ตาปูตรึงใจ-อย่างไรแน่นนัก ตอน ๒
โดย พ่อท่านสมณะ โพธิรักษ์
ก่อนฉัน วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕
ณ พุทธสถาน ปฐมอโศก


มาคุยกัน มาอธิบายกันในเรื่องของธรรมะ ก่อนจะได้ทานอาหารกันก่อนนะ

เมื่อเช้านี้ อาตมาได้บรรยายขีลสูตร สูตรของตาปูตรึงใจ ๕ ประการ สรุปขยายความอีกครั้งหนึ่ง ย้ำซ้ำอะไรเพิ่มเติมอีก ให้มันได้รับรู้ ได้เข้าใจจุดสำคัญจุดดีๆขึ้นไปให้สำคัญ เพราะว่า มันไม่ ขยับเขยื้อนนะ ถ้าเผื่อว่า เราไม่เข้าใจไอ้ตาปูตรึงใจ ไม่ว่าจะเป็นสายโทสะ ไม่ว่าจะเป็นสายราคะ สายกามทั้ง ๒ สาย ตรึงใจ มันตอกตรึง มันไม่เจริญขึ้น อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัส ยืนยัน นั่นน่ะ อย่างที่ได้ย้ำให้ฟังนั่นน่ะ เป็นเรื่องที่หวังความเสื่อมอย่างเดียว ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ว่ากลางคืน หรือกลางวัน ที่ผ่านมาถึงบุคคลนั้น เพราะไม่ว่าจะเวลามันจะผ่านไป จะเป็น กลางวัน กลางคืน เวลาไหนก็แล้วแต่ มันก็หมายความว่า หวังความเสื่อมอย่างเดียว ตลอด ทุกวินาที ถ้าเผื่อว่า เราไม่เขยิบขยับ ไม่ถอนตาปูตรึงใจนี้นะ ลักษณะที่มันจะตรึงใจเรา อย่างสำคัญ มันก็เป็นเรื่องของสรุปแล้ว ก็เป็นเรื่องของความโกรธ กับความรัก อย่างที่ว่านี่แหละ

เพราะฉะนั้น ในลักษณะเหล่านี้ ถ้าเราไม่ฉลาดที่จะอ่านสภาวะออก ท่านก็ขยายความ ๕ ประการ ก็เป็นการขยายความนะ อย่างตาปูตรึงใจในสาย ไม่ชอบใจ เพราะว่าเราลด ความเลื่อมใส ลดความไม่ชอบใจ เมื่อลดความเลื่อมใส ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่สงสัยคลางแคลง ไม่เลื่อมใสลงไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศาสดา ครูบาอาจารย์ หรือพระธรรม พระสงฆ์ หมู่กลุ่ม สงฆ์ไป จนกระทั่งถึงแม้แต่เพื่อนพรหมจรรย์ แม้แต่เพื่อนๆ ฝูงๆ สพรหมจรรย์มันก็ไม่เลื่อมใส ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ ไม่พากเพียรแล้ว เหนื่อยหน่าย เฉื่อยไป จืดๆ ชืดๆไป ท่านก็ไล่มานั่นแหละ ตั้งแต่พระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ ในสิกขาหรือการศึกษา มาจนกระทั่งหมู่ฝูงของ ผู้ปฏิบัติธรรม ร่วมกัน ก็เกิดไม่ค่อยจะเบิกบาน ร่าเริง อบอุ่น กระปรี้กระเปร่า สังสรรค์ ลักษณะ มันจะเกิดอย่างนั้นจริงๆ

เพราะฉะนั้น ความแตกแยกก็เกิดขึ้น ความไม่แน่น ไม่รวมพล ไม่รวมพรรค ไม่รวมหมู่ ไม่เป็น พลังรวม มันก็จะเกิดขึ้น นี่เป็นสัญญาณ เป็นลักษณะที่เราจะต้องสังเกต เกิดจากเราคนเดียว คนหนึ่งก็เริ่มต้นแล้ว ถ้าหลายๆคน ก็มีลักษณะอย่างนี้ หลายๆคนขึ้น จะเห็นชัดเจนเลยว่า กลุ่มนี้น่ะ เกิดความไม่ประสานแล้ว ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างไม่อินังขังขอบอะไรกัน ซึ่งลักษณะอย่างนี้ ก็ต่างกันกับศาสนาสายนั่งหลับตา หรือสายฤาษี ของพุทธนี่นะ นี่

อาตมาวันนี้ที่อาตมาหยิบมาของพระพุทธเจ้า มาอธิบาย มันเป็นของพุทธนะ ถ้าของฤาษีแล้ว มันหนักไปในทางนั่งหลับหูหลับตาอยู่คนเดียว ไม่เกี่ยวอะไร ไอ้นั่นน่ะ มันเป็นไปเองอยู่แล้วนะ เขาก็จะบอกว่า เขาศรัทธาในอาจารย์ ศรัทธาในศาสดา ศรัทธาในธรรม ธรรมะก็คือ สิ่งที่จะต้อง นั่งสมาธิ ที่จะต้องปลีกเดี่ยว จะบอกว่านี่เป็นการศึกษา เป็นสิกขาอย่างหนึ่งก็ตาม จะบอกว่า เป็นความรวมสงฆ์อย่างหนึ่ง ก็เป็นรูปแบบอย่างหนึ่ง เป็นรูปแบบที่ไม่รวมพลัง แต่มันจืดๆ ชืดๆ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างแยก ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างมา เป็นหมู่มวล ที่รวมกันแห้งๆ รวมกันแห้งๆ คือรวมกันอย่างแข็งๆ รวมกันอย่างไม่เห็นพลังที่มันจะเป็น พลังสร้างสรร จะเป็นพลังทื่อๆ ลื่อๆ จืดๆ

เราจะสังเกตเห็น ในชาวอโศกเรานี่บางครั้งบางคราว จะเห็นได้เมื่อใด เมื่อเกิดสภาวะจืดๆ ชืดๆ นั่น จะดูมันแห้งๆ มันไม่อบอุ่น มันไม่เพลิดเพลิน มันไม่เบิกบาน มันเหี่ยวๆ เฉาๆ จืดๆ ชืดๆ แข็งๆ แล้วพลังสร้างสรรจะไม่มี งานการที่ไม่ค่อยจะกระปรี้กระเปร่า งานการก็จะโรยๆ ราๆ แล้งๆ ขาดๆ เขินๆ แล้ว เพราะมันไม่เป็นพลังสร้างสรรเลย อันนี้แหละ มุมนี้แหละ เป็นความแตกต่าง ที่เด่นชัด ระหว่างลัทธิฤาษีกับลัทธิพุทธ ลัทธิพุทธนี่สร้างสรร มีประโยชน์ คุณค่า มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว เบิกบาน

อาตมาเคยตั้งข้อสังเกตให้ฟังว่า ศาสนาพุทธนี่ ทำไม พุทธะแปลว่าผู้เบิกบาน คำว่าเบิกบานนี้ เอามาแปลเนื้อความใส่คำว่าพุทธะด้วย ผู้รู้ ผู้ตื่น เอาละ รู้เราก็พอ พอจะไม่มีปัญหาอะไร พุทธิ พุทธะ แปลว่ารู้อยู่แล้ว รู้ ตื่น เป็นคนตื่นนี่ มันยิ่งขยายออกไปอีก จากรู้ว่า รู้อย่างตื่นนะ ไม่ใช่รู้ อย่างหลับ ไม่ใช่รู้อย่างปิด แต่รู้อย่างเปิด รู้อย่างตื่น รู้อย่างรับสัมผัส รู้อย่างคนสติสัมปชัญญะ ปัญญาเต็มๆ ยิ่งเต็มยิ่งตื่นเท่าไหร่ หรือตื่นหมายความว่า รู้โลก รู้สังคมกว้าง ยิ่งกว้างเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผู้รู้ดีเท่านั้น เป็นโลกวิทู เป็นพหูสูต ยิ่งรู้ได้กว้าง ยิ่งใช่พุทธ ถ้ายิ่งแคบ แคบลงมา ยิ่งไม่ใช่พุทธ ลงมาทุกทีแหละ

เอาละ รู้ตื่น ก็พอจะเข้าใจ แต่เบิกบานนี่ อาตมาเคยตั้งข้อสังเกต ทำไมต้องเบิกบาน เบิกบานนะ มันเหมือนโลกอย่างหนึ่ง ปฏินิสสัคคะแล้ว นี่ มันจะเหมือนชาวโลก ชาวโลกเขาก็ต้องการ ความรื่นเริง เบิกบานนะ ทีนี้ศาสนาที่เป็นฤาษีนี่ จะไม่เบิกบานหรอก จะแห้งๆ แข็งๆ จืดๆ ชืดๆ เข้มๆ ทื่อๆ จะไม่ค่อยเบิกบานหรอก ตัวใครตัวมัน กุฏิใครกุฏิมัน มุมใครมุมมัน แต่เขาสงบนะ เขาสงบ ของฤาษีนี่สงบยิ่งกว่าของพุทธอีก พุทธร่าเริง เบิกบาน สนุกสนาน กระปรี้กระเปร่า มีแรงกล แรงงาน แต่อยู่ในความสงบ ที่เขาต้องเข้าใจว่า สงบอย่างไร

ไม่ใช่ว่าสงบเงียบกริบ ไม่กระดิก แล้วก็แข็งทื่อ ไม่มีบทบาทแรงเคลื่อน ไม่มีบทบาทกลไก ประเภท พาซื่อ ประเภทซื่อบื้อ ประเภทเถรตรงน่ะ มันจะต่างกันในมุมเหลี่ยมเหล่านี้ มันจะต่างกัน

เพราะฉะนั้น ศาสนาพระพุทธเจ้านี้ จึงเป็นศาสนาที่มีความสัมพันธ์ มีความรวมเป็น สมานัตตตา เป็นความเสมอสมาน เป็นพลังรวมที่เหมือนมนุษย์ในโลก ดูแล้วก็ เออ เขามีบทบาทลีลา มีความเป็นอยู่ มีการงาน มีอะไรๆ เหมือนมนุษย์ในโลก แต่ไม่มีความโลภ โกรธ หลง หรือว่าความโลภ โกรธ หลงน้อย เป็นสังคมที่ความโลภ โกรธ หลง ไม่เข้ามาเป็น ตัวปฏิกิริยา เพราะฉะนั้น แม้จะมีบทบาท สร้างสรร มีการกระทำอะไรเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ก็เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน อย่างรวมกำลัง เพราะฉะนั้น วิมุติของพระพุทธเจ้า จึงเป็นวิมุติที่เป็น พลังน่ะ ยิ่งมีวิมุติ ยิ่งมีพลัง เพราะฉะนั้น เราอยากจะได้พลัง ทำอย่างไร อยากจะได้พลัง ทำอย่างวิมุติของพุทธ

ถ้าวิมุติของฤาษีแล้ว ไม่มีพลัง พลังสังคมยิ่งไม่เกิดใหญ่เลย พลังสร้างสรรยิ่งไม่มีใหญ่เลย มีแต่หมดพลัง มีแต่นิ่ง มีแต่หยุด มีแต่งอก่องอขิง มีแต่ห่างๆ เหินๆ ไม่เกิดพลังประสาน ไม่เกิดพลัง ตัวปฏิกิริยาต่อทอดไม่มี มีแต่แห้งแต่ปลีกแต่เดี่ยวแต่ขาดตอนไปหมด ไม่เกิดพลังต่อ นี่ อาตมา พยายามขยายความนะ เพื่อที่จะให้คุณฟังแล้วก็สังเกต เพราะมันนามธรรม

