พึ่งอะไรในศาสนา
โดย
พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๗ มิ.ย. ๒๕๓๗ งานสมาธิสมโภช
ณ ชุมชนราชธานีอโศก อ.วารินชำราบ อุบลราชธานี


อาตมารู้สึกว่าอาตมาคงจะต้องเขียนหนังสือมากขึ้น ก็เพราะว่ามาเขียนเพิ่มเติม "คนคืออะไร" ตอนหลังนี่ เมื่ออ่านทบทวน คนคืออะไร แล้วก็เห็นว่า ศาสนาพุทธ ในเมืองไทย มันก็ยังไปได้ดี แต่มันก็เพี้ยนไปจนทุกวันนี้มันก็ยิ่งเป็นไป อย่างที่เรียกว่า หมดกำลัง

ที่ว่าศาสนาพุทธในเมืองไทยหมดกำลัง ก็เพราะว่าตามพฤติกรรมของศาสนาเกิดขึ้น เป็นต้นว่า มีคนประท้วง เพราะทุกวันนี้ศาสนานี่ปล่อยปละละเลยให้ทำ แม้แต่พระ เครื่องราง ของขลังขายกัน จนกลายเป็นเรื่องเลอะเทอะ หลงใหลไม่เข้าร่องเข้ารอย เขาประท้วงกัน ให้องค์กรทางศาสนาที่มีอำนาจ หรือตั้งตนเองเป็นผู้บริหารศาสนาแล้ว ยอมรับกันทั้งประเทศ มาเป็นองค์กรที่บริหารศาสนาทั้งประเทศ ยึดอำนาจไปหมดแล้ว ด้วย แต่ก็ไม่ใช่อำนาจนั้นจัดการตามที่เขาท้วงติง ผู้รู้ผู้เข้าใจ เห็นว่ามันฉุดมันทำให้เพี้ยน มันทำให้ออกนอกรีตนอกทาง มันไม่เข้าเป้า มันกลายเป็นพึ่งอะไรก็ไม่รู้ เครื่องรางของขลัง หรือว่าพระเครื่องที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ จะแก้ตัว อย่างไรก็ตาม โดยสัจจะความจริง มันก็คือ เอาไปเป็นเครื่องราง หรือเป็นเครื่องสมมุติไปเป็นที่พึ่ง เหมือนกับพระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัส ตั้งแต่ตอนแรกๆ ว่า ฤาษีหรือว่าลัทธิอะไรต่างๆ ที่เขาเองเขาพึ่งภูเขา พึ่งต้นไม้ พึ่งพระอาทิตย์ พึ่งพระจันทร์ พึ่งแม่น้ำ พึ่งอะไรต่ออะไรที่เป็นวัตถุดิบ วัตถุรูปนอกตัว ฉันเดียวกัน เป็นแต่เพียงว่า ฉลาดขึ้นเล็กน้อย ที่ไม่ไปพึ่งต้นไม้ตรงๆ ไม่ไปพึ่งภูเขา แม่น้ำตรงๆ ไม่ไปพึ่งจอมปลวกตรง ก็ไปพึ่ง อิฐ หิน ดิน ปูน หรือว่าไม้ไร่อะไรเป็นวัตถุ เอามาทำประกอบ ขึ้นไป

แล้วก็ไปกราบไหว้บูชาบนบานของร้อง อ้อนวอน เป็นลัทธิ เทวนิยม ขึ้นไปอย่างจริง แม้จะไม่สมมติชื่อ ไม่สมมตินามว่าเป็นพระเจ้า มันก็คือพระเจ้า เห็นว่าอันนั้น เป็นอำนาจ ศักดิ์สิทธิ์ มีเมตตามหานิยม มีสิทธิ์มีฤทธิ์จะบันดลบันดาล ทำให้ได้สิ่งที่ปรารถนา สิ่งที่ต้องการมาให้แก่ตนได้ จะทำชั่วทำเลวอย่างไรก็ไม่มีใครที่จะมาฆ่า มาแกงได้ คลาดแคล้ว หลุดพ้น ต้องการอะไร อยากได้อะไรก็ต้องได้มาสมอกสมใจ ให้บันดลบันดาล มาให้สมใจ ซึ่งเป็นศาสนาที่ตรงกันข้ามกับพระพุทธเจ้า จะว่ารู้ก็ไม่ชัด รู้ไม่จริง ถ้ารู้จริง ก็คงไม่กระทำอย่างนี้ เพื่อที่จะทำให้ศาสนาหมดอำนาจ หมดฤทธิ์แรง หมดน้ำยา มันเท่ากับทำลายศาสนา ทำลายคุณค่าศาสนาของพระพุทธเจ้า

โดยเนื้อหาของพระพุทธเจ้านั้น คนนี่แหละยิ่งใหญ่ ไม่ใช่อำนาจนนอกตัวยิ่งใหญ่ ในหนังสือ คนคืออะไร ก็ได้อธิบายไว้ให้เห็นว่า ความหมายว่าพระเจ้า หรือความหมาย ที่บอกว่าเป็นมาตรฐาน เป็นวิญญาณใหญ่ ความหมายอย่างนั้นก็มี ความหมายอย่างนั้น ก็คือ อำนาจของวิบากกรรม เพราะฉะนั้น ใครจะมีพระเจ้าองค์โต องค์เล็กอย่างไร ก็คือ กรรม ของแต่ละคนได้ก่อ ได้สะสมเป็นวิบาก เป็นกรรมวิบาก เป็นกรรมทายาท เป็นมรดก ที่เราจะต้องรับ เพราะฉะนั้น เราสั่งสมกุศลเป็นอำนาจ เป็นฤทธิ์แรง กุศลนั้นก็จะเป็น อำนาจ เรามีกุศลจะเป็นกุศลทางด้านใด สมในลาภ สมในยศ สรรเสริญ โลกียสุข อย่างใดๆ ที่เป็นคุณลักษณะของกุศลวิบาก ที่เราได้สั่งสมไว้ ถ้าเราขอ หรือแม้ไม่ขอ ไม่ต้องไปอ้อนวอนขอ เราก็มีสิทธิ์จะได้ จะให้เรามาได้เมื่อใดๆ ก็แล้วแต่ เราย่อม มีสิทธิ์จะได้ แล้วก็จะได้

แต่ถ้าเผื่อว่าเราไม่มี ไปอ้อนวอนร้องขอมันก็ไม่ได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์ ไม่ใช่สมบัติของเรา แต่นั่นแหละ มันก็ยังสามารถได้ ด้วยการโกง ด้วยการฉ้อฉล ด้วยการใช้เล่ห์เหลี่ยม ความฉลาด ไปฉกฉวยเอามาจนได้ ก็เป็นหนี้เวรหนี้ภัย เป็นอกุศลวิบากต่อไป

จริงๆ แล้วนะ จะบอกว่าหนี้เวรหนี้ภัยต่างๆ เหล่านี้ ไม่มีดอกเบี้ย อาตมาว่าไม่เชิงนะ มีนะ มีดอกเบี้ย มันมีฤทธิ์แรงที่เพิ่ม มีฤทธิ์แรงที่เสริมบวก แม้แต่บุญก็มีดอกเบี้ย ค่าของบุญนี่ ถ้าเราบวกธรรมดา มันก็คือค่าธรรมดา แต่ถ้าค่าที่สูงขึ้น โดยอำนาจของคุณค่าที่มันดี ซ้อนๆ นี่นะ มันก็ต้องคูณขึ้น ไม่ใช่บวกด้วยนะ แล้วมันก็ยกกำลังขึ้น อย่างที่อาตมา ได้อธิบาย ถึงค่าบุญค่าบาปให้ฟัง ธรรมดามันก็แค่บวกๆๆ แต่ทีนี้ มันมากขึ้น มันเป็นคูณ มันเป็นยกกำลังขึ้นมา ค่าเหล่านั้นก็ยิ่งกว่าดอกเบี้ย บุญฉันใด บาปก็คุณก็ยกกำลังกันได้ ฉันเดียวกัน เพราะฉะนั้น ศาสนาพระพุทธเจ้านี้จึงยึดถือกรรม กรรมนิยม ยึดถือ กรรม เป็นสัจจะ เป็นสัจจะ เป็นความจริง เราจะมีอะไรได้ อะไรเป็น อะไรอุดหนุน อุปการะ ทำให้เราได้ใช้ ได้สอยได้อาศัย ตราบใดที่เรายังอยู่ในวัฏสงสาร พระพุทธเจ้าท่านก็ให้ หาทรัพย์เหล่านี้เอาไว้สำหรับพึ่ง ให้พึ่งกรรม ไม่ให้ไปพึ่งอิฐ หิน ดิน ปูน ไม่ให้ไปพึ่ง ต้นหมาก รากไม้ ภูเขา ลำธารอะไร ซึ่งเป็นของนอกตัว ที่ไปหลงใหล เข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านั้น จะเป็นอำนาจ เป็นฤทธิ์ บันดลบันดาล ซึ่งก็มีอยู่เยอะ ตั้งแต่ไหน แต่ไหนมา ก็ยังเยอะทั่วโลก

