ประโยชน์ของมนุษย์
โดย พระโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๙
ณ พุทธสถานสันติอโศก

เจริญธรรม ท่านผู้ยังไม่ตาย อยู่ทั้งหลาย

วันนี้อาตมาจะเทศน์ในเรื่อง ประโยชน์ของมนุษย์ เกิดมา คนเราต้องมีประโยชน์ นี่ก็คงจะรู้กัน โดยสามัญสำนึกธรรมดา ก็คงจะเข้าใจกันอยู่แล้ว ทีนี้ประโยชน์ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้ เราก็เคยเรียน เคยรู้กันมาว่า ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ มีสัมปรายิกัตถประโยชน์ มีปรมัตถประโยชน์ อะไรอย่างนี้ ก็ประโยชน์ต่างๆเหล่านี้แหละ จะขอนำมาย้ำยืนยัน มาขยายความ มาวิเคราะห์ วิจัยให้กันฟัง ให้เข้าใจซิว่า ทำไมเขาอธิบายกัน เขาก็เข้าใจอย่างนั้น อาตมาเอง อาตมาก็เข้าใจนะ แต่ว่าอาตมาไม่เข้าใจอย่างที่เขาเข้าใจทีเดียว อย่างนั้นทีเดียว อาตมาเห็นว่า มันเรื่องยิ่งใหญ่นะ ประโยชน์ของมนุษย์นี่ เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าเราเข้าใจไม่ถูก ว่าประโยชน์ของมนุษย์ มันมีเป้าหมาย ที่ชัด สาระที่ชัดอย่างไร ถ้าเขาไม่เข้าใจจริง เราก็กลายเป็นโลกียะ เราก็กลายเป็นเรื่องเอารัด เอาเปรียบ ใฝ่หาผลประโยชน์ แล้วก็เอาประโยชน์ นั่นแหละ เป็นเรื่องเห็นแก่ตัว เป็นเรื่องทำลายสังคม ทำลาย ตนเอง อย่างน้อยที่สุด ก็คงจะเคยได้ยินกันมาละนะ ว่าทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ ที่เขาว่าเป็น หัวใจเศรษฐี อุ อา กะ สะ เขาว่าอย่างนั้น ท่องเอาตัวหน้า ของบาลีนะ อุ อา กะ สะ

อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา อุ อา กะ สะ ว่าเป็นหัวใจเศรษฐี แล้วเขา ก็ตีความหมายกันว่า เศรษฐีคือความร่ำรวย มีมาก มีมาย มากกว่าผู้อื่น มีเงิน มีทองนั่นเอง พูดกันง่ายๆ มีเงิน มีทองมากมายกว่าผู้อื่น เพราะฉะนั้น พอเอาลักษณะที่อาตมาขยายความ มาให้ฟังนี้มาพูด พอพูดเท่านี้แหละ ทุกคนก็เข้าใจไปไกลแล้ว แน่นอน ถ้าผู้ใดที่มีประโยชน์ ก็คือผู้นั้นมีเงินมีทอง ร่ำรวยมากกว่าผู้อื่น เหนือชั้นกว่าผู้อื่นเป็นเป้า เป้าชัด เป้าเด่น เป้าหมายหลัก เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ ก็หาความเข้าใจอย่างนี้ก็หาทางเท่านั้นเองซิ หาทางที่จะให้มีผลตามที่เข้าใจอย่างนี้ ตามความหมาย อย่างนี้ ก็จะหาเงินหาทอง มาให้มีมากๆ มากกว่าเขานั่นแหละ คือผู้มีประโยชน์ ก็พังนะซิ ในธรรมะ ที่เป็น สาระสัจจะ พังเลย พอเข้าใจเท่านี้แหละก็พังเลย แล้วก็แถมว่า แหมนี่แหละ หัวใจเศรษฐี ทำอย่างนี้ ท่านบอกว่า ทำอย่างไรบ้าง

อุฏฐานสัมปทา คือขยัน อารักขสัมปทาคืออะไร สะสม สะสมเข้า กอบโกยเข้า สะสมกักตุนเข้า ก็มีความหมาย ไปอย่างนั้น มันฟังก็เข้าใจง่ายนะ ขยันเข้าก็ขยันที่จะหา หามาแล้วเป็นอย่างไร เป็นสะสมกักตุนเข้า กักตุนเข้า กัลยาณมิตตตา เป็นอย่างไร มิตรดีเป็นอย่างไร มิตรที่จะพาเรารวย พาเราได้มากๆนะซิ มันก็ต้องสอดคล้องกันไปอย่างนั้น สมชีวิตา การเลี้ยงชีพตามสมควร แลกด้วย เลี้ยงชีพด้วย มีชีวิตของเขา มีชีวิตที่ได้เลี้ยง โดยที่มีสิ่งที่เขาได้ร่ำ ได้รวยนั่นแหละ เป็นผลประโยชน์ ที่ร่ำที่รวย เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ผู้ใดที่ศึกษาธรรมะกับอาตมา มานี่จะเห็นชัดเจนเลยว่า มันทวนกระแส มันเป็นการรู้สึก ตรงกันข้ามกันเลย กับที่เรารู้สึกว่า เราพยายามจะมากล้าจน มาพยายามเสียสละ มาพยายามที่ ไม่กักตุน ไม่กอบโกย ไม่สะสม ถึงขั้นที่ว่าไม่สะสม มีหมุนเวียนกันเป็นหลักเศรษฐศาสตร์ ตามหลักแท้เลยนะ มีหมุนเวียน มีใช้จ่าย มีอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องกัก ต้องตุน ไม่ต้องกอบ ต้องโกย ไม่ต้องเอาเปรียบ เอารัด นี่เป็นลักษณะที่เป็นสัจจะที่ดี แต่เสร็จแล้ว ก็เข้าใจเพี้ยน พอเข้าใจเพี้ยน ก็เลยเถิดไป

นี่คือ อาตมาพยายามนำมายืนยันว่า เราเรียนธรรมของพระพุทธเจ้ามาเหมือนกัน ข้อความหลัก หรือว่าสูตรทฤษฎี เดียวกัน แต่เสร็จแล้ว ขยายความบ้าง อธิบายความบ้าง มีเป้าหมายอะไรต่างๆบ้าง มันก็เพี้ยนออกไป อย่างที่ค่อยๆกล่าวนี่ อาตมาเพิ่งเริ่มกล่าวนี่ ไปอย่างนี้ เมื่อไปอย่างนี้แล้ว สังคมก็ไป ไม่รอด ต่างคน ต่างแย่งชิง ต่างคนต่างที่จะต้อง คว้าเอา ตามเป้าหมายหลักที่เราเข้าใจว่า จะต้อง มีมากๆ มีประโยชน์ ก็คือเป็นผู้ที่มีอะไรได้มากๆ เป็นเครื่องพิสูจน์ ขยันก็ OK ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ขยันก็ขยันกันไป ขยันก็คือไม่หยุด ไม่หย่อน พยายามที่จะกอบก่อสร้างสรร ทีนี้แยะ คนที่มันรู้อยู่ว่า เอารัดเอาเปรียบเขานี่ มันก็ไม่อยากสร้างหรอก มันอยากฉวยโอกาส ถ้าเราไม่สร้างเลย เราก็ยังมีทาง ได้ประโยชน์ มีผลประโยชน์ โดยที่ไม่ต้องสร้าง ยืนยันอยู่เฉยๆเลย เดินไปเดินมาก็ได้ หายใจเข้า หายใจออก ก็มีผลประโยชน์ มีผลประโยชน์ โดยที่ไม่ต้องสร้าง ยืนยันอยู่เฉยๆเลย เดินไปเดินมาก็ได้ หายใจเข้าหายใจออกก็มีผลประโยชน์ จะมีการใดละ ที่จะให้มันได้อย่างนั้น เขาก็คิดกัน ที่มันได้ ผลประโยชน์ เป็นสิทธิเต็มที่ก็แล้วกัน เลี้ยงชีพชอบ หรือว่า สมชีวิตา มีเลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพ ตามสมควรอะไรนี่ ก็หมายใจว่า จะต้องมีบทบาท ที่มีกิจกรรมเป็นของตัว ที่สามารถ มีผลประโยชน์ มากๆ จะได้เป็นเศรษฐี

ที่จริงตั้งแต่คำว่าเศรษฐีนี่ ก็ขยายความ หรือตีความให้ความหมายกัน ผิดพลาดมาแล้ว คำว่าเศรษฐี แปลว่าผู้ประเสริฐ เสฏฐ เสฏโฐ นี่ แปลว่าผู้ประเสริฐ ไม่ได้แปลว่า ผู้ร่ำรวยนะ เศรษฐีนี่ นี่ก็เพี้ยนกันมา แต่ไหนๆ แล้วพูดที่ไหนก็ยาก ทุกวันนี้พูดที่ไหนบอกว่า เศรษฐี ไม่ได้แปลว่าผู้ร่ำรวย ผู้ร่ำรวยนั่นคือ กระฎุมพี ภาษาบาลีเขา กระฎุมพีแปลว่าผู้ร่ำรวย ก็คงจะเคย ได้ยินกันนะ เป็นผู้มั่งคั่ง กระฎุมพี แปลว่า ผู้มั่งคั่ง ผู้ร่ำรวย เศรษฐี ไม่ได้แปลว่าผู้มั่งคั่งร่ำรวยนะ เสฏฐ เสฏโฐ นี่แปลว่าผู้ประเสริฐ เป็นคนดีนะ เป็นคนประเสริฐ เพราะฉะนั้น คนดี ถ้าจะไปเอาเปรียบเขา นี่มันเป็นคนดีได้ไหม มันเป็นไม่ได้แล้ว ตั้งแต่ต้นทางแล้ว จะเป็นเศรษฐีได้ยังไง ไปเอาเปรียบเขา

คนประเสริฐ จะต้องเป็นคนเสียสละ เมื่อคนได้แต่เสีย แต่สละไปมากๆๆๆ นี่เสียสละมาก ยิ่งประเสริฐ มาก ใช่ไหม เสียมากยิ่งประเสริฐมาก สละมากย่อมประเสริฐมาก และผู้ที่เสียมาก สละมาก แล้วมัน จะไปรวยได้อย่างไงล่ะ ตามหลักความจริงน่ะมีมา นี่ทำขยันหมั่นเพียรได้มากๆ แต่เราก็ให้เขาไปมากๆ ตามหลักพระพุทธเจ้าสอน ว่ามักน้อย แล้วก็ใช้ให้พอ สันโดษนี่ให้มันพอ อาศัยปรับตน ปรับตัวของเรา เป็นคนเลี้ยงง่าย เป็นไม่ผลาญ ไม่พร่า เป็นคนไม่เปลือง เป็นคนที่ประหยัดมัธยัสถ์ เป็นคนที่รู้จักจับ รู้จักจ่าย ไม่สุรุ่ย สุร่ายฟุ่มเฟือย รู้จักแก่นสาร สาระ ไม่เสีย ไม่หาย เป็นคนที่ มักน้อย ใช้น้อย กินน้อย แต่ก็ไม่ได้ทรมานตน ไม่ได้ทำให้ตนเองนี่เสื่อมโทรม ไม่ทำให้ตนเองต้องขาด พอดี สันโดษนี่พอดี ไม่ขาดกำลังวังชาร่างกายอะไรก็พอดี ไม่ให้เกิน ระวังความเกินด้วยซ้ำ ทุกวันนี้นี่มันเกินกัน ขาดนะ มันรู้ง่าย แต่เกิน ไม่ค่อยรู้ เกินไม่ค่อยรู้ ทุกวันนี้ มันพังเพราะเกินอะไรๆก็เกินๆๆ โลภโมโทสัน เห็นแก่ได้ มักได้ มักมาก

พระพุทธเจ้าถึงมีหลักการสอนว่า ธรรมใดวินัยใด เป็นไปเพื่อความมักมาก ธรรมนั้นวินัยนั้น ไม่ใช่ของเรา ตถาคต ธรรมใดวินัยใด เป็นไปเพื่อความมักน้อย ธรรมนั้น วินัยนั้นเป็นของเราตถาคต หลักเกณฑ์ของท่านสอนมาพิจารณา อย่าไปมักมาก ต้องพยายามมักน้อย มักมากนั่นมันกิเลส ของคนธรรมดาๆ โลภโมโทสัน มันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว มันจะมีแนวโน้น มีทิศทางที่จะแนะนำ สั่งสอน ให้อบรม ให้ศึกษาพิจารณาไปในทิศทางที่มันจะพาไปสู่ความประเสริฐ ก็คือมักน้อย เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่ปฏิบัติตน ถูกทาง ถูกต้องจริงแล้ว เสียสละจริง มักน้อยจริง มันจะไปร่ำรวยมั่งคั่ง ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ตัวอย่างหรือผู้ประเสริฐ ผู้เป็นอริยะที่เราเห็นว่า เออ คนนี้เขาสันโดษนะ เขามักน้อยดีนะ มีคุณค่านะ ตั้งแต่เป็นพระ จนกระทั่งถึงฆราวาส โดยจริงๆสามัญสำนึก เราไปดูว่า เออ คนนี้นี่ เป็นคนที่มีคุณค่า มีคุณงาม ความดี ไม่ต้องร่ำ ไม่ต้องรวย ไม่ต้องไปสะสมกอบโกยกักตุน ให้แก่ตัวเอง ให้มีมากๆ หรูๆ หราๆ เหมือนอย่างกับ ค่านิยม อย่างโลกๆเขา ทำกันเอาไว้ อวดอ้างกัน เอาไว้ โฆษณาประชาสัมพันธ์กัน จนเข้าใจกัน เป็นค่านิยมของสังคมว่า คนที่ประสบผลสำเร็จ ก็คือคนที่จะต้องร่ำรวย มีบ้าน มีเรือน มีรถ มีรา มีข้าว มีของ มีอะไรต่ออะไร สมบัติพัสถาน มากมาย มันก็เข้าใจกัน ค่านิยมสามัญก็เป็นอย่างนั้น นอกจากจะมาตั้งหลัก ตั้งสติพยายาม ตั้งใจจริงๆ มีพิจารณา มันถูกต้องแล้วหรือ ที่เราจะเข้าใจคำความว่า ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์

ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ แปลว่า ประโยชน์ที่เห็นได้ในปัจจุบัน ถ้าผู้ใดขยัน ผู้ได้อารักขสัมปทานนี่ อาตมายังไม่ได้แปล รัก อารักขสัมปทา นะ คือ อาตมาไม่แปลกับเขาหรอก ว่าจะต้องสะสมกักตุน อาตมาไม่แปลอย่างนั้น อารักขสัมปทานี่ ถ้าเผื่อว่า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า จะต้องมีลักษณะ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา สมชีวิตา อาตมา แปลเป็นไทยว่า ขยัน สร้างสรร สร้างมิตร ชีวิตประเสริฐ อุฏฐานสัมปทา ขยัน อารักขสัมปทา สร้างสรร กัลยาณมิตตตา สร้างมิตร สมชีวิตา ชีวิตประเสริฐ นี่ ๔ คำ ขยัน สร้างสรร สร้างมิตร ชีวิตประเสริฐ ถ้าเผื่อว่าเรามีลักษณะ ๔ อย่างนี้จริง เราจะเป็นคนประเสริฐ หรือเป็นเศรษฐีได้จริงเหมือนกัน เศรษฐีไม่มีสตางค์นะ เศรษฐีไม่ร่ำ ไม่รวย เศรษฐีไม่มีอะไรไปอวด ไปโอ่เขาหรอก แต่เป็นผู้ประเสริฐจริง บอกแล้วว่าเศรษฐีนี่เป็นผู้ประเสริฐ เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นผู้ประเสริฐแท้ เมื่อทำได้อย่างนี้ เหมาะสมแล้ว จะเป็นผู้ที่มีชีวิต เลี้ยงชีพอยู่ ทรงชีพอยู่ ทรงชีวิตอยู่อย่างประเสริฐ สมชีวิตา

