ตอบ : การศึกษาจะสร้างคนอย่างไร
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ และ รศ.ดร. สุรกุล เจนอบรม และคณะ
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 เนื่องในงานพุทธาฯ ครั้งที่ 24
ณ พุทธสถาน ศาลีอโศก อ.ไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์



กราบนมัสการพ่อท่าน และเจริญธรรม ญาติธรรมทุกท่านค่ะ

ขอโอกาสแนะนำแขกที่เป็นคนไทยนะคะ คือ วันนี้นิสิตปริญญาเอก สาขาวิชา การศึกษานอกระบบโรงเรียน จากคณะ ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาขอดูงานที่นี่ โดย ท่าน รศ. ดร.สุรกุล เจนอบรม หัวหน้าภาควิชาการศึกษา นอกโรงเรียนของ คณะครุศาสตร์ ทำงานเหมือนนามสกุล "เจนอบรม" เพราะสอนวิชาการฝึกอบรม และพัฒนาหลักสูตร ทางด้านการศึกษา นอกระบบค่ะ

อีกสองท่านด้วย ท่านแรก อจ.วุฒิพล เป็น อจ.ภาควิชาการศึกษาต่อเนื่อ งของมหาวิทยาลัยรามคำแหงค่ะ

อีกท่านหนึ่งคือ คุณรังสรรค์ สุขกัณธา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการศึกษาของ มูลนิธิความหวังของชาวไทย ค่ะ กรุงเทพฯ

ท่านสุดท้ายค่ะ ตอนนี้กำลังเรียนปริญญาโท สาขาการศึกษานอกระบบ จบ ปริญญาตรีนิเทศที่จุฬาฯ เหมือนกัน กำลังเรียน ครุศาสตร์ ขอเชิญน้องแนะนำตัวค่ะ

รศ.ดร.สุรกุล : ก่อนอื่นต้องกราบขอบพระคุณญาติพี่น้องชาวอโศกนะครับ ที่ให้การต้อนรับ วันนี้ที่อยากจะมา เรียนถาม พ่อท่าน ก็คือว่า ผมมีคำถามอยู่ในใจมากเหลือเกิน เนื่องจากผมเอง อยู่ในวงการศึกษา แล้วก็เจอเด็ก เจอเยาวชนมากมาย ก็พบว่าขณะนี้เยาวชนไทย ค่อนข้างจะมีพฤติกรรม ที่หลุดพ้นไปเยอะ ไม่ใช่บรรลุ แต่คือหลุดพ้นจากกรอบ หรือจากสิ่งที่ ควรประพฤติปฏิบัติมาก ก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราไปเดิน แถวศูนย์สรรพสินค้า ก็เห็นนักเรียน เดินทั้งวันเลย ไม่รู้ว่าเขาเอาเวลาที่ไหนไปเรียนกัน เพราะศูนย์สรรพสินค้าเปิด 10 โมงก็มีแล้ว 3 ทุ่มก็ยังมีนักเรียนเดินอยู่ ครับ เราเห็นการแต่งตัว แฟชั่นที่ทันสมัยมากเกินไป ผมก็เลยเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า จริงๆแล้ว อาจจะเป็นเพราะว่า สังคมไทยเรา หรือเยาวชนไทยเรานี่ขาดหลักยึด ขาดที่พึ่ง หรือขาดการแนะนำที่ถูกต้อง พ่อท่านมีความเห็นประการใด หรือมีแนวทาง จะให้ผมไปช่วยสั่งสอน ลูกศิษย์ผมอย่างไรบ้าง จะได้เป็นคนดีของสังคม

พ่อท่าน : เหตุที่เยาวชนเป็นอย่างนั้น อาตมาก็รู้ก็เห็นด้วยอยู่เหมือนกัน เพราะว่าเด็กเหล่านั้น ขาดความรู้จริง ของความเป็น สารสัจจะ ขยายความก็คือ เขาไม่รู้ว่า สารสัจจะของชีวิตคืออะไร แม้แต่การศึกษา เขาก็ยังไม่เห็นเป็นสารสัจจะ เป็นต้น เห็นการไปเที่ยว เตร็ดเตร่เฮฮาต่างๆนานา อย่างนั้น เป็นสารสัจจะของชีวิต เป็นรสเป็นชาติ ถือว่า เป็นสิ่งที่มนุษย์ พึงมีพึงได้ ไปโน่นไปแหละยิ่งกว่า เพราะเขาไม่รู้แก่นสาร ไม่รู้ความมุ่งหมาย ไม่รู้สารสัจจะ ว่าความจริงแห่งแก่นสารเนื้อแท้ ของชีวิต มนุษย์นั้น ต้องการอะไรกันแน่ เขาไม่รู้สิ่งเหล่านั้นจริงๆ เพราะโลกนี้มอมเมา มอมเมาไปด้วยอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ของมนุษยชาติทั่วไป ค่ารวม องค์รวมทั้งหมด มนุษย์แต่ละคน แล้วแต่จะแสดงอะไรออกไป เพื่อที่จะให้คนอื่นเขาโง่ลงๆ หรือหลงผิด มาเป็นเหยื่อของตนเอง เช่น ธุรกิจก็มอมเมาเขาออกมาหมดเลย หว่านกระแส ใช้จิตวิทยา ใช้รูปธรรม ใช้วัตถุธรรม อะไรก็แล้วแต่ สารพัด หว่านออกไป เพื่อที่จะให้คนโง่ลง แล้วก็หลงมัวเมา หลงสิ่งที่ตนเองมอมเมาเขา ผู้ใหญ่ก็ดี เด็กก็ดี ก็หลงผิด หลงเลอะเทอะไปอย่างนั้น ตามเจตนารมณ์ ตามความสามารถ เขามีเจตนารมณ์อย่างนั้น ก็สามารถทำ สำเร็จ เด็กพวกนั้น ก็มัวเมา ถูกมอมเมาจนเขามัวเมา แล้วเราก็กลายเป็นอย่างนั้น ไปเป็นอันมากเลย ทุกวันนี้ อย่าว่าแต่เด็ก นักเรียน ผู้ใหญ่ก็โดน ใครๆก็โดน เพราะเจตนารมณ์ของคนที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ คนเกือบจะเป็นนักธุรกิจทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ไม่ว่าจะทำงาน อาชีพอะไรๆ อยู่ก็ตาม กล่าวคือ มีธุรกิจที่ตนเองทำอยู่ในสังคม ดำเนินชีวิต ธุรกิจ ต่างๆนั้น ถ้าใครตกบ่วง ตกเป็นเหยื่อ เขาเกี่ยวเกาะเอาได้ทุกอย่าง เป็นธุรกิจทั้งนั้นแหละ ตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่ง ธุรกิจมหาศาล ใหญ่โตแค่ไหน ก็แล้วแต่ แม้แต่ในวงการศึกษา ครูบาอาจารย์ หรือเจ้าของโรงเรียนก็ตาม เอาเจ้าของ โรงเรียนก่อน จะชัดกว่า เดี๋ยวนี้โรงเรียนเอกชนนี่ ตกบ่วงแน่นอน ตกบ่วงให้เป็นเหยื่อเข้ามา เพื่อธุรกิจของตัวเอง จะได้ร่ำรวย จะได้มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะฉะนั้น ก็ประสมว่าเผื่อ ถ้าเกิดคุณค่า เกิดความดีงาม ผลิตคนออกมาได้เก่ง ได้ดีด้วย ก็เอาแน่นอน เพราะว่า มันจะทำให้ธุรกิจของตัวเองดีขึ้น แต่หลักใหญ่ไม่ใช่จะให้เด็กดีขึ้นเป็นเอก เป็นเป้าสำคัญ หลักใหญ่ ก็คือ ให้ตนเองเจริญรุ่งเรือง ทางธุรกิจที่จะได้ลาภ ยศ สรรเสริญมากๆ สรุปแล้ว ก็เป็นโลกธรรม ธรรมดาสามัญของคน

