อุดมคติของหนุ่มสาว
โดย สมณะโพธิรักษ์
แสดงเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๑
ณ พุทธสถานสันติอโศก

ถึงเรื่องที่เหมาะสมกับมีแขกมาให้เรารับน้องใหม่น่ะ มาจากคนหนุ่มคนสาว ที่เป็นนักศึกษากัน ในวันนี้ ก็จะพูดในเรื่องที่เหมาะสมกับผู้ที่มาร่วมใหม่นี่ หนักไปหน่อยน่ะ คือทางโน้นกำหนดกันเอาไว้ว่า จะให้พูดถึงเรื่อง อุดมคติของคนหนุ่มคนสาว

อุดมคติ ก็หมายความว่า เราเองเราจะมีความนึกคิด เราจะมีจุดมุ่งหมายที่ดี สรุปรวม ๆ เป็นเรื่องอะไร อย่างไร หลัก ๆ พูดเอาความเอาอุดมคติ จะเป็นคนหนุ่มคนสาวก็ตาม จะเป็นคนแก่คนเฒ่า จะเป็นเด็ก เป็นเล็กก็ตามเถอะ ศาสนาพุทธนั้น มันมีอุดมคติเดียว ละชั่ว ประพฤติดี ทำให้จิตบริสุทธิ์ ผ่องใสจากกิเลส นี่เป็นอุดมคติยอด ที่พระพุทธเจ้ากำชับกำชากับพระมหาสาวก กับพระสาวกต่าง ๆ ที่เป็นพระสงฆ์สาวก ผู้จะเผยแพร่ ผู้จะทำงานช่วยเหลือมนุษย์ สืบทอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เป็นหลักเรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ จะต้องเรียนรู้ความชั่วที่จริง เรายังเข้าใจความชั่วที่กลับกันอยู่เยอะ น่ะ อย่างที่ได้เล่า ได้อธิบายให้ฟังแล้ว เราเห็นว่าเราได้เปรียบนี่ มันเป็นความดี อย่างนี้เป็นต้น พอเอาเปรียบได้มาดีอกดีใจที่เราได้เปรียบ นี่คือ ความหลงผิด เป็นความเข้าใจที่มันไม่รู้ว่า ดีแท้ หรือชั่ว ไปเอาเปรียบเขามานั่น มันเป็นความชั่วนะ พยายาม เอาเปรียบ จนทำตนเป็นผู้ได้เปรียบ แล้วไปดีใจ ที่ตนได้ทำชั่วสำเร็จ ไปได้เปรียบเขามา แล้วมานั่งดีใจ ฉลงฉลองเสียด้วย นี่คือความเข้าใจที่ยังไม่ถูกทาง เป็นความหลงผิด เข้าใจความดี ความชั่ว ไม่ถูกจริง อย่างนี้มีเยอะ ยิ่งนับละเอียดที่รู้ยากกว่าที่กล่าวนี้ ก็มีอีกมาก เมื่อเราไม่รู้ เราก็ต้องศึกษา ความดี ความชั่ว ให้จริง รู้ชั่วให้จริง แล้วก็ละชั่วนั้น ดังยกตัวอย่างแล้วนี่ว่า เราไปเอาเปรียบเขาอยู่นี่ มันเป็นความชั่ว เราก็ละเสีย อย่าไปทำ รู้สึกให้ได้ว่า การกระทำเช่นนี้ เป็นการเอาเปรียบเขา

เราก็ต้องพยายาม จะเป็นวาจาไปพูดเป็นเชิงเอาเปรียบเขาอย่างไร จะเป็นกายกรรม ไปเอาเปรียบ เขาอย่างไร เมื่อเรารู้แล้วว่าอันนี้เป็นชั่วแท้ ต้องใช้ปัญญา ระดับปัญญาเรามีมากมีน้อยอะไร ก็พยายามใช้ปัญญาเรา เห็นให้จริงว่า นี่เป็นชั่ว เราก็ต้องเลิกต้องละ อันนี้ดี เออ ! อันนี้ดีแท้ ทำ เสียสละ นี่ดีนะ ทำ เอาเปรียบเขามา ชั่ว เลิกน่ะ เสียสละนี่ มันจะเสียสละมาก เสียสละน้อย ยิ่งเสียสละมากก็ยิ่งดี ถ้าเราทำได้ ถ้าเราไม่ทรมาน ตน หลักเกณฑ์เงื่อนไขของท่านก็บอกไว้มากชัดเจน เราไม่ได้ทรมานตน เราปฏิบัติ ประพฤติ พอเป็นไป มักน้อยท่านว่าดี ธรรมใดวินัยใด เป็นไปเพื่อความมักน้อยนี่ เป็นของเรา ตถาคต พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อย่างนั้น ธรรมใดวินัยใด เป็นไปเพื่อความมักมาก มักใหญ่ อยากได้มาก อยากได้ใหญ่ ไม่ใช่ของเราตถาคต อย่างนี้เป็นต้น

แต่คนเราจิตใจมันมักมาก มันอยากได้มาก ๆ มันอยากได้ใหญ่ ๆ แม้แต่แรงงาน ความสามารถน้อย ๆ ยังจะเอามาก ๆ ยังจะเอาใหญ่ ๆ มีความขี้โลภ ความเห็นแก่ตัวมันมาก เมื่อกิเลสเหล่านี้ มันอยู่ในตัวเรา เองมาก เราก็ไม่สามารถที่จะสู้กิเลสได้ ก็ต้องมาเรียนลด ละกิเลสเหล่านี้ออกให้ตามความรู้ที่เราพึงมี เออ ! มันจริงนะ เห็นจริง ก็ต้องยอม ยอมแล้วก็ต้องประพฤติ อันใดที่มันจะเป็นไป เพื่อความไปเอามากกว่าเขา ไปเอาเปรียบเขา อะไรอย่างนี้เป็นต้น เราก็ต้องหยุด อย่าทำ ต้องฝืนใจ ต้องล้างกิเลส ด้วยเหตุผล ด้วยความบังคับตัวเองด้วย บังคับตนเองนี่ เราเรียกว่าสมถธุระ กดข่ม บังคับ อย่าให้กระทำละเมิด เราเรียก สมถะธุระ ด้วยแรง ด้วยแรงกดข่ม ด้วยแรงพยายามต่อสู้ ห้าม กั้นเอาดื้อ ๆ นี่ เราเรียก สมถะธุระ

ส่วนวิปัสสนาธุระนั้น ก็คือจะต้องพยายามทำความเข้าใจถึงเหตุผล ถึงความเป็นจริง ด้วยความฉลาด สร้างความฉลาดขึ้นมา ให้เห็นความจริง ด้วยปัญญาว่า มันไม่สมควรนะ มันไม่เป็นความดีนะ มันเป็น การก่อกิเลส มันเป็นการก่อเวรก่อภัย อะไรก็แล้วแต่ มันไม่ใช่เรื่องดิบเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องเจริญอะไร เห็นจริง ๆ ด้วยเหตุผลนานาประการ ที่จะเห็นความจริง ที่มันมีเหตุผลว่า มันชั่วแท้ มันดีแท้ อันไหนมันชั่ว เลิกมา นั่นน่ะเห็นเหตุผลให้แท้ เมื่อเลิกชั่วแล้ว ดีอย่างไรอีก ก็เห็นอีก คือเกิดญาณปัญญา เรียกว่า วิปัสสนาญาณ เกิดญาณปัญญาที่เห็นว่า เอ๊อ ! เราเลิกชั่วมาได้มันดีอย่างนี้นะ มันปลอดภัยอย่างนี้ มันสบายอย่างนี้ มันไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องอึดอัดขัดเคือง มันเป็นความน่าภาคภูมิด้วยซ้ำ

แต่ถ้าเราไปทำเวร ทำภัย ทำบาป ทำกรรม แล้วมันเป็นทุกข์ ก็เห็นด้วยปัญญา วิปัสสนาญาณ เห็นความจริง ให้ได้ว่า โอ้อาการมันเป็นยังไง ที่เราไปเที่ยวได้ทำชั่ว ทำบาป อะไรเพิ่มเติมขึ้น อย่างนี้เป็นต้น วิปัสสนาธุระ ก็ทำจริง ๆ สมถะธุระก็ทำ เท่าที่เราจะแบ่งทำได้ ต้องมีสัดส่วนนะ บางทีนี่ก็ทำการกดข่มไว้สักประมาณหนึ่ง ให้เห็นอาการของความทุกข์ เห็นอาการของกิเลส แล้วก็พยายามที่จะให้วิปัสสนาธุระ ใช้วิปัสสนา พิจารณา ให้มัน กิเลสนี่ มันอ่อนแรง เห็นกิเลสมันอ่อนแรง เห็นกิเลสมันจางคลาย เห็นกิเลสมันดับ มันพร่อง ลงไปเลย จริง ๆ อย่างนี้ เราเรียกว่า เห็นของจริงตามความเป็นจริง ให้มันเห็นเลยว่า เราได้ทำอย่างถูกต้อง ว่า เออ ! สิ่งนี่มัน ๆ มันหน่าย มันคลาย ถ้าเราเห็นจริงอย่างนั้น เราก็ไม่ได้เป็นคนหลงใหล นั่งคิดเพ้อฝัน เอาเอง ไม่ใช่หลงตัวว่า กิเลสมีก็ไม่รู้ว่ามี กิเลสหมดก็ไม่รู้ว่าหมด เรารู้จริง ๆ เลยว่าหมด กระทบสัมผัสตอนนี้ กิเลสไม่เกิดนะ เกิดมากก็รู้ เกิดน้อยก็รู้ กระทบสัมผัสแล้ว สิ่งที่ยั่วยุให้เกิดกิเลส กิเลสไม่เกิดด้วยซ้ำ ก็ต้อง รู้ว่า เออ ! เราตอนนี้นี่ ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี่นะ พอโดนด่า ขนาดนี้ โกรธ ต้องโกรธแน่ เดี๋ยวนี้ไม่โกรธนะ เข้าใจ วางใจ นอกจากจะเข้าใจ วางใจแล้ว ยังสังเวชเขาเสียด้วยซ้ำ เมตตาเขาเสียด้วยซ้ำ ไม่ได้เกิดโกรธ โกรธเคือง แต่กลับยังเห็นใจเขาอีกด้วยซ้ำ เข้าใจเขาดี เออ ! จะช่วยเขาได้อย่างไร ที่จะช่วยให้เขาไม่ทำ สิ่งที่ชั่วนี้อีก เราจะหาทางให้เขาเข้าใจความจริง ได้ไหม หรือว่าจะทำอย่างไร มีทางใด อย่างนี้เป็นต้น มันก็เกิดการเกื้อกูลกัน คนดีมีเมตตาเกื้อกูลคนชั่ว ไม่ใช่ คนดีแล้วก็เลยโกรธคนชั่วอีก ก็เลยพยาบาทจองเวร เป็นคู่ศัตรูกัน ไม่ใช่อย่างนั้น โลกมันก็อยู่สงบ สังคมมันก็เป็นไปด้วยดี อย่างนี้เป็นต้น

อาตมาได้เทศน์ให้ฟังแล้วเมื่อวานนี้ ได้บรรยายให้ฟังแล้วว่า จุดมุ่งหมายของคนนี่ ถ้าไม่เรียนรู้สัจธรรมแล้ว มันก็จะมีจุดมุ่งหมายทำอะไรก็ตามแต่ ที่จะสร้างคนขึ้นไปให้มีพลังอำนาจ มีความสามารถ เพื่อที่จะ ไปได้เปรียบ นั่นเป็นเรื่องของปุถุชนธรรมดา ๆ เพราะฉะนั้นตัวเองนี่ จะทำอะไรก็แล้วแต่ในชีวิตนี่ ถ้าเผื่อว่า ไม่รู้หลักความจริงอันนี้เป็นหลักแล้วล่ะก็ จะตั้งแต่เป็นเด็กไป จนกระทั่งหนุ่มสาวขึ้นมา จนกระทั่ง โตไปเป็น ผู้ใหญ่ก็ตาม ก็พยายามที่จะสร้างฤทธิ์อำนาจ สร้างตนเอง ให้เป็นผู้ที่มีเปรียบ สร้างตัวเอง ให้เป็นผู้ ได้เปรียบ อย่างนั้นเสมอจริง ๆ ลองคิดรวม ๆ ดูสิ

นั่นไม่ใช่อุดมคติ จะเป็นคนหนุ่มคนสาว เป็นคนแก่ คนเฒ่าอะไรก็ตาม อย่างนั้นไม่ใช่ลักษณะของ อุดมคติหรอก ต้องเข้าใจให้ดีนะว่า ตัวเรา ถ้ามีความคิดนึกอย่างนี้ มันเป็นความเลวด้วยซ้ำ ไม่ใช่อุดมคติ อุดม นี่แปลว่า สูง อุตมะ แปลว่า สูง แปลว่า เนือ อุดม อุดร นี่แปลว่า เหนือ เหนือชั้น สูง เป็นเรื่องสูง มันไม่ใช่เรื่องสูงนะ มันเป็นเรื่องต่ำน่ะ ถ้าคิดจะเอาเปรียบเอารัด คิดจะเป็นผู้มีอำนาจ มีความสามารถ มีความเก่ง ความรู้ อะไรก็ตามแต่ เพื่อจะไปเอาเปรียบคนอื่นเขา เพื่อจะได้เปรียบคนอื่นเขาน่ะ ไม่ใช่ความสูงเลย เป็นความต่ำเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่อุดมคติเลย เพราะฉะนั้น อุดมคติต้องให้แม่นนะ เข้าใจ ให้ถูกเลย แล้วก็รู้ลักษณะมันให้ชัดว่า เราเองเราเป็นไป อย่างถูกต้อง ตามความเข้าใจที่แม่น ๆ มั่น ๆ นั่นหรือไม่ อุดมคติที่ถูก ก็ควรจะพยายาม จะเป็นคนฝึกปรือ เล่าเรียน ศึกษา ได้ความรู้ ความสามารถ ความเก่ง ความเฉลียวฉลาด อะไรก็ตามใจเถอะ ฝึกไป เพื่อที่จะไป เสียสละ เพื่อที่จะไปเกื้อกูล ช่วยเหลือ ผู้อื่น นี้เป็นอุดมคติที่แท้ มันเป็นอุดมคติที่แท้ ไม่ละเว้นว่า จะว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หนุ่มสาว คนแก่ คนเฒ่าที่ไหน จะต้องมั่นแม่นให้ได้ว่า เกิดมาเป็นชีวิตนี้ เราจะทำอย่างไร ตัวเราจะอยู่ได้ อยู่ได้ แล้วเราก็เสียสละได้ ไม่ใช่อยู่ได้ แล้วเอาเปรียบได้ ไม่ใช่ อยู่ได้ ทำยังไงเราจะอยู่ได้ เราจะต้อง เลี้ยงตนเหมือนกัน เลี้ยงตน แล้วก็เสียสละ ไม่ต้องหมายจะให้ผู้อื่นมาช่วยเรา เราต้องพึ่งตน