ถ้าเราเข้าใจความหมายของสิ่งเหล่านี้เพี้ยนไป ประโยชน์จริงๆ เพี้ยนไปนี่แหละ มันจะทำให้ คนเรา ปฏิบัติก็เพี้ยน ความพยายามก็เพี้ยน สติตั้งใจ ก็ตั้งใจเพี้ยน ผิดมรรคองค์ ๘ เพราะพยายามผิดเพี้ยน ตามทิฐิ มันเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะเป็นความเห็น ที่ไม่ถูกต้อง เป็นความเห็นที่ผิดเพี้ยน เป็นมิจฉาทิฐิไป ความพยายาม ความตั้งใจ ความมีสติ ที่จะ ดำรงความคิด-สังกัปปะ ดำรงการพูด-วาจา ดำรงการกระทำ-กัมมันตะ ดำรงชีวิต-อาชีวะ ก็ผิดเพี้ยนไปตามที่เรา มีความเห็นผิด มีความตั้งอก ตั้งใจ มีสติสัมปชัญญะ ประกอบกรรม ประกอบการงาน ประกอบความคิด การพูดอะไร ก็แล้วแต่ ก็ประกอบอยู่อย่างผิดๆ เพี้ยนๆ มีความพยายามเป็นแรงหนุน ความพยายามก็เป็นแรงหนุน ที่จะหนุนให้สร้าง ให้สรรค์ ให้อะไรไป กลายไปเป็นการสร้างสรรอย่างเป็นบาป สร้างสรร ทำประโยชน์ ที่เป็นประโยชน์ ที่เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นภัยต่อตน ต่อผู้อื่น เป็นโทษต่อตน ต่อผู้อื่นด้วย ในตัวเลยนะนี่

เรื่องนี้ อาตมาเคยเทศน์นะ ก็เคยพูด แต่ก็เอามาพูด ซ้ำซาก มาวิจัย วิจารณ์อะไรกันอีก ให้เห็นว่า คนเรานี่ ขยันไม่ต้องพูดกันอะไรมากมายนักก็ได้ เขาพูดเหมือนกันว่า ถ้าคนที่ยิ่งโง่ขยัน ขยันแต่โง่นี่ ก็ทำอะไรพังไปเหมือนกัน คำนี้เจ็บแสบนัก ขยันแต่โง่ เจ็บแสบนัก มันยิ่งบรรลัย ก็จริงๆ ทุกวันนี้นี่ คนที่ร่ำรวยมั่งคั่ง อยู่ทุกวันนี้นี่ เขาขยันนะ ร่ำรวยมั่งคั่งอยู่ทุกวันนี้ เขาขยัน อย่างน้อยก็ตรวจตรา ผลประโยชน์ ว่าอย่าไปพร่องนะ อย่าพร่อง อย่าลด อันนั้นอะไรมันผิดพลาดแล้ว ท่าทีมันจะรู้สึกว่า มันส่วนได้หรือส่วนที่เรา เรียกในภาษา โลกๆ เขาเรียกว่า กำไรนี่มันชักจะลดจะถอย อะไรนี่เขาหวือหวา เขาจะต้องจัดการประชุม จัดตรวจตรา จุดบกพร่อง จุดที่มันรั่ว มันซึม จุดนั่น จุดนี่เขาขยันนะ ขยัน รักษาผลประโยชน์อารักขะ รักขะแปลว่ารักษานั่นเอง อารักขสัมปทา ข้อที่ ๒ นี่ เขาก็แปลว่า รักษาผลประโยชน์

ที่จริงคำว่ารักษา ถึงขั้นรักษานี่ รักษานี่แปลว่าทำให้ดีขึ้น ดูแลรักษาทำให้ดีขึ้น ทีนี้คำว่าดีขึ้นนี่แหละ ต้องซ้อนให้ดีว่า ดีเพราะเอาเปรียบเขาได้อยู่เรื่อยๆ ไม่ลด ไม่หย่อน ดีเพราะตัวได้เปรียบ ไม่ใช่ดีเพราะ ตัวได้เสียสละ ถ้าดีขึ้น คือการเสียสละนี่ดี แต่ก่อนเรากล้าเสียสละ แค่ทำบุญ ทำทาน ให้แก่เขา แค่ร้อยหนึ่ง พันหนึ่งทำได้ แต่ถ้าได้มากกว่านั้น ยังไม่เก่ง ยังไม่ดีขึ้น ยังไม่สามารถที่จะเสียสละ มีใจเป็นบุญเป็นทานได้มากกว่านั้น แสดงว่าเราไม่ดีขึ้น แต่ถ้าเราได้เสียสละ ได้มากกว่านั้น ใจกล้า ใจบุญ เป็นทานสูงกว่านั้นขึ้น มีจาคะสัมปทา หรือว่ามีการเสียสละ ได้มากกว่านั้นขึ้นไปอีก สูงไปอีก เราดีขึ้นไหม เรารักษาให้ดี รักษานี่คือการกระทำให้ดูแล ดูแลตน เลี้ยงตนนี่ ให้เข้าถึงการรักษาที่ดี ให้รักษากุศล ให้ทำกุศลให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่ารักษาแต่ทรัพย์สินเงินทอง ไม่ใช่ธรรมะนะ รักษาทรัพย์สิน เงินทองนี่ แปลเป็นโลกีย์ แปลเป็นเลอะๆเทอะๆ สะสมเงินทองมากๆกักตุน

รักษาความดี รักษาคุณธรรม รักษาสิ่งที่ประเสริฐ โดยหลัก คือความประเสริฐ เศรษฐีนี่บอกแล้วเศรษฐ เศรษโฐนี่ โดยหลักก็คือ ความประเสริฐ เพราะฉะนั้น ความเสียสละ ของเรามีเท่านี้ เราจะต้องดูแล รักษาด้วย เลี้ยงดู อบรม ให้มันดีขึ้นไป ก็ให้มันเสียสละ ให้มากกว่าเก่าอีก นี่เรียกว่า อารักขสัมปทา ตรงกันข้ามกับสะสมเสียแล้ว ยิ่งเสียสละ ออกไปอีก แต่ก่อนนี้แหม เราได้มาร้อยหนึ่ง กล้าให้ จ่าย เป็นทานไปได้แค่สิบบาท สะสมไว้เก้าสิบ ต่อๆมาก็ยิ่งมีมากขึ้น ยิ่งเปอร์เซ็นต์ ตามอัตราที่มากนี้ พอมีร้อย เสียสละไปสิบ ถ้ามีพันเสียสละไปสิบไม่ได้ เสียสละไปร้อยก็ยังไม่ควร เพราะมีพันนี่ มันมีอัตราธรรมด้วยธรรมดา แต่อัตราที่เจริญ มันควรจะดี เราเองแต่ก่อนนี้มีเก้าสิบ ก็ยังอยู่ได้เก้าสิบ เราก็ยังชีวิตได้นะ ก็ตอนนี้ ถ้าเราไปได้พัน จะเสียสละในอัตราสิบเปอร์เซ็นต์ ก็จะจ่ายให้ร้อยหนึ่ง จะเอาไว้เก้าร้อย ควรเสียสละไปอีก แปดร้อยกว่า มันถึงจะเก่ง ก็เก้าสิบเคยอยู่ได้ ก็ทำไม เก้าสิบอย่างเก่า อยู่ไม่ได้ เสียสละไปอีกเลย เก้าร้อยสิบได้ไหม เห็นไหม ฟังดีๆนะวิธีการ วิธีการคิดนะ วิธีการของคนนะ คิดอย่างอริยะ หรือคิดอย่างเห็นแก่ตัว

ถ้าคิดอย่างเห็นแก่ตัว มันก็คิดง่ายๆ อาตมาก็ไม่สงสัย อาตมาก็มีความรู้ เรามีเราได้ร้อยหนึ่ง เราเสียสละ เอ๊! ตอนนี้เรามี ความสามารถมาก เจริญขึ้น ขยันขึ้นนะ มีสมรรถนะสูง ได้พัน ก็ไม่ว่า แล้วเราก็เสียสละอยู่ ๑๐% อย่างเก่า เอ้า เราก็เสียสละร้อย อาตมาก็เข้าใจ แบบนี้ มันไม่เจริญแท้หรอก เพราะฉะนั้น มันก็เท่าเก่านะ คุณก็เท่าเก่าน่ะ นอกจาก เท่าเก่าง่ายๆแล้ว มันไม่เท่าเก่าอย่างลึกซึ้งอีก อย่างที่ว่านี่ก็ทำไมคุณ แต่ก่อนนี้ใช้เก้าสิบ ใช้ได้เลี้ยงตัว เลี้ยงตน ยังสามารถที่จะพอเป็นไป พอมาได้ พันหนึ่ง คุณขยันมากขึ้นไม่ว่านะ คุณมีกัลยาณมิตตตา คุณมีมิตรดี ที่จะช่วยรังสรรค์กันอีก มีความเฉลียวฉลาด มีมุมเหลี่ยมที่จะสร้างสรรโน่น นี่ มีความรู้ ความสามารถ ผลิตดี พัฒนาอะไร ต่ออะไรเจริญได้ดี ได้ถูกร่อง ถูกช่องดีก็ไม่ว่า แต่ว่าอารักข ทำไมของคุณ ถึงได้เป็นอย่างนั้น มันไม่เจริญจริง เห็นมั้ย เพราะฉะนั้น จะเจริญจริงอารักข ตัวนี้นี่ มันจะต้องเป็นผู้ที่ดูแลรักษา เลี้ยงดูคน หรือปรับปรุงคน ไปสู่กุศลที่เจริญ รักษาความเจริญได้ดี อย่าไปเข้าใจว่าไปรักษา สิ่งที่อะไร ให้มันใหญ่ ไปในแง่ตื้นๆ หมากรุกชั้นเดียว ให้ใหญ่ ให้มากไปในเรื่องของวัตถุธรรม หรือเรื่องของ สิ่งที่ไม่งามไม่ควรเลย ถ้าเผื่อว่า เอาแต่ใหญ่ๆแล้ว รักษาอย่างนั้นไว้ ไม่ถูกต้อง

อาตมาเคยอธิบายว่า การรักษานี่ไม่ต้องหมายความว่า การสะสมให้มากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าบอกว่า การรักษา หรือว่าการรักษานี่ แปลความว่า ให้สะสมให้มากขึ้นแล้วละก็ รักข ภาษาบาลี ก็ตาม ภาษาไทยก็ตรงกัน ตกลงเรารักษาโรค รักษาแผล ก็บอกแล้วว่ารักษานี่ ทำให้โตขึ้นๆ ก็มากขึ้น ใช่มั้ย คุณก็ต้องรักษาแผลที่มันเล็กเท่านี้ ถ้ารักษาดี ก็ต้องรักษาให้แผลมันโตขึ้นๆใหญ่ขึ้นซิ เอามั้ยละ เอามั้ย รักษาแผลน่ะ รักษาให้มันโตขึ้น ใหญ่ขึ้นๆเอามั้ย ก็ไม่เอาอีกแหละ เห็นมั้ย ในความหมาย เห็นมั้ย เพราะฉะนั้น เราต้องมีความหมายชัดเจนว่า รักษาอะไร รักษาคุณความดี ไม่ใช่รักษาแต่ว่า จะต้องรักษาเงินทอง จะต้องให้ เงินทอง มีมากมีมายขึ้น เพราะฉะนั้น ในความหมายของคนที่เสียสละ บอกแล้วว่า ถ้าเสียสละแล้วมันดีกว่านะ ถ้ากอบโกย กักตุน มีมากมายๆ มันทำให้คนอื่นติดขัด เอาเงิน เอาทอง มากักตุนของๆตัว คนอื่นก็ได้น้อย ก็ไม่ได้แจกจ่าย เจือจานกัน

พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้หมดแล้ว ต้องเป็นคนเลี้ยงง่าย ต้องเป็นคนมักน้อย สันโดษ เป็นคนที่เสียสละ มัธยัสถ์ เป็นคนที่ ไม่กักตุนอะไรด้วยซ้ำ เป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นคนประเสริฐ นี้เป็นหลักการ ละเอียดๆ ซ้อนๆลงไป เราต้องศึกษาลึกซึ้งอย่างนี้นะ เรียนกันตื้นๆ เขินๆ ก็ยิ่งเพี้ยน เอากิเลสมาประสมประสาน เอากิเลสมาอธิบาย มาขยายความ มันจึงพังไปหมด ธรรมะพระพุทธเจ้าจึงไม่วิเศษเลย แล้วก็ไม่ได้ ช่วยสังคมอะไรได้ มีแต่การแก่งแย่ง ชิงดี ชิงเด่น แล้วมีค่านิยมโลกีย์ธรรมดา ปัญญาตื้นๆอย่างนั้นนะ ไม่ต้องเอาพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้หรอก

ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้นี่ เพราะว่าท่านมีปัญญาธิคุณเลิศยอด ละเอียด คัมภีรภาพ สุขุม ประณีต สูงส่ง ฟังดีๆ อาตมากำลังอธิบาย ในแนวนัยๆ นัยที่มันลึกซึ้งอยู่ อาตมาว่าอาตมาอธิบาย นัยลึกซึ้ง อยู่นะ แม้แต่แค่อาตมาอธิบายนี่ มันขัดแย้งไหม มันดูโมเมมั้ย ที่อธิบายขยายความนี่ ดูโมเมมั้ย มันไม่โมเมนะ มันลึกซึ้งอยู่นะ แต่อธิบายอย่างเขา อธิบายกันนั่นนะ อาตมาก็อธิบายเป็น เข้าใจได้ อย่างนั้นนะมันตื้นๆ อาตมาว่านั่นแหละไม่ลึกซึ้ง และไม่ถูกธรรมพระพุทธเจ้า อย่างที่อธิบายกันนะ ต้องมาสะสมกักตุน ทีนี้ไหนๆๆๆ ตำรง ตำรา เขาก็เขียนไว้ อารักขสัมปทา ต้องรู้จักสะสม เก็บหอม รอมริบโน่นน่ะ ริบเขาหมดนั่นแหละ มีเท่าไรก็ริบเอาไว้หมดเลย แบบนี้ก็พัง ก็ต่างคนก็ต่างแย่ง เมื่อมีความคิดอ่านอย่างนี้ มีความเข้าใจต่อเป้าหมายอย่างนี้ใช่ไหม ก็เลยเละเทะเลยนี่แหละ เขาอธิบายกันมานานแล้ว อย่างนั้น อาตมาก็เข้าใจ ลักษณะง่ายๆ ตื้นๆ ว่ารู้จักขยันหมั่นเพียร เก็บหอมรอมริบไว้ ก็จะร่ำรวยเป็นเศรษฐี ต้องอธิบายเศรษฐีไปเลยว่า ร่ำรวย มีเงินทองมาก หามิตรดี มิตรดีก็จะพาร่ำ พารวย พาได้เปรียบเขา คบคนฉลาด จะได้เปรียบ จะเป็นโจรบัณฑิต จะเป็นอะไร ก็แล้วแต่เถอะ คบคนอย่างนั้นๆ ก็คบกันไปซุกซ่อนกันไป แฝงซ้อนกันไป เสร็จแล้วก็ดำเนินชีวิต มันไม่เป็นสมชีวิตา ไม่เป็นชีวิตประเสริฐ มันไม่ได้เลี้ยงตนด้วยคุณอันสมควร มันเลี้ยงตนด้วยบาป อันไม่สมควร กลายเป็นเลี้ยงตนด้วยบาปอันไม่สมควร ไปเลย นี่แบบนี้ มันผิดพลาดนะ

อาตมากำลังค่อยๆ ขยายความให้ฟังแต่ละคำ แต่ละข้ออยู่แล้วนี่ว่า ความจริง คำว่าคนมีประโยชน์นั้น เป็นคนอย่างไร คนมีประโยชน์ คือคนขยัน นั่นแน่ละ ขยันและก็มีปัญญา อย่าขยันแต่โง่อย่างที่ว่า ขยันแล้วมีปัญญารู้ว่าอารักข นี่คืออย่างไร อารักขก็รักษาคุณค่า รักษาความดี เข้าถึงการรู้จักที่จริงนะ ถ้าจะขยายความแล้ว อารักขสัมปทา นี่ควรจะเป็นลักษณะที่พิสูจน์ได้ว่า สัมมัปปธาน ๔ มีสังวรปธาน ปหานปธาน ภาวนาปธาน อนุรักขนาปธาน