แม้แต่การศึกษาของรัฐเป็นเรื่องซับซ้อนหน่อยหนึ่ง จริงไม่ใช่ของตัว แต่ผู้รับใช้กิจการนั้นๆ เป็นครูบาอาจารย์ก็ดี ในสถาน การศึกษาของรัฐนั้น ก็กลายเป็น ไปแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขอีก เช่นกัน ซ้อนอยู่ในนั้น การผลิตบุคคลให้ดี เป็นเจตนารมณ์ของรัฐ แต่พฤตินัยมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น คนที่เข้าทำงานนั้น ทำให้สภาวะจริงที่มันซ้อนอยู่ ก็กลายเป็นธุรกิจอีก

แม้จะเป็นครูบาอาจารย์ในรัฐ ก็แสวงหา ก็สอนเพื่อจะเอารายได้ของตนเอง ความรับผิดชอบ ขอวิจารณ์ก่อนเถอะ แม้แต่ที่สุด มีการขายชีต มีการหลายๆอย่าง เพราะฉะนั้น จุดจริงสารสัจจะ จึงไม่เข้าเป้า เพราะถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว มันไม่ง่ายเลย จะผลิตคนออกมา ให้รู้จักสารสัจจะ ยิ่งการศึกษายิ่งยากมาก เพราะกระแสของสังคม การศึกษาก็วงหนึ่งเท่านั้น ส่วนกระแส สังคม ทุกอย่างมันเป็นธุรกิจหมดเลย แล้วมันมอมเมากันทุกคน ทุกคนต่างมอมเมากันหนัก มีเป้าหมาย มีกลุ่มเด็ก กลุ่มหนุ่มสาว กลุ่มไฮโซ กลุ่มคนแก่ เขาที่จะตกบ่วง หรือว่าลาภทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น คนก็เลยกลายเป็นถูกมอมเมาให้โง่ คำว่าโง่นี่ รวมไปหมดแล้ว ก็คือ ไกลไปจากสาระสัจจะ ผลจริงจึงเกิดเป็นเช่นนั้น อยู่ในสังคม

รศ. ดร.สุรกุล : จริงๆแล้ว หลักปรัชญาด้านการศึกษาบอกว่า คนเราเมื่อได้รับความรู้ เรียนรู้มากขึ้น จะต้องแสวงหา ทางหลุดพ้นให้มากขึ้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็สอนพุทธสาวกท่าน เพื่อให้หลุดพ้น แต่การศึกษาของไทยเรานี่ ยิ่งสอน ยิ่งทำให้นักเรียนของเรา ติดอยู่ในวงเวียน ไม่ได้หลุดออกไปเลย คำถามก็คือ ข้อแรก ท่านทำอย่างไร ให้การศึกษา ชาวอโศก ทำให้ชาวอโศก หลุดจากสิ่งที่ไม่ถูกต้องออกมา

ข้อที่สอง ทำไมคนยิ่งเรียนหนังสือเยอะๆ ยิ่งโกงเก่ง ยิ่งรู้มาก ยิ่งเอาความรู้นั้นมาเอาเปรียบ ไม่เอาความรู้นั้น ไปช่วยเหลือ อย่างที่เห็นอยู่ในสังคมไทย เป็นเพราะอะไร? ตัวอย่างเช่น สารพิษที่ออกไปตอนนี้ ข่าวออกกลายเป็นว่า พวกที่โดนสารพิษ สารกัมมันตภาพรังสีนั่น เพราะไปขโมยเขามา กลายเป็นผิดไปอีกแล้ว ทั้งๆที่ตนเองไม่รู้เรื่องเลย แต่สังคมว่า นี่คือความผิด เพราะไปขโมยมา กลายเป็นพวกนี้ นอกจากร่างกายจะเจ็บปวดทรมานแล้ว ยังกลายเป็นต้องโทษอีก มันสวนทางกับความรู้สึกคน

พ่อท่าน : ประเด็นแรกว่าทำอย่างไร อย่างที่ อจ.พูดน่ะถูกแล้ว ว่าพระพุทธเจ้า ท่านทรงสอนเอาไว้ เป็นการทำให้มนุษย์ ประเสริฐ ทำให้มนุษย์ดีงาม ทำให้มนุษย์หลุดพ้น จากความเห็นแก่ตัว ลดความเห็นแก่ตัว ลดกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันนั้นแท้จริง อาตมาก็ เอาของพระพุทธเจ้ามาแน่นอน อาตมาก็เห็นอย่างที่ อจ.เห็นว่า โรงเรียนเดี๋ยวนี้ที่สอนอยู่ มันไม่เป็นไป อย่างนั้น มันมีแต่ได้ความรู้ ที่ยิ่งฉลาด ยิ่งไปเอาเปรียบเอารัด แสดงว่า อจ.รู้ความจริง ที่เป็นจริงอยู่ในสังคม เพราะมันเป็น อย่างนั้นจริงๆ

อาตมาก็เห็นว่าต้องกอบกู้ เอาความจริง หรือความรู้ของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้ มาสอน มาอบรม สอนจริงๆ อบรมจริงๆ เพราะฉะนั้น เราตั้งโรงเรียนแล้ว ก็ตั้งปรัชญาการศึกษา พยายามทำให้ได้ตาม สำหรับผู้ใหญ่ที่สอนไปแล้ว เขาไม่ได้บอกว่า เขามาเข้าโรงเรียนหรอก แต่มันก็คือโรงเรียนผู้ใหญ่ คือมาศึกษาศาสนา อาตมาก็มาทำคล้ายๆ กัน ไม่ได้นอกปรัชญานี้หรอก ปรัชญา "ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา" ศีลเด่น ฟังภาษาก็รู้แล้วว่า หมายถึงจริยธรรม เราเน้นจริยธรรม โดยแบ่งออกไว้ ศีลเด่นนี่ 40% เป็นงาน 35% ชาญวิชานี่ เอาแค่ 25% เราแบ่งอย่างนี้ แล้วก็พยายามให้ได้ตรงตามปรัชญานี้เลย

