อยู่อย่างไรใกล้นิพพาน
ทำวัตรเช้าที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๕
ณ สันติอโศก
โดย สมณะโพธิรักษ์

ตอนนี้พวกเรา ก็ไปช่วยงานอยู่ที่ปฐมอโศกกันก็เยอะ โดยเฉพาะสมณะไปอยู่ที่โน่นเยอะ ลงปาฏิโมกข์ คราวที่แล้ว ๓๐ รูป ที่ปฐมฯ ที่นี่ลงปาฏิโมกข์อยู่ ๑๙ รูป ใช่ไหมก็หมุนเวียนกันไป ช่วยงานกันไป สมณะเราก็ไม่ได้เพิ่มมากนักตอนนี้ เราก็ปีหนึ่งจะเพิ่มสัก ๒ รูป ๓ รูป ตอนนี้ บวชขึ้นมา ยังไม่ค่อยมากนัก แต่ก็เป็นไปได้ งานการเราก็มากขึ้น รับผิดชอบกันก็ดีขึ้น ผู้ที่ เพิ่มมา ก็เพิ่มมากขึ้นอยู่นะ แต่ว่าผู้ที่มาแล้ว ยังไม่เข้าใจในเรื่องของภวตัณหา ในเรื่องของ อัตตา ในเรื่องของมานะ ในเรื่องของภพ ในเรื่องของอะไร แล้วก็ยังไม่ละเอียดพอ ยังไม่เข้าใจ ในจุดนี้ ยังมากอยู่ ทั้งผู้เก่าด้วย ภวตัณหา แล้วมันก็จะสูงขึ้นไปเป็นวิภวตัณหา ที่เราจะต้อง เรียนรู้ และต้องติดตามเข้าไปอีก ภวตัณหาคือภพ คือจิตในภพ กิเลสในภพ

กิเลสในภพนี่ แม้แต่ในระดับของอนาคา มีกามในภพ มันก็ยังมี แต่ว่ากามในภพนี่เป็นกาม ที่เหลือรอยๆ ไรๆ เป็นอาสวะ ซึ่งมันเป็นระดับๆ กิเลสในระดับของ วีติกกมกิเลส นี่ แน่นอน มันเอาเราตายแน่ กิเลสหยาบ กิเลสกลาง สู้ได้บ้าง ถ้าเก่งขึ้นก็สู้ได้มากขึ้น ปริยุฏฐานกิเลส สู้ได้ มากขึ้น แต่ถ้าเผื่อว่า เราประมาท มันก็มีสิทธิ์ที่จะดึงเราเวียนกลับลงไปสู่ต่ำได้ ปริยุฏฐานกิเลส เราต้องอ่านกิเลส เป็นจริงๆนะ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกิเลสในเรื่องอะไร ในเรื่องกามตัณหา ในเรื่องโลกนอก ในเรื่องของลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขอย่างอบาย อบายมุข อบายภูมิ โลกียสุขอย่างกาม กามหยาบๆน่ะ จะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสใน ระดับใดก็ตาม ตั้งแต่ เรื่องของกาม ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง ผู้ชาย เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ มันก็สามารถดึงเรา กลับไปได้ ในปริยุฏฐานกิเลส

ถ้าเผื่อว่า เราปฏิบัติไล่ขึ้นไป สูงขึ้นไป มันก็จะดีขึ้น มันก็จะดึงเราลงไปยากขึ้น ในเรื่องของ รูปหยาบ โลกๆ นอกๆ ปฏิบัติทางกายกรรม วจีกรรม มันจะมีหิริ เป็นเทวดา หรือเป็น อริยภูมิ เป็นอริยธรรม คือเทวธรรม หรืออริยธรรม มันจะเกิดศรัทธา เกิดศีล เกิดหิริ เกิดโอตตัปปะ เกิดจริงๆ เกิดสภาพของความเป็นจริงพวกนี้ โดยเฉพาะ หิริ และโอตตัปปะ ท่านเรียกว่า ธรรมะของเทวดา เทวดาก็คืออุบัติเทพ เอียงเข้าไปสู่วิสุทธิเทพ เป็นจิตที่เกิดจริง เป็นจริง เป็นโอปปาติกะโยนิ เกิดจริง แล้วมันก็จะเป็นจริง มันจะละอาย มันจะรู้สึกละอายจริงๆ ว่าเราจะออกไปทำ

แม้แต่ที่สุดสูงขึ้น จะทำในที่ลับ เราก็ไม่กล้า หลายๆอย่าง ที่เราเองเราจะเสพสุข โดยไม่จำเป็น จะเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ของเราเอง นี่ทำเองอยู่ในที่ลับ เราก็ไม่กล้า หิริ หรือโอตตัปปะ มันจะเป็น อย่างนั้น เราจะละเมิดแค่หิริ นี่เราก็เกรง มันเกรง แต่ยังไม่ถึงขั้นกลัว ถ้าขั้นโอตตัปปะ มีคุณธรรม ในระดับโอตตัปปะ มันจะกลัว มันจะเห็นว่าเป็นความชั่ว มันเป็นความร้าย มันเป็นความเลว มันเป็นความต่ำ มันเป็นความหยาบ เป็นความไม่ดี ไม่งาม มีสำนึกในตน แล้วเราทำไม่ได้จริงๆ มันจะกลัว ทำได้ก็จะรู้สึกสำนึกมาก ถ้าเราไปบกพร่อง ถ้าเราไปพลาดพลั้ง ถ้าเราไปกระทำลงไป มันก็จะสำนึกมาก มันก็จะมีน้ำหนักของหิริกับโอตตัปปะต่างกัน ถ้าหิริก็ยัง สำนึกน้อย แต่ถ้าโอตตัปปะ จะสำนึกมาก จะลงโทษตัวเอง จะรู้สึกตัวเอง ยังไม่แข็งแรง ยังไม่เจริญ อะไรอย่างนี้ เป็นการรู้โดยความจริง เป็นสำนึกของตัว เองอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น ในโลกหยาบ ในข้างนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในกามภพ ไม่ว่าจะเป็นโลกแห่งกาม หรือ โลกแห่งโลกธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญ อะไรพวกนี้ต่างๆ ที่เป็นความสุข ได้ลาภสมใจ ได้ยศสมใจ ได้สรรเสริญสมใจ สรรเสริญก็จะละเอียดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เราก็จะเห็นว่า เราเอง เราไม่ต้องการ แม้แต่เราไปหลงยินดีอยู่ แล้วก็ไปแสดงอาการท่าทีทางกาย ทางวาจา เราก็จะรู้ตัว ว่าไม่งาม

