ทิ้งอะไร-ทำอะไร
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
ทำวัตรเช้า เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๕
ณ พุทธสถาน ปฐมอโศก



เสนาสนะสูตร อาตมาก็ได้อธิบายให้ฟังแล้ว ทีนี้มาอังคสูตร ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๑๒ นี่ เริ่มต้น อังคสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ บัณฑิตเรียกว่า ผู้ประกอบ ด้วยคุณทั้งมวล ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอุดมบุรุษ ในธรรมวินัยนี้ [ก็หมายความ ธรรมดา มีผู้ละองค์ ๕ อะไรจะเป็นองค์ ๕ เดี๋ยวจะได้รู้ ละองค์ ๕ แล้วได้แล้ว ท่านเรียกว่า เป็นผู้ประกอบ ด้วยคุณ คุณก็คือ ความดีงามทั้งหลายทั้งแหล่ ผู้ประกอบด้วย คุณทั้งมวล ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นผู้อุดมบุรุษ ถึงขั้นเป็นอรหันต์ทีเดียว เพราะว่าเป็นผู้อยู่จบ พรหมจรรย์ เลย เป็นพระอรหันต์ เลย เป็นอุดมบุรุษ เป็นบุรุษเลิศ เป็นคนยอด คนเลิศเลย องค์ ๕ นั้น จะมีอะไร เราดูต่อไป]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้วอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละกามฉันทะได้แล้ว ๑
ละพยาบาทได้แล้ว ๑
ละถีนมิทธะได้แล้ว ๑
ละอุทธัจจะกุกกุจจะได้แล้ว ๑
ละวิจิกิจฉาได้แล้ว ๑

ตกลง ที่ละได้นั่น องค์ ๕ ที่ว่านั่น ปัดโธ่ ของเก่า หน้าตาโบราณเก่าๆ ไม่ได้ลึกลับ ไม่ได้แปลก ไม่ได้ใหม่อะไรเลย แต่นั่นแหละ เรารู้ทั้งรู้นั่นนะ ชื่อมัน ก็รู้จนชินชา จนกระทั่งเฉยเมย ทว่ามันมี จริงๆ มันเป็นเรื่องจริงนะ นิวรณ์ ๕ นั่นแหละ เป็นอาหารของอวิชชา เมื่อเราละนิวรณ์ ๕ ได้สิ้น เกลี้ยง จริงๆเลย ไม่เหลือไม่หลอเลยนะ เราก็พ้นอวิชชาหมด อย่างนี้ก็ยืนยันอีก พระพุทธเจ้า ก็ยืนยันอีก ละองค์๕ ได้แล้วจริงๆ นี่นะ เป็นผู้ประกอบด้วยคุณทั้งมวล หมายความว่า ดีเยี่ยม ละ ดียอดเลย เป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอุดมบุรุษ เป็นคนเลิศ เป็นคนสูงสุด เป็นอุดม อุตมะ เป็นคนสูงสุด สมบูรณ์ ละองค์ ๕ ที่ว่าเรามาพูดกันให้หมด อธิบาย ให้ละเอียด ซ้อนเชิงเข้าไป เรื่อยๆ อีก เอาต่ออีกหน่อย เอาให้มันจบๆๆ เพราะอันนี้ มันเป็นองค์ ๑๐ ทั้งหมดมี ๑๐ มันต้อง ๕ สอง ๕ นะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุละองค์ ๕ ได้แล้วอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วย องค์ ๕ อย่างไร [นอกจากละองค์ ๕ แล้ว ยังประกอบด้วยองค์ ๕ อีก] ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ประกอบด้วยศีลขันธ์ อันเป็นของพระอเสขบุคคล๑
ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ อันเป็นของพระอเสขบุคคล๑
ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ อันเป็นของพระอเสขบุคคล๑
ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์ อันเป็นของพระอเสขบุคคล๑
ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ อันเป็นของพระอเสขบุคคล๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ บัณฑิตเรียกว่า ผู้ประกอบ ด้วยคุณทั้งมวล ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอุดมบุรุษในธรรมวินัยนี้ ฯ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา ย่อมไม่มีแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวงเทียว ภิกษุผู้ เช่นนั้น สมบูรณ์ด้วยศีล อันเป็นของพระอเสขะ ด้วยสมาธิอันเป็นของพระอเสขะด้วยปัญญา อันเป็นของพระอเสขะด้วยวิมุตติอันเป็นของพระอเสขะ และด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็น ของพระอเสขะ ภิกษุนั้นแล เป็นผู้ละองค์ ๕ สมบูรณ์แล้วด้วยองค์ ๕ ภิกษุนั้นแล บัณฑิต เรียกว่า ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งมวลในธรรมวินัยนี้ ฯ

ละ ๕ ประกอบสมบูรณ์อีก ๕ เพราะฉะนั้น มันจะต้องเกี่ยวกัน สิ่งหนึ่งละ สิ่งหนึ่งเจริญ เจริญ ด้วยศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ขันธ์นี่คือ กอง คือ สภาพที่มันมาประชุมกัน มันเกิดเป็นสภาพที่รวมกันขึ้นมากอบก่อกันขึ้นมาเป็นของจริง ที่เกิดจริง มีจริงเป็นจริงขึ้นมา มันเป็นเรื่องของนามธรรม เป็นเรื่องจิต เจตสิก เราละกิเลส ด้วยศีล ทฤษฏีของพระพุทธเจ้านี่ ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญา สิกขา การศึกษาของท่าน ๓ อย่างนี้ หรือมรรค ๘ เราก็แบ่งเป็น การศึกษา ๓ เหมือนกัน

เมื่อรวมกันแล้ว เรามีศีลขึ้นมา เราฟังเราเรียนรู้สัมมาทิฐิ เข้าใจทิศทาง เข้าใจสภาพ ที่เราจะ ปฏิบัติ ว่าเราจะปฏิบัติอะไร ที่จริง เวลาจะเรียนสัมมาทิฐินี่ คำว่าทิฐินั่น ท่านบอกว่า ให้มอง ให้เห็นพ้นมิจฉาทิฐิ คืออะไรก็ได้ พูดแล้ว แล้วทีนี้ ก่อนจะเป็นพระอริยบุคคล จะเริ่มต้นเป็น โสดาปัตติมรรค จะเดินเข้ามรรคเข้าทางนี่นะ จะเดินเข้ามรรคเข้าทาง เราก็จะต้อง เป็นผู้ที่เห็น ทุกข์ แล้วก็รู้เหตุแห่งทุกข์ ต้องปหานทุกข์ ทุกข์ต้องรู้จริงๆนะ เราจะต้องเป็นผู้รู้ รู้ว่า มันทุกข์ เมื่อมันทุกข์ ก็พยายามตามหาเหตุ ตามหาเหตุที่ไหน เหตุที่จิต เหตุที่กิเลสในจิต สมุทัยกิเลส ตัณหา อุปาทานของจิตนี่แหละ ตามจับให้มันให้ได้จริงๆ เป็นอาการ แม้แต่พ้นมิจฉาทิฐิ

อาตมาเคยย้ำให้ฟังมากมายแล้วว่า จะพ้นมิจฉาทิฐิได้ ก็ตรงที่เราจับจิต จับเจตสิกของเรา ด้วยอาการ ลิงคะ นิมิต จับรูป จับนาม วิญญาณ เกิดญาณ เกิดปัญญา อธิปัญญานี่แหละ ตัวธาตุรู้ ที่รู้ยิ่ง รู้เยี่ยม รู้ยิ่งกว่า ยิ่งกว่าคนธรรมดาๆ รู้แต่เรื่องหยาบๆ ไม่เคยจับอารมณ์ ไม่เคยจับกิเลส ไม่เคยจับสภาพที่มันเป็นนามธรรม ในจิตในใจของตัวเองเลย

พอเรามาเป็นนักปฏิบัติธรรม เราจะต้องหัดจับอาการ เมื่อไหร่มันยิ่งเกิดปัจจุบันธรรม ขณะนี้ กำลังเกิดกาม ขณะนี้กำลังเกิดพยาบาท ขณะนี้กำลังเกิดอาการถีนมิทธะ เห็นหน้าเห็นตา มันเลย มันเป็นยังไง มีสติให้แรง ถีนมิทธะกับสตินี่ มันจะตรงกันข้ามกัน เพราะถีนมิทธะแล้ว มันไม่ค่อยมีสติ สติมันจะตก มันจะไม่มีแรงของปัญญา ไม่มีแรงของการตรวจสอบ ไม่มีแรง ของจิตตัวแรงที่จะไปจับรู้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องพยายามให้ตื่น หรือเราพยายามจะใช้ ตัวญาณนี่แหละ พยายามจะใช้ญาณ หรือว่าเป็นตัวตำรวจของเรา เข้าไปจับเจ้าถีนมิทธะ ตัวที่มันจะง่วง มันจะไม่รู้ตัว มันจะไม่รู้เนื้อรู้ตัว ในภวังค์ ในจิตของเรา ในจิตใจของเรา เราจะต้อง อ่านเข้าไปจับตัวมัน ตัวญาณตัวนั้นก็สามารถที่จะจับ ชำแรกเจริญขึ้นมา มีฤทธิ์ มีแรงขึ้นมารู้อ่านได้ โอ๋ อาการอย่างนี้เอง อาการง่วงๆ เหงาๆ หาวๆ อาการอยากที่จะซึม อยากจะหรี่ อยากจะหลับ คนเราหลับเป็นยังไง ก็คงพอรู้เฉพาะเราเคยหลับมาทุกคน มันอยาก จะลงไปยังงั้น อยากจะหลับ อยากจะไม่นึก ไม่คิดอะไร ปล่อยตัดทวารทั้ง ๕ หยุด ไปอยู่ในภวังค์ ทวารใน คือ ภวังค์จิต และจิตเป็นยังไง อยู่ในทวารจิต แล้วก็ไม่ตื่น ไม่มีสติในภพด้วย อยู่ในทวารจิต ก็จะหรี่ลงๆๆ ต้องบอกว่าจิตเริ่มหรี่

