ตอบปัญหา ปลุกเสกสมณะแท้ๆของพุทธ
ครั้งที่ ๑๔ (ตอน ๑)
โดย พ่อท่านโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๕ ก.พ. ๒๕๓๓
ณ พุทธสถานศีรษะอโศก


ก่อนจะได้ตอบปัญหา ก็ขอ.. เพื่อให้พวกเราได้ฟัง ที่เรามาปลุกเสกฯกันนี่ อาตมาเชื่อแน่นะว่า หลายๆ คนที่มากันประจำ ๆ นี่ บางคนก็เห็นว่า เอ๊อ! มันก็ไปเรื่อย ๆ ธรรมดา ๆ อย่างนั้นเองแหละ บางคน ก็เห็นว่า เอ๊ะ! เราต้องตั้งใจนะ ตั้งใจ ผู้ใดที่มา เหมือนอธิษฐาน อธิษฐานนี่แปลว่าความตั้งใจ ไม่ได้แปลว่าขอ คือการต้องทำใจของเรานี่ ให้ตั้งขึ้นเรื่อย ๆ ให้มีสติสัมปชัญญะ แล้วก็ตั้งใจน่ะ เป็นความตั้งใจที่จะทำ ในสิ่งที่เราคิดว่า เรากำลังจะทำให้มันได้ประโยชน์ ไม่ใช่ปล่อยเรื่อยๆ ไปตามเรื่อง ลอย ๆ ไปเฉย ๆ อย่างนั้นได้ผลน้อย ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม มันจะได้ผลน้อย

แต่ถ้าเผื่อว่า ใครรู้สึกว่า ความตั้งใจนี่เป็นตัวประธานในทุก ๆ สิ่ง ในทุก ๆ ขณะ ในทุกๆเวลา รู้สึกไหมว่า ความตั้งใจนี่ เราคงเข้าใจนะภาษาไทย ง่าย ๆ ถ้าใครรู้สึกว่า ความตั้งใจนี่เป็น ตัวประธาน เป็นตัวที่มันจะนำพา ให้เราทำอะไรก็แล้วแต่ อยู่ในขณะใด ก็แล้วแต่ ถ้าเรามีความตั้งใจ มีสติ มีธรรมวิจัย หรือว่ามันจะมีเอง ตัวปฏิภาณน่ะ ตัวที่จะวิจัยวิเคราะห์ว่า อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควร อะไรไม่ควร ในคนน่ะ มันจะมี ยิ่งเรามาเป็นนักปฏิบัติธรรมแล้วน่ะ ธรรมวิจัย หรือว่าตัวที่จะวินิจฉัย ว่าอะไรดีอะไรชั่ว มันจะมีมากขึ้น อะไรควร อะไรไม่ควร มันจะมีมากขึ้นตามภูมิ ตามปัญญา ของแต่ละบุคคล

เราได้ซักซ้อม เราได้ ฝึกฝนอบรมมากเท่าใด ๆ ตัวความเฉียบคม ความแม่น ความตรง ความถูกต้อง ที่จริงขึ้น มันยิ่งจะมีมากขึ้นน่ะ นั่นคือตัวปัญญา หรือญาณที่แท้จริงของเรา มันเพิ่มประสิทธิภาพ ขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเราได้อบรม ได้ฝึกฝน ได้ทำเสมอ ๆ จริง ๆ นั่นแหละคือ การอบรมฝึกฝนตน เป็นธรรมานุธรรมปฏิปัตติ เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าเรามี อัตตสัมมาปนิธิ คือการตั้งตนไว้ชอบ ก็คือเริ่ม ตั้งแต่ตั้งใจ ตั้งตนไว้ชอบ ก็คือ เราต้องมีตัวตั้ง ตัวตั้งตัวแรกก็คือ ตั้งใจน่ะ เราจะพยายามทำอะไรก็แล้วแต่ เราพยายามให้ระลึกว่า เรามีความตั้งใจ หรือไม่ ทุกที ทุกขณะ ให้ระลึกให้ดี ถ้าเผื่อว่าเราพบว่า เราได้กำลังตั้งใจ ถ้าใครรู้ตัวแล้ว อ้อ! นี่เรา กำลังได้ตั้งใจนะ เมื่อนั้นน่ะ เรากำลังได้ ได้เดินทาง ได้ก้าว ตั้งใจจริง ๆ แล้วก็พึงกระทำต่อไป เมื่อเราได้เป็นเช่นนี้อยู่เสมอๆนี่ เราก็กำลังเดินทางเข้าสู่ อริยมรรค อริยมรรค ก็คือการเดินทาง อย่างผู้ประเสริฐ มีทางเดินที่เดินไป ก้าวไป เริ่มต้นตั้งแต่ จิตตัวแรก ว่าเราตั้งใจจริง ๆ เมื่อตั้งใจ มีธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ มีวิริยะ พากเพียรแล้ว ตัวสติที่เราตั้งขึ้น ให้มันมีอยู่เสมอ เป็นตัวนำ มันแน่นอนอยู่แล้วว่า เราจะต้องมีสติ ไม่มีสติแล้วคุณจะระลึกถึง ความตั้งใจของคุณไม่ได้ คุณจะต้องมีสติก่อน คุณถึงจะระลึกถึงความตั้งใจของคุณได้น่ะ เมื่อได้ตั้งใจแล้ว ก็ลองฟังดูประโยคนี้ ก่อนจะตอบคำถาม ไม่ใช่ประโยคหรอก เป็นบทอีก บทหนึ่ง จะจดก็จดน่ะ

ผู้ที่จะประสบผลสำเร็จนั้น
ต้องมีจุดมุ่งหมายแน่ชัด
ที่ฝังไว้ลึกสุดในหัวใจ
แม่นมั่นอย่างแทบไม่ต้องระลึกถึง
แล้วลงมือทำด้วยความอุตสาหะบากบั่น
หากปราศจาก "จุดหมาย" และ "ลงมือทำ" จริง ๆ แล้ว
ไม่มีความสำเร็จใด ๆ ในโลก

เพราะฉะนั้น มนุษย์เรานี่ ถ้าเผื่อว่าสะเปะสะปะ ไม่มีจุดหมายอย่างแท้จริงแล้วละก็ ผู้นั้นก็เดินไม่ถึงจุด ไม่มีเป้าน่ะ เหลาะแหละ ๆ ร่องแร่งไป จุดอะไรก็ไม่รู้ แล้วมันจะไปไหนล่ะ มันก็วนเท่านั้นเอง วนเวียนไป ไม่เข้าท่า เพราะฉะนั้น จุดหมายของคนนี่ ก็ต้องสำคัญ อย่างเรามาทางธรรมนี่นะ อาตมา ขอยืนยัน นะว่า พระพุทธเจ้าท่าน ไม่ได้สอนโลกียะ เพราะโลกียะนั้น มันมีมาแต่ไหน ๆ ในโลก โดยเฉพาะ ยิ่งเป็นโลกียะ ธรรมดาๆที่ประกอบด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สรุปลงที่ตรงโลกียสุข พ้นทุกข์ที่ว่านี้ ที่คน เข้าใจกันไม่ได้ก็คือ เขาเข้าใจโลกียสุขไม่ได้ เข้าใจ วูปสโมสุข ไม่ได้ เขาเข้าใจไม่ได้ เขาวิเคราะห์ไม่ออก แล้วดูเหมือนจะไม่ระลึกถึงด้วย คำว่าสุข เขาก็เข้าใจว่าสุข สุข อย่างที่เขาได้รับ คือโลกียสุข สุขอย่าง เสพสมอารมณ์นะ เสพสมใจที่ได้ตั้งเป้าไว้ในใจ จะตั้งเป้าไว้อย่างไร ก็แล้วแต่

แม้ที่สุด จะตั้งเป้าว่าเป็นนิพพาน เสร็จแล้วเขาก็ไปได้อะไรก็ตามใจ นึกว่าเป็นนิพพาน ไปนั่งหลับตา ได้จุดว่าง เบา เขาก็ว่าเป็นนิพพาน แล้วเขาก็ว่า นั่นคือสุข เขาสุข แล้วเขาก็คิดว่า นั่นคือนิพพาน แล้วก็สมใจ ตรงนั้นน่ะ นั่นก็คือโลกียะ ไปนั่งทำให้จิตว่างขนาดไหน ก็โลกียะ ผู้ที่ได้นิพพานแล้ว ไม่เอานิพพาน นั่นแหละคือโลกุตระ ได้จริงๆแล้วนี่ มันได้แล้วนี่ มันก็ได้ สัจธรรมนี้ได้แล้วคือได้ ได้แล้วไม่ต้องเอา ได้แล้วก็ไม่ต้องติด ได้แล้วก็ไม่ต้องยึด เป็นแล้วก็คือเป็น มีแล้วก็คือมี มีสิ่งที่เรา สามารถ อบรมของตน เอาจนมีจนเป็นจนได้ อย่างช่ำชอง อย่างชำนาญแล้ว ไม่ต้องไปติดเลย แล้วเราจะรู้ว่า ตัวยอดคือตัวอะไร ตัวกลาง ตัวปลาย หรือว่าตัวต้น คืออะไร เราจะรู้ เสร็จแล้วเราก็ทำ ตัวยอดก็คือตัวยอด ด้วยปัญญาที่จะมีประกอบ ไม่ต้องไปหลงใหล แล้วก็ไม่ต้องไปจำเป็น จะต้องเป็น อย่างนั้น อยู่เท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นสุดยอดได้ จึงอนุโลมได้ ผู้สุดยอดไม่ได้ เท่านั้น จึงอนุโลม ไม่ได้ จะอยู่มันแต่ที่ไอ้ตรงยอดนั่นแหละ เลื่อนลงก็ไม่ได้ ติดมันอยู่ตรงนั้นแหละ

แต่ไม่ได้หมายความว่า ความเปื้อนนะ สัจธรรมไม่ใช่ความเปื้อน สัจธรรมแท้แล้วนี่ ไม่ต่ำและไม่เปื้อน ภาษาพวกนี้ อาตมาไม่รู้จะบรรยายยังไง ก็บอกแต่ภาษาให้คุณฟัง คุณเป็นเสียก่อนเถอะ คุณได้จริงๆ ถึงที่สุดเสียก่อน แล้วคุณจะรู้ พูดแล้วมันเหมือนกับเล่นลิ้น บางทีก็เหมือนกับฟังแล้ว ก็เอาไปตีกินได้ ฟังแล้วบางทีนี่ เอาไปใช้เป็นเลศเป็นเล่ห์ หลอกคนได้ เพราะฉะนั้น คนที่หลอกคนเก่ง ๆ นี่ ชอบที่จะเอา ภาษา หรูๆฟู่ๆฟ่าๆ ไม่เข้าเรื่องอะไรมา หลอกกันต่างๆนานาสารพัด เสร็จแล้ว ก็กลายเป็น จอมมาร จอมมารที่ร้ายกาจ ฉลาดเฉลียว แล้วก็มีวรยุทธ์อะไร แต่ไม่จริงน่ะ สิ่งเหล่านี้แหละสำคัญ

พระพุทธเจ้าเองก็ต่อสู้กับพญามารนี่มากมาย เราตั้งใจจะไปสู่โลกุตระ เราก็ต้องศึกษาด้วยปัญญา ด้วยความรู้ ความเห็น ที่มีนำไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ยังไม่เป็นจริงนี่ ศึกษาไปตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ เรื่องต้น ๆ เรื่องตื้น ๆ อะไรก่อนไปเรื่อย จนกระทั่ง เสร็จแล้วก็ต่อไป เรื่อย ๆ น่ะ ต่อตัวสูง ๆ ขึ้นไปเป็นลำดับๆๆๆๆ ไล่ขึ้นไปเรื่อย ๆ มันจะเป็นความรู้นำ แล้วก็เป็นความเป็นไปได้ จะเกิดตัวเป็นไปได้ ต้องลงมือทำ มันจะขาดลงมือทำไม่ได้ ต้องลงมือทำ ต้องลงมือปฏิบัติ ต้องลงมือเข้า ทำให้เกิดให้เป็นจริง ๆ จึงจะประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะ ยิ่งไปนิพพาน ไปในทิศทางที่จะพ้นทุกข์อย่างแท้จริงนี่ ไม่ใช่เรื่อง ตื้นเขิน ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ

อาตมาขอพูดสักนิดหนึ่งเสียก่อน ตอนนี้ก็ที่จริงก็ไม่อยากจะพูดอะไรมากมาย แต่ขอย้ำน่ะ อย่างพวกเรา นี่มากมาย เหตุการณ์เกิดรุนแรงน่ะ คำว่าพวกเรามากมายนี่ มากมายอย่างกระจอกๆ มันมากก็แค่ ที่เราเห็นนี่แหละ มันไม่ได้มากมายอะไรจริง ๆ หรอก ความจริงแล้ว ความรู้ความเห็น อย่างทางด้าน ฝ่ายเถรสมาคม หรือฝ่ายสถาบันหลักของศาสนาพุทธในเมืองไทย มีมากกว่านี้กี่เท่า ที่เขาเห็นอย่างนั้นน่ะ มีมากกี่เท่า มากมาย เมื่อความเห็นมันขัดแย้งกัน อย่างจริงจังแล้วละก็ มันก็วิเคราะห์ได้ว่า ฝ่ายหนึ่งถูก ฝ่ายหนึ่งผิด แน่นอน มันขัดแย้งกันอยู่ ไม่อันหนึ่งถูก อันหนึ่งก็ต้องผิด มันก็ต้องเป็น ๒ ฝ่าย ๒ ฝั่ง อย่างนั้นอย่างแน่แท้ ในที่สุด แม้มันจะมีสิ่งที่เหมือนกัน คล้ายกัน ร่วมกันอยู่บ้างก็ตาม แต่โดยที่สุด เมื่อแยกกัน เมื่อแย่งกันจริง ๆ แล้ว ไม่อนุโลมกันจริง ๆ แล้วละก็ มันก็ต้องฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง ก็ต้องเป็นที่ถูก อันหนึ่งก็ต้องเป็นที่ผิด มันร่วมกันไม่ได้ มันยอมกันไม่ได้ เป็นที่สุด เพราะฉะนั้น ลองดูจริง ๆ ให้ได้น่ะ เห็นจริง ๆ ให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว มันจะกลายเป็นถูกลวงนะ คุณจะเสียเวลากัน มาอยู่กับพวกหมู่เรานี่ พากันทำ แล้วเราก็ไม่เปลี่ยน

อาตมาขอยืนยันได้ว่า อาตมา ถึงแม้อาตมาจะแพ้ด้วยวิธีการต่อสู้ทางโลกอย่างไร ๆ อาตมาไม่มีปัญหา จะถูกฆ่าตาย จะถูกเนรเทศ จะเข้าคุก จะอะไรก็แล้วแต่เถอะ อาตมาเขาว่า คนดื้อ คำว่าดื้อ ก็หมายความว่า เราไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไปตามที่เขาต้องการ ยืนหยัด ยืนยันอยู่ตรงนั้นล่ะ มันดื้อจริง ๆ เลย มันไม่เปลี่ยนแปลงเลยล่ะ มันดื้อ ใช่ไหม ความหมาย อาตมาขอยืนยันว่า อาตมา ไม่เปลี่ยนแปลง จะแปลว่าดื้อก็ตาม จะแปลว่ายืนหยัดก็ตาม คำว่าไม่เปลี่ยนแปลงนี่ อาตมา ไม่เปลี่ยนแปลงไป ไปเป็นอื่น อาตมาจะเป็นอย่างนี้ไปน่ะ ในภาคของชีวิต ที่จะเป็นคนมักน้อย เป็นคนอยู่ง่าย ๆ เป็นคนที่จะพยายามมาเสียสละกัน มาสร้างสรร มาทำประโยชน์ อันใดที่จะพูด จะบอก จะอะไรกันได้ ก็จะทำอย่างนี้แหละ จนตาย จะฆ่าก็เอา ดื้อถึงขนาดว่า จะทำอย่างนี้ล่ะ จะฆ่าก็เอา อาตมาว่าอาตมาพา พวกเรามาแก้ไขปัญหานะ มาแก้ไขปัญหา ที่มันทุกข์อยู่ในโลก มันเห็นเด่นชัด มันไป โลภโมโทสัน เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เห็นแก่ไอ้สิ่งที่เรานึกว่า มันดี มันถูกนี่ อย่างที่เขาเห็นกัน แล้วเราก็มาเปลี่ยนแปลง ลดละมา ขนาดที่เราเข้าใจแล้ว เราลดละมา มันยังไม่ได้ ง่ายๆเลย เพราะมันเป็นกิเลสที่แท้จริง เราก็เปลี่ยนนี่ เปลี่ยน ๆ ไป ให้เห็นความก้าวหน้า ความพัฒนา ของการเปลี่ยนแปลงตนเอง แล้วก็เข้าใจ วูปสโมสุข เข้าใจความสุขที่อาตมา พยายาม วิเคราะห์วิจัย พยายามจริง ๆ เลยว่า ให้มันชัดนะ เรื่องของโลกียสุขกับ วูปสโมสุขนี่ อันหนึ่งบำเรอ อีกอันหนึ่ง ไม่บำเรอ แล้วก็ไม่มีความอยาก ที่จะมาบำเรออะไร มันไม่มีความอยาก มันเห็น มันก็เข้าใจ ก็รู้ หลายอย่างเราเคยหลงว่ามันสุข แล้วเราก็เคยหลงติด หลงเสพ

ถ้าใครยิ่งมีตัวอย่างอย่างนี้นะ มันยิ่งจะชัด อ้อ! ใจเรามันวางจริงๆนะ มันเฉย มันไม่มีอัสสาทะ ไม่มีรสอร่อย รสเพลิดเพลิน มันไม่มีรส ที่จะไปติดอีกจริง ๆ ไม่อาลัยอาวรณ์ ไม่ได้เห็นดีเห็นชอบ ใจมันจืดสนิท แต่ก็เข้าใจก็จำได้ว่า รสชาติเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเผื่อว่ายังไม่ลืม มันจำได้ บางทีมันนาน ๆ เข้ามันลืมเหมือนกันนะ อาตมาลืมหลายอย่าง ว่าเคยอร่อย เอ๊! มันอร่อยอย่างนี้ มันเป็นยังไงแล้วเว้ยตอนนี้ มันลืมจริง ๆ นาน ๆ เข้ามันก็ลืม ลืมที่เราเคยอร่อย อาการอร่อย รสชาติที่มันอร่อย มันชื่นอกชื่นใจ หรือมันมีลักษณะ อะไรต่ออะไรต่าง ๆ นานา มันค่อย ๆ จางค่อย ๆ เลือน แล้วมันกลายเป็นใจกระด้าง ๆ ใจเป็น ใจแข็ง ๆ ไม่ค่อยเห็นใจคนอื่น ถ้าอันไหน ที่เรายัง เห็นใจคนอื่นอยู่ เห็นอยู่ว่า เออ! เราจำได้ ไอ้นี่แต่ก่อนเราเคยอย่างนี้นะ เราเห็น เราจำได้ว่า มันอร่อย มันติดอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ เราก็จะได้เห็นใจคนอื่นเขาบ้าง เพราะเราเอง เรายังจำได้ เรายัง เอ้อ! มันก็ติด อย่างที่เขาหรือเราเคยติดอยู่นั่น เกิดอย่างว่าล่ะ มันก็เข้าใจ เมื่อเราเห็นใจเด็กนี่ เด็กเคยสนุก อย่างนี้ เราก็จำได้ว่าเคยสนุกอย่างนี้ เราก็เห็นใจเด็กบ้าง แต่ถ้าเรามันไม่เห็นว่า มันสนุกอะไรแล้วนี่นะ มันจะขี้มักจะกระด้างขึ้น บอก ไม่เห็นมันจะสุขอะไร สนุกอะไร มันก็จะ กระด้างขึ้นน่ะ เป็นจริง ๆ มันจะเป็นจริง ๆ นะ มันจะรู้สึกไม่ค่อยเห็นใจ แล้วก็ไม่ค่อย จะเอื้ออวยอะไรนัก เพราะฉะนั้น ระวังหน่อยอันนี้ แม้ว่าเราเอง จะจืดจางไปแล้ว เราก็ต้องเข้าใจเขา ฐานะเขา เขายังเป็นเด็ก หรือ เขายังติดยังยึด ยังจะต้องอย่างนั้น ๆ อยู่ เราก็จะต้องเข้าใจเขา

พวกที่ไฟแรงๆ พอได้อะไรถึงหน่อยหนึ่ง ยังไม่ทันเสร็จ ยังไม่ทันจะแข็งแรงอะไรจริงจังหรอกนะ แล้วมันกระด้างก่อน มันก็มีเหมือนกัน พวกไฟแรงนี่ พอได้ปั๊บ แหม! กระด้างกับคนอื่นเลย อะไรกัน อย่างโน้น อย่างนี้ โอ้โห! ทำเก๋ ทำเก่ง ทำเยี่ยม มันมีบ่อยไป มันมีฤทธิ์ได้ ถ้าเผลอๆแล้ว มันจะเป็น อย่างนั้นน่ะ มันเห็นว่าดี เสร็จแล้ว มันก็จะมาให้คนอื่น อยากจะได้ดี ให้ได้ดีเหมือนอย่าง ที่เราเคยได้ หรือเหมือนอย่างที่เราได้แล้วนี่บ้าง มันเป็นเจตนาดี แต่ว่ามันไม่เหมาะสม มันไม่รู้จัก อนุโลมปฏิโลม มันไม่เข้าใจผู้อื่น มันไม่รู้จักฐานะผู้อื่น มันก็เลยจะเอาฐานะของตนเอง เอาใจของตนเอง เข้าไปวัด แล้วก็เอาไปบังคับเขา ให้เขาเป็นอย่างเราทันที อันนี้เป็นไปไม่ได้น่ะ มันจะไปทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จักอันนี้ให้ดี

