สร้างความแข็งแรงกายและใจพิชิตโรค
พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๖
ณ พุทธสถานสันติอโศก

ทางด้านสาธารณสุข ก็เหมือนกัน ทางด้านสาธารณสุขตอนนี้ก็ปรับตัวกันเป็นทางเลือก ทางเลือก ก็จะเอา ด้านจิตวิญญาณ เน้นสุขภาพจิตนะ เน้นมาทางสุขภาพจิต ที่นี้เน้นทางสุขภาพ

จิตจะเอาอะไรล่ะ มันจะเอาอะไรไม่ได้นอกจากจะเอาศาสนามาเป็นแกนของเรื่องใช่ไหม เอามาเป็น แกนนำ ก็เป็นสาธารณสุข ซึ่งเราจะไม่พยายามเรียกสาธารณสุขกับเขา เราจะเรียกสุขภาพ สุขภาพ ถ้าทางวัตถุ ก็ว่ากันไป สุขภาพทางจิตก็ว่ากันไป แล้วเราก็พยายามทำอยู่ ก็มีทั้งหมด ที่เป็นหมอของเรา ชาวอโศก ก็มีแล้ว ก็พอดีๆ หมอที่เป็นชาวอโศกเราคือ หมอวีรพงศ์ ได้ย้ายไปอยู่ที่ ในกองสาธารณสุข ทางเลือก เขามีกรมใหม่ขึ้นมา กรมแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกนะ มีกรมใหม่ขึ้นมา ทีนี้แพทย์แผนไทยนั้น หมอเพ็ญนภา เขาไปรับผิดชอบเป็นหัวหน้ากอง ของกองนั้นไป ของกรมนี้ กรมนี้ก็เป็นกอง แพทย์แผนไทย กับกองแพทย์ทางเลือก ส่วนกองแพทย์ทางเลือกนี้ พอดีหมอ วีรพงษ์ ไปอยู่ทางจุดนี้ ก็เลยเดินเรื่องกันว่า ดีเหมือนกันทางเลือก เราก็จะพยายามที่จะ รวบรวม โดยเฉพาะ รวบรวมทั้งสาธารณสุข หรือสุขภาพทาง จิตวิญญาณด้วย และก็พยายามที่จะให้มี โดยเราก็ได้ ทำมาแล้ว โดยพยายามที่จะพูดกัน พยายามที่จะ อธิบายกัน ๖ อ. ๗ อ. น่ะพวกเราที่มี ซึ่งมีอิทธิบาท หรือ อารมณ์พวกนี้ต้องอาศัยทางศาสนา ทางธรรมะทั้งนั้น ที่จะมีอิทธิบาท มีอารมณ์ นอกนั้นก็จะมี อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเราก็พยายาม ที่จะศึกษาฝึกฝน และก็ทำให้ชีวิต แข็งแรง ชีวิตอยู่ดี อยู่เย็นเป็นสุข

ทางโลกเขา กิจการแพทย์เขานี่ ตอนนี้เขาก็ก้าวหน้าขึ้นมากนะ เขาก้าวหน้าขึ้นมา เขาหวังว่า จะมีอายุ ยืนถึง ๑๒๐ ปีว่านั้นนะ เพราะเขาสามารถที่จะมีกล้องส่องอะไรของเขาก็ไม่รู้ เข้าไปส่องในเส้นเลือดได้ ตรวจเลือด ในเส้นเลือด หรือเข้าไปทำความสะอาดในผนังเลือดข้างในได้ โอ้โฮ อะไรมันจะเก่ง ขนาดนั้นก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ในเรื่องของเส้นเลือดอุดตัน ไขมันอุดตันอะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ นานา พวกนี้จะลดลง แล้วเขาก็ สามารถตรวจเลือดได้ละเอียดลออขึ้น ก็หวังว่าคนต่อไปนี้ละต่ออายุยืน เพราะการแพทย์เจริญขึ้น ถึงแม้ว่า ทางวัตถุเจริญ ทางนามธรรมหรือทางด้านจิตวิญญาณ มันก็น่า จะเจริญขึ้นไปด้วยอย่างมาก ถ้าประกอบกัน ทั้งทางวัตถุ ทั้งรูปธรรม ทางนามธรรมด้วย มันก็ดีนะ ช่วยกันไปนะ ถ้าเผื่อว่ามีชีวิตอยู่ หมอเอง เขาก็ให้ข่าว เรื่องนี้มานี่ ข่าวที่ว่าจะอยู่กันได้ถึง ๑๒๐ ปีนี่ เขาก็พูดเหมือนกัน ผมเองอายุยังไม่ถึง ๑๒๐ เลย ผมก็ได้ยิน บ่นแล้ว คนอายุ ๗๐-๘๐ ปีขึ้นมาก็บ่น เบื่อแล้วอยากตาย ๆ ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ให้อยู่ไปอีก ๑๒๐ อุ้ย จะอยู่ไป ทำไม ๑๒๐ นี่ ยังไม่ถึง ๑๐๐ ก็อยากตายแล้ว อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ ทำอะไรก็ไม่ไหว เรี่ยวแรงอะไร กำลังมันก็ไม่มี ทำเรี่ยวทำแรง อะไร ทำอะไรก็ไม่เหมือนเก่า หู ตา ทำอะไรก็ไม่ค่อยได้ จะอยู่ไปตั้ง ๑๒๐ ปี ไม่รู้จะอยู่ ไปทำไม หมอแกก็บอกว่า เออผมฟังแล้วพวกคนไข้เขาก็บ่นอย่างนี้ ผมก็ว่าเหมือนกันนะ หมอเขาว่า เขาก็ออก ความเห็นของเขาเอง ผมก็อายุยังไม่ทันถึง ๗๐ หรอก ๖๐ ก็ยังไม่ถึง ผมก็ยังรู้สึก เหมือนกัน เลยว่า ถ้าผมอายุ ๗๐-๘๐ ขึ้นไป ผมคงเบื่อเหมือนกันนะแหละ ผมจะทำอะไร (หัวเราะ) ก็ไม่ค่อยได้แล้วนี่ มันจะอยู่ไปทำอะไร ถ้าอยู่ไปถึง ๑๐๐ ปี อยู่ไปถึง ๑๒๐ แล้วมันจะอยู่ไปทำอะไร มันคงเบื่อแย่ เหมือนกันนะ เขาว่าอย่างนั้น อาตมาก็ว่าจริงนะ อาตมาฟังว่า ฟังที่ว่า ว่ามันก็จริงนะ มันก็คงจะเบื่อ

แต่ถ้าเราอยู่อายุ ๑๐๐ พลังก็แข็งแรงนะ กระปรี้กระเปร่า ไม่ได้อยู่ไปงอก ๆ แงก ๆ จะเดินก็ไม่ค่อยไหว จะไปก็ไม่ค่อยไหว จะนั่งก็โอย จะลุกก็โอย มันก็น่าเบื่อนะ แต่ถ้าเผื่อว่า มันก็ไม่หรอก ลุกนั่งมันก็ พอเป็นไป ก็แข็งแรงดี อาตมาว่า ๑๒๐ ๑๕๐ มันก็น่าอยู่ อยู่นะ ถ้ามันไม่ลุกโอยนั่งโอยนะ กลัว มันก็ยังทำโน่นทำนี่ได้ อย่างอาตมาทุกวันนี้ ยังทำอะไรต่ออะไรได้ ถ้าอยู่อย่างนี้ไปอีก แต่อาตมาว่าอยู่ ๑๕๐ จะเป็นอย่างนี้นะ อยู่ ๑๕๐ ถ้าอย่างนี้อยู่นะ แต่ถ้าบอกว่า โอโฮ อยู่ไปแล้วก็แหม จะลุกที เอ้าประคองหน่อย โอ๊ย ๆ เบา ๆ ๆ โอ้ แล้วมันจะอยู่อย่างไร มันจะอยู่ไปทำไม เขาประคองทีร้องโอย ๆ ประคองแรงก็ไม่ได้ ต้องร้องเบา ๆ ๆ งอก ๆ แงก ๆ จะกินจะอยู่จะทำนั่นทำนี่ จะช่วยโน่นนี่ มันก็ไม่ค่อยได้ มันก็คงจะอยู่ไป ๑๐๐-๒๐๐ หรือ ๑๕๐ จะอยู่ไป ทำไมนะ อย่างนั้นนะ มันก็คง ไม่ไหวหรอก ตัวเองก็คงเบื่อ ตัวเองเป็นภาระคนอื่นนะ มันก็คงไม่