ถ้าเราไม่มีกลุ่มคน ๒ กลุ่ม มีลักษณะสภาวะพวกนี้รองรับนะ เราจะเปรียบเทียบยาก อาตมา พูดไป ก็ไร้ประโยชน์ จะมองจากที่ไหนก็มองยาก เพราะว่ามันไม่มีสภาวะรองรับ แต่ถ้าเรามีแล้ว อย่างเรานี่ มีขนาดนี้ ก็พอมีสมควร พอสมควร มันมีสิ่งรองรับ นี่ คุณจะสังเกตได้ ฟังแล้ว อ๋อ พอเข้าใจ ในมุมนั้นมุมนี้ว่า มันมีสิ่งที่แตกต่างกันอย่างไร มีสิ่งที่เป็นจริง อย่างที่อาตมาพยายาม ขยายความให้ฟัง แล้วก็เข้าใจได้นี่ จะเห็นได้ว่า ทั้งฝั่งโน้น อาตมาก็พูด ฝั่งนี้ก็พูด ทางด้าน อย่างฤาษี ทางด้านอย่างที่มันออกนอกรีตไป ก็บอก ทางด้านอย่างพุทธแท้ๆ มันจะได้สภาวะ เป็นจริงยังไงขึ้นมา ก็พอจะฟังเข้าใจ น่ะ นี่เป็นลักษณะของสายโทสะ สายที่ แม้จะโทสะคือ สภาพที่จะต้องขาดกันนะโทสะนี่ จะเป็นสภาพที่ต้องตัดขาดกัน แต่แม้จะตัดขาดกัน ไม่ให้มี ไม่ให้เป็น ให้ตัด ให้สูญ ก็ยังมีเยื่อใยสัมพันธ์ เพราะว่าเมื่อเราไม่มีความไม่ชอบใจ เราไม่มีสิ่งที่ จะมาตัดรอนให้เกิดปะทะ ให้เกิดการขาดกันแล้ว แม้จะไม่มีอาการของโทสะไม่ชอบใจ ทั้งหมด ทั้งมวล มันก็มีความสัมพันธ์ ไม่มีโทสะเลย ไม่มีโทสะมูลขาดสิ้นเลยนะ ก็เกิดความสัมพันธ์ เกิดความสัมพันธ์

ทีนี้ ถ้าเผื่อว่า พาซื่อแบบฤาษีแล้ว ถ้าไม่มีความโกรธ ไม่มีความเคืองอะไรเลย เขาเฉยชืดไปเลย เขาจะไม่เกิดความสัมพันธ์นะ ทางสายฤาษี เขาบอกว่าไม่โกรธไม่ชอบไม่มี ความชอบก็ไม่มีแล้ว ความชังก็ไม่มีก็ตาม ความชอบก็ไม่มีก็ตาม พอจะตัดของเขาตัดขาดแล้วนี่ เขาจะไม่มี แนวสัมพันธ์ จะไม่มีลักษณะสัมพันธ์เลย จะเฉย ตัด ตัดขาดไปเลย แต่ของพุทธเราจะไม่เป็น เช่นนั้นนะ

ทีนี้ มาในสายของราคะล่ะหรือสายของกาม หรือสายของความสัมพันธ์ นัยนี้ถ้าบอกว่าเป็น กิเลส เราก็เรียกว่ากาม ผูกพันน่ะ ที่บอกว่า เป็นผู้ที่ยังมีอาการของความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความเร่าร้อน ความอยากอะไรนี่ สายนี้ ถ้าพูดหนักๆ มันก็เป็นภาษา ผูกพัน หรือสัมพันธ์ สัมพันธ์หนักเข้า ก็เป็นผูกพัน เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีความผูกพันมาก หรือ จัดจ้าน ก็แน่นอน มันก็เป็น ตาปูตรึง ถ้ายิ่งมันแรง มันไม่คลอนแคลน มันตีไม่แตก มันถอน ไม่ออก มันเป็นอย่างเก่า ก็มีวันแต่จะเพิ่มเติม ให้เป็นกิเลสหนาขึ้น ดูดดึงผูกยึด เร่าร้อนน่ะ เป็นความอยากใคร่ ที่ยิ่งเหนียวยิ่งแน่น จัดจ้านขึ้น เท่านั้นเอง

ซึ่งมันก็เป็นตาปูตรึงใจ ชนิดสายดูด สายที่สัมพันธ์แน่นเกินไป สัมพันธ์ผิดสภาพ เกินสภาพ ไปแล้ว ซึ่งก็คือ เกิดผลเสียแน่ เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์นี่ เราจะเหลือไว้ไหม เหลือแน่นอน เหลือแน่นอน เพราะฉะนั้น สายความชอบ หรือว่าสายความไม่ใช่ชัง นี่ เราไม่ต้องล้างออก หมดทีเดียว มันจะต้องมีความปรารถนา หรือความต้องการ เรียกว่าปรารถนาดี ต้องการดี มีในอารมณ์จิต มีในตัวจิต จิตจะต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ ปรารถนาดี ปรารถนารวมกัน ร่วมกัน ปรารถนาเกื้อกูลกัน ปรารถนาอยู่ มีก็แล้วกัน ปรารถนาให้มี เมื่อยังมีแล้ว ก็ต้องมีในสิ่งที่จะเป็น ความสร้างสรร เป็นการสร้างสรร เป็นสิ่งที่เจริญงอกงาม เป็นเครื่องอาศัยของชีวิตของสังคม ของมนุษยชาติ ต้องสร้างสรร ต้องมี เราต้องยอมรับความจริงว่า แม้จะเป็นพระอรหันต์ เราเป็นพระอรหันต์แล้ว เราก็ยังมีรูปนามขันธ์ ๕ ยังมีชีวิตที่จะดำเนินไป ยังมีสิ่งที่จะมีนะ ไม่ใช่ว่าไม่มี ไม่มีกิเลสแล้ว ไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่ ยังมีชีวิต ยังมีอะไรต่ออะไรอยู่ เพราะฉะนั้น มันจะต้องอาศัย ชีวิตก็ต้องอาศัยอาหาร อาศัยการงาน อาศัยเครื่องอยู่ อาศัยปัจจัย ๔ อาศัย คุณค่าความดีงามให้แก่สังคม

เพราะว่า คนที่ยังไม่ดีมันก็ยังมี คนที่จะต้องการ การศึกษา คนที่จะต้องพัฒนาอยู่ ก็ต้องมี อย่างน้อย ก็ต้องมีการสืบทอดเผยแพร่การศึกษา หรือสืบทอดเผยแพร่สิ่งประเสริฐที่ใครได้ ใครมี ใครเป็น ยิ่งได้สิ่งประเสริฐ ที่ลึกๆซึ้งๆ ที่ยิ่งยากแก่การถ่ายทอด ยากแก่การรู้นี่ มันจะต้อง พยายามทีเดียว ต้องอยากถ่ายทอด ต้องปรารถนา ต้องตั้งใจ ใจจะต้องมีแรงน่ะ ต้องมีแรง ในการที่จะต้องอยากให้เขาได้ ปรารถนาให้เขาได้ มีฉันทะ มีวิริยะ มีจิตตะ มีวิมังสา ต้องมี อิทธิบาท ในการที่จะสร้างกุศล อย่างน้อยก็กุศลอยากให้คนอื่นรู้ อยากให้คนอื่นได้รับทราบ อยากให้คนอื่น ได้สิ่งประเสริฐนี้ สิ่งที่ดีนี้ตาม อยากจะให้ได้จริงๆ อยากจะให้คนอื่นได้รับ ถ่ายทอด สืบทอด ไม่เช่นนั้น มันก็สูญไปกับเรา ศาสนาก็กุด ก็ด้วน มันไม่กุดไม่ด้วนจริงๆ ทีเดียวหรอก

เหมือนกับศาสนาฤาษี ศาสนาฤาษีนี่เผยแพร่น้อย ไม่ค่อยอยากเผยแพร่หรอก ตัวใครตัวมัน ไม่ค่อยอยาก จะสอนหรอก ขนาดนั้นมันก็ยังดูเอาอย่างได้ ดูเอาอย่างนะ ศาสนาฤาษีนี่ ครูพักลักจำ ต่างคนต่างดูเอา สังเกตเอาเอง เห็น เออ เขาทำอย่างนี้ เขาทำอย่างนี้ อธิบาย ไม่ค่อยเป็น อธิบายไม่ค่อยออก แล้วก็ไม่ค่อยอยากจะสอน เพราะฉะนั้น ศรัทธาอย่างของ ศาสนาฤาษี จึงกลายเป็นศรัทธาที่ไม่มีพระธรรมกถึก ไม่ส่งเสริมพระธรรมกถึก ไม่ส่งเสริมพหูสูต ไม่ส่งเสริม การจะต้องแสดงธรรม เข้าสู่บริษัท แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท จะไม่ส่งเสริม หลักการศรัทธาของเขานี่ ศรัทธาเชื่อมั่น ปักดิ่งอยู่เดี่ยวๆ เปลี่ยวๆน่ะ ไม่พูดได้ยิ่งดี ไม่สอนก็ไม่ว่ากัน แต่พุทธไม่ได้ ไม่สอนก็ว่านะ

ตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านยืนยันในศรัทธาที่ไม่บริบูรณ์นี่ แต่ก็ไม่ได้บังคับ ท่านก็ไม่ได้ไปบีบ บังคับอะไรจนเกินการ แต่ว่าสอนให้เกิดปัญญาญาณ ให้รู้ว่าสิ่งที่จะสมบูรณ์ มันเป็นอย่างนี้นะ ไอ้อย่างนั้น มันไม่สมบูรณ์นะ ศรัทธา เชื่อมั่น เสร็จแล้วก็ เอาละ แค่ได้ศีล มีศีลได้ศีล พหูสูต ก็ไม่ส่งเสริม ไม่เรียนรู้เพิ่มเติม ไม่ใส่ใจที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติม มันก็ตื้อๆ เท่านั้นเอง เมื่อไม่ศึกษา เพิ่มเติม ไม่ต้องพูดถึงเลยว่า จะเป็นพระธรรมกถึก จะเป็นผู้ที่สอน เป็นผู้เทศนา อะไร มันก็จะด้วนๆ กุดๆ ไปได้ทิศทางนั้น

ซึ่งเราสังเกตได้เลย สายฤาษีนี่ มันก็ต่อได้สืบทอดได้ บอกแล้วว่า แม้ไม่สอนก็สืบทอดได้ มันดูเอา ครูพักลักจำ เห็นเอา สังเกตเอา เอาตามอย่างกันไป เป็นยังไงล่ะ ไม่รู้ ไถ่ถาม บอกไปทำเอาเอง ไปทำเอาแล้วจะได้เอง มีแต่อย่างนี้ อธิบายเหตุอธิบายผล อธิบายความลึกซึ้ง อธิบายอะไร แง่เชิงอะไรต่างๆนานา พวกนี้จะไม่มีปัญญา ไม่มีปฏิภาณ ไม่เก่งทางด้านพวกนี้ ไม่สมบูรณ์ไม่รอบ ไม่ใช่ผู้รู้ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่ผู้ตื่นที่สมบูรณ์ จะกลายเป็นผู้ ที่มีแต่สะกดจิต ดับดิ่ง ไปเฉยๆ ได้ ตื้อขึ้นทุกที ตื้อขึ้นทุกที เพราะฉะนั้น ในหลักฐานต่างๆ ที่อาตมาหยิบเอาศรัทธา ที่บริบูรณ์ด้วยศีล บริบูรณ์ด้วยพหูสูต บริบูรณ์ด้วยความเป็นพระธรรมกถึก เข้าสู่บริษัทแกล้วกล้า อาจหาญแสดงธรรมแก่บริษัท ทรงวินัย ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจยินดีในเสนาสนะอันสงัดอยู่ จนกระทั่ง ถึงความเป็นฌาน เป็นวิมุติ อะไรนั่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ยืนยันว่า ทิศทางของ พระพุทธเจ้าที่จะสมบูรณ์ ที่จะบริบูรณ์นั้นน่ะ จะต้องมีลักษณะพวกนี้ไม่ขาด แล้วสอดคล้องกัน

