ฌานในพระพุทธศาสนา
สมณะโพธิรักษ์
ณ วัดนรนาถสุนทริการาม เทเวศร์
บางขุนพรหม กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๑๗


 

วันนี้ก็มาเริ่มต้นที่เราจะอธิบายธรรมะ สู่กันฟังอีกวันหนึ่ง ธรรมะที่อาตมาบรรยายทุกวันเสาร์ ที่เรามาพูดกันฟัง ที่วัดนี้ก็ดี หรือไปเทศน์ที่วัดอื่นในวันอื่นก็ดี หรือพูดในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่วัดก็ดี ล้วนแล้วแต่อาตมาพูด อยู่ในมุมเหลี่ยมที่เรียกว่า เป็นไปแบบ นวังคสัตถุศาสตร์ คืออยู่ในมุมเหลี่ยม ที่มีของเก่ากับของใหม่ ผสมกันอยู่เสมอๆ ตามโอกาส ตามเวลา ฟังๆดูประหนึ่ง มันก็เรื่องเก่า แต่ฟังๆไป ถ้าใครสามารถที่จะฟังธรรมะด้วยดี ด้วยโยนิโสมนสิการอันดี พากเพียรแยกแยะธัมมวิจัย แทงทะลุธรรมนั้น ให้เข้าใจได้เสมอๆ แล้วล่ะก็ เราจะได้อานิสงส์ ในการฟังธรรมนั้น ทุกครั้งไป ดังที่ได้เคยพูดถึงอานิสงส์ ของการฟังธรรม มาให้ฟังเสมอแล้วว่า อานิสงส์แห่งการฟังธรรมนั้น มันมีอยู่ว่า

๑.จะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยได้ฟัง

๒.เราจะเข้าใจ สิ่งที่ไม่เข้าใจนั้นยิ่งขึ้น

๓.ความคิดที่เคลือบแคลงสงสัยก็จะได้หมดไป

๔.ได้กระทำความเห็นของเราให้ถูกตรงยิ่งขึ้น

๕.จิตใจเราจะผ่องใสเบิกบาน

อานิสงส์ ๕ ประการนี้ ไม่ใช่ภาษาพูดเล่นๆ เป็นของจริง มีจริงเกิดจริง ผู้ใดฟังธรรมอย่างที่กล่าวแล้ว คือฟังด้วยการตั้งใจฟัง อย่างแท้จริงแล้ว จะได้อานิสงส์ อย่างที่ว่านี้จริงๆ ความใหม่คืออะไร? สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ก็จะได้ฟัง นั่นหมายความว่า ความใหม่ หรือสิ่งใหม่สิ่งแปลก ที่เพิ่มขึ้น สิ่งใหม่สิ่งแปลกนั้นแหละ จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่ยังเข้าใจ ยังไม่พอยิ่งขึ้น นี่คืออานิสงส์ ข้อที่ ๒ สิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ มันยังคลางแคลงใจยังสงสัย ยังวิจิกิจฉาอยู่นั่น มันก็จะหายสงสัย คลายข้องใจลงไปได้ หายเคลือบแคลงลงไปได้ เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ เมื่อเราเกิดปัญญาอันเพิ่มขึ้น ถูกตรงขึ้น ได้ เข้าใจเป้ามันดีขึ้น ความสงสัยหมดลง ความเห็นของเรา ก็เข้าเป้าหมายที่ยิ่งขึ้น หมายความว่า ความเห็นของเรา ก็ถูกตรงยิ่งขึ้น เป็นอานิสงส์ในข้อที่ ๔ ผู้ใดฟังธรรมแล้ว ได้ประโยชน์สี่ข้อนี้ แน่นอน ผู้นั้นฟังธรรม ต้องเบิกบานสดใสแจ่มใส ร่าเริงในธรรมนั่นเอง เพราะว่าเราฟังธรรมแล้วไม่สูญเปล่า ฟังธรรมแล้วก็ร่าเริงในธรรม ได้รับสิ่งที่เรามาฟังนั้นสมใจ แม้น้อย แต่ค่าของธรรมนั้นมีค่าสูง มันเป็นปีติก็ตาม หรือเป็นอะไรก็ตาม มันเทียบกับค่าของเงิน ไม่ได้หรอก มันดี มันทำให้เราภาคภูมิ เหมือนกับเราได้รับอะไรเพิ่ม มันก็รู้สึกสบายใจอิ่มเอิบ เมื่อเราอิ่มเอิบร่าเริงเบิกบานสดใส นี่เรียกว่าเป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ซึ่งเป็นของจริง

พระพุทธเจ้าท่านตรัสสภาวธรรม ท่านเอาสภาวธรรม มาแยกเป็นภาษา แบ่งเอาไว้เรียบเรียงเอาไว้ มันไม่ใช่ของเล่น ที่ว่าแสดงธรรมะ ที่อาตมาแสดงธรรมเป็น นวังคสัตถุศาสตร์นั้น อาตมาไม่ได้พูดเอง อาตมาเป็นสาวก ของพระพุทธเจ้า อาตมาเห็นจริง จริงๆว่า อาตมาแสดงธรรมะเป็น นวังคสัตถุศาสตร์ แม้จะเป็นนวังคสัตถุศาสตร์ ที่ไม่ยิ่งใหญ่ ไม่พิสดาร ไม่เป็นธรรมะที่เยี่ยม เหมือนกับที่ของพระพุทธองค์ ทรงแสดงเอง แล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงเอง ก็ย่อมจะเป็นธรรม ที่มีคุณภาพ เป็นธรรมะที่มีค่าอันสูงยิ่ง ถูกตรงละเอียดลออ สามารถที่จะแยกแยะ อย่างพิสดาร หรือว่าเป็นธรรม ที่ตรงกับเป้าหมายแล้วเด็ดขาด ได้อย่างแน่นอนที่สุด เพราะเป็นของพระพุทธองค์ ท่านย่อมแสดงได้ดี ได้เก่งกว่าอาตมาแน่ อาตมาเป็นแค่พุทธสาวก อาตมาก็แสดงตามภูมิของอาตมา แต่อาตมาก็ยืนยันว่า อาตมาแสดงแนวเดียวกับพระพุทธองค์แสดง

สภาพของทุกอย่างในโลก มีสภาพ ๓ เท่านี้แหละ สุตะ เคยยะ ไวยากรณะ เป็นลักษณะอย่างนี้ เป็นธรรมะ นี่ก็หมู่หนึ่ง เรียกว่าไตรลักษณ์ มี ๓ อย่าง ก็ทำอย่างนี้ทุกที คุณก็ทำอย่างนี้ ฟังไปก็เอาไปจดไว้ จดไว้แล้วก็เอาไปทบทวน ทบทวนดูให้ดี เข้าใจแล้วคุณก็เอาไปทำ มันก็เป็นธรรมะ ที่ได้แก่คุณทุกทีๆไป แม้ในลักษณะที่ทำเพิ่มเติมยิ่งกว่านั้น อันมีคาถา อุทาน อิตติวุตตกะ นี่ก็เป็นอีกหมวดหนึ่ง สามองค์เหมือนกัน คาถา อุทาน อิตติวุตตกะ ก็เป็นการกระทำซ้ำ แต่ว่ามีใหม่ คาถาก็คือ เอาสิ่งที่เราได้ เป็นเนื้อหาสาระ ที่เราได้แล้วนี่ เอาพิจารณาอีกทีเป็นไวยากรณะแล้ว เห็นว่า อ้อ ร้อยเรียงแล้ว เห็นอย่างนั้นชัดเจนก็ไปกระทำ ก็ได้สิ่งนี้มาเป็นธรรมะ พอได้ธรรมะอันนี้มา คุณก็เอาธรรมะอันนี้ มาร้อยเรียงกัน เป็นคาถาใหม่ เป็นคัมภีร์ใหม่ เอามาพูดสู่คนอื่นฟัง จากที่อาตมากระทำนี่แหละ

อาตมาเห็นธรรมะ และอาตมารู้ธรรมะ อาตมาก็เอามา เรียบเรียงเป็นคาถา หรือเป็นคัมภีร์ใหม่ เราจะเรียกคาถา หรือเราจะเรียกว่าอาคมก็ได้ ภาษาบาลีอีกคำหนึ่ง จะเรียกอาคมก็ได้ อาคมก็หมายความว่า เป็นคัมภีร์ หรือเป็นตำรับตำรา หรือเป็นข้อร้อยเรียง หรือเป็นภาษาพูด หรือเป็นบัญญัติ อันที่จะเอาออกมาแสดงอีกทีหนึ่ง ผู้เรียนรู้ แล้วก็มาแต่งคาถาเองก็ได้ หรือเรียกว่าคาถา หรือเรียกว่าอาคม อาคมหรือคาถานี้ บางคนเขาจะเรียกซ้ำกัน เป็นคาถาเป็นอาคม เรียกซ้ำกันไป ต่อไปเลยว่า คาถาอาคม เรียกอย่างนั้น เรียกคาถาอาคมก็ได้ ได้เหมือนกัน คำว่าอาคม ก็แปลว่าคัมภีร์ แปลว่าตำรับตำรา แปลว่าบัญญัติ อันที่ได้เรียบเรียงร้อยเรียงขึ้น คาถาก็เหมือนกัน มีคาถา แล้วก็คาถาอันนี้ ที่เอามาบรรยายนี้ มันก็จะทำให้คุณนี่ฟัง ฟังคาถาอันนี้ใหม่ พอฟังไปแล้ว คุณก็เหมือนสุตะนั่นแหละ คือฟังใหม่อีกทีหนึ่ง ฟังเป็นคาถาใหม่ พอฟังแล้ว คุณก็เอาไปจดไปใช้ หรือคุณจะฟังเดี๋ยวนี้ก็ได้ ก็มีสิ่งใหม่ขึ้นมาอีก เอ๊อ คุณก็อุทานขึ้นเอา แล้วแต่คุณจะได้รับ เพิ่มเติมเป็นอุทานะ อุทานะคุณก็จะเพิ่มเติมซาบซึ้งขึ้น อ้อ มันมีอย่างนั้นอย่างนี้ คุณก็จะอ๋อเพิ่มขึ้น นี่แหละอุทาน แปลตามภาษาง่ายๆ ว่าคุณจะอ๋อเพิ่มขึ้น เรียกอุทานะ พอคุณอ๋อเพิ่มขึ้น คุณก็เอาไปเก็บไว้อีก สะสมไว้อีก แล้วก็ไปทำอย่างเก่าอีก นั่นแหละอิตติวุตตกะ

อิตติวุตตกะ ก็ไปทำอย่างเก่านี่แหละ เอาไปคิดทบทวน แล้วก็เอาไป ประพฤติ ประพฤติปฏิบัติไปทำอีก จากฟังเรื่อยไป แล้วก็เอาไปทำ หรือจาก อ๋อ ที่ใหม่ขึ้นไป แล้วก็เอาไปทำเพิ่มขึ้นอีกเป็นอิตติวุตตกะ มันก็จะได้อย่างนี้มากขึ้นๆ เวียนขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็เป็นสิ่งที่ คุณได้ในตน เป็นเหตุเป็นปัจจัยอยู่ในตน เพราะฉะนั้น คุณมีสิ่งนี้แล้ว คุณจะเอาไปสอนผู้อื่นอีกทีใด คุณก็ชักดาบออกมา ทีนี้ก็ชักเอาของเก่านี่แหละของคุณออกมา เขาเรียกว่าชาดก มันจะเก่าแค่ไหนล่ะชาดกน่ะ หรือนิทาน ที่เล่าๆมาแล้ว ที่ดี ดีมาแล้ว ก็ของคุณมีนั่นแหละ ที่เรียกว่าชาดก หรือเรียกว่านิทาน พระพุทธเจ้าท่านได้มาก็เหมือนกัน ได้มาก็ชักออกมา ก็มีแต่ของเก่า ของท่านนั่นแหละ ท่านเรียนรู้มา ก็ของเก่าของท่านนั่นแหละ เอามาให้คุณรู้คุณฟังอีก คุณฟังไปได้ใหม่ คุณฟังโดยโยนิโสมนสิการ ฟังด้วยดี แล้วคุณก็ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ฟัง ได้เข้าใจเพิ่มขึ้น สงสัยคลายสงสัยยิ่งขึ้น ความเห็นของคุณถูกตรงขึ้น แล้วคุณฟัง ก็ได้ความผ่องใสเบิกบานในธรรมขึ้น คุณก็ได้อย่างนี้ทุกทีๆไป

แล้วคุณเอาไปปฏิบัติ คุณก็ได้ธรรมเป็นอัพภูตธรรม เป็นธรรมที่เฉลียวฉลาด สูงขึ้น เรียกว่าอัจฉริยะขึ้น หรือจะเรียกอริยะขึ้นก็ได้ เก่งขึ้น เป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดทันคนขึ้น เป็นผู้รู้ผู้แจ้งผู้สว่างเพิ่มขึ้น เรียกว่าอัพภูตธรรม ธรรมะนั้น ทำให้เรากลายเป็นอัจฉริยะ ทำดั่งนี้เรื่อยไปทั้ง ๘ อย่างนี้ มีตั้งแต่ สุตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิตติวุตตกะ แล้วก็ ชาดก ไปจนกระทั่งถึง อัพภูตธรรม ๘ อย่างนี้ ทำไปเรื่อยๆ ก็สั่งสมลงเป็น เวทัลละ ข้อที่๙ สั่งสมลงเป็นเวทัลละ (เวทนั่นเอง เวทัลละ เวท+อัลล เวท ก็คือ ความรู้นั่นเองแหละ ความรู้อันยิ่ง ที่มันสั่งสมลงไปในตน แล้วก็ เวท เวทัลละ หรือแปลโดยอรรถ เวท+อัลล)  นี่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสตร์ คือเป็นความรู้ที่มีองค์ ๙  "นวังค"หมายความว่า องค์ ๙  "นว" แปลว่า ๙ นว+องค = นวังค ก็องค์ ๙ ศาสตร์ นวังคสัตถุศาสตร์ สัตถุก็หมายความว่า ความรู้ก็ได้ แปลว่าอาวุธก็ได้  ศาสตร์หมายความว่าความรู้ก็ได้ อาวุธก็ได้ เหมือนกัน

ถ้าหมายอันหนึ่ง เป็นของบุคคลผู้แสดงเสีย สัตถุหมายเอาตัวผู้แสดง ศาสตระ หมายเอาความรู้ ที่แสดงออกก็ได้ เอาอย่างนั้นแหละ ภาษามันเป็นสิ่งที่ชี้สภาวะเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เราก็หมายความว่า แสดง นวังคสัตถุศาสตร์ ก็คือ ผู้แสดงธรรมะอันนั้น เป็นไปเพื่อให้ความรู้ โดยระบบ ๙ หรือโดยองค์ ๙ เรียกว่า นวังค อย่างนี้เอง วนเวียนๆ ซ้ำแซะ แต่ก็มีของใหม่เพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้นเรื่อยไป ใครจับใครได้ เอาไปประพฤติได้ หรือเข้าใจแทงทะลุได้มากยิ่งขึ้น คนนั้นก็ได้ภูมิได้ปัญญาเพิ่มขึ้น ที่ตนเสมอๆๆ

อันนี้อาตมาเกริ่นมาก่อน ก่อนที่จะพูดถึง การบำเพ็ญฌาน แบบพุทธศาสนาโดยตรง เรื่องนี้เป็นเรื่องลึก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ อาตมากล้ากล่าวได้ว่า เดี๋ยวเข้าใจฌานผิดกัน ๙๙.๙๙๙๙๙% เข้าใจกันว่า ฌานนี่ ของพุทธศาสนาโดยตรง เป็นอีกแบบหนึ่ง อาตมาจะขอพูด จุดแรกเสียก่อนให้ฟังว่า มันไม่ตรงอย่างไร แล้วคุณจะเห็นทันทีเลย คือ ฌานของพุทธศาสนานั้น เป็นฌานที่บำเพ็ญในปัจจุบัน เป็นไปโดยปัจจุบัน บรรลุฌานโดยปัจจุบัน และได้รับผลเป็นปัจจุบัน นี่ของพุทธ

เมื่อผู้ใดบรรลุฌาน ทำฌานแกล้วกล้า แล้วก็สำเร็จผลในฌานเสร็จ ก็เป็นผู้ที่ได้กระทำลงแล้วอย่างเก่ง เสร็จในตัว เรียกว่า ฌานของพระพุทธเจ้า ส่วนอุบายในการกระทำนั้น จะไปนั่งหลับตาบ้าง จะไปลืมตาปฏิบัติบ้าง จะไปบำเพ็ญตบะต่างๆ หลายๆอย่างบ้าง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นอุบายโกศล หรือว่าเป็นวิธี ที่จะบำเพ็ญประพฤติ เพื่อให้เกิดฌาน

องค์ของฌาน มีอะไรบ้าง เอาตรงนี้เสียก่อน องค์ของฌานนั้นมี

๑. ตรึกตรอง ไตร่ตรอง และวิพากษ์วิจารณ์ เรียกภาษา ตามองค์ของฌานว่า วิตกวิจาร ผู้ใดเรียนจิต ผู้ใดสามารถ ที่จะทำจิตให้ตัวเอง เอาจิตนั้นมาใช้ ในการที่จะวิจัยวิจาร ไตร่ตรองพากเพียร แยกแยะ สิ่งที่เราจะกระทำนั้น ให้ออกทันทีได้ ในขณะนั้น โดยไม่มีอำนาจของกามฉันทะ ไม่มีอำนาจของพยาปาทะ ไม่มีอำนาจของถีนมิทธะ ไม่มีอำนาจของวิจิกิจฉา หรือไม่มีอำนาจของอุทธัจจะใดๆ ที่จะก่อให้รำคาญ เป็นอุทธัจจกุกกุจจะ มากวนในจิตขณะนั้น ได้แล้วล่ะก็ จิตนั้นทำงานได้โดยอิสระ โดยไม่มี กิเลสนิวรณ์ ๕ นี้ จิตอย่างนั้นเราเรียกว่า จิตที่เป็นฌาน และกำลังทำหน้าที่อยู่

หน้าที่อะไร หน้าที่ไตร่ตรองตรึกตรอง เพ่งพิจารณา อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียกว่าวิตกวิจาร ภาษาง่ายๆ เขาเรียกกัน ควบคู่กับวิตกวิจาร นั่นคือ กำลังไตร่ตรองพิจารณา เมื่อพิจารณารู้แจ้งแทง อ๋อออก ก็เกิดปัญญารู้ พอรู้แล้วเป็นไง อารมณ์ของจิต มันก็ปีติเข้าให้ พออ๋อขึ้นมาละคุณเอ๊ย มันปีติ บางคนน้ำตาไหล บางคน กระโดดโลดเต้นเลย บางคนเนื้อกายสั่น บางคนกระโดดลอยเลย บางคนเหาะได้วืดว้าดเลย ถ้ามันปีติแรง จนถึงขั้นขนาด เหาะวืดว้าดได้เลย มันแรงนะ ปีติขั้นนี้ อุพเพงคาปีติ ลอยก็แล้ว จะลอยได้วืดว้าดจริงๆ ถ้าเผื่อว่าอำนาจจิต ได้เป็นอย่างนั้นแท้ แต่อย่าเพิ่งไปนึกฝันว่า เราจะลอยแค่นี้นะ ประเดี๋ยวคุณลอย แล้วหัวตกหกคะเมน คุณไม่มีหางเสือ ประเดี๋ยว เอาหัวไถพื้นนั่นแหละ ลอยแต่ขา แล้วยุ่งเลย เพราะฉะนั้นอย่านึกมัน นั่นมันเป็นไปตามสภาวะ ที่มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัย

มันเกิดปีติแล้ว มันก็เกิดความสุขในคน คนเราเกิดปีติแล้วมันสุข ปีติแล้วไม่ทุกข์หรอก นอกจาก คุณระงับปีตินั้นไม่ได้ ให้มันเป็นคันคะเยอ เกาดิ้น เนื้อตัวมากมาย นั่นปีติแบบนั้นมากเข้า คุณไม่สุขหรอก แล้วทุกข์ อย่างนั้นก็เป็นได้ มันเป็นอำนาจของ พวกที่ไปบำเพ็ญจิต ยึดมั่นถือมั่น แบบฌานหลับตา ก็จะเกิดปีติ ดังที่กล่าวเมื่อตะกี้นี้ ได้เยอะแยะมากมายเลย อาการทางนั่งหลับตา ทางปีตินี่ มีมากมายหลายอย่าง ถ้าใครเคยอ่านตำราทาง ฌานหลับตา มาแล้ว ก็จะเข้าใจ อาตมาไม่เห็นประหลาด ตรงไหนเลย อาตมาก็เคยบำเพ็ญฌานทางหลับตามา ก็เคยเกิดอาการ เหล่านั้นมา พอได้ น้ำลายยืดน้ำลายย้อย อะไรก็เคยอย่างนั่นแหละ โค้งโก่งไป เอนหลังเหมือนกับจะล้มก็ไม่ล้ม จะไม่ล้มก็ไม่ล้ม ถ้าคนธรรมดาอยู่ไม่ได้ แต่เวลาอยู่ในฌาน มันไม่ล้มเหมือนกันแฮะ ก็เคย กระโดดโลดเต้นตัวลอยอะไร ก็เคยทั้งนั้นแหละ อาตมาเคยบำเพ็ญมา ในฌานหลับตา ก็เคยเล่นมา