สังวรคือเรามาเรียนรู้ว่า เราจะควรสังวรตนอย่างไร มีศีล มีธรรม มีภาคปฏิบัติของตนเพื่อลดละกิเลส เสร็จแล้วก็ประหารกิเลส ปหานปธาน ประหารกิเลส ละลด ความมีโลภ โกรธอะไรมากๆนี่ โลภ โกรธ หลงอะไรต่างๆ จนได้ผล เรียกว่า ภาวนาปธาน เกิดผลภาวนา ภาวนาแปลว่าการเกิดผล เมื่อมันเกิดผล แล้วก็ได้ผล แล้วก็ให้อนุรักขนาปธาน หรือจะอารักขสัมปทา ก็มีความหมายนัยเดียวกัน เป็นคำ เหมือนกัน คำคล้ายกัน อนุรักขนาปธาน นี่ตามรักษา อนุรักก็เป็นตามรักษา อารักขะก็คือตามรักษา สิ่งนั้นนั่นแหละ ที่จริงให้อาตมาขยายความแล้ว คำว่า"อา"นี่ เป็นคำนำหน้า ท่านเรียกว่าทำอุปสรรค นำหน้าอารักขะนี่ คำ prefix คำนำหน้ารักขะนี่ "อา" คำนี้นี่ อาตมาเคย ขยายความว่า มันมีความ กลับกันนะ อาบัติ อาอะไรก็แล้วแต่ อาหาร อาบัติ อาอะไรต่างๆนานานี่ อารักขะนี่ก็เหมือนกัน มันมีความกลับกัน โลกียะกับโลกุตระนี่ มันมีความกลับกัน โลกุตระนะเห็นคำอย่างหนึ่งนะ ส่วนทาง โลกียะเห็นอย่างหนึ่ง เพราะรักษาอย่างโลกียะ รักษาอย่างหนึ่ง ที่เขาพูดกันง่ายๆตื้นๆ นั่นแหละ แบบมีเป็นไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วย ความเห็นแก่ตัว เต็มไปด้วยความเอาเปรียบเอารัดนะ แต่ทางธรรมะโลกุตระแล้วนี่ มันกลับกัน เพราะฉะนั้น อารักขะ รักษา หรือเลี้ยงดู อนุรักขะก็ไม่เป็นไร อนุรักขนาก็ไม่มีปัญหาอะไร รักขนาหรือรักขะ ก็นั่นแหละ รักษานั่นแหละ ทีนี้ อนุ ก็ตามเท่านั้นเอง "อา"นี่ก็อย่างที่กำลังอธิบายอยู่นี่ เพราะฉะนั้น อารักขสัมปทา หรือ อนุรักขนาปธาน ก็รักษาสิ่งที่ดี เป็นภาวนาปธานอะไรล่ะ ได้ผลอะไร ได้ผลตั้งแต่สังวปธาน ปหานปธาน ตั้งแต่ละกิเลสได้ ก็พยายามรักษา สิ่งที่มันเป็นคุณค่า เป็นความประเสริฐเป็นความดีของมนุษย์ ประโยชน์ของคนนี้คือ ประโยชน์ตนนั้น เป็นประโยชน์ ที่ละกิเลส เป็นประโยชน์ที่จะเข้าสู่โลกใหม่ ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา

พระพุทธเจ้าค้นพบโลกใหม่ นี่เราเรียกว่าปะระ หรือเข้ามาเป็นคำก็ ปรายะ ปรายๆ นะเราเคยเรียกว่า สัมปรา เอาคำสัม นี่ก็เป็นคำนำ คำ prefix เป็นคำอุปสรรค มาสนธิกับคำว่า ปรา ปรายิกะ ปรายะ ปรายะก็ประนั่นแหละบวกอายะ อายะแปลว่าประโยชน์ ประนี่แปลว่า ประโยชน์อื่น ประโยชน์ที่คน โลกๆ เข้าใจกันก็คือ ประโยชน์ที่จะได้สมโลก จะได้ลาภ ได้ยศสรรเสริญโลกีย์ๆ ได้ลาภมา ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้โลกียสุข จะสุขเพราะว่าจะเป็นอบายมุข จะสุขเพราะมันเสพกาม รูปรสกลิ่นเสียง สัมผัส จะสุข เพราะว่ามันได้อะไร มาเสพสมใจ ก็ตามใจเถอะ นั่นเป็นโลกธรรมดาๆ โลกอย่างนี้เป็น โลกียะ หรือโลกปุถุชน โลกธรรมดา โลกอย่างนี้นะ มันธรรมดาของมนุษย์ เกิดมามาอยู่ในโลก อย่างนี้แหละ เราเรียกว่า โลกปุถุชน เป็นโลกธรรมดา อ่านว่าธรรมดา

แต่โลกที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบ เป็นโลกอื่น โลกใหม่ โลกหน้า ที่คนยังไม่เคยเข้าไปสู่โลกนั้น คุณจะต้องเดินถูกทาง เป็นอริยมรรค จึงจะเข้าสู่โลกนี้ได้ จึงเรียกว่า ปรโลก ปรนี่อื่น "ปะระ"ที่ว่า หน้าอื่นๆ หรือมันต่างกันไปนี่ "ปะระ"นี่แปลว่า ต่างจากอีกอันหนึ่ง เพราะฉะนั้น ปรายะหรือปรายิก สัมปรายิกัตถประโยชน์ สัมปรายิก+ อัตถ = สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ที่เป็น เนื้อหาแก่นสาร ที่ต่างจากโลก มนุษย์ธรรมดาที่เป็นโลกธรรม ธรรมดา ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข เสพกามเสพอะไร ที่สมใจอยู่อย่างนี้นะ นี่มันเก่านานแล้ว เป็นโลกธรรมดาๆ มนุษย์ทุกผู้เป็นอารมณ์อย่างนั้น เป็นความรู้สึก อย่างนั้น ความเข้าใจอย่างนั้น ในแวดวงของความรู้สึกของจิตวิญญาณ ที่รับรู้และ นึกคิด ทีนี้เรามาเรียนรู้ สัมมาทิฐิ เราเรียนรู้ ทางใหม่ ของโลกใหม่ ที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบ เป็นโลกอีกอันหนึ่ง โลกอื่น โลกหน้า ประโยชน์ที่ จะได้นั้น เป็นประโยชน์ สัมปรายิกัตถประโยชน์ ที่มันมีศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคสัมปทา ปัญญาสัมปทา มีสี่ประโยชน์

ศรัทธาก็ต้องมาศรัทธาถูกทางด้วยว่า พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ คุณจะศรัทธามั้ย อย่างอาตมา กำลังบรรยาย ให้คุณฟังนี่ อาตมาขอยืนยันว่า คำอธิบายของอาตมานี้ เป็นสัมมาทิฐิ ถูกต้องตาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอน อาจารย์ไหนๆ เขาก็ว่า เขาถูกทั้งนั้น แต่คุณเอาไปเทียบกัน เอาอาตมา อธิบายไปเทียบกับของอาจารย์ รูปนั้น รูปนี้ องค์นั้นองค์นี้ ผู้นั้น ผู้นี้ อาจารย์ผู้ไหนเก่ง ก็เอาอธิบาย เทียบกัน อาตมาก็ยืนยันว่า อาตมามีสัมมาทิฐิ อธิบายอย่างนี้ ถูกต้องของพระพุทธเจ้า อย่างที่ได้ กำลังอธิบายนี่ ศรัทธามั้ยละ คุณศรัทธาคำอธิบายนี้มั้ย เชื่อถือมั้ย ถ้าคุณเชื่อถือ คุณก็เห็นด้วยให้ได้ เห็นตาม ให้ได้ เข้าใจให้ได้อย่างนี้ เข้าใจถูกต้อง และเป็นสัมมาทิฐิอย่างนี้ คุณเชื่ออันนี้เป็น ศรัทธาสัมปทา เข้าถึงความศรัทธา ในความหมาย ในความเห็น ในความเข้าใจว่าอ้อ มันเป็นอย่างนี้ หรอกเหรอ เอาเปรียบเอารัดเขามาได้มากๆ เป็นความดี แต่มาฟังอาตมาพูดแล้ว ไม่ใช่ความดี เป็นความเลวนะ ไม่ใช่ความดี ไม่ใช่ความเก่งหรอก คนเก่งจริงๆน่ะกลัวเสียสละ กล้าเอาเปรียบเอารัด เขาไม่เก่งหรอก แต่คนที่เอาเปรียบ เอารัดเขาได้ โลกเขาก็ส่งเสริมกัน เขาก็นิยมเหมือนกัน คนที่เอาเปรียบ เอารัดคนอื่นได้นี่ เขาว่าเก่งนะ เขาก็อธิบายคร่าวๆเหมือนกันนะ จับให้ชัดๆ เอาเปรียบ เอารัดเขาได้เก่งนี่ มันเก่งจริงเหรอ แต่ดูกลายๆมันเก่ง มันเอาเปรียบเขาได้ มันเก่งเหมือนกันนะ ฟังกลายๆมันดูเก่ง แต่จริงๆ เจาะลึกเข้าไป อีกทีหนึ่ง มันเก่งจริงๆหรือด้วยความประเสริฐ ด้วยคุณค่า ของมนุษย์แท้ มันเก่งจริงๆ ก็ย้ำเข้าไปอีกทีหนึ่ง มันไม่เก่งจริงหรอก คนเอาเปรียบ เอารัดเขาได้

คนเสียสละได้เก่งกว่า สละให้ เสียให้ ทั้งที่เรารู้ ไม่ใช่เราเสียรู้ เอาไปเลย แกจะโกงก็ให้แกโกงไปเลย เราไม่เก่งเท่า เพราะโกงสู้มันไม่ได้ช่างมันเถอะ ก็มันโกงเก่งเหลือเกิน นี่ไม่แข่ง โกงเก่งเราไม่แข่งมันนะ เราจะฉลาด ไม่ให้มันโกงให้ได้ เท่านั้นนะ แต่จะไปโกงใครเขามาเก่งไม่เอา หรือใครว่าเก่ง เชิญเถอะ ไปเก่งอย่างนั้นนะ อาตมาไม่เอานะ โกงเก่งน่ะ หลอกลวงเขาเก่งไม่เอา มันเก่งจริงเหมือนกันนะ มันหลอกลวงเขาได้ เขาไม่รู้เท่าทันนี่ มันเก่งเหมือนกันนะ แต่เก่งแบบนั้นนะไม่เอา เราไม่เอา เราไม่เอา เก่งโกง เก่งหลอกลวงเขาได้ เอาเปรียบ เอารัดเขาได้ไม่เอา จริงเขาจะเรียกโดยภาษาโลกว่ามันเก่ง มันก็เก่ง แหม คนนี้ มันมี วิชาการ ที่ตีหัวคนเก่ง หลบไม่ทันเลย เออ เอ็งไปหัดเถอะ อาตมาไม่หัดหรอก แหม มีเหลี่ยมมุม มีวิธีการ ตีหัวคนเก่ง โดยหลบไม่ทันเลย เก่ง เอ็งเก่ง เอ็งเป็นนักมวยชกเขานี่ โอ้โฮ! เขาหลบไม่ได้เลย ชกไปทีน็อคคาเวทีเลย เออ!เอ็งเก่ง ไม่เอาละ ใครบอกว่าไอ้นี่ไม่เก่ง ชกมวยไม่เป็น ตกลง ไม่เก่งจริงๆ นั่นแหละ ไม่เอา แต่เราจะเก่งสร้างสรร จะแก่นสาร สาระที่มนุษย์จำเป็น มนุษย์ต้องการ คุณค่าประโยชน์ที่แท้จริง

ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ยังอันนี้ให้ถึงกุศลอันนี้ ยังให้ถึงพร้อมกุศลอย่างนี้แหละเก่ง ถ้าอย่างนี้ชื่อว่า อกุศล อย่างนี้ อย่าไปให้ถึงพร้อม อย่าไปเก่งเลย เราก็จะไม่เอา จะไม่เก่งอย่างนั้น อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้อาตมาก็หยิบมาอธิบายสู่คุณฟัง คุณฟังแล้วคุณศรัทธามั้ยละ เกิดศรัทธาสัมปทาแค่ไหน เข้าถึงความศรัทธาเชื่อถือ ถ้าคุณศรัทธาสูงกว่านั้น ก็เชื่อฟัง โอ้! อย่างนี้ต้องเอามาปฏิบัติตาม เอาอย่างตามเรียนรู้ อบรมตน ฝึกตน ในภาษาไทยเรานี่ฟังได้ เชื่อถือก็ขนาดหนึ่ง เชื่อฟังนี่ลงมือ ปฏิบัติตามแล้ว พอปฏิบัติตามเห็นผลเลยแล้วเราก็ได้ซับผล ได้รับรสของผลอย่างนี้ ผลธรรมอย่างนี้ มีคุณธรรมอย่างนี้ ผลธรรมอย่างนี้ ดีมั้ย ดีคุณก็ใช้ปัญญาตัดสินของคุณเองอีก ถ้าคุณเห็นว่าดี คุณก็บอกว่าโอ้โฮ! ดี มันดีอย่างนั้น อย่างนี้ คุณก็เชื่อมันในดีอันนี้เองอีก เป็นศรัทธาสัมปทาที่ลึกซึ้งขึ้น เป็นชั้น เป็นตอน ที่อาตมากำลังอธิบาย ทีนี้เราเอง เราจะมาปฏิบัติอย่างนี้ เราก็ต้องมีศีลปฏิบัติ ละลดกิเลสไปอื่นๆจริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรหรอก ก็มาตรวจตัวเอง ตัวเองมันมีอะไรเป็นขี้กะโล้โท้ มันไปได้ยึดถือ มันก็ไม่เจริญ จิตก็ไม่แข็งแรง ก็ต้องเอาศีลนี้แหละมาปฏิบัติ อธิบายกันไป เป็นกรรมฐาน เป็นศีล เป็นหลักถือปฏิบัติให้เว้นขาด เลิกละ สิ่งที่มันไม่ดี ไม่งามก่อน

พอคุณมาเลิกละ สิ่งไม่ดีไม่งาม ตามหลักศีล นี่ก็คือตัวหลักปฏิบัติ ประพฤติ จน มันละลด กิเลสได้จริง จนกลายเป็นคน ที่ไม่เห็นแก่ตัว เป็นคนที่มี จาคะสัมปทา เป็นคนเสียสละได้จริง ตั้งแต่เสียสละ ที่มันเห็นแก่ตัว ตั้งแต่วัตถุโลก ไปจนถึงกระทั่ง เห็นแก่ตัวจะกอบโกย เอาตั้งแต่ ความสุข เป็นโลกียสุข แบบกาม ตั้งแต่อบายมุข อย่าว่าแต่กามเลย ตั้งแต่ไปเสพสม อบายมุข เห็นเป็นโลกียสุข เสพกาม เห็นเป็นโลกียสุข ได้โลกธรรม ได้ลาภ ได้ยศอะไรมามากๆ ได้สรรเสริญ เยินยอมา อู๊! เป็นสุขอะไร ก็แล้วแต่ เป็นขั้นเป็นตอนไป ได้มาก ได้มายอะไร เป็นสุข คุณก็ลดลงมาได้ จาคะ เสียสละ สิ่งเหล่านี้ ไปได้วัตถุ เราก็ไม่โลภมาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เราก็ไม่โลภมาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เราก็ไม่โลภมาก อะไรที่มันหยาบ มันต่ำ อะไรก็เรียนออกไป เป็นขั้น เป็นตอน ตามอินทรีย์พละ ของเรา จะทำได้ มีจาคะสัมปทา ที่จริงเลย แล้วก็มีปัญญา เห็นความจริง ตามความเป็นจริง เป็นปัญญาสัมปทา บอกแล้วว่าปัญญานี่มันไม่ใช่เฉโก ไม่ใช่ความคิดอ่าน ไม่ใช่ตัวเฉลียว ฉลาด ประเภทที่จะได้เปรียบ จะเอารัดเอาเปรียบเขา จะได้เป็นโลกโลกีย์ไปทั้งหมด

