สำนึกของคุรุ และศิษย์สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต
โดยพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
ธรรมก่อนฉัน วันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๖
ณ พุทธสถาน ราชธานีอโศก

ในหลังบัตรนั้นบอกไว้มีหลักสำคัญอยู่ ๒ เรื่อง อันที่ ๑. คือวรรณะ ๙ วรรณะ ๙ เป็นเป้าประสงค์ ของเรา ที่จะให้พวกเรา ปฏิบัติตน ศึกษาแล้ว ก็จะเป็นคนที่มีคุณภาพ ๙ ประการนั้น ตั้งแต่ สุภระ สุโปสะ อัปปิจฉะ สันตุฏฐิ สัลเลขะ ธูตะ ปสาทิกะ อปจยะ ไปจนกระทั่งถึงที่สุด วิริยารัมภะ นั่นน่ะ เราก็จะต้อง ใฝ่ใจศึกษา แล้วฝึกฝนตนให้มีคุณภาพ ให้ไปถึงจุดนั้นให้ได้ อีกอันหนึ่งก็คือ สภาพผล ที่แท้จริงของจิตวิญญาณ ที่ได้ขัดเกลาแล้ว มีคุณภาพ ๓ โลก โลกที่ ๑. ก็คือโลก โลกุตรจิต จิตของเรา เมื่อขัดเกลาดี สมบูรณ์ ถึงแม้ไม่สมบูรณ์ ก็จะเริ่มเป็นโลกุตระ จิตจะเป็นโลกุตระตามลำดับ ตั้งแต่ โสดาบัน สกิทาคามี ก็เป็นโลกุตระ หรือเป็นอาริยะขึ้นตามลำดับ อนาคา อรหันต์ขึ้นไป เป็นจิต ล้างกิเลสออกแล้ว ก็แข็งแรง แข็งแรงที่จะอยู่เหนือโลก เรียกว่า โลกุตระ อยู่เหนือประเภทที่โลก หรือโลกีย์เขากระทุ้ง กระแทกอย่างไร ก็ไม่หวั่นไหว ไม่กระเพื่อม ไม่มีกิเลสเกิดอีก ไม่มีกิเลส ไม่มีรส อัสสาทะ ลดรสโลกีย์ ไม่มีสังสารวัฏ ไม่มีความหมุนวน เกิด ตายกันอีก ตายสนิทแล้ว ดับสนิทแล้ว

โลกวิทู จะมีโลกที่ ๒ โลกวิทูก็คือ จะมีปัญญารู้จักโลก รู้จักโลกีย์ เท่าทันโลกีย์ ที่เขามอมเมา ที่เขามา ยั่วยุ ที่เขามาพยายามที่จะให้เรานี่ จิตหวั่นไหว หรือจิตที่จะเอนเอียงเข้าไปมีกิเลสแบบโลกๆ อยู่อย่างเก่า นั่นน่ะเป็นจิตที่คงทนแล้วโลกวิทู รู้จักโลก แล้วก็ไม่เป็นแล้ว เป็นโลกุตรจิตนั่นเอง แต่จะรู้จักโลกว่า เขาสมมุติว่าอย่างไร แบบไหน ก็จะตามรู้เขา อาจจะรู้ไม่เท่าทันบ้าง บางอย่าง เขาก็สมมุติกันเหลือเกิน สมมุติจนเราตามไม่ทัน ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้เกิดโหยหาอาวรณ์ อาลัยอะไร ไม่รู้สึกต่ำต้อยหรือด้อยน้อยหน้าอะไร โลกวิทู รู้จักโลกแล้วก็รู้จัก สำคัญก็คือ วิธีที่จะอยู่เหนือโลก อันนั้นให้ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะสามารถสอนคน แนะนำคน ช่วยเหลือคนได้ เพราะเรารู้จัก รู้เท่าทัน ตามสมรรถนะ ตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล โลกวิทู รู้เท่าทันโลก รู้จักโลกที่กว้าง บางคนก็รู้ โลกวิทูกว้าง อย่างพระพุทธเจ้า ผู้มีโลกวิทูมากที่สุด พระอาริยะอื่นๆ ก็สามารถรู้ตามลำดับ เท่าที่ตนเองจะสั่งสมบุญบารมี พระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ ก็รู้มากหน่อย ลดลงมาก็รู้ไปตามลำดับ พระอาริยะ จนกระทั่งถึงอาริยะโสดา ก็รู้ไปตามลำดับขั้น ไม่แน่ พระอาริยะโสดาบางรูป อาจจะมี โลกวิทูมากกว่าพระอรหันต์บางรูปก็ได้ อันนี้ไม่แน่นอน เพราะว่าพระโสดาบัน บางรูปนี่ เรียนรู้โลกได้เก่ง ได้ไว แต่ละกิเลสช้า เพราะฉะนั้น บางรูปท่านละกิเลสได้ไว รู้โลก เท่าทันโลกช้า ท่านก็เลยเป็น พระอรหันต์ เสียก่อน แต่รู้จักโลกไม่ทันเขา สู้โสดาบันบางองค์ก็ไม่ได้ เป็นได้นะ

โลกานุกัมปา โลกที่ ๓ หมายความว่า เป็นผู้ที่มีจิตใจเอื้ออนุเคราะห์ เอื้ออาทร เห็นทุกข์ของโลก เห็นทุกข์ของสัตวโลก เห็นทุกข์ของมนุษยชาติ ยินดีจะช่วยเหลือ มีน้ำใจ มีความกรุณาปรานี มีความเอื้อเอ็นดูสัตวโลก พระอาริยเจ้าจริงๆ จะมีอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นคนกระด้าง ไม่ใช่เป็นคนใจดำ ใจด้าน แต่เป็นคนใจดี เป็นคนใจที่เกื้อกูล รู้จักทุกข์ของโลก มีน้ำใจ เห็นคนตกทุกข์ได้ยาก ก็มีเมตตา อยากจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ แล้วก็มีกรุณา ลงมือช่วยเขา เท่าที่จะสามารถ หรือโอกาส บางที ไม่มีโอกาส จะช่วยเขาก็ได้ บางทีคนนี้ไม่น่าช่วย เห็นเขาได้รับทุกข์อยู่ตำตา เช่นพระพุทธเจ้า ไม่ได้ช่วยเทวทัต เป็นต้น เห็นเขาทุกข์อยู่ตำตา พระเทวทัตทุกข์อยู่แท้ๆ แต่พระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้ เพราะช่วยไปก็เสียแรงเปล่า แล้วก็ทำให้เขา กิเลสแย่อีกกว่าเก่าด้วย ก็ต้องทิ้ง ต้องวาง ไม่ช่วย ก็เป็นได้ แต่จริงๆ แล้วจะมีจิต มีน้ำใจจะช่วยผู้อื่น มีโลกานุกัมปายะ หรือโลกานุกัมปา นี่เป็นโลกที่ ๓ คุณลักษณะ พวกนี้ ต้องพิสูจน์ ธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วเราจะรู้ เราจะเป็นจริงได้อย่างนั้น