แต่วันนี้เราจะพูด ฌานแบบพุทธศาสนาโดยตรง จะไม่เน้นในเรื่อง ฌานหลับตา แต่จะพูดเกี่ยวพันกับฌานหลับตาไปบ้าง เพื่อจะให้เห็นดำกับ ขาว ให้ชัดๆ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ฌานใด ที่ได้กระทำ วิตกวิจารจริง หรือเพ่งเพียรไตร่ตรอง ประพฤติอ่านออกมา ให้มันชัดเจนจริงแล้วละก็ พอมันเห็นมันอ๋อ มันจะมีปีติ นอกจากมีปีติแล้ว มันก็จะมีสุข โดยแท้จริง พอเกิดสุขแล้ว คุณเสพย์สุขอยู่ได้ ประเดี๋ยวคุณก็ต้องปล่อย มันก็จะเป็นอุเบกขาขึ้นโดยตรง ถ้าในเรื่องใดของคุณเอง ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นมันมาก คุณก็จะปล่อยเลย อุเบกขาก็จะเกิดเร็ว

แต่ถ้าคุณเอง ไปยึดมั่นถือมั่นมันมาก อุเบกขามันไม่ค่อยจะถึงหรอก มันจะปีติ มันจะสุข มันจะอยากเอาไปโม้ มันจะอยากเอาไปแสดง มันจะอะไรต่ออะไรอยู่นั่นแล้ว มันก็แบกความรู้ไป กลายเป็นพรหมปุโรหิตา แบก อยากเป็นครูเขา อยากอวดอยากอ้าง อะไรต่ออะไร อยู่ตลอดเวลาเลย มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น องค์ฌานนี้ ถ้าใครเข้าใจสภาพ ธรรมของมันแท้จริงแล้ว มันจะเป็นไป ด้วยอำนาจแบบหมุนเวียน อยู่อย่างคร่าวๆ อยู่ ๔ อย่างแบบนี้ เรียกภาษาสั้นๆ ที่ตั้งบัญญัติเอาไว้ ก็มีคำจำกัด ความง่ายๆ ว่า วิตกวิจาร ปีติ สุข อุเบกขา จะมีอย่างนี้แหละ หมุนเวียนอยู่

ถ้าดับสิ่งที่เราได้คิดไว้ ก็จะเหลือแต่ ปีติกับสุข เอกัคคตารมณ์ อย่างนั้นแหละ แต่มันยังไม่ใช่อุเบกขาทีเดียวหรอก ในขณะที่เราคิด ในขณะที่เราตรอง พอตรองได้เจอสิ่งที่เราไปตรองแล้ว เรารู้ผลแล้ว มันก็ยังไม่อุเบกขา มันยังมีสังขารธรรมอยู่มาก ท่านถึงไม่เอาอุเบกขามาใส่ เพราะฉะนั้น ฌาน ๑ ฌาน ๒ ท่านยังไม่ให้มีอุเบกขา พอไปฌาน ๓ ปีติมันก็น้อยลงแล้ว มีสุขสบายอยู่ สุขมันก็รวมลง ท่านถึงเรียกว่ามีอุเบกขา เป็นสภาพ ยิ่งสุขก็ลดลง เหลือความเฉยๆ ชินชาแล้วมันก็อุเบกขา มีแต่ความเฉยๆ มันก็ยิ่งจะเป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นจิตที่เป็นหนึ่ง อยู่ว่างๆใหญ่เลย นี่เป็นองค์ของฌานธรรมดาๆ ที่เป็นอยู่มีอยู่ ลืมตาก็มีอย่างนี้ หลับตาก็มีอย่างนี้

ถ้าผู้ใดมีองค์ฌาน แล้วรู้จิตที่เป็นอย่างนี้จริงๆ นี่อธิบาย สภาพของฌาน ให้ฟังก่อนนะ ประเดี๋ยวจะบอกว่า ฌานนี่หมายความว่ายังไง มาจากอะไร และจะทำยังไง ถึงจะเรียกว่าฌานแท้ และไปหลับตาเอานั่นน่ะ มันเป็นยังไง มันจะแตกต่างกันยังไง เดี๋ยวจะอธิบายพูดให้ฟังชัดๆ คุณจะเห็น ความแตกต่างของคำว่า ฌานในแบบพุทธโดยตรง กับฌานในแบบที่หลับตา หรือ ฌานในแบบของเดียรถีย์ หรือว่าอาจารย์ที่ปฏิบัติตบะ ในทางอื่นๆ เขากระทำกันมาเยอะแยะ มันจะผิดแผกกันยังไง คุณจะเข้าใจได้

ทีนี้ถ้าผู้ใด เข้าใจสภาพธรรมอย่างนี้แล้วคร่าวๆ เป็นภาษาเสียก่อน แล้วทีนี้ก็เอาไปปฏิบัติดู ให้มันรู้ ว่าเราจะเป็นได้ยังไง วิธีลัด เข้าไปนั่งหลับตาก็ดี วิธีลัด ลองดูซิ ลองนั่งหลับตาเข้า เอาอุบายโกศลอะไรก็ได้มานั่ง อาจจะท่อง พุทโธๆๆๆ แล้วก็จิตเอาไปผูกไว้ที่พุทโธ โดยเอาพุทโธ เป็นหน่วยหนึ่ง ที่เราจะเกาะ เรียกว่า เอกัคคตา เอาจิตของเรา ไปผูกไว้ที่พุทโธ ว่านั้นเถอะ พุทโธนี่เป็นวจี โตหน่อย  ถ้าอย่างสมัยพระพุทธเจ้าไม่มี นั่งหลับตาแล้วท่องพุทโธไม่มี นอกจากนั่งหลับตา ท่องพุทโธไม่มีแล้ว จะนั่งหลับตา ท่องยุบหนอพองหนอก็ไม่มี นั่งหลับตาท่องสัมมาอรหังก็ไม่มี หรือจะนั่งหลับตา ท่องภาษาอะไรก็ไม่มี เท่าที่ดูแล้วในตำรา พระไตรปิฏกมา ไม่มีนั่งท่อง

จะมีบอกว่า บำเพ็ญอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า บำเพ็ญจิตในจิต เป็นเรื่องต่อไปลึก พระพุทธเจ้าท่านให้เพ่งลมหายใจ อันเรียกว่า อานาปานสติ อย่างนั้นมี แต่ตำราที่ว่า นั่งท่องยุบหนอพองหนอ แล้วยืนยันว่า มีในสมัยพระพุทธเจ้า อาตมาก็ขอยืนยัน เอาหัวชนกำแพงเหมือนกันแหละว่าไม่เห็นมี แต่ใครจะว่ามีก็มีนะ แต่มันได้ผลเหมือนกันนะพูดไป ปฏิบัติอย่าง ยุบหนอพองหนอ ก็ได้ผล ปฏิบัติพุทโธก็ได้ผล ปฏิบัติสัมมาอรหัง ก็ได้ผลเหมือนกันแหละ แต่ทีนี้ผลมันไปถึงไหนล่ะ เราวางฐาน หรือว่าเราใช้ผลของเรา ใช้อุบายโกศลแบบนี้ไป แล้วเราได้ผลอันนั้นหรือยัง ถ้าได้ผลแล้ว เราก็ปฏิบัติต่อซิ เรียนจบ ป.๑  ป.๒ แล้วเราก็หา ป.๓  ป. ๔ ต่อ พอเรียนจบ ป. ๓  ป. ๔ แล้ว ก็หา ป. ๕  ป. ๖ ต่อซิ  ก็จะไปยันป้ายอยู่กับวิชา ป. ๑ ไปยันจบเลย ไม่มีนะ พระพุทธเจ้าไม่สอนหรอก วิชาประเภทเดียว พ่วงแพอันเดียว อันพาบรรลุถึงขั้นอรหันต์เลยไม่มี ท่านมีจะไต่เป็นระดับๆ เพราะฉะนั้น ถ้าจะนั่งลองดูก็ได้ ไปทดสอบดูอย่างที่ว่านี้ ถ้าเข้าใจแล้วว่า

ถ้าจิตมันไปรวมเป็น เอกัคคตา โดยเราจะเอาบัญญัติใหญ่ๆ คำว่าพุทโธมานั่งท่อง แล้วก็เพ่งพุทโธๆๆ หรือ จะเอาคำว่าพุทโธ ไปบวกกับลมหายใจ เอ้า พุท-เข้า โธ-ออก พุท-เข้า โธ-ออกนะ เอ้า พุท - โธ พุท - โธ  จะทำอย่างนี้บ้างก็ได้ ไม่ว่า มันจะได้เป็นบัญญัติใหญ่ๆ ที่คนจิตหยาบๆ ยังยึดติดไม่ได้เลย พอจะให้จิตมันอยู่กับเนื้อกับตัวบ้างก็ไม่ได้แล้ว มันไปเที่ยว จะคิดเรื่องนี้เรื่องนั้น ถูกโจรพาไปหมดว่างั้นเถอะ ถูกยักษ์มาร มันดึงจิตไปหมด เราก็หาบัญญัติหยาบๆใหญ่ๆ มาผูกติดเอาไว้ อย่างอรหังสัมมาก็ได้ อรหังสัมมา แต่อรหังสัมมานี่ มันไม่ได้ใกล้เคียง เขาก็เลยไม่รู้ว่า เขาใช้บัญญัติ ที่เป็นรูปอะไร แต่ว่าใช้บัญญัติเป็นภาษาว่าอรหังสัมมา ก็คงจะเอาจิต ไปผูกไว้ที่อรหัง อ้อ เขาใช้บัญญัติด้วยลูกแก้ว นอกจากลมหายใจ อย่างพุทโธๆ พุท-เข้า โธ-ออกที่ลมหายใจ แต่อรหังสัมมา บัญญัติเขาใช้  เอานะ จิตไว้ที่เหนือสะดือหนึ่งนิ้ว หรือสองนิ้วอะไรก็ไม่รู้ อาตมาจำไม่แม่น แล้วก็ให้เอาจิต ไปผูกไว้ที่ตรงนั้น แล้วก็สร้างเป็นรูปลูกแก้ว ที่มีจริงนั้น แล้วก็ท่องอรหังสัมมาๆ อย่าให้จิตออกจากตรงนั้นนะ มันก็เป็นอุบายโกศล ดึงจิตเอาไว้ อย่าให้โจรมาชิงจิตไป เป็นอุบาย อย่าให้โจรมาชิงจิตไป ก็ดีเหมือนกัน ไม่เป็นไรก็ดีเหมือนกัน ในภาวะที่อยากทดสอบว่า ถ้าจิตอยู่เป็นเอกัคตารมณ์แล้วนี่ เราจะใช้จิตไปคิดอะไร หรือว่าไปพิจารณาอะไร หรือว่าปัญญา มันจะเกิดได้ไหม ในขณะจิตที่มันว่างลง จบลง มันจะใช้ได้ไหม ถ้าใครทำได้ จะเห็นผล หรือแม้จะท่อง ยุบหนอพองหนอ แล้วก็กำหนดที่ท้อง พองออกยุบเข้า พองออกยุบเข้า เอาเป็นบัญญัติควบคู่

ผู้ใดที่เอาสิ่งที่เป็นบัญญัติที่ว่านั้น เป็นอุบาย เข้าไปประพฤติปฏิบัติจริงๆ ก็จะช่วยให้คุณผูกจิตได้จริง จนกระทำเข้า ทำให้ชำนาญ จนสามารถรู้ได้ และมีจิตรวมเป็นหนึ่งจริงๆ ไม่ฟุ้งซ่านไปมากมาย สามารถเอาจิต มาพิจารณาได้ พิจารณาอะไรล่ะ ที่นี้แหละ เวลาพิจารณา คุณก็จะพิจารณาอะไร เมื่อเวลาเอามาแล้ว เอาพิจารณา พระพุทธเจ้าท่านก็ให้พิจารณา กาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม นี่เป็นหลักตายตัวเลย เอกายนมัคโค คุณได้จิตของคุณเป็นหนึ่งแล้ว คุณจะเอาไปพิจารณา สุ่มสี่สุ่มห้า อันไหนมันนอกฐานทั้งนั้น นอกเอกายนมรรค นอกมรรค ถ้าคุณพิจารณาอย่างอื่น นอกมรรคแน่ๆ ไม่ใช่สัมมาอริยมรรค ถ้าใครได้จิต ที่เป็นหนึ่งอย่างนี้แล้ว แล้วก็เอามาพิจารณากาย

กายคืออะไร กายก็คือรูปธรรม มีคู่กับอะไร มีคู่กับเวทนา นี่เป็นคู่แรก เมื่อมีกาย แล้วมันก็มีเวทนาเข้าไปควบคู่ เวทนาก็เป็นนามธรรม กายก็เป็นรูปธรรม พอพิจารณากายเข้า เช่น สมมุติว่า เราจะพิจารณาสิ่งหยาบๆ เสียก่อน คิดถึง เอาอดีตมาพิจารณาก็ได้ ถ้าเอาอดีตมาพิจารณาแล้ว เราจะเรียกว่าปัจจุบันธรรมก็ได้ เป็นปัจจุบันธรรมของจิตซ้อนจิต แต่ถ้าจะพิจารณา โดยเอาอดีต มาพิจารณาแล้ว เรียกตรงๆ ไม่ใช่พิจารณา เป็นปัจจุบันธรรม มันเป็นปัจเวกขณ์ เพราะเอาเรื่องที่ผ่านแล้วมาคิด ทบทวน เขาเรียกว่าทบทวน ปัจเวกขณ์ เอามาทบทวน เอาสิ่งเก่าๆมาคิด เราได้ผ่านรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปธรรม เช่น เราเอารูปธรรมชัดๆ ที่เราเองยังติดยึดอยู่มาก รักมาก หรือทำให้โกรธมาก สิ่งที่รักมากอาจจะเป็นแฟน สิ่งที่ทำให้โกรธมาก อาจจะเป็นศัตรูก็ได้ เราเอาคนผู้นั้นมา ยกรูปธรรมขึ้นมาชัดๆ เป็นรูปศัตรู แล้วก็เรื่องราวที่เราเป็นศัตรูกัน ประกอบอยู่ในนั้นเสร็จ เรียกว่ารูปธรรม หรือแฟนที่เรารัก ผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้หญิงก็พิจารณาผู้ชายคนหนึ่ง แล้วก็คุณธรรม หรือเรื่องราว ที่ทำให้เรารักแฟนคนนั้น ก็เอามาพิจารณา พิจารณาไปพิจารณาไป จนเห็นได้ว่า ที่เรารักกันนั้น เราได้อะไรจากกัน เราได้มีทุกข์ เพราะเรารักกันเท่าไหร่ เราได้มีสุข จากที่เรารักกันเท่าไหร่ คุณก็จะเกิดรู้แจ้ง ในสุขเวทนากับทุกขเวทนาขึ้น เพราะพิจารณากาย ฟังให้ดีนะ

พิจารณารูปธรรมนี่แหละ เรียกว่ากาย โดยที่อาตมายกตัวอย่างว่า เอาสิ่งที่รักกับสิ่งที่ชังมานี่ คุณเอาสิ่งที่ชังกับเอาคนที่เคยโกรธแค้น อาฆาตกันมา ก็เหมือนกัน เอามาพิจารณา แล้วคุณจะไปรู้ว่า คุณได้รับความสุขจากการกระทำกับ คู่อาฆาตนี้เท่าไหร่ คุณได้รับความทุกข์ จากการกระทำกับคู่อาฆาตนี้เท่าไหร่ อย่างไร เมื่อคุณได้รับรู้ คุณก็จะได้เห็นว่า อ้อ ปู้โธ่เอ๊ย เรานี่ไปสร้าง สุขเวทนากับทุกขเวทนา ให้ตัวเองเท่านี้ๆหนอ คุณพิจารณาคู่อาฆาต คุณก็จะวางคู่อาฆาตได้ง่ายขึ้น เพราะมันจะให้สุขหรือทุกข์มาก ถ้าพิจารณาคู่อาฆาต ได้สุขหรือทุกข์มาก ใครเห็นมั้ย ได้ทุกข์หรือสุขมาก ถ้าพิจารณาจากคู่อาฆาต มันให้ทุกข์มากกว่า เพราะฉะนั้น คุณก็จะเห็นทุกข์ ตอนนี้เข้าหาอริยสัจเสียแล้ว พอคุณเกิดเห็นทุกข์ขึ้นมา ก็เกิด อริยสัจชักโผล่แล้วซิ เห็นยัง อริยสัจชักโผล่แล้ว เกิดเห็นทุกข์ขึ้นมาแล้ว โอหนอ นี่เราไปผูกพันธ์ กับคู่อาฆาตอยู่นี่ มันเป็นทุกข์อย่างนี้เองหนอ เพราะจิตของเรา ยังไปอาฆาตกันอยู่ ยังไปผูกพันกันอยู่ ยังไปอาลัยอาวรณ์ อารักษ์อะไรก็ตามแต่ ยังจะไปเอาเป็นเอาตายกันอยู่ เป็นสาเหตุ หรือเป็นสมุทัย

ก็ถ้าเผื่อว่าเราบอกว่า อโหสิกันเสียซิ เลิกกันเสีย อย่าจองเวร จองกรรมกันเลย อย่าอาฆาตกันเลย ปล่อยไปเสีย มันจะหนักจะหนา มันจะเป็นยังไง ถ้าไปต่ออีก มันก็ทุกข์ อย่างเก่านั่นอีก อย่ากระนั้นเลย คุณได้ทุกข์ขึ้นมา ว่าตัดเถอะ เอาละ ตั้งแต่บัดนี้ไป แผ่เมตตากันเลย สัพเพ สัตตา อเวราโหนตุ เวรกรรมใด อย่าได้จองเวรจองกรรมกันอีกเลย คุณเคยทำให้เราเจ็บ ก็แล้วไปนะ วางกันเสีย เราเคยทำให้เธอเจ็บ ถ้าเธอรู้ได้ เธอจงวางเสียก็แล้วกัน ต่อไปนี้ เราจะไม่จองเวร จองกรรมกันเลย เพราะถ้าคุณ ดันทุรังทำต่อไปอีก มีอะไร ทุกข์ยิ่งกว่าอย่างที่ว่านี้ ทำเสมอๆ คุณได้วางได้ คุณก็จะปลดปล่อยตัวเอง เกิดเมตตาธรรมขึ้นในใจ เกิดการวางพยาบาทขึ้น อย่างจริงจังแท้จริงได้ คุณก็ปลดปล่อยไป ปลดปล่อยไป คุณได้อะไรตอนนี้ ได้ธรรมะหรือยัง ถ้าคุณปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ได้ธรรมะแล้ว มาเขกหัวอาตมา เอ้าจริงๆด้วย ถ้าคุณทำอย่างนี้ ไม่ได้ธรรมะ มาเขกหัวอาตมา คุณก็จะได้ธรรมจริงๆ อย่างที่ว่า ไม่มีอะไร

แต่ถ้าคุณไปนั่งหลับตา เพ่งฌานเข้า ท่องพุทโธก็ดี ท่องสัมมาอรหัง สร้างลูกแก้ว ยุบหนอพองหนอเข้าก็ดี เสร็จแล้ว คุณก็ไปเที่ยวได้นั่ง ยิ่งเป็นลูกแก้ว ประเดี๋ยวเอาลูกแก้วพาไปเที่ยวนรก ประเดี๋ยวเอาลูกแก้ว พาไปเที่ยวสวรรค์ คุณก็ว่าคุณได้ธรรมะ เอ้า ก็ได้ไปก็แล้วกัน อาตมาก็ไม่บรรยายต่อ ปล่อยให้คุณได้ธรรมะ แบบไปหาสวรรค์ ไปหานรกแบบนั้น ก็แล้วกัน

แต่ถ้าคุณทำอย่างที่อาตมาว่านี้นะ อย่างที่อาตมายกตัวอย่าง ปล่อยคู่อาฆาต คุณได้กระทำเป็นฌาน ที่ถูกต้องที่สุดเลย คือคุณกำลัง ละนิวรณ์กิเลส ข้อที่เรียกว่าพยาบาท อย่างแท้จริง เมื่อคุณละนิวรณ์ พยาบาทอย่างนี้ อย่างแท้จริงแล้ว ลืมตาออกมาจากฌาน คุณก็ได้เข้าใจว่า อ้อเมื่อกี้นี้ เราได้ตั้งใจแล้วว่า เราจะไม่อาฆาตอีกแล้ว ในคู่อาฆาต ที่เราได้เคยมีเคยเป็น คุณก็ได้ละกิเลสออกจากใจแน่นอน คุณเจอหน้าคู่อาฆาต ทีนี้คุณก็ยิ้มน้อยๆให้ หรือยิ้มมากๆก็ได้ ถ้าคุณยิ้มได้กว้าง บางทีมันยิ้มคู่อาฆาต มันยิ้มมากๆ มันไม่ไหวเหมือนกัน หรืออาจจะยิ้มน้อยๆก็ได้  ยังดูกะลิ้มกะเหลี่ย หรือดูปูเลี่ยนๆอยู่ยังไงแหละ ถ้าคุณทำได้โดยบริสุทธิ์ใจ ใจคุณวางได้ขาดว่างแล้วนะ คุณยิ้มให้อย่างสดใสได้เลย แสดงว่า คุณชนะมาร ชนะภัยอย่างจริงเลย คุณวางพยาบาท หรือว่าคุณลด อัพพยาปาทตัวนี้ ได้อย่างเยี่ยมเลย คุณทำได้อย่างนี้ คุณก็ลดกิเลสตัณหา ออกจากใจอย่างแท้จริง

เห็นไหมว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ ให้ตัดกิเลสตัณหาอย่างนี้ แม้แต่คุณจะนึกถึงคนรัก ถ้าคุณไปนึกถึงคนรักแล้ว คุณเองคุณก็ไปนึกถึงว่า เมื่อเวลาคุณคบหากับคนรักคุณ คุณได้สุขหรือได้ทุกข์เท่าไหร่ คุณเอง คุณไม่ค่อยได้เห็นทุกข์หรอกนะ บางทีฝนตกแดดออกเท่าไร คุณก็ไม่ยั่นเลย ไปขอให้นั่งใกล้ เห็นแต่ผ้านุ่งเธอตากอยู่ ก็ชื่นใจ คุณเจอแต่สุข แต่คุณไม่เห็นเลยว่า คุณบุกฝนบุกแดดไปเท่าไรๆ คุณไม่เห็นทุกข์เลย คุณผ่านทุกข์ไปหมด ชนะสัญญา ที่มันจะมุ่งมั่นจะเอากับตัวโลภ ความสุขตัวเดียวนี่ มันบังจิตของคุณหมดเลย ชนะสัญญานี้ บังเป็นโมหะ ไม่ออก ไม่รู้เรื่อง

