อาศัยอะไรไปนิพพาน
พระสูตร โดย สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๕
ณ พุทธสถาน สันติอโศก

เอ้า สำนึกดี ท่านผู้ยังใฝ่ใจในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ทั้งหลาย

วันนี้ อาตมาก็ยังเอาพระไตรปิฎกเล่ม ๒๔ อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ว่าด้วยหมวด ๑๐ นะ เอามาอ่านสูตรที่ควรจะอธิบาย ให้พวกเราได้ฟังกันไป ประกอบกันน่ะ แล้วจะได้ตรวจสอบด้วย สูตรพระพุทธเจ้า ที่ตรัสไว้ภาษาว่าอย่างนี้ ความหมายอย่างนี้ ที่ท่านตรัสไว้ไม่ค่อยยาวหรอก คำอธิบายของท่าน ไม่ค่อยยาวเท่าไหร่ อาตมาก็มาขยายความ คุณก็ฟังดู ในภาษาที่อาตมา ขยายความนั้น มันเป็นการขยายความอย่างโมเมหรือเปล่า หรือว่าขยายความก็มีเนื้อหา สารัตถะ ที่แท้จริง ที่คุณใช้ปัญญาของคุณนั่นแหละ แต่ละคนๆฟังตามไป ซึ่งเวลาฟังจริงๆแล้ว ผู้ปฏิบัติธรรม นี่ ผู้ได้ปฏิบัติมาฟังอาตมาอธิบายธรรมะมาเรื่อยๆ แล้วก็ได้ปฏิบัติตามมาเรื่อย เมื่อเอาหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เอาพระไตรปิฎก เอาหลักฐานต่างๆ พวกนี้มาไว้ มาตรวจสอบ ฟังดูแล้ว คุณจะรู้สึกเลยว่า มันฟังได้ดี มันฟังแล้วมันรู้สึกว่า เออ มันยืนยัน แล้วมันก็มีเนื้อหาสภาวะอะไรต่ออะไรนี่ ยิ่งดูยิ่งรู้สึกว่า มันหลากหลาย แล้วมันก็ลึกซึ้ง

ดังที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธรรมะของท่านนี่ลึกซึ้ง คัมภีรา รู้ตามได้ยาก เห็นตามได้ยาก ทุททสา รู้ตามได้ยาก ทุรนุโพธา มันสงบ ซึ่งอาตมาก็ได้ขยายความเหล่าที่ให้ฟังแล้ว สงบ มันสงบอย่างไร มันเป็นความสงบ ไม่ได้สงบแบบซื่อบื้อ สงบแบบฤาษี คือสงบแบบไม่คิด สงบแบบไม่เห็นไม่รู้ สงบแบบเงียบๆ สงบแบบนิ่ง แบบหยุดมะลื่อทื่อ มันไม่ใช่สงบอย่างนั้น สันตาของพระพุทธเจ้า มันไม่ใช่ความสงบมิติเดียวตื้นๆ ซึ่งความเข้าใจของคน เข้าใจกันตื้นๆ ได้ทุกคนแหละ สงบ ๆ ก็เข้าใจเลย อ้อ ก็คงจะเงียบๆละนะ สงบก็คือจะนิ่งๆ สงบก็คือ เงียบกริบ หยุด ไม่เปิดปาก ไม่อะไร สงบไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีอะไรหมด เลยสงบ สงบแบบนั้น มะลื่อทื่อ ซึ่งไม่ใช่ของพุทธ

ถ้าจะบอกว่าผู้สงบ สงบทางตาก็ไม่ยากอะไร เอาไอ้เหล็กแหลมมาแทงตาให้บอดซะ มันก็สงบแล้ว มันไม่เห็นแสงอะไร ก็สงบแล้ว สงบทางเสียงก็เอาอะไรมาทิ่มหูซะ ให้มันทะลุ ทะลวงใช้ไม่ได้ หูก็หนวกไป สงบแล้ว ไม่ได้ยินเสียง ถ้าสงบภาษาตื้นๆ แบบนั้นนะ มันไม่ใช่ ความหมายของสันตา ของพระพุทธเจ้าอย่างที่ว่า

พระพุทธเจ้านั้นสงบอย่างที่ไม่เป็นภัย ไม่เป็นพิษ สงบอย่างมีประโยชน์คุณค่า สงบอย่างมี ความรู้รอบ สงบอย่างมีความเบิกบานร่าเริง สงบอย่างสว่าง สงบอย่างมีบทบาท ยิ่งสงบเท่าไหร่ ยิ่งเร็ว ยิ่งแรง ประหลาด ประหลาดนะ ถ้าคุณมีสภาวะรองรับ โดยเฉพาะ ตัวเรานี่แหละ ยิ่งมีสภาวะจริงนะ ว่าเราสงบ มันยิ่งเร็ว มันยิ่งแรง มันยิ่งรู้ สงบของพระพุทธเจ้า ยิ่งเร็ว ยิ่งแรง ยิ่งรู้ ยิ่งแข็งแรงด้วย นอกจากจะเร็ว จะแรงแล้ว ยังแข็งแรงอีก จะรู้ รู้รอบ รู้ทั่ว ไม่ใช่สงบซื่อบื้อ แล้วก็จะมีปฏิกิริยาได้ด้วย มีองค์ประกอบปฏิกิริยา มีพฤติกรรมร่วมกัน สงบไม่ใช่อยู่นิ่งๆ แต่สงบ มีปฏิกิริยาสงบ มีบทบาท มีลีลา สงบมีการสร้างสรร สงบอย่างมีคุณค่าประโยชน์ ไปในทาง รังสรรค์ ที่เป็นกุศล ที่เรียบร้อย

อาตมาแปลสันตะ สันตา สันตินี่ว่า เรียบร้อย ราบรื่น ง่ายงาม อาตมายังจำสำนวนตัวเองได้เลย เรียบร้อย ราบรื่น ง่ายงาม ทั้งง่ายทั้งงาม ทั้งเรียบร้อย ทั้งราบรื่น คล่องน่ะ สันติของพระพุทธเจ้า มันไม่ได้หมายสันติตื้นๆ อย่างที่กล่าวแล้ว สันติก็คือหยุด สงบ นิ่ง อย่างที่พูดแล้วนะ พูดอีก ซ้ำอีกน่ะ หยุดไม่พูด ไม่เห็น ไม่รู้ อยู่เฉยๆ เงียบ แข็งทื่อไปโน่นเลย ซึ่งมันก็เข้าใจล่ะนะ มันไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไมมีรส ไม่มีรูป ไม่มีอะไรทั้งนั้นแหละ สงบของเขา ไม่เกี่ยว ไม่เกาะ อะไรเลยจริงๆเลย ไม่มีอะไรรอบด้าน ไม่มีบทบาท ไม่มีลีลา ไม่มีพฤติกรรมอะไรทั้งนั้นแหละ สงบอย่างนั้นน่ะ เราก็เข้าใจสงบอย่างนั้น แต่มันไม่มีประโยชน์มาก มันไม่มีคุณค่า แล้วมันก็มี ความลึกซึ้งอะไร