ถ้าผู้ใดรู้จักรส วูปสโมสุข คือมันไม่มีจิตอยากจะเสพขึ้นมา เราจะต้องบำเรอ มันก็ว่าง ๆ เฉย ๆ แล้วว่าง ๆ เฉย ๆ นั้น ไม่ได้หมายความว่า เราว่างจนไม่รู้เรื่องอะไร ไม่ทำอะไร เป็นคนเด๋อ ไม่คิดอะไร ไม่ใช่ ของพุทธนี่ ยังจะคิด ยังจะรู้อะไร ยังจะเข้าใจ เมตตา เกื้อกูลคุณค่า ยิ่งนับวันยิ่งเราว่างอะไรลง เวลาเรามี การฝึกฝน สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ เราฝึกฝนซ้อนอยู่ มันก็จะมีงานการ มีคุณค่า มีประโยชน์ มีการเสียสละ มีการสร้างสรร มีการให้ มีการเป็นผู้สร้าง แล้วเป็นผู้เสียสละ เป็นผู้ให้ แล้วเราจะเห็น คุณค่าประโยชน์อันนั้น แล้วมันจะซ้อน เมื่อเราได้ทำได้สร้าง ได้ให้แก่ผู้อื่นแล้ว เราจะเป็นมีคุณค่า แล้วมันจะนึกภาคภูมิ เป็นอัตตะ เป็นภพอีกอันหนึ่ง เป็นอัตภาพ สั่งสมไว้ในใจ แล้วมันเกิด มานะซ้อน อันนี้ก็ต้องเรียนรู้ว่า เรามีความดี เรามีคุณค่าจริง แล้วมันก็จะติดยึด หลงใหล เอ๊! เรามี คุณค่า เราไม่ได้เอาอะไรนะ แต่เรากำลังเอาซ้อนอยู่นะ เอาตัวเป็นของกู กูมีค่า กูใหญ่นะ จงจำกูไว้ว่า กูมีประโยชน์ มันซ้อนอย่างนี้

ทีหลังพอเวลา เขาลบหลู่เรามั่ง เขาเรียกว่าทำลายค่าของตัวเราทิ้งมั่ง จำกูไม่ได้หรือไง กูเคยทำ ประโยชน์ให้เอ็งน่ะ จะออก มึงไม่ออก เมื่อกี้มันไม่ไหว ข้าเคยทำประโยชน์ให้แก่เอ็งนะ เอ็งจำไม่ได้ หรือไงน่ะ กูทำประโยชน์ให้แก่มึง มึงจำไม่ได้หรือไง มันจะขึ้นเป็นตัวอัตภาพ ตัวกู มันจะขึ้นเป็นตัว อัตตา ตัวอัตภาพ มันซ้อนเชิงลึกนะคุณ มันซ้อนเชิงลึก จริง เราทำเพื่อเสียสละให้แก่เขา ทำไม ไม่เสียสละ ให้มันหมดล่ะ ทำไมจะต้องมาเป็นของกูอยู่อีกล่ะ นั่นเห็นไหม มันจะซ้อนอย่างนี้ จริงๆเลย แล้วเขาจะลบหลู่ เขาจะดูถูก เขาจะไม่เห็นคุณค่า เขาจะอะไรต่ออะไรนี่ มันจะอยู่ในใจ มันจะ แหม! นะ ไม่เห็นค่าของข้าเลยนะ ไม่เห็นคุณประโยชน์ของข้าเลยนะ ลืม ไอ้โง่ ลืม ทำเป็นลืม ไอ้เนรคุณ อะไรไปเลย มันจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ น่ะ

เราจะต้องสำเหนียกตัวเอง สำนึกตัวเองให้ดี สังวร เออ! เราจะเป็นขี้ไก่ เราจะเป็นขี้หมา อะไร ก็ช่างเถอะ เราเคยทำแล้วก็ช่างมันเถอะ กรรมที่ทำลงไปแล้วเป็นคุณเป็นค่า เป็นกุศลใด มันก็เป็นกุศล นั้นแล้ว เชื่อหรือไม่เชื่อ คนจะต้องจำได้ หรือไม่ได้ เขาจะตอบแทนคุณ หรือไม่ตอบแทนคุณ มันเป็นเรา หรือเป็นเขาล่ะ มันเป็นเราหรือเป็นเขาที่จะตอบแทนเรา คนเขาจะตอบแทนคุณเรา มันเป็นเรา หรือ เป็นเขา เขาจะตอบแทนหรือเขาจะไม่ตอบแทน มันก็เรื่องของเขา ถ้าเขาตอบแทนน่ะ เขาเป็น กรรมที่ดี หรือว่ากรรมที่ชั่ว ก็ของเขาเอง ถ้าเขาไม่ตอบแทน มันก็เป็นกรรมที่ชั่ว ก็เป็นของเขาเอง เขาไม่ระลึก เขาจำไม่ได้ หรือแม้จำได้ แต่เขาจะไม่ตอบแทนล่ะ มันก็เป็นเรื่องของเขา แล้วคุณ จะต้องไปทำใจ เศร้าหมองลงมา แล้วมีมานะขึ้นไป อย่างที่กำลัง อธิบาย เราได้หรือเราเสีย โง่ อย่าเสียค่าโง่นัก คิดให้ละเอียดลึกซึ้ง ให้ดีเลย วางใจ ดี ๆ

กรรมอันที่ทำแล้ว ถ้าคุณแน่ใจว่าเป็นกรรมดีแล้ว คุณไม่ต้องจำ คุณไม่ต้องไปคิดว่า ใครจะตอบแทน ไม่ตอบแทนหรอก มันเป็นอันเป็นแล้ว มันเป็นกัมมทายาโท เป็นกัมมัสสโกมหิ เป็นกรรมของตน เป็นมรดกของตน คนอื่นก็คือคนอื่น เขาจะตอบแทนไม่ตอบแทน เราก็จะจำได้ ไม่จำได้ เราจะไปบังคับ เขายังไง ไม่ต้องไปบังคับเขาหรอก ไอ้การไปบังคับเขา ให้เขามาตอบแทนเรา นั่นแหละ คือโลกีย์ บังคับกันในโลก ใช้อำนาจบังคับ ไอ้เณรทำโน่นทำนี่ มันก็กลัว กลัวจะถูกเตะ ถูกตีถูกฆ่า เพราะเขา จะซักซ้อม จะใช้วิธีนั้นละ จะไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้อะไรก็แล้วแต่ มันก็จะเป็น อย่างนั้นแหละ เอาอำนาจโลกมาบังคับ เขาก็จำนน แต่ไอ้คนไหน ที่มันไม่กลัวละ กูไม่เอาละ ยศ ศักดิ์ กูไม่เอาละ เงินทอง จ้าง บังคับ มันก็ไม่อยู่แล้วตอนนี้ มันก็หนีเท่านั้นเอง ดีไม่ดี มันไม่เตะก่อนไป ก็บุญแล้วนะ ถ้ามันจะไม่เอาลาภ ยศ สิ่งตอบแทนแล้ว มันก็ไม่ฟังคุณหรอก คุณจะเอาอำนาจอะไรมา ยิ่งมัน ไม่กลัวตายด้วย บอก เอ้ย! ไม่กลัวตายหรอก ฆ่าตายเดี๋ยวนี้ก็ไม่กลัว มันไม่ทำอะไร ให้คุณหรอก นั่นในโลก เป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าในทางธรรมแล้วนี่นะ มันศรัทธาเลื่อมใสบูชานี่ มันไม่เหมือนกันกับที่จะเอาอะไรตอบแทน มันไม่ทำเพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข มันทำเพื่อตัวเองจะได้สิ่งที่เป็นคุณค่า หรือตัวเองนี่ แหม! ยอมรับนับถืออันนี้ บูชา ต่างจากโลกียะที่ซ้อนเชิงอยู่ บางคนนี่ไปยอมรับนับถือ เพราะถ้าอยู่กับ คนนี้แล้ว เราจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข จะได้ความรู้ จะได้ความสามารถ จะได้เป็นเหมือน เขาที่เป็นนี่ จะได้ลอกเลียนเอาอย่าง ที่เขาเป็น เป็นอำนาจทางโลก เป็นใหญ่แบบโลก ๆ มันซ้อนเชิง แต่มาทางธรรมแล้ว มีอำนาจทางธรรม มีความเป็นใหญ่ทางธรรม คนที่มาเอาทางธรรมนี่นะ มันก็ดู คล้าย ๆ กับจะมาเอาอะไรอันหนึ่ง ที่ของคนทั้งโลกเขามีลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข แบบโลก ๆ มาเป็นทาสเขา หรือมาเป็นผู้ที่ซูฮกต่อเขา ก็เพื่อที่จะมาเอา สิ่งอย่างนั้นจากเขา นั่นแบบโลก

แต่ธรรมะมันกลับกันตรงที่ว่า ผู้ที่เป็นตัวอย่าง หรือผู้ที่เราศรัทธาเลื่อมใส ท่านมีสิ่งที่ท่านไม่เอา มันย้อน มันซ้อนอยู่ตรงนี้ ท่านมีสิ่ง เราเห็นว่าท่านเอง ท่านใหญ่ ท่านใหญ่เพราะท่านไม่ใหญ่ ท่านมีเพราะ ท่านไม่มี มันเป็นยังไงล่ะ ชักยุ่งๆแล้วซี เรามาศรัทธาเลื่อมใสเพราะท่านใหญ่ เพราะท่านไม่ใหญ่ มาศรัทธาท่าน ท่านสูงเพราะท่านไม่สูง มาศรัทธาท่าน ท่านมีเพราะท่านไม่มี ท่านเป็นคนที่ไม่อย่างนั้น เพราะฉะนั้น มันก็จึงไม่ใช่ว่า อย่างลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ใช่ไหม คนจะมาเอา เออ! ท่านทำ อย่างนี้ ท่านได้ลาภ ท่านทำอย่างนี้ ท่านได้ยศ ท่านทำอย่างนี้ท่านได้สุข ได้สรรเสริญ อะไรก็แล้วแต่ เราก็จะต้องเป็นคนที่ไปมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ แล้วท่านก็มีจริงๆ แต่ในทางธรรมแล้ว เราศรัทธา เลื่อมใสท่าน เราจะมาเอาอย่างที่ท่านเป็นนี่ มันก็เป็นอย่างที่ท่านเป็น เป็นคนสูง แต่ท่านไม่สูง ไม่หลงใหลในสูง ไม่ติดสูง ไม่เป็นผู้ที่มีสูง อะไรยังงี้ ภาษาไม่รู้จะพูดยังไงล่ะ คุณฟังก็แล้วกัน ไม่รู้เรื่องก็งงอยู่ตรงนี้ก็แล้วกัน รู้เรื่องก็รู้ไป อาตมาก็ไม่มีภาษาจะพูดแล้วละ ก็คิดว่าคุณรู้ กันนะ ใครเมามั่ง เมาไหม โอ้โห! เก่งทั้งนั้นเลย ฮึ! ขนาดพูดอย่างนี้ ยังไม่เมาเลยหรือ นี่ นั่นน่ะ คุณจะรู้ คุณจะเข้าใจ จริงๆแล้ว มาเปรียบเทียบให้ชัดๆ แล้วคุณจะเข้าใจ มันจะเป็นอย่างนั้น จริง ๆ มันต่างกัน นัยมันซึ้งมันซ้อน มันลึกซึ้งน่ะ เสร็จแล้วเราก็ต้องแม่นตรงให้ดี จุดมุ่งหมาย ที่เราจะเป็นนี่ เมื่อเรารู้ จุดมุ่งหมายที่ชัด ด้วยปัญญาแล้ว เราต้องลงมือทำ ลงมือฝึก เหมือนอย่างนั้นน่ะ ต้องทำ ต้องฝึกจริง ๆ แล้วมันก็จะได้จะเป็นน่ะ

เอาละ อาตมาพยายามเน้นย้ำจุดสำคัญนี้แล้ว ทีนี้ก็กอง ปั ญ ห า มากมาย จะตอบไปถึง ๖ โมงน่ะ ตอบปัญหานี่ ก็เป็นรายละเอียดที่อาตมาพยายามที่จะอธิบาย แล้วก็จะโค้งจะแวะ หรือจะกระจาย ออกไปสู่ความตั้งใจ ที่อยากจะพูดอะไรบ้าง ในบางครั้งบางคราว ก็พยายามที่จะอธิบาย อย่างนั้น ไปด้วย ก็สังเกตดูนะ อาตมาก็จะทำอย่างนั้นเสมอ

เอ้า! ลองตอบปัญหาดู แผ่นแรกมานี่ มาตั้งแต่วันแรกเลย บอกว่า

ถาม ดิฉันเป็นคนใหม่ เคยเห็นชาวอโศกปฏิบัติตัวดังนี้ และดิฉันคิดว่า การปฏิบัติธรรมเช่นนี้ ไม่น่าจะถูกต้อง

๑.อาบน้ำไม่ใช้สบู่ และเหม็นมาก เสื้อผ้าก็เหม็น เอาละ เดี๋ยวอ่านดูจบทุกข้อก่อน เผื่อมันเกี่ยวข้องกัน

๒.รับประทานอาหารกลางคืนดึก ๆ เช่น ๖ ทุ่ม หรือ ตี ๒ แต่เขาทานครั้งเดียว เขาบอกว่าตอนกลางวัน จะไม่ได้เสียเวลาทำงาน ดิฉันเลยไม่ทราบว่า ทำไมพระพุทธเจ้าห้ามกินอาหารตอนเย็น หรือกลางคืน

๓.เวลาเข้าสถานที่ราชการ แต่งตัวไม่สุภาพ ผู้หญิงใส่ผ้าถุง ผู้ชายใส่กางเกงขาก๊วย ไม่รีด

๔.ไม่ยิ้ม ทำหน้าเฉย ๆ เวลาคนไปคุยด้วย เหมือนไม่มีมนุษยสัมพันธ์ ไม่มีชีวิตชีวา พ่อท่านกรุณา ให้ความกระจ่างด้วยค่ะ ว่าทำไมจึงสอนให้เป็นเช่นนี้

ตอบ ๔ ข้อนี่ก็ดีนะ มันมีอะไรแทรก ๆ ซ้อน ๆอยู่ในนี้นะ แล้วก็ผิดอยู่ในนั้นซ้อนเสร็จ เช่นข้อ ๑ บอกว่า อาบน้ำไม่ใช้สบู่ และเหม็นมาก เสื้อผ้าก็เหม็น เอาละ ถ้าบอกว่า อาบน้ำไม่ใช้สบู่แล้วก็เหม็นมาก เสื้อผ้าก็เหม็น ก็ต้องรู้ ก็ต้องไปดูแล้วว่า คนที่อาบน้ำไม่ใช้สบู่น่ะอาบยังไง อาบแล้วให้เหม็นมาก แล้วก็เสื้อผ้า ก็เหม็นอยู่นี่ อาบน้ำแล้วก็ยังเหม็นอยู่ แสดงว่าตัวเหม็นน่ะ ใช่ไหม อาบน้ำแล้ว ก็ยังเหม็นอยู่ แสดงว่าตัวเหม็น เมื่อตัวผู้นั้นเหม็น อาบน้ำ แล้วใช้วิธีอาบยังไง ไม่ใช้สบู่ ได้อาบ ได้ถู ได้ขัด ได้อะไรหรือเปล่า ถ้าได้ถู ได้ขัดเช็ด ไอ้สิ่งที่มันจะหมักหมม มันจะเหม็นอะไรนี่ ได้เช็ดได้ถูออก อาตมาว่า อาตมาใช้ผ้านี่นะ อาบน้ำมีผ้าผืนหนึ่งเช็ด อาตมาก็ว่า อาตมาตัวเหม็น เหมือนกันนะ เหม็น แต่อาบน้ำเสร็จแล้ว ไม่เหม็นหรอก แต่ต่อไป มันมีขี้เหงื่อขี้ไคล มีอะไรต่ออะไร ขึ้นมาอีก แน่นอน มันก็จะเริ่มหมัก เริ่มเหม็นขึ้นมาอีกบ้างน่ะ พอถึงเวลาสมควรแล้วก็ แหม! มันเหม็นพอสมควรแล้วนะ เราต้องอาบ อาบแล้วมันก็จะหายเหม็น เสร็จแล้ว มันมีชีวิตต่อไป มันก็จะเหม็นอีก ถ้าจะไม่ให้เหม็น เลยนี่ อาตมาว่ามันไม่มีหรอกมนุษย์ แต่นี่บอกว่าเหม็นมาก ถ้าคนไหน มีกลิ่นตัวมาก ก็เหม็นมาก อาบแล้วก็ยังเหม็นอยู่เลย เหม็นกลิ่นตัว เอ้า! ก็เอาละ มันก็เหม็น ก็รู้กันไว้ ว่าคนนี้กลิ่นตัวนี่ เขาอาบแล้ว เสร็จแล้ว เขาใช้วิธีอาบ ใช้ผ้าใช้ผ่อนถู เช็ด ขัดออกจริงๆเลยนะ ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ก็อาบออกจริง ๆ ไม่ต้องไปใช้น้ำหอม โอดิโคโลญจ์อะไร พรมหรอก ออกมาก็กลิ่นสะอาด ตามที่เขาอาบได้เท่านั้น เราก็ต้องรู้ว่า คนคนนั้น มีกลิ่นตัวเท่านั้น ช่วยไม่ได้หรอก กรรมวิบากน่ะ ไปไล่ฆ่า สะกั๊งค์มาหรือยังไง มันถึงได้มีกลิ่นตัว ติดมากมายยังงั้น ก็ตามใจเถอะ ขี้เต่า ขี้แลนอะไรนั่น ไปฆ่าเต่า ฆ่าแลนอะไรมายังไง ก็แล้วแต่เถอะ แลนนี่ ภาษาเหนือ ภาษาอีสาน แลนนี่คือตัวเหี้ย มันก็เป็นไป อาตมาก็ว่าไปอย่างนั้นก่อนละนะ เพราะฉะนั้น คนที่มีกลิ่นตัว มันเหม็นกลิ่น แม้อาบน้ำ อาบท่า เช็ดถูแล้ว แม้ไม่ใช้สบู่นี่ ไม่ใช้น้ำอบ น้ำหอมอะไรกลบเกลื่อนเอาไว้ก็ตาม เขาเป็นเช่นนั้น ก็ต้องยอมจำนนจริง ๆ

อาตมารู้เหมือนกันในหมู่ฝูง มีบางคนอาบน้ำออกมาใหม่ ๆ ก็กลิ่นฉุยของเขา เออ! เมื่อไหร่ ก็ของเขา ขนาดนี้ เพลา ๆ ลงบ้าง ถ้าเขายิ่งไม่อาบ ก็ยิ่งหนักกว่านี้ อะไรนี่ เราก็รู้ เราจะบอกว่าเหม็น หรือหอม ก็ตามใจ ก็กลิ่นของเขา เราสมมุติเหม็น สมมุติหอมจริง ๆ เท่านั้นแหละ เราก็หัดวางใจสิ กลิ่นอย่างนี้ บางทีเราสมมุติ มันไม่เข้าท่าอะไรสักหน่อย ทีปลาร้าละหอมเอาหอมเอา ยิ่งคนอีสานแถวนี้ ยิ่งปลาร้าแล้ว หอมเอา หอมเอา บูดู อย่างนี้ หอมเอา หอมเอา มันหอมที่ไหนล่ะ มันเหม็นน่ะ กินทีไร ก็กลิ่นนั้น แต่คุณไม่ติดใจนะ คุณไม่ถือว่ามันเหม็น คุณก็กินกันมันเฉย คุณก็กิน ก็มีแต่อร่อยไป เท่านั้นเอง เพราะเราไม่ติดใจ มันก็ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้น เราต้องหัดวาง จะกลิ่นอย่างไร เราเรียกว่า หอม อย่างไรเราเรียกว่าเหม็น กลิ่นหอมที่คุณว่าหอม บางอย่างนี่ โอ้โห! จะอ้วกนะ เหม็นเวียนหัว เลยนะ บางอย่างจะอ้วกจริงๆ กลิ่นหอมบางอย่าง แล้วคุณก็ไปติดใจกัน บางคนติดใจ บางคน ก็ทนไม่ไหว