ศาสนาพุทธนี่ มีหลักชัดเจนเลยว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนพึ่งตนให้ได้ ตนเป็นที่พึ่งของตนเองให้ได้ ตนต้องมีสมรรถภาพ มีสัมมาอาชีพ มีสัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา สัมมาสังกัปปะ มีการคิด มีการพูด มีการกระทำ การกระทำการงานทางกาย มีงานประจำชีวิต เรียกว่า สัมมาอาชีวะ งานประจำชีวิตที่ดีด้วย ทำ อยู่ในโลก ไม่ใช่งอมืองอเท้า ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้มานั่งงอมืองอเท้า ให้มาเอาเปรียบเอารัด ไม่ใช่ บาป ต้องมาเสียสละ ต้องมาเป็นประโยชน์คุณค่าแก่มวลมนุษยชาติ ต้องทำงาน สร้างสรร ทำงานแล้วก็สละ เอาไว้แต่น้อย เรียกว่ามักน้อย หัดทำตนเองให้เรียนรู้ว่า เราเองเราไปหลงอะไรเขา เขาหลอก โลกมันหลอก บริโภคนิยม ทุนนิยม ศักดินา มันหลอกให้เราไปหลง เป็นผู้มีอำนาจใหญ่ ได้เปรียบเขา เขายอมจำนน มีอำนาจ จนกระทั่งชี้ตายชี้เป็น ประกาศิตได้ บงการได้ เป็นจอมมาเฟีย เป็นเจ้าพ่อใหญ่ เป็นผู้มีอำนาจมาก พูดอะไรเขาก็จะต้องทำตามทุกอย่าง แม้จะเป็นความผิดความถูกอะไร ไม่รู้ล่ะ อะไรที่เราบงการออกไปได้ อย่างนั้น จะต้องเป็นประกาศิต ศักดิ์สิทธิ์ ตามต้องการของเราทุกอย่าง ไม่ได้เรื่องอะไรหรอก อย่างนั้นนะ ต้องให้คนเขาเคารพนับถือ เชื่อฟังเอง ถ้าเราจะพูดอะไรก็ศักดิ์สิทธิ์ ก็เพราะว่าเขาเชื่อด้วยเหตุผล เชื่อด้วย มั่นใจว่า เราเองนี่ เราไม่พาไปต่ำ ไม่พาไปเบียดเบียน ไม่พาไปก่อเวรก่อภัยอะไรทั้งสิ้น เราต้องเชื่อคน อย่างนั้น ไม่ใช่เชื่อเพราะกลัวเกรงอำนาจบาตรใหญ่ ไม่ใช่ ไม่ใช่เลย เพราะฉะนั้น ต้องมาศึกษา พวกนี้ ไม่ใช่ตื้นนะ ที่อาตมาพูดนี่มันลึกซึ้ง ซับซ้อนเยอะ สังคมทุกวันนี้จึงเป็นสังคมที่ใช้ความฉลาด ไปสร้าง ความฉ้อฉล สร้างความสลับซับซ้อน สร้างวิธีการที่เอาเปรียบ อย่างลึกลับ ลึกลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อน อำพราง จนตนเข้าใจไม่ค่อยได้ รู้ไม่เท่า รู้ไม่ทัน

ผู้ใดที่ไปสร้างสภาพฉ้อฉลอย่างนี้ ขึ้นมามาก ๆ ๆ ๆ จนคนอื่นรู้ไม่เท่าไม่ทัน ยิ่งบาปมาก แต่โลกทุกวันนี้ กลับพอใจ กลับยินดี ดีใจที่เราเองเราหลอกคนอื่น หรือว่าใช้เชิงกล มีความสลับซับซ้อนนั้น มาเอาเปรียบ เอารัดเขาได้ โดยเขาไม่รู้ตัว โดยเขาไม่รู้เท่าทัน หลงตนเองว่าตนฉลาด ประเสริฐ เลิศยอด อำพราง เขากิน หลอกลวงเขากิน หลอกลวงเขาอาศัยอยู่ ได้เปรียบเขาอยู่ในโลก แล้วว่านั่นคือความสามารถ นั่นคือ ประสบผลสำเร็จ

นี่ทุกวันนี้ คนเรากำลังมุ่งหมายมีอุดมคติ หรือมีพฤติกรรมสั่งสมสร้าง หรือกระทำพฤติกรรมอย่างนี้ อยู่ในโลกนี่ มากมายเลย คุณลองมองความจริงอันนี้ดูเถอะ ตั้งแต่ผู้ใกล้ชิด คนใกล้จริง ๆ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง มิตรสหาย มิตรของพ่อของแม่ เพื่อนของพ่อของแม่ เพื่อนของป้า น้า อา ลุก อะไรก็แล้วแต่ หรือแม้แต่ไม่ใช่ญาติ คนที่เรารู้จักก็ดูเขาเถอะ ทุกวันนี้ เขามีพฤติกรรมอะไร อย่างไร ในชีวิต มีแต่พยายามที่จะสร้างระบบฉ้อฉล พฤติกรรมที่จะหาทางเอาเปรียบเอารัด ไม่ให้คนอื่นรู้เท่าทัน หรือ แม้รู้เท่าทัน ก็จำนน ถ้าเราจะเอาเปรียบแล้ว เขาต้องยอมจำนนที่ให้เอาเปรียบได้ อย่างไม่มีทางสู้เลย นี่สังคมมันเป็นอย่างนี้ มันถึงทุกข์ร้อน แต่อุดมคติแท้ ๆ นี่ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ทรงแนะนำเอาไว้นี่ จะต้องเป็นผู้ที่เสียสละ เป็นผู้ให้ เป็นผู้สร้างสรร สร้างสรรและตัวเองก็ได้พึ่งตนเองในแรงงาน หรือ ในผลผลิต ในความสามารถของตน ที่แต่ละวัน แต่ละวัน ก็ทำงาน ทำงานคุ้มหัว เกิน เหลือ เผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นได้ ยินดีที่จะเป็นผู้ที่เสียแรงงาน จ่ายแรงงาน จ่ายความสามารถความรู้ของตนเอง เพื่อผู้อื่น จะได้ไป เป็นผู้ถูกกินแรงด้วย ไม่ใช่เป็นผู้กินแรงคนอื่นเขา เหมือนเราเป็นเจ้าเป็นนาย เขาเป็นทาส ไม่ใช่ เรายินดีจะเป็นทาสให้เขากินแรง เราถูกกินแรงโดยรู้ ๆ ถึงจะเรียกว่า ไม่เสียรู้ โดยรู้ว่าเราเสียสละ โดยจะให้เขากินแรง เราทำนะนี่ แรงงานของเรา สร้างสรรนะนี่ เสร็จแล้วเราก็เผื่อแผ่ แจกจ่าย เอื้อเฟื้อไป โดยรู้ว่า นั่นเป็นบุญเป็นกุศล เป็นสิ่งที่เราเป็นคุณค่า ที่เราได้สร้างของเราออกไป แล้วก็ดูซิว่าหมู่มิตรสหาย ที่มีความคิด หรืออุดมคติแนวเดียวกันอยู่ที่ไหน ร่วมกันคิดร่วมกันทำ มันก็จะเป็นแรงผนึก เป็นผลึกด้วย เป็นแรงผนึก รวมกันแล้วก็รวมเป็นผลึก รวม ๆ ตกเป็นผลึก เป็นแรงหรือไปเป็นผล เป็นผลที่มีสภาพ ความดีตกผลึก ความดีตกเป็นแก่นแกน เป็นพฤติกรรมของกลุ่มคน ทำกันจนเป็นธรรมดา มีผลึก เพราะว่า เรานึกกันทำในทิศทางเดียวกัน

นี่อย่างชาวอโศกนี่ พยายามผนึกกัน รวมกัน แล้วก็สร้างสรร มีพฤติกรรม มีอุดมคติแนวเดียวกัน มีอุดมคติ แนวเดียวกันนี่ ภาษาพระท่านเรียกว่า มีทิฏฐิสามัญตา มันมีความเห็นที่เป็นเป้าหมายหลักของชีวิต คือ อุดมคตินี่ตรงกัน คือจะมาเป็นคนเสียสละ ไม่ใช่มาเป็นคนเอาเปรียบ นี่เป็นหลักใหญ่ ๆ นะ อาตมาพูด หลักใหญ่ มันมีรายละเอียดที่จะอธิบายเชิงโน้นเชิงนี้อีกเยอะ แต่เรามีเวลาน้อย เราคงจะอธิบายกัน ไม่ทันหรอก คงไม่หวาดไม่ไหวหรอก เพราะฉะนั้น ทิฏฐิ ทิฏฐิสามัญตา มีความเห็นความเข้าใจ ไปในทิศทาง เดียวกันดี เราก็มาฝึกหัตปฏิบัติไป ใครมีอะไร ที่มันมีพฤติกรรม ค้านแย้งกับทิศทางที่เราเข้าใจนี่ จุดเป้าหมาย ที่เราเข้าใจนี้ เราก็มาลด มาเปลี่ยน ไม่ทำ มันเป็นพฤติกรรมที่ค้านแย้ง ว่าเราจะมาเป็น ผู้เสียสละ มาเป็นผู้ลดความโลภ ความเห็นแก่ตัว ก็มาทำ ทำด้วยหลักการ แต่ละหลักการเรียกว่า ศีล มีศีลที่เอามาขัดเกลา แล้วตนเอง ก็จะไปสู่ ทิศทางเดียวกัน เป็นผู้ที่ เป็นคนที่มีอุดมคติตรงกัน มีพฤติกรรม สอดคล้อง ตรงกัน เรามีหลักเกณฑ์ แต่ละบุคคลก็อาจจะต่างกัน อันนี้ของเราเป็นอันนี้ เราก็ใช้หลักเกณฑ์ อันนี้ ขัดเกลากิเลสเรา หลักเกณฑ์ ที่มาขัดเกลากิเลส เราเรียกว่า ศีล มีศีลที่มาขัดเกลากิเลส เพื่อไปทิศทาง เดียวกัน เราเรียกว่า ศีลสามัญตา มีศีลอันกระทำให้บุคคล ไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกัน เป็นหนึ่ง เดียวกัน เป็นเอกภาพ ก็มีศีลสามัญตา หลักเกณฑ์ เราเรียกว่า ศีลต่างคนต่างปฏิบัติหลักเกณฑ์ อาจจะ ไม่ตรงกันทีเดียว ไม่เหมือนกันทีเดียว แล้วแต่ใคร มีอะไรที่มันเป็นข้อ ที่มันเป็นเรื่อง เป็นพฤติกรรม เป็นความนึกคิดก็ตาม ที่มันยังขัดแย้ง ที่มันยัง ไม่ประสาน มันไม่ร่วม มันไม่สอดคล้องไปในหนึ่งเดียว ทิศทางเดียวกัน เราก็มาทำ มาทำแล้วมันก็ได้ผล เมื่อได้ผล มันก็ยิ่งเป็นผลึก ผลที่มันเป็นผู้ที่เสียสละ เป็นผู้ที่กิเลสโลภ เห็นแต่ตัวลดลง เราไปติดไปยึด นั่นแหละเป็นเหตุ

คนเราไปติดไปยึด อย่างที่เล่า อธิบายแล้วเมื่อวานนี้ ไปติดไปยึด ไปหลงว่า นี้มันอร่อย นี่มันเพลิดเพลิน นี่มันน่าได้ น่ามี น่าเป็นให้แก่ตัวเอง แล้วก็ไปสะสมกอบโกยเอามาบำเรอตน หลงว่า เป็นความสุข ที่จริงน่ะ ความสุขน่ะคือพ่อของความทุกข์ ความสุข เป็นตัวต้นเค้าของความทุกข์ล่ะ ความสุขแบบโลกียะ น่ะ มันไปติดเข้าแล้ว มันก็นึกว่าอร่อย ถ้าได้กินอย่างนั้น ได้เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยเสียง ได้กลิ่นยังงั้น ได้รสอย่างนั้น ได้สัมผัสอย่างนั้น หรือได้มีพฤติกรรมอย่างนั้น ๆ ได้เอามา ได้สิ่งนั้นมา นั่นก็หลงใหลว่า เป็นความสุข แล้วต้องการทรัพย์สินเงินทอง ต้องการเพชรพลอย ต้องการของที่เขา เอามายั่วให้เราหลง หลงใหลว่า ควรได้ อะไรก็แล้วแต่ ไปหลงใหลว่า ควรได้ ก็ไปชอบใจเข้าก็อยากได้ พอได้มาก็สมใจ เรียกมันว่า ความสุข ความสุขอย่างนี้เราเรียกว่า ความสุข สุขสม เสพสม ความสุข บำเรอกิเลส บำเรอ ความต้องการ บำเรอความอยาก เมื่อได้บำบัดความอยาก บำเรอความอยากแล้ว เราก็เรียกมันว่าความสุข พอมันอยากใหม่ มันก็เกิดทุกข์ พออยากใหม่ก็ขวนขวาย แสวงหาไขว่คว้า จนได้มาสมใจ ตอนที่ขวนขวาย ค้นคว้าอยู่ ก็เป็นทุกข์ พอได้มาสมใจ ก็เรียกว่ามันสุข ก็วนเวียนอยู่ เท่านี้แหละ แล้วก็ไม่รู้จักพอนะ ได้มาก ก็ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักพอ ได้เยอะเท่าไร ได้อะไรเท่าไร ก็หลงใหลว่า เรายิ่งมีอำนาจ ยิ่งมีความประสบผลสำเร็จ นี่คือ ความเห็นผิดทั้งนั้น เมื่อเรามาเรียนทิศทางนี้ มามีอุดมคติ ที่แม่นมั่น มาฝึกปรือ ขัดเกลาตนเองออก สิ่งที่ไปหลงติด อยากได้ น่าได้ น่ามี ลดลง ว่ามันเป็นกิเลส พิสูจน์ความจริงว่ามันเป็นกิเลส เราจะเห็นกิเลส เป็นอาการอย่างไร มันมีนิมิตให้เรารู้ มันมีอาการให้เรารู้ กิเลสโลภ เป็นอาการยังไง มันไม่มีหัว ไม่มีหางหรอก แต่มันเป็นอาการที่เราดูออกนะ กิเลสโกรธนี่ โอ้โห ! มันโกรธ มันรู้สึกในตัวเรานี่ มันรู้สึกในใจเรานี่ โอ้ ! อาการโกรธ มันเป็นอย่างนี้ เร่า ๆ อย่างนี้นะ อาการโลภก็เป็นเร่า ๆ อย่างนี้ ราคะก็เป็นเร่า ๆ อย่างนี้

อาตมาก็ใช้ภาษาสื่อเท่านั้น มันเป็นนามธรรม คุณต้องไปรู้อาการนั้นเองด้วยตน แล้วลดมันลง จนกระทั่ง มันไม่เกิด แต่ก่อนนี้มันจัดจ้านนะ ถ้าสัมผัสมันอยากได้ มันอย่างโน้นอย่างนี้ มันมาเป็นกิเลส เป็นตัณหา อู๊ ! แรงพอตอนนี้ มันฝึกปรือเข้าไปแล้ว มันลด คุณก็จะรู้ว่า โอ้โห ! มันลดได้นะ ลดแล้วก็ ทางพุทธ ไม่ได้สอนว่า ลดกิเลสโลภ โกรธ หลงแล้วก็จะไม่ทำงาน จะไม่มีความดี ความประเสริฐอะไร ก็ไม่ใช่ ศาสนาพุทธนี่ ยิ่งพิสูจน์ซ้อนเลยว่า เมื่อเราไม่ทำเพื่อตัว ไม่ได้เห็นแก่ตัว ไม่ได้โลภมาเพื่อตัว แต่เราสร้างสรร ขยัน เพียรทำเพื่อผู้อื่น มันเป็นความดี จริงไหม พิสูจน์เลย ให้ทำเราต้องรู้ว่า นี่ควรทำ ควรขยัน ขี้เกียจ มันก็เป็นความเลว หยุดอยู่เฉย ๆ อยู่ว่าง ๆ นิ่ง ๆ ลอยชายเปล่า ๆ ดาย ๆ อะไรไปวัน ๆ คืน ๆ มันก็เป็น ความเลว ถ้าขยันหมั่นเพียร มีคน เป็นคนมีความขวนขวาย เป็นคนมีปฏิภาณปัญญา รู้ว่า โอ๊ ! ถ้าสร้างสรร นี่ ถ้ากอบก่อ ขยัน หมั่นเพียร สร้างสิ่งที่ควรสร้าง ทำสิ่งที่ควรทำ นั่นเป็นความดี เป็นผู้มีความขวนขวาย ในการงาน มีไวยาวัจมัย เป็นผู้ขวนขวาย รู้ว่าควรจะทำอะไร วาระนี้ เวลานี้นี่ ควรจะมีกายกรรม วจีกรรม อันใดดีกว่านี้ ควรทำ ขวนขวาย เป็นผู้สร้างสรร แล้วท้าให้พิสูจน์ ยืนยันให้พิสูจน์เลยว่า มันเป็นความดี มันเป็นความประเสริฐของมนุษย์ เป็นความมีคุณค่าของคน เรามาพิสูจน์ เราทำเพื่อเขา เราไม่ต้อง อยากได้เลยนะ เราไม่ได้ทำเพื่อเราเลย เราไม่ได้อยากอยู่เฉย ๆ มันเบาดี ว่างดี ใช่ไหม แต่เราฝืนด้วยซ้ำไป เอ๊ ! อย่างนี้มันเอา มันเป็นกิเลสนี่ อยู่เฉย ๆ ว่าง ๆ มันกิเลสนี่ มันอยู่ด้วยเอาเปรียบคนอื่น หรือว่าอยู่ด้วย โดยไม่มีคุณค่า เพราะฉะนั้น ต้องฝืนตัวเองด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่อยากทำเลย มันไม่อยากจะทำเอาด้วยซ้ำ