เพราะฉะนั้น การเป็นคนที่สงบนี่ โอ มันมีนัยที่ลึกซึ้งมาก เป็นผู้ที่ได้ความสงบ สันตา ปณีตา มันประณีต สุขุมจริงๆ มันมีอะไรที่ละเอียดลออ ที่เราจะต้องศึกษากันจริงๆนะ ไม่ใช่เรื่องที่ จะด้นเดา อตักกาวจรา ไม่ใช่มาจะคะเนคำนวณ คะนึงเอา คาดคะเนเอาได้ ตามคิดตามนึก เอาเท่านั้น เป็นเรื่องที่นิปปุณา นิปปุณานี่ถึงขั้นละเอียด สุขุมขนาดนิพพานทีเดียวนะ นิปปุณา มันเป็นเรื่องซับซ้อนลึกซึ้งละเอียดลออ และหลากหลายในตัว แต่ก็มีองค์คุณธรรมดังที่กล่าว มาแต่ต้น เป็นการเป็นเรื่องสงบ เรื่องประณีตจริงๆ รู้ได้เฉพาะบัณฑิต แล้วก็เป็นบัณฑิตที่ต้อง ปฏิบัติธรรมะบรรลุธรรม ไม่ใช่บัณฑิตที่ไปสอบเอามาจากมหาวิทยาลัย บัณฑิตที่ไปสอบเอามา จากมหาวิทยาลัยนี่ จบโพสต์ด็อกเตอร์ หรือ ได้ด็อกเตอร์มาตั้งไม่รู้กี่ใบ ก็แล้วแต่ ก็ไม่ได้ หมายความว่า จะมามีความรู้ในเรื่องของศาสนาพระพุทธเจ้า ที่บอกว่า ธรรมะของท่านนี่ ที่ว่าลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ได้ยากนี่นะ

ลองฟังสูตรนี้ดู อาตมาเอา นาถกรณวรรค เสนาสนสูตร สูตรที่ว่าด้วยเสนาสนะ ก็หมายความ ว่าที่อยู่ สถานที่องค์ประกอบแวดล้อม รวมเป็นที่อยู่ ที่พึงอยู่ ที่พึงอาศัย ที่พึงอยู่ พึงอาศัย ในสถานที่ อาตมาเคยอธิบายแล้วว่า เสนาสนะ ที่เป็นเสนาสนะที่ประเสริฐ หรือเป็นเสนาสนะ ที่ดีที่เยี่ยม เรียกว่าสปายะ เสนาสนะที่ดี ที่เยี่ยมนี่ มันประกอบไปด้วยองค์ประกอบอื่นด้วย ที่เป็น สปายะอื่น เช่น ว่า จะต้องประกอบไปด้วยบุคคลสปายะประกอบตัวสถานที่เอง ก็เป็นด้วย ในสถานที่นี่แหละ จะมีสิ่งแวดล้อม มีองค์ประกอบ ประกอบไปด้วยคนก็สปายะ ประกอบ ไปด้วยอาหารสปายะ อาหารก็ไม่ใช่ว่ามีแต่ของกินเท่านั้น อาหารมีทั้งผัสสาหาร มีทั้งมโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร ประกอบไปด้วยอาหาร ที่ประเสริฐที่เจริญที่ดี ประกอบไปด้วยธรรมะ เสนาสนะสปายะ ประกอบไปด้วย บุคคลสปายะ อาหารสปายะ ธรรมสปายะด้วยน่ะ ทีนี้เรามาฟังเสนาสนะดู ท่านตรัส ว่ายังไงกันบ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่ คบอยู่ เสพอยู่ก็เสวมาโน คบอยู่ก็ภชมาโน ซึ่งเสนาสนะอัน ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา นี่ องค์ที่ ๑ เป็นผู้มีศรัทธา นี่เป็นองค์ที่ ๑ คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา และ จรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดา ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ๑ ขยายจากศรัทธามา ก็นี่ล่ะ ศรัทธาอะไร ในศรัทธาในพระตถาคต ต่อมาเป็นผู้มีอาพาธน้อย นี่ ๒ ข้อที่ ๒ เป็นผู้มี อาพาธน้อย ไม่ขี้โรค เพราะฉะนั้น ผู้ที่ขี้โรคนี่นะ จะไปอยู่ในเสนาสนะอันดี ก็ไปนั่งให้เขารักษา เท่านั้นเอง ไปปฏิบัติก็คือไปอยู่ให้เขารักษาเท่านั้น ผู้ที่มีขี้โรค เพราะฉะนั้น ผู้ที่ขี้โรค ก็เป็นภัย อันหนึ่ง ที่ว่าจะปฏิบัติธรรม แม้จะอยู่ในเสนาสนะอันดี มีศรัทธาเต็ม แต่ตัวเองขี้โรค ยากเหมือน กันนะ นี่เป็นข้ออีกข้อหนึ่ง เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุ สำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลาง ควรแก่การ บำเพ็ญเพียร

ต่อไป ๓ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผย ตามความเป็น จริง ในศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจรรย์ที่เป็นวิญญู นี่ ๓ อาตมาเคยเอาไปใช้มาก ข้อนี้ อสโฐ โหติ อมายาวี ยถาภูตัง อัตตานัง อาวิกัตตา อาตมาเคยเอาไปใช้ ซึ่งหมายความว่า เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ในใจ ทำตนเป็นคนเปิดเผย ทำตนเปิดเผยตามความเป็นจริง เป็นผู้ไม่มีมายา ไม่โอ้อวด เรื่องนี้ เป็นเรื่อง ของจริงนะ ของคนคนนั้นๆ เป็นคนซื่อสัตย์ จริงใจ ทีนี้ คนมองนี่มองยาก อาตมาว่า อาตมาเป็นคนอย่างนั้น เป็นคนที่อสโฐ โหติ อมายาวี ยภาภูตัง อัตตานัง อาวิกัตตา เป็นคนที่มี ความจริงอย่างไร เราก็พูดอย่างนั้น เปิดเผยอย่างนั้นออกมา แต่คนเขาเข้าใจยาก เขาไม่ได้หรอก ว่าเราจะมีสโถ หรือมีมายาหรือไม่ นึกว่าคนนี่ มันจะมีมายา แล้วส่วนมากคนปุถุชน หรือธรรมดา มันก็มีมายานะ แล้วก็มีการอยากจะอวดจะโอ่ ขี้อวด ขี้โอ่ ท่านเรียกว่าสโถ หรือ สาเถยยะ จิตใจมันขี้อวด ขี้โอ่น่ะ นี่เป็นข้อที่ ๓ นะ เป็นผู้ไม่อวด ไม่โอ่ ไม่มีมารยา

๔.ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี่เป็นอันที่ ๔ เป็นผู้ที่ปรารภความเพียร เพียรเพื่อที่จะปฏิบัติธรรมนี่แหละ อันนี้เดี๋ยวค่อยมาเน้นกันว่า มันเป็นอย่างไร

๕.เป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญา ที่เห็นความเกิด และความดับ เป็นอริยะ เห็นความเกิด ความดับอย่างโลกๆ ก็จะไปยากอะไรล่ะ หมามันให้คลอดลูกออกมา ก็เห็นความเกิดแล้ว วัวควายมันคลอดลูกออกมา ก็เห็นความเกิดแล้ว หรือจะมองไปในแง่ ธรรมะบ้าง ก็ว่าเออ มันมีสภาพนั้นเกิด สภาพนี้เกิดขึ้น ก็เห็นความเกิดแบบวัตถุโลกธรรมดา ก็เป็นการเห็นความเกิดได้ การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ การเกิดขึ้นของนั่นของนี่ แต่ของพระพุทธเจ้านั้น ที่ว่าการเกิด อย่างที่เกิดจากหมู หมา แมว หรือแม้แต่มนุษย์ เกิดจาก ท้องมารดา ก็เข้าใจนะ เรื่องอย่างนั้น จะไม่รู้เสียจนอย่างนั้น มันจะเป็นไปได้ไม่ได้นะ ก็รู้อย่างนั้นก็รู้ แล้วเป็นความเกิดที่ลึกซึ้งเข้าไปถึง การเกิดของดิน น้ำ ลม ไฟ การเกิดของอะไร ต่ออะไรต่างๆนานา จนกระทั่งถึงการเกิดของกิเลสนี่แหละ เป็นตัวเป้าหมายหลัก การเกิด ในจิตใจ การเกิดทางกาย ทางวาจา โดยเฉพาะการเกิดทางจิตใจ เกิดอย่างไร อารมณ์อย่างไร แล้ววิเคราะห์วิจัยออก จนกระทั่งแยกในการเกิดขึ้น ของกิเลสที่ซ้อนอยู่ในจิตใจได้อีก แล้วทำให้ดับ รู้การเกิดการดับเป็นอริยะนี่หมายถึงอันนี้ ที่บอกว่ารู้การเกิด การดับเป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