ก็อ่านดู แล้วก็พยายามพากเพียรตัวเอง อยู่ในบัตรของทุกคน อยู่ในหลังบัตร มีอย่างนั้น แล้วเรา ก็พากเพียร ปฏิบัติ ประพฤติให้มันได้ พิสูจน์ความจริงอย่างนั้น นี่เป็นนักศึกษาของสัมมาสิกขาลัย จะมีทั้งความรู้โลกๆ สามารถสร้างสรร กอปรก่ออะไร ที่จะเป็นเครื่องกินเครื่องอยู่ เครื่องอาศัย สิ่งที่จะใช้รักษาร่างกาย อาศัยทางร่างกาย ทางจิตใจก็จะต้อง ได้รับการศึกษา ฝึกฝนเจริญขึ้น ดังที่กล่าวแล้ว จนกระทั่งเป็นประโยชน์ต่อโลก เป็นคนที่มีคุณค่าต่อโลกอย่างแท้จริง มีความรู้ ความสามารถที่จะช่วยเหลือมนุษย์ ไม่ใช่ศึกษามาแล้ว ก็ไปทำร้าย ทำลาย หรือไปข่ม เบียดเบียน ไปข่มขี่ เอาเปรียบเอารัด ที่สุดไปทำร้ายคนอื่นเขา การศึกษาแบบนี้ใช้ไม่ได้

แต่การศึกษาเรานี่ จะต้องเป็นดังที่กล่าวนี้ นี่เป็นอุดมการณ์ เป็นเจตนารมณ์ที่แท้ ซึ่งอาตมาได้เคย อธิบายให้ฟังแล้วว่า การศึกษาทางโลกีย์นั้น เขาไม่เข้าใจ เขาให้การศึกษากันไปแล้ว เขาไม่ได้สอน ทางศีลธรรม ทางจิตวิญญาณ หรือคุณธรรม ของมนุษยชาติ แล้วให้ฝึกฝนมา ก็ไม่ เขาสอนแต่ ความรู้กับความสามารถ เสร็จแล้วให้ความรู้ความสามารถ ที่นักศึกษาได้นั้น ไปเอาเปรียบเอารัด เอาไปแย่งชิง เอาไปทำร้ายมนุษยชาติ การศึกษาอย่างนี้ จึงเป็นการศึกษาที่ล้มเหลว อย่างแท้จริง อาตมาไม่ได้ใส่ความ ไม่ได้ไปลงโทษเขา แต่มันเป็นความจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การศึกษา ข้างนอกนั้น โดยไม่ได้มีการศึกษาทางคุณธรรมเลย จึงไม่มีหลักประกันอะไรเลย ล้มเหลว ด้วยประการฉะนี้

เราจึงต้องสร้างอุดรศึกษา หรือว่าอุดมศึกษาให้มีคุณภาพ ที่จะทำให้คน มีประโยชน์ต่อโลก ต่อสังคม จริงๆ ชั้นประถม ชั้นมัธยมก็ตาม เราก็ศึกษามาในแนวนี้ทั้งนั้น เพื่อที่จะให้คน เป็นคนที่ มีประโยชน์ ต่อสังคม พึ่งตนเอง เป็นคนที่ไม่มีหนี้ ไม่มีบาป เป็นคนที่มีบุญ มีคุณค่าประโยชน์ต่อโลก โดยสัจจะ ไม่ใช่มาหลอกกันว่ามีประโยชน์ อย่างทุกวันนี้ ผู้บริหารประเทศ ผู้ที่ขึ้นไปเป็นนักธุรกิจ ยิ่งใหญ่ เขาดูด เขาเอาเปรียบเอารัด อย่างลัทธิทุนนิยมนี่ เขาข่มขี่ เป็นหนี้ ไม่ได้ปรานี จริงเลย ไม่ได้ปรานีคน ดูท่าทีว่า มีกรรมกิริยาเหมือนมีปรานีช่วยเหลือเฟือฟายบ้าง แต่เปล่า สรุปแล้วเป็นการดูด เป็นปลิงของสังคม เป็นนักดูดชั้นหนึ่ง ดูดอยู่ในโลกทั้งสิ้น ซึ่งเขาไม่รู้ เขาไม่เข้าใจความจริงอันนี้ เขาไม่ได้ศึกษากัน ก็น่าสงสาร แต่ไม่รู้จะทำยังไง เราก็จะต้องพิสูจน์

อาตมาพูดไปนี่ เขาไม่ค่อยเชื่อกันหรอก ถ้าอาตมาไปพูดอย่างนี้ที่สนามหลวง ประกาศให้แข็งๆ หน่อยนะ บอกว่า นี่พวกนี้ พวกนักศึกษา หรือว่านิสิต พวกที่จบมาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ข้างนอก อาจจะตามมาเหยียบอาตมาตายก็ได้ หาว่าไปลบหลู่เขา ไปดูถูกเขาก็เป็นได้ พวกเขาไม่เข้าใจ เขาพาซื่อ เขาเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ แต่คนมีปัญญา ปฏิภาณ อาจจะฟังออก อาจจะเข้าใจบ้างก็ได้ สำหรับพวกเรา อาตมามั่นใจว่า เราเข้าใจ แล้วเราก็จะดำเนินไปอย่างนี้

