ก่อนอื่นต้องแก้ไขตนให้ได้
โดยพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
ทำวัตรเช้าวันที่ ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖
ณ พุทธสถานราชธานีอโศก

สำหรับวันนี้นี่นะ อาตมาก็คิดว่าจะเทศน์สำทับ กำชับกำชาพวกเรานี่แหละ จะกี่พรรษา พรรษาจะเข้า หรือจะออก ก็เป็นเรื่องวันนักขัตฤกษ์ เป็นจุดสำคัญที่คนเราจะมีปัญญา มีปัญญาแล้วก็เอาจุดอะไรก็ได้ เล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ ไม่ต้องถึงขั้นวันออกพรรษา วันเข้าพรรษา มีจุดสำคัญอันนิด อันนั้น อันนี้ หน่อยหนึ่ง แล้วเราก็เอามาเป็นเครื่องใช้ เป็นเหตุ เป็นอานิโส เป็นปริขาโร เป็นเหตุเป็นองค์ประกอบ ในการที่จะให้ มันเกิดประโยชน์แก่ตน เพราะฉะนั้น เราจับเหตุอะไร เช่น ไม่เอาอะไรมาก ขณะนี้แดดออก เออ แดดออกนี่ เอาแดดเป็นเหตุ แดดออกเราจะปฏิบัติอะไรดีนะ ขณะนี้ฝนตก เออฝนตก เราจะทำอะไรดี ตอนนี้มีสิ่งแวดล้อม มีองค์ประกอบอะไรอยู่แล้ว แล้วฝนตกลงมานี่ มันอะไรดี ถึงเราจะทำอะไร ให้มันดีขึ้น ตั้งแต่รูปธรรม จนกระทั่งถึงนามธรรม บางคนอาจจะกำลังทำงาน อยู่กลางแจ้ง ฝนตก โครมลงมา เกิดจิตไม่ดี เกิดหมึนให้แก่ฝน โมโห หมึนภาษาอีสานเขาบอกว่า หมึน โมโหขึ้นมา ปึ๊บ ให้แก่ฝนตก ปัดโธ่! กูกำลังทำงานดีๆ หมึนให้แก่ฝน ฝนจะไปรู้เรื่องอะไร

เราก็บอกเหตุนี้นะ ฝนตกนี่ เราก็เอาเหตุแห่งฝนตกนี่ เออดี เราจะได้ล้าง เราจะได้พักผ่อน หรือเราจะได้ อะไรก็แล้วแต่ เราก็เอาเหตุนั้นเป็นเหตุในการที่จะทำประโยชน์ หรือไปถึงนามธรรม จิตของเรา อ่านให้ดี นี่เห็นไหมนี่ โจทย์ ฝนเกิดทำให้เราเกิดปุ๊บ แหมเกิดโมโหในจิตปั๊บ หรือว่าเกิดโกรธปุ๊บขึ้นมา อ่านใจ ให้ทัน เหตุมันเกิดแล้ว แล้วก็เหตุก่อให้เกิด ยั่วให้เรากิเลสเกิดอีกต่างหาก เหตุมันเกิดแล้ว แล้วก็ยั่ว ให้กิเลสเราเกิดอีก เราก็ต้องอ่านให้ทัน ใช้เหตุนั้นเป็นประโยชน์ อื่นๆ ใดๆ ทั้งนั้นแหละ มีทั้ง สิ่งแวดล้อม วัตถุ ทั้งบุคคล คนไปใครมา มีอันนั้นเกิด อย่างนั้น อย่างนี้ขึ้นมา ตามนั้น ตามนี้ ก็แล้วแต่ เราก็ใช้ประโยชน์ เป็นประโยชน์ พยายามที่จะเอาอันนั้นมาเป็นเหตุปัจจัย ในการที่จะก่อ ให้เกิด ความเจริญ ไม่ว่าด้านรูปธรรมหรือนามธรรม อย่างนี้มันยิ่งกว่า ที่ภาษาสำนวนโลกเขาว่า จงทำวิกฤต ให้เป็นโอกาส มันเหนือชั้นกว่า ยิ่งเหนือชั้นกว่าที่ว่า จงทำวิกฤตให้เป็นโอกาส ถ้าเราเข้าใจ

เพราะฉะนั้น ทุกโอกาส ทุกเวลา หรือแม้แต่จะเป็นเข้าพรรษา ออกพรรษา หรือว่าอย่างโน้น อย่างนี้ ฤกษ์ นักขัตฤกษ์ อย่างนั้น อย่างนี้ อะไ ก็ตามใจ เราก็เอามาสำคัญมั่นหมาย ตามที่เราจะเอามาใช้ เป็นอุปนิโส เป็นปริขาโร เป็นเหตุ เป็นองค์ประกอบ ที่เราจะปฏิบัติ ประพฤติ เป็นเครื่องช่วย ถ้าคนฉลาด ก็หยิบจับสิ่งเหล่านั้นมา เป็นเหตุเป็นปัจจัย โดยเฉพาะงานกับมนุษย์เรานี่ งานมันจะเยอะ เราก็ใช้งานนี่แหละรู้จักพัก รู้จักเพียร รู้จักปรับตัวเองให้ดีๆ พลังงานพิเศษของในตัวมนุษย์นี่ มันมีมาก แต่เราไม่เอามาใช้ ถ้าเราเกิดความไม่ชอบใจ เกิดความขี้เกียจ แน่นอน พลังงานที่มันจะออกมาใช้งาน มันจะต้องหนืด แน่นอน แต่ถ้าเราเกิดอาการจิตเป็นฉันทะ วิริยะก็จะตามมา จิตตะ ก็จะตามมา วิมังสาก็จะตามมา ถ้าเราเกิดฉันทะ เกิดความยินดี เกิดความชอบ เกิดความประสงค์ เกิดความต้องการว่า เอออันนี้ดี

ถ้าเผื่อว่าเราเกิดจิตของเรา ในอาการจิตของเรานี่ มันเกิดอารมณ์ขี้เกียจ เกิดอารมณ์ผลัก เกิดอารมณ์ ไม่ชอบ เราก็ต้องพิจารณา ด้วยเหตุปัจจัยแวดล้อมว่า เอ๊ ตอนนี้เราทำงานมามากเกินไป จนกระทั่ง เปลี้ยแล้วหรือยัง เราไม่สบาย เราเป็นไข้ ฝืนไป ก็จะทำให้สังขารเสื่อมเสีย หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เราพิจารณาแล้วว่า มันจะเป็นเหตุ ปัจจัยทำให้เสื่อม เป็นอัตตกิลมถะ ทำให้มันทรมาน ทำให้มัน ลำบาก ทำให้มันทรุดเสื่อม เราก็หยุด แต่ถ้าเผื่อว่า มันไม่ได้เป็น อัตตกิลมถะ มันไม่ได้ทำให้เราลำบาก ไม่ทำให้เราเสื่อม ไม่ทำให้เราต้องทุกข์ต้องยาก ต้องอะไรละ ก็ไม่เจริญ

จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เมื่อยพอ ยังมีกำลังวังชา จะทำต่อได้อีก ไม่ได้ป่วย ไม่ได้เจ็บ โอกาสก็มี งานก็มี อะไรก็พร้อม เหลือแต่ขี้เกียจ มันใช้ไม่ได้แล้ว พลังพิเศษมันก็พอจะทำเพิ่มได้ไหม ตอนนี้มันก็ดู พอสมควรแล้วละ ทำงาน พลังพิเศษ แต่ว่ามันก็มีพลังพิเศษ แล้วก็ดูสิ่งแวดล้อมว่า เออมันยัง จำเป็นนะ มันยังต้องการที่จะต้องกระทำอันนี้อีก เพราะว่า มีสิ่งประกอบนี่ องค์ประกอบว่า มันสมควร จะต้องทำต่อ แล้วเราก็ประเมินประมาณดูว่า แล้วมันจะทำให้สิ่งเสื่อมนี่ เกิดจากอะไรจะเสื่อม ไปกระทบอันอื่น หรือแม้แต่กระทบตน กระทบอันอื่น คนอื่น จะพาให้เขาก็เสื่อม เราก็เคยเสื่อมด้วย หรือเราเสื่อม เขาไม่เสื่อม เขาเสื่อม เราไม่เสื่อม อะไร ก็ประมาณดู ถ้าเห็นว่า มันเหมาะ มันสมแล้วว่า มันต้องควรทำต่อ เราก็ทำต่อ แต่ถ้าว่า เออไม่ควรทำต่อ เราสมควรจะพักเถอะ เราก็พัก ไม่ได้หมายความว่า ดันทุรังว่าจะต้องทำไป จะเป็นจะตายอะไร ก็ดันทุรังทำไป งานมันไม่แล้ว ก็จะต้องทำให้มันแล้ว จะตายก็ช่างมัน จะต้องทำให้มันต่อไป มันก็ไม่ถูก เราก็ต้องรู้พัก รู้เพียร ต้องรู้องค์ประกอบ รู้สิ่งแวดล้อม อะไรที่มันจะเป็นไปได้