นี่ อธิบายทั้งหมด เป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิด และดับเป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี่เป็นปัญญา ที่พระพุทธเจ้าท่านหมาย ไม่ใช่เป็นปัญญาที่ไปเรียนรู้อะไรโลกๆ แล้วก็ปรุงสร้าง อะไรกันไป เพ้อพกไป ก็เป็นความเกิด เป็นการสร้างขึ้น เราก็รู้อย่างนั้น ทางโลกๆ ศึกษากันอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ปัญญาแบบนั้น แล้วก็ ลงทุนลงแรงกันมากมาย ชีวิตทั้งชีวิตไปแสวงหาปัญญาแบบนั้นกันแทบทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่ศึกษา ธรรมะที่ลึกซึ้งจริงๆแล้ว ก็ไปเสียเวล่ำเวลา วันๆคืนๆ เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง จมอยู่ แต่กลับใช้ไปสร้างปัญญาแบบนั้น มันน่าสมเพชเวทนา

อาตมาสงสารจริงๆนะ จะมาวัดสักทีหนึ่ง มาเอาปัญญาทางวัด มาเอาปัญญาปริยัติด้วยซ้ำ เอาปัญญาทางโลก ก็ไปเอาปริยัติไปเรียน ไปฟังเล็กเชอร์ ไปฟังบรรยาย ไปฟังสัมนา ไปฟังปาฐกถา ไปฟังเขาพูด แม้แต่ไปไฮด์ปาร์ค สนามหลวงอะไรแล้วแต่เถอะ ฟังเขาเยอะแยะ ไปเหมือนกัน นั่นแหละทางโลก แล้วก็ไปได้ปัญญา หรือไปได้ความเฉลียวฉลาดแบบนั้น

น่าเสียดาย วันๆคืนๆ จะแสวงหาเอาเวลามาฟังเนื้อหาสารัตถะที่พระพุทธเจ้าสอน แล้วก็เนื้อหา สารัตถะ ที่มันเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมะที่มันจะให้ทรัพย์อันแท้ มันจะให้สิ่งประเสริฐแก่ชีวิต นี่ แหม พูดไปแล้วก็เหมือนกับเราหลงใหล ได้หลงใหลศาสนา หลงใหลสารัตถะของศาสนา พูดไปแล้ว ก็เหมือนว่าพวกคุณนั่นแหละไม่ต้องว่าใคร คนที่ไม่ได้ยิน ได้ฟัง ไม่ต้องไปว่าหรอก เขาฟัง เขาก็ไม่ได้กระดิกหูอะไร ว่าพวกคุณนี่อาจจะกระเตื้องบ้าง น่ะ ที่อาตมาว่านี่

มันน่าเสียดาย อาทิตย์หนึ่งมาวัดมันก็เลวแล้ว อาตมาก็เคยพูดนักหนา หรือไม่ได้เอาเวลา วันหนึ่ง คิดดูซิ อาทิตย์หนึ่ง ก็ตั้ง ๗ วัน ๗ วัน โธ่เอ๋ย มาเอาปัญญา มาฟังปริยัติแค่วันหนึ่ง ซึ่งอาตมาก็พูด บอกแล้วว่า อาตมาพูดอย่างนี้แหละ อาทิตย์หนึ่งมาวัดวันหนึ่ง ก็เลวแล้ว พูดอย่างนี้ มันจริงหรือไม่ คุณคิดดูซิ ว่ามันน่าเสียดายนะ เป็นชีวิตนี่ อู๊ว์ ใฝ่ใจศึกษาอะไรกัน ก็ไม่รู้จักสารัตถะ ไม่รู้จักเนื้อหา เนื้อคุณอะไรกันต่างๆ นานาน่ะ เอาเถอะ วันธรรมดา มันอาจจะ ไม่มีเทศน์ ไม่มีธรรมอะไรมากมาย มามันได้น้อย ก็มาบ้าง หรือว่าหาศึกษาอยู่ เอาละมาวัด อาทิตย์หนี่ง มาวันหนึ่ง หรือ ๒ วัน วันเสาร์มีเทศน์ มีอะไรเป็นปกติบ้าง แม้อีก ๕ วันไม่ได้เทศน์ก็ คุณก็เอาเท็ปไปฟังบ้าง เอาหนังสือไปอ่าน ไปศึกษาปริยัติ ปฏิบัติให้มันได้ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สอบทาน ทบทวน ลึกซึ้งอะไรขึ้นไปตามสิ่งเหล่านั้น ก็เราก็จะเป็นคนที่เป็นผู้ที่แสวงหา ที่ควรนะ อันนี้ อาตมาพูดไปมันก็เป็นจริง

คนใดที่เห็นความสำคัญในความสำคัญอันใด ผู้นั้นก็ ขวนขวายเองแหละ ถ้าผู้ใดเห็นว่าไอ้นี่ ไม่สำคัญ เขาก็ไม่ขวนขวาย ถ้าผู้ใด เห็นว่าไอ้นี่สำคัญ เขาก็ขวนขวาย อาตมาว่าอย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้น คุณแต่ละคน ก็ต้องรู้ตัวเอง แม้ว่าเรารู้ว่าสำคัญแล้ว เราไม่ขวนขวาย เพราะขี้เกียจ คุณก็ต้องรู้ตัวเองของคุณนั่นล่ะ รู้สำคัญไหม สำคัญ แล้วเป็นยังไง มันก็ไม่ขวนขวาย มันก็ไม่ พากเพียรเอา มันไม่อดทนเอา มันก็ปล่อยไปตามใจ บำเรอใจ ยถาสุขัง ยถาสุขัง ว่าอกุศล อกุศลเจริญยิ่ง ยถาสุขัง โข เม วิหรโต อกุศลธรรมก็จะเจริญยิ่ง ปล่อยตัวตามสบาย ให้กิเลสมัน เป็นเจ้าเรือน มันก็พาไปเท่านั้นเอง

๕ ข้อนี้ อาตมาก็ขยายความไปพลางๆ นิดๆ หน่อยๆ แทรกๆ ซ้อนไป เอาอ่านต่อไปอีกก่อน แล้วค่อยทวนมาบรรยายข้างบน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร ทีนี้ เมื่อกี้นี้ บอกว่า เสนาสนะ อันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก จะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ แล้วท่านก็ อธิบายว่า ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร ก็บอกแล้ว มี ๕ อย่าง อย่างเมื่อกี้ มีศรัทธา มีศรัทธา ในพระพุทธเจ้า มีโรคน้อย เป็นผู้ไม่โอ้ ไม่อวด เป็นผู้มีปรารภ ความเพียร แล้วก็เป็นผู้ที่มีปัญญา ๕ แล้วทีนี้ต่ออีก อันนี้ มันทสกนิบาต มันเป็นหมวด ๑๐ ไอ้นี่ ๕ มันยังมีอีก ๕