ทีนี้ก็เรื่องของการศึกษานี่ อาตมาก็อยากขอกำชับกำชา เท่าที่เวลาพอจะมีในช่วงนี้ ให้พวกเรารู้ ทั้งคุรุ ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เป็นคุรุก็ตาม ไม่ได้เป็นนิสิตก็ตาม ก็ร่วมรับรู้ไป ไม่เสียหลายหรอก ถ้าจะกระทำได้ ปฏิบัติตาม ไปสู่ทิศทางที่เรียกว่า เจริญ ก็ทำเอา

สำหรับคุรุนั้น เราก็ได้กำชับกำชากัน ได้ประชุมคุรุแล้ว ก็บอกให้ทราบทั้งตัวคุรุ ผู้ที่ยังไม่ได้มาฟัง เป็นคุรุเก่า หรือฟังแล้ว ก็ฟังซ้ำ แม้แต่นิสิตก็ร่วมฟัง รับรู้ไปด้วย คุณสมบัติของคุรุ ของสัมมาสิกขาลัย วังชีวิต หรือ คุรุของสัมมาสิกขา ก็มีคุณสมบัติคล้ายๆ กันแหละ

๑. จะต้องเป็นผู้เอาภาระ คำว่าเป็นผู้เอาภาระนี่ ก็ต้องรู้หน้าที่ เราได้รับมอบหมาย แล้วเราก็สมัคร มาเป็นคุรุแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ให้ตรง ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ เอาภาระ จะมีภาระอะไรบ้างก็ต้องศึกษา นอกจากภาระนั้น เป็นรูปแบบ เป็นรูปธรรม เป็นรูปธรรมข้างนอก เอาภาระต้องขวนขวายช่วย กรรมกิริยาทางกาย ทางวาจา เป็นภาระที่รู้ที่เห็นกัน เป็นกรรม การงานข้างนอก

๒. ต้องมีวิญญาณของความเป็นคุรุ คุรุคือผู้ต้องมีงานหนัก แล้ววิญญาณความเป็นคุรุก็คือ ความเป็น คุรุนั้น ไม่ใช่ผู้เป็น คลังสมบัติ ถ้าผู้ใดยึดมั่นถือมั่นว่า กูเป็นเจ้าคลัง เป็นคลังวิชาการ เป็นคลังความรู้ ผู้นั้นจะผยอง เอ็งอยากได้ เอ็งมากราบ มาขอ มาซูฮก ข้าจะให้ นี่พูดให้หยาบๆ พูดให้ชัดๆ ถ้าใครมี ความรู้สึกอย่างนี้ คุรุมีความรู้สึกอย่างนี้ เป็นคนผยอง ความเป็นคุรุนั้น คุณสมบัติของคุรุ เป็นคนมี จิตวิญญาณที่เป็นคุรุ ก็คือ ต้องไม่สำคัญตนว่า ข้าเป็นคลังความรู้ ข้าเป็นคลังสมบัติ ที่เอ็งจะต้อง มาขอ มาง้อเอา หรือมาซื้อ มาแลก มาเปลี่ยน ยิ่งทุกวันนี้ ต้องจ่ายสตางค์ ไม่ใช่ วิญญาณครู หรือ ความเป็นครู เป็นคุรุนั้นคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติที่มีความรู้ความสามารถจริง มีจริง จะว่ามีคลังสมบัติ ก็มีจริง แต่อย่าสำคัญตนว่า ตนเองเป็นคลังสมบัติ เป็นคลังความรู้

คุณสมบัติที่จะต้องสำนึกเสมอก็คือ เราเป็นผู้ช่วย ช่วยลูกศิษย์ ช่วยนิสิต ช่วยนักเรียน ช่วยลูกเต้า เหล่าหลาน ช่วยผู้ด้อยกว่าเรา เราจะเป็นผู้ช่วย เป็นผู้ให้ เป็นผู้ถ่ายทอด แม้จะต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ไปถ่ายทอด แต่ก็ต้องมีท่าทีที่ดีๆ เพราะท่าทีของคุรุ ไม่ใช่ว่าอ่อนน้อมถ่อมตน ก็เลยกลายเป็น ทำให้ตัวเองต่ำ มันผิดธรรมะ มันเสียธรรม อันนี้เป็นความซับซ้อน ที่ศึกษาดีๆ ก็จะต้องมีกิริยา หรือว่ามีรูปแบบ มีรูปธรรม มีพฤติกรรมอะไรที่ให้ได้สัดส่วน ให้ได้ความพอเหมาะ ให้มีความสมบูรณ์ ในท่าทีลีลา อย่างพอเหมาะ สรุปแล้ว คุรุ จะเป็นคนมีคลังความรู้ หรือคลังสมบัติจริง แต่ไม่สำคัญตน เป็นผู้มีสำนึกว่า เราจะเป็นผู้ให้ เป็นผู้ช่วย ขวนขวายช่วยเขา เอาใจใส่ เอาใจใส่ตามหน้าที่ เพราะฉะนั้น จะคอยให้ โดยการสอนโดยตรง โดยการช่วยแนะนำ ช่วยหาตำรับตำรา หาข้อมูล หาอะไร ส่วนที่ควรจะให้ได้ มาให้แก่ลูกศิษย์ลูกหา ดูแลให้เขาเจริญให้ได้ นั่นเป็นคนที่มีวิญญาณคุรุ

๓. มีบุคลิกที่เป็นมนุษยสัมพันธ์ ที่มีมนุษยสัมพันธ์ มีบุคลิกที่ดี อันนี้ก็กว้าง คำว่าบุคลิกที่ดีนี่ จะเหมาะสมอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้เหมือนกัน คุรุจะต้องมีคุณสมบัติ อาตมาจำ ไม่แม่นนักว่ามี ๖ ประการ หรือ ๗ ประการ มีบุคลิกดีๆ สรุปแล้ว มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น นี่เป็น คุณสมบัติ ข้อที่ ๓