เพราะฉะนั้น เราก็มีอยู่จุดเดียวเท่านั้น จะทำอย่างไรเราจึงจะแข็งแรง เพราะฉะนั้น อันนี้ก็มาช่วยกัน รณรงค์ มาช่วยกันศึกษาฝึกฝน มันต้องทำนะ อาตมาว่าที่เขาไปรวบรวมกันอีกแล้วว่า จะทำหนังสือ ออกมาเล่มหนึ่ง ไม่ใช่ ๗ อ. แล้วพูดกันไปพูดกันมาโอโฮ! พวกนี้นี่ พูดให้ผักงามได้เก่งมากนะ เดี๋ยวนี้ เรามีปรัชญาใหม่ พูดให้ผักงาม ยิ่งพูดผักยิ่งงาม แต่ไม่ได้ปลูกให้ผักงามเลย มีแต่พูดให้ผักงาม อย่างเดียว ไม่ได้ปลูก ให้ผักงามเลย ผักงามหรือเปล่าไม่รู้ เพราะไม่ได้ปลูก แต่พูดให้ผักงามไหม โอ้โฮ! ผักงามทุกวัน วันหนึ่ง พูดไม่รู้กี่เที่ยว ผักงามขึ้นทุกวัน ๆ เลย แต่ปลูกให้ผักงามหรือไม่ ยังไม่เห็น ยังไม่รู้นะ เราก็ควรจะต้องมา พยายามปลูกผักให้งาม ไม่ใช่เอาแต่พูดให้ผักงาม พูดกันมาก ๖ อ. ๗ อ. นี่แหละขยายจาก ๗ อ. ไปอีกกี่ อ. ก็ไม่รู้นะ มี อ. อะไรอีกมาก อาตมาก็ยังไม่ได้จำ เขาบอกเหมือนกัน วันนั้นผ่านมา ก็กำลังจะรวบรวม ทำเป็นหนังสือขึ้นมา แล้วก็พยายามที่จะเอามาเผยแพร่กัน และก็พยายามให้ทำ

อาตมาอยากจะอธิบาย อิทธิบาท ซึ่งเป็นตัว อ. แรกที่อาตมาหยิบมาใส่เองว่า ถ้าเรามีอิทธิบาทแล้วนี่ ทุกอย่าง จะคลี่คลายไป เพราะฉะนั้น เราเป็นนักธรรมะนี่ เราต้องเรียนรู้อันนี่ก่อน อิทธิบาท เราก็รู้กันอยู่แล้ว อิทธิบาทมี ๔ จะเกี่ยวข้องกับร่างกายอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสน่ะ ถ้าเผื่อ มีอิทธิบาทดี ๆ นี่ อิทธิบาท คืออายุ อายุคืออิทธิบาทนะ อายูหะ นี่ อิทธิบาท เป็นตัวเป็นเครื่องแสดง ผู้ที่มีอิทธิบาทอยู่ ผู้นั้นแหละมีอายุ อายุจะยืน หรืออายุจะดี ผู้มีอายุยืนคือผู้ยังไม่ตายใช่ไหม ผู้ยังมี ชีวิตนั่นเอง ผู้ยังมีอายุอยู่ หมดอายุแล้วก็คือ ผู้นี้ตายแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีอายุอยู่ เราจะมีอิทธิบาท เป็นเครื่องแสดง ก็คือ ๑. มีฉันทะ มีฉันทะนี่คืออะไร ฉันทะแปลว่า ความยินดี แปลว่าความพอใจ แปลว่าความสุขใจนะ สรุปง่าย ๆ ก็คือความสุขใจนะ ฉันทะนี่ เป็นความพอใจ เป็นความยินดี เป็นความสุข เป็นความร่าเริงเบิกบาน เป็นความยินดีปรีดา ปราโมทย์ อะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ ที่ฟัง ภาษาพวกนี้ไปแล้ว ก็นึกถึงสภาวะอาการจิตของเรา ที่เป็นสภาพจิตใจยินดี จิตใจเบิกบาน ร่าเริง จิตใจชื่นชอบ พวกนี้เป็นจิตใจฉันทะทั้งนั้น ชื่นชอบ นอกจากจะชื่นชอบ ไม่ใช่ปีติเฉย ๆ มันไม่ใช่ ปราโมทย์เฉย ๆ ฉันทะมันมีผลสร้างด้วย ฉันทะนี่เป็นพลังสร้างสรรด้วย เป็นพลังที่จะก่อเกิด เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่พลังยินดีนิ่ง ๆ เฉย ๆ ยินดีจืด ๆ เนือย ๆ ไม่ใช่ ฉันทะมีพลัง ฉันทะนี้เป็นยินดี ปรีดานะ ยินดีปราโมทย์ ยินดีชื่นชมนะ แล้วก็มีพลังรังสรรค์ มีพลังสร้าง มีพลังกอปรก่อ มีกำลัง ของความพยายาม

ต่อจากฉันทะ วิริยะก็คือเพียร เพราะฉะนั้น ถ้าจิตใจมันเริ่มต้นมีฉันทะแล้ว มันจะดึงเอา ความพากเพียรมา วิริยะความพากเพียร อุตสาหะมันจะดึงออกมา พอเริ่มต้นมีลักษณะของฉันทะนี่ เพราะฉะนั้น อารมณ์จิต อย่างฉันทะ ถ้าเราเข้าใจความหมายมันดีแล้ว เราต้องสร้างให้แก่จิต ให้จิตใจของเรามีลักษณะฉันทะ มีอาการอย่างที่ว่า ลักษณะยินดีปราโมทย์ชื่นชมยินดี แล้วก็มีพลัง สร้างในตัว ไม่ใช่ว่า เนือยๆ เฉื่อย ๆ เย็น ๆ ยินดีแล้วก็เย็นจืด ๆ อยู่นาไม่ใช่ พอมีวิริยะตามมาแล้ว

จิตตะ หมายความว่า เราจะต้องเอาใจใส่ ถ้าแปลเป็นไทยก็ดี จิตตะแปลว่า เอาใจใส่ มันมีจิตร่วม อยู่ในนั้นเลย จิตนี่รวมหมดเลย ว่ามีอะไรบ้าง ถ้าว่าไม่แล้วถึงตัวสุดท้าย วิมังสา แปลว่าไตร่ตรอง ตรวจตรา พิจารณา วินิจฉัย อะไรก็แล้วแต่ วิมังสานี้หมายความว่า เราจะต้องไม่ใช่ทำอย่างงมงาย โง่ ๆ ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ไม่มีหลักฐานยืนยัน ไม่มีการพิจารณา พัฒนาคลี่คลายอะไรดีไม่ดี ไม่มีการเลือกเฟ้น ไม่มีการวินิจฉัย ไม่ใช่ มีการวินิจฉัย มีการเลือกเฟ้น มีการตรวจตรา ตรวจสอบ เลือกดูว่า มันดีไม่ดี อะไรมันควรจะดีกว่า มันควรเป็นอย่างไร ถ้าอย่างนี้จะดีกว่าอย่างนี้ อะไรก็แล้วแต่ นี่เป็นลักษณะของ ความเจริญทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ เกี่ยวข้องกับ ชีวิตของเรา

เรามีอิทธิบาท มีฉันทะ ที่จะอยู่ ที่จะดำเนินชีวิต ที่จะเกี่ยวข้องกับการมีพฤติกรรม ในการดำเนินชีวิตไป เราจะต้องดูทั้งหมด ให้เป็นองค์รวม ว่าชีวิตเราอยู่อย่างไร ชีวิตเราเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง และมีอะไร ตั้งแต่ดิน น้ำ ลม ไฟ สถานที่อยู่บุคคล พฤติกรรมต่างๆ อาหาร เครื่องอาศัย สปายะ ทั้ง ๔ น่ะ มีตั้งแต่ เสนาสนสปายะ บุคคลสปายะ อาหารสปายะ ธรรมะสปายะ รวมแล้วสิ่งแวดล้อมต่างๆ พวกนี้แหละ เราเกี่ยวข้องดังนี้ เราจะทำอย่างไร มันถึงจะลงตัวเป็น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อยู่ด้วยกันรวมกัน คนเราอยู่รวมกัน สถานที่ เสนาสนะ องค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ สถานที่อยู่ มีบ้านเรือน อาคาร ต้นหมากรากไม้ แม้แต่มีน้ำตก ลำธาร มีอะไรก็แล้วแต่ มีแสงมีสีอะไรก็ตามแต่ ถ้ามันอยู่รวม อยู่ร่วม แล้วมันรังสรรค์ให้เรานี่ อยู่กันอย่างสร้างสรร อยู่กันอย่างสงบสุข อยู่กันอย่างมีชีวิตชีวา และแข็งแรงยืนนาน สิ่งเหล่านี้แหละ อิทธิบาท หมายถึงตัวคน ที่จะต้องมีทั้งฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา พิจารณาไตร่ตรอง ตรวจสอบ ทั้งหมด รวมสิ่งแวดล้อม หมดเลย เพราะฉะนั้น อิทธิบาท ตัวเดียว ตัว อ. แรก ถ้าเราเข้าใจ แล้วเราก็จะต้องปรับปรุง เราก็จะต้องศึกษา และก็ต้องปฏิบัติ

จะปฏิบัติอย่างไรกับสถานที่ที่เราอยู่ จะปฏิบัติอย่างไรกับอาคารบ้านเรือน ต้นหมากรากไม้ ดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรต่าง ๆ แม้แต่อากาศ ทำอย่างไรมันถึงจะไม่เป็นพิษ ทำอย่างไรมันถึงจะไม่เป็นสิ่งที่ จะทำให้ มันทอน อายุเราลงไป กลายเป็นอายุจะสั้นลง แต่แทนที่จะเป็นทอนอายุ กลับเสริมสร้าง รังสรรค์ ให้แก่อายุของเรา ยาวยืนขึ้นไปอีก