๑. เสนาสนะ อันประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะในธรรมวินัยนี้ อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก หมายความว่า เอาสถานที่เลยโดยตรงมาพูดเลยตอนนี้ สถานที่นั้น จะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ หรือ ว่าคำอธิบายอย่างนี้ เป็นสถานที่ที่อยู่ไม่ใกล้นัก ไม่ไกลนัก สมบูรณ์ด้วยทางไปมา กลางวันไม่เกลื่อนกล่น กลางคืนเงียบเสียง ปราศจากเสียง อึกทึก มีเหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลานน้อย

แต่ขออภัย สันติอโศกนี่ยุงเยอะ แต่สัตว์เสือกริ้นคลานอย่างอื่นไม่มีเลยนะ ก็ธรรมดา ถ้าเป็น ป่าที่รก มันจะมีสัตว์เสือกริ้นคลานเยอะ เยอะเกินอย่างนั้นล่ะ มันไม่ใช่สถานที่ เสนาสนะ อันวิเศษหรอก เป็นป่าจริงๆ ไอ้สัตว์เสือกริ้นคลานอะไรนี่ ก็คือสัตว์ สัตว์เถื่อนน่ะ มันไม่สมควร จะอยู่กับมนุษย์มนาอะไรหรอก มันก็เยอะเป็นธรรมดา ธรรมชาติของป่ารก ป่าชัฏ ป่าเลอะ ซึ่งอันนั้นล่ะ มันก็เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า มันไม่ใช่ ไอ้ยุงนี่ เราเอง เราไม่อยากได้ สำนวนที่จริง มันเป็นสำนวนว่า ปราศจากเสียงอึกทึก ที่มีเหลือบริ้น มีเหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่ง สัตว์เลื้อยคลานน้อยนี่ มันเป็นสำนวน หมายความเอาง่ายๆ ก็คือ มันมีสัตว์ไอ้ประเภทที่ เหมือน สัตว์ป่าๆ เถื่อนๆ รกๆ เลอะๆนี่อยู่ที่จะเป็นเชื้อโรค เชื้อภัย หรือว่าเป็นสัตว์ที่ทำร้ายอะไรต่ออะไร เราได้ เราก็อยู่อย่างนี้ ๆ

อาตมายืนยันว่า เสนาสนะที่สปายะ สันติอโศกเรามีเสนาสนะสปายะแล้วน่ะ ไม่ใกล้ ไม่ไกลนัก สมบูรณ์ด้วย ทางไปมาน่ะ กลางวันไม่เกลื่อนกล่น ไม่เกลื่อนกล่นหรอก คนไม่ค่อยเข้า อย่างที่ อาตมา เทศน์แล้วเมื่อวานนี้ว่า สถานที่อย่างนี้ล่ะนะ คนจะเข้ามาได้นี่ ถ้าธาตุมันไม่ลงกันแล้ว เข้ามาไม่ได้หรอก ร้อน ธาตุไม่ลงกันเข้ามาไม่ได้ คนที่ ธาตุคนละธาตุนี่นะ ยาก ไม่เชื่อ ลองไปเชิญ สังเวียน ... เข้ามานี่สิ เข้ามาไม่ได้หรอก ร้อน กลัว ไม่กล้าเข้าหรอก มันร้อน มันมีธาตุร้อนๆ อยู่ข้างใน ไม่กล้าเข้าน่ะ หรืออย่าไปว่าถึงที่ยกตัวอย่างเลย แม้แต่คนธรรมดานี่ เราก็ไม่ได้เป็นที่โอ้โฮ รโหฐาน มีกำแพงหนาทึบใส่กุญแจปิด เขาจะเข้ามาเมื่อไหร่ ก็ได้ที่จริง ประตูของเรา ก็กั้นไปอย่างนั้นแหละ กันหมู กันหมา ไปบ้างๆ อะไรเท่านั้นเอง จริงๆแล้ว มันก็เหมือนที่เปิดที่นี่น่ะ ไม่เป็นที่ลับเร้น จนกระทั่ง กันอย่างแข็งแรง จนกระทั่งคนจริงๆแล้ว พยายามจะเข้ามา เข้าไม่ได้ ไม่ใช่หรอก คนจะเข้าจริงๆ ก็เข้าได้ ถึงแม้จริงๆ มาเปิดเรียก ปิดประตูแล้วล่ะนะ มาเปิดเรียก เราก็ยินดีเปิดรับเสียด้วยซ้ำไป เข้าได้

แต่ไม่เกลื่อนกล่นหรอก คนเข้ามาไม่ค่อยมากหรอก จะเห็นได้ คนที่เขาไม่นั่น ไม่อยากจะมา วอแว อะไรหรอก โน่นเดินให้ห่างได้ เขาจะเดิน มันเป็นของแปลกนะ อาตมาอธิบายให้ฟัง คุณตรวจไปด้วยนะ นึกคิดดูไปด้วยว่า คุณมาอยู่ที่นี่ มาสังเกต คบคุ้น แล้วก็สัมผัสดูนี่ ไปๆ มาๆ คนอย่างโน้น อย่างนี้ คนจะมานี่ จะมาอย่างชื่นชม ที่อยากจะปรารถนาจะมา จะเข้ามา แม้แต่เข้ามา เขาก็อยู่ไม่ทนหรอก ถ้าคนที่ไม่มีอะไรอยู่ไม่ทน ไม่ต้องไปว่าคนอื่นหรอก พวกคุณ ก็ไม่ค่อยทนเท่าไหร่ ด้วยซ้ำ มาอยู่ในนี้ ถ้าพูดไปแล้ว โดนอาตมาจิ้มให้อยู่อยู่นั่นแหละ มันก็ไม่ค่อยทนเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ไปพูดทำไมมีล่ะ คนข้างนอก ที่เขาห่างๆ ไม่มีเลือด ไม่มีธาตุ ที่จะเป็นอย่างนี้ อยู่ยังไงๆ ก็ไม่ค่อยทนหรอกน่ะ

นี่เรียกว่า ไม่เกลื่อนกล่น กลางคืนเงียบเสียง แน่นอน ที่นี่กลางคืนเงียบเสียง แล้วยิ่งหน้านี้ ได้ยินเสียงจักจั่นด้วย จะว่าเงียบก็ไม่ใช่พาซื่อเถรตรง กลางคืนเงียบเสียงก็คือ เงียบเหมือนอยู่ ในห้องอัดเสียงเลยนะ โอ้โห หูจะระเบิดเลย ไม่ได้ยินเสียง ไม่จริงละ กลางคืนเงียบเสียงนี่ มันจะต้องรู้ว่า เงียบอะไร คือเงียบเสียงโลกีย์ ที่นี่เงียบเสียงโลกีย์ กลางคืนก็อยู่กันอย่างนั้น แหละ สงบ สงัดพอสมควร

เอ้า ทีนี้ ๒.จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร อันเป็นปัจจัย แห่งคนไข้ ย่อมเกิดขึ้น โดยไม่ฝืดเคือง แก่ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะนั้น หมายความว่า มีปัจจัย ๔ อย่างพอเป็นไป ไม่ฝืดเคือง ไม่ฝืดเคืองก็หมายความว่า เป็นที่ที่ต้องพอมีพอกินพอใช้ในเรื่องของปัจจัย ๔ เดี๋ยว ค่อยย้อนกลับมาอธิบาย ละเอียดน่ะ

ข้อที่ ๓ ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพระเถระ เป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ในเสนาสนะนั้น

๔. ภิกษุนั้นเข้าไปหาพระเถระเหล่านั้น ตามกาลอันสมควร และย่อมสอบถาม ไต่ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของข้อนี้เป็นอย่างไร