บางทีนี่นะ ถ้าหนุ่มๆ พ่อแม่ไม่ให้ไปนี่ ลักลอบออกจากบ้าน ปิดประตูใส่กลอน ออกไปแล้ว อาตมาเป็นมาแล้ว ตัวเองเป็นมาแล้ว ให้ผู้ใหญ่ เขานอนเสียก่อน แล้วเราก็แอบย่อง ซื้อกุญแจอันหนึ่ง ออกมาแล้ว ก็ปิดกุญแจข้างนอก แล้วก็รีบออกไปหาแฟน เคยมาแล้ว ทั้งนั้นแหละ การลักลอบแบบนั้น ผู้ใหญ่เขารู้เขาด่าให้ ดุให้ ตีให้ แต่ไม่รู้เรื่องหรอก อย่างนั้นเรื่องเล็ก ช่างมัน ทุกข์นะ ที่จริงไม่ใช่สุขนะ ทุกข์นะ จะไปมันอย่างนั้นแหละ ฝนตกแดดออก ดึกดื่น อดนอนอดหลับยังไง ก็ไม่รู้เรื่องหรอก บางที เงินทองหามาได้ด้วยยาก ก็ไม่เสียดงไม่เสียดายหรอก ตัวเองจะกิน ก็ไม่เอาละ ไม่กินแล้ว ซื้อของไปให้แฟน ซื้อไป ไม่มีอะไรก็ซื้อดอกไม้ ดอกไร่ไป ให้ชื่นอกชื่นใจอะไรก็เอาดีละ แล้วแต่จะเอาไป ประเดประดัง ไปประเคนกันให้ อะไรอย่างนี้ ทำกันสารพัด ที่จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า พากเพียร หวังที่จะได้เสพความสุข ด้วยอารมณ์ที่คิดว่า อย่างนั้นมันเป็นความสุข แล้วก็กระทำ ด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ไม่ได้ย่นย่อ ไม่ได้คิดถึงเลยว่า ตัวทุกข์มันอยู่ไหน ความสุขนี้จึงไม่ค่อยเห็นทุกข์ เห็นทุกข์ได้ยากกว่า แต่คุณค้นหาดูดีๆ ค้นหาเบื้องหลัง ของความสุขทุกตัวให้ดี คุณจะเห็นความทุกข์ มันซ่อนแฝงเจือปน อยู่ในนั้นทุกอัน เป็นอริยสัจจะ เป็นความจริงของคนฉลาดเท่านั้น ที่จะได้เห็น คนโง่จะไม่เห็นความจริงอันนี้

พระพุทธเจ้าค้นมาหมดแล้วในโลก ท่านค้นจนกระทั่งทั่วโลก ครอบจักรวาลแล้ว ท่านเห็นแต่ทุกข์อริยสัจ ท่านไม่เคยเจอ สุขอริยสัจเลย ไม่เคยเจอ ท่านค้นมาเสร็จแล้ว ท่านก็มาประกาศแก่โลก บอกว่า "โอ โลกทั้งหลาย ตัวน้อยตัวใหญ่ ฟังเรา เราค้นเจอแล้ว ในโลกนี้ มีแต่ทุกข์เท่านั้น เกิดขึ้น มีแต่ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และมีแต่ทุกข์เท่านั้นดับไป เราไม่เคยเจอ สุขตัวไหนเลยในโลก" พระพุทธเจ้าประกาศธรรมอย่างนี้เป็นอริยสัจ แล้วเจ้าตัวทุกข์นั้น มันมีเหตุเสียด้วย มีสมุทัยซ่อนอยู่เสียด้วย ถ้าใครรู้สมุทัย แล้ว ดับสมุทัยเสีย โดยการประพฤติเข้า มีปฏิปทาเข้า ปฏิปทาอันนั้น มันจะเข้าไปดับ ดับความเป็นคามินี หรือดับความเป็นกามในบุคคล หรือดับความเป็นโลกียสุขนั่นเอง มันจะดับ พอดับได้แล้วก็เหลือนิโรธะ คือความดับ ดับจริงๆ พอทำได้ตรงเป้าถูกเปี๊ยะ ก็เกิดนิโรธสิ  เกิดความดับ ดับแล้ว ทีนี้คุณก็มานั่งอ่านความดับให้ออก อ่านนิโรธให้ออก หรือว่า อ่านวิมุตติ ให้ออก พออ่านออกแล้ว คุณจะได้รับรสชาติของวิมุตติ เรียกว่า วิมุตติรส ภาษาไม่มีตั้งเรียก แต่วิมุตติรสนี้ แหม อร่อยยิ่งกว่าโลกียรส อร่อยยิ่งกว่า

อาตมาชักชวนคุณ ตามที่พระพุทธเจ้า ได้ชักชวนคนมามากนักแล้ว เหมือนกัน คุณบอกว่า คุณไปหาแฟน แล้วคุณก็มีความสุข ได้นั่งชิด ได้เสพย์ทางสัมผัสกาย สัมผัสตา สัมผัสหู สัมผัสจมูก สัมผัสลิ้น สัมผัสกันให้เต็มคราบ ห้าทวาร หกทวาร คุณจะมีทวารไหนอีกเสพย์ ให้เจ็ดทวาร สิบทวาร ถ้าคุณจะตั้งเอา เชิญ เสพย์เข้าไปให้ครบ ๑๐๐ ทวารก็ได้ มันก็ยังสู้ วิมุตติรสไม่ได้

อาตมาไม่ใช่พูดเล่นๆ อาตมาเคยเสพย์มาเหมือนกัน แบบพวกคุณเสพย์ แต่ไม่อร่อยเท่าวิมุตติรสแฮะ วิมุตติรส คือรสที่ไม่ต้องไปเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องไปเสพย์อย่างนั้นอีก แล้วก็หมดความดิ้นรนในหัวใจ หัวใจมันจะอาเนญชา เฉย ไม่ปรุงเป็นอร่อยหรือไม่อร่อย อร่อยท่านเรียกว่า ปุญญาภิสังขาร ไม่อร่อยท่านเรียกว่า อปุญญาภิสังขาร ไม่มีสังขาร แบบปุญญาภิสังขารก็ไม่มี แบบอปุญญาภิสังขารก็ไม่มี เฉยเป็นอาเนญชาภิสังขาร เป็นรสไม่หวั่นไหว ไม่เกิดเดือดร้อน ได้เสพย์หรือไม่ได้เสพย์ ฉันก็เฉยๆของฉันอยู่ อย่างนั้นแหละ สบาย จิตใจไม่ต้าน มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา ไม่มี คือไม่มีตัวที่จะ ฮึ เอาน่า เอาน่า ไปน่า ไปเสพย์เถิดน่า น่ะๆ ไม่มี

ฟังแล้ว ธรรมของอาตมานี่ ไม่รู้จะใช้ภาษาวจีกรรมอย่างไร ก็ไม่รู้แหละ อาตมาก็พยายามจะชี้ และให้เห็นสภาวะให้ได้ ไม่มีตัวไหนมาเป็น สสังขาริกัง ไม่มีตัวไหนมาคอยกระตุ้น เอาน่าๆ ไปน่า ไปเสพย์โน้นน่า ไปเอาโน่นน่า เขาเอามาล่อ เห็นไหมนะ น่าเสพย์ น่ามีน่าเป็นน่าได้ น่าเอานะ น่า น่า ไม่มี ไม่มีตัวไหน คอยกระตุ้นอยู่เลย ในเรื่องลึกของจิต มันเป็นจิตอยู่เฉยๆ นิ่งๆ สบายเห็น เห็นรู้ แต่ก่อนนี้ก็เห็น ผู้หญิงก็เห็น อาตมาเคยเห็นผู้หญิงอย่างเก่า เดี๋ยวนี้เก่งกว่าเก่าด้วย เดี๋ยวนี้แต่งล่อเก่งกว่าเก่าด้วย เห็น  เดี๋ยวนี้ตาอาตมาบอดเมื่อไร แต่ก่อนนี้หลอกอาตมาได้ เพราะอาตมาโง่ แต่งตัวมาหลอกมั่ง เอาโน่นนี่มาหลอกนั่ง สร้างภพสร้างชาติแบบนั้น มาหลอกอาตมาบ้าง อาตมาก็สนสะพายไป แต่ก่อนนี้ เอ้า จูงจมูกไป เอาด้วย เพราะมันโง่ เดี๋ยวนี้ฉลาดเสียแล้ว จะมาสนสะพาย อาตมาไม่ยอม  จมูกของอาตมาไม่ให้มาสนสะพายอีกแล้ว ตอนนี้ เลิกสังโยชน์กันเสียที เลิกผูกกันเสียที ไม่เอาด้วยแล้ว เพราะรู้เสียแล้วว่า เบื้องหลังความสุขนั้น มีแต่ความทุกข์ จบเสียแล้ว รู้เท่าทันเจ้าเสียแล้ว จะมาสนตะพายเราอีกไม่ได้เสียแล้ว เพราะฉะนั้น อาตมาก็ไม่ให้ใครสนตะพายอีก ไม่ว่าจะมาล่อด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

ยกตัวอย่างคนรักก็ตาม มี ไม่ใช่ไม่มีคนรัก จะเอารูปกลิ่นรส จะเอาอะไรมาหลอก ก็เฉยๆ เดี๋ยวนี้ คนอื่นหลอกอยู่ในโลกก็ยังมี อาตมาก็เห็นตามนี่แหละ ผู้หญิงก็หลอกผู้ชายได้ ผู้หญิงเดี๋ยวนี้ เขาก็ยังหลอกอยู่ อาตมาก็เห็น แต่งกันเฉิดฉายด้วยรูป ปรุงกลิ่นกันให้ โอ้โฮ ยังไม่ทันมาถึงนี่หรอก อยู่นี่ กลิ่นมันมาแล้ว เอ๊ะ ปรุงเสียอย่าง เสียง แหมพี่คะพี่ขา ได้ยินๆ แสนที่ได้ยิน จะให้เข้าไปใกล้ชิด ไปสัมผัสรสให้ครบห้าทวาร หกทวารอีกอย่างเก่า รู้ทันเสียแล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่หลงตาม และรู้ด้วยว่า สุขอย่างโลกียรสอย่างนั้น มันสู้อยู่เฉยๆ ไม่ดีดดิ้นไม่ได้ คุณเห็นอย่างนี้ ก็เกิดวิมุตติญาณทัสสนะ

ญาณทัสสะก็คือ ปัญญาเห็นแจ้งจริง เห็นในอะไร เห็นในวิมุตติ และวิมุตติเป็นยังไง มันก็รสอร่อยกว่าโลกียรสนะซิ ถึงเรียกว่า วิมุตติรส เห็นจริงๆ เกิดวิมุตติญาณทัสสะอย่างนี้จริงๆ ใครเกิดอย่างนี้แล้ว จึงมีจริงแล้ว เอาอะไรมาแลกไม่ได้ เอาอะไรมาแลกไม่ปล่อย พระพุทธเจ้าจึงท้านักหนาว่า ผู้ใดเกิดญาณด้วยปัญญาอันยิ่ง แล้วก็ทำตนให้วิมุตติหลุดพ้น อันนั้นได้ เป็นสมุจเฉทแล้วในส่วนใด ในกิเลสอาสวะใด จนกระทั่ง มีวิมุตติญาณทัศนะ ในตนแล้วเสร็จเรียบร้อย ผู้นั้นไม่มีการเวียนกลับ ไม่มีการเวียนกลับ

พระพุทธเจ้าท้า ท้าว่าผู้สิ้นอาสวะกิเลส ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว เป็นวิมุตติ ด้วยปัญญาวิมุตติ และเจโตวิมุตติ พร้อมสองส่วนแล้ว เป็นอุภโตภาควิมุตติ ไม่เวียนกลับ ไม่เวียนจริงๆ อาตมาขอปากแข็งนี่แหละ ใครจะว่าท้าทายก็ว่า ไม่เอา ไม่เวียนกลับสู่โลกอีกแล้ว เพราะฉะนั้น จะเอาสภาวะ ลาภยศสรรเสริญอย่างโลกๆมาล่อ อาตมาก็เข้าใจเสียแล้ว เห็นจริงๆด้วย ลาภ ก็โอ้ โธ่ เท่านั้นแหละ แล้วก็เบื้องหลังลาภ มันก็ต้องเหนื่อย ทุกข์ทรมาน เบื้องหลังยศก็เหนื่อย เบื้องหลัง สรรเสริญก็เหนื่อย สุดท้าย เบื้องหลังสุขนี่ก็เหนื่อย เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า นอกจากเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้ว ก็เป็นไปโดยความไม่จบ เป็นไปด้วยความหลง เป็นไปด้วย ความเห็นว่ามันเป็นสุข เพราะมันหลอกๆอยู่ มันหลอกยังไง มันก็อัลลิกะนะซี ท่านถึงเรียกว่า มันเป็นกามสุขัลลิกะ (กาม+สุข+อัลลิกะ) กามก็คือโลก สุขก็คือสุขของโลก อัลลิกะแปลว่าตอแหล มันสุขอย่างตอแหลๆ อย่างนั้นแหละ หรือหลอกลวงๆ อยู่อย่างนั้นแหละ ท่านถึงเรียกว่า กามสุขัลลิกะ

ผู้ใดไปหลงกามสุขัลลิกะ หรือหลงสุขัลลิกะอย่างที่ว่านี้ ก็ถูกพวกนั้นจูงจมูกอยู่ ผู้นั้นก็ถอยกลับมาไม่ได้ ถ้าผู้ใดเห็นก็เลิก อาตมาเล่านี่ เอาส่วนตัวมาเทียบเคียง เพื่อให้เป็นเอหิปัสสิโก เพื่อให้เป็นการเรียกร้องให้มาดู มาดูซิอาตมาทิ้งมาแล้ว แล้วก็สบาย แล้วอาตมาก็ยืนยันว่าสบาย จริงๆ ไม่ได้ตอแหล ไม่ได้โกหกมดเท็จ พูดจริงๆ พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นแล้วนี่เป็นจริงแล้ว แต่ก่อนนี้ อาตมาเคยหลง เดี๋ยวนี้ไม่หลง อาตมาหักยอดเรือน ของตัณหาต่างๆ ที่เป็นไปอยู่อย่างนั้นแล้ว ขุดโค่นนายช่างปลูกเรือนตัณหา อย่างนั้นออก แล้วอาตมา ก็ไม่ได้ปลูกสร้างอีก อาตมาทำอย่างนั้นจริงๆ จึงเรียกให้มาดู เป็นเอหิปัสสิโก ถ้าใครเข้าใจไม่ได้ จะเพ่งโทษว่าอาตมายกตัวยกตนข่มท่านก็เอา อาตมาก็ไม่ว่า แต่อาตมาไม่มีอะไรดีกว่านี้ ที่จะเอาออกมาโชว์ ไม่มีอะไรยิ่งกว่านี้ ที่จะเอาออกมายืนยัน ถ้าอาตมาจะยกเอาชาดก สมัยพระพุทธเจ้ามา ก็บอก ฮีเท่อ เคยได้ยินแล้วน่า จะเอาชาดก เอาพระอรหันต์ต่างๆ ที่อยู่ในตำราตำนานมาอธิบาย มายกตัวอย่าง เฮ่อ รู้แล้วน่า มันก็ไม่เป็นอนุสาสนี ที่มีปาฏิหาริย์ เป็นคำสอนคำกล่าว ที่ ฮื้อ มันดื้อๆด้านๆ เอาลูกด้านมายิง อยู่เรื่อยเลย เอาลูกใหม่ๆ มาดูกันหน่อยสิ ให้มันพอเชื่อได้บ้างซิ ว่ามันเป็นจริงหรือเปล่า นิทานก็ไม่รู้ อาตมาก็ถึงไม่พยายาม ยกนิทาน แต่ยกปัจจุบันธรรมให้เห็น พอพิสูจน์ได้ คือเอาตัวเอง หรือเอาเพื่อนฝูง เดี๋ยวนี้มีเพื่อนฝูงไม่มาก อีกหน่อย ถ้าจะมีเพื่อนฝูงมากๆ อาตมาจะยก ยกเพื่อนฝูงมั่ง เอาคนนั้นคนนี้มามั่งมายก ก็ว่ายกอวดคณะ อวดตัวอวดตน

ถ้าใครเข้าใจธรรมของอาตมานะ อาตมาพูดวนเวียน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อยู่ในมุมที่ว่า อาตมายกตัวเอง ขึ้นมาเป็นตัวอย่างบ้าง ตนเองเป็น เอหิปัสสิโก เพื่อที่จะเรียกร้องให้มาดูตัวอย่าง มาดูซินี่ เรียกร้องมาดูกันได้ มีพิสูจน์กันได้บ้าง ใครเข้าใจก็จะได้ปล่อยวาง ถ้าใครไม่เข้าใจ จะเพ่งโทษอาตมาอยู่ อาตมาก็ไม่รู้จะว่ายังไง อาตมาก็ขออภัยด้วย ถ้าตัวนี้ มันหมั่นไส้เกินไปนัก ก็ขออภัย สำหรับบางคน แต่สำหรับใครที่เข้าใจได้ ก็จะโปรดกรุณา เข้าใจเจตนาของอาตมาด้วย ที่กระทำอยู่อย่างนี้ แสดงอนุสาสนี หรือแสดงปาฏิหาริย์ อยู่อย่างที่เรียกว่า ให้มันเป็นสิ่งที่มันพอเชื่อได้ พอเห็นได้ เห็นว่ามีฤทธิ์มีเดช พอที่จะเอาอย่างตามได้ ไม่ใช่ว่าศาสนานี้ ปฏิบัติแล้วไม่รู้เป็นยังไง มันทิ้งมาได้จริงหรือเปล่า ว่าโอ้! โม้เป็นปรัชญาเปล่าๆ เป็นตรรกวิทยา พูดแล้วทำไม่ได้หรอก ศาสนาพระพุทธเจ้าอย่างนี้ พูดแล้วไม่เชื่อหรอก มีอย่างหรือ คนจะทิ้งบ้านทิ้งช่อง ทิ้งรายได้ ทิ้งลาภยศสรรเสริญสุข ทิ้งครอบครัว ทิ้งเงินทิ้งทอง ทิ้งคู่รัก ทิ้งอารมณ์ที่เป็นเมถุนธรรม ทิ้งอารมณ์ ที่ไม่ต้องไปเสพย์สิ่งนู้นสิ่งนี้ อย่างที่เป็นอารมณ์อยู่ในใจ ที่เรียกว่า ธรรมารมณ์ก็ตาม มันจะไปทิ้งได้หรือ ไม่เชื่อหรอก เอ้า เขาก็ว่าไป

แต่ที่นี้เราทำได้แล้ว อาตมาทำได้ อาตมาเอามาอ้างอิงอย่างนี้ ใครจะว่าก็ว่าไป อาตมาก็ไม่ว่า

ทีนี้หันกลับมาดู คำว่าฌานอีกทีหนึ่ง เมื่อกี้ยกตัวอย่างให้ฟังแล้วว่า ถ้าเราทำฌาน อย่างที่ว่านี้ และก็พิจารณาให้เห็น เวทนาในเวทนา คู่เดียวนะนี่ อาตมาไม่ได้พูดถึง จิตกับธรรมารมณ์นะ มันมี กาย เวทนา จิต ธรรม อาตมาอธิบายแค่ กายกับเวทนาหยาบๆ ให้ฟังเป็นเบื้องต้น ส่วนท่ามกลาง บั้นปลาย ไปไว้วันหลัง วันเดียวไม่พอ อาตมาอธิบายไม่พอ

มันเป็นสภาพที่ลึกซ้อนเข้าไปอีก เป็นสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน เป็นปริวัฏฏ์ ๓ ค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง ตอนนี้เอาแค่ขั้นต้นๆเสียก่อน ใครทำได้อย่างนี้ พิจารณากาย แล้วเห็นเวทนาในเวทนา อย่างที่ว่าซ้อนกันอยู่ เป็นรูปเป็นนาม มีรูปมีนามที่พยายาม เกี่ยวข้องกันอย่างนี้ได้ คนนั้นจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ จากการปฏิบัติธรรม แม้จะหลับตา เป็นพื้นฐานเสียก่อน ลืมตาขึ้นมาแล้วคุณก็ทิ้ง เอ้อ เห็นจริงแฮะว่า โธ่ เรามีคู่รักนี่ เราก็เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า เหลือเกินแฮะ เพราะเราหลงอะไร เราหลงรสสัมผัสบ้าง หลงรสกามคุณทั้ง ๕ บ้าง คุณเห็นเท่าเห็นทัน อย่างนั้นจริงแล้ว คุณเอง คุณก็จะละคลายหน่ายออกมา พอละคลายหน่ายออกมา ทิ้งออกมาได้บ้าง กามคุณทั้งหลาย ก็ไม่ยินดีไม่ยินร้าย คุณปฏิบัติธรรมได้อย่างนี้ มันก็สูงขึ้นทันที มีการหน่ายคลาย ละกิเลสตัณหาขึ้นมาได้ ลืมตาโพลงๆ เห็นแฟน  แต่ก่อนนี้เคย แหม จะเป็นจะตาย เดี๋ยวนี้ ชักเห็นแฟนขึ้นมา ก็ชักมีรสชาติน้อยลง เห็นรูปที่เคยยั่วตา ก็มีรสชาติรักใคร่ปฏิพัทธ์ อยากได้น้อยลง ได้ยินเสียงที่เคยติดหู แหม อย่างนี้ชื่นใจ เดี๋ยวนี้ฟังเสียงแล้วก็รู้สึกว่า มีรสชาติน้อยลง ได้กลิ่นที่เคยเตะจมูก โอ้โฮ อยากใคร่อย่างรุนแรง กลิ่นเหล่านี้ก็เตะจมูกเราไม่แรงแล้ว เราเองปล่อยวางได้ง่ายขึ้น รสทางลิ้นก็ดี แต่ก่อนนี้ แหม ถึงอกถึงใจ เดี๋ยวนี้ถึงอกถึงใจน้อยลง สัมผัสเสียดสี กายสัมผัสต่างๆ ก็ลดน้อยลงได้ คุณก็เป็นไปโดยธรรม