ฟังที่อาตมาพูดแล้วพอเข้าใจขึ้นบ้างไหมว่าจะต้องศึกษาและจะต้องปรับปรุง พัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งหมด ตั้งแต่ เสนาสนะ บุคคล อาหาร หรือ เครื่องอาศัยต่างๆ ตั้งแต่เครื่องดิน เครื่องใช้อะไร ก็แล้วแต่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งหมด และธรรมะ คนเราอยู่รวม ๆ กันนี่นะ หรือ คนเดียวก็ตาม คนจะอายุยืนนี่ มีคนเคยตั้งข้อสังเกต แล้วก็ไปสัมภาษณ์ ถามไปแล้วคนมีอายุยืน ทำไมอายุยืน เขาก็บอกเขาก็อยู่ง่าย ๆ เขาไม่เครียด อยู่แล้ว ก็มีชีวิตมาไม่เครียด ไม่โกรธ ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับ ธรรมะ ทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น คนที่จิตใจดีอารมณ์ ที่มี อ. อิทธิบาท แล้วมาหาอารมณ์ อ. อารมณ์ มีเกี่ยวข้องกับธรรมะ มากเลยอารมณ์นี่

ซึ่งอาตมาก็ได้เขียนหนังสืออารมณ์เกี่ยวกับอารมณ์ หรือ อีคิวไปจนเป็นเล่ม แล้วก็ไปศึกษากันดู เมื่อเราสามารถ ที่จะอ่านอารมณ์เรานั้นก็ปรับอารมณ์ เหตุในอารมณ์นี่ก็คือตัวกิเลส ตัณหา อุปาทาน นี่แหละ ตัวสำคัญ เพราะฉะนั้น คนเราถ้าจัดการอิทธิบาทแล้ว มันก็เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับ สิ่งที่อาศัยทั้งหมด ทีนี้ก็มาถึงจิตใจ ก็คืออารมณ์จะมี วิริยะ จิตตะ วิมังสา มีตั้งแต่ ฉันทะ ก็เกี่ยวกับ อารมณ์ด้วยนะ วิริยะก็เกี่ยวกับอารมณ์ เราขี้เกียจขยันอะไร พากเพียรหรือไม่พากเพียร จิตตะเอาใจใส่ไหม เอาใจใส่ตรวจตรา วิมังสา ตรวจตราไตร่ตรอง วินิจฉัยอะไรก็แล้วแต่ ก็เหมือนกัน มันก็ใช้จิตวิญญาณ ใช้อารมณ์ ใช้จิตใจของเรามาเกี่ยวข้อง มาพัฒนา เพราะฉะนั้น ถ้าเรายิ่งสามารถ ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ตรวจตราอารมณ์ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

อาตมาว่า คนชาวอโศกเรานี่ จะอายุยืน และไม่ใช่อายุยืนประเภทที่ยืนแล้ว ดีไม่ดีเป็นมนุษย์พืชนะ อายุยืน นอนอยู่อย่างนั้น ไม่รู้เรื่องอะไร ยี่สิบปี ก็ยังไม่ยอมหมดลมหายใจ นอนแผ่มนุษย์พืช แหม อาตมาว่า อนุญาตให้แพทย์ฉีดยาเลย ดีไหม (หัวเราะ) ก็อยู่อย่างนั้นน่ะ เป็นมนุษย์พืช อยู่อย่างนั้นน่ะ โธ่ ที่จริงไม่มีวิญญาณแล้วนะ มนุษย์พืชนี่ ลักษณะของ พลังงานทางจิตวิญญาณ เปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนจากจิตตะ ไปเป็นพืชะแล้ว แพทย์ หรือทางหมอ เขาก็เรียก มนุษย์พืชแล้ว เป็นพืชเป็นมนุษย์พืช คือพลังงานทางพวกนี้นี่ มันก็เป็นชีวะได้ พืชมันก็เป็นชีวะ แต่ว่าชื่ออันนี้ มันไม่มีเจตสิกครบ ไม่มีเวทนา พืชไม่มีเวทนา มันมีแต่สัญญากับสังขาร เจตสิก ๓ มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะฉะนั้น มันจะเป็นวิญญาณ หรือไม่เป็นวิญญาณ มันก็ต้องมีเจตสิก ๓ นี่ครบ ถ้ามีเจตสิก ๓ ก็มีเวทนา คือ ความรู้สึก หรือมีอารมณ์ด้วยอย่างนี้แหละ เรียกว่า เป็นจิตวิญญาณ แต่ถ้ามีแต่สัญญากับสังขาร ไม่มีเวทนา อย่างนี้มันไม่มีเวทนา มันไม่รู้สึก มันไม่มีอารมณ์ แต่มันมีรู้ มันมีสัญญา กำหนดรู้ นี่แสง นี่ธาตุ ธาตุนั้นธาตุนี้ มันเอามาสังเคราะห์ มีสังขาร มีการปรุงแต่งอะไรต่ออะไร มันรับรู้ของมันเอง อัตโนมัติ มันปรุงแต่ง มันรู้จักธาตุ รู้จักอากาศ แล้ว เสียงอะไรมันรู้จัก แล้วมันก็รับ สิ่งนั้นได้ แล้วมัน ก็เลือกเฟ้นเอาได้ มันสัญญากำหนดรู้ นี่ไม่ใช่มันไม่เอา มันดีกว่าคนอีก คนนี่มันรับเละเลย กิเลส อะไรมา ก็ไม่รู้ มอมเมามาก็ไม่รู้รินเละเลย ถูกหลอกมากมาย อันนี้หลอกมันไม่ค่อยได้หรอก ธาตุ มันไม่ใช่ธาตุที่มันจะต้องรับ มันไม่รับนะต้นไม้ ไม่ต้องเอาต้นไม้หรอก เอาสัตว์เดรัจฉานนี่ สัตว์เดรัจฉาน หลายประเภท มอมเมามันไม่ได้หรอก คุณเอาลูกชิ้นปิ้งไปมอมเมาควาย ให้ควายมันกิน ลูกชิ้นปิ้ง แทนหญ้า มันไม่กินหรอก มันไม่กินลูกชิ้นปิ้ง มันไม่กิน มันก็กินหญ้าของมันน่ะ แต่คนนี่โอ้โฮ เอาขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง อะไรมาหลอก กินหมด ใช้หมด แย่กว่าพืช แย่กว่าสัตว์เดรัจฉานอีกนะ

สรุปแล้วพวกพีชะ นี่มันไม่มีเวทนาเจตสิก มันมีแต่สัญญาเจตสิก กับสังขารเจตสิก เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นพีชะ มีคนถามว่าแล้วจะฆ่าให้ตายจะบาปไหม แต่ทีนี้มันเชื่อมโยงกันนะ ร่างกายยังเป็นคน แต่วิญญาณ มันเป็นพืชแล้ว มันก็โอ้โฮ! แล้วจะเอาให้ตาย ก็ร่างกายมันเป็นคนนะ มันก็เลย มันก็ยึก ๆ ยัก ๆ คนเรามันก็ไม่ค่อยกล้า เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่เถอะ อาตมาก็บอกเป็นหลักวิชาไว้เท่านั้นเอง ใครจะไปทำ อย่างไร ก็ตัดสินใจเอาเอง อาตมาไม่มีหน้าที่ แล้วคิดว่าคงไม่ไปทำหน้าที่นี้ ไม่ไปทำงานนี้ เพราะมันยาก ไม่รู้จะตัดสินอย่างไรนะ แต่เขาชอบใจเขาก็ไปตัดสินใจของเขาเองซิ เราไม่ได้ไปทำงาน กับเขา เขาก็ไปทำกัน

เรื่องของการเป็นอยู่ที่อาตมายกตัวอย่างเล่าสู่กันฟังนี่ ถ้าเราได้ศึกษาอิทธิบาท ศึกษาอารมณ์แล้ว อาตมาว่า ชีวิตจะยืนยาวไปอีกเยอะ โดยเฉพาะสองตัวนี้ อิทธิบาทกับอารมณ์นี่ แค่นี้ก็ปรับปรุงให้ดี ๆ นะ อาตมาว่า จะอายุยืน อาตมาก็ลองดู อาตมาก็ใช้อิทธิบาท แล้วอาตมาก็ว่า อาตมาไม่ได้มีอารมณ์ เหลวไหล หรือ เลวร้าย อะไรมากมาย ประเดี๋ยวเครียด ประเดี๋ยวก็โมโห ประเดี๋ยวก็ขี้โลภ ประเดี๋ยว ก็ขี้โกรธ อะไรต่ออะไร ต่าง ๆ นานา อาตมาก็ว่า เอ๊ วัน ๆ หนึ่งอาตมาก็ไม่ได้ไปโลภไปโกรธอะไร ก็อยู่สบาย ๆ นอกจากบางคน จะมาวุ่นยุ่งให้มาก ๆ หน่อย จะต้องปรุง แหมเหนื่อยปรุง จะต้องพูด จะต้องดุ จะต้องอะไรต่ออะไรบ้างนะ จะต้องอะไรก็มีบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับขนาด แหมตัวเอง ประเดี๋ยว ก็อัตโนมัติ เดี๋ยวก็เครียด เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็อะไรต่ออะไร คิดว่าไม่เป็น มันก็อยู่สบาย ๆ ก็ลองดูนะว่ามันจะเป็นไปได้ อะไรต่ออะไร แค่ไหน