อาตมาเคยอธิบายมาหลายครั้ง หลายคราวแล้วว่า มันจะต้องมีคำว่าๆตื่น รู้สึกตัว มีสติเต็มร้อย รู้ตัวอย่างเต็มโพลง เบิกบาน แจ่มใส เต็มเป็นอย่างไร เราก็รู้ตัวให้ได้ พอเริ่มหรี่ขึ้นมานิดหนึ่ง มันไม่ตื่นแจ่มใสเต็มเลยนี่ นั่นแหละ มันเริ่มเป็นถีนมิทธะแล้ว ถ้ายิ่งมันหรี่สะลึมสะลือเข้าไป ยิ่งไม่รู้เนื้อ ไม่รู้ตัว ยิ่งสติตกมากเท่าไหร่ นั่นแหละ ตัวถีนมิทธะมากเข้าไปเท่านั้น ยิ่งกำลังจะเป็น ตัวถีนมิทธะเต็มร้อย มันยิ่งหนักหนา สากรรจ์ อย่างนี้เป็นต้น เราก็ต้องอ่านจริงๆ อุทธัจจะ ฟุ้งซ่านไปคิดรำคาญใจ ทุกข์ร้อน กุกกุจจะ รำคาญ มันไม่ได้เป็นสุข มันไม่ได้สบายอะไร นั่นแหละ เรียกว่า อุทธัจจะ ฟุ้งซ่านที่หยาบแล้วนะ อุทธัจจะที่หยาบแล้ว มันฟุ้งซ่านไป ไม่ได้เรื่องได้ราว ไม่ได้ประโยชน์คุณค่าอะไร คนเราคิดนึกอุทธัจจะที่ไม่มีกุกุจจะ ก็คือ มันมีการ ฟุ้งซ่านอยู่บ้าง จิตมันคิดไปอะไรต่ออะไรไป

ถ้าเราเจตนาจะคิด มันก็คือการดำริ สังกัปปะ หรือการคิด การคิดกับการฟุ้งซ่านต่างกัน ฟุ้งซ่าน ก็คือคิด บางทีเราไม่ได้จัดการกับมันคิดไม่ได้ควบคุมให้มันคิดหรอก จะคิดเรื่องอะไร ไม่รู้ทิศ ไม่รู้ทางด้วย มันปรุง มันคิดมันฟุ้งไป เรื่องนั่นเรื่องนี่ไปตามอารมณ์ อารมณ์ชอบ คิดเรื่องนั่น เรื่องนี่ ผกผันอะไรไป มันก็เป็นเรื่องของอุทธัจจะ ถ้ายิ่งอุทธัจจะ ที่ผกผันฟุ้งซ่านนั่น ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ราว ซึ่งเราจะต้องรู้ว่า ไม่ได้เรื่องได้ราวอย่างไร มันคิดไปในทางไม่ดีด้วย คิดไปทางหาเรื่อง กาม หาเรื่องพยาบาท นั่นแหละเป็นต้น คิดไปในทางที่จะฟุ้งซ่านในเรื่องจะหาอะไรมา บำเรอตน จะหาอะไรมาแก้แค้น หรือว่าคิดไปแล้ว ก็วนก็หมุน ก็โมหะ ก็วุ่นวายหลงเลอะเทอะ เปรอะเปื้อน อะไรไป ไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย ไม่เป็นเหตุ ไม่เป็นผล เราก็จะต้องรู้ว่าคิดไม่เข้าเรื่อง

ถ้าคิด ให้มันเข้าเรื่อง จับการคิดให้ดีๆ จะคิดอะไรก็รู้ จะปรุงอะไรก็รู้ จะพิจารณาอะไรก็รู้ อย่างนี้ เร็วกว่า มันไม่ใช่อุทธัจจะ มันเป็นสังกัปปะ ตักกะ วิตักกะนั่นแหละ เป็นการตริ การตรอง การนึกคิด การดำริ ในทางการงานทางจิต การให้เกิดกรรม การงาน ทางจิต เราก็คิดอยู่ในภพ นั่งอยู่ในภพ เราก็คิด เวลานั่งสมาธิอยู่ในภพ หรือ เวลาเราทำเตวิชโช ด้วยวิธีนั่ง นั่งสมาธิ หรือ สงบแล้ว ก็ระลึกเรื่องราวอะไรขึ้นมาเป็นเจตนา สังกัปปะ เราจะระลึกย้อนไปในเรื่องอะไร ทบทวนอะไร มันไม่ใช่อุทธัจจะกุกกุจจะ

พวกสมาธิพาซื่อนี่ เขาจะไม่ให้มีอุทธัจจะ ไม่ให้มีฟุ้งซ่านอะไรเลย เขาจะไม่คิดไม่นึกอะไรเลย ปล่อยให้จิตว่างๆ สงบก็คือ ว่าง ไม่คิดอะไรเลย อยู่กับจิต อยู่กับกสิณอะไร ก็อยู่กับกสิณอันนั้น ไม่คิด ไม่ปรุงอะไรเลย หนึ่งเดียวๆนะ ถ้ารู้ลมหายใจ ก็คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็คือ ลมหายใจออก หนึ่งเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร นั่นเป็นวิธีสมถะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ เขาก็คือ ใช้วิธี ไม่ปรุงอะไร ทั้งนั้นแหละมันหยุดดื้อๆ พวกนี้จะไม่มีปัญญาอะไร ไม่เกิดการดำริอะไร ไม่เกิดการ พินิจพิเคราะห์ ไม่เกิดการอ่านอะไร แต่แรกๆ วิธีต้น เราจะทำสมาธิแบบฤาษีนี่ จะอยู่ในภวังค์ นี่แหละ จิตมันฟุ้งซ่าน จิตมันไม่หยุด จิตมันไปอะไรมากมาย ก็นั่งสมาธิเข้า ก็มีลมหายใจ เข้าออก ทำกสิณหรือจะเอาอะไร ก็แล้วแต่ ใครจะนึกจะคิดภาพอะไรไว้หนึ่ง และให้จิต มันรวมตัวลงมา จนกระทั่งจิตไม่ฟุ้งซ่านมาก แล้วทีนี้ เราก็ตั้งใจ ตั้งจิตว่า เออ จะหยิบเรื่องนั่น เรื่องนี้ ขึ้นมาดำริ มาคิดมานึก

วิธีทำส่วนใหญ่ของสมาธิแล้ว เขาก็จะพิจารณา เขาก็จะทำอย่างนั้น มันฟุ้งซ่าน ก็ให้มัน สงบก่อน พอสงบแล้ว เออ พอสมควรแล้ว ก็อะไรมาพินิจพิจารณาตรวจสอบ ทำเตวิชโช ก็เหมือนกัน จะปุพเพนิวาสานุสติ จะระลึกย้อนเรื่องราวอะไรขึ้นมา ก็เหมือนกันนั่นแหละ ให้จิต สงบขึ้นมาหน่อย ก็เอาระลึก เรื่องนั่นเรื่องนี้อะไร เราก็หยิบมาคิดน่ะ ทำให้เป็นหนึ่งจริงๆ แม้ว่า เราจะได้ยินเสียง ตาเราจะหลับแล้ว ไม่เห็นรูปอะไร ไม่ได้กลิ่นหรือจะได้กลิ่น เราก็ตัดได้ ลิ้นเรา ก็ไม่ได้รับรสอะไรแล้ว ก็ไม่ได้กินอะไรอมปากอยู่แล้ว เนื้อกายอะไรก็ไม่ได้รับอะไรนักหนา จะมีอากาศร้อน อากาศเย็นอะไรบ้าง ก็ไม่ได้กวนใจอะไรเกินไปนัก

แสดงว่าทวาร ๕ ข้างนอก ไม่ได้กวนใจอะไรมากสามารถคิดนึกอยู่ในภพ เราไม่ต้องไปเอาใจใส่ อะไร ในตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วเราก็คิดนึกอะไรได้ คิดไปมันจะวอบๆ แวบๆบ้าง ได้ยินเสียงอะไร เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ถึงกับทำลายสมาธิ ทำลายความคิดนึกเตวิชโช ไม่ทำลายให้เราเสียเรื่อง กำลังพิจารณา เรื่องนั่นเรื่องนี่ ก็ไม่เสียเรื่องอะไร ทำได้ นี่เราก็เป็นสมาธิแล้ว เป็นสมาธิแล้ว ทวารทั้งห้า ข้างนอก ไม่ยุ่งไม่กวนอะไร ในขณะคิดนั้นเป็นเรื่องอะไรล่ะบำเรอ คิดหากาม มาบำเรอ หรือคิดหาพยาบาท มาบำเรออะไร ไม่ได้คิดหากามมาบำเรอ ไม่ได้คิดพยาบาท มาบำเรออะไร ไม่ได้คิดจะแก้แค้นขุ่นเคือง โกรธคนนั้นอะไรคนนี้ หรือแม้ว่า มันซ้อนนะ เรื่องของ กามนี่แหละ คิดนึกไปถึงเรื่องของกาม เหตุของกาม โอ๋ เรายังมีกามมากนิ นี้ผู้หญิงผู้ชาย ระลึกไปถึง ผู้หญิงคนนี้เราชอบใจ ผู้ชายคนนี้เราติดใจ แล้วเราก็พิจารณาอย่างนี้ ต้องพิจารณา ให้จริงๆ เลยว่า เราไปติดในเรื่องกามกับพวกนี้ เราเตวิชโชนะ เป็นการปุพเพนิวาสานุสติ

มีเหตุการณ์ ตรงนั้นตรงนี้ เราไปชอบใจอะไรเขา กิริยาอย่างนั้น เวลาอย่างนั้น ได้คุยกัน โอภา ปราศรัย ดีไม่ดี ได้ใกล้ได้ชิดอย่างนั้นอย่างนี้ ได้เห็นสายหูสายตาอย่างนั้นอย่างนี้ ได้ยินคำพูด อย่างนั้นอย่างนี้ มันหวานใจเหลือเกิน มันซาบซึ้งเหลือเกินอย่างโน้นอย่างนี้ อะไรก็นำมาคิด ให้เห็นว่านั่น มันเป็นกาม อย่างนั้นๆ ให้เห็นความเกิดความดับอันเป็นอริยะ โดยความเป็นอริยะ ที่เราผ่านมาแล้ว ที่ท่านบอกมาแล้ว พูดมาแล้ว ให้เห็นความเกิดความดับที่เป็นอริยะ เป็นผู้มี ปัญญา ประกอบด้วยปัญญา ที่เห็นความเกิด และความดับเป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ในเสนาสนะสูตร นี่ เราก็ผ่านมาแล้ว