๔. อันนี้เป็นของพวกเราชาวอโศกเลย จริงๆ ข้อที่ ๔ จะต้องอยู่ประจำแหล่งวิชชาเขตของตน หรือชุมชนนั้นๆ คุรุจะเป็นผู้อยู่ประจำ วิชชาเขตของตน ที่ตนเป็น ชื่อว่าเป็นคุรุประจำวิชชาเขตนั้นๆ

๕.รู้จักการปฏิบัติวิทยา เป็นคุรุแล้วไม่มีความรู้ในการที่จะทำปฏิบัติวิทยา และทำการวิจัย ถ้าไม่มี ความรู้อันนี้ ก็สอนแนะนำไม่ได้ อันนี้เราจะเร่งรัดพัฒนา เรื่องปฏิบัติวิทยา กับรู้จักการวิจัย เราจะ แนะนำกัน ให้ความรู้แก่กันและกัน เร่งรัดพัฒนาจุดนี้ขึ้น เพราะว่าเราด้อย นอกจากด้อยแล้วขี้เกียจ ไม่นำพา ไม่อยากทำ โดยเฉพาะ ยิ่งคนเขียนหนังสือ ไม่ค่อยเก่ง แล้วไม่อยากทำเลย อายอย่างโน้น อย่างนี้ อย่าอาย เขียนออกมาได้ให้เขียน พยายามเถอะ ทำออกมา คนไม่รู้ มันต้องผิดก่อน ผิดก็ให้เขาทัก ให้เขาติ ให้เขาว่า ให้เขาท้วง แล้วเราก็จะได้แก้ไข ก็ขอความรู้จากผู้เขาติ เขาท้วงไป คนติท้วงเฉยๆ ก็ช่างเขา คนติท้วงโดยเขาบอกให้ว่า เออ อย่างนี้ผิด แล้วก็อย่างนี้ถึงจะถูก ก็ดี ขอบคุณกันไป ก็แก้ไขปรับปรุงกันไป

สรุปแล้วก็คือ จะต้องมีความรู้ จะต้องรู้หน้าที่ที่จะกระทำ คุรุมี คุรุอยู่ จริงๆ แล้ว เราแบ่งมี ๔ คุรุ

คุรุ ๑. เรียกว่า คุรุวิชญ์ วิ-ช-ญ์ คุรุวิชญ์ คุรุวิชญ์ คือ คุรุ หรือครูผู้มีความรู้ เป็นครูทางทฤษฏี ทางภาควิชาการ

๒. คุรุชาญ ช-า-ญ คือ คุรุ อาจไม่มีความรู้วิชาการ ไม่มีปริญญา ไม่มีใบรับรอง แต่เป็นผู้ชำนาญการ เป็นผู้เชี่ยวชาญ ในแต่ละวิชา แต่ละความรู้ แต่ละสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง เป็นครูผู้มีความชำนาญ เรียกว่า คุรุชาญ

๓. คุรุชานบดี คือ ครูใหญ่ หรือ คณบดี แต่เราไม่เรียกคณบดี เราเรียก ชานบดี ช. ช้าง สระ อา น. หนู ชานะ แปลว่า ความรู้ ความรู้ ชานะนี่ ช. ช้าง สระอา น. หนู ชานบดี บดี ก็คือผู้ใหญ่นั่นแหละ นี่ที่ ๓

๔. วิชชาธิบดี แน่ะ เบ้อเร่อเท่อ วิชชาธิบดีนี่ อาตมาว่าการอยู่ ตอนนี้ อาตมาว่าการวิชชาธิบดี เป็นผู้อำนวยการใหญ่แหละ เป็นอธิการบดี อะไรอย่างนั้นละนะ ให้สัมมาสิกขาลัยนี้ นี่คือคุรุ แล้วก็มีหน้าที่ตามที่กล่าวนั้น

๕. คุรุจะต้องมีนิสัยเป็นนักบริหาร แต่เป็นนักบริหารที่มีคุณธรรม นักบริหารที่ไม่มีคุณธรรม ก็คือ นักบริหาร ในฐานะที่เขาให้ตำแหน่ง หน้าที่ควบคุม ดูแล จัดการปกครอง สั่งการ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่มีคุณธรรม ก็จะใช้อำนาจ ที่ตัวเองได้ ที่เขาอนุญาตให้ เขาสมมุติให้ บอกมีอำนาจสั่งการ มีอำนาจถึงขั้นบังคับก็ยังได้ ในบางกรณี ถ้ากรณีนั้น ตรงตามหลักการ เป็นต้น เพราะฉะนั้น คุรุมีคุณลักษณะบริหาร แต่ถ้าไม่มีคุณธรรม ไม่ได้เป็นนักบวช หรือไม่มีคุณธรรม ก็จะเป็นคุรุ ที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ เป็นคุรุที่เลวร้าย ไม่ดี เพราะฉะนั้น เป็นนักบริหาร ต้องมีคุณธรรม และเป็น นักผลิตด้วย จะต้องมีความรู้ทางผลิต แล้วมีความรู้ทางบริการ ช่วยเหลือ จะพูดถึงขั้นรับใช้ก็ยังได้ ผู้นำคือผู้รับใช้ อะไรอย่างนี้ จะมีคุณลักษณะสมบูรณ์แบบ นี่ข้อ ๕. จะมีคุณลักษณะเป็นนักบริหาร