อาตมาก็ว่าเขาศึกษากัน ทางการแพทย์ปัจจุบันเขาก็ศึกษา เขาก็พยายามที่จะช่วยชีวิตคน ให้รอดได้ดี ด้วยวิธีของเขา อาตมาก็ว่า เราก็พยายามเหมือนกันนะ จะให้คนอายุยืนและก็มีชีวิต อยู่เป็นสุข ดีเหมือนกัน การแพทย์ทางโน้น เขาก็ทำทางเราก็จะทำบ้าง แบบของเราละนะ ก็มาร่วมกัน ทางโน้น เขาก็ช่วยมาด้านหนึ่ง เราก็มาอีกด้านหนึ่ง ผสมผสานกันเข้า มันก็คงจะดีนะ คนหลาย ๆ คนนั่งอยู่ ในที่นี้ก็ปาเข้าไป ๓๐-๔๐-๕๐ เข้าไปแล้วละนะ ก็ยังพอมีหวังนะ ๕๐ ต่อไปมันอีก ๘๐ ปีก็ ๑๐๐ อะไรนี่ ถ้าอยู่ไปถึง ๑๐๐ แล้วก็แข็งแรง มันก็ไม่เป็นไร ถ้ามันแข็งแรง อย่างที่ว่าแต่ตอนต้น ถ้ามัน ไม่แข็งแรงก็อย่าว่าแหละ ตัวใครก็ตัวใครนะ แล้วแต่ตัวใครตัวมัน (หัวเราะ) อาตมาไปละลาบละล้วง ไม่ได้หรอก ใครจะเป็นอย่างไร

จริง ๆ แล้วคนเรานี่นะ ถ้าเผื่อว่าศึกษาธรรมะจริง ๆ แล้วไม่ต้องไปกลัวหรอก การเกิดการตาย ใครจะไม่ตาย ยกมือขึ้น เกิดมาแล้วนี่นะ เกิดมาเป็นคนแล้วนี่ มันต้องตาย พอเรารู้ชัด ๆ อยู่จริง ๆ เลยมันต้องตาย คนเรานี่ เกิดแล้วก็ต้องตาย ไม่มีใครไม่ตาย และก็ไม่ใช่เราเพิ่งเป็น โอ้มันเป็นมาไม่รู้ กี่ล้านปีแล้ว มันก็เกิด ๆ ตาย ๆ ตาย ๆ เกิด ๆ อย่างนี้ มันไม่เห็นจะน่ากลัวน่าอะไรต่ออะไร ยิ่งเราศึกษา ธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว มันมีการเวียนตาย เวียนเกิดใช่ไหม การเวียนตายเวียนเกิด เพราะฉะนั้น จะไปกลัวทำไม แต่มันกลัว อยู่อย่าง คือ เพราะเราไปทำชั่ว ยิ่งเราเชื่อกรรมเชื่อวิบากใช่ไหม เชื่อกรรม เชื่อวิบากแล้ว เราก็เห็นจริงว่า พระพุทธเจ้า ได้ตรัสสอนเรื่องกรรมเรื่องวิบากนี่เหละ เป็นสิ่งที่พาเกิด พาเป็น หรือว่าเป็นเผ่าพันธุ์ ใครทำชั่ว ก็ไปบวกลบคูณหารนะ สังเคราะห์ออกมา คนนั้นนำพาให้เกิด กัมมโยนิ พาเกิดมา จะดีจะทราม จะได้ดีตกยาก จะมีสรีระดี จะมีวิญญาณดี จะมีรูปร่างดี จะมีบุญดี เกิดคาบช้อนเงินช้อนทอง หรือว่าเกิด นึกว่ายอดประสาท พรึดเกิดมา ต๊าย มันใต้เมรุ มันยอดแหลม ๆ เหมือนกันนะเมรุนะ นึกว่ายอดประสาท เอ้า เข้าท้องหมา เสียอีกต่างหาก เพราะหมามันคลอด อยู่ใต้เมรุ (หัวเราะ) นึกว่าดิ่งลงมาดีแล้วนะ นึกว่านี่โอ้โฮ ดิ่งลงไปนี่แหละ เข้าท้องคนที่อยู่ ในปราสาท นี่นะ พรึดยอดปราสาทมันเป็นยอดเมรุ แล้วข้างล่างนั่น แทนที่จะเป็น ท้องคุณนาย เจ้าของประสาท มันกลายเป็นท้องหมาเสียอีก แหม เป็นไปได้ ที่จริง เราเลือกไม่ได้ ถ้าเราเข้าใจธรรมะแล้ว พระพุทธเจ้า ท่านก็สอนเป็นคำตาย มันไม่มีอะไรบันดาลหรอก มันเป็นเรื่องของ พลังกรรมของแต่ละคน กรรมพาเกิด กรรมพาเป็น แล้วเรานี่แหละ เพาะพันธุ์ของเราเอง เราจะเพาะพันธุ์เดรัจฉาน ให้แก่ตนเอง หรือว่า จะเพาะพันธุ์ปุถุชน เพาะพันธุ์กัลยาณชน เพาะให้เป็นพันธุ์ อาริยชน เราเป็นคนเพาะเองทั้งสิ้น ถ้าเข้าใจสัจจะแล้ว

พระพุทธเจ้านี่สุดยอด ฉลาดจริงๆนะ มันไม่มีใครทำให้แล้ว มันเป็นสัจจะ มันจริงนะเบี้ยวไม่ได้ โกงไม่ได้ คอรัปชั่นไม่ได้ ไม่ได้ เราทำดีเท่านี้แล้วไปโกงไปคอรัปชั่นเอาของคนอื่นมาแถม (หัวเราะ) เพื่อเราจะได้เกิดมี มันเป็นไปได้ไหม ได้ไหม ถึงอย่างไร ๆใช้ มันสมองที่ไม่ต้องเฉลียวฉลาด อัจฉริยะ อะไร มันก็คิดออกใช่ไหม เอ้ สัจจะมันโกงไม่ได้หรอก เราทำดีแค่นี้ แต่ทำชั่วไว้มาก โอ้ ไม่ได้หรอก เราก็คอรัปชั่นดีคนอื่นหน่อยนะ คอรัปชั่นดีของคนอื่นมาผสมของเรา เราจะได้เกิดดีกว่านี้หน่อย หรือไม่คอรัปชั่นหรอก ยืม ยืมก่อนจะเกิดนี่ เอ๊ะ แล้วจะไปยืม ใครเขาจะให้ละนะ ยืมคนนั้นคนนี้ มีบุญคุณเยอะนะ ขอยืมบุญคุณบ้างซี จะได้เกิดดีหน่อย เอามาผสมกับบุญดีของเรา มันมีน้อย ขอยืมบุญหน่อย ขอยืมบุญมาส่วนหนึ่ง (หัวเราะ) คือพูดให้มันเห็น เป็นรูปธรรมชัดๆ คุณฟังดูดีๆ จะเข้าใจว่า โอ้โฮ พระพุทธเจ้าตรัสนะ กัมมัสโกมหิ กัมมทายาโท กัมมโยนิ กัมมพันธุ กัมมปฎิสรโน มันจริงๆ เลยว่า มันแบ่งกันไม่ได้ มันจะมานั่งเฉลี่ย นั่งอย่างโน้นอย่างนี้อะไรไม่ได้ สัจจะอยู่ที่กรรม ใช่ไหม กรรมมันเป็นของของตน กรรมพาเกิดพาเป็น กรรมเป็นเจ้าข้าวเจ้าของนะ เราจะได้พึ่ง ก็พึ่งกรรมของเราเอง นี่แหละนะ

พระพุทธเจ้าอหังการมากนะ ที่พระพุทธเจ้าอุบัติท่ามกลางสังคมอินเดียยุคโน้นนะ รอบด้าน แหม ปราชญ์ ใหญ่ๆ มีแต่พวกเทวนิยมทั้งนั้นเลยนะ เชื่อพระเจ้าบันดาลจะเกิดนี่ คนนี้จะเกิดจาก ตีนพระพรหม คนนี้เกิดจากปากพระพรหม คนนี้เกิดจากหูพระพรหม อะไรก็แล้วแต่ คนนี้เกิดจาก มือพระพรหมนะ อะไรก็แล้วแต่ คนนี้เกิดมาจากสัตว์นรกอะไรต่ออะไร พระเจ้าเป็นผู้สาป เป็นผู้สร้าง เป็นผู้ทำทั้งนั้นเลย เป็นเทวนิยม กันเต็มอินเดีย มีอาจารย์ไม่รู้กี่สำนักต่อกี่สำนัก พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา บอกประกาศเลยว่า ไม่จริง กรรมเป็นผู้นำเกิด ไม่ใช่พระเจ้ามาให้เกิดจากปาก จากเท้าพระพรหม เกิดจากตาพระพรหม เกิดจากหู เกิดจากแขนไม่ใช่ กรรมพาเกิด ประกาศเลย อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนนี่แหละพึ่งตนเอง ตนนี่แหละ จะบันดาลให้ตนเองเป็น ตนเองมี จะสูงจะต่ำอะไร อาตมาว่า พระพุทธเจ้า อหังการมาก ประกาศ ท่ามกลางยุคนั้นนะ ลำลองมา

อาตมาปางนี้เหมือนกันนะ อาตมาประกาศยังไม่ได้จัด เหมือนพระพุทธเจ้าหรอก พระพุทธเจ้า ได้ประกาศน่ะนะ โอโฮนะ เทวนิยม อเทวนิยม มันขนาดหนัก อาตมาว่า ไม่ต้องประกาศหรอก ในเมืองไทยนี่บอกว่า พุทธศาสนาว่า อเทวนิยมนี่แหละ แต่อาตมาก็เอาส่วนย่อย ที่มันผิด มันเพี้ยน มาพูด ประกาศว่าอย่างนี้ของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ๆ อะไรไม่อะไร แค่พระพุทธเจ้าไม่แบ่งบุญ แบ่งบาป หรอก แค่นี้นะ มากรวดน้ำอะไรกัน แบ่งบุญแบ่งบาปเอาแค่นี้นะ โอ้โฮ จะเป็นจะตาย ขนาดนั้น ยังจะเอาเข้าคุก เข้าตาราง อย่างโน้นอย่างนี้ ...