คุณก็ปฏิบัติธรรมได้ดี ลืมตาได้ประโยชน์ทันที เมื่อลืมตา ได้ประโยชน์อย่างนี้ คุณก็คลายกามฉันทะ คลายพยาปาทะ ในขณะลืมตานี่ ท้าให้ได้เลย ในขณะที่รู้อะไร ชัดเจนนี่ คุณไม่มีถีนมิทธะ ฟังให้ดีนะ ตอนนี้กำลังวนเวียนเข้าหา องค์ของฌานอีกทีหนึ่ง เมื่อคุณคลายกามฉันทะ คลายพยาปาทะ โดยคุณไม่ได้หลับตา คุณจะไปมีถีนมิทธะอะไรละ

จิตของคุณเพ่งต่อเลย ในขณะที่ลืมตาโพลงๆ เพ่งต่อว่า อ๋อ นี่เหรอแฟนเรา นี่เหรอคู่อาฆาตเรา ขณะนี้เป็นปัจจุบันธรรมนะ ฟังให้ดีนะ กำลังจะเดินเข้าหาฌาน แบบพุทธศาสนาโดยตรง พอคุณพิจารณา โดยนั่งพิจารณา เป็นปัจเวกขณ์แล้ว ตอนนี้มาเจอแฟนจริงๆ มาเจอกับคู่อาฆาตจริงๆ พอเจอปั๊บ เอาสมมุติคู่อาฆาตก่อน พอเจอคู่อาฆาตเป็นปัจจุบัน คุณรู้เท่าทันลูกกะตา ตาเห็นรูปคู่อาฆาต ได้ยินเสียงคู่อาฆาต แต่ก่อนนี้มาแล้ว ได้ยินเสียงนี้ ควั๊บเลยนะ แหม ไอ้คนนี้เกลียดจริง ไอ้คนนี้อยากฆ่าจริงอะไรนี้นะ ตอนนี้คุณมีสติปัญญารู้เท่าทัน เกิดธรรมะแล้วนี่ อ้อ เราได้อโหสิกรรมไปแล้วนะ เราได้จะวางกันแล้ว จะเลิกจองเวรจองกรรมกันแล้ว คุณก็จะหยุดจิตของคุณลงได้ อาฆาตน้อยลง โทสะมูลจิตของคุณก็ถูกกำราบลง ในปัจจุบันทันด่วนเดี๋ยวนี้ จิตที่เป็นกิเลสตัณหา ที่เคยเป็นโทสมูลจิต อาฆาตมาดร้ายอย่างรุนแรง พยาบาทมาดร้ายอย่างรุนแรง

ถ้าใครมีอินทรีย์พละกล้า ก็ข่มได้สนิทดับลงเดี๋ยวนี้ แม้จะอยู่ต่อหน้าคู่อาฆาต ก็ใจเฉยได้สบาย เป็นยังไงๆ ได้กระทำจริงมั้ย ผลเป็นดีมั้ย ผลอย่างนี้แหละคุณเอ๊ย ชะงัดนักๆ ถ้าคุณทำได้ครั้งนี้ แหมมันอดข่มไม่ได้ คุณก็เป็นพระอริยะแบบโสดาหรือสกิทา อาจจะต้องทำอีกสัก ๓ ครั้ง ๕ ครั้ง หรืออย่างเก่ง ๗ ครั้ง ลองดู อย่างเก่ง ๗ ครั้ง ครั้งต่อๆไป ครั้งที่ ๒ ทำอีก ถ้าคุณมีอินทรีย์พละแก่กล้า นะคุณเอ๊ย ในขณะใด ที่รู้เท่าทันนั้น ท่านเรียกว่ามีโสดาปัตติมรรค ในขณะใดที่กำลังทำอยู่ ท่านเรียกว่าสกิทาคามีมรรค ในขณะใดที่ทำลงเสร็จ ท่านเรียกว่าอนาคามีมรรค เมื่อทำลงเสร็จแล้ว อโหสิอย่างปล่อยวางได้ ท่านเรียกว่า อรหัตตมรรค เรียกมันอย่างนี้เสียก่อน เอาภาษาเรียกอย่างนี้เสียก่อน จนกระทั่ง คุณแน่ใจ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เจอะกับคู่อาฆาตทีใด ก็รู้เท่าทันทุกที

แม้เวลาเจอคู่อาฆาต ความโกรธเกิดขึ้นมา รู้เท่าอีกความโกรธ จนกระทั่งไม่เกิด ถ้ารู้เท่าแล้วดับ เรียกว่าสกิทาคามี ความโกรธนี้ จนกระทั่งคราวต่อไป พอเจอะกับคู่อาฆาต รู้เท่าทันแล้ว เออ เมื่อแต่ก่อนเคยเป็นคู่อาฆาตเป็นอดีต แล้วไม่ยึดในอดีต ไม่ได้เป็นหรอก เป็นคนเหมือนกัน สักแต่ว่าก้อนธรรมแท่งหนึ่ง ไม่ใช่คนไม่ใช่บุคคลเราเขา ไม่ใช่คู่อาฆาต เสร็จแล้ว คุณก็เจอคู่อาฆาต จิตจะกระเพื่อมเป็นอุทธัจจะ นิดหนึ่งก็ไม่มี เฉย คู่อาฆาตก็เฉยเสียแล้ว แสดงว่าเป็นอนาคามีอย่างเด็ดขาด จนกระทั่ง คุณสามารถที่จะเข้าไปคบหากับเขาได้ อโหสิกรรมกัน บริสุทธิ์ร่วมส่วน เป็นประโยชน์ต่อเขาเลยจริง ถ้าจะช่วยกัน ก็ช่วยกันได้ เหมือนกับคนคนหนึ่งในโลกเหมือนกัน ก็เป็นอรหันต์ หรืออรหัตตผล

ฟังให้ดีนะ ฟังอาตมาอธิบาย โสดาปัตติมรรค สกิทาคามีมรรค อนาคามีมรรค และอรหัตตมรรค หรือแม้อธิบาย โสดาปัตติผล สกิทาคามีผล และ อนาคามีผล ไปจนกระทั่งทะลุถึงอรหัตผล อาตมาไม่ได้อธิบาย โดยที่เรียกว่า เอาข้ามชาตินี้ไปข้ามชาติโน้น ตายจากชาติโน้นไปชาติโน้น ก็อีกหลายชาตินะ อาตมากำลังอธิบาย เป็นปรมัตถ์ ให้คุณพิจารณาปัจจุบันธรรม และกระทำอย่างนี้ กระทำที่ไหน กระทำที่จิตเจตสิกรูปของคุณเท่านี้ คุณเห็นรูปของจิต ของคุณให้ได้ จับจิตของคุณให้มั่นเชียว ถ้าจิตมันเกิด การหวั่นไหวขึ้นมา เมื่อเวลาเจอคู่อาฆาต รู้มันให้ได้ มันมีอาการยังไง มันมีอาการเป็นโทสะมูลจิต เป็นเจตสิกส่วนอกุศล อย่างไร รู้มันให้ได้ จนกระทั่ง ไม่เป็นอกุศลแล้ว แต่ยังมี สัพพจิตตสาธารณเจตสิกอยู่ คุณก็รู้มันให้ทัน ดับลงๆ จนเจตสิก มันไม่เกิดอะไร มีอุเบกขาเจตสิก พ้นวิจิกิจฉาเจตสิกได้แล้ว ตอนนี้สบายมาก เป็นฐาน คุณทำดังนี้เสมอ เสมอๆจริงๆ รับรอง ถ้าคุณรู้เท่าทัน ไม่ว่าคู่อาฆาต ไม่ว่าในสิ่งที่รัก ถ้าคุณทำจริงๆ แล้วรู้เท่าทันจริงๆนะ เจ็ดครั้งเป็นอย่างสูง ทำอย่างแม่นมั่น ทำให้เสร็จลงไป ทุกทีๆๆๆ เจ็ดครั้งเป็นอย่างสูง ส.บ.ม. เสร็จ เสร็จทุกรายไป คุณสั่งสมอรหัตผลจิตแบบนี้ ทุกตัวๆๆ ทุกวันๆๆ และคุณจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ยังไง อาตมาอยากรู้

ลองฟังดูให้ดีนะ คุณจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ยังไง ในเมื่อคุณทำอย่างงี้ ไม่ว่าแต่การดับโทสะ ในประเภทที่ อาตมายกตัวอย่าง คู่อาฆาตอย่างนี้ หรือคุณจะดับโลภะ ในการที่คุณไปหลงรักใคร หลงชอบใคร หลงยินดีผูกพันอยู่กับอะไร ก็ตามแต่ ไม่ว่าเป็นไปโดยกามฉันทะ ไม่ว่าเป็นไปโดย โลภ ในลาภยศสรรเสริญสุขก็ตาม คุณเห็นได้ รู้ได้โดยแท้จริง สัมผัสเงินทอง กองใบแดงๆ คุณก็ลดจิตลงเสียบ้าง อย่าเต้นให้มันมากนักเลย แหม เห็นเงินก็เต้นกระเส่าอยู่ได้ เห็นรูปสวยก็เต้นกระเส่าอยู่ได้ ยินดีเสียงเพราะ ก็เต้นกระเส่าอยู่ได้ ระงับมันลง รู้เท่าทันมันลง ปฏิบัติจริงๆ ให้ยังกาย ยังเวทนาให้ถึง หรือเห็นจิตเจตสิกของเรา เห็นรูปจิตของเรา มันเต้นอย่างไรให้ชัด คุณทำได้อย่างนี้จริงๆ เป็นปัจจุบัน คุณก็ไม่ต้องไป นั่งหลับตาแล้วตอนนี้ เห็นหรือยังๆ ตอนนี้ต้องนั่งหลับตามั้ย ไม่ต้องนั่งหลับตาแล้ว เพราะเรามีฐานเสียแล้ว เรารู้เสียแล้วว่า มีจิตของเราเป็นอย่างไร เราจับกาย จับเวทนา จับจิตของเรา ชักอยู่ตัวเสียแล้ว

เมื่อใด คนที่จับจิตอย่างนี้เข้าทางแล้ว เรียบร้อยแล้วนี่นา แล้วเพ่งเพียรปฏิบัติให้จริง ตากระทบรูป ก็ให้รู้เท่าทันให้ทุกขณะ ให้ได้มากขณะที่สุด หูได้ยินเสียง ก็พยายามรู้เท่าทัน แล้วก็กำหนดปั๊บเข้าไปให้ดี อย่าไปหลงเป็นโลภะโทสะให้ได้ จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัสทุกที คุณก็พยายามรู้เท่าทันให้ได้ แล้วก็อย่าไปหลงโลภะไปโทสะกับมัน อยู่ตลอดเวลา ขอถามด้วยปัญหา ว่าคุณจะได้ฆ่าโลภะโทสะไหม ได้ฆ่าไหม จิตที่ขณะเป็นอยู่ขณะนี้ ลืมตาโพลงๆ นี้เรียกว่าฌาน หรือเรียกว่าอะไร เรียกว่าอะไร นี่แหละ ฌานของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ไปนั่งหลับตา สร้างเทวดา สร้างพระภพพระภูมิ อะไรอยู่ตลอดกาล ไม่ใช่

แต่เป็นฌานลืมตาโพลงๆ มีอำนาจจิต สามารถรู้เท่าทัน กายเวทนาจิต รู้เท่าทันจิตเจตสิกรูป แล้วก็ทำมันให้เป็นอรหัตผลจิต เป็นนิพพานๆ ๆ ๆ มาได้ ทำได้ชั่วขณะหนึ่ง ด้วยวิธีข่ม เรียกว่า วิขัมภนนิพพาน ทำด้วยปัญญาที่รู้เท่ารู้ทัน แล้วกระทำมันได้ เป็นช่วงๆ เป็นตอนๆ ถ้าทำแล้ว อ้าว โผล่ขึ้นมาอีก อ้าวน่ะ ทำแล้วก็โผล่ขึ้นมาอีก ด้วยปัญญาที่รู้ว่า มันเป็นกิเลสเป็นตัณหา แต่อำนาจกิเลสตัณหามันยังแรงอยู่ อ่ะ บางทีมันก็ดึงขึ้นมา เอาน่า หยุดซิน่า ไอ้นี่มันของไม่ดีหรอกน่า เราไปหลงมันอยู่น่า โลกเขาว่าดี แต่โดยธรรมนั้นมันไม่ควร รู้อย่างนี้ด้วย แล้วก็ดับลงไป ทีละน้อยๆๆ ทีละช่วง เขาเรียกว่า "ตทังคนิพพาน" สั่งสมจนกระทั่ง แคล่วคล่องได้มาก สามารถสลัดออกก็เร็ว ปฏิบัติการสงบระงับลง ก็ได้เร็ว มากเข้า ก็เรียกโดยภาษาบาลีว่า "นิสสรณนิพพาน" หรือ "ปฏิปัสสัทธินิพพาน" ได้แคล่วคล่องมากขึ้น ว่าอย่างนั้นเถอะ พอกระทบปั๊บ เป็นโทสะหรือโลภะ ก็สลัดออกได้เร็วขึ้น หรือข่มระงับ มันได้เร็วขึ้น เรียกว่า ปฏิปัสสัทธิ ถ้าสลัดออก ก็เรียกว่า นิสสรณนิพพาน ก็ได้นิพพานเรื่อยๆ สั่งสมไป อย่างนี้แหละนิพพาน จนอันไหนสะเด็ดเลย ทีนี้ทำได้เด็ดขาด กระทบปุ๊บเรื่องนี้ เฉย ไม่มีการฟุ้ง อุทธัจจะไม่มี ไม่ฟุ้งไม่สะเทือน เป็นอาเนญชาภิสังขาร ไม่มีรสชอบไม่มีรสชัง ไม่มีรสโลภะไม่มีรสโทสะ จิตดวงใด หรือว่าขณะใด ในกิเลสตัณหาใดที่เราเคยติด แล้วเราทำได้อย่างนี้ อันนั้นก็สั่งสมสมุจเฉทนิพพาน ลงให้แก่ตนเอง มุมนึงเหลี่ยมหนึ่ง เหลี่ยมไหนก็ได้ เรื่องไหนก็ได้ คุณทำได้เด็ดขาดในเรื่องไหน ก็เรื่องนั้นแหละ เราเรียกมันว่า สมุจเฉทนิพพาน สั่งสมนิพพานอย่างนี้ ใส่ตนไปเรื่อยๆๆๆ มากเข้าๆๆ ก็เรียกมันว่า คุณกำลังสร้าง ในขณะที่สร้าง ยังไม่เป็นรูปร่างที่ดีจริง  ก็เรียกว่า อัปปณิหิตนิพพาน ถ้ามีรูปร่างของนิพพานที่ชัดเจน ก็เรียกว่า นิมิตตนิพพาน แล้ว อัปปณิหิตนิพพาน จนคุณได้เป็นนิมิตตนิพพาน เป็นรูปร่างของนิพพาน เก่งกล้าสามารถแล้ว คุณยังต้องมาทิ้ง นิพพานอีกนะ คุณทิ้งนิพพานอีกนะ  ทิ้งนิพพาน ทิ้งอนิมิตตนิพพานออกไป อย่ายึดมั่นถือมั่นในนิพพาน  

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนเลย ในมูลปริยายสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ คุณไปค้นดู พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ว่า เราเข้าใจทุกอย่างเลย ท่านเข้าใจสัตว์ เข้าใจบุคคล เข้าใจเทวดา เข้าใจพระพรหม ก็คือเข้าใจจิตนั่นเอง เทวดาก็คือจิต พระพรหมก็จิต สัตว์นรกก็จิต เข้าใจสัตว์ เข้าใจเทวดา เข้าใจพระพรหม เข้าใจหมด แล้วก็ เราเข้าใจแล้ว และเราก็ไม่มั่นหมาย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสัตว์ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเทวดา ไม่ยึดมั่นถือมั่นในพระพรหม เราเข้าใจจนกระทั่งถึงว่า นิพพาน เมื่อเราเข้าใจนิพพานแล้ว เรารู้นิพพานแล้ว เราก็ไม่เคยไปกำหนดมั่นหมายกับนิพพาน ไม่ไปสัญญากับนิพพาน ไม่ไปติดนิพพาน ไม่ไปหลงนิพพาน และไม่ยินดีด้วยนิพพาน ไปอ่านดูในมูลปริยายสูตร

ถ้าเผื่อคุณเข้าใจได้ อย่างที่อาตมาว่านี้ คุณเข้าใจนิพพาน และคุณทำนิพพานให้แก่ตนได้ คุณไม่สำคัญมั่นหมายในนิพพาน แล้วคุณก็ทำไปได้ คุณก็อนิมิตตนิพพาน ก็ปล่อยนิพพานไป ไม่ยึดอนิมิตตนิพพานนี้ไว้ จนกระทั่ง เหลือรอยของนิพพาน ที่เรียกว่า ปนิหิต นิดๆหน่อย คุณก็ล้าง ไม่ยึดมั่นในรอยของนิพพาน นี่เรียกว่า อัปปณิหิตนิพพาน จนไม่ยึดมั่นถือมั่น ในนิพพานจริงๆ มีแต่เรียกมันว่านิพพาน แต่ไม่มีนิพพาน ก็แปลภาษาบาลีว่า สุญญตนิพพาน ใครทำสุญญตนิพพาน ในเรื่องใดอันใดได้แก่ตน ผู้นั้นก็เป็นผู้ถึงซึ่ง สอุปาทิเสสนิพพาน คือนิพพานแล้ว โดยที่ยังไม่ตาย เรื่องไหนก็ตามแต่ เอาเฉพาะเรื่องเมถุน เอาเฉพาะเรื่องเงินเรื่องทอง เอาเฉพาะเรื่องรูป เอาเฉพาะเรื่องรส เอาเฉพาะเรื่องกลิ่น เอาเฉพาะเรื่องเสียง เรื่องไหนก็ได้ คุณก็ทำให้มันได้ก็แล้วกัน คุณนิพพานมาได้ ทุกเรื่องๆๆ มากเรื่องเข้า คุณก็สั่งสมนิพพานให้แก่ตนเองมากเข้าๆ คุณก็เป็นอรหันต์ใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้นๆๆ อรหันต์เท่านั้นจะรู้อรหันต์ อรหันต์เท่านั้น เสพย์อรหันต์ อรหันต์รู้รสแห่งอรหันต์ด้วยกัน ผู้ที่ไม่ใช่อรหันต์ มีแต่ฝันหวานเท่านั้นเอง สภาวะไม่มี ผู้ที่ได้อรหันต์แล้ว ก็เสพย์สภาพอรหันต์ คืออะไร สิ่งที่เป็นไปโดยควร ไม่มีรส เป็นวิมุตติรสเป็นยังไง ผู้ที่เสพเท่านั้น จึงเป็นผู้ที่เสพด้วยกัน ผู้ที่ไม่ได้เสพ พูดแต่ภาษา ไม่มีสภาวะที่เสพย์ด้วย คนนั้นก็บอกว่า ไม่ตรงกัน ไม่ตรงกัน มันก็ไม่ตรงนะซิ เพราะว่าเขาพูดภาษา แล้วก็สภาวะ ก็ทุกอย่างมี พอเราพูด ก็พยายามเอาอำนาจภาษา ให้เราเข้าใจสิ่งนี้ให้ได้ เขาบอก นิพพานอะไรมันต่ำๆ แค่อบายมุข นี่หรือนิพพาน

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าทำได้ อบายมุขหมดทุกอัน ก็เป็นโสดาบันบุคคล อันสูงส่งแล้ว ติดอบายน่ะ ถ้ายิ่งติดกามราคะ จนกระทั่ง คุณติดกามราคะ ติดสักกายะใหญ่ๆ  ลดสักกายะใหญ่ๆ ลดกามราคะลงไปได้หมดเลย เหลือแต่จิตที่ฟุ้งอยู่ในจิตของตนเอง เหลือแต่ความอยากใหญ่ เป็นอำนาจแบบพรหม เป็นจิตที่เป็นพรหม จิตที่รักความใหญ่ ไม่เกี่ยวกับรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสหรอก แต่ว่าจิต ศักดิ์ศรีบ้าง หลงติดวิชามั่ง หรือหลงติดความสงบมั่ง เป็นเรื่องอัตตาของจิตทั้งนั้น คุณรู้ได้ว่า คุณไม่ติดอัตตาของจิต อย่างนี้ หรือคุณรู้ได้ว่า คุณยังติดอัตตาของจิตอย่างนี้อยู่ แต่เรื่องกามราคะหมดแล้ว สักกายะหมดแล้ว แม้แต่ใครจะเสพย์กามอยู่ ก็ไม่เคยมีปฏิฆะกับใคร มีสัจจานุโลมญาณ  อภัย คนนั้นยังติดกามอยู่ ก็เรื่องของคุณ สงสารก็ช่วยให้คุณเลิกมา แต่ไม่มีปฏิฆะกับเขา ไม่ใช่ว่า อื้อ เดี๋ยวก็ฆ่าเสียนี่ ไปติดทำไมกับ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อย่างนี้ก็มีปฏิฆะ