๖. อันนี้ก็ขึ้นมาคราวนี้ ย้ำ เป็นผู้ใฝ่พรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น คุรุทุกคนจะต้องพยายามรักษาพรหมจรรย์ ปฏิบัติธรรมะ พรหมจรรย์ ก็คงเข้าใจนะ รักษาธรรมะพรหมจรรย์ มีศีล ๘ โดยเฉพาะศีลข้อ ๓ จะต้อง ไม่มีคู่ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ส่วนคุรุบางคน จะยังมีคู่ โดยเฉพาะคุรุที่เราเชิญ ได้รับการเชิญ เป็นผู้ที่ ได้เชิญมาสอนในบางวิชา เขาก็มีคู่ เขาไม่ได้ประพฤติ พรหมจรรย์ ก็ละเว้นไว้ ยกเว้น ถ้าเป็นคุรุ ที่อยู่ ในสายตรง ฝ่ายในแล้ว ก็จะเป็นคนที่มีพรหมจรรย์ แม้บางคน จะมีคู่อยู่ มีคู่แต่งงาน ก็จะพยายาม ประพฤติพรหมจรรย์ หรือถึงขั้นประพฤติพรหมจรรย์ ที่จริง จริงๆ แล้ว ก็จะต้องพยายาม ประพฤติ พรหมจรรย์ เพราะนิสิตนี้ ประพฤติพรหมจรรย์ ศีล ๘ กันทุกคน เพราะฉะนั้น ใครไม่ประพฤติศีล ๘ ไม่ให้เป็นนิสิต ต้องลาออก ก็มีมาแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังมีคู่อยู่ ก็ต้องประพฤติพรหมจรรย์ โดยเฉพาะ เป็นคุรุแล้ว ก็จะต้องเป็นตัวอย่าง แล้วประพฤติพรหมจรรย์ นี่เป็นข้อ ๗. นี่เป็นเรื่องของ สิ่งที่จะบอก กล่าวกันให้รู้ ให้ฟังคร่าวๆ แล้วเราก็จะค่อยๆ พัฒนา บูรณาการการศึกษา หรือว่าระบบระเบียบ พวกนี้ไป ของเราให้เจริญงอกงามขึ้นไปเรื่อยๆ

ทีนี้พูดถึงความเป็นจริง ของความเป็นอยู่ ดำเนินอยู่ทุกวันนี้ ของพวกเรา พวกเรามีการศึกษา สัมมาสิกขาลัย กันมาหลายปีแล้ว จนถึงปีนี้ เราก็ดูแล ตรวจสอบ พยายามหยิบข้อบกพร่องมาดูเสมอ ส่วนข้อดีนั้น มีเวลาก็พูดบ้าง เพื่อให้รู้ว่าดี แล้วก็ย้ำยืนยันกันไว้ แต่ถึงไม่ย้ำ ไม่พูด ถ้าเรายังดีอยู่ มันไม่ได้เกิดความเสียหายอะไร ส่วนความไม่ดี ความบกพร่องนี่สิ เราต้องรีบรู้ รีบพยายามรู้ และ บอกกล่าวกัน แล้วเอามาแก้ไข ต้องรีบแก้ไข เพราะความบกพร่อง ความไม่ดีนั้น มันอยู่กับเรา อยู่กับหมู่กลุ่ม ๑ นาที มันก็เสื่อม ๑ นาที อยู่นานไปเป็นชั่วโมง มันก็เสื่อมเป็นชั่วโมง อยู่เป็นวัน ก็เสื่อมเป็นวัน ยิ่งอยู่ไปนานเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเสื่อมมากเท่านั้น มันจึงเป็นความรีบร้อน หรือรีบด่วน ที่เราจะต้อง รีบพยายามรู้จัก และบอกกล่าวกัน แก้ไขกัน เพราะฉะนั้น แนวการศึกษาของพวกเรา ก็แนวเดียวกันกับพระพุทธเจ้า คือ ท่านจะสอนเรื่อง เหตุแห่งทุกข์ หรือ เหตุแห่งความวุ่นวาย เสียหาย ต้องเรียนรู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่ต้องไปเรียนรู้เหตุแห่งสุข หรือเหตุแห่งความดี ท่านให้เรียนรู้ เหตุแห่งความร้าย แล้วรีบจัดการแก้ไข ปรับปรุง เหตุแห่งความร้ายนั้นๆ นี่เป็นปรัชญา สำคัญของพุทธ เพราะฉะนั้น พวกเรานี่ก็จะพูดถึงความร้าย หรือความเลว หรือความไม่ดีกันมาก

ในวงการของศาสนาพุทธ จะไม่เหมือน วงการศาสนาอื่น เพราะฉะนั้น วงการศาสนาพุทธ เมื่อพูดถึง ความไม่ดี มันก็กระทบกระเทือน คนที่มีกิเลสอยู่ ก็ไม่ชอบ ฉันมี มาพูดอย่างนี้นี่ มันว่าฉันนี่หว่า ถือตัวถือดี อะไรต่างๆ นานา มันจะมีขึ้นมาก เพราะฉะนั้น สังคมของผู้ที่กล่าวถึง เรื่องไม่ดีกันขึ้น ออกมามากๆ นี่ จึงสงบไม่ง่าย

อาตมาพยายามใช้คำที่ให้มันเบาละนะ มันจะสงบไม่ง่าย แต่ทำให้มันสงบได้นี่ เป็นความสามารถ ติติงกัน ขัดเกลากัน มีสัลเลขะ มีการขัดเกลา มีการบอกจุดบกพร่อง จุดที่ไม่ดีไม่งาม แก่กันและกัน ศึกษาวิธีบอก มีศิลปวิทยา มีความรู้ในโอกาส ต่อหน้าองค์ประชุม ต่อหน้าธารกำนัล อะไรก็ตามใจ เราจะต้องรู้จักโอกาส ที่ใช้ได้ประโยชน์ มีสัปปุริสธรรม เพราะฉะนั้น อันนี้จะต้องรู้ เป็นจุดสำคัญเลยว่า ศาสนาพุทธนั้น เป็นศาสนาที่ยอดเยี่ยม จริงๆ อาตมายิ่งเห็นว่า ยอดเยี่ยม

ศาสนาอื่นเขาก็เป็นศาสนาที่เอาใจกัน พูดแต่เรื่องดี เรื่องดี คนนั้นดี ก็ชมเชย ยกย่องให้เหรียญ ความไม่ดี อย่าเอามาพูด กลบ ทิ้ง ลืม ของใครของมัน ไปจัดการ ของใครของมัน ไม่ชี้ ไม่บอก มันก็เลยเผิน มันก็เลยเผลอ มันก็เลยไม่รู้ตัว แล้วก็ไม่รู้จัก เพราะไม่พูดไม่บอกกัน ขนาดพูดๆ บอกๆ ย้ำๆ มันยังไม่ค่อยจะเอาถ่านเลย มันยังปล่อยให้ร่วงให้หลุด มันยังปล่อย ให้มันมาอาละวาดได้ ยิ่งปล่อยปละละเลยนี่ มันยิ่งไม่มีทางที่จะได้พัฒนา และไม่จัดการมันอย่างถูกตัว ถูกหัวใจ ล้างหัวใจมันให้ตายไม่ฟื้น เพราะฉะนั้น อาตมาถึงเห็นว่า ปรัชญา หรือ วิธีการของศาสนาพุทธนี่ จึงเยี่ยมยอด ที่สุดเลย วิธีการที่เรียนรู้ และพัฒนาตนเองนี่วิเศษ


....ได้ตัดข้อความบางส่วนออกไป...สำหรับนิสิตสัมมาสิกขาลัย หาอ่านได้จากหนังสือ ...


