรู้ไปตามลำดับ เพราะฉะนั้น คนพวกนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างสรร ไม่อดทน เอาแต่วางๆๆ เพราะถ้ายึด มันทุกข์จริงๆ ถ้ายึดมันทุกข์จริงๆ แต่ต้องมียึด ต้องมีสมาทาน ต้องมียึด ไม่ยึดไม่ได้หรอก จริงๆแล้ว ชีวะร่างกาย มันก็ยึดเอาไว้โดยธรรมอยู่แล้ว ไม่ยึดมันก็ยุ่ยหมดแล้วนี่ เสร็จแล้ว แม้แต่นามขันธ์ วิญญาณนี่ กับ ร่างนี่ มันก็ยึดกัน เพราะฉะนั้น คนจะตายนี่ ปล่อยร่าง ยากจะตายไป ทั้งเจ็บ ทั้งปวด ทั้งทรมานนี่ ไม่ปล่อยร่าง โอ๊ย ยุ่งยากมาก เพราะยิ่งนี่แหละ ร่างของกู กูจะอยู่กับร่างของกู ไม่ยึดร่างนี้ก็ตามห่วง

อาตมาเคยไปปลดปล่อยวิญญาณ ต้องถือว่าปล่อยวิญญาณ เพราะว่า ไปบอกให้ตายนั่นเอง อาตมา เคยไปโปรดคนป่วย ป่วย โอ้โห คือว่าเน่าตั้งแต่ยังไม่ตายนะ เน่าหมดแล้ว ตัวนี่เป็น มะเร็ง เป็นแผลเน่า ไม่ต้องพูดเรื่องเดิน เรื่องเหิน เรื่องไปเรื่องมาไม่ได้ คนอายุมากด้วย แก่ด้วย แต่ห่วงลูกชาย ที่ติดยาเสพย์ติด ลูกชายอายุ ๔๐ กว่าแล้วนะ ทีนี้ลูกชายไปติดยาเสพย์ติด ห่วง ไม่ยอม ปล่อยขันธ์ ไม่ยอมปล่อยร่าง ไม่ยอมตาย ว่างั้นเถอะ ทำยังไงๆ ก็ไม่ยอมตาย ซึ่งมัน อื้อฮือ มันเหมือนคนตายแล้วที่อยู่ในร่างนะ หน้าตา เนื้อตัว ผอมโกรก เหม็นเน่า แผลต่างๆ เหม็นหมดแล้ว ลูกเต้าก็ โอ้โฮ สุดจะทนทาน ก็ต้องดูแลไว้ละ นะ ไม่รู้จะทำยังไง

นิมนต์อาตมาไป ไปโปรด อาตมาก็เห็น ไปโปรด จะทำยังไง ก็บอกให้ตายเท่านั้นแหละคนนี้ คือ มันอยู่ไปไม่รอด อยู่ไปก็ไม่มีท่าหรอก ร่างกายมันทรุดโทรม มันเสียหายหมดแล้ว แก่ด้วย แล้วก็เน่าหมด อวัยวะพังหมดแล้ว แล้วจะอยู่ทรทานไปได้ยังไง ครั้นจะบอก ไปถึงก็บอก เออ ตายซะ ก็ไม่ได้ ก็ต้องมีวิธีการบอก วิธีการพูด อาตมาไปโปรดก็พยายามพูด ให้เข้าถึงจิต วิญญาณ ให้รู้ว่าวิญญาณปล่อยไปจากร่างนี้นั้นดี ก็พูดโน้มน้าวให้เห็นว่าวิญญาณไปอยู่ ในที่อะไรอื่น ที่ไม่อยู่ในอันนี้ดีกว่า โอ๊ ยาก พูดกันจนนำได้ นำร่องได้ เข้าใจ แล้วก็ถึงจิตน่ะ ถึงจิต วันรุ่งขึ้นเลยตาย เลยยอมตาย นี่ เล่าสู่ฟัง เป็นเรื่องจริง ไม่รู้ใครไปด้วย จำได้ไหม ใครไปด้วยวันนั้นน่ะ โปรด หมายถึงใคร อาจจะจำไม่ได้ก็ได้ แม่ของญาติธรรม เป็นเจ้าของ โรงเรียนอะไร จำไม่ได้แล้ว อาตมาก็นานปีแล้ว ตั้งแต่อาตมายังบวชไม่นานเท่าไหร่ เอาละ เอ้า ผ่านนะ พอพูดถึงเรื่องของมันติดยึดนี่ มันก็อย่างนี้ล่ะนะ มันไม่รู้จักวาง ไม่หัดวางนี่ไม่ได้

ถ้าหัดวางแล้ว ก็ไม่ยากนะ อย่างพวกเรานี่หัดวาง หัดอะไรกันจริงแล้วนี่ อย่างบุญกว้าง เพิ่งตายไป ญาติธรรมเราที่ตายจากที่ปฐมอโศกนี่ อายุก็ ๔๐ กว่า ๓๙ ยังไม่ถึง ๔๐ ดีนะ ๓๙ ก็เป็น มะเร็ง มันก็เน่า ก็เสียหมดแล้วล่ะ แล้วก็พยายามฝึก ให้ฝึก แกก็ฝึก แกอาศัยตอนตาย ตอนป่วย สุดท้าย ที่ไม่ไหวแล้วนี่ หัด ฝึกวาง ยิ้ม นั่นคนเป็นมะเร็งระดับ ๔ ระดับจะตายแล้ว คือมาจาก โรงพยาบาล หมอเขาบอก กระซิบมาบอกว่า ๗ วัน แต่มาอยู่ได้เดือนกว่า มาอยู่กับพวกเรา ได้เดือนกว่า หมอก็กระซิบมา บอก ๗ วันน่ะ มาอยู่กับเรา เราก็ดูแลกันไปเดือนกว่าก็บอก ตอนแรก ไม่บอก ตอนหลังอาตมาก็บอกว่า ไม่บอกไม่ได้ ไม่บอกก็ไม่ดี ก็ไปบอกให้แน่ใจว่าเป็น มะเร็ง แล้วล่ะ แต่ก็ไม่ได้บอกไปจนสุดท้ายว่า พอเป็นมะเร็งก็รู้แล้วล่ะ โอ๊ ตายแน่กู ใครก็ทั้งนั้น แหละนะ แล้วก็ต้องรู้ตัว เพราะว่าคนในระดับปัญญาชน เรียนจบปริญญาทำงานมา มีปริญญา ตั้งหลายปริญญา อย่างนี้ มันจะไม่มีปัญหาอะไร ก็เข้าใจ แล้วก็ตัวเองก็นอนกระดิก ก็ไม่ได้แล้ว อะไร ก็ไม่ได้แล้ว มะเร็งระดับนี้ เป็นยังไงล่ะ แน่ๆยิ่งกว่าแช่แป้ง ตายแน่ แก ก็ต้องรู้ ก็บอกฝึกหัด อารมณ์ดี จิตใจหัดปล่อยวาง เรียนรู้เวทนา เรียนรู้อะไรต่ออะไร ถ้าเป็นคนอื่นทุรนทุรายมาก ขนาดหนัก เพราะว่าสรีระก็เห็นแล้ว คนข้างนอกก็เห็นแล้ว สรีระมันแย่หมดแล้ว มันช้ำ แดง เหลือง เขียวออกมา โอ้โฮ ท้องปึ่งเป่งออกมาขนาดนั้นแล้ว เป็นมะเร็งตับ ก็ไม่ทุรนทุราย ถ้าเป็นผู้อื่น ทุรนทุรายแน่ แล้วก็วาง เสร็จแล้ว ก็จะไป

ก็ใครเล่า ได้ยินเล่ามาบอกว่า ท่านอโสโกอยู่สุดท้าย ยังนึกได้ว่า ยังติดอะไรไม่รู้ จะไปแล้วนะ กลับมา มาพูดกับท่านอโสโกสุดท้ายก่อน แล้วก็ค่อยไป อ้อ สงสัยปัญหาสุดท้ายว่า ตายไปแล้ว ชาติหน้า ไอ้โรคมะเร็งมันจะตามไปด้วยหรือเปล่า ยังไม่ยอมตาย วืบกลับมาอีกที จะมาถาม ประโยคสุดท้ายก่อน ให้แน่ใจแล้วก็ค่อยตาย คือมีสติ ตาย อย่างแน่ใจว่าตาย แล้วก็ตัวเอง ก็ยินดีตาย แล้วก็ตายอย่างไม่ดิ้นรน ตายอย่างสงบ นี่ตายอย่างมีสติอย่างนี้น่ะ