ถ้าใครรู้เข้าใจแจ่มแจ้งว่า ฐานะของบุคคลแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน เป็นไปโดยกรรม เขายังติดกามอยู่ก็เรื่องของเขา ช่วยเขาได้ก็ช่วยเขาเถิด ถ้าช่วยเขายังไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไปโมโหเขา ปฏิฆะไม่มี ผู้นี้ก็ใจวางเฉยได้ ไม่มีกามราคะ ไม่มีปฏิฆะ เกลี้ยงจริงๆในจิต ผู้นี้ก็ได้ชื่อว่าอนาคามีบุคคล อันแท้จริงเลย คนนี้แม้ตายแล้ว ทีนี้คุณเอ้ย ไม่ต้องกลับมาเกิดเลย ขอให้จริงนะ ขอให้จริงนะ ตรวจจิตเจตสิกรูปของคุณให้จริง ถ้าคุณตรวจไม่จริง ยังมีเชื้อของกาม รสอร่อยก็ยังอยากกิน เสียงไพเราะก็ยังอยาก ยังมีน้อยๆ ยังไปแลบเลีย ยังไปอร่อยกับมันอยู่ กลิ่นก็ยังมีนิดๆ ก็ยังชื่นใจอยู่ แหม ดอกมะลินี่ ก็ยังดี เอามาบูชาพระหน่อย เปล่า ที่จริงตัวเอง ยังได้กลิ่นดอกมะลิ ก็ยังชื่นใจหน่อยๆ ยังมีรสทางลิ้น แหม กินก็รับรสอร่อยอยู่ คุณปรุงรู้อยู่ คุณนั่นแหละรู้ คุณโกหกตัวเองไม่ได้หรอก นอกจากว่า คุณไม่มีปัญญาเข้าไปรู้  อย่างแท้จริงว่า ยังมีน้อยๆอยู่แค่ไหน มันรู้ยากนะน้อยๆนี่ มันรู้ยากขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น รู้ยากตัวนี้ มันจะหมดสิ้นรอบ คุณต้องรู้ของคุณเอง คนอื่นไม่เกี่ยว ถ้าคุณรู้ของคุณเองได้ คุณเองพยายามกำราบ ให้หมดกามราคะจริง หมดปฏิฆะจริง คุณก็เป็นอนาคามีจริง คุณก็ ส.บ.ม. แม้แต่คนนี้จะตายในภพนี้ ปัจจุบันนี้ไปแล้ว ก็ไม่เวียนมาเกิดอีก นี่พูดตายดับเข้าโลงนะ กายแตกตาย

เมื่อกี้นี้พูดถึงปรมัตถ์ จิตตาย ที่เป็นอนาคามี เป็นอรหัตตผลจิต พูดถึงจิต นั่นพูดปรมัตถ์ การปฏิบัติธรรมปฏิบัติที่ปรมัตถ์ คือ ปฏิบัติที่จิตเจตสิกรูป แต่ผลที่ได้นั้น มันได้ถึงตัวทั้งตัว ตายเน่าเข้าโลงก็ได้ไปด้วย ถ้าใครไปปฏิบัติ แล้วก็ไปมาเพ้ออยู่แต่ว่า เมื่อตายโน่นนะ ไปนึกถึงพระอนาคามี ก็ตอนตายแล้ว เอาวิญญาณของโอปปาติกะ ก็ไปเอาโอปปาติกะที่ไหนนั่นหนะ พ่อขุนรามคำแหงมั่ง วิญญาณของพระเจ้าฟ้า เจ้าหญิงยอดสร้อย ที่ไหนมามั่ง แล้วก็มาเล่นลิเกละครอยู่ เอาอย่างโน้นอย่างนี้อยู่ ผู้นั้นก็มีลิเกละครอยู่ในหัวใจ อยู่เท่านั้นแหละ มันจะไปมีปฏิบัติธรรมได้ยังไง ปฏิบัติธรรม ต้องปฏิบัติจิต เจตสิกรูป และทำนิพพานอยู่ในหัวใจ ไม่ใช่ไปเล่นลิเกละครอยู่ในหัวใจ ถ้าใครไปเล่นลิเกละครอยู่ในหัวใจ ผู้นั้นชื่อว่า ผู้มีลิเกอยู่ในหัวใจ เอาสำนวนของอาตมาไปพูดบ้าง ผู้มีลิเกอยู่ในหัวใจ ก็เล่นลิเกไป แต่ถ้าใครจับจิตเจตสิกรูป และอ่านกิเลสตัณหา ฆ่ากิเลสตัณหา รู้เท่าทันจิตของเรา กระทบสัมผัสเมื่อไรรู้  กระทบสัมผัสเมื่อไรรู้  หยุด หยุด หน่าย คลาย วาง เห็นทุกข์มันให้ได้ตลอดเวลา ทุกข์อริยสัจเท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป ไม่มีอื่น ๆ ทุกข์เท่านั้น ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เราทำได้อย่างนี้จริง ปฏิบัติลืมตาโพลงๆ ก็มีฌานลืมตา

ฌานนั้นเป็นไปเพื่ออะไร ฌานนั้นเป็นไปเพื่อ ฌาปนกิจ ฟังให้ดี จะเล่นภาษาให้ฟัง ฌานนั้นเป็นไปเพื่อฌาปนกิจ  ฌาน - ฌ-า นี่แหละ ถ้าฌานะ  ก็หมายความว่า ผู้นั้นเป็นเจ้าของฌานะ คือมีการเผา มีการเพ่งและเผา  "ฌาน" คำนี้จึงแปลว่า เพ่งและเผา เพ่งอะไร เพ่งดูจิตในจิต เพ่งดูกายในกาย เพ่งดูเวทนาในเวทนา เพ่งรู้แล้ว อันไหนเป็นอกุศล อันไหนเป็นกุศล ก็รู้ชัด พอรู้อกุศลในตัว ฌาปนกิจมันเลย เผาเลย ฟังให้ดีนะ เผาเลย ฌาปนกิจมันเข้าไปเลย เผาให้ได้ เผาอกุศลที่มีอยู่ในตน อย่าไปรอช้า เผาที่จิต เป็นบุคลาธิษฐาน กับพระสารีบุตร  ในขณะที่ท่านกำลังทำพระศพ ของพระพุทธบิดา ท่านล้างพระศพ ของพระพุทธบิดาเอง พระสารีบุตรก็หิ้วกระป๋องน้ำ สมัยโน้น เขาไม่เรียกว่า กระป๋องหรอก เขาก็มีเครื่องใส่น้ำ คือ คอยรับใช้พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าท่านเอาน้ำล้างพระศพ แล้วท่านก็สอนไปว่า ศพของบิดามารดาของเรา ต้องทำด้วยมือ แล้วก็เป็นกุศลอันสูง เป็นกตัญญูกตเวที อันดีที่สุด เราทำด้วยมือของเราดี เป็นครั้งสุดท้าย ที่เราจะได้ตอบแทนบุญคุณ แก่บิดามารดาของเรา เพราะบุพการีที่สูงสุดนั้น คือบิดามารดา ถ้าไม่มีบิดามารดาแล้วไซร้ เราไม่ได้เกิดมาในโลกนี้ เพราะบิดามารดาของเรานี่แหละ โง่ หลงไปสืบพันธุ์กัน แล้วปล่อยให้เรามาเกิดได้ แหมปุ๊บ ฉวยโอกาส เกิดมาได้ดีมาก ถ้าพ่อแม่หรือว่าผู้ชายผู้หญิงในโลกนี้ ไม่มีสืบพันธุ์กัน เราไม่มีโอกาสได้เกิด แหม บิดามารดาของเรานี่ พูดจริงๆนี่พูดธรรมให้ฟังนะ ใครอย่าเข้าใจว่า อาตมาแช่งพ่อแช่งแม่นะ เปล่า โดยจิตใจอาตมา เห็นอย่าง พระพุทธเจ้าท่านเห็น คือสูงส่ง พ่อแม่มีคุณมาก ถ้าพ่อแม่ ไม่โง่สืบพันธุ์กันแล้ว เราไม่ได้เกิด แหมซวยบรมเลย ไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พอไม่ได้มาเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็จะไปปฏิบัติธรรม เป็นพระอรหันต์ได้อย่างไง เราก็จึงขอบพระคุณพ่อแม่ให้มาก แล้วกตัญญูกตเวที ต่อท่านให้ถึงที่สุด จนแม้กระทั่งเวลาตาย เราก็อย่ารังเกียจเลย มันเป็นขันธ์ ๕ เป็นรูปขันธ์ ตายแล้วเหลือรูปขันธ์ ก็ต้องพยายามทำ เมื่อเวลามันยังไม่ตาย ทำไมคุณรักมันนัก เวลาตาย คุณตายก็เหมือนกายพ่อแม่ตาย เวลาพ่อแม่ยังไม่ตาย คุณก็ไปเคล้าเคลีย ไปเกาะแขนเกาะขาได้ เวลาพ่อแม่ตาย เอ๊อมันเป็นยังไงนะ เข้าเคล้าเคลีย เกาะแขนเกาะขาไม่ได้ มันเหมือนกัน รูปขันธ์อันเดียวกัน ล้างให้เรียบร้อยแล้วเสร็จ พระพุทธองค์ก็ยกขึ้นใส่โกฏิเสร็จเลยนะ หามลงไปยังจิตกาธารเองด้วยนะ คือกองฟอน หามไปจิตกาธารเองเลย แล้วท่านก็สอนพระสารีบุตรไว้ว่า การตายแล้วนี่ จงทำฌาปนกิจให้เร็ว เผาเสียให้เร็วด่วน เมื่อสิ่งนี้เห็นว่า มันเป็นของไร้ค่า อกุศลแล้ว

ฟังให้ดี ขณะนี้กำลังอธิบายบุคคลาธิษฐาน เพื่อที่จะตีเป็นธรรมาธิษฐาน ให้คุณฟัง เพราะฉะนั้น ศพของคนนี่ ป่วยการ ไร้ค่า พอตายแล้ว เหลือแต่รูปขันธ์ไม่มีประโยชน์ รีบทำลายเสียเร็วด่วน จึงรีบทำฌาปนกิจเสีย เผาให้ดีๆ เพราะมันเป็นอกุศลเสียแล้ว ถ้ายังเป็นๆอยู่ ยังมีกุศล ถ้าตายแล้ว มันไม่เป็นกุศลแล้ว เป็นของเน่าเปื่อย

พระพุทธเจ้าถึงสอนพระสารีบุตร ว่า จงเผาให้เร็วที่สุด อย่ารอแม้กระทั่งญาติ ผู้ยังเดินทางมาไม่ถึง นี่คือคำสอน ของพระพุทธเจ้า แต่เดี๋ยวนี้ ๗ วัน ๓๐ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน ดองกันไว้ นี่ลูกศิษย์ตถาคตองค์ไหนก็ไม่รู้ แต่อาตมาพูดนี่ ตถาคต องค์สมณโคดม ที่มีชื่อว่าสิทธัตถะ สอนไว้ว่าอย่างนี้ นี่อาตมาสอนตามท่าน เพราะฉะนั้น ถ้าใครทำศพที่ถูกต้องแล้ว ต้องรีบเผา อย่าไปเสียเวลา เยิ่นเย้อ อย่าไปเที่ยวได้วุ่นวายมาก นี่เป็นบุคลาธิษฐานเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นธรรมาธิษฐาน เมื่อเราเห็นอะไรเป็นอกุศลแล้ว รีบฌาปนกิจมัน จิตของเราเป็นอกุศลตัวใดเห็น ทิ้งเอาไว้ รังแต่จะเหม็นเน่า ทิ้งเอาไว้ รังแต่จะเป็นโทษเป็นภัย เป็นสิ่งที่จะทำลาย เป็นอสุภะ รีบฌาปนกิจมันเสีย รีบเผาทันที ทำกิจเผา (ฌานี้แปลว่าเผา ฌาปนกิจ ก็หมายความว่า จงทำกิจอันเผาผลาญนี้ไป)

ฌานะก็เหมือนกัน เพ่งรู้อะไร รู้สิ่งที่เป็นกิเลสตัณหา เป็นอกุศล รู้มันทันที ฌาปนกิจมันทันที แล้วคุณจะเป็นผู้สูงขึ้นไหม เมื่อคุณเผาอกุศล เมื่อคุณเผาอสุภะ คือเผาสิ่งที่เลว เผาสิ่งที่ชั่ว ให้แก่ตนเรื่อยๆ ที่อยู่ในจิตของคุณนี่เอง เป็นธรรมาธิษฐาน เกิดที่จิตเมื่อใด เผาเมื่อนั้น ฆ่ามันเมื่อนั้น ดับมันลงเมื่อนั้น คุณสูงขึ้นไหม คุณก็เถียงไม่ออก สูงขึ้นแน่ๆเลย พูดกันได้ว่า คุณสูงขึ้นโดยแท้จริง เพราะฉะนั้น แม้คุณจะไปนั่งหลับตาเป็นฌาน โดยใช้อุบายโกศลอย่างใดก็ตามแต่ คุณจงใช้อุบายโกศลนั้น เพื่อที่จะยังจิตให้อยู่ในจิต เป็นเอกัคคตารมณ์ ทำวสีให้คล่องแคล่ว เพื่อที่จะให้จิตของเราอยู่กับตัว นั่งอยู่จิตก็รู้ว่า อาการนั่ง ลองนั่งหลับตา แล้วก็ลืมตาออกมาดูบ้าง พอลืมตาออกมา แล้วจิตอยู่กับตัวมั้ย เออ... จิตอยู่กับตัวแฮะ เห็นรูปนี้ รู้ทันรูปมั้ย เออ... รู้ทันนะ เอื้อมแขนไป รู้ทันเอื้อมแขนมั้ย เออ.. รู้แฮะ ก้าวขาเดิน รู้ทันก้าวขามั้ย เออ... รู้แฮะ กายสัมผัส หูสัมผัส ตาสัมผัส จมูกสัมผัส ลิ้นสัมผัส รู้เท่าทันมั้ย รู้เท่าทันพอได้แล้ว คุณก็ออกมาสู้กับโลก อะไรสัมผัสมาก็ดับอยู่ที่จิต ผู้ใดจิตดับได้ อยู่ที่จิตในจิตได้ เฝ้าเป็นทวารอยู่ที่จิตในจิตได้ตลอดเวลา ผู้นั้นกำลังเป็นพระอนาคามีมรรค เมื่ออะไรมันมากระทบ ตาหูจมูกลิ้นกาย มันจะเข้าไปหาจิตหมด เข้าไปหาจิตหมด จิตเป็นนายทวาร พอใครสามารถมีสติสัมปชัญญะอยู่ที่จิตนะ พออะไรมาปั๊บ ธรรมวิจัยเลย แยกแยะหรือวิตกวิจารเลย ภาษาเดียวกันแหละ วิตกวิจาร หรือ ธัมมวิจัยเหมือนกัน ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ กับวิตกวิจาร ตัวเดียวกัน

เมื่อจิตเป็นฌานแล้ว จิตมันก็แยก พอมาปั๊บแยก อันไหนชั่วอันไหนดี อันชั่วเผา ฌาปนกิจเสียอันชั่ว อันดีเอาไว้ก่อน ทำอย่างนี้เสมอๆ พระอนาคามีเผาชั่วเผาดี อยู่ที่ธรรมารมณ์ ที่ดักอยู่ที่นี่ เสมอๆๆๆ แต่กาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่คุณเอ๊ย มันไม่ช้าไม่นาน มันไม่เหลือหรอก มันก็จะเหลือแต่อารมณ์จิตที่แลบเลีย ละเอียดจริงๆ เมื่อจิตกระทบเข้ามา ก็อ่อนขึ้นๆ คุณทำอนาคามีผลคุณให้ได้ เรื่อยๆๆ แล้วก็รู้ด้วยว่า อนาคามีผลใด เป็นสิ่งที่สำเร็จลงแล้ว ก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในมัน คุณไม่ยึดมั่นถือมั่น ในอนาคามีผลของคุณ คุณก็ปล่อยคืน ความเป็นพระอริยะชั้นสูง ทุกอย่างปล่อยคืนไว้ที่โลกนี่หมด ได้นิพพานแล้ว ก็ปล่อยนิพพานคืนไว้ที่นี่ ผู้นั้นแหละคือ สั่งสมอรหัตผลจิตให้แก่ตัวเอง ทุกทีไป

วันนี้ พูดธรรมะสูงหน่อยนะ ฟังให้ดีนะ อาตมายังไม่เคยอธิบาย ต่อหน้าธารกำนัล นอกจากพวกเราที่แดนอโศก ถึงเรื่องธรรมะชั้นนี้ ในสถานที่ ที่ผสมด้วยฆราวาส  อาตมาไม่เคยอธิบายธรรมชั้นนี้ ชั้นจิตในจิต แล้วก็อธิบายถึงจิตที่เป็นอนาคามีมรรค อนาคามีผล และเป็นอรหัตมรรค อรหัตผลอย่างไร อาตมายังไม่เคยอธิบาย วันนี้อธิบายเพิ่มไป เพราะพูดถึงฌาน มันลึกเหลือเกิน

เมื่อเข้าชั้นอนาคามีมรรค แล้วจับจิตดับจิตได้แล้ว ตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ออกมาคิดเที่ยวเพ่นพ่านแล้วจิตตัวนี้ จิตตัวนี้จะออกมาเห็น เอาตาไปปรุงรูปด้วย เผลอไปเลย ทูรังคมัง เรื่อยกับเขาไป แหม ไปเที่ยวเสียที่ไกลเลย ไม่เอา คูหาสยัง อยู่ในนี้ในหัว จนกระทั่ง ยันเท้านี้เท่านั้น ไม่ออกไปเพ่นพ่าน ไม่เกะกะ เที่ยวได้เพ่นพ่าน ไปเที่ยวนรกสวรรค์เล่น ไม่เอา จะเพ่นพ่าน เที่ยวได้แลบเลีย ไปบ้านโน้นบ้านนี้ ไม่เอา จิตอยู่ที่จิต หู ตา จมูกลิ้นกาย ไว พอสัมผัสปั๊บ ส่งเข้ามาที่จิตรู้เลย แล้วก็ฆ่าลงๆ ๆ จิตตัวนี้แหละ กำลังหน้าที่อรหัตมรรค อรหัตผลอยู่เรื่อย ฆ่าได้แล้วก็ปล่อยคืน อย่ายึดมั่นว่า ตัวสามารถฆ่ากิเลสตัณหาได้ ถ้าใครยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวสามารถฆ่ากิเลสตัณหาได้ อ๊ะ ฉันใหญ่ ฉันเป็นอริยะ ฉันฆ่า แล้วมันรู้จริงๆ นะ คนทำไม่ใช่ปากพูดเล่นๆนะ คนฆ่าได้จริง คนนั้นรู้ด้วยตนเอง จริงนะ พอรู้จริงๆแล้ว อดไม่ได้หรอก ที่จะยึดตัวยึดตน อดไม่ได้หรอกที่จะยึดว่า เฮ้ย ฉันฆ่ากิเลสได้จริงๆ ฉันลดหย่อนกิเลสได้จริงๆ มันอดไม่ได้หรอก

ถ้าเราไม่มีสัมมาทิฐิ ไม่นึกรู้ไว้เสียก่อน ถ้าคุณไม่เตรียมตัวเสียก่อน คุณก็ยึดตัวยึดตนใหญ่เข้าๆ ทีนี้คุณก็ใหญ่เลย เพราะฉะนั้น อรหันต์ก็คือ ผู้ที่ไม่ยึดความเป็นอรหันต์ของตน ผู้ใดยังยึดความเป็นอรหันต์ของตนอยู่ ผู้นั้นยังไม่ใช่อรหันต์ อันนี้อาตมาเขียนไว้ ที่ท้ายหนังสือเล่ม คนคืออะไร ถ้าใครย้อนไปอ่านดูจะเจอ ผู้ที่เป็นอรหันต์ คือผู้ที่ไม่ยึดตน ว่าเป็นอรหันต์ ถ้าใครยังยึดความเป็นอรหันต์ของตน คนนั้นยังไม่ใช่อรหันต์ พระอรหันต์คือ ผู้ที่คืนแก่โลก ผู้ที่สลัดคืน ผู้ที่ปล่อยคืน ผู้ที่ไม่เอาอะไรไว้ ผู้ที่ไม่มีตัวไม่มีตน ผู้ที่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีทั้งดีไม่มีทั้งชั่ว แต่เป็นผู้ที่รู้ดีรู้ชั่วได้เก่งที่สุด วิจัยได้เก่งสุด เพราะได้หัดวิจัยมามากแล้ว มีธัมมวิจยะเสมอ วิจัยได้อย่างเก่งเลย อะไรมาพัวะ แยกออกเลย ดี ชั่ว แต่ท่านไม่ยึดดีไม่ยึดชั่ว จนกระทั่งท่านเอง ดีก็ช่าง ชั่วก็ช่าง ท่านไม่เหลือตัวตน ท่านไม่เอาอะไร โลกนี้ท่านไม่เดือดร้อนด้วยเลย ลาภยศสรรเสริญสุข ไม่เกี่ยว กามคุณ อุ๊ย! เฉย แม้แต่จิตของตัวเอง ที่มีวิชาความรู้ ก็ไม่ยึดตัวยึดตนเป็นอัตตา เรียกว่า มานะทิฐิ ไม่ปั้นรูป ไม่ปั้นอรูปเสพย์ ไม่หลงรูป ไม่หลงอรูปในจิต จริงๆ จะไปนั่งหลับตาดูรูป ไปนั่งลืมตาดูรูป ไปนั่งปั้นสร้างรูป อันโน้นอันนี้ไว้ แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นในรูป เอาเป็นเอาตาย ไม่ได้ละ เราจะต้องวางโครงการ ต่อไปจะเผยแพร่ธรรมะ ยกตัวอย่างให้ฟังนะ