นั่นก็เป็นเรื่องของการสมมุติ และก็การอุปาทานกำหนดยึด เพราะฉะนั้น ก็รู้เสียบ้างน่ะ ส่วนเสื้อผ้า ก็เหม็นนั้นน่ะ แหม! ผ้าธรรมดา มันไม่มีกลิ่นติดตัวหรอกนะ นอกจากคุณเอง คุณไม่ซัก ให้มันสะอาด จริงๆ ก็ซักให้มันสะอาดซี เมื่อซักให้มันสะอาดแล้ว เสื้อผ้ามันจะไปเหม็นอะไร กันนักกันหนาล่ะ หมัก ๆ หมม ๆ มันมีเหตุปัจจัยแน่ ๆ ที่มันพาเหม็น มันเหม็นมากนัก แล้วซักยังไง ก็ไม่ออก ไม่ใช้อะไรซัก ไม่ใช้เครื่องซักฟอก ที่มันจะดับอะไรมั่ง ก็เอา อนุโลม ซักมันก่อน ผ้ามันยังไม่ควรทิ้ง เพื่อจะดับกลิ่น อะไรบ้าง ซักมันดี ๆ ตากแดด หรือว่าจะต้ม จะทำยังไงก็แล้วแต่ กรรมวิธี มันเหม็นมาก ๆ ก็ไปศึกษา กับคนที่ว่า ซักยังไงนะ จะไม่ให้เหม็น เรียนมันดูซิว่า วิชานี้มันจะยากขนาดไหน เรียนแล้วก็ทำกัน จริงๆน่ะ

สรุปแล้วนะ เรื่องความเหม็นของเสื้อผ้านั่นก็พยายามทำ อาตมาก็ไม่ส่งเสริมนะ พวกเรานี่ เสื้อผ้าเหม็น แหม! ไม่หวาดไม่ไหวหรอก จนกระทั่ง ได้ชื่อว่า กลิ่นอโศก ขายขี้หน้า ไอ้ความหมายว่ากลิ่นอโศก มันไม่ได้หมายความว่า กลิ่นดีหรอกนะ เป็นกลิ่นไม่ดี อันนี้พาให้เผ่าพงษ์วงศ์วานว่านเครือ เสียหาย รู้หรือเปล่า ใครอย่าทำ เอาละ ไม่ใช้สบู่ แล้วก็เหม็นมากนี่ เป็นการติง ดี ถือว่าเป็นการติง แต่ตอบ คนถามว่า อาบน้ำไม่ใช้สบู่น่ะ ไม่เหม็นหรอก ไม่เชื่อมาดูมาดมอาตมาก็ได้ ใหม่ๆนะ อาบเสร็จใหม่ๆ มาดมดู ไม่เหม็นหรอก แต่บอกแล้ว ต่อไปมันมีเหงื่อ มีไคลขึ้นมา มันหมัก มันหมม มันก็ต้องเป็นกลิ่น มันเรื่องธรรมดาธรรมชาติ มันเป็นธรรมดาน่ะ เพราะฉะนั้น เราถึงเวลาวาระ ก็ควรอาบ ควรชำระ สะสางซะน่ะ แต่ขอยืนยันนะ อาตมาขอยืนยันว่า การอาบน้ำไม่ใช้สบู่นี้ ถูกต้องตาม สุขลักษณะมนุษย์ ขอยืนยัน นอกจากคุณทำไม่ได้ คุณติดมันมากน่ะ คือการติดนี่ มันมีเยอะนะ คุณถูสบู่นี่นะ สบู่ทุกชนิดนี่ จะมีโซดาไฟ แล้วมันจะทำปฏิกิริยากับธาตุหลายอย่าง น้ำมันที่หุ้ม ผิวหนังอยู่นี่ มันจะทำปฏิกิริยา แล้วมันจะสลายออก สลายน้ำมันหุ้มผิว นั่นแหละ เสียสุขภาพ แล้ว น้อยหรือมาก ก็ตาม ทีนี้คุณจะรู้สึกว่า ในลักษณะที่ไอ้โซดาไฟ มันทำปฏิกิริยากัน ไขมันที่มันหุ้ม ผิวหนังเราอยู่นี่ มันทำปฏิกิริยาออกไป มันก็จะรู้สึกแห้ง คุณจะรู้สึก มีความรู้สึกว่า ตัวแห้งๆ อย่างนี้คือสะอาด ฟังดี ๆ นะ แห้ง ๆ อย่างนี้คือสะอาด คุณจะรู้สึก อุปาทานอย่างนั้นเลย ถ้าไม่แห้งได้ขนาดนี้ รู้สึกว่าน้ำมัน จะเยิ้ม มันจะมัน มันจะเลอะ มันจะอะไรอยู่ คุณจะรู้สึกว่า เออ! อย่างนี้ไม่สะอาด

แต่เสร็จแล้วก็ซ้อนเชิงนะ โง่ต่อ พอดูไป เอ๊! มันแห้งนาน มันแห้งไปนาน ๆ ไม่ค่อยดี ก็ไปหาน้ำมัน ที่เขาขาย มีหลาย ๆ อย่างมาทานะ อย่างโลชั่นโลแช่นอะไร ก็แล้วแต่เถอะ น้ำมันน้ำมึนอะไรก็มี เอามาทาน่ะ ทั้ง ๆ ที่มันแห้งเพราะคุณทำมันเอง แต่คุณไปเอา ที่ไม่ใช่ธรรมชาติของคุณด้วยซ้ำไป น้ำมันนั้นอาจจะเป็น น้ำมันปลาวาฬ หรือเป็นน้ำมันหมู น้ำมันหมา ก็แล้วแต่ เขาทำมาขาย สะกัด มาขาย ใส่ขวดแล้วก็ใส่ยี่ห้ออะไรมา แล้วคุณก็ไปซื้อมา แล้วก็เอามาทา เพื่อที่จะแก้กลับ ไอ้ตัวเอง นั่นแหละ เอาออกเอง แล้วก็มาแก้กลับเอง ให้มันฉิบหายมาก ๆ เสียเงินมาก ๆ เสียเงิน ทั้งสบู่ มาขัดออก แล้วเสียเงินทั้งซื้อน้ำมันมาใส่ใหม่ คือมันโง่อย่างนี้แหละคนเรา แล้วหลงตัวว่าฉลาด เป็นอย่างนี้ล่ะ นี่มันจะเป็นอย่างนั้นเสมอ แล้วมันก็ไม่ค่อยจะถูกเรื่อง เพราะฉะนั้น คนเรา ถ้าเผื่อว่า ใช้แค่ผ้าธรรมดานี่ ซับ เช็ด ถูนี่ มันจะขัดไอ้ส่วนที่มันเลอะ มันเทอะออกไป มันไม่ถึงกับ มีปฏิกิริยา ของโซดาไฟ ไปทำปฏิกิรยากับน้ำมูกน้ำมัน หรือว่าคราบมันของคน คนจะมีมันอยู่กับผิวหนังนี่นะ เป็นธรรมชาติ พอสมควร แค่น้ำเช็ดน้ำล้างธรรมดานี่ มันจะไม่ออกไปทีเดียว เอาผ้าเช็ดขัดถูนี่ มันจะไม่ออกไปมาก มันจะออกบ้างด้วยซ้ำ แค่ผ้านี่มันยังออกบ้างด้วยซ้ำ คุณขัดมาก ๆ นี่ ประเดี๋ยวด้าน ประเดี๋ยวออกไปมากเลย เพราะฉะนั้น เช็ดถูพอขี้เหงื่อขี้ไคลที่ พอสมควรออกแล้ว ก็พอแล้ว หรือว่าสิ่งที่เราควรจะให้มันเช็ดมันถู มันออกก็พอแล้ว เสร็จแล้วสุขภาพของเราจะดี เห็นดี แม้ในที่ที่มันเหม็น มันอับ มันอะไร เราก็ขัดพอสมควร ให้ขี้เหงื่อขี้ไคลที่ตรงนั้นออกไป มันก็พอ พอสมควร มันก็พอแล้วน่ะ นั่นน่ะเรียกว่าความพอดี หรือมัชฌิมา

อาตมาแน่ใจจริงๆ เพราะอาตมาทำมา และจะไม่แก้ไข เสียเวลาถูสบู่ นอกจากว่า มันเปื้อนมากๆ มันจะต้อง ใช้โซดาไฟขัดไอ้ที่มันติดไม้ติดมือ ติดเนื้อติดตัวบางที่ บางคราว บางครั้ง ไปเลอะอะไร มาจริง ๆ นั่นอีกกรณีพิเศษ แต่ถ้าธรรมดาไม่มีไอ้สิ่งที่มันเลอะ มันพิเศษอะไรนี่ อาบน้ำธรรมดาน่ะ อาตมาจะตอบยาวไปแล้ว ประเดี๋ยวจะ ๖ โมง เอาละ ต่อ

๒. รับประทานอาหารกลางคืนดึกๆ เช่น ๖ ทุ่มหรือตี ๒ แต่เขาทานครั้งเดียว เขาบอกว่า ตอนกลางวัน จะได้ไม่เสียเวลาทำงาน ดิฉันเลยไม่ทราบว่าทำไม พระพุทธเจ้า ห้ามกินอาหารตอนเย็น หรือกลางคืน

ตอบ อันนี้นี่นะ เป็นสงฆ์ เป็นพระ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้ฉันอาหารกลางคืน หรือเย็นล่วงไปแล้วน่ะ ท่านไม่เคยบอกหรอกนะว่า ไม่ฉันอาหารหลังเที่ยง แต่มาตีความกันเอาเอง จนกระทั่ง เป็นบทวินัยว่า หลังเที่ยง วิกาลโภชนา คือหลังเที่ยง มากำหนดเอาเอง พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัส

พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ ในศีลในวินัยอันแท้จริงว่า กลางคืน ไม่ฉันในเวลาวิกาละ เอาละ เขาก็ไม่ผิด วิกาละ แปลว่าเวลาที่กำหนด เรากำหนดหลังเที่ยง ก็เป็นการกำหนดเอาเอง เอาละ เมื่อตกลงกัน ก็ตกลง เพราะฉะนั้น ท่านไม่ได้มาบังคับว่า จะกำหนดเวลาอื่นไม่ได้ วิกาละเขาก็ไม่ได้กำหนดว่า หลังเที่ยง เราก็เห็นด้วย มันก็ควรจะมีขีดมีเขต กลางวันก็ตาม แต่ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นั้นน่ะ วิกาละ แล้วก็ราตรี ไม่ให้ฉันในเวลากลางคืน แล้วก็มาทับศัพท์ว่าวิกาล ในเวลาวิกาล วิกาล ก็คือ วิ แปลว่า วันเวลาที่เรามาตกลงกันว่า ไม่เป็นเวลานั้นแล้วนะ เวลานั้นเราไม่เอานะ เพราะฉะนั้น เขามา กำหนดหลังเที่ยง ก็เป็นการกำหนดกันอย่างหนึ่ง เท่านั้น เอง จะเห็นได้ว่า พวกมหายานนี่ เขากินเย็น เขาก็กิน แต่ไม่กลางคืน กินกลางคืนไม่เอา ราตรีนี่ท่านกำหนดไว้ชัด เวลาวิกาละ กับเวลาราตรี ราตรีนั่นคือกลางคืน เพราะฉะนั้น ไม่ฉันอาหารในเวลากลางคืนสำหรับพระ พระพุทธเจ้าท่าน กำหนดไว้แต่เดิม ทำไม ก็กลางคืนจะไปเอาจากใครล่ะ ก็เขานอนหมดแล้ว ก็บิณฑบาตฉันน่ะ เพราะฉะนั้น ก็ฉันแต่กลางวันเท่านั้นแหละ กลางคืนก็อย่าไปยุ่งวุ่นวาย ท่านก็ กำหนดไว้ ไม่ให้ไปฉันกลางคืนนะ

เอ้า! ทีนี้เรื่องผู้ที่อาศัยอาหารของคนอื่น อาศัยการบิณฑบาต ก็ไม่ฉันกลางคืนก็ถูกแล้ว แต่คนที่เขา รับประทาน อาหารกลางคืน ๖ ทุ่ม ๒ ยาม ที่ถามมานี้ อาตมา เชื่อว่าเป็นฆราวาส เพราะมีพวกเรา อยู่คนหนึ่งที่ ชมร.นี่ กินข้าว ๒ ยาม ตี ๒ น่ะ หรือ ๕ ทุ่ม คือพรพิชัย พรพิชัยนี่ อาตมายกย่องเลยนะ ว่าเป็นคนที่ทนทาน เป็นคนที่เอาใจใส่ ตั้งใจ พยายามปรับปรุง ตอนที่เขายังไม่ค่อยลงตัวนี่ ผอม โอ้โห! ต่อสู้ แต่เดี๋ยวนี้กลับร่างกาย ล่ำสันแข็งแรง เขาว่ากินมื้อเดียว กินอย่างนี้แหละ เขานอน ๕ โมงเย็น แล้วก็ ไปตื่นเอา ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม นอนตื่น ๔ ทุ่ม เสร็จแล้ว เขาก็ทำอาหารกิน ๕ ทุ่มเขาก็กิน เขาก็ใส่รถ จักรยาน ถีบจักรยานไปกินไป กลับมาถึงสันติอโศก เขาก็ลงมือทำงาน ทำงานไปเรื่อย จนกระทั่ง ไปถึง ๕ โมงเย็น เขาก็นอนอีก นอนแล้วก็ตื่น ๔ ทุ่ม แล้วก็ตื่นมาทำกับข้าว ทำอะไรของเขา แล้วก็เดินทาง มาสันติอโศก แล้วกิน ไม่ปรุงแต่งด้วย เขาทำไม่ปรุงแต่งด้วย เขาก็กินของเขา อาหารของเขา แล้วเขาก็ทำงาน โอ้โห! เขาคนเดียวนี่ ทำงาน แหม! เท่ากับคน ๑๐ คน ทำงาน ทำอย่างสบายใจน่ะ ทำ

เวลาเขายิ้มนี่ อาตมาว่า แหม! หาคนแสดงหนังบทพรพิชัยยิ้ม เอ๊! เขายิ้มไม่เหมือนใคร เอ๊! ยิ้มแปลก เขายิ้มบ่อยนะ ยิ้ม เขายิ้มไม่เหมือนใคร อาตมายิ้มก็ไม่เหมือน ที่ทำนี่ ทำไปยังงั้นแหละ ไม่เหมือนน่ะ เป็นคนพิเศษที่ทำได้ เขาตั้งใจทำ แล้วอาตมาก็เห็นว่า มันไม่ใช่ง่ายๆ มันก็น่าจะเป็นตัวอย่าง อันใด อันหนึ่ง เขาขวนขวายของเขา เพราะฉะนั้น เขาจะกิน ๕ ทุ่ม ๒ ยาม ตี ๒ นี่ ยกเว้นเขาเถอะ เป็นคน คนหนึ่งน่ะ ที่เขาทำอย่างนั้นน่ะ มันเป็นเรื่องของที่เขาคิดว่า เขาทำถูกแล้ว และอาตมาก็เห็นว่า ถูกแล้ว เพราะว่าเขามีเหตุผลเพียงพอ ที่เขาจะทำอย่างนั้น เขาจะกินกลางคืน ก็ไม่ได้ผิดบัญญัติ พระพุทธเจ้า อะไร เพราะเขาไม่ได้เป็นพระ แล้วเขากินหนเดียว กินหนเดียว จริงๆ แล้วก็กิน เขาก็ทำงาน ของเขา ทั้งวัน ทำงานอะไรขอให้บอกเถอะ มีอะไรที่เขาทำได้ เขาทำอะไร เขาทำของเขาทั้งวัน ทำงานนี่เป็น ๑๐ ปี หลายปีแล้ว เขาก็ทำของเขา พัฒนาของเขามาเรื่อย เป็นตัวอย่างชาว ชมร. นี่ ใครๆทำอะไร ขี้เกียจ เมื่อไหร่ก็ระลึกถึงพรพิชัยนี่ แล้วก็จะซึ้งน่ะ อะไรนิดอะไรหน่อย ก็เมื่อยละ ขี้เกียจละ ทั้งๆที่มันยัง ไม่เมื่อยเท่าไหร่หรอก ที่จริงขี้เกียจมันเข้า อันนี้เป็นกรณีพิเศษน่ะ

แต่ถึงแม้ว่าใครจะกินกลางคืนก็ตาม อย่าไปพาซื่อจนเกินการ เขากินมื้อเดียว อาตมาก็เคยฉันนะมืดๆ บางทีฉันตั้งแต่ตี ๕ ต้องรีบไปทำงานก็เลยต้องฉันก่อน ก็เคยน่ะ ถ้าว่ากันจริงๆน่ะ เราถือว่าไม่ กลางคืน แล้ว เลย ๒ ยามแล้วไม่กลางคืนแล้ว ก็ฉัน แต่ที่จริงไม่เคยไปฉัน ๒ ยามหรอกนะ มันจำเป็นน่ะ มันจะต้องฉัน ตั้งแต่ตี ๕ หรือ ๖ โมงอะไร ตอนมืดๆ มันยังไม่สว่างเท่าไหร่ แต่ว่ามันจำเป็น จะต้อง ทำงานอื่น จะต้องเดินทาง จะต้องอะไรอื่น อะไรอย่างนี้เป็นต้น เคยทำบ้าง แต่ไม่ได้เป็นเรื่อง ประจำ เป็นเรื่องที่เห็นว่า เหตุปัจจัยจะต้องทำอย่างนั้น เท่านั้นเอง ในกรณีพิเศษ ก็คิดว่า คงจะไม่มี ปัญหา แล้วเขาก็กินมื้อเดียว การกินมื้อเดียวนี่ คุณจะกิน ๒ ยาม แล้วก็ไปชน ๒ ยาม มันก็ ๒๔ ชั่วโมง คุณจะกิน ๕ ทุ่ม ไปชน ๕ ทุ่ม อีกวันหนึ่งมันก็ ๒๔ ชั่วโมง คุณจะกินตี ๓ แล้วก็วน ไปถึงอีก ตี ๓ ก็กินใหม่ มันก็ไอ้ ๒๔ ชั่วโมง คุณจะกิน ๖ โมงเช้า วนมาถึง ๖ โมงเช้า มันก็ไอ้ ๒๔ ชั่วโมง

เสร็จแล้วคน บางคนบอกว่า ว้า! ไม่ไหวหรอก กินแต่เช้าแล้วมันจะหิว ที่จริงมันไม่ใช่หรอก มันไม่ใช่ เรื่องนั้นเลย กินแต่เช้าแล้วกลัวมันจะหิว ไม่ใช่หรอก มันเป็นเรื่อง.. กินเช้าหรือกินสาย คุณวนไปถึง เวลาของคุณ คุณก็เท่าเก่านั่นแหละ วันหนึ่งกินมื้อเดียว คุณก็วนไปถึงเก่า แต่ เรา แหม! พอกินเช้า แล้วกว่าจะค่ำ กว่าจะนอนปิดลูกตา ไม่เห็นคนอื่นกินนี่ มันตั้งนานเว้ย แต่แท้จริง แต่เช้าขึ้นมา จนถึงเที่ยง คุณได้เห็นคนอื่นกินเหมือนกันนั่นแหละ ถ้าเผื่อว่าจะเห็นโดยกลางวัน ใช่ไหม มันก็เหมือนกันแหละ คุณยังไม่หลับไม่นอน คุณก็ยังจะต้องเห็นเขากินเช้าถึงเย็น เวลาใดก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น มันอุปาทานเอง มันเลอะๆ มันไม่ค่อยคม มันไม่ค่อยตรง มันก็เลยนึกอย่างนั้น การกิน ให้กินเวลาไหน ถ้าคุณไม่ติดยึดเสียแล้ว ก็เท่านั้น มันอาจจะวนเวียนไม่ให้ถึงนะ วันนี้กิน ๖ โมงเช้า วันนี้กิน ๕ โมงเช้า พอเสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นไปกิน ๖ โมง มันไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง มันก็ไม่เป็นไรหรอก หัดมั่ง ให้มันเกิน ๒๔ ชั่วโมงมั่ง พอไปวันอีก วันรุ่งขึ้นอีก เลยไปตั้ง ๒๘ ชั่วโมง ถึงค่อยได้กิน มันก็ไม่เป็นไร เพราะเราหัดอยู่แล้ว อย่าว่าแต่ ๒๔ ชั่วโมงเลย เราไม่กินอาหาร ๒ วัน ๓ วัน เราไม่กินอาหาร เราก็ยังทนได้ เพราะฉะนั้น ต้องฝึกไปดีๆ แล้วเราจะรู้อะไรต่ออะไรต่างๆพวกนี้

๓.เวลาเข้าสถานที่ราชการ แต่งตัวไม่สุภาพ ผู้หญิงใส่ผ้าถุง ผู้ชายใส่กางเกงขาก๊วยไม่รีดน่ะ

ตอบ แล้วบอกว่าไม่สุภาพ อาตมาพูดแล้วเมื่อวานนี้ ผู้หญิงไทยเรานุ่งผ้าถุงแล้วว่าไม่สุภาพ ทีไปนุ่ง กระโปรงที่เขาหลอก ทำแฟชั่นอย่างโน้นอย่างนี้น่ะ แหกข้าง แหกตรง แหกบน แหกล่างอะไร ก็ยังอุตส่าห์ ไปบอกว่าสุภาพ ไปเป็นทาสวัฒนธรรมชาวตะวันตกเขา ไอ้กระปรุงกระโปรง ไอ้อะไร ต่ออะไรพวกนี้ มันเป็นของตะวันตกน่ะ กระโปรงนี่นะ อย่างน้อยก็เป็นของชาวเขา เผ่าที่เขานุ่ง เป็นกระโปรงน่ะ มีนะ ชาวเขานี่ เขาไม่นุ่งผ้าถุงหรอก เขานุ่งผ้าถุงไม่เป็น ไม่ใช้ผ้าถุง แต่เป็นกระโปรง ใช่ไหม พวกกระโปรงชาวแม้ว ชาวก้อ อีก้อ อะไร เป็นกระโปรง เป็นของไม่ใช่ของไทย ของไทยก็รู้แล้วว่า ไทยเรานี่ นุ่งผ้าซิ่น นุ่งผ้าถุงมาแต่เดิม เสร็จแล้วเราก็ฟั่นเฝือ ไปเอาวัฒนธรรมของเขามาใช้ จนลืม ชาติตัวเอง ลืมเอกลักษณ์ของตัวเอง ลืมวัฒนธรรมตัวเอง แล้วก็ไปบอกว่า คนนุ่งผ้าถุง ไม่สุภาพ จะเอาอะไรกันแน่ ลืมชาติตัวเองแล้ว แล้วยังอุตส่าห์ไปตู่ว่า ผู้ที่เขานุ่งสุภาพว่าไม่สุภาพ กางเกง ขาก๊วยนั่น เขาเรียก กางเกงไทย ไทยเดิม ไทยใหญ่ กางเกงไทยเดิม ไทยใหญ่ ของจีนมันไปตรงกัน ของจีนเขาเรียกขาก๊วย ของไทยก็เหมือนกัน มันเป็น กางเกงไทย ไทยเดิมๆน่ะ ไทยใหญ่ ไทยเก่าๆน่ะ นุ่งกางเกงอย่างนี้ ไทยโบราณก็นุ่ง กางเกงอย่างนี้