แม้แต่ที่สุด ลึกซึ้งขึ้น เมื่อกิเลสมันลดลงเป็นปริยุฏฐานกิเลสระดับสูง กิเลสกลาง ที่มันเอนเอียง เข้าไปหา เหลือน้อยลงๆ เราก็ยิ่งจะแข็งแรง จะเวียนกลับได้ยาก จนกระทั่งเข้าขั้น อนุสัยกิเลส กิเลสในภพ กิเลสในจิต กิเลสนอนเนื่อง กิเลสเหลือบางเบา เหลือละเอียด แม้แต่จะเป็นกาม เป็นความใคร่ ความอยาก จะใคร่อยากอะไรก็แล้วแต่ ตั้งแต่เราเรียนรู้ตั้งแต่อบายมุข เราลองดู เราจะรู้เลยว่า อบายมุขมันคืออะไรบ้าง โดยวัตถุอบายมุข โดยลักษณะข้างนอกที่เป็นอบายมุข เราก็จะเรียนรู้ ในอนุสัยกิเลสได้เหมือนกันว่า โอ้ เรามีอาการ จิตของเรา ยังไหวๆ พลิ้วๆ ยังระริก ระรี้ อะไรเล็กๆ น้อยๆ กิเลสพวกนี้เราจะอ่านได้ กิเลสกาม ในเรื่องผู้หญิงผู้ชาย ในเรื่องของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในเหตุปัจจัยอย่างนั้น อย่างนี้ที่เป็นวัตถุรูปในโลก หรือลาภ ยศ สรรเสริญ อะไรก็ตาม

อีกอันหนึ่ง ก็คืออัตตาข้างนอก มานะข้างนอก แสดงอาการอัตตาออกทางกายกรรม แสดงมานะ ออกทางกายกรรม หรือออกทางวจีกรรม กิเลสหยาบ มันก็เป็นกิเลสหยาบ แสดงออกมา ไม่อายหรอก ถ้าผู้ไม่เข้าใจเป็นสัมมาทิฏฐิ แสดงอออกมา อย่างนึกว่า จะต้องเอาชนะ คะคาน จะต้องแข่งดี แข่งเด่นอย่างโลกๆ เขาก็จะออกมาในรูปของกายกรรม วจีกรรมชัดๆเลย พอเรามีความรู้ เราลดละลง เราก็จะลดลง มันก็ไม่กล้าแสดงออก ทางกาย ทางวาจา สูงขึ้น เหมือนกับที่อธิบายอย่างเมื่อกี้นี้ จนกระทั่งถึงอนุสัย มันก็จะไม่มี มันก็จะเป็นอัตตามานะในใจ แสดงออกด้วยลีลาก็สุภาพขึ้น เรียบร้อยขึ้น

สุภาพหมายความว่า ลีลาของอัตตาก็ดี ลีลาของกามก็ดี อัตตามานะก็ดี เราก็จะรู้ลักษณะ ของมัน ชัดเจน ลีลาท่าที พฤติกรรมต่างๆ จะออกมาในรูปอย่างไร เราก็จะระงับ ออกมาทาง กายกรรม วจีกรรม เราก็จะ เกรง ไม่กล้า มีหิริ มีโอตตัปปะ ละอายที่จะแสดงท่าทีออกมา เป็นอัตตา อย่างนี้ เป็นมานะ อย่างนี้ เราจะเข้าใจสภาพของมันว่า อัตตาคือความพยายาม กระทำเสพสมใจ

อัตตา เป็นภวตัณหา เป็นเรื่องในภพที่เราพอใจยินดีอยู่ สูงขึ้นมันก็จะไปหาความสงบ ไปหา ความหยุด ความเห็นแก่ตัวในชนิดที่บำเรอตัวเอง ที่อยากจะทำอะไร อยากจะเป็นอะไร อยากจะไป เราก็จะไปสมใจของเรา ไม่มีอะไร อยากจะไปเดินเฉยๆ อยากจะไปทอดหุ่ยเล่น อยากจะนั่งเปล่าๆ หรืออยากจะทำอะไรก็แล้วแต่ ทำไอ้สิ่งที่ตัวเองชอบ เป็นกัมมารามตาด้วย ก็ได้ เป็นการงานนี่ เราชอบ ทำแล้วสนุก เพลิดเพลิน ทำแล้วก็ติด ก็ยึด ทำแล้วก็รู้สึก สบายใจ ถ้าให้ไปทำอื่น ไม่ชอบละ

ในวิภวตัณหา ความหมายกลับที่เขาแปลกันว่า ไม่อยากเป็น ไม่อยากมี ไม่อยากได้ ความจริง มันก็คือ ฐานของภวตัณหา แต่เป็นการตีกลับเท่านั้นเอง ในความหมายเบื้องต้น เราก็เรียนรู้ด้วย ความจริงก็คือ ภวตัณหา ในมุมที่ถ้าเราได้สมใจเรา เป็นภวตัณหาแท้ เป็นความใคร่อยาก ตามภพ ตามความปรารถนาของจิตปรารถนา ถ้าเผื่อว่าเราไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ก็เป็นภาวะผลัก ไม่ใช่ภาวะดูด เป็นภาวะไม่อยากได้สมใจเหมือนกัน สมใจที่ไม่อยากเป็น ไม่อยากมี ไม่อยากได้ เพราะฉะนั้น ในสภาพที่เราไม่อยากเป็น ไม่อยากไป มันสมควรไปนะ

คนมีภูมิปัญญาสูง มีภูมิจริง ก็จะรู้ตัวว่า เราจะต้องแก้ไขวิภวตัณหาตัวนี้ วิภวตัณหา ในความหมาย ต้นๆ ความหมายตื้นๆ ที่เขาแปลกันแค่เป็นตัวตีกลับ ของภวตัณหา ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่อยากไป เราก็ควรไปนะ อันนี้สมควร ไปงานนั้น ไปงานนี้ ไปที่นั่น ไปที่นี่ แม้แต่เป็นพิธีกรรม เป็นกรรมต่างๆ พิธีกรรม กิจกรรม งานนั้น เราไม่อยากทำ เอ้า เราลองไปทำ มันสมควร เราไปฝึกดู หรือเราไปช่วยเขาบ้าง งานก็ตาม เป็นกิจกรรมก็ตาม พิธีกรรมก็ตาม เป็นพิธีกรรมว่า เออ เป็นพิธีกรรมอย่างนี้ งานปลุกเสกฯ เราไม่อยากไปก็ไป พิธีกรรมใหญ่ งานพุทธาภิเษก เราไม่อยากไปก็ไป งานปีใหม่ เราไม่อยากไป งานกินข้าวหาด กินข้าวหาดก็ถือเป็นจารีตประเพณี เป็นพิธีกรรมอะไรของพวกเรา อะไรอย่างหนึ่ง เหมือนกัน ลองไปดู พยายามไป มันไม่อยากไป มันไม่อยากได้ ไม่อยากมี