ปัญญานี่มันเห็นของจริง ความจริง ตามที่อธิบายนี่ มันลึกซึ้งซ้อนๆกันอยู่ เห็นความจริงว่า โอ้! ทิศทาง ของคนประเสริฐ เป็นอย่างนี้ การปฏิบัติ ศีล ปฏิบัติธรรม จนละลดกิเลส ออกไป เป็นจาคสัมปทา หรือเข้าถึงทานมัยเป็นอย่างนี้นะ เป็นคนที่เสียสละ เป็นคนที่ให้ได้ เป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัวได้ แม้แต่ปลดปล่อยกิเลสออก สละกิเลสออก จาคะให้ทานกิเลส แต่ไม่ต้องไปให้แล้ว ไปให้คนอื่น กิเลสเราก็เลยไปโยนให้คนอื่น ไม่ต้องให้คนอื่นหรอก กิเลสเราก็เอาออกจากตัวไป สละออกไปได้ ฆ่า หรือปหานปธาน ได้ฆ่า ได้ประหารกิเลสออกไปได้จริง แล้วคุณก็รู้ด้วยปัญญา ปัญญาตัวรู้นี่มันรู้จริงนะ ตรงๆ ถูกๆนะ เราละกิเลส กิเลสมันตาย กิเลสมันหยุดไปนี่คือประโยชน์ของมนุษย์ ที่เป็นประโยชน์ สำคัญ ถ้าพิสูจน์ว่า คุณเข้าสู่โลกใหม่ สัมปรายิกภูมิ เป็นภูมิของโลกใหม่ โลกหน้า ที่คุณยังไม่เข้า มาก่อนหรอก ที่คำว่าหน้า นี่หมายความว่า คุณจะต้องมาเข้า มาเดินทาง เข้าไปสู่โลกใหม่ให้ได้ อย่าเพิ่งมีคำว่าหน้า ตายไปแล้วไปอยู่ ตาย น่ะ กิเลสตาย กิเลสตาย แล้วคุณก็ได้เข้าสู่ โลกใหม่เดี๋ยวนี้ พิสูจน์เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น คำว่าโลกหน้านี่ ก็อธิบายต่างกัน โลกหน้าของคนอื่น ก็อธิบายต่อเมื่อ ร่างกายนี้ตายแล้ว ถึงค่อยไปสู่โลกหน้า

แต่ของพระพุทธเจ้าท่านสอน หรืออาตมาว่า ท่านสอนอย่างอาตมาพูดนี่แหละ อาตมาเอาตามอย่าง ท่านนะ ไม่ใช่ท่าน เอาตามอย่างอาตมา อาตมาเอาตามอย่างพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า โลกหน้าก็คือ การเข้าสู่ภูมิธรรม ศรัทธาสัมปทา จาคสัมปทา ปัญญาสัมปทา ตั้งแต่มีร่างกายนี้อย่าพึ่งให้มันตาย มันตายแล้วมันพูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จะเอามาพิสูจน์ตรงไหนว่า สู่โลกหน้าได้หรือยัง โลกหน้า หรือ โลกใหม่ โลกอื่นที่ต่างจากโลกแห่งโลกียะธรรมดานี่ พิสูจน์กันเดี๋ยวนี้ มีศรัทธาในธรรมะที่ท่านสอน พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้ดีแล้ว เป็นสวากขาตธรรม เอามาทำความเข้าใจ จนศรัทธา เชื่อถือ แล้วเอาไปปฏิบัติตามพิสูจน์จนได้ผลดี จนเห็นผล เห็นคุณค่าน่าประทับใจ ซาบซึ้งและก็พอใจ ยินดี ที่จะยืนหยัด ยืนยันต่อผลที่ได้นี้ แล้วคุณก็เชื่อมั่นในสิ่งที่มีศีล นั่นแหละ เป็นเครื่องขัดเกลา ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักปฏิบัติ ขัดเกลาจนกระทั่งถึงจิต กิเลสหลุดร่อนออกไปจริงๆ จาคะออกไป จนกระทั่ง มันปลดปล่อย ไม่หวงไม่แหน ไม่มีอะไรสะสมกอบโกย เป็นของตัวของตนได้ยิ่งขึ้น เรียกว่า จาคสัมปทา

อาตมาบอกตรงๆว่า พวกเรามาเรียนกับอาตมา มาศึกษากับอาตมานี่ อาตมาว่า อาตมาสอน โลกุตรธรรม ของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ สอนแต่โลกุตรธรรม พวกคุณนี่จะมาหมดเนื้อ หมดตัว หมดอะไรต่ออะไรลงไปๆๆนะ น่าเสียวนะ ฟังแล้วน่าเสียวสยองนะ คุณจะเอาไหม โลกที่ อาตมาว่า พระพุทธเจ้าพาเป็นนี่ เป็นโลกที่พาให้เป็นคนที่จะต้องลด ต้องละ ต้องปลด ต้องปล่อย ต้องสละออก มันก็ตรงกันข้ามกับคำร่ำรวย มันจะไม่ร่ำ ไม่รวยนะ มากล้าจนนะ แต่ก็อยู่ได้ในสังคม ที่มันเดือด มันร้อนนี่ เรากลับไม่เดือดร้อน มีเงินน้อยลงๆๆๆๆ จนไม่มีเงิน อยู่ได้นี่อย่างนี้แหละ แต่ก็อยู่ได้ อย่างสบาย ยิ่งมั่นใจๆ อยู่ได้ กับสังคมที่มีพรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้า หรือธรรมวินัยนี้ เรามีมิตรดี สหายดี สิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ เป็นทั้งสิ้นของศาสนานี้ หรือธรรมวินัยนี้นี่ เรามีมิตรที่มีศีล พระพุทธเจ้ามีสัมมาทิฐิ ตามธรรมะของพระพุทธเจ้า ได้ปฏิบัติตามหลักของ พระพุทธเจ้า และก็เป็นกัลยาณมิตตตา เป็นกัลยาณมิตรกันจริงๆ กัลยาณมิตตตา กัลยาณมิตโต กัลยาณสหาโย กัลยาณสัมปวังโก จริงๆ อย่างนี้อยู่ได้ไหม ประโยชน์ทันตาเห็น ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ เรามีมิตร กัลยาณมิตโต เพราะเรามีอารักขสัมปทาที่ถูกต้อง อุอา อา ตัวอาสัมปทาที่ถูกต้อง

ทีนี้จะขยันก็ขยันในความเห็นที่ถูกต้องว่า กรรมอย่างนี้ควรทำ การกระทำ การงาน ความคิด ความอ่าน นี้ถูกต้อง เราก็ทำอย่างถูกต้อง มาเป็นสมชีวิตา กัลยาณมิตตตา มีมิตร มีมวลที่ถูกต้อง เป็นพงษ์ เป็นเผ่าเดียวกัน มีความเห็น เดียวกัน เป็นลัทธิเดียวกัน ด้วยศาสนาเดียวกัน มีความเห็นตรงกัน ไม่แตก ไม่แย้ง เป็นอย่างนี้นี่ พิสูจน์ได้ไหม พิสูจน์ได้ เป็นทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของเรา ทุกวันนี้นี่ เราเป็นเศรษฐีจริงๆ แล้วมันซ้อน

จนกระทั่งทุกวันนี้ ใครว่าอโศกกระจอกงอกง่อย ข้างนอกเขาว่าอโศกนี่รวยนะ อย่าว่ารวยธรรมดาเลย เขาหาว่าอโศก ได้รับทุนหนุนหลังนะ ข้างนอกเขาเข้าใจอย่างนั้นใช่มั้ย ใครเคยได้ยินมาบ้าง ยกมือซิ ใครเคยได้ยินว่า อโศกนี่ ได้รับทุน หนุนหลัง มีทุนหนุนหลัง เห็นมั้ยเล่า เขาเข้าใจตัวถูกมั้ยเล่า เขาว่าเราร่ำรวยนะ นั่นล่ะเขามองเผินๆ เขาจะไม่เชื่อต่อบทบาท หรือพฤติกรรมของอโศก ที่มีผลกระทบต่อสังคม อโศกนี่มีบทบาท มีพฤติกรรม มีกิจกรรม มีผลกระทบต่อสังคม เขาไม่รู้ดี เขาไม่รู้ลึกซึ้งนะ แต่เขาก็รู้สึกได้ ตรงกันเหมือนกันว่า เรานี่เป็นพวกไม่ใช่กระจอกงอกง่อยหรอก ร่ำรวยนะ ร่ำรวย

เออนี่อาตมา พูดถึงตรงนี้ คิดได้ ถึงมูลนิธิเด็ก ที่เขาขอบริจาคเงินไปทำสารคดี เรื่องชีวประวัติ และก็ผลงาน ของท่านพุทธทาส อาตมาไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ แหม! หลายวันแล้ว ไปถึงไหนแล้วก็ไม่รู้นี่ ได้เงิน ได้ทองกี่ตังค์ละ แล้วได้จัดการ ส่งไปให้ท่านหรือยัง บอกจะทำให้เสร็จในเดือนพฤศจิกา นี่วันที่ ๒๙ แล้ว พรุ่งนี้ก็วันสิ้นเดือนแล้ว ก็ไม่เป็นไร ยังส่งตามไปได้อีกเงินน่ะ ส่งตามไปได้เพราะว่ายังไง ยังไงมันก็ค้างหนี้เขาได้ งานเสร็จ ไปใช้เครดิตมาก่อน ก็เอาเงินนี่ ตามไปให้ อาตมาพูดไปแล้ว นี่ใคร เป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้ดูแล ผู้จัดการช่วยเหลือเฟือฟายอะไร ช่วยให้ข่าวอาตมาบ้าง มันได้มาก ได้น้อยแค่ไหน อาตมาได้ข่าวคราวว่า ได้สองพัน สามพันแค่นั้นเอง ทำไมมันน้อยนักเล่า อโศกนี่ มันรวยนะ ทำไมแสดงความจนนักล่ะ ได้แค่สองพัน สามพัน คราวก่อนโน้นนะ ท่านบอกบุญมาบอกว่า จะสร้างเครื่องมือวีดีโอ ที่สวนโมกข์ เราก็บอกกล่าวกันไป ยังได้ไปให้หมื่นกว่าเลย คุณจำได้ไหม หมื่นกว่า ยังได้หมื่นกว่า คราวนี้มันน่า รวยกว่าเก่า หน็อยได้ไปสองพันกว่า ว้า!เสียท่าอโศกหมด มันน่าสนับสนุนอยู่นะ ท่านจะทำบอกแล้วว่า คนอย่าง ท่านพุทธทาส ก็น่าจะทำประวัติสารคดีอะไร ที่ท่านมีผลงาน มีกิจกรรมอะไรไว้ ไว้ศึกษาอย่างนี้ น่าศึกษา สนับสนุน ทางวีดีโอไว้ เพื่อที่จะได้มา ศึกษา มาเอาแบบเอาอย่าง หลายๆอย่างที่ดีงาม ชั่วชีวิตของท่าน ก็พยายามทำสิ่งเหล่านี้มาดีนะ แล้วคนอย่างนี้ไม่ศึกษา ไม่ทำสิ่งเหล่านี้เอาไว้ ไม่สนับสนุนเอาไว้ แล้วไปสนับสนุนอะไรกันล่ะ สนับสนุนชีวิต ไอคาโปนเหรอ สนับสนุน สร้างชีวิตเสือใบเหรอ หรือว่าประวัติ ชีวิตอะไร ไม่เข้าท่า อะไรทำไมล่ะนะ อาตมาถึงตรงนี้นึกขึ้นได้นะ ก็ขอแทรกแซง ลงไปตรงนี้ บอกกล่าวกันไปด้วย ได้ข่าวอาตมาบ้าง ว่าช่วยเหลือเฟือฟายกัน

เอ้า ทีนี้ก็เข้าเรื่อง ไม่รู้ตรงไหนแล้ว เมื่อกี้ต่อตรงไหนไม่รู้ เขามองว่าเรารวย เขามองว่าเรารวย แล้วเรา ก็รวยจริงๆ เป็นอริยทรัพย์นะ กินไม่หมดหรอกอริยทรัพย์นี่ เราไม่ต้องกักตุน ไม่ต้องสะสมเห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนเราว่า อัปปัจจยะ ไม่ต้องสะสม ไม่สะสมนี่ มันเก่งนะ เห็นไหมว่าธรรมะของ พระพุทธเจ้า ไม่ค้านแย้งกัน ถ้าไปแปล อารักขสัมปทา ว่าต้องสะสม เอ้า!พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้สะสม อัปปัจจยะ เอ๊!เอาอะไรแน่ละ พระบรมศาสดาเอาอะไรกันแน่ จะให้เอาสะสม หรือไม่สะสมล่ะ ก็ค้านแย้งกันแล้ว ขัดกันแล้ว ท่านสอนไม่ให้สะสม อัปปัจจย แปลว่าไม่สะสม แล้วเล่นว่าสอน เอ้าเป็นคนไม่สะสม เป็นคนเลิศ คนยอด แล้วให้อารักขสัมปทา แปลว่าให้สะสม เอาอย่างไงกันแน่ มันก็ค้านแย้งกันแย่ แต่อาตมาอธิบาย อาตมาว่าไม่ขัดแย้งกันนะ

อารักขสัมปทา อาตมาก็ขยายความ แปลว่า ไม่ใช่มานั่งสะสม มานั่งรักษาความดี รัก อา รักข นี่รักษา ความดีให้ดียิ่งขึ้น นี่พยัญชนะ อรรถ มันตรงกันนะ แล้วดีนี่ คือการเสียสละ การสละ การให้ทานมากๆ ต่างหากละ มันดีไหม สะสมเอาไว้ มันจะไปดีอะไร สะสมกอบโกย กักตุนเอาไว้ มันไม่ใช่ความดีนี่ ไม่ใช่ผู้ประเสริฐ นี่อย่างนี้เป็นต้น ก็ย้ำซ้ำซากอยู่นี่แหละ ให้มันชัดๆเห็นมั้ย เพราะฉะนั้น ไม่ได้ค้าน แย้งกัน แต่ให้ความหมายต่างกัน เอากิเลสโลภของตัวเองมาแปล ให้สะสมกักตุน ให้มีมากๆ แล้วเป็นเศรษฐี มาแปลเศรษฐี ว่าจะต้องร่ำรวยมั่งคั่ง บอกแล้วว่า มันผิดพลาดทั้งหมด แล้วอาตมา อธิบายอย่างนี้ คุณฟัง มันค้านแย้งกันไหม ธรรมะพระพุทธเจ้าไม่ค้านแย้งกันนะ การสอนของท่าน ไม่ค้านแย้ง แล้วมันมีนัยลึกซึ้ง เห็นไหม มันมีนัยลึกซึ้งกว่ากันไหม แล้วถ้าเผื่อว่า มันมีคนพิสูจน์ได้ มันก็ฟังไม่ขึ้นเหมือนกันนะ แต่เรามาทำแล้ว มาพิสูจน์ มันพิสูจน์ได้แฮะ มีคนกล้าจน อารักขะ ถูกต้อง เข้าถึงทิฐิธรรมิกัตถประโยชน์ถูกต้อง ขยันขึ้นจริงๆ นี้ขี้เกียจ อาตมาก็เข็นอยู่ทุกวัน ขยันขึ้นเรื่อยๆ ขยันให้ได้ อารักขสัมปทาก็ให้มันถูกต้องจริงๆ ว่าเรารักษา ดูแล ประโยชน์ที่ควรเป็น ไม่ใช่ประโยชน์ นา รักษาแต่เงิน แต่ทอง เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ หรือเป็นอะไร พวกที่รักเป็นคนที่กอบโกย กักตุนแต่สมบัติ อะไรนั่น และบ้าหอบฟางกันนั่นแหละ มันไม่เข้าเรื่องอะไรหรอก

เราเอาคุณค่า หรือเอาคุณความดีเป็นเป้าหมายหลักให้ได้ เราจึงจะเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ แล้วปฏิบัติถูกตรง เป็นประโยชน์ต่อตนจริงๆ เดี๋ยวนี้ พิสูจน์ได้ เป็นทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ ที่กล่าวไป แล้วว่า ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ คือประโยชน์ธรรมเดี๋ยวนี้ พิสูจน์ได้ที่เราดีพิสูจน์ มีพวกเราพิสูจน์กัน อย่างที่กำลังยกอ้างนี่ ว่าอโศกเรา มีคนมองมาว่า เป็นคนร่ำรวย แท้จริงเราไม่ได้ร่ำรวยอย่างที่เขาหมาย ร่ำรวยว่า เรากักตุนเงินทอง มีมาก มีเยอะอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เรามีเศรษฐกิจดี มีความประเสริฐที่ดี มีการสะพัด มีการขยัน มีการไม่ผลาญ ไม่พร่า มีการประหยัด มัธยัสถ์อยู่ในตัว มีการรู้สาระแก่นสาร รู้จักใช้ รู้จักสอย รู้จักกิน รู้จักอยู่ รู้จักสร้างสรร รู้จักกระทำคุณค่าประโยชน์ที่ถูกหลัก ถูกต้อง ประสาน สมานมิตร ต่างให้เกิดกัลยาณมิตตาถูกต้อง ให้เอาแก่นสารของสาระ ของมิตรที่ถูกต้อง ต้องมี คุณธรรม เป็นมิตรที่ดีกัน มิตรผู้ใดที่ไม่มีคุณธรรม เป็นเรื่องของ อพรหมจรรย์ว่า ไร้จริยธรรมต่างๆนานา หรือว่าเป็นภูมิธรรมที่ไม่ถูก มันผิด มันเพี้ยนอย่างไง มันก็ขัดแย้งกันอยู่ สำหรับคนอื่น ที่มันไม่ลงร่อง ลงช่องกัน มันไม่เข้าแนว เข้าแถว มันไม่เป็นแนว เดียวกัน มันไม่ได้เป็นมรรค เป็นทางเดียวกัน มันก็ขัดกันอยู่นี่ เพราะฉะนั้น มิตรก็ต้องเป็นมิตรที่พยายามที่จะทำให้ มันถูกร่อง ถูกรอยกัน เมื่อเป็นมิตร ก็ต่อเมื่อมีภาวนาธรรม มีผลธรรมที่มันตรงกัน เป็นอริยะร่องรอยเดียวกัน เจริญขึ้นมา ประเสริฐขึ้นมาเป็นร่องรอยเดียวกัน มีคุณธรรมคุณค่าอันเดียวกัน เข้ากันได้ถูกต้องกันไป ไปด้วยกัน เป็นหนึ่งเดียว เป็น เอกัง หิ สัจจัง ถ้าอย่างนี้แล้วละก็จะเห็นผล นี่เราเห็นผล แม้จะยังไม่ยิ่งใหญ่