จะต้องเป็นผู้มีปัญญาอย่างนี้แหละ มีปัญญาไปประกอบด้วย เห็นความเกิดและดับ กิเลส มันเกิด และกามมันเกิด มันชอบใจยินดีพอใจ หรือคู่อาฆาต คู่แค้น คู่เคือง แหม สัมผัส กันแล้ว ตอนนั้น ตอนนี้ เราพอสัมผัสกัน เห็นท่าทีกิริยา เราก็เกิดไม่ชอบ เขาพูดอย่างนั้น เขาทำยังงี้ เราก็ไม่ชอบใจ แล้วก็เกิดทะเลาะกัน เกิดไม่พอใจกัน มันเรื่องอะไร ถ้าเราจะวางใจ ถ้าเราจะ ประสาน จะสมานอะไร เราก็พิจารณาอย่างนี้เป็นสังกัปปะ ที่มันจะเกิดกามวิตก หรือ พยาบาทวิตก หรือ วิหิงสาวิตก เราทบทวน นี่ ไม่ใช่เหตุการณ์ปัจจุบัน เตวิชโชคือระลึกสิ่งที่ แล้วมา สิ่งที่เกิดแล้ว เอามาพิจารณาทบทวน ต้องกระทำ ควรกระทำจริงๆ นะ มีเวลาต้องนึก ทบทวน ควรกระทำ แล้วก็ตรวจสอบให้ละเอียดลออ แล้วเราก็จะได้ตั้งใจใหม่ว่า เออ อย่างนี้ มันไม่ดีนะ เกิดอาการอย่างนี้ ไม่ดี เราจะต้องระงับ ทีหลังถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ได้ประสบ สัมผัสกันจริง แล้วล่ะก็ เราจะต้องไม่ให้เกิด จะต้องดับ ไม่ให้กิเลสของมันมาเกิดอย่างนี้ๆๆอีก เป็นการรู้เรื่องรู้ราว ตั้งอกตั้งใจ รู้ความผิดความพลาด รู้สิ่งเจริญจริง หรือไม่เจริญจริง สิ่งที่เสื่อมจริง สิ่งที่เลวตกต่ำอยู่จริงๆอะไร ตรวจสอบจริงๆ รู้ความเกิด ความดับ เป็นอริยะ นี่ความเกิดความดับ ที่เราต้องรู้ว่าอะไรเกิด อะไรดับ ทบทวนอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้น

เมื่อเราทบทวน เป็นสังกัปปะ ก็รู้ว่า สังกัปปะไม่ใช่อุทธัจจะ มีเรื่องมีราว แม้จะได้ปัญญา แต่แค่ ปุพเพนิวาสานุสติปัญญา หรือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณหรือปัญญานี่อันเดียวกัน เราก็จะเกิดญาณ เกิดปัญญารู้แต่แค่บัญญัติก่อน แค่ตั้งใจไว้ก่อน เสร็จแล้ว เกิดปฏิบัติ เกิดพบจริง ประสพจริง มีสัมผัสแตะต้องจริง คนที่เป็นคู่ของกามหรือคนที่เป็นคู่ของพยาบาท เป็นเหตุปัจจัย สัมผัสจริง เกิดเหตุการณ์จริงขึ้นมา เราก็อ่านจิตวิญญาณจริงๆ ในปัจจุบัน นั่นเทียว เป็นปัจจุบันอยู่ เข้าถึงอยู่ เห็นอาการที่มันเกิดกาม เกิดพยาบาท เราก็ต้องจัดการกับมัน เดี๋ยวนั้นๆ ให้มันลดมันละเดี๋ยวนั้น ตัวที่เป็นทิฐิ สัมมาทิฐิ เรารู้แล้ว ว่าอะไรเป็นอะไร

ผู้ที่จะเป็นสัมมาทิฐิ พ้นมิจฉาทิฐิ จริง เรื่องของปรมัตถ์ ก็คือผู้นั้นกำลังเห็นอนิจจัง แล้วอนิจจัง ก็คือ กิเลสเกิด ตอนนี้สัมผัสอยู่จริงเลยนะ สัมผัสจริงเลย ตัวเหตุปัจจัย ตัวเรื่องเลยนี่ เรากำลัง สมมุติ ถึงเรื่องกาม เป็นต้น คู่กามคู่สัมผัสกันเดี๋ยวนี้นี่เกิดเลยนะ ตอนนี้ก็เกิดเลยเดี๋ยวนี้ อ่านใจ ของเรา เดี๋ยวนี้เลย เห็นอาการกิเลส ดูซินี่มันชื่นใจชอบใจอะไรต่อมิอะไรที่เป็นราคะ ที่เป็นกาม เห็นอาการอย่างนั้น แล้วเราก็พยายามด้วยวิธีสมถภาวนา หรือ วิปัสสนาเดี๋ยวนั้นเลย

คุณพิจารณาบ่อยๆ มันจะมีฤทธิ์แรงจริงๆ ด้วยความรู้รอบ ด้วยญาณปัญญา ตัววิปัสสนา ปัญญา นี่แหละ วิปัสสนาญาณนี่แหละ มันทำให้กิเลสนี่ห่อตัวเลย นะ ลดละเลยนะ ทำมันได้ จริงๆเลยนะ ขณะใดที่คุณจับจิต เจตสิก ได้ในเหตุการณ์ปัจจุบัน แล้วก็ทำให้มันจางคลาย ลงไปได้ โดยความรู้จริงเลยว่า ถ้าเราจะพูดอย่างนี้ คุยกันอย่างนี้ หรือเรากิริยาท่าทางอย่างนี้ ขึ้นมาชื่นใจ เป็นสุข เป็นเจริญใจนี่ มันเป็นกิเลสนะ มันเป็นการให้อาหารของจิต มันเป็นการให้ กาม เป็นการตรึกไปในกาม เป็นกามวิตก อย่างนี้เราดำริหรือเราจะให้เกิดกิเลส เกิดอาหารจิต มันเป็นการใส่เชื้อกามนะ ก็ยิ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์โตขึ้น เป็นสมุทัยที่โตขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ได้ เราจะต้องปหานสมุทัย ต้องปหานตัพพา ปหานต้องฆ่า ต้องลดมันให้ได้ ทำให้มันฝ่อให้ได้

ตัวนี้ตัวกามแท้ สมใจในกาม บอกแล้วโลกียสุข คือการเสพสม สุขสม ได้สมใจพอใจในกาม ยินดีในกาม ยินดีในอาการของการได้ที่มันไปเกิดภาวะผูกพัน ภาวะเอร็ดอร่อย เป็นอัสสาทะ รสที่พอใจ ยินดีในเรื่องสมใจจะรัก จะชอบ จะเพิ่มไปในทิศทางที่มันเจริญงอกงาม ของกาม อันนี้ผิดทางแน่นะ เราอ่านจริงๆ แล้วก็ให้มันลด จาง คลายลงมาให้ได้

ถ้าคุณทำให้มันลดจางคลายเมื่อไหร่ จะต้องลดจริงๆ อ่านให้ออกจริงๆ ว่าในจิต เจตสิก นี่คือ กิเลสตัวนี่แหละ จับให้มั่นคั้นให้ตายนี่แหละฝ่อลงไปเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเดินทางเข้าโสดาปัตติ มรรค ทำให้สักกายทิฐิเห็นตัวตน สักกายคือตัวจริงเลย ตัวกิเลสกาม ทำให้กิเลสกามนี่ ตัวเป็นเหตุ กิเลสกามนี่ เป็นกิเลสเป็นทุกข์ สมุทัยเลย เป็นกิเลสแห่งกามเลย ทำให้มันลด มันละ มันจาง เมื่อนั้นกำลังเดินทางเข้าสู่โสดาปัตติมรรค ทำบ่อยๆ ก็คือเดินมรรคเข้าไปเรื่อยๆๆๆๆ เข้าไปเป็นผล สะสมเป็นผลๆ สะสมเป็นกุศลวิบาก เรื่อยไปๆๆๆ เราจะพ้นมิจฉาทิฐิ ต่อเมื่อ เราจับจิต เจตสิกได้เป็นของแท้ เป็นปรมัตถ์ เป็นจิต เจตสิก เห็นอาการ ลิงคะ นิมิต ของมันจริงๆ จับรูปนาม ของมันได้จริงพ้นมิจฉาทิฐิ

เราฟังไปนี่เป็นทิฐิโดยบัญญัติ ทิฐิด้วยปริยัติ ทิฐิด้วยภาษา เป็นทิฐิความเห็นความเข้าใจ ด้วยภาษา ด้วยเข้าใจ ด้วยโวหาร ยังไม่ใช่ความมีทิฐิที่เห็นของจริง เป็นการเห็นหรือรู้ หรือเข้าใจ ด้วยความรู้ พอคุณเอาตัวคุณไปปฏิบัติเมื่อไหร่ คุณมีอาการที่ได้ปฏิบัติ จับจิต เจตสิก จับอาการ มันได้เมื่อไหร่ รู้ว่านี่คือกาม หรือว่านี่คือพยาบาท หรือจะรู้ว่าถีนมิทธะ จะรู้ว่าที่นี่อุทธัจจะ กุกกุจจะ รู้ว่าตัวนี่คือเป็นวิจิกิจฉา ยังรู้ไม่แจ้ง ยังจับไม่จริง ยังสงสัยว่า เอ๊ อันนี้มันรูปนาม หรือเปล่า นี่เป็นจิต เจตสิกหรือเปล่า อันนี้มันกิเลสหรือเปล่า อันนี้มันกามหรือเปล่า อันนี้มัน พยาบาทหรือเปล่า อันนี้คือเบียดเบียน คือวิหิงสาวิตก ตรึกไปในทางวิตก ตรึกไปในทาง เบียดเบียน หรือเปล่า คุณยังสงสัยอยู่ เป็นวิจิกิจฉาอยู่ แสดงว่ายังไม่แม่นไม่มั่น ไม่มีปัญญาพอ ไม่มีความเห็น ความเข้าใจพอที่จะรู้ปรมัตถ์ เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่ายังไม่แน่นอนอย่างนี้ เอ๊ นี่ จิตหรือเปล่านี่ รูปนามนี่ สิ่งที่ถูกรู้ ขณะนี่จับมั่นอันนี้ กิเลสมันเป็นอาการของจิต อาการในจิต เรียกอย่างนี้มันว่ากิเลส อาการอย่างนี้ อาการกิเลสในจิตเรา เราจะทำอาการนี้แหละ ให้มันจาง คลายลดละลง ยังลังเลสงสัย ไม่มีวันจะเป็นโสดาบันหรอก ถ้าแม้แต่สงสัยยังงี้ ก็ไม่เป็น โสดาบัน