พระอรหันต์บางองค์ ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์แท้ เป็นอนาคามี มีวิชา รู้แล้วว่าทำอย่างนี้ เป็นโครงการที่ดี จะเผยแพร่ธรรม นี่เป็นกิเลสขั้นอุดมคตินะ นี่อาตมาเผยให้ฟังนิดหน่อย เช่น ฉันจะต้องสร้างโครงการนี้เลย ทำ เอาละ คนโน้นจะบอกเขาไป จะต้องขอเงินเขามาเท่านั้น จะต้องทำอันนี้ อย่างนี้ๆ สร้างอันนี้ให้เป็นโครงการไปเลย แล้วก็ไปลงมือ บอกญาติโยม แล้วจะทำอย่างนี้ นี่ที่จริงเป็นคุณความดี ไม่ทำเพื่อตัวหรอก ทำเพื่อผู้อื่น เสร็จแล้วก็ไปนั่งทำ เอ้าวางโครงการนี้ ญาติโยมคนนั้นคนนี้ เขาก็ไม่ค่อยเห็นด้วยมั่ง  เอ้า เห็นด้วยมั่งก็ให้  คนที่ยังไม่เห็นด้วยไม่ให้  พอไม่ให้ก็ยึดถือ คนนี้ไม่เชื่อฉัน ตัวตนเกิดแล้ว ตัวตนเกิดแล้ว ถือดีแล้ว มีรูปราคะอรูปราคะ ที่ตัวสร้างเอาไว้ พอเกิดรูปราคะ อรูปราคะเกิดขึ้นมา มานะ การยึดตัวยึดตนยึดจิต ก็เกิดขึ้นทันที เกิดปฏิฆะขึ้นก็ได้

ทางพระอภิธรรม เขาไม่เรียกมานะสังโยชน์ เขาไม่เรียก อรูปราคะสังโยชน์ แต่เขาเรียก มัจฉริยะ กับ อิสสาสังโยชน์ ทางพระอภิธรรมเขาเรียก เอา ๒ ตัวนี่มาเรียก เรียก ๒ ตัวนี้ จริง มันตระหนี่ คือมันหวงแหน มันอยากจะให้เป็นอย่างนี้ แล้วมันจะอิสสาหรืออิจฉานั่นเอง คือไม่พอใจ ไม่พอใจ ไม่อยากให้สิ่งนี้เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าใครมีจิตอย่างนี้อยู่ ตัวเองนั่นแหละมีตัวมีตน  ตัวเองนั่นแหละกระทบกระเทือน  มันไม่ว่าง ถ้ามันว่างมันก็ผ่านเฉย ไม่มีอะไร แต่นี่มันไม่ว่าง มันกระทบถึงใจเราปั๊บ ปึ้งเข้าให้ โกรธมั่งรักมั่ง ยังมีโทสะน้อยๆ โลภะน้อยๆอยู่ เมื่อมันมีโลภะน้อยๆ โทสะน้อยๆ คุณก็เกิดรส เกิดชาติของคุณเอง

ถ้าผู้ใดรู้เท่าทันอย่างนี้ อนาคามีดับ รูปราคะดับ อรูปราคะดับ มานะอย่างนี้ ชัดเจน ลดโลภะลดโทสะลงไปเรื่อยๆ เอาเถอะ ไม่เป็นอรหันต์ช่างมัน ไม่เป็นอรหันต์ช่างมันเถอะน่ะ ใครทำได้จริงอย่างนี้ไหม ถ้าใครทำได้จริงอย่างนี้ ไม่ใช่ปากพูด แล้วรู้กายรู้ใจรู้เวทนาของตนเอง แล้วอย่าไปยึดมั่นถือมั่น แม้เราจะวางโครงการ ทำงานเผยแพร่ศาสนา ที่เป็นคุณงามความดี ถ้าเราอย่าไปทุกข์ ไปสุข กับการเผยแพร่ศาสนานั้น เกินกว่าปัจจุบันธรรม เกินกว่าทุกข์สภาวะ หรือทุกข์ จริงๆ น่ะ อย่างที่อาตมาพูดอยู่นี่ อาตมากำลังเมื่อยอยู่ทุกข์สภาวะ มันเมื่อยมันทุกข์สภาวะ เรารู้ ขณะนี้ เรากำลังทำงาน เราหยุดเมื่อไร เราก็หมดทุกข์นี้ แต่เรายังไม่หยุด เราก็มีทุกข์นี้อยู่ นี่เป็นทุกข์สภาวะธรรมดาๆ เราทำเพราะเราเข้าใจ แต่ว่าผลที่ได้นี่ มันจะดีหรือไม่ดี หรือใครมาห้าม ใครจะมาเถียง หรือใครจะมา ว่ากล่าวอะไร ช่างคุณเถอะ ใครจะยังไงก็ช่างใคร เรากล่าวอย่างนี้ เรามีปรุงแต่ง ออกไปอย่างนี้ เป็นวิสังขาร ตามภูมิตามปัญญาของเรา เราทำแล้ว เราไม่ยึดมั่นถือมั่น มันจะจริงหรือไม่จริง มันจะได้หรือไม่ได้ ตามที่เรา คาดคะเน ตามที่เรากะไว้คร่าวๆ อะไรต่ออะไร ก็ไปตามเรื่องของมัน ไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆเลย เป็นแต่เพียงทำประโยชน์ตนได้ แล้วก็เกื้อกูลผู้อื่น เป็นประโยชน์ท่านอันควร มันจะได้หรือไม่ได้ ก็เท่าฤทธิ์แรงของเรานี่แหละ เท่าความสามารถของเรานี่แหละ มันก็ได้เองตามฐานะ ถ้ามันไม่ได้ก็ทำทิ้งน้ำไป จนกว่าจะตาย ก็เท่านั้นแหละ แต่ยืนยันว่า เราทำดี ก็แล้วกันนะ สิ่งที่เราทำนี้ ไม่ใช่สิ่งเสียหาย ไม่ใช่สิ่งเลวก็แล้วกัน ตรองให้ดี ในสิ่งที่เรากระทำแล้ว

พระอรหันต์ ก็ทำงานไปเรื่อยๆ เป็นพุทธกิจหรือเป็นโพธิกิจ ไปตามเรื่องตามทางราว ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ ยังไม่ตายดับขันธ์ มันก็ยังมีเชื้อทุกข์อยู่ เป็น อุปาทิ  อุปาทิหมายความว่า อุปาทานชั้นละเอียด คือเป็นการยึด พอให้ขันธ์ ๕ มันทรงอยู่ ไม่ใช่อุปาทานอย่างยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้น อุปาทิตัวนี้ มันไม่ใช่อุปาทานเสียทีเดียว เป็นอุปาทิ คือเป็นการยึดอนุโลมมันไว้ อย่างน้อยที่สุด ก็อนุโลมเอารูปขันธ์ให้มันเกาะกันไว้ก่อน ให้มันยึดเกาะกันไว้หน่อย โดยการกินข้าวกินกับ เอาเข้าไว้เลี้ยง เพราะฉะนั้น อัตตาตัวนี้ สูงสุดตัวนี้ ก็เหลือโอฬาริกอัตตา ก็เลี้ยงมันไว้ ด้วยข้าวสุกขนมสด ส่วนจิต ก็เลี้ยงมันไว้ด้วย ผัสสาหารบ้าง วิญญาณาหารบ้าง มโนสัญเจตนาหารมั่ง ตามเรื่อง ที่เรามีมโนสัญเจตนา สิ่งที่รู้ได้แล้วว่า เจตนาอย่างนั้นเป็นผลดี ก็เอาอันนั้นทำไว้ มันผัสสะยังไงมา ถ้าเผื่ออันไหน มันพอรับได้เย็นๆใจ ก็รับไปเป็นวิญญาณาหาร อันไหนรับไม่ได้ อันไหนทุกข์ หลบได้ก็หลบ หลบไม่ได้ทนไม่ได้ ก็ทนมันหน่อย รู้ว่ามันยังไม่ตายก็ต้องทน ถ้าเราเจโตเราไม่พอ ผัสสะใดมารู้ทัน เป็นผัสสาหารอย่างนี้ เป็นวิญญาณาหารอย่างนี้ อยู่ตลอดเวลา คนนั้นก็อยู่ด้วยสภาวะ เหลืออัตตา หรือเหลืออุปาทิ ที่แท้ มีแค่นี้ๆ สักกายะไม่มี กามราคะไม่มี พระอนาคามีอยู่ด้วยรู้ โอฬาริกอัตตา รู้มโนมยอัตตา รู้อรูปมยอัตตา รู้อัตตาที่เกิดที่จิต กับอัตตาที่เป็นรูปขันธ์ ที่เรียกว่า โอฬาริกอัตตา อัตตาที่จิตก็คือ มโนมยอัตตา กับ อรูปมยอัตตา ซึ่งมันไม่มีรูปไม่มีร่างอะไรหรอก แต่เรามาปั้นให้เป็นรูป ให้พอสมควร ถ้าปั้นได้แล้วเป็นวจี ก็ปั้นออกมา ปั้นได้แล้วเป็นกายธรรม ก็ปั้นออกมาตามควร เกิดจากอะไร เกิดจากมโนมยิทธิที่เรามี คือจิตที่เก่งของเรา เราปั้นอันนี้ออกมาเป็นอย่างนี้ บางทีจิตรู้ แต่ปั้นเป็นภาษาไม่ได้ก็มี มีเยอะ อาตมามีเยอะนะ อาตมาสารภาพจริงๆ

อาตมามีจิตที่รู้ยิ่งกว่านี้อีกเยอะ แต่ปั้นมันออกมายังไม่ได้ ยังไม่มีมโนมยิทธิ ยังปั้นออกมาเป็นภาษา หรือปั้นออกมา เป็นกายกรรม ให้คุณรู้ด้วยไม่ได้ อีกเยอะเลย เวลาคุณฟังธรรมของอาตมา ใครตามฟังอาตมาวันนี้ พ.ศ. ๒๕๑๖ นะ อีกสัก พ.ศ. ๒๖๐๐ คุยกันใหม่ ๆ อาตมาจะมีภาษา หรือมีกายกรรม ขึ้นอีกเยอะแยะเลย ที่อาตมาจะเอามาปั้น ให้คุณรู้ได้เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่คุณฟังภาษาของอาตมาปั้นเดี๋ยวนี้ เมื่อต้นปีที่แล้ว หรือเมื่อปีที่แล้วนะ คุณจะเห็นอาตมามีเยอะเลย มีอะไรต่ออะไร ปั้นมาเป็นภาษา ปั้นมาเป็นกายธรรม ที่อาตมาปั้นออกมาได้อีกเยอะเลย มีมโนมยิทธิที่เก่งขึ้น ทำจิตสำเร็จด้วย สภาวะอันนั้น สำเร็จด้วยจิต ลงมาอีกเยอะ แล้วก็ลงมาปั้นเป็น มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา  ปั้นออกมาเป็นวจีบ้างนั้น ออกมาเป็นกายธรรม ให้คุณรู้ได้ เป็นบัญญัติให้คุณรับเอาไปรู้ได้ มีเรื่อยๆเลยจะบอกให้ อาตมายังมีอยู่อีกเยอะ มีมันปั้นออกมาไม่ได้ ไม่รู้จะทำอย่างไร พยายามปั้นขึ้นมาเรื่อยแหละ แต่มันก็ได้เท่าที่อาตมาเก่ง ถ้าอาตมาเป็นสัพพัญญุตญาณ ก็คงจะมาปั้นได้เก่งกว่านี้ แต่นี่ได้แค่นี้ นิรุตติเราก็มีแค่นี้ อัตถะก็มีแค่นี้ ธรรมของเราก็มีแค่นี้ มันก็ได้แค่นี้ เพราะฉะนั้น จึงมีปฏิภาณเท่านี้ ที่เสนอแสดงโชว์อวด เอามากล่าว เอามาแสดง เอามากระทำ เอามาปั้นออกมา ให้คุณรับเอาไปได้เท่านี้ เท่านี้ๆ

ที่อาตมาทำนี่ ก็ทำโดยที่เรียกว่า ใช้ฌานแบบพระพุทธศาสนา คือใช้การรู้ แล้วก็ฆ่า เรา รู้ได้ ด้วยการเพ่งพิจารณา เพ่งพิจารณาแยกแยะ ธัมมวิจยะได้อย่างความพากเพียร ไม่พากเพียรคุณไม่รู้ทันนะสิ ต้องพากเพียร ทำจริงๆ ตั้งสัจจะขึ้นว่า จะถือศีล ๕ ข้อ ศีล ๘ ข้อ ศีล ๑๐ ข้อ จะตั้งจริงๆ แล้วทำจริงๆ คุณจะสั่งสมมาเรื่อยๆ สั่งสมให้แก่ตนเรื่อยๆ เป็นธรรมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วคุณก็จะได้ โดยอำนาจของฌาน นี่คือ ฌานแบบพุทธศาสนา ๆ ไม่ใช่ฌานแบบนั่งหลับตาเอา เฉยๆ

ทีนี้จะขอกล่าวพาดพิงไปถึง ฌานหลับตาเสียบ้างสักนิดหนึ่ง ฌานหลับตาใด เมื่อเวลาไปนั่งหลับตา แล้วใช้อุบายโกศล ในการเพ่งพุทโธ อรหังสัมมา หรือว่าจะใช้กสิณ หรือว่าจะใช้อะไรก็ตามแต่ เมื่อทำจิตของเรา รวมลงได้เป็นหนึ่ง ถ้าคุณเอาแต่ดับ ดับๆๆ น่ะ จิตของคุณดับลง โดยไม่มีปัญญา แต่จิตสงบระงับลงได้ เรียกว่าทำ วูปสโม หรืออุปสโมก็ตาม หรือปัสสัทธิก็ตาม คือสงบระงับมันลงน่ะ ให้จิตมันสงบระงับลง โดยที่คุณไม่มีปัญญาอะไร รู้กิเลส อย่างนี้คือกิเลส อย่างนี้คือทุกขเวทนา อย่างนี้คือสุขเวทนา อย่างนี้คืออุเบกขาเวทนา รู้สุขรู้ทุกข์ รู้อันนี้คือโสมนัสสเวทนา อย่างนี้คือโทมนัสสเวทนา ไม่รู้ คุณไม่รู้สักอย่าง คุณไม่รู้เลย ในสภาวะ เป็นแบบสติปัฏฐานอย่างนี้ คุณไม่รู้เลย แต่คุณรู้แต่ว่า สงบลงแล้วหนอ สบายแล้วหนอ เออ...สบายลงแล้ว ดับลงแล้วๆๆ คุณก็จะรู้แต่สภาวะดับอันเดียว โดยไม่รู้กุศลธรรม-อกุศลธรรม ไม่รู้สุขเวทนา ไม่รู้ทุกขเวทนา ไม่รู้โสมนัสสเวทนา ไม่รู้โทมนัสสเวทนา ไม่รู้อทุกขมสุขเวทนา ไม่รู้จริงๆ เมื่อคุณไม่รู้ คุณก็ไม่สามารถจะดับทุกข์ หรือวางสุขได้เลย

คุณไม่สามารถดับทุกข์หรือวางสุข แต่คุณดับจิต ฟังดีๆนะ เราเรียกว่า ดับจิต ภาษาพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า เจโตสมถสฺส หรือพูดง่ายๆ ว่าก็คือ เจโตสมถะ ใครกระทำเจโตสมถะ อย่างนี้ได้เรื่อยๆ ดับจิตลง เจโตก็คือจิตนั่นเอง สมถะก็คือ ทำให้จิตมันสงบลง สงบลง สงบลงไปเรื่อยๆ ไม่ให้มันดิ้น อัสสะ  สมถะ+ อัสสะ ตัวท้ายนี่ อัสสะตัวนี้แปลว่าดิ้น ดิ้นเก่งก็เท่าม้า ม้าดีดกะโหลกดิ้นเก่งที่สุด ถ้าดิ้นอย่างน้อยๆ เขาก็เรียกลมหายใจ มันมีการดิ้นอย่างอ่อน เพราะฉะนั้น อัสสะแปลว่าลมหายใจก็แปล แปลว่าม้าก็แปล อัสสะตัวนี้แหละ ถ้าเอาอรรถะ จริงๆ ก็หมายความว่าดิ้น มันดิ้น สภาวธรรมใดที่ยังดิ้นอยู่ สภาวธรรมนั้น ยังไม่สงบ เพราะฉะนั้น ใครดับความดิ้นลงให้สงบๆ เป็นสมถะลงเรื่อยๆ ผู้นั้นก็ทำจิต เจโต หรือจิตให้สมถะลงเรื่อยๆ ผู้นั้นก็จะได้ผล มีแค่ดับสงบจิต แต่ไม่มีโลกุตรมรรค ไม่มีโลกุตรผล ไม่มี ไม่มีเลย คนอย่างนี้มีในโลก และคนอย่างนี้ เป็นบุคคลจำพวกหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ วันนี้อาตมาลอกมาอ่านให้ฟังด้วย

พระพุทธเจ้า ตรัสเอาไว้ในอภิธรรมปิฎกเล่มที่๓ ปุคคลบัญญัติปกรณ์ ข้อ ๑๓๗ ที่ท่านตรัสไว้ว่าอย่างนี้

"บุคคล๔ จำพวก

๑. บุคคลผู้ได้เจโตสมถะในภายใน (ภาษาบาลีใช้ว่า อัชฌัตตะ หรือ อัชฌัตตัง ก็ได้ ในภายใน คือสามารถ ทำให้มันดับเข้าไปในภายใน เป็นภายใน เป็นการสงบระงับ ภายใน แต่ถ้าลืมตาขึ้นมานี่ ไม่รู้ด้วยนะ จะสงบได้หรือเปล่า จะเจโตสมถะ ลงด้วยได้หรือเปล่า ไม่รู้ด้วยนะ พระพุทธเจ้าท่านไม่รับรอง แต่ท่านรับรองเหมือนกันว่า อาการอย่างนี้มีอยู่ ของคนที่กระทำ คือเป็นผู้ที่ได้ประพฤติ เจโตสมถะในภายใน) แต่ไม่ได้ปัญญาที่เห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ อธิปัญญา ไม่ได้ ไม่มีอธิปัญญา หรือไม่มีปัญญาเห็นแจ้งในธรรม แต่ได้ความดับจิตลงไป เป็นเจโตสมถะนั่นมี ... ทีนี้บุคคลเช่นนี้ เป็นไฉน ท่านก็กล่าวว่า

บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้สมาบัติที่สหรคตด้วยรูป หรือ สหรคตด้วยอรูป  หมายความว่า เป็นผู้ที่ปฏิบัติได้ลาภทางนี้ คือได้จิตของตัวเอง สหรคต หรือสหคตก็ได้ หรือสหคตังก็ตาม มันแปลว่า ไปร่วมกันกับ หรือเป็นอย่างนั้นแหละ คือจิตมันเป็นอย่างนั้นหน่ะ จิตไปยึดอยู่กับรูปฌาน นี่เรียกว่า สหคตด้วยรูป ถ้าจิตไปยึดอยู่กับอรูปฌาน ก็เรียกว่า สหรคตกับอรูป แล้วก็ไปยึดความดับอยู่อันนั้นเฉย เฉยอยู่ นี่เรียกว่า ผู้ที่กระทำ นี่แหละ อิเธกัจโจ ปุคคโล บุคคลบางคนในโลกนี้ ลาภี โหติ รูปสหคตานัง วา อรูปสหคตานัง วา สมาปัตตีนัง หมายความว่า ไปปฏิบัติสมาบัติแบบนี้อยู่ แต่บุคคลนี้ ไม่ได้โลกุตรมรรค หรือโลกุตรผลไม่ได้ บุคคลอย่างนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ได้เจโตสมถะในภายใน แต่ไม่ได้ปัญญาที่เห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ อธิปัญญาที่เป็นไปโดยโลกุตระ หรือเป็นไปเพื่อความดับสิ้น กิเลสตัณหาไม่ได้ แต่ได้ความดับด้วยหลับตาเฉยๆ อย่างนี้ก็มีในโลก ฟังให้ดีนะ ในนี้ท่านกล่าวอยู่แล้วว่า โลกุตระคืออะไร พวกนี้ท่านไม่นับว่า โลกุตระนะ โลกุตระมีนิพพาน แต่นี้ไม่ได้ขึ้นนิพพานนะ คนประเภทนี้ ที่กำลังอ่านให้ฟังนี่ ได้เจโตสมถะ ไปนั่งหลับตาเอา แล้วก็ได้อย่างนั้นอยู่ เดี๋ยวนี้กำลังมีแยะ และกำลังหลงกันว่า วิธีนี้แหละคือ ฌาน ที่จะประพฤติตนให้ดับ ดับกิเลสตัณหา มีแยะ เดี๋ยวอาตมา จะแยกแยะอย่างอื่นอีก ที่พิสดารกว่านี้ พระพุทธเจ้าท่านยืนยันว่า พวกนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ได้โลกุตระมรรค โลกุตรผล

บุคคลอีกแบบหนึ่ง คือ บุคคลผู้ได้ปัญญาเห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ ได้อธิปัญญา แต่ไม่ได้เจโตสมถะเป็นภายใน เออ มีเหมือนกัน คนนี้ได้อธิปัญญา ได้อธิปัญญาที่จะเป็นไปเพื่อโลกุตระนั่นแหละ แต่ว่าไม่ได้เจโตสมถะ คือมาทำนั่งหลับตา แล้วก็ดับจิตลงไป สงบอย่างนี้ คนนี้ไม่ได้หรอก  ทำไม่ได้ นี้เป็นสมาบัติเหมือนกันนะ เป็นฌานแบบหนึ่งเหมือนกันนะ ฟังฌานให้ดีนะ อาตมากำลังแยก ฌานของพุทธศาสนา กับ ฌานที่นั่งหลับตานี้ให้ฟัง นี่เขาก็เรียกฌาน พระพุทธเจ้าก็เข้าใจ อาตมาก็เข้าใจ อย่างนี้ก็เรียกฌาน ไม่ผิดหรอก แต่ว่าเป็นฌานอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่ฌานแบบพุทธศาสนา เป็นฌานที่เขาทำอยู่ บุคคลที่ได้อธิปัญญา เป็นไปเพื่อโลกุตระ สามารถดับกิเลสตัณหา จนกระทั่งถึง อรหัตตมรรค อรหัตตผลนี่ มีเหมือนกัน แต่เขาไม่ได้เจโตสมถะ