ในชาวอโศกเรานี่ ลงร่องลงรอยกัน แม้จะไม่ยังไม่ใหญ่ ไม่โตอะไรนัก ก็เห็นเป็นของจริงได้ พิสูจน์ได้ ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ ว่าเราสร้างประโยชน์ถูกต้องนะ เราจึงเป็นคนมักน้อย เอาตั้งแต่เป็นคน เลี้ยงง่าย ตามที่เราเอา หลักเค้า ของพระพุทธเจ้ามายืนยัน เป็นคนเลี้ยงง่าย เป็นคนกินอยู่ หลับนอน ไม่ยาก ไม่เย็น ไม่ใช่กินอย่างประเภท โลกๆเขา แต่ก็ไม่ได้ทรมานตน สุขภาพร่างกายเราก็ดี กำลังวังชา เราก็ดี ไม่ได้ไปเสียหายอะไร เป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่ต้องไปกินเปลือง กินผลาญ ไม่ต้องกินสุ่มสี่ สุ่มห้า กินมากกินมาย กินอะไรไม่เข้าเรื่อง รู้จักการกินการอยู่ การใช้สอยโภชนะ โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณ เครื่องใช้เครื่องกิน เครื่องอาศัย ที่เราจะใช้อาศัยต่างๆนานา พอเหมาะ พอสม อย่างนี้เป็นต้น ก็ได้ปรับปรุงตนเอง มาจนมี มีไม่รู้กี่ครอบครัวนี่ ไม่รู้กี่ครอบครัวละ อาตมาก็ไม่ได้นับ เยอะแยะนี่ได้ปรับตนลงมา กล้าจนลงมา ไม่กอบ ไม่โกย ไม่ไปหลงแฟชั่น ไม่ไปหลงคำที่เขา propaganda โฆษณา มอมเมาเราเลอะเทอะ ไม่อยู่ในโลกีย์นี่ เรารู้เท่าทันโลกีย์ เรารู้เท่าทันที่เขา มอมเมา โฆษณา ซึ่งเราก็เคยเป็นมาแล้ว เคยหลงมาแล้ว โมหะเคยหลงผิดมาแล้ว เคยอวิชชาโง่ๆ เง่าๆ มาแล้ว แล้วเราก็มาฉลาดขึ้น ไม่หลงผิด พ้นโมหะ แล้วมาปรับ มาลดกิเลส ขนาดพ้นโมหะแล้ว ไม่หลงติดแล้ว เข้าใจถูกแล้ว ยังต้องมาละกิเลส ละโลภะ ละโกรธ หลงมันหมดไป ก็มาละโลภะ ละโกรธ จนกระทั่งเห็นจริง ชัดเจนขึ้นมาได้เรื่อยๆ กล้าหาญชาญชัยที่จะเป็นคน ไม่มีเงิน ไม่มีทอง ไม่สะสมกอบโกย ซึ่งไม่ค้านแย้งแล้ว

อารักขสัมปทา เข้าถึงการรักษาความดี กับไม่สะสมเงินทอง เป็นอัปปัจจยะอย่างที่วรรณะ ๙ ที่เรา เอามายืนยัน เป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย เป็นคนมักน้อย ก็สอดคล้องเป็นคนสันโดษ เป็นคนขัดเกลา กิเลสอยู่เรื่อย เป็นการเจริญด้วยการขัดเกลา มีศรัทธา มีศีล มีจาคะ มีปัญญา ขัดเกลาไปให้เป็นคนที่ เราเสียสละยิ่งขึ้น เป็นคนมีศีลจริงๆ เป็นธูตะ นั่นแหละ อย่าว่าแต่มีศีลสัมปทา ที่เป็น สัมปรายิกัตถประโยชน์ ธรรมดาเลย เป็นธูตะ ศีลเคร่ง อาตมาแปล ธูตะ ว่าศีลเคร่ง และเมื่อเราได้แล้ว เราไม่เคร่งหรอก เราได้นี่คนอื่นเขามารู้สึก มาดูเราว่า มีศีลอย่างนี้ๆ โอ๊ย! มันเคร่งไป ที่จริงตัวผู้ที่ ทำได้แล้ว ไม่เคร่ง เป็นเรื่องธรรมดา จึงเรียกศีลปกติ ทำอย่างนี้นะเหรอ ไม่เห็นยากตรงไหนเลย มันก็ธรรมดาปกตินะ เพราะทำได้แล้ว คนที่เขายังไม่ปกติ ก็คือ เขายังไม่มีศีล เขายังทำอย่างนี้ ว่าจะต้องปฏิบัติ ประพฤติอย่างนี้ให้ได้ เว้นขาดอย่างโน้นมาให้เป็นอย่างนี้ให้ได้นี่ คนที่ยังทำไม่ได้ เขาก็เคร่งเครียด ลำบาก ทำไม่ได้ แต่คนทำได้แล้ว ไม่เห็นมีอะไร ไม่เห็นมันยากตรงไหน ปกติสบายๆ ง่ายๆ มันเป็นธรรมดาของเขา ศีล จึงแปลความหมาย ปกติ ว่าอย่างนี้ แต่เขาไปแปลว่าปกติอะไรก็ไม่รู้ เอาไปอธิบายความปกติ เอ้อ อยู่ดีๆปกตินี่แหละ เป็นศีล ดีนี่ ยังไม่มีความหมายอะไรเลย ว่าอยู่ปกติ นี่แหละเป็นศีล คือเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งไม่ได้ อธิบายไม่ถูกเหลี่ยม ถูกมุมของมัน ก็เลยเข้าใจผิดพลาด

ปกติคือต้องปฏิบัติตนให้ตามความหมายของศีลกำหนด ว่าละเว้นก็ละเว้นได้ จนเป็นธรรมดาปกติ กับตัวเองว่าเว้นแล้ว สิ่งที่ให้เว้นขาด เว้นแล้ว สิ่งที่ให้ดียิ่งขึ้น ก็ดียิ่งขึ้นได้ โดยไม่ต้องเคร่ง ต้องเครียด อะไรนี่ คนอื่นต่างมารู้สึกว่า มันเคร่งเครียด มันไม่ได้ตาม เขาก็รู้สึกเคร่ง เขาเอาความรู้สึกของเขา มาวัดคนที่มีศีลเคร่งได้ เท่านั้นเอง เราก็เป็นคนมีศีลเคร่ง มีอาการอย่างนี้แหละ น่าเลื่อมใส เป็นอาการ ที่เป็นคนทำงานเสียสละ สร้างสรรอยู่ เป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย นี่อาการดีทั้งนั้นแหละ ผู้ที่มักน้อย ก็เป็นอาการที่ดี สันโดษก็เป็นอาการที่ดี เป็นคนที่ขัดเกลาตน ขัดเกลาผู้อื่นอยู่ ก็เป็นอาการที่ดี มีสติสัมปชัญญะ มีโพธิปักขิยธรรม มีสติสัมโพชฌงค์ มีธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ ไปไหนก็สังวรระวัง สัมมัปปธาน ๔ อยู่เสมอ มีสติปัฏฐาน ๔ อยู่เสมอ มีอิทธิบาทอยู่เสมอ คนอย่างนี้ต่างหากล่ะ เป็นคนที่ มีอาการน่าเลื่อมใส เรียกว่า ปาสาทิกะ เป็นคนที่ไม่สะสม อย่างยินดีที่จะไม่สะสม ไม่รู้ล่ะ นั่งๆอยู่นี่ ใครจะยินดีสะสมในโอกาสต่อไปอีก อาตมาก็ไม่รู้ด้วย แต่อาตมาเอง อาตมาขอยืนยันว่า ไม่สะสม โดยตน โดยตัว ไม่สะสมไปโดยตลอดตายยิ่งๆขึ้น ให้ยิ่งๆขึ้น ไม่สะสมแม้แต่อารมณ์ หรืออาการอะไร ทั้งสิ้น มันไม่เข้าท่า ไม่สะสม ลดถอย สละออก สลัดออก สลัดคืนๆ ไม่มาดูดดึง เป็นของตัวของตน ให้ได้ยิ่งๆจริงๆ

นี่เป็นภาษาชั้นสูง เป็นคนสลัดคืน คนไม่สะสม เป็นคนขยันหมั่นเพียร ยอดขยัน วิริยารัมภะ ก็สอดคล้องตรงกัน กับตัวเดิมอีก มาสอดคล้องกับคำคล้ายกันนะ อุฏฐานสัมปทาก็ขยันหมั่นเพียร เพราะเป็นคนรู้จักประโยชน์ ที่สำคัญอย่างนี้ ถูกต้องอย่างนี้ มาพิสูจน์อย่างนี้ จึงมีมวล กลายเป็น เศรษฐี ได้โดยที่ตลก เขาหาว่าอโศกเป็นเศรษฐี จริงๆเลย อโศกไม่เคย ไม่เรี่ยไรใคร ไม่เคยไปบอกบุญ จากกลุ่มอื่นๆเลยนะ บอกสนับสนุนหน่อยซิ อโศกจะทำอย่างนี้ บอกบุญ มาขอความร่วมมือ อย่างน้อย ก็ให้เงินให้ทอง มาสนับสนุนเราหน่อยนะ ตั้งแต่ต้น จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ อโศก ยังไม่เคยทำเลย ยังไม่เคย ไปขอใครเลย ทั้งที่เราสอนให้พวกเรานี่หัดสละออก อย่ากอบโกย อย่ามีมาก หมายความว่ากล้าจน ให้จนสตางค์ สะตุ้งค์นี่ จนเงินจนทองลงไปๆนี่ แต่ทำไมมันอยู่ได้ และมันยังแถมให้คนอื่น เขาเห็นว่า เราเองนี่ มีบทบาทออกไปต่อสังคม เขาว่าเราร่ำรวย เพราะผลงานของเรา ร่ำรวยแจกหนังสือเป็นว่าเล่น พอจะไปโน่น ไปนี่ ทำงานโน่นนี่ มีเครื่องอุปกรณ์ เครื่องใช้ มีโน่นนี่ไปยังกับเศรษฐี นี่โอ้โฮ! ไปคึกๆ มีส่วนเป็นเครื่องใช้ ไม้สอย มีกำลังวังชา มีวัตถุ มีอุปกรณ์ มีโน่น มีนี่ ให้ยืม แจกบ้าง ดีไม่ดี บอกบุญเรามา เรายังหาไปให้เสียอีกแน่ะ

โดยเฉพาะหนังสือนี่เขากลัวมากเลย หนังสือของอโศกนี่ โอ้โฮ มันแจกเป็นว่าเล่นเลย แล้วเราก็แจก เป็นว่าเล่นจริงๆ เราก็บอกไม่มีทุนมาทำอย่างไร เขารู้อยู่ว่า หนังสือเล่มหนึ่ง กี่สตางค์ กี่ตังค์พิมพ์ออกไป แจกจ่ายกันล่ะกี่ตังค์ แจกกันอยู่ ไม่อั้นอย่างนั้น บางคนเขาก็น้อมรับอยู่นั่นแหละ ปีหนึ่งก็แล้ว สองปีก็รับฟรีอยู่นั่นแหละ ไม่ได้ส่งสตางค์มาช่วย สักสตางค์หนึ่งเลย สี่ปี ห้าปี ก็รับเป็นสมาชิก อยู่นั่นแหละ เอ๊ะ แล้วมันเอาสตางค์ที่ไหนมา คนอื่นเขาขนาดขายแท้ๆ มันยังคว่ำเข้าเม่าไปไม่รู้กี่เจ้า แล้วพิมพ์หนังสือขายแท้ๆ และไม่ขายคุณภาพ หนังสือก็ไม่ได้ด้อยหน้าด้อยตากับเขา ทำถูกๆชุ่ยๆ ของราคาถูกเกินไปก็เปล่า ก็พอสมหน้าสมตาเขา พอกระทบไหล่ดาราได้พอสมควร ไม่ใช่ด้อยหน้า ด้อยตา อะไรนัก หนังสือหนังหาของเรา ก็อะไรอย่างนี้เป็นต้น เขาก็ประมาณได้ คำนวณได้จริงๆว่า เราไม่ใช่เป็นคนจน ไม่ใช่เป็นคนจน เป็นคนร่ำรวยจริง

ทีนี้ร่ำรวยเหล่านี้นี่ ถ้าเอาหลักเศรษฐศาสตร์มาคิดแล้ว เราถูกกับหลักเศรษฐศาสตร์ด้วยว่า เราร่ำรวย โดยไม่กักตุน ไม่ได้เอามา เอาไว้ เงินทองกองสมบัติอะไรมากักตุน ไว้เป็นกอบ เป็นโกย มีแต่สะพัด สะพัดๆๆ แล้วก็หมุนเวียน อยู่ตลอดเวลาเลย เป็นลักษณะเศรษฐศาสตร์ที่ดี ที่เก่งด้วย สะพัดออก สู่มือประชาชน ออกสู่บทบาท ให้มีผลประโยชน์ ต่อคนอื่น ต่อเสมอ เพราะฉะนั้น ผลประโยชน์อันนี้ จึงเป็น ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ที่ชัดเจนที่สุด ถูกต้องตามหลัก เศรษฐศาสตร์มาก ไม่ใช่กักตุน กอบโกยมา ให้มันเสียค่า เสียประโยชน์ มีแต่หมุนเวียนใช้สอย สร้างสรร ทำงานแล้ว บทบาทที่มัน เคลื่อนอยู่ตลอดเวลานี่แหละ มันเป็นพลังงาน