ทำโดยไม่อยาก นี่แหละไม่ใช่กิเลส ทำซี ถ้าเผื่อว่าสมควรจะทำ สร้างซี ถ้าเผื่อว่าสมควรจะสร้าง ลงมือทำ สิ่งที่สมควรจะทำ สิ่งนี้ดีนะนี่ กาละนี่เขามันควรจะทำกันแล้วนี่ มันควรจะช่วยกัน หรือมันควรจะลงมือ สร้างสรร เขาไม่สร้าง เราก็สร้างน่ะ เขาไม่ทำ เราก็ทำ เขาไม่มีปัญญารู้ว่า เป็นสิ่งที่ควรทำ เขาไม่ทำ เออ ! เราเห็นว่า มันเป็นสิ่งที่ควรทำ เขาไม่ทำก็ช่าง เราทำ สร้างสรรขึ้นมา สร้างสรรขึ้นมา มันก็ได้ใช้ ได้สอย ได้อาศัยในชีวิตมนุษย์ ก็แจกจ่ายเจือจานเผื่อแผ่กันไป สังคมก็อุดมสมบูรณ์ สังคมก็เจริญ แล้วยิ่งเรา ไม่แย่งชิงกัน มีแต่เผื่อแผ่กัน สังคมก็ไม่เดือดร้อน แล้วยิ่งเราเป็นคนกินน้อย ใช้น้อย มักน้อย มักน้อย หรือกินน้อย ใช้น้อยนี่ นี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ทรมานตัวเอง ไม่ใช่นะ เราเฟ้อ คนนี่มันไม่ได้เรียนมา ไปหลง ถูกขาหลอก บริโภคนิยม ทุนนิยม เฟ้อ กินใช้อะไรก็ฟุ่มเฟือย ต้องหรูหรา เบ่งข่มกัน อวดอ้างกัน นั่นมัน เป็นเรื่องของกิเลส ในสังคมไม่เป็นความสุข เดือดร้อน เพราะความไม่เสมอภาค คนสามารถคนมีมาก ก็เบ่งข่ม อวดอ้างน่ะ เบียดเบียนคนที่ไม่มีมาก เยาะเย้ยหยามหยันกัน

แต่เมื่อเรามาเรียนรู้แล้ว คนที่มีความสามารถมาก ความรู้มาก สร้างสรรได้มาก ก็ไม่เห็นจะต้องไปเบ่งข่ม เบ่งทับ ไปเบียดเบียนน้ำใจคนอื่น ไปซื้อเอาของสวย ๆ ไปซื้อเอาของแพง ๆ มาเบ่งข่มคนที่มีความสามารถ น้อย ไม่มีเงินไม่มีทองไปซื้อ เราก็เลยหาของราคาแพง ๆ หาของที่เขานิยมกันว่าดี ว่าสูง ว่าเลิศ ว่าลอย อะไรมาใส่ มาใช้ เพื่อเบ่งข่มคนที่ไม่ค่อยมี อะไรอย่างนี้ มันก็เป็นสังคมที่เบียดเบียนกัน ข่มเบ่งกันอยู่ ตลอดเวลา แต่ถ้าเผื่อว่า มาเรียนรู้แล้ว ทุกคนไม่พยายามทำ แทนที่จะเบ่งข่มกัน กลับช่วยเหลือกันด้วยซ้ำ เอ้า ! คนที่ไม่มีความสามารถมาก ก็ฝึกเขาขึ้นมา ช่วยเหลือให้เขาหัด ให้เขาอบรมตน เป็นคนมีความ สามารถ เป็นคนที่มีความรู้ขึ้นมา ให้มันได้เหมือนเรา จะได้มาร่วมกันสร้างสรร เราสร้างสรรได้มาก ๆ ก็ดีแล้ว สร้างสรรเผื่อแผ่ผู้อื่น แจกจ่ายแก่ผู้ไม่มีเรี่ยว ไม่มีแรง คนในโลก ในสังคมนี่ คนที่ยังต้องการ ความช่วยเหลือนี่มีอีกมาก ๑. เด็ก ๒. คนแก่ ๓. คนป่วย ๔. คนพิการ ๕. คนไร้สมรรถภาพ หรือ มีความสามารถ สู้เราไม่ได้ นั่นเอง สู้เราไม่ได้อยากมาก หรืออย่างน้องก็แล้วแต่ อย่างนี้เป็นต้น

อาตมาพยายามวินิจ พินิจ หรือวิเคราะห์วิจัยแล้วนะว่า ในสังคมนี้ มีคนที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งมีลักษณะอย่างที่อาตมากล่าวนี่ ๕ อย่างนี่ เป็นผู้ที่ควรช่วยเหลือทั้งนั้น เขาไม่อยากเด็กหรอก เด็กเขายัง ไม่มีความสามารถ ยังช่วยตนก็ยังไม่พอ อะไรอย่างนี้เป็นต้น ยังไม่ค่อยรู้อะไร ก็ช่วยกัน หรือคนแก่นี่ รู้แล้วล่ะ ทำผ่านมาด้วยซ้ำ แต่มันแก่ เรี่ยวแรงสังขารมันแย่แล้ว มันแก่ลงไป ทำอะไรก็ไม่แคล่วคล่อง ไม่แข็งแรง อะไรต่าง ๆ นานา

เราก็ควรจะช่วยเหลือเกื้อกูล อุ้มชูกัน คนป่วย อย่างนี้เป็นต้น จะไปทำได้ยังไง ป่วยถึงขนาดทำอะไรไม่ได้ก็มี อย่าว่าแต่ทำอะไรไม่ได้เลย ขี้เอง เยี่ยวเอง ก็ยังไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น หรือแม้แต่ขี้เอง เยี่ยวเองได้ ยังอ่อนแอ ป่วย เจ็บ อะไร เราก็ต้องช่วยกัน คนพิการอย่างนี้ มันจำเป็นแล้วน่ะ ต้องช่วย หรือคนไร้สมรรถภาพ คนที่ ไม่มีความสามารถสูง บางคนนี่นะฝึกให้ตาย ตลอดชาติ มันก็ไม่มีความสามารถที่จะทำได้ทั้งชาติ มันเป็นจริง เหมือนกันนะ คนไร้ความสามารถหรือคนไม่ฉลาด มันฉลาดเท่านี้ แล้วมันก็มีความสามารถ เท่านี้ ก็ฝึกปรือกันไป มันก็ได้น้อย บางคน มันไม่มีพรสวรรค์ มันไม่มีบารมีเลย ฝึกก็ได้เท่านั้น ไม่พอคุ้มกิน บางคน ก็ฝึกกันช่วยกัน เพราะฉะนั้น คนไหนขาดพร่อง คนไหนที่ยังไม่สมบูรณ์ เราก็ช่วยเขา สังคมที่ เกื้อกูลกัน รู้จักจุดบกพร่อง รู้จักจุดเติมส่วนที่ควรเติม รู้จักจุดเฉลี่ยควรเฉลี่ย รู้จัดจุดหยุดควรหยุด ควรพอ มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริงอย่างนี้ สังคมนั้นสมบูรณ์ บริบูรณ์ ไม่ผลาญพร่า

ทุกวันนี้ มันผลาญพร่า สร้างกันขึ้นมา แล้วก็มาช่วยกันผลาญ ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย โลกเลยพร่องลงทุกวัน วัตถุดิบ ดิน น้ำ ไฟ ลม ธรรมชาติ ต้นหมากรากไม้ แร่ ธาตุ อะไร ก็แล้วแต่ แม้ไม่มีบทสังเคราะห์ ด้วยความรู้ ทางวิทยาศาสตร์อีก ไม่มีบทสังเคราะห์ขึ้นมา มันก็เอา ธาตุอยู่ในโลกนี่แหละมาสังเคราะห์ขึ้นมา มันจะขึ้นมา โดยไม่มีรากฐาน อยู่ดี ๆ จะแกว่งไม้แกว่งมือ แล้วเกิดเพชรเกิดทอง แกว่งไม้แกว่งมือเอา เหมือนไสบาบา แล้วก็เกิดอะไรขึ้นมา มาจากไหนก็ไม่รู้ ไม่ได้ จะสังเคราะห์อะไรก็ต้องมีธาตุ รากฐาน มีที่มาทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น วัตถุดิบ หรือข้าวของสมบัติของโลกพร่อง ถูกเอามาสังเคราะห์ ถูกเอามาสร้าง เปลี่ยนแปรเป็นโน้น สร้างอันนี้ขึ้นมา ปู้ยี่ปู้ยำธรรมชาติ พร่องลงทุกวัน ขาดแคลนลงทุกวัน เพราะเราผลาญ มากกว่าสร้างน่ะ วิทยาศาสตร์ยิ่งเก่งเท่าไหร่ ยิ่งผลาญกันบรรลัยจักรเลย ขณะนี้นี่ทำพลังงานปรมาณูกัน ออกไปนอกโลกนี่ ผลาญไม่รู้เท่าไหร่ เสร็จแล้ว ทำลายโลกลงไปตั้งไม่รู้เท่าไหร่ ทั้งวัตถุดิบ นั่น นี่ อะไรต่อ อะไรออกไปอย่างนี้เป็นต้น

ยกตัวอย่างให้ฟังง่าย ๆ แล้วเขาก็ไม่เข้าใจ เขานึกว่าเขาเองเขาภาคภูมิเหลือเกิน เขาเก่ง เขาสามารถ ออกไปอยู่นอกโลกได้ จะต้องไปสร้าง เอาอะไรล่ะ เป็นสถานี สถานีที่อยู่นอกโลก ที่จะไปอาศัยได้ มีหนัง การ์ตูน ที่มันไปสร้างเมืองอยู่นอกอวกาศ ไปสร้างบ้านสร้างเรือน สร้างสถานี สร้างโน่น สร้างนี่ ลอยต่องแต่ง ๆ อยู่ทางอวกาศ บ้า ๆ คิดกันนั่นน่ะ แล้วมีผลาญ ไม่เข้าเรื่องอะไร

ถ้าเราหันกลับมา อย่าไปผลาญอะไรมากในสังคม หรือในประเทศชาติ หรือในบ้านในเมือง ในธรรมชาติ ของโลกนี่ โดยมาลดละลงมาอย่างพวกเรามาลดละลงไป กินก็พอ ใช้ก็พอ ไม่เบียดเบียนตน มีชีวิต สุขภาพ ร่างกายแข็งแรง ขยัน หมั่นเพียร เกื้อกูล มีวัฒนธรรม อย่างนี้มีทิฏฐิ อุดมคติ มีความเห็น มีความเข้าใจ ในทิศทางเป้าหมายอย่างนี้ บำรุงดินขึ้นมาให้งามน้ำให้ใส อากาศให้สะอาด ต้นหมาก รากไม้ให้อยู่ด้วยกัน รวมกัน ไม่ใช่ไปผลาญ ไปพร่า ไปตัด ไปรอน ไปเอาอะไรมา ตึก ตึกราม อิฐ หิน ดิน ปูน อะไรขึ้นมาก่อ มาสร้างอะไร จนจะทับถม จนไม่มีบรรยากาศของสิ่งสัมพันธ์ เป็นนิเวศวิทยาอันสมดุล หรือว่ามีประโยชน์ คุณค่าต่อกัน ทำลายกันไปอย่างนั้น บรรลัยหมด ยิ่งสังเคราะห์ ยิ่งเกิดกากเศษ เอา ต้องการ สิ่งที่ตัวเอง นึกว่า มันเป็นฤทธิ์แรงอะไร เอาไปใช้ มันก็บรรลัยกันไปหมด

ถ้าเรามาเรียนรู้ทิฏฐิ ความเห็น เป้าหมายหลักให้เห็นว่า ความพอดี ความสมดุล มันอยู่ที่ไหน ทำความพอดี ทำความสมดุลนั้นกัน แล้วก็จะเกิดความเจริญอุดม น้ำก็จะสะอาดขึ้น อากาศก็จะสะอาดขึ้น ดินก็จะ สะอาดขึ้น ต้นหมากรากไม้ก็จะอุดมสมบูรณ์ขึ้น สิงสาราสัตว์ที่จะเป็นสิ่งสัมพันธ์ของชีวิตสัมพันธ์ ต้องเอาเพลง คาราบาวนั่นมาร้อง ชีวิตสัมพันธ์ ต้นไม้งาม อะไรอีกนะ คนงดงาม อะไรนั่นนะ ต้องเอา สิ่งเหล่านั้นล่ะ มาให้มันเกิด มันต้องสร้างนะ คนเราต้องทำ คนเราต้องช่วย ต้นไม้มันช่วยตัวเองไม่ได้ สิงสาราสัตว์ก็ถูกคนทำลาย ดิน น้ำ ไฟ ลม ถูกคนทำลายลงไปหมด ไม่ช่วยกันรักษา ไม่เข้าใจนิเวศวิทยา อย่างแท้จริง บรรลัยหมด อยู่ที่ไหนก็บรรลัย มีแต่พิษ มลพิษมากมาย

นี่คือความไม่เข้าใจ คือความไม่รู้ชัด เรากำลังไม่มีอะไรมาก กำลังไปหา แสวงหาความรู้ แสวงหาความคิด แสวงหาแนวทาง แสวงหาเป้าหมายแห่งชีวิต ที่เป็นคุณค่ายิ่งใหญ่ของชีวิต ก็พยายามศึกษาเรียนรู้ มานี่ มาได้ฟัง ได้ฟังสิ่งที่อาจจะไม่เหมือนที่คุณได้ศึกษามา คุณเข้าไปมหาวิทยาลัยเมื่อไร เขาก็สอนอัดแต่เรื่อง วิชาเทคนิคให้แก่คุณเท่านั้น เทคนิคที่จะไปทำไมรู้ไหม ไปผลาญ ผลาญธรรมชาติ ผลาญโลก เทคนิค ที่จะไปเอาเปรียบ เทคนิคที่จะรู้มาก เพื่อเอาเปรียบคนทั้งหลาย คุณไปเรียน เรียนอัดพวกนั้นมา เสร็จแล้ว คุณก็ได้เทคนิคเหล่านั้นไปเอาเปรียบคน มันเป็นคุณค่าของโลก มันไม่ได้เป็นมนุษย์บุญ มันเป็นมนุษย์บาป น่ะ มันไม่ได้เป็นมนุษย์บุญหรอก ยิ่งเรียน ยิ่งเป็นมนุษย์บาป ยิ่งเรียน ยิ่งเป็นมนุษย์ไปหาเอาเปรียบเอารัด ไปทำลาย ผลาญพร่า สุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย แทนที่จะเป็นมนุษย์บุญ เป็นผู้สร้างสรร เป็นผู้ที่มีคุณค่า เป็นผู้ที่รักษาสิ่งที่ควรรักษาไว้ ทะนุบำรุงอะไรไว้ ให้มันอุดมสมบูรณ์ ให้มันมีกินมีใช้ ให้มันมีสำหรับอาศัย มนุษย์จะได้อาศัยกันถ้วนทั่ว มันกลับกลายเป็นมนุษย์ผลาญ ยิ่งไร้สิ่งที่จะใช้อาศัย ยิ่งร่อยหรอ ยิ่งหมด ยิ่งพร่อง แล้วมันจะเดินทางไปไหนล่ะคน มันก็พากันไปยากไปจน ไปกระเบียดกระเสียร ไปแร้นแค้น แย่งชิง มันก็มีแต่ทางไปเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น อุดมคติของคนหนุ่มสาวนี่ ต้องทำให้ดี นี่อาตมาอธิบายมานี่ ไปเป็นหลักใหญ่ครอบจักรวาลหมดแล้ว