เราตั้งโรงเรียนแล้วเราก็ใช้อย่างตรงๆ จะเน้นก็ตรงที่เป็นงาน มาอยู่ที่นี่ ประพฤติปฏิบัติจริยธรรม ต้องศึกษาปฏิบัติจริงๆ และก็ให้ทำงาน พากันทำงาน ส่วนวิชาการนั้นก็ให้บ้าง เข้าห้องเรียนบ้าง แต่ก็ไม่ได้อบรมวิชาการ ไม่ได้เป็นรูปธรรม โดยตั้ง เป็นระบบ เป็นกรอบจริงๆ แต่ก็ได้มีการให้ เราก็ให้เท่าที่เราจะให้ได้ เชิญคนนอก เชิญวิทยากรมาให้ไป เป็นคราวๆ ตามสมควร ของวิชาการ แต่ที่เด่นเราเน้นเลยว่า จะประสบผลสำเร็จ ก็คือ ศีลเด่น กับเป็นงาน ว่าต้องมีคุณธรรมในตัวเอง และต้องเป็น คนมีสมรรถนะ ความสามารถ ความรู้ เป็นงาน ภาษาง่ายๆ เป็นงาน จะต้องทำงานเป็น ทำงานเลี้ยงตนเองได้ มีสัมมาอาชีพ มีการกระทำอยู่ในโลก ไม่เป็นคนถ่วงโลก ไม่เป็นคนไร้การสร้างสรร แต่จะต้องเป็นคน มีการสร้างสรร จนคุ้มตัว พึ่งตนเองได้ จนเหลือเฟือเกินให้แก่ผู้อื่น และซ้อนลงไปยิ่งกว่านั้น เราศึกษาแล้วก็สอน ในระบบบุญนิยม ซึ่งเป็นระบบที่เสียสละ สร้างสรร แล้วก็เสียสละเป็นระบบที่ สอดคล้องกับการปฏิบัติธรรม ละความเห็นแก่ตัว ละความโลภ เจือจานเกื้อกูล ไม่เอาเปรียบ ไม่เอารัด เห็นแก่ได้ ถ้าจะพูดภาษาตรงๆ การที่เราเสียเปรียบให้แก่คนอื่น ภาษาเพราะๆ เรียกว่าเป็นการเสียสละ แต่เราไม่ได้ เสียรู้ เรารู้แล้ว ไปเปรียบเทียบเมื่อไหร่ เราเป็นผู้เสียให้คนอื่นได้ แล้วเราเป็นผู้ได้ให้ อันนี้เป็นสัจจะซ้อน เป็นสัจจะ อธิบายเลย ว่า จริงไหม ที่เราได้เป็นคนมีประโยชน์ต่อผู้อื่นน่ะ เราได้ให้แก่ผู้อื่น วันละพันบาท ค่าตัวตามสามัญ ที่โลกตีราคากัน โลกนี่ เขาตีราคากันอย่างนี้ ตามเศรษฐกิจของที่นี่ ถ้าค่าตัววันละพันบาท ถ้าเราทำงานเสร็จแล้ว เราเอาค่าตัวแลกคืน มาพันบาท เราเป็นคนไร้ค่า เราไม่ได้ให้อะไร แก่ใครเลย ค่าตัวพันบาท มาหมด เพราะฉะนั้น เราอย่าไปเอาค่าตัวมาพันบาท ถ้าขืนเอาตัว มารับแลกเปลี่ยน คืนมา พันบาท เราเป็นคนไม่มีประโยชน์คุณค่า ในสังคมนี้เลย ต้องเอาให้ต่ำกว่าพันบาท นั้นคือ คุณมีค่า มีประโยชน์ในสังคม ต่ำเท่าไหร่ ยิ่งเป็นคนมีค่า มีประโยชน์เท่านั้น เพราะฉะนั้น ค่าตัวพันบาท เราเอาเก้าร้อย เราเอาแปดร้อย เราเอาเจ็ดร้อย เราเอาสองร้อย ยิ่งดีใหญ่ ได้สองร้อย แล้วเราเอามายังชีวิต รอดไหม ถ้ารอดจงทำ แล้วก็พัฒนาสมรรถนะ ความสามารถ คุณอาจจะมีสมรรถนะสูงยิ่งขึ้น ไม่ใช่พันหรอก สองพันห้า อะไรก็แล้วแต่ คุณยิ่งทำให้ตัวเอง เอาแลกคืนมา ได้น้อยเท่าไหร่ มันจะทวนกระแสทางทุนนิยม อย่างมหาศาลเลย ทวนกันคนละทิศเลย

เรายิ่งเก่ง เรายิ่งเอาค่าตัวน้อย หรือไม่เอาเลย และไม่จำเป็นต้องสะสม แล้วก็มีระบบสังคม มีระบบชุมชนอยู่ร่วมกัน ใช้ร่วมกัน กินร่วมกัน เผื่อแผ่กัน เฉลี่ยกัน แล้วมารวมกันเป็นส่วนกลาง ทุกคนปฏิบัติกินน้อยใช้น้อย ไม่ผลาญไม่พร่า ไม่เที่ยวไม่เตร่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ระเริงเลอะเทอะ อย่างที่เขามอมเมากัน ให้รู้เท่าทันสังคม ที่มันมอมเมา เพราะฉะนั้น เมื่อรู้แล้ว เด็กก็อย่าไปทำ แม้จะถูกกิเลสมันเร้าใจบ้าง อะไรบ้าง ก็เรียนรู้ให้ทัน เข้าใจให้ถูก อธิบาย แม้แต่เด็ก ก็ต้องให้เข้าใจ ผู้ใหญ่ก็ให้เข้าใจ เด็กก็ ไม่ไปตกเป็นเหยื่อ ไม่ตกเป็นบ่วง เขาเข้าใจไปเรื่อยๆ เราไม่ได้ปิดหูปิดตา สังคมจะหลอกมายังไง จะมอมเมามายังไง เราก็ไม่ได้ ปิดตา ให้เขารู้แต่อธิบายไป ยืนยันให้รู้ ให้เข้าใจ หลายคนกิเลสในตัวเองดิ้นรน อยากจะไปด้วยซ้ำไป เราก็พยายาม ต้านไว้ ด้วยบ้าง อธิบายให้เข้าใจบ้าง นานวันเข้า เขาก็เข้าใจ เข้าใจแล้วจิตใจเขาก็ เรียนของพระพุทธเจ้า เราเรียนจนถึงขั้น ลดกิเลสจริง ฉะนั้นกิเลสมันลดลงจริงๆ มันไม่ใช่ลดธรรมดา มันลดกิเลสลงไป ตามธรรมชั้นสูงของพระพุทธเจ้าแล้ว เรียกว่า ปรมัตถธรรม นี่เป็นการบรรลุ เป็นอาริยบุคคล เป็นคนที่บรรลุธรรมจริงๆแล้ว ก็กิเลสมันลดจริง ปัญญามันเห็นชัดจริง เพราะฉะนั้น เขาก็สบาย เขาไม่มีกิเลส มันก็ไม่ฝืน มันก็ไม่ต้องไปต่อสู้ ไม่ต้องไปกดข่มอะไร เขาก็จะเห็นแล้ว อย่างเด็กของเรา ปล่อยออกไป สู่สังคมข้างนอกโรงเรียน อื่นๆ เขาก็วี๊ดว๊ายอย่างโน้นอย่างนั้น เด็กพวกเราก็เห็น ก็เข้าใจ แล้วเด็กพวกเราก็จะมา เช็ค เราจะถามว่า อย่างโน้นเป็นยังไง เขาก็จะแสดงออก เขารู้ อย่างนั้น ไม่เอา ถ้าให้ ก็ไม่เอาอย่างนั้น ถ้าเด็กที่อื่น ก็จะเท่ เป็นเรื่องนำสมัยอะไร ไม่รู้ว่า ตกเป็นเหยื่อเขา แต่เด็กเรารู้ทันแล้ว เด็กเราไม่ตกเป็นเหยื่ออย่างเขา อย่างนี้เป็นต้น

นี่ เด็กก็ขนาดที่เราเพิ่งตั้งการศึกษาพวกนี้มา มากสุดก็เพิ่งตั้งมาได้สิบปีแล้วเหรอ ทำไมไวจริง เป็นกศน.มาสามปี แล้วก็เป็น การศึกษา สัมมาสิกขา เราจดทะเบียนมาตรา 15 วงเล็บ 3 เอกชนการกุศล เพราะเด็กพวกนี้ ไม่ได้เสียค่าอะไร ไม่ได้จ่าย ค่าเล่าเรียนอะไร ไม่ได้จ่ายทุกอย่าง ไม่ใช่แต่ค่าเล่าเรียนเท่านั้น

รศ. ดร.สุรกุล : พอดี พอฟังแล้วผมก็เกิดคำถาม

รศ. ดร.สุรกุล : ในหลักของการดำเนินชีวิต ในหลักของความเจริญ การพัฒนาความเจริญ คนเรา ต้องมีความทันสมัย ทีนี้ หลายคน แปลความคำว่า ทันสมัย เป็นด้านวัตถุนิยม ต้องแต่งตัว เป็นแฟชั่นนิยม ต้องทันสมัย ถ้าเรื่องด้านวัตถุ ผมว่า ชาวอโศก ไม่ทันสมัยด้านวัตถุ คือถ้าเป็นเอาแฟชั่นมาประกวดนี่ ชาวอโศกนี่.....

พ่อท่าน : แฟชั่นอย่างนี้แหละ โอ้โฮ ! รับรอง ต้องเหลียวหลังกันทั้งนั้นเลยนะ

รศ. ดร. สุรกุล : ท่านทำอย่างไรให้ชาวอโศก มีความไม่ทันสมัยในเรื่องการแต่ง กาย แต่ผมเชื่อว่า ทันสมัยในเรื่องความคิด ท่านมีวิธีการอย่างไร จึงสร้างความทันสมัย ในด้านความคิด ให้เกิดขึ้นกับชาวอโศกได้ครับ

พ่อท่าน : ก็ชี้สัจจะ อาตมาก็ย้ำอยู่ตรงนี้ อาจจะพูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง ย้ำสารสัจจะ ย้ำความจริง ให้เขาเห็นจริงๆเลย คนเรานี่ เปลืองกับประหยัด อันไหนดีกว่ากัน เป็นภาระกับเบาภาระ อันไหนดีกว่ากัน ถ้าวันหนึ่ง เราจะต้องใส่เสื้อผ้าเช้า ตั้งแต่ชุดนอน ชุดหนึ่ง มาเปลี่ยนชุดลำลองเข้าห้องน้ำ ออกจากห้องน้ำมาอีกชุดหนึ่ง นั่งเล่น กินข้าว กว่าจะออกจากบ้าน ไปทำงาน เสร็จแล้วก็ชุดไปทำงาน ถ้าไปงาน ก็ต้องรีบมาเปลี่ยนอีก อะไรล่ะ งานราตรี มีงานบ่าย มีดินเนอร์ งานอะไรก็แล้วแต่ อีกต่างๆนานาสารพัด ชุดอะไรต่ออะไร มันเปลืองไหม พวกนี้เขาก็รู้ แล้วเศรษฐกิจทุกวันนี้ เป็นอย่างไร ต้องการเปลืองไหม นี้คือแนวคร่าวๆ เพราะฉะนั้น อธิบาย สารสัจจะพวกนี้ ให้เขาเห็น เห็นจริงๆ เลย คนเราก็เคยบ้าๆบอๆ อย่างนั้นมา ทั้งนั้นแหละ ผมเผ้า หน้าตา เนื้อตัว แต่งโน่น แต่งนี่ มาดี แต่มาก่อนเร็วไปนิดหนึ่ง ถ้าช้าไปกว่านั้น อาตมาว่า พวกนี้ก็ถูก เขาหลอก ไปเจาะหมด เจาะสะดือ เจาะลิ้น เจาะปาก เจาะอะไรก็แล้วแต่ ทำตามแน่นอน แต่มารู้ทัน ฉลาดทันเสียก่อน เพราะฉะนั้น ก็ไม่หลงใหลไปกับเขา แล้วก็ยิ่งเห็นความจริงว่า ประหยัดดีกว่าเปลือง ไม่เป็นภาระ ก็ดีกว่าเป็นภาระ แล้วก็ให้เห็น ความสุขสงบ ค่าของสัจจะที่ลึกเข้าไปอีกก็คือ ที่อาตมาบอกว่า ไม่ใช่เขาไม่ทันสมัย เขาทันสมัยยิ่งกว่า นำสมัยยิ่งกว่า ด้วยซ้ำไป เพราะว่า ถ้าจะเอาสารสัจจะ แนวเชิงปัญญาลึกๆ มาอธิบายกันแล้ว โลกทุกวันนี้ เขาหลอก มอมเมา แล้วเราก็ตกเป็นทาสเขา เพราะฉะนั้น ในสัจจะ ในปรัชญา ปัญญาอันสูงๆ นี้ ถ้าเราจะไปเป็น ทาสแฟชั่น เป็นทาสนักออกแบบ เป็นทาสธุรกิจ ที่เขาผลิตอะไรออกมา มอมเมาคนก็ตาม ถ้าเรามีความคิด เป็นตัวของเราเอง เหนือกว่าที่เขาจะมอมเมาได้ เรียนนี่ เรียนสัจจธรรม เรียนตัณหา อุปาทาน ด้วย ถ้าใจเราเป็นใจที่แข็งแรง มีปัญญา แล้วก็ไม่โมหะ ไม่หลงตามที่เขาบอก ปั่นหัวใจ ประเดี๋ยวก็ส้นตึก ประเดี๋ยวก็ส้นแหลม ประเดี๋ยวก็แฟชั่น เปลี่ยนไปเรื่อย ก็จะขายน่ะ เพราะฉะนั้น คนนั้นเป็นทาส ทางจิตวิญญาณ ให้เขาหลอกไปได้ นี่มาศึกษาแล้ว รู้เท่าทันทาสจิตวิญญาณเหล่านั้น ไม่เป็นทาสแล้ว เป็นไท อย่ามาหลอก ซะให้ยากเลย

เพราะฉะนั้น ผ้านุ่งกันร้อนกันหนาว กันแมลงสัตว์กัดต่อย กันอุจาด เขาเป็นหนุ่มเป็นสาว เขาไปไหนมาไหน ก็แต่งอย่างนี้ได้ เขาแต่งอย่างนี้ จนกระทั่งมีความมั่นใจว่า ฉันไม่ได้น้อยหน้าน้อยตา ไม่ได้ล้าสมัย ไม่ได้เชย เขาจะไม่มีความกระดากกระเดื่อง เก้อเขินเลยในสังคม แต่ก่อนนี้พวกเรากลุ่มนี้เล็ก แล้วยังไม่มีสารสัจจะ อย่างที่จะออกไปสู่สังคม เพียงพอ หลายคนพวกเรา มีการสะเทิ้นเขินขวย รู้สึกว่าเราไม่เท่าเทียม เหมือนคนแปลก เหมือนคนบ้า แต่เดี๋ยวนี้เขาเข้าใจสารสัจจะที่ลึก เพราะฉะนั้น เกิดความมั่นใจ คนๆก็อาจจะนิยมไปแต่งตัวส้นตึก ส้นอะไรเลย เท้าเปล่า ซึ่งเขาจัดหมวดไปอยู่กับคนบ้า ด้วยซ้ำ แต่ก่อนนี้ จริงๆเลย ในสังคม ไม่ยอมรับ พวกเราขึ้นศูนย์สิริกิติต์ เขาไม่ให้ขึ้น ไม่มีรองเท้า ถือว่าไม่สุภาพ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ให้เข้าสอบ ไม่มีรองเท้า ถือว่า ไม่สุภาพ จนมีพวกเราหลายคน เห็นว่าเมื่อเห็นว่า การสวมรองเท้าคือคนมีเกียรติ สุภาพ การไม่ใส่รองเท้า เป็นคนไม่สุภาพ ก็เอาล่ะ ไม่ให้สอบก็ไม่ต้องสอบ ไม่เข้าห้องสอบเลย พวกเราก็มีถึงนาดนี้

รศ.ดร.สุรกุล : ท่านสอนยังไง

พ่อท่าน : สอนให้เขาเห็นสารสัจจะ คุณก็เป็นครู อาตมาก็เป็นครู ก็แค่พูดนี่แหละ นี่แหละ ประสิทธิภาพของการพูด พระพุทธเจ้า ก็เป็นครู ผู้สอนนั้น

รศ. ดร.สุรกุล : แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านยังใช้วิธีสอน ตั้งหลายแบบ

พ่อท่าน : แบบวิธีที่ทำให้เข้าใจ พระพุทธเจ้าสอนแบบเดียว ถ้าจะว่าไปแล้ว สอนหยั่ง เข้าไปให้คนเข้าไปถึงสารสัจจะ ถึงความจริง ให้ถึงความจริง จนจำนน

รศ. ดร.สุรกุล : แต่ท่านก็ ท่านใช้อิทธิปาฏิหาริย์

พ่อท่าน : ไม่ใช่ อิทธิปาฏิหาริย์ อาบัติด้วย

รศ. ดร.สุรกุล: ท่านก็ใช้ปราบพวกที่...

พ่อท่าน : อันนั้นเป็นเพียงแสดงตัดไม้ข่มนามเท่านั้น โดยสาระท่านจะไม่ทำ ห้ามสาวก ใครแสดง ปรับอาบัติ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ท่านปรับอาบัติ ที่ใช้อันนั้น เป็นเพียงแสดงตัดไม้ข่มนามเท่านั้น ห้ามสาวก ใครแสดงปรับอาบัติ อนุสาสนีย์ปาฏิหาริย์ คือ คำสอน

รศ.ดร.สุรกุล : ทีนี้คำสอน ท่านก็พูด ทำตัวอย่าง...

พ่อท่าน : พูดแล้วก็ไม่ต้องไปพูดถึงขนาด แหม ทอคส์โชว์ ไม่ต้อง พูดนี่แหละ นั่งพูด ยืนพูด เขียนกระดานบ้าง เหมือนกัน

รศ.ดร.สุรกุล : พูดอย่างไรให้เข้าถึงใจคน

พ่อท่าน : พูดโดยอธิบายเนื้อหาให้ละเอียด ชัดเจน แล้วท้าให้พิสูจน์ การสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนแต่ภาษา ให้ฟังเข้าใจ เป็นเหตุผล เป็นความรู้ ความเข้าใจเฉลียวฉลาดเท่านั้น ให้ไปปฏิบัติตามเลย ยกตัวอย่างง่ายๆ ถอดรองเท้านี่ สอนแล้วก็อธิบาย ว่าดีอย่างไร คนใส่รองเท้านี่ เท้าอ่อนแอ ฮ่องกงฟู้ตกินง่าย ไปไหนก็ไร้สติสัมปชัญญะยิ่งกว่าเรา เราไม่ใส่ รองเท้า จะมีสติสัมปชัญญะ จะรับสัมผัสได้เร็ว ได้เก่ง ได้ดี เราจะระมัดระวัง จนกระทั่งเกิดปฏิภาณ ดูแล้วจะเดินได้ อย่างมีสติ มีอะไรต่ออะไร ได้ดีกว่า และแข็งแรงด้วย แข็งแรงนี่ยืนยันเลย ถ้าไปเดินน้ำครำแข่งกัน พวกที่ไม่เคยถอดรองเท้า รับรอง ฮ่องกงฟู้ตนี่ เชื้อเข้าง่ายที่สุดเลย แต่พวกเรา ไม่ต้องห่วงหรอก ขนาดพยาธิ์ปากขอนี่ ของอหมด พอเจอเท้านี่ พวกเรา เคยตรวจแล้ว พยาธิ์ปากขอก็ไม่มี เขากลัวกันจริง แต่พวกเราไม่มี

รศ. ดร. สุรกุล: ผมมีความเห็นว่า คนเราจะรับรู้หรือจะเรียนรู้อะไร ก็ต้องเกิดจาก ความสนใจ ความต้องการที่มีส่วนเหมือนกัน หรือมีส่วนร่วมกัน เมื่อพูดภาษาเดียวกันแล้วก็ คิดแบบเดียวกัน จึงจะไปด้วยกันได้ สมมติตัวอย่างว่า ผมอยากจะร่ำรวย อยากจะเป็นเศรษฐี แต่พ่อท่านบอกว่า ไม่ดีหรอก ต้องจน ผมไม่เอา ผมจะอยู่ของผมอย่างนี้ เพราะฉะนั้น คลื่นสองคลื่นนี้ ไม่จูนเข้าหากัน แต่ท่านทำอย่างไร ที่จะให้ทุกคนที่นี่ เกิดคลื่นเดียวกัน พอพูดก็รู้เรื่อง เปิดรับวิทยุภาษาเดียวกัน สัญญาณ ก็ออกไปทั่ว ท่านต้องมีวิธีการ หรือไม่ก็เกิดจากชาวอโศก มีความต้องการเหมือนกัน มีความสนใจ เห็นอย่างเดียวกันว่า ความร่ำรวย ความฟุ้งเฟ้อ ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เหมือนกับที่ผมศึกษาประวัติของท่าน ท่านเป็นคน อยู่ในวงการมาก่อน จะต้องไปเจอ อะไรสักอย่างหนึ่งว่า ไม่ใช่แล้ว ท่านจึงเปลี่ยนแนวความสนใจ ตอนที่ท่านอยู่ในวงการ ไม่ใช่ไม่มีใครรู้จัก คนเขาก็รู้จักท่าน ทั่วไปหมด ถ้าอยู่ในวงการ ท่านก็ดัง ว่างั้นเถอะ

ทีนี้ ท่านต้องไปเจออะไรสักอย่างหนึ่งที่ว่า ไม่ใช่ อะไรแบบนี้ ท่านก็เกิดมีความสนใจ ไปแสวงหา ครูบาอาจารย์ เพื่อที่จะรับ ความรู้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

พ่อท่าน : พูดไปแล้วก็ไม่น่าเชื่อ อาตมาอยู่ในวงการดังที่กล่าวแล้ว ไม่ได้ด้อยหรอก ในเรื่องชื่อเสียง เงินทอง ทำมาหากินอะไร อาตมาก็ไม่ได้ด้อย อะไรสักอย่าง แต่มาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้านี่แหละ พอศึกษาแล้วก็ปฏิบัติ ประพฤติ ไม่ยากหรอก อาตมามีเนื้อของตัวเองแล้ว ถ้าจะว่าไปแล้ว มันก็เป็นกรณีพิเศษนะ คืออาตมามีของตัวเองมาแล้ว ที่ว่าต้องไปศึกษา แสวงหา ครูบาอาจารย์ สำนัก อาตมาไม่เป็นอย่างนั้นเลย กลายเป็นว่า อาตมาไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีสำนักที่อาตมาได้ศึกษา แล้วก็ได้รับ ความรู้นั้นมา จนกระทั่งบรรลุ เห็นตาม บรรลุธรรมสำนักนั้นพาทำ อันนี้แหละมันยาก เพราะโดยทั่วไปแล้ว ในสาวกภูมิ สามัญนั้น ต้องเป็นอย่างที่อาจารย์ว่า ใช่ แต่อาตมาพ้นสามัญ เป็นวิสามัญ พูดแล้ว คนก็เลยเชื่อยาก ไม่เชื่อ หาว่าอาตมาอุตริ เป็นพวกวิบัติ มาอวดดีต่างๆนานา อาตมาไม่มีปัญหาอะไร จนอาตมา แพ้มาสามศาลแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร

อาตมาก็ยืนหยัดยืนยันพิสูจน์ความจริง อธิบายความจริง สอนอย่างไร ก็สอนให้เห็นความจริง ยืนหยัด เหมือนแผ่นเสียง ตกร่อง ก็พยายามชี้ อธิบายแล้วอธิบายอีก ให้ทำ ให้พิสูจน์ตนเอง เช่นสอนให้มาจน คนกล้าจนนี่ วิเศษกว่าคนกล้ารวย ก็สอนเขาอย่างนี้แหละ จนมันดีอย่างไร มันเป็นสัจจะ ว่าถ้าคนจนอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก จนอย่างผลาญพร่า ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย คนจนอย่างนั้น จนอย่างเลว จนอย่างโง่ๆ ถ้าจะจน ก็ต้องเป็นสัจจะว่า คุณเต็มใจจน จนเพราะให้เขาไป ทั้งๆที่เป็นสิทธิ ของคุณ นี่แหละ แต่ก็ให้เขาไป อย่างหลักที่อาตมาบอกแล้วว่า ถ้าเอามาให้มากให้เกิน มันเป็นความเลว ทุนร้อย ระบบ ทุนนิยมนี่ ทุนร้อย ก็ต้องขายให้เกินทุน อันนี้เลว ถ้าทุนร้อย ไปขายเกินทุนนี่ คุณไปบวกเอาเปรียบเขามา คุณเอาค่าอะไรเกิน เพราะจริงๆแล้ว เวลาคิด คุณจะต้องบวกค่าแรงงานอยู่ในงาน ไม่พอ คุณยังไปบวกเอาเกิน เรียกว่ากำไร นี่แหละ คิดอย่างนี้แหละ ถึงบรรลัยกันทั่วโลก มันเป็นวิธีคิดที่เลว แล้วคนยิ่งโกงได้มากเท่าไหร่ ถือว่าเป็นผลสำเร็จมากเท่านั้น บริษัทนี้ ปีนี้ ทำกำไรได้ ห้าร้อยล้าน ปีหน้าตั้งเป้าไว้ ให้ได้พันห้าร้อยล้าน ถึงจะถือว่าเป็นความสำเร็จ อันยิ่งใหญ่ จะด้วยวิธีอะไร ก็แล้วแต่ อย่าผิดกฎหมายอย่างเดียว จะใช้จิตวิทยา โฆษณามอมเมา หลอกลวง พยายามให้เขามาเป็นลูกค้าของคุณ ให้มากที่สุด ได้เป้านั้นมา ถือว่าอันนี้เป็นความสำเร็จของสังคม ทั่วโลกเข้าใจอย่างนั้น

แต่เราชี้ให้เห็นเลยว่า ถ้าคุณไปประพฤติอย่างนั้น มันเลวใช่ไหม? แต่ถ้าทุนร้อย คุณขายต่ำกว่าทุนได้ คุณได้เสียสละใช่ไหม? คุณทำสิ เสียสละว่าดี เอาเปรียบว่าเลว ทำไมคุณจะต้องทำเลวล่ะ นี่คือสัจจะ มาฟังแล้วก็พิสูจน์ ถ้าเราจะทำตรงนี้ อาตมา สมมติแล้ว ค่าแรงงานเราพันหนึ่ง เราเอาให้น้อยลง ถ้าไม่ฟุ่มเฟือย มีสาระ มักน้อยสันโดษลง ก็เปลืองน้อยลง บำเรอตน หรือใช้น้อยลง แต่สมรรถนะของคุณต้องทำงาน ศาสนาพุทธไม่ต้องไปนั่งหลับตาในป่า ไม่ต้องทำงานไม่ใช่ ขอยืนยัน นี่แหละ อาตมาถึงได้ย้อนแย้ง กระแสหลัก เขาถืออย่างนั้นว่าถูก อาตมาว่าอันนั้นไม่ถูก มันเพี้ยนแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยสอน ให้อยู่ป่าเลย สอนปัญจวัคคีย์ ซึ่งอยู่ในป่าด้วยกัน บรรลุอรหันต์แล้วพาออกจากป่า ออกจากป่าหน่อยหนึ่ง ก็พอพระยสะ เป็นลูก เศรษฐี อยู่ในเมือง มีเพื่อนเล่นอีก สี่สิบห้าสิบคน พอสอนพระยสะบรรลุธรรมเสร็จ พระยสะไปพาเพื่อนมาอีก ทางนี้ ทางเดียว บารมีของ ท่านทั้งหลายเหล่านั้น สอนประเดี๋ยวเดียวก็บรรลุธรรม เพราะท่านพร้อมที่จะบรรลุแล้ว ห้าสิบหกสิบ ถ้าเคยศึกษาศาสนาพุทธ ท่านบรรลุทันที ได้ปัญจวัคคีย์อีกห้า พระยสะกับเพื่อนอีก 55 เป็น 60 รูป ท่านก็บอกว่าไป ไปเผยแพร่ศาสนา ไม่เคยบอกว่า จงเข้าไปในป่าสามสิบ ไปสอนในเมืองสามสิบ ให้ไปในเมืองทั้งหมด เพราะฉะนั้น การศึกษา พัฒนาศาสนา เข้าไปในป่า เป็นแนวทางผิดทั้งนั้นเลย พระพุทธเจ้าอยู่ในป่าหกปี ผิดตั้งหกปี อันนี้ เป็นเรื่อง ศาสนาพุทธ ที่อาตมาจะต้องเขียนหนังสือ ศาสนาพุทธ จะต้องเขียนเอาไว้ ใครจะจับอีกที ก็ยอมให้จับ เพราะนี่คือ สารสัจจะ เพราะฉะนั้น เรื่องการออกป่า ไม่ใช่ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาช่วยสังคม พระพุทธเจ้าส่งพระอรหันต์ ออกไปเผยแพร่ หกสิบ แม้แต่เรา ก็จะไปที่ อุรุเวลา เสนานิคม ไม่ใช่ป่า ออกจากป่า สอนปัญจวัคคีย์ก่อน ท่านก็รีบไปสอนคนในป่าก่อนสิ ใคร จะพอมีบุญบารมี ก็สอนพระปัญจวัคคีย์ และพระยสะออกไปในเมืองหมดเลย จนกระทั่ง ไปสอน เป็นต้น

รศ.ดร.สุรกุล : ถ้าอย่างนั้น ตอนที่อยู่ในป่า คือต้องการจะแสวงหาบางสิ่งบางอย่าง เมื่อได้พบแล้ว จึงเอาสิ่งที่พบเข้าเมือง

พ่อท่าน : ไม่ใช่พบในป่า ในป่าล้มเหลวหมด ถ้าจะพูดแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้บรรลุธรรม ชาตินี้ชาติเดียว ท่านได้สั่งสมบุญ โพธิญาณมา มีความรู้อะไรมามากมายแล้ว มาเจอปัญจวัคคีย์ อาฬารดาบส อุทกดาบส เหลวไหลทั้งนั้นแหละ ตอนนั้น ไม่ใช่ทางศาสนาพุทธ ถ้าศึกษากันดีๆแล้ว ความรู้มีหลายระดับ สาวกภูมิ โพธิสัตวภูมิ พระพุทธเจ้าท่านพ้น สาวกภูมิ ท่านมีภูมิมาตั้ง ไม่รู้เท่าไหร่ กว่าจะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ อันนี้เรื่องยาว จะต้อง พูดกันอีกมาก

สรุปง่ายๆก็คือ ประเด็นปัญหาที่อจ.ต้องการจะรู้ว่า สอนอย่างไร ถึงได้อย่างนี้ อาตมาก็ตอบแผ่นเสียงตกร่องว่า ต้องยืนยัน สัจจะ ให้เขาจำนนต่อสัจจะ อย่างอาตมายกตัวอย่าง มาจนดีกว่าคนมารวย ทุกวันนี้เขาพูดกัน เหมือนเล่นละคร มากระจาย รายได้ มาทำให้ทั่วถึงกัน แต่คนที่ดำเนินการบริหารเหล่านั้น ล้วนแต่เอารายได้ เอาค่าตัวส่วนนั้น มากเกินทั้งนั้น ทุกคนพูด เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น นักธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ พูดเหมือนกันหมด แต่นักวิชาการก็รวย เอาค่าตัวแพง ขึ้น นักธุรกิจก็มากขึ้น นักบริหาร รัฐมนตรี ข้าราชการ ก็เอามากขึ้นๆ ที่พูดกับที่ทำน่ะ กระจายรายได้ที่ไหน ไม่มี เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ จึงเป็นความลวงตัวเอง แล้วก็ลวงสังคมมนุษย์โลกเขาด้วย เราก็มาชี้ว่า นี่เป็นความลวง เราอย่าไป เป็นเลย เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้ เป็นข้าราชการก็ดี เป็นนักธุรกิจก็ดี ออกมาเรื่อยๆๆๆ แล้วก็มาปฏิบัติตน เป็นคนกล้าจน แล้วพิสูจน์ว่า เราจน เราไม่มีเงินสะสมเลย ในระบบของ มนุษยชาตินี้ เกื้อกูลกันได้ไหม ทำไมเขาอยู่ได้ เขาอยู่ได้เพราะว่า คนๆนี้คนหนึ่ง วันหนึ่งเขาก็ทำงาน สมรรถนะ ของเขา มีราคาแน่นอน ค่าตัว ค่าแรงงาน วันหนึ่งเท่าไหร่ เขามีเท่าไหร่ สมมติว่า พันหนึ่ง คนนี้ก็พัน หรือแปดร้อยก็ตามแต่เถอะ คนนี้ห้าร้อย เราก็สอน ให้เขากิน ให้เขาพอ ให้รู้จักสาระ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หลงรส หลงกิเลส จนเขาไม่ต้องไปหลงเป็นกิเลส ไม่ต้องบำเรอ เขาก็สบายแล้ว มันเป็นเรื่องจริง ลดกิเลสแล้ว ก็ไม่ต้องไปเสพไปบำเรอ ก็เป็นสุข ด้วยความสงบ สุขด้วยความไม่ต้องไปเสพ ไปสุขสม สุขทางโลก อยากได้อันนี้ แล้วได้มาบำเรอตน แล้วสุขสวรรค์โลกีย์

แต่สุขของศาสนา วูปสโมสุข สุขคือกิเลสลด สมุทัย มันลด มันดับ เมื่อมันดับก็ไม่อยาก เมื่อไม่ต้องอยากมันก็สงบ สงบ ไม่ใช่ว่าไปนั่งเอา ไม่ใช่ อันนั้น ก็ใช่ แต่ใช่อย่างเผินๆ ไม่ใช่เรื่องลึกซึ้ง ไม่ใช่เรื่องสารสัจจะ สงบแล้ว สุขสงบแล้ว สบายแล้ว กินน้อยใช้น้อย กินวันละครั้ง แต่ค่าแรงงานวันหนึ่ง ได้ตั้งแปดร้อย ได้ตั้งพัน เขาก็จะเหลือแปดร้อยบ้าง เหลือหกร้อยบ้าง เหลือสี่ร้อยบ้าง หลายคนรวมกัน ก็ตกลง เด็ก เราก็ต้องเผื่อเขา เพราะเด็กทำ ไม่คุ้มกินคุ้มใช้ คนนี้คนแก่ คนป่วย อาจจะ ไม่คุ้มกินคุ้มใช้ คนพิการ ก็อาจจะไม่พอกินคุ้มตัวเอง หรือคนไร้สมรรถนะ ของเราก็มี แต่ไม่มากหรอก เพราะสามัญ มันมากกว่า เพราะฉะนั้น คนสามัญก็ต้องรู้สารสัจจะว่า คุณอยู่วันหนึ่ง คุณขยัน คุณก็เดินไปสู่ หลุมฝังศพ คุณขึ้เกียจ คุณก็เดินไปสู่หลุมฝังศพ ขี้เกียจบ้าง ขยันบ้าง คุณก็เดิน ไปสู่หลุมฝังศพ แต่ถ้าคุณขยัน กับคุณขี้เกียจ อะไรดีกว่า หรือว่า ขยันบ้าง ขี้เกียจบ้าง กับ ขยัน อะไรมันดีกว่ากัน เขาก็รู้ ไม่ใช่เรื่องลึกล้ำ พิจารณาสัจจะให้ดี เขาก็ขยันไปสิ เมื่อยก็พัก ไม่เมื่อยก็เพียร แล้วเราก็ไม่ได้ไปการันตีเขาว่า ทำเท่านี้ๆ ฉันจะต้องหากำไร นายทุน ไม่ใช่ คุณอิสระเสรีภาพ คุณก็ทำตาม สำนึกของคุณ ถ้าคุณสร้างได้มากๆ แล้วคุณก็ เผื่อแผ่เกื้อกูลได้มากๆ คุณก็เป็นประโยชน์เกื้อกูล คุณค่าต่อสังคม ต่อผู้อื่น ได้มากๆๆ มันเลวหรือ? ไม่ได้เลว มันเป็นสัจจะ คนเข้าใจอย่างนี้

รศ. ดร.สุรกุล : ผมรู้แล้วว่า พ่อท่านสอนวิธีไหน? ผมจะวิเคราะห์นะครับ ท่านสอนโดย การใช้การสนทนา ให้สนทนา ให้แลกเปลี่ยน ความรู้กัน แล้วให้คิดวิเคราะห์กันเอง ไม่บังคับ ถ้าจริงก็เชื่อ ไม่จริงก็ไม่ต้องเชื่อ แล้วส่วนแนะให้จำ ทำให้รู้ ประพฤติก็ทำต่อ คิดเอง ทำเอง

พ่อท่าน : คิดเอง ทำเอง ถ้าคุณเห็นว่าดี คุณก็ทำได้แล้ว ละได้แล้ว กิเลสไม่ต้องไปเสพหรอกอย่างนี้ แต่ก่อนนี้ หน้าต้องทา ต้องแต้ม เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว เขาเข้าใจแล้ว ไม่ต้องไปทำอีก ไม่ต้องผลาญ แม้ที่สุดมาทำงาน ก็ไม่ต้องได้สิ่งแลกเปลี่ยนมา เขาเข้าใจ ถ้าเรา ไม่ได้ หรือได้มา ก็อย่าให้มันเกินค่าจริง ลดต่ำลงมา ให้เอาต่ำกว่าค่าจริงให้ได้ ผู้มีคุณค่า มีประโยชน์ ถ้าเขาเข้าใจก็ได้แน่ ถ้าพยายาม กิเลสเขามียังต้องการ ก็ทำไป ก็ลดไป เป็นสัจจะ เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ปัจจุบัน มันมีอจินไตย หรือเรื่องที่คิดไม่ถึงอีก คือ มีพลังงานกรรม เป็นวิบากบุญ นี่เป็นบุญ นี่เป็นกุศล เป็นคุณค่าความดี ไม่ได้มีชาติเดียว ชาติโน้น ชาตินี้สั่งสมมา อย่างพระพุทธเจ้า สั่งสมมา ก็มีขุมทรัพย์สี่ทิศ ท่านไม่ได้ไปเอาของใคร ของท่านเอง ขุมทรัพย์สี่ทิศ เกิดมา มันก็พร้อมเลย เกิดมาทำไม คาบช้อนเงิน ช้อนทอง บางคน เกิดมาทำยาจกยากจนอะไร เขาไม่ได้เลือกเกิด ไม่ได้มีพระเจ้า บันดาลให้เกิด กรรมพาเกิด กัมมโยนิ กัมมพันธุ กัมมปฏิสรโณ เขาเกิดมาด้วยกรรมเขาเอง ถ้าอย่างนี้ เกิดมากระจอก อย่างนี้เกิดมาได้ทรัพย์ศฤงคาร ก็เพราะกรรมได้สั่งสมไว้ ไม่ใช่ชาติเดียว ถ้ ศาสนาพุทธแล้ว ไม่ได้มีชาติเดียว แล้วก็สั่งสม เป็นสัจจะ ไม่มีใครโกง สอนศาสนาพุทธในเมืองไทย แบ่งบุญได้ก็ผิด ศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าท่านสอนกัมมัสกกตา กรรมเป็นของตน กัมมทายาโท เราต้องเป็นทายาทของมรดกของกรรม ไม่รับก็ไม่ได้ คุณทำชั่วก็เป็นของคุณ คุณไปแบ่ง ให้ใครไม่ได้ คุณทำบุญก็เป็นของคุณ แบ่งให้ใครไม่ได้ ถ้าแบ่งได้ ไม่ยากหรอก ถ้าพระพุทธเจ้า ท่านมาวันนี้ เอามาสัก แปดพันคน ก็แบ่งกันไป พระพุทธเจ้ามีบุญเยอะ ไม่ต้องสอนมากหรอก แบ่งวันละพัน สองพัน แบ่งไปทุกวันๆ ก็จบ จะยากอะไร แต่มันแบ่งไม่ได้ แล้วพิสูจน์ไปเถอะ มันมีอะไรลึกซึ้งเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เข้าใจทั้งบุญกุศล ทั้งปัจจุบันธรรม เราก็พิสูจน์ได้ว่า มีคุณค่า ใช่ไหม ส่วนบุญนั้นมีอีก และจริงด้วย

ถ้าเขาเชื่อทั้งสิ่งที่เป็นเรื่องคิดยาก เรียกว่าอจินไตย เกินที่คิดคาด แต่มันมากความ พิสูจน์แล้ว จะเข้าใจชัดว่า อ้อ จริงด้วย ที่อาตมาเกิดมา อาตมาพิสูจน์ให้ฟังได้ อาตมาไม่ได้เรียนธรรมะเลยในชาตินี้ ไม่มีสำนัก ไม่มีครูบาอาจารย์ แต่อาตมา บอกกับคนทุกคนว่า อาตมามีของอาตมาเอง รู้มาเองแต่ปางก่อน สั่งสมมาแล้ว เรียนมาแล้ว ใหม่ๆนี่คนก็หัวเราะ เพราะมัน ยังไม่ได้แสดงออก ยังไม่ได้ปรากฏผล ก็ว่าคุยโม้ อาตมาทำมาๆ ก็แสดงออกไปให้เห็นว่า อาตมามีภูมิเหมือนกัน มีความสามารถ ในทางธรรมะ รู้ธรรมะพระพุทธเจ้ามากขึ้นๆ และที่คนจำนนมากกว่า ก็ตรงที่ว่า อาตมาสอน ตรงกับที่ พระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าสอนให้คนมาจน ท่านเองก็มาจน ท่านไม่ได้พาคนมารวย เดี๋ยวนี้ ราชบัณฑิต ที่ดังๆ อยู่ในสังคมนี่ ก็เขียนอยู่ว่า พระพุทธเจ้าสอนให้คนรวย อาตมาบอกไม่จริงหรอก พระพุทธเจ้าสอนให้คนมาจน เหตุผล หลักฐาน มีเยอะแยะ อาตมาก็พยายามอธิบาย อธิบายเท่านั้นก็ไม่พอหรอก ต้องให้คนมาพิสูจน์ ถ้าคนมาจน แต่เป็นคนจน ที่มีความสุข คนจนที่มีคน มากราบเคารพ อย่างพระพุทธเจ้าจน จนจริงๆ ทำไมคนกราบ ทำไมคนยกย่องนับถือเชิดชู อย่างนี้ ต่างหากล่ะ มันวิเศษ มันประเสริฐ คนมากราบคนจน มันวิเศษ คนไปกราบคนรวย จะไปเข้าท่าอะไร

รศ.ดร.สุรกุล : เข้าใจแล้วครับ ผมเห็นที่พ่อท่านพูด ผมชัดเพราะว่าเนื่องจากว่า ผมเองก็มีประสบการณ์คล้ายๆ อย่างนี้ ถ้าเป็นหลักการเรียนรู้ เขาบอกว่า เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้น ถ้าอยากให้ลูกของเราเป็นยังไง เราก็ต้องสร้าง สิ่งแวดล้อม ให้เกิดขึ้นอย่างนั้น ถ้าหากพ่อแม่อยากให้ลูก นับถือศาสนา หรือใกล้ชิดศาสนา ก็ต้องพยายามพาลูก เข้าวัดบ่อยๆ

ผมเห็นชัดแล้วว่า บางทีการพาลูกเข้าวัด หรือพาใครเข้าวัด เด็กเกิดมาไม่ได้ดีขึ้น เขาก็แย่ลง ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เราสั่งสมกันมา ผมมีสองคำถามสุดท้าย คำถามแรกคือ ทำไมคนยิ่งเรียนมาก แล้วยิ่งฉลาดมาก ยิ่งโกงมาก และคำถามสุดท้าย คือว่า คนจะเห็น แก่นแท้ ของพุทธศาสนาได้ จะเข้าถึงแก่นหลักสัจจธรรม หรือหลักพระธรรมคำสอนได้ ต้องเป็นคนที่