ศาสนาเทวนิยมที่มี God มีพระเจ้า มีบันดลบันดาลทั้งนั้นแหละ แล้วก็ เป็นศาสนาที่ ยิ่งใหญ่อยู่ในโลก บันดลบันดาลเหล่านี้ เขาไม่เข้าใจ มันซ้อน ซ้อนอย่างไร ศาสนาไหนก็ดี สอนให้คนทำดี ให้เสียสละ ให้สร้างสรร ให้เกื้อกูล สอนให้ดีทั้งนั้นแหละ ทีนี้เขาก็ทำดีกัน เขาพยายามทำดีกัน ความดีก็ย่อมเกิด ก็ย่อมเป็นสมบัติ เสร็จแล้วเขาก็อ้อนวอนร้องขอ อ้อนวอนร้องขอ ก็ขอไอ้ความดีของคนนั่นแหละ

ใครทำดีมากๆ เขาก็ได้ดีมากๆ มันก็มีฤทธิ์มีอำนาจมากๆ นั่นแหละย้อนให้เขา ถ้าเขาทำ เช่นนั้นแล้ว ก็เกาะติดกัน เป็นบริวารกันและกันไป ชาติแล้วชาติเล่า เขาก็ทำดี คนปรารถนาดี สร้างดี สั่งสมดี ประพฤติดี เขาก็ได้กุศลดี ก็มีอำนาจดี มีสิ่งที่เกื้อกูลเขา เป็นทรัพย์ได้พึ่งได้อาศัยไป หลายชาติเข้าก็มีอำนาจ เหล่านั้น เขาก็ได้พึ่งสิ่งเหล่านั้น มันก็จริง ไม่ได้ไม่จริงเลย

ที่ชื่อว่าศาสนา ไม่มีศาสนาไหนสอนให้คนเลว ให้ไปเอาความเลว ไปนิยมความเลว ไม่หรอก เป็นแต่เพียงว่าบางสิ่ง อันมันซับซ้อน มันยังไม่หมดบาป มันยังไม่ละเอียดลออ มันยังไม่สะอาดสนิท และมันไม่เป็นลำดับ เพราะศาสนาพุทธนี่มีขั้นตอน โสดา สกิทา อนาคา เป็นลำดับ เพราะฉะนั้น บางทีเราจะเห็นว่าพระ โสดาบันของเรานี่ ไม่มีฤทธิ์ ไม่มีเดช ไม่มีอำนาจ ไม่มียิ่งใหญ่อะไร เหมือนกับนักบุญ หรือเหมือนกับศาสนาอื่น ผู้ที่เขามีบุญบารมี มีอำนาจอะไรที่ได้มีอำนาจกุศลวิบากของเขา อย่างที่อาตมาอธิบาย ไปเมื่อกี้นี้ เขาสั่งสมตรงๆ ไป เขาก็มีของเขา เขาก็ดู เหมือนเขามีฤทธิ์มีเดชมีอำนาจ มีอะไรมากมาย พระโสดา สกิทา อะไรๆ ของเรานี่ บางทีสู้เขาไม่ได้ ดีไม่ดีบางที อรหันต์ ที่ไม่ค่อยมีบุญ พระอรหันต์ที่ไม่มีบุญบารมี ได้ สะสมอะไรต่ออะไร พวกอำนาจ ที่จะเป็น กุศลวิบากของตนมากมายนัก

ถึงแม้จะบรรลุอรหันต์แล้ว เราก็ว่ายิ่งใหญ่ ก็ยังดูสู้นักบุญ หรือสู้ผู้ปฏิบัติระดับหัวหน้า ระดับอะไรที่ของเขา ที่มันบุญบารมีของเขาเหมือนกัน ไม่ได้ เขามันมีฤทธิ์มีเดช มีอำนาจ มีโน่น มีนี่ น่าเชื่อถือมากมายก็จริง มันก็เป็นองค์ประกอบ ที่มาสนับสนุนผู้นั้น เพราะฉะนั้น พวกเราแต่ละคน ถ้าเราได้รับอุปสรรค คนนี้ทำไมนะ เขาว่าเราอยู่เรื่อยเลย ด่าเราเรื่อย เราทำดีอย่างไร ก็มองไม่เห็นสักที คุณอย่าไปว่าทำไมนะคนนี้ คุณต้องว่าทำไมนะ เราจึงได้รับวิบากอันนี้จากคนนี้ แล้วมองที่เรา แก้ที่เรา แก้ว่าอะไรมันขบกับคนนี้ อะไรมันไม่สอดคล้องกับคนนี้ ทำไมมันไม่ประสาน มันไม่สนิท ทำไมมันเข้ากันไม่ได้ ทำไมไม่สนับสนุนสอดร้อย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่จะเป็นคุณค่า เป็นพลังร่วมกันไม่ได้ ตรวจที่เรา แล้วปรับให้เข้า อันไหนที่มุมนั้น เออ มุมนี้ดี ของเขาดี อันนี้ดี ปรับเหล่านี้ ให้มันเข้า สอดคล้องดีๆ

ไอ้ที่ไม่ดี บางอย่างเราไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ทำของเรา ไม่ต้องไปทำ ให้มันขัดกับทางโน้น ประเดี๋ยวก็เฟืองขัด เฟืองแตก แตกหมดทั้งคู่เลย มันก็จะไปด้วยกัน ไม่ได้ แล้วก็ไม่ได้ เป็นประโยชน์อะไรอย่างนี้เป็นต้น แล้วเราต้องมองอุปสรรค หรือว่า มองสิ่งที่มันไม่เกิด เป็นหนึ่งเดียว ไม่เกิดเป็นสภาพ ที่จะรวมกันอยู่อย่างดีมีกำลัง คนแต่ละคน มันเหมือน เฟืองทั้งนั้นแหละ เฟืองของเครื่องกลที่จะรวมกันรังสรรค์ แล้วยิ่งเราเอง เราไม่ได้มุ่งหมาย มาเพื่อตัว พลังนั้นก็จะไป รวมเป็นหนึ่ง รวมไปเป็นกลาง ใครก็แล้วแต่เผื่อว่า เป็นสัจจะ ความจริงว่า เราเองเราไม่ได้ทำอะไร มุ่งหมายอะไร โดยเจตนานี่แหละเป็นหลัก พระพุทธเจ้า ก็ตรัสว่า เจตนานี่แหละ เป็นตัวเป้าของกรรม

ถ้าเผื่อว่าจะทำอะไรจริงใจเลยนะ ใจจริงหรือเจตนาทำ เพื่อส่วนกลาง ถ้าเมื่อใด เราตั้ง จริงๆ แล้วก็ให้ความจริงนั้นสะอาดบริสุทธิ์ แม้เราจะไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นจิตบริสุทธิ์ สะอาดก็ตาม ขณะนั้นจิตนั้น เราตั้งแล้วเต็มใจทำให้จริง แล้วก็ใช้ธัมมวิจัย ตรวจตราดูว่า ทำอย่างนี้ มันเป็นเชิงที่จะเอามาเพื่อตนไหม ถ้ามันมาเพื่อตน เราก็พยายามงด ละเว้น ละขาด เว้นขาด ระงับ อย่าให้มันเกิดให้ได้ แล้วก็พิสูจน์ไป ทำไป ทำไปเรื่อยๆ สิ่งที่มันเป็น ผลของนามธรรมนี่ เรามองมันไม่เห็นทันที สะสมไป ทำไป แล้วมันจะเกิดผลเอง

หลายๆ อย่างพูดเป็นภาษาคน อธิบายเป็นภาษาคนยังไม่ได้ เราอยู่ในสังคม ที่มันเห็น แก่ตัวกันจัดจ้านแล้วก็ทำทุจริต ไม่กลัวบาป แต่แค่ลักขโมย นี่มันก็ทำกันอย่างหน้าตาเฉย ไม่กลัวบาปกลัวบุญ ไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ละเว้นอะไรเลย ทำกันดื่นดาษ มากมาย แต่พวกเราก็อยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้น โดยไม่ต้องตัวลีบ ระมัดระวัง ต้องใส่กุญแจ ๕ ชั้น ๘ ชั้น ต้องคอยนอนเฝ้า นั่งเฝ้าคุมแจอะไร เหมือนอย่างกับคนอื่นๆ เหมือนอย่างกับที่อื่นๆ เหมือนอย่างกับหมู่บ้านอื่นๆ หมู่บ้านจัดสรร เขาก็มีหมู่บ้านจัดสรรเขาเยอะแยะ อยู่กัน อย่าง โอ้โฮ ใส่กลอน ลั่นดาน มีกุญแจนอกกุญแจใน ไม่รู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้น พวกนั้นมันก็งัด หาวิธีสะเดาะกลอนเก่งกว่าสมัยโบราณ เก่งกว่าขุนแผนสะเดาะกลอน สะเดาะกุญแจไป