ทีนี้ลองเจาะลงไปเป็นเรื่อง ๆ ดูบ้างซิ หนุ่มสาวนี่เขาอยู่ในวัยกำดัด คือวัยที่จะต้องมีกาม เพราะว่าสรีระ มันกำลังโต เด็ก ๆ พวกต่อมพวกหม พวกสรีระส่วนนั้นส่วนนี้ ยังไม่เจริญที่จะให้กิเลส กิเลสกามของตนเอง บางคนเด็ก ๆ ต่อมก็ยังไม่มี หมายความว่า สรีระ อาวุธหรืออุปกรณ์ มันยังไม่เกิดประกอบมาให้ใช้ ให้จิตวิญญาณ หรือกิเลส กิเลส นั่นอยู่ที่จิตวิญญาณ ให้กิเลสขึ้น กิเลสนี่คือจิตวิญญาณ ออกมา ดำเนินการ เพราะฉะนั้น สรีระมันยังไม่ได้ มันก็ยังไม่คิด มันก็ยังไม่เดิน เพราะว่ามันยังไม่มีอุปกรณ์ มันยังไม่มีช่อง มันยังไม่มีหลุม มันยังไม่มีบ่อ ยังไม่มีต่อม ยังไม่มีปมอะไร ยังไม่เกิด มันก็ไม่เกิด พอโตขึ้นมา สรีระนี่ มันมีของตัวเองมานะ ใครมีบุญบารมีอะไร ก็มีกรรมพันธุ์ขนาดนั้น ตม ต่อม ป่อม ปมอะไร มันก็จะมีมา พอถึงเวลา ถึงเวลาวาระ มันโตมาจนใช้งานได้ มันก็จะใช้งาน จิตวิญญาณที่มีกิเลส ก็ลงมือทำงาน เพราะฉะนั้น ใครมีกิเลส โลภะจัด ราคะจัด มันก็จะเริ่มบทบาท ใครมีโทสะจัด มันก็จะจัด เพราะฉะนั้น หนุ่มสาวนี่ มันจะราคะ โทสะ โมหะ มันจะจัดจ้าน แสดงตัวขึ้นมา กับสรีระของตัวเองด้วย

ตอนเด็ก ๆ มันยังไม่มี มันก็ยังไม่ออกฤทธิ์ พอโตมา มันก็จะออกฤทธิ์มากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าการศึกษา ไม่ดีนะ มันก็ไปทางทิศทางที่มันจะก่อราคะ โทสะ โมหะ จัดจ้านขึ้นในสังคม ไม่ต้องเอาอะไรมาก ยกตัวอย่าง เรื่องที่รู้ง่าย ๆ อย่างเรื่องความรักทางกามนะ เรื่องคู่ ที่จริงมันก็เป็นธรรมชาตินะ ธรรมชาต มันจะต้องสืบพันธุ์ ผสมพันธุ์ ต่อเผ่าต่อพันธุ์ ต่อไป ไม่ให้สูญพันธุ์ มันก็เป็นธรรมชาติน่ะ มันไม่ใช่กิเลสนะ ที่จริง มันไม่ใช่กิเลส มันไม่ใช่ความสุข มันเป็นความทุกข์ด้วยซ้ำ ความทุกข์ แต่เราพยายามที่จะมา แก้ปมนี้ว่า มันเป็นความสุขมามอมเมากันจนหลอกจนติดจนยึดว่า มันอร่อย ที่จริงมันไม่ใช่ความอร่อย มันเป็นความเหน็ดเหนื่อย มันเป็นความที่ต้องลงทุนลงรอนลงแรง สัตว์หลายประเภทมันทุกข์ เวลาจะ ผสมพันธุ์นี่ คุณสังเกตเถอะ หลายสัตว์ หลายประเภท ทุกข์นะ ร้อง ดีไม่ดี บางทีมันโกรธ จนกระทั่ง ตัวเมียนี่ พอผสมพันธุ์เสร็จ ตัวเมียกินตัวผู้เลย เวลาจะกอดผสมพันธุ์นี่ บังคับกัน กัดกัน กว่าจะผสมพันธุ์ กันได้ทุกข์นะ แต่ธรรมชาติมันบังคับกันอย่างนั้น ดินรนเพื่อความเกิด มันเป็นกิเลส ชนิดหนึ่งของสัตวโลก ดิ้นรนเพื่อความเกิด

พระพุทธเจ้าถึงได้มาสอนให้หยุดเกิดเสีย ดับความเกิดทั้งมวลให้ได้ นิพพานนั่นน่ะ เป็นสุข ถ้าเกิดอยู่ ก็เป็นทุกข์ ชาตะ ปิ ทุกขา เกิดอยู่ในลักษณะใด ๆ เป็นทุกข์ทั้งสิ้น ชาติ ปิ ทุกขา เขาไม่รู้กัน พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ รู้ความจริงอันนี้ จึงเอามาสอน เพราะฉะนั้นเราก็ทำไปตามประสานะ เราไม่รู้ว่ามันเป็นทุกข์ เขามา หลอกจนตีกลับ จนไปหลงว่าสุขนะ ที่จริงมันไม่สุขนะ มันทุกข์นะ อาตมาจะยกตัวอย่างให้ฟัง เช่นว่า คนไม่รู้ว่า นี่มันทุกข์ ไปสูบบุหรี่นี่ ไปสูบบุหรี่นี่ ว่ามัน ๆ ๆ มันสุข โอ ! สูบแล้วเพลิน อร่อยนะ อร่อย ที่จริง เฝื่อน เหม็นขม ขื่น น่ะ บุหรี่นี่ผู้หญิงไม่เคย ไม่เคยดูดก็คงจะไม่รู้สึก หรือผู้หญิงบางคนเคยดูดแล้วจะรู้ สำลักตายเลย ซัดเข้าไปเถอะ หรือยังอีกอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นว่า กาแฟดำร้อนนี่นะ กาแฟดำนี่ที่จริง มันขมใช่ไหม เขาชงมา กาแฟดำนี่ เคยซดสด ๆ ไหม ไม่ต้องใส่น้ำตาล ไม่ต้องใส่อะไร ขมใช่ไหม เอาน้ำตาลมาแก้ เอาน้ำตาลใส่เข้าไป เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงรสจากขม มาเป็นขม ๆ หวาน ๆ ปะแล่ม ๆ หน่อย เขาก็หลอกว่า อร่อยนะ อร่อยดี ก็แค่นั้นเอง

เอ้า ! ทีนี้ คนถูกหลอกจัด ๆ นี่ บางคนนี่นะ บอกว่า โอ้โห ! กาแฟนี่อย่างนี้ ใคร คนแน่ ๆ จริง ๆ เขาไม่ใส่ หรอก น้ำตาล เขาเล่นโอยัวะ ไม่ต้องโละน้ำตาล แก่ ๆ ไม่ต้องใส่น้ำตาล แน่ะ แล้วก็มานั่งจิบ ฉันเท่ไหม ฉันกินประเภทแก่ ๆ นะ ไม่ต้องใส่น้ำตาลแน่ะ โอยัวะ อาหย่อย ปัดโถ ! ขมจะตายชัก อร่อยบ้า เห็นไหมล่ะ ถูกหลอกลวง ถูกหลอกนะนั่น จนกระทั่งความรู้สึกกลับอร่อย ทำหน้าตาเฉย แหม ! อร่อย เอาละ ! กาแฟนี่ มันก็บางคนอาจจะไม่ได้ ไม่รู้สึกชัดนักก็ได้ เพราะกินกาแฟขม ๆ บางคนก็อาจจะไม่เคยลิ้มเลยนะ โอยัวะนี่ ไม่ต้องใส่น้ำตาล ขม ๆ นี่ แตะเข้าไปมันก็ขมปี๋ มันไม่มีท่าอะไรหรอก แต่เขาก็กลับความรู้สึกเขา จนกระทั่ง อร่อยได้ นั่นอย่างหนึ่งนะ อย่างนี้ยังพอทำเนา อีกอย่างหนึ่ง อาตมาเอง อาตมายอมแพ้จริง ๆ ก็คือ คนจีนนี่ กินน้ำร้อนน่ะ น้ำร้อน หรือน้ำชานี่ แล้วร้อนจริง ๆ เลย ร้อนลวกปากเลย ลวกจริง ๆ นะ คุณซัดเข้าไปซิ ซดเอาได้นั่นนะ ซดเข้าไป ปากพองเลยนะ เขาบอกว่า นี่แหละอร่อย โอ้โห ! เจ้าประคุณเอ๊ย ! ชงมาร้อน ๆ ต้องมีเตาข้าง ๆ ด้วยนะ ต้มเดือด ๆ ชงร้อนจี๋ ตักมาแล้ว ก็ มีวิธีนะ แหม ! อร่อย เก่งไหม ซัดน้ำร้อน ปากก็ไม่พองด้วยนะ เก่งนี่ นี่ละ อุปาทาน สร้างค่าจนกระทั่งยินดีกัน อย่างนี้เป็นต้น เอ้า ! ยกตัวอย่าง อีกอันหนึ่ง

เผ็ด อย่างนี้อร่อยนะ มาทนให้ได้ เขาฝึกหัดกินเผ็ดกันจนทนได้ ๆ ถ้าคนไม่เคยฝึกแล้ว ลองแตะดูนั่น รับรองแตะเข้าปั๊บ ร้องจ๊ากเลย หาอะไรกินเลย จะตาย แต่พวกที่หัดฝึกนี่ โอ๊ ! ไม่รู้อะไร นี่อร่อย อาตมา เป็นคนอีสานนะ หัดมา ฝึกมา โอ้โห ! พริกนี่ เคี้ยวทีละเม็ด ทีละเม็ด ก็พริกขี้หนูน่ะ เคี้ยวทีละเม็ด โอ้โห ! ฉุยออกจมูกนี่ บอก มันหอม เผ็ดนี่ก็ไม่เท่าไหร่หรอก กล้อมแกล้ม ๆ เหมือนเขาหัดซดน้ำร้อนนั่นแหละ เมื่อหัดกินพริกอร่อย ที่จริงน่ะ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า hot เหมือนกันแหละ เผ็ดมันแสบ มันร้อนจะตายไป เก่ง อร่อย ฝืนทน ทุกข์ อย่างนี้เป็นต้น เหมือนกันน่ะ คุณเองคุณเสพสม สุขสม คนจะสมสู่กันก็ทุกข์ มันเป็นความร้อน มันเป็นการสัมผัสเสียดสี มันเป็นการออกแรง มันเป็นการทำงานชนิดหนึ่ง ที่ถ้าเผื่อว่า จำเป็น คนในโลกนี้มันพร่อง การต่อเผ่าพันธุ์ มันจะสิ้นพันธุ์ มันจะสูญพันธุ์ มันจะไม่มีประโยชน์กับโลก เอ้า ! คุณก็สมสู่ เพื่อที่จะต่อเผ่าพันธุ์ ก็ต้องมา ไม่ใช่รส ไม่ใช่ชาติอะไร ไม่ใช่รสชาติอะไรเลย แต่เรามารู้สึก เป็นรสชาติเหมือนกับอาตมาอธิบายแล้วว่า กินเผ็ด ก็เป็นรสชาติ อร่อย กินน้ำร้อน น้ำร้อนก็เป็นรสชาติอร่อย ล่อโอยัวะขม ๆ ปี๊ ๆ ก็ว่าอร่อย นั่นแหละ เหมือนกันแหละ มันเป็นเรื่องร้อน มันเป็นเรื่องทุกข์ มันเป็นเรื่อง กระทบเสียดสี สัมผัส มันเป็นเรื่องไม่ว่าง ไม่เบาอะไรหรอก มันเป็นเรื่องหนัก ยิ่งหลงมาก็หนักจัด ๆ จ้าน ๆ เข้า อาตมาอธิบายมากเข้า ประเดี๋ยวจะดูมันลามก คุณคิดออกเอาเองก็แล้วกัน ยิ่งพวกวิตถารนี่ พวกซาดิสต์ พวกบ้า ๆบอ ๆ นั่นแหละ เหมือนกันเลยกับกินพริก ยิ่งเผ็ด ๆ กินน้ำร้อน ยิ่งร้อน ๆ เหมือนกัน อย่างไรอย่างนั้นเลย คุณฟังออกไหม

ใครมีอุปนิสัย ใครมีกิเลสแรงร้ายอย่างไร อย่างที่อาตมาอธิบายนี่น่ะ ไม่สมใจ ไม่แรง ไม่อะไร ไม่หนัก ไม่อะไร พอไม่ถึงใจ ไม่สุขสมใจ เพราะสัมผัสเสียดสี ไม่แรงพออะไร เหมือนกันเลยกับไปหัด กินร้อน ไปหัดกินพริก ไปหัดกินขนม ไปหัดกินขื่น ไปหัดสัมผัส ทั้งแรง ทั้งเผ็ด ทั้งหยาบ ทั้งหนักอะไรก็แล้วแต่ เหมือนกัน ความจริงนะ เป็นเรื่องออกแรง เป็นเรื่องสัมผัสเสียดสี เป็นเรื่องขออะไร ยังงั้นล่ะ เป็นทำงาน ทำกิจชนิดหนึ่ง บอกว่า ถ้าจำเป็นจะต้องสร้างคน คนมันขาดพร่อง ก็สมสู่เพื่อที่จะสร้างคนขึ้นมา ไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องอร่อย แต่เป็นเรื่องจำเป็นนะเป็นเรื่องจำเป็น ที่จะต้องสร้างขึ้นมา ให้มันสมดุลกับโลกเท่านั้นเอง คุณก็สร้างสิ ถ้าเผื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงโลกทุกวันนี้นี่ คนขาดพร่องหรือเปล่า หรือว่าคน จะล้นโลก หรือว่าพลเมืองมันไม่พอในโลก ตอบได้ไหม พลเมืองจะล้นโลก เดี๋ยวนี้มี ๕ พันล้านคนในโลก พยายามคุมกำเนิดกันทุกวิถีทาง วางแผนครอบครัว หาทางคุมกำเนิด แต่ไม่คุมกำหนัด ไม่ล้างสิ่งที่ มันเป็นเหตุหลอกลวง คือความใคร่ อยากสมเสพสม หลง อุปาทาน เป็นกิเลส ตัณหา อุปาทาน แล้วก็ ไม่มาล้างตัวนี้ ไปคุมกำเนิดด้วยวิธีวัตถุ วิธีการอะไรต่ออะไร ต่าง ๆ นานา ยิ่งเพิ่มแรงจัดจ้านของกิเลสกาม มันเลยกลายเป็นกามวิตถาร เป็นการสัมผัสเสียดสี วิตถาร เลยเต็มไปหมดเลยนี่ บ้านเมือง มีทั้งเกย์ มีทั้งตุ๊ด มีทั้งดี้ มีทั้งทอม มีทั้งบ้า ๆ บอ ๆ มีทั้งอะไรเป็นเรื่องของสัมผัสเสียดสี เกมกามทั้งนั้น เป็นเรื่องเกมกาม ทั้งนั้น ซึ่งเป็นความหลงผิด อย่างที่อาตมาเล่าแล้ว ไม่จริง เป็นเรื่องหลอกลวง เป็นกามสุขัลลิกะ เป็นความสุข ที่หลอกลวง กามสุขัลลิกะ ไม่เป็นความจริง