ต้องชัดเจน ไม่สงสัย ใช่แล้ว นี่ใช่แล้ว นี่แหละตัวโจรแท้ ตัวผีแท้ละ นี่แหละตัวจังๆ จริงๆเลยละ จับอาการ ลิงคะ นิมิต รู้รูปถูกรูป มันมีนามคือญาณๆ ญาณปัญญาจับมั่นเลย ไม่สงสัยเลย อาการอย่างนี้แหละ แค่คุณจับมันมั่นรู้มันจริง ไม่วิจิกิจฉา แล้วคุณก็ปฏิบัติ ไม่ให้เป็นแค่ สีลัพพตปรามาส สีลัพพตปรามาสแตกต่างกับสีลัพพตุปาทานอย่างไร

สีลัพพตปรามาส ก็คือการปฏิบัติได้มีศีล มีพรต ศีลก็คือศีลนั่นแหละ พรตก็คือพรตนั่นแหละ มีศีล มีพรต มีตัวศีล มีหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติ และก็พึงมีการปฏิบัติ พรตก็คือการปฏิบัติ ปฏิบัติจริง ปฏิบัติแล้วคุณได้แต่ยึดถือหลักศีล หลักพรต หรือกรรมฐานอะไรก็แล้วแต่ มาปฏิบัติ แล้วไม่รู้เรื่องอะไรเลยกับเขานะ ยึดแต่ศีล ยึดแต่พรต เรียกว่าอุปาทาน ยึดได้แต่แค่ศีลแค่พรต ท่านบอกว่า เอานะมากินข้าวมื้อเดียว โอ้โฮ ศีลเคร่งเหมือนกันนะ เล่นข้าวมื้อเดียว ก็ไม่เคย อ่านจิตออกว่า เป็นกามอย่างไร เป็นพยาบาทอย่างไร เป็นถีนมิทธะอย่างไร เป็นอุทธัจจะ กุกกุจจะ อย่างไร วิจิกิจฉาอย่างไร ไม่รู้จักนิวรณ์เลย อ่านไม่ออกจริงๆว่านิวรณ์เป็นอย่างไร ปฏิบัติไปถือศีล ถือพรตปฏิบัติไป มาวัดมาวา โอ๋ยเคร่ง ไม่ฆ่าสัตว์ก็ไม่ฆ่านะ ระวัง ไม่ฆ่าสัตว์ ตัวน้อย เหมือนฤาษีของนิครนถ์นาฏบุตร มีไม้ปัดด้วยนะ เคร่งอย่างกะอะไรดีนะ เคร่งศีล เคร่งพรต เคร่งให้เก่งให้ตายยังไงก็ตาม แต่ไม่เคยถึงปรมัตถ์ ไม่เคยอ่านจิตเป็น

อย่างอาตมาอธิบายไปแล้ว ไม่เคยรู้ตัวนิวรณ์ที่เป็นเนื้อแท้ นิวรณ์ที่เป็นปรมัตถ์ อาการกาม พยาบาท ถีนมิทถะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉาเป็นอย่างไรไม่เคยรู้เรื่อง ผู้นั้นยึดได้แต่ศีล แต่พรต ปฏิบัติไป ต่อให้เกิดมาอีกห้าล้านชาติ แล้วปฏิบัติอย่างนี้ก็ไม่บรรลุอะไร นั่นสีลัพพตุปาทาน

ส่วนสีลัพพตปรามาส นี่ก็หมายความมีศีล มีพรตเหมือนกันนั่นแหละ เสร็จแล้ว ปฏิบัติไม่ได้ผล ปฏิบัติอาจจะเข้าใจก็ตาม ต่อให้คุณรู้ด้วยปัญญาๆที่รู้ที่เข้าใจนะ โอ๋ย เข้าใจดี เรื่องราวเข้าใจดี แต่ไม่เอาจริง เหยาะๆ แหยะๆ ถึงเรียกว่าปฏิบัติลูบๆคลำๆ ปฏิบัติไม่เคร่ง ไม่ครัด ต่อให้คุณ รู้จริงด้วย อย่างสีลัพพตุปาทาน นั้นน่ะ ไม่รู้จริง ไม่ฉลาด ไม่เข้าใจ ปฏิบัติอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ยึดศึล ยึดพรต ไปตามจารีตตามประเพณี ตามที่เขาทำกันไปยังงั้นแหละมีเยอะ พวกคนแก่คนเฒ่า พวกอะไร ที่ปฏิบัติตามฤาษีชีไพรพากันทำนี่ ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ละเอียดลออ ในความหมาย ที่ลึกซึ้ง ของปรมัตถ์ ที่เป็นอภิธรรม ที่สามารถปฏิบัติถึงที่

ถ้าบอกว่าปฏิบัติธรรม ก็เอาแต่นั่งสมาธิ พอบอกว่าปฏิบัติศีล ศีลยังไงไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ก็ทำแต่ข้างนอก นี่แหละ เก่งนะ เอ๋ เราก็ไม่ฆ่าสัตว์เลยตลอดชีวิต เคร่ง นะ สัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ทำจริงๆเลยนะ ไม่เคยลักทรัพย์ ไม่เคยเอาของใคร ไม่ลักทรัพย์ ไม่เอาของใคร เคร่งบริสุทธิ์ สะอาดตลอดกาล เป็นคนเคร่ง ตั้งปฏิบัติธรรมมา ๒๐ ปี ไม่ฆ่าสัตว์จริงๆ เลย ละเว้น พลาดไป ก็ไม่ได้แกล้ง ไม่จงใจ ไม่เจตนา ก็ไม่ถือเป็นอาบัตินะ ไม่เอาของใครจริงๆ เรื่องกาม เรื่องราคะ อะไร ผัวเดียวเมียเดียว หนักหนาสากรรจน์อยู่อย่างไร ก็ปฏิบัติไม่รู้อาการกามราคะเป็นอย่างไร ชื่นชม เอร็ดอร่อยในกามราคะ เป็นอย่างไรก็ไม่รู้ หรือ ต่อให้เคร่งถือศีล ๘ เป็นอพรหมจริยา อพรหมจรรย์ ไม่ปฏิบัติกดข่ม ไม่เกี่ยวข้องเรื่องกาม ไม่มีการสมสู่ ไม่มีเรื่องราวอะไรพวกนี้เลย ก็ได้ กดข่มได้ ฤาษีเขากดข่มเก่งเหมือนกัน ไม่ปฏิบัติกิจเมถุนธรรมได้ กดข่มเก่ง ไม่พูดปด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ส่อเสียดอะไรหรอก ระมัดระวังกายวาจาได้ดี แต่ไม่อ่านรู้เรื่องจิต ไม่ถึงจิต ได้แต่กาย แต่วาจา อย่างที่เขาสอนๆกัน

บอกว่า ศีลนี่ขัดเกลา กาย วาจา แต่ใจไม่เคยถึงเลย เพราะฉะนั้น ศีลจึงเป็นตัวหนึ่ง ศีลก็คือ ปฏิบัติข้างนอกกายวาจา, ใจทำยังไง ไปนั่งสมาธิเอาๆ คนที่ปฏิบัติแบบนี้ อยู่ในพุทธนี่เยอะ มากมายเลย เพราะฉะนั้น จึงไม่เกิดมรรคองค์ ๘

เพราะศีล สมาธิ ไม่ได้เข้าไปขัดเกลาถึงจิต ศีลขันธ์ไม่เป็นอเสขะไปได้เลย ศีลก็อยู่แต่กายวาจา ไม่เรียนรู้ปรมัตถ์ ดังที่อาตมากล่าว ไม่ฆ่าสัตว์แล้วใจเราต่อสู้อย่างไร พอสัมผัสกะสัตว์ เราก็จะมี พยาบาท มีโกรธ มีเคือง มีไม่ชอบใจ เกิดอาการไม่ชอบใจ ไม่เกิดเมตตาเกื้อกูล

เมตตามันเป็นอย่างไร ไม่เคยรู้เรื่อง ไม่ลักทรัพย์ มันเกิดโลภ โลภอยากได้ของเขาเป็นยังไง อพรหมจรรย์ เกิดราคะเกิดกาม อาการของกาม อาการของราคะมันเป็นยังไง นี่ศีลข้อ ๓ ไม่เคยอ่าน ไม่เคยรู้หน้าตาของกิเลสเลย พวกนี้ปฏิบัติให้ตายกี่ปีกี่ชาติก็ไม่รู้ของจริง ไม่เป็น ปรมัตถ์ ไม่รู้รูปนามจริงๆ อย่างที่อาตมาว่า เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติสีลัพพตุปาทาน ศีลก็คือ ปฏิบัติกาย วาจา สมาธิก็คือ มานั่งหลับตา แล้วก็นั่ง ไปแบบฤาษี ไปไม่เคยสัมพันธ์กันเลยนะ สติ สัมปชัญญะ ในการตื่นๆ ในการมีชีวิตชีวา เป็นปัจจุบันธรรม เมื่อนั่น เมื่อนี่ละ จับมั่นคั้นตาย จริงๆ เห็นเป็นอนิจจัง ว่าไม่เที่ยงตรงที่จะพ้น มิจฉาทิฐิ เพราะมันกิเลสโตขึ้น