อย่างที่อาตมากล่าวบรรยายอยู่นี่ ธรรมะของพระพุทธเจ้า สูตรไหนก็ดี หมวดไหนก็ดี เอามาอธิบายแล้ว มันจะสอดคล้องกัน มันจะไม่ขัดแย้งกัน จะเห็นว่า แนวลึกแนวอะไรต่ออะไร มันจะไปอย่างนั้น คำว่าสงบ เหมือนๆ มันหยุด พระพุทธเจ้าก็ตรัสให้เราหยุดอยู่ แต่หยุดอะไร หยุดกิเลส แต่ยิ่งหยุดกิเลสแล้วเป็นยังไง ยิ่งคล่องแคล่ว หยุดกิเลสแล้ว ยิ่งสว่าง ยิ่งกว้าง ยิ่งยอด รู้ หยุดกิเลสแล้ว ยิ่งแรงงานพลังงาน ยิ่งปราดเปรียว ยิ่งแคล่วคล่อง ไม่ใช่ยิ่งหยุด แล้วก็ยิ่งหยุดอย่างฤาษีนี่ บอกเราหยุดแล้วของฤาษีนี่หยุดเลย ดิสเบรคเลย หยุดไม่มีอะไร เคลื่อนเลย หยุดมะลื่อทื่อลูกเดียว มิติตื้นๆ นี่ของฤาษี จะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม ฟังดีๆ มันจะเป็น อย่างนั้นเลยหยุด เพราะฉะนั้น ฤาษีกับพุทธนี่ ยิ่งวิเคราะห์วิจัยให้ฟังลึกๆ ชัดๆ แล้วจะต่างกัน

แม้ขณะนี้ อาตมาพูดถึงว่า ในสายเขาจะเป็นตาปูตรึงใจ ที่เราเอง เราไปเพิ่มทางด้านกาม ทางด้านราคะ ทางด้านความต้องการ ความปรารถนานี่ก็ตาม ถ้ามันมีมากแล้วก็มันมีมา จริงๆ แล้ว คือมีความใคร่อยาก แล้วเอามาบำเรอตน บำเรอทางทวาร ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ บำเรอทางทวารจิต เป็นภวตัณหา นั่นแหละถือว่ามันเป็นตัวพิษภัย เป็นตัวที่เราจะต้องเรียนรู้ แล้วเอาออก แต่ถ้าเผื่อว่า เราปรารถนา เราใคร่อยาก เราต้องการรังสรรค์ เพื่อผู้อื่น เพื่อสร้างสรร ไม่ใช่เพื่อตัวเพื่อตน เป็นการเสียสละที่แท้นี่ ในแม้มิติแรกว่าเป็นการเราอยากจะช่วยเหลือผู้อื่น มันเป็นบาปตรงไหนนะ มิติแรกตื้นๆก็ได้ มันไม่ได้บาป มันไม่ได้เป็นกิเลส

ถือว่ามันเป็น ความเสียสละ มันเป็นความต้องใช้เรี่ยวใช้แรง ต้องอุตสาหะวิริยะของเราเพื่อผู้อื่น โลกต้องมี ตัวนี้ ด้วยซ้ำไป โลกต้องมีความปรารถนาดีเพื่อผู้อื่น จะเหน็ดจะเหนื่อย จะอุตสาหะ วิริยะอะไร ได้มากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งดี เพราะฉะนั้น ความต้องการที่จะช่วยผู้อื่นนี่ อย่ามีตัวซ้อน ก็แล้วกัน อยากช่วยผู้อื่นเพื่อจะได้มีเล่ห์กล มีชั้นเชิง เพื่อที่จะได้ให้ผู้อื่นนั่นน่ะเวียนวน หาอะไร มาให้ตัวเอง เราก็จะได้รับจากผู้อื่น อย่างน้อยก็ได้รับความสุข เราทำเพื่อผู้อื่น แล้วเราก็หลงว่า มันเป็นภพ เป็นชาติอย่างหนึ่ง แล้วก็เป็นสุขใจเฉยๆ ก็ตาม นี้เรียกว่าลึกซึ้งแล้วนะ

ยิ่งเพื่อที่จะลึกซึ้งหยาบคายกว่านั้น ทำเพื่อผู้อื่น เพื่อผู้อื่นจะได้สรรเสริญเยินยอยกย่อง เพื่อเรา จะได้เป็นคนดีคนเด่น เขาจะได้มายกยอปอปั้น อะไรก็นั่นก็หยาบไปแล้ว ยิ่งที่จะได้ยศ ได้ตำแหน่ง เสริมเข้าไปอีก อยากได้ของแลกเปลี่ยน เป็นลาภ เป็นสิ่งของ เป็นอะไรต่ออะไร เข้าแลกเปลี่ยนมาอีก ได้ราคาได้ค่า สิ่งที่เราได้ช่วยผูอื่นนี่ ได้ช่วยได้ลงทุน ลงแรงให้แก่ผู้อื่นไป ผู้อื่น ก็ได้แลกเปลี่ยนมาให้อะไรตัวเองอีก มันยิ่งหยาบใหญ่เลย ยิ่งเป็นโลกียะชัดๆ ไอ้อย่างนี้ มันจะเป็นบุญ เป็นคุณอะไร ไม่ใช่กุศล

ยิ่งไปเอามากๆ แลกเปลี่ยนมาเกินค่า เกินคุณ อย่างที่ อาตมาอธิบายแล้ว อธิบายอีก ยิ่งเป็นหนี้ เป็นสิน ยิ่งเป็นเล่ห์เหลี่ยมในโลก จะต้องหามาให้ได้เกินกว่าแรงงานที่เราออกไป ราคาของ แรงงาน จะต้องได้มากเกินกว่าแรงงาน ผลิตอะไรออกมา ก็เอาไปให้คนอื่น ก็จะต้องให้ได้ แลกเปลี่ยนกลับคืนมา มากกว่าค่าของผลผลิตนั้น ของสิ่งผลิต นั้นจริงๆ เรียกว่ากำไร เรียกว่า เอาเปรียบเขามาได้ เรียกว่ากำไร นี่คือวิธีการของคนในโลก เพราะฉะนั้น ชาวโลกุตระเขาต้อง ศึกษาดีๆ เลยว่า แม้แต่มีความปรารถนาดี มีความต้องการจะสร้างสรร ต้องการจะช่วยเหลือ ต้องการจะเกื้อกูล ก็ต้องมีจริงๆ เพราะฉะนั้น คำว่า หมดความอยาก อย่าพาซื่อ ในโลกนี่ มันจะมาตัดกิเลส คือตัดตัณหา ตัดความอยากอะไรทั้งหมด มันมะลื่อทื่อเกินไป แล้วสังคม ก็เลย กลายเป็นสังคมฤาษี สังคมนิ่ง สังคมหยุด อยากอะไรก็ไม่ได้เลย นี่แหละ

ถ้าเรียนไม่รู้ เรียนไม่เห็นจริง เรียนไม่เข้าใจจริง ตกลงไม่ต้องอยากอะไรเลย แล้วก็ยิ่งไม่ฝึกฝนเลย หยุดอย่างเดียว ไม่อยากอะไรเลย มันก็ง่ายก็สั้นดีเหมือนกันที่จริงน่ะ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติ แบบฤาษี จึงง่ายกว่าการปฏิบัติแบบพุทธ พุทธจะบอกว่าไม่อยาก ก็คือไม่อยากที่จะเอามา บำเรอตน ไม่อยากที่จะเห็นแก่ตัว ไม่อยากมาเพื่อตัวเพื่อตน ต้องละความติด ละความเสพ ละความหลงของตนเอง ที่ไปติดไปเสพ ไปหลงอยู่ ละกิเลสตัวนี้ให้แม่นๆ ให้ถูกๆตัว แต่ต้อง อยากอยู่ อยากช่วยเหลือเกื้อกูล อยากจะเอื้อเฟื้อ อยากจะสร้างสรรอะไร อยากเป็น วิภวตัณหา ตัณหาอุดมการณ์ ไม่ใช่ตัณหาเพื่อมาบำเรอตน เราฝึกไปเป็นขั้นๆ กระทำไปเป็นลำดับๆๆน่ะ เพราะฉะนั้น ตัณหา วิภวตัณหานี่ จึงลึกซึ้งมาก

พออาตมาแปลบอกว่า พระพุทธเจ้าก็มีตัณหานี่ โอ๋ย เขาก็ฟังกันบอกว่า นี่มันดูถูกพระพุทธเจ้า ไม่ดูถูกหรอก พระพุทธเจ้าไม่มีตัณหาจะไปสร้างศาสนาได้หรือ ศาสนาทั้งศาสนา ไม่ใช่จะง่ายๆ มันต้องมีความ มันมีพลังใจ มีพลังสร้างสรร มีพลังปรารถนาดี ต้องขยัน พากเพียร อุตสาหะนะ

อาตมาว่า อาตมานี่เป็นพระโพธิสัตว์ ดำเนินลักษณะตามรอยพระยุคลบาทพระพุทธเจ้า รู้ดี แสนดีเลยว่า เราต้องขวนขวายขนาดไหน เราต้องอุตสาหะวิริยะขนาดไหน ถ้าลำพังตนเอง ยิ่งจะแบบฤาษีแล้ว เอ๊อ ไม่มีปัญหามากมายเลย อาตมาว่า อย่างนี้แบบฤาษีนี่ เอาตัวหนีไป ไม่ยุ่ง ไม่เกี่ยวอะไรต่ออะไรเลยนี่นะ อาตมาเชื่อว่าพวกเราก็เข้าใจได้แล้ว ไม่ต้องเอาถึงโพธิสัตว์ ในระดับ โพธิสัตว์ที่จะต้องขวนขวายอะไร แล้วก็เห็นความลำบาก เห็นความทุกข์ เป็นทุกข์ ที่จะต้องพยายาม ขวนขวายทุกข์นี้ให้มันเบาเป็นสัมภาระวิบาก ช่วยเหลือผู้อื่น รื้อขนสัตว์ ช่วยมนุษย์มนา ช่วยโลกให้มากๆมายๆนี่ มันเป็นหน้าที่ของคนประเสริฐที่จะต้องกระทำซ้ำซ้อน ลงไป ไม่ให้เป็นอย่างฤาษี ถ้าอย่างฤาษีสอนจบๆ ง่ายๆ หนีโลกแบบนั้นนะ โอ๊ย ไม่ต้องอาศัย ภูมิพระพุทธเจ้าหรอก เขาสอนมาก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติ หนีโลกไป ก็นั่งหลับใคร หลบมัน จะกิน จะอยู่ก็ได้ แล้วคนก็เลื่อมใสด้วยเหมือนกันนะว่า ไม่ได้กวนนี่เขาก็เลื่อมใส