พวกนักธรรมชั้นปรมัตถ์ อย่างพวกเราเท่านั้นแหละ ก็รู้ว่าตายก็คือ เปลี่ยนขันธ์ ถ้าเราเอง มีวิบากบุญ แน่นอน ต้องเริ่มมีวิบากบุญ สั่งสมบุญไว้อย่างนี้ คนมีบุญแล้ว ตายก็ไม่กลัว เพราะว่าตายแล้ว ก็ไปได้บ้านใหม่ที่ดีกว่าเก่า ไปได้ร่างที่ดีกว่าเก่า ไปได้บุญที่มีจริงๆ เป็นสิ่งที่ เป็นวิบากที่แท้ ถ้าเราเชื่อกรรม เชื่อวิบากที่จริง มรดกเราคือบุญ ถ้าแน่ใจว่าได้สร้างบุญ สั่งสมบุญ ไว้มากพอในชาตินี้ มันจะมั่นใจ แล้วมันจะไม่ตายอย่างกลัว มันจะตายอย่างสงบ ตายอย่าง ก็ตายไปแล้วได้ดีกว่าเก่า เหมือนเปลี่ยนบ้าน แล้วจะไปกลัวอะไร แต่คนที่ทำชั่วซี โอ๊ ตายไปแล้ว ต๊าย บ้านก็จะไม่มีเสียอีกงวดนี้ บ้านก็บ้านพังๆ เก๊ๆ หรือว่าไปได้ร่างก็ร่างพิการ เข้ามั่งก็ไม่รู้ ดีไม่ดี ไปได้ร่างหมาเข้าไปอีก ไม่รู้ชั่วขนาดไหนล่ะนะ โอ๊ย ตายแล้ว ใครอยากตาย ยังไงๆ ตอนนี้ก็ยังเป็น ยังงี้ก่อน ก็ยังดีกว่า ไปแล้ว มันไม่ได้ดีกว่า แล้วเรื่องอะไร จะอยากตาย เพราะฉะนั้น คนชั่วนี่ไม่อยากตาย แล้วมันเป็นโดย สัญชาตญาณด้วยนะ

ถึงแม้จะไม่รู้ มันก็อย่างนั้นล่ะ มันก็ติดอยู่อย่างนี้ ว่าอย่างนี้มันดีกว่าน่ะ นอกจากคนที่ว่า มันไม่ดีแล้ว ร่างนี้ ชาตินี้ เกิดมาอาภัพนัก คนนั้นน่ะ อยากตาย ถึงขั้นไม่ต้องไปตอนตายหรอก เอาปืน ยิงตัวเองตายเลย กินยากรอกตัวเองตายเลย ถ้าอย่างนั้น ก็ไอ้คนนั้นมันไม่อยากได้อะไร ในชาตินี้ แล้วมันก็ไม่คิดหน้าคิดหลังอะไรทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้น คนเรา ถ้าเผื่อว่า ไม่ศึกษา สัจธรรม และสุดท้าย ไม่ถึงขั้นรู้ว่าตัวเอง เป็นผู้ได้ให้ เป็นผู้มีกุศล เป็นผู้ทาน เป็นผู้สูงสุด แล้วเราพิสูจน์กันแล้วว่า เราเป็นผู้ทานสูงสุดแล้ว จิตทานก็มีจิตอุเบกเขา กับ เมตตาบารมี เมตตาเป็นจิตทาน เมตตาเป็นจิตให้ เมตตาเป็นยอดแห่งจิตวิญญาณที่สูงสุด

เราฟังความหมายของเมตตามา แล้วเราก็มีคุณลักษณะของเมตตานั้นบ้าง มันก็ยังมีความ ลึกซึ้ง ความยิ่งใหญ่ของเมตตา แล้วต้องมีปัญญากำกับเมตตา เมตตาอันไม่มีประมาณ ไม่มีปัญญาเมตตาช่วย ช่วยอะไรต่ออะไรที่มันเสร็จแล้ว ก็เกิดพิษเกิดภัยในสังคม เกิดพิษเกิดภัย ย้อนมาถึง ตัวเองด้วย อะไรก็ตาม เลวร้าย อันนั้นก็เมตตาไม่มีประมาณ เมตตาใช้ไม่ได้ เมตตา ต้องมีปัญญา ว่าเราจะช่วยเหลือจะเกื้อกูลอะไรๆ ก็จะต้องเป็นคุณธรรมที่ ซ้อนเชิงขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วจิตอุเบกขา เป็นฐานพักของตัวเอง เป็นแกน เป็นแก่นของตัวเอง เป็นบารมีที่สุดยอด กลั่นลงไป ก็สร้างจิตให้มันเกิดอุเบกขา เจตสิก เป็นตัวท้าย

อาตมาเคยเรียกถึงขั้นว่า อุเบกขาเป็นฐานนิพพาน เป็นฐานนิพพาน อาศัยอุเบกขา อุเบกขามี องค์ธรรม ๒ ที่อาตมาก็ได้อธิบายเสมอๆ ว่ามีความบริสุทธิ์ เป็นจิตบริสุทธิ์ ปริสุทธา ปริโยทาตา แม้บริสุทธิ์ ยังเกี่ยวข้องคลุกคลี แตะต้องอะไรต่ออะไรอยู่ในโลกีย์นี่ทั้งหมด ก็ยังผ่องแผ้ว ก็ยัง สะอาดสะอ้านอยู่ จะไม่ดูด ไม่ซึม ไม่ซับ ไม่ติด ไม่ติดโลก ไม่ติดโลกีย์ใดๆเลย อุเบกขาเจตสิก ตัวนี้ ปริโยทาตา ปริสุทธา ก็บริสุทธิ์นั่นแหละ เป็นลักษณะบริสุทธิ์ แล้วเป็นลักษณะที่นอกจาก จะบริสุทธิ์แล้ว แม้จะคลุกคลีเกี่ยวข้องแตะต้องยังไงๆ ก็ไม่เปื้อน ไม่ดูด ไม่ซึม ไม่ซับจริงๆ มีความผ่องแผ้ว ผ่องผุดอยู่อย่างนั้น

มุทุ กัมมัญญา มุทุก็คือแววไวน่ะ ไม่ต้องปรับ ไม่ต้องดัด ก็ดัดได้โดยอัตโนมัติ อะไรๆ จะทำ ให้เป็นยังไงๆ จิตอ่อน จิตที่วันนั้นไม่รู้ใครเสนอ มา ว่ามุทุนี่แปลว่าจิตอะไร เขาให้ความหมายมา ซึ่งไม่รู้ จะแปลว่าอะไร มุทุโดยภาษาบาลี จริง ซึ่งมันแปลว่าอ่อน แต่มาใช้กับธรรมที่ลึกซึ้งแล้ว มาแปลว่า อ่อน ก็ต้องขยายความ มันก็มีลักษณะ มันดัดได้ง่าย ปรับง่าย ปรับจากไม่ดี มาเป็นดี ง่าย ไม่ใช่ดื้อๆ ด้านๆ ดัดยังไง ปรับยังไงก็ไม่ไหว โอ้โห ยอมยังไง ไม่ยอมยังไง ก็จะดื้ออยู่ อย่างนั้น ล่ะ ยังไงก็จะแข็ง กิเลสมีก็จะอยู่กับกิเลสนั่นแหละ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ง่ายๆ

เปลี่ยนแปลงได้ง่ายเรียกว่าจิตอ่อน มุทุนี่ แล้วก็ โอนอ่อนควรแก่การงาน โอนอ่อน ก็ดีนะ จิตโอนอ่อน จิตนี่มีปัญญา เข้าใจ คือสัจจะแล้ว เปลี่ยนแปลงปรับปรุงปุ๊บ แล้วก็รู้ไวด้วย อาตมาให้ ทั้งจิตเจตสิก ทั้งปัญญาและศรัทธา ทั้งเจโตและปัญญา เจโตหรือจิตนี่ปรับง่าย ดัดง่าย อย่างเจโต ทำได้ง่าย ไม่ดื้อ ไม่ด้าน และปัญญาก็ไว รู้ไวด้วย มุทุ มีลักษณะทั้ง ๒ อย่าง แต่เขาอธิบายกันอ่อน แล้วไม่ได้อธิบายอะไรเลย ที่ว่ากันมา ก็เลยปฏิบัติไม่ถูก มุทุ กัมมัญญา กัมมัญญา เป็นผู้ที่อยู่ในโลกนี้ มีกัมมัญญา กัมมัญญา คือกรรม การงานนั่นเอง การกระทำนั่นเอง กระทำอะไรๆ ด้วยญาณปัญญา กัมมัญญา อัญญานี่ เป็นตัวยอดปัญญา ยอดความดีงาม ยอดทางความรู้ ทำอะไรก็สละสลวย เขาแปลว่า สละสลวย คือการงาน หรือ สิ่งที่ได้กระทำนั้น เยี่ยมยอด สละสลวย สมบูรณ์ มันได้สัดได้ส่วน ได้ความสมบูรณ์ดีงาม หมดทุกอย่าง นั่นแหละ ทำอะไรก็ดีงาม ได้ความสมบูรณ์พร้อม สละสลวย ทุกอย่างน่ะ