แต่พวกเรานี่ก็เป็นชุมชนจัดสรรเหมือนกัน เป็นหมู่บ้านจัดสรรเหมือนกัน แต่หมู่บ้าน ของเราก็ไม่ได้มีกุญแจกี่ชั้น ไม่กี่ชั้นกันมากมายอะไรนัก ข้าวของอะไรส่วนกลางอะไร ก็มี จนกระทั่ง บางทีบอกว่า เออ มันยั่วเขามากไปไหม ? บางทีมันก็คงจะมีบ้าง ยั่วนัก เอาไปบ้าง ก็ขโมยบ้าง เอาบ้าง พวกนี้ละมัน แหม ดูถูกขโมยหรืออย่างไร ? นึกว่าข้าไม่กล้า ขโมยเอ็งหรืออย่างไร ก็เจอบ้าง พวกเราก็เจอบ้าง

แต่เราลองนึกๆ ดูดีๆ ซิ อย่างปฐมอโศกนี่มันน่างึดจริงๆ ที่ตั้งปฐมอโศกนี่ดงเสือ ดงนักเลง ดงจอมโจร จอมขโมย ตรงนั้นแหละที่ตั้งปฐมอโศก นี่ แรกๆ ใหม่ๆ ก็เจอ เดี๋ยวนี้น้อย น้อย ไม่มีเหตุการณ์อะไร ของก็มากขึ้น อะไรก็มากขึ้น ระเกะระกะ วางโน่นนี่อะไรไว้ อย่าง ศาลายา อย่างนี้เป็นต้น ศาลายานี่ ข้าวของก็วางไว้อย่างนั้นแหละ ตู้โทรทัศน์ ดูแล้ว ก็เข็นวางไว้ข้างๆ ตรงนั้นแหละ มันก็อยู่ของมันอยู่อย่างนั้นแหละ ทุกวันนี้จะดู ก็เข็น ออกมาดู ตั้งเปิด เอาผ้าคลุมขึ้นไว้เปิดดู ดูเสร็จก็เข็นมันไว้ทิ้งไว้ตรงข้างๆ นั่นแหละ มันก็อยู่ของมันอยู่อย่างนั้นแหละ ที่อื่นทำไมโดนงัด โดนยกตู้โทรทัศน์ไปแล้ว งัดตู้ เอาวิดีโอไปแล้ว เอาทั้งยากทั้งเย็น ต้องไปงัด ต้องไปคอยขโมย ไอ้นี่ก็อย่างนั้นแหละ ก็มันก็ค่อยๆ เข็นขึ้นรถไปก็ได้ ไม่ได้มีใครนอนเฝ้าตรงนั้นดอก ที่ศาลายานี่ยกตัวอย่าง หรือไม่ จานชามกะลามัง ข้าวของอะไรต่างๆ นานา เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ก็กองไว้ เต็มระเนระนาดอยู่นั่นแหละ ศาลายานี่ข้างๆ ถนนด้วย เอารถมาจอดข้างๆ ถนน ขึ้นถนนไปก็ได้ นี่ยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ ที่เราพูดแล้วเราก็ได้ละเหลิง ระวังบ้าง บางที คนมันก็ไม่ได้ว่าจะไม่ดีไปเสียหมด มันก็มีชั่วมีอะไรบ้าง ก็เป็นบ้าง มันก็มีคน หยิบฉวย อะไร หรือว่าขโมยก็มีบ้าง

สิ่งเหล่านี้มันเป็นนามธรรม แต่เราก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปพึ่ง หวังว่ามันเป็นฤทธิ์ เป็นเดชอะไรพวกนี้มากมาย ประมาทก็ไม่ได้ไม่ควร ก็ควรระมัดระวังดูแล ไอ้โน่นไอ้นี่ ก็ควรจะทำอะไร ที่มันคอยจะไปยั่วไปยวนอะไรเขามากนัก ก็ทำบ้าง

นี่ยกตัวอย่างในเรื่องของความเข้าใจได้ยาก สิ่งที่บรรยายยาก ซึ่งอาตมาว่าเหล่านี้ก็คือ ธัมโม หเว รักขติ ธัมมจาริง ธรรมรักษาผู้ประพฤติธรรม พวกเราไม่ไปทำร้ายใคร ไม่ไปตีเขา เขาก็ไม่มาตีเรา เราไม่ไปโกงเขา เขาก็ไม่มาโกงเรา เราไม่ไปเอาเปรียบเขา เขาก็ไม่มา เอาเปรียบเรา นี้มันเป็นกรรม ธรรมดา กรรมธรรมดาที่เราจะต้องศึกษา ทำอย่างไรละๆ เราจึงจะเป็นคน ไม่ไปเอาเปรียบใคร เมื่อเราจะไม่เอาเปรียบใคร เราก็ลดความโลภ เห็นแก่ได้ นอกจากลดความโลภเห็นแก่ได้แล้ว เราก็ต้องเป็นคนสร้างสรร ตนก็ต้องมี คุณภาพ ตนก็ต้องเป็นผู้ที่มีทรัพย์ หรือว่ามีผลผลิต มีผลเกิดขึ้น จะเป็นถึงขั้นวัตถุ สร้างวัตถุขึ้นมา ซึ่งต้องอาศัยอยู่จริงๆ หรือเรามีแรงงาน ในแรงงานนั้นมีสมรรถนะ มีศิลปวิทยา มีความรู้ความสามารถในแรงงาน เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องเป็นคนที่ มีฝึกฝน ให้ตนเองมีแรงงาน ที่มีสมรรถนะ ให้มีแรงงานที่มีศิลปวิทยา มีความสามารถสร้างสรร

เมื่อสร้างได้มากๆ เราก็ไม่ต้องไปเอาเปรียบ หรือไม่ต้องไปเบียดเบียนใครมาก จนกระทั่ง เราจะอาศัยกิน อาศัยใช้ มันก็ยังเหลือเยอะแยะ พอมันเหลือเราก็เอา แจกจ่ายเจือจาน เกื้อกูลคนอื่นไป คนหนึ่งก็เหลือ คนสองก็เหลือ รวมๆกันอยู่ ๓-๔-๕ คน ไม่มีใครเป็นคนฉุด เป็นคนรั้ง มีแต่คนเพิ่ม มีแต่คนเกิน มีแต่คนที่มีเหลือ มีมาก ก็วันๆ หนึ่งเราก็ไม่นั่งงอมือ งอเท้า นั่งหลับหูหลับตาอยู่เฉย อยู่เปล่า ปล่อยวันปล่อยเวลาไปดายๆ ไม่ผลิต ไม่สร้าง ไม่สรรอะไร เราก็ไม่ปล่อย เพราะเขารู้อยู่แล้ว คนขยันก็เดินทางไปสู่หลุมฝังศพ คนขยันบ้าง ขี้เกียจบ้าง ก็เดินทางไปสู่หลุมฝังศพ คนขี้เกียจจริงๆ ก็เดินทางไปสู่ หลุมฝังศพ แล้วมันควรจะอยู่อย่างขี้เกียจ หรืออยู่กันอย่างขยันบ้างขี้เกียจบ้าง หรือ ควรจะอยู่อย่างขยัน

พระพุทธเจ้าท่านอุตส่าห์ตรัสไว้จริงๆ เลยนะ ธรรมใดวินัยใด เป็นไปเพื่อความขยัน ธรรมนั้นวินัยนั้น ของเราตถาคต ธรรมใดวินัยใด ไม่เป็นไปเพื่อความขยัน หรือเป็นไปเพื่อ ความขี้เกียจ ธรรมนั้นวินัยนั้นไม่ใช่ของเราตถาคต เพราะฉะนั้นคำว่าความขยัน ก็คงไม่ต้องอธิบาย ใครแปลความขยัน แล้วไม่รู้ความหมายของความขยัน ใครที่โง่ที่สุด ในขณะนี้ ที่นั่งอยู่นี่ใคร ? อ้อ ไม่มีคนโง่เลย ไม่ยอมโง่ที่สุด คำตอบก็คือไม่ยอมโง่ที่สุด รู้ว่าโง่ แต่ไม่รู้ว่าโง่ที่สุดหรือเปล่า แต่ไม่ยกมือนั้นแสดงว่า ฉันไม่เชื่อดอกว่า ฉันจะโง่ที่สุด กว่าใครในที่นี้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ยอมยกมือ

อาตมาไม่เชื่อว่าใครจะไม่เข้าใจ คำว่าขยันคืออะไร คำว่าขยันแปลความง่ายๆ ก็คือ ไม่ดูดาย ไม่อยู่เปล่าๆ ทั้งๆ ที่ธรรมะก็เน้นเนื้อหา ภาษาที่ใช้ภาษาว่าว่างๆ เปล่าๆ นี่แหละ ให้มันว่าง หรือให้มันเปล่านี่แหละ แต่มันไม่ได้ว่างเปล่าๆ แบบเด๋อๆ พาซื่อ โง่ๆ จริงๆ ถ้าบอกปรมัตถ์ พูดถึงปรมัตถ์เข้าไปก็บอกว่าจิตว่าง เสียด้วยซ้ำ จิตว่าง จิตเปล่า จิตว่าง จิตระงับ จิตหมด จิตสูญ ก็คือจิตที่มันสูญจากกิเลส มันว่างจากอกุศล มันว่างจากทุจริต แล้วจริง แต่มันเต็มไปด้วยกุศล ยังกุศลให้ถึงพร้อมได้ ด้วยอำนาจจิต ด้วยพลังรู้ พลังเพียร พลังขยันทีเดียว มันเป็นวิบาก วิบากที่ดี กุศล ยังกุศลให้ถึงพร้อม พระพุทธเจ้าเอง ก็ยังตรัส จนกระทั่งถึงว่า ท่านเองท่านไม่สันโดษในกุศล