เพราะอาตมาเคยพูดถึงประเด็นของความเฉลียวฉลาดของคน คนที่ไม่แย่งไม่ชิง ไม่อยากได้ เขาก็ถือว่า เป็นคนดี เมื่อไม่แย่งไม่ชิงไม่อยากได้ นั่งอยู่เฉยๆ เขาก็ดีแล้ว ทางด้านนักหากิน ในโลก นี่ มันไม่ต้องการคนที่มาเป็นคู่ต่อสู้ เพราะฉะนั้น พวกนี้ไม่มาต่อสู้นะบาย เอาละ ฉันไม่แย่ง ไม่ชิงเธอ ฉันออกไปนั่งหลับหูหลับตา หนีเข้าป่า เข้าเขา เข้าถ้ำ บอก เออ ดีแล้วล่ะ เอ็งมักน้อยเข้ามากๆนะ กินก็น้อยๆ ใช้ก็น้อยๆ พวกนี้ เขาเลี้ยงไว้ได้ ทำทานให้ เอ้า ยังไงๆ ก็อย่าเพิ่ง มันยังไงมันต้องตายละ คนละนะ แต่ว่ายังไม่ตาย ก็ให้แค่กิน แล้วยิ่งมักน้อย เขาก็ยิ่ง ยกยอปอปั้น เป็นพระอาจารย์ชั้น ๑ มักน้อย ไม่เอาอะไรเลย กินก็น้อย ใช้ก็น้อย โอ๊ย อย่างนี้ ต้องเคารพนับถือ ก็เลี้ยงไว้น้อยๆ นี่แหละ ใช่ไหม ก็เอาน้อย ก็เลี้ยงไว้น้อยๆ ก็อยู่ได้แล้ว ก็นิยมชมชื่น นิยมเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ดีแล้ว ไม่ต้องมายุ่งมาเกี่ยวกับโลกเขา ไปเลย ไปเลย เข้าป่า เข้าเขา เข้าถ้ำ เดี๋ยวจะคอยส่งเสบียงให้ อยู่เลย อยากจะทำอะไร จะลงหลักปักแหล่ง สร้างวิมาน สร้างศาลา สร้างกุฏิอยู่ในป่า ในเขาในถ้ำหรือ เอาเลย เอาเลย อย่าออกมา

พวกนี้เขาก็ส่งเสริม ให้ไปนิยมแบบนั้น คล้ายๆกับเป็นกลเชิง เป็นเล่ห์อย่างหนึ่ง ของชาวพวกนี้ ลึกๆ เป็นอย่างนั้นนะ เป็นเล่ห์เรียกว่า ดันพวกไม่โลภจัด เขาไม่มาเป็นคู่แข่ง ดันเข้าไว้ ต้านพวกนี้ไว้ จะได้ไม่มาเป็นคู่แข่ง ก็เป็นโอกาสของพวกฉ้อฉล พวกเลศเล่ห์ พวกที่จะไม่ต้อง สร้างคู่ต่อสู้ อยู่ในสังคมนี่ นี่ล่ะ เป็นวิธีการอันหนึ่งของสังคมเหมือนกัน เป็นวิธีการที่เขาจะขจัด ศัตรู ขจัดคู่ต่อสู้ออกไปได้ มันก็ได้ไป เพราะฉะนั้น พวกที่อยู่นี่ ก็น้อยลง ก็เบาขึ้นง่ายขึ้นน่ะ แต่พวกนั้น ก็กลายเป็นคนถ่วงสังคมอยู่นั่น เป็นคนบาป เป็นคนเป็นหนี้นะ ไม่ใช่ไม่เป็นหนี้

อาตมายิ่งอธิบายยิ่งวิเคราะห์อะไรต่ออะไรเข้าไปมากๆแล้ว คุณฟังดูดีๆ จะเห็นได้ว่า มันมีแนว ลึกซึ้งที่ซับซ้อน ซ่อนเชิงอยู่อีกเยอะนะ ในเรื่องของกิเลส ตัณหาพวกลึกๆ พวกนี้ ที่อาตมา พยายามพูด พยายามอธิบายนี่ เข้าใจไม่ง่ายหรอก มันละเอียด คนที่ยังไม่มีภูมิถึงแล้ว ก็ยิ่งฟังแล้ว จะไม่ค่อยรู้เรื่องด้วยซ้ำ ถ้าใครที่ฟัง มีความเข้าใจได้อะไรได้ก็ดี ดีฟังไว้ก่อน แต่จำเป็น ที่อาตมาจะต้องพยายามอธิบายออกไว้ ถ้าไม่อธิบายไว้ ประเดี๋ยวก็ยิ่งไม่รู้เรื่อง พวกเรา มีสภาวะเท่านี้ อาตมาว่ายังพอรับได้ขนาดหนึ่งด้วยซ้ำ ถ้ายิ่งพวกไม่มีสภาวะเลยนะ ฟังที่อาตมา พูดนี่นะ วนๆเป็นยังไง มันละเอียด มันบางๆ มันต่างกัน มันมีลิงคะที่ต่างกัน มีเพศ หรือมีสิ่งที่ ต่างกัน น้อยเข้าไปทุกทีแล้ว มีความละเอียดลออ ที่จะเปรียบเทียบ ที่จะเอามาวัด มาตรวจสอบ กันนี่ ชักจะมีแง่เชิงที่ต่างกันน้อย มันคล้ายกัน มันเหมือนกัน มันก็เลยทำให้เข้าใจไม่ได้ ฟังๆแล้ว มันเหมือน อันเดียวกัน มันปนๆ วนๆ มันยากขึ้นน่ะ

เอาสรุปแล้วนะ ขีลสูตร นี้อย่างไรก็ตาม ต้องอ่านของตัวเอง เรายังไม่มีละเอียด ก็มีหยาบ นี่แหละ เรียนรู้มันให้ได้ อย่างที่ท่านตรัสเป็นภาษามะลื่อทื่อง่ายๆนี่แหละ เช่นบอกว่า ถ้าเผื่อว่า ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา ก็จะต้องทำให้ตนเองพยายาม พยายามในศาสดานะ ต้องให้เป็นคนไม่เคลือบแคลงสงสัย จะบังคับไม่ได้หรอก ทำไมเราไม่พิสูจน์ ถ้าคุณพิสูจน์แล้ว อาตมาเชื่อแล้วว่า พวกเราไม่เคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดาเท่าไหร่หรอก น้อมใจเชื่ออยู่ เลื่อมใสในพระศาสดาอยู่ แต่แค่นั้นยังไม่พอ บอกแล้วว่า ในประเด็นที่ ๑ นี่ แม้ครูบาอาจารย์ ไม่ต้องถึง ขนาดระดับศาสดา เพราะอาตมาเชื่อแล้ว พวกเราจะไม่เสื่อมหรอกอันนี้ เชื่อว่า เลื่อมใส ในพระศาสดา

แต่แม้ไม่ใช่พระศาสดา ครูบาอาจารย์ก็อย่าให้เกิดอาการอย่างนี้ เป็นอาการเคลือบแคลง สงสัย ในครูบาอาจารย์ ไม่น้อมใจเชื่อในครูบาอาจารย์ หรือไม่เลื่อมใส ในครูบาอาจารย์ ก็อย่าให้เกิด อาการนี้ ถ้ามันเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ พยายามที่จะต้องค้นหาเหตุ ทำความเปลี่ยนแปลง หรือว่า ทำความเข้าใจต่อให้ได้ เราไม่เลื่อมใส เราไม่น้อมใจเชื่อ เราคลางแคลงสงสัย ก็พยายามศึกษา เข้าหา หรือว่าพยายาม ทำความกระจ่างแจ้งขึ้นมาให้ได้ว่า มันเป็นยังไงกันแน่ สุดท้าย ต้องให้จบ ให้ได้ว่า อ๋อ เราเข้าใจผิด เราถูกหรือท่านผิดอย่างไรให้ชัด เราจะได้หมดตาปูตรึงใจ ตัวนี้ ไม่เช่นนั้น ต่อไปก็เอาแล้ว ทีนี้ก็ยิ่งหนักหน้าเข้าไปเลย ความคลางแคลงสงสัย ก็ไม่ได้ คลายสงสัย ความไม่น้อมใจเชื่อ ก็ยิ่งไม่ค่อยเชื่อ ยิ่งโน่น ยิ่งนี่ มันจะมีเหตุ มีปัจจัยต่างๆ เอามาผสมเป็นเหตุเป็นปัจจัย ยิ่งทำให้เรายิ่งไม่ใช่ไม่ค่อยเชื่อ ไอ้นั่นผิดนิด ก็เป็นเหตุ ไอ้นี่หน่อย ก็เป็น เหมือนกับข้อมูลประกอบ เสริมหนุนให้ไม่ค่อยจะเชื่อ ยิ่งไม่เลื่อมใสเข้าอีก ไม่เลื่อมใส เข้าอีก มากขึ้นมากขึ้น มันจะบานปลายอย่างนั้น เพราะฉะนั้น พระธรรมมันก็จะแยกกัน

ถ้าสมมุติว่า อาจารย์นั้น เป็นผู้สัมมาทิฏฐิ เป็นผู้ที่ถูกต้อง เป็นคนที่ดีแน่แท้ๆ แม้ว่าเราเอง เราไม่เลื่อมใสแล้ว เมื่อมีเหตุปัจจัยมาในแง่เชิงของเรา มันก็จะแยกจากอาจารย์ที่แม้จะถูกต้อง ก็ได้นะ จะได้ข้อมูลใหม่ จะได้อะไรต่ออะไรขึ้นมาเสริมหนุนให้ตัวเอง ยิ่งหมดความเลื่อมใส ยิ่งไม่เชื่อ ยิ่งเกิดความหมดศรัทธาไปได้ ทั้งๆที่สมมุติให้ฟังแล้วว่า อาจารย์นั้นถูกต้อง ตัวเอง นั่นแหละ ไม่ถูกต้อง ก็ไปได้จริงๆ มันจะมีข้อมูล มันจะมีเหตุผลของมันเหมือนกัน ในทิศทาง มันจะมีเหตุผลของมันเหมือนกัน ในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง มันก็มีข้อมูล มีหลักฐาน มีอะไรต่ออะไร ของมันเหมือนกันนะมี จะไปกันใหญ่เลย เพราะฉะนั้น เราจะต้องพยายาม อย่าไปปล่อยปละ ละเลยปัญหา แม้จะมีเริ่มต้นเล็กน้อย อย่าประมาท ต้องพยายามทำ แก้ไขเสียให้ดี ไม่เลื่อมใส ในพระธรรม ก็คือคำสั่งสอนต่างๆ คำสั่งสอนก็ได้ สิ่งที่เกิดที่เป็นที่มีตัวเราเอง