ปภัสสรา จิตนั้นปภัสสรอยู่ตลอดเวลา จะคลุกคลีเกี่ยวข้องยังไง สุดท้ายก็ปภัสสรอยู่ ผุดผ่อง ผ่องแผ้ว โชติช่วงชัชวาลย์ สะอาดสะอ้าน อะไรก็แล้วแต่เถอะ ปภัสสร แปลความว่าอย่างนั้น นั่นเป็น คุณลักษณะของอุเบกขา จะเป็นฐานอาศัย แม้แต่ฐานอาศัย หรืออุเบกขาเจตสิก จะไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา จะต้องมีอยู่ตลอดนิรันดร์กาล เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของเรา ก็ไม่ได้ แม้เราจะทำได้วิเศษเป็นอุเบกขา คุณลักษณะเยี่ยมยอด มีคุณลักษณะประเสริฐสุด ทำได้ ก็เป็นของเราที่อาศัย ไม่ใช่เป็นของเราจริงๆ ที่เราจะต้องนำไปไหนๆด้วย ถ้านำไปไหนๆ ด้วย มันก็ยังไม่ปรินิพพาน เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น ใครยังหลงอุเบกขาเป็นอุปกิเลสน่ะ ทำได้แล้ว จริงๆก็ตาม หลงอุเบกขาเป็นอุปกิเลส มันก็ยังอยู่กับผู้นั้นน่ะ

แม้แต่อันนี้ ก็จะต้องเห็นจริงเห็นจัง ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่เราเป็นเรามี เราได้อาศัย มันเป็น เครื่องอาศัยเท่านั้น มันเป็นสิ่งอาศัยเท่านั้น เป็นอาลย อาลยะ อาลยะนี่แปลว่า อาศัย เป็นอาลัย แต่ไม่ใช่อาลัย อาลัยไม่ใช่จะต้องทำใจให้อาลัย จะต้องปลดอาลัย พูดไปแล้วยิ่งลึก ทีนี้เป็น อาลยวิญญาณ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปมีอาการที่จะต้องไปยึดว่าเป็นสิ่งอาศัย อาลัย แปลว่า ที่อาศัย เราอาศัย แต่เราอย่าไปติดที่อาศัย นั่นคือ อาลยวิญญาณ มันเป็นวิญญาณสุดท้าย ที่เราอาศัย แต่อย่ายึดว่าอาศัยเป็นเรา อย่ายึดว่าที่อาศัยเป็นเรา คืออย่าอาลัยนั่นเอง แหม ไม่รู้จะพูดยังไง จะว่าไม่อาศัยไม่ได้ ต้องอาศัย แต่สุดท้าย ก็จะต้องไม่ติดในที่อาศัยนี้ ไม่อาลัยนี้ อาลัยแปลว่า ที่อาศัยที่ว่านั้น

เมื่อกี้นี้ อธิบายอุเบกขา เพื่อให้มันครบ ให้มันครบซะ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน แล้วก็ เมตตา อุเบกขา เพราะฉะนั้น อีก ๒ อันสุดท้าย ๔ บารมีแรก ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา นั่นก็บอก สุดท้ายเราจะมาเป็นรูปหยาบพวกนี้ ๔ ข้อแรกนี่ มันหยาบ วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เป็นส่วนในของคนที่จะเสริมหนุนให้เกิด ๔ นี้สมบูรณ์ แล้วก็จะมี พฤติกรรม อยู่อันนี้ ส่วนเมตตากับอุเบกขา ๒ อันท้ายนั้น มันเป็นยอดแห่งคุณธรรม ยอดแห่ง จิตวิญญาณสุดท้าย ทำสมบูรณ์เท่าใด ก็ยิ่งวิเศษ จะส่งผลให้เราไปเป็นคนที่มีปัญญา เป็นคนที่มี เนกขัมมะอันบริบูรณ์ คือออกจากภพ ได้หมดทุกภพ แม้วิภวภพ เนกขัมมะนี่คือ ออกจากเนกขัมมะ นี่คือ ออกจาก เว้นจาก ออกมาให้หมด กามก็ดี ภพก็ดี วิภวภพก็ตาม

แล้วมีศีล เป็นศีลบุคคล พระอรหันต์นี่คือศีลบุคคล ผู้มีศีล แล้วศีลนั้นอยู่ที่ใด ปัญญาอยู่ที่นั่น ผู้นั้นมีศีล มีปัญญา ผู้นั้นมีความเป็นไปได้ ตามหลักเกณฑ์ของศีล ยิ่งละเอียดไม่มีบัญญัติ ของศีลหรอก แต่ผู้รู้จะรู้ว่า เป็นอธิศีลอย่างไร เป็นหลักเกณฑ์ที่จะเจริญงอกงาม เป็นหลักเกณฑ์ ที่จะเว้นขาด ในสิ่งควรเว้นขาดอย่างสนิท ดับอย่างสนิท แล้วเป็นผู้ที่สร้างได้อย่างยิ่งใหญ่ ศีลนี่ ถ้าเป็นอภิสมาจาร แล้วก็คือเป็นผู้ที่ทำให้จิตเจริญ ก็ทำสิ่งเจริญให้ยิ่งใหญ่ เป็นอภิสมาจาร เป็นศีล อันใดที่ควรเว้นขาด เป็นบาปสมาจาร ก็สุด ดับสนิทหมด มีในตัวผู้นั้น เป็นผู้ทรงศีล ทรงธรรม

พระอรหันต์ ที่เป็นผู้ทรงศีลแล้วก็ต้องเรียนรู้ หลักเกณฑ์ของศีลที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมา ยกตัวอย่าง เช่น จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล เป็นหลักเกณฑ์ เป็นสมมุติ แต่พระอรหันต์จะต้อง มาเป็นคน ที่ไม่ทำลายศาสนา ถ้าไม่ปฏิบัติ แม้แต่หลักเกณฑ์ พระพุทธเจ้าท่านตราไว้ว่า เป็น ธรรมนูญของศาสนา เช่นว่า มันมีจารีตประเพณีที่นอกรีตนอกรอยอะไร ในจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล มีไว้ เราก็ต้องทำให้ได้อย่างนี้ พระอรหันต์ก็จะทำตามศีลนี้ เพราะฉะนั้น ถึงถามว่า เป็นฆราวาส บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้หรือเปล่า

จิตถึงได้น่ะ แต่จะเรียกว่า อรหันต์สมบูรณ์ ต้องสมบูรณ์ด้วยธรรมและวินัย เพราะฉะนั้น ต้องมาบวช ต้องมามีวินัย ต้องมามีศีลของพระพุทธเจ้าที่สมบูรณ์หมด พิสูจน์ตัวเองว่า เป็นได้ไหม ได้แต่นึกคิดเอาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นอรหันต์สมบูรณ์จริงๆ ต้องมาบวช ต้องมาบวช สุดท้าย ต้องบวช ถ้าไม่มาบวช มันก็ยังไม่ชัด มันก็ยังไม่สมบูรณ์ ผู้อื่นก็รับ ไม่สมบูรณ์ จริง อาจจะมีจิตวิญญาณที่ถึงอรหันต์จริงๆ แต่ยังไม่ครบด้วยธรรม ด้วยวินัย ยังไม่ได้ ต้องมามีครบด้วยธรรม ครบด้วยวินัย เพราะฉะนั้น วินัยต่างๆ จะเป็นศีล เป็นวินัย ก็ต้อง อยู่รักษา

ถ้าเผื่อว่าผู้ใดรักษาศีลรักษาวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านตราไว้ ไม่รดน้ำมนต์ ไม่บูชาไฟ ไม่อะไร อย่างนี้เป็นต้น ไม่รักษาไข้ ใบ้หวย อะไรต่างๆ มีไว้ในมหาศีลหมด ศาสนามันก็สมบูรณ์ ศาสนาไม่ประพฤติ ไม่ละเมิดศีล มาบวช มาถือศีลของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็รักษาธรรมเนียม จารีต ประเพณี วัฒนธรรมของศาสนาพุทธไว้ได้ ทุกวันนี้ มันไม่เรียนรู้ มันเลยเลอะไปเลย ศาสนาพุทธก็เลย บูชาไฟ ตั้งเรือนไฟอันใหญ่โต บูชาควันขรมเลย จุดเทียน จุดธูปอะไรเล่น อะไรกัน แล้วก็ให้หวย รดน้ำมนต์ รดน้ำมูกอะไร ว่ากันเลอะอะไรต่ออะไรต่างๆ แม้แต่รักษาไข้ รักษาอะไร แต่เขาไม่ถือกันนะ เขาถือว่าเป็นประโยชน์ เป็นบุญ จริง เป็นประโยชน์ พระไปรักษา ไข้ไม่ได้ ทำหยูกทำยา รักษาอะไรต่ออะไรไม่ได้ แต่เขาไม่ว่า เขาถือว่าเป็นประโยชน์ มันก็ละเมิด ศีลน่ะ ศาสนามันถึงเพี้ยนไปเรื่อยเสียหมดน่ะ เพราะฉะนั้น จะต้องศึกษาศีลให้สำคัญด้วย

สุดท้ายทาน มีแต่มาให้ทั้งนั้นแหละ ไม่ได้เป็นผู้มาเอาเลย ยอด ๆ ปราชญ์จะอนุโมทนาทาน ปราชญ์นี่อนุโมทนาทาน เพราะการอนุโมทนาทานนั่นแหละ ท่านย่อมเป็นผู้มีความสุข ในโลกหน้า ในโลกหน้าก็บอกแล้วว่าคือปรโลก มีความสุขในโลกุตระ ความสุขในโลกุตระ เป็นสุข ที่ไม่ใช่บำเรอ