ถ้าเราได้ฝึกฝนความขยัน ฝึกฝนกำลังฉันทะ ฝึกฝนวิริยะ เพิ่มเติมขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็จะก้าวหน้า มันก็จะเกิดวสี เกิดทักษะ เกิดพลังอำนาจ เกิดความชำนาญ ชำนิชำนาญ แคล่วคล่อง เฉลียวฉลาด เจริญขึ้น แน่นอน ใจเรานั่นแหละ เป็นตัวพิจารณา ใจเรานั่นแหละเป็นตัวเจริญก่อน ถ้าใจเรานี่นะ กดปุ่มว่า เอา ไม่ถอย มีฉันทะ ถ้าเรากดปุ่มอันนี้ได้ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร มันก็เดินไปดี มันก็เจริญ แต่ถ้าเผื่อว่า เราเกิดกดปุ่มอันนี้ไม่ได้ แล้วเราก็ฝืนๆๆ มันก็จะเกิดการต้านๆๆ ในตัว ก็กดดัน ซึ่งอันนี้แหละ มันเป็นภาวะที่จะสั่งสมความกักกด หรือกักกด เก็บดันอะไร กักกดดันอะไรนี่ มันจะเกิดภาวะนั้น เสร็จแล้วต่อไป มันก็จะสั่งสม แต่ถ้าเผื่อว่า เราพิจารณาให้ดีแล้ว ทุกๆ อย่างที่เหมาะที่ควร อย่างที่อาตมากล่าว เราก็จะเกิดความเจริญ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ และสมรรถนะ สมรรถนะของเราก็จะทวีทักษะ ทวีวสี ทวีความชำนิ ชำนาญ ความรอบรู้ ทวีสมรรถนะขึ้นไป และทวีความแข็งแรง ความเป็นใหญ่ วสีเป็นอำนาจ เป็นสิ่งที่เจริญ แข็งแกร่ง นั่นแหละ ไปสู่ความเป็น เฮอร์คิวลิสเลย ไปสู่ยักษ์ใหญ่ ที่มีพลัง เฮอร์คิวลิส ประวัติ เป็นตำนานของฝรั่งเขา หรือแซมซั่น อะไรอย่างนี้ เป็นผู้ที่มีพลังพิเศษ มันจะเกิด พลังพิเศษขึ้นมา วสี ความชำนาญ แคล่วคล่อง มีอำนาจเก่งขึ้นแหละ สรุปแล้วว่า เก่ง คำว่าเก่งนี่ รวมหมดทุกอย่าง ไม่รวมอย่างเดียว ดี เก่งนี่ ไม่รวมอย่างเดียว ดี แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมด้วยปัญญา อย่างที่อาตมากล่าวแล้ว แล้วก็จะลด ส่วนที่มันกิเลสต้าน มันก็ได้ดีด้วย ทั้งดี ทั้งเก่ง ไปพร้อมๆ กัน

คนทุกคนนี่ ถ้าศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง อย่างสัมมาทิฐิแล้วนี่ มันจะเจริญทั้งโลกียะ เจริญทั้งโลกุตระ อันนี้นี่ ขณะนี้นี่ เขายังไม่รู้เรื่องกัน ชาวโลกก็ยัง.. อาตมาว่า เขาก็ยังเข้าใจของเขา แม้แต่ที่สุด ในพระไตรปิฎก เขาแปลเพี้ยนๆ เอียงๆ อยู่ในลักษณะที่ว่า ถ้าปฏิบัติธรรมแล้ว ทำฌานก็ดี สมาธิก็ดี ก็จะเป็นไป แบบฤาษีไปหมด เขาจะเป็นฤาษีไปหมด แปลสำนาวน ยกสำนวนของฤาษีมาเลย คือมันแปลมา ค่อยๆ แปลมา จนกระทั่ง มามีความเข้าใจ เป็นฤาษี เพราะฉะนั้นสำนวนที่ค่อยๆ ติดต่อตามกันมา ขยายความ ต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ จนมาถึงวันนี้นี่ เลยกลายเป็นสำนวนใหม่ มันปฏิรูปแล้วมันค่อยๆ กระเถิบเข้ามา ค่อยๆ ปรับๆๆ มา มาเป็นทุกวันนี้ มันกลายเป็นภาษาฤษีไปแล้ว ฌานก็เป็นฌานฤาษี สมาธิก็เป็นสมาธิฤาษี

อาตมาได้รับหนังสือ จากท่านเสียงศีลเมื่อวานนี้ เป็นแฟกซ์มา เป็นหนังสือจากมหาวิทยาลัย พุทธศาสนา แห่งโลก เขาจะตั้งที่ในเมืองไทย ที่จริงก็เตรียมจะตั้งกันแล้วละ ไม่รู้จะตั้งสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ อาตมาไม่รู้ ยังไม่รู้รายละเอียดว่า มหาวิทยาลัยนี้ เขาตั้งสำเร็จแล้วหรือยัง แล้วมีการดำเนินไปเมื่อไหร่ แต่รู้ว่าดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ เขาเขียนไว้ เขาบอก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ มาดำเนินการตั้งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก ม.พ.ล. หนังสือนั้น มีไปถึงท่านเสียงศีล ในฐานะ ปราชญ์ชาวบ้าน ที่ได้รับรางวัลไปแล้ว ให้ช่วยคัดเลือก ผู้ที่จะเสนอขึ้นไป เป็นอาจารย์ ของมหาวิทยาลัย อาจารย์เขามี ๓ ระดับ อันหนึ่งเรียกว่า เมธาจารย์ อีกอันหนึ่งเรียกว่า วุฑฒาจารย์ ๓. ปัญญาจารย์ แน่ะ เขาก็มี โอ๊ ตั้งขึ้น ไอ้เราก็เพิ่งเคยได้ยินเนาะ เขาตั้งขึ้นใหม่

ของเราเองมหาลัย จะว่ามหาลัย หรือว่าระดับมหาวิทยาลัยของเรา เราก็มีสัมมาสิกขาลัยของเรา ละเนาะ เราก็ตั้ง ของเราเหมือนกัน ของเราก็มี มีวิชชาธิบดี แล้วก็มีคุรุชานบดี แล้วก็มี วิชญะ วิชญะ อะไร คุรุวิชญ์ แล้วก็คุรุชาญ เราก็มีคุรุวิชญ์ คุรุชาญ คุรุชานบดี วิชชาธิบดี ตอนนี้อาตมา สมมุติ ตัวเองเป็นวิชชาธิบดี แต่งตั้งตนเองเป็นวิชชาธิบดี ไม่รู้เขาจะยอมกันหรือเปล่า แต่งตั้งตัวเอง ถ้าเขายอม ก็ประเดี๋ยวจะเป็นผู้เซ็นใน ไอ้นั่นน่ะ ในปัญญาบัตร ยังไม่เคยในชีวิต ยังไม่เคยได้เซ็นใหญ่ๆ ยิ่งๆ เหมือนอย่างนี้เลยนี่ มันจะใหญ่จะยิ่งก็อีงวดนี้