ตอนนี้ จะขอวิเคราะห์ตรงคำว่าพระธรรมนี้ให้ฟังดีๆ ธรรมะคือสิ่งที่ทรงไว้ เราทรงไว้ซึ่งความ เป็นปุถุชน เราทรงไว้ในความเป็นปุถุชน ปุถุชนมีอะไรละ ก็มีกิเลส มีความเป็นเทวดาสมมุติ แย่งลาภ ยศ สรรเสริญ แย่งโลกียสุข เสพสมสุขสม มีความเห็นอย่างนี้ มีความเข้าใจอย่างนี้ ก็แสวงหาอย่างนี้ มีชีวิตดิ้นรนอยู่เพื่อโลกธรรม ๘ หรือโลกียสุขแบบนี้แหละ เพราะฉะนั้น การทรงไว้ ซึ่งอย่างนี้ ภิกษุนี้ก็ทรงไว้อย่างนี้ ถ้ายังไม่ได้เข้าใจ ไม่ได้เรียนรู้คำสอนมาแก้ แก้ความทรงไว้อย่างเก่านี่ ทรงไว้อย่างปุถุชน ทรงไว้อย่างชาวโลกียะนี่

ถ้าไม่ได้รับความเข้าใจใหม่ คุณก็จะเป็นอย่างนี้อยู่แหละ ก็หาวิธีที่จะเสพสมสุขสมในแบบเดิม แต่อาจจะเป็น วิธีอะไรต่ออะไรมากมายกว่าเก่า เช่น เขาเป็นอยู่อยากได้ลาภ หรือ ไม่เป็นไร รดน้ำมนต์ให้ ก็เชื่อ เอ้า อ้อนวอนร้องขอก็เชื่อ ทำเครื่องขลัง มีฤทธิ์มีเดช พระเจ้าประทานบ้าง หรือ ฤทธิ์เดชอันนี้ประทานนะนี่ เครื่องลางของขลังอย่างนี้ๆช่วยได้นะ ก็เชื่อ นั่นแหละ เห็นไหม เขามีเหตุ มีปัจจัยนะ เสร็จแล้ว เขาก็ไปอ้างว่าเห็นไหมนั่น คนนั้นได้อันนี้ไปรวย คนนั้นคนนี้ ได้อันนี้ไป สมอกสมใจ อย่างโน้นอย่างนี้ มันยังมีข้อมูล มีหลักฐานพอสมควรเหมือนกัน เพราะ ในคน ในโลกนี้ มันมีสมใจอะไรได้เหมือนกัน ก็มาอ้างอิงเป็นข้อมูลเสริมให้เชื่อ เพราะฉะนั้น ลัทธิอย่างนี้ ก็เกิดได้อย่างผิดๆ

อย่างที่อาตมากำลัง อธิบายนี่เกิดได้ เป็นธรรมะที่ไม่ใช่สัจธรรม เป็นธรรมะนอกรีตของพุทธ โดยตรงเลย เป็นธรรมะไม่ใช่โลกุตระ เป็นธรรมะของโลกียะแท้ๆ มันก็เป็นไปได้ แล้วมันก็เป็น อยู่จริง ต้องการยศ ต้องการศักดิ์อะไรก็ไปหา เป็นศิริมงคล ไปอ้อนวอน แทนที่จะไปฟังพระ ไปฟังสมณะ ไปฟังลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ถ้าจะได้รับตำแหน่งยศ ศักดิ์ สูงๆ ก็ไปให้ลูกศิษย์ พระพุทธเจ้า คือสมณะ หรือพระนั้นท่านสอน ดีแล้วล่ะ รับผิดชอบมากๆ อย่าไปโลภโมโทสัน อย่าไปกอบโกย อย่าไปหาช่องทาง ได้ช่องทางแล้ว อย่าใช้ช่องทางเป็นบาปให้แก่ตน แทนที่ จะได้ร้บคำสอนอย่างนี้ กลับไป เออ เอ้า ให้เจริญด้วยลาภ ด้วยยศ ด้วยสรรเสริญ นะ ไปอีกแน่ะ

ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าแบบนี้ถูกทางที่ไหน ก็บอกถึงแม้เราจะมีโอกาสเป็นใหญ่เป็นโต ได้ตำแหน่ง ยศศักดิ์แล้ว ก็อย่าไปใช้ตำแหน่งยศศักดิ์ช่องทางพวกนี้ บำเรอตน ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเพิ่มขึ้น เป็นนักปฏิบัติที่เสียสละที่ดี ขัดเกลาที่ดี แล้วเป็นโอกาสดี ได้ยศก็ดีละ ได้ยศก็ดี มีขอบเขตในการทำงาน จะช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น ก็ช่วยประชาชนเสียสละมากขึ้น หัด ตัวเองกินน้อย ใช้น้อย ลดละปละปล่อย ลดกิเลสลงมาให้ได้จริงๆ ซิ

ถ้าไปหาสมณะ ครูบาอาจารย์ ที่มีสัจธรรมอย่างนี้ ก็จะสอนเป็นพระธรรม คำสั่งสอนอย่างนี้ ถ้าผู้นั้น เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ก็ไปปฏิบัติตนเป็นผู้ทรงธรรมขึ้น ปฏิบัติตนเป็นคนละลด ไม่เห่อ เหิมในลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ตัดลงไปอีก ตัดลงไปอีก ก็ยิ่งเป็นคนที่ยิ่งจะทำประโยชน์ เป็นบุญ คุณค่าแก่มนุษย์โลกขึ้นไปอีก นี่ มันซ้อนเชิงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น คนจะเลื่อมใส ศรัทธา ในธรรมะพวกนี้ อย่างนี้ ก็ต้องคนที่เข้ากระแส อย่างนี้ ในสายอย่างนี้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว มันก็ไม่เอา ฟังก็ไม่เข้า เพราะว่า เขาสายโลกีย์ ก็ต้องไปหาครูบาอาจารย์โลกีย์

ผู้ใดที่อยู่ในสาย อย่างสายอาตมาว่าอาตมาพูดในสายธรรมะที่เป็นสัจธรรม ของพระพุทธเจ้า เป็นสายโลกุตระ อาตมาก็จะสอนอย่างนี้ จะแนะนำอย่างนี้ จะทรงธรรมไว้อย่างนี้ จะพยายาม พาให้เป็นอย่างนี้ คนที่ไม่เลื่อมใสอาจารย์ เสร็จแล้วก็ฟังคำสอนที่อาตมาจะสอนแบบนี้ ก็ฟัง ไม่ค่อยเข้า แล้วจะไปเลื่อมใสอีกสายหนึ่ง ก็จะไปอย่างโน้นๆ ไป จะเป็นฉ้อฉลที่ลึกซึ้งกว่าที่ อาตมาพูดนี่ก็ได้ ที่อาตมาพูดนี่ง่ายๆใช่ไหม ไปเลื่อมใส ศรัทธาในลาภ ยศง่ายๆ ตื้นๆ อาจจะ ไม่ใช่ลาภ ยศ สรรเสริญตื้นๆ อย่างที่อาตมาว่าหรอก ซับซ้อน ดูท่าที มีลีลาลวดลาย ดูไม่โป๊ ไม่โป๊เหมือนอย่างที่อาตมาว่าได้ เสร็จแล้ว ตัวเองก็จะโน้มเน้นไปอย่างนั้น

ทิศทางแท้ของ มนุษย์ชาตินี่ มันก็เป็นโลกุตระกับโลกียะ ที่ทวนกระแสกัน ๒ ทิศ เท่านั้นแหละ ทวนกระแสกัน ๒ ทิศจริงๆ โลกียะกับโลกุตระ เปรี้ยงๆเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเอาจริงๆ แล้ว ถ้าคุณไม่เอาโลกุตระ คุณก็ต้องไปเอาโลกียะ ใช่ไหม ถ้าคุณไม่เอาโลกียะ คุณก็มาเอาโลกุตระซี เอาให้แน่ๆ มันเป็นอย่างนี้จริงๆน่ะ เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ว่านี่ทรงไว้นี่ จะเป็นแค่คำสอน หรือจะเป็นสิ่งที่ทรงอยู่กับตัวเรา ถ้าคุณเองคุณปลดเปลื้อง ข้อข้องใจขีละ ตาปูตรึงใจนี้ได้ มันก็ กลับมาเสริมหนุนทิศทาง มันก็ไม่แยก มันก็รวมมาอย่างเก่า

แต่ถ้ารวมไม่ได้ ปลดตาปูตรึงใจนี้ไม่ได้ ศาสดาไม่เลื่อมใสแล้ว ฟังพระธรรมก็ไม่เข้า แล้วจะเอา อะไรไปทรงไว้ ก็ทรงไว้แต่โลกียะที่หนาขึ้นมากขึ้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้หลุดออกไป ไปอยู่ในหมู่ อีกทิศหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่ง ไปหาโลกียะจริงๆ ถ้ายิ่งมีเนื้อหาพระธรรม พระศาสดา แล้วพระธรรม ต้องเป็นอย่างนี้ด้วย หมู่สงฆ์ก็ชักจะมองขวางแล้ว ไอ้พวกนี้ มันเป็นพวกโน้นดูซิ มันปฏิบัติ อย่างกัน ดูมันเข้ากันได้ ตัวเองก็เลยจะยิ่งแยกจากสงฆ์ ยิ่งจะมีความเห็นว่า เราไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธา ไม่เชื่อถือ ไม่น้อมใจเชื่อได้ เป็นผู้ที่ไม่ค่อยเอาแล้ว ก็ยิ่งจะไม่เข้าหมู่ ก็ยิ่งจะไม่รวม ยิ่งจะกระด้าง ยิ่งจะปลีกแยกออกไปเรื่อยๆ นี่เป็นสัจจะ เพราะฉะนั้น เขาจะพากันศึกษา จะพากัน พัฒนาสัมมาอาชีพ พัฒนาสัมมากัมมันตะ จะมีการงาน มีกิจ มีโน่น มีนี่อะไรต่ออะไร ต่างๆนานา ไม่ศึกษาด้วยพระธรรมละ ก็ไม่ศึกษาแล้ว เพราะฉะนั้น การสิกขาที่จะเป็นสัมมา ต่างๆ ศึกษาทางจิต ศึกษาทางวาจา ศึกษาทางกายกรรม ก็ไม่เอา ไม่เห็นด้วย มีการงานที่เป็น ของมนุษย์ด้วย เป็นอาชีพด้วย ก็ไม่เห็นด้วย ก็จะค้านจะแย้ง จะปลีก จะแยก จะไปอย่างที่ตัวเอง

พวกเรานี่ อาตมาเห็นบางคน ไม่รู้จะช่วยได้ยังไง คือติดแป้น ติดอย่างอาตมาพูด อาตมาบอกนี่ ไม่หรอก คนเก่าคนแก่มีทุกวันนี้ อาตมาก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะไม่เก่งกว่านี้ เขาก็ได้ขนาดหนึ่ง ละนะ ได้แล้วก็ติดอยู่อย่างนั้น เป็นเทพ เป็นเทพนิกายใดนิกายหนึ่ง เป็นแล้วจริงๆนะ หลงภพ หลงภูมิของตนเอง หลงภพหลงภูมิของตัวเอง จริงๆนะ