อยากเป็น อยากไป อยากทำอะไร ก็แล้วแต่ เราก็ต้องพยายามแก้กลับ ไม่ให้มันสมใจ ไม่ให้บำเรอ เมื่อไม่อยาก ก็ต้องอยาก เมื่อไม่เป็น เราจะต้องไปเป็น ไม่อยากขึ้นศาลา ไม่อยากทำวัตร ไม่อยากลงฉันพร้อมกับหมู่ ไม่อยากจะทำกิจอะไร ที่มันเป็นกิจวัตร อะไรที่เป็น พิธีกรรม อะไรก็แล้วแต่ มันจะต้องย้อนๆแย้งๆอยู่ เราจะต้องรู้สึกว่าย้อนแย้ง นี่ คือการลดอัตตา ลดภวตัณหา หรือวิภวตัณหา ดังที่ได้อธิบายไปแล้วเมื่อกี้ ว่ามันเป็นลูกย้อนเท่านั้นเอง มันเป็นลูกย้อน มันยังไม่เป็นอุดมการณ์อะไร แต่มันเป็นสำนึกของผู้ที่มีภูมิสูง ภูมิในระดับ จิตวิญญาณ หรือว่าความปรารถนาอยากใคร่ บำเรอ กิเลสตนั้นคืออัตตา

อัตตา กับมานะ ต่างกันอย่างไร
มานะ คือความเอาชนะคะคาน ความสมใจในเรื่องที่ไปเบียดเบียนผู้อื่น
ส่วนอัตตานั้น เป็นความสมใจ ที่เบียดเบียนตน อัตตานี่สมใจที่เบียดเบียนตน มานะเป็นการสมใจ ที่ได้เบียดเบียนผู้อื่น แม้แต่การเอาชนะคะคานแข่งดี แข่งเด่นเขา ชนะเขา แล้วก็เบียดเบียนเขา เพราะว่ามันไม่ได้แข่งธรรมดาหรอก มันจะมีกิเลสเข้าไปหาเรื่อง ที่จะเอาชนะ คะคาน ในเรื่องนั้น เรื่องนี้ มันมีริษยา มันมีสารัมภะ หยิ่งผยอง แข่งดี แข่งเด่น มีมักขะ ปลาสะ มีสภาพพวกนี้ ผสมอยู่อย่างหยาบ กลาง ละเอียด อะไรก็แล้วแต่ มานะเป็น เรื่องที่ ไปทำให้กระทบผู้อื่นมากขึ้น ลักษณะมานะ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผลที่ไปกระทบผู้อื่น เรียกว่าเบียดเบียนผู้อื่น นั่นแหละ เรียกว่าลักษณะ มานะ

ซึ่งความหมายกว้างๆ ถ้าเบียดเบียนตน ไอ้การเสพสมให้จิตตนนี่ เป็นการเบียดเบียนตน ชนิดที่ภูมิต่ำๆ ไม่รู้เรื่อง คนภูมิต่ำไม่เข้าใจหรอก การบำเรอตน อย่างโลกทุกวันนี้ เขาบำเรอตน ให้เสพสุขสมใจ สมใจอยากทุกอย่างละ จะเสพฝิ่น กินกัญชา มีความสุขในความระรื่น ระเริง อะไร ก็แล้วแต่ ได้เงิน ได้ทอง ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญมาสมอกสมใจ ดีอกดีใจ ปลาบปลื้ม วีดว๊าย กระตู้วู๊ เขาก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ตัวหรอก เสพอัตตา นั่นแหละ คำใหญ่ๆก็คือ อัตตา หรือ สักกายะ เสพตัวเสพตน เสพให้แก่ตัวให้แก่ตนให้กิเลส ให้แก่ตัวตนของกิเลส มันอ้วนขึ้น เจริญขึ้น โตขึ้นเป็นธรรมดาๆ เพราะฉะนั้น ในระดับที่จะเสพ จนระดับภูมิสูงขึ้น เป็นภวตัณหา วิภวตัณหา ในระดับสูงขึ้นอย่างนี้

แม้แต่ที่สุด วิภวตัณหาอุดมการณ์ วิภวตัณหาที่ฐานแท้ คือว่า เราปรารถนาสิ่งดี ความหมายของ มานะ เป็นความปรารถนาดีเหมือนกัน ความหมายของมานะ ในลักษณะที่เรียกว่า เราอุตสาหะ มานะเพื่อขยัน เพื่อฝืนใจ มานะเป็นความฝืนใจ เพราะฉะนั้น ในภวตัณหา ที่เราว่า เราไม่อยาก ได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ที่จริงเราเรียกวิภวตัณหา วิภวตัณหาที่ว่าไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น นั่นแหละคือมานะ คือสภาพที่ต้องเมื่อไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ก็ต้องอยากได้ อยากมี อยากเป็น ฟังดีๆ เมื่อเราไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เราก็ต้อง แก้กลับ ในภพของจิตที่มันไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น มันต้องอยากได้ อยากมี อยากเป็น

แต่เราต้องมีปัญญาเพิ่มขึ้นนะ อยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งที่มันอกุศล ในสิ่งที่ทุจริต ในสิ่งที่ต่ำ เราก็ไม่อยากละ เราก็ไม่เอา แต่จะต้องเอาในสิ่งที่มันสมควร มันดี มันเป็นกุศล มันเป็นสิ่งที่น่าทำจริงๆ น่ะ มันน่าทำ แต่เราไม่อยาก ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เราต้องฝืน เพราะฉะนั้น ต้องมีอุตสาหะมานะ ภาษาของไทยเรา คำว่ามานะ หมายความว่า มันมีความอยากดี อยากเด่น มันอยากดี มันอยากได้

จริงๆน่ะ กิเลสน่ะ มันไม่อยาก แต่เราต้องอยาก เรียกว่ามานะอุตสาหะ เป็นความต้องอยาก ต้องแก้กลับ จิตใจต้องแก้กลับ นี่เรียกว่าลักษณะของมานะชนิดดี ต้องมีปัญญาประกอบมานะ ชนิดดี ใช้ประกอบในโลกต่ำๆ ก็ใช้บอก คนไม่มีมานะ ไม่มีอุสาหะมานะ เอาไปใช้ในภาษาที่ว่า เขาไม่อุตสาหะ ไม่วิริยะนั่นเอง มันคนไม่มีมานะ ภาษาไทยเราเอามาใช้จนกระทั่ง กลายเป็น ภาษาไทย เราก็คงพอเข้าใจ