แสดงว่าเราเองยังไม่เดินเข้ามรรค ยังไม่มีโสดาปัตติมรรค แต่พ้นมิจฉาทิฐิ เพราะจับกิเลสได้ กิเลสกามจับได้ กิเลสโทสะจับได้ กิเลสพยาบาทจับได้ แต่เราก็ไม่มีวิธีทำให้มันหยุด ทำให้จาง คลาย มันโตขึ้น เห็นมันโตขึ้นด้วยซ้ำ มันไม่เที่ยง แต่มันโตขึ้น มันหนาขึ้นเป็นปุถุชน ก็เห็นเรา เป็นปุถุชน เห็นเราเป็นปุถุชน จริงๆ ปุถุจิต ปุถุเจตสิก กิเลสหนานั่นเอง จิต เจตสิก มีกิเลส หนาขึ้นๆ เห็น นั่นแสดงว่าพ้นมิจฉาทิฐิ แต่ยังไม่เข้า สักกายทิฐิ ยังไม่พ้นสักกายทิฐิ เพราะยังทำ จางคลายไม่ได้

ต่อเมื่อคุณทำให้มันเกิดจางคลายได้ กิเลสนั่น มันไม่เที่ยงมาในทิศทางหน่าย จาง คลาย อนิจจัง อย่างวิราคะ อนิจจังอย่างลดละกิเลสนั่นจริงๆ และคุณจะต้องเห็นจริงๆ รู้ของจริงเลย เพราะคุณทำด้วยความสามารถ ลดละได้อย่างนี้แหละ พ้นสีลัพพตปรามาส ทำปฏิบัติธรรม แจ้งชัด มีปัญญาขันธ์ มีญาณ มีอธิปัญญาขันธ์ หรือมีญาณเห็น ปัญญาก็คือ เห็นความเกิด เห็นความดับ ไม่ดับทีเดียว ก็จางคลายลงไป เห็นเป็นอริยะ เห็นของจริง ตามความเป็นจริง เห็นขั้นปรมัตถธรรม สิ่งที่เป็นมันปรมัตถ์ มันกำลังจางคลายด้วยความสามารถของเราทำ จริงๆ เลย ปฏิบัติอย่างเก่ง ไม่ใช่แค่ทำเล่นๆ หัวๆ ไม่เอาจริงเอาจัง อ่านถึงจิต ก็ไม่อ่านถึงจิต ต่อให้คุณ เข้าใจแล้ว ที่อาตมาอธิบายไปนี่ ฟังแล้วฟังเล่า ก็คิดว่าเข้าใจ เวลาปฏิบัติ แล้วคุณ ไปเอาจริง อย่างนี้ไหม ไม่เอาจริงอย่างนี้ เหยาะๆ แหยาะๆ ไปก็ลดบ้าง จะพ้นสีลัพพตปรามาส

นี่คือ จะพ้นทุกข์ ก็เพราะดับเหตุแห่งทุกข์ ดับตัวการ ตัวกิเลส ตัณหา อุปาทาน คือสักกายะนี่ ดับมันลงไป จนกระทั่ง ฤทธิ์แรงมันอ่อน มันไม่มีฤทธิ์กับเราได้ คุณจะมั่นใจ เรียกว่าสมาธิ ก็หมายความว่า แข็งแรงตั้งมั่น กิเลสมันมาเล่นงาน เห็นหน้ามันปั๊บ มันอ่อน มันกลัวอาจจะ เกิดมาลับๆ ล่อๆ พอมีเหตุปัจจัย มันก็จะเกิดๆ เกิดปั๊บ จับตัวมันได้ มันก็ลดจางคลายไปเรื่อยๆ เป็นการปหานอย่างเก่งขึ้น ตอนแรก อาจจะสู้หนักหน่อย ทั้งกด ทั้งข่ม วิขัมภนปหาน ทั้งทำ ให้มันได้บ้างไม่ได้บ้าง ตทังคปหาน ได้เป็นบางช่วง ไม่ได้เป็นบางช่วง จนกระทั่งคล่องแคล่วขึ้น ทำย้ำ ทำทวน ทำซ้อน ทำย้ำ เป็นปฏิปัสสัทธิ สงบมันให้ได้ ทำให้มันระงับไปให้ได้ ด้วยสามารถ คล่อง แคล่วขึ้น ทวนทำปฏิปัสสัทธิ ทำให้สงบ ทำทวนทำให้สงบ ปฏิ ก็ทวนไปทวนมา ปัสสัทธิ ก็ทำให้มันสงบๆ ทำให้มันจางคลายลงไปได้เก่งขึ้นๆ เป็นปฏิปัสสัทธิปหาน จนนิสสรณปหาน จนได้คล่อง ได้เก่งได้ไว

พอเจอหน้ามันโผล่หน้าปั๊บก็มีกำลัง มีอินทรีย์พละจริงๆ ปหานมันได้เร็ว มันเห็นเราแล้ว มันกลัวเรา มันอ่อน มันจางได้เร็ว สลัดได้เร็วๆๆ เร็วเข้ามากๆ ทำบ่อยๆ ซ้ำๆ นิสสรณปหาน ได้เรื่อย จนกระทั่งเห็นมันไม่เกิด ถึงกระทบสัมผัสมีเหตุปัจจัยนี้ คู่กรณีที่จะทำให้เกิดกาม คู่กรณี ที่จะทำให้เกิดพยาบาท จะไปเกี่ยวข้องสัมผัสกัน คลุกคลีเกี่ยวข้องกันอย่างไร มันก็ไม่ค่อย เกิดแล้ว หรือไม่เกิดเลย ก็จะรู้ว่ามันไม่เกิด มันดับ ออ ตอนนี้ มันหนืดแล้ว อ่อนแรงแล้ว ไม่ค่อยเก่งแล้ว ไม่ค่อยเกิดแล้ว จนมันไม่เกิดไปเลย โอ้ มันไม่เกิด สัมผัสยั่วยวนยังไง มันก็ไม่เกิด มันระงับ มันอ่อนแรงจริงๆ

คุณก็มีญาณ มีวิมุติ พอมันระงับนี่แหละ เรียกว่าวิมุติ มันตาย กิเลสมันตายนี่แหละ เราเรียก วิมุติ เรียกว่า หลุดพ้น มันไม่เกิดอีก ไม่เกิด หรือมันจะเกิดจรมาอีกบ้างเล็กๆน้อยๆ เราก็รู้ว่า เราเก่งขึ้น เราก็ได้เจริญขึ้น มีผลสำเร็จสูงขึ้น มีนิโรธานุปัสสี ตามเห็นความดับๆสนิทอยู่ชั่วคราว ดับสนิทได้นาน ดับสนิทได้ โอ่ นานไปจริงๆ คุณเห็นของจริงอย่างนี้จริงๆ ทำได้ ไม่ใช่สีลัพพต ปรามาส ก็เพราะว่า คุณไม่ทำแค่แหยาะๆแหยะๆ ลูบๆคลำๆ เล่นๆ หัวๆ ทำจริงๆ ได้ผลจริงๆ เห็นจริงๆ รู้จริงๆ ก็พ้น การปฏิบัติศีล ปฏิบัติพรต อย่างไม่เอาจริง อย่างไม่วิจิกิจฉา อย่างเห็น แจ้งรู้ชัด อย่างเกิดญาณ เกิดปัญญา สักกายะก็คือตัวตนของกิเลสนั้น จนกระทั่ง มันอ่อนลง ก็เป็นอัตตาเหลือน้อยลงมา จนกระทั่งเหลืออาสวะ ตามรู้กิเลสตัวนั้นอย่างนี้จริงๆ เลย คุณก็พ้นทุกข์

ถ้าเหลืออ่อนจางลงไปเรื่อยๆ มันทุกข์มันน้อยลง เหตุแห่งทุกข์มันก็ไม่ค่อยเกิด เกิดนิดๆหน่อยๆ วอบๆ แวบๆ จนกระทั่งข้างนอกนี่คุมได้ดีเลย จะกระทบสัมผัสจริงเมื่อไหร่ ก็ไม่มีแล้วท่าที กิริยา กาย วาจา ไม่มีท่าทีกาม ไม่มีท่าทีพยาบาท เป็นคู่พยาบาทกัน ก็ประสานกันดีสนิทแล้ว ไม่มีแล้ว ท่าทีชังชิงพยาบาท โกรธเคืองกันไม่มี ประสานได้ หรือจะเป็นคู่รักคู่ใคร่ คู่กามคู่ที่เราไปหลงชอบ หลงชังอะไร เป็นกันอยู่ก็โอ่ เห็นสัมผัสตอนนี้ ก็เห็นเป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติ เป็นสหาย เป็นเพื่อน สัมพันธ์ที่ดี สร้างสรรการงานกันไป ร่วมอยู่กันอย่างดี ไม่เกิดกาม ไม่เกิดไปในทางที่ ก่อราคะ ก่อกามอะไรกัน ข้างนอกอาจจะมี ข้างในเหลือเป็น รูปราคะ อรูปราคะ ฐานอันนี้ ก็ฐานเข้าสู่พระอนาคาภูมิ

ข้างนอกคุณรับรองเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่มันไม่ออก มันอาย มันกลัว มันหิริ โอตตัปปะ มันมีจิตตัวละอายมากเลยนะ จะมาแสดงกามอย่างนี้ คนนี้คนไหน ก็แล้วแต่ เป็นคู่กรณี เราก็ละมาได้ ไม่เอาแล้ว สามารถพูด สามารถบอกได้แล้ว เอาละ ได้แล้ว เรามั่นใจ ความมั่นใจ ความเชื่อแน่ เชื่อมั่นเป็นศรัทธินทรีย์ ศรัทธาพละ กำลังของความเชื่อ ในตัวเอง มั่นใจในตัวเอง มันจะเกิดจริงๆ ทิศทางที่จะโน้มเอนไปในทางอินทรีย์ ๕ พละ ๕ เป็นศรัทธาเชื่อตัวเองว่า อันนี้ได้ อันนี้แน่นอน ตัดขาด มันจะบอกตัวเลย ไม่งมงายหรอก ไม่ใช่ปฏิบัติไม่รู้เรื่องไม่รู้ราว มันจะชัดเจน มันจะไม่งมงาย นี่ เราจางคลายจริงๆนะ กิเลสกาม หรือเรื่องพยาบาท เรื่องใด เหตุปัจจัยอย่างไร ก็แล้วแต่ คุณก็อ่านนิวรณ์ ๕ นี่ออกชัดด้วยกามวิตก สังกัปปะ ตัวสังกัปปะ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนท่าน ไปก่อการรัก การชอบ กันอยู่ ก็เบียดเบียนทั้งท่าน เบียดเบียนทั้งตน ลดความรักความชอบลงไปได้