อาตมาพาทำสัมมาอาชีพน่ะ บอกสอนให้ค้าขายอย่างนี้ๆ เฮ้อ ไปเชื่อทำไมพ่อท่าน ขึ้นราคามั่ง ทำอย่างนี้ๆมั่ง ไปเชื่อทำไม อาตมาได้ยินถึงขนาดนี้ พูดถึงขนาดนี้นะ นั่นแสดงให้ชัดเจน เลยว่า ลึกๆ ไม่ได้เลื่อมใสแล้ว ไม่ได้ศรัทธาแล้วติดแป้นแล้ว เขาได้หลายๆอย่าง ทางมาทางอโศก นี่แหละ แล้วเขาก็ยังไม่ได้จากอโศกหรอก อยู่ในอโศกนี่แหละ แต่ทำแค่นี้ คิดดูซินี่ สภาพ ลักษณะ อย่างนี้ คนอื่นเขาฟังเขาก็สะดุ้ง บอก เขาทำไมว่าพ่อท่านถึงอย่างนั้น ไปฟัง ทำไมพ่อท่าน ท่านก็ว่าของท่านไปอย่างนั้น เราต้องทำอย่างนี้สิ เราถึงจะอยู่ได้ แน่ะ ทำสัมมาอาชีพ อย่างนี้ มันจะไปตั้งอยู่ได้ยังไง ทั้งๆที่มันยังไม่พาล้มเลย นะ ทุกวันนี้ แต่ความเห็นของเขา เห็นไหม แยกแล้ว มันง่ายนะ โลกียะนี่ มันง่าย เห็นไปยังไง มันก็ง่าย เพราะมีพวกมาก ทำแบบนั้นน่ะ

ถ้าคนไหน ที่มีแนวโน้มไปในทางโลกียะด้วยกัน ฟังมันก็ เออ ใช่ แล้วยิ่งมีความโลภ ความเห็น แก่ตัวเพิ่มด้วย มันก็สอดคล้องความเห็นเข้า บอก เออ มันต้องอย่างนี้สิ มันถึงจะถูก อย่างนี้ มันถึงจะถูก อย่างพ่อท่านนี่ ไม่ถูกหรอกนะ มันจะสอดคล้องกับความเห็นของตัวเอง จริงๆ เลยนะ นี่ก็มีอยู่ เพราะฉะนั้น การศึกษาก็ไม่ค่อยเอาแล้ว จะศึกษาธรรมะ จะศึกษาการปฏิบัติ ประพฤติ ไม่ต้องฟังธรรม ธรรมะที่มีก็นึกว่า ตัวเองรู้แล้ว การปฏิบัติ ประพฤติ ปฏิบัติอาชีพ การงาน ปฏิบัติการกระทำ

แม้ที่สุด การเรียนรู้คำพูด คำจาก็ไม่สัมมา ก็ไม่รู้ตัว พูดออกไปอย่างเมื่อกี้ที่ว่านั่น คำพูดไม่สัมมา แล้ว นะ ไม่เป็นสัมมาคารวะ หรือไม่เป็นสัมมาวาจาแล้วนะ ไม่เป็นสัมมาอย่างไร พวกคุณก็คง ฟังพอออก อย่างนี้ไม่ควรพูดนี่ ใช่ไหม ไม่แล้ว สัมมา มาจากสังกัปปะ มาจากตรรกะ วิตรรกะ มาจากการตรึก การตรอง การคิด การนึก ที่เป็นมิจฉาไปในพยาบาทวิตก เป็นการดูถูก ดูแคลน ข่ม หยิ่ง ผยอง เป็นสารัมภะ เป็นมานะ อติมานะ ยึดความเห็นของตน รู้ความเห็นของตน ใหญ่กว่าอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่เชื่อไม่ฟังอย่างอาจารย์ อย่าไปถือไปเอา อย่าไปเอาอย่าง อย่าไปตาม ไปเชื่อทำไม มันเป็นอติมานะ มานะเป็นสารัมภะ หยิ่งหยอง เป็นความดื้อด้าน ถัมภะ เป็นมายา เลยกลายเป็นเรื่องไม่จริง ไม่จริงในสัจจะนะ จริงอย่างที่เขาเป็น เป็นมายา เป็นอะไร ต่ออะไรเป็นสโฐ เป็นการอวดดี สโฐ โอ้อวด หรืออวดดี เป็นการอวดดี เป็น สารัมภะ เป็นผยิ่งผยองหมด ในสายอุปกิเลสพวกนั้น นี่อาตมาเอาลักษณะของอุปกิเลส มาขยายความ ให้ฟัง มันก็จะเห็น มันก็จะเป็นจริงอย่างที่อาตมาว่าเข้าไปเลย แล้วตัวเองไม่รู้ตัวหรอกนะ

ที่อาตมาพูดนี่ อาตมาเห็นอยู่ ก็เอามาขยายความให้ฟัง แล้วมันจะมีลักษณะพวกนี้ ถ้าเผื่อว่า ผู้ใดตรวจตัวเอง แล้วจะเห็น ตัวเองชักจะกระด้างกระเดื่อง ก็จะมีความหยิ่งผยองในตัว จะมีความอวดดี ถือดีในท่าในที ถือสาอะไรอยู่ เป็นมายาของตัวเอง เพราะมานะ อติมานะ เพราะความถือดี ถือตัว ความหยิ่งผยองพวกนี้ เกิดขึ้นจริงๆ แล้วมันก็ไม่ศรัทธาในการศึกษา ไม่ศรัทธาในหมู่ฝูง ที่ไม่อยู่ในพรรคในหมู่ หนักเข้าก็จะเป็นมุ้งเล็กในมุ้งใหญ่ หาพรรค หาพวก หาหมู่ในนี้ หาได้ก็จะกลายเป็นรวนอยู่ในนี้ ถ้าหาพรรคหาหมู่ไม่ได้ นานเข้า ก็อยู่ในหมู่ไม่ได้ ไปเองคนเดียว หลุดลอยออกไปมีสภาพอีกสภาพหนึ่ง มันย้อนแย้งนะ มันซ่อนซ้อนเชิงอยู่

ถ้าว่า อยู่กับหมู่ปฏิบัติดีไม่ได้ ก็จงเป็นช้างมาตังคะ ออกจากหมู่ไปแต่เดียวเถิดน่ะ มุมนี้ก็เก๋ นะ แหม เราอยู่กับหมู่นี้ เราก็เห็นแย้ง เห็นชัด บอก อยู่กับหมู่นี้ มันไม่ได้เรื่อง เราออกไปเถอะ เป็นช้าง มาตังคะ เอา เป็นช้างมาตังคะจริงก็ไปเลย กลัวมันจะเป็นหมาน้อยๆน่ะซี ออกไปแล้ว ไปทำอะไร ได้ล่ะ ช้างมาตังคะออกไปแล้ว ก็ต้องไปอาจหาญ แกล้วกล้า ตั้งโขลงได้ ถ้าแน่จริง ก็จะเป็นโขลงที่ดี เป็นโขลงที่มีคุณภาพ เป็นโขลงที่ส่อสัจธรรม แม้จะยังใหญ่ไม่ได้ ก็จะเห็น รูปรอย ถ้ายิ่งจริงแล้วก็จะใหญ่ เป็นโขลงใหญ่ เป็นโขลงที่ถูกต้อง เป็นโขลงที่มีเนื้อสาระ เป็นสาระสัจจะที่ดีไปเลย นั่นล่ะ ช้างมาตังคะ

ไม่ใช่ ออกไปแล้วออกจากหมู่แล้วก็กลายเป็นช้างเกเรตัวเดียว ได้หมู่ก็เป็นหมู่อันธพาลไป ไม่มีเนื้อหาอะไรที่ถูกต้องที่ดีอะไรหรอก เละไปเลย เหมือนอย่างพวกเรานี่ ดังแล้วแยกวงออกไป ก็มีเหมือนกัน แต่ไม่ดังเท่าไหร่หรอก ของชาวอโศกนี่ออกไป อย่างที่ดังแล้วแยกวง ก็ยังไม่มี เพราะถ้าคนดังจริงๆ หรือว่าดีจริงๆแล้วนะ จะมีภูมิปัญญารู้ เพราะฉะนั้น จะหาคนที่ดัง แล้วแยกวง ออกไปน้อย ออกวงไปก็น้อยยังไม่มี มันจะมีเมื่ออาตมาตายไปแล้ว นั่นแหละ ดังแยกวง แล้วพวกเรานี่ ต่างคนต่างอั๊วก็ลูกศิษย์ อั๊วก็หนึ่ง ศิษย์หนึ่งมีครูเหมือนกัน แล้วครู ก็ตายไปแล้วนี่ อั๊วก็หนึ่งเหมือนกัน นั่นล่ะ จะไปดังแยกวงตรงโน้นน่ะ น่ะ แยกวง ถ้าใครไม่แยกวง ไปเดี่ยวเลยนี่นะ ยาก เพราะอโศกนี่ไปจริงๆ จะมีหมู่ มีพวกพอสมควรน่ะ

แต่ถ้าเผื่อว่า มันไม่ถูกต้องแล้ว ทำไม่ค่อยถูกต้องนี่ หาหมู่หาพวกไม่ค่อยได้ เพราะว่าสัจจะ มันยังแข็ง สัจจะมันแข็งอยู่ เพราะฉะนั้น หมู่ฝูงที่เข้าใจถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นเนื้อรวม ที่ยังเป็นหนึ่งเดียว ตัวเองจะตะแบงออกไปคนเดียว ตัวเองไปหาเพื่อนที่จะเป็นอย่างตัวเอง ไม่ค่อยได้หรอก

เพราะนี่ธรรมะแสดงว่าธรรมะยังเข้มข้นอยู่ ยังเป็นเนื้อเดียว ยังเป็นเหมือนกัน มีสมาน สมานัตตตา ดี เพราะฉะนั้น คนไหนที่ตะแบง หรือว่าแยกออกไป ต่างออกไปแล้วนี่ มันไม่ค่อย จะเข้ากับหมู่จริงๆ หมู่ฝูงที่เขารวมกันแน่นๆ มันจะอยู่จริงๆ ไม่ต้องตะล่อมหรอก ไม่ต้องตะล่อม ไม่ต้องไปซื้อเสียง เอาไว้ จะได้เป็นพรรคเป็นพรรคอยู่ รีบเอาเงินไปซื้อเสียง ตะล่อมเอาไว้ ต้องเป็นหมู่เรานะ ต้องเป็นหมู่เรานะ ไม่ต้อง อาตมาไม่เคยไปง้องอนใครเอาไว้เป็นหมู่น่ะ จริงๆนะ สัจจะมันจะเป็นความเห็นเอง เป็นสัจจะ เป็นทิฏฐิ ความจริง เป็นปัญญา ความจริง เป็นความเชื่อถือ เชื่อมั่น มีปัญญาเข้าใจเองจริงๆ แล้วมันก็รวมกันเป็นหนึ่งเดียว มันสอดคล้อง กันโดยธรรม มันเหนียวแน่นกันโดยธรรม มันเป็นเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกันโดยธรรมน่ะ

เราได้รับคำชมเชยมามากนะว่าพวกนี้ มันอะไรๆ ก็เหมือนๆกันนี่ นี่เขาพูดมิติตื้นๆ ง่ายๆนะ ลึกๆ พวกเราจริงๆด้วย มีน้ำหนักน้ำเนื้อแน่น ไปไหนก็พรักๆพร้อมๆกัน มีอะไรสอดคล้องกันแน่น แม้จะมีสิ่งแตกต่างกันบ้าง ในส่วนย่อย ส่วนใหญ่ ส่วนแกน ส่วนสำคัญแล้ว มันจะเป็น หนึ่งเดียวกัน แกนยอดแกนสำคัญนี่ จะตรงกันเป็นทิศทางเดียวกัน หนึ่งเดียวกันจริงๆ เลย นี่เป็นของพุทธ พุทธจะมีลักษณะอย่างนี้น่ะ