คุณมาเรียนแล้วก็มาลดมาละ มาพิสูจน์สิ จริง มันเป็นเรื่องของมนุษย์ หรือของสัตว์โลก นานมาแล้ว ตั้งแต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน จนกระทั่งถึงคน มันก็สั่งสมสิ่งนี้ว่า น่าทำ น่าเป็น น่ามี น่าสร้าง อยู่ตลอดเวลา มันก็เป็นอุปาทานที่ฝังลึก ในสัญชาติญาณมนุษย์หรือสัตว์โลก ก็จริงอยู่ แต่มาศึกษาจริงแล้ว จะถึงขั้น สัจธรรม เห็นจริงได้ว่า มันไม่จริงหรอก มันไม่ใช่เรื่องต้องเป็น ต้องมี ต้องอยาก ต้องใคร่ ไม่ต้องไปมี พฤติกรรม อย่างนั้น ไม่ต้องไปมีรสชาติอย่างนั้น รส รสชาติ บอกแล้วว่า ไม่ใช่รสชาติ มันเป็นอุปาทาน เป็นของลวง ของหลอก ไม่จริง มันเป็นเรื่องทุกข์ ไม่ใช่เรื่องสุขเลย มาพิสูจน์จริง ๆ แล้วคุณก็จะค่อย ๆ เบาบาง ๆ คุณจะเห็นจริงได้ จนกระทั่วไม่ต้องมีก็ได้ ไม่ต้องมีก็ได้ จริง ๆ ไม่ได้เป็นความบกพร่อง ของชีวิตเลย ยิ่งเป็นความสมบูรณ์ของชีวิตด้วยซ้ำ ยิ่งโลกทุกวันนี้ ไม่ต้องการที่จะไปสมสู่สร้างคนออกมา เมื่อลดความกำหนัดได้ สบาย แรงงาน ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปกังวลเรื่องนี้ เอาแรงงาน เอาแคลอรี่ ไม่ต้อง ไปคำนึงถึงพวกนี้ เอาใช้งานที่จะไปสร้างสรร ที่เป็นประโยชน์ ยิ่งแรงงานหนุ่มสาวนี่ ไม่ต้องไปเที่ยว ให้เสียเวลา ต้องคอยไปป้อกัน ไปเอาใจ ไปเที่ยวได้ตามจีบกัน เสียแรงงานหมดเลย เวลาก็เสีย ทุนรอนก็เสีย

ถ้าเผื่อว่า เราแก้กลับ ทำความเข้าใจอันนี้ได้ แล้วก็มาเปลี่ยนแปลงซะ มีอุดมคติไปในทิศทางที่จะ แทนที่ จะไปมีความรักแบบความใคร่ อย่างนั้นน่ะ จะต้องไปเที่ยวในทิศทาง ที่จะต้องไปเป็นความรักแบบ ผู้หญิง ผู้ชาย ความรักแบบผู้หญิงผู้ชายนี่ เป็นความรัก ความต้องการ หรือเป็นทิศทางที่แย่นี่ อย่างความรัก ๑๐ มิติ ที่อธิบายเอาไว้ เห็นหลายคนบอกว่าไม่เข้าใจความรักที่เป็นเรื่องของผู้หญิงผู้ชาย เรื่องเกมกามนั้น เป็นเรื่อง ล้าสมัย ไม่ใช่เรื่องทันสมัยนะ ให้มาเลิก ให้มาลดละลงได้ เป็นคนทันสมัย เพราะ เกมกามเป็นความรัก สมสู่แบบนั้น ใครมันก็รู้แล้วล่ะลุง ใครมันก็รู้แล้วล่ะป้า เดี๋ยวนี้เด็กเล็ก ๆ มันก็รู้แล้ว จะต้องไปพูดทำไมมี มันเป็นของเก่าๆทำไมไม่มาคิดใหม่ ๆ มั่ง ทำไม มันไม่มีมา มามีความเห็นใหม่ ๆ มั่ง ไปงมงายอยู่แต่ เรื่องล้าสมัยทำไม นั่นมันล้าสมัยแล้ว มันของเก่าเอี่ยมน่ะ มันจนตีกลับแล้ว มันเก่าจนเอี่ยมแล้วนะ มันเลิกได้ก็ดี เป็นผู้ที่ทันสมัยที่สุด เพราะว่าโลกต้องการคนที่ไม่ต้องไปวุ่นวายเรื่องนี้ แล้วจะถ่วงดุลสังคม สร้างประโยชน์คุณค่าให้แก่สังคม ถ้ายิ่งไปทำอย่างนั้น ก็เท่ากับไปถูกมอบเมา อยู่กับสังคม แล้วเป็นแบบ สังคม มันเป็นเรื่องที่เหลวไหล หยุดได้แล้ว

ในความรักมิติที่ ๑ น่ะ อาตมาตั้งเป็นมิติที่ ๑ ความรักแบบนี้น่ะ มันมีหนังสือนี่ ความรัก ๑๐ มิตินี่ เทศน์แล้ว เขาก็มารวบรวม อาตมาเทศน์อยู่ ๒ ครั้ง ก็รวบรวมเป็นหนังสือเล่ม ความรัก ๑๐ มิติ นั่นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ โน่นแน่ะ เขียนแล้วทำมาน่ะ แล้วก็เอามาพิมพ์ มารวบรวม แล้วก็เอามาบรรยายอะไรกันอยู่ เป็นเรื่องที่ เสียแรงงาน เสียเวลา เพราะทุกวันนี้ไม่ต้องการ ไม่ต้องการความรักในมิติที่ ๑ นี้น่ะ มันพอ มันล้น มันเฟ้อ มันไม่มีความจำเป็น ที่จะสร้างลงไปให้แก่สังคมแล้วน่ะ ควรจะเปลี่ยนจากความรักมิติที่ ๑ นี่มาให้ได้ ความรักมิติที่ ๑ นี่ เรียกอะไรล่ะ แหม ! อาตมาก็ลืมหมดแล้วนะ ไม่ได้ทบทวน ไม่ได้พูดถึง มานานแล้ว เมถุนนิยมหรือ หรือกามนิยม กามนิยม หรือเมถุนนิยม ความรักมิติที่ ๑ น่ะ เรามาศึกษาดี ๆ แล้วก็มาปฏิบัติ ลดละลงไปให้ได้ เพราะว่าเป็นความรักที่สูญเปล่า เอาเปรียบ เห็นแก่ตัว โลกของเรา จะมีอยู่ เราเพียง ๒ คน เท่านั้นแหละ อะไรต่าง ๆ นานา มันคนอื่นมาร่วมด้วยไม่ได้ คนอื่นจะมาเกี่ยว มาพัน มาแบ่ง มาอะไรไป ไม่เอา เป็นความรักที่แคบมาก เป็นความเห็นแก่ตัวที่แคบมาก อยู่กับอารมณ์ หรือว่า อยู่กับเป้าหมาย ที่หลงมันว่าเป็นความสุข หลงว่าเป็นความวิเศษ มนุษย์ต้องจำเป็น มันไม่จำเป็น อาตมา ท้าทายให้ ให้มาพิสูจน์ว่า มันไม่จำเป็น มันเป็นเรื่องเกิน เรื่องเฟ้อ แล้วก็มีองค์ประกอบต่าง ๆ นานานะ ที่เราจะไป เป็นองค์ประกอบที่จะต้องไปสมสู่อยู่

ถ้าเรามาลดละสิ่งที่เป็นองค์ประกอบลงไปเรื่อย ๆ จะเป็นความสวยทางรูป ความไพเราะทางเสียง ไม่ต้อง ไปฉอเลาะฉอและอะไรกันหนักหนา ไม่ต้องไปฝันหวานด้วยคำพริ้งเพราะอะไรอยู่ โอ้โห ! สุนทรีย์ในความรัก อะไร ไม่ต้องไปมากไปมายอะไร ลด ลดลงจริง ๆ มันเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เรา เมื่อมันเป็นองค์ประกอบ ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มันก็รวมลงมา เป็นเมถุน เป็นที่สุด คั้นออกมาแล้วมันก็จะเป็นกากเศษ ของเป้าหมาย ของการสมสู่ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ความรักอย่างนั้นน่ะ ความจำเป็น บอกแล้ว ความจำเป็น ของสังคม ก็ไม่จำเป็นจะต้อง สมสู่อะไรกันออกมา คนมันล้นโลกแล้ว เรามาลด แต่ละคน ๆ มาลด มาเรียนรู้ความจริงอันนี้ได้ ผู้นั้นจะทันสมัย นำสมัย จะเป็นผู้ช่วยสังคมได้มาก เพราะสังคม ไม่ต้องการ คนเกิด ทุกวันนี้ สังคมต้องการแรงงานพลังงาน หรือแคลอรีของคนนี่ ไปสร้างสรรสิ่งอื่น ไม่ต้อง เอาไปเสียในเรื่องเหล่านี้น่ะ ไม่ต้องเอาไปเสีย ผู้ใดทำได้ ผู้นั้นช่วยโลก ช่วยสังคมน่ะ นี่เป็นเรื่องของ สรุปง่าย ๆ ความรัก ด้านเกมกาม ด้านเมถุนนิยม หรือกามนิยมนี่ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาดี ๆ ยิ่งคนหนุ่ม คนสาว บอกแล้วว่า ตม ต่อม ป่อม ปม อะไรมันเกิดขึ้นมา มันก็ต้องให้กิเลสมาทำงาน เมื่อเราลดกิเลส ได้จริงนะ ส่วนคนหนุ่มคนสาว ก็ไม่ต้องไปมีอาการ ใคร่อยากอะไรในเรื่องนี้ได้ ไม่ต้องหมายความว่าคนแก่ จนป่อมปม มันเหี่ยวๆ มันย่น โน่น นี่มันชักจะล้า มันชักจะหย่อน มันก็เลย มันก็เดินเครื่องอะไรของกิเลส จะไปใช้งาน ก็ใช้ไม่ค่อยได้ เหมือนเครื่องยนต์มันทรุด ๆ โทรม ๆ มันก็เลยเบื่อหน่ายว่า โอ๊ ! จะสตาร์ทตรงนั้น ก็ไม่ติด เดินเครื่องตรงนี้ก็ไม่ต้องได้แล้ว เครื่องมันแก่มันเก่า อะไรอย่างนี้เป็นต้น นั่นมันยอมจำนน

ถ้าสรีระมันไม่อ่อนแอ มันไม่จำนนหรอกนะ อย่านึกว่าคนแก่นี่ หมดกิเลสนะ มันไม่หมดหรอก แต่มันจำนน ไม่รู้จะไปเอาอะไหล่มาเปลี่ยนตรงไหน พลังงานกล้ามเนื้อ ส่วนนั้นส่วนนี้มันก็หมด บ่ลักบ้าง ไม่มีแล้ว เรี่ยวแรงกำลังบ้าง เพราะบอกแล้ว มันเป็นเรื่องของการใช้เรี่ยวใช้แรง อย่างนี้เป็นต้น

ไม่ใช่ว่าหมดกาม หมดกิเลสนะ ไม่หมดหรอก แต่มันพักยก มันยอมแพ้ เพราะความจำนน ด้วยองค์ประกอบ มันไม่สมบูรณ์ แต่หนุ่ม ๆ สาว ๆ นี่ มันองค์ประกอบมันยังดี สรีระร่างกาย โน่น นี่ มันยังดี มันก็บ้า ๆ กันไป อย่างนั้นเอง

แต่เมื่อเรามาเรียนรู้จริง ๆ แล้วนะ แม้จะหนุ่มสาว กำลังวังชาแข็งแรงนี่แหละ เราเอามาแปรพลังงาน ความสามารถ แรงงาน แคลอรี่ มาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ สร้างสรรดีกว่า ไม่ต้องไปทุ่มเท ไม่ต้องไป เสียหาย ไม่ต้องไปบำเรอคนในเรื่องนั้น แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถูก ลดไม่ได้ ปฏิบัติถูกแล้วจะลดได้ นี่ความรักมิติที่ ๑ เป็นความรักเกมกาม เป็นความรักเพื่อความเห็นแก่ตัว สุดท้ายก็คั้นมาเป็นการสมสู่ของคน ๒ คน โลกนี้ มันมี อยู่แต่แค่เกมกามนี้เท่านั้นเอง ความใคร่อยาก แล้วมันก็ไม่เผื่อแผ่ใคร มันไม่มีประโยชน์คุณค่า อะไรมากมาย อาตมาถือว่า มันเป็นความรักที่ต่ำที่สุดแย่ที่สุด

ความรักในมิติที่ ๒ เป็นความรัก ขยายขึ้นมา แทนที่จะเป็น ๒ คน พ่อแม่ ขยายขึ้นมาเป็น อะไร ปุตตนิยม ใช่ไหม หา เอ๊ ! มันไม่ได้เขียนสรุปเอาไว้เลยหรือ มันเป็นรวม ๆ มันเป็นอยู่ที่ไหนนี่ เราก็ไม่ได้เปิด เราก็ไม่ได้ ทบทวน หา ในท้ายเล่มมีหรือ เอาไว้น่ะ หัวข้อ พอเจอหัวข้อ อาตมาก็อธิบายได้หรอก ไม่มีปัญหาอะไรหรอก แต่อาตมาจำหัวข้อไม่ได้เท่านั้นเอง ที่จริง มันรู้ ๆ อยู่เท่านั้น ขณะนี้ แต่มันตั้งไว้แล้ว จะได้ไม่พูดเพี้ยนไปอื่น เคยตั้ง เคยใช้ทาย โอ๊ย ! เราไม่ได้เตรียมเลยนี่ ไม่รู้มันอยู่ไหน

อันที่ ๒ นี่ ปุตตนิยม อาตมาจำได้ว่ายังงั้นนะ ปุตตนิยม เอ้า ! เจอแล้ว อันที่ ๒ พันธนิยมไม่ได้บอกว่า ปุตต หรอกนะ อันที่ ๑ นี่ กามนิยมหรือ โอย ! พูดไว้เยอะ ตั้งไว้หลายภาษา กามนิยม หรือทารกริยา ทารกริยานิยม หรือ เมถุนนิยม นี่ตั้งไว้เยอะนี่ ภาษาความรักมิติที่ ๑ มิติที่ ๒ พันธนิยม หรือ ปิตปุตตานิยม พันธะ ก็หมายความว่า ยังมีเผ่ามีพันธุ์ มันยังมี ปิตปุตต ก็หมายถึง ปิตะ ก็คือ พ่อ ปุตตา ก็คือลูก เป็นเรื่องของลูก ของพ่อ ของแม่ มีความเผื่อแผ่ออกไปบ้าง มีความรักที่กว้างขึ้นนิดหนึ่ง นอกจากคน ๒ คน เพื่อเกมกาม อย่างเดียว มันก็แผ่ออกไปหาความรัก เกื้อกูล เอื้อเฟื้อไปสู่ลูก มีความกว้างขึ้นนิดหนึ่ง ก็ช่วยเหลือขึ้นมา เผื่อจะเอื้อเฟื้ออะไรขึ้นมา เอาแรงงาน เอาพลังงาน เอาอะไรต่ออะไรไปเผื่อแผ่ ช่วยเหลือสร้างสรแก่ลูก มันก็แค่นั้น

มิติที่ ๓ ก็ความ ถ้าเผื่อว่า ความรักมันกว้าง ไปเกื้อกูลเผื่อแผ่ช่วยเหลือเฟือฟาย เผื่อคนอื่นอีกบ้าง กว้างขึ้นไป เป็นมิติที่ ๓ ญาติ หรือ ญาตินิยม ญาติ ก็คงรู้แล้วละ ญาติ ญาตินิยม นอกจากจะเป็นลูกเรา เท่านั้น ก็อาจจะเป็นหลาน เป็นพี่ป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย เพิ่มขึ้นไป เผื่อแผ่กว้างขวาง เอื้อเฟื้อเพิ่มขึ้น มันก็ดูดีขึ้น

ความรักที่เคี่ยวข้นเข้ามาหาเห็นแก่ตัว แก่คน ๒ คน แก่เรื่องของอารมณ์สุข ที่เป็นกามสุขัลลิกะ แค่คน ๒ คนน่ะ แค่นั้น สมสู่อยู่แค่นั้น แคบที่สุด เผื่อออกมาถึงลูกก็ดีหน่อย ความรักในระหว่างที่มันยังรักลูกรักเต้า อะไรบ้างน่ะ พ่อแม่ลูกอะไร เพิ่มขึ้นมา ถ้ามันเผื่อออกไปอีกเป็นญาติกว้างขึ้นอีก เผื่อแผ่ความรัก กว้างขึ้นไป เป็นพี่ป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย ลูกหลาน เหลนโหลน อะไรขึ้นมา ก็ดีขึ้น เรียกญาตินิยมนะ