ทีนี้ ต่อมาอีก ท่านพระเถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผย ข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ย่อมทำให้ง่าย ซึ่งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย ย่อมบรรเทาความสงสัย ในธรรมะเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยแก่ภิกษุนั้น นี่เป็นอันที่ ๕ น่ะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างเหล่านี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่ คบอยู่ ซึ่งเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก ก็พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ฯ

เสนาสนะสูตรนี้ หมายถึงสิ่งแวดล้อม จะเห็นชัดขึ้น ว่าพระพุทธเจ้าท่านหมายถึงแม้แต่ใน ๕ ข้อหลังนี่ เห็นชัดเจนว่า หมายถึงบุคคลสปายะ คือพระเถระแล้ว นอกจากพระเถระที่เป็นบุคคล สปายะ แล้วเราก็ได้อาศัยด้วย เรียกว่าอาหาระ มีสัมผัสเป็นมโนสัญเจตนา มีวิญญาณจาก พระเถระ หรือจากสิ่งแวดล้อมที่ได้ จะอยู่ในนั้นด้วย เป็นบุคคลสปายะ แล้วก็มีธรรมะ มีธรรมะที่มีผู้จะอธิบาย มีผู้ที่ได้ไถ่ถาม มีผู้จะตอบปัญหา หรือว่าบรรเทาความ บรรเทาอะไรอื่นๆ บรรเทาความสงสัยได้ ทำให้ง่ายได้ เปิดเผยในสิ่งที่ไม่เปิดเผยอะไรได้ ช่วยเราได้ อย่างจริงๆ อย่างนี้ เป็นต้น

เอ้า อันนี้ ย้อนมาตั้งแต่ต้นน่ะ เสนาสนะ ที่ถือว่าสปายะก็คือสถานที่ ที่เราเข้าไปคบคุ้น หรือ เราไปอาศัยอยู่ เมื่อเสพอยู่หรือคบอยู่ เสพอยู่ก็คืออาศัยอยู่เลย เราได้รับประโยชน์เสวยนี่แหละ เสพอยู่ หรือเสวยนี่แหละ เสวยก็คือเป็นผู้ที่ได้รับเอา เสวยนี่เป็นผู้ที่ได้รับอันนั้นเข้ามา เสวย แปลว่า รับประทานเลยก็ได้ ได้รับเอาเข้ามาในชีวิตของเรา กินได้แค่รูปแบบ กินได้แค่อาหาร หรือว่า เสวยได้แค่อาหาร เอาเข้าปาก เป็นกวฬิงกราหาร ก็เอาเข้าปาก เคี้ยวกินเข้าไปในร่างกาย ถ้าได้เสวยทางด้าน ตา หู จมูก ลิ้น กายก็ได้เสพ ได้เสวย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

ถ้าได้เสวยทางใจเลย ทีนี้ก็เป็นอาหารทางใจ ยิ่งเป็นคุณธรรม เป็นสัจธรรม เป็นความรู้ เป็นสิ่งที่ จะไปพัฒนาจิตวิญญาณ พัฒนากาย วาจา พัฒนาชีวิต ก็ยิ่งเป็นการเสพ เป็นการได้รับเข้าไป อย่างเต็มที่ แล้วเราจะอยู่พร้อมอยู่เสมอ อยู่ด้วยเสมอ เรียกว่าคบ เสพอยู่ ก็อย่างอธิบายไปแล้ว ทีนี้ อีกอันหนึ่ง ก็คบ คบก็จะอยู่ด้วยสัมผัส สัมพันธ์อยู่เสมอ คบ เข้ามาทำความสัมผัส สัมพันธ์ เข้ามาทำการไม่พราก ไม่ห่าง คบนี่ ไม่พราก ไม่ห่างน่ะคบ จะต้องคบอยู่ให้คุ้นให้เคย ให้อยู่ด้วย แล้วก็มีเรื่องราวอะไรจะต่อจากคนนั้น มีการคบแล้วมันก็จะมีสภาพที่ดำเนินบทบาทก่อเกิด ขึ้นไปได้

ผู้ใดมีการเสพอยู่ มีการคบอยู่ ใน ๕ ทั้งหมดนี้ และก็ใน ๕ อันหลังอีก เป็น ๑๐ ไม่นานนัก พึงทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย สิ้นไปด้วย ปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แหม ฟังแล้วดูง่ายดายนะ ถ้าเรามีเสพอยู่ คบอยู่อย่างนี้ ใน ๑๐ ข้อนี่ ฟังดีๆ ท่านตรัสนะ ถ้าเราทำได้ครบ ๑๐ ไม่นานนัก มีสภาพของ เสวมาโน เสพอยู่ มีสภาพของ ภชมาโน คบอยู่จริงๆแล้ว พระพุทธเจ้าตรัส นี่ มันเรื่องเล่นๆหรือเปล่า ฟังแล้ว ทำไมมันดูง่ายดาย บอกไม่นานนัก มันจะสรุป พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ก็คือ บรรลุพระอรหันต์นั่นเองแหละ ถอนอาสวะนั่นแหละ

สรุปง่ายๆ ไม่นานนักจะได้เป็นพระอรหันต์ ใช้สำนวนง่ายๆ ใช้สำนวนฟังธรรมดา แหม มันน่า นะ เอ้า มาฟังดูดีๆ แล้วพยายามทำเอา ๕ ข้อ ๑๐ ข้อนี่นะ ข้อ ที่ ๑ ศรัทธา เอาละ ศรัทธา อาตมาจะไม่ขยายมากนัก เพราะว่าอาตมาอธิบายศรัทธา นี่มาตอนนี้ ปีนี้ อธิบายศรัทธามา มากมาย ยืนยันด้วยว่า ศรัทธาเป็นทรัพย์ของคน เกิดมาอุแว้จากท้องพ่อท้องแม่มา มีศรัทธา เป็นทรัพย์ มาในคน มันเชื่อมาแต่ต้น เชื่อมาจากในจิตวิญญาณเป็นทรัพย์ เป็นสิ่งที่เป็นวิบาก เป็นมรดก ของแต่ละบุคคล เป็นกรรมวิบากของบุคคลมาแต่ไหนๆ

ถ้าเราเชื่อกรรม เชื่อวิบาก เป็นกรรมทายาโท เป็นทายาทของกรรมของเรา จึงมีกรรมมาแต่ ปางบรรพ์ มันก็มา พอเกิดอุแว้ มา มันก็มีติดตัวของใครของมัน เพราะฉะนั้น เด็กพ่อเดียว แม่เดียวกัน ดีไม่ดี เกิดเวลาเดียวกันด้วย แฝดด้วยนะ มันยังไม่เหมือนกันเลย แฝดบางคู่นี่ คนหนึ่งโน่น ไปเป็นไอ้โจร อีกคนหนึ่ง ไปเป็นตำรวจ มันคนละเรื่องเลยนะ แฝดบางคู่ มันไม่แน่ เพราะฉะนั้น ไอ้สิ่งที่แน่ๆ ก็คือกรรมวิบาก มรดกของแต่ละบุคคล

เอาละ ศรัทธา อาตมา จะผ่านไป ขออธิบายเล็กๆน้อยๆ แต่เพียงว่าเป็นความเชื่อ อย่างน้อย เราเชื่อ พระตถาคต เชื่อพระพุทธเจ้า ซึ่งในความนี้ก็เอาอะไรล่ะ เดี๋ยว ตถาคตโพธิสัทธา พุทธคุณ แหม อาตมาก็จะใช้คำว่าพุทธคุณ ๙ รู้แจ้งโลก โลกวิทู อะไรต่างๆ นานา พุทธคุณ ๙ ที่เราสวด บทสวดมนต์ พุทธคุณ ๙ นี่ อยู่ในนั้นล่ะ เชื่อในสิ่งต่างๆ เหล่านี้นี่ ในแง่เชิง หรือ เงื่อนไข ๙ อย่างนี้ ก็ได้ เป็นตถาคตโพธิสัทธา