เมธาจารย์คืออะไร เมธาจารย์ คือ ปราชญ์ ผู้รู้ ที่ได้ทำงานมาแล้ว มีผลงานสั่งสอนพุทธศาสนา มีหมู่ มีคณะ มีอะไร ต่ออะไร มีชุมชน มีอะไรกันต่างๆ สามารถเผยแพร่ได้ผลเมธาจารย์ และเป็นผู้พูด ภาษาอังกฤษได้ด้วย มีบอกไว้ด้วย และภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาอังกฤษ ภาษาตนเอง แล้วก็ ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ เมธาจารย์ เป็นผู้ที่ฉลาด รอบรู้ในระดับที่ ๑ ยังมีความหมายที่ว่า ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก เป็นผู้สอน แล้วก็มีผลงาน เผยแพร่ไปทั่วโลก

ต่อมาวุฑฒาจารย์เผยแพร่ทั่วประเทศ เป็นผู้พูดภาษาอังกฤษได้ด้วย เผยแพร่ทั่วประเทศ หรือ ออกไป ประเทศใกล้เคียงบ้าง คือผลงาน แสดงเอาผลงานที่มีความสามารถ มีเรื่องจริง มีของจริง วุฑฒาจารย์ ก็เป็นระดับรองลงมา แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ด้วย แล้วก็พูดภาษาอื่นๆ ได้บ้าง ก็แล้วแต่ แล้วก็ผลงานระดับประเทศนี่ มีผลงานชัดเจน หรือกว้างขวางออกไปสู่ ประเทศข้างเคียง อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ส่วนเมธาจารย์นั้น ทั่วโลกเลย ถือว่าระดับโลก มีผลงานระดับโลก

ส่วนปัญญาจารย์นั้น ก็สอน เป็นอาจารย์ที่สอนในประเทศ ที่มีผลงานสอนพุทธศาสนาได้ดี มีผลงาน มีหมู่กลุ่มบุคคล มีอะไรต่ออะไรได้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็แล้วแต่ มันไม่เป็นปัญหา พูดภาษาอังกฤษ ไม่ได้ เขาถือว่า เป็นปัญญาจารย์ หรือมีภาษาอื่นๆ ได้ ก็ว่าไป ส่วนภาษาอื่นๆ นั้น ถือว่าเป็นของแถม แต่ภาษาอังกฤษเป็นหลัก กำหนดเมธาจารย์ต้องได้ วุฑฒาจารย์ต้องได้ ส่วนปัญญาจารย์ไม่ได้ ก็ถือเป็นปัญญาจารย์ เป็นระดับ ๓ ท่านเสียงศีล ได้รับมา บอกว่าให้เป็นผู้ช่วย คัดเลือก เสนอบุคคล ที่ท่านเห็นควร ว่าใครจะควรเป็นเมธาจารย์ วุฑฒาจารย์ ปัญญาจารย์ ส่งไปให้เขา เขาคงจะส่งผู้รู้ ที่เคยช่วยดูแล ส่งเข้าไปคัดเลือก แล้วทางโน้น เขาก็จะไปจัดการกัน

ท่านเสียงศีลก็เลยบอกว่า ผมจะส่งพ่อท่านนี่แหละ ระดับโลก บอกส่งได้ แต่ตามหลักเกณฑ์เรื่องนี้ เงื่อนไขเขา แล้วนี่ เมธาจารย์ เราไม่เอื้อม เอื้อมไม่ได้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แม้แต่วุฑฒาจารย์ เขาก็มีกำหนดว่า ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ เราก็พูดไม่ได้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ได้แต่พูดคำ คำอังกฤษได้ เราพูดคำอังกฤษ ได้เป็นคำๆ แต่พูดภาษาไม่ได้ ถ้าขืนพูด ก็ไม่รู้เรื่อง talk go, talk come, not fall down พูดกันไป พูดกันมา ไม่ตกลง not fall down ไม่ตกลง มันไม่รู้เรื่อง อาตมาไม่ได้เรียน conversation ที่จริง แต่เด็กๆ นี่ได้เรียนนะ แล้วก็อาจารย์ เขาก็ว่า โอ๊ เก่งไปได้ ทั้ง conversation ทั้ง pronunciation นะ อาตมานี่ สำเนียงก็ดี พูดไปได้เร็ว เรียนกับหมู่ด้วยกันก็ อาจารย์ก็บอกว่าดี ไปเก่งไว แต่เสร็จแล้วก็ไม่ได้เอาถ่าน ต่อมาก็เลยไม่ได้นั่นเลย แล้วไม่ได้เรียนต่อ ไม่ได้ทำอะไรต่อไป ก็เลย ไม่ได้เรื่อง มันคงเป็นไปตามธรรม อาตมาว่า ถ้าอาตมาจะเรียนจริงๆ มันก็คงไม่ใช่ มันคงไม่ขี้เหร่ นักหรอกเนาะ มันก็คงพอได้ มันก็คงจะ แหม talk go, talk come พอได้กินข้าวละเนาะ พูดเขาไปเขามา ก็คงขอข้าวเขากินได้

อาตมามาคิดดูแล้วว่า เราจะไปร่วมกับเขาดีหรือ ก็ลองดูก็ได้นะ อาตมาว่าลองๆ ดู เขาจะส่งเข้าไปแล้ว เขาจะคัดเลือกเอง หรือไม่เอา ยังไม่รู้หรอก เขาให้ผู้เสนอขึ้นไป อาตมาก็ว่า เราไม่ต้องไปนั่งถือตน ถือตัวอะไร เราอยากจะส่ง ก็ส่งไปดู เขาจะเอา ไม่เอา ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร เราไม่มีปัญหาหรอก ไม่เอาเรา ก็ดี เราก็จะได้รู้ ถ้าไม่เอา หรือว่าเอา ก็ลองไปดู ถ้ามันไม่ไหว เราก็ถอยตัวของเราเองได้ ไม่ยากนี่ ถ้ามันไหว ก็เอา ในระดับ คือที่อาตมาว่าไหว หรือไม่ไหวนี่ อาตมาไม่ได้กลัวเรื่อง พระพุทธศาสนา หรือใครว่าอาตมากลัว อาตมาไม่กลัว ในเรื่องพระพุทธศาสนา อาตมากลัวที่จะต้อง ไปต้านกันนี่ เขาคณะใหญ่ ทุกคนก็แพ็คทีมเข้า อาตมาหัวเดียวนี่ มันจะรับไหวไหม บรรดาคณาจารย์ เมธาจารย์ วุฑฒาจารย์ ก็ครอบหัวเราแล้ว เราเอาก็อย่าง ส่งไปได้ เราก็เป็นได้แค่ ปัญญาจารย์ใช่ไหม มันอาจารย์ระดับ ๓ ใช่ไหม เขาอาจารย์ระดับ ๑ ระดับ ๒ เข้าไป เขาก็ครอบหัวเราแน่ แล้วก็มีมวล ทั้งมวล ทั้งระดับ อำนาจอะไร ทั้งยศศักดิ์อะไรอยู่ เราจะไปทำอะไรออก เราจะไปบรรยาย หรือว่า พูดอะไร แน่นอนมันก็จะต้องค้านแย้งกัน มันต้องไอ้นี่หน่อย แน่นอนเลย มันจะต้อง ขัดแย้งกันในตัว มันจะต้องมี ที่ไม่เหมือน

เพราะความเห็นของศาสนาพุทธ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เลยนะทั่วโลก ทั่วโลกมันไม่ได้เป็นเฉพาะกลุ่ม เฉพาะหมู่ มันเป็นเห็นอย่างนั้นเลย แล้วเห็นว่าอย่างเรานี่มันผิดจริงๆ เขาเห็นว่า อย่างเราผิดจริงๆ อาตมาก็ยังนึกว่า ลองดู ดีเหมือนกันแหละ เขาก็คงพอรู้ละว่า เรานี่มันเป็นยังไง ดูซิว่า คือ พุทธศาสนานี่ เขามีวัตถุประสงค์ แล้วเขามีเจตนารมณ์ชัดเจน ด้วยว่าไม่เลือกนิกาย ไม่กำหนด จำเพาะนิกาย จะรวมกันทั้งทุกนิกาย พุทธศาสนา ทุกนิกาย เขาจะไม่ไปเกี่ยงกันตรงที่นิกายนั้นนิกายนี้ เขาไม่เกี่ยง เขาจะรวมให้ทั้งโลกเลย ทุกนิกาย เพราะฉะนั้น เราเป็นนิกาย หรือไม่นิกาย ยังไม่รู้ บอกว่ายังไม่รีบ เพราะว่าอโศกนี่ แม้แต่นิกายก็ยังไม่เป็น ว่าอย่างนั้นนะ แม้แต่นิกายก็ยังไม่เป็น ว่าอย่างนั้นนะ ก็แล้วไป เราก็จะดูว่า ไม่เป็นนิกาย เขาก็ยังไม่นับให้เป็นนิกาย มันย่อยเล็ก จนกระทั่ง แม้แต่นิกายก็ไม่นับ ก็ไม่เป็นไร เขาไม่รับ รับไม่ได้ แต่ถ้าเอาไปเทียบกับทาง จัดเราให้เป็นนิกายเถรวาท เราก็ไม่ใช่ เราก็คงไม่มีสิทธิ์จะสู้ เขาเลือกเอาจากกลุ่มเถรวาทก็เยอะแยะแล้ว