มิติที่ ๔ สูงไปกว่านั้นอีก สังคมนิยม คำว่าสังคมนิยมนี่ ไม่ได้หมายความว่า เป็นชื่อ ลัทธิชนิดหนึ่งนะ หมายความว่า มันเกิดความรักที่กว้างขึ้น เผื่อแผ่ ไม่ใช่แต่แค่ญาติ เป็นกลุ่มคนเพิ่มขึ้น นั่นเรียกว่า เป็นสังคม ที่กว้างขึ้น สังคมจะกว้างขึ้นเท่าใด ก็เผื่อแผ่คนในหมู่กลุ่มที่ตนเองอยู่ร่วมเรียกว่าสังคม มากขึ้น เท่าใดได้ มิตรสหาย เพื่อนฝูง ใครต่อใครอยู่ในสังคมตนมากขึ้น เผื่อแผ่กันมากขึ้นได้ มันก็เป็นความรัก ที่มีคุณค่าสูงขึ้นไปอีก มิติที่ ๔ มิติที่ ๕

มิติที่ ๕ ชาตินิยม ชาตินิยม ทีนี้ทั้งประเทศเลย มีความรัก เผื่อแผ่ไปทั้งชาติ สิ่งใดที่จะเป็นความเจริญ พลังงานใดจะสร้างสรรให้แก่ชาติ ไม่ใช่เห็นแต่แก่ตัว มานั่งมั่วมุ่นอยู่ คิดแต่ เรื่องที่จะเป็นความรัก ความเห็นแก่อะไร หรือความสร้างสรรอะไร หรือความจะช่วยเหลือเกื้อกูลอะไร ช่วยแต่คน ๒ คน หรือ แค่ลูกหลาน หรือแค่ญาติอยู่เท่านั้น มันแคบ กว้างเลย ไปถึงสังคมก็ยิ่งดี กว้างเข้าไปเพื่อชาติ ทั้งชาติ เผื่อแผ่ไปเพื่อคนทั้งประเทศก็เป็น ยิ่งเป็นความรักที่มีคุณค่า เป็นชาตินิยมเพิ่มมากขึ้น สูงมากขึ้น แต่มัน ก็ต้องอุตสาหะมากขึ้น ทุกข์มากขึ้น แต่ความทุกข์เพื่อ ไม่ใช่เพื่อตัวเพื่อตน เป็นความทุกข์ที่เพื่อคนมากขึ้น เผื่อแผ่มากขึ้น อย่างนี้มันดีไหมล่ะ เป็นบุญเป็นประโยชน์ไหมล่ะ นี่เราต้องติดเห็นนะ ต้องเห็นความจริง พวกนี้ให้ชัด มิติที่มากขึ้นไปอีก มิติที่ ๗

มิติที่ ๖ สากลนิยม ทีนี้ไม่มีขอบเขตอยู่แค่ชาติกู ชาติเราเท่านั้น สากลเลย เชื้อชาติใด สัญชาติใด ประเทศใด ก็เผื่อแผ่กว้างออกไปอีกได้ ถ้าเรามีฤทธิ์มีแรง ถ้าเรามีความสามารถ มีน้ำใจ เปิดกว้าง เผื่อแผ่ มีความรัก เห็นแก่ หรือว่า ช่วยเหลือเฟือฟายให้ทั่วถ้วน ให้กว้างขวางมาก ถึงไปเป็นสากลนิยมได้ ไม่ต้อง ขีดขอบอยู่แต่แค่ชาติเราเท่านั้น ประเทศเราเท่านั้น เผ่าพันธุ์เราเท่านั้น ชาติอื่นก็เผื่อแผ่ได้ มีความรัก กว้างใหญ่ขึ้นไป ถึงมิติที่ ๖ มันก็ยิ่งดี มันก็ยิ่งเป็นความรักที่มีคุณค่าสูง นี่ ลองคิดดูดี ๆ ซิ ใช่ไหม

มิติที่ ๗ เทวนิยม อันนี้ชักลึกซึ้ง เข้าไปหานามธรรมแล้ว มิติที่ ๗ นี่ เทวนิยมนี่ เทวะ ก็คือเทพเจ้า เป็นความรัก อย่างเทพเจ้า ผู้ใดเป็นเทพเจ้าหรือเป็น god เป็นความรักที่รักประชาชนทั้งโลก รักประชาชน ทั้งจักรวาล เผื่อแผ่ สร้างสรรช่วยเหลือ เกื้อกูลทั่วโลก เทวนิยม ยิ่งดีใหญ่ คุณจะมีความรักอย่างนั้น ได้จริงไหม มานั่ง เฟ้อ ๆ ฝัน ๆ เอา บางทีมันก็ไม่ได้ต้องสร้างไปตั้งแต่เริ่ม ๆ แรก ๆ หัดตัดความเห็นแก่ตัว รอบแคบ ๆ ตั้งแต่ ๒ คน ผัวเมีย ๒ คนคู่รัก เผื่อแผ่ออกไป จะไปนั่งเอาความรักมากอดกันเอาไว้ แค่นี้ มีแต่เรา ๒ คนไม่เอา เผื่อออกไป ไม่ใช่ลูก ก็คนอื่น สมมุติได้ อย่างอาตมานี่มีลูกเยอะ ไม่ใช่คนที่จะต้อง คลอดออกมาหรอก ลูกจริง ๆ อาตมาไม่มีแม้แต่คนเดียว เพราะไม่เคยแต่งงานน่ะ แต่ไม่ใช่หมายความว่า เป็นคนกามตายด้าน อ๋อ ! ไม่แต่งงานเพราะว่า เป็นคนพิการ กามตายด้าน ไม่ใช่ อาตมาไม่ใช่คน กามตายด้านนะ เป็นคนปกติ สมบูรณ์ เหมือนอย่างพวกทุกคนเหมือนกันหมด ไม่ได้เป็นคนขาดพร่อง อะไรเลย แต่อาตมามันโชคดี มันโชคไม่ร้าย โชคช่วยจริง ๆ นะ อาตมาไม่มีเคราะห์ในเรื่องนี้ ถ้ามีเคราะห์นี่ อาตมาถูกผูกไว้แล้ว ในทางนี้นะ ไปมีลูกมีเต้าอะไรไว้แล้ว ถ้าอาตมามีเคราะห์ นี่มันโชคดี มันไม่มีเคราะห์ มันให้ แหม ! คลาดแคล้วมาทุก แหม ! อาตมาไม่อยากเล่า เล่าแล้วเป็นเรื่อง เป็นนิยายรัก เลิฟ สตอรี่ หรือเป็นเรื่องเมถุน story ที่วุ่นวายมาก สำหรับชีวิตอาตมานี่น่ะ เรื่องเกี่ยวกันกับเรื่องพวกนี้ มันแหม ! มัน เอ๊ะ ! เราคลาดแคล้ว มาได้ยังไงก็ไม่รู้นะ เจตนาจริงนั่นนะ ไม่นะ อีตอนนั้นรู้สึกว่า ตัวเองต้องการ เป็นอย่างนั้น ต้องการจะมีคู่ ต้องการจะไปอย่างนั้นอย่างนี้ ไปกับเขา เล่าลามก ๆ ให้ฟัง หน่อยก็ได้

อาตมานี่ เคยขึ้นโรงแรมมาถึง ๕ ครั้งในชีวิต แต่ไม่เสียตัวสักครั้ง มันเป็นยังไง เห็นไหมว่ามันแคล้วคลาด ยังไง โอ้โห ! ทั้ง ๆ ที่ตัวเองนี่ มันก็เหมือนคนหนุ่มนี่นะ เขาบอกว่า เฮ้ย ! ไปสิ ยังโง้นยังงี้ โอ ! ไป ๒ ครั้งแรก อาตมาไม่กล้าเข้าแม้แต่ห้อง ๒ ครั้งแรกไม่กล้า แต่แอบดูเขา นี่ล่ะ อาตมาเล่าให้ฟัง ไม่ใช่เล่าเรื่องลามกนะ เล่าเรื่องจริงให้ฟัง มันแคล้วคลาด มันมีโชค มันไม่ใช่เคราะห์น่ะ มันบุญบารมีของอาตมาเอง อาตมาก็ เป็นหนุ่มแน่นเหมือนกับคนอื่น ๆ มันแหยง ๆ ยังไง มันรู้สึกเหยียดหยามนะ มันรู้สึกเป็นของต่ำ มันรู้สึก เป็นของไม่ดี อีก ๓ ครั้งหลังนี่ เข้าห้องนะ แต่ก็แคล้วคลาดมาได้ ไม่เสียตัว ตลกเป็นบ้าเลย ตอนนั้น เป็นฆราวาสนะ ไม่ใช่เป็นพระนะ อย่ามานั่งเข้าใจผิด ตั้งแต่เป็นหนุ่ม ๆ โน่นแน่ะ ตั้งแต่เป็นหนุ่ม ๆ นี่เล่า สู่ฟังนะ มันเป็นความเฮง ถึงเรียกว่าโชค ไม่ใช่เคราะห์ ก็โลกมันผลักดันให้เป็นไปอย่างนั้น เราก็เดินตามเขา หมู่ฝูงมันก็ชักจูง กินเหล้าเข้าปากมั่ง ก็เฮ ๆ ฮา ๆ ดึงรั้งกันไป แต่อาตมาไม่เสียสตินะ ไม่ได้ถ้าเสียสติ อาจจะบ้า ๆ บอ ๆ อาจจะเสียตัวแล้วก็ได้ในโรงแรม อะไรยังงี้นะ ก็ไม่ อย่างนี้เป็นต้น เออ ! หลาย ๆ อย่าง มันเป็นเรื่องของบุญ มันเป็นเรื่องของโชค ไม่มีเคราะห์ร้าย ซึ่งมันไม่ควรจะเป็น ใช่ไหม มันแคล้วคลาด มาได้ยังไง อาตมาก็เล่ารายละเอียดไม่ไหวหรอก ดูแล้วมันน่าเกลียด มันก็มีรายละเอียดล่ะ ถ้าจะเล่า เล่าแล้ว มันก็ไม่เข้าท่าอะไรหรอกนะ ก็ไม่ต้องเล่า ผ่านไปก็แล้วกัน

ถ้าเผื่อว่าเราเจตนาดี ถ้าคุณได้รู้อย่างที่อาตมาเล่าให้ฟังก็ดี แต่ก่อนอาตมาเป็นหนุ่ม อาตมาไม่เคยได้ยิน ได้ฟังอย่างนี้นะ ไปเข้าใจอย่างโลก ๆ ไปโน่น แล้วมันก็จะเลวไปนะซี ถ้ามันโชคไม่ช่วยเอาไว้ ป่านนี้ก็ มันก็เรียกว่า มันก็ไม่ดีล่ะนะ มันก็ พูดง่าย ๆ ก็เสียนะ เสียท่า เสีย เสียโฉม เสียท่า เสียโฉม อะไรก็แล้วแต่ มันก็ว่ากันไป แต่มันก็แคล้วคลาดมา มันเป็นบุญ เพราะฉะนั้น อย่าไปหวังบุญมากนัก เราเป็น เราไม่มีบุญ เราต้องสร้างบุญเอาเอง ต้องเรียนรู้ มีสติสัมปชัญญะ อย่าไปมุ่ง มุ่งเข้าไปหา อย่าไปใกล้ อย่าไป นั่นมัน อย่านึกว่าเก่งเหมือนอาตมานะ อาตมามีบุญช่วยนะ พวกคุณอย่านึกว่า พวกคุณแคล้วคลาดอย่างอาตมา อย่านะ อย่าเทียมนะ อย่ามานั่งแอ๊คท่า ว่าเรามีบุญ คงจะแคล้วคลาดเหมือนพระโพธิรักษ์ อย่าแอ๊คนะ เดี๋ยวเคราะห์จะกินหัวเข้า ไม่ดีน่ะ

ถ้าเราไม่รู้ เราก็เป็นไปอย่างโลกเขามอมเมามันเสีย แต่เมื่อรู้แล้ว อาตมารู้ อาตมาก็รีบมาบอกพวกคุณ รีบมาบอก อย่าเลย สิ่งเหล่านี้ โลกมันแนะนำไปในทางที่ชั่ว ที่เลว ที่เสื่อม ที่ต่ำ แปดเปื้อน ไม่เข้าเรื่อง อย่าไปทำ มาคบมิตรดี มาคบผู้ที่เขานำพามาในทางที่ดี แล้วมาเถอะ บริสุทธิ์สะอาดมา มันจะมีกิเลสอะไร ก็มาขัดเกลาออกไป เราจะได้เป็นผู้มีความรัก ที่มีมิติสูง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งไปมีมิติที่ ๗ ที่ ๘ เทวนิยม รักคนทั้งโลก แหม ! นี่เพลงอะไร เพลงร้อง อยากรักคนทั้งโลก ก็รักเข้าไปซิ ไม่ต้องอยากเท่านั้น อยากรัก ก็ดีแล้ว อยากรักคนทั้งโลก ก็รักกันจริง ๆ เผื่อแผ่ เกื้อกูล เอื้อเฟื้อ ต้องการให้เขาดี รักก็ต้องให้มันเป็น ทิศทางที่ดีน่ะไปรัก ไม่ใช่ไปรักใคร่เกมกามเท่านั้น

รักคือ ความเมตตา เกื้อกูล เอื้อเฟื้อ ต้องการให้คนนั้นเป็นสุข ต้องการให้เขาได้ดี เจริญ งอกงาม เสียสละ อุ้มชูกัน เออ ! เชิญ ให้มันเป็นเทวนิยม สูงขึ้นไปมาก ๆ

มิติที่ ๘ นั่น เป็นความรักในสัจนิยม นี่ต้องลึกซึ้งขึ้นไป เราเรียนรู้สัจจะว่า ควรจะเกื้อกูล ควรช่วยเหลือ คนจนบางทีก็อย่าไปช่วยเหลือ ประเภทที่โง่ ๆ อย่างนี้เป็นต้น คนจนเอาแต่เงินทองไปให้เขา ไปให้เขา เลยกลายเป็นคนขี้เกียจ แบมือขอปูอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ก็ไม่ใช่ทิศทางแห่งสัจจะ รักแบบประเภทที่จะต้อง ทำงาน จะต้องเอาแต่ของไปให้ ไม่ถูก อย่างนี้เป็นต้น

เราจะช่วยเหลือคนจนอย่างไร ให้รู้จักลดละสิ่งที่ตัวเองไปหลงติด ให้ขยันหมั่นเพียร สร้างสรรค์ ให้ฝึกปรือ ให้มีสมรรถภาพ สามารถช่วยตนให้ได้ จนกระทั่งมีจิตใจไม่เห็นแก่ตัว เกื้อกูลผู้อื่นได้ต่อ แล้วก็เป็นคนจน ได้อย่างเก่า อาตมาทำงาน อาตมาฝึกทางธรรมมานี่ แต่ก่อนนี้ รวมกว่านี้นะ ทำแล้วก็กอบโกย ทำแล้วสะสม เดี๋ยวนี้ทำแล้วก็จ่ายหมด จน ไม่มีไม่สะสม เป็นคนจนอย่างเก่านี่แหละ เพราะฉะนั้น สอนคนจน ให้มันเป็น คนจน อย่างเก่า แต่เป็นคนร่ำรวยบุญ ร่ำรวยคุณค่า ร่ำรวยประโยชน์ที่จะเกื้อกูล สร้างสรร ให้แก่ผู้อื่น ส่วนตัวเราเองเป็นคนจนอย่างเก่านั่นแหละ ไม่มีไม่สะสม ไม่กอบโกย ต้องสอนคนจน ให้เป็นคนจนให้ได้ เคยได้ยินได้ฟังไหมล่ะนี่ หือ ! เขาอธิบาย เขาสอนกันอย่างนี้หรือเปล่า ที่ไหน ที่อื่นน่ะ เราพยายามสอนคน ให้เป็นคนจนให้ได้ เป็นคนจนที่เจริญ เป็นคนจน ที่เป็นเศรษฐี เศรษฐีแปลว่า ผู้ประเสริฐ กระภุมพี แปลว่า ผู้ร่ำรวย ไม่ต้องไปร่ำรวยหรอก แต่ร่ำรวยบุญ ร่ำรวยสิ่งที่ได้เกื้อกูล เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือผู้อื่น เสียสละ ให้แก่ผู้อื่น แล้วสร้างสรรขึ้น มีฝีมือดีขึ้น มีความขยันขันแข็ง พากเพียรดีขึ้น กอบก่อดีขึ้น เฉลียวฉลาดขึ้น แต่ก็ให้ เราก็จนอย่างเก่านี่แหละ นี่เป็นเรื่องสุดซับซ้อนนะ ถ้าเผื่อว่าเราศึกษาสัจนิยม อย่างที่อาตมากล่าว ในมิติที่ ๘ ก็จะมีความรักที่ประเสริฐ มีคุณค่าสูง