 

ทีนี้มีปัญหาอื่นๆ ที่จะแถมไปก็คือ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่เรามีภาระ งานเต็มมือ นี่ถามมาว่า ควรจะมีหลักการอย่างไร การจัดการการบริหารเราก็สอนกัน แนะนำกัน นำพาทำกัน ฝึกฝนกันอยู่น่ะ การบริหารจัดการ ที่มีประสิทธิภาพ เราก็ฝึกฝนอยู่โดยการนำพา อาตมา ตั้งแต่ หัวต้นเลย ก็คืออาตมานำพาอยู่ การบริหารพาจัดการ ให้เกิดประสิทธิภาพ ทีนี้ถามว่า ตอนนี้ มีประเด็นงานเข้ามาล้นมือ งานเข้ามามาก มาเต็มมือ จะทำอย่างไร

คำว่าบริหาร หรือคำว่าจัดการนี่ บริหารเวลา บริหารงาน บริหารบุคคล เราจะต้องบริหารจริงๆ หรือจัดการจริงๆ จัดการปรับยังไง เวลาของเรานี่ ให้ได้มาก เวลามันมีเท่านี้ ๒๔ ชั่วโมงต่อหนึ่งวัน เราจะแบ่งอย่างไร เราจะไปรั่วซึมตรงไหน เราจะเลิกอะไร เราจะกระชับอันนี้ อันนี้ต้องใช้เวลาไป ตั้งแต่เท่านั้นชั่วโมง เอามาเท่านี้ชั่วโมงได้ไหม อันนี้ใช้ไปเท่านั้นนาที เหลือเท่านี้นาทีได้ไหม จะได้เอา ที่เหลือนี่มาใส่อันโน้นอันนี้ นี่ก็อธิบายนิดหน่อย แต่คิดว่าคงจะพอเข้าใจอยู่ บริหารเวลา บริหารงาน งานอะไรที่เราควรเอาใจใส่ เท่าไร ๆ ๆ งานอะไรอย่าเพิ่งเลยอันนี้ หรือมีอันนี้ งานอันนี้ มันไม่มี ประโยชน์แล้ว หรือไม่เหมาะสม ก็พักไว้ เลิกก่อน อะไรพวกนี้เป็นต้น บริหารคน จะจัดคน ให้เหมาะสม อย่างไร อะไรต่ออะไรต่างๆ นานา บริหารเวลา บริหารงาน บริหารคน เอาไปพยายาม พัฒนาดู

๒. การรับงานภายนอกมาก ทำให้เกิดกลุ่มหรือองค์กรภายในอ่อนแอลง อันนี้ก็ต้องพยายาม มาช่วยกัน ประมาณ ช่วยกัน ทุกวันนี้งานล้นมือจริงๆ งานเข้ามาทับถมจริงๆ พวกเรามาทำงาน ไม่มีรายได้ ไม่ได้เอาเงินเอาทอง โอ้โห งานยิ่งเยอะ งานยิ่งหนัก โอ้โห อะไรจะทวนกระแสกัน อย่างขนาดนั้น ข้างนอกเขา โอ้โห งานของเขานี่นะ หาไม่ค่อยได้ อยากจะทำ ของเรานี่ โอ้โห มันล้นมือ เยอะแยะ ทำไม่ไหว ทำไม่ทัน อันนี้แหละเป็นการพิสูจน์ความเจริญ นี่คือความเจริญแท้ๆ ของมนุษยชาติ งานล้นมือ เลือกทำอย่างเหมาะสม และยิ่งบุญนิยมนี่ อันนี้ฉันไม่ทำ อันนี้ฉันทำ มีสิทธิ์ ถ้างาน ทุนนิยมนี่ นายทุนนี่ งานนี้ไม่เข้าท่าเลย งานเลวๆ ด้วยซ้ำไป จ้างเอ็งแล้ว เอ็งต้องทำ ของเรานี่ โอ้โห อิสรเสรี เลือกได้ จะเห็นได้ว่า ลักษณะของบุญนิยมนี่ ประเสริฐกว่าทุนนิยมไม่รู้กี่แนว นี่อาตมา พยายามยกตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่จริงมันมีมาก ถ้าจะข่มกันด้วยว่า บุญนิยมมันมีลักษณะดีอย่างไร ทุนนิยมมันไม่ดีอย่างไร โอ๊ยยังมีอีกเยอะ ขนาดนี้ก็เขาจะเหยียบตายแล้ว อย่าเพิ่งเลย ฟังไปเถอะ ทีละนิด ทีละหน่อย แถมๆ ไป ก็พยายามจัดสรร พยายามแบ่ง พยายามรับ พยายามลด พยายามเพิ่ม อะไร อย่าไปเพิ่ม งานมันจะมามาก