อาตมาก็อธิบาย สุขัลลิกะ หรือว่าโลกียสุข มันต่างกับวูปสโมสุข หรือ อุปสมโมสุข สุขที่มันสงบ ระงับ สุขนิพพาน ที่เป็นปรมังสุขัง สุขังนี่ มันสุขไม่ได้บำเรอ สุขว่างๆ สุขไม่ต้องอยาก ไม่ต้อง บำเรอสมอยาก, ไม่ต้อง, ไม่ต้องมีอยาก, อยากก่อน แล้วก็บำเรอสมอยาก แล้วก็เรียกว่า สุข ได้สมใจ สุขเสพสม ไม่ใช่สุขเสพสม สุขว่างๆ สงบระงับ ไม่มีอยาก ไม่มีอะไร มีแต่รู้ ทำอะไรก็ทำ มันได้เท่าไหร่ ก็เท่านั้น ได้แล้วก็ได้ไม่ฟูใจ ไม่หลงดีใจ ไม่หลงว่าเป็นสุขจริงๆ ไม่มีอาการฟูใจ จริงๆ จึงเรียกว่า วูปสโมสุข หรืออุปสโมสุข สุขในโลกุตระ เป็นสุขอย่างนั้น เราก็ต้องรู้จักสุข ในโลกุตระ หรือ เรียกว่าอุปสโมสุข หรือวูปสโมสุขนี้ เป็นลักษณะอย่างไร เราต้องเรียนรู้ ต้องเห็นเอง เป็นเอง วางเฉย จิตว่าง วางสงบ นั่นแหละ วูปสโมสุข ไม่อยาก ไม่ดูด ไม่ผลัก

แต่เราก็ไม่ใช่ว่าเป็นซาดิสม์ ชอบให้คนมาด่า แล้วก็วางเฉยได้ ก็เก่งอยู่อย่างนั้นนะ ใครไม่ด่าได้ ดีกว่า ใครไม่มาทำรุนแรงกับเราได้ดีกว่า แต่เขาทำรุนแรงได้ เราก็วางได้ ว่างได้ หรือแม้แต่ สิ่งที่ยั่ว ที่ยวน เราก็ไม่มีจิตที่ไปอยาก ไปวูบวาบ ไปดูดขึ้นมา ไปแย้งไปเผยอ อะไรขึ้นมา เพื่อที่จะ ดูดมาให้ตน มาเป็นของตนไม่มี ลักษณะทานจึงเป็นเรื่องสูงสุดในโลก อย่างน้อยที่สุด ต้องมี รูปแบบของการทาน

การไปบิณฑบาตของพระ เช้าๆนี่ เป็นคุณลักษณะอันเป็นวัฒนธรรมสูงสุดยอดของมนุษยชาติ เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธที่กร่อน สุดท้ายก็ไม่มีการบิณฑบาตได้ เพราะคุณธรรมในการ บิณฑบาต รักษาบิณฑบาตให้บริสุทธิ์ บิณฑบาตให้เป็นผู้บิณฑบาตที่มีอานิสงส์สูงสุด เดี๋ยวหนังสือ บิณฑบาตนี้จะออก อาตมาบรรยายไว้พอสมควร คิดว่าจะบรรยายไว้ได้มาก พอสมควร สำคัญมาก เพราะสังคมใด มีวัฒนธรรมบิณฑบาตได้ ผู้เป็นมวลประชาชน พุทธศาสนิกชน รู้จักกันดีว่า บิณฑบาตเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ แล้วเขาก็สนับสนุนเป็นทายก พระภิกษุ หรือ สมณะผู้เป็นปฏิคาหก ก็ไปทำหน้าที่เดินแต่เช้า แต่เช้าขึ้นมา ก็สัมผัส โอ โลกนี้มีทาน แต่ไม่ใช่ขอทาน
เพราะฉะนั้น ไปประเทศนอก เขาไม่รู้เรื่อง ไม่มีวัฒนธรรมนี้ ไปบิณฑบาต เขาจับ เคยถูกจับน่ะ อาจารย์ชา ไปบิณฑบาตที่อังกฤษ ลูกศิษย์ท่านมีต่างประเทศ ไปบิณฑบาตที่อังกฤษ กฎหมายเขาห้าม กฎหมายขอทาน เขาไม่ได้ เป็นขอทานเขาจับ อาจารย์ชาถูกจับ ต้องมีทนาย ไปแก้ให้ ทนายที่แก้ให้ เขาแก้ให้อย่างไรรู้ไหม เพราะว่ามันมีกฎหมายข้อที่บอกว่า ผู้ทำตาม วัฒนธรรม ประเพณีของตนๆ ด้วยบริสุทธิ์ใจ ผู้นั้นทำอันนี้ไม่ได้ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้น เขาก็พยายาม นำสืบให้ ต้องพยายามที่จะนำสืบอะไร ให้เป็นสำนวนปิด ให้ไปเป็นความหมาย ที่จนกระทั่ง ผู้พิพากษาหรือลูกขุน จะต้องเห็นว่า อันนี้เป็นวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่จริงใจ เป็นสิ่งที่ ทำด้วย จารีตประเพณีอันสูงส่งของเขาด้วยซ้ำ เป็นขอทานไม่ได้ พวกนั้นก็ต้องแพ้ ด้วยมาตรานี้ มีมาตราขอทานผิด ใช่ พิจารณานำสืบแล้ว เป็นขอทานจริง ก็ผิดกฎหมาย แต่นี่ไม่ใช่ขอทานจริง แต่ลักษณะการอย่างนี้ มันไม่ใช่ขอทาน แต่เป็นวัฒนธรรมชั้นสูง ต่างจากขอทานมาก

ถ้าอาตมาไปบิณฑบาต ถูกจับแล้ว ทนายจำความไว้นะ ต้องไปแก้ให้อย่างนี้ ถึงจะไม่ติดคุก ถ้าไม่ อย่างนั้น ติดคุกน่ะ คุณลักษณะบิณฑบาตนี่ไม่ได้ขอนะ ผู้ไปบิณฑบาต ไม่ได้อยากได้นะ สูงสุดแล้ว ไม่ได้ไปอยากได้ ไม่ได้ไปเอา ผู้ที่อยากให้ ไม่เอาเสียด้วยซ้ำบางที บอก เอ้อ ไอ้นี่ไม่เอา คนนี้ ไม่สมควรจะรับทานของเขา เราเห็นแล้วว่าไม่สมควร จะไม่เอา แล้วก็ไม่ใช่จะไปด้วย อยากได้ สิ่งที่เราอยากได้ แหม พอเห็น โอ้โห เจ้านี้ ของดีโว้ย รี่ใส่เลย เดี๋ยวไปค่อยอ่านหนังสือ บิณฑบาตน่ะ แล้วกรรมกิริยาที่มีผู้รับ มีผู้ให้ มีผู้เสียสละ ทานกันอยู่นี่ เป็นกรรมกิริยา ของมนุษยชาติ ที่มีสังคมอันวิเศษ สังคมอันเกื้อกูลกันอยู่ แบ่งแจกกันอยู่ ทานกันอยู่

ทาน เป็นแชร์ชนิดวิเศษ แต่ละบ้าน ให้แค่ข้าวคนละทัพพี คนละช้อน แค่นั้นก็พอ แวะไป ๕ บ้าน ๘ บ้าน ๑๐ บ้าน เดี๋ยวก็พอฉันคนเดียว ไม่ต้องไปเปลืองหนักอยู่ที่ใครคนเดียว ลักษณะแชร์ เป็นอย่างนั้น ลักษณะแชร์ ถ้าใครเรียนแชร์มาก็จะรู้ วิธีแชร์นี่ ซึ่งมันสูงสุดด้วยวิธีการ อาตมา อธิบายไว้ใน บิณฑบาตนึ่พอสมควรน่ะ วิเศษ อย่างน้อยที่สุด คือ ลักษณะทาน ต้องให้มีอยู่ ในโลก เพราะฉะนั้น จะสูญเสียลักษณะนี้ไปไม่ได้ แล้วจะต้องเป็นคุณลักษณะที่ สมบูรณ์ด้วย

การบิณฑบาต จะต้องมีอยู่ ญาติโยมต้องพยายามรักษาวัฒนธรรม ประเพณี บิณฑบาตไว้ให้ดี สมณะ ภิกษุ พระ ก็ต้องบิณฑบาตให้ดี ให้เป็นผู้ที่ควรบิณฑบาตได้ คือ ผู้ที่ไม่มีทรัพย์ศฤงคาร ไม่มีเงินทอง เพราะฉะนั้น ตั้งแต่สามเณรขึ้นไป ชาตะ รูปะ ระชะตะ เป็นผู้ไม่มี เงินทองแล้ว ไม่ใช้เงิน ใช้ทองแล้ว ไม่มีเงินของตัวเองจริงๆ ไม่ใช่จะมีเงินไปแลกเปลี่ยนอะไรต่ออะไร กินอยู่ ไม่ได้ ไม่มีเงินซื้อข้าวกินแล้ว ไม่มีเงินไปแลกเปลี่ยนอะไรกินแล้ว ไม่มีจริงๆ ไม่มีเงิน ไม่รับเงิน สมัยนี้ มันเงินเป็นหลัก สมัยพระพุทธเจ้า ไม่มีเงินเป็นหลัก ไม่ได้เน้นเท่าไหร่หรอก สมัยนี้ต้องเน้น ไม่มีเงิน ผู้ที่มีสิทธิ์บิณฑบาต ผู้ใดยังใช้เงินใช้ทองอยู่ บิณฑบาต ยิ่งไปซื้อกิน อย่างหน้าตาเฉยเลยนี่นะ พระเอาเงินไปซื้อกินนี่นะ พวกนี้บาปมหาศาลเลย ยิ่งกว่า ก้อนเหล็ก ทองแดงเผาไฟ บาปมหาศาล แต่เขาไม่รู้ เขาไม่รู้ เพราะฉะนั้น เป็นการเอาเปรียบ เงินให้คนอื่น เขามาให้ จะไปหากิน เฉย มองในแง่ของสังคมศาสตร์ ก็เป็นคนเอาเปรียบอยู่ดื้อๆ