ทีนี้ เราจะศรัทธาพระพุทธเจ้า อาตมาก็เคยอธิบายให้ฟังแล้วว่าเราจะศรัทธาพระพุทธเจ้า ได้จริง ก็ต่อเมื่อเรามีของเราจริง เป็นกัมมัสสกตา เราขึ้นด้วยศรัทธา ๔ ด้วย ตถาคตโพธิสัทธา นี่ อาตมาอธิบายย้อนพูดย้อนนี่ หัวข้อที่ ๔ หัวข้อที่ ๓ กัมมัสสกตาสัทธา ศรัทธาของๆตน เราปฏิบัติ ให้ได้เป็นของตน แล้วเราจะเชื่อพระพุทธเจ้า

เหมือนอย่างอาตมาเคย ยืนยันว่า อาตมาเชื่อพระพุทธเจ้า เพราะอาตมาปฏิบัติผล มรรคผล ของพระพุทธเจ้านี่ ปฏิบัติได้แล้ว เราถึงเชื่อ โอ้โหอันนี้ยากนะ อันนี้ลึกซึ้ง เราได้แล้ว เราเชื่อ พระพุทธเจ้า เพราะว่า เราทำได้ ทำถึงมันยาก มันไม่ใช่ฟังแล้วก็ โอ๊ย ลอยลมอย่างนี้ ไม่น่าเชื่อหรอก ไม่มีหรอก ใครไม่เป็นไป ไม่ได้หรอก ไอ้นั่นก็เห็นใจเขานะ เขาไม่เชื่อ เขาคิดว่า เป็นไปไม่ได้ แล้วมันถึงอย่างนั้นจริงๆ ของพระพุทธเจ้านี่ มันไม่น่าจะเป็นไปได้

เหมือนอย่าง พวกเรานี่ ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยขนาดนี้ พาพวกเรามาละมาลด มาดู กลายเป็น นี่หนุ่มๆ สาวๆ เยอะนะนี่ ทางโลกเขานั่น เขาพยายามยั่วย้อมมอมเมาให้ไปหรูหรา ฟู่ฟ่า จมไม่ลง แหม ไม่ได้หรอก มาเที่ยวได้มอซอ มอเซอ ได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพราะว่า หนุ่มสาวนี่ ฮอร์โมน ในทางกาม มันเยอะใช่ไหม มันก็ต้องไปอย่างโน้นล่ะ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็จะต้องไป ระริก ระรี้ ในโน้นล่ะนะ แต่ก็ยังอุตส่าห์มาได้นี่ มันเป็นปาฏิหาริย์จริงๆ

ไม่ใช่แง่แค่นี้หรอก เราลดโลภ ลดความอยากได้ ลดความตะกละตะกราม ไปแย่ง ไปชิง ไปเอา เปรียบ เอารัด ทุจริต รุนแรง แข่ง แก่งแย่ง ยังไงเราก็ไปทำกันมา แล้วเราก็ลดมาได้ กลายมาเป็น ผู้สร้างสรร แล้วก็มาเสียสละ เกื้อกูลผู้อื่น เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า พวกเราไม่ใช่ไม่เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้านะ ไม่เหน็ดเหนื่อยอย่างนี้ เป็นต้น เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้จริงๆ

แล้วอาตมายิ่งเชื่อ พระพุทธเจ้า เพราะว่า มันมีสิ่งที่เป็นไปได้พวกนี้มายืนยัน เพราะฉะนั้น สิ่งใดประสพกับเรา กัมมัสสกตา โดยเฉพาะ ยิ่งเป็นยิ่งมีในตัวเราเป็นของเราด้วย นั่นแหละ เราจะ เชื่อพระพุทธเจ้าตาม หรือเราเชื่อในกรรมวิบาก เชื่อในวิบาก วิปากสัทธา เชื่อในกรรม ศรัทธา ๔.กรรมสัทธา วิปากสัทธา กัมมัสสกตาสัทธา ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อใน ๔ หลัก ของ พระพุทธเจ้าเหมือนกัน ท่านก็ตรัสไว้ อาตมาก็เอามาอธิบายประกอบน่ะ เพราะฉะนั้น ศรัทธา ในพระพุทธเจ้า ก็เพราะเราศรัทธามีองค์ ประกอบทั้ง ๔ นี้สมบูรณ์ด้วยน่ะ

ต่อมาข้ออาพาธน้อย เป็นผู้มีอาพาธน้อยมีโรคเบาบาง อันนี้สำคัญ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้า ต้องเป็นคนที่มีบุญพอสมควร เป็นคนขี้โรคเกินไป ปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้า ยาก ยากน่ะ ต้องเป็นคนที่แข็งแรงดี เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ง่ายว่า คนที่ปฏิบัติธรรม แม้แต่อยู่ ในอโศกนี่ก็ดี พอปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ไอ้ที่อยู่ข้างนอกว่าตัวเองแข็งแรงดีนะ พอมาปฏิบัติธรรม กับอโศก เอ๊ะ ทำไมอ่อนแอ ขี้โรค เป็นโรคเป็นภัยเพราะอะไร เพราะตัวเองมีอาพาธมาก มีวิบาก ของอาพาธมาก การเจ็บป่วยได้ไข้นี่นะ มันเกิดเจ็บป่วยได้ไข้ เพราะวิบากด้วยนะ เพราะเหตุ ปัจจุบันธรรมนี่ด้วย ซึ่งจะมาแยกออกจากกันเด็ดขาด ก็ไม่ได้เหมือนกัน จะว่าวิบากอยู่ดีๆ มันก็เจ็บ ก็ป่วยขึ้นมา โดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยทีเดียวเลย มันก็ไม่ตัดขาด อย่างนั้น มันก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ทางโลกด้วยบ้าง ซึ่งเราบางที หยั่งไม่ถึง ตามไม่ได้ เหมือนกับมันอยู่ดีๆ มันก็มาเป็น ได้เหมือนกัน แต่แท้จริง ไม่ใช่อย่างนั้นทีเดียว มีเหตุ ต้องมีเหตุ เล็กๆน้อยๆ เราตามไม่ถึง เราค้นคว้าไม่ออก เท่านั้นเอง

แม้แต่ผู้ที่ยังอาพาธนี่ เป็นผู้ที่มีอาพาธน้อย หมายความว่า มันเป็นคนขี้โรค สรุปง่ายๆนะ เป็นผู้มี อาพาธน้อย ถ้าเผื่อว่าเป็นคนขี้โรค เป็นคนมีอาพาธมากนี่ ไม่เหมาะในการปฏิบัติธรรม พูดไปแล้ว ก็เลย เสียวหัวใจ บางคนบอก โอ๊ยตาย เราขี้โรคนี่ ไม่ค่อยไหวแล้ว น่ะ มันจะไหวหรือ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ว่า ถ้าเผื่อว่าเป็นคนที่พร้อมไปทั้ง ๑๐ หลักนี้ ก็ปฏิบัติธรรมไม่นานนัก ทีนี้คนขี้โรค คุณไม่ได้อยู่ในข้อ ๑ ใช่ไหม เป็นคนขี้โรค เป็นผู้มีอาพาธ มาก ไม่ใช่เป็นผู้มีอาพาธน้อย เป็นคนขี้โรค ท่านบอกว่าไม่นานนัก ก็อาจจะนานหน่อย ใช่ไหม เราก็ ปฏิบัติพากเพียรเอาก็แล้วกัน ไม่ใช่ว่าพูดอย่างนี้ เราก็เลยน้อยใจ แล้วก็บอก เราไม่ได้หรอก ไม่มีบุญหรอก เราไม่มีโอกาสหรอก มันอยู่ที่ความเพียรของคนนะ