สันโดษก็คือใจพอ มันพอ มันหยุด ไม่กระดี๊กระด๊า ไม่เดือดร้อน ไม่ดิ้นรนวุ่นวายอะไรแล้ว สันโดษ แต่ถ้ากุศลแล้ว ท่านไม่สันโดษแล้ว ท่านไม่พอ สร้างเรื่อยไป เพราะมันเป็นเครื่อง อาศัย เป็นแต่เพียงว่าเราเข้าใจไหมว่า เรานี่อย่าไปยึด แม้จะเป็นของเราก็อย่าไปยึดว่า นั้นเป็นอัตตา นั้นเป็นอัตนียา นั้นเป็นเรา นั้นเป็นของเรา ทำใจในใจมนสิการ แม้จะเป็น ของเรา ก็อย่าไปทำใจยึด ทำอาการ จริงๆ เลย ฝึกปรือ

เมื่อใจมันวาง ใจมันปล่อย ใจมันไม่ได้ติด ไม่ได้ยึดว่า เป็นเรา เป็นของเรา ใครจะมาเอาไป หรือมันจะสลาย มันจะแตก มันจะทำลาย มันจะจากเราไป เราก็จะจากมัน มันก็จะจากเรา ก็จะไม่รู้สึกว่าอะไรจากอะไร เพราะเมื่อเราทำใจได้สนิท จริงว่า นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ของเรา ถ้าใจมันจริง มันก็ไม่เห็นมีอะไรสูญ ไม่เห็นมีอะไรหาย ไม่เห็นมีอะไรจาก แม้จะต้องตายจากร่างกายขันธ์นี้ เราก็จากได้ ป่วยการกล่าวไปใย กับสิ่งที่มันนอก กายยาววา หนาคืบ กว้างศอก พร้อมกับองคาพยพทั้งหมดนี่ เพราะฉะนั้น ใครจะไปดึง หวงแหน ไอ้โน่นก็ของเรา ไอ้นี่ก็ของเรา ใครหยิบไปนิด ใครแตะต้องหน่อย ก็ว้ากเพ้ยๆ นั้นให้ไปอยู่กับทศกัณฐ์เสียนี่ จอมพญายักษ์

เราต้องฝึกจริงๆ แล้วก็มาใช้ชีวิต โดยเฉพาะทุกวันนี้ชาวอโศกเรา อาตมาเห็นว่า มันเข้ารูป เข้ารอยมากขึ้นจริงๆ เรามีส่วนกลาง เรามีการพิสูจน์ เพื่อที่จะสร้างสรร ใครทำมาก ใครสร้างได้มาก แล้วก็มีคนแอบขโมยเอาวิบาก คนที่สร้างมากๆ ถูกแอบขโมย มีคนมา แอบขโมย เอาวิบากกุศลวิบากไป พิสูจน์กันซิจะได้ ไหม ได้แค่วัตถุไป คนขโมยวัตถุเราไป เราจะได้บุญไหม บุญคูณด้วยนะ แต่ว่าอย่าไปทำให้คนเขาขโมยละ เพราะว่า แหม อาตมาก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร จะอธิบายนะนา ไอ้คนมาขโมยของเขาไปนี่นะ มันเป็นบาปคูณ ขโมยเอาของเขาไป ไม่ได้เอาของเขาโดยตนเอง ไม่ได้ขโมย จะเรียกว่าบาป มันไม่ใช่ บาปดอก แต่มันก็ไม่ใช่บุญแน่ แต่คนทางโลกนี่เข้าใจว่าบุญ ประเดี๋ยวเราอยากได้ ไอ้โน่นไอ้นี่ แล้วก็ไปขอเขา เขาก็ให้ เราก็ได้มา อยากได้อะไรเราก็ขอไอ้นั่นก็ได้ง่ายๆ ดายๆ จะนึกว่า เรานี่เป็นคนมีบุญ บังเอิญคนคนนั้นไปอยู่ในดงคนบุญ เขาไม่หวงแหน ก็ขออันนั้น เขาก็ให้ ขออันนี้เขาก็ให้ ขออันโน้นเขาก็ให้ นึกว่าเรา เป็นคนมีบุญ ก็เลยขี้เกียจ ก็เลยไม่ต้องอะไร นั่งขอนั่งเอา คนนี้จะได้บาปน้อยหรือบาปมาก ยิ่งไปเอาคนที่เขาให้ อย่างเขาไม่หวง เขายิ่งไม่หวงไม่แหนเท่าไร แล้วเรายังมักได้มากๆ แล้วก็ยิ่งขี้เกียจ ยิ่งไม่ทำเลย เสร็จคนนี้ หนี้บาปยกกำลัง นี่มันอธิบายยาก ภาวะสัจจะย้อนสภาพพวกนี้ ยิ่งซับซ้อนหลายชั้นๆ นี่อธิบายยาก แต่ก็คุณก็คงเข้าใจ อย่างน้อยก็คง ปัจเจกสัจจะ บรรเทาบ้างดอก ว่า เออ มันยังไม่เข้าใจดีน่ะ แต่ก็คงเข้าใจขึ้นไปพอสมควร ไม่ปวดหัว ไม่คิดหัวแตก เป็น ๗ เสี่ยง พอเข้าใจ บรรเทาบ้างก็คงพอบรรเทานะ

นามธรรมเป็นสภาพของวิบากกรรม เป็นอจินไตย เป็นเรื่องที่ซับซ้อน บางทีเราก็คิดกลับไป กลับมา มันก็ แหม เมาแล้ว มันจะลบบ้าง คูณบ้าง หรือหารบ้าง ยกกำลังบ้าง เอ๊ มันจะไป อย่างไรนะ ถอดรูทบ้าง ยุ่งกันใหญ่ มันก็ออก มันไม่ออก นี่คิดพูดเป็นเชิงภาษา คณิตศาสตร์

ทีนี้มาพูดถึงปัจจุบัน ถ้าเราเป็นคนมีของ มีสมรรถนะสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ คนต้องกิน ต้องใช้ คนจะต้องอาศัย เราก็ให้เขา ที่เราให้เขานี่แหละ ทางโลกเขาเข้าใจผิดว่า คนได้น่ะ เป็นบุญ ทางโลกเขาเข้าใจอย่างนั้น ทางเรานี่ เข้าใจถูกหรือยัง คนให้กับคนรับ ใครเป็นคนมีบุญ ใครเป็นคนมีบาป คนให้เป็นคนมีบุญ คนรับเป็นคนมีบาป ฟังแล้วก็ แหม แทบจะไม่น่ารับเลยนะ อาตมารับแล้วก็ต้อง รีบเอาออก รับแล้วต้องรีบเอาออกให้ต่อ มันก็จะเป็นบุญต่อซ้อนต่อ

คนใดที่จริงใจ ใครรับอะไรใครมา เอ้า ก็รับสมเหมาะสมควร เขาอยากให้นะ เพราะการให้ ปฏิคาหกกับทายกนี่ ผู้เป็นทายกนี่มีปัญญา ทำทานด้วยมีปัญญา ก็เป็นบุญ คนผู้ควรให้ สมควรให้ ให้ผู้ยิ่งไม่โลภ ยิ่งไม่ยึดเป็นของเรา ยิ่งมีปัญญาในการจะใช้วัตถุที่เราให้ หรือ สิ่งที่เราให้ เอาไปสร้างสรร ที่จะเป็นกุศล เป็นประโยชน์คุณค่าทับทวีไปอีก แล้วก็ได้ ช่วยเหลือเฟือฟายมนุษยชาติ มากเพิ่มขึ้นไปอีก มันก็ยิ่งป็นบุญทวี

นี่คือสิ่งที่จะพิสูจน์ในโลกอันแสนจะมหาวินาศ เดี๋ยวนี้ มีแต่คนขี้โลภเพื่อจะเอามาบำเรอ ตัวเอง เอามาสลาย เอามาทำลาย เอามาฟุ่มเฟือย สุ่รุ่ยสุร่าย เอาไปอะไรก็ไม่รู้

ยกตัวอย่างง่ายๆ เจ้าสัว ร่ำรวย แจกเงินแจกทอง ก็คือเลี้ยงนักเลง นักเลงก็ไปกิน ไปสูบ ไปดื่ม ไปเสพ เลี้ยงอีหนู ใช้ไปฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ไปแต่งตัวไปโน่นไปนี่ ไประริกระรี้ เป็นเมียน้อยเจ้าสัวก็ โอ้โฮ เจ้าสัวจ่ายดี มันก็เอาเงินไปอะไรก็ไม่รู้ สำมะเลเทเมา เหมือนกัน เห็นมั้ยว่ามันซ้อน ๆ ซ้อนลงไป ไร้ค่า ข้างต้นไปจนถึงปลายทาง ในกลุ่มคน ที่ไม่ได้เรื่องได้ราว เป็นเจ้าพ่อร่ำรวยได้เงินง่าย ให้ง่าย เขาให้ไปก็ต้องเลี้ยงคนที่ ไม่ได้มี สาระแก่นสารเหมือนกัน แล้วมันไม่ก่อประโยชน์อะไร เขาให้ก็ให้ด้วยจำนน คนนั้นคนนี้ ต้องให้ ต้องสนับสนุน ต้องส่งเสริม ต้องให้ด้วย ในสังคม มันซับซ้อนอีกไม่รู้กี่ชั้น