มีอย่างที่ไหน งานก็ไม่ทำ หรือจะทำก็ตามแต่เถอะ ได้มาเป็นอันการเอาเปรียบอย่างนี้ แล้วก็มาเอา มาใช้กิน หรือเลี้ยงชีวิตของตน โดยที่ตนเองไม่มีอะไรแลกเปลี่ยน ไม่มีอะไรเป็น ประโยชน์คุณค่า แค่นี้ มันก็เป็นภัยแก่สังคมแล้ว มันก็เป็นคนเลวในสังคมแล้ว คุณจะมาเลี่ยง มาบอกว่า ฉันนั่ง ไม่ไปรบกวนใคร ไม่ไปวุ่นใคร ฉันนั่งสงบ ฤาษีสอน พระพุทธเจ้าไม่สอน เพราะพระพุทธเจ้า รู้จักสัจธรรมที่ลึกซึ้ง ที่จะไม่ก่อบาปก่อเวร ก่อหนี้ให้ตัวเอง เพราะได้แต่นั่ง หลับหูหลับตา สะกดจิตอยู่ ไม่อะไร สอนก็ไม่สอน อยู่ในป่าช้า ใครจะมาหาก็ไม่พูด แล้วหลง นิยมกันนะ พระมุดอยู่ในป่าช้า ใครมานี่ไม่เอา ไม่รับ แล้วไม่เอาอะไรต่ออะไร ทำเป็นไม่เอา ด้วยนะ แต่ใครมาเอา กินก็กินของเขาอยู่อย่างนั้นแหละ ใช้ของเขาอยู่ หนักแผ่นดินอยู่ อย่างนั้น แหละ ไม่มีประโยชน์ คุณค่าอะไร ทั้งๆที่คนที่มีสมรรถภาพ มีสมรรถภาพ มีความสามารถ ที่จะสร้างสรรอะไรต่ออะไรได้ แต่เสร็จแล้ว ไม่ได้เรื่อง

อาตมาถึงบอกว่า แม้แต่จะเป็นสิกขมาต ก็ต้องมาปฏิบัติ ถ้าจะบิณฑบาต ก็ต้องปฏิบัติศีล ๑๐ ให้จริง ไม่มีเงิน ไม่มีทรัพย์ศฤงคาร เพราะฉะนั้นให้เซ็นออก แม้แต่อสังหาริมทรัพย์ พวกเรา ตั้งแต่มาขั้นเณร ขั้นสิกขมาต ศีล ๑๐ มีที่ดิน มีที่นา มีอสังหาริมทรัพย์ มีบ้าน มีเรือน มีอะไร เอาออก เพชรนิลจินดาอะไรสละออกให้ผู้อื่น เซ็นออกให้ผู้อื่น แม้แต่ในนิติกรรม ต้องพยายาม เอาออก มีเหมือนกันบางคนยังไม่ออก ตรงที่ว่ามันเป็นวิบากน่ะ มันยังคาอยู่แก่ใจนี่ ไม่ได้ติดใจ จริงๆ ถ้ายังไม่ได้เซ็นออก มันมีอยู่บ้าง อันนี้ก็ใจบริสุทธิ์ ก็ไม่เป็นไรน่ะ ด้วยนิติกรรม ด้วยบัญญัติ ก็ไม่ได้เซ็นออก แต่มันจำเป็นมีบ้างเหมือนกัน แต่ต้องเอาออกได้ ผู้ใดเอาออกได้ ไม่มีวิบากข้อนี้ จริงละก็ อย่าไปคา ไปค้างไว้ พอได้เซ็นออกหมด เพราะฉะนั้น พวกเรานี่ มาตัวล่อนจ้อน ไม่มีทรัพย์อะไรมาน่ะ เอาเซ็นออกให้หมด มาแต่ตัวกับหัวใจที่ดีๆ มา มาบวชกัน แล้วก็ปฏิบัติตน ให้อยู่ให้ได้ อยู่ให้ได้โดยที่บริสุทธิ์สะอาด ไม่มีทรัพย์ศฤงคาร

เพราะฉะนั้น คุณจะไปบิณฑบาต เชิญ แล้วบิณฑบาตต้องฝึกหัดให้ดี ต้องบิณฑบาตให้มี อานิสงส์ อย่าบิณฑบาตให้เป็นบาป บิณฑบาตให้เป็น ยิ่งไปบิณฑบาตนี่ไปโปรดสัตว์ ใครเห็น บิณฑบาต คนที่บิณฑบาตเห็นเป็นพระไปเดินบิณฑบาต เท่านั้น โอ้โฮ ไม่เคยอยากที่จะใส่บาตร

เขาก็อยากใส่บาตรเลย เราทำได้ แต่เดี๋ยวนี้ ชักจะไม่ค่อยเข้าท่าแล้ว เห็นแล้วเกือบจะวิ่งหนีแล้ว แต่ก่อนนี้ พวกเราเดินบิณฑบาตอะไรต่ออะไรนี่ โอ้โฮ เรียบร้อย สุขุม ดีงาม ใครเห็นใคร ก็... คนที่ศรัทธาเลื่อมใส จากแต่แค่เห็นสภาพบิณฑบาตของพวกเรานี่ ตั้งแต่แรก แต่เริ่มนี่ มีมาเยอะเลย โอ้โห น่าเลื่อมใส สภาพเดี๋ยวนี้ ง่อกๆแง่กๆ ไม่สุขุม ไม่สำรวม ไม่อะไร นั่นเป็น เบื้องต้น ที่ความสุขุมสำรวม ด้วยการสังวร สำรวม สุขุม เรียบร้อยดีนี่ เบื้องต้น คนไหนๆ ก็เข้าใจง่าย เป็นสามัญ เราก็ทรงสภาพนั้นให้ดีก็แล้วกัน เป็นผู้ทรงสภาพเรียบร้อย สุขุม ไม่รีบร้อน ไม่ลุกลี้ลุกลน ไม่ปรารถนาอยากใคร่ ยิ้มแย้ม เบิกบาน เอาละ ไม่ใช่เวลาอธิบายเรื่อง บิณฑบาตน่ะ เดี๋ยวจะยาวจนจบชั่วโมงหนึ่งแล้ว เพราะว่า เขียนกันเป็นเล่มหนังสือ นี่บิณฑบาตน่ะ

สรุปแล้ว ก็คือทาน ต้องมีคุณลักษณะ มีรูปแบบของทาน จึงเป็นเรื่องวิเศษ เรื่องบิณฑบาตนี่ สุดท้าย คนจะมาทานทั้งนั้น มาให้ เกิดมานี่ มาเป็นผู้ที่จะให้ แล้วก็ต้องเอาสิ่งที่เป็นเรา เป็นของเรา เป็นทุนของเราให้ ให้วัตถุไปหมด แล้ว เหลือแรงงานกับความรู้ ก็เอาความรู้ และ แรงงานนี่ สร้างสรรเป็นผลผลิต แล้วก็ยิ่งให้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ไม่ต้องไปค้าง ไปเก็บไว้ โดยหลัก เศรษฐศาสตร์ อย่าไปค้างไปคา ไปกักไปตุนไว้ ยิ่งสะพัดสู่มือ สู่มือผู้ที่ที่จะได้รับ เป็นประโยชน์ ทันทีทันใด ได้ไวเท่าใด ยิ่งเป็นคุณค่า มีค่าสูงสุด ตามหลักเศรษฐศาสตร์ พอสร้างขึ้นมาได้แล้ว ก็รีบหาทางสะพัด ไม่ใช่ได้แล้ว มากักตุนไว้ ดีไม่ดี ก็ไปแลกเป็นตั๋วเงินมาเป็นแบ็งก์โน๊ต เป็นธนบัตร เอาไว้ ไม่ได้เรื่องแล้ว สะพัดออกไปให้หมด อย่าให้เหลือเป็นของเราอยู่เลย นั่นยิ่งวิเศษ