๓. การใช้หลักการบริหาร แบบบูรณาการ หรือ แบบ C E O (chief executive officer) ทันสมัยเจี๊ยบนะ พวกเรานี่ การบริหารแบบ C E O (chief executive officer) ขององค์กรชาวอโศกนี่ ควรทำอย่างไร นั่นแหละ ลักษณะบุญนิยมนี่ละ อาตมาก็ตีขลุม ขอพูดรวมๆ เลย เป็นผู้ที่จะต้องรู้กว้าง แล้วก็เป็น ผู้อ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นผู้ที่จะมีวิสัยทัศน์ อะไรก็แล้วแต่ วิสัยทัศน์กับอนาคตังสญาณนี่ ต่างกัน มีส่วนคล้ายกัน อนาคตังสญาณ ก็คือ เป็นญาณที่รู้กว้าง คือมีวิสัยทัศน์กว้างนี่แหละ กว้างไกล มองอะไรได้ครบ ได้กว้าง ได้ไกล เรียกว่าวิสัยทัศน์ อนาคตังสญาณ นั้น หมายความว่า รู้กว้าง รู้ไกล รู้สิ่งที่ยังมาไม่ถึง แล้วจัดสรรได้ดี วิสัยทัศน์นี่ บางคนอาจจะมีวิสัยทัศน์ กว้าง แต่ เฟ้อๆ ไม่รู้เรื่อง เอามาคุยโม้ได้เก่งเลย วิสัยทัศน์ โอ๊ย แต่ทำไม่ค่อยได้ แล้วไม่รู้ขนาด ไม่รู้จักอะไรก่อน อะไรหลัง อะไรควร อย่าพึ่ง แม้รู้หน้า

อาตมาเคยพูดว่า อาตมาเป็นคนที่ no planning no project นะ เป็นคนไม่วางแผนข้างหน้าเลย แต่ไม่ใช่ว่า อาตมาไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้จักข้างหน้า ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่ใช่ อาตมามี วิสัยทัศน์ของอาตมา มีไปไกลถึง ๕๐๐ ปี นี่ อาตมาพูดมาแล้วด้วย แล้วอาตมาก็รู้ แล้วอาตมาก็ไม่ได้พูดเล่น ประเมินผล อยู่ว่า มันจะก้าวหน้าไป อัตราการก้าวหน้านี้ จะทำให้การขยายผลไปขนาดนี้ๆ ๕๐๐ ปี จะสมบูรณ์ คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ตามใจ ใครต่อถึง ๕๐๐ ปี เกิน ๕๐๐ ปี มันจะเจริญต่อ จาก ๕๐๐ ปี ไปอีก แต่เข้มข้น ทุกอย่างจะมีบทบาท มีองค์ประกอบ มีหลักการ มีอะไร จะเจริญ สุดยอด ๕๐๐ ปี จากนั้น ก็จะเจริญต่อไปอีก ชะลอไปเรื่อยๆ ๆ ๆ พอสมควร เสร็จแล้ว ถึงจะทรุดเสื่อม อีก ๒,๐๐๐ปี ก็หมด ความเจริญอันนี้ จะหมดเกลี้ยง อีก ๒,๐๐๐ กว่าปี นี่ไม่ใช่อาตมาพยากรณ์เอง คนอื่นเขาพยากรณ์ มาแล้ว คนอื่นประเมินมาแล้ว อาตมาเห็นตาม เข้าใจ แล้วเนื้อหาที่มีนี่ อาตมาก็พูดไป คนอื่นเขา ไม่ได้มาพูด อย่างอาตมาพูดหรอกว่า ประเมิน ๕๐๐ ปีนี่จะเจริญ จากโน่น นี่ เขาไม่ได้มาพูด รายละเอียด ขนาดอาตมา เพราะฉะนั้น จะดำเนินการบริหารอย่างไร บริหารอย่างที่นำพา อาตมาพูด รายละเอียดไม่ได้ แล้วพูดหัวข้อไม่เป็น พูดรวมๆ กันอย่างนี้ ว่า เราจะบริหาร อย่างบุญนิยมนี่แหละ จะพาทำ

ซึ่งทางโลกเขาก็คิดเหมือนกัน ว่าจะต้องมีอย่างนี้แหละ ใช้อย่างนี้ ลักษณะให้มีอำนาจแก่ผู้บริหาร พอสมควร C E O (chief executive officer) นี่ มีอำนาจเด็ดขาด ในอันโน้น อันนี้ แต่คนมีอำนาจ นี่นะ จะไม่ใช้อำนาจ จะทำท่าทีเหมือนจะใช้อำนาจ แต่จะไม่ใช้อำนาจ พยายามให้ทุกๆ คนนี่ มีสิทธิ ออกเสียง มีสิทธิร่วมคิดร่วมทำ เป็นขบวนการกลุ่มที่แข็งแรง นี่คือ ผู้บริหารชั้นยอด ผู้บริหาร C E O (chief executive officer) ที่แท้ มีการพัฒนาไปตามลำดับ บูรณาการได้อย่างดี ทุกอย่าง มันถูก ขั้นตอน ทุกอย่างมันถูกสภาวะ ก็เจริญไปตามลำดับ บูรณาการ

ข้อต่อมา อันนี้ก็เป็นตัวบอกพวกเราว่า การศึกษานี้ เป็นการศึกษาที่จะศึกษา เพื่อมารับใช้ชุมชน หรือมาแก้ปัญหาชุมชน การศึกษานี่ จะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องแก้ปัญหาตัวเองได้ก่อน จะรับใช้ ก็ต้องรับใช้ ตนเองก่อน รับใช้ตนเอง ถ้าตนเอง เป็นคนมักมาก คุณก็รับใช้ตัวเองหนัก ถ้าตัวเองเป็นคนมักน้อย เป็นคนสันโดด คุณก็รับใช้ตัวเองน้อย ไม่เปลือง ไม่ผลาญ ไม่เสียเวลา คุณก็ไปรับใช้คนอื่นได้มาก จะแก้ปัญหาชุมชนได้ ก็แก้ปัญหาตนเองได้ก่อนเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะมีโลกวิทู แล้วก็แก้ปัญหา คนอื่นได้ไปตามลำดับความสามารถ โลกวิทู นี่เป็นอีกข้อหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ควรจะฟัง