เราจะต้องรู้ในรายละเอียดที่อาตมาอธิบายนี่ว่า ไอ้ลักษณะมานะพวกนี้ ในมุมที่ มันพาเจริญ คืออย่างไร ในมุมที่ไม่พาเจริญ ก็คือ เมื่อเราจะแข่งดีแข่งเด่น เราตั้งใจทำดี เห็นผู้อื่นทำดี เราก็จะต้องทำดีตามเขาด้วย อนุโมทนากับคนดี ไม่ใช่ไปริษยาคนดี ไม่ใช่ไปข่มคนดี ไม่ใช่ไป หาเรื่องคนดีนั้นตกต่ำ ไปหยุดคนดีไว้ได้ เราก็ต้องเอาชนะคะคาน แล้วก็บำเรอ ใจตนเองอีก พอเราได้ดีกว่า คนที่เราแข่งกับเขา ไม่ใช่แข่งหรอก ภาษาลึกๆ แล้วละก็ หมายความว่า เราจะต้องการดีเช่นเขา เมื่อเขาดี อนุโมทนาด้วย เมื่อเราต้องการดีเช่นเขา นั่น นะภาษาดีๆ ภาษาไม่ดี ก็หมายความว่า เราแข่งดีกับเขานั่นแหละ เมื่อเขาดี เราก็ต้องดีให้ได้ เหมือนอย่าง เขาบ้าง แต่ใจลึกๆ หรือว่ากิเลสของเรา ต้องอ่านให้ออกว่า เราจะต้องไม่ไปริษยา ไม่ต้องไปหา ทางเบียดเบียนผู้นั้นให้ตกต่ำ เราต้องยินดีกับผู้ที่เขาได้ดี แล้วผู้ที่เราจะเอา อย่างดีด้วย ต้องอนุโมทนาสาธุ บูชา เชิดชู เทิดทูน

แม้เราจะดีเกินหน้า ก็ไม่ไปสะใจ ดีได้เกินกว่าผู้ที่เราเดินรอยตามผู้ที่ท่านดีนั้น เราได้ดีล้ำหน้าไป ชนะ ว่าอย่างนั้นเถอะ เราดีจนเราชนะ เราก็จะต้องพยายามๆ ไม่ให้มีจิตที่จะต้องไปลบหลู่ ดูถูก สะใจว่าเราเองชนะ หยิ่งผยอง อะไรเป็นสารัมภะ เป็นมานะ อติมานะ เป็นความถือดี ถือตัว ถือสา อะไรขึ้นมาว่า เขาเอง เขาต่ำกว่าเราแล้ว เราก็รู้แล้วว่าเราเจริญกว่าเขา เราก็เหยียดหยาม หรือว่า เราก็ทำทีว่าจะใหญ่อะไรกับเขาอะไรพวกนี้ เราก็จะต้องรู้ในรายละเอียดพวกนี้ ลงไปว่า เรากระทำ ต้องกระทำในสิ่งที่ไอ้ที่ควรทำ ไม่ควรทำ เราก็ต้องไม่เอา

กิเลสในเรื่องสูงๆ ในสังโยชน์สูงๆ หรือในระดับสูงๆพวกนี้ ผู้มีสำนึกจริง ก็จะสังวร สำรวม แก้ไข ปรับปรุงจริง เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่ติดแป้นแล้วติดอยู่ตามอำเภอใจ มีอัตตา มีมานะ ผู้นั้นไม่รู้ตัว ก็จะช้า และจะพลอยให้สิ่งที่เป็นกามละเอียด ถ้าไม่แก้อัตตามานะอีก กามอันละเอียด ก็สามารถ ที่จะสะสมอยู่ในภพ เป็นกามในภพ แล้วก็หยาบ ฉุดต่ำได้ เพราะฉะนั้น

ถ้าเผื่อว่า เราเอง เราลดกิเลสกามแค่ปริยุฏฐานกิเลส ไปแค่ได้ฐานกลาง เป็นกิเลสระดับกลาง แล้วเราก็ประมาท ไม่ลดอัตตามานะ ไม่ปฏิบัติเพื่อลดอัตตามานะ เพื่อลดภวตัณหา กิเลสกาม เราก็ชะลอ เรานึกว่าเราสบาย ที่จริงเราลดได้แค่กามในระดับกลาง เราจะขึ้นไปอีกยากนะ ถ้าเราไม่ลดอัตตามานะอีก เราจะล้างกาม ในระดับกลาง ในระดับลึก กามในภพ ระดับลึกซึ้ง ขึ้นไปอีก ก็จะไม่เก่ง จะไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อไม่มีประสิทธิภาพ มันก็อาจจะหมักหมม เป็นการสั่งสมเพิ่มเติม ดึงเรากลับลงไปหากามหยาบได้เองเหมือนกัน ดังมีตัวอย่าง พวกเรา บางคน ดูท่าทีดีนะ โอ้ กาม นึกว่าจะไม่แล้วนะ เอาไปเอามา หกคะเมน ตีลังกามาก็ได้

มีตัวอย่าง พวกเราบางคนนี่ บางคนเห็นอยู่ จนสุดท้าย จะขึ้นอีกก็ขึ้นไม่ไหวแล้ว พอตกลงมาอีก ในฐานนี้แล้ว ตอนแรกก็รู้สึกว่า โอ้โฮ ดีนะ แหม รู้สึกว่า อย่างพระอนาคามีนะ หมดกาม แต่ที่ไหนได้ ตีลังกาลงมา เพราะฉะนั้น เวลาเรากดข่ม เป็นสมถะนี่ มันเป็นได้ วิปัสสนาก็ตาม ถ้าวิปัสสนา ที่ไม่ได้ละล้างอย่างชัดเจน อย่างจริงจัง แล้วมันก็จะไม่จริง มันจะไม่หมดจริง เมื่อไม่หมดจริง มันก็ออกฤทธิ์ ออกเดชได้อีกเหมือนกั เพราะฉะนั้น อย่าประมาท ทั้งในฐานไหน ก็แล้วแต่

อัตตากับมานะ ในลักษณะ ๒ ขั้วใหญ่ นี่นะ มันจะเป็นอุปการะแก่กันและกัน ลดกาม ลดอัตตา มานะ มันถึงจะช่วยขึ้นไปจนถึงที่สุด หมดกาม ก็เหลือแต่กิเลสอัตตามานะ เพราะฉะนั้น เรายิ่ง ฐานปฏิบัติดีขึ้น สูงขึ้นบ้างนี่ เราจะเผลอ เราจะลืมตัว เราจะเสพ เสวยภพ เพราะว่า มันบอกแล้วว่า สิ่งแวดล้อมพวกเรานี่ บุคคลก็ดี เสนาสนะก็ดี มีอาหารก็ดี มีอะไรก็ดี รู้สึกว่าเป็น ไปรอด โดยชีวิตที่จะอยู่ต่อไป เสร็จแล้ว มันก็ไม่อุตสาหะวิริยะอีก มันไม่พากเพียรอีก เมื่อไม่พากเพียร เสริมหนุนขึ้นไป ไม่มีใครจะบังคับเรามากหรอก ศาสนาพระพุทธเจ้านี่ เราจะไม่บังคับ ยิ่งฐานสูงแล้ว เราก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ มีคุณวุฒิสูงขึ้น มีภูมิธรรมสูงขึ้น