อันนี้อาตมาอธิบายด้วยภาษาเหมือนของหยาบ พวกคุณนึกออก ในสังคมเจ้าพ่อ สังคมอำนาจบาตรใหญ่ สังคมนักเลง สังคมอะไรพวกนี้ แล้วก็ร่ำรวย แล้วก็มีทุกอย่าง นั้นแหละ ที่จะเบ่งจะฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายอะไรของเขาไปก็อย่างของเขา ทีนี้ซ้อนอยู่ ในสังคมอย่างนี้เหมือนผู้ดี แต่ก็เป็นผู้ที่มีส่วนรับ รับแบบเดียวกัน คนจะต้องติดสินบน หรือคนที่จะต้องให้แบบเดียวกัน คล้ายกัน ก็กลายเป็นเรื่องที่ ละเอียดขึ้นมา เชิงโกงนิดๆ ไม่โกงแต่เป็นกินตามน้ำ มันก็เป็นอำนาจของที่จะต้อง เอื้อแก่กันและกัน อย่างตามน้ำ เสร็จแล้ว นอกจากไม่ตามน้ำ สูงขึ้นไปกว่านั้นอีก ซ้อนเชิง เป็นเหมือนบุญเหมือนคุณ เป็นอำนาจทางธรรมซ้อน เข้ามาหาทางศาสนา อย่างพระอย่างนี้ ไม่ใช่กินตามน้ำดอก แต่เอาอำนาจบุญ อำนาจกุศลอะไรมาว่า ให้กับพระนี่ เป็นบุญนะ ความจริงก็เหมือนกับ ให้สินบน กับผู้ที่ให้กินตามน้ำ แต่ใช้คำว่าบุญ เท่านั้นมาแลก

ทีนี้พระนี้บางทีนี่ แย่กว่าไอ้เจ้ากินตามน้ำนี่ด้วยซ้ำ เอาไปสุ่รุ่ยสุร่ายอะไร ไม่ได้เป็น ประโยชน์ คุณค่าอะไรดอก ช่างเถิด เขามาทำบุญกับฉันนะ อาศัยรูปอะไรของ พระพุทธเจ้า รูปแบบบ้างอะไรต่ออะไรบ้าง ถ้าอย่างนี้สิมีเยอะ แล้วตัวเองไม่หัดให้ตัวเอง เป็นคนสละออก เป็นคนอะไรต่ออะไร เอา อาศัยเงินทองนั่นแหละมา แล้วก็มาเลี้ยงตัวเอง มาเรียน ศึกษาเล่าเรียน มาค้นคว้าสร้างนั่นสร้างนี่ ทำโน่นทำนี่อลังการอะไรต่ออะไร แล้วก็ดูเขื่องๆ ดูหรู ดูคนยิ่งขึ้น ยิ่งอะไรต่ออะไร ต่างๆ นานา มันซ้อน จนกระทั่งสุดท้าย ก็มาสร้างอะไรต่ออะไรเข้าไปอีก เสริมอำนาจเสริมบารมี ซ้อนหลงไปอีก สูงไปกว่านั้นอีก สร้างเหมือนกับ ช่วยเหลือเฟือฟายสังคม เป็นประชาสงเคราะห์มากขึ้นไปอีก ใหญ่โต มโหฬาร ฟุ่มเฟือยแผ่อำนาจ ฉันเกื้อกูล ฉันเลี้ยงดูฉันอะไร เพราะฉะนั้น ใครที่มาอยู่ใน อาณัติ หรือว่าอยู่ในแวดวงท่านนี่ ท่านเป็นคนจ่ายเก่ง ใจดี พวกคุณนี่ ไม่ได้ใจดี ไม่ได้ถูก อาตมาแจกจ่ายอะไรมาให้สักคนดอก ซึ่งก็ต่างกัน มันซ้อนลึกนะ

เพราะคนเหล่านั้น ได้เบี้ย ได้อะไรซ้อนอยู่ในตัว คนยิ่งใกล้ ยิ่งชิด ยิ่งได้ง่าย ได้อะไร คือไม่เป็นระบบที่ถูกต้อง เป็นระบบข้าเป็นเจ้าของ ข้าเป็นอำนาจ เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง ข้าเป็นคนสั่ง ข้าเป็นคนจ่าย บริวารทุกคนก็ต้องยอม เหมือนบุญที่เขามาทำบุญ ยิ่งอะไร ข้างนอกเป็นคนที่มีคุณค่า ให้คนมายอมศรัทธา เลื่อมใสมากๆ จะมีฤทธิ์ ความสามารถ เฉลียวฉลาดอย่างไร จะพาให้คนมาเลื่อมใส นะ จนกระทั่ง เขามาทำบุญ ทำทาน มาอะไร ให้เงินทอง ให้ทีละล้าน ๕ ล้าน ๘ ล้าน ๑๐ ล้านก็ยิ่งดี

อาตมานี่ทำรูปไม่งาม มันทำไม่ให้มันงามอย่างนั้นนะ มันมาถึงก็ขูดเอา เกลาเอา กระแทกเอา เขาก็ไม่มาทำบุญ แล้วก็พวกคุณเองก็ถูกทำให้ลดออก ละออก ล้างออก หมดตัวออกไป คุณเองคุณศรัทธาแล้ว เชื่อแล้วก็ไม่มีให้อาตมาแล้ว เพราะตัวเอง ก็หมดตัวแล้ว คนมาใหม่ๆ ก็โดนอาตมากระแทกเอาบ้าง โขกเอาบ้าง รับไม่ไหว ไม่เอา อะไรอย่างนี้เป็นต้น ก็ไม่มาให้ ก็ไปให้คนที่เขาป้อยอ เขาประเล้าประโลม เขาอย่างโน้น อย่างนี้ เขาเอาอำนาจบุญมาซ้อนมาแทรก

ขณะนี้ที่อธิบายนี่ไม่ได้ไปส่อเสียดใครนะ แต่อธิบายสัจจะให้ฟัง เพราะฉะนั้น เขาก็มี อำนาจ ส่วนเงินพวกนี้มาไว้สำหรับส่วนตัว คนที่มาห้อมล้อม คนที่มาอะไรนี่ มันก็นับถือ ที่ได้เบี้ย ได้หอยเหมือนกับมาเฟียนั่นแหละ เหมือนกับวงการนักเลง เหมือนกันแหละ มันไม่เป็นสาระ นี่มันซ้อนอยู่ลึกๆ

อาตมาว่า อาตมาอธิบายได้ขนาดนี้นี่ก็เก่งพอสมควรแล้วนะ ที่จริงมันละเอียดซับซ้อน ยิ่งกว่านี้ สังคมมันหลายชั้นมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้น มันจะถูกตามทฤษฎี ถูกตาม หลักธรรม ที่เป็นหลักสัจธรรมนั้น นะ มันยาก ยาก แต่ของเรานี่ อาตมาก็ พยายามอยู่นะ จะบอกว่ามันดี ๑๐๐ % มันก็ยังไม่ทีเดียวดอกนะ ช่วยกันดู อาตมาก็พยายาม อะไรที่มัน ยังบกพร่อง มันยังไม่สมบูรณ์ทีเดียว ก็พยายามกอบก่อขึ้นมา