ข้อสุดท้าย ปัญหาขบวนการ กลุ้ม มีศัพท์ใหม่ขึ้นมาในพวกเรา ขบวนการกลุ้ม เราเน้นขบวนการกลุ่ม ส่งเสริมขบวนการกลุ่ม เพราะฉะนั้น ต้องเรียนรู้ว่า ขบวนการกลุ่มคืออะไร อาตมาก็คงจะเอาไว้สำหรับ อธิบายขยายความ ซึ่งได้พูด ได้อธิบายกันไปพอสมควรแล้ว ทำยังไงจะเป็นเอกภาพ ทำยังไงจะเป็น เอกีภาวะ คือขบวนการกลุ่ม สามัคคียะ เอกีภาวะ คือขบวนการกลุ่ม ก็คงฟังไม่สงสัยละนะ สามัคคียะ ความพร้อมเพรียงของความเป็นหมู่ เอกีภาวะ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นี่คือ ขบวนการกลุ่ม เพราะฉะนั้น ขบวนการกลุ่ม ขอพูดนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

บอกให้รู้ว่า ถ้าใครจะพยายามทำตนเอง กระเด็น กระเซ็นออกจากหมู่ แม้แต่ความเห็น ที่พูดนี้ ไม่ได้หมายความว่า ไปบังคับไม่ให้มีความเห็นต่าง ไม่ใช่ มีความเห็นต่างได้ แต่อย่ายึดความเห็นของกู อย่าเอาตามใจกู มีสิทธิ์ออกความเห็น มีสิทธิ์วิจัย วิจารณ์ เสนอความเห็นของตัวเองในหมู่ กลุ่ม ในที่ประชุมหมู่ ขบวนกลุ่ม เสร็จแล้ว วิจัย วิจารณ์กัน อภิปรายกัน เลือกเฟ้นจนเป็นมติ เมื่อเป็นมติแล้ว หมดหน้าที่ เราเสนอความคิดของเราไป จะแพ้หรือชนะ เราก็หมดหน้าที่ ยิ่งแพ้แล้ว ไม่ต้องฮึด แหม ความเห็นของกู เขาไม่เอา กูจะต้องดันวะ กูจะต้องหาทางเลื่อยขา กูจะต้องพยายามแทรก ยัดไส้อะไร ก็แล้วแต่ พวกนี้ ขบวนการกลุ้ม

หรือตนเอง หางานออกไปข้างนอก อย่างที่มีข้อบกพร่อง ที่พูดกันในแต่ละพุทธสถาน ชอบไปหางานอื่น ชอบจะต้องไปทำอะไรต่ออะไรออกมามาก รู้ฐานะตัวเองว่า ขณะนี้เราพอจะมีคนมา มาเอาจากเรา เราไม่จำเป็น จะต้องไปเร่หา ต้องส่ง saleman ออกไปหาลูกค้า ลูกค้าจะมาหาเรามากแล้ว มีฐานะ อย่างนี้ อาตมาก็คิดว่าควรรู้ตัว แล้วก็อย่าไปกระเส็นกระสาย ทำอะไรที่มันกระเส็นกระสาย กระจายกัน ออกไป โดยไม่ได้อยู่ในฐานะอันสมควร ตอนนี้ฐานะของเรานี่ อยู่ในลักษณะนี้แล้ว เราก็ไม่ควรจะต้อง ไปเพิ่มอันโน้น อยู่ในฐานะขณะนี้ก็พอใช้ สร้างให้ดี เน้นคุณภาพ เน้นความแน่น ของดีเราก็เน้น นั่นแน่นอนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีของดีจริง เน้นคุณภาพ เน้นความแน่นของมันเรื่อยๆ ให้มันคงทน คุณภาพดี แล้วดีขึ้นกว่าเก่าด้วย ก็ยิ่งดี นอกนั้นก็มีลักษณะการตลาด แบบบุญนิยม ขายราคาถูก มีน้ำใจ ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ และอาตมาพยายามที่จะทำให้ขายสด งดเชื่อ ในระบบเชื่อ ถ้าเลิกล้มไปจากสังคมได้ยิ่งดี มีแต่ความเชื่อถือกัน เรียกว่าเครดิตเหนือเครดิต ไม่ต้องมีการมาทำเชื่อ สินเชื่อ เงินเชื่อ เชื่อกันแล้วก็ทวงกันคืนอย่างนี้ จะเกื้อกูลกัน จะให้กัน มันมาก มันมาย ไม่ต้องตีราคา แลกไป คนนี้ของมากหน่อย คนนี้ของน้อยหน่อย ค่าต่ำหน่อย ค่าสูงหน่อย แต่เราก็พอเกื้อกูล แลกกันใช้ แลกกันกิน แลกกันเป็น barther บาร์เตอร์ เป็นการแลกของ ไม่ต้องมาคิดราคามากมาย กันได้ อันนั้นจะเป็นเรื่องน้ำใจ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องไปคิดเอาเปรียบ เอารัด ไหน คนนั้นเกิน มีคนนี้ เอ็งก็ได้ค่าของฉันไปค่าไปเกิน คนนี้ น้อยไปเกิน ถ้าเป็นไปอย่างนั้นได้ ถึงที่สุดเลย อุดมการณ์นี้ เยี่ยม

ขอให้ทุกคน ยินดีต้อนรับ นิสิตใหม่ คุรุใหม่ จงมาประสานกัน สัมพันธ์กับนิสิตเก่า คุรุเก่า ร่วมกันเป็น ผู้มีสาราณียะ มีปิยกรณะ คุรุกรณะ สังคหะ อวิวาทะ มีสามัคคียะ เอกีภาวะ ให้เจริญๆ ยิ่งๆ ขึ้นไปเทอญ


จัดทำโดย โครงการถอดเท็ปธรรมะ
ถอดโดย ประสิทธิ์ ฝ่ายทอง ๒๓ มกราคม ๒๕๔๗
ตรวจทาน ๑ โดย เทียนฟ้า บูรพ์ภาค ๒๖ มกราคม ๒๕๔๗
พิมพ์ โดย ทองคำขาว ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗
ตรวจทาน ๒ โดย ป.ป. ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๗
พิมพ์ออก โดย โครงงานฯ
เข้าปก โดย สมณะพรหมจริโย
เขียนปก โดย พุทธศิลป์
TCT 0481.DOC
สำนึกของคุรุและศิษย์ ม.วช. ๕/๐๖/๒๕๔๖