ส่วนกางเกงที่มาตัดสมัยใหม่นี่น่ะ เป็นกางเกงที่เย็บตัดแบบออกแบบอะไร มีเป้า มีซิป มีอะไรต่ออะไร แบบนี้น่ะ มันกางเกงของทางฝรั่ง ทางตะวันตก ทางอื่นเขา ทำมา แล้วเราก็ไปเอาอย่างเขามา เป็นทาส วัฒนธรรมเขาเหมือนกัน แม้เดี๋ยวนี้เราเรียกกางเกงฝรั่ง เราก็ยังเรียกอยู่นะ เสร็จแล้ว ก็ไปเอาของเขามา เป็นทาสวัฒนธรรม เหมือนกันกับกระปรุงกระโปรงนี่เหมือนกัน แล้วบอกว่าไม่สุภาพน่ะ นุ่งกางเกง ไทยใหญ่อย่างเดิม ว่าไม่สุภาพ อันนี้มันเป็นการยอมรับที่เราถูกกลืน จริงๆ อาตมาเข้าใจ ที่คุณพูดนี่ ถูก เขาถืออย่างนั้นจริงๆเลย เพราะฉะนั้น เอาละ ในสถานที่ในบางที่บางแห่งเขาติด จริงๆ ถือจริงๆนะ นุ่งผ้าถุงไปไม่ได้ อย่าไปเถียงเขา เดี๋ยวตีกันเปล่า ๆ นุ่งกางเกงขาก๊วยไปก็ไม่ได้ เขาหาว่าไม่สุภาพ ถ้าเราจะต้องเข้า คุณก็ต้องจำยอม ก็ต้องนุ่งไปบ้าง แต่ถ้าเผื่อว่า คุณสามารถมีฤทธิ์มีเดช มีความกล้าหาญ ที่จะแต่งชุดนี้ เข้าไปได้ เอาเสียบ้าง แต่อย่าไปตีกันนะ ถ้ามันสู้ไม่ได้แล้ว อู๊! เขายึดติดจริงๆ ก็ต้องเห็นเขารู้เขาให้ได้ว่า เขาติดจริง ๆ เราว่าเราเข้าใจถูกแล้วนะ แต่เราพูดแล้ว เขาไม่เอา เขาจะติดยึด เราก็ต้องอย่าไปทะเลาะกันน่ะ อาตมาไม่ได้ยุให้คุณไปตีกันนะ พูดก่อนนะ เดี๋ยวไปตีกันมา แล้วหาว่าอาตมายุไม่ถูกนะ เราต้องยอมเขา อนุโลมเขา เพราะคนส่วนใหญ่หลงใหล แล้วก็เป็นไปอย่างนั้น พวกเรานี่ เคยเข้าในวังนะ เคยเข้าในวัง วังหลวงนี่วังในหลวง นุ่งกางเกง ขาก๊วยนี่แหละ ไม่ใส่รองเท้าด้วย ผ้าขาวม้าคาดพุง ใส่เสื้อม่อฮ่อมนี่ เคยเข้าไป เขาก็ให้เข้าในโอกาส นั้นๆ เพราะข้างในให้เข้า เราก็เลยเข้าไปในชุดนี้ จนไปถึงในวังในข้างใน มันเป็นได้น่ะ ในครั้งในคราว เป็นได้ ถ้าไม่ถือกัน ถ้าถือกัน แน่นอน ก็ไปนุ่งกางเกงขาก๊วย ผ้าขาวม้าคาดพุงอย่างนั้น เขาไม่ให้ เข้าหรอก ในวัง จริง ๆ เพราะฉะนั้น ที่ใดก็แล้วแต่ ถ้าเผื่อว่าเรารู้แล้วว่า เออ! อันนี้เขาอนุโลม ไม่ได้ เขาไม่เข้าใจ ไปตีรันฟันแทงกัน ไปพูดไปว่าเขา พวกคุณเป็นทาสวัฒนธรรมเขา แล้วจะมา นั่งว่า เราไม่ใช่ไทย ไม่สุภาพ

พวกคุณนั่นสุภาพขนาดไหนกันเชียว ระวังเขาเอาปากกระบอกปืนกระทุ้งออกมา ไม่รู้จักอะไร เดี๋ยวก็เจอจนได้ เพราะฉะนั้น ก็ถึงแม้ว่า เราจะมีเหตุผล เราจะมีอะไรต่ออะไร ที่เราเข้าใจอยู่แล้ว เราก็ทำ ในที่ที่เราควรทำ ทำได้ก็พอ ไอ้เรื่องไม่รีดนี่ แหม! อาตมาไม่รีดสิไม่เมื่อย ไม่รีดก็ไม่ต้องเสียผ้า ไม่ต้อง เสียแรงน่ะ ไม่ต้องเมื่อย ไอ้นุ่งผ้าไม่ได้รีด กับนุ่งผ้ารีด ไม่เห็นว่ามันจะทำให้ตัวเองนี่ มันทุกข์ร้อนตรงไหน นอกจากความยึดติดว่า ไม่รีดแล้วมันก็ไม่เรียบ ไม่รีดนี่ไม่เรียบ แต่มี เหลี่ยมเยอะ คุณยิ่งไปรีดนั่น เหลี่ยมน้อยลงนะ เหลือเหลี่ยมไม่เท่าไหร่หรอก ไม่เสียดายเหลี่ยมบ้างหรือ หือ หรือจะหมดเหลี่ยม ด้วยแค่รีดผ้า แต่เหลี่ยมจริงๆแล้ว แหม! เยอะเหลือเกิน ใครลบเหลี่ยมไม่ได้ ฉันจะกัดกับเขา ถ้าใครมาลบเหลี่ยม ฉันก็จะกัดกับเขาล่ะ อย่างไหนแน่ จะเอาอย่างไหนแน่ ไอ้รีดหรือไม่รีด มันไม่มีปัญหาอะไรมากมาย หรอกนะ คุณไปรู้สึกเองแหละ ว้า! มันยับๆอย่างนี้ มันดูไม่งาม ก็คุณติดเองน่ะ งามหรือ ไม่งามก็กันร้อนกันหนาว กันแมลงสัตว์กัดต่อย กันอุจาด อะไรของเขาได้แล้ว ก็พอแล้วนี่ จะรีดหรือไม่รีด ก็ไม่เห็นจะมีปัญหา ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องเสียวัสดุ ไม่ต้องเสียแรงงานอะไรด้วย เรื่องรีดไม่รีดนี่ อาตมาไม่มีปัญหาหรอก ใครยังติดรีดอยู่ ก็รีดเข้าไป ผ้าอาตมา ยังมีคนเคยไปเก็บไปรีดให้เลย รีดมา แหม! เรียบเชียวนะ อาตมาก็ไม่ว่าอะไร เอ๊อ! อุตส่าห์เอาไปรีด ก็นี่ก็ไม่ได้รีดหรอกน่ะ ซักก็ไม่ได้รีด ไม่เห็นเป็นอะไร ก็ยังเป็นโพธิรักษ์ อย่างเก่า ไม่ได้ตกต่ำไป ตรงไหนเลย นุ่งผ้าไม่ได้รีดน่ะ

๔.ไม่ยิ้ม ทำหน้าเฉยๆเวลาคนไปคุยด้วย เหมือนไม่มีมนุษยสัมพันธ์ ไม่มีชีวิตชีวา

ตอบ อันนี้ก็ อาตมาก็เคยพูด แล้วก็เคยบอกเหมือนกันว่า เอาละ ไอ้อย่างนี้เราก็ต้องรู้การตอบรับ ทุกวันนี้อาตมาออกรู้สึกตัวว่า เอ๊ะ! เรานี่ชักจะมากนะ หัวเราะดังเอิ๊กอ๊ากหมู่นี้น่ะ หัวเราะเอิ๊กอ๊าก หน้าเป็นเยอะ เดี๋ยวนี้ มันจะอนุโลมมากไปหรือไง คนทักคนท้วงอย่างนี้นี่ เพราะคนโน้นท้วง คนนี้ท้วงนี่มั้ง ยิ้มมากไป หัวเราะมากไป ยิ้มแย้ม เบิกบานดี เราก็ถูกเราก็รู้ว่า โลกเรานี่โดยสามัญ มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเบิกบาน ยิ้มแย้ม ผ่องใส ดีกว่าทำหน้าปุ้มอย่างที่ว่า ใครเขาพูดอย่างนั้นยิ้ม แล้วก็ปุ้ม เอ๊! มันยังไง มันไม่มีชีวิตชีวาอย่างที่ว่า มันก็จริงน่ะ ทีนี้ไอ้ที่ว่าไม่ยิ้ม อยู่เฉย ๆ นี่นะ เราก็ต้องรู้ขนาด รู้ประมาณ รู้กาละ ถ้ามันเฉย มันก็เฉยธรรมดา คนเราถ้าเผื่อว่า เราไม่รู้สึกตัว แล้วก็ไม่พยายามกระทำให้เบิกบาน ถ้าเราทำบ่อยๆ มันจะอยู่ที่สีหน้าสีตา กล้ามเนื้อ รูปร่างอะไร มันจะเป็นอย่างนั้น คนที่หน้าเป็น ๆ อยู่เรื่อย ๆ มันจะเป็นอยู่เรื่อย ๆ ถ้าคนไม่เป็น ทำแต่หน้าบึ้ง ก็บึ้งอยู่เรื่อย ๆ มันเป็นประสาท มันเป็นเรื่องกล้ามเนื้อ เรื่องประสาท มันจะเป็นจริงๆ สั่งสมไป มันก็เป็นไป ถ้าคุณไม่สั่งสม มันก็จะเป็นอย่างใดอย่างนั้น เป็นระยะเวลานาน ๆ ปี มันจะเป็นจริง ๆ นะ แล้วมันก็จะอยู่กับตัวคุณเอง คุณอยากให้หน้าคุณ รู้สึกว่าเป็นหน้ายิ้ม หรือว่าเป็นหน้าบึ้ง ถ้าคุณอยาก เป็นหน้าบึ้ง คุณก็บึ้งเข้าไว้ นาน ๆ ๕ ปี ๑๐ ปี ๘ ปี ๒๐ ปี ชาติหนึ่ง ๒ ชาติ ๕ ชาติ มันก็บึ้งเองแหละ แต่ถ้าคุณอยากให้หน้ายิ้ม มันก็ยิ้ม รู้สึกตัวคุณก็ เออ! หน้าเบิกบาน ยิ้มแย้ม คุณก็ทำ แต่ไม่ใช่ให้มัน เกินไปหรอกนะ อยู่ดี ๆ ก็ ไปไหนก็ยิ้มเกินไปมันก็ แหม! เขาก็ว่าบ้าเท่านั้นเอง เราทำพอเหมาะพอดี รู้สึกเบิกบานในหน้า เบิกบาน ร่าเริงในหน้า มันจะรู้สึกเองนะ หน้าตา กล้ามเนื้อมันจะเป็น รู้สึกเบิกบาน ในหน้า ไม่ถึงทีจะต้องฉีกยิ้มอะไร ก็ไม่ต้องฉีกหรอก ยิ้มน่ะ ถึงเวลาจะฉีกยิ้มก็ยิ้มง่าย ๆ อะไรอย่างนี้น่ะ อาตมาเห็นด้วยน่ะ อันนี้อาตมาเห็นด้วยนะ ไม่ยิ้ม ทำหน้าเฉย ๆ เวลาไปคุยด้วย ก็เหมือน ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ มะลึ่มทึ่ม เหมือนตอไม้ ก็เกินไปน่ะ เอ้า! เห็นด้วยอันนี้ พยายามพัฒนา แล้วมันเป็นจริง

นี่เป็นหลักวิชา เอาหลักวิชาบ้าง

ถาม กิเลสมี ๒ สาย คือ สายโทสะ กับสายราคะ
สายโทสะมี ๒ ลักษณะ แยกออกไปอีก หรือ ๒ แกน คือ
๑. แกนโทสะ แกนโทสะก็มีโทสะ ปฏิฆะ ทุกข์ โทมนัส
๒.แกนพยาบาท มีพยาบาท อุปนาหะ อุปายาสะ( ว่าอย่างนั้นน่ะ)
ราคะก็มี ๒ ลักษณะ คือ ๒ แกน คือ
๑.แกนกาม เรียกว่าอบาย กามคุณ โลกธรรม
๒.แกนมานะ เรียกว่าอัตตา ที่แบ่งอย่างนี้ถูกหรือผิดอย่างไร กราบนมัสการด้วย

ตอบ อ้อ! ถูกน่ะ อาตมาก็เคยแบ่งน่ะ เคยวิเคราะห์ให้ฟัง แกนโทสะนี่เป็นลักษณะ ที่มัน อาการโกรธ นี่แหละ เป็นอย่างนั้น ๆ ที่จริงมันมีโกธะด้วยนะ โทสะนี่มันมีโกธะ ปฏิฆะ ทุกข์ โทมนัส มันมีมากกว่านี้ อาตมาเคยแบ่ง ตัวภาษาบาลีตัวชื่อ มีลักษณะละเอียดลออของมันอยู่อย่างนั้น ส่วนทางด้านพยาบาท มีความผูกพัน สายพยาบาทมี พยาบาท อุปนาหะ อุปายาสะ นี่ก็ใช่ มีปริเทวะอะไรพวกนี้ด้วย ปริเทวะ มันยังต่องแต่งติดยืด ๆ อยู่ เรียกว่า พยาบาท ไม่ปล่อย ไม่วาง ส่วนโทสะ หรือโกธะนี่ มันเป็นสายที่เกิด อาการอย่างนั้น เกิดปุ๊บ วาบ แรงก็ได้ แล้วมันก็หายไป มันไม่เนื่องไม่ต่อ สายพยาบาทนี่ โทสะก็คือ อาการอย่างนั้นแหละ โกรธ ส่วนพยาบาทนั้น อาการอย่างนั้นแหละ แต่มีเนื่องต่อ ยึดติด ต่องแต่ง เอาไว้ ใครมีนิสัย หรือมีตัวสายพยาบาท มันก็จะมีตัวนี้ ผูกเอาไว้ ต่องแต่ง ๆๆๆ ไม่ค่อยปล่อย ไม่ค่อย วางน่ะ เป็นกิเลสโทสะก็ตาม กิเลสโกรธน่ะ กิเลสเคือง กิเลสไม่ชอบใจ กิเลสอะไรนี่ ใครยิ่งผูกเอาไว้ ก็ยิ่งแย่ พยาบาทนี่ ร้ายกว่าโทสะ เพราะโทสะมันเกิดอาการนั้น แล้วมันก็จบของมัน ส่วนพยาบาทนั้น โกรธแล้วยังแถมอุบไว้อีก ต่อไว้อีก ไม่ยอมจบ ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมวาง พวกนั้น ผู้ใดที่มีพยาบาท เรียกว่า พวกนั้นโง่กว่าน่ะ ทุกข์มากกว่า อาตมาไม่อธิบายมากนะ อธิบายคร่าว ๆ นี่เท่านั้นเองนะ ไว้ก่อนน่ะ มันมีรายละเอียดอีกเยอะ พูดอย่างนี้ คุณไปสังเกตเอา อ่านเอา มันมี ๒ หลักใหญ่ ๆ นี่โทสะ

ราคะมี ๒ ว่าอย่างนั้นนะ เป็นแกนกาม กับแกนมานะ ก็ถูกนะ ราคะหรือ โลภะ เป็นแกนกาม กับแกน มานะ ถ้าจะเรียกว่ากาม ก็เรียกว่าสายราคะ ก็แล้วกันน่ะ ราคะ มานะเป็นอีกแกนหนึ่ง ราคะเป็นอีก แกนหนึ่ง เพราะฉะนั้น สังโยชน์สูง ท่านก็ยังเรียก รูปราคะ อรูปราคะ แล้วก็มานะอยู่น่ะ ถ้าจะเรียก แกนกาม เรียกว่าสายโลภะ มันมี ๒ โลภะมันมีกาม หรือ ราคะ กับมานะ ราคะ หรือกาม จะบอกว่า มีอบาย มีกามคุณ มีโลกธรรม ราคะนี่นะ มีอบาย มีกามคุณ มีโลกธรรมอะไรต่างๆ ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ได้ เป็นสิ่งที่ได้มาสมใจ ในสภาพทวารนอก หรือวัตถุรูป ก็เรียกว่า แกนราคะ หรือกาม สัมผัส เสียดสีข้างนอก

ส่วนแกนมานะนั้นน่ะ ข้างในเรียกว่าภพ อัตภาพ มันเป็นนามธรรม เป็น อุปาทาน เป็นลักษณะที่ยึดติด อยู่ในสภาพที่เป็น เรายึดไว้ เราวาด วาดเอาไว้ เราหวังเอาไว้ อยู่ข้างในใจ ไม่ต้องข้างนอก ถ้าไม่ได้ สมใจเรา เราก็ไม่พอใจ เราก็ไม่สุข หรือ เราก็ทุกข์ เพราะฉะนั้น โลภก็คือต้องได้มา ที่จริงคำว่าโลภ มันกินความหมดน่ะ มันต้องการหมด ทั้งมานะ เพราะมันโลภในตัวเหมือนกัน แต่จะไปแบ่งแล้ว ประเดี๋ยวมันจะสับสน กามทั้ง ๕ น่ะข้างนอก แล้วก็ไปสมใจข้างใน ส่วนมานะน่ะ สมใจที่นึกคิดเอาเอง สารพัดจะอธิบายหยาบออกมาข้างนอกว่า รูปอย่างนี้ เสียงอย่างนี้ เสร็จแล้ว เราก็ไปนึกฝันเอาเอง สร้างเอาเอง ทั้ง ๆ ที่รูปอย่างนี้ เสียงอย่างนี้ สร้างไม่ได้แล้วนะ สร้างไม่ได้แล้ว เหมือนกับพวกที่สร้าง จินตนิยาย บอกว่า แหม! วิเศษ ยอดเยี่ยม เก่ง สามารถ อะไรก็แล้วแต่ เยอะแยะในภพที่ตัวเอง จะวาดหวังเอาไว้ อย่างพิลึกพิลือ อย่างวิจิตร อย่างเกินมนุษย์ที่มันจะเป็นไปได้ อะไร แต่เราก็คิด อยู่อย่างนั้นแหละ ควรจะเป็น อย่างนั้น ๆๆๆ แต่มันไม่มีในโลก คือคุณก็หวังเอา วาดเอา อย่างนี้ก็ เรียกว่า เป็นสภาพของภพ อัตภาพ อาตมาใช้ภาษานี้ใหม่ขึ้นมา แทนคำว่าอัตตา ไม่อย่างนั้น มันไปซ้ำซาก แล้วพวกคุณก็ฟัง อัตตานี่ เหมือนอย่างที่ ผู้ที่ได้อธิบายคำว่า อัตตามาแล้วมากมาย มันก็จะเข้าไปหาอันเก่าอยู่เสมอ อาตมาก็จะพยายาม ฉีกภาษาออกมา เรียกว่า ภพ อัตภาพ มันคือ ภวตัณหา กับ กามตัณหา ๒ หลักใหญ่น่ะ จะเป็นอย่างนั้นเสมอจริงน่ะ

เอาละ อธิบายขยายความแค่นี้ก่อนนะ ต่อมาข้อ ๒ ถามว่า

ถาม มิจฉาทิฐิเป็นตัวเหตุ ส่วนโมหะเป็นตัวผล ใช่หรือไม่

ตอบ มิจฉาทิฐิเป็นตัวเหตุ โมหะเป็นตัวผล จะพูดว่าถูกก็ถูกน่ะ ลักษณะที่มันจะโมหะ ได้ก็เพราะ มิจฉาทิฐิ คือเห็นผิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เข้าใจว่ากงจักรเป็นดอกบัว เสร็จแล้วเราก็ไปซักซ้อม อบรมฝึกฝนสั่งสมเข้า จนกระทั่ง กลายเป็นตัวเองไปเข้าใจผิดเลย นึกว่ากงจักรนั้นเป็นดอกบัว นึกว่า ชั่วนั้นเป็นดี นึกว่าได้เปรียบมาเป็น ความได้กำไร อย่างนี้ เรียกว่า กงจักรเป็นดอกบัว ก็เลยโมหะ เพราะเข้าใจผิดมาแต่เดิม ทีนี้มาเข้าใจถูกแล้ว กิเลสที่มันเคยโมหะอยู่