เราก็ต้องสังวร ระวังของเรา แก้กลับ หรือว่ากระทำของเราตามภูมิตามฐานะ เราจึงจะละเอียด ลออขึ้น บังคับนั้นน่ะ มันไม่ใช่ตัวเอง การบังคับนั่น มันไม่ใช่ความสำนึก การบังคับ มันไม่ใช่ ความเจริญของผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้น เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่จริง เรานั่นแหละ จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ เหนือตนเอง ควบคุมตนเอง สังวรเอง เข้าไปในฐานที่จะต้องเป็นเอง เป็นสยัง อภิญญา เป็นสภาพ ที่จะสร้างอภิญญาของตนเอง เป็นสยัง อภิญญา ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะไม่บรรลุเอง ในฐานที่สูงขึ้น แล้วตัวตนก็คือตนเอง เพราะในฐานะที่ตนเองจะต้องบรรลุด้วยตนเอง ตนเองก็ ต้องควบคุมตนเอง ตนเองก็ต้องสังวรเอง ระลึกเองสำนึกเอง ตัวสำนึกนี่คือตัวแก้อัตตาอย่างยิ่ง ยิ่งภวตัณหาอย่างยิ่ง

กามตัณหา เราพูดกันได้ เราบอกกันได้ คนอื่นช่วยได้มากๆ แต่ภวตัณหานั้น คนอื่นจะช่วย ได้น้อย จะเป็นครูบาอาจารย์ก็ตาม ช่วยได้น้อย ครูบาอาจารย์จะเก่ง ก็ตรงที่ว่า อธิบายให้ชัดเจน ขึ้น ชัดเจนขึ้น แล้วเราก็จะสำนึกเองบังคับในภวตัณหา ไม่เป็นผลอะไรหรอก มันมีแต่จะประทุ ปะทะ มีแต่จะกลายเป็นตีกลับ ภวตัณหามันซับซ้อนมาก แล้วลีลามันเยอะ บทบาทของกิเลส ในภพ ในจิตวิญญาณนี่ เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า ผู้ใดไม่ช่วยตนเอง มันก็ไม่มีเรื่องของการแก้ไข ตนเอง หรือแก้ไขอัตตา ถ้าเราไม่สำนึกเอง ไม่พยายามพากเพียรปฏิบัติเอง มันก็ไม่ได้แก้อัตตา ไม่ได้แก้ตนเอง

เมื่อไม่ได้แก้ตนเอง ตนเองอัตตามันก็ไม่หมดล่ะ ยิ่งหลงตัวเอง หยาบ หยิ่ง ผยอง เรียนรู้โดย ความรู้ ก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีแต่ความรู้ ไม่มีตัวปรมัตถ์ ไม่ได้แก้ไขอัตตา เอาแต่ความรู้มาแก้ไขตัว นึกว่าตัวรู้ หยิ่งผยองอยู่

อาตมาเห็นแล้ว ในสายที่เรียนแต่ปริยัติ เรียนโดยไม่เข้าถึงปรมัตถ์นัก ไม่มีสูง กว่าเท่าที่เห็นเลย หยิ่ง ผยอง ลบหลู่ ดูถูกผู้สูงกว่า ไม่มีญาณปัญญาที่จะรู้อะไรเพิ่มเติมขึ้น อย่างที่เห็นๆ ก็ไม่รู้ จะช่วยได้อย่างไร เพราะว่าเขาไม่ได้ศรัทธาเลื่อมใส เพราะฉะนั้น ก็ลำบาก อยากให้พวกเราได้ไป ศึกษา เพิ่มเติม ทบทวนในเรื่องเหล่านี้

การปฏิบัติธรรม ก็คือการปฏิบัติพฤติกรรม จะมีพฤติกรรม กาย วาจา ใจนี่แหละ อยู่กับการงาน ๒ อย่าง การงานทางพิธีกรรม จารีตประเพณี วัฒนธรรม กับการงานทางด้านการงานจริงๆ กิจกรรม แล้วเราก็ปฏิบัติธรรมอยู่กับกิจกรรมนี่แหละ ที่จะแก้อัตตาก็อยู่ที่กิจกรรม กับพิธีกรรม นี่แหละ พิธีกรรมอย่างนี้ เราไม่อยากทำ เราก็ต้องพยายามบ้าง กิจกรรมอย่างนี้ เราไม่อยากทำ เราก็ต้องพยายามบ้าง บอกแล้ว แก้อัตตาหรือแก้มานะก็อยู่ตรงนี้ แล้วมันจะรู้เลยว่า เราฝืด เราฝืน เราลดได้หรือไม่ได้ มันฝืดมันฝืนอยู่นั่นและเราก็ไม่เอาถ่าน แสดงว่าเราแพ้ จนกระทั่ง เรารู้ว่า เออ มันคล่องแล้วนะ มันไม่ฝืด ไม่ฝืนแล้ว ปล่อยวางได้แล้ว เราก็เห็นอานิสงส์ เห็นประโยชน์ ว่าเราละได้ ก็เพราะว่า เราปฏิบัติกิจนี้ ปฏิบัติพิธีกรรมนี้ ปฏิบัติการงานนี้

การงานใด ก็แล้วแต่ พิธีกรรมใดก็แล้วแต่ มันก็จะมีองค์ประกอบของคน ถ้าเราไปยึดติดบุคคล ไปเกลียด ไปชัง แล้วเราไม่อยากจะเข้าไปทำงานร่วม ก็เรานั่นแหละวางใจไม่ได้ อัตตาของ เราเองนั่นแหละ ชัง ผลัก มันเป็นภพเป็นชาติอยู่ ผูกพยาบาทกันอยู่ เราร่วมไม่ได้ จะด้วยวิธี การใด ก็ต้องฉลาด แม้ที่สุด เขาจะยังเป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรูอยู่ แต่เราจำต้องไปร่วมวง เราก็ไป ร่วมวงให้ได้ โดยวางให้ได้ สุดท้าย ทนได้ แม้กระทั่งว่า เขาจะทำ ท่าทางกิริยาบาดหู บาดตา อย่างไร เราก็วางเฉยได้ เราก็แบ่งออกได้ว่า ไอ้นั่น ก็คือเขา เขาก็คือเขา เราก็คือเรา