คนเราถ้ามันยึดมันติด เขาก็ถือว่าของเขาถูก อย่างนี้เราทำไม่ถูก ก็น่าเห็นใจนะ อาตมาเข้าใจๆ เขาไม่ได้ มานั่งเสแสร้งหรอก แล้วเขาไม่ได้มา โกรธเคือง อะไรอาตมาหรอก เขาศรัทธาศาสนา เขากลัวศาสนา จะผิดเพี้ยนไป อาตมาจะทำให้ศาสนาเสียนะ เขารักศาสนาพุทธนะ ซึ่งเข้าใจ อาตมาก็เห็นใจอยู่ แต่ก็ไม่รู้ จะทำอย่างไร เพราะความเข้าใจ มันต่างกันนี่ มันไปทำ อะไรไม่ได้ ไปบังคับกันไม่ได้ ความเชื่อ ความเข้าใจของคนนี่ มันบังคับกันไม่ได้ เขาเข้าใจอย่างนั้นน่ะ เราไปเปลี่ยนแก้ก็ไม่ได้ อธิบายอย่างไร ก็ไม่ฟัง ฟังก็ไม่เข้าใจอยู่นั่นแหละ ก็จำนนนะ ได้แค่ไหนก็แค่นั้นนะ ตั้งแต่อาตมามาทำงานศาสนา มาจนถึงทุกวันนี้

อาตมาก็เห็นว่าพวกเรานี่ อาตมาก็พาพวกเราพาทุกคนมาพิสูจน์ ทุกวันนี้อาตมาเห็นหลักสัจธรรม ของพระพุทธเจ้า ที่มันมีความเป็นขึ้นมาแล้ว คืออะไร คือวิชชาจรณสัมปันโนเกิด วิชชา จรณสัมปันโน คืออะไร สัมปันโนก็คือผู้เข้าถึง เข้าถึงการมีจรณะ มีวิชชาจรณะ มี ๑๕ จรณะ ๑๕ มันเห็นเลย อาตมา เห็นว่า มีจรณะข้อที่๑ คือศีล สังวรศีล อย่างชาวอโศกเรานี่ สังวรศีลกันหมดเลย ตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อย เราก็ให้รู้จักศีล สังวรศีล นี่เด็กเล็กเด็กน้อย เด็กอนุบาลนะ เด็กประถมเราก็ให้สังวรศีลนะ มีศีลข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ รู้จัก ท่องได้เข้าใจรู้นะ อย่างนายกระทงตัวน้อยๆนี่นะ นายกระทงนะ เขามี ไม่ใช่แม่เขานะ ไปกอดเขา แล้วก็จูบเขา ผิดศีลข้อ ๓ เขาบอกนะ นายกระทงอายุมัน ๓-๔ ขวบยังไม่ถึง ๔ ขวบเลย ๕ หรือยัง ไม่รู้ ๔ ขวบ ผิดศีลข้อ ๓ เขาบอก ไม่ใช่แม่เขา ไปจูบเขา ไปหอมเขาน่ะ เด็กมัน กำลังน่าเอ็นดูนะ เขาก็หอม ก็จูบ ผิดศีล เขาบอกผิดศีล อย่างนี้เป็นต้น คือเข้าใจน่ะ เด็กๆที่มีปฏิภาณ ก็แสดงออกก็รู้ เด็กตัวเล็ก ตัวน้อยก็รู้ ไม่ใช่ว่า มันรู้เฉยๆ รู้ด้วยว่า ควรปฏิบัติอย่างไร มีกายกรรม วจีกรรม ใจ เราก็สอนให้เด็ก หัดทำใจในใจด้วย ว่าใจ ควรจะทำอย่างไร ควรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร อะไรอย่างนี้เป็นต้นนะ ผู้ใหญ่ แม้แต่พวกคุณน่ะ คิดดูซิ เรามีการสังวรศีล สังคมข้างนอกเขา แม้เป็น สังคมวัดวาก็ตาม ออกจากวัดวา ไปแล้ว เขาปฏิบัติศีลกันไหม คุณว่าเขาปฎิบัติกันไหม น้อย จะว่า ไม่ปฎิบัติเลย ก็คงไม่ใช่ มีบ้างแต่น้อย เอาเปอร์เซ็นต์ของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธแล้วไม่มีจรณะ ๑๕ เพราะฉะนั้น ถ้าเอาค่าเฉลี่ยแล้ว ชาวอโศก อาตมาเห็นว่า เห็นจรณะแล้ว อย่างอาตมาพูด เห็นบอกว่า คนของชาวอโศกนี่ ขึ้นชื่อว่าชาวอโศกมีจรณะ เริ่มต้นด้วยศีล

๒ สำรวมอินทรีย์ ตาหู จมูกลิ้น กายใจนะ ระมัดระวังตา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็สังวรระวัง ลดละไป มากๆ น้อยๆ ก็แล้วแต่ใครจะขวนขวาย หรือใครจะเอาใจใส่ ใครจะพากเพียรปฏิบัติให้ มันได้มากได้น้อย ก็ขวนขวย มีสำรวมอินทรีย์ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ สำรวมอย่างโน้น อย่างนี้ มันสัมผัสแล้ว อันนี้มันไม่ควร อะไรก็ มีการละเว้น การลดการละ ไม่ใช่อะไรมารับเละ เขาปรุงแต่งมา รูปก็แหม รูปอย่างนั้นดี อย่างนี้ดี กลิ่นอย่างนี้ดี เสียงอย่างนี้ดี หลงไปกับเขา ละเมอเพ้อพกไปเลย ไม่ได้เป็นคนปล่อยปละละเลย ถึงขนาดนั้น ยังมีการ สังวรระวัง สังวรศีล สำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตา เครื่องกินเครื่องใช้ พวกเราชาวอโศก ไม่ใช่สุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย เห่อเหิม จะเอา ของใหญ่ของโต จะเอาของสวยของโก้ ของชั้นสูง brand name อะไรต่างๆ นานานะ ก็ไม่ถูกมอมเมา จนเกินการ สำรวมสังวร มีการมักน้อยสันโดด มีการประหยัด มัธยัสถ์ มีการรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร สุรุ่ยสุร่าย จนฟุ่มเฟือยอะไรนักต่างๆนานา อยู่ในหลักในเกณฑ์ โภชเนมัตตัญญุตา แม้แต่อาหาร การกิน ก็สำรวมสังวรอาหารการกินต่างๆ จนกระทั่ง สามารถ ที่จะกินอาหาร ไม่เป็นพิษนะ อะไรที่ เป็นพิษ ก็อย่าเลย หัดอดหัดลดเถอะ กิเลสเรา มันจะอร่อย หรือว่า มันจะอยากอย่างไร ก็สังวรเอา ลดบ้างละบ้าง

อาตมาว่าพวกเรามีลดมีละ เราไม่ได้ปล่อยใจปล่อยตัว ไปเหมือนกับโลกๆเขา เหมือนอย่างแต่ก่อน ไม่เคยมาปฏิบัติธรรมกับอโศกใช่ไหม แต่อดีตทุกคน ระลึกได้ ทั้งนั้นแหละ เราไปวัดไปวาก็ไปเหมือนกัน แต่มันไม่มาเอาจริงเอาจังเป็นอย่างนี้ มันไม่รู้สึกว่า เราสังวร เราสำรวม หรือว่าเราตั้งหลักตั้งเกณฑ์ ในชีวิตของเรา มีจรณะ มีสำรวมอินทรีย์ มีโภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยคะ แม้แต่จะหลับจะนอน เอาตื้นๆก่อน การตื่น ชาคริยานุโยคะ แม้แต่การตื่น ตื้นๆ หมายเอา แต่แค่ จะหลับจะนอน และ ก็รู้จักตื่น ไม่ติดหลับติดนอน จนเกินการ ไม่รู้จักสำรวมเลย นอนเขละขละ อะไรก็ซุกอะไรต่ออะไรกันไป เวลานอนแล้วไม่รู้ออกท่าไหน ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะเลย แต่เดี๋ยวนี้ก็รู้สึก นอนก็ยังสำรวมแข้งขา อะไรต่างๆนานา แล้วเวลาหลับเวลาตื่น เวลาอะไร จะนอน มากไป น้อยไป ยังควบคุม ดูแล หรือยิ่งตื่น ยิ่งกว่านั้นเป็นคนสู่โลกกุตระ ไม่ใช่ไป หลงใหลงมงาย อยู่ในโลกโลกียะเขา จมอยู่อย่างนั้น แต่ตื่นแล้ว ตอนนี้รู้สึก และมีสติสัมปชัญญะแล้ว จะออกเนกขัมมะ ออกมาจากโลกียะเข้ามาเรื่อยๆ ตามลำดับๆ นี่เรียกว่า ชาคริยะ อย่างนี้เป็นต้น มันมีจริง อาตมาว่า