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ได้โลกุตรมรรค หรือโลกุตรผล เขาได้โลกุตร มรรค โลกุตรผล แต่ไม่ได้สมาบัติที่สหรคตด้วยรูป หรือสหรคตด้วยอรูป แต่ว่านั่งหลับตา ทำฌานหลับตา แบบสงบระงับเฉย ไม่ได้ บุคคลผู้นี้ไม่ได้  บุคคลอย่างนี้ เป็นผู้ได้ปัญญาที่เห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ ได้อธิปัญญา ที่เป็นไปเพื่อโลกุตระ แต่ไม่ได้เจโตสมถะในภายใน หรือเจโตสมถะ ที่เป็นภายในไม่ได้  ผู้ที่ได้มรรคได้ผลโลกุตระแบบนี้ เป็นพระอรหันต์ไหม เป็นไหม เอ๊!ทำไมจะไม่เป็นล่ะ ได้โลกุตระมรรค ได้โลกุตระผล โดยที่ไม่ต้องนั่งหลับตาแบบนี้ จนกระทั่ง ถึงอรหัตผลน่ะ เป็นไหม เป็นพระอรหันต์ไหม ก็เป็นน่ะซี แต่ว่าไม่ต้องไปนั่งหลับตาเอา ไม่ต้องไปนั่งหลับตาได้ คนแบบนี้ นี่อย่างที่ ๒ เป็นได้ เป็นพระอรหันต์ได้ ก็โลกุตรมรรค โลกุตรผลได้ ทำไมจะเป็นอรหันต์ไม่ได้ล่ะ ก็อรหัตผลก็เป็นโลกุตรผล แต่ท่านไม่ได้เจโตสมถะเท่านั้นแหละ แต่ท่านมีฌานนะ ฟังให้ดีนะ

นี่อาตมายังไม่ได้ทิ้งคำว่า "ฌาน"  มีฌานนะ ฌานแบบลืมตา ที่อาตมาอธิบายแล้ว โดยฆ่ากามฉันทะ ฆ่าพยาปาทะ ฆ่าถีนมิทธะ ฆ่าอุทธัจจกุกกุจจะ พ้นวิจิกิจฉาโดยแท้จริงด้วยนะ มีอย่างลืมตาด้วย ฟังให้ดีนะ วันนี้แยกฌานให้ฟังชัดๆ คุณจะหาฟังได้ยากเหมือนกันแหละ อาตมาไม่ใช่โม้นะ ไม่ใช่โม้  แต่ฌานหลับตาก็มี ไม่เถียง อาตมาเคยเล่นมาด้วย พูดกันตรง ฌานอสัญญีสัตว์อาตมาก็เคยเล่น, รูปฌานอรูปฌาน อาตมาก็เคยเล่น เคยเล่าสู่กันฟังแล้ว แต่อาตมาไม่อยากเล่ามาก เพราะไม่ได้เป็นไปเพื่อความเร็ว ไม่เป็นไปเพื่อความลัด ตัด เพราะฉะนั้น ผู้นี้ทำได้เหมือนกัน มีบุคคลอย่างนี้ก็มี แต่บุคคลบางคนนั้น เป็นอย่างที่ ๓ คือ บุคคลผู้ได้เจโตสมถะ ในภายในด้วย ได้อธิปัญญาธัมมวิปัสสนาด้วย เป็นไฉน บุคคลผู้นี้ก็คือ

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ได้สมาบัติที่สหรคตะด้วยรูป หรือ สหรคตด้วยอรูป เป็นผู้ได้รูปด้วยนะ แล้วก็ได้โลกุตระมรรค หรือโลกุตระผลด้วย บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ได้เจโตสมถะ เป็นภายในด้วย ได้ปัญญาที่เห็นแจ้งในธรรม กล่าวคือ อธิปัญญาที่เป็นไปเพื่อโลกุตระด้วย บุคคลผู้นี้ได้ทั้ง ๒ อย่าง อาตมาก็พอได้เหมือนกัน อย่างที่เล่าให้ฟัง ทำได้รู้เหมือนกัน ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ว่าอย่างหนึ่งเป็นเจโตสมถะ อีกอย่างหนึ่ง เป็นไปเพื่อโลกุตระ เป็นไปเพื่อมรรคเพื่อผลเพื่อนิพพาน อย่างแท้จริง ฟังให้ออก แยกให้ออก ถ้าแยกไม่ออก คุณไม่มีสัมมาทิฐิน่ะ คุณเมาน่ะ แล้วคุณจะเสียเวลาน่ะ เพราะฉะนั้น บุคคลอย่างที่ ๓ นี่ ได้ทั้งเจโตสมถะ ได้ทั้งโลกุตรมรรค โลกุตรผล

ส่วนบุคคลอย่างที่ ๔ คือ บุคคลผู้ไม่ได้ทั้งเจโตสมถะ และก็ไม่ได้ทั้งปัญญา บุคคลผู้นี้เป็นบุคคลโมฆะบุรุษ โมฆะบุรุษคือ ไม่ได้อะไรสักอย่าง อย่างน้อยที่สุด คนที่ได้เจโตสมถะ ก็ยังได้กำไรนะ ที่จริงน่ะยังได้อร่อย ยังได้เสพย์ สบาย ดีกว่าไปเร่าๆ อยู่กับกาม ดีกว่าคุณไปเที่ยวได้ปรุงอยู่กับกาม คุณไปนั่งหลับตาเสพย์อยู่ คุณยังว่างเบา ก็สบายดีเหมือนกัน แต่มันสร้างอัตตาชนิดหนึ่ง ติดสงบแฮะ ติดหนักๆเข้า ก็ยิ่งทำได้เก่งเข้า ก็ไปเป็นพระพรหม ชั้นตั้งแต่ ขั้นดับไปได้เรื่อยๆ หรือว่าได้สามารถ มีความรู้อะไรสูงขึ้น สูงขึ้นไป จนกระทั่งดับ เป็นอสัญญีสัตว์มั่ง หรือไม่ก็เป็นอรูปฌาน ที่ดับไปเป็น อากาสานัญจายตนะ ไม่มีตัวไม่มีตนแล้ว มีแต่อายตนะ รู้ว่า โอ้ย โลกนี้มันโล่งๆอยู่เหมือนกันแฮะ มีอากาสานัญจายตนะ โลกนี้มันโล่งๆ ไม่เห็นมันมีอะไร ดูที่ตัวเรา ตัวเราก็ไม่เหลือ ตัวเราก็ไม่มี แต่มีอายตนะรู้นะ ท่านถึงเรียกว่า อากาสานัญจายตนะ อายตนะมันมีรู้  มันมีท่อรู้ แต่มันไม่มีตัวไม่มีตน แต่ว่ามันมี มีอะไรล่ะ ตัวตนของท่านก็คือ อายตยะของท่านนั่นแหละ ท่านยังไม่ทิ้งอายตนะ มีอยู่ แต่ไม่มีอะไรเลย มันโล่งๆ มีแต่อากาศโล่ง หมดสุดที่สุดแห่งที่สุด ไม่เห็นมีอะไร นี่แบบนี้เรียกว่า เสพย์อากาสานัญจายตนะ

แต่แท้จริง ลองพลิกจิตขึ้นมาดูซิ ยังมี คุณก็ยังอยู่ คุณนั่นแหละ เป็นผู้รู้ คุณนั่นแหละมีอายตนะ ถ้าคุณไม่มีอายตนะ คุณไม่รู้  ก็คุณรู้ได้เพราะอายตนะคุณมี อยู่เบื้องหลังอายตนะ คุณมีวิญญาณอย่างหนึ่งอยู่ คุณคิดดูสิ ถ้าคุณพลิกจิตของคุณ ออกมาดูปั๊บ เออแฮะ เรายังอยู่แฮะ เรายังมีวิญญาณแฮะ แต่วิญญาณตัวนี้ บางทีรูปขันธ์ก็ไม่ต้องไปเอา ไม่ต้องมีรูปขันธ์ก็ได้ แต่คุณต้องรู้ว่าตนเองมี จึงเรียกว่า วิญญาณัญจายตนะ เรามีอยู่แฮะ เรายังเป็นโอปปาติกะ ยังเสวยอยู่ในภพนี้แฮะ อย่ากระนั้นเลย ดับวิญญาณให้เกลี้ยง เป็นอากิญจัญ ไม่ให้เหลืออะไรสักนิดสักน้อย ดับให้มืดเลย พอดับได้พั้บ อ้า...ไม่มีอะไรแล้ว ไชโย ไม่มีอะไรแล้ว อาฬารดาบสได้ตรงนี้แฮะ ก็ดีใจ นี่แหละนิพพาน สิทธัตถะ เอ๊ย ลูกศิษย์เอ๊ย นี่แหละนิพพาน เรียนเอานะลูกศิษย์นะ สิทธัตถะ เจ้าก็เรียนเอา ทำประเดี๋ยวมันก็ได้ เพราะท่านเคยทำ ได้อากิญจัญญายตนะ ถามอาจารย์ว่า นี่หรือนิพพานอาจารย์ เออ นี่แหละนิพพาน

พระพุทธเจ้าบอก นิพพานอะไร มันยังมีรู้อยู่ ยังรู้ว่าเรามีอยู่ มันยังรู้อากิญจัญญายตนะ มันยังรู้ความไม่มี ใครเข้าไปเสพย์มันก็รู้ ก็ตัวเราเอาเข้าไปเสพย์ตัวนี้ ก็ต้องมีอยู่ซี มันมีอายตนะ อากิญจัญญายตนะ มันมีอายตนะรู้ว่านี่ท่อรู้อยู่ แต่มันไม่รู้ว่า ตนเองมีวิญญาณ ในอายตนะนั้นมีวิญญาณ ยังไม่ได้พลิกวิญญาณดู เพราะพระพุทธเจ้ารู้ อาตมาก็รู้ ที่เอามาพูดให้คุณฟังนี่อาตมารู้ ก็มันยังมีตัวอายตนะตัวนั้นอยู่ ก็ตัวเรานี่แหละ มันไม่มีตัวตนแล้วนะ นี่อาตมาพูด สิ่งที่ไม่มีตัวตน นะคุณนะ มันไม่มีอะไรหรอก แต่ว่ามันมีอายตนะรู้อยู่น้อยหนึ่งนะ มันก็ไปรู้ ไปรู้อะไร รู้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเลย -ปู้โธ่ แล้วใครไปรู้ว่าไม่มีอะไรเลย คิดดูซิ คิดดูดีดี อะไรมันจะไปรู้ “ความไม่มีอะไรเลย”  ก็ตัวคุณนั่นแหละ ไปรู้ความไม่มีอะไรเลย

ถ้าไม่มี แล้วคุณจะไปรู้ได้ยังไงว่า เออ...โลกนี้ไม่มีอะไรแล้ว ใครล่ะรู้ คุณนั่นแหละรู้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านรู้ว่า นี้ไม่ใช่จบหรอก ท่านก็ไปหาอาจารย์ใหม่ ไปหาอุทกดาบส อุทกดาบสก็สอนกันไป เธออย่าไปเชื่อ อาฬารดาบสเขาสอนไม่จริง ยังมี จิตคุณดับไม่ได้ คุณยังไม่ตายคุณยังมีจิต แต่ว่าเราดับจิตให้เหลือน้อยที่สุดซี นี่แหละ คือที่สุดตัวนี้ ตัดให้เหลือน้อยที่สุดให้ได้

พระพุทธเจ้าก็บอกว่า แล้วทำยังไงล่ะ ทำยังไง อุทกดาบสก็บอกว่า เมื่อถึง อากิญจัญญายตนะนั่นนะ มันมีจิตดับเข้าไปไม่ให้เหลืออะไร แต่ว่าลอง พลิกออกมาดูซิ ดูในจิตในจิต หรือจิตในภายในของจิตนั้นอีกที มันมีตัวรู้อยู่หรอก แต่อย่าไปรับรู้มัน ทำรู้เหมือนไม่รู้ ทำให้รู้เหมือนรู้ จึงเรียกว่า "เนวสัญญานาสัญญายตนะ"  "เนว" แปลว่าไม่ เออ ไม่รู้มันก็ได้ แต่มันก็ยังมีสัญญา จึงเรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ  มันยังมีอายตนะรู้อยู่ นั่นแหละ ที่นี่สูงสุดแล้วในโลกนี้ หนีไปที่ไหน ก็ไม่สุขเท่าที่นี่ ที่นี่สุขที่สุด นี่แหละ สิทธัตถะเอ๊ย นี่แหละ ที่สุดแห่งนิพพาน พระพุทธเจ้าเรียนตามอาจารย์นี้ ท่านก็ปฏิบัติได้ เห็นอารมณ์นี้จริงๆ อ๋อ มันลำเลืองๆ อยู่แค่รู้ไม่รู้ แค่นี้เองนะเหรอ เอ๊ ! มันก็ยังไม่ดับสนิทสิ้นรอบนี่นา มันก็ยังมี สภาวะ วิญญาณ ยังมีอะไรต่ออะไรอยู่ ยังมีสัญญา ยังมีตัวรู้ ยังมีอะไรต่ออะไรอยู่นี่หนา พระพุทธเจ้าท่านก็ อื้อ...อย่างนี้ยังไม่เอา มันยังไม่แท้หรอก ด้วยสัพพัญญุตญาณของท่านได้รู้มา เหมือนกับอาตมาเข้าใจนี่ อาตมาเอง ก็ไม่ได้เก่งไปกว่าพระพุทธเจ้า อาตมายังรู้ได้เลย แล้วขั้นพระพุทธเจ้า ท่านจะไม่รู้อย่างไรนะ อาตมายังเอามาอธิบายได้เลย ว่ามันยังไม่หมดเชื้อ พระพุทธเจ้าก็อธิบายได้ซิ ท่านก็รู้ตัวท่านด้วยว่า อาจารย์อาฬารดาบส ก็ยังไม่เก่งหรอก

ท่านก็เลยไปศึกษาค้นหาเอง จนกระทั่งทำ ฌานแล้วฌานอีก?? ทำแบบหลับตานี่ จนกระทั่งรู้ว่า ปัดโธ่ นั่งหลับตาทำฌานไป ให้เก่งที่สุด ดึงสัญญาขึ้นมาให้รู้ให้ชัดที่สุด อย่างเก่งที่สุดนะ ก็จะเห็นความรู้ที่ชัดสว่างที่สุด ถ้าอยู่ในภพแห่งจิต โดยไม่ลืมทวาร ๕ ออกมา ไม่ยกตัว ไม่ยกเอาจิตขึ้นมาเกลือกกลั้ว ในกามวิถี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่เอาด้วย อยู่ในจิตในจิต มันก็จะสว่างโพลง รู้อะไรได้ถ้วนทั่วเหมือนกัน เอาจิตไปรู้ที่โน่นก็ได้ เอาไปรู้ที่นี่ก็ได้ เอาไปทำโน่นนี่ก็ได้ด้วยซ้ำไป จิตอย่างนี้แหละบอกว่า จิตที่สามารถ รู้อะไรได้หมด แล้วมันมีสัญญารู้ อย่าไปดับมันเล่น จิตที่มีขันธ์ ๕ มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดับมันเล่นทำไม ถ้ายังไม่ตายเสีย มันดับไม่ได้ อย่าเพิ่งไปดับมัน แต่เราสามารถดับ สิ่งที่มันมาปรุงแต่งกับจิตของเรา เราสามารถดับมันได้ ถ้าก็ดับยังไง ก็ดับโดยการรู้ปัจจุบันเสียซิ ให้จิตมันกระทบเป็นเวทนา พอเวทนารู้แล้ว ก็สัญญาจำ กำหนดเอาไว้ นี่เขียว กำหนดไว้ว่าเขียว นี่แดงกำหนดไว้ว่าแดง นี่เค็มกำหนดไว้ว่าเค็ม นี่เสียง เสียงอย่างนี้ โลกเขาเรียกว่าไพเราะ เอ้ากำหนดไว้ เสียงอย่างนั้น เขาเรียกว่า ไม่ไพเราะ ก็รู้ไปตามโลกเฉยๆ อย่าเอามาปรุงเป็นรสเป็นชาติ ว่าเป็นไพเราะ-ชอบ, ไม่ไพเราะ-ชัง, อย่างนี้เขาเรียกว่าเหม็น รู้ได้ตามโลก อย่างนี้เขาเรียกว่าหอม รู้ตามโลก ตามสมมุติบัญญัติของโลก ให้รู้อย่างนี้แล้ว ก็สัญญากำหนดหมาย แล้วก็จำไว้เท่านั้น แล้วเลิก ไม่ต้องไปปรุงแต่งเพราะโลก เอาอย่างนี้ ให้ได้ซี พระพุทธเจ้า ท่านเห็นแจ้งอย่างนี้

ท่านก็บอก ปัดโธ่แค่นี้เองหรือโลก โลกรู้กับโลก แต่อย่าไปหลงโลก รู้ให้ชัดกับโลก มีเวทนา สัญญาจำแล้ว อย่าไปหลงมีสังขาร ปรุงกับเขา และก็เป็นวิญญาณัสสะ เป็นวิญญาณอันดีดดิ้น เหมือนม้า อย่าเป็นหลง เป็นวิญญาณัง อนิทัสสนัง อนันตัง สัพพโต ปภัง เป็นวิญญาณที่ประภัสสร อยู่แจ่มแจ้ง วิญญาณที่รู้อะไร รู้ชัดรู้เจน เป็นยถาภูตญาณ ไม่หลงกับโลกเขาไปปรุง ว่าเป็นสวยเป็นงาม เป็นสุภะอสุภะ เป็น อนุง ถูลัง สุภาสุภัง โอ๊ยไม่ต้องไปสุภาสุภัง ไม่ต้องไปอนุง ถูลัง ไปอะไรกับเขา ไม่ต้องมีเล็กมีใหญ่ ไม่ต้องมีดีมีชั่ว ไม่ต้องมีหวานมีหอม ไม่ต้องมีเหม็นมีเปรี้ยว ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เขามีและเขาติดเขาหลง เรื่องของเขา เราเองไม่ต้องติดไม่ต้องหลง เราเองรู้ด้วยความแท้จริง ถ้าอันนี้ควรกินก็กิน อันนี้ควรเสพย์ได้พอสมควร หรือควรรับเอามาปรุงขันธ์ไว้ พอให้ยังพรหมจรรย์ไปอย่างดี อาหารก็คือ ธาตุที่เอามาปรุงแต่งร่างกาย เพื่อยังประโยชน์พรหมจรรย์เข้าไป ก็เอาอาหาร สักแต่ว่าอาหารกินเข้าไป คือเครื่องนุ่งห่ม เครื่องที่ห่อกาย กันร้อนกันหนาวกันอุจาด ก็เอามาห่มพอสมควร ไม่ต้องมีแฟชั่น เดฟบ้าง มอสบ้าง อะไร สั้นมั่งยาวมั่ง อย่าบ้ากับเขา อย่าไปยุ่งกับเขา ที่อยู่ก็สักแต่ว่า ที่หลบร้อนหลบแดด หลบแมลงสัตว์กัดต่อยพอสมควร ก็หลบ ถ้าไม่มีที่อยู่เสียเลย นอนพื้นหญ้า นอนใต้ต้นไม้ นอนอะไรก็ได้ ยาก็สักแต่ว่ายารักษาโรค ถ้าไม่มียากินเลย กินน้ำเยี่ยวดองผลหมากรากไม้ ดองหญ้า รากไม้ต่างๆได้ กินให้ได้ถึงน้ำมูตรเน่า

พระพุทธเจ้าสอนสาวกของท่านอย่างนี้ ๆ อาตมาเอง เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตาม ซึ้งในคำสอนของท่าน เหลือเกิน แล้วก็เห็นจริงเห็นแท้ และจะขอดำเนินรอยอันนี้ ใครจะบอกว่าอาตมาเคร่ง เชิญ ใครจะบอกว่า อาตมาอัตตกิลมถานุโยค อาตมารู้ว่า อาตมาอัตตะหรือไม่ อาตมามีอัตตาหรือเปล่า อาตมาทำตนเองให้เหนื่อยยาก เป็นกิลมถะหรือเปล่า (กิลมถะ แปลว่า เหนื่อยยาก อัตตาแปลว่า เราทำตนเอง ให้เหนื่อยยากแค่ตาย แต่ยังเหลืออัตตาอยู่) อาตมาทำอย่างนั้นหรือเปล่า อาตมารู้ อาตมาวางอัตตาสิ้นแล้ว โดยมันเหนื่อยก็เหนื่อยเพื่อคุณ อาตมาเหนื่อย ไม่ได้เหนื่อยเพราะ อาตมาสร้างอัตตาไว้เสพย์ หรือสร้างอัตตาไว้เพื่อไปเกิด ไม่มี อาตมาไม่ได้สร้างอัตตาไว้เพื่อเกิดให้ตนเอง อาตมาเหนื่อยยาก ทุกวันนี้ เหนื่อยยากเพื่อให้คุณนะ