แม้แต่จะบอกว่า เคลือบแคลงการศึกษา ก็เอาแล้ว การศึกษา ถ้าเผื่อว่า มันตะแบง จนกระทั่ง มันกระด้าง กระเดื่อง สุดท้ายก็เข้ากับหมู่ กับฝูงไม่ได้ จุดที่เข้ากับหมู่กับฝูงไม่ได้นี่แหละ ให้รู้สัญญาณเถอะ แล้วตัวเองจะรู้สึกว่าเหมือนตัวเองเป็นหัวเดียวกระเทียมลีบ เหมือนกับ ตัวเราเอง เป็นแกะดำ เหมือนเราเองเป็นคนที่คนอื่นเขาไม่ค่อยเอาภาระ คนอื่นไม่ค่อยเอาด้วย เสร็จแล้ว ก็ไปโทษเขา เอ๊ อาตมาเอง อาตมาก็ไม่รู้จะพูดยังไง ไปโทษคนอื่นเขา ก็เขาไม่เข้าใจเรา เรามีดี มันมีความหลงตัวอยู่นะ ก็คนในหมู่ฝูงพวกเรานี่ ต่างก็มาเสริมปัญญา ต่างก็มาเรียนรู้ ให้เฉลียวฉลาด ตัวเองฉลาดคนเดียวละหรือ อยู่กับหมู่ แล้วตัวเองก็ยิ่งถูกหมู่เห็นเหมือน ไม่เห็นด้วย ตัวเองก็ยืนหยัดของตัวเองอยู่อย่างนั้นแหละ หลงตัวเองอยู่อย่างนั้นแหละ เหมือน หัวเดียวกระเทียมลีบ ถ้าเราไม่แก้ไข จะเป็นหัวเดียวกระเทียมลีบไปอีกเรื่อยๆ เพราะเราต้องฟัง คนอื่นบ้าง

บอกแล้วว่า เขามาในที่นี้นี่ ต่างคนต่างมาให้เกียรติ เขาว่ามามีปัญญากันทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่ว่า ข้ารู้มาก ข้าเก่ง ทำไมคนอื่นเขาโง่พร้อมกันได้มากๆ อย่างนั้นล่ะหรือ ก็บอกว่าคนมีปัญญามา เขาโง่พร้อมกันได้มาก เสร็จแล้ว แถม โง่ไปรวมๆกันกับผู้ใหญ่เสียด้วยนะ รวมๆ กันกับครู บาอาจารย์ รวมๆไปกับผู้ใหญ่อื่นๆอีกด้วย แล้วตัวเองก็ไม่เหมือนเขา มันน่าสะดุ้ง มันน่า มีไหวพริบแล้วนะว่า เอ๊ะ ถ้าไม่เข้าท่า ไม่ชอบมาพากลแล้วแฮะ ทำไมเขามีหมู่มาก แล้วแถม ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่อะไรก็เห็นด้วยกันอย่างนี้ ทำไมเรา เรานี่แหละถูก เรานี่แหละถูก มันจริงหรือ เอ๊ ทำไมเขาไปมีหมู่กันมาก เราไม่เหมือนเลย เราไปอยู่อย่างนี้ แต่ไม่อย่างนี้ทีเดียวก็มี มองว่า ผู้ใหญ่เห็นด้วยกับเรา เห็นด้วยกับเรา เสร็จแล้ว ก็ไม่อยากให้เกิดแตกแยก ก็เลยพูด ประนีประนอมกับคนอื่น ที่แท้อย่างเรานี่แหละถูก คนอื่นยังไม่ถูกหรอก แต่คนอื่นฟังไม่เป็น คนอื่นไม่เข้าใจ พ่อท่านหมายเหมือนอย่างเรานี่แหละ เอ๊ะ แล้วทำไมคนอื่น มันไม่เข้ากับเราสักที แสดงว่าคนอื่น โง่กว่าตัวเองหมด ตีความเข้าใจเอาเองนะว่า อาตมานี่เห็นด้วย อาตมานี่เข้าข้าง แต่อาตมาประนีประนอมให้พวกนั้น ให้พยายามมา ให้มาเป็นอย่างนี้ ให้มาเป็นอย่างที่เขายึดอยู่ อย่างนี้ก็มี คนหลงตัวอย่างนี้ก็มี

นี่ให้ตรวจตรา และให้วินิจฉัย จริงๆแล้ว ถ้าเผื่อว่า เราจะอ่อนน้อมถ่อมตน อยู่กับหมู่ เคยพูดมา หลายทีแล้ว บอก ถ้าแม้มันจะผิดนะ เอาเถอะหนา มันผิดไปด้วยกันนี่แหละ ลองดูซิ ก็เราอยู่ ด้วยกันนี่ มันคนโง่ๆ ด้วยกันที่ไหน ก็บอกแล้วว่ามาที่นี่ มีคนมีปัญญาทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า ตัดสินอย่างนี้ รู้อย่างนี้กันแล้ว เอาอย่างนี้ เอาน่ะ รวมกันไปเลย เมื่อตัดสินแล้ว มีมติหมู่แล้ว เยภุยยสิกา มีมติแล้วว่าเอาอย่างนี้ เอาคะแนนเสียงหมู่มาก วางของตนเองเลย อย่าไปนั่งตะแบงยึดติด แหม ต้องอย่างท่าที อย่างของฉันนี่แหละ ของฉันนี่แหละ เสร็จแล้ว ก็ทุกข์ใจ ทนอยู่กับหมู่ไม่ได้ ก็หาทางแยกๆ ออกไป หาทางตะแบงไปโน่น ไปแล้วก็ไม่ได้ดิบ ได้ดีอะไร ไม่แก้ปัญหา ไม่แก้ทิฏฐิตัวเองอย่างเก่า เมื่อไม่แก้ทิฏฐิของตัวเองอย่างเก่า พอคลายใจ ออกไปห่างๆ ก็พอคลายใจ พอบรรเทาหน่อยหนึ่ง เสร็จแล้ว กลับมาใหม่ ทิฐิเก่ายังอยู่อย่างเก่า ก็เป็นอย่างเก่าอีกนั่นแหละ ไม่มีทางแก้ปัญหา ไม่มีทางถอนตาปูตรึงใจนั้น ออกไปได้หรอก อยู่อย่างนั้นแหละน่ะ

อาตมาก็เคยสรุปให้พวกเรา บอกว่า สรุปให้จริงซิ ชาวอโศกนี่ หมู่มากนี่ดีใช่ไหม เมื่อชาวอโศก หมู่มากดี แล้วคิดว่าจะอยู่หมู่นี้ ไม่มีหมู่ไหนดีเท่า ไม่ไปไหนหรอก หัดวางให้เก่งๆ ถ้าหมู่มาก เขาเอาอย่างนี้ เอาเลย วางเรื่องของตัวเองได้ ล้างอัตตาตัวเองได้ดี จะได้ล้างอัตตาตัวเองได้ดีๆ ไวด้วย อย่าไปนั่ง แหม มีอัตตา กูไม่ได้หรอก ไม่ยอม อย่างโน้นอย่างนี้อยู่ หลงหัวไอ้เรือง อยู่นั่นแหละ ถ้าอย่างนั้นแล้วช้าจริงๆ ช้าแล้วเจ็บปวดด้วยนะ ทุกข์ด้วยนะทุกข์! ถ้าลงไม่ยึด ไม่แบก ไม่หามเลยนะ ไปกับหมู่นะเบา ว่ายังไงว่าตามกัน เมื่อไหร่ก็พร้อมกัน พร้อมเพรียง กันสร้าง พร้อมเพรียงกันทำ โอ้โห อาตมาว่า มันจะสร้างสรรได้เร็ว ไม่มีใครต้องมานั่งแยกกลุ่ม ไม่มาแยกแรง เป็นรวมเรียวไผ่ แหม เป็นพลังที่รวม ได้ปึ้บๆๆ อย่างประสาน จะได้แรงมากเลย ไม่มีไอ้โน่นไอ้นี่น่ะ

เพราะฉะนั้น อ่านแม้กระทั่งว่า เออ เรายอม จะยอมเข้ามาในหมู่ แล้วจริงๆ ไม่ยอมจริงหรอก ไม่โถมจริงหรอก ไม่เป็นอิทธิบาท เพราะวางไม่หมด ในใจมันยังมีตัวเสี้ยนตัวฝังอยู่ ฉันทะก็ ไม่เต็ม ไม่ยินดีเต็ม พยายามแล้วนะ อุตสาหะแล้วนะ พยายามเอาวางนะ มากับหมู่ล่ะ จะยินดีก็ไม่เต็ม เพราะฉะนั้น วิริยะความเพียร มันก็ไม่แข็งแรง มันก็ไม่มีกำลังอะไรเต็มที่หรอก อิทธิบาทนี่ ยังไม่เดินบท เพราะยินดีก็ไม่ยินดีเต็มที่หรอก ช่างมันเถอะ เอาเถอะ วางของเราเถอะ ตามเขาไปดื้อๆ เพราะฉะนั้น เราต้องให้ใจเรายินดี พอใจ บอกเอาน่ะ วางเลย อัตตาตัวตน ไม่เอาแล้ว ไอ้อย่างนั้นลืมทิ้งมันไป เอาอย่างนี้ ยินดีกับหมู่ ยินดีกับฝูง หาเหตุหาผล ดูมุม ดูเหลี่ยมให้ดีๆ โถมไปเลย ฉันทะเต็ม วิริยะก็ตามเต็มที่ เราเอาใจใส่กับอันนี้ไปเต็มที่เลย เราจะได้วินิจฉัยอะไรต่ออะไร ต่างๆนานาไป แล้วจะเห็นเหตุ เห็นปัจจัย เห็นเหตุ เห็นผล เห็นสิ่งที่ มันยืนยันขึ้นมาว่า อ๋อ ที่แท้เรานี่ผิด หมู่ถูกเองแหละเนาะ จะเห็นได้ไว

แต่ถ้าเผื่อว่า ฝืนๆ อยู่นั่น ก็ไม่เห็นอยู่นั่นละ นอกจากไม่เห็นแล้ว หาเหตุหาผลให้แก่ตัวเอง ด้วยนะ อะไรนิดอะไรหน่อย นี่อย่างนี้ หาข้อมูลให้แก่ตัวเองอยู่เรื่อย อาตมาพูดยังเหนื่อยเลยนะ แล้วคุณ ไปทำจริงๆมันไม่เหนื่อยยังไง จริงๆนะ คุณไปทำจริงๆ มันต้องเหนื่อยแน่นอน ขนาดอาตมาอธิบาย อาตมาพูดอยู่นี่ มันก็ยังเหนื่อยขนาดนี้เลยนะ

เอ้า นี่ ประเด็นของทางสายไม่ชอบใจนะ นี่ก็วิเคราะห์เจาะลึก ให้ฟังอีกว่า เราต้องพยายาม ศึกษาอ่านตัวเองให้มันสุขุม ประณีต ส่วนสภาพของสาย ยังมีความอยากน่ะ ยังมีความรัก ยังมีความปรารถนา ก็ไม่ถึงกับกระหาย ไม่ถึงกับเร่าร้อนละนะ ก็ยังมีความอยาก ความต้องการ คนปรารถนาดีอยู่ แล้วก็เข้าใจด้วยว่า ธรรมกาโม มีการใคร่ในธรรม มี ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะฉะนั้น เราจะใคร่ในธรรม เราจะวิภวตัณหา ตัณหาในอุดมการณ์ ตัณหาในสิ่งที่ดี ซึ่งไม่ได้ มาบำเรอตน เป็นการผู้มีความใคร่ ใคร่อยากอันพอเหมาะ ใคร่อยากในขณะ ใคร่อยากส่วนนั้น ส่วนนี้ที่พอดี แล้วก็พิจารณาในกาย พิจารณาในรูป พิจารณาในสภาพของสิ่งที่เราเอง ที่ท่าน บอกว่า กินอาหารเต็มท้องแล้ว ก็ประกอบความสุขในการนอน การเอน การหลับ พูดตื้นๆ มันก็แค่ ประกอบการนอน การเอน การหลับ นั่นหมายความว่า มีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า ก็มีกิน มีอยู่แล้วนี่ เมื่อมีกินมีอยู่แล้ว เราก็ไม่มีอะไร กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน กินแล้วก็นอน นี่ อธิบายง่ายๆนะ