นี่อาตมาพูดเอาเองหรือเปล่า มีไหม มีจรณะไหม ในพวกเรา อาตมาไม่ได้พูดแล้วแหมหลงละเมอ เพ้อพก อยู่คนเดียวนะ พวกเรารับรองว่ามันมี มากบ้าง น้อยบ้างในแต่ละคนๆ รวมแล้ว ค่ารวม ที่พวกเรามีกันจริงนี่ ปรากฏ อาตมาว่าปรากฏ และอาตมา ก็เชื่อว่า พวกเราได้มรรคได้ผล ได้ประโยชน์ จากที่เราได้สังวรณ์ สำรวมตรงนี้นะ นอกจากนี้ มันจะสูงขึ้นไปอีก ขั้น สัทธรรม ๗ คือมีศรัทธา มีหิริ โอตตัปปะ มีพาหุสัจจะ มีสติ มีวิริยะ สติปัญญา พวกนี้เสริมเข้าไปอีก เป็นสัทธรรม ๗ สัทธรรม ๗ นี่มันซ้อน มันมีศรัทธา มันเชื่อแล้ว เชื่อในธรรมะ เชื่อในศีลในธรรมว่า ศีลนี้มีผลมีประโยชน์มีคุณค่า ได้ธรรมะขึ้นมา ทรงธรรมขึ้นมา มีธรรมะ ในระดับ กัลยาณธรรมก็ดีแล้ว ยิ่งเป็นอาริยะธรรม หมายความว่า ธรรมะที่ได้ถึงขั้น ขัดเกลาจิตใจของเรา จิตใจของเรา ลดละจางคลายจากกิเลส

ยิ่งรู้จักกิเลส อ่านกิเลสเป็น วิเคราะห์กิเลสได้นะ มีญาตปริญญา มีตีรณปริญญา มีปหานปริญญา มีความรู้ รู้ถึงขั้นวิจัยกิเลสออก และลดจนกิเลส จางคลายได้ ยิ่งเป็นคน ที่มีสภาพพวกนี้ คุณก็รู้ คุณก็เห็น มีฌานธรรมของพระพุทธเจ้า มีปัญญา ไม่ใช่มีศรัทธาโดยไม่มีปัญญา ทำเหมือน ไสยศาสตร์ ทำเหมือนนั่งสะกดจิตไปได้มาแล้วเป็นอย่างไร อะไรอย่างไร ไม่รู้เรื่อง ไม่มีรายละเอียด ไม่มีเหตุไม่มีผล ได้อะไรก็ได้เหมือนกัน สงบก็สงบเหมือนกัน แต่ว่ามันสงบ มันไม่มีเหตุผล ไม่มีหลักฐานยืนยันอะไรนี้ ไม่ใช่ ของพระพุทธเจ้านี้มีหลักฐานยืนยัน ศรัทธาก็มีปัญญาประกอบ มีญาณ อ่านรู้ เราเชื่อ เราไม่ฆ่าสัตว์นี่ มันดีอย่างไร เป็นสุขอย่างไร ไม่ก่อบาปก่อเวรอย่างไร ไม่ก่อบาปก่อเวร ทั้งที่เป็นบาป เป็นเวร ที่ติดตัวไปเป็นวิบาก ทั้งบาปเวร ในปัจจุบันธรรม ถ้าเราไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ไปทำร้าย ไม่ไปก่อเว รก่อภัย ไม่ไปทะเลาะวิวาทในสังคมนี่ มันก็เห็นผลอยู่หลัดๆ มันจะเกิดปัญญา เราก็ศรัทธา เราก็ปฏิบัติด้วย สำรวมกาย วาจา ใจ แม้แต่อาชีพ เรียนรู้ทั้งสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ได้สำรวม สังวร มาตามทางที่พระพุทธเจ้าท่านพาเป็นมันดี และศรัทธาไม่ใช่ศรัทธางมงาย ศรัทธาเพราะ มันเห็นผล

อันนี้จิตวิญญาณดีขึ้นนี่ ก็เป็นจรณะ ศรัทธาอีก ๗ ก็เป็นจรณะอีก๗ ศีล โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยคะ นี่อีก ๔ นะ สังวรศีล สำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยคะ ๔ อีก ๗ ก็เป็น ๑๑ แล้ว มีจรณะ ๑๑ แล้ว อีก ๔ นั่น ญาน ญาน ๔ นั่นก็เป็นจรณะ ๑๕ ญาน ๑ ๒ ๓ ๔ ซึ่งเป็น ความลึกซึ้งของจิตวิญญาณ จากศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ สติ ปัญญา ซึ่งเป็นส่วนใน ของจิตวิญญาณ เราศรัทธาก็ดี แม้แต่หิริ หิริเราก็ละอายต่อสิ่งที่มันไม่ดีไม่งาม สิ่งที่เราจะเลิกจะละมา ไม่ต้องเอาอะไรมาก แต่ก่อนนี้ละ โอ้โฮ เป็นผู้หญิง ก็แต่งเนื้อแต่งตัวนี่นะ ไม่กลัวแล้วจะต้องทันสมัย ต้องแหม มินิเท่าไหร่ก็มินิ ไม่กลัวไม่อาย เดี๋ยวนี้ไม่ไหว มินิไม่ไหว นุ่งผ้าถุงยาว หรือมานุ่งกระโปรงยาว แต่งอย่างโน้นอย่างนี้อะไรก็เข้าใจขึ้นมา มันละอาย หรือจะกินจะอยู่ จะเต้นแร้งเต้นกาเหมือนกับ คนโลกๆ โลกีย์นี่ เราจะรู้เลยว่า เราละอาย ติดสิ่งที่ไม่ควรจะเป็น ไม่ควรจะทำนะ เป็นมนุษย์ชั้นสูงน่ะ เป็นมนุษย์ที่มีวรรณะแล้ว เป็นผู้เลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ เป็นคนขัดเกลาตนเอง ขัดเกลา กาย วาจาใจ เป็นคนที่มีศีลเคร่งขึ้น เป็นคนที่ มีอาการที่น่าเลื่อมใสอะไรพวกนี้นะ

หรือแม้แต่ที่สุด ไม่สะสม เป็นผู้ที่ขยัน ยอดขยัน วรรณะ ๙ มันสอดคล้อง มันเป็นชีวิต ที่เจริญขึ้นมา มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ โอตตัปปะนี่มันเข้มข้นกว่า หิรินี่เกรงกลัว ยังไม่กลัว เกรง เกรงแต่เผลอๆ ก็เอา หิรินะมัน กิเลสยังมีกำลังพอสมควร แต่ถ้าโอตตัปปะแล้วกลัว กลัวต่อสิ่งไม่ดี โอ๊ย ไม่เอาละกลัว ต่อลับหลัง อย่างไรก็ไม่เอา มันสำนึกจริงๆ มันเห็นจริงเลยในจิตของเรา ตัวใครตัวใคร ก็แล้วแต่ ตัวเอง ตัวใครตัวมัน โอ๊ยเราไม่ทำหรอกอย่างนี้ จะทุจริตอย่างนี้ จะไปทำอย่างนี้ จะไปทำคอรัปชันอย่างนี้ จะไปทำชั่วอย่างนี้ หรือจะไปทำแบบโลกๆ แบบนี้มันไม่ไหวหรอกไม่กล้าไม่เอา กลัวมันไม่ดี มันเป็น พฤติกรรม ที่เราละเว้นได้แล้ว เราก็ไม่เห็นว่า มันต้อยมันต่ำอะไร ละได้นะมันดีด้วยซ้ำไป จะมีปัญญา เข้าใจ เชื่อถือต่างกัน แต่ก่อนนี้ โอ้ย มันไม่น่าทำ เราก็ไปทำไม่อาย เดี๋ยวนี้อาย เดี๋ยวนี้ไม่เอา กลัว ไม่เอาไม่กล้าที่จะทำแบบนี้ มีพหูสูต มีความรู้ มีความเข้าใจรู้โลกียะคืออะไร โลก ๆ ที่เขาปรุงแต่ง มอมเมากัน มาติด มายึดกันคืออะไร ถ้าเราละลดมา ไม่ติดไม่ยึด คืออะไร รู้โลกวิทู มีพหูสูต มีความรู้รอบ รู้จริง ลดละลงมาหาโลกุตระ หลุดพ้นออกมาสู่โลกุตระได้อย่างไร

โลกุตระคืออะไร โลกียะคืออะไร หลุดพ้นออกมาได้หรือยัง เราหลุดได้มามากมาน้อยแค่ไหน เข้าใจหมด มีพหูสูต มีความรู้ แล้วเราก็มี ความเพียร ที่จะปฏิบัติ มีวิริยะ มีสติ มีปัญญา เป็นสัทธรรม ๗ นี่เป็น คุณธรรม ทางจิตวิญญาณ ของแต่ละคน เพิ่มขึ้น เป็นจรณะอีก ๗ ข้อ รวมเป็น ๑๑ ฌาน ๔ นั่นคือ ผลของ การปฏิบัตินี่หมดเลย ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ ก็คือ รู้ตัวเหตุแท้สมุทัย อริยสัจ ตัวกิเลส ตัณหา อุปาทาน และเราก็เพ่งเผาตัวเหตุตัวนี้ ฌานก็คือ เพ่งเผา เพ่งให้มันรู้ อ่านให้รู้ อ่านตัวเหตุให้รู้ แล้วก็เผา ทำลายกำจัดกิเลสนั้นให้ได้ไปเรื่อยๆ ฌาน ๑ ก็เท่านั้น ๒ ก็สูงขึ้น ๓ ก็สูงขึ้น ฌานที่ ๔ ก็ถึงขั้นอุเบกขา กิเลสมันก็อ่อนแรง เลยว่าง ไม่มีกิเลสเกิด จนจะเป็น อรูปฌาน ที่เป็น การตรวจสอบ