แม้เขาเอง เขาจะรักเรา แล้วเราตัดรักเขา เราตัดรักเขานี่ เราไม่เบียดเบียนตน เขารักเรา เราไม่รักเขาตอบ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราเบียดเบียนเขานะ ถ้าคิดให้ลึกซึ้งแล้ว เขารักเรา เขาเป็นทุกข์ ก็ทุกข์เพราะกิเลสก็ช่างหัวคนเถอะ ก็คนจะทุกข์เพราะกิเลสนะ มันก็เรื่องธรรมดา ธรรมชาติอยู่แล้ว ก็เขาไม่ตัดกิเลสของเขาๆ ยังมารักทำไม แล้วก็สอนเขา มาเลิกเถอะ ละเถอะ จางคลายเถอะ มันเป็นเหตุแห่งทุกข์ มันพาให้ทุกข์แล้วๆ รอดๆ ไม่รู้กี่ชาติกี่ปางกันหรอก ทำให้ได้ ทำไม่ได้ก็หาวิธีพราก จางคลาย เขาจะไปหัวหกก้นขวิดยังไงกับใครยังไง เดี๋ยวมัน ก็รู้ ประเดี๋ยว มันก็จางคลายกะเรา

แฟนอาตมาว่า โอ๋ ว่ารักอาตมาๆ มาบวช และ แหม อุตส่าห์ ไม่มีแฟน ตั้งเป็นนานเป็นนมนะ ๕ ปี ๖ ปี เสร็จแล้วก็ไปแต่งงานจนได้ ก็ไม่เห็นจะจริงจะจังอะไร เดี๋ยวนี้ ก็คงไม่ได้นึกถึงอาตมา หรอก ก็นึกถึงแต่ลูกกับแฟนเขานะซิ ก็อยู่กัน อยู่ตั้งไกลด้วย อย่างนี้เป็นต้น มันไม่เที่ยง มันไม่จริง อะไรหรอก หรือแม้จะนึกลึกๆ อะไร ถ้ามาปฏิบัติก็ต้องล้าง มันเปลี่ยนแปลงไปได้ แล้วเขาก็อยู่ได้ ไม่ทุกข์อย่างนั้นแหละ ถ้ามันทุกข์จริงๆ มันก็ระเบิดตายเท่านั้นแหละ มันทุกข์ ทุกข์ๆ แก้ไขอะไรไม่ได้ มันก็ตายเท่านั้นเองคนเรา เขาเรียกว่าตรอมใจตายไง มีความรัก แล้วก็ ไม่สมรัก คนที่ตรอมใจตาย เอ้า จริงๆ เป็นได้นะ ตรอมใจตาย สัตว์มันก็ตรอมใจตาย เคยเห็น สัตว์ไหม อย่างนกนี่นะ คู่มันตายนี่ เสร็จแล้ว มันก็ตาย อาตมาเห็นมาหลายตัว อาตมาเลี้ยง นกเล็กๆ นกพวกฟิ้นช์นี่ ซื้อมาตัวหนึ่งตาย มันเป็นคู่กัน ตัวหนึ่งตาย อีกตัวหนึ่งก็ทำไม เอ๊ะ ! อาตมาว่า มันไม่มากินอาหาร มันหายไปไหนไม่รู้ ไปดูในรังมันไปนอนตายอยู่ในรังนะๆ โอ้นี่ มันตายแน่ๆเลย ตรอมใจตายแน่เลย มันก็ดีๆ มันไปนอนตายอยู่ในรังทำไม มันมีจริงๆนะ เหงา! คนที่เลี้ยงนก เลี้ยงอะไรพวกนี้ จะเห็นสัตว์พวกนี้มันมีนะ กิเลสพวกนี้ มันทำให้ตายได้ มันไม่มี ปัญหาอะไรหรอก

เราจะไปโง่ให้กิเลสมันฆ่าเราตาย พุทโธ่ มีร่าง มีขันธ์ ฆ่ากิเลสให้มันตายซิ มี สูรา สติมันโต อิธ พรหมจริยวาโส แหม ได้เกิดมาในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก พร้อมสัญญาและใจ โลกลูกนี้ ได้มาแล้ว ใช้โลกลูกนี้ เพื่อเป็นฐานในการตัดกิเลสให้ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ใดเรียนรู้นิวรณ์ อ่านปรมัตถ์ออกอย่างที่อาตมาอธิบาย ปฏิบัติจริงๆให้รู้เข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ใช่งมงาย อย่างสีลัพพตุปาทาน

ผู้ที่ปฏิบัติสีลัพพตุปาทานนี่พวกต่ำ สีลัพพตปรามาสก็เรียกว่ายังสูงหน่อย ยังเป็นผู้ที่พอเข้าใจ แต่ปฏิบัติไม่ได้ถึงขั้น ปฏิบัติไม่ได้ถึงขั้นเดินมรรค ปฏิบัติจับปรมัตถ์ไม่เอาจริง เหยาะๆแหยะๆ ได้ประเดี๋ยวก็ไปเติมมันใหม่ ได้แล้ว เดี๋ยวก็ไปเติมมันใหม่ ยืดๆหยุ่นๆ ไม่เดินทางไปไหน สักทีหนึ่ง ไม่เข้าสู่โสดาปัตติมรรค ก็ให้เจริญสกิทาคามีมรรค ก็เลื่อนต่อไปเรื่อยๆ เดินมรรค นั่นแหละ เดินทางๆ ที่จะเป็นทางตรงไปสู่นิพพาน ปฏิบัติให้ได้ผล ผลคือผลที่เราปฏิบัติ ในทางที่ถูก แล้วก็ได้ไปเรื่อยๆ สั่งสมสภาวะ สั่งสมการลดละกิเลสนิวรณ์นี่แหละ จะเป็นฐาน พยาบาท จะเป็นฐานกาม จะเป็นฐานถีนมิทธะ จะเป็นฐานอุทธัจจะกุกกุจจะ คุณก็รู้สักกายะ ของตน มันชอบฟุ้งซ่านนัก ก็พยายามสู้ กับแกนฟุ้งซ่าน แกนอุทธัจจะกุกกุจจะ มันชอบตก ถีนมิทธะมากนัก กลายเป็นคนอยู่แต่ในภพ มีแต่ถีนมิทธะ มีแต่อยู่ในภพ แล้วก็ซึมกระทือ ไม่ตื่นอะไร ไม่ชาคริยาเลย นะ

ก็ตื่นมาบ้าง มารู้โลกมั่ง มาสัมผัสสัมพันธ์อะไรบ้าง มันจะได้จี้ ได้ไช มันจะได้กระทุ้งกระแทก ให้เกิด ไม่ให้เกิดความฟุ้ง เกิดการคิด จะเป็นการคิดอย่าง ไร จริงๆแล้ว ที่แท้ กามกับพยาบาท มันหมก มันหมักอยู่ในจิตใจ ไม่ถูกกระทุ้งออกมา ไม่ถูกกระแทกออก เลยกลายเป็นถีนมิทธะ กดทับ กดข่ม ฝังอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่งอก มีแต่รากงอกนะ ไม่งอกขึ้นข้างบน งอกลงแต่ข้างล่าง งอกลงไปแต่ราก ฝังลงไป ข้างบนกุดอยู่อย่างนั้นแหละ ก็ให้มันกระทุ้งกระเทือนกระแทก ออกบ้าง มันไม่ใช่รู้ง่ายๆนะ

ผู้ใดไม่มาหาเหตุ ไม่พยายามที่จะให้มีเหตุปัจจัยที่มันจะก่อจะเกิด บอกแล้ว เหตุปัจจัยของ พระพุทธเจ้า ต้องมีเหตุปัจจัย มีสัมผัสเป็นปัจจัย ทั้งทวาร ๖ มิจฉาทิฐิสูตรก็ตาม สักกายทิฐิสูตร ก็ตาม อัตตานุทิฐิสูตรก็ตาม ท่านก็บอกเลย มามีโสตสัมผัส ฆานสัมผัส จักษุสัมผัส ชิวหาสัมผัส สัมผัสทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย มีสัมผัส สัมผัสจริงๆ เอามาอ่านให้ฟังแล้ว ก็อธิบาย ให้ฟังหลายทีแล้ว ใครไม่ได้ฟังก็ไปตามหาเท็ปบรรยายพวกนี้มาฟัง มีสัมผัสแล้ว ก็เกิดมีตา มีหู มีจมูก มีกาย แล้วก็มีสัมผัสๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก เรียกว่าโสตสัมผัส จักษุสัมผัส อะไรพวกนั้น แล้วก็เกิดเวทนา อ่านรู้ทัน รู้จิต รู้เวททนา รู้กาย กับองค์ประชุม ก็คือทั้งตัวที่มา ถูกสัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น กายนี่ มันสัมพันธ์อยู่นะ เป็นกอง มันเป็นกาย เป็นองค์ประชุม

นี่ตัวเหตุ เหตุข้างนอก แล้วก็สัมผัส พอสัมผัสแล้วก็ไปเกิดข้างใน เกิดข้างในเป็นเวทนาอย่างไร หลงว่าเป็นสุข หลงว่าเป็นทุกข์ สุขเวทนาอย่างไร ทุกขเวทนาอย่างไร หรือมันไม่สุขไม่ทุกข์ อย่างมะลื่อทื่อ อทุกขมสุข หรือ อุเบกขาแบบมะลื่อทื่อ นึกว่าตัวเอง หลงได้นะ มันอพยากฤต มันประเภทที่เรียกว่า มันไม่กระเตื้อง มันกระทุ้ง นึกว่ามันไม่แรง ก็นึกว่าเราหมดได้เหมือนกัน ต้องกระทุ้งดูบ่อยๆ กระเทือนบ่อยๆ สัมผัสบ่อยๆ ก็นึกว่า โอ้โฮ เราเป็นอะไรนะนี่ เกิดโกรธ ได้เหมือนกัน มันเกิดกามได้เหมือนกัน โอ้โฮ แต่ก่อนนึกว่าเราแน่ นานๆเข้า อยู่เป็นปัจจุบันธรรม มีสัมผัสเป็นปัจจัยนี่ เป็นเครื่องพิสูจน์ที่ยืนยันว่า กิเลสเราไม่นอนเนื่อง กิเลสเราไม่หลงกดดัน กักเก็บ แต่มันขึ้นมาจริงๆ แล้วก็ฆ่ามันเป็นปัจจุบันธรรม ฆ่ามันเป็นตัวจริงเลย ล้างละอย่าง วิปัสสนาญาณ เห็นแท้ๆเลย อย่างสัมผัสเป็นปัจจัย กระทุ้งยังไงก็ไม่เกิดแหละ ก็รู้เท่าทัน ด้วยปัญญา อันยิ่งเลยว่า ปัดโธ่ อันนี้เราปล่อยเราวางจริงๆ มันไม่เกิดคู่กาม คู่กรณี พยาบาท อะไรก็ไม่เกิด จริงๆ อภัยหมด ล้างเกลี้ยง ถอนอาสวะเลย