ที่นี่ก็อยากจะให้มันเป็นที่พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนพี่เหมือนน้องกัน มีส่วนกลาง ส่วนรวม แต่ละคนก็ขยันหมั่นเพียรเถิด แต่อย่าให้มันทรมานตนเองจนสุขภาพร่างกายเสีย อันนี้ก็พูด ไม่ได้พูดเล่น ก็พูดจริง มันมีอัตตามานะซ้อน หิริมากเกินไปดีแตก เจ็บป่วย ทรมาน ก็ยังอุตส่าห์ ไม่ได้ดอก เดี๋ยวเพื่อนจะว่าฉันมานั่งนอน ฉันมาเอาเปรียบเพื่อน อย่างโน้นอย่างนี้ กลัวจะเป็นบาปไปโน่น ละเลียดเกินไป จนกระทั่ง มันควรพักก็พัก ควรเพียรก็เพียร พระพุทธเจ้าสอนไว้หมด ทุกระดับ ก็ยังฝืน เกิน เสร็จแล้วก็ทรุด ดีไม่ดี ก็ตาย สิ่งเหล่านี้เราประมาณแต่ละผู้คน ถ้าเรารู้ว่าเราเองพอได้ อันนี้มันไม่ต้องถึงขนาด มางอมืองอเท้า หรือว่าอยู่เปล่าดอก ควรขยันก็ไป ขยันได้ก็เอา มันไม่แสลงนะ ทำอย่างนี้ มันไม่ล้ม มันไม่เป็นพิษเป็นภัย มันไม่ทำให้เราทรุด เราเสื่อมไปได้ดอก ดีไม่ดี มันก็จะกลับ สนับสนุนให้เราแข็งแรงเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป บางอย่างมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ มันสมควร ก็ไปทำให้มันดีขึ้นๆ ไม่ใช่ขี้เกียจ เลยได้ช่องได้โอกาส ป่วยนิดป่วยหน่อย ก็เลยถือโอกาส บ้าง อันนั้นก็รู้ตัวเอง ใครตัวใครก็รู้ อย่างนี้อาตมาว่าไม่เท่าไรมันรู้ชัด คนที่มันเกินนะ อัตตามานะมันมาก มันไม่สมควรที่จะไปดื้อรั้นไปฝืนทำ เพราะว่าเราก็ป่วย ควรพัก ก็ไม่ยอมพัก แก่มากแล้ว ก็ควรให้มันน้อยลง ก็ไม่ยอมน้อย เดี๋ยวก็แกงไปแกงมา ก็เอา กระดูกเรานี่แหละ ร่วงลงไปแกงมาให้เรากิน กระดูกผุ กระดูกร่วงใส่แกง มาให้เรากิน เท่านั้นเอง ทำจนกระทั่งมันเกิน เราก็รู้นะ เราก็ดูกัน

ถ้าเผื่อว่าเราเข้าใจมัชฌิมา หรือเข้าใจขนาดที่สมเหมาะ สมควรพวกนี้ จะอยู่ด้วยกัน เกิด แก่ เจ็บ ตายขนาดนั้น ขนาดนี้ ตามมาตรฐาน กลางๆ เราก็เข้าใจโดยสามัญ มันก็พอรู้ กันอยู่

ส่วนคนที่จะพิเศษ แก่แล้วก็ยังแข็งแรงก็มีได้ แต่โดยค่าเฉลี่ยเราก็รู้ สามัญเราก็เข้าใจ คนไหนพิเศษเป็นบุญของเขา แก่แล้วก็ทำได้มาก ก็ อนุโมทนา ผู้ใดได้ก็ทำ ผู้ใดทำไม่ได้ รู้ตัวก็อย่าไปฝืนเกินไปนัก แล้วก็อย่าไป คนที่ไปเพ่งโทษเขาบอก ทีคนแก่คนนั้น เขายัง ทำเลย แก่กว่าคุณ แก่กว่าป้านี่ ทำไมป้าอายุน้อยกว่าเขาไม่ทำ ก็ของเขา จะเอาไป เทียบกัน ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องดู พยายามเข้าใจกัน ถึงอย่างไรก็ตามโดยสัจจะ ป้าคนนี้สมควรทำ แต่ตัวเอง เฉโก เลี่ยง ตีกิน แก้ตัว ส่วนป้าอีกคนหนึ่งก็ขยันของเขาจริง อะไรจริงก็บาปเขา บุญเขา ของแต่ละคนจึงตามสัจจะนะ ใครอยากจะมาตีกิน ขี้เกียจ มานอนกินแรงคนอื่น ทั้งๆ ที่ควรจะทำได้ แต่ตัวเองก็มานอนกินแรงเขา ให้คนอื่น เขามาเลี้ยง ทั้งๆ ที่ควรทำได้ แต่คนที่แก่กว่าเขาก็ยังขยัน เขาก็ยังทำได้ เขาก็ทำของเขาไป เขาก็ บุญของเขา คนที่กินแรงเขา เขาก็บาปของเขาโดยสัจจะ คุณไม่ต้องกลัวดอก บอกกัน ติงกัน เตือนกัน พูดกัน สอนกัน แนะนำกันแล้ว ไม่รู้หรือโมหะ หรืออวิชชาก็โง่ มันก็บาปด้วยอวิชชา ถ้ารู้อยู่ ยิ่งรู้ ทำมันทั้งๆ ที่รู้นี่แหละ บาปก็ยกกำลังไปเรื่อยๆ ก็ตามจริง โดยสัจจะนะ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

เราก็พูดสัจจะโดยความเข้าใจนี่โดยความรู้ความหมายนี่ ชัด เราก็ไปประพฤติปฏิบัติ ให้มันตรง ให้มันถูกต้องตามที่เราเข้าใจ อย่าไปแกล้ง ดูอำนาจของอกุศล ความที่เห็นแก่ตัว เลี่ยง อยู่เฉยไปมา กินแรงอะไรต่ออะไร ยิ่งอยู่ในดงคนบุญนี่ ระมัดระวังให้ดีๆ

ถ้าเผื่อว่าเราเองเราได้ปฏิบัติ ประพฤติมรรคองค์ ๘ ทั้งคิดทั้งพูด ทั้งกระทำการงาน ทั้งอาชีพ ทั้งอะไรต่ออะไรอยู่อย่างสมบูรณ์พรักพร้อม พระก็ไม่ใช่เอาแต่นั่งสวดมนต์ เอาแต่นั่งชี้นิ้ว ไม่ใช่ ก็ทำงานที่ทำได้ จะก่อจะสร้าง จะมุงหลังคาอะไรมีหมด อยู่ใน พระไตรปิฎกก็มี อยู่ในวินัยยังมีเล็ดลอดไปอยู่ในวินัยได้ นะว่า พระนี่มุงหลังคา มุงกระเบื้อง ชี้ที่กุฏิ สร้างบ้าน ศาลา กุฏิอะไรของตนเอง ทำโน่นทำนี่ ยังมีหลงๆ เหลือๆ เล็ดๆ ลอดๆ ว่าพระก็ต้องทำงาน จะก่อ จะสร้าง จะทำโน่นทำนี่อะไร ก็มีอยู่ทั้งนั้นแหละ ยังอุตส่าห์เล็ดลอดอยู่ในหลักวินัย ไม่ใช่พระก็คือ นั่งอยู่โน่นนี่ พระคือไม่ทำอะไร ไม่ใช่ อะไรมันอาบัติ อะไรไม่อาบัติ อะไรมันบาปไม่บาปก็มีให้ทำ มี ถ้าคนฉลาดก็รู้น่ะ ฉลาด ก็เข้าใจ ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำ ขนาดก่อสร้าง พระพุทธเจ้ายังสั่งให้พระโมคคัลลา เอ้า ดู ช่างสร้าง ถ้าเราจะทำตัว เป็นอย่างพระพุทธเจ้า ไม่ไปดู ไม่ไปทำ เราหนี เหมือนพระพุทธเจ้า เอาซิ เอาอย่างพระพุทธเจ้าเอาเกินไป คุณเป็น พระพุทธเจ้า คุณก็เอาเถิด พระพุทธเจ้าหรือว่าใครต่อใคร ไม่ต้องถึงพระพุทธเจ้าดอก ท่านสอนกันเอาไว้ เอาเยี่ยงเรา แต่อย่าเอาอย่างเรา ไม่ต้องไปพระพุทธเจ้า อันนี้สอนกันมา เพราะฉะนั้น ทำให้เหมือน แต่อย่าไปทำตีตนเสมอ

เพราะหลายๆ อย่าง ผู้สูงท่านทำได้ แล้วท่านก็จริงใจ แล้วท่านก็มีสิ่งที่ท่านทำไม่หมดดอก ทำไม่ไหวดอกอย่างนั้นอย่างนี้ ที่ผู้ที่มาระดับรอง หรือระดับทำอันนี้แทนได้ ผู้ที่ทำสิ่งที่สูง ที่ไม่มีผู้ที่ทำแทนได้ ท่านก็จะ ต้องไปทำสิ่งที่สูง ที่ไม่มีคนทำแทนได้นั้น มันก็จะมีอีก ตั้งเยอะ เพราะฉะนั้น เรารับอันนี้ ทำอันนี้แทนได้แล้ว เราก็นำอันนี้ไป เราทำอันโน้นไม่ได้ เราก็ทำอันนี้เผื่อ ทำอันนี้ให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่ยังไม่สูงค่ามันก็ต้องน้อยกว่าอยู่ ทำมากๆ มันถึงจะค่าพอกับสิ่งที่สูง ไอ้นี้หลักสัจจะมันก็มีโดยแท้จริง ฉะนั้น มันไม่เหมือนกันแน่ ซ้อนๆ กันอยู่