คนเราถ้าเห็นว่าไอ้นี่ดีแล้ว อย่าไปน้อยใจเลย แม้เราจะอยู่ในข่าย ในข้อที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ว่าเป็นอย่างนี้ เราไม่เป็นอย่างนั้นก็ตาม ก็เพราะคุณไม่พากเพียร เราก็ปฏิบัติตัวเองเข้าไปซี เราจะได้มีบุญ เราจะได้อาพาธน้อย เราจะได้แข็งแรง เราจะได้มีคุณธรรมอะไร หลายๆอย่าง ซึ่งเป็นวิบาก ที่ดีขึ้นมาน่ะ

ข้อที่ ๓ เป็นคนไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนเปิดเผยตามความเป็นจริง อันนี้สำคัญนะ มาปฏิบัติธรรมแล้ว ถ้าเราเป็นคนที่มีสโฐ หรือมีมายา มาปฏิบัติธรรมแล้ว มันอดไม่ได้หรอก มันจะคุยเขื่อง นั่นล่ะคนสโฐ นั่นล่ะคนมีมายา เพราะฉะนั้น พยายามเลยทีเดียว อย่าเป็นคน อย่างนั้น มาปฏิบัติธรรมแล้ว เราพยายามรู้ตัวเองให้ได้ว่า อย่าไปขี้อวดขี้โอ่ อย่าไปใช้มารยา รู้นิด รู้หน่อย ก็ฝอยเสียเยอะ พวกขี้โอ่ ขี้อวด ฟุ้ง แหม นึกแล้วก็เวลาฝอย ก็ฝอยราวกับตัวเองเป็น ราวกับตัวเองเป็น ไม่สำนึก ไม่ระมัดระวังตัว พูดอย่างกับรู้ดี แหม เปรี๊ยะ อย่างกับตัวเอง เป็นหมด อย่าให้คนฟังเข้าใจเราว่าเราเป็นอย่างนั้นไปทีเดียว

โดยเฉพาะ ยิ่งเราไม่ได้ ยังไม่เป็น แต่เพียงว่า เราแค่รู้ เพราะฉะนั้น แค่เรารู้ ก็พยายามให้คน เขาเข้าใจ ให้ได้ว่า ไอ้ที่เอามาพูดนี่ เป็นธรรมะของอาจารย์ เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะแต่แค่เรารู้นะ เพราะฉะนั้น เวลาพระเทศน์ ส่วนมาก เขาจะบอกว่า ขอแสดงธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาจะพูดอย่างนี้นำเสมอ เขาไม่ใช่จะบอกว่า เอาละ เรามาแสดง ธรรมสู่กันฟัง อาตมามีอะไร อาตมาจะมาคุย อาตมาจะมาเปิดเผย อาตมา อย่างกับตัวเองเป็น ตัวเองมีสมบูรณ์เลยนะ ฟังไปแล้ว โดยสำนวนนี่ มันเหมาอย่างนั้นเลย ซึ่งไม่ค่อยดี ไม่ค่อยถูกนะ เพราะฉะนั้น ระมัดระวัง ลีลาพวก นี้ด้วย ระมัดระวังใจของเราด้วย มันอยากจะอวด มันอยากจะโอ่ เหมือนกับทำให้คนอื่นเขา ให้เขาเข้าใจว่า เราเป็นเรามีนี่ อย่าพยายามทำ

ถ้าเราไม่เป็น ถ้าเราไม่มี ยังไม่ได้ ยังไม่ถึง คนเขาเข้าใจผิดว่าเราเป็นเช่นนั้น ถ้าคนระวังเช่นนั้น อยู่แล้ว ความเลยเถิด จะไม่ค่อยมี ความผิดเพี้ยนจะไม่ค่อยเกิด แต่ส่วนมาก มันเป็นกิเลส ส่วนมาก สโฐ มายา ไม่ใช่อสโฐ อมายาวี ไม่ใช่ ส่วนมากเป็นคนสโฐ ขี้อวด ขี้คุย ขี้โอ่ แล้วก็มี มารยาแฝงซ้อนๆ เป็นกลเม็ด กลเชิงอะไรต่ออะไรทำท่าทำที เหมือนฉันนี่ วิเศษวิเสโส อะไรต่ออะไรต่างๆนานาไปเรื่อย

ให้คนเขาเข้าใจผิด ว่าเรานี่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เป็นพระโพธิสัตว์ หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ยิ่งใหญ่เลยไปโน่นแน่ะ ซึ่งมันเป็นจุดที่ไม่เจริญ ไม่เป็นองค์ประกอบของความเป็นผู้ที่จะ ควรเสพ ควรคบ เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า เราได้คบ ได้เสพ กับคน ที่อสโฐ โหติ อมายาวี ยถาภูตัง อัตตานัง อาวิกัตตา เป็นคนที่มีความจริงอะไรก็เปิดเผย ทำตนเปิดเผยตน ตามควมเป็นจริง ทำตนให้นี่ท่านแปลไว้ดี ทำตนให้เปิดเผย ตามความเป็นจริง แล้วก็ แม้ว่าเราเอง เรามีความจริง อยู่มากนะ

ไม่ใช่มาถึงใครๆก็อย่าเพิ่งไป เขาบอกว่า เขาไม่มีเวลา ไม่ได้ ต้องเอาความจริง ที่เรามีเท่าไหร่ ขอเทกะบะความจริงให้เขา มันก็ แหม ไอ้อย่างนี้ มันอยากอวดแน่นอน ตามกาลเวลาที่ควร เปิดเผย แม้เราจะมีจริง มีดี มีเพชรอยู่ ๕๐ เม็ด พอได้โอกาส ไม่ใช่ว่าได้เวลาก็เอาเลย ไม่ได้ ใครมา เราจะต้องเปิดเผย ตามความเป็นจริง ก็ถือว่าเราเปิดเผยตามความเป็นจริง เรามีเพชร ๕๐ เม็ด ต้องเอาเพชร ๕๐ เม็ด ออกมาอวดกับเขาให้หมด ไม่จำเป็นหรอก เรารู้กาละเวลา ว่าควร จะอวดกี่เม็ด และอวดไปแล้ว มันดีหรือไม่ดี สมควรกาละเวลาแค่ไหน

อย่างที่ อาตมาเคยพูดแล้วว่า เราค่อยๆเป็นไป จะอวดจะโชว์อะไร แล้วค่อยว่าไป เพราะว่าลึกซึ้ง สูงๆ แล้วคุณธรรมลึกๆนี่ อวดโอ่แล้วคนเข้าใจไม่ได้เสียของน่ะ เสียของ เข้าใจผิด เข้าใจตีลังกา กลับเลย มันกลับกันได้นะ ถ้าคนไม่มีภูมิธรรมรับ แสดงออกไป เสนอออกไป คนฟังแล้ว กลับหัว เป็นหางเลย กลับดำเป็นขาว กลับผิดเป็นถูกเลยเข้าใจผิดไปเลย มีมากมายธรรมะของ พระพุทธเจ้านี่น่ะ เพราะฉะนั้น ต้องระมัดระวัง