ก็ต้องมาล้างมัน ล้างกิเลสโมหะ ทั้ง ๆ ที่เข้าใจถูกแล้วนะ มีสัมมาทิฐิ แล้ว แต่โมหะมันก็ยังติดอยู่ เผลอเมื่อไหร่เมา โมหะ นี่แปลว่าเมาก็ได้ มันเมา เผลอ เมื่อไหร่ก็ไปแล้ว ไปอย่างที่เมา ๆ แล้วก็ผิด เพราะฉะนั้น ต้องแก้ ต้องสติตื่น ตั้งตัวแล้วก็ แก้กลับ ๆๆๆ จนกว่าเราจะเข้าใจถูก แล้วทำลงตัว ทำจนกระทั่งลงตัว จนถูกหมดถึงจะใช้ได้

ถาม การพิจารณาอาหารก่อนฉันของพ่อท่านนั้น พิจารณาอย่างไรบ้างคะ

ตอบ อาตมาก็พิจารณาว่า การกินนี้เพื่อยังขันธ์ ไม่ได้กินเพื่อติด ไม่ได้กินเพื่ออร่อย ไม่ได้กินเพราะ หลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ได้กินเพราะหลงว่า มันเป็นศักดินา กินแล้ว แหม! หรูหรา ฟู่ฟ่าอะไรพวกนี้ คือกิเลสที่มันจะประกอบกับการกินทุกครั้งไป จะรู้ว่าการกินคือ เอาธาตุมายังขันธ์ไว้ นี่เป็นหลักสำคัญ พิจารณาแล้วตั้งใจจริง ๆ เลยนะว่า เราจะติดหรือไม่ ทีนี้เราก็เริ่มต้นกิน ก็เริ่มต้น ปฏิบัติ ตอนที่ก่อนกิน ก่อนที่จะพิจารณา ก็ได้เผลอไปแล้ว หยิบเอาไอ้ของชอบไว้แล้ว พอมาพิจารณา เมื่อกี้นี้เอ็งหยิบของชอบ คราวนี้เอ็งไม่กินได้ไหม แม้เอาไว้แล้ว เอ็งไม่กินได้ไหม ให้เพื่อนเถอะ ให้เพื่อนเถอะ เอาไหม อย่างนี้เป็นต้น แก้จิตที่มันเป็นกิเลสให้มาก ๆ แก้จิตที่เป็นกิเลส เราจะกิน อย่างผู้ที่รู้ รู้จริง ๆ รู้ว่าเราเอาธาตุขันธ์เข้าไปเลี้ยงร่างกาย ให้มันพอเป็นไปเท่านั้นเอง กินพอยังขันธ์ ให้มันอยู่ ไม่ใช่กินเพราะหลง เพราะติด เพราะอร่อย เพราะมีหรูหราฟู่ฟ่า เพราะอะไรก็แล้วแต่เถอะ เป็นการพิจารณา ตั้งใจพิจารณาอย่างนั้นทุกครั้งไป ไม่เช่นนั้นเผลอง่ายน่ะ ขนาดที่ตั้งใจแล้วนะ ขนาดปัจเวกขณ์แล้ว ตั้งใจแล้วนี่ พอลงมือกิน ปั๊บเดียวเท่านั้นแหละไปแล้ว ตั้งใจได้แว้บเดียว เท่านั้นแหละไปแล้ว อะหย่อย เผลอไปแล้ว อย่างโน้นอย่างนี้ แหม! มันไม่ค่อยเค็ม มันไม่ค่อยจะเผ็ด นะนี่ มีไหม ไอ้โน่น ไปแล้ว มันเป็นอย่างนั้น มันติดเอามาก ๆ เลย นั่นน่ะ การพิจารณาอาหาร ก่อนฉัน ทุกครั้ง ตั้งใจน่ะ ไม่เหมือนกับทาง ศาสนาคริสต์ เขาก่อนจะกินข้าว เขาก็มีการตั้งขอบคุณพระเจ้า ที่พระเจ้าประทานอาหารมาให้ ให้เราได้รับประทานอาหาร คือสายศรัทธานี่ อะไรๆ เขาก็จะยก ให้พระเจ้า เป็นอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่แม่ครัวนี่ทำแทบตาย แล้วบอกพระเจ้าประทานมา พ่อบ้านก็อุตส่าห์ หาสตางค์ไปซื้อมาแทบแย่เลยนะ แล้วบอกพระเจ้าประทานน่ะ เอ้า! ไม่เป็นไร พระเจ้ายังประทานอยู่ แต่ทำไมประทานแต่คนรวย ๆ ก็ไม่รู้ คนไม่ค่อยรวย ไม่ค่อยจะมีกินน่ะนะ พระเจ้านี่ก็ แหม! จริง ๆ นะ ประทานให้คนจนบ้าง ก็ไม่ได้น่ะ คนรวยจะไปประทานกับมันทำไม มากมาย มันมีเงินซื้ออยู่แล้วน่ะ จะประทานก็ประทาน คนจนซิเนาะ แต่คนจนไม่ค่อยประทานหรอก เขาก็ไม่ค่อยมีกินอยู่นั่นแหละ เอ้า! ก็เรื่องของเขานะ เขาจะพิจารณาอย่างนั้น ก็ขอบคุณพระเจ้า ของเราก็เหมือนขอบคุณ แต่เราไม่ได้ ขอบคุณพระเจ้า เราขอบคุณพระพุทธเจ้า ที่สอนเราให้เราพิจารณาอย่างนี้ แล้วเราก็จะได้ตัดกิเลส อย่างนี้ พอเราตัดกิเลสได้ เราก็ได้เป็นพุทธะของเรา เราก็ได้เป็นพระเจ้า เป็นพระพุทธเจ้า แต่ไม่ถึงเจ้า เป็นพระพุทธะ แล้วก็ได้คุณธรรมเรียกว่า พุทธคุณ ให้แก่ตนเองทุกทีไป

ถาม ส่วนลูกๆควรจะพิจารณาอย่างไรบ้าง

ตอบ เหมือนกัน อันเดียวกัน อธิบายไปแล้ว

ถาม ดิฉันระงับอารมณ์ตกใจตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ ร้องไห้ ไม่ค่อยได้ หน้าจึงชอบเปลี่ยนสี แล้วหัวใจก็วูบวาบเสมอ แนะนำดิฉันด้วยค่ะ

ตอบ ก็ปฏิบัติธรรม ธรรมดานี่แหละนะ ผู้ที่ยังเปลี่ยน หรือว่ายังคุมอารมณ์ หรือว่ายังทำอะไรไม่ได้ ก็เพราะว่าเราเอง เรายังไม่มีอำนาจ ไม่มีอินทรีย์ ไม่มีพละในตัว เพราะฉะนั้นจะตกใจ ตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ ร้องไห้ หรือว่าอะไรล่ะ ทำอะไรไม่ค่อยได้ จนกระทั่ง ออกมาทางกาย หน้าเปลี่ยนสี กิริยา ก็เปลี่ยนไป อะไรอย่างนี้ก็เพราะว่า เรายังไม่แข็งแรงน่ะ ไม่ต้องไปตกใจ ไม่ต้องไปเปลี่ยน แปลก ๆ อะไรหรอก ปฏิบัติธรรมนี้ให้ แข็งแรงไปเรื่อย ๆ จุดนั้นมันอาจจะเป็น จุดอ่อนของเราบ้าง ตกใจง่าย อะไรง่ายก็ตาม ไม่เป็นไรน่ะ ไม่เป็นไร ไม่ต้องไปกังวล พยายามปฏิบัตินี่แหละ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส สังวรอินทรีย์ ๖ โภชเนมัตตัญญุตา อะไรพวกนี้ อย่าไปจับเป้าที่ว่า เราจะเปลี่ยนการตกใจ ตื่นเต้น ควบคุมเฉยๆ ไม่ต้องไปเปลี่ยนเป้าโน้นหรอก ทำอันนี้ไปแล้วใจจะแข็งเอง แล้วเราจะรู้สึกธรรมดา เราจะรู้สึกแข็งแรงขึ้นมาเอง เพราะว่ากิเลสมันก็คือกาม กับมานะ เท่านั้นแหละ ยิ่งจะไปคุมที่จิตใจ แหม! ฉันจะต้องแอ๊คอาร์ตให้ดี ฉันจะไม่ตกใจง่าย ฉันจะต้องหน้าไม่เปลี่ยนสี ฉันจะต้องคุมอะไรนี่ มันไปคุมผิดท่า มันไปคุมที่มานะ มานะมันเป็นแกนสูงกว่าไอ้แกนกาม คุมเรื่องกาม เรื่องตื้น เรื่องหยาบ เรื่องอบาย เรื่องอะไรนี่ไปให้มันแข็งแรง แล้วมันจะเป็นเองน่ะ

ถาม ขอให้อธิบายคำดั่งนี้ด้วย ๑.กามล้างกามได้ ๒.มานะล้างมานะได้ วิธีปฏิบัติอย่างไรคะ

ตอบ กามล้างกามได้ หรือมานะล้างมานะได้ พระพุทธเจ้าหรือพระอานนท์เคยพูดว่า ใช้ตัณหา ล้างตัณหานี่ก็ตาม ก็คือว่า เราจะต้องรู้ว่า อันนี้คือกาม กามมันก็แปลว่า ความใคร่อยาก เราจะล้างกาม ก็คือ เรารู้ว่ากามนี่ มันมีหลายอย่าง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ใคร่อยากจะได้ลาภ ยศ อะไรก็เป็นกาม เป็นความใคร่ เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องพยายาม เราอยากจะเลิก มันก็เป็นกาม ธัมมกาโม นี่ ใคร่ในธรรม ไม่ใช่ความเลวร้าย เราใคร่ในธรรม เราใคร่ในคุณค่า เราก็เอา ไอ้สิ่งที่ใคร่นี่แหละ ล้างสิ่งที่เราไปใคร่ ที่มันเป็นฐานต่ำ มานะเราเคยได้ยินแล้วนะ มานะ ภาษาไทย แปลว่า ความอุตสาหะ บากบั่น เราก็ต้องพยายามที่จะต้องพากเพียร อุตสาหะ บากบั่น เพื่อล้างสิ่งที่ ตัวเองไปติด ยึดความดี เราอยากได้ความดี มันได้ดี เสร็จแล้วเราก็จะต้องรู้ว่า เราก็จะต้องลดล้าง สิ่งที่เราได้ดี แล้วก็ไปหลงดี ภาษามันก็ซ้อนอยู่น่ะ เพราะฉะนั้น จะต้องบากบั่น เพื่อที่จะไปล้างดี แล้วอย่าไปติดดีอีก

มานะล้างมานะ ที่จริงที่ถามมานี่ มานะล้างมานะ อาตมาไม่เคยได้ยินหรอกนะ เพิ่งเคยได้ยินนี่ ไอ้กามล้างกาม หรือ ตัณหาล้างตัณหา นี่เคยได้ยิน แต่มานะล้างมานะนี่ เพิ่งเคยได้ยินตอนนี้ แต่ก็พยายามอธิบายให้คุณฟัง คือจริง ๆ แล้ว คือใช้ความใคร่อยากนี่ตัวตัณหา หรือตัวปรารถนานี่ ตัณหาก็คือ ตัวใคร่อยาก หรือตัวต้องการ ต้องการที่จะชนะ ต้องการที่จะทำให้มันได้ดังประสงค์ คนเขามาถามเราว่า เราอยากได้นิพพานนี่ ไม่เป็นกิเลสหรือ ไม่เป็นตัณหาหรือ ใช่ แต่เป็นตัณหา ไปล้างตัณหา เป็นกิเลสไปล้างกิเลส เพราะเราอยากได้นิพพาน เราอยากได้ จะอยากได้อะไรก็แล้วแต่ อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อยู่เก่า เสร็จแล้วเราอยากได้นิพพานนี่ คืออยากได้ การที่ ไอ้ที่เป็นอยู่อย่างเก่านั่น ให้มันลบล้างไป มันก็เป็นความอยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ใครจะมา ต่อว่าเรา บอกว่า แหม! อยากได้นิพพาน มันจะไปหมดอะไรล่ะ ก็มันอยากได้นิพพาน มันก็คือ ความอยาก มันจะไปหมดอะไร หมดสิ เพราะว่าเราอยากได้ สิ่งที่มีวิธีการไปล้างความอยากนั้น เมื่อมันได้แล้ว อาตมาพูดตอนต้นเมื่อกี้ว่า ผู้ที่ได้นิพพานแล้ว ก็ไม่อยากได้นิพพาน

เพราะผู้ที่ได้จริง ๆ แล้ว ได้สิ่งที่เขาไปอยาก แล้วเขาก็ล้างความอยากได้หมดมาให้แก่ตัวเอง ตัวเอง ก็ไม่ต้อง อยากได้อะไร ให้แก่ตัวเอง แต่ความปรารถนาดี อยาก ต้องการให้คนอื่นได้ อย่างที่เราได้ดี บ้างนี่ ไม่เรียกตัณหา เรียกตัณหาเหมือนกัน แต่มันเป็นวิภวตัณหา เป็นตัณหาอุดมการณ์ เป็นตัณหา ที่ไม่ใช่ตัวกู ของกู ไม่ใช่เพื่อตัวกู เพื่อเขาน่ะ เราทำเพื่อเขา โดยเราไม่ต้องการดีการเด่น ไม่ต้องการ การชมเชย ไม่ต้องการสรรเสริญ ไม่ต้องการอะไร ที่คนอื่นเขาจะมาตอบแทนอะไรทั้งนั้นแหละ ซึ่งอธิบายกันมามากแล้ว มันซ้อนเชิง เพราะฉะนั้น ความบริสุทธิ์ ที่บริสุทธิ์ที่สุด ต้องการช่วยผู้อื่นจริง ๆ โดยไม่ต้องการอะไรตอบแทน ส่วนเขาจะตอบแทน มีกตัญญูกตเวที มีการเกื้อกูล เอื้อเฟื้อไว้นั้น ก็เป็นพฤติกรรมที่ดีของเขา พอเหมาะพอควร เมื่อผู้ใด จริง ๆ แล้วว่าไม่ต้องการอะไรบำเรอตน ก็จะรับสิ่งที่ควรรับ เป็นปฏิคาหก เป็นผู้รับสิ่งที่ควรรับบ้างเท่านั้นเอง แม้ที่สุดเขาไว้ใจให้เงินให้ทอง ให้ทรัพย์ ศฤงคารมา เราก็ไม่ได้อยากได้จริงๆ ถ้าเราจะเอามา เราก็เอามาสร้างสรร มาทำงาน มาเผื่อแผ่ต่อ เขาไว้ใจเรา เขาเข้าใจเรา เราก็รับ แล้วก็เอามาสร้างสรรสิ่งที่เป็น ประโยชน์คุณค่า ความบริสุทธิ์จริง มันจะเป็นจริงซ้อนเชิงอยู่อย่างนี้ สุดท้ายเพื่อผู้อื่น จะต้องมีความอยากให้ผู้อื่นได้ดี เรียกว่าปรารถนาดี ยิ่งจะมีความปรารถนาดีสูงขึ้น สำหรับผู้ที่หมดความเห็นแก่ตัว แต่ไม่ต้องการอะไร ตอบแทนจริงๆ แม้แต่เขาจะด่า เขาจะชมเชยยกย่อง ก็ไม่ได้ต้องการ ไอ้ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่จะต้องการ ตอบแทนนั่น ไม่มี แล้วก็ไม่ใช่จะเป็นโลกียสุขอะไร ได้ทำอย่างนี้แล้วมันหัวใจ มันที่ไหนล่ะ มันเมื่อย ทำมันก็เมื่อย แต่ก็ไม่ได้รังเกียจ มันเมื่อยก็เข้าใจ เราก็ปล่อยวาง ความเมื่อย ความขี้เกียจอะไร จนกระทั่ง ไม่ขี้เกียจ แล้วก็มีความขยันหมั่นเพียร สร้างสรรไป รู้ความจริงว่า เรามีชีวิตก็เพื่อที่จะ สร้างสรร มันเหมือนเครื่องกลน่ะ ถึงเวลาทำงานก็ทำงาน ถึงเวลาพักควรพัก ถึงเวลาเพียรก็ต้องเพียร

อาตมาถึงซาบซึ้งในคำตรัสของพระพุทธเจ้าว่า ผู้ไม่พักไม่เพียร คือผู้ถึงนิพพาน หรือผู้ข้ามโอฆสงสาร ได้แล้ว พูดถึงนิพพานแล้ว ท่านก็ตรัสแค่ว่า เราไม่พัก เราไม่เพียร เทวดามาถามปัญหาพระพุทธเจ้า อันนี้ เราไม่พัก เราไม่เพียร นี่ล่ะคือ เราถึงนิพพาน หรือเราข้ามโอฆสงสารได้แล้ว อาตมาแน่ใจว่าแหม! คนจะฟังอันนี้เข้าใจเป็นที่สุดนี่นะ จะต้องเป็นผู้ที่ถึงจริง ๆ อาตมาไม่ดูถูกคนหรอกนะ แต่ว่ามันพูดไปแล้วมันถูก คือเขายังไม่รู้ จริง ๆ คนเขาไม่เอาออกมาใช้ อันนี้อาตมาซาบซึ้งจริง ๆ แล้วอาตมาเอาอันนี้มาใช้กับพวกเรานี่ อาตมาเชื่อว่า หลายคนเข้าใจ ยังไม่ละเอียดมากนัก แต่ก็เข้าใจได้บ้างขึ้นมา แล้วก็ได้พากเพียรอยู่ เป็นคนที่ไม่พักไม่เพียร หรือเป็นคนที่เพียรนำหน้า อะไรควรพักก็ค่อยพัก พวกเรานี่ทำอย่างนี้อยู่จริงๆขณะนี้ ตามที่อาตมาเอามาให้พวกเราได้ฝึกปรือ แล้วคุณจะ ซาบซึ้งว่า อ๋อ! สุดท้ายคนเรามันอย่างนี้เองแหละหรือ มันต้องเพียรอยู่จนตายอย่างนี้ ล่ะหรือ

แม้กระทั่ง จวนจะตายแล้ว ก็ต้องเพียรอีก อย่างพระพุทธเจ้านั่น ยกตัวอย่างหลายทีแล้ว ขนาดจะตาย อยู่รอมร่อแล้ว ยังต้องเพียรอีกนะ เอ๊อ! น่าเห็นใจจริงๆ แล้วมันก็จริง ๆ ด้วย พระพุทธเจ้าท่านจะ ไม่รังเกียจ ท่านจะไม่ขี้เกียจ เออ! ก็ต้องเพียรน่ะ คนเรา มันเกิดมา มันต้องเพียร มันมีโอกาส มีเวลา ที่จะต้องทำได้ ก็ต้องทำมันน่ะ สุดท้ายมันก็จะตาย เป็นการพัก ถ้าปรินิพพานก็พักไปนิรันดร์ เป็นการพักครั้งสุดท้าย ก่อนจะพักไปนิรันดร์ ท่านก็ทำจนกระทั่ง โอกาสสุดท้ายนี่ มันเป็นตัวอย่างที่ อื้อหือ! อาตมาล่ะซาบซึ้งจริง ๆ คนเรามันต้องเพียรเท่านั้นแหละ จำไว้นะ ยิ้มรับอย่างแหย ๆ ยังไม่เต็มที่นัก ยิ้มรับ พอบอกว่า คนเราต้องเพียรนะ ยิ้มอย่างนี้หน่อยไม่ได้หรือ คนเราต้องเพียรนะ ยิ้มรับแหย ๆ หลบ ๆ ไม่ค่อยเต็มที่นัก เพราะว่ามันรู้ว่า มันก็เพียรอยู่หรอก แต่ว่า มันเพียรน้อย มันขี้เกียจมากหน่อย มันเป็นเลือด มันเป็นสันดาน มันเป็นอะไรก็แล้วแต่ มันจริง ๆ คนเราใช่ไหม คนเราเป็นคนเพียรที่อย่างเต็มใจ แล้วก็ฝึกฝนได้ ดี ๆ มันจะไปจนตรงไหนนะ ขนาดไอ้โจร มันเพียร ไปเที่ยวได้ปล้น มันยังรวยเลย แต่มันก็อาจจะเจอ ตำรวจจับ สักวันหนึ่ง ปล้นบ่อย ๆ ก็จับ โดนไว ๆ เหมือนกันล่ะนะ เพราะฉะนั้น คนเราไม่ได้เป็นโจร เราเป็นสุจริตชน เราเป็นคนขยันหมั่นเพียร ทำสิ่งที่ ควรกระทำ สัมมาอาชีพ สัมมากัมมันโต สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ อะไรอยู่นี่ โอ๊! มันไม่มีทาง จนหรอก ไม่มีทางจน แล้วไม่มีทางขาดทุนด้วย เพราะเราสร้าง เมื่อเราสร้างเราก็มีผลผลิต เมื่อเรา ทำงาน มันก็ต้องมีผลผลิต คุณค่า เราแบ่งกินแบ่งใช้ แล้วเราก็มาหัดกินน้อยใช้น้อยให้มันลงตัว ให้มันไม่ต้องไปผลาญ ไปเปลืองอะไรด้วย มันจะไม่เหลือยังไง แหม! คุณฟังสูตรนี้ให้ชัด ๆ เถอะ รับรองไม่ล่มจมหรอก ชาติไหน ประเทศไหน มนุษย์ที่ไหน ๆ ก็แล้วแต่ ไม่มีล่มจม ขอให้ปฏิบัติได้ลงตัว ไอ้จุดนี้เถอะ ท้าทายจริง ๆ อาตมาท้าทายให้มาพิสูจน์เลยจริง ๆ ไม่ต้องกลัวหรอกว่า จะล่มจม ต่อให้มันอยู่โน่นแน่ะ กลางทะเลทราย มันก็จะปั้นทรายเป็นน้ำได้ ไม่ต้องกลัวจริง ๆ