แม้คุณจะไม่กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน กินแล้วก็นอน อย่างนี้ก็ตาม มันก็ยังมีนัยในประเด็น นี้อยู่ว่า คุณไม่ถึงกับนอนหรอก แค่ไม่เข้ากับหมู่ แค่เลี่ยงๆ หลบๆ นี่ มันก็หมายถึงว่า การที่ไม่ เข้ารวม เข้าร่วม หมายถึงสภาพที่ไม่เป็นหนึ่งเดียว หมายถึงสภาพที่ไม่ได้เป็นตัวที่ จะมีสภาพ ความปรารถนาดี หรือความใคร่อยาก หรือความต้องการอย่างหมู่ มันเฉื่อยแล้ว มันไม่อยาก อะไรแล้ว มันไม่ต้องการ เอ็งจะทำก็ทำไปซี ข้ามีกินแล้วนี่ ก็กินแล้ว ข้าไม่นอนหลับจริงๆ ตามที่ว่านี่ ตรงๆนี่ ก็บุญแล้วแหละน่ะ ข้าก็เลี่ยงไปโน่น เลี่ยงมานี่ ประเดี๋ยวกลางคืน และ กลางวัน ใช่ไหม อะไรที่พระพุทธเจ้าท่านว่า กลางคืนหรือกลางวันที่ผ่านมา ถึงบุคคลนั้น เป็นยังไง บุคคลนั้น พึงหวังความเสื่อมอย่างเดียว ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ผ่านวัน ผ่านเวลา ผ่านวาระไปเฉยๆ มันไม่เกิดคุณค่าอะไร มีแต่ความเสื่อม เพราะฉะนั้น ไม่ถึงกับขนาดต้องนอน ต้องเอน ต้องหลับจริงๆ ตรงๆ ก็ต้องรู้ว่า แม้แต่เราเองนี่ เราหลบๆ เลี่ยงๆ ไม่ประสาน ไม่เป็นหนึ่งเดียว ไม่เป็นหมู่ ไม่เป็นอะไร ไม่เป็นพลังรวมอะไร มันก็ตกแล้ว

ฟังเข้าใจนะว่า แม้แต่ในประเด็นที่ ๔ ที่บอกว่า ยังเป็นผู้ที่กินอาหาร ฉันอาหารเต็มท้อง ตามต้องการแล้ว ก็ประกอบการนอน การเอน การหลับอยู่ เราต้องไม่ประกอบ แม้การนอน การเอน การหลับนี่ ไม่ประกอบแล้ว แม้แต่การเลี่ยงการหลบ การไม่ขวนขวาย เวลากำลังล่วงไป ๆ บัดนี้ ทำอะไรอยู่ กายกรรม วจีกรรม ที่ดีกว่านี้ ยังมีอีก ซึ่งก็ได้อธิบายไปแล้ว ว่าทำไม ต้องใช้ แต่คำว่า กายและวาจา สิ่งที่จะเป็นสัมมาอาชีพ สัมมากัมมันตะ ตอนนี้ ไม่ต้องคิด ต้องนึกแล้ว สังกัปปะ อะไรไม่ต้องไปไตร่ไปตรองอะไรมากก็ได้ เพราะท่าน ไม่บอกว่า ใจ ท่านบอก แค่กาย กับวาจา เพราะฉะนั้น ไปดูซิ เราควรจะพูดอะไร เราควรทำอะไร เราควรลงมืออะไร เราควร ประกอบกรรมการงานอะไร ที่ดีกว่านี้ยังมีอีก ก็จะเป็นคนที่จะเห็นแล้วพวกเราทำ อะไรกันอยู่ ก็ไปประสานกลุ่มเล็กก็ตาม กลุ่มใหญ่ก็ตาม กลุ่มไหนที่งานเร่งด่วน ต้องการ แรงงานมาก สำคัญอะไรไป คนที่มีความขวนขวายอย่างนี้ เป็นเวยยาวัจจมัย เป็นบุญกิริยาวัตถุ

คนนี้ อาตมาเคยอธิบายให้ฟังแล้ว บุญกิริยาวัตถุ อปจายนมัย อ่อนน้อม ถ่อมตน แล้วก็มา เวยยาวัจจมัย นี่ ไม่ได้จะเป็นตาปูตรึงใจแห่งความชัง ยิ่งชังแล้ว ยิ่งไม่ถอนใหญ่เลย ยิ่งไม่มี การที่จะอ่อนน้อมถ่อมตน ยิ่งจะไม่มีการขวนขวาย แต่ถ้าเผื่อว่า ถอนตาปูตัวที่ไม่ชอบใจนี่ ก็ถอนออก แม้เจ้าตัวกามราคะที่เห็นแก่ตัว จะมาบำเรอตน ถอดถอนตัวตนตัวนี้ออก ก็จะขวนขวาย ก็จะอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าไปหาเพื่อนหาฝูง หากิจหาการ หางาน แม้เราจะเคย ไม่เห็นด้วย ก็ไปทำเถอะ วางจริงๆ แล้วลงไปทำเสีย หมู่ใหญ่เขาทำ ตัวไม่เห็นด้วย ตัวแพ้มติ แล้วก็ตาม ขวนขวาย อุตสาหะ ลองดูซิ อาตมาแน่ใจเลยว่า กลางคืนหรือกลางวันผ่านบุคคล นี้ไป ความเจริญในกุศลธรรม จะเจริญอย่างเดียว จะเจริญอย่างเดียวจริงๆน่ะ

นี่ก็อธิบายมาจนกระทั่งถึงข้อที่ ๔ ของทางด้านสายชอบ สายความต้องการ ถึงต้องมี บอกแล้วว่า ต่างกันกับสายโทสะ โทสะนิดหนึ่งน้อยหนึ่ง ไม่ให้มี มันเสียด มันตัด มันเป็นอะไร ที่ขวางรี ขวางลำอยู่ในจิตวิญญาณเป็นอันขาด ส่วนสายต้องการปรารถนาอยากใคร่นี้ ลึกๆแล้ว มันต้องใช้ ต้องรังสรรค์ ต้องสร้างสรร อันนี้สำคัญน่ะ

เพราะฉะนั้น จะไปพูดเป็นประเด็นเดียวเลยว่า เอาออกให้หมดทันที นั่นล่ะกลายเป็นศาสนา ฤาษี เลยทีนี้ ตัดความชอบ ความชังพรวด ไม่มีฐานรองรับ ไม่มีสมมุติสัจจะ ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้ว่า เราก็ยังไม่ได้ตาย ยังไม่ปรินิพพานสักหน่อย ยังมีตัวมีตน ยังมีการอาศัย ยังมีกรรม ที่เป็นกุศล ยังกุศลให้ถึงพร้อมได้มหาศาล เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าเลยเถิดสุดโต่งเสีย ไม่เข้ารอบ เข้ารอย อย่างนี้ ไม่สมบูรณ์ในธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่สมบูรณ์ แล้วจะไม่มีบุญมาก

ถ้าเผื่อว่า ปฏิบัติถูกตรง มีบุญมาก อปจายนมัย เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ก็จะเกิดจริง เวยยาวัจจมัย การขวนขวาย ก็จะเกิดขึ้น ปัตติทานมัย คือการที่จะฆ่าเปรต ตัวที่ซ้อนลึกเข้าไปอีก เข้าถึงความจริง สูงลึกเข้าไปอีก ปัตติทานมัย นี่ ส่วนบุญที่จะชำระเปรต ได้ฆ่าเปรต ได้ลึกซึ้ง ขึ้นไปอีก ได้ทันที แล้วเราถึงจะเกิดจิตปัตตานุโมทนามัย ถึงจะเกิดจิตที่จิต โอ้โห อนุโมทนา ไม่อนุโมทนาอะไร เราอนุโมทนากับส่วนบุญของตัวเองนี่แหละ ตัวเองจะเกิดบุญ บอกแล้วว่า บุญกิริยาวัตถุ จะเกิดบุญ เป็นกิริยาเป็นตัวเป็นตน เป็นรูปเป็นแท่งเป็นก้อน เป็นสิ่งจริงขึ้นมา ทันที เราจะได้อนุโมทนากับตัวเองนี่แหละ อย่าไปอธิบายนอกตัวนอกตนนัก นอกตัวนอกตน ก็อธิบาย เพี้ยนไปเพี้ยนมาอยู่นั่นแหละ ที่จริงก็ตัวเองนี่ให้มันสมบูรณ์เถอะ เราจะเจริญ งอกงาม อย่างนี้ จริงๆน่ะ

เอาละ คิดว่าได้สาธยาย แม้แต่เรื่องเทพ อาตมาไม่พูดต่อแล้วเรื่องเทพ เป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ได้อธิบายแล้ว ตั้งแต่เช้า ว่าไม่เอาละ เป็นเทพอย่างสมมุติก็ว่าไปแล้ว เป็นเทพอย่างอุบัติจริงๆ ก็ไม่ติด แวะเวียนอยู่ในสวน ไม่เอา ต้องทำให้ต่อเนื่อง ให้มีการติดต่อ ทำเนืองๆ ทำอย่างติดต่อ ให้ได้ เดินต่อไป ไม่มีหยุด ไม่มีต่ำลง มีแต่เดินสูงขึ้น ขยันพากเพียรขึ้น คุณยังไม่จบ ยังไม่เป็น อเสขะ อยู่ตราบใด ยังไม่จบกิจ ยังไม่สิ้นอาสวะสุดท้าย จนจะปฏิญาณตนได้ว่าเป็นพระอรหันต์ ทำต่อไป อย่าเนิ่นช้า อย่ารอรั้ง อย่าหยุดเลย อย่าช้าเลย ยิ่งโลกทุกวันนี้ ต้องการพระอรหันต์มาก แหม อยากได้อรหันต์นั่งอยู่ในนี้เป็นอรหันต์พร้อมกัน หรือเป็นอรหันต์ไม่พร้อมกัน ก็ตามเถอะ ให้ได้มากขนาดนี้นะ โอ๊ อาตมาว่า ประเทศชาติจะน่าอยู่ น่าอาศัยเป็นสุขมากกว่านี้ทีเดียว

เอ้า เอาละ สำหรับวันนี้ สาธยาย ตั้งใจว่าจะสาธยายชั่วโมงเต็มๆ เกินไปหน่อยหนึ่ง เอ้า พอ


ถอด โดย ประสิทธิ์ ฝ่ายทอง
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ๕ มิ.ย.๓๕
พิมพ์ โดย สม.นัยนา
ตรวจทาน ๒ โดย สม.จินดา ๑๙ มิ.ย.๓๕

:2444B.TAP