ซึ่งอาตมาอธิบายให้ฟังแล้วว่า อรูปฌาน ของพุทธนั่นคือ การตรวจสอบ ผลที่ให้สมบรูณ์ ยืนยันนะ ยืนยัน ยืนยันกันไปจนกระทั่ง มั่นคงแน่วแน่ แข็งแรงทนทาน ยืนนานแน่นลึก นึกนบไปเลย ไม่มี ถอดถอน แล้วก็ตรวจสอบกันไป เพราะฉะนั้น ในจรณะ ๑๕ นี่ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เอามา ให้คนสวด เท่านั้น ทุกวันนี้ก็สวดกันจังเลย พระพุทธคุณก็ไปแล้ว วิชชาจรณสัมปันโน อะไรว่ากัน ไปเรื่อย แต่ผลจริง อยู่ที่ไหน ความจริงเกิดปรากฏ อยู่ในมนุษย์ไหม จนกระทั่งเป็นรูปธรรม เป็นวัฒนธรรม เป็นสังคมกลุ่มไหม อาตมาว่าทุกวันนี้ อาตมาได้ให้คนเป็นพุทธ ชาวพุทธ แล้วก็มี คุณธรรมที่ปรากฎ มีพฤติกรรมมีจรณะ มีความประพฤติ เป็นจรณะ ๑๕ ขึ้นมาแล้ว ฌานลืมตา โดยเฉพาะ ฌานลืมตา ปฏิบัติตา หู จมูก ลิ้น กายใจ เห็นรูป รสกลิ่น เสียง สัมผัส มี สัมผัสสชาเวทนา มีวิญญาณ มีการรอบรู้ แล้วก็อ่าน เวทนาในเวทนาออก แบ่งเป็นกิเลสออก อย่างไร จะลดส่วนที่เป็น อกุศลเวทนาอย่างไร จนสามารถเป็น เนกขัมมสิต เวทนา คือออกจากโลกีย์ มาได้เรื่อยๆ จนสามารถ หลุดพ้นจริงได้จริง

อาตมาว่าพวกเรานี้ได้เป็นพุทธขึ้นมาเรื่อยๆตามลำดับ ส่วนข้างนอกที่เขาเรียนกันมาแล้ว ยิ่งเรียน ก็ยิ่ง ไปกันใหญ่เลย ทุกวันนี้ มีอะไรต่ออะไรต่างๆ นานาสารพัด แล้วเขาก็ไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร ผลที่จะได้มรรคผล คืออะไร จริงๆแล้วมันจะก่อเกิดมนุษย์ ก่อเกิดมรรคผลของพระพุทธเจ้า ที่พาเป็นแล้ว สอนแล้ว เสร็จแล้วก็เกิดเป็นพฤติกรรมสังคม ในสังคมหมู่ สังคมกลุ่ม มีวัฒนธรรม มีอะไรอย่างไร เขาไม่รู้แล้ว เดี๋ยวนี้ ปนเปกันเลอะเทอะกันไป ได้แต่ยี่ห้อว่าเป็นชาวพุทธ ... เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพุทธเหมือนกับนายพราน หรือชาวสวนออกไปเอาต้นไม้ ไปได้แต่ใบ ได้แต่ลูก แต่ใบมันมา อุ๊ย ! แล้วก็เลี้ยงชีวิตไปด้วยลูกใบ ไม่เอาแม้แต่สะเก็ดของต้นไม้ก็ไม่เอา เปลือกก็ไม่เอา กระพี้ก็ไม่เอา แก่นก็ไม่เอา ศาสนาพุทธมันนี่อยู่แค่นั้นนะตอนนี้อาตมาว่า เอาแต่ผลกับใบ ของต้นไม้ ไปได้มาแค่นั้น แล้วก็เลี้ยงชีวิตไป อยู่แค่นั้น ไม่ได้อะไรเลย

แต่ชาวอโศกเรา อาตมาว่า ชักเก็บสะเก็ด เป็นแล้ว เอาสะเก็ดต้นไม้ เอาเปลือกต้นไม้ มีสมาธิ สมาธิลืมตา เป็นสัมมาสมาธิ มีกระพี้ ปัญญาเป็นวิชชา ปัญญาหรือ ญาณทัศนะ ชักเห็นนอกใน เห็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน เห็นกิเลส เห็นความสุขที่เป็น วูปสโมสุข สุขที่สงบระงับ สงบประเภทที่ กิเลสมันสงบลงมา แล้วมันก็ว่างเบา จิตเราสงบแล้ว ลืมตานี่แหละ ไม่ใช่ไปนั่งสะกดจิต ให้สงบ ลืมตานี่แหละเห็นเลย นี่เหตุปัจจัย ของโลกีย์ เหตุปัจจัย ของโลกๆ ตั้งแต่อบายมุข นี่เป็นเหตุปัจจัย เต็มบ้านเต็มเมืองเลย อบายมุข อย่าว่าแต่ยาบ้าเลย เป็นอบายมุข แม้แต่ที่มันปรุงให้พวกคุณกิน มอมเมา อยู่ทุกวัน ทั้งกิน ทั้งดื่มนี่ เต็มตลาดอยู่ทุกวันนี้ ใส่สารเคมีอะไรต่ออะไรมาเต็มตลาดไปหมดนี่ อาตมาว่าพวก วีสวณิชชา หรือ มัชชวณิชชา เป็นสินค้า ที่มอมเมา สินค้าที่เป็นพิษ เป็นพิษ กินกันใช้กัน เป็นสุข เสพสุขอยู่กับสิ่งเหล่านี้ พวกเรามีปัญญา เราไม่เห็นจะต้องไปเอร็ดอร่อย

เรารู้ว่ามันเป็นพิษ เป็นภัย รู้ว่ามันควรละเว้น แล้วเราก็ละเว้นมาได้ โดยจิตของเราเป็นฌาน จิตของเรา อุเบกขาเฉยๆ ที่เขาโฆษณา ยั่วยุอย่างไรๆ เราก็เข้าใจ แล้วเราไม่ได้ หลงใหลตาม จิตของเราแข็งแรง จิตของเรา มีปัญญาเข้าใจ ไม่โอนอ่อน ไม่อนุโลม ไม่วาบ ๆ หวิวๆ ตามนั้น มันน่ากินเหมือนกันนะ น่าลอง เหมือนกันนะ น่าอร่อย เหมือนกันนะ นี่แหละเราก็ตรวจสอบ อารมณ์ ตรวจสอบจิตใจของเรา ถ้าจิตใจของเราไม่มี นั่นแหละ จิตใจของเรา แข็งแรง ในฐานะที่เรา อยู่ในโลกีย์ แต่จิตของเรา ก็แข็งแรง ในโลกีย์ ผุฐฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปติ สัมผัสกับโลกธรรมต่างๆพวกนี้ จิตไม่หวั่นไหว แข็งแรง ไม่ได้กดข่ม รู้ทั้งรู้ เห็นทั้งเห็น เข้าใจ ทั้งเข้าใจ เขาบอกเหตุผล มีการโฆษณา ยั่วยุทุกอย่าง วิธีที่จะทำให้คนมันหลงผิด หลงเห็นตาม ยินดีตาม ไปซื้อไปหา ไปเอามาเสพมาบำเรอตน เราก็เฉยๆ จิตเฉย มันก็เกิดอยู่ในโลกนี่ จริงๆ มันมากขึ้นด้วย จัดจ้านขึ้นด้วยนะ มันไม่ได้ลดลงนะ

คุณว่าโลกีย์มันปรุงแต่งทุกวัน สังขารธรรมมันลดไหม ในโลกสังคมทุกวันนี้ลดไหม มีแต่จัดจ้าน มากขึ้น ทุกวัน เราเทศน์ไปเถิด บรรยายไปเถิด ว่าก็ว่าไปเถิด ดีเขาไม่มาตีหัวเราเข้าสักวันนะ ไปว่า เขามาก ว่าไปอย่างไรเขาก็เฉย เขาก็มีแต่ปรุงแต่งเพิ่มขึ้นมามอมเมากัน ไม่ได้ฟังเสียงละ เขาไม่เคย คำนึงเลย ว่าพวกนี้มันจะมาห้าม มาต้านมากั้น ไม่ ข้าจะหาเงิน ข้าจะหาเงินละ ปรุงแต่ง มามอมเมา แต่พวกเรา ก็พิสูจน์ตัวเองว่า มีฌานไหม จิตสัมผัสแตะต้องแล้วมีอุเบกขา มีอากาสานัญจายตนะ มีความหลุดพ้น ความว่าง ความวางเฉย ทั้งๆที่สัมผัสอยู่นี่แหละ ก็มีอนัตตา มีจิตว่างๆ ไม่มีตัวตน ของกิเลส หรือมีอารมณ์สูญ สุญตา มีอารมณ์ไม่แปรปรวน ไม่หวั่นไหว ไม่กระเพื่อม ไม่เกิดกิเลส กิเลสมันไม่เกิด กิเลสมันตายสนิท ไม่ต้องไปหลบเลี่ยง ไม่ต้องไปนั่งสะกดจิต ไม่ต้องไปอะไร เห็นๆ รู้ทุกอย่าง เหมือนคนอื่นเขารู้เขาเห็น เขามอมเมาคนอื่นได้ แต่มอมเมาปลุกเรา ไม่ขึ้นๆ ไม่ไปกระดี๊ กระด๊าอะไรกับเขาอีก นี่คือสัจจะความจริง ที่เราจะต้องรู้จัก