ชาวอโศกเราจะมาทำอย่างนี้ จะมาเป็นอย่างนี้ มาเป็นคนสร้างสรรได้เก่ง มีความรู้ ความสามารถ มีสมรรถภาพ เสร็จแล้วก็แจกจ่าย เจือจานไปเก่ง อย่างมีปัญญาด้วย ทานต้องมี ปัญญา ทานที่ไม่มีปัญญา ไม่มีอานิสงส์สูง ไม่มีผลสูง ทานต้องมีปัญญา ควรทานใคร ควรทานเมื่อไหร่ อย่างไร ทาน แจกจ่าย สะพัดเกื้อกูลกัน นี่พิสูจน์ในหมู่เรา แล้วก็กว้างออกไปสู่ ข้างนอก อย่าเพิ่งอ้าขาผวาปีก แหม จะทานให้ไปข้างนอกให้มากๆ ใหญ่ๆ ก่อน พวกเรา หลายคน แหม จะทำไปสู่ข้างนอก ข้างนอกเขาจะมองเราว่า พวกนี้มันทำแต่เพื่อพวกมัน ไม่เป็นไร เขาว่าอย่างนั้นก่อนไม่เป็นไร เกื้อกูลกันพวกเรา ให้มีบทบาท ศีลจารีตประเพณี วัฒนธรรม ที่ดี อย่างดี แล้วเราก็สะพัดสู่ไปนอก ข้างนอกเราก็ทำอยู่

อาตมาพาทำอยู่ ไม่ใช่เอาแต่ข้างใน ข้างนอก เพื่อที่จะถึงมือแก่เขา ทานไปตามลำดับ ที่เราจะเสียสละได้ เท่าที่เราทำได้ ค่อยๆกระจายออกไป ตอนนี้มีสัมมาอาชีพต่างๆนานา เพื่อที่จะเผื่อแผ่การทาน ในลักษณะหลายๆอย่าง

ทานตั้งแต่หนังสือ พิมพ์แจกไปให้แก่เขาข้างนอกมาก พวกเรายังอ่านมั่ง ไม่อ่านมั่ง อาตมาว่า ข้างนอกจะอ่านหนังสือมากกว่าพวกข้างในมั้ง พวกเรานี่ทำ โดยเฉพาะพวกที่ทำหนังสือเอง ไม่ค่อยอ่าน มันน่าเคาะกบาล แหม ใกล้เกลือกินด่าง แล้วก็ไปส่งไปให้เขาอ่านจังเลย โอ๊ย ส่งจังเลยนะ ผ่านมือทั้งนั้นเลยนะ แต่ตัวเองไม่อ่าน อ่านแต่หน้าปก รู้ว่าเล่มไหนๆ แล้วก็ส่ง ให้เขา ธรรมปฏิกรรมอย่างนี้เป็นต้น ไม่รู้ว่าอ่านหรือเปล่า พวกเราก็พยายามจะทาน อย่างนี้เป็นต้น

หนังสือนี้เป็นธรรมทานนะ ในเนื้อหาเป็นธรรมทาน พวกเราก็อุดหนุนกัน เข้าใจลักษณะ และ เป็นระบบ มาทำทาน ให้เงินแก่มูลนิธิ ทำทานแก่มูลนิธิ แล้วมูลนิธิก็เอามาเป็นทุนพิมพ์หนังสือ แจกได้ เป็นระบบบุญนิยม เพราะฉะนั้น อาตมาว่าการค้าขาย หรือการสร้างจัด แจกจ่าย จำหน่าย สินค้า หรือผลผลิต เรื่องหนังสือนี่เป็นบุญนิยม ในการค้าขายชนิดระดับ หนึ่ง ฟรี มีเงินเข้ากองบุญ ไม่เป็นหนี้ ไม่มีดอกเบี้ย ส่วนอื่นๆ ก็พยายามสะพัด การขายอาหาร ชมร. ขายอาหารมังสวิรัติ พลังบุญก็ดี ฟ้าอภัยก็จะทำวิธีการเป็นโรงงานผลิตหนังสือ รับจ้างพิมพ์ อะไรก็ตาม อะไรนี่ กำลังทำการค้า การขาย หรือการสร้าง ทำโรงสี ทำโน่นทำนี่

ต่อไปทำโรงพยาบาล ทำโรงเรียน ทำโน่นทำนี่อะไร ก็จะเป็นระบบ เป็นจารีต เป็นประเพณี เป็นวัฒนธรรม ที่เราจะเอื้อเอื้อมไปสู่ผู้ที่กว้างขึ้นตามลำดับ เราก็ได้การเอื้อเอื้อมเกื้อกูลด้วย และ ออกไปสู่ข้างนอก ไปตามลำดับ ไม่ใช่ แหม ใจแรง ใจไว จะช่วยคนอื่นหมดเนื้อหมดตัว อย่างโน้น อย่างนี้ไม่เหลือหรอก ตาย ตาย แล้วไม่เป็นระบบที่สมบูรณ์ด้วย ลึกซึ้งซับซ้อน หลายชั้น นะ ไม่ใช่งานง่าย เป็นสัมมาอาชีพบุญนิยมชนิดพิเศษ อาตมาขอพูดอีกว่า พวกเรา อย่ารีบตาย ไว้ดู อาตมาว่า มันน่าโชว์นะ ไว้ดูเถอะ ระบบ เมื่อวานนี้ เรียกกันระบบ สหสังคมเสรีบุญนิยม ก็เรียก สหเสรีสังคมบุญนิยม เอาสังคมขึ้นก่อน สหสังคมเสรีบุญนิยม เอาสหสังคมเสรีบุญนิยม เพราะสังคมนี่เป็นรอบหยาบ เสรีเป็นรอบลึก เสรีนี่ลึกซึ้งกว่า สังคมมันรอบหยาบ ใครก็รู้ว่าสังคมคือส่วนรวม ความกว้าง แนวระนาบ ส่วนเสรี เป็น แนวดิ่ง แนวลึก สหสังคมเสรีบุญนิยม ต้องให้เป็นลำดับอย่างนั้นน่ะ เราจะทำให้มันเกิดจริงๆ

อย่าเพิ่งรีบตาย ไว้ดูระบบสหสังคมเสรีบุญนิยม ซิ มันเหนือชั้นกว่าระบบสังคมนิยม เหนือชั้น กว่า ระบบเสรีนิยมธรรมดาโลกๆเขา หรือทุนนิยม บริโภคนิยมนี่ ระบบที่เขามีอยู่ในโลก ที่เขาค้นพบกันแล้ว เขาก็ใช้มาแล้ว อาตมาเห็นว่าล้มเหลวทุกระบบ ระบบสหสังคมเสรีบุญนิยม ซึ่งเป็นระบบที่ พระพุทธเจ้าสอน อาตมาก็เอาจากที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมานี่แหละ มีบารมี สร้างบารมี ๑๐ ทัศ นี่แหละ ให้ลึกซึ้งขึ้นเป็น อุปบารมี เป็นปรมัตถบารมี ปรมัตถบารมี เป็นอย่างไร ขอขยายอีกนิดหนึ่ง

แหม ทานนี่ก็เลยขยายกันใหญ่ ทานบารมีเป็นปรมัตถบารมี ก็คือทาน จนกระทั่งไม่เอาอะไรเลย แล้วได้ทาน ทุกคน เพราะฉะนั้น ปรมัตถ์ แม้ศีลก็เป็นศีล เป็นตัวเองหมดแล้ว เป็นอัตโนมัติ มีปรมัตถบารมี ต้องไปถึงขั้นปรมัตถบารมี เป็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ปรมัตถบารมี ไปจนกระทั่ง ตายก่อน อุปบารมี ค่อยๆตายไป อธิบายเป็นรูปธรรม จะต้องไปเกิดเป็นชาตินั้น ต้องเกิดเป็นชาตินี้ เป็นชาติใหญ่ๆ สุดท้าย จะเป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นชาติอุปบารมี ปรมัตถบารมี ในระดับโน้น ระดับนี้อะไร อธิบายไปถูกเหมือนกัน แต่หยาบน่ะ

ทีนี้ละเอียดขึ้นมา มันหมายถึงลักษณะถึงนามธรรม ทานนี่เป็นจริงๆทั้งรูปและนามจิตให้หมด ปรมัตถบารมี ไม่มีอะไรแลกเปลี่ยนนกลับคืน ไม่มีบูมเมอแรง ศีลก็เป็นศีลที่ไม่ใช่ ปฏิบัติอยู่ เป็นศีลอันบริบูรณ์ เป็นอเสขศีล ศีลที่จบกิจแล้ว อเสขศีลเป็นปาริสุทธิศีล ศีลนี่ มีศีลทำให้ ไปเกิดอธิศีล เกิดอริยกันตศีล จนถึงขั้นปาริสุทธิศีล และสุดท้าย ถึงขั้นอเสขศีล เป็นผู้มีศีล อย่างนั้นสมบูรณ์แล้วเป็นปรมัตถ์ เนกขัมมะ ก็สมบูรณ์ทั้งหมดเลย