เพราะฉะนั้น เมื่อพลังงานมันเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มันไม่ต้องกัก ไม่ต้องตุน ไม่ต้องหยุด ต้องถูกตรึง เอาไว้ตรงไหน มันก็เกิดพลังงานที่มีบทบาท สร้างสรร "อารักขสัมปทา" อาตมาถึงแปลว่า สร้างสรร ไม่ใช่สะสม โอ้โฮ! คนละเรื่องกันเลย เห็นไหม อารักขสัมปทา อาตมาถึงแปลว่าสร้างสรร ขยัน สร้างสรร สร้างมิตร ชีวิตประเสริฐ แต่ของเขาแปล แปลว่าสะสม ขยันสะสม เก็บหอมรอมริบ มีมิตรที่ดี มีมิตรที่ดี ไม่มีดวงตา ไม่มีปัญญา มันหามิตรดีไม่ได้หรอก มีแต่มิตรกิน มิตรกวน มิตรกอบ มิตรโกย มิตรพาไปในทางต่ำ มิตรพาไปในทางบาป เพราะฉะนั้น มีมิตรมาในทางบุญ ทางธรรมเจริญ จริงๆนะ ถึงจะมีมิตรมาในทางบุญ มีมิตรที่จะช่วยกัน ก่อบุญๆ ทางสวรรค์ให้ ถ้าไม่เช่นนั้น ไม่มีหรอก มิตรที่จะชี้ทางสวรรค์ มีแต่ชี้ทางนรกกันส่วนมาก ชี้แต่ทางไปซิไปตรงโน้น จะร่ำ จะรวย ไปตรงโน้น ไปกอบไปโกย ไปค้าดีไม่ดีแทงหวยซิ แล้วก็พากันไปเที่ยวไปเตร่ ไปคบหามิตรเข้าไปซิ ไปคบหามิตร ชั้นสูงๆ นัดแนะกันที ก็ต้องไปโน่นแน่ะ ยอดโรงแรม ชั้นราคาแพงๆ โน่นแน่ะอะไรอย่างนี้เป็นต้น ต้องคบมิตรสูงๆ สูงประเภทไม่ใช่สูงทางธรรมะ ประเภทที่จะหาทางกอบโกย ได้มาซึ่งความได้เปรียบ อะไรต่างๆ พวกนี้แหละ เป็นมิตรที่เขาหวังเขาหมาย ไปหามิตรไหน ที่จะช่วยอุดหนุน จุนเจือ อุปัฏฐาก อุปถัมภ์ให้เขาได้ร่ำ ได้รวย ได้ลาภ ได้ยศ อะไรมากๆ นั่นนะเป็นความเข้าใจธรรมดาของเขา เขาก็คบหา มิตรอย่างนั้น ถ้าผู้ใดไม่ลึกซึ้ง ดิ้นไม่ออกหรอก ดิ้นไม่ออกหรอก จากการหามิตรอย่างนั้น จนกว่าคนนั้น จะลึกซึ้ง ปฏิบัติธรรม เรียนรู้ด้วยปัญญาญาณ เกิดสัมมาทิฐิที่ดี ถึงจะรู้ว่า อ๋อ!มิตรดีจริงนั้น มันเป็นมิตรที่จะต้องสอดคล้อง กับธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าท่านสอน นี่ว่าเป็นคนมาลด มาละกิเลส เป็นคนที่จะมาเสียสละ ขยันหมั่นเพียร

อาตมาพยายามเอาคุณค่าของกุศลของมนุษย์นี่มาเรียบเรียงกันไว้แปดคำคือ เมตตา ขยัน เกื้อกูล เสียสละ อุตสาหะ อดทน ขวนขวาย อ่อนน้อม เรียงๆมาได้ ๘ คำ นี่เป็นกุศลนะ เป็นสารัตถะของมนุษย์ เป็นประโยชน์ ถ้ามนุษย์พยายาม จะศึกษา จะอบรมตน จะกระทำตนอย่างไรนี่ เกิดมาเป็นคนนี่นะ ให้ตนเป็นตนมีเมตตาได้ นั่นแหละเป็นประโยชน์ของชีวิต จะสร้างให้ตนเอง มีความเมตตาได้อย่างไร นั่นแหละประโยชน์ของชีวิต ประโยชน์ของสังคมด้วย ขยัน เอาละ ขยันนี่ก็คง ไม่ต้องพูดกันมาก พอเข้าใจกันอยู่ทั้งนั้นแหละ อย่าขยันแต่โง่ก็แล้วกัน มีข้อยกเว้นไว้นิดหนึ่ง อย่าขยันแต่โง่ก็แล้วกัน ขยันนะ

เกื้อกูล เกื้อกูลนี่ก็คือช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือ อุ้มชู เสียสละ มันมีนัยละเอียดอยู่นะเกื้อกูลนี่ ช่วยเหลือ ผู้อื่น เกื้อกูลช่วยเหลืออยู่เท่านั้น ก็ยังไม่พอ ต้องถึงขั้นบอกว่า ต้องตัดใจออกนะ เสียสละอันนี้ ต้องเสียสละนี่ มันจะต้องกัดอก กัดใจนะเกื้อกูล มันก็พอเกื้อกูลได้หรอกคนเรานะ แต่มันไม่ถึงขั้น เสียสละได้ เสียสละ มีน้ำหนักสูงกว่า เกื้อกูล เกื้อกูลให้ถึงขั้นเสียสละ มันต้องจำเสียเลยละ สละได้ ใครที่จำเสียได้ หรือจำสละ ได้สูงเท่าใดๆ ได้โดยเราเอง เราก็ไม่ได้ บางทีนี่เราอาจต้องลำบากด้วยซ้ำ เราต้องอาจถึงขั้นต้องสู้ทน ลำบากลำบนบ้างด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นคุณค่าที่ดี แม้เสียสละชีวิต เพื่อรักษา ธรรม อย่างนี้เป็นต้น ป่วยการกล่าวไปใยว่า เสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ เสียสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต นี่ถึงขนาดขั้นเสียชีวิต เพื่อรักษาธรรม ก็อาจต้องเสียสละถึงปานนั้นก็ได้ เสียสละมันจึงสูงขึ้นไปอีก จากเสียสละ แล้วอุตสาหะ อุตสาหะนี่มันก็ไม่ใช่ขยันนะเชิดชู ฟังคล้ายกัน แล้วก็ไม่ใช่เชิงขวนขวาย ด้วย อุตสาหะนี่นะขยัน นี่หมายความว่า ทำมากๆๆ ทำมากๆ ขยันนี่ทำมากๆ แต่อุตสาหะนี่ มันมีน้ำอด น้ำทนเข้าไปร่วมด้วยนะ มีความมุ มีความเพ่งแรง มุ่ง ใช่ไหม อุตสาหะนี่มีความมุ มุ่งเข้าไปอีกแล้ว ก็ต่างกันกับอดทนด้วย ต่างกันกับอดทนอีก อดทน อดทนนี่ความหมายว่า ไม่มียอมพ่ายแพ้ ไม่มีการ ท้อถอยอดทนนี่ ปักหลักแน่น มีแต่ก้าวหน้าไปลูกเดียว ถ้าอุตสาหะได้ ก็มุไปเรื่อยๆ มุไปเรื่อยๆยังไม่พอ ขวนขวาย ขวนขวายนี่จะต้องแสวงหา พยายามที่จะหาทาง ที่จะก้าวไปสู่ความเจริญอีก ขวนขวายนี่ หาทางที่จะทำอะไร ให้มันเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ หรือว่าเจริญมีมากขึ้นไปอีก ไม่ใช่มีมาก เพื่อจะมากแบบ กระฎุมพี หรือว่าแบบนั้นแหละ แบบกระฎุมพีมั่งคั่ง ร่ำรวยอะไรนั้น มันมีความหมาย ว่า ขวนขวาย เป็นผู้ที่ไม่ดูดาย เป็นผู้ที่จะต้องรู้ว่า อะไรควรจะได้แสวงหา หรือว่าพยายามที่จะดูอะไร จะเจริญ เพิ่มเติม ขึ้นไปเรื่อยๆ อ่อนน้อมนั้น เป็นสภาพของ แหม อ่อนน้อมนี่มันสำคัญเหมือนกันนะ อธิบายกันบางทีนี่ อ่อนน้อมไม่ใช่อ่อนแอ อ่อนน้อมไม่ใช่หย่อนข้อ อ่อนน้อมนี่หมายความว่า เราเอง เรารู้จักจังหวะจะโคนว่าเราควรจะน้อม ไม่ให้เสียธรรม ไม่ให้ไปกลายเป็นเขาถูกข่ม ถูกลบหลู่อะไร ไม่ใช่อย่างนั้น

อ่อนน้อมนี่ มีนัยลึกซึ้งเหลือเกิน อาตมาก็ยังไม่เก่งที่จะอธิบายได้อย่างไร คนเข้าใจภาษาตื้นๆ ง่ายๆ อ่อนน้อมแล้ว เข้าใจผิดๆ เพี้ยนๆ ว่าอ่อนน้อมคืออ่อนแอ ยอมแพ้ซูฮกเขาไปเรื่อยๆ ไม่ใช่นะ อ่อนน้อม ไม่ใช่ซูฮกนะ แหมใช้ภาษา ต่างด้าว เสียด้วย ซูฮกมันแปลว่าอะไร ซูฮกแปลว่ายอมแพ้เหรอ เอ้า กลับกันอีก นับถือ นับถือผู้อื่นใช่ไหม ซูฮกนี่แปลว่านับถือผู้อื่น ซูฮกผู้นั้นผู้นี้ เอ็งเก่งๆนั่นเหรอ อ๋อ! ซูฮก เอ็งเก่งนั่นละหรือ เออภาษานี้มันก็สื่อกัน ฟังไป ฟังมานะ เอาล่ะไม่ต้อง มันไม่รู้เรื่อง แล้วก็ไม่ต้อง จะใช้ภาษาไทยก็ใช้ไปนะ ใช้ภาษาไทยก็แล้วกัน ก็คือเราไม่ใช่ว่าไปอ่อนน้อม นี่ไม่ได้หมายความว่า เรายอมไปโดยไม่รู้เรื่อง ยอมแพ้ประเภทที่ว่า ยอมไปให้โดย ไม่มีท่าทีลีลาอะไรที่ไม่เสียธรรม ต้อง ไม่เสียธรรม ต้องมีลีลา ท่าทีว่า เอ๊! ถ้าเขาจะมาข่มเบ่ง นี่เป็นความถูกต้อง นี้เป็นกุศล นี่เป็นสิ่งดี แล้วสิ่งดีนี่อยู่ต่ำ อยู่ใต้ หรือว่าถูกข่ม ถูกลบหลู่ ไม่ได้ ไม่ควร ซึ่งอธิบายยากนะ และจัดยาก กระทำยากด้วย กระทำยากเป็นความลึกซึ้ง ต้องฝึกฝน เล่าเรียน แล้วก็กระทำไม่เสียธรรมจริงๆ คำว่าไม่เสียธรรม นี่เป็นคำลึกซึ้งมาก เป็นคำที่สูง เราก็ค่อยๆศึกษาไป เพราะฉะนั้น คำว่าอ่อนน้อม จึงไม่ได้หมายความง่ายๆตื้นๆเลย ไม่แข็งกระด้าง รู้จักมีลีลาท่าที ก็ไม่รู้ละว่าจะทำยังไง ตายตัวละ อาตมาก็ตอบไม่ได้ บอกไม่ได้ บอกว่ารู้สึกว่าไม่เก่งที่จะอธิบายอันนี้ ได้อย่างชัดเจน มันรู้สึกว่า มันยังได้ แค่นี้ละนะ เอาแค่นี้ก่อนก็แล้วกัน

ถ้าผู้ใดที่มีท่าทีหรือว่ามีอาการที่น่าเลื่อมใส ในลักษณะที่จริง มีลักษณะ อยู่ในตัวเลย มีเป็นจริง ในตัวเลย ทำให้ตนเอง มีอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นประโยชน์อยู่ในตัว มีเมตตา มีความขยัน มีความเกื้อกูล มีความเสียสละ มีอุตสาหะ อดทน ขวนขวาย อ่อนน้อมได้จริงๆ นี่นะเป็นกุศล ที่จะต้อง ยังให้ถึงพร้อม แล้วมีอาศัยอยู่ในตน เราจะมีอาศัยอยู่ในตัวเรา ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีจริง อยู่ตลอดเวลา ในตัวเรา จะต้องมียึดเสียก่อน อย่าเพิ่งไปเอา อะไรๆก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น มาใช้กัน โดยไม่มีขั้นตอน เบื้องต้น ท่านกลาง บั้นปลาย มากนักเลย อย่าเป็นอย่างนั้น เพราะเราจะยึด ในสิ่งที่ควรยึด ยึดในดี กระทำดีให้แข็งแรงมั่นคง จนฝึกฝน อบรมตนได้เป็นฐิเต อาเนญชัปปัตเต เป็นตัว เป็นปกติ ทำ คำดี มีพฤติกรรม ชำนิชำนาญ เป็นปกตินี่ไม่ง่ายนะ เพราะฉะนั้น จะเอาแต่อะไร ก็ไม่เอา ไม่ยึดมั่นถือมั่น กลายเป็นคนจับจด กลายเป็นคน ไม่เอาถ่าน กลายเป็นคนเหลาะแหละ เป็นคนไม่แข็งแรงมั่นคง เป็นคนไม่เอาจริงเอาจัง

อาตมานี่แหละเป็นจุดบอด หรือเป็นจุดบกพร่อง ที่เมื่อฟังธรรมไม่สมบูรณ์ บรรยายธรรมกันไม่สมบูรณ์ ชี้แนะกัน ไม่สมบูรณ์ ไม่ตรงฐาน ถ้าคนที่ดีแล้วเก่งแล้ว ยอดเยี่ยมแล้ว ดี มีดี ยึดมั่นในดีได้อย่าง แหม แข็งแรง มั่นคงอยู่ที่ตัวเอง เป็นคนดีไปหมดเลย แม้เขาจะไม่ทิ้งดี เขาจะยึดถือมั่นถือมั่นในดี ว่าเป็น ของเรา แล้วเราก็จะทำแต่ดีนี้ไป จนกระทั่งตายแล้ว ตายอีก ชาติแล้วชาติอีก กี่ชาติกี่ชาติ อาตมา ก็ไม่เห็น เสียหายอะไรในสังคมมนุษย์ และตัวมนุษย์ผู้นั้น แต่มันไม่เป็นนิพพาน เท่านั้นเอง ฟังให้ออกนะ มันไม่เป็นนิพพานเท่านั้นเอง มันก็เป็นพระเจ้า คือจิตวิญญาณที่ดี จิตวิญญาณสร้างสรร เสียสละ จิตวิญญาณพระผู้สร้าง พระผู้ให้ เป็นคนผลิต ขยันหมั่นเพียร สร้างสรร ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ ข้อที่ ๑ ขยัน สร้างสรร ให้คนได้ ให้แก่ใครๆ คุณก็มีมิตร คุณไปเอาเปรียบ ของเขา คุณไม่ได้เป็นมิตรหรอก คุณก็มีแต่ศัตรู คุณไปเอาเปรียบ ไปเอารัดเขา ไปกอบโกย ไปแย่งชิง เขานะ มันไม่ได้มิตรหรอก จะได้มิตรก็ให้ เป็นผู้ให้นั่นแหละ เป็นมิตรที่ดี เราก็จะต้อง เป็นคน ที่เป็นอย่างนั้น ชีวิตของเราจะดี จะประเสริฐก็เพราะว่า เราเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณอย่างพระเจ้า เป็นผู้สร้าง ผู้ให้ แล้วก็ให้จริงใจ ให้จิต บริสุทธิ์ สะอาด ไม่มีกิเลสแฝง กิเลสซ้อน เพราะฉะนั้น จิตพระเจ้า ก็คือ จิตพระอริยเจ้าชั้นสูงจริงๆ ถูกธรรม เป็นกุศลแท้ แต่เข้าใจให้ถูกต้องว่า จิตวิญญาณนี้ก็ ถ้าไปมีจิตตัวเองนี่แหละ เป็นเลยว่า เราก็ยึดว่า จิตนี้เป็นของ เที่ยงแท้ เป็นอัตตา เป็นปรมาตมัน เป็นจิตวิญญาณที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า ก็อยู่กับพระเจ้านิรันดร์ แล้วก็จะไม่มีวางละ เรื่องดี ถ้าไม่วางความดี ไม่ถือดี มันซ้อนอยู่เหมือนกัน ยึดดีถือดี อะไรเกินไป จนกระทั่ง ไปอวดดี เป็นมานะ เป็นกิเลสซ้อนก็เป็นอยู่ได้ เพราะฉะนั้น อันนั้นก็เป็นเรื่องลึกซึ้ง อีกเชิงหนึ่ง

เรามาเรียนรู้ ไม่ให้เกิดกิเลสมานะ แล้วก็ไม่ให้เกิดอัตตา เกิดติดยึดในดี หรือจิตวิญญาณที่ดี หรือคุณค่า คุณธรรมความดีนี้ เป็นของตน จึงจะปล่อยวางล้างออกเป็นนิพพานสูญ มีสุญตา สุญภาพหรืออนัตตาได้ เพราะฉะนั้น ศาสนาของพระพุทธเจ้า จึงไม่เป็นอัตตา ไม่เป็นปรมาตมัน เป็นอนัตตา เป็นไม่ติดจิตวิญญาณ แต่ก็มีจิตวิญญาณที่ดี เช่นเดียวกับศาสนาอื่นมี จะดียิ่ง จะเยี่ยมยอด จะเป็นจิตที่บริสุทธิ์ จิตที่สะอาด จิตนี้ก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จิตนี้ก็ไม่ใช่ปรมาตมัน จิตนี้ก็ไม่ได้อยู่ในที่โน่น ที่นี่ จิตนี้ก็ไม่มีพระเจ้าอะไรที่อะไร ที่จะเป็นสิ่งที่จะต้อง เหลืออยู่เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งที่อยู่นิรันดร์อะไร ไม่ใช่ นี่เป็นสิ่งที่ พระพุทธเจ้าของเราค้นพบ