แม้ที่สุดลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ปลุกเราไม่ขึ้น เอามาหลอกล่อ เอามาปรุง เอาน่ะ ห้าหมื่นไม่เอา ห้าแสน ห้าล้าน ห้าสิบล้าน เราก็เฉยว่างได้ สมควร หรือไม่สมควร เราก็ทำไปตามควร ไม่ใช่ว่าเราจะขึ้นอยู่กับ ฤทธิ์แรงของ สิ่งเหล่านั้น มาปลุกเร้าเรา แล้วก็หลงไป นี่เราก็จะรู้ว่า เราอยู่เหนือโลก เหนือโลกีย์นี่ ลาภก็ตาม ยศก็ตาม สรรเสริญก็ตาม เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นอามิส มาเป็นเครื่องล่อ เป็นเครื่องต่อรอง มอมเมา กระแทกต่อรองเรา เราก็เข้าใจ เราทำแล้วเรากลับไม่ต้องเอามาก มักน้อย เราทำสมรรถนะ ของเราสูงขึ้น ความสามารถก็สูงขึ้น ทักษะสูงขึ้น สร้างสรร ขยันเพียร สร้างได้มาก แต่เราก็ไม่ต้อง หลงใหล แล้วเราก็ ไม่เอามาก ถึงแม้เขาจะให้มาก ตามอัตราของโลกเขาให้เรา โอ้โฮ! สมรรถนะเรา สูงนะ เขาตีราคาให้นี่ งานของคุณนี่ชิ้นนี้ต้องได้ห้าล้าน ห้าล้านก็ห้าล้าน เราจำเป็นต้องเอาก็เอา แต่เราเอา เราก็ไม่ได้มี ใจฟูอะไร เราก็เอาห้าล้านมาทำประโยชน์ให้คุณค่า แม้ที่สุด เราไม่ต้องสะสม เราก็กล้า ที่จะไม่สะสม ไม่กักตุน เอาไปทำประโยชน์ทันที หมุนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นนักเศรษฐกิจ เป็นนักหมุน เป็นนัก สะพัดเงินทอง ไม่กักตุน อะไรที่ควรจะได้ไปเป็นประโยชน์ในส่วนกลาง ส่วนรวม ส่วนที่ดี เป็นของรัฐ ก็ตาม หรือเป็นของส่วนบุคคลก็ตาม หรือของส่วนกลางของชุมชนกลุ่มหมู่มนุษย์ ที่ควรจะใช้ ให้เป็น ประโยชน์ อย่างนั้นอย่างนี้ ก็ทำไปอย่างนี้ เป็นต้น

นี่อาตมาพยายามอธิบายให้เห็นว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้า มันเป็นแรื่องของสามัญในโลก และ ถ้าเผื่อว่า เป็นโลกุตระ จิตแข็งแรงจริงแล้วไม่ต้องหนี ไม่นั่งสะกดจิตอยูในป่าเขาถ้ำไม่รู้เรื่อง พาเข้ามา ในกรุงเวียนหัว พวกอยู่ในป่าน่ะจริง ๆ น่ะ พาเข้ามาในกรุงเวียนหัวทุกคนอยู่ไม่ได้หรอก โอ้โฮบางคนนี่ อาจงอาเจียนออกมา ต้องรับพากลับเข้าป่าใหม่

เอาละอาตมาได้เทศน์ได้อธิบายให้เห็นว่า ชีวิตของคนที่เกิดมา บอกแล้วไม่ต้องไปกลัวหรอก ตาย เกิด ถ้าเรายังไม่ ปรินิพพาน มันก็จะต้องหมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏนี่แหละ คุณจะเชื่อมากเชื่อน้อยเท่าไร ก็แล้วแต่ แต่อาตมานี่ ไม่มีปัญหา อาตมาว่า คนเราก็เกิดมาแล้ว แม้แต่ที่สุด อาตมาอธิบายให้ฟังแล้ว ต่อให้คุณ บรรลุอรหันต์แล้ว คุณยังจะเวียนตายเวียนเกิดอยู่อีกก็เชิญ เพราะว่าโลกมันไม่มีปัญหาหรอก อรหันต์ จะเวียนเกิดอีกกี่ชาติ ไม่ได้มาทำทุกข์ทำร้อนให้สังคมให้โลก แล้วไม่ได้มาช่วงชิงโลก มีแต่มา สร้างสรร เสียสละ ให้แก่โลก จะเกิดเท่าไรก็เชิญเกิดไปเถอะ เพราะมีหลักประกัน ที่จะไม่ทำลายโลก ไม่มานั่ง เบียดเบียนโลก ไม่มานั่งทำพิษทำภัยให้แก่โลก มีแต่จะมาช่วยเหลือโลก โลกานุกัมปา เกิดมาเพื่อ อนุเคราะห์โลก เพราะนั่นคือหลักประกันสำคัญของชีวิต แม้แต่มีธรรมะ ที่เป็นอาริยะ เป็นชีวิตของคุณเอง แต่ละคน ถ้าเรามีอาริยธรรม มีธรรมะที่เป็นอาริยะ เป็นโลกุตระ มันก็เป็น หลักประกัน ของเรา เราก็ไม่ไป ทำบาป เราก็ไม่ไปสร้างบาปปัจจุบันที่เห็นหลัดๆเลย ต้องไปโกรธไปโลภ ไปอะไรต่ออะไร มันก็ชัดๆอยู่แล้ว จะมีบารมีซ้อน แล้วเราก็จะได้หมุนเวียนมา แล้วยิ่งกล้าสละออก สละออกแล้วเวียนมา แล้วเราก็ได้อยู่กัน ยิ่งเราเอง ไม่ติดไม่ยึด กินน้อยใช้น้อย ที่เขาหลอกเขาล่อ ราคาแพง โน่น นี่เราก็ลด ลดได้แล้ว เราก็ไม่ได้ โหยหาอาวรณ์อะไร จะไปทุกข์อะไรล่ะ จะต้องได้ แหม อยากได้กระเป๋า ใบละแสน บ้าเหรอ เอามาทำไม กระเป๋าใบละแสน เดี๋ยวพวกวิ่งราวมันก็ตามมา ทุบหัวเราเอา ไม่ต้องไปเอาหรอก กระเป๋าใบละแสนน่ะ เอาใบละร้อยหิ้วได้ ใส่ได้เหมือนกัน ไม่เห็น จะต้องไป แหม ต้องใบละแสน โอโฮ กลัวมันจะยับมันจะเปื้อน มันจะอะไรนะ นี่ใบละร้อย ใบละสองร้อย โอ้ย ใส่เข้าไปเลย ขาดแล้วซื้อใหม่ ยับก็ซื้อใหม่ สบายกว่ากันเยอะ อะไรต่างๆ เราจะเข้าใจชีวิตมันง่าย ชีวิตไม่ต้องไปถูกหลอก อะไรมากมาย จะกินจะอยู่จะใช้ หรือจะรังสรรค์ สร้างประโยขน์คุณค่าขึ้น ให้แก่โลก มันจะกล้าหาญชาญชัย ในโลกในสังคม คนชนิดนี้แหละอาตมาว่า จะกอบกู้สงคราม ...

อาตมาเห็นรูปร่างของสังคมโลกุตระ หรือสังคมบุญนิยมอย่างนี้แล้ว อาตมามีความหวัง มาศึกษา แล้วก็มา พากเพียรกันเอา เราจะแข็งแรงได้ทั้งทางกายและทางจิตวิญญาณ ถ้าเราปรับ ดังที่อาตมา ขึ้นต้น มีทั้ง อิทธิบาท มีทั้งอารมณ์ที่ดี นอกนั้นก็อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย อะไรก็แล้วแต่ จะเอนกาย จะเอาพิษออก อะไรก็แล้วแต่ ที่จะทำให้มันได้สัดส่วนที่ดีแล้ว เราก็เชื่อว่า เราจะได้อยู่ ร่วมกัน เพื่อรังสรรค์สังคม ให้มีวัฒนธรรม ให้มีระบบบุญนิยมที่แข็งแรง เพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติ ที่เหลืออยู่นะ ให้เป็นไปด้วยดี

เอาละ สำหรับวันนี้อาตมาสมควรแก่เวลา เอวัง


จัดทำโดยโครงงานถอดเทปธรรมะฯ
ถอดโดย อสรา วัฒนาการกิติกุล ๓ ตุลาคม พ.ศ ๒๕๔๖
ตรวจทาน๑ โดย จิตสุภา รุ่งเรืองนานา ๑๐ ธันวาคม พ.ศ ๒๕๔๖
พิมพ์โดย รุ่งนภา-มกรา สุขหอม ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ ๒๕๔๗
ตรวจทาน ๒ โดย สม.ปราณี ธาตุหินฟ้า ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗
พิมพ์ออกโดย ถทธ.
เข้าปกโดย สมณะพรหมจริโย
เขียนปกโดย พุทธศิลป์

TCT0475.DOC