ออกจากภพ แม้กระทั่งวิภวภพ ปัญญาก็ถึงขั้นวิมุติญาณทัสสนะ ทั้งหมดแหละ ปรมัตถบารมี มีวิริยะ ก็จนกระทั่งไม่ต้องเพียรหรอก มันเป็นเอง ตถตา มันเพียรเป็นคนขยันหมั่นเพียรอยู่ โดยอัตโนมัติ แล้วไม่ฝืด ไม่ฝืน ไม่ทุกข์ ขยัน เมื่อไหร่ก็ไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์จริงๆ เป็นวิริยะที่เป็น ปรมัตถบารมี ขันติก็ไม่ต้องทน ใครก็เห็นว่า โอ้โห นี่ คงอดทนแย่เลย มากินข้าวมื้อเดียว คงอดทนแย่เลย ไม่ได้ทนเลย เฉยๆ สบายๆ ไม่อด ไม่ทน อดได้ ทนได้ โดยไม่ต้องอด ไม่ต้องทน ฝึกหัดอยู่ ก็ต้องอด ก็ต้องทนเอาก่อน จนกระทั่ง ได้โดยไม่ต้องรู้สึกอดทน ขันติถึงขนาดนั้น สัจจะเป็นจริง ตัวมันเองเลย อธิษฐานก็คือฐานที่ยิ่ง เป็นฐานแท้ มีฐานะอันสมฐานะ ฐานะอรหันต์ ก็สมฐานะอรหันต์แท้ เป็นอธิฐานะ ฐานะอันยิ่งสมบูรณ์สุดแล้ว ไม่ต้องตั้งใจ ใจมันตั้ง แล้ว มันตั้งตรงตั้งเอง เพราะเราตั้ง จนกระทั่งแข็งแรง เป็นจริง อธิษฐาน เมตตา ก็ถึงขั้นจริง อุเบกขาก็ถึงขั้นจริง ปรมัตถบารมี ต้องได้อย่างนั้นจริงๆ พิสูจน์ ๆ

อุปบารมี ก็คือเจริญขึ้นหลายรอบ ซ้อนขึ้นๆซ้อนขึ้น อุปะ แปลว่า เข้าใกล้ เข้าใกล้ความสูงสุด เข้าใกล้เป้าหมาย เข้าไปเรื่อยๆ อุปะมาก เรื่อยๆๆๆ จนกระทั่งถึงปรมัตถ์สุด นี่สั่งสมบารมี ทำรอบแรกก่อน ทำไปตามเนื้อหาที่เรารู้ตามความหมาย สุดท้ายก็บริบูรณ์

เพราะฉะนั้น จะปฏิบัติบารมี ๑๐ ทัศ ปฏิบัติให้ได้ผลอย่างไรมา สุดท้ายก็เพื่อมาเป็นผู้มีทาน เป็นเอก เพราะฉะนั้น ปราชญ์จึงอนุโมทนาทาน เพรา การอนุโมทนาทาน จึงมีความสุขในปรโลก ในปรโลกจริงๆ

เอาละ อีกอันที่อยู่ท้าย อาตมาได้อธิบายไปก่อนแล้วว่า โสดาปัตติผล ประเสริฐกว่าความเป็น พระราชาเอกในแผ่นดิน กว่าความไปสู่สวรรค์ และกว่าความเป็นอธิบดีในโลกทั้งปวง อาตมา ได้เอามาอธิบายก่อนแล้วนะ ก็อธิบายสรุปอีกนิดหน่อยว่า โสดาปัตติผล แม้แค่อริยคุณเบื้องต้น โสดาปัตติผล เป็นอริยคุณเบื้องต้น สกทาคามีต่อไป แล้วก็อนาคามี แล้วก็อรหันต์น่ะ

แม้แค่เบื้องต้นก็ประเสริฐกว่าจะเป็นพระราชาเอกในแผ่นดิน ประเสริฐกว่าจะเป็นพระราชาเอก ในแผ่นดิน ก็หมายความว่าเ ป็นยอดจอมจักรพรรดิ์ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ที่อธิบายไปแล้ว หรือ อะไรอีก ในสำนวนหนึ่ง เอกราชทั่วทั้งแผ่นดิน หมายความว่า เป็นใหญ่ เอกราชอิสรเสรี ดีกว่า เอกราชทั่วทั้งแผ่นดิน จะแปลความพระบาลีนั้น เป็นภาษาไทย ในความหมายอย่างนั้นก็ได้ อย่างที่ อธิบายไปแล้ว

เราสรุปง่ายๆ ก็ว่า อริยคุณอย่างนี้ มีค่ายิ่งกว่าคนในโลก เขาจะได้อะไรก็แล้วแต่ จะได้ใน ลักษณะไหนก็แล้วแต่ เป็นยอดเยี่ยมแห่งเจ้าแผ่นดินใหญ่ หรือว่า เหนือชั้นเป็นเอกราช ในแผ่นดิน อิสรเสรีใหญ่ อื้อฮือ เรียกว่ายิ่งใหญ่ ไม่มีใครจะมารบกวน มาลบหลู่ดูถูก ข่มเหง อะไรได้ทั้งนั้นเลย เอกราชในแผ่นดิน ขนาดไหนก็ตาม ยังสู้อริยคุณ แม้โสดาปัตติผลไม่ได้ กว่าความไปสู่สวรรค์ และ กว่าความเป็นอธิบดีในโลกทั้งปวง เพราะฉะนั้น ในโลกอื่นๆ โลกทั้งปวง ที่ไม่ใช่ปรโลกที่พระพุทธเจ้าหมายนี้ โสดาปัตติผลเป็นอีกโลกหนึ่ง คนอีกโลกหนึ่ง มันยิ่ง ใหญ่กว่าโลกใดๆ ที่เขาจะได้เป็นยิ่ง... สรุปความอย่างนั้นนะ

เอ้า ทีนี้ มาทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประโยชน์ ๔ นี้
๑.อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น
๒.อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาความดี
๓.กัลยาณมิตตตา ความมีมิตรดี
๔.สมชีวิตา ความเลี้ยงชีพอันประเสริฐ

ที่เอาทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ทิฏฐมิกัตถะ ๔ ที่จริงนี่ มันหมายความว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ น่ะ ประโยชน์ก็คืออัตถะ ทิฏฐะก็คือปัจจุบัน ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่างนี้ เขาเอามาอธิบาย เป็นแบบโลกๆ คืออาตมาอธิบายไปบ่อยแล้ว วันนี้จะไม่ซ้ำๆ ย้ำแยะอะไรมากมายนักว่า การขยัน อุฏฐานสัมปทานั้น ไม่ว่าจะเป็นคนโลก หรือคนโลกุตระ มันก็ต้องมีคุณธรรมอันนี้ จึงจะเรียกว่า มีอัตถะ มีสาระ มีประโยชน์ แล้วยิ่งทำให้เป็นปัจจุบันนี้เดี๋ยวนี้ ก็เป็นคนขยันอยู่ เพราะฉะนั้น ศาสนาของพระพุทธเจ้า จึงไม่ใช่ศาสนาขี้เกียจ เอาแต่งอมืองอเท้า หลบๆเลี่ยงๆ ไม่ใช่ว่า อธิบาย ประโยชน์โลกนี้ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือปัจจุบัน ประโยชน์โลกนี้ สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือประโยชน์โลกหน้า ตายแล้วก็จะได้ประโยชน์ ถ้าปฏิบัติแล้ว จะได้ประโยชน์โลกนี้ ก็คือขยันเท่านั้น มันไม่ใช่เท่านั้นน่ะ มันหมายลึกซึ้งกว่านั้นว่า

ถ้าเราถึงขั้น สัมปทา เข้าถึงความขยัน แล้ว มันเป็นประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ในคำว่าโลก ในโลกียะเขานี่ คนขยันก็มีประโยชน์แน่ โลกุตระก็มีประโยชน์แน่ ปัจจุบันที่บอกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ ต้องมีอุฏฐานสัมปทาอยู่ด้วย จึงจะเป็นสัมปรายิกัตถประโยชน์ ถ้าไม่มี ประโยชน์ ๔ นี้ สัมปรายิกัตถประโยชน์อย่าหวัง... ขยัน อาตมาแปลสั้นๆ ว่า

อุฏฐาน แปลว่า ขยัน
อารักขสัมปทา แปลว่า สร้างสรร
กัลยาณมิตตตา แปลว่า สร้างมิตร
สมชีวิตา แปลว่า ชีวิตประเสริฐ เลี้ยงชีวิตชอบ เป็นชีวิตประเสริฐ แล้ว มีสัมมาอาชีพ มีอะไร ครบครันทุกอย่าง มีกรรมการงาน มีอะไรทุกอย่าง เรียบร้อย