คณะสภาอาจารย์ ขณะนี้มีแล้ว สภาอาจารย์นั่น ก็มี พระธรรมปิฎกเป็นประธานสภาอาจารย์อยู่ขณะนี้ แล้วดูเหมือนจะเป็นศาสตราจารย์ จำนง ทองประเสริฐ เป็นอุปนายกสภา แล้วก็มีใครเป็นด็อกเตอร์ พระด๊อกเตอร์ อาตมาจำไม่ได้ ไม่ได้เอาถือติดมือมาด้วย นี่ก็เป็นอะไรเงื่อนไขอันหนึ่ง เขาก็รู้ว่า ท่านเสียงศีลน่ะ เกี่ยวเนื่องอยู่กับอโศก แล้วเขาก็คงจะรู้แล้วว่า ถ้าจะส่งนี่ มันก็ต้องส่ง อาจจะลองดู ก็ได้ว่า จะส่งโพธิรักษ์เข้ามาไหม ลองดู เขาอาจจะลองดูก็ได้ ส่งเข้าไปแล้ว ถ้าเผื่อว่า เขาเปิดอย่างนั้น อาตมาก็คงจะต้องได้เข้าไปนั่งพูด นั่งคุยกับเขามั่ง แต่ถ้าเผื่อว่าเขาไม่ได้คิดอย่างนี้ ตัดเลย ก็จะได้รู้ มันก็เป็นเรื่องลอง ลองดู มันเกิดขึ้นนี่แล้ว เราไม่ได้เป็นคนไปก่อ

ที่อาตมาหยิบเรื่องเหล่านี้มาประกอบการเทศน์ เพื่อที่จะให้เรารู้ว่า ถึงอย่างไรๆ เราก็เป็นที่รังเกียจ ของคนเขา มาแต่เดิม เป็นเหมือนอีแร้ง แต่ก่อนนี้อาตมาเรียก สกั๊งค์ สกั๊งค์มันเป็นสัตว์ของต่างประเทศ มันก็เหมือน ตัวแลนนี่ เขาเห็นเหมือนแลน ตัวเสนียด เป็นสัตว์เสนียด เป็นสัตว์ที่คนไม่ชอบ ถ้าเผื่อว่า เป็นภาคกลางเขาก็เรียก เหี้ย เหี้ย ตัวเหี้ย อีสานเรานี่ เรียกแลน แต่ทางของต่างประเทศเขานี่ เขาจะรังเกียจ สกั๊งค์ก็มันเหม็น กลิ่นมันฉุน สกั๊งค์ เป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจ ถ้าใครเทียบสกั๊งค์แล้วนี่ เขา โอ๋ยไอ้คนนี้สกั๊งค์ของสังคมแล้วก็ เหมือนกันกับที่เขาเทียบ ภาษาไทยว่า ไอ้นี่มันเป็นเหี้ยของสังคม หรือเป็นแลนของสังคม อะไรอย่างนี้ (เขาเรียกตัวเงินตัวทอง) ตัวเงินตัวทอง นั่นแหละ อาตมาก็เลย เอาของฝรั่งเขามาว่าเป็นสกั๊งค์ของสังคม คือเราเป็นตัวที่เป็นตัวเสนียด หรือเป็นตัวที่น่ารังเกียจ ของสังคมเขาอยู่ ในระดับหนึ่ง

ตั้งแต่เกิดเรื่องเกิดราว แล้วก็มีการโฆษณา มีการวิจัยวิจารณ์ อะไรต่ออะไรต่างๆ นานา จนกระทั่ง เราพิสูจน์ตัวเราเอง กันมาเรื่อยๆๆๆ จนเขาตีทิ้ง แม้แต่ระดับสถาบันโลก อย่างระดับตุลาการ เขาตัดสินว่า เราผิด อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเขาก็ตัดสินผิด แล้วมันก็มีอะไรซับซ้อนนั่นแหละ แม้ผิด เราก็ว่าเราไม่ได้ผิดหรอก เราก็ยืนยันว่า เราไม่ผิด แต่ผิดนี่ เพราะมันเกิดผิดทางเทคนิค เพราะว่า ผิดตั้งแต่เริ่มต้น อาตมาว่าเริ่มต้นผิด ตั้งแต่การบัญญัติ สิ่งที่พระพุทธเจ้า ไม่ได้บัญญัติ คือ ออกกฎหมาย ให้ทางโน้นเขาทำเกินกว่าวินัย วินัยไม่ได้ขนาดนั้น วินัยนี่ เป็นวินัยหลัก วินัยข้อ ให้สั่งสึกนี่ ขนาดพระพุทธเจ้าท่านยังไม่กล้าสึกพระเทวทัต เพราะว่าพระเทวทัตไม่ได้เป็นคนประพฤติ ปฏิบัติ ปาราชิก แล้วก็ไม่ได้ผิดในวินัย ๑๑ ข้อ ท่านก็หยาบ ท่านก็อาบัติขนาดนั้น ขนาดนี้ มันก็อาบัติละ ถ้าจะว่าไปนี่ อย่างน้อย สังฆาทิเสส ว่ายากสอนยากก็ได้นะ เทวทัตนี่ ถือว่าขนาดระดับว่ายาก สอนยากนี่ อาบัติสังฆาทิเสสก็ใช่ แต่ไม่ถึง ปาราชิก เพราะฉะนั้น ยังไม่มีสิทธิ์ไปสึกเลย จะว่าอาบัติ เล็กน้อย ปาจิตตีย์อะไรนี่มีแน่นอน อย่างเทวทัตนี่ อาบัติย่อย แม้กระทั่งสังฆาทิเสส อาตมาก็ว่า เข้าข่ายว่ายาก สอนยาก เทวทัต แต่ไม่ใช่ปาราชิก เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจะประกาสนียกรรม ก็แค่อย่างเก่งก็แค่เชิงอัปเปหิ หรือพรหมทัณฑ์ คือหมายความว่าให้ออกไปนอกหมู่ อยู่นอกหมู่ อย่าไปยุ่งไปเกี่ยว ต่างคนต่างทำ ประกาศนานาสังวาส เป็นเหตุประกาสนียกรรม เหมือนนานาสังวาส อย่างเก่งก็แค่นั้น สิ่งที่ท่านประกาศ สำนวนท่านบอกว่า สิ่งใดที่เทวทัตทำ ก็เป็นของเทวทัต สิ่งใด ที่ของพวกเราทำ ก็เป็นของพวกเรา ท่านก็ประกาศแยกเท่านั้นเองให้เห็นชัด สิ่งทำก็เป็นของส่วนตัว ของเทวทัต ใครจะเห็นด้วย เห็นตามเทวทัต ก็ตามใจ