เขาไม่แก้ไข ไม่ปรับปรุง เขายังยึดยังถืออยู่ ก็คือเขายังยึดยังถือ ถ้าดีไปด้วยกันเลย เขาก็ไม่ยึด ไม่ถือแล้ว แต่เราซิ ประสบพบหน้าเขา เราก็ไม่วางสักที ทั้งๆที่ไอ้ตัวคนอื่นเขานั่นน่ะ เขาดีขึ้นแล้ว แต่ตัวเราเอง กลับยังผูก ยังยึด ยังสัมผัสแตะต้อง ไม่เห็นแม้แต่กิริยาที่เขาเปลี่ยนไป กายกรรม วจีกรรม เขาเเปลี่ยนไป ดีขึ้นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว เขาไม่ได้เป็นอย่างเก่าแล้ว แต่เราก็ยังเห็นหน้า ก็ยังสัญญาเก่า ยังกำหนดเก่าอยู่นั่นแหละ พยาบาทตัวเก่า น้ำหนักเก่า เสร็จแล้วเราก็อยู่ไม่ได้ รวมไม่ได้ ร่วมไม่ได้ นั่นแสดงว่าเราเองนี้ หน้ามืดตาบอดจริงๆ

เอาเถอะ ถึงแม้ว่า เขาจะยังไม่เปลี่ยนแปลง ดีไม่ดี เขาหยาบกว่าเก่าด้วย เราไปร่วมวงกับเขา เขาก็ยังพยาบาท ยังเกลียด ยังชัง ยังเป็นศัตรูอยู่ร้ายกาจ แต่เราวางใจเราได้ เรามีวิธีการ เรามีพฤติกรรม กายกรรม วจีกรรม ที่ประสานผสมพอได้ อยู่ได้ แล้วเราก็ใจวางอยู่ได้นั่นแสดงว่า เราเจริญแท้ แม้เขาจะไม่ดีขึ้น เราก็ดีขึ้นได้ ยิ่งเขาดีขึ้นแล้ว เรากลับไม่ดีขึ้นเลย เลวอยู่อย่างเก่า หรือเลวกว่าเก่า ไอ้นี่มันก็แย่เต็มทีแล้วคน มองอะไรก็ไม่ออก ดูอะไรก็ไม่เป็น

การกระทำงานก็ดี พิธีกรรมก็ตาม กิจกรรมก็ตาม มันก็ร่วมกับบุคคล เพราะว่าเราเป็นสังคมหมู่ สังคมกลุ่ม และสิ่งเหล่านี้ เป็นแบบฝึกหัด เป็นโจทย์ ที่เราไม่ได้จ้าง แล้วเราก็จะไปอาศัย คนที่มี ภูมิฐานอย่างสูงๆ อย่างพวกเรา ท่าทีก็ดี ลีลาก็ดี พฤติกรรมที่ออกมา มันไม่เหมือนกับคน ชาวโลกหรอก คนชาวโลกมันก็แสดงออกมาอย่างคนชาวโลก มันจะเอร็ดอร่อย จะมีลักษณะ ของอย่างโน้น อย่างนี้ มันก็ของโลกหยาบๆ ตื้นๆ เสร็จแล้วเรารู้แล้ว เราก็ไม่ยึด ไม่ถือ ไม่ถือสา เราก็ไม่ทุกข์ เราวางได้นะ แต่ในหมู่พวกเรา นี่มันสูงขึ้นมานี่ ท่าที ลีลาก็อีกอย่างหนึ่ง ยึดกัน ถือกัน เราก็วางไม่ลง

ถ้าเราวางได้ มันก็ไม่ยึด มันก็ไม่ถือ นี่ ภาษาแท้ๆ เมื่อเราวางกันได้ เราก็ไม่ยึด เราก็ไม่ถือ แล้วลีลา ของผู้ที่เป็นอยู่ในนี้ มันไม่เหมือนกับลีลาของคนข้างนอกหรอก อาตมาก็บอกไม่ถูก ว่าจะอย่างไร พฤติกรรม ท่าทางกายกรรม วจีกรรมด้วย มันก็เป็นของอย่างชาวเรา แล้วจะให้ คนข้างนอก เขามาสร้าง มาประพฤติ มาให้ดาราตุ๊กตาทอง มาทำอย่างพวกเราไม่ได้ ท่าทีลีลา อย่างพวกเรานี่ เรามีภูมิอย่างนี้ มีฐานอย่างนี้ มีความจริงเป็นอย่างนี้แล้ว มันก็จะเป็นของอย่าง พวกเรา นี่เป็นโจทย์จริง ในฐานะคนพวกเรา คุณจะไปหาคน ที่...ก็คือพวกเรากันจริงๆนี่ล่ะ เป็นองค์ประกอบ เป็นมิตร เป็นสหาย เป็นสังคมสิ่งแวดล้อม ก็เป็นของแท้ สังคมสิ่งแวดล้อม ของพวกเรา เราจะกระทบ เราจะสัมผัสกันก็ในฐานพวกนี้ คนต้องมีพฤติกรรม ลีลาอย่างนี้จริง ไปเอาคนธรรมดาเขามาแสดง ก็แสดงไม่เหมือนหรอก แสดงอย่างไรก็ไม่เหมือน ในฐานที่สูง เป็นคนที่มีพฤติกรรม สูงขึ้นแล้วนะไม่เหมือน

เราจะต้องเห็นมุมคุณค่า ประโยชน์อันนี้ว่ามิตรดีพวกเราเอง เป็นโจทย์ให้พวกเราเอง คุณไปหา ที่ไหนไม่ได้ ต้องมองมุมดีว่า ต้องขอบคุณ ขอบคุณที่เขาเป็นโจทย์ให้เรา ก็คือพวกเรา เป็นโจทย์ ให้แก่พวกเราเอง บางคนดูท่าทีร้าย บางคนดูท่าทีแรง แต่ถึงจะดูท่าที ร้ายแรงอย่างไร เราเอง เป็นคนรู้สึก เราจะได้รับ ได้กระทบ บางทีจะมีเฉพาะคู่ ว่าเราจะมี ความรู้สึก แรงเฉพาะคู่ แต่คนอื่นไม่เป็นละ แต่คนนี้ละ แหม มันรู้สึกมัน เหลือร้ายล่ะ มันท่าที ลีลามันออกมาเป็น กายกรรม วจีกรรมยังไง มันจะเป็นสำหรับบางคน เป็นบางคู่ กับคนอื่น ไม่เป็นเลยจริงๆนะ กับไอ้คนนี้ เป็นกันอยู่ไม่แล้ว ก็มันคู่อาฆาตกันมาแต่ปางไหนก็แล้วแต่เถอะ ก็ว่าไป ก็ปรับปรุงเอา เราก็ต้องทำแบบฝึกหัดเอา เพราะโจทย์เหล่านี้ไม่มีใครมาสร้างให้แก่เราได้ มันมีมา แต่ปางบรรพ์ มันมีมาตั้งแต่อะไรต่ออะไร ที่เป็นกรรมวิบาก ที่เราเอง อาตมาก็พูดไม่ได้ เพราะเป็นอจินไตย มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