มิติที่ ๙ นั้น เป็นเรื่องถึงขั้นรู้จักวิมุตินิยม สามารถทำลายอัตตา หรือ อัตวิสัยลงไปได้ เป็นวิมุตินิยม เป็นผู้ที่ สูงจริง ๆ ได้เลย มิติที่เป็นความรักชนิดพิเศษ เป็นธรรมะชั้นสูงเป็นเรื่องของปรมัตถธรรมแล้ว

ส่วนมิติที่ ๑๐ สมบูรณ์นั้น เป็นเรื่องของความเพิ่มพูนของความเป็นมนุษย์ เป็นโพธิญาณ เป็นเรื่องของ พุทธภูมินิยม หรือธรรมนิยมชั้นสูงสุด โดยเฉพาะพุทธธรรม ซึ่งมีสภาพภาพเพียงเป็นโพธิสัตว์ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐสุดยอด ซึ่งอาศัยเวลาสร้างสม สั่งสมบุญบารมี โอ้โห ! นับชาติ ไม่ถ้วน อันเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่มนุษย์จะพึงเป็นได้ มิติที่ ๑๐ นี่ เราอย่าเพิ่งไปพูดถึงเลย เอาแต่แค่ มิติที่ ๘ ที่ ๙ นี่ก็บริสุทธิ์แล้ว เอามิติที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ นี่ ก็เยี่ยมยอดแล้ว สังคมคนนี่นะ ศาสนาที่มีเทวะ มี god นี่ เขาก็ได้ขนาดเทวนิยม มิติที่ ๗ ก็ดีน่ะ ดี เทวนิยมก็ดีมากล่ะ โลกมันยังไม่ได้ถึงขนาดเทวนิยม มันก็ยังมี ไม่ค่อยได้เลย ส่วนพุทธนั้นสอนเลย ๆ มิติที่ ๗ แค่เทวนิยมเราก็รู้ พากเพียรจนกระทั่งถึงมิติที่ ๘ เป็นสัจนิยม ไปจนถึงขั้นวิมุติ เป็นวิมุตินิยม มิติที่ ๙ ไปได้จริง ๆ หมดความเห็นแก่ตัว หมดตัว หมดตน หมดตัวกู ของกู จริง ๆ เลย วิมุตินิยม วิมุติ วิมุตินิยม

นี่เป็นความรักที่ควรศึกษา เป็นความเกื้อกูล เมตตา หรือเป็นความช่วยเหลือในโลก ความควรศึกษา อาตมา ก็สรุปให้ฟังคร่าว ๆ นะเวลาเราก็หมดลงแล้ว ยังเหลืออีก ๑๐ นาทีนี่ อาตมายังมีปัญหาค้างของคุณอยู่นี่ เดี๋ยวพอเทศน์เสร็จนี่ อาตมาก็ต้องเดินทางแล้ว ไปปฐมอโศก ก็วิ่งรอกไปทางโน้นก็มีนักศึกษา เอาเถอะ ผมตอบก็ได้ ๑๐ นาทีก็ตอบ พยายามตอบอย่างเร็ว ก็คงหมด ไม่มีปัญหาอะไรเพราะฉะนั้นก็

สรุป ที่อาตมาเทศน์ อุดมคติของคนหนุ่มสาวนี้ก็ หนุ่มสาวนี่ มันก็จะมีความรักอะไรยังงี้ ก็ระวัง เรียนรู้ อย่าไปมีความเข้าใจผิด ความเห็นผิด เรียกว่า มิจฉาทิฐิ ไปสร้างความรักในทิศทางที่มันสูญเสียคุณค่า ของตน ทั้งตนและสังคม ถ้าเผื่อว่าเข้าใจไม่ถูกทางแล้ว แทนที่เราจะเป็นคนที่มีคุณค่าทั้งตนและสังคม มันก็ลดคุณค่า อย่าว่าแต่ความรักเลย แม้แต่อุดมคติที่สูงที่ถูกทาง จะต้องพยายามศึกษา ทำปริญญา ให้แจ้ง ให้เห็นทิศทางที่ตรง ที่ถูกต้อง ที่แท้จริง อย่าสับสนวนเวียน เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นชั่วเป็นดี เห็นถูกเป็นผิด สังคมมันพานิยมในสิ่งที่มันกลับกัน ซับซ้อน นี่ต้องตั้งหน้าตั้งตาศึกษาสัจธรรมให้ดี จะได้รู้ ทิศทางความถูกต้องความตรง เป็นสิ่งที่ตรงแท้ดีเป็นดีที่แท้ ชั่วเป็นชั่วที่แท้ แล้วเราจะได้ละชั่ว ประพฤติดี ที่จริงได้นะ ล้างกิเลสออกจากจิต จนจิตสะอาดบริสุทธิ์ได้จริง จะได้เป็นคนที่มีคุณค่า ทั้งมีความสุข สุขอย่างวูปสโมสุข สุขอย่างไม่ต้องไปเสพสม สุขอย่างเบา ว่าง สบาย สุข ไม่ต้องไปเที่ยว ได้มาบำเรอตน มีแต่ความภาคภูมิ ที่จะได้ช่วยผู้อื่นน่ะ เป็นความสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น มันวิเศษนะคุณ เอาละ อาตมาก็สรุป เพียงเท่านั้น ที่นี้จะขอตอบปัญหา มีเวลา ๗, ๘ นาที ที่เหลือให้มันจบ ปัญหาที่เหลือนี้ บอกว่า

ถาม - ตอบ ในอุดมคติของคนหนุ่มสาว
โดย สมณะโพธิรักษ์ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๑ ณ พุทธสถานสันติอโศก

ถาม : การที่ทางเถรสมาคมกล่าวหาว่า สันติอโศกผิดกฎหมาย เช่น เป็นมารศาสนา ผิดกฎหมาย เป็นคอมมิวนิสต์ พ่อท่านจะมีวิธีป้องกันอย่างไรครับ

ตอบ : อาตมาก็พากันป้องกันด้วยความสงบ ด้วยความไม่ไปทะเลาะเบาะแว้ง ไปตีรันฟันแทงอะไร ใช้สันติวิธี เขาว่าเรา เราก็ฟัง ตอนนี้ยังไม่มีตุลาการ ที่จะมาดำเนินการตัดสินจริง ก็เป็นแต่เพียงคำเขาว่า เพราะฉะนั้น เราก็ไม่มีปัญหา เขาว่าเราก็ฟัง อันไหนที่เขาว่าถูก เราก็เอามา รับมา อันไหนที่เขาว่าผิด ก็ปล่อยไป ก็เท่านั้นเอง เขาจะว่าอะไร เดี๋ยวเขาว่า โอ้โห ! เรื่องเล็ก เรื่องน้อย มาขยายความว่ากันมากมาย ก็เอาล่ะ เขาว่าก็ว่า ฟังเขา อาตมาก็เห็นใจเขา ที่เขาก็รักศาสนาเหมือนกัน แต่เขารักศาสนาในความเห็น ของเขาน่ะ อาตมาก็รักศาสนาน่ะ ชีวิตเลือดเนื้อของอาตมานี่ ให้แก่ศาสนาจริง ๆ และอาตมาเข้าใจว่า พุทธศาสนามีแนวคิดอย่างนี้ มีทฤษฎีอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ อาตมาก็นำมาทำ จนกระทั่งว่า อาตมา ได้ผลของศาสนา อาตมาก็พามาให้คนอื่นเรียนรู้ตาม ทฤษฎีอย่างนี้ ทิฏฐิอย่างนี้ แล้วก็พิสูจน์ พิสูจน์ตามอีก ทั้งพระ ทั้งฆราวาสนี่ ก็พิสูจน์กัน ก็ละลดโลภ โกรธ หลงมาได้ อย่างนี้อาตมาก็เห็นแจ้งเห็นจริง ว่ามันเป็น ของจริงนะ มันดีอย่างนี้ มันเป็นประโยชน์ต่อตน ต่อสังคมอย่างนี้ อาตมาก็ทำก็เชื่อมั่นในความจริงนี้ ส่วนเขาเองเขารักศาสนา ในความเห็นของเขา อาตมาบังคับความเห็นเขาไม่ได้ ก็ว่ากันไป จะเอายังไง อาตมาไม่มีปัญหาหรอก ทางโน้นจะตัดสินยังไง จะทำยังไง ก็รออยู่เหมือนกันนี่ ว่าจะเป็นยังไง เขาก็ว่ามา เราไม่ได้ไปตอบโต้เขานะ เขาหาว่าเราไปด่า เราไม่ได้ไปด่า เขาด่าเรายังกับอะไรดี แล้วเขาว่าเรานี่ ไปเที่ยวได้ด่าพระ ด่าเจ้า ด่าคนโน้นคนนี้

ที่จริงเราวิเคราะห์วิจัย สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม แล้วเราก็ว่าสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม ทุจริต หรืออกุศลเหล่านั้น มันไปมี ในตัวเขากันน่ะ เขาก็เลยว่าเราไปด่าเขา ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้ว่า นาย ก มี หรือนาย ข มี นาง ข นาง ค นาง ง นาง ฮ อะไรมี เราไม่รู้ตัวตนเขามีหรอกนะ เราว่าของสัจธรรมนะว่า นี้เป็นอกุศล นี้มันเป็นทุจริต มันเลวอย่างนี้ มันชั่วอย่างนี้ แล้วมันไปกระทบเขา เพราะเขามี พอยกดีทีไร ดันผ่ามามีที่เราเสียอีก พอเราบอกส่วนดี เอา ดันผ่ามาชมโต ๆ พวกมันเอง คนดี มีศีล ไม่คอร์รัปชั่น ไม่โกง ไม่กิน มักน้อย ไม่มักมาก อะไรต่าง ๆ ไอ้พูด ส่วนดีทีไร ก็มากระทบพวกเรา พอพูดส่วนเสียทีไร ไปกระทบ พวกเขา เขาก็เลยว่า พวกเรานี่ยกตนข่มท่าน ด่าคนอื่น ชมตัวเอง นี่ไม่รู้จะทำยังไง ไอ้ความจริงมันก็จริง แต่เราก็ไม่ได้ออกชื่อเราด้วยซ้ำนะ อย่างเขา บอกว่า มันดีอยู่คนเดียว ถ้าทางโน้นไม่มีดีเลย โถ ! อาตมาพูดแล้ว เมื่อวานนี้ อาตมาไม่เคยยกเลยนะ พระถิรจิตโตนี่ เป็นพระอริยะ ไม่ อาตมาประกาศไป พระอริยะนี่นะ ตั้งแต่เจ้าคุณนร ฯ อาจารย์มั่น ซึ่งก็ตายไปแล้ว นั่นล่ะเป็นพระอริยะนะ ควรเอาเป็นตัวอย่าง ท่านพุทธทาส น่ะ หลวงพ่อชา อะไรพวกนี้ หรือแม้แต่ท่านเจ้าคุณเทสก์ อาตมายกแล้ว เคยพูดมาแล้ว

แล้วก็อาตมายอมรับว่า เป็นพระอริยะก็ข้างนอกทั้งนั้น คนเขาพระทางเถรสมาคมทั้งนั้น มันยกว่า มันมีอริยะ แต่พวกมัน ดีอยู่คนเดียว นี่มันเผิน เห็นไหม ลงเรามุ่งเพ่งโทษกันแล้ว มันก็เพ่งโทษ อาตมาไม่ได้ มายกพระ พระที่อาตมายกเป็นอริยะ อาตมายกตัวเอง คนเดียว นอกนั้นอีก ๖,๗ เขาบอก อาตมาดูเหมือน จะพูดว่า พระอริยะ ๗ รูปนี่ ในขณะนี้นี่ ที่ได้พูดออกไป แล้วนะ พยากรณ์ไปแล้ว แล้วใน ๗ รูปนั้น มีตั้ง ๖ รูป ที่เป็นพระเถรสมาคมทั้งสิ้น พระของอโศกนี่ อาตมา ก็ยกอาตมาองค์เดียว คนเดียว เท่านั้นเอง แล้วบอกว่า มันยกแต่มัน คนอื่นไม่มีดี ก็คนอื่น ยกให้ตั้ง ๖ สมองถั่ว หรือตาถั่วก็ไม่รู้กันแน่ นี่อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็มา ตีว่าเรานะ ว่าเรานี่ไม่เคยเห็นคนอื่นดีเลย โถ ! ใครนะไม่เห็น เราอุตส่าห์ยก อุตส่าห์พูด มีหลักฐานนะ ว่าอาตมาประกาศไว้เท่าไหร่ ในหนังสือเก่า ๆ มี เจ้าคุณนร ฯ นี่ลงภาพลงรูปเลยว่า พระอริยะธัมมวิตักโก หนังสืออโศก พิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. อะไรก็ไม่รู้ ๑๔ มั้ง พิมพ์อยู่ที่ห้องภาพสุวรรณ เดี๋ยวนี้ หลักฐานเหล่านี้ เอามายืนยันก็ได้ว่า อาตมากล่าวมาตั้งแต่ปางไหน อาตมาบวช ปี๑๓ ยกตั้งแต่ ปี ๑๔ ยกย่องให้เป็นพระอริยะ อาจารย์มั่นก็มีคำกล่าวไว้ ในหนังสือนั่นน่ะมี หนังสืออโศก อาจารย์มั่น ก็เอารูป มาลง ก็ว่านี่เป็นพระอริยะ มีหลักฐานนะ ไม่ใช่ไม่มีน่ะ ไม่ได้เพิ่งกล่าว มาแก้ตัวเมื่อไหร่ แล้วเขาก็ว่า เดี๋ยวนี้สิ มันมาพูดแก้ตัว ว่าคนอื่นดีละ แต่ก่อนไม่เคยพูด ไม่ได้เลย จะมาพูดกับอาตมาอย่างนี้ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น เอาละ พูดยาว ตกลงไม่ได้ตอบหมดเลยนี่ เหลืออีก ๓ นาทีเอง เอาละ พอนะ เรื่องทางเถรสมาคม ทางโน้นเขาจะว่ายังไง ก็ว่ากันไป

ถาม : ศีลมี ๕ ข้อ คือศีล ๕ อยากทราบว่า ศีลข้อไหนร้ายแรงที่สุด (กรณีผิดศีล)

ตอบ : ร้ายแรงทุกข้อ อย่าผิดสักข้อเดียว เอ้า ! นี่อาตมาไม่ได้พูดเล่นนะ มันมีเหตุปัจจัยของมัน คนละแง่ เพราะฉะนั้น จะไปนั่งว่าศีลข้อไหนร้ายแรง จะได้ระวังข้อนั้นข้อเดียว ไม่ถูก โดยเฉพาะบางคนนี่ นิสัย ก็ไม่เหมือนกัน บางคนก็ไปร้ายแรงในศีลข้อ ๑ บางคนก็ร้ายแรงในศีลข้อ ๒ บางคนร้ายแรงในศีลข้อ ๓ ไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น ใครที่ร้ายแรงในข้อไหน ข้อนั้นล่ะ จัดการของตัวเอง

ถาม : ๒. บางคนว่า ชาวอโศกไม่ติดยึด (เรื่องการแต่งกาย) แต่ติดยึดในสิ่งที่เขาว่าไม่ติดยึด