ข้อ ๔ ปรารภความเพียร อันนี้ก็ไม่ต้องอธิบายมากมายหรอก ปรารภความเพียร อันนี้ท่านไม่ใช้ วิริยารัมภะ ท่านใช้อารัทธวิริโยนั่นแหละ วิริโย ก็ วิริยะ ความเพียรนั่นแหละ อารัทธะ ท่านไม่ได้คำว่า วิริยารัมภะ ใช้ อารัทธวิริโย ปรารภความเพียร เพื่ออะไร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรม ให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ทั้งหลาย คำว่าไม่ทอดธุระ ในกุศลธรรมทั้งหลาย นี่เป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะปัญญา แล้วก็ พยายามขวนขวาย หลักธรรมที่อาตมาย้ำกับพวกคุณ หลักปฏิบัติโพธิปักขิยธรรม หรือมรรคองค์ ๘ หรือโพชฌงค์ ๗ นี่ ๓ ตัว หรือ ๓ ภาษานี่นะ มรรคองค์ ๘ โพชฌงค์ ๗ หรือโพธิปักขิยธรรม นี่ รวม โพธิปักขิยธรรม ก็คือโพชฌงค์ กับ มรรคองค์ ๘ ไว้แล้ว แล้วยังแถมองค์อื่นๆไปอีก

โพธิปักขิยธรรม เจ็ดหลักนี่ มีสติปัฏฐาน๔ สัมมัปปธาน๔ อิทธิบาท๔ หลักสี่ สามหลักนี่ ซึ่งเป็นองค์นำ ตัวปฏิบัติธรรม ซึ่งอาตมาเคยใช้ว่า ๔-๕-๗-๘ ปฏิบัติธรรมสูตร ๔-๕-๗-๘ สูตรยอด เยี่ยมน่ะ ๔ ก็คือ นี่แหละ สติปัฏฐาน๔ สัมมัปปธาน๔ อิทธิบาท๔ เพื่อสร้างไอ้ตัวนี้ เป็นตัวปฏิบัติ แล้วมันจะสร้างอินทรีย์๕ พละ๕ ไอ้นั่น ๔ ไอ้นี่ ๕ แล้วก็จะมีตัวยืนยันหลักอยู่ ก็คือโพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ น่ะ ๔-๕-๗-๘ สูตรพวกนี้ เวลาปฏิบัติจริงก็คือตัวผู้ไม่ทอดธุระ ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ทั้งหลาย ปฏิบัติจริงๆ แล้ว มันจะเป็นอย่างนั้น เป็นคนไม่ทอดธุระ

จะอธิบายขยายความภาษาไทยว่ายังไงดีกว่านี้ ไม่ทอดธุระนี่ มันเป็นยังไง ไม่ทอดธุระ ไม่ขี้เกียจ เป็นคนขวนขวาย ไม่ปล่อยเฉื่อย ปล่อยช้า เป็นคนกระปรี้กระเปร่า ขวนขวาย มี สติตื่น เป็นผู้ชาคริยา ตื่น รู้ตัวทั่วพร้อม มีสติปัฏฐาน ๔ หรือทำให้ตนเองอยู่ใน ภาวะโพชฌงค์ มีสติสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ มีวิริยสัมโพชฌงค์ เพียรอยู่เสมอ พยายามอยู่เสมอ ปรารภความเพียรนี่แหละ หรือ อารัทธวิริโย อารัทธวิริยะนี่เพียรอยู่เสมอ จริงๆ มันจะรู้ตัวเลยนะ มีสติรู้ตัว ว่า ตัวเพียร หรือไม่เพียร มันจะมีสติรู้ตัวว่า ตัวมันพยายามหรือไม่พยายาม พยายามอะไร มันซ้อนอยู่กับชีวิตปกติ ชีวิตปกติเราก็ทำการงาน

อย่างขณะนี้ อาตมากำลังทำงานไหม ทำงาน อาตมากำลังเทศน์ ในขณะที่อาตมากำลังเทศน์ อาตมาก็มีสติรู้ตัว เป็นสติสัมโพชฌงค์ วิจัยตัวเองด้วยว่า เราใช้กิเลส มีกิเลส วิจัยไปให้ลึก แล้วมันจะเร็ว มุทุภูตธาตุ หรือมุทุภูเต นี่ ธาตุเราจะเร็ว ตรวจตรา มันจะมีตัวสังกัปปะที่เร็ว ตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ มันก็จนกระทั่งเป็นวจีสังขาร มี อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา จนกระทั่งมันปรุง มีหลักของจิต แน่น มั่นคง แล้วก็มีตัวที่เหมือนโปรตอน อีเล็คตรอน อย่างที่บอกแล้ว เร็ว ถ้ายิ่งมีตัวหลักที่แน่น แข็งแรง อัปปนา พยัปปนา จิตที่แข็งแรง ไม่หวั่นไหว จะกระทบสัมผัส จะปรุงของตัวเอง เราหมุนเอง นี่คือสังขาร เราปรุงเอง เราหมุนเอง เหมือนกับ หมุนรอบเองให้เร็ว ถ้าหลักแกนของเรามั่นคง แน่นอน มีสัจจะ มีทั้งความจริง ความรู้ มีทั้งศรัทธา ทั้งปัญญา อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ของเราแข็ง แรง เร็วก็เร็วได้ คล่อง รื่น ไม่ร้อนด้วย ไม่คลอนแคลน หลักแกนด้วย ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่มีอะไรที่เข้ามากวน มาปน ไม่มีอกุศล ไม่มีความผิด ความเพี้ยน เข้ามาสังขารร่วมด้วย นี่เป็นความหมายอย่างนั้นน่ะ

ผู้ใดที่ไม่ทอดธุระ ปฏิบัติธรรมของโพธิปักขิยธรรม หรือ มรรคองค์ ๘ โพชฌงค์ ๗ ที่สมบูรณ์ ผู้นั้นจะรู้เลยว่า ชีวิตของตัวเองอยู่กับการงาน คิดก็เป็นการงานที่มีการปฏิบัติธรรม พูดก็เป็น การงาน อย่างที่อาตมายกตัวอย่างว่า อาตมากำลังเทศน์นี่ ก็เป็นการพูด การทำงาน ที่ปฏิบัติธรรม ทำกายกรรม ทำกิจอะไรก็แล้วแต่ กิจการอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ซ้อนอยู่ในนั้น ซ้อนอยู่ในตัวปฏิบัติธรรมนั่นแหละ ผู้นั้นไม่ทอดธุระอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ทอดธุระก็คือ ไม่ขี้เกียจในการทำงานเปล่าๆ ก็ด้วย ถ้าจะหมายความอย่างนั้น ก็ต้องเป็นคน ไม่ทอดธุระ เป็นคนไม่ดูดาย เป็นคนขวนขวาย เป็นคนขยัน หมั่นเพียร ทำงานทำการ แต่ไม่มี ภาษา หรือไม่มีปริยัติ ไม่มีความรู้ในทางปริยัติ และเอาความรู้ ความหมายเหล่านั้น มาฝึก มาอบรมตน ให้มีการปฏิบัติธรรมะไปกับการทำงาน จนสามารถ ปฏิบัติธรรมอยู่ในการงาน นั้นๆๆๆได้ ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้ไม่ทอดธุระ ในกุศลธรรมทั้งหลาย คำว่า กุศลธรรมนี่ทั้งการงาน ก็จะเป็นกุศลดีขึ้นด้วย กุศลแปลว่าดี ทั้งกุศลที่เป็นกุศลทางปรมัตถสัจจะ เป็นการเจริญ ที่จะไปสู่ การเป็นพระอริยะหรือเป็นพระนิพพานอย่างนั้น

ทีนี้ข้อสุดท้ายว่า เป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิด ความดับ เมื่อตอนต้น

อ่านต่อหน้าถัดไป

2432A.TAP