อาตมาก็ดูวันดูคืนพวกเราที่สร้างสรรขึ้นมาตามระบบ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ปรับ สิ่งที่ควรจะปรับมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปากหนอปาก พวกเรา นี่ ควรจะปรับ ให้มากหน่อย จะว่าคม มันก็ไม่ค่อยคมหรอก มันเฉือน แต่ว่าเฉือนไม่ค่อยขาด ยับเยิน เถือ เออ เถือ จะเฉือนให้เหมือนมีดโกนนะนา ปื๊ด โอ้โฮ ยับเยินเลยนะ แทนที่มันจะเป็นรอย เหมือนกับไม่รู้สึกว่ามันเป็นรอยขาดแล้ว เหมือนอย่างยอดจอมยุทธ แหม กระบี่ดาบทั้งคม ทั้งไว ตัดขาดแล้วแต่ไม่รู้ว่ามันขาด ไปแตก อ้าสองท่อนราบเรียบเลย นี่มันไม่ราบเรียบ ไม่เสมอดอก ปึ้ด โอ้โฮ ทั้งฉีก ทั้งแหลก ทั้งย่น ทั้งยับ ปวดเจ็บทรมาน ห้อเลือด เหมือน ปากฉลามหรือ ยับเยินยิ่งกว่านั้น พวกเราปากมันยังไม่คม มันเชือดเฉือนมันอะไร รู้นะ รู้มากขึ้น แล้วก็ใช้พวกนี้มาฟาดกัน ฟันกัน หรือรับลูกกัน จะติเตียนกัน ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ สังคหวัตถุในข้อนี้ของพวกเรานี่ยังไม่ดี

เรื่องทานพอได้ สังคหวัตถุ ๔ ทาน เปยยวัชชะ ปิยวาจาหรือเปยยวัชชะนี่ พวกเราระดับนี้ ยังไม่ค่อยดี ระดับเปยยวัชชะนี่ ยังให้เขาดื่มคำตำหนิได้ โดยยิ้มแย้มเต็มใจยาก ส่วนมาก ก็เป็นสงคราม

อาตมาเหนื่อยพวกเรานี่มันเหนื่อย จะต้องไปคอยปรับ พอซัดกันก็ต้องคอยใช้วิธีนั้นวิธีนี้ โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง เพื่อปรับ หลายอย่างอาตมาก็ต้องใช้ทุกวิธี ไม่ใช่ว่าจะไปทำ โดยตรง ถ้าขืนไปทำโดยตรงทั้งหมดมันทำไม่ไหวดอก มันก็ต้อง ทำโดยอ้อม ทำโดย อย่างโน้นอย่งนี้ ในนัยอาตมาอธิบายไม่ไหว ถึงอธิบายก็ไม่ดี มันเป็นเหมือนไต๋ ต้องปิดไว้ หน่อย ไปทำให้รู้ตัวบางทีก็ไม่ได้ผล มันต้องไม่ให้เจ้าตัวรู้ตัว เพราะอำนาจของอัตตามานะ ของคนนี่ โอ้โฮ มาก ๆ ซับซ้อน เพราะฉะนั้นบางอย่างนี่ ไปทำไปบอกไปสอนตรงๆ ไม่ได้ ไม่สอน ไม่สอนตรงดอก ต้องหยั่ง หลายชั้นหลายเชิง เสร็จแล้วคนนั้นก็เหมือนกับ เราไม่ถูกสอน แต่ก็ต้องถูกสอน แต่ก็ต้องให้ถึงเขา ไม่ถึงเขาก็ไม่ได้ แล้วเขาก็ไม่รู้อย่างนี้ เป็นต้น ต้องให้ถึงเขา แต่อย่าไปสอนตรงๆ สอนตรงๆ มันมานะ เขาไม่ยอมดอก รู้ว่าสอนตรง เขาไม่รับ ให้ใหญ่เท่าใหญ่ก็ไม่รับ

นี่พูดในระนาบตื้นนะที่พูดนี่ ระนาบซ้อนยังมีมากกว่านี้อีก เพราะฉะนั้น วิธีการสอนคนนี่ ไม่ใช่ง่ายๆ พวกเราได้พยายามพิสูจน์ความจริงทั้งด้านรูปแบบ ในด้านวัตถุ วัฒนธรรม สังคมคน เพราะฉะนั้น อาชีพ กัมมันตะ วาจา มันก็มาจากความนึกคิดทั้งนั้นแหละ เป็นหลัก สังกัปปะ จึงได้มีองค์ธรรมถึง ๗ ตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา วจีสังขารา องค์ธรรมก็คือตัวจิตสังกัปปะ จะออกมาเป็นวาจา จะเป็น สัมมาวาจา จะเป็นสัมมากัมมันตะ จะเป็นสัมมาอาชีวะ จิตเป็นหลัก องค์ธรรมเหล่านั้น ก็อธิบายได้แค่ สัมมากับมิจฉา เท่านั้น

แต่องค์ธรรมของตัวนี้ ของสังกัปปะนี่จะต้องดำริ จะต้องนึกคิด จะต้องวิจัย เลือกเฟ้น กว่าจะไปใช้เป็นสังขาร กว่าจะไปใช้เป็นวจีสังขารา เป็นเรื่องราว ที่สังขารเรียบร้อยแล้ว แล้วจะนำเอาไปใช้ จะออกไปสั่งเป็นทางกายกรรม สั่งออกเป็นวจีกรรม ก็มาจากตัวจิต ที่นึกคิดพิจารณาตัดสิน อยู่ในจิตทั้งหมด เพราะจิตเป็นประธาน มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวง เกิดมาแต่จิต

แล้วเราต้องฝึก ไม่ฝึกมันไม่เป็น ฝึกก็ยิ่งจะต้องรู้ ยิ่งฝึกยิ่งได้รู้ เพราะฉะนั้น คนฝึก ที่ฝึกห่างๆ ไม่ค่อยมีบทฝึกหัด ไม่ค่อยมีโจทย์ ยิ่งหลีกยิ่งเลี่ยง ก็ยิ่งไม่ชำนาญ ยิ่งไม่รู้ทัน ยิ่งไม่เข้าใจดอก เรื่องสภาวะที่มันเป็นบทบาทจริงนี่ กับเรารู้ด้วยคิดนึก ด้วยตรรกศาสตร์ นี่นะ มันไม่เหมือนกันดอก ไม่ใช่ไม่เหมือน มันเหมือน แต่ว่ามันเวลาลึกซึ้ง เวลาละเอียด ซับซ้อนแล้วนี่ มันจะไม่ได้คุณได้ค่าเหมือนกันเท่ากัน เพราะฉะนั้น ต้องมีบทฝึกหัดจริง

อาตมาเองอาตมาไม่ได้บอกพวกเรา แต่ก็เปรยปรายพวกคุณพวกคนที่นี่ ก็รู้ ผ่านมา ทุกเวลา ทุกระดับ โจทย์ทั้งนั้นแหละ อาตมาก็ต้องสร้างโจทย์ให้พวกเรา ได้ทำทั้งนั้นแหละ คนเลี่ยงโจทย์ก็เลี่ยงอยู่ ช้า ธรรมใดวินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้น ไม่ใช่ของเราตถาคต ที่มันเนิ่นช้าก็เพราะว่า

๑. ขี้เกียจ รู้อยู่แต่เลี่ยง

๒. อัตตามานะ ไม่เชื่อ เชื่อกูนี่แหละ กูคิด กูจะต้องทำอย่างกูคิด กูแน่กว่า ไม่รู้จะมาเป็น ลูกศิษย์ อาจารย์กันทำไมก็ไม่รู้นะ กูแน่กว่า กูถูก กูจะทำของกูแหละ แล้วก็ไปอ้างอะไร ไปอ้างจริตของกู พระพุทธเจ้าก็ให้ตามจริต อยู่ กูก็ต้องตามจริตกูนะซิ เอาก็ว่าไป ดันไปเถิด ๑. ขี้เกียจ เลี่ยงไม่ทำ เพราะขี้เกียจ ๒. เพราะอัตตามานะ กูจะทำตามกู เข้าใจไอ้ที่พูด ทำไมจะไม่เข้าใจ ก็เอ็งทำซิเอ็งจริตอย่างนั้นนะ เอ็งก็ทำไปเถิด ข้าจริตอย่างนี้ ข้าจะทำอย่างนี้ ใครจะทำไม

 ไม่มีใครไปทำไมดอก ช้าเอง เรายิ่งไม่ชอบอะไรต่างจริตนี่แหละ เราควรจะต้องไปพิสูจน์ดู เจโตต้องพิสูจน์ปัญญา ปัญญาต้องพิสูจน์เจโต เราขาดปัญญา เราต้องไปหาปัญญา ไปสมัครสมานกับปัญญา อย่าไปมัวมั่วอยู่กับเจโตด้วยกันเลย มันก็ไปกันใหญ่ซี อ่องล้อง ๆๆๆ หวั่งๆ บ่ หลังเอิ้นซาง บ่เอิ้นสั่งไกล ก็ขอให้เอิ้นฟังใกล้นี่เด้อ แปลว่าอะไร ไม่แปลละ ไปถามเอา เสียเวลาไม่ได้สาระอะไรมากมายดอก มันเป็นคำขยาย คนที่ไม่ดู ไม่แล ไม่เอาถ่าน ก็ไปของตัวเองไปดิ่วๆ ไปอย่างนั้นแหละรูป มันทำให้ช้า แล้วไม่ทำให้เกิด อะไรเลย ไม่รวม มันก็ต่างคนต่างไปกัน มากนะ มันไม่รวม มันไม่เป็นหนึ่ง มันไม่แน่นเข้าไว