ถาม อโศกมีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างไร ขอให้พ่อท่านเจาะลึกรายละเอียดสักคืน (คืนวันมาฆฯก็ได้)

ตอบ แน่ะ มาล้วงตับเรา อโศกมีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างไร ขอให้พ่อท่านเจาะลึก ละเอียดสักคืนหนึ่ง สักคืน โอ้โห! เอาทั้งคืนเลยหรือ คืนวันมาฆฯก็ได้ ก็เป็นคำถาม หรือเป็นสิ่งที่ ต้องการรู้ให้แน่นแฟ้นนะ อาตมาว่า ผู้ถามนี่ คงอยากจะรู้แน่นแฟ้น มีความผูกพันกับ พระพุทธศาสนา อย่างไร ถ้ามีอะไรหยาบ ๆ พอจะบอกเป็นเนื้อเป็นตัวให้ฟัง ก็อยากจะฟัง อะไรอย่างนี้ คงอย่างนั้น ล่ะนะ

อาตมาไม่อยากจะให้พวกเรานี่นะระเริง แล้วไม่อยากจะเอาว่า เอาอันนั้น อันนี้มาพูด เพื่อที่จะยกอ้าง ขึ้นมาด้วย มนุษย์มนา ก็ไม่รู้เรื่องด้วย คุณก็ไม่รู้ ใครก็ไม่รู้ แล้วก็กลายเป็นเรื่องนิยมนิยายนิทานอะไร แต่ดูแล้วเขื่อง ๆ ดูแล้วก็ อื้อหือ! เข้าท่านะ นี่แบบนี้ หลอกกินดิบก็ได้อะไรนี่ มันใช้กันมานานแล้ว คนใช้ไอ้สภาพพวกนี้หลอกกันมานานแล้ว อาตมาไม่ค่อยอยากทำ อาตมาอยากจะทำสิ่งจริง ที่ทำลงไปแล้ว คุณก็รู้ด้วยน่ะ ปัจจุบันธรรมนี่ยิ่งดี พูดกันรู้เรื่อง พิสูจน์เหตุ พิสูจน์ผล พิสูจน์สัจจะ ว่ามันจริงอย่างนี้ มันดีอย่างนี้ ๆๆๆ แล้วใครจะเอามาย้อนแย้งอาตมาไม่ได้ อาตมาจะพิสูจน์ความจริง อย่างนี้ ไอ้สิ่งที่มันไม่รู้เรื่องไม่รู้ราวนั่น มันเหมือนบ้า มันเหมือนบ้า แล้วมันก็หลอก เป็นเชิงหลอก อาตมาไม่ต้องการ ใคร ๆ เอามาทำ อย่าไปหลงเชื่อนะ ขนาดอาตมายังไม่ใช้น่ะ ขนาดอาตมายังไม่ใช้ แล้วคนอื่นเอามาใช้ แล้วคุณก็ไปหลง ถ้าอาตมาพาทำวิธีนี้แล้วนะ พวกที่จะมาทำตาม อาศัยหลอกกินนี่ มันจะมีขึ้นมาก

ขนาดที่อาตมาไม่ทำ ยังมีหลอกกินเลยน่ะ มาหลอกว่าระลึกชาติได้นะ แมวขโมย โอ้โห! อาตมา จะเจ็บอก จะตกตาลตาย เธอนี่ แต่ก่อน ปางก่อน ชาติแต่ก่อน ก็เกิดมาเป็นผัวเมียกันน่ะ ชาตินี้ เราจะไปไหนเสียเล่าน่ะ แต่ปางก่อนนั่น เป็นผัวเมียกันมาตั้งหลายชาตินะ หลอกกินอย่างนี้ แล้วก็เชื่อ อะไร ๆ ไป แล้วก็ แหม! พังยับเยินกันมา อาตมาเอง เจอไอ้แบบนี้ ไอ้เรื่องอย่างนี้ อาตมากลับมาสอนว่า ถึงแม้คุณจะเป็นคู่กรรมคู่วิบากกันจริง ๆ เลยนะ มาขนาดไหน ก็ต้องมาพรากทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้อง มานั่งทวงเอา แล้วก็มานั่งตีกินกลับไป คิดให้ทันนะ คนโง่ ถูกหลอกเอา ทั้งนั้นแหละ ไม่รู้ผู้หญิง จะไปหลอกผู้ชายบ้างหรือเปล่า เธอน่ะเป็นคู่ฉันมาแต่เดิมแล้วนะ ควรจะมาอยู่กับฉัน ไม่รู้มีหรือเปล่า แต่ผู้ชายไปหลอกผู้หญิงน่ะมี แหม! จะพังมาไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ หลอกทำเป็นระลึกชาติได้ ทำเป็นแต่เก่า แต่ก่อน อย่างโน้นอย่างนี้ คนที่เจตนาทำอย่างนี้น่ะ เป็นคนเจตนาไม่ซื่อแล้ว แล้วก็ไม่เข้าใจสัจธรรม ยิ่งมาเป็นนักปฏิบัติ อยู่ในนี้ ยิ่งอย่างนั้น ยิ่งต้องเลิกมาก ๆ ก็มันเป็นคู่ตุนาหงันมา ก็ต้องรีบพราก ให้มาก ๆ แยกให้มาก ๆ มันถึงจะถูกต้อง เพราะฉะนั้น ถ้าใครมาหลอกอย่างนั้นแล้ว รู้ไว้เลยว่า คนนี้นี่กิเลสเข้า กิเลสเข้าแหง ๆ ไม่ได้มาตั้งใจปฏิบัติธรรม ฟังให้ดีนะ กิเลสเข้าแหง ๆ เลย ใช่ไหม

ก็มาปฏิบัติธรรมเพื่อจะเลิก ขอให้ยิ่งเป็นคู่ชัด ๆ จริง ๆ ด้วยนะ เป็นคู่ชัด ๆ ยิ่งต้องมาละเลิกให้มาก ๆ เพราะมันผูกพันมาก จึงจะเจตนาตรง ถ้ายิ่งบอกว่า ไม่ได้หรอก จะต้องชาตินี้ก็ต้องไปก่อนน่ะ ก็กิเลสน่ะซี มันจะขึ้นแล้วน่ะ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง คุณไปแต่งงานกับคนใหม่ มันจะได้ไม่ผูกพันมาก ก็ยังดีกว่า ยังเบากว่า มันยังล้างง่ายกว่า ไอ้คู่เก่ายิ่งไปย้ำเติม ๆๆๆ เข้าไปอีก ฉิบหายซี คุณพี่ ฉิบหาย อีกกี่ชาติล่ะ คิดให้ดีนะ คิดให้ถูกนะ ไม่สมควร ไม่สมควร ยิ่งเป็นคู่ ยิ่งต้องพรากให้จัด ต้องเข้าใจ ให้ถูกทางเป็นสัมมาทิฐิ อย่าไปถูกหลอก เพราะฉะนั้น ใครจะเอานิยายนิยมพวกนี้มาหลอกนะ เชิงอะไรต่ออะไรต่าง ๆ นานา พวกนี้นะ อย่าไปเสียท่า

อาตมาก็ไม่รู้จะทำยังไง ถูกพวกเราล้วงกินตับ แหม! อาตมาจะพังมาหลายทีแล้ว อาตมาก็ไว้ใจ นึกว่าตัวเองเก่ง ที่สอนเขาถูกแล้ว ที่ไหนได้ พวกผีมารพวกนี้ มาแอบ ไม่รู้จะทำยังไง มันก็มีบ้าง อาตมา ก็จำนนน่ะ พยายามตั้งใจดี ๆ อย่าให้อาตมา ต้องมาทำอะไรที่มัน แหม! เอาบุพเพนิวาสานุสติญาณ มาเล่ามาบอก นี่ยกตัวอย่างบางเรื่อง บางเรื่องก็เหมือนกัน อย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าอาตมาจะเก่ง เก่งเดี๋ยวนี้สิ ทำไมจะต้องไปอ้าง ไปเล่าที่คุณไม่รู้ว่า เก่งจริงหรือไม่ ไม่รู้ มีดี ๆ มีโน่นมีนี่ ตั้งแต่ปางไหน ๆ ยังไง ๆ คุณก็ไม่รู้ เอามาอ้างคล้าย ๆ มาประโลมคุณไว้ คนตั้งใจ จะประโลมคุณต่างหาก เขาถึงเอา สิ่งที่คุณ ตามรู้ไม่ได้นั้นมาอ้าง เพื่อสร้างอลังการของตัวเอง เพื่อสร้างคุณค่าของตัวเอง ให้คุณหลงเชื่อ ศรัทธาเลื่อมใส ถ้าอาตมาไม่เล่าให้คุณฟัง อาตมายิ่งเก่งต่างหากล่ะ ถ้าอาตมา เล่าให้คุณฟัง เพราะอาตมาไม่เก่ง ต้องไปเอาไอ้โน้นมา มาเป็นเครื่องประกอบ ให้คุณศรัทธาเลื่อมใสเชื่อ ยอมจำนน แล้วคุณก็ ไม่รู้จริงด้วย อาตมาพูด คุณจะรู้ด้วยกับอาตมาได้ยังไง ใช่ไหม ไม่เข้าท่า ฟังให้ดีๆนะนี่ อาตมาใช้เหตุผล มาพูดให้คุณฟัง เพราะฉะนั้น คนเราคิดกลับ ไอ้นี่เก่งจริง ต้องระลึกชาติ มาให้ข้าฟังสิ แล้วระลึกจริงหรือเปล่า พวกคุณก็ไม่รู้ อย่างที่ว่า

ถึงเวลาตื่นแล้วหรือ (ผู้ฟังหัวเราะ) ทำไมตื่นสายนัก ตี ๕ ครึ่ง ฟังให้ดีนะ เพราะฉะนั้น อย่าไประลึก อย่างนั้นมากมาย ไม่ดีนักหรอก เอาละ อาตมาฟังไว้ จะระลึกอะไรให้ฟังเหมือนกันนะ ว่าความผูกพัน กับพระพุทธศาสนา เป็นอย่างไร จะเจาะลึก แต่ว่าจะไม่เป็นอย่างที่คุณหมายนะ บอกไว้ก่อน อย่าอกหัก

ดี อาตมาตั้งใจอยู่เหมือนกันว่าจะเจาะลึกความสัมพันธ์ผูกพันถึงศาสนา โน่นนี่อะไร จะอธิบายอะไร ในนัยเหตุผล และสิ่งที่ควรจะเป็น ที่เราควรจะกระทำนี่ให้ มาก ๆ เอาละ ไว้พบกัน วันมาฆบูชา

ถาม ตั้งแต่พ่อท่านเริ่มปฏิบัติธรรม จนออกบวชนั้น ใช้เวลากี่ปี

ตอบ จริงๆแล้วนี่นะ อาตมาปฏิบัติธรรมนี่นะ จะบอกให้ว่าการปฏิบัติธรรมนี่ พระพุทธเจ้าปฏิบัติธรรม ๖ ปี ว่างั้นนะ ที่จริงท่านไม่ได้ปฏิบัติธรรมหรอก ๖ ปี ท่านไปทำสิ่งที่พระมหาโพธิสัตว์ ที่จะต้องไปเก็บ สุดท้าย แล้วมันเป็นเรื่อง มิจฉาทิฐิ ทั้งนั้นแหละ ๖ ปี พระพุทธเจ้าที่ทำไปนั่นน่ะ ใครไปปฏิบัติตาม พระพุทธเจ้านะ ลงทะเล ยะเยือกเย็นหมดเลย ไม่ได้เข้าท่า

แต่พระพุทธเจ้ามาเริ่มต้นสอนนี่ ฟังดี ๆ นะ ใครศึกษาประวัติพระพุทธเจ้ามาแล้ว ใน ๖ ปีนั่น ท่านไปทรมานตน ไปกินขี้ กินเยี่ยว ไปศึกษากับฤาษีอาฬารดาบส อุทกดาบส มันออกนอกทางหมดเลย มิจฉาทิฐิทั้งนั้น แต่ท่านเองเป็น พระมหาโพธิสัตว์ ท่านไปสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้น ไปลองของตัวเอง ว่าตัวเองจะหลงผิดไหม ตัวเองจะเพริด ไปกับไอ้เรื่องงมงาย เหล่านั้นไหม หรือว่าจะรู้ตัวทัน ไม่มีใคร บอกท่านหรอก ท่านจะรู้ตัวท่านเอง และเป็นเรื่องที่ไม่ถูก เพราะฉะนั้น ถ้าใครเข้าใจผิดว่า โอ๋! พระพุทธเจ้า ท่านปฏิบัติธรรม ๖ ปีนั่นน่ะ แล้วก็ไปปฏิบัติตาม ที่ท่านปฏิบัติ ๖ ปีนั่นนะ เสร็จ

ส่วนที่ท่านมาสอนมนุษย์นั่นน่ะ ของที่ท่านได้มาเก่าแล้ว มรรคองค์ ๘ ท่านตรัสรู้ ไม่มีใครบอก ท่านหรอก และอาฬารดาบส ก็ไม่ได้บอก ไปนั่งอดข้าวอดน้ำจนแห้ง ก็ไม่ได้มีบอก เกินด้วย ห้ามทำด้วย ใช่ไหม ไปอะไร อีกล่ะ ไปกินขี้ กินเยี่ยว ไปทรมานตน เขย่งเก็งกอย อะไรต่าง ๆ นานา มหาศาล เยอะแยะน่ะ ก็เป็นเรื่องนอกรีตหมดเลย ไม่ได้เอามาสอนในพุทธนะ บอกว่าเรื่องเหล่านี้ โยนทิ้งได้เลย ไม่ต้องไปปฏิบัติ ท่านเอามรรคองค์ ๘ มาสอน ซึ่งท่านไม่ได้ไปเรียนกับ อาจารย์ไหน ไม่ได้มาปฏิบัติ อยู่ในตอนที่ท่านออกบวช ๖ ปี ไม่มี

อาตมาก็คล้าย ๆ กัน อาตมาออกไปเล่นทางไสยศาสตร์ ทางไหน ๆ อย่าไปตามอาตมาน่ะ ไปเล่นทาง วิทยาศาสตร์ เรื่องจิต เรื่องอะไรนั่น มันเป็นเรื่องของอาตมา ฐานะอาตมา เล่นอยู่นานปีเหมือนกัน พระพุทธเจ้าไปปฏิบัติ ๖ ปีของท่าน เพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ อาตมาไม่ได้บรรลุ สัมมาสัมโพธิญาณหรอก อาตมาไปเล่นไสยศาสตร์อยู่ ๘ ปีน่ะ จะว่าพุทธหรือไม่ มันก็ไม่ใช่พุทธ แต่มันก็เป็นแนวทางที่จะเข้ามาหาเรื่องจิต มันมีอะไรอันหนึ่ง ที่ดึงอาตมาไว้ คือจิต อาตมาจะต้อง ตามจิต จิตมันเหมือนกับสิ่งที่อาตมาจะต้องได้ อาตมาได้แล้วหรือไม่ได้ มันก็ต้องมีอยู่อันนั้นแหละ พระพุทธเจ้าท่านมีแล้ว ทฤษฎีมรรคองค์ ๘ ท่านก็เคยมาแล้ว อย่างที่อาตมาเคยอธิบายว่า เอ๊อ! ไม่มีปัญหาหรอก ท่านมีอะไรของท่านใน ๆ ท่านจะมาตรัสรู้ เอาไม่เร็วไม่นานนี้ แล้วท่านจะไปได้ อะไรมามาก ๆ มาย ๆ มาสอนคน ไม่พอหรอก ท่านสั่งสมมานานนับชาติ นั่นคือคุณธรรม คือบารมี คืออะไรมากมายหลากหลายแล้ว ที่จะมาสอนคน ๔๕ พรรษา ไม่ใช่ศึกษาเอา ๖ ปี ไม่ ไม่ใช่ แล้ว ๖ ปีนั้นก็ไม่ได้เอามาสอนด้วย อย่างที่บอกแล้ว ใช่ไหม ตามประวัติศาสตร์ ใครก็เรียน ประวัติของ พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้เอาอันนั้นมาสอน ห้ามด้วย ห้ามไม่ให้พวกเรา อย่าไปยุ่งเกี่ยว นอกรีต นอกเรื่อง อย่างที่ท่านสอนนั่น ท่านไม่ได้เรียน ๖ ปีนั้นเลย แต่ท่านมาสอนตั้ง ๔๕ พรรษา สอนกันจนไม่หมด เรียนกัน หูหักหูพัง เป็นของเก่า นี่คนไม่ค่อยเข้าใจ แล้วก็หาว่าอาตมานี่มาพูด นอกรีต นอกเรื่อง นอกทาง แล้วเขาก็จะเรียนอะไร เอาละ อาตมาเองไม่มีปัญญาพอที่จะไปสาธยาย ลบล้างเขา แต่คุณฟังไปเรื่อย ๆ คุณจะเข้าใจ

อาตมาเองอาตมาปฏิบัติธรรมนั้น จะบอกว่าอาตมาไปไสยศาสตร์ มันก็เป็นทางที่อาตมาต้องเดิน คุณไม่ต้อง มาเอาอย่างหรอก อาตมาไปศึกษาอันโน้นอันนี้ อะไรนอก ๆ เรื่อง มันก็ไม่เข้าท่า แต่ว่า อาตมาก็ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ต้องปฏิบัติ ท่านก็เข้าทางของท่านปั๊บ บรรลุ เพราะท่าน มีหมดพร้อมแล้ว ท่านมาเก็บไอ้ตัวสุดท้ายนิด ๆ หน่อย ๆ อาตมาก็มาปฏิบัติบ้าง ก็ต้องมาปฏิบัติ ซึ่งอาตมาบอกว่า อาตมาปฏิบัติเอง ก็ปฏิบัติมรรคองค์ ๘ ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนวละชั่ว ประพฤติดี ที่อาตมามีภูมิปัญญาของอาตมา อาตมาก็ทำ ๆๆ เอง ทำแล้วก็ได้ก็รู้ มันก็เป็นหลัก มรรคองค์ ๘ นั่นแหละ ถ้าเริ่มต้นมาปฏิบัติมรรคองค์ ๘ จริง ๆ อาตมาก็เคยเล่าให้พวกเราฟังว่า ก็ในราว ๒ ปี ถ้าจะบอกว่าเยื่อตำตามา ที่ไปเล่นเรื่องจิตเรื่องอะไรมา มันก็ลดก็ละอะไรมาเหมือนกันนะ ตอนที่เล่นไสยศาสตร์ เล่นอะไร ก็ลดก็ละบ้างเหมือนกัน แต่มาตั้งใจจริง ๆ นี่บอกว่า หยุดละเรื่องพวกนี้ จะปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว ไปหาหนังสืออะไร ๆ มาอ่าน มาสังวรระวังนี่ก็ในราว ๒ ปีน่ะ ก็เท่านั้นเอง แล้วมันก็ได้เล่นวิทยาศาสตร์ทางด้านจิต โดยมีจิต คำว่าจิตนี่จะต้อง จิตบริสุทธิ์ หรือ จิตจริง ๆ เป็นอย่างไร เป็นแกน ตัวนั้นล่ะเป็นของ.. ซึ่งอาตมาก็มีของตัวเอง ไม่ต้องไปยากอะไร เพราะว่า มันมีบารมีอยู่แล้ว มันก็ไม่ยาก พวกคุณไม่มีบารมี พวกคุณต้องสั่งสม มันยากก็ต้องทำ ยากยังไง คุณก็ต้องทำให้ได้ ได้แล้วมันถึงจะเป็นของเรา

ถาม ที่เคยเล่าว่า ตัดเพลงได้หลังสุดนั้น พ่อท่านมีการต่อสู้อย่างไร มีอาการจิตอย่างไร พิจารณาอย่างไร จึงหลุดพ้นออกมาได้