พระพุทธเจ้าท่านก็เรียน เรียนอัตตา ปรมาตมัน ศาสนาอื่นเขาสอนมาอย่างพระพรหม เป็นพระที่มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เราก็เป็นพรหม แต่ไม่ติดพรหม เป็นพรหม แต่ไม่หลงยึดมั่นถือมั่น ในพรหม วางปล่อยเห็นจริงเลย แล้วก็ต้องทำใจในใจเองจริงๆว่าเออ ดีนี้ก็ดีเถอะ แต่เราก็ไม่หลงติด หลงยึดว่า จะเอาอีกมีอีก เป็นอีก เป็นพระอรหันต์แล้ว จะวางอย่างนั้นจริงๆเลยก็จบไป จบแล้วก็เลิก ไม่มีจิตวิญญาณที่จะไป มีเชื้อ มีเหลือ มีดี มีนิรันดร์อะไร ไม่มี มีดี มีนิรันดร์อะไรก็ไม่มี

ศาสนาพุทธจึงรู้จักจิตวิญญาณสูงสุดยอดตรงที่ว่า อ๋อ ความจริงจิตวิญญาณไม่ใช่ตัวตน จิตวิญญาณ ไม่ใช่เรื่องอัตภาพ จิตวิญญาณไม่ใช่ตัวจะยังทรงอยู่นิรันดร์ จิตวิญญาณคือธาตุรู้ สักแต่ว่ารู้เท่านั้น แล้วรู้แล้วก็ทรงอยู่นั้น แล้วก็ทำอยู่นั้น ตามที่รู้ดีจริงๆ อย่างบริสุทธิ์นั้น รู้อะไรดี ท่านถึงสรุปคำสอน ของท่านว่า ชั่วนั้นอย่าประพฤติละสิ้นปวง สัพพปาปัสสะ อกรณัง ดีที่เป็นกุศลธรรม นี่ยังให้ถึงพร้อม แม้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ยังไม่สันโดษในกุศล ยังทำดี สร้างดีนี้ให้ถึงพร้อมอยู่เสมอ ไม่ได้ทิ้งดี แล้วก็ทำจิตให้บริสุทธิ์ก็ตรงที่ว่า คุณจะต้องล้างกิเลสให้จิตมันบริสุทธิ์จริงๆ แล้วคุณถึงจะเห็นว่า สูงสุดนั่นแหละ แม้จิตจริงๆ ที่บริสุทธิ์จริงๆนั้นนะ ไม่มีกิเลสอัตตาตัวตน จะต้องมีญาณปัญญารู้ว่า ไม่ใช่อัตตา ต้องมีญาณจริงๆว่าอ๋อ จิตยังไม่ใช่อัตตา เพราะฉะนั้น คนที่ยังมีอัตตาเป็นปรมาตมัน สอนกันอยู่อย่างนั้น จึงเป็นคนที่ไม่รู้จักจิตวิญญาณจริง แล้วไปบอกว่า จิตวิญญาณคือพระเจ้า ไม่ใช่หรอก ที่ยังเป็นพระเจ้าอยู่ ยังเป็นตัวตนอยู่ ยังเป็นกิเลสอยู่ ในระดับชั้นสูง กิเลสในระดับชั้น ลึกซึ้งเลย พระพุทธเจ้าจึงทะลุพระเจ้าไปอีกชั้นหนึ่ง ทะลุจิตวิญญาณดีสุดไปอีกชั้นหนึ่ง เข้าใจสภาวะ ของวิญญาณที่เหนือชั้นกว่า วิญญาณที่มีตัวตนก็รู้ และวิญญาณที่ไม่มีตัวตนก็รู้

เพราะฉะนั้น ศาสนาพระพุทธเจ้าจึงเป็นศาสนาที่มีเหมือนอย่างศาสนาอื่น มีทุกอย่าง และมีเหนือกว่า ศาสนาอื่น ที่ไม่มีอย่างที่ศาสนาพุทธมี เพราะว่าที่อื่นเขายังไม่ถึง ศาสนาพุทธนี่เหนือกว่านั้น มีที่เขาว่าดีนะ ศาสนาอื่นว่าดีอะไร ดีทั้งหมดนั่นนะ ศาสนาพุทธมีทุกอย่าง เข้าใจเห็นจริง จะดียังไง ก็เข้าใจ จะเป็นจิตวิญญาณในระดับดีสูงสุด มีเมตตา ไม่มีที่สิ้นที่สุดก็จริง เกื้อกูลคนทั้งโลก รักคนทั้งโลกอะไรได้จริงๆ เป็นจริงๆ เพราะฉะนั้น เราจึงสามารถที่จะเอามาพิสูจน์ เป็นขั้นตอนได้

ขณะนี้เราก็มีเมตตาของพวกเรานี่ไม่ใช่น้อย มีการเสียสละ มีความขยันขึ้น มีอารักขสัมปทา สร้างความเสียสละอยู่นี่ ยังไม่ถึงใจอาตมาหรอก ยังไม่ถึงครึ่งใจ ยังไม่ถึงเศษหนึ่งส่วนร้อยของใจ ของอาตมาเลย นี่พวกเรานี่เสียสละกันอยู่นี่ เห็นไหม อารักขสัมปทานี่ ยังรักษาสิ่งดี บอกแล้วว่า เสียสละมันเป็นความดี ความเอาเปรียบเอารัด หรือความเห็นแก่ตัวอยู่ มันยังหลงตัว หลงตนอยู่ มันยังกอบๆโกยๆ กักๆตุนๆอยู่ มันยังไม่ดี ยังไม่ดีหรอก ดีกว่านั้นยังมีอีกใช่ไหม แต่เรายังทำไม่ได้ เห็นมั้ยนี่ มันยังจะต้องพัฒนาขึ้นไปอีกเห็นไหม แล้วพิสูจน์ซิ แค่นี้ก็ขนาดนี้ เขายังว่าเราร่ำรวย นี่ถ้าเผื่อว่าอาตมานี่ เอาค่าตัวสละของพวกเรา ออกมาเพิ่มนี่นะ อาตมาเชื่อจริงๆเลยว่า นี่นั่งอยู่ในที่นี้นี่ ยังมีกักตุนพอเหลือกินเหลือใช้ อยู่อีกตั้งไม่ใช่น้อยเลย นั่งอยู่นี่จริงๆ นี่ถ้าเผื่อว่าสละออกมาอีก นี่นะ โอ้โฮ!เราจะมีทุนมาอีกตั้งเยอะตั้งแยะ มาใช้งาน ใช้การนี่นะ สองแรงงาน แรงงานนี่ ในแต่ละคน แต่ละคนนี่ยัง ยังขี้หวง ยังขี้แหนกันอยู่ ไม่ใช่น้อยเลยนี่ ยังสละออกมาได้อีก นี่มันยังสละออกมาได้อีก ถ้าสละมาได้เพิ่มอีก โอ้โฮ!ข้างนอกเขายิ่งจะเห็นว่า เรารวยกว่านี้เท่าไร ทั้งวัตถุเงินทอง ที่คุณจะสละ ออกมา ทั้งแรงงานที่เราจะสละออกมาเห็นมั้ย นี่เรายังเอาออกอีกไม่ได้นะ เราจะต้องเอาออกมาให้ได้ ถ้าเอาออกมาได้อีก อาตมาท้าทายให้มาพิสูจน์ ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์นี้ ว่าเป็นประโยชน์ที่คนอื่น เขาเห็นว่า โอ้โฮ! นี่มันร่ำรวยจริงๆ โว้ย ทั้งๆที่เราไม่ได้ร่ำรวยมากกว่าเขาหรอก

อาตมาเชื่อว่าพวกคุณยังร่ำรวยสู้คนนอกๆเขาไม่ได้หรอก คนนอกๆที่เขากักตุนสะสม ตามหลักที่เขา บรรยายกันมา นะว่าเศรษฐีแบบนั้นนั่นนะ เศรษฐีผิดๆนะ แน่นอน เขามีมากกว่าเรา ไม่รู้นะ ใครจะแอบ มีเศรษฐีหมื่นล้านอยู่ในนี้ อาตมาไม่เชื่อมั้ง มีเศรษฐีหมื่นล้านอยู่ในนี้นะ อาจมีเงินล้านกันละในนี้ มันอาจมีบ้างละ มีเงินล้าน แต่หมื่นล้านนี่ อาตมาว่าไม่มีมั้งในนี้นะ ใครในระดับ ๒๕๐ คน ที่เสียภาษี มากในประเทศ อยู่ในนี้มีไหม นั่งอยู่นี่ ที่อยู่ในlist ๒๕๐ คนเขาน่ะ มีมั้ย ไม่มีนะ นั่งอยู่ในนี้นะ ทั้งรายได้ ทั้งที่มันกักตุนเอาไว้นี่ คงไม่มีเท่าเขาหรอกข้างนอก ก็ขนาดนี้แหละ เราทำให้โลกเขาเห็นได้ว่า คนอย่าง พวกเรามันเป็นเศรษฐีได้ เป็นคนร่ำรวยที่ไปเป็นผล มีประโยชน์ต่อเขา คือเสียสละออกไป ให้เขาเห็นได้ ต่างหากเล่า เขาเห็นว่าเราเป็นเศรษฐี มันต่างกันตรงที่ว่า คนเห็นเราเป็นเศรษฐี เพราะเราเสียสละ ออกไปให้เขาเห็นว่า เราเป็นเศรษฐี ส่วนในโลกนั้นเขาเอง เขาเป็นเศรษฐีเพราะเขากักตุนไว้ ให้คนอื่น เห็นว่า เขามีเงินมากๆ เขาเป็นเศรษฐี มันต่างกันนี่เห็นไหม อารักขสัมปทา คนโลกเขาว่า เขาเป็นเศรษฐี เพราะเขากักตุนไว้ เป็นกอบ เป็นกองให้แก่คนอื่นเขาเห็นว่าเป็นเศรษฐี โอ้โฮ คนนี้นี่บ้านนี่ของชื่อเศรษฐี ก. โอ้ บ้านหลังนั้นหลังนี้ นี่หลายบ้านเลยนี่ ที่พัทยา ที่สงขลา ภูเก็ต ที่เชียงใหม่ เขาขุนตาลอะไร มีบ้าน มีเรือน มีรถ มีรา มีเศษ มีโน่น มีนี่ มีหุ้น มีทุน อยู่ตรงนั้น ตรงนี้ บานเบิกเลยอย่างนี้เขาก็เป็น อารักขสัมปทา แบบเศรษฐีสะสมก็จริง เห็นได้นะ

แต่เขาเข้าใจด้วยสัมมาทิฐิว่า เศรษฐีอย่างนั้นกับเศรษฐีอย่างเรานี่ บอกว่าโอ๊ย! นี่จริงๆบ้านมัน เท่ากระต๊อบ ไม่ได้มีหลายหลง หลายหลังหรอก แต่ไม่ใช่ของตน นอนได้หลายหลังเหมือนกัน แหม อาตมานี่ นอนบ้านหลายหลัง ได้หลายบ้านนะ บ้านกระต๊อบอะไรก็มี แต่ไม่ใช่ของตัวหรอกนะ ก็เป็นเศรษฐี นัยอย่างนี้ได้อยู่เหมือนกัน หรือจริงๆ ไม่ได้สะสม อวดอ้างละ เรามันเป็นเศรษฐี เพราะเขา เห็นว่า แรงงานหรือผลผลิตของเรานี่ ออกไปสู่สังคม ไปให้แก่เขาได้มากๆ พวกนี้มันต้องเศรษฐีซิ มาถึง มาแจก มาจ่ายได้ คุณเอาเศรษฐีมาได้อย่างไหน เอาเศรษฐี อย่างมีมากๆ กอบโกย สะสมไว้เป็นของข้า นี่ของข้า มีมากมาย มีสมบัติพัสถาน กับเศรษฐีว่า นี่แจกจ่ายได้ เพราะมีผลแจกจ่ายไป มาดูต้นทางซิ คนแจกจ่ายนี้ กักตุนเอาไว้มากไหม กลับไม่มีมาก คนที่แจกจ่ายไปนี่ เขากลับเห็นบทแจกจ่าย เห็นบทบาท การแจกจ่ายไปให้คนอื่นนั้นมาก เขาก็เข้าใจว่า เราเป็นเศรษฐี แต่มาดูต้นทาง ของตัวผู้แจกจ่ายซิ กักตุนไว้มากมั้ย เปล่า ก็สละออกไปหมด มันไม่มากน่ะซิ เพราะฉะนั้น เขาเห็นความเป็นเศรษฐี คนละจังหวะ คนละสภาพ

เขาเห็นสภาพเราเป็นเศรษฐี เพราะเราสละให้ บทบาทที่เราสละให้เขา เขาว่าเราเป็นเศรษฐี แต่คนที่ เป็นเศรษฐีอื่นนั่น เขาบทบาทการกักตุน เอาไว้มากๆ คนก็มองเห็นนี้เป็นของๆเขา จะมากมายซิ เป็นเศรษฐี มันคนละสภาพ เห็นไหม เป็นเศรษฐีกันคนละสภาพ คุณก็เลือกเอาซิ คุณจะเอาเป็น เศรษฐีชนิดไหนล่ะ อาตมาเลือกเอาเศรษฐีชนิด แจกจ่ายให้เขามากๆได้ มันมีน้อยก็แจกน้อยก็ช่างเถอะ มันมีความขยันหมั่นเพียร มันมีความสามารถเท่านี้ ก็แจกเท่านี้ แต่แจกเอาหลักแจก นี่เป็นเศรษฐี แต่คุณเอาหลักสะสมเป็นเศรษฐี คุณก็เลือกเอา จะเอาอย่างไหนล่ะ มันเอาได้สองนัย เพราะฉะนั้น ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ ถ้าคุณแจกเขานี่ เป็นประโยชน์มั้ย คุณกอบโกยสะสมไว้แก่คุณเองนี่ คุณจะเป็นประโยชน์แก่อะไรล่ะ ก็ประโยชน์แก่ตัวเอง ตัวกู เป็นประโยชน์ของกู ของคนอื่นก็ไม่ได้ ประโยชน์อะไร และประโยชน์ของกูเท่านั้น กับของอื่นได้ประโยชน์จากเราไปมากๆ อันไหนเล่า เป็นคุณค่า อันไหนเล่าเป็นสิ่งประเสริฐ ของมนุษย์น่ะ เพราะฉะนั้น เป็นชีวิตประเสริฐ สมชีวิตา เป็นชีวิตประเสริฐ ต้องประเสริฐอย่างที่เป็นคุณค่าต่อผู้อื่นซิ เป็นแต่ประโยชน์ว่ากอบโกยผลประโยชน์ แก่ตนๆอยู่อย่างนั้น มันจะไปเข้าท่าอะไร นี่อย่างนี้เป็นต้นนะ เพราะฉะนั้น คำว่าประโยชน์นี่ เราเรียนกันมาผิดพลาด

หัวใจเศรษฐีอธิบายกันเลอะเทอะจึงไม่เป็นสันติภาพ ความสงบสุขของสังคม เพราะเราเรียนธรรมะ ของพระพุทธเจ้าผิดทาง ความหมายผิดทาง ความเข้าใจผิดทาง แล้วก็มาอบรมตนไปกันใหญ่เลย เมื่อมีความคิดเห็นที่ผิดเป็น มิจฉาปณิหิตัง จิตตัง มีมิจฉาทิฐิ แล้วก็ตั้งตนไว้ผิด มิจฉาปณิหิตังจิตตัง จึงออกนอกลู่นอกทางยิ่งกว่าโจรต่อโจรฆ่ากัน มิจฉาปณิหิตัง จิตตัง นี่ร้ายกาจยิ่งกว่าโจรต่อโจร ที่เขาทำร้าย ทำลายกันทุกวันนี้ ความเป็นอยู่ มันก็เลยเป็นเมืองโจร แล้วก็ยิ่งกว่า โจรธรรมดาด้วย เห็นไหม มันอยู่กันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคม หรือว่า พยายาม ที่จะพัฒนามนุษยชาติ ให้มีความเป็นอยู่สุข ตามความหมายที่เขาพูดกันนั้น จึงไม่มีทาง ที่จะเป็นไปได้ แต่ที่เราทำกัน อยู่นี่นะ เราพอเห็นทาง เห็นสภาพ พิสูจน์ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์