จะมีกี่คู่ จะมีกี่ขั้น กี่ฐานะ บางคนมีหลายคน คนนี้หยาบแรง บางคนนี้หยาบน้อย มีอยู่อย่างนั้น เราก็ต้องทำโจทย์นี้ บอกแล้วว่า ไปหาที่อื่นไม่ได้หรอก ยิ่งคู่อาฆาตแล้ว จะไปหาที่ไหนล่ะ ไม่รู้ อาฆาตกันมากี่ชาติ จะต้องมาซัดกันกี่ชาติก็ไม่รู้ ทั้งเป็นคู่รักคู่แค้นอะไรกันก็ตามใจเถอะ เราก็ต้องทำโจทย์เหล่านี้ นี่เป็นโจทย์แท้เลย เป็นเวรานุเวรกันมากี่ปางก็ช่างเป็นไร คุณก็ต้องทำ เมื่อมันมาเป็นเวรานุเวร จะต้องมาใช้หนี้เวรหนี้กรรม คุณก็ทำไปเถอะ

ต้องฟังพระพุทธเจ้าท่านเล่า ท่านเล่าเรื่องของท่านบ้าง เล่าถึงเรื่องของคนอื่นบ้างจองเวร จองกรรม กันมาไม่รู้กี่ชาติ ห้าร้อยชาติ พันชาติอะไรมีนี่ ท่านเล่าประวัติของคนอื่นบ้าง ประวัติ ของท่านเองบ้าง ที่เกี่ยวข้องอยู่ในประวัติห้าร้อยชาติมีเยอะ อาตมาก็ยังไม่เคยอ่านสักที มีแต่เขาหยิบมา ไม่เคยไปเอาประวัติห้าร้อยชาติมาอ่านเอง มีแต่คนอื่นเขาหยิบออกมา เป็นเรื่องๆ กัน ก็ได้อ่านบ้างไปเล็กๆน้อย แต่ก็เข้าใจน่ะ นั่นน่ะ ประวัติต่างๆ นานาพวกนั้น จะเห็นได้ คนนั้นคนนี้ เป็นเวรานุเวรกันมาตั้งแต่ปางโน้น ปางนี้ กี่ชาติแก้แค้นมา ต้องมาเจอกัน ต้องมาอะไรต่ออะไรกันอยู่ มันก็เป็นธรรมดาๆ ธรรมชาติ

ก็ถือเสียว่า มันเป็นโจทย์ที่จะต้องมี อย่าไปคิดว่า เป็นคู่อาฆาตที่จะมาแก้แค้น ต้องคิดไปในทาง ดีว่าเออ เป็นคู่อาฆาตที่จะต้องมาให้เราจะต้องทำแบบฝึกหัด ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก ไม่ว่าจะเป็น คู่แค้น ทั้งนั้นแหละ เป็นประโยชน์ทั้งนั้นแหละ เป็นคู่รักก็เป็นประโยชน์ เป็นคู่แค้นก็เป็น ประโยชน์ ถ้าเรารู้จักแก้ไข คู่รักก็ต้องเลิกรักกันให้ได้ คู่แค้นก็ต้องเลิกแค้นกันให้ได้ นั่นคือ ความเจริญโลกๆ อย่าไปหลงใหลได้ปลื้มแบบ คู่รักก็จะรักกันอีก มีรักกันมากี่ชาติแล้ว ก็จะรักกัน ต่อไป แล้วเมื่อไหร่ คุณจะปรินิพพานสักทีละ ก็บ้ากันพอดี คู่แค้นก็จะแค้นกันต่อไปอีก ไม่วาง ไม่ปล่อยมันล่ะ เอ้า แล้วเมื่อไหร่ มันจะได้เลิกกันอีกเสียที

มันต้องลดความแค้น ก็ต้องลดกันให้เลิกแค้น เขาไม่เลิก เราก็เลิกให้ได้ เราอภัย เราอโหสิ มันที่เรา นี่เป็นโจทย์ มันเป็นโจทย์แท้น่ะ คู่รักก็เป็นโจทย์แท้ คู่แค้นก็เป็นโจทย์แท้ เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีโจทย์พวกนี้ จงยินดีเถอะว่าเราเจอแล้วโจทย์ชัดๆ มันจะแรง มันจะหนักอะไรก็เอา แต่นั่นแหละ ผู้ที่ยังแรงยังหนักอยู่ ก็ว่ากันจริงก็โชคดี ที่เราเจอคู่รัก คู่แค้น ที่จะต้องปฏิบัติ ประพฤติ แต่คนที่ไม่เจอ นี่น่ะนะ หรือคนที่เจอคู่รัก คู่แค้นเบาๆ บางๆ น้อยๆนี่นะ จริงๆ ก็มันเป็นทั้งโอกาส โอกาสนี้ไม่มีมา คู่รัก คู่แค้น ไม่มาเกิดร่วมยุค หรือคู่รักคู่แค้น ก็เกิดมาร่วมยุค แต่ว่าก็ได้ละ ล้าง เบาบางกันลงไปแล้ว มันก็ไม่รุนแรงเหมือนคู่รักคู่แค้นที่ยังจัดจ้าน เป็นบุญ สูงขึ้นด้วยซ้ำ บุญดีนะ บุญสูงนะ อย่างนั้นน่ะ คู่รักคู่แค้น ก็ยังอ่อนๆ บางๆ เล็กๆน้อยๆ มันไม่หนักหนาสากรรจ์อะไรกัน ก็จงรู้ตัว อย่าไปปล่อยปละละเลยจัดการล้าง เลิก

เพราะถ้าจะไปนิพพานแล้ว ต้องเลิกทุกอย่างล่ะ ไม่ว่าเรื่องรัก ไม่ว่าเรื่องแค้นอะไร จะผูกพัน ติดยึด อาลัย อาวร เหนี่ยวโน้มไปในทางกาม ไปในทางราคะ หรือว่าทางแค้น ทางเคือง ทางพยาบาท ทางที่มันไม่ชอบใจ มันชัง จะทั้งชอบทั้งชังอะไร ก็ต้องลดทั้งนั้นแหละ

ในทุกวันนี้ พวกเรามีภูมิสูงขึ้น แต่ไม่พยายามสังวรระวังกันนัก เพราะฉะนั้น การเจริญอันนี้น่ะ จะว่าอาตมาไม่เก่งก็ได้ ที่อาตมาพยายามอธิบายแล้ว เอ๊ อย่างไร เข้าใจกันไม่ดี แล้วในภาวะ ที่จะปฏิบัติ พากเพียรเพิ่มขึ้นนี่ ไม่ค่อยทำขึ้น จะเป็นเพราะว่า อาตมาไม่เก่งนี่แหละ อาตมาไม่ เก่งบรรยายกัน หรือบอกกันให้ชัดมันไม่ชัด ถ้าชัดแล้ว อาตมาเชื่อว่าพวกเรา จะสำนึกสังวร เพื่อความหวังดีให้แก่ตัวเอง แล้วก็มันเป็นผลทั้งหมู่ด้วยแหละ ให้แก่ตัวเองได้ มันก็เป็นหมู่ได้