แต่ว่าพวกเราก็เข้าใจนะ พวกเราก็ดูไม่เลวนัก ก็ในระยะเท่านี้ สิบปี ยี่สิบปี ก็ได้รวบรวม กำลัง พลังได้ประมาณขนาดนี้ก็ไม่เลวนัก เพราะฉะนั้น มันจะเกิดสัมมาอาชีพ ที่อาตมา พยายามเน้นให้พวกเราติดดิน ให้พวกเราเข้าหาของ ปัจจัย ๔ เข้าหาสิ่งที่มันเป็นเรื่อง ที่สำคัญนะ

ที่พูดนี่ไม่ได้พูดเล่นดอก ข้าวมีกิน ดินมีเดิน ตะวันมีส่อง อะไรพวกนี้ อาตมาว่าโยมเหนี่ยว แกก็เป็นคนที่จะต้องให้มาขนาดนี้ ของโยมเหนี่ยวนะที่อาตมาเอามาพูดต่อนี่ เอามาขยาย ต่อนี่ จากรากฐาน นั่นแหละจากคนคนหนึ่งซึ่งไม่รู้หนังสือเลยสักตัว โยมเหนี่ยว ตอนนี้ก็ ๙๔-๙๕ หรือ ๙๗ แล้ว จะร้อยแล้ว สติสัมปชัญญะยังใช้ได้ ยังพอไปพอมา แต่ร่างกาย มันโทรม แย่แล้วเท่านั้นเอง ก็คนเราสมัยนี้นี่โอ้โฮ กินอาหารทุกวันนี้นี่ มีแต่พิษทั้งนั้นเลย สะสมเข้าไปทนได้ถึง ๙๐ ถึงร้อยปีนี่บุญแล้วนะ อาตมาถึงเตรียมไว้นี่ ไม่รับพิษเข้า ให้มากๆ หน่อย ถ้ากินแต่สิ่งที่ไม่มีพิษหน่อย เรามารู้ตัวเอาก็เมื่ออายุนี่ก็จะได้มารับ สิ่งที่สะอาดๆ เพิ่มเติมเข้านี่ ๕๐ กว่าแล้วนะ นี่ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก่อนนี้ก็รับพิษมันก็รับ ต้นไม้ผักไร่ อะไร ก็ซื้อจากตลาดเขาทั้งนั้นแหละ สะสมมาจากพิษทั้งนั้นแหละ ก็จะใช้ วิธีที่จะรู้ ถ้ารู้เท่าไร แล้วก็จะพยายาม อาตมาก็พยายามที่จะรู้จักทุกๆ อย่างที่จะประกอบ ขึ้นมา ให้มันเป็นอิทธิบาท ที่จะอยู่นาน เพื่อที่จะต้องให้พวกเรานี่พยายามที่จะสร้างสังคม สร้างกรรมกิริยา สร้างอาชีพ สร้างการงาน สร้างอะไรต่ออะไรขึ้นมา ให้มันเป็นสิ่งที่ บริสุทธิ์ สะอาดที่เป็นคุณค่าประโยชน์สูง ไม่ต้องพูดอะไรมาก

ถ้าเรามีกิจกรรมของกสิกรรมนี่นะ มีผักพืช ผลไม้ที่ไม่มีพิษนี่นะ เรากินเหลือแน่ ชาวอโศก ทุกคนได้กิน เหลือแน่ แล้วสามารถ สะพัดออกไปให้แก่ผู้อื่น ที่เขาได้รับบุญเป็นส่วนบุญ ของจากเราน่ะ ได้กินผักพืชผลไม้ ที่มันไม่มีพิษ เดี๋ยวนี้มันมีพิษทั้งนั้นจริงๆ นี่ ใครพูด อย่างนี้ไม่ได้ แม้แต่เขาไม่ทำเอง เขาก็พูดอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ รู้แสนรู้ แต่ไม่มีทางเลือก มันต้องกิน เพราะเขาทำอย่างนั้นมาให้กิน

ถ้าเราทำไปแก้ให้แก่สังคม เรายิ่งขายถูก ของเรายิ่งบริสุทธิ์ บุญมันยกกำลังนะ ค่าของ ราคา หาค่าบ่มิได้ มากขึ้นไปเรื่อยๆ คนเขาเหยียดหยามดูถูก ว่าคนทำอาชีพทำไร่ ไถนา ตีนติดดิน คลุกขี้ดินขี้โคลน หน้าดำ หน้าหมอง

ถ้าเราเองนี่มันซ้อนกันไป เราสาวๆ สาวๆ นี่รักนวลสงวนเนื้อให้มันผ่อง มันผิวมันงาม ใช่ไหม แต่เราเข้าใจแล้วว่า ไม่เป็นไรดอกน่า สิ่งเหล่านี้เราเข้าใจแล้ว แม้มันจะไปหน้าขาว หน้าผ่องนวลใย ไฝฝ้าอะไรมันจะมี จะอะไรต่ออะไร ไม่เป็นไรดอก ขอให้มันแข็งแรงกัน ใช่ไหม แล้วเราก็ไม่ห่วงด้วย ไอ้หนุ่มจะแลไม่แล ไอ้หนุ่มไม่แลก็ไม่เสียใจเลย ดีเสียอีก เพราะอยากขึ้นคานเพชร ใจจริงนะ คุณก็ไม่เห็นมีปัญหานี่ อาตมาอธิบายให้ฟังเข้าใจลึกๆ นะ เพราะฉะนั้น เราจะไม่ห่วงหาอาวรณ์ เราจะอยู่กับสาระ แน่นอน เราถูกแดด ถูกลม ถูกอะไร ผิวพรรณมันก็ต้องไม่สวย ไม่งาม ไม่ผ่อง เหมือนกับบุคคลที่เอาแต่ วันก็เสริมสวย วันก็อยู่แต่ในร่ม แหม แม่แตงร่มใบ อยู่ไปอย่างนี้ มันก็ขาว มันก็ผ่อง มันก็นวล ก็แน่ๆ แหละ คนอย่างนั้นนะ แล้วก็ไปหลงใหลได้ปลื้มว่าคนอย่างโน้นน่ะ มันมีสาระอะไร มันมี พลังงานอะไร มันมีคุณภาพอะไร เอาพวกนี้ไปก็เหมือนกับเอาเศษกากขยะ ที่บอบบาง อะไรไปก็ไม่รู้ นิดๆก็แอ๊ เดี๋ยวก็หน่อยแอ๊ โอ๊ย ทรมานตายของเปราะๆ บางๆ อย่างนั้นน่ะ ซึ่งคุณเข้าใจผิดหมด

แต่เอาเถิดเราไม่ได้พูดไปถึงขนาดนั้น เราเหนือกว่านั้นอีก ใครไม่ต้องมาตั้งเอาเราไปดอก เราจะเป็นตัวพลังงานที่จะผลิตเท่านั้น ไม่ต้อง ฉันไม่แต่งงาน ถ้าจะพูดอย่างนี้มาก เดี๋ยว เขาหมั่นไส้ ประเดี๋ยวเขาปล้ำเอา เอ้า มันแกล้งเอา คนเรามันแกล้งได้ใช่ไหม นั่นเขาโกรธ เขาโกรธ มันก็อะไรบ้าๆ บอๆ ซึ่งก็ชวยเป็นวิบากไม่ดี ก็เราไม่ต้องอย่างนั้น ก็อยู่ในใจเรา เราก็เป็นคนที่ไม่ต้องไปสร้างให้คนมาโกรธ มาเกลียด มาชัง มาอาฆาตอะไร นั้นแหละ

แต่เราก็คือตัวพลังงานที่สร้างสรร มันซ้อนกัน ถ้าพวกเรานี้เข้าใจ พวกเราก็เป็นคนอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ไอ้หนุ่มก็ไม่ต้องไปอะไรมาก สาวก็ไม่ต้องไปทำอะไรมาก คนแก่คนเฒ่า คนอะไร คนเด็กคนเล็กอะไรก็ทำ มีแต่พลังงานสร้างสรร สร้างสิ่งที่ดี ที่สะอาดที่บริสุทธิ์ ที่ไม่เป็นพิษ ให้มันมีคุณภาพ ธาตุอาหารดีๆ กินผลไม้ของอโศก ๑ ลูก เท่ากับกินผลไม้ของคนอื่น ร้อยลูก เพราะพิษไม่มี แล้วสาระที่แท้ได้เนื้อสารที่ดี โอ้ อย่างนี้แล้วละก็ ยิ่งขายถูกด้วย ไม่ต้องไปง้อดอกว่า โลกนี้เขาจะไม่เอาอะไรของเรา ไม่ต้องง้อจริงๆ น่ะ อาตมาไม่เห็นว่า มันจะยากอะไรเลย


ถอดโดย จอม ศรีสวัสดิ์
ตรวจทาน ๑ โดย สิกขมาตปราณี ปึงเจริญ ๒ ก.ค. ๓๗
พิมพิ์โดย ทองแก้ว ทองแก้ว ๕ ก.ค. ๓๗
ตรวจทาน ๒ โดย โครงงานถอดเท็ปฯ ๑๘ ก.ค. ๓๗
เข้าปก โดย สมณะพรหมจริโย เขียนปก โดย พุทธศิลป์

ADD8.TAP