อารักขสัมปทา ถ้าจะว่าจริงๆ แล้วก็เหมือนกับบูรณะ รักษานี่ เหมือนบูรณะ ผู้ที่ทำให้เต็ม ทำให้เจริญ ทำให้สมบูรณ์อยู่ อย่าให้พร่อง เรียกว่ารักษา ไม่ได้แปลว่า สะสม แล้วเขาเอาไป แปลว่า ต้องรู้จักกระเหม็ด กระแหม่ รู้จักรักษา รู้จักเก็บหอมรอมริบแน่ะ..... ความหมายตื้นๆ ก็ถูก แต่จะเอาน่ะ อธิบายจะเอาน่ะ ถ้าสร้างสรร ถ้าเราก็ยังไม่เป็น ก็ทำ แม้แต่จะค่อยๆ ละเล็ก ละน้อยไป...ก็ดี ถ้ามันยังไม่มีทุน ก็ต้องใช้ทุนเก็บหอมรอมริบ มาเป็นทุนบ้าง มีวิธีการเสริมหนุน ทุนมาขึ้นมาแล้ว ก็ได้สร้างสรร สร้างสรรใหญ่ขึ้น ก็เป็นวิธีการ อธิบายอย่างนั้น ก็ถูกนิดหนึ่ง แต่จริงๆแล้ว อารักขสัมปทา ไม่ได้แปลว่า รักษาเอาไว้ ไม่ใช่ว่า หอบเอาไว้ อย่าให้ออกไป อย่าให้ไป ให้เป็นของผู้อื่น ตัวเองจะต้องกอบโกยเอาไว้ ถ้าแปลรักษาว่า จะต้องกอบโกยเอาไว้ แล้ว ก็หมอรักษาไข้ให้แก่คุณ ก็คือ คุณให้มีไข้อยู่ที่คุณ อย่าหายไป สะสมไข้ไว้เยอะๆ หมอรักษาไข้ ใช่ไหม ใช่ไหม เอ้า รักษา แปลว่าเก็บเอาไว้นี่ สะสมมากๆนี่ ใช่ไหม ใช่ไหม ใช่เลย เห็นไหม เห็นไหม ใช่เลย เพราะฉะนั้น ดีแล้ว ไปให้หมอรักษานี่ จะมีไข้เยอะๆ สะสมกระเหม็ด กระแหม่ รักษาไว้ให้เป็นกอบเป็นกำโตๆ จะได้ ร่ำรวย ร่ำรวยไข้ ร่ำรวยโรคภัย ทำไมไม่ให้หมอ รักษา เป็นอย่างนั้นเลยนะ มันไปแปลให้มันเพี้ยน รักษาแปลว่า ทำให้เจริญ ทำให้ดี
เพราะฉะนั้น จะเจริญต้องเข้าใจทิศทางที่เจริญรักษา

แม้แต่ทาน ให้ออกไป ไม่ใช่เก็บเอาไว้ สะสมเอาไว้ ก็เจริญ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสร้างสรร อาตมาจึงแปล อารักขสัมปทา แปลว่าสร้างสรร เป็นผู้สร้างสรร บอกแล้วว่า สร้างสรร จะต้อง มีทุนหมุนเสริมทุนขึ้นมาบ้าง ให้มีกองทุนที่จะสร้างสรรได้ใหญ่โตขึ้นมาบ้าง ตามลักษณะ เสร็จแล้ว เราก็สะพัดออก สะพัดออก ถูกหลักเศรษฐศาสตร์ ถูกหลักจริงจัง เพราะฉะนั้น มนุษย์ ที่สร้างสรร จะได้รู้จักเศรษฐศาสตร์ที่ดี แล้วไม่ขบถ ไม่ใช่กูรวย นักเศรษฐศาสตร์ก็กูรวย พรรคพวกกูรวย เสร็จแล้ว ไม่สะพัดออก สอนให้แต่ผู้อื่นสะพัดออก แล้วออกไปอย่าไปไหนนะ มาหากูนี่แหละ ดี นักเศรษฐศาสตร์ขบถจะเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ เราจริงใจเลยว่า การไม่มี การสละออก ยิ่งดี เพราะฉะนั้น การสร้างสรรที่ได้สร้างมาก แล้วได้สละออกมากๆๆๆ จนกระทั่ง ตัวเองเป็นคนจน เป็นคนไม่มีเลยได้ ตามหลักของโลกุตระที่อธิบายไปแล้ว เป็นสิ่งวิเศษที่สุด

นี่หลักของแม้แต่ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ก็อธิบายกันไม่ค่อยเข้าร่องเข้ารอย เป็นหัวใจเศรษฐี เศรษฐีก็เพี้ยน เศรษฐีคือผู้รวย รวยที่ไหน เศรษฐีคือผู้ประเสริฐ เรียกเพี้ยน ที่จริงกระฏุมพี กระฏุมพี พวกนั้นเขาเรียกหัวใจเศรษฐี ที่จริงเศรษฐีจริงๆนะ แต่เขาไม่ได้หมายความว่า คนจน นะ เศรษฐีนี่ คนจนนะ แต่เขาหมายถึงความเป็นผู้ร่ำรวย ที่จริงเขาหมายถึงหัวใจ กระฏุมพี เขาไม่ได้หมายถึง หัวใจเศรษฐีหรอกที่จริง เสร็จแล้วบอก นี่แหละคือหัวใจเศรษฐี ความจริง เขาหมายถึง หัวใจกระฏุมพี นี่เราจะได้ร่ำรวย เป็นผู้ร่ำรวย เป็นคนขยัน เป็นคนที่กระเหม็ด กระแหม่ สะสม รู้จักเก็บหอมรอมริบ รู้จักมีมากๆ เสร็จแล้วก็มีสร้างมิตรที่ดี มิตรที่ดีก็คือ พรรคพวก ที่จะช่วยกันโกย เฉลียวฉลาดที่จะเอาเปรียบได้มากๆ ก็ประมูลตัว ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจใด บริษัทใด สำนักงานใด ก็หาคนที่จะฉลาด จะทำประโยชน์รวย ประโยชน์ได้มากๆ มาให้แก่เรา จะได้รุ่งเรือง ก็คือ มีมากๆๆๆ นั่นคือ โลกีย์ธรรมดา

เพราะฉะนั้น ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ อย่างนั้น อธิบายอย่างโลกีย์ อธิบายอย่างคนโลกธรรมดา ไม่ได้อธิบายอย่างโลกุตรภูมิ ไม่ได้อธิบายอย่างคนโลกหน้า โลกที่อาตมาว่าเป็นของพระพุทธเจ้า ที่ท่านจะต้องทำอย่างนี้ เพราะฉะนั้น สร้างมิตร ก็เป็นมิตรอย่างพวกเรา มิตรที่จะมาสร้างสรร แล้วก็เสียสละ ขยัน มีความรู้ มีความสามารถ มีสมรรถภาพ แล้วก็ยิ่งเป็นผู้ที่จิตใจเมตตาเกื้อกูล เอื้อเฟื้อ ทาน บริจาคได้ดี แล้วอยู่รอด อยู่ได้ แม้ที่สุด เรามีชีวิตอยู่ อย่างไม่ต้องมีเงินเลย มีอาชีพ ในระดับ ลาเภนะ ลาภัง นิชิคิงสนตา ไม่ต้องทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนอะไร ไม่ต้องมีเงิน ไม่ต้องมีทอง อยู่กันอย่างผู้ไม่มีเงินมีทอง

แม้แต่เป็นฆราวาส อาตมาก็พาทำอยู่ได้ มีชีวิตอยู่ได้ เอามากัน บางคนก็มาอายุมาก อายุน้อยก็มี บางราย มาตั้งแต่อายุยังไม่ ๒๐ แล้วอาตมาก็พาทำงานประเภทที่ไม่ต้องได้เงินได้ทอง แลกเปลี่ยน นี่ไปเลย อยู่ไป ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๕๐ ปี จนกระทั่งตาย มันจะอยู่ได้ไหม จะอยู่ได้ไหมนี่ คิดว่า ได้ไหม นี่เราจะมาพิสูจน์กันจริงๆ ถึงบอกว่าอย่ารีบตาย อย่ารีบตายนะ ดูจริงๆซิว่า ระบบ สหสังคมเสรีบุญนิยม หรือเรียกสั้นๆ ว่า ระบบบุญนิยมมันจะเป็นได้ไหม ทุกวันนี้ อาตมาเชื่อว่า เป็นได้ จนกระทั่ง เราจะเกิดความศรัทธาพละ เชื่อมั่น จนจะเกิดเชื่อมั่นได้ แล้วพึ่งกันได้ ไม่ต้องไปแต่งงานให้มีลูกมา แล้วก็ค่อยพึ่งลูก จะพึ่งลูก อกหักกันมาเท่าไหร่ แล้วน่ะ ไอ้ที่ไปมีลูกมาเพื่อพึ่ง แล้วจะพึ่งลูกนี่ มีระบบพึ่งลูก ระบบจะพึ่งลูก จริง มันก็เป็น สิ่งที่เป็นไปได้อันหนึ่ง แต่ลูกมันทำให้อกหักมานี่ มันเยอะแล้ว ไม่ต้องไปหวังแต่ลูกเท่านั้น นี่มีลูกทางธรรม ญาติธรรมนี่ อย่างนี้ ๆ อาตมามั่นใจว่า อาตมาจะพึ่งลูกของอาตมาได้ นี่ นั่งๆอยู่นี่ ลูกของอาตมา โอ้โฮ อย่าหาว่าตู่นะ ใครบอกว่า กูไม่ใช่ลูกมึง อาตมาก็ขออภัยนะ

ถ้าผู้ใดนั่งอยู่นี่ อาตมาพูดไปแล้วจะหาว่า อาตมาตู่เอา อาตมาก็ว่าเป็นลูกนะนี่ อาตมาพึ่งลูก

อ่านต่อหน้าถัดไป

:2312L.TAP