อันนี้เป็นแนวลึกนะ เป็นเรื่องละเอียด แต่เขาก็ไม่คิดกันหรอก แต่เขาก็จะมาปรับอาบัติเรา โดยที่ไม่ปรับ อาบัติหรอก ตั้งกฎ ตั้งระเบียบ ตั้งกฎหมายมาสั่งให้สึกเลย เสร็จแล้วก็มาดูว่า แล้วเราผิดอะไร ก็ไม่นำสืบในเรื่องของวินัย ตัดสินเองหมด ไม่นำสืบเลยนะ บอกว่ามีข้อมูลพอที่ผิดวินัย ก็คือ ผิดวินัยเป็นอาจิณ ตีขลุมเลย แล้วผิดอะไรละ อวดอุตริมนุสธรรม อวดเมื่อไหร่ กี่ครั้ง เขาต้องเรียก เป็นตัวๆๆๆ นะ การพิจารณาวินัยกันนี่ ยิ่งวินัยขั้นลึกขั้นสูงนี่ นี่ผิดเท่านี้ตัว เท่านี้ครั้ง อย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่างนี้นะ นี่ไม่เลย ตีขลุมเลยบอกว่า ผิดวินัยเป็นอาจิณ เสร็จแล้ว ก็เอาไปเข้ากฎ เอาไปเข้ากฎที่ตั้งเองอีก ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งนี่ ก็ขัดแย้งกับธรรมวินัย ธรรมวินัยนั้น หรือธรรมเนียมของศาสนาพุทธนั้น ผู้ออกมาบวชแล้วนี่ ต้องละบ้านช่อง เรือนชาน ไม่ยึดที่อยู่เป็นของตัวของตนทั้งสิ้น เหมือนนกน้อย ปีกแข็งมีบาตร จีวรเลี้ยงตนได้โดยอิสระ ไม่มีที่อยู่ ไปยึดที่อยู่ ผิดอีก แต่นี่กลับไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ผิดเอ้า เอ๊ะ จะให้มีที่อยู่ ก็ประกาศลาออกมา จากบ้านเรือนแล้ว แล้วจะให้มายึดบ้านเรือนใหม่ มันผิด ค้านแย้งกับธรรมวินัย เขาก็ออกกฎมาว่า ไม่มีที่อยู่ เป็นหลักแหล่ง นี่มันค้านแย้งกับธรรมวินัยหมด แต่เราก็ไม่มีสิทธิ์ เขาออกมาแล้ว เขาก็ว่ากันไป แล้วเขาก็พิจารณา ตามเขา ไม่เรียกเราไป

แม้แต่ในที่สุดไม่ใช่อะไรหรอก จะพิจารณาความลับหลังจำเลยอีกต่างหาก ไม่ให้จำเลยเข้าไปอยู่ ในที่ที่จะพิจารณา ตัดสินความ ไม่แจ้งไม่บอกกล่าว ไม่เชื้อเชิญ เราก็ไม่ได้หนีไปไหน เราก็อยู่ พิจารณา ลับหลัง แม้แต่กฎหมายทางโลก เขาก็โมฆะ สัมมุขาวินัยก็โมฆะ แต่เขาก็ทำอย่างนี้ เป็นต้น คือ มันซับซ้อน มันไม่สมบูรณ์แบบ เพราะฉะนั้น เขาก็รู้ คนที่เขารู้ เขาก็รู้ ผู้รู้ เขารู้ ว่ามันใช้อำนาจ บาตรใหญ่ไปเบ่งๆ ไปอย่างนั้นแหละ จะทำเต็มที่ เขาก็ไม่กล้า หลายๆ อย่าง อาตมาไม่รู้นะว่าทำไม เขาจึงไม่เชิญ ไม่ให้อาตมาเข้าไปในที่ ที่พิจารณาตัดสินความ ตอนที่ประกาสนียกรรมกัน รวมทั้ง ถ้าจะว่าให้ลึกแล้วนี่นะ ที่เอาเรื่องอาตมา ในเรียกว่า อธิกรณ์ เรียกว่า การพิจารณาความ ตัดสินความ ขึ้นศาลนั่นแหละ สรุปแล้ว ก็คือขึ้นศาล ศาลสงฆ์ การจะขึ้นศาลสงฆ์ พิจารณาความนั้นน่ะ แม้แต่ในธรรมวินัย มีนานาสังวาส หรือมีนานานิกายไปรวมกันไม่ได้ ตัดสินความไม่ได้ มีผู้ที่ต่างนิกาย ต่างนานาสังวาสนี่ คนละพวกนี่ เข้าไปรวมกัน ตัดสินความก็ไม่ได้ มีผู้ที่ต่างนิกาย ต่างนานาสังวาสนี่ คนละพวกนี่ เข้าไปรวมกัน ไปรวมกันตัดสินความก็ไม่ได้ แต่เขารวมกัน ทั้งธรรมยุต ทั้งมหานิกาย เขารวมกัน ในเรื่องนี้ รวมหัวกัน เพื่อที่จะตัดสินเรา

ถ้าจะว่าแล้ว การเอาทั้งธรรมยุต และมหานิกายไปรวมกันนั้นน่ะ มันก็ผิดธรรมวินัยด้วย สังฆกรรมนั้น เป็นอันโมฆะ จริงๆ แล้วเขาก็เอาเราไปไม่ได้ แต่เขาไม่พูด ถ้าเอาเราไป มันก็โมฆะอีก เพราะว่า มันคนละนิกาย เราได้ประกาศ นานาสังวาสแล้วด้วย อย่างนี้ เป็นต้น ถ้าอาตมาไป อาตมาก็ยืนยัน แน่ๆ ถ้าอาตมาเข้าไปนี่ อาตมายืนยันแน่ว่า เราประกาศนานาสังวาสแล้ว คุณไม่มีสิทธิ์ อาตมาจะไป แล้วก็ไปประกาศชัดๆ ตรวจสอบวินัยกันก่อน เราทำมาถูกต้อง มีลายลักษณ์อักษรแล้ว ไม่ใช่ประกาศ แต่เฉพาะ พระ ๑๘๐ รูป ที่เราประกาศที่ศาลานั้น ประกาศขอแยก เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ นั่งอยู่ที่นั่นเป็นพยาน หลักฐานยืนยันได้ ให้รู้กันไปซิว่า พระจะมา นั่งโกหก พระก็ยังอยู่ ยังมี บอกเราประกาศแล้ว ประกาศทั้งภาษา มีลายลักษณ์อักษร เสร็จด้วย ว่านี่เราขอแยก ปกครองตน ไม่เกี่ยวข้องกับเถรสมาคม มีหลักฐานชัดเจน เพราะฉะนั้น เมื่อเราประกาศนานาสังวาสแล้ว โดยธรรม โดยวินัย ก็เป็นนานาสังวาสกัน ไม่มีสิทธิ์จะอธิกรณ์แก่กันและกัน ใครอธิกรณ์ อาบัติ ใครไปแหยม ไปอธิกรณ์เขา อาบัติ เพราะฉะนั้น เถรสมาคมอาบัติ จะสังฆกรรมก็ไม่เป็นอันทำ โมฆะ แต่เราก็ยอม ยอมทุกอย่าง

เพราะฉะนั้น ในเรื่องของความถูกต้องมันมีอยู่ เขาถึงไม่ค่อยกล้าเท่าไหร่ ทำๆ กล้าๆ กลัวๆ ทำเป็น ใช้อำนาจ บาตรใหญ่ เบ่งๆ มา แต่เขาก็ทำเต็มที่ไม่ได้อย่างที่มันเป็น อันนี้แหละ คือ ธัมโม หเว รักขติ ธัมมจาริง นี่แหละ คือธรรมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมรักษาช่วยเอาไว้ จริงๆ อาตมาไม่เคยกลัวเลยนะ ไม่เคยกลัวจริงๆเลย ใจไม่เคยกลัวเลยว่า เขาจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ ก็คุณทำไปเถอะ เป็นแต่เพียงว่า อาตมาไม่ตอแยมาก ไม่ไปทำ ให้มันรู้สึกว่า ให้เขาโกรธ แล้วก็ให้เขาทำบ้าๆ บอๆ เขาทำได้ ซึ่งมันไปยั่ว ให้เขาทำอะไรเรา แรงเกินไป เราก็ทำสุขุม สำรวมอย่างที่อาตมาเคยพาทำมาตลอดเวลา เขาจะทำแรง อะไร เขาก็ทำไป แต่เราก็ทำไปอย่างสุภาพ อย่างนี้แหละ