คุณจะรู้ จะแจ้ง จะเห็นของจริง พวกนี้ มันไม่ใช่เรื่องพูดกันปากเปล่า จะพ้นสีลัพพตปรามาส พ้นสักกายทิฐิตรงไหน พ้นมิจฉาทิฐิ ตรงไหน พ้นสักกายทิฐิก็ตรงที่ดำเนินโสดาปัตติมรรค ขึ้นไป หรือว่า คุณได้แล้ว มากแล้ว เป็นสกทาคามีมรรค ลดกาม ลดพยาบาท ลดวิหิงสา ที่มันยังมีส่วน อยู่อีก ให้มันเบาบาง ลดโลภะ โทสะ โมหะ ที่มีอยู่อีกให้เบาบาง เรียกว่าสกทาคามี ก็ต้องรู้ว่า เราเหลือส่วนอยู่ ก็ลดลง ให้เบาบางไปอีก จนมันหมดในรูปนอก ในโลกนอก ในทวารนอก ในกามตัณหา หรือ กามภพ ทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีละ กายกรรม วจีกรรม เรื่องเหล่านี้ รู้อาการ รู้ลีลารู้ท่าที เมื่อมันอ่อนแรงจริงๆ กิเลสที่เป็นต้นเหตุ มันไม่มีแรงจริงๆ มันไม่ออกมา ทางกาย จะซื่อสัตย์ กาย วาจา กิริยากายวาจา จะเป็นเรื่องของกาม เรื่องของพยาบาท มันก็จะ บริสุทธิ์ เพราะว่ามันไม่มีเหตุปัจจัยที่เป็นนายที่ใจนี่บันดาล ที่จะให้เกิดออกมา เป็นปากก็พูด กายกรรมก็อย่างนี้ ซึ่งเป็นตัวที่จะโกรธ หรือจะรัก จะมีกาม ออกมาทางพฤติกรรม กายกรรม วจีกรรมมันจะไม่มี มันเหลือในจิต และในจิตคุณอ่านของคุณเอาเอง เป็นรูปราคะ เป็นอรูปราคะ

อ่านแล้วคุณก็ลดนั่นแหละ เรียกว่า ภวตัณหา เรียกว่าอยู่ในใจ อยู่ในภพเป็นภวตัณหา มันอยู่ ในใจ มันไม่ออกมาข้างนอกแล้ว นั่นแหละ เป็นของขีดโอปปาติกะ ขีดของพระอนาคามีภูมิ หรืออุปปาติกกะ เป็นตัวแต่แค่จิตวิญญาณ แค่จิตกรรม ก็เกิดกรรมแต่แค่ในจิต เป็นมโนกรรม ออกมาเป็นกายกรรมมั้ย ไม่มี ออกมาเป็นวจีมั้ย ไม่มี เพราะฉะนั้น ในโลกของกาม คือกามภพ หรือกามโลก ไม่ออกมาสู่ กามโลกแล้ว ไม่เกิดมาในทางกามโลกแล้ว นี่คือความไม่เกิด

แต่พฤติกรรมทางโลกทางจิต เรียกว่าภวภพ ภวโลก เกิดอยู่ ยังมีอยู่ คุณก็จัดการของคุณ เอาเองซิ ดีไม่ดีตัวเองชักได้แล้ว ทางกายก็ได้ ทางวาจาก็ได้ ข้างนอกนี่ได้ กามภพไม่มีแล้ว โสดา สกิทาภูมิ นี่ ลดได้ กามราคะไม่มี กามราคะสังโยชน์พ้น ปฏิฆะสังโยชน์พ้น แต่รูปราคะ อรูปราคะ เรายังไม่พ้น แหม ฉันนี่นะ อนาคามีแล้วนะ เบ่งซิ มีมานะสังโยชน์ใหญ่เข้า ก็ได้อีก ดีไม่ดี โกหกคนอื่น ว่าฉันเป็นพระอรหันต์ นั่นยิ่งชั่วใหญ่เลย ตัวเองต้องรู้ว่าตัวเอง ยังเหลือ อาการมันมีนะ แล้วต้องมานะให้ออกอีกด้วยนะ มานะสังโยชน์ ว่าเราอย่ายึดดีถือดีว่าตัวดี อย่าหลงตัวว่าดี คุณดีจริงๆนะ

ตอนนี้คุณลดมา โสดาภูมิก็พ้น สกทาคามีภูมิก็พ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ โอรัมภาคิยสังโยชน์พ้น แล้วจริง ก็อย่าไปหลงติดดี อ่อนน้อมถ่อมตน พยายามที่จะช่วยเหลือผู้อื่น เกื้อกูลกัน เขาดูถูก ดูแคลนอย่างไร เขาจะมีการก่อให้เกิดโกรธเคืองอะไร เขาจะลบหลู่ ดูถูกก็ลดตัวลดตนได้ เราเป็นอริยะ สูงจริง เราเป็นอริยะจริง แต่อริยะยังมีมานะ ประเดี๋ยวก็ไม่ได้ไปไหนกันพอดี และ จิตก็ไม่สามารถ ที่จะอ่านฟุ้งซ่านมานะโน่น นี่ อัตตาโน่นนี่ก็ไม่มีแรง ไม่มีพลังงานพอจะไปอ่าน รูปราคะ อรูปราคะ มันจะเกื้อกูลกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อเราเอง เราไม่มีกิเลสพวกนี้ขึ้นมา จะอ่านรูปราคะ อรูปราคะ ก็อย่าประมาท เอาอีก อ่านแล้วก็ฆ่ามันให้หมด ฆ่ามันให้หมด เจียนมัน หมดๆไป จนเหลือสภาพที่ลอย เรียกว่า อุทธัจจสังโยชน์ มันลอยขึ้นมา ก็วิจัยว่า มันมีไหม จิตมันลอย หรือว่าจิตมันไม่ใช่ว่าจิตนิ่งจิตดับ จิตจมเป็นจิตที่อ่านได้ รู้อาการมันได้ เป็นสภาวะตื่น สภาวะแจ้ง สภาวะใส สภาวะที่มีสภาพ อ่านจนกระทั่ง มันมีเศษ มีส่วน มีเหลืออะไรอีกบ้าง

ก็อ่านตรวจสอบ สัญญาเวทยิตตังนิโรธังโหติ ให้สัญญา กำหนดอ่านให้เคล้าเคลียอารมณ์ บ่อยๆ จะบอกว่า รู้ก็ไม่ใช่ ไม่รู้ก็ไม่ใช่ ยังรำเรืองๆ ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่รู้แจ้ง รู้ทะลุ ไม่เอา เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา กำหนดแต่แค่ว่ารู้ จะว่าใช่ก็ไม่ใช่ จะไม่ใช่ก็ไม่ใช่ ไม่เอาละ เอาให้ชัด เอาให้เจนเอาให้เกลี้ยง สัญญาเวทยิตตังนิโรธังโหติ มีสัญญา มีตัวกำหนดรู้ เรียนรู้ ตัวสัญญาของเรานี่แหละ ตัวพิจารณา ตัวแทงๆรู้ๆให้รอบอารมณ์

เวทยิตตัง แปลว่า รู้ เคล้าเคลียอารมณ์ต่างๆ นี่ว่า อารมณ์ของกาม อารมณ์ของพยาบาท อารมณ์ของมานะ อารมณ์ของการฟุ้งซ่านและยังมีอารมณ์ เป็นโลกียะ นิวรณ์ ๕ เศษส่วนที่ฟุ้งๆ จนเกินเศษส่วนที่ไม่เจริญเต็มที่ ต่ำๆตกๆ ยังจมๆอยู่อย่างไร ไม่มีจม ไม่มีฟู จิตเต็มที่สมบูรณ์ สภาพ ก็พ้นอุทธัจจะสังโยชน์ มันมีจิตที่รู้จริงอยู่อย่างนั้นแหละ แต่มันก็เป็นอุทธัจจะ

อาตมาเคยพูดว่า พระอรหันต์เจ้านี่ ใช้วิชชา กับอุทธัจจะอย่างนี้ เป็นการงาน อุทธัจจะก็คือ จิตที่เราเอง เป็นผู้กำหนด จิตไม่ได้ดับ จิตไม่ได้จม และจิตมันก็ไม่ได้ซ่าน จิตก็อยู่ในอาณัติ จิตของเราก็คุมได้ จับได้ และเราก็ใช้มันด้วยวิชชาด้วยความรู้ ไม่ได้เป็นสังโยชน์ ไม่ได้ไปผูก ไม่ได้ไปติด ไปยึดสร้างสรรสังขารอะไร จะปรุงอะไร จะสร้างอะไร ก็ทำ ปฏิบัติศีลก็เป็น ศีลขันธ์ อันเป็นอเสขะ ปฏิบัติสมาธิ หรือจิตนั่น เอง ให้จิตเป็นอธิจิต จนเป็นอธิจิต อเสขะ จิตเจริญ จิตดี ยิ่งเป็นอธิจิต จนระดับอเสขะ เป็นระดับที่ไม่ต้องปฏิบัติอีกแล้ว