ตอบ ก็พิจารณาเหมือนทุกๆอย่างนั่นแหละ ก็เห็นจริงให้ได้ว่า สิ่งอย่างนี้มันก็เป็นสังขาร จะไปยินดี ในเพลง ยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อะไรก็ตามแต่ มันก็เป็นเรื่องของสังขารธรรมทั้งนั้น ซึ่งเราจะต้องพิจารณาวางปล่อยจริง ๆ วางด้วยการหยุดดื้อ ๆ สมถภาวนา กับวางด้วยการเห็น ด้วยเหตุด้วยผลจริงๆเลยว่า โอ๊! สิ่งนี้เราหลงมี อาการติดของเรา เป็นอาการ ลิงคะ นิมิต อย่างไร ให้มันน้อยลง อาการนั้นต้องน้อยลง อาการติด อาการยึด อาการยังดูดดึง อาการยังหลงใหล ได้ปลื้ม มีอร่อย มีอัสสาทะ อะไรก็แล้วแต่ เห็นจริง ๆ แล้วมันลดน้อยจริง ปฏิบัติด้วยเหตุผล ด้วยสารพัด เหตุผลเลย คุณต้องหาให้มันมากมาย หาเหตุผลให้มันจริง ๆ เลย อ๋อ! มันไปติดอยู่ มันก็โง่อยู่ อย่างนั้นแหละ มันเหลืออยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าเราไม่ติด ไม่มีอาการนั้น ทำให้เกิดที่เรา ไม่เกิดอาการ นั้นให้ได้ สรุปง่าย ๆ ทั้งวิธีที่มันจะหยุดเฉย ๆ ทั้งวิธีเหตุผล วิธีที่จะต้องรู้แจ้งเห็นจริงเลย จนจำนน ต่อเหตุผลตัวเองน่ะ จนเห็นจริงเลยว่า มันมีฤทธิ์มีแรง ด้วยอำนาจของเหตุผล มีฤทธิ์มีแรง เห็นความเป็นกิเลสตัณหา ที่เหลือน้อยก็ตาม มันลงไปเลย มันหายไปเลย มันยอมไปเลย มันอ่อนไปเลย มันจางไปเลย คุณต้องรู้ว่า ความจางคลาย วิราคานุปัสสี ความจางคลาย มันเป็นอาการอย่างไร คุณต้องเห็นด้วยญาณของคุณว่ามัน เออ! ของคุณจางออกไปแล้ว เออ! บางทีมันวูบหายไป เออ! ทันที เห็น คุณต้องเห็นเองนะ มันไม่มีตัวตน แต่มันก็มีอาการนิมิตเครื่องหมาย ให้เรารู้ได้ อาการของมัน คุณจะต้องมีญาณ จับสภาพพวกนี้ จับสภาวะพวกนี้ออก ถ้าคุณจับไม่ได้ จับสภาวะพวกนี้ไม่ออก คุณก็ไม่มีดวงตา คุณก็ไม่มีญาณ ไม่มีตาทิพย์ คุณมีตาทิพย์พวกนี้ คือ เจโตปริยญาณ คุณต้องรู้ว่า นี่ราคมูล โทสมูล โมหมูล เจโตปริยญาณ ๑๖ น่ะ ไล่ไปอีกประเดี๋ยวก็ ๖ โมง ขยายอีกก็พอดี ๖ โมงทันที เพราะฉะนั้น ก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจ ก็แล้วกันว่า คุณต้องรู้จริงเห็นแจ้งอย่างนั้น ปฏิบัติจริง ๆ อาตมาก็ปฏิบัติ อันไหนที่มันเหลือก็ทำ อันไหนที่มันอยู่ก็ทำต่อ ก็ถึงจะเห็นจะเข้าใจ แล้วมันก็หมด ไปเองน่ะ

ถาม พ่อท่านรักกันกับแฟนคนล่าสุดกี่ปี

ตอบ กี่ปีหรือ รักนี่หมายความว่า คืออาตมาเองนี่นะ แหม! จะบอกว่ายังไง แฟนคนล่าสุดนี่คือ ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่อาตมารู้จักกับเขามา ตั้งแต่เขายังเรียนหนังสืออยู่ แต่ตอนนั้นก็สัมพันธ์กัน ก็คบหา กันมา จนกระทั่งอาตมารู้สึกว่า อาตมาสนใจ แล้วก็ เอ๊! ผู้หญิงคนนี้ ตอนที่เขาจะเดินทางไปนอกนะ จะไปเรียน อาตมาก็ เอ๊ะ! อาตมาก็ทำก้อร่อก้อติก กับเขาอยู่แล้วล่ะนะ แล้วเขาก็ไปเรียนนอก ตั้งหลายปี ก็กลับมา พอกลับมานี่ อาตมาก็สัมพันธ์ใหญ่เลย ก็ไม่รู้จะนับ ตั้งแต่เมื่อไหร่ล่ะ แหม! มันตอบตายตัวยากนะ อาตมาก็ไม่ได้มานั่งเรียบเรียงไว้ ไม่ได้มานั่งไล่ จะรู้ไปทำไม กี่ปีก็ช่างมันปะไร ก็เลิกได้แล้ว ก็สบายแล้ว (ผู้ฟังหัวเราะ) จะอยู่กี่ปี จะไปรักกันอยู่กี่ปี ก็ช่างมันเถอะนะ

ถาม และตั้งแต่รู้สึกว่าพยายามเลิก ใช้เวลาเท่าไหร่

ตอบ ก็มาปฏิบัติธรรมนี่ก็เป็นแฟนคนสุดท้าย อาตมาปฏิบัติธรรมกับแฟน ที่จริงอาตมา ใฝ่ธรรมปฏิบัติ อะไรอยู่นี่ ปฏิบัติเล่นไสยศาสตร์ เล่นอะไรอยู่นี่ ก็แฟนคนก่อน ที่ก่อนคนสุดท้ายนี่ ก็ไปทำแล้วล่ะ เล่นไสยศาสตร์ เล่นอะไร เขาก็ว่าอาตมาไปปฏิบัติธรรมนะ ไปทำไสยศาสตร์ ไปทำโน่นทำนี่ เพราะมัน ต้องมี พระพุทธรูปบูชา จุดธูป จุดเทียน ทำอะไร เล่นไสยศาสตร์นี่ ก็แฝงอยู่กับพระพุทธรูป เหมือนกันนะ โอ๊! จุดธูป จุดเทียน เล่นนั่นเล่นนี่ มีพระพุทธรูป เต็มบ้านเลย เต็มห้อง เต็มหับเลย ปลุกเสกเอง ทำอะไรเอง มันก็เหมือนเกี่ยวกับพุทธศาสนาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เขาก็ว่า เราปฏิบัติธรรมเหมือนกัน เป็นอย่างนั้นน่ะ ตั้งแต่แฟนคนก่อนคนสุดท้ายนี่ เขาก็ว่าอาตมาปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น แฟนคนสุดท้าย มาสัมพันธ์ขึ้นมาแล้ว เลิกกับแฟนคนนั้นไปแล้ว มันก็ต่อเนื่องกันมา อยู่นั่นล่ะ น่ะ ก็เป็นแฟนกันไป จนกระทั่งสุดท้ายก็ อาตมาก็ปฏิบัติจนจี๋จ๋าทางธรรมะมันมาก จนกระทั่งเรา เอ๊! แฟนนี่ มันก็ต้อง เลิกด้วยนะ ก็มาบอก จะเลิกกันจริง ๆ ก็บอกเลิก เขาก็มาปฏิบัติ พากันปฏิบัติ เขาก็ปฏิบัติ แต่เขาไปไม่ได้ สุดท้าย อาตมาก็บอก เอ๊! ถ้าไปไม่ได้ อาตมาต้องไป คนเดียวแล้ว ก็บอกเขา เขาก็ว่าไปไม่ได้ ไปไม่ได้ เขาต้องปล่อยอาตมา ทีหลัง ถ้าบอกกัน บอกว่า จะต้องเลิกรา จะต้องพยายามห่างจากกันนี่ มันบอกตายตัวไม่ได้ มันค่อย ๆ คลายมา จนกระทั่งค่อย ๆ บอก ค่อย ๆ หาวิถีทางที่จะจากกัน ภายในปีท้ายน่ะ ปีสุดท้าย ก็บอกจากกัน เขาก็จาก ปีสุดท้าย เขาก็ปล่อยอาตมา

อาตมาก็มาปฏิบัติธรรม พอปล่อยแล้วก็ปฏิบัติไป ไม่ช้าไม่นานอาตมาเลิก เข้าวัดเข้าวาไปเลย ทิ้งสมบัติ อะไรต่ออะไรไปหมด แต่เขาก็ว่าเขายังสัมพันธ์ เขาก็ยัง เขาไม่กล้ามาพบหรอก เลิกใหม่ ๆ เขาไม่กล้า มาเห็นหน้าอาตมา ตั้งหลายปี อาตมามาบวชแล้วตั้งหลายปี ค่อย ๆ เข้ามาพบ พบก็ไม่กล้ามาพบ บ่อยน่ะ ทุกวันนี้เขาก็ยังไม่กล้ามาพบ อย่างจี๋จ๋าเท่าไหร่ นี่มาเมืองไทย ไม่ค่อยกล้าเข้ามาพบเลย คราวที่แล้วมา ได้ข่าวว่าเขามา พวกน้อง ๆ คือน้อง ๆ ของอาตมานี่ เขาก็สนิทสนม คบกันอยู่อย่าง สนิทสนม ทุกวันนี้เขาก็ยังคบกันสนิมสนมอยู่ เขาก็ติดต่อกัน จะไปจะมาอะไร เขาก็ยังติดต่อ กันอยู่เสมอ กับแฟนคนสุดท้ายนี่ เขามาเขาก็รู้กัน เขาก็ส่งข่าวมาบ้าง บอกบ้าง เขายังไม่มาพบเลย อาตมาถาม เอ้า! เขากลับไปแล้วหรือ บอกกลับไปแล้ว ทำไมไม่มา โอ๊ย!เขายุ่งงานโน้นงานนี่ อาตมาว่า แก้ตัวมากกว่า ยุ่งไอ้โน่นไอ้นี่เลยไม่ได้มา ไม่ได้มาหา เคยมาวัดครั้งเดียวเท่านั้นน่ะ ใครโชคร้าย หรือโชคดีก็แล้วแต่ ได้เห็น ก็เห็นไปแล้ว ตอบไม่ได้นะ อาตมาตอบ อยากจะให้รู้วิธีการไว้ ช่วยเล่า ให้ละเอียด มันไม่เหมือนกันหรอกคุณ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ขอบอกได้ว่า ไม่เหมือนกัน บางคนเก่ง ๆ หน่อย ในเรื่องนี้ไม่ยาก อาจจะเร็ว บางคนไปยากในเรื่องอะไร อื่น ๆ ซึ่งไม่เข้าท่าอะไร เรื่องนี้อาจ ไม่ยากก็ได้ มันไม่แน่ แต่ที่จริง ไอ้เรื่องเกี่ยวกับ ผู้หญิงผู้ชาย เรื่องเกี่ยวกับคู่นี่ มันนัวเนียเหมือนกันนะ เพราะว่ามันเป็นแกนของการเกิดของสัตว์โลก มันก็นานก็ช้า เพราะฉะนั้น มันยิ่งนานยิ่งช้า มันยิ่ง นัวเนียนี่ ยิ่งต้องอย่าไปเล่นกับมัน

ยิ่งต้องรีบตัด ยิ่งต้องรีบวาง ยิ่งต้องรีบจัดการ อย่ามานั่งหาเหตุผลว่า จะต้องอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างที่ อาตมาพูด แต่ต้นแล้ว ไม่ได้ เหลาะแหละกับมันไม่ได้ มันเหลี่ยมเยอะ มันเหลาะแหละ มันต้องเอา ยิ่งเอาให้ได้ก่อน เด็ดขาดไปเลย ยิ่งดีใหญ่ แล้วมันจะมีเรื่องราวมากนะ นัวเนีย ๆ อย่างโน้นอย่างนี้ มีเหตุปัจจัยอะไรมากมาย มันเหลือเกินเหลือกินน่ะ เพราะฉะนั้น รู้ไว้ ใครเองใครว่างมาได้ อย่าไป หาเหตุ หาผลหาอะไรมาสนับสนุน เพื่อที่จะไปเที่ยวได้ล่วงล้ำเข้าไป เป็นอันขาดน่ะ เห็นคุณค่า ของความเป็นโสดหน่อยซี ผู้ตั้งตนเป็นคนโสด เขาเรียกว่าบัณฑิตนะ ผู้ใฝ่ในเมถุน มันก็ตรงกันข้าม กับบัณฑิต ก็คือคนโง่ใช่ไหมเล่า อย่าโง่ อยากโง่ก็ทำเองก็แล้วกัน ใฝ่ในเมถุนเป็นคนโง่น่ะ ผู้ที่ท่าน ไม่ให้ใฝ่เมถุน ผู้ที่ตั้งตน เป็นคนโสดนั่น ท่านเรียกว่าบัณฑิต บัณฑิตก็ผู้ฉลาด ผู้ที่ใฝ่ในเมถุน โง่ อย่าไปงอแง เอาให้มันชัด ๆ เห็นคุณค่าให้มากว่า อยู่ว่าง ไม่มีอะไรที่จะต้องทุกข์ใจ ไม่ต้องมีอะไร อาลัยอาวรณ์ ไม่ต้อง ว่าง ๆ ไม่ว่าง แว้บ เอาล่ะ กรุ่นอีกแล้ว โอ! บ้า ๆ บอ ๆ เสียเวลา แว้บไปแล้วน่ะ หนักเข้าวูบเลย จม จมอยู่ตรงนั้นแหละ หนักเข้าวูบเลย ยิ่งกว่าเขาค้ออีก เขาค้อนั่นเขาปลดแล้วนะ แขวนนวมแล้วนะ โรควูบ เอ้า! ต่อ

ถาม ดิฉันสับสนเรื่องอาหาร อยากบรรลุเรื่องอาหาร อันไหนเป็นวิธีที่ถูกต้องคะ เพราะมีหลายวิธี เหลือเกิน เช่น งดปรุงแต่ง กินสำรวมทุกอย่าง กินทีละอย่าง

ตอบ ทำมันทุกอย่าง ไม่ต้องสับสน หัดไปซี จะเอาอย่างไหนก็หัด แล้วก็อ่านใจไป อาตมาปฏิบัติธรรม เรื่องอาหาร การกินนี่ กินลดมื้อ กินน้อยลง กินปรุงแต่ง กินคลุกเคล้ากัน ปรุงแต่งเป็นอย่าง ๆ แล้วก็ดู แต่ปรุงแต่งเป็นอย่าง ๆ นี่ อย่าเอาก่อน เอาไม่ปรุงแต่งก่อน หรือว่าเอาคลุกกันก่อนก็ได้ เอามาคนกัน เลยน่ะ ของหวานผสมกับแกง แกงผสมกับน้ำพริก ปนกันเลย คลุก ๆ กันเลยเป็นข้าวหมา กินเข้าไป เฉย ๆ ก่อน นี่เบื้องต้น หัดกินคลุก เสร็จแล้ว กินแยกทีนี้ กินทีละอย่าง ทีละอย่าง กินข้าวเฉย ๆ เอ้า! กะกินข้าวเท่านี้พอ กินแต่ข้าวเปล่า ๆ กินผักเปล่าๆ กินแกงเปล่า ๆ แหม! คุณจะรู้เลย กินแกงเปล่า ๆ นี่ไม่ง่ายเลย เจ้าประคุณเอ๊ย บางทียิ่งแกงจัด ๆ รสจัด ๆ เผ็ด ๆ เค็ม ๆ จัด ๆ นี่นะ มันไม่ได้คลุกข้าว คลุกผัก อะไรด้วยนี่นะ โอ๊ย! ยิ่งกินยากใหญ่เลย ลองกินน้ำพริกเปล่าๆดูซี เราจะซึ้งล่ะทีนี้ มันไม่ใช่ ของเล่นเลย ยากน่ะ หัดกินคลุก กินแยก แล้วก็กินปรุงแต่งทีนี้ สู้กับมันแล้ว ทีนี้ต้องฐานสูงแล้วนะ สู้กับไอ้ปรุงแต่งมา สู้กับแก กินปรุงแต่ง เขาว่าอร่อย กินกับแกอีกทีดู ต้องฐานดีแล้วนะ ฐานไม่ดี เสร็จมันก่อนนะ อย่าไปเล่นกินปรุงแต่งก่อน ถ้าฐานไม่ดีเสร็จมันนะ หัด หัดจริง ๆ จะบอกว่าไล่เลียง ก็อย่างที่อาตมาว่านี่ ลองดูน่ะ กิน หัดกิน ฝึกไปจนกระทั่ง ไม่ใช่ง่ายนะ อาหารการกินนี่ โอ้โห! เป็นพระอรหันต์แล้ว ยังต้องกินทุกอย่าง เขาปรุงแต่งมา ก็ต้องกิน เขาไม่มีปรุงแต่งก็ต้องกิน ใช่ไหม เรียกกินยังขันธ์น่ะ เพราะฉะนั้น ต้องฝึก กินดี ๆ

ถาม ความพอดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น การประพฤติปฏิบัติ พ่อว่าความพอดี หรือ สายกลาง ควรจะมี จะเป็นอย่างไรคะ

ตอบ เรื่องสายกลาง หรือความพอดี พอเหมาะ แต่ละคนนี่ มันละเอียดลออ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ว่า ท่านตรัสรู้ ความเป็นสายกลาง อย่าลืมนะ พระพุทธเจ้านี่ท่านตรัสรู้ทฤษฎีอะไรนี่ เป็นทฤษฎีที่ไม่ใช่ง่าย ๆ ฟังภาษาง่าย ๆ สายกลาง แหม! อย่างกับไขปั๊บก็รู้เลย เอ๊ย! สายกลาง เดินทางสายกลาง ไม่ง่ายนะ คำว่าทางสายกลาง หรือคำว่า เป็นกลางนี่ มันลึกซึ้งมหาศาลนะ ลึกซึ้งจริง ๆ มากมาย รายละเอียด เยอะ เพราะฉะนั้น คำว่าสายกลางนี่ บอกได้ง่าย ๆ ก่อนว่า คือความลงตัว ความลงตัว ตั้งแต่แรกเริ่ม ที่คุณจะปฏิบัตินี่ คุณจะตั้งศีล ตั้งธรรม ตั้งตบะให้ตัวเองเสียก่อน คุณก็บอกว่า จะต้องเอาพอเหมาะ กับตัว เอาละ นี่ความหมายง่าย ๆ ต้องให้พอเหมาะกับตัว แต่ความพอเหมาะนั้น ต้องระลึกถึงคำว่า ตั้งตนอยู่บนความลำบาก ทุกวันนี้ทางสายกลางที่คนส่วนใหญ่ เขาประพฤติธรรมแล้ว เขาไปเอา ชนิดว่า มันสบาย ๆ มันไม่ต้องฝืน ถ้าฝืน ไปแปลว่า ไอ้นี่มันทรมานตนน่ะ ถ้าฝืน ไปแปลความว่า มันทรมานตน พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้ทรมานตน ท่านให้ทำทางสายกลาง แน่ะ อีกอันหนึ่ง ท่านสอนไว้ ให้ตั้งตนในความลำบาก โยนทิ้งไปหมดแล้ว

นี่อาตมาดึงกลับมา รื้อฟื้นมาให้พวกเราทำ ใช่ไหม ตั้งตนบนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง ตั้งตนบนความลำบากอะไร บนความลำบากในศีล ในพรต ที่เราปฏิบัตินั้นต้องมี สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ต้องมีความจริง เอาจริง แล้วต้องมีทมะ มีขันติ มีความอด มีความข่มฝืน ต้องข่มฝืนนะ ตั้งตนอยู่บนความลำบาก คือต้องตั้งศีล ตั้งพรต จะต้อง ข่มฝืน ถ้าไม่ข่มฝืน ไม่อดทน ไม่ลำบาก มันกลายเป็นเรื่องบำเรอ บำเรอกิเลส แล้วก็เลย ไปตีความ หรือว่าประมาณ ประมาณบำเรอกิเลส ถ้าคุณประมาณบำเรอกิเลส ไม่ได้ตั้งตนพากเพียรต่อสู้ ไม่มีทมะ ขันติ ไม่มี ความอดทน ไม่มีความ ข่มฝืน จึงจะสละจาคะได้ ไม่มีอันนี้ ไม่มีทาง อาตมาเคยเอา สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ นี่ ฆราวาสธรรม อาตมาเคยเอาฆราวาสธรรมนี่มาอธิบาย จนดูเหมือนจะทำเรียบเรียงไว้ เป็นหนังสือเล่มหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้พิมพ์ เรียบเรียงแล้วนะ อันนี้ อาตมาเอามาจากสูตรอะไร จำไม่ได้แล้ว นั่นน่ะ เอามาอธิบาย ขยายความ ให้เห็นความสำคัญ แล้วก็เรียบเรียงไว้แล้วด้วย สำคัญนะ ในหลวงท่านเอาอันนี้ มาให้พวกเรา ได้ฟังนี่ ที่จริงดี แล้วลึกซึ้ง ละเอียดด้วย ซึ่งเราจะต้องกระทำกันจริง ๆ น่ะ

เราจะต้องมีการอดทน ข่มฝืน ต้องตั้งตนอยู่บนความลำบาก แล้วก็ปฏิบัติ นี่สายกลางของแต่ละคน ประมาณให้ดี เสร็จแล้ว กลางที่ว่านี่คือ มันจะลงตัว มันจะปฏิบัติ แล้วก็ขัดเกลา จนกระทั่งมันลงได้ จนกระทั่งไม่ต้องอดทน ไม่ต้องข่มฝืน ไม่ต้องก็ได้ แต่เป็นได้ดังศีล ดังตบะนั้นอย่างง่าย ได้โดยง่าย ได้โดยไม่ลำบาก ได้โดยง่าย ได้โดยไม่ลำบาก คือมันขัดเกลากิเลสนี่ มันเป็นฌาน ฌานนี่คือ การขัดเกลากิเลส ขัดเกลาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก จนที่สุดเป็นวิมุติ แล้วมันก็เลยเป็นอัตโนมัติ เป็นกับตัวเองเลย เป็นปกติ เรียกว่า เป็นศีลที่สำเร็จ สบาย เป็นอย่างนั้นล่ะ ตบะนั้นหรือศีลนั้น เป็นอยู่ในตัวเราเลย ประจำ ไม่ต้องไปสังวรระวังอะไร มันก็เป็นแล้ว เรียกว่า นั่นน่ะเป็นกลาง ลงตัวแล้วน่ะ