สุดท้ายอาตมาว่าอันนี้แหละ ชนะใจผู้ดู ชนะใจคนดู พอเสร็จแล้ว ตัดสินเรียบร้อย เราก็กลับมานี้ อาตมาจะกลับมา ใส่ชุดผ้าอย่างนี้ พวกเราบางคนยังกลัวเลยนะ บอก โอ แล้วเขาจะไม่เล่นงานเราหรือ เรากลับจะเปลี่ยนผ้าขาว ตอนนั้นครองผ้าขาว นุ่งสีน้ำตาล เสร็จแล้วครองผ้าขาว จะกลับมาครองผ้า สีนี้ หลายคนเลยบอก แล้วเขามาเล่นงาน แล้วกลับมาเล่นงานอีกจะยุ่งนะ อาตมาบอกเอาเถอะน่ะ ให้มันรู้กันไป กลับมานุ่งห่มอย่างนี้ เราก็มีทางออกว่า เราไม่ได้ไปลอกเลียน เราไม่ได้ผิดกฎหมาย มาตรา ๒๐๘ เราก็ไม่ได้ผิด เราก็แต่งตัวลอกเลียน มันมีเจตนารมณ์ว่า เราไม่ได้เจตนา จะไปลอกเลียน หรอก จะทำให้ไม่เหมือน สีไม่เหมือน นุ่งห่มให้ไม่เหมือน ทำอะไรไม่เหมือน เราเจตนาอยู่แล้ว มีเจตนา ทุกอย่างที่จะให้ไม่เหมือน ไม่ใช่มานั่งลอกเลียน จะเอาก็เอากันลองดู ขึ้นศาลอีกทีนี่ ว่ายังไง สู้กันอีกนี่ มาตรา ๒๐๘ นี่ อีกทีหนึ่ง ให้มันรู้กันไป

สุดท้ายเขาก็ไม่กล้าแล้ว นอกจากไม่กล้าแล้ว เราก็ทำงานอะไรไป จนกระทั่งสุดท้าย พวกนั้นเขาก็ดูดี ถ้าเราใส่ขาว ห่มขาวอยู่นี่สิ ป่านนี้ก็คงจะยากกว่า เขาจะยอมรับไหว้ พวกเราก็จะอะไรต่ออะไร กับอาตมาว่าเขาจะสนิทใจ ยากกว่า แต่สีนี้ มันค่อยยังชั่วใช่ไหม มันค่อยกลืน มันพอรับกันได้ง่ายกว่า เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ไม่มีปัญหาอะไร ขนาดพวกเราไปกราบ องค์นี้ไปกราบท่านพระธรรมปิฎกนี่ องค์นี้ อาตมาก็ถามว่า แล้วกราบนี่นะ เสี่ยงตาน้อยดูไหม เสี่ยงตาน้อยนี่คือ ชำเลือง ภาษาอีสานเราว่า เสี่ยงตาน่อย เสี่ยงตาน่อยเบิ่งบ่ ว่าเรากราบท่านนี่ ท่านรับไหว้หรือเปล่า ใช่ไหม เรากราบเราก็ต้อง ก้มลงไป เราก็ต้องนั่ง ต้องเสี่ยงตาน่อยดูว่า เอ๊ ท่านรับไหว้ไหม ถามว่าเสี่ยงตาน่อยดู หรือเปล่า เห็นไหม ท่านรับหรือเปล่า ท่านรับไหว้อย่างดี รับไหว้ เห็นบอกว่า อ่อนน้อมด้วยนะ รับไหว้ ไม่ใช่ซังกะตาย เหมือนกับอย่างท่านพุทธทาส ท่านจะไหว้ท่านอย่างนี้ ท่านพุทธทาส ท่านไหว้ ของท่านอย่างนี้ นั่งพลุ้ยพุงท่านอยู่ ไม่รู้ว่า ไหว้หรือไม่ไหว้ เพราะพุงท่านโต ท่านก็นั่งอย่างนี้ แค่นี้ ท่านพุทธทาส

นี่รับไหว้ อ่อนน้อมดี แล้วก็โอภาปราศรัยดี ท่านฟ้าไท ท่านกล้าตาย ๒ รูปไป ไปอย่างเช็คนะ เพราะเราออกกันมา หมดแล้ว ไปกับคณะวิถีพุทธ พอเสร็จ เลิก ก็ออกมา แต่พวกเรา มานึกได้ว่า เอ๊ เราควรจะกลับไปลาท่าน พิเศษต่างหาก เฉพาะคณะเรา ก็กลับไปอีกที ใช่ไหม คณะเราเฉพาะ สันติอโศกเลย เฉพาะอโศกเลย กลับเข้าไปอีก เข้าไปโอภา ท่านก็ต้อนรับ พูดจาด้วยดีเลยนี่ แล้วก็คุยถามไถ่ แล้วก็กราบไหว้กันมา ลากันไป ดี อาตมาว่ายิ่งดี เพราะว่าคนอื่นๆ เขาหนีหมดแล้ว ต่อหน้าต่อตา มันยังกระดากใช่ไหม เดี๋ยวนี้มันไม่มีใคร มันมีแต่เฉพาะท่าน ก็ยิ่งดีใหญ่ สบายใจ ท่านก็โล่งใจ จะได้เห็นใจจริงของท่านว่า ท่านกล้ารับเรา ท่านยอมรับเรา อย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าท่านจะไม่รับ ท่านจะวาง ปึ่ง ท่านจะอย่างโน้นอย่างนี้ ท่านก็มีสิทธิ์ที่จะทำ ซึ่งเราก็ไม่มีสิทธิ์ ที่จะไปทำอะไรท่านได้ ไปแหยแฝ่น อยู่ตรงนั้นละนะ เรากราบแล้ว ท่านจะไม่รับไหว้ แล้วท่านจะคุย คำ ๒ คำ อะไรเป็นการตัดรอน แต่นี่ท่านทักทายปราศรัย ถามไถ่อะไรต่ออะไรดี มารยาทดี ท่านเป็นคน มารยาทดีอยู่แล้วนะ ท่านธรรมปิฎก

เอาละก็หยิบอะไรต่ออะไรมาเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้สู่ฟัง เรื่องที่อาตมาจะสำทับก็พูดไปแล้วแต่ต้น ให้พวกเราได้พยายาม สังวร ระวังให้ดี ให้รู้จักพัก รู้จักเพียรกันจริงๆ นอกนั้น ก็จะต้องพยายาม พิจารณาให้มาก พิจารณาให้มาก คำว่าพิจารณานี่ ก็คือตรวจสอบซ้ำอ่าน ซ้ำวิเคราะห์ วิจัย พิจารณา ก็คือตรวจสอบ แล้วก็วิจัย ไม่ใช่พิจารณา ก็คือดูเฉยๆ เหมือนอย่างกับอาจารย์ สุจินต์ บริหารบรรณเขตสอน ดู ดู สักแต่ว่าดู ดูเฉยๆ ดูแล้ว อย่าไปคิดนั่น คิดนี่ อย่าไปคิดบวก คิดลบ วางกลางๆ ใจต้องวาง นั่นแหละ คือการปฏิบัติวิปัสสนา การปฏิบัติใจว่าง มีสติ รู้ นิ่ง เฉย ไม่ใช่อย่างนั้น

ดูแล้ว ก็พิจารณา มีธัมมวิจัย ให้เกิดสัมโพชฌงค์ วิจัยให้ออกว่าอะไรคืออะไร อาการทางใจ อาการ ทางกาย อาการทางนอก ทางใน มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม วิจัยธรรมออกด้วยว่า ธรรมะอันไหน เป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ควรจะปรับ อ้อ นี่มีอกุศล มันมาเกิดอกุศลอยู่ในจิต ปรับเปลี่ยนวิจัย วิจัยแล้วเสร็จ รู้เสร็จแล้วก็ปฏิบัติด้วย ปฏิบัติ อันนี้เป็นกิเลสแซมอยู่ อย่างโน้นอย่างนี้ หรือกายกรรม เราไม่งามพอ ปรับ วจีกรรมเราไม่งามพอ มันแรงไป มันมากไป มันอกุศล หรือมันทุจริต อย่างโน้น อย่างนี้ อย่างใด มันกามวิตกเป็นพยาบาทวิตก เป็นวิหิงสาวิตก หรือเป็นโกหก เป็นส่อเสียด เป็นพูดหยาบ เป็นพูดเพ้อเจ้ออย่างไร มันเป็นมิจฉาอย่างไรละ กัมมันตะ ๓ มันเป็นไป ด้วยความโกรธเคือง เป็นไปในสายโทสมูล เป็นไปในสายโลภมูลที่ทุจริต ปาณาติบาต อทินนาทาน หรือเป็นไปใน ราคจริต กาเมสุมิจฉาจาร นั่นกัมมันตะ ๓ หรือเป็นไปในมิจฉา ๕ ของอาชีวะ เราก็ตรวจสอบ วิจัย