เรื่องนี้ ๆ ถอนอาสวะอนุสัยแล้ว ถอนแล้วอย่างจริงเลย รู้เห็นอยู่เป็นปัจจุบันนั่นเทียว ต่อให้มี เหตุปัจจัยนี้ สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสแตะต้องอยู่เป็นปัจจุบันธรรม มีสัมผัสเป็น ปัจจัย โดยความเป็นอนัตตา โดยความไม่มีตัวตนของกิเลสเลย เห็นอยู่มีสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นอนัตตาอยู่ เข้าถึงแล้ว แลอยู่เป็นปัจจุบันนั่นเทียว เห็นอยู่ รู้อยู่ๆ ไม่ใช่หายไป มีของจริง เป็นปัจจุบันธรรมเลยทีเดียว คุณก็ปฏิญาณตนได้ว่า นี่ศีลเรานี่ปฏิบัติสมบูรณ์แล้ว สมาธิ หรืออธิจิตก็ปฏิบัติสมบูรณ์แล้ว ปัญญาหรืออธิปัญญา ก็ได้ปฏิบัติมาเลย ศีล สมาธิ ปัญญา จนเกิดวิมุติขันธ์ อันเป็นอเสขะ

ฟังนะ นี่อ่านไปแล้วนะ ปฏิบัตินิวรณ์ ๕ เพื่อละนิวรณ์ ๕ แล้วก็เกิดศีลขันธ์ แล้วก็เป็นอเสขะ สมาธิอันเป็นอเสขะ ปัญญาเป็นอเสขะ วิมุติเป็นอเสขะ วิมุตติญาณทัสสนะเป็นอเสขะ เห็นอยู่ รู้อยู่เลยว่า วิมุติๆ เป็นอเสขะ ไม่ต้องปฏิบัติอีกแล้ว วิมุตติญาณทัสสนะเป็นอุภโตภาควิมุติ ชัดเจนแล้ว จิตก็ทำได้ ปัญญาก็เห็นแจ้งเห็นจริง ของจริงตามความเป็นจริง แล้วมั่นใจด้วย มันไม่เกิดอีก ดับสนิท ตายแหง๋แก๋ ไม่มีฟื้น ไม่มีเศษเสี้ยว เจโตปริยญาณ เห็นชอบ เห็นชัดเลยว่า เราเหตุปัจจัยตัวนี้แล้ว ทีนี้ เราอยู่เหนือมันเด็ดขาด อยู่เหนือมันเด็ดขาด มันจะมาสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นปัจจัย เป็นปัจจุบัน เห็นอยู่ รู้อยู่ ยังไงมันก็สู้เรา ไม่ได้ อยู่เหนือมัน อยู่เหนือตัวนี้ อยู่เหนือกิเลส อยู่เหนือมาร อยู่เหนือผี อยู่เหนือสิ่งที่เป็นเหตุ ของคนในโลก ยังเป็นทาสมัน แต่เราเป็นนายมันเด็ดขาด

อาตมาพยายามพูด โอ้โฮ พวกเรานี่หนา รุ่นนี้ยุคนี้ พูด พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้นี่นะ ท่านก็ได้ พระอรหันต์มาเป็นกอง สอนอย่างนี้ พระไตรปิฎก อ่านแล้วก็มีอยู่อย่างนี้ ก็ไม่ต้องมาอธิบาย เหมือนอย่างอาตมาอธิบายหรอก ท่านก็อธิบายเป็นหัวข้อ อุเทศ อธิบายขยายความบ้างแค่นั้นๆ โอ้โฮ เป็นโสดา เป็นสกิทา เป็นอนาคา เป็นอรหันต์ แจ้ง พวกเรานี่ ขยายความพูดไปขนาดนี้ ปากเปียก ปากแฉะ มันก็เป็นยุคของมัน มันก็เป็นอย่างนี้ของมันนั่นแหละ ต้องรับความจริง ปฏิเสธไม่ได้ ก็ได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้แล้วก็เหลือตัวเราเองจะต้องไปปฏิบัติ จะต้องไป ทำกันจริงๆ มันละเอียดลออ จริงๆนะ ละเอียด อาตมาพูดแล้วนี่ ขณะนี้ พูดแค่นี้ อย่างนี้ ต่อไปคงพูดอีก พูดละเอียดลออ มีโวหาร มีภาษา มีบัญญัติ มีปฏิภาณอะไร จะขยายความ ได้ละเอียดลออกว่านี้อีกก็จะขยาย ถ้านั่งฟังดีๆด้วยความเบิกบาน ด้วยความยินดี ปรีดานะ ด้วยความเข้าใจดี อ่านสูตรสังโยชน์สูตร ต่อไปอีกสูตรหนึ่ง มันขยายกันสั้นๆ

สังโยชนสูตร [เล่ม ๒๔ ข้อ ๑๓]
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ สังโยชน์เป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ประการ สังโยชน์เป็นไปในส่วนเบื้องบน ๕ ประการ สังโยชน์เป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สักกายทิฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ นี่เรียกว่า สังโยชน์เป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ [เรียกว่า กามฉันทะสังโยชน์ หรือพยาบาทสังโยชน์ หรือปฏิฆสังโยชน์ เขาก็เรียก หรือกามราคะสังโยชน์ เขาก็เรียก สักกายะทิฐินั่น เป็นหนึ่งสังโยชน์ วิจิกิจฉานี่ก็สังโยชน์ข้อหนึ่ง สีลัพพตปรามาส ก็เป็นสังโยชน์ข้อหนึ่ง กามราคะก็เป็นสังโยชน์ข้อหนึ่ง หรือปฏิฆะเป็นสังโยชน์ข้อหนึ่ง อันนี้ เรียกว่า กามฉันทะ ก็เหมือนกัน เรียกว่าพยาบาท ก็เหมือนกัน นี้สังโยชน์ ๕] สังโยชน์เป็นไป ในส่วนเบื้องบน ๕ ประการเป็นไฉน คือรูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑ สังโยชน์เป็นไปในส่วนเบื้องบน ๕ ประการนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ ๑๐ ประการนี้แลฯ

จบสูตรสังโยชน์แล้ว ท่านสอนแค่นี้ แต่อาตมาอธิบาย อีกตั้งจนตาย จนตายอธิบายไปเถิด เออ คิดแล้วก็ไม่เกิดอาการที่เราเป็นการผลัก การดูด อะไรคิดพอสมสัดสมส่วน โดยเฉพาะ เรารู้ตัวเรา ว่าเราไม่บำเรอให้เป็นกิเลส เสพสุขสมใจ จะสร้างสรร จะทำงาน ทำโน่นทำนี่อะไร ก็เพื่อประโยชน์ของประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อเสพ ว่าเราชอบ เรายินดี เราพอใจเสพ ก็คือเป็นอัตตา นี่เรายินดี พอใจก็เสพสมใจของเราอย่างนี้ นี้เป็นอัตตา หมดตัวหมดตนหมดอัตตา คือไม่เสพ สมใจเราเลย เพราะฉะนั้น อะไรที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้ มีเป็นการทำๆ เพื่อผู้อื่น ที่เรียกว่าไม่มีตัวหรือ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ทำเพื่อตัว ไม่เห็นแก่ตัว คนเรามันอยากเลี่ยง มันอยากอยู่เฉยๆ มันอยากไม่คิด ไม่นึก เขามีอะไรมันน่าทำทั้งนั้นในโลกนี้ ยิ่งอยู่ในพวกเรา ยิ่งกำลังก่อกำลังสร้าง กำลังทำงาน มันมีงานไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ แต่เสร็จแล้ว เราก็บอก โอ๋ย งานนั้นเราก็ไม่ชอบ งานนี้เราก็ไม่ถนัด งานนี้เราก็ไม่ทำ อยู่เฉยๆดีกว่า ไปเดินหาอะไรทำอะไรเท่าที่ชอบ มันก็เสพอยู่นั่นแหละ

มันไม่รู้ อัตตาง่ายๆ นะ คนเรา เสพให้ตัวเองนี่แหละ เพลิดเพลินไป มองดูเหมือนประโยชน์บ้าง แต่มันไม่เป็นประโยชน์อะไร เราควรจะทำประโยชน์ได้ชัดเจนกว่านั้น สิ่งที่มันจำเป็น ที่มันสำคัญ มากกว่านั้น แต่มันก็ไม่เข้าใจ อย่างนี้ เรียกว่ามันเสพ เพราะงั้น จะรู้อัตตา เสพให้แก่ตัวเอง ไม่ใช่ง่าย อัตตา เราจะต้องรู้ทั้งอัตตา และรู้ทั้งมานะที่ถือดีถือตัวอะไร ถ้าซ้อน ทั้งอัตตา และ มานะ มันก็ถือดีถือตัว ทำได้ดีหน่อยหนึ่ง ก็ถือดีอยู่นั่นแหละ ยิ่งได้ฐานะ ยิ่งเป็นสมณะ เป็นนักบวช เป็นสิกขมาตุ เป็นอะไรพวกนี้ เราเป็นสิกขมาตุ เราเป็นสมณะแล้ว เราก็ไม่ต้องทำ เราไม่ต้องไปคลุกคลีเกี่ยวข้อง แม้ทั้งวินัยก็ไม่ได้มาห้ามอะไร แต่ก็ไปถือวินัยเกินตัวอะไรบ้าง ก็ถือดี ถือตัวไม่ทำแหละ ยังงี้ๆ มันคนชั้นต่ำมองไปโน่น อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งมันก็ไม่ถูกสัด ถูกส่วน ลองดู แล้วเราจะรู้ว่า ไอ้โน่นยังไง ไอ้นี่ยังไง เราจะรู้แหละว่า มันตัวกิเลสของตัวเรา มันขี้เกียจ มันเห็นแก่ตัว มันไม่ขยันหมั่นเพียร มันไม่ชำนาญ มันไม่ถึงตายหรอก ที่จริงมันมีอยู่ เยอะเลย แต่เสร็จแล้ว ก็ทำให้ตัวเองไม่เจริญ ไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณค่า

เอ้า เอาละ อาตมาว่าได้บรรยายมาพอสมควรแก่เวลาแล้ว


ถอด โดย ยงยุทธ ใจคุณ ๔ มิ.ย.๒๕๓๕
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ๑๑ มิ.ย.๒๕๓๕
พิมพ์ โดย สม.มาบรรจบ
ตรวจทาน ๒ โดย สม.จินดา ๒๓ มิ.ย.๒๕๓๕

:2455.TAP