นี่ เทียวไล้เทียวขื่อ จากกำแพงแสน มาบรรยายธรรมะมานี่ เวียนหัวๆ นั่งรถมา พอเข้าเขตบางแคแล้ว เอ๊ย รถมันวิ่ง อื้อฮือ ทั้งกลิ่น ทั้ง pollution ต่างๆ กลิ่นไม่สะอาด ทั้งไอพิษเสียบ้างอะไร ที่จะทำให้เราเป็นพิษนี่ โอ๊ย บานเบิกเลย แต่อาตมาก็ต้องเข้ามา เข้ามาช่วยกัน ถ้าให้ดีแล้ว อาตมาไปนั่งอยู่ที่ พวกอากาศสดใส แบบอากาศดี อาตมาจะอายุยืนีกหลายร้อยปี ถ้าอาตมามาอยู่อย่างนี้ อายุสั้น เชื่อไหม นี่มาอยู่เมืองกรุงเทพฯ นี่อายุสั้นกว่าอยู่ข้างนอก แต่เอาเถอะ อาตมาก็ไม่ได้รักขันธ์ จนกระทั่ง หวงขันธ์ ๕ จนไม่ก่อประโยชน์อะไรหรอก เข้ามา แต่ที่อาตมาทำอยู่เดี๋ยวนี้ อาตมาไปตั้งก๊กตั้งเหล่าอยู่ที่นั่นพอสมควร บำเพ็ญธรรมแล้วก็อาศัยสปายะ อาศัยบุคคล อาศัยสถานที่ อาศัยที่เป็นที่บำเพ็ญธรรม เพื่อประโยชน์พวกเราบ้าง แล้วจะได้เผยแพร่ ธรรมเพิ่มขึ้นไปอีก อาตมาอาศัยสิ่งนี้ ทำอย่างนั้นเอง และอาตมาเหนื่อยยากนี่ อาตมาไม่ได้เหนื่อยยาก เพราะอาตมาเหนื่อยยากแล้ว อาตมาก็ไปหลงอัตตาของอาตมา เปล่า ไม่มีอัตตาใดเลย หลงอัตตาเป็นวิชาเหรอ เปล่า อาตมาไม่ใช่มหาพรหม จะได้สร้าง หลงอัตตาของตนเอง เปล่า อาตมาหลงอัตตา ซึ่งเป็นความสงบ เป็นอสัญญีพรหมเหรอ เปล่า ไม่มี อาตมาไปหลงอสัญญีพรหมก็ไม่มี อรูปฌาน อรูปพรหมอีก ๔ ขั้น ไม่มี ไม่มี ไม่ว่าพรหมชั้นไหน อาตมาก็ไม่มีทั้งนั้น หรือแม้แต่พรหมชั้น อวิหาพรหม อตัปปาพรหม

ถ้าเผื่อว่าอาตมาจะทำกิจใดๆ อยู่ทุกวันนี้ อาตมาเหนื่อยทุกวันนี้ ที่เป็นเรียกว่า กิลมถะ (ภาษาบาลี กิลมถะ แปลว่า เหนื่อยยาก เหน็ดเหนื่อย ลำบากลำบน) อาตมาเหน็ดเหนื่อยยาก ลำบากลำบน อยู่ทุกวันนี้ อาตมาไม่ได้สร้างอัตตา ให้ตนเองเสพย์เลย แม้แต่ อวิหาพรหม หมายความว่า พรหมชั้นที่หลงเมตตา, อตัปปาพรหม พรหมชั้นที่หลงกรุณา, สุทัสสาพรหม พรหมที่หลงมุทิตา, สุทัสสีพรหม พรหมที่หลงอุเบกขา, อาตมาก็ไม่มีหรอก ที่สุดแห่งที่สุด เป็นพรหมที่ ชั้นไม่ได้น้องใครเลย อกนิษฐา แปลว่า ไม่ใช่น้องใคร เป็นพี่เบิ้ม หลงเป็นปรมาตมัน ใหญ่ที่สุด เป็นจอมแห่งพรหม ถึงพรหมชั้นนั้น อาตมาก็ไม่ได้มี พรหมชั้นนั้น หมายความว่า ยังยึดสิ่งที่เป็นใหญ่ ยังมีเหลือเชื้อ แห่งอุเบกขาก็ตาม ยังเหลือเชื้ออะไรอยู่ นิดหน่อยก็ตาม ไม่ได้เป็นแม้แต่อัตตาพรหม แค่ชั้นโน้นชั้นนี้ อาตมาก็ไม่ได้เป็น ไม่ได้เป็นจริงๆ  ถ้าอาตมาเป็น อาตมาไม่รู้ อาตมาก็ไปยึดอยู่ล่ะ

นี่อาตมารู้ อาตมาไม่ยึดด้วย อาตมาเอามาบอกคุณฟังได้ คนที่เขาไม่รู้ เขาเอามาบอกคุณฟังไม่ได้หรอก  คนเขารู้ เขาถึงเอามาบอกคุณฟังได้  คุณเคยได้ยินบ้างไหมล่ะ อย่างที่อาตมาอธิบาย มีนักธรรมะคนไหน สอนบ้างไหม ชี้แจงแบบนี้ มีไหม ถ้าไม่มีก็เป็นของใหม่ มีหรือไม่มีก็เป็นของใหม่ และอาตมาเอามาอธิบายได้ อาตมาก็ไม่เคยเห็นมีอยู่ ในตำราเล่มไหน ไม่มี แต่อาตมารู้โดย ญาณของอาตมา แล้วเข้าใจโดยตนด้วย เข้าใจจริงๆด้วย ว่าจิตแม้จะเป็นอัตตา อยู่ถึงขั้นพรหมสุทธาวาส ขั้นละเอียดแบบนี้ อาตมาก็ไม่เหลือเชื้อไว้ไปเกิดแน่ ไม่เหลือเชื้อไปเกิด แม้พรหมขั้นสุทธาวาส ถึงขนาดนี้ สุทธาวาสก็มี อวิหา อกนิษฐาไม่เอา มีแต่จะกระทำโดยทวน เหน็ดเหนื่อยบ้างก็เอา ก็รู้ทุกข์สภาวะ เหน็ดเหนื่อยมา  แล้วก็มาทำประโยชน์ จนกว่าขันธ์ ๕ นี่จะตาย ตายดับเมื่อไรก็เลิก

อาตมาทำทุกวันนี้ อาตมารู้ว่าอาตมาแสดงธรรม อาตมาเอาธรรม มาเผยแพร่ ถ้าใครไม่รู้ค่าของธรรมนี้ ไม่ให้ข้าวอาตมากินเลย อาตมาก็ดี ก็ว่างๆ จะเหี่ยวลงเหี่ยวลง ประเดี๋ยวก็ตาย แต่ถ้าใครเห็นธรรมะอยู่ ก็เอาข้าวมาให้อาตมากิน นอกจากเอามาให้กินแล้วก็ไหว้ ฉันให้หน่อยนะ ไม่ฉัน บางคนก็บอกว่า โธ่ ไม่ฉลองศรัทธาเลย ต้องฉลองบ้างซิ ปรุงเก่งเลย ก็ต้องฉลองบ้าง อะไรอย่างนั้น ฉลองศรัทธาบ้าง อาตมาก็อยู่ อยู่เพื่อคุณไป

อาตมาเคยพูดมาแล้ว แม้แต่อาตมากินข้าวนี่ อาตมาไม่ได้กินข้าว เพื่อตัวเอง อาตมากินข้าวเพื่อคุณ แหม! นักธรรมชั้นใหญ่ๆ บางคนก็บอกว่า อาตมาบ้าแล้ว เอ้า บ้าก็บ้า อาตมาก็ไม่ว่า  แล้วหาว่า อาตมาพูดเอาดีเอาเด่น เปล่า ไม่ได้พูดเอาดีเอาเด่น อาตมาพูดความจริง ถ้าใครเข้าใจสภาวะนี้จะรู้ อาตมากินข้าว ทุกวันนี้ ก็กินไป รักษาขันธ์ไว้ เท่านั้นแหละ วันหนึ่งมื้อหนึ่ง ก็เหลือแล้ว พอดีแล้ว พออยู่ได้แล้ว แล้วก็มาทำงาน ให้แก่พวกคุณได้ ผู้ที่ทำได้จริงๆ พวกคุณก็ขอให้ไปทำ และจงมีฌาน โดยนัยที่อาตมาว่านี้ ถ้าเป็นฌานหลงความสงบ โดยนัยที่ว่านี้ ก็ยังดีหน่อย เพราะอย่างน้อยที่สุด คุณก็ยังได้ความสงบ เป็นฐาน ส่วนบางคน ไม่นั่งหลับตาฌาน แล้วไม่ไปยึดความสงบ แล้วไม่ได้หลงความสงบ ไม่ได้ติดความสงบ แต่นั่งหลับตาฌาน แล้วไปหลงเดรัจฉานวิชา พอนั่งหลับตาได้ มีชักจิตลงสงบ แล้วเอาจิตไปทำเล่นลิเกได้ ก็สร้างโรงลิเกขึ้นในหัวใจ ก็กลายเป็นผู้มีลิเกในหัวใจ สร้างสวรรค์ดูมั่ง สร้างนรกดูมั่ง แล้วก็ไปเที่ยวสวรรค์เล่น ไปเที่ยวนรกเล่น อะไรต่ออะไรอยู่นั่นแล้ว เฉิดฉาย เฉิดฉิน ไปด้วยอำนาจดวงแก้ว ไปด้วยอำนาจอะไรบ้างก็ไม่รู้ แล้วแต่จะพากันไปเถอะ เสร็จแล้ว ก็ไปอยู่กับนรก อยู่กับสวรรค์

พอลืมตาออกมาแล้ว กามเข้าทางหูทางตา เท่าไรก็เท่าเก่า กิเลสมีเท่าไรก็เท่าเก่า ไม่ได้ดับ ไม่ได้ฌาปนกิจกิเลสตัวเอง สักทีหนึ่งเลย สักโอกาสหนึ่งเลย ก็ได้แต่ไปนั่งหลับตาอย่างนั้น ๆ เสียท่า นอกจากเสียท่า เพราะเราไปมีลิเกในหัวใจ แล้วมันไม่พอ สร้างอัตตาตัวใหม่ให้แก่ตัวอีก สร้างตรงไหน นึกว่าตัวเราเอง เป็นพระพรหมใหญ่ ฉันเป็นมหาพรหมเลย ใหญ่ ฉันมีฤทธิ์น่ะ มาไหว้ฉันน่ะ ฉันเก่งน่ะ ฉันพาคนไปนรกก็ได้ ฉันพาคนไปสวรรค์ก็ได้ ฉันไปดูของหายก็ได้น่ะ ฉันบันดาลให้คุณหายจากป่วยก็ได้น่ะ ฉันทำอย่างโน้นอย่างนี้ อะไรก็ได้น่ะ แล้วเป็นพระพรหมตัวเบ้ง โอ้โฮ! องอาจใหญ่โต อาตมาเป็นมาแล้วน่อ ไม่ใช่ไม่เคยเป็น เป็นมาแล้ว รักษาไข้ ใบ้หวย ไล่ผี ดูของหาย ทายคู่ผัวตัวเมีย จะเลิกกันลากัน ร้างกันหรือเปล่า ฮู้ เป็นมาแล้ว

พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ใน มัชฌิมศีล มหาศีล ไปอ่านดู ผู้ที่บิณฑบาต ฉันอาหารเขาแล้ว สมณพราหมณ์เหล่าใด และยังมีหน้า ไปเที่ยวได้ดูของหาย ไปทายผ้าหนูกัด ไปเที่ยวได้รักษาไข้ ปรุงยารักษาไข้ ทำเดรัจฉานวิชา ด้วยเดรัจฉานกถาแบบนี้ มันผู้นั้นไม่ใช่ศิษย์ตถาคตหรอก ศิษย์พระพุทธเจ้า ต้องอยู่ในศีล ศีลไม่ละเมิด ศีลไม่ด่างไม่พร้อย รู้ด้วยว่า มันเป็นยังไง ทำไมพระพุทธเจ้า ท่านถึงห้ามไว้ในศีลว่า สมณพราหมณ์เหล่าใด ไปบิณฑบาต ฉันอาหารของเขาแล้ว แล้วก็ไม่ทาย ผ้าหนูกัด ไม่ทายว่าคู่ผัวตัวเมีย คู่นี้ไม่ให้ฤกษ์ ไม่ให้ยาม ไม่รดน้ำมนต์ ไม่รักษาไข้ ไม่ใบ้หวย ไม่อะไรต่ออะไร ทำไมพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ในศีล  ถ้าใครเข้าใจ ผู้นั้นก็พึงไม่ปฏิบัติ อาตมาเข็ดหลาบแล้ว เคยทำมาแล้ว กิลมถาทั้งนั้น ทุกข์ทั้งนั้น รักษาไข้ เขาทำอะไรไข้ ผิดกฎหมายด้วย เป็นหมอเถื่อนด้วย ไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ ทำไมอาตมา จะไม่เคยรักษา ทำไมอาตมารักษาไม่ได้นะ หายมาคามือก็มีแล้ว ตายมาคามือก็มีแล้ว เหมือนหมอทั้งหลาย ในโรงพยาบาล หมอทั้งหลายในโรงพยาบาลทุกคน รักษาไข้ หายมาคามือ ตายมาคามือ เท่ากัน เหมือนกัน แต่เขาถูกกฎหมายแฮะ เขามีใบประกอบโรคศิลป์ อาตมาไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ อาตมาจะไปทำอยู่ทำไมล่ะ อาตมาก็เผยแพร่ธรรม อาตมามีวิชา

วิชาอาตมาคืออะไร คือธรรมะวิชา หรือพุทธวิชา อาตมาจะเผยแพร่ หรืออาตมาจะทำบุญ คุณประโยชน์ ให้โลกนี้ด้วยอะไร ก็เอาวิชาที่อาตมามี มาทำบุญทำคุณ ในโลกนี้อยู่ ก็คือ ทำพุทธวิชา หรือ ธรรมวิชาแค่นี้ เดรัจฉานวิชาเหล่านั้น ก็ให้เดรัจฉาน ทั้งหลายเขาทำ หมอก็ยังเป็นเดรัจฉาน เพราะยังเป็นผู้ที่ ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ ๓ เดระ ติรฉาน มาจากคำว่า "เดระ" หรือ "ติร" นี้ ติ เต แปลว่า ๓ "รัจฉานัง" แปลว่าเป็นไปอยู่ในทางผิด รัจฉานัง ทางผิดมีอะไรบ้าง ก็ยังเป็นไปในทาง ประเดี๋ยวคุณก็เดินไปทางนรก ประเดี๋ยวคุณก็เดินไปทางสวรรค์ ประเดี๋ยวคุณก็เดินไปทางมนุษย์ มี ๓ แพร่งนี้ "ติรัจฉานัง" แปลว่า ทางสามแพร่ง เดี๋ยวก็เป็นนรก เดี๋ยวก็เป็นมนุษย์ เดี๋ยวก็เป็นเทวดา เดี๋ยวก็เป็นนรก เดี๋ยวก็เป็นเทวดา ก็คุณไปกันซิ อาตมาไม่ไป กับคุณแล้ว ไปสวรรค์อาตมาก็ไม่ไป เป็นเทวดาก็ไม่ไป ไปเป็นนรกก็ไม่ไป ยังเป็นมนุษย์อยู่โดยสมมุติ เป็นมนุษย์โดยสมมุติ และอาตมา ก็จะทำงาน เผยแพร่สิ่งที่อาตมามี อาตมาไม่วิ่งวุ่น อยู่ในทาง ๓ แพร่งนั้นแล้ว เลิก เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่เป็นเดรัจฉาน อยู่กับคุณหรอก เป็นหมอก็ไม่มีพุทธวิชา มันก็ยังตายเกิด อยู่ในสวรรค์นรกนี่แหละ จะเป็นอะไรก็ตามแต่ จนกระทั่ง เป็นจอมจักรพรรดิ์ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นอะไรทุกอย่างเลย ถ้าไม่มีพุทธวิชา ที่เป็นโสดา สกิทา อนาคา อรหันต์แล้วไซร้ ยังอยู่ในทางสามแพร่งอยู่ทั้งนั้น ยังเรียกได้ว่า ผู้ยังหมุนเวียน อยู่ในเดรัจฉานัง หรือติรัจฉาน ทางสามแพร่งนี้อยู่ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ผู้ใดยังไม่ล้าง ยังไม่เลิก ยังไม่หยุด ผู้นั้นก็ยังอยู่อย่างนี้ ไปเรื่อย

ผู้ใดไปปฏิบัติฌานแบบหลับตา แล้วก็ไปติดแบบนี้นะ ยิ่งทรมานหนักกว่า เพราะหลงเสพย์วิชา แล้วยังเหนื่อย เหนื่อย เหนื่อยแล้วไม่รู้จักหยุดด้วย อาตมารักษาไข้ คุณเอ๊ย ยิ่งกว่า pollution ที่อยู่ในทางรถเมล์ อยู่ในนี่นะ นั่งอยู่ในห้องนี่ คุณเอ้า คนไข้คนนี้มา เอ้าจุดธูปเข้า ๗ ดอก แล้วคุณคิดดูซิ ควันธูปเท่าไร อ้าว..คนที่ ๒ คนนี้เสร็จแล้ว คนนี้มาอีก เอ้า จุดธูปเข้า ๗ ดอก คนไหนมาก็ ๗ ดอกๆ นั่นแหละ คุณเอ๊ย กระถางธูป ไม่ใช่กระถางเท่านี้หรอก กระถางเท่านี้ ไหม้โชน ควันมันกรุ่น อยู่นั่นแหละ และก็นั่งสูดไปซิ pollution อย่างดีเลย นั่งไปตาหู น้ำตาก็ไหล สูดก็สูดอยู่นั่นแหละ ถ้าอาตมาอยู่อย่างนั้นอีกนะ ไม่ช้าไม่นาน อาตมาตายเร็วกว่านี้ ก็มัน กิลมถะ ออกขนาดไหนหละ แล้วก็เหนื่อยยากลำบาก ทนทุกข์แค่ไหนละหนะ อาตมาเห็นแล้ว เลิกแล้ว ไม่เอาแล้ว นอกจากนั้นแล้วก็ โอย ตีหนึ่ง สองยาม สามยาม ก็นั่นแล้ว มารักษากัน ดูหมอกัน ทำอะไรกัน ทำอยู่นั่นแล้ว อาตมาแย่งหน้าที่เขาหมด หมอดูก็มีก็ดูกันเอง อาตมาก็ว่าดี หมอดูบางคนก็แม่นดีเหมือนกันหน่ะ บางคนก็ไม่ได้เรื่อง แต่ไปพึ่งทำไมหมอดู

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เมื่อเราเองเป็นเจ้าของฤกษ์เสียแล้ว ดวงดาวก็เป็นเจ้าของฤกษ์ไม่ได้ เราชนะดวงดาวทั้งหมด ฤกษ์อยู่ที่เรา ดวงดาวไม่ใช่เจ้าของฤกษ์ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปพึ่งหมอ ไปพึ่ง อัตตา หิ อัตตโน นาโถ พึ่งตัวเราเอง เพราะฉะนั้น อาตมาถึงเลิก วิชารักษาไข้ ใบ้หวย ไม่ดูหมอแย่งใคร ไม่แข่งเขาทั้งนั้นแหละ จะแข่งอย่างเดียว ก็แข่งอธิบายธรรมะ เพราะอาตมาเห็นว่า ถ้าจะทำอันนี้ให้แก่คน เป็นธรรมทาน ไม่ใช่เดรัจฉานมิจฉาทาน ทานวัตถุ ทานอะไรอย่างอื่นอีก ไม่เอา เอาธรรมทานอันนี้ พระพุทธเจ้าสอนเราว่าเป็น ชินาติ เป็นยอดแห่งทาน ชนะการให้ทั้งปวง อาตมาก็เอาอันนี้แหละให้คน  อย่างอื่นไม่ให้อีกแล้ว รักษาไข้ให้ ใบ้หวยให้ ดูหมอให้ ทำอะไรให้ ไม่ให้อีกแล้ว ไม่ใช่อาตมาทำไม่เป็นนะ คุณอย่าหาว่า อาตมาคนเล็กๆนะ อาตมาคนใหญ่นะ รักษาไข้ใบ้หวยก็เป็นนะ เล่นกับผีกับสาง เล่นมาหมด พระพรหม พระอินทร์อะไร เล่นมาหมดแหละ ไม่ใช่ไม่เป็นนะ อาตมาพูดนี่ ไม่ใช่พูดเล่น พูดจริง แต่ว่าเรื่องพวกนี้ ปล่อยให้คนรุ่นหลัง ที่เขายังงมงายอยู่กับเรื่องนี้ เขายังทำงานเดรัจฉานเหล่านี้อยู่ ก็ทำงานนี้ อาตมาไม่แย่งเขา อาตมาก็มาทำงาน ธรรมทานอย่างเดียว หน้าที่เดียว

ศิษย์ตถาคตผู้ใด ย่อมรู้งานที่เป็นงานยอด สูงที่สุดแล้ว แล้วเลือกงานนี้ กระทำให้แก่ตน ช่วยโลกด้วยได้วิธีนี้ ศิษย์ตถาคตผู้นั้น ก็มีวิถีเดียว มีงานเดียว คืองานเผยแพร่ธรรม สงเคราะห์ธรรม ให้แก่บุคคลทั่วไปในโลก ก็เลือกทำงานนี้ เป็นจบสูงสุด

จงปฏิบัติฌาน อย่างพุทธศาสนา เพื่อให้เป็นไปเพื่อละกิเลส หน่ายคลาย จากกิเลสตัณหาออกมา แล้วคุณจะได้มาช่วยกัน จรรโลงศาสนาพุทธ เผยแพร่ธรรมะ อันบริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อโลกียะ หรือไม่เป็นไปเพื่อเดรัจฉานวิชาทั้งหลาย โดยนัยอาตมาว่า จบ จบ การบำเพ็ญฌานทางพุทธศาสนา วันนี้มีลึกขึ้นไปอีกเยอะนะ ถ้าใครตั้งใจฟังดีๆ

 


จัดทำโดยโครงงานถอดเทปธรรมะฯ
บันทึกข้อมูล โดย ทีมงานคุณกัญญา พุ่มรัตนา ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖
พิสูจน์อักษร-พิมพ์ออกโดย วรรณประภา ชัยประสิทธิกุล สิงหาคม ๒๕๔๗

ฌานในพระพุทธศาสนา ๒๕๑๗