ตอบ : นั่นแน่ะ เล่นคารมเสียด้วยนะ จะให้แก้ผ้าหรือไง หือ ! จะไม่ให้นุ่ง ไม่ให้ห่มอะไรหรือยังไง ก็เรานุ่งห่ม มักน้อย สันโดษ เป็นผู้ที่ไม่เปลือง ไม่ผลาญแล้ว มันก็เป็นชุดง่าย ๆ แล้วเราก็มียังงี้ ๆ ใช้กัน ติดยึด เครื่องแต่งตัว แล้วเราก็มาติดยึด นี่เราก็มีเครื่องแต่งตัว ก็มาเอาแบบชุดแบบนี้ ก็มาติดยึดของเรานี่ว่า แต่ติดยึดในสิ่งที่เขาว่าไม่ติดยึดน่ะ ก็นั่นล่ะ เขาว่าไม่ติดยึด ไปติด ติดยึดในสิ่งที่ว่า ไม่ติดยึด ถ้าเล่นคารม แบบนี้ มันก็ไม่จบ พระพุทธเจ้าก็ติดยึด ต้องนุ่งห่มจีวร อย่างนี้เป็นต้น พระพุทธเจ้าก็ติดยึด ถ้ายังงั้นน่ะ ท่านต้องนุ่งห่มนะ หา ไปติดยึดคนว่า อ๋อ ! ไปติดยึดคนว่าหรือ ก็ไปยึดเขาทำไมเล่า มันน่าเอาตัวอย่าง นักเหรอ ไม่ต้องไปติดยึดเขาหรอก เอาละ เดี๋ยวไม่มีเวลาแล้วน่ะ ก็ค่อย ๆ ฟัง ไอ้นี่ซิ อย่ามาพยายาม อย่าเอาโวหารมาเล่น ก็เอาสัจธรรม เอาสาระที่ดีๆ

ถาม : คุณพ่อครับ เมื่อศาลตัดสินว่า เราผิดกฎหมาย แล้วเราจะรวบรวม ญาติธรรมทั้งประเทศ เพื่อประท้วง แบบอหิงสาทั้งประเทศไหมครับ (โอ้โห ! จะเล่นใหญ่ยังงั้น ขนาดนั้นเชียวหรือ) ลูกว่าทำเถอะ (แน่ะ ๆ ยุเสียอีกด้วยแน่ะ) เราก็คนไม่น้อยเหมือนกัน แต่ต้องต่อสู้แบบอหิงสานะครับ

ตอบ : แหม ! ลูกคนนี้คงลูกใหม่นะนี่ เรียกคุณพ่อ คุณพ่อครับ น่ะ เรียกว่า ลูกห่วงพ่อ นี่คงลูกคนใหม่ ลูกคนเล็ก อย่าเพิ่งไปยุอย่างนั้นเลยนะ อาตมาคิดว่า คงไม่ไปทำถึงขนาดนั้น ประท้วงอะไรกันล่ะ เราอยู่นิ่ง ๆ สงบ ๆ นี่ มันก็ดีแล้วนะ ไม่ต้องไปประท้วง ไม่ต้องไปให้เกิดปะทะกัน อะไรกันหรอกน่ะ เอาละ เอาให้จบ ก็แล้วกัน ยังอีกไม่กี่ใบ

ถาม : ที่นี่มีหลักการพัฒนาคนอย่างไร

ตอบ : บอกแล้วว่า หลักการหรือวิธีการของเรานั่น มีเยอะหลักการก็มุ่งหมายอุดมคติ ที่พูดไปแล้ว หลักการ เพื่อที่จะละความเห็นแก่ตัวให้หมดสุด หลักการเพื่อจะเสียสละ ส่วนวิธีการมีเยอะ แม้แต่การนั่งฟังธรรม อยู่นี่ ก็มีวิธีการอย่างหนึ่งน่ะ แล้วพากันปฏิบัติ กิน อยู่ หลับ นอนอะไร ก็เป็นวิธีการเยอะแยะ น่ะ

ถาม : พระภิกษุที่นี่ไม่สวมรองเท้า ถือว่าเป็นการทรมานสังขารใช่หรือไม่

ตอบ : การไม่สวมรองเท้า เป็นการทรมานกิเลส จะเรียกว่าสังขารนั้นคือกิเลสก็ได้ เป็นการทรมานกิเลส แต่สังขารตัวนี้ คุณคงหมายความว่าร่างกาย การไม่สวมรองเท้านั้น ไม่ทรมานร่างกาย คนที่สวมรองเท้านั้น เป็นคนทำร้ายร่างกายตนเอง เพราะทำให้เป็นคนมีความอ่อนแอทางเท้า คนที่สวมรองเท้า คือคนมีเท้า ที่อ่อนแอ ยิ่งสวมมาก เท้ายิ่งอ่อนแอเท่านั้น คนใดที่ไม่สวมรองเท้านั้น เท้าจะแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันสูง เป็นของธรรมชาติน่ะ อาตมาคงอธิบายความ ได้มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว มันไม่มีเวลาน่ะ นี่อาตมาพูดตรง ไม่ได้เล่นคารม เพราะฉะนั้น คุณมาฝึกดู แล้วคุณจะรู้ว่า เท้าคุณจะแข็งแรง เพราะคุณมาหัด หัดเลิก สวมรองเท้า เพราะว่ามันถูกหลอกมานานแล้ว ไปสวมรองเท้ากัน สวมกัน เพราะเราเอง เราไปไปสวมเข้า มันก็เลยอ่อนแอเข้า เมื่ออ่อนแอเข้า ก็ต่อสู้กับความกระทบไม่ไหว มันก็เลยยิ่งอ่อนแอ อ่อนแอ เชื้อโรค ก็เข้าง่าย เป็นพวกเท้าบาง เท้าที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็เลยแย่ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามากลับเสีย ฝึกตน ไม่ต้อง หลายชาติหรอก ชาติเดียวก็ฝึกได้ ว่าเท้าจะแข็งแรงน่ะ

ถาม : พลตรี จำลอง ศรีเมือง เกี่ยวข้องกับสำนักสันติอโศก แค่ไหน

ตอบ : พลตรี จำลอง ก็มาเรียนธรรมะที่นี่ เกี่ยวข้องคือ เป็นเหมือนพวกคุณนั่นแหละ ตอนนี้ก็ดูจะสู้ พวกคุณหลายคนไม่ได้ เพราะมาศึกษาธรรมะ น้อยกว่าพวกคุณบางคนเสียด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้ ไปมีกิจ ทางข้างนอกเสียเยอะ แล้วก็เลยไม่ค่อยได้มาศึกษาปริยัติ จะปฏิบัติอยู่แค่ใดก็ยังไม่รู้น่ะ ก็ปฏิบัติส่วนตน ถ้าปฏิบัติได้ดีก็ดีน่ะ เกี่ยวข้องในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ส่วนด้านอื่น เราไม่ได้เกี่ยวข้อง วัดไม่ได้ไป เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองอะไร ที่จะต้องไปทำประเภท เอาตำแหน่ง ยศศักดิ์ แต่ฆราวาสนี่ เขาอยาก จะไปช่วย คุณจำลองบ้าง ก็เป็นหน้าที่พลเมืองดีของเขา ที่เขาจะไปทำ เพราะว่างานการเมือง เป็นงาน ช่วยสังคม ถ้าเขาทำกัน ให้เป็นการช่วยสังคมได้แท้จริง ฆราวาสทำได้ ส่วนพระนั้นทำไม่ได้ พระก็ไม่ไปทำ ส่วนฆราวาส ทำได้ก็ไปทำ ก็เป็นเรื่องดีของเขา

ถาม : สันติอโศกทำไมจึงถูก เพ่งเล็งว่าเป็นสำนักเถื่อน

ตอบ : เอ้า ! ก็คนเขามองเองว่าเถื่อน จะต้องมาเรียนรู้ดี ๆ ว่าเถื่อนคืออะไร เถื่อนก็คือไม่ฉลาด เถื่อนก็คือ คนโง่เง่า ป่า ๆ เถื่อน ๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราว สัจธรรมอะไร หรือว่า ความเจริญคืออะไร ก็แค่นั้นเองน่ะ นี่ตอบง่าย ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเรียนรู้ดี ๆ แล้ว ว่าใครที่ยังป่าเถื่อนอยู่ ใครที่ยังโง่ ๆ งมงายอวิชชาอยู่ เขาก็เถื่อนกัน ทั้งนั้นแหละ แต่ผู้ใดที่พ้นความโง่เง่า อวิชชา เป็นผู้ฉลาดที่จะเป็นตัวอริยะ หรือ ศิวิไลซ์ ช่วยเหลือสังคม ประเทศชาติ ช่วยเหลือมนุษย์ได้ดีมาก ๆ คนนั้นไม่เถื่อนหรอก

ถาม : ที่สันติอโศกผลิตหนังสือทุกวันนี้ ค่าใช้จ่ายในการผลิตนั้นได้มาจากการรับบริจาค ใช่หรือไม่ หนังสือ เหล่านี้ เป็นของมูลนิธิธรรมสันติ ใช่หรือไม่ ฆราวาสเมื่อค้าขายแล้วต้องเอากำไร (ทั้งนี้ไม่รวมกับผู้ที่ขายของ เอากำไรมากเกินจำเป็น) เพราะนำกำไรที่ได้นั้น มาเลี้ยงตัวเองให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่น พลังบุญ ยังต้องการ ขายของเอากำไร ดังนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า ฆราวาสไม่สามารถทำอะไรให้ใครฟรี ๆ ได้ตลอดไป แม้ว่าอยาก จะทำ เพราะตัวฆราวาสนั้น ไม่ได้อยู่ในฐานะเดียวกันกับวัด ที่มีผู้บริจาค การที่ค้าขาย เอากำไรแบบนี้ ถือว่าเป็นการบาปหรือไม่

ตอบ : อันนี้มันมีรายละเอียดนะ คุณต้องมาศึกษาดี ๆ อาตมาไม่มีเวลาตอบแล้วนี่ มันเลยเวลาไป ๕ นาที แล้วนะ ก็ขอสรุปง่าย ๆ ว่าในเรื่องของที่พิมพ์หนังสืออยู่ก็ดี เราก็ได้รับหมุนเวียนจากผู้บริจาค ผู้ที่มีสิทธิ์ จะบริจาคได้ ที่นี่ใครจะมาบริจาคทันทีเลย ไม่ได้นะ ถ้าไม่มีคุณธรรม หรือไม่มีการศึกษา ไม่ได้มาคบคุ้น ไม่ได้มาเข้าใจพวกเราได้เพียงพอนี่ มีนโยบาย และมีหลักเกณฑ์ กฎระเบียบไว้ ไม่ได้รับเงินบริจาคใครง่าย ๆ แล้วก็เงินทองเหล่านั้น อาตมาอธิบายแล้วนี่เมื่อวานนี้ อธิบายว่า มันมีแรงงานฟรี มันมีส่วนซับซ้อน เราไม่มี คอร์รัปชั่น เราไม่มีคอมมิชชั่น เงินเหล่านั้นเอาใช้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันก็ทำงานได้มาก ผลิตได้มาก มากที่ต่างกันกับ ระบบข้างนอกเขา ระบบข้างนอกเขามีพวกคอมมิชชั่น คอร์รัปชั่น เป็นพวกแบ่งส่วน เจียดไป อย่าว่าแต่กรรมการครึ่งหนึ่ง วัดครึ่งหนึ่งเลย นอกจากกรรมการแล้ว ยังมีลูกกรรมการ หลานกรรมการ ยังมีส่วนนั้นอีก แบ่งเจียดกันเยอะ แล้วยังมีความโลภโมโทสัน เอาเปรียบเอารัดกันอีกเยอะ มันจึงไม่พอกินไม่พอใช้ หรือไม่พอผลิต แต่ที่นี่ เรามีพอกินพอใช้ แล้วก็มีพอผลิต เหลือมาก ส่วนที่มา รวมกันแล้วเหลือ ต่างคนต่างมาเสียสละ ออกมารวมกัน สิ่งที่สละออกมา มันรวมกันมาก มันจึง แม้น้อยล่ะ แม้ให้กันมาน้อย มันมารวมกันโดยไม่สูญเสีย ไม่มีการรั่วซึมน่ะ ไม่มีการรั่วซึม ไม่มีใคร ๆ ที่จะแบ่งออกไป มันมีแต่เอามารวม มันจึงมีพลังมาก มันจึงมีก้อนมาก ก้อนโตได้น่ะ

ส่วนเรื่องการค้าขายนั้น คุณค่อย ๆ มาเรียน ไม่ใช่เรื่องง่าย อาตมากำลังสอนในเรื่อง พาณิชยศาสตร์ แบบอริยะอยู่ มันมีหลายขั้น หลายตอน แล้วค่อย ๆ มาศึกษาน่ะ อาตมาตอบไม่ไหวแล้ววันนี้



... เราให้กำลังใจก็ด้วยการชี้สัจจะให้คุณมอง ให้คุณสัมผัสให้คุณพิสูจน์ เรียกว่า เอหิปัสสิโก ท้าทาย ให้พิสูจน์นี่ คนเหล่านี้นี่ชีวิตก็เหมือนคุณ มีแขน มีขา ร่างกาย บางทีอายุก็เท่า ๆ กัน หรืออายุน้อยกว่า บางคนนี่ดูอ่อนแอกว่าคุณด้วย เขาก็ยังมาละลด เขาก็ยังมาเสียสละ เขาก็ยังมาทำได้ สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ จะชูกำลังใจ ให้เห็นว่า เอ๊ ! เขาก็คน เราก็คน แล้วมันเป็นไปได้หรือไม่ เราก็ยืนยันของจริง พวกนี้ว่า เป็นไปได้ เมื่อเป็นไปได้ คุณก็มาสัมผัสดู สิ่งนี้แหละ เป็นสิ่งที่เราให้กำลังใจแก่กันและกัน ทำให้เกิด ความมั่นใจว่า เรากระทำได้ แล้วเราก็ได้ทำกันจริง ๆ แล้วมันก็ได้ มีมามาก นี่ก็มีคนหลายคน มีตัวอย่าง หลายตัวอย่าง มีผู้พิสูจน์หลายแง่หลายเชิง มันก็เลยทำความมั่นใจ หรือเชื่อถือได้มาก น่ะ เอาของจริง ไม่ใช่เอาแต่ปริยัติ ไม่ใช่เอาแต่ทฤษฎี ทุกวันนี้เรียนแต่ทฤษฎี ตัวจริงอยู่ที่ไหน มันไม่ค่อยมี

การสอนศีลธรรม การสอนสิ่งที่เป็นจริยธรรมในสังคมทุกวันนี้ มันไม่มีตัวอย่าง แม้แต่ครูบาอาจารย์ ก็เป็นตัวอย่างที่ซ่อนเชิง เห็นได้เลยว่า เฮ้ย ! ไอ้อย่างนี้ มันก็ทำเพื่อตัวเอง มันบอกว่า พูดว่า ไม่เห็นแก่ตัว เสียสละ มันก็กอบโกย มันก็เอาเปรียบเอารัดอะไรต่าง ๆ มันก็เลยสอนไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความมั่นใจ ไม่มีความเชื่อถือ จึงไม่เกิดความจริง แต่ที่นี่ เรามีความจริงกันจริง ๆ มันจึงเป็นไปได้ น่ะ เอ้า ! นี่ก็ตอบ ได้คร่าว ๆ แค่นี้ อาจจะขยายความได้มากกว่านี้ แต่ว่าวันนี้เลยเวลาแล้ว ไม่ใช่หมด เลยไป ๑๐ นาทีแล้ว

เอ้า ! ขอจบลงเพียงเท่านี้



จัดทำโดย โครงงานถอดเทปธรรมะฯ
ถอดโดย ประสิทธิ์ ฝ่ายทอง
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ๒๒ กันยายน ๒๕๓๑
พิมพ์โดย วนิดา วงศ์พิวัฒน์ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๒
ตรวจทาน ๒ โดย สม.ปราณี ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒
บันทึกข้อมูลโดย ทีมงานคุณกัญญา พุ่มรัตนา มีนาคม ๒๕๔๗
เข้าปกโดย สมณะพรหมจริโย
เขียนปกโดย พุทธศิลป์