ถ้าเราเข้าใจสัมปรายิกัตถประโยชน์ถูกต้อง ปรมัตถประโยชน์นั้นก็คือ ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ กับสัมปรายิกัตถประโยชน์นั้น มันลึกซึ้งเข้าไปถึงศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ถึงนามธรรม จิตวิญญาณ อย่างที่อธิบายกันแล้ว คร่าวๆ โดยตรง อาตมาอธิบายแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง อาตมาก็เคยได้ อธิบายแล้ว เพราะฉะนั้น เราจะต้องมาสร้างอริยทรัพย์ มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานี่เป็นอริยทรัพย์ ให้ได้อย่างถูกต้อง ถ้าคุณได้ คุณจึงจะเข้าสู่ โลกโลกุตระ หรือเรียกว่า โลกใหม่ ที่เป็นโลกพระพุทธเจ้า ท่านค้นพบ หรือเป็นโลกอื่น ต่างหากจากโลกโลกีย์ธรรมดา ต้องเข้าทางนี้ให้ได้ แล้วก็เข้าสู่โลกนี้ให้ได้ เมื่อเข้าสู่โลกใหม่ได้ ตั้งแต่ปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ ตั้งแต่เป็นคนเป็นๆเดี๋ยวนี้ ก็จะเห็นความขยัน จะเห็น อารักขสัมปทาของคุณ จะเห็นกัลยาณมิตตตา กะของคุณ จะเห็นสมชีวิตา จะเห็นชีวิตประเสริฐ ของคุณ เดี๋ยวนี้ทันทีทันใด ทิฏฐ ปัจจุบันธรรม เป็นประโยชน์ปัจจุบันนี้จริงๆ เพราะคุณมี สัมปรายิกัตถประโยชน์ ในจิตวิญญาณของคุณจริง

เมื่อคุณได้สองอย่างนี้ นี้เรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เป็นเนื้อหา แก่นสาร เป็นปรมัตถ์ ก็คือ บรมอรรถะนั่นเอง สาระแก่นสาร ที่จะเป็นประโยชน์ ที่มีสาระแก่นสารของบุคคล ตัวตน บุคคล กับสังคม ถ้าทำไม่ถูก ไม่มีปรมัตถประโยชน์ เพราะฉะนั้น จะทำถูกต้องเข้าใจประโยชน์ สองอันนี้ได้ชัด นอกจากชัดแล้ว จะต้องอบรมปฏิบัติ อย่างที่เราเป็นกันอยู่นี่ เพิ่มประโยชน์นะ ต้องเอาออกมาให้ได้ ขยันให้ถูก อารักขให้ถูก อย่าไปอารักขะสะสม ต้องอารักขะสร้างสรรความดี ให้ยิ่งขึ้น จะสะสมก็สะสมคุณงาม ความดี ความหมายของ คุณงามความดีนี่ คำกลางๆ อย่าไป เอาเปรียบ เอารัด ไปเสียสละ อย่าไป กอบโกยไว้ อย่ากักตุนไว้ ให้เป็นอัปปัจจยะ สอดคล้องกันกับนัยอื่น ธรรมข้ออื่นที่พระพุทธเจ้า ก็อธิบายไว้ ว่ามันขยายกัน สอดคล้องกันกับนัยอื่น ธรรมะข้ออื่น ที่พระพุทธเจ้า ก็อธิบายไว้ ว่ามันขยายกัน สอดคล้องกัน เนื่องหนุนกัน ไม่ใช่ไปขัดง้างแย้งกันอยู่ ประเดี๋ยวก็บอกว่าสะสม ประเดี๋ยวก็บอกว่าไม่สะสม เอ้าก็เจ๊งซิ ประเดี๋ยวก็ว่าอัปปัจจยะ ประเดี๋ยว ก็แปลว่า อารักขสัมปทา ว่าสะสม ประเดี๋ยวก็แปลว่า อัปปัจจยะ ว่าไม่สะสม จะเอายังไงกันแน่เล่า พวกคุณ มันก็ไปกันใหญ่ซิ ถ้าอธิบายหรือแปลความ อย่างนี้ มันก็ไม่ลงตัวกัน มันขัดแย้งกัน มันเป็นไป ไม่ได้ คิดว่าคุณคงมีปฏิภาณฟัง ที่อาตมาอธิบายนี่ คงเข้าใจว่า มันมีปฏิภาณพอฟังได้ ไม่โง่เกินไปหรอก พวกคุณนี่ ฟังให้ออก แล้วอาตมาก็ว่า อาตมาอธิบายง่ายๆ วนเวียนไป ซ้ำแซะ ซ้ำซาก แยกแยะ ขยายอยู่สู่คุณฟังอยู่นี่

เมื่อมันเข้าใจแล้ว ก็เหลืออยู่ที่ฝึกตน อาตมาเชื่อว่า คุณเชื่อว่าเข้าใจดีแล้ว ยังเหลือแต่ล้างกิเลส ให้ออกจริงๆ ก็แล้วกัน มันละไม่ค่อยออกเลยนี่ ไม่รู้จะใช้แชมพูอย่างไหน มันไม่ค่อยสระเลยนะ สระมันไม่ค่อยจะออกเลย สระยังไง มันก็ยังเหนียว หนึบๆๆๆ อยู่นี่ ทั้งๆที่จะละวัตถุออก จะสละ วัตถุออก จะสละแรงงานออก จะสละกิเลสออก เป็นตัวหลักใหญ่เลย จะสละกิเลสออกนี้ มันง้าง ไม่ค่อยออกเลย มันก็สละ มันก็จาคะออกได้ง่ายๆเลย เอาให้มันจริง ค่อยๆทำ จะทำแรงๆได้ก็เอา ให้มันขาดใจตายลองดู แต่เรามีแล้วขณะนี้ มีคนกล้า กล้าหาญที่จะเสียสละเงินทอง ออกมาใช้ งานการ อย่างที่เราทำอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็เพราะว่าพวกเรานี่ อุดหนุนอยู่ เสียสละเงินทองมาทำบุญ ทำทาน แล้วเราก็ไม่ได้เรี่ยไร ไม่ได้บอกบุญ ไม่ได้ทอดผ้าป่า ผ้ากฐินอะไรเราไม่ทำ แต่เราก็พิสูจน์ได้ นี่เป็น ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ ที่เห็นได้ว่า เราปฏิบัติถูกทางจริงนะ มันจึงมีประโยชน์เห็นอย่างนี้จริง เราทำบุญ เราทำทานกัน แม้แค่นี้เท่าที่ได้ นี่ก็เห็นแล้วนี่ เห็นรูปร่างแล้ว นี่เห็นรูปรอยแล้ว ว่ามันเป็น รูปธรรม ที่มีการเสียสละกันมาได้ โดยทำงานทำการ เป็นผลประโยชน์ ผู้จะสละ อย่าว่าแต่วัตถุ

สละแรงงาน นี่ก็เห็นอยู่เยอะ ในพวกเรานี่ มาสละแรงงาน มาสละเวลา เอาตัวเองเข้ามา พยายาม สร้างสรร ช่วยสละลาภ ยศ สรรเสริญ ตำแหน่งหน้าที่การงาน เงินทองเคยได้ หน้าที่เคยสูง เสียสละ ออกมา แล้วเราก็มาขยัน มาทำงาน นี่มาทำนี่ เห็นนี่ ในขณะนี้นี่ อาตมาพูดเมื่อไรก็พูดจริงๆ แล้วมันปลื้ม เป็นปลื้ม สำนวนโลกเขาว่านี่ เป็นปลื้ม แหม ต้องเอาสำนวนฝรั่ง นี่มันปลื้มนะ มันภาคภูมินะ มันปลื้ม ภาษาไทย ปีติ ภาษาบาลี ปลื้ม มันก็คือ ปีตินั่นเอง เปรมปรีดิ์ ปลื้มนั่นแหละ ปีตินี่มันน่า ปีติ มันน่าปลื้มนะ พูดถึงก็น่าปลื้มว่า พวกเรานี่ เป็นไปได้ปานฉะนี้นะ ไม่ใช่เรื่องเล็กหรอก ในสังคมทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็ก เขาเป็นได้ยาก แต่ดีกว่านี้ ยังมีอีกมากนะ ยังไม่ใช่เท่านี้นะ นี่ถึงแม้ว่านี่ ลางง ลางานออกมานี่ ก็ลางาน ออกมากันได้อยู่ อาตมาไม่ได้ยุแหย่ ให้คุณออกจากงานนะ พูดแล้ว ก็พูด ประเดี๋ยวจะหาว่าอาตมาพูดอย่างนี้ ใช้จิตวิทยา ยุแหย่ให้คุณลางานออกมา ไม่ยุแหย่ให้คน ลางานออกมา อย่ามาทำเป็นอวดดิบ อวดดี อย่ามาทำเป็นไฟแรง แหม วันนี้นะ ลาออกงานมาแล้ว มาเหี่ยวแห้งหัวโตแล้วก็ร้องไห้โอยๆ แล้วอย่ามาโทษอาตมา ถ้าคุณลาออกจากงานมาแล้ว คุณก็มาอยู่ไม่ได้ ต้องดูซิว่า คนสังคมนี้เขาอยู่อย่างนี้ คุณจะทนกับเขาได้หรือเปล่า อาตมาบอกทุกที เลยว่า พวกเรานี่มีเสือ สิงห์ กระทิง แรด ซ้อนอยู่ในนี้เยอะ มาทดสอบ มาพิสูจน์ดูดีๆเสียก่อนซิว่า อยู่ได้ไหม เขาอยู่อย่างนี้ เป็นอย่างนี้ คุณเอาไหม ศรัทธาสัมปทา ของคุณสูงขนาดไหน คุณเชื่อมั่น เชื่อฟัง เชื่อถือขนาดไหน พิสูจน์มาก่อนให้พอ ให้มีความเชื่อมั่นที่จริง ที่จริงมีผล มีความเป็นจริง รองรับตัวเองให้พอ ไม่เช่นนั้นมาแล้วก็ป้อแป้ โปกเปก โอ้ อาตมาก็ มาเลี้ยงเด็กๆแดงไม่ไหวนะ อาตมาไม่เลี้ยงเด็กแดง

อาตมารู้ว่า อาตมาไม่ใช่คนเก่งอะไรนักหนา จะมาเลี้ยงกระจองอแง โน่นก็ขี้ ก็เยี่ยว ก็แหม จะกินนม กินต้ม จะกินข้าว จะกินแกง จะวิ่งเล่น เละๆเทะๆ อาตมายังไม่เก่งสอนอนุบาลนะ อาตมาจะสอน คนโต อาตมาไม่ใช่คนเก่ง จะไปสอนได้ถึงขนาดอนุบาลก็ด้วย อะไรก็ด้วย ก็เละๆเทะๆเยอะแยะ นั่นไม่ได้ อาตมาสอนคนโตที่จะเดียงสา ที่จะมีภูมิ มีธรรม มีความแข็งแรง ช่วยตัวเองได้บ้าง พอสมควรแล้ว จึงจะเลี้ยงได้ อาตมาไม่ใช่คนเก่งถึงเลี้ยงได้ เด็กๆเล็กๆ กระจองอแง ยังไงก็เหมาหมด อบรมได้หมด เลี้ยงดูได้หมด ไม่ อาตมาไม่เก่งปานนั้น ขอประกาศความจริง ไม่เก่งอย่างนั้นจริงๆ เลี้ยงได้พอประมาณ เพราะฉะนั้น คนจะมา ต้องรู้ตัวเอง ถามไถ่อาตมาบ้าง ว่านี่จะลางานออกมา จะทิ้งทรัพย์สมบัติออกมาแล้วนะ ได้ไหม อาตมาไม่เคยให้คุณทำง่ายๆ ไม่ให้ทิ้งสมบัติพัสถาน ออกมาง่ายๆ ไม่เอา

ยิ่งอาตมาบอกว่า อาตมาแนะ อาตมาให้ออกมาเองนะ พอคุณออกมาแล้วคุณไปไม่รอด แล้วอาตมา ทำยังไง อาตมาก็เสีย อาตมาก็แย่กันพอดีเลย จะไปนั่งแบกหาม รับผิดชอบได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ถึงบอกให้คุณนั่นแหละ มั่นใจตนเอง เชื่อมั่นจริงนะ พิสูจน์ ถ้ายังไม่มั่นใจ อย่าเพิ่งออกมา ถ้าไม่จริง แล้ว ไม่แน่จริงๆแล้วไม่เชื่อมั่น ขนาดพอมีศรัทธา มีศีล คุณต้องมี สัมปรายิกัตถประโยชน์พอเพียง มีศรัทธาอย่างพอเพียง มีศีลอย่างพอเพียง มีจาคะของคุณจริงๆ ได้พอเพียง ไม่ใช่มาไฟไหม้ฟาง มาไฟแรง ไฟร้อนวูบวาบ เดี๋ยวเดียวไม่เอา มีปัญญา มีญาณที่เห็นจริงของจริงนี้ มีสัมปทา๔ อริยทรัพย์ สัมปรายิกัตถประโยชน์ ๔ นี้เพียงพอจริงๆ คุณจึงควรจะออกมา

นี่เราก็มีบ้างนี่ มีมาไม่ใช่น้อยเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่มากหรอก มาแล้วก็ฝึกเพียรต่อ มาสร้างสมต่อ มากระทำการอบรมตน ให้ยิ่งๆๆขึ้น สังคมจะเป็นไปรอด ก็เพราะว่า เรามีประโยชน์ที่ถูกทาง เป็นคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ อธิบายอะไรกัน ก็อธิบายได้ อธิบายไปโมๆ เมๆ อธิบายอย่างโน้นอย่างนี้ มันก็ดูฟังได้ อย่างที่อาตมาพูดแล้ว อธิบายชี้แล้วว่า อธิบายกันอย่างนั้นนะ หัวใจเศรษฐี ก็แบบนั้นๆ มันก็ได้ แต่มันไม่ถูกจริงๆนะ คุณฟังไปแล้ว คุณจะรู้ว่า มันถูกไหม อธิบาย แบบนั้น สังคมจึงเป็นอย่างเละๆ เทะๆ อยู่อย่างนี้ ทุกวันนี้ ต่างคนต่างจะกอบโกย ต่างคนต่างขยัน ขยันเอาเปรียบเอารัดน่ะ มันก็ยิ่งแย่นะซี ถ้าคนที่เอาเปรียบเอารัดเก่งนะ เออขี้เกียจ ขี้เกียจหน่อย ก็ยังพอทำเนา ใช่ไหม คนที่มันเอาเปรียบเอารัดเก่งๆ มันฉลาดนะ ฉลาดเอาเปรียบเอารัด เออ คุณขี้เกียจก็ขี้เกียจหน่อยเถอะ ก็ดีละ นี่แหม มันเอาเปรียบเอารัดเก่ง เฉลียวฉลาดด้วย แล้วมันขยัน ด้วยนะ ตาย สังคมก็ยิ่งบรรลัยใหญ่เลย มันแย่เลย นี่มันเป็นอย่างนี้ ทุกวันนี้น่ะ เพราะฉะนั้น ถ้าขยัน ซื่อสัตย์ เสียสละจริงๆแล้วละก็ ไม่มีปัญหาหรอก แล้วมันไม่จริง มันซ้อนๆอยู่ คนเรามันมีตัวขี้โลภ เป็นตัวบังหลายอย่าง ย้ำซ้ำแซกแยกแยะไปให้พอสมควรแล้ว

ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา สำหรับเรื่อง กล่าวถึงประโยชน์ ของศาสนาพุทธ เอ้าพอ

สาธุ


จัดทำโดยโครงงานถอดเทปธรรมฯ
ถอดโดย นายทองอ่อน จันทร์อินทร์ ๑๙ กันยายน ๒๕๓๐
ตรวจทานครั้งที่ ๑ โดย สิกขมาตปราณี ปึงเจริญ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๐
ตรวจทานครั้งที่ ๒ โดย สิกขมาตุปราณี ปึงเจริญ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๑
บันทึกข้อมูลโดย ทีมงานคุณกัญญา พุ่มรัตนา ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖
พิสูจน์อักษร-พิมพ์ออกโดย วรรประภา ชัยประสิทธิกุล สิงหาคม ๒๕๔๗
เข้าปกโดย สมณะพรหมจริโย
เขียนปกโดย พุทธศิลป์
ประโยชน์ของมนุษย์ 077F.DOC