เมื่อมันเป็นอกุศล ทุจริต เราก็เปลี่ยน ไม่ใช่พาซื่อ ดูนิ่งเฉย แล้วก็ทำใจกลาง ทำใจเป็นกลาง ว่าง ไม่ปรับปรุง กาย วาจา ใจ ไม่ได้ปฏิบัติองค์มรรคเลย มันไม่ใช่ ต้องปฏิบัติองค์มรรค ปฏิบัติจริงๆ มันถึงจะจริง โดยเฉพาะปรับด้าน ร่างกาย วาจา และใจเราด้วย ปรับใจเรา ถึงขึ้นกามวิตก พยาบาทวิตก ปล่อยให้มันจางคลาย ทำให้มันจางคลายได้ จากกาม จากพยาบาท จากวิหิงสา ซื่งเป็นเหตุปัจจัย ตัวหลักเลย กาม พยาบาท วิหิงสา ก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือโลภะ โทสะ โมหะ นั่นแหละ รากเหง้า อันเดียวกัน มูล เป็นมูลเหตุอันเดียวกัน

ถ้าใครมีความสามารถที่จะปรับ แล้วก็สามารถที่จะพิจารณาแล้ว ก็ปรับให้สู่สัมมาดังกล่าวนี้ หรือลดอกุศลมูล ด้วยใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกาย วาจา ใจ หรือทุจริต สิ่งที่เป็นจริต มันทุจริตที่มันไม่งาม จริตที่มันไม่ดี มาเป็นสุจริต มาเป็นจริตที่ดีได้ ก็ได้ปฏิบัติธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้นคำว่า พิจารณานี่ ต้องจริงๆ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย เป็นไปแล้ว ก็เฉยๆ เนือยๆ มันจะเกิดโกรธแล้ว โกรธแล้วก็ แล้วก็ไม่ได้พิจารณามันซ้ำๆ ซ้อนๆ ว่า เอ๊ เรามันโกรธไปแล้ว แล้วก็อย่าให้มันโกรธกรุ่นอยู่อย่างนั้นต่อไป เหตุอะไร เป็นอย่างไร ควรจะต้องกำราบตัวเองอย่างไร ก็ปล่อยไปเฉยๆ ให้มันคลายไปเอง ให้มันหยุดไปเอง เฉยๆ ปล่อยไปตามธรรมชาติ ปล่อยธรรมดา อันนี้ไม่ได้เสริม ไม่ได้พากเพียรปฏิบัติ พิจารณาธรรมในธรรม พิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ได้พิจารณา ไม่ได้ทำสติปัฏฐาน ๔ ไม่ได้มี สัมมัปปธาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ ก็จะต้องสังวรปธาน ปหานปธาน คุณได้ปหานมัน คุณได้ปฏิบัติ ให้เกิดผล ภาวนาปธาน คุณรู้ว่าได้ผลแล้ว คุณก็รักษาผล อนุรักขนาปธาน คุณไม่ได้ทำ สัมมัปปธาน ๔ คุณไม่ได้ทำ สติปัฏฐาน ๔ คุณไม่ได้มีอิทธิบาท คุณเฉยๆ เฉื่อยๆ ปลดปล่อยไปตามเรื่องตามราว ตามธรรมชาติ ปฏิบัติธรรมก็ตามธรรมชาติ นี่ก็เพี้ยนเหมือนกัน ไม่ใช่ปล่อยไปตามธรรมชาติ มีสังวรระวัง มีพากเพียร มีตั้งตนอยู่บนความลำบาก มีการประพฤติ มีการปฏิบัติ

นี่เป็นนัยที่ซับซ้อนละเอียด แล้วก็เขาอธิบายกันไปตามใจตามชอบ เราก็อธิบายของเรา เขาก็อธิบายของเขา เพราะฉะนั้น เราก็ฟังดู อาตมาทำงานกับพวกเรา แล้วก็อธิบายให้พวกเราฟัง จนพวกเราสามารถที่จะปฏิบัติมาได้ จนทุกวันนี้นี่ อาตมาว่าพวกคุณมีภูมิปัญญารับได้ แม้ได้เท่านี้ ได้ขนาดนี้นี่ มันก็ได้ไปแล้ว ถ้าคุณเข้าใจเพิ่มขึ้นไปอีก ตามที่อาตมาย้ำแล้วย้ำอีก สำทับแล้วสำทับอีกนี่ แล้วขยายให้มันละเอียดขึ้น ชัดเจนขึ้นไปอย่างนี้ แล้วคุณก็ไป พยายามพากเพียร ทำตามที่ว่านี่ ให้มันได้ยิ่งขึ้นๆๆ ก็ทำมาบ้างแล้ว ขนาดนี้ ก็ได้ขนาดนี้แล้ว อาตมาก็ว่าเป็นผลดี พอสมควรแล้ว คุณละลดกิเลสตัณหาอะไรมาได้พอสมควร ถ้าคุณไม่ละไม่ลด ลดไม่ได้ มันไม่อยู่หรอก ป่านนี้ แต่ละผู้ แต่ละคน มันมีทางจะไปกันทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอกเมื่อไหร่ใช่ไหม พวกเราแต่ละคนๆ มีฝีมือ มีความสามารถ มีความรู้ ไม่ได้เป็นคนกระจอกงอกง่อย ไร้ที่ไป เจ็บป่วย จนกระทั่งทำอะไรไม่ได้เมื่อไหร่ ไม่ใช่ แข็งแรงดีทุกอย่าง กำลังวังชาดี หนุ่มแน่นด้วย เยอะแยะ หลายคนยังหนุ่มยังแน่น ยังมีกำลัง วังชาจะทำจะสร้าง จะสรรทางไป คนอื่นง้อให้อยู่ด้วยซ้ำไป บางคนน่ะ ยังมีที่โน่นที่นี่ กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ เขาง้อให้เราอยู่ ให้เราทำด้วยซ้ำไป จะมาอยู่มาทางนี้ ไม่ใช่เป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอกอะไร

เพราะฉะนั้น อาตมาก็ถือว่า คุณสมัครใจ คุณเห็นดี คุณเข้าใจ คุณพอใจ คุณมีภูมิปัญญา คุณทำ อย่างอิสรเสรีภาพ รู้ว่ามาอย่างนี้แหละ มีลักษณะอย่างนี้ดี เพราะฉะนั้น จิตใจของคุณมาได้ ก็แสดงว่าจิตใจมันไม่ได้มีกิเลส มาต้านมาก จนเกินไป นั่นหนึ่ง กิเลสมันร่ำร้องจนคุณฝืนไม่ไหว คุณก็ต้องไป แต่นี่คุณก็ไม่ได้ฝืนเท่าไหร่ คุณจึงอยู่ได้ ไม่เครียด ไม่เป็นบ้า ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด ไม่เดือดร้อน ก็เห็นว่า มันเป็นสุขสงบดีกว่า มันราบรื่น อบอุ่นดีกว่า อะไรก็แล้วแต่ มันเป็นคุณค่าจริงๆ ดีกว่า เรามีปัญญาเข้าใจ แล้วก็อยู่กันมา จนกระทั่งเป็นกลุ่ม เป็นหมู่ เป็นคณะ เป็นการงาน ซึ่งหนักด้วย งานก็หนัก ก็เหนื่อยนะ โอ้โห โน่นๆ นี่ๆ มามากมาย ไม่ได้ลาภยศ สรรเสริญ โลกียสุข นี่คือเหนือโลกีย์ เราอยู่เหนือโลกธรรม เป็นโลกุตระ เพราะเราไม่ได้เอาลาภยศ สรรเสริญ โลกียสุข มาเป็นเครื่องล่อ คุณทำอยู่ คุณรู้อยู่แล้ว เราทำเพราะเราสมัครใจจะทำ แล้วเราก็ทำด้วยใจของเราว่า เราทนได้ไหม มันก็ทนได้อยู่ ทนได้โดยไม่ยาก ทนได้โดยไม่ลำบาก มันเป็นฌาน อาจมีกิเลสตัณหาบ้าง วิตกวิจาร แล้วคุณก็มีฌาน ที่เป็นฌานได้ เพราะอย่างน้อยก็ฌาน ๑.ยังมีวิตกวิจาร ยังจะต้อง แหม ยังมีตรรก วิตรรก วิตกวิจาร ก็คือ ตรรก วิตรรก นั่นแหละ มันก็ยังจะเรียนรู้ตรรก วิตรรกนั่นลดละมันให้ได้ ทำมันให้มันเบาบาง โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก

ถ้ามันยาก มันลำบากมาก สั่งสมแต่คารมยาก ความลำบาก กดดันมากๆ เข้า คุณก็อยู่ไม่รอด แต่คนไหนที่บอก โอ๊ ก็ไม่มีปัญหาอะไรมากเลย โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบก หนักเข้า ไม่เห็นมันยาก ตรงไหน มันก็สบายๆ ก็คือสบายแล้ว มันไม่ง่าย มันก็ไม่ จนคำว่า โดยไม่ลำบาก โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบากนี่ เป็นสำนวน ที่จะต้องต่อสู้ ประมาณหนึ่ง โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก แสดงว่ามันยังมี ความลำบากอยู่บ้าง แต่มันก็โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบากนัก แต่ถ้าบอกว่า มันไม่ยากเลย ไม่ลำบากเลย ว่างๆ ง่ายๆ สบาย ปลอดโปร่ง คุณแต่ละคนก็รู้ตัว ต้องรู้อารมณ์จิตของตัวเองว่า โอ๊ มันไม่ลำบาก ลำบนอะไรหรอก มันไม่ยากอะไรหรอก ทำได้ไม่ยากไม่เย็นอะไร มันเมื่อยมา หรือมันไม่สบาย มันก็อาจจะหงุดหงิด นิดๆ หน่อยๆ เพราะมันมีเหตุว่ามันเมื่อยแล้วนะ มันไม่ค่อยสบายเท่าไหร่นะ แต่ระวัง มันจะกิเลสนะ ถ้ากิเลสเข้ามาแล้ว คุณอย่าไปแพ้มัน ถ้ามันเมื่อยมาหน่อย ก็เข้าใจให้มันถูกว่า มันเมื่อยมา แล้วมันก็อยากจะพัก หรือว่ามันไม่สบายเท่าไหร่ ฝืนไปประเดี๋ยวก็ สังขารมันจะโทรม เสื่อมโทรม ก็ให้มันชัด

แต่ว่าไม่ใช่หรอก กิเลสขึ้เกียจ เห็นแก่ตัว มาแทรกแซงว่า เฮ้ย อย่างนั้นๆ อะไรก็ไม่รู้ อ้างเหตุอ้างผลเก่ง กิเลสนี่หลายเหลี่ยม อ้างเหตุมา ป่วยก็ได้ อ้างเหตุมา เพลียก็ได้ อ้างเหตุมา เมื่อยก็ได้ อ้างเหตุมาจะ ปวดนั่นเจ็บนี่แล้วนี่ เดี๋ยวปวดแล้วนี่ ปวดข้อเท้า ปวดข้อนั้น ปวดที่เส้นผม พูดประชดเข้าไว้หน่อย เส้นผมมันไม่มีความรู้สึก ปวดแล้วที่เส้นผม หือ ปวดเส้นผมนั่นหรือ ขนาดโกนหัวนี่ ยังปวดเส้นผม อีกนะ มันจะมากไปแล้ว เส้นผมมันไม่ปวดหรอก มันไม่รู้สึกหรอก เส้นผมตัดมันทิ้งก็ได้ หือ ขุมขนพูดยังไงขุมขนกับเส้นผม มันคนละที่กันนะ นี่สมมุติเพี้ยนๆ อย่างนี้แล้วจะไปละเอียดลออ ได้หรือนี่ โอ๊ยนี่ขนาดรูปธรรม ก็ยังเพี้ยนตรงนี้เลยนี่ ขุมขนกับเส้นผม มันคนละเรื่องกัน ที่พูดนี่ ต้องสื่อให้มันชัดเจน กำหนดให้มันแม่น กำหนดไม่ชัดอย่างนี้ แล้วจะไปกำหนด ถูกหรือนี่ เดี๋ยวก็ไปเอา โลภะเป็นโทสะ โทสะเป็นโลภะแล้วยุ่งนะ หนักเข้ากุศลเป็นอกุศลแล้วนี่ หนักเข้า กงจักรกับดอกบัว คนละเรื่องเลย อย่างนี้ เดี๋ยวมันสับสนนะ

เอาละ อาตมาได้พยายามย้ำ หัดไปฝึกพิจารณาให้มากนี่ เป็นคำที่ลึกซึ้ง จิตเราไม่แล่นไป เพราะเรา ไม่ได้พิจารณา ให้มากหนึ่ง ๒.เราไม่เห็นผล เราไม่ซาบซึ้งในวิเวก เราไม่ยินดีในวิเวกที่เราได้แล้ว จิตเราก็ไม่แล่นไป ไม่พิจารณาให้มาก มันก็ไม่ได้ผล ได้ผลแล้ว แล้วเราไม่สำทับผล ไม่ยินดีในวิเวก จิตก็ไม่แล่นไป อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น จะต้องดูทั้งว่า เราทำได้ผลไหม ได้ผล แล้วเราไม่พิจารณา ให้มาก ไม่ปฏิบัติให้มาก พิจารณา ก็พูดไปแล้ว เมื่อกี้นี้ไม่ใช่ว่าพิจารณาซื่อๆ เซ่อๆ พิจารณาต้องเข้าใจ เหตุปัจจัย และไม่ตรวจวิเวก เราต้องตรวจผล วิเวก กายวิเวกแล้ว จิตวิเวกแล้ว อุปธิวิเวกแล้ว มันวิเวก ทั้งหมด กายวิเวกไม่ได้หมายความว่ากายอยู่นิ่งๆ นะ กายนี่มันไม่มีปฏิกิริยา ของกิเลสแล้ว มันไม่ทำ ทุจริตกรรมแล้ว มันไม่ทำอกุศลแล้ว จิตก็วิเวกแล้วจิตก็สงบ แข็งแรงแล้ว กิเลสก็ไม่เหลืออุปธิวิเวก กิเลสก็ไม่มีแล้ว สิ้นแล้ว อย่างนี้ เป็นต้น ตรวจวิเวก ๓ ได้ เราก็ดูวิเวกเรา เราก็เออ อารมณ์ของวิเวกนี่ มันอารมณ์ว่าง สบาย เบา ง่ายดี เย็น อะไรก็ว่าไป

เอาละได้เวลา เดี๋ยวเราจะต้องไปกิจอื่นต่อ นี่ว่าจะจบตี ๕ ก็เลยไป ๕-๖ นาทีแล้ว ตาม character ของโพธิรักษ์นี่ ไม่ค่อยจะแม่นเวลาจบ เวลาหยุดเท่าไหร่เลย ไปได้อีกเล็กน้อย แต่คิดว่าได้ผล สำหรับวันนี้ แล้วไปฟังเทศน์ ฟังธรรมบ้าง ก็ย้ำสิ่งที่ควรย้ำ นอกนั้นก็เล่นสิ่งที่มีอะไรเกิดขึ้น ให้ฟังบ้าง ว่ามีอะไรเป็นไป

สำหรับวันนี้ ก็พอเท่านี้



จัดทำโดย

ถอด โดย ประสิทธิ์ ฝ่ายทอง ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๗
ตรวจทาน๑ โดย เทียนฟ้า บูรพ์ภาค ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๗
พิมพ์ โดย พรรณรัตน์ สุวรรณปทุมเลิศ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๗
ตรวจทาน๒ โดย สิกขมาตุปราณี ธาตุหินฟ้า ๑๕ เมษายน ๒๕๔๗
พิมพ์ออก โดย โครงงานฯ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๗
เข้าปก โดย ท่านสมณะพรหมจริโย
เขียนปก โดย พุทธศิลป์
TCT0490.DOC