ถ้าฐานพวกเรานี่ สามารถที่จะลดอัตตามานะ หรือภวตัณหาในระดับสูงๆขึ้นไปได้ ความเป็น ปึกแผ่น ความพรักพร้อม แม้แต่พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิก พร้อมเพรียงกัน ทำกิจ มันเป็นลักษณะรวมจริงๆนะ ศาสนาบอกแล้วว่าเป็นไปเพื่อความร่วมความรวมกัน ร่วมกัน รวมกัน เป็นสหาโย สห นี่เป็นเรื่องของความร่วมกัน สห ร่วมประโยชน์ มันเป็นเรื่องของ การร่วม สร้างสรร เป็นประโยชน์ร่วมคุณค่าสห อายะนี่ สหาโย สหายะ สหกับอายะ อายะคือประโยชน์ ร่วมกันสร้างสรร ร่วมกันสร้างประโยชน์ ร่วมกันทำประโยชน์ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน

สุดท้าย ผู้ที่ปฏิบัติธรรมอย่างสูงแล้วเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์แล้วร่วมกันสร้างประโยชน์ ทำการงาน การงานที่มันจะเป็นการสร้างสรรโลกๆนี่แหละ ร่วมกันสร้างจริงๆ เป็นตัวอย่าง จะเป็นตัวมวล มวลที่เป็นมวลนำพากัน จูงนำกัน เป็นแบบ เป็นแผน ช่วยกันไปได้ นี่เป็นเรื่อง ละเอียดลออ อย่างนั้น

นี่เป็นจุดที่อาตมาอยากจะย้ำพวกเรา ให้พวกเราได้เข้าใจ เพราะฉะนั้น สังวรระวังกันขึ้น จะเป็น ฆราวาสก็ดี เป็นนักบวชก็ตาม เราก็พยายามกันบ้าง แล้วเราก็จะเจริญขึ้นได้อย่างแท้จริง

อาตมาจะเอานาถกรณวรรคในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๔ เอามาอ่าน ตอนนี้มันทสกนิบาต อาตมาว่า จะเอาทสกนิบาต มาค่อยๆเกลี่ยสูตรต่างๆ ไปเรื่อยๆ เพราะทสกนิบาต มีแง่เชิงตั้ง ๑๐ หลัก มันสูง มันละเอียดดี อาตมาว่าละเอียดๆอย่างนี้มาค่อยๆอธิบายกันไป เคยเอามาอธิบาย แต่ก่อนนี้ ก็ไม่นานนัก แล้วก็ได้พักไป ก็เอามาทบทวนอีก เราได้อธิบายไปแล้วในวรรคแรก คือ อานิสังสวรรค วรรคแห่งประโยชน์ วรรคแห่งอานิสงส์ อานิสงส์ของตั้งแต่ กิมัตถิยสูตร เรื่องของ ศีล แล้วก็เจตนาสูตร ก็หมายความว่า มีจุดทั้งลึกๆ แล้วก็สีลสูตร สีลสูตรมันจะมีเหตุ มีผล มีผลอย่างไร แล้วก็อุปนิสาสูตร สูตรที่สั่งสมลงเป็นนิสัย อานันทสูตร เป็นความยินดี จนกระทั่ง เข้ามาสมาธิสูตร แล้วก็สารีปุตตสูตร สัทธาสูตร สันตสูตร ก็ไปหา วิชชยสูตร สุดท้าย ซึ่งก็ได้อธิบายกันมา พอสมควรแล้ว

ก็มีตัวหลักๆ คร่าวๆ อย่าง กิมัตถิยสูตร ก็สีลมีอานิสงส์อย่างไร ก็เป็นตัวหลัก เจตนาสูตร ก็ เป็นการเสริม สีลสูตรก็เป็นการเสริมเข้าไปอีก เสริมเข้าไปให้เห็นว่าผู้ใดไม่ มันก็ไม่ ผู้ใดเอาจริง มันก็จริง จนกระทั่งสั่งสมลงเป็นอุปนิสัย สั่งสมลงเป็นความยินดี หรือเป็นปีติ หรือเป็นความ เข้าใจในจิต ว่าเราได้ดี มีดี เป็นดี จนกระทั่งเราไม่เป็นอุปกิเลส แล้วก็เป็นสมาธิ สั่งสมลงไปแล้ว เราก็กลายเป็นผู้ที่ลึกซึ้งไปถึงปรมัตถ์ เป็นผู้ที่รู้จักในการสังวร สำรวม ในอารมณ์ต่างๆ สารีปุตตสูตร เป็นผู้ที่รู้ในธาตุต่างๆ ในอารมณ์ต่างๆ จนเลื่อมใส ศรัทธา เป็นสัทธาสูตร ศรัทธาก็เป็นอย่างไร มีศีล มีพหูสูตอะไรต่างๆ นานา จนสมบูรณ์ เป็นวิชชา วิชชาก็มาระลึก ทบทวน จนกระทั่งถึงอาสวะ วิชชาสูตรก็รู้จักเตวิชโช รู้จักการระลึกทบทวน ให้เห็นว่า เราเอง มีสภาพอย่างไรกันแน่ เป็นปรมัตถ์จนกระทั่งทบทวนไป ทบทวนมา ก็รู้ความเกิด ความดับ กิเลสเกิดหรือกิเลสดับ จนสิ้น จนสุด จนถอนอาสวะก็เข้าใจ เป็นวิชชยสูตร

เอ้า ทีนี้อันนั้นเป็นประโยชน์ เป็นอานิสังสวรรค เป็นวรรคที่ว่าด้วยประโยชน์ที่แท้ ทีนี้มาดู นาถกรณวรรค วรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นที่พึ่ง นาถะเป็นที่พึ่ง เราทำอย่างนี้ได้ แล้วจะเป็น ที่พึ่งของเราไป คงมี ๑๐ สูตรเหมือนกันมั้ง ก็ว่านะ นาถกรณวรรคนี่ มี ๑๐ สูตร เหมือนกันน่ะนะ

เสนาสนสูตร
เล่ม๒๔ ข้อ ๑๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะก็คือที่อยู่ ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่ คบอยู่ นี่ก็มีคำว่า อยู่ สังเกตนะ เสพอยู่ คบอยู่ ซึ่งเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก พึงทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

อ่านต่อหน้าถัดไป

2407A.TAP