อาตมายกตัวอย่าง พระพุทธเจ้าท่านไม่สวมรองเท้า ไม่สวมฉลองพระบาท ไม่ใส่รองเท้าเลย ท่านก็สบาย ๆ ลงตัวแล้ว กลางแล้ว ท่านฉันมื้อเดียว กลาง ลงตัวแล้ว สบายแล้ว นี่แหละคือ มัชฌิมาปฏิปทา ใส่ผ้า ๓ ผืน พระพุทธเจ้า ท่านทำอะไรต่ออะไร ที่ท่านเป็น ท่านเป็นเจ้าของสูตร มัชฌิมาปฏิปทา การประพฤติที่เป็นกลาง ไม่ได้ฝืน ไม่ได้โต่ง แต่คนหาว่าสุดโต่ง นี่มากินมื้อเดียว สุดโต่ง มาไม่มีรองเท้าสวมใส่ มาอยู่กันยังงี้ นอนกระดานนอนพื้น นี่สุดโต่ง มากระเหม็ดกระแหม่ อะไรนี่ เกินไปนี่ สุดโต่ง ไอ้นี่มองอย่างตื้น ๆ มันเหมือนโต่งสำหรับเขา เขาทำไม่ไหว แต่เราทำได้แล้ว ได้แล้วจนกระทั่ง เรารู้ตัวแล้วว่า โอ๊! ต้องใจนะ อาการอารมณ์ของเราเห็นว่า มันลงตัวแล้ว มันสบาย ๆ แล้ว ตอนนี้มันไม่ฝืน มันไม่อะไรแล้ว ตอนที่ฝืนอยู่ก็คือยังปฏิบัติ ยังตั้งตนอยู่บนความลำบากอยู่ จนกระทั่ง มันไม่ลำบากแล้ว มันสบาย มันก็ธรรมดา ไม่ต้องมีอะไร ง่าย ๆ แต่ก็รู้ว่า ไม่ง่าย สำหรับ คนอื่น ไม่ง่ายสำหรับคนอื่น เพราะฉะนั้น ทางสายกลางนี่ จึงเป็นสิ่งที่ละเอียดลออลึกซึ้งอยู่มาก ตั้งแต่เริ่มต้น ประมาณให้ พอเหมาะ ของตน จนกระทั่ง เราทำได้ ได้ๆๆๆ จนกระทั่งลงตัวสุดท้าย นี่คือ สายกลาง ไม่ใช่พูดกันตื้น ๆ ต้น ๆ เอาแค่นี้ก่อนนะ

ถาม คนที่มีครอบครัวแล้ว มีลูกแล้ว แล้วเกิดดวงตาเห็นธรรมออกมาบวช ทิ้งภาระ ต่าง ๆ เช่น การเลี้ยงลูก และอื่น ๆ ไว้ให้อีกฝ่ายหนึ่ง จะบาปหรือเห็นแก่ตัวมากหรือเปล่าคะ

ตอบ คงจะมีปัญหานี้มากเหมือนกันนะ ในหมู่พวกเรา คนที่มีครอบครัวแล้ว มีลูกแล้ว เกิดดวงตา เห็นธรรม แล้วจะหนี ออกมาบวชเลยทีเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องรู้ว่า ลูกเป็นภาระที่ตัวเองเป็นคนก่อ เราโง่เอง เราไม่รู้ตัวเอง แล้วเรามีวิบากเอง ที่เราต้องไปสร้าง อย่างนั้นมาแล้ว ก็เป็นของตน เพราะฉะนั้น เราต้องรับผิดชอบ ดูแล ส่งเสีย หรือว่าทางอีกฝ่ายหนึ่งเขารับ อย่างพระพุทธเจ้านี่ ท่านไม่มีปัญหาหรอก ท่านมีลูกก็มันเป็นบารมีของท่าน สมบูรณ์แล้ว ท่านออกมา ไม่ตายหรอก ลูกเขาเลี้ยงกันได้ ใช่ไหม ลูกเจ้าไม่มีปัญหาอะไร อบรมเลี้ยงดูได้ อะไรต่าง ๆ นานา ไม่เป็นภาระ ถ้าคุณเอง แม้ว่าฐานะคุณดี ลูกเต้าให้พ่อ ให้แม่เลี้ยง ให้ลูกให้พี่ให้น้อง หรือแม้แต่ให้ภรรยา ให้สามี เขาเลี้ยง เราจะออกมา เราจะออกมาบวชก็ได้ แต่มันมีภาวะลึกกว่านั้น คือ ถ้าเผื่อว่า เราออกมา นี่นะ ไอ้ลูกเต้าเหล่าต่าง ๆ พวกนี้นี่ แหม! มันก็แย่ พวกนี้เขาเลี้ยง มันก็ คุณเห็นเองแหละ คุณจะรู้เองว่า คุณควรจะช่วย เสียก่อนบ้างว่า ถ้าคุณไม่ช่วยนี่ มันจะแย่นะ เงินทองมันอาจจะมี แต่มันอาจ จะเลวลงได้ หรืออะไรก็แล้วแต่ หลาย ๆ อย่าง หลาย ๆ ฐานะ คุณก็ควรจะต้องไตร่ตรอง ตรวจสอบน่ะ หรือบางทีนี่ เขาไม่ยอม เขาเลี้ยงได้ แต่เขาไม่ยอม จริง ๆ ไม่ใช่ไม่ยอม เพราะลูกหรอก จะเอาตัวคุณไว้ คุณก็ต้องดูด้วยว่า เอ๊! เหตุการณ์พวกนี้นี่ คุณจะอนุโลม ปฏิโลม ได้แค่ไหนน่ะ มันเป็นวิบาก มันเป็นภาระที่ตัวเองไปสร้าง

ถึงบอกว่าคนที่ยังไม่ได้สร้าง ไม่ได้มี ไม่ได้เป็นนี่นะ โอย! อย่าไปสร้าง เจ้าประคุณเอ๋ย แล้วอย่ามานั่ง ถามเลย ทีหลังนี่ อาตมาขี้เกียจตอบ ไม่รู้จะตอบยังไงได้แต่ละคน แต่ละคน แต่ละเรื่อง แต่ละอย่างนะ โอ๊ย! รายละเอียดบอกยากเลยนะ คนนั้นก็มีอย่างนั้น เหตุนั้น เหตุนี้ วุ่นที่สุดเลย ฉะนั้นใครไม่ไปสร้าง ไปก่อได้ล่ะ แหม! มันบุญหัวจริง ๆ เลย เจ้าประคุณเอ๊ย มันบุญหัวจริง ๆ เลย ใครที่ไม่มีไปได้ก่อนน่ะ ดี เพราะฉะนั้น คนที่มาพบอโศกแล้วนี่นะ อย่าดันทุรัง ไปสร้าง ภาระวิบากพวกนั้นออกมา ให้มันตายดิ้น ชักดิ้นชักงอ เป็นไร อย่าไปวุ่นวาย อย่าไปสร้างมา สร้างมาแล้ว อย่างนี้มันยาก

อาตมาจะตอบก็ไม่รู้จะตอบยังไงให้มันสมบูรณ์ได้ มันตอบไม่ได้มากกว่านี้ล่ะนะ จะบอกว่าเห็นแก่ตัว มากไหม บาปไหม ก็ตอบไม่ได้ตายตัวอีกแหละ ถ้าบาป พระพุทธเจ้าท่านก็บาปก่อนเพื่อนแล้วสิ ก็ท่านทิ้งออกมา โดยไม่แยแสเลย ให้ร้องห่มร้องไห้ กันอยู่อย่างนั้น ถ้าจะว่าบาป ถ้าจะว่าไม่บาป มันก็เป็นเวรานุเวร มันก็ผูกพัน แม้แต่ปัจจุบันนี่ มันก็บางที ก็มากวนนั่น กวนนี่ อย่างโน้นอย่างนี้อยู่น่ะ สรุปแล้ว แหม! เลี่ยงได้เลี่ยงเถิด เจ้าประคุณเอ๋ย อาตมามันมีบุญจริง ๆ เลย ขอบคุณบุญอันนี้ มหาศาล บุญอันนี้ไม่ได้หมายความว่า อาตมามาสร้างชาตินี้นะ ชาตินี้มันรอมร่อนะ จะไปแต่งงาน พุทโธ่! เวรแท้ ๆ เลย แล้วมันหลุดรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ โดยไม่รู้ตัวหรอกนะ โอ้โห! เสียววาบๆๆๆ เลยนะ จริง ๆ นะ ไม่ได้รู้อย่างรู้ทุกวันนี้ โอ้โห! ไม่ได้รู้อย่างรู้ทุกวันนี้จริง ๆ เลย ไปเล่นกับไฟอยู่ได้ ไม่รู้ตัวจริง ๆ มันมีบุญ มันมีบุญจริง ๆ นะ คู่ที่จะแต่งงานนี่มีอยู่ ๒ คนเท่านั้น ในชีวิตที่อาตมา ว่ามันนัวเนียๆๆๆ มันก็อายุก็มากแล้ว อาตมาก็มันน่าจะแต่ง ฐานะมันก็น่าจะแต่งได้ คู่คนแรกนี่จะแต่ง คู่ที่ว่าถึงขั้นจะแต่งงาน นอกนั้นก็ อาตมามีคู่รักจริง ๆ มี ๓ คนเท่านั้นแหละ ที่ถือว่าคู่รักละนะ คือรู้กันนะ พี่ ๆ น้อง ๆก็รู้กัน แล้วคนเพื่อนฝูงก็รู้กัน ไอ้ที่ไปจีบกัน อย่างโน้นอย่างนี้ ปะเหลาะ ปะแหละ มันนับไม่ถ้วนหรอก ไอ้อย่างนั้น มันไม่ใช่คู่รัก มันคู่จีบ คู่ระเริง กันไปเฉย ๆ ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราวอะไร ที่บอกว่ารู้กันนี่ เป็นคู่รักนะ

คนแรกที่สุดก็ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมโน่นแน่ะ เสร็จแล้ว ตอนหลังก็ต้องมาเลิกรา ไอ้นั่นมันก็ยังเด็ก ๆ อยู่บ้าง มันก็ไม่ไอ้นั่น เท่าไหร่หรอก ไอ้อย่างนั้นก็แล้วไป จะเรียกว่าคู่รัก ก็เป็นคู่รักคนแรก ก็เท่านั้นเองน่ะ เสร็จแล้วก็เลิกรากันไป ก็ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ถึงขั้น จะต้องแต่งงงแต่งงานอะไรหรอก อย่างนั้นน่ะ แต่คนที่ ๒ คนที่ ๓ นี่ คู่รักคนที่ ๒ คนที่ ๓ นี่ คนที่ ๒ นี่ เขาก็ทำงานแล้ว อาตมา ก็ทำงานแล้ว มันก็น่าจะแต่งงานกันได้ล่ะนะ หลาย ๆ อย่าง ฐานะก็พอเป็นไป แต่ว่า มันก็อย่างว่าล่ะ มันก็เป็นไปกับสังคม กับครอบครัว กับโน่น กับนี่ ก็เลยไม่ลงตัวอะไรกันนัก มันก็เลยไม่ได้แต่งงานกัน สุดท้ายก็ต้องเลิกรากันไป ถ้าจะแต่งมันก็แต่งได้ ทั้งพ่อแม่พี่น้องของเขา ก็ไม่มีปัญหานะ พอคนสุดท้ายนี่ มันเป็นเรื่องพ่อแม่ พี่น้องยังไม่ พ่อแม่เขาอยากจะได้ลูกเขยดีกว่าอาตมา หรือยังไง ก็ไม่ทราบ ทำเป็นขวาง ๆ รี ๆ อะไรอยู่ มันก็ไม่ลงตัว ถ้าเผื่อว่าเขาเออออห่อหมก เอ้อ! อาจจะแต่งงาน กันไปได้แล้ว จริง ๆ นะ เพราะว่าอาตมาก็อายุ ๓๐ กว่า เข้าไปแล้วน่ะ มันก็น่าจะ แต่ง ฐานะอะไร ก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ยังจะซื้อรถเบ๊นซ์มาข่มพ่อเขาเลย เพราะพ่อเขานี่ขี่ รถเบ๊นซ์ ตั้งแต่อายุ ๓๐ กว่า แล้วเขาก็บอกว่า เอาสิ ซื้อรถเบ๊นซ์มาข่มเลย เขาไม่ไว้ใจ เขาบอกว่า พ่อเขาไม่ไว้ใจอาตมา แฟนเขาก็ยุ อาตมาก็ไปสั่งรถเบ๊นซ์ ลากออกจากอู่เลยนะ ขี่รถเบ๊นซ์นี่ ตั้งแต่อายุ ๓๐ กว่าเหมือนกัน เรียกว่า คือเอาชนะพ่อแม่เขาน่ะ คือเขา ไม่ค่อยเออออห่อหมกกับอาตมา เรื่องของเรื่องมันมีเยอะ โอ้โห! ยิ่งกว่าหนังจีน ถ้าอาตมาเล่าละเอียด คุณเอ๊ย จริง ๆ เหมือนหนังจีนเลย เอาละ ไว้ว่าง ๆ มีเวลา ค่อยเล่า นี่หมดเวลาแล้วน่ะ อย่างนี้มันคง จะต้องเล่าอยู่จนได้ล่ะ สุดท้าย สักวันหนึ่งล่ะนะ มันเหมือนหนังจีนน่ะ โอ้โห! ทิ้งกันเข้าไปอย่างโน้นอย่างนี้ เหมือนกันเลยนะ ทั้งพ่อแม่ก็ไปส่งเสริม คนที่อยากจะได้เป็นลูกเขย อาตมาเอง เขาไม่แลนะ มันก็มีอย่างนี้แหละ มันอะไรกัน โอ๊ะ!น่าดูคุณ มันมีเหตุการณ์เหมือนกับในหนัง มีการอย่างโน้นอย่างนี้ เขาพาไปกินเลี้ยงกัน มีอย่างนั้น ต่างคนก็ต่างใช้วิธีการอะไร โอย! เล่าเป็นนิทาน มันก็เหมือน หนัง คุณถ่ายหนังมาก็เป็นหนัง หลายอย่าง เสร็จแล้ว มันก็ไม่ได้แต่งนะ

สุดท้ายอาตมาก็มาพบธรรมะเสียก่อน ก็เลยออกมา มาจริง ๆ จัง ๆ มันก็หลุดไปน่ะ เพราะฉะนั้น ไอ้เรื่องราวพวกนี้นี่ เอาละ พอ พอแล้ว ไอ้เรื่องคู่เรื่องเค่อ ไม่สร้างได้มันดี อาตมาถึงบอกว่า มันบุญนะ มันหลุดออกมา ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ตาย แต่งงานไปแล้ว ไม่เจอกับพวกคุณหรอก ป่านนี้ไปเลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน ดูอะไรมันไม่เข้าท่านะนี่ ฮึ! แล้วอาตมา ก็เป็นคน มีคุณธรรมใช่ไหม อาตมาก็จะต้องดูว่า เอ๊! มันจะพอทิ้งมา ถ้าเผื่อว่าเวรานุเวร มันยังมี ถ้าลูกมันเกิดมา มันเป็นไอ้โจร ไอ้ค่าง ทำอะไรขึ้นมาอีก โอ้โห! ตาย อาตมาคงไม่มีบาปถึง ขนาดนั้นหรอกนะ ถ้าว่า มันก็คงเป็นไป แล้วลูกยิ่งดี มันก็ยิ่งอยู่ ชื่นชมอีกเลย ทำยังไงอีกล่ะ มันได้ทั้ง ๒ นัยเลย โอ๊! ตาย แหม! หวาดเสียว หวาดเสียวจริง ๆ เพราะฉะนั้น อย่าไปเล่นกับไฟ อย่าไปทะร่อทะแร่ ไม่ควรไปผูกพันด้วยประการทั้งปวง บอกแล้วว่า ยิ่งเป็นตุนาหงันแท้ ๆ เป็น คู่บารมีที่ผูกพันกันมา แต่ปางบรรพ์ ยิ่งต้องรีบตัด เพราะไอ้ตัวนี้ มันยิ่งร้ายน่ะ เพราะยังไง ๆ ก็ต้องพรากจากกัน ทั้งหมดในโลก อย่าไปสร้างทั้งใหม่ทั้งเก่า พูดอย่างนี้เลย ไม่เอาคู่ตุนาหงัน ไม่ไปเล่นกับคนใหม่อีก ไม่เอานะ พูดอย่างนี้ก็ พวกไอ้เฉโกนี่ เล่นทุกท่า เอาละ หมดเวลาแล้ว อาตมาเก็บทางนี้ดีกว่า ไม่ต่อแล้วน่ะ

เอาละวันนี้ก็ว่ากันอุ่นเครื่องก็ยาว ๆ ยืด ๆ หน่อย พอตอนท้าย ๆ ก็ชักจะต้องช้าละ ปัญหาวันที่ ๓ ที่ ๔ อะไรไป ก็จะต้องช้าลง นี่มันก็จะเพิ่มขึ้น ๆ นี่วันเดียวนะ ตอบไปได้แค่นี้ นี่ยังไม่ได้ตอบนะ ก็ไม่เป็นไร มันก็จะเล่าอะไร ๆ หลาย ๆ อย่าง พวกคุณอาจจะรู้ คืออาตมาอยู่ดี ๆ มันจะนึกมาเล่า มันก็นึก ไม่ออกหรอกนะ เพราะฉะนั้น ปัญหาพวกนี้คุณแยงมา ประเดี๋ยวก็เล่าอันนั้นอันนี้สู่ฟังไปบ้าง ก็นึกเสียว่า ปีนี้เป็นปีมีอะไร ๆ พอเล่ากันได้ ก็เล่ากันไป อะไรไม่ได้เล่า ก็ไม่ต้องเล่า อะไรไม่ต้องพูด ก็ไม่ต้องพูด อะไรพูดกันได้ ก็พูดน่ะ

เอ้า! ก่อนจะลงจากนี้ไป ก็เอาโศลกไปอีก อาตมามีให้มากนะปีนี้ มีให้มากน่ะ ไม่มีสูตรเป็นสูตร ก็มีโศลกพวกนี้น่ะ แต่ว่าสูตรที่จะให้ หรือโศลกที่จะให้นี่ เน้นจุดเดียวกัน เน้นเป้าที่สำคัญทั้งนั้นน่ะ อย่างที่ให้ไปแล้วตั้ง ๔ แล้วนี่นะ ๔ หรือ ๕ แล้วนะ เอ้า! เอาไปอีก อันนี้ยาวหน่อย อีกอันหนึ่ง

คนที่ทำงานโดยใช้กำลังมือ ก็คือกรรมกร
คนที่ทำงานโดยใช้สมองและหัวใจ ก็เป็นได้เพียงกรรมการ หรือบัณฑิต หรือ นักวิชาการ
คนที่ทำงานโดยใช้มือและสมอง ก็เป็นช่างฝีมือ
คนที่ทำงานโดยใช้มือและหัวใจ ก็เป็นได้เพียง ผู้หลงตนว่าเป็นศิลปิน
คนที่ทำงานโดยใช้มือ ใช้สมอง และหัวใจ ก็เป็นศิลปิน

อันเมื่อกี้นี้ไม่ใช่ศิลปินนะ คนที่ทำงานโดยใช้มือและหัวใจ ก็เป็นได้เพียงผู้หลงตนว่าเป็นศิลปิน แล้วคนที่หลงตน ว่าเป็นศิลปิน มีเยอะ ในตลาดสังคมทุกวันนี้น่ะ คนที่ทำงานโดยใช้มือและหัวใจ ก็เป็นได้เพียงผู้หลงตนว่าเป็นศิลปิน อย่างพวก ดารงดารา อย่างนี้เป็นต้น โอย! เขาใช้หัวใจเลยนะ ใช้ฝีมือ ใช้หัวใจ ใช้ฝีมือน่ะ แต่ไม่ใช้ทั้งหมดหรอก ไม่มีสมอง สมองมีบ้าง แต่ยังไม่พอน่ะ คนที่ทำงานโดยใช้มือ ใช้สมอง และหัวใจก็เป็นศิลปิน

คนที่ทำงานโดยใช้มือและหัวใจ พร้อมทั้งสมองและญาณ ก็คือ พระอริยะ หรือ อัจฉริยบุคคล

อันสุดท้ายนี่ ใช้มือ ใช้หัวใจ ใช้ทั้งสมองและญาณ ในคำว่าสมองนั้น มีความรู้ถึงขั้นญาณ เพราะฉะนั้น คนที่ใช้สมองยังไม่ถึงขั้นญาณ ก็เป็นได้แค่ศิลปิน ถ้าคนใช้สมองถึงขั้นญาณ จึงจะถือว่าเป็น พระอริยะ หรือ อัจฉริยบุคคลน่ะ

เอ้า! เอาละ สำหรับวันนี้ เอาแค่นี้ก่อน พอ

สาธุ


ถอดโดย นายประสิทธิ์ ฝ่ายทอง มี.ค. ๓๓
ตรวจทาน ๑ โดย สิกขมาต ปราณี ๑๖ มี.ค. ๓๓
พิมพ์และตรวจทาน ๒ โดย นางวนิดา วงศ์พิวัฒน์ ๒๗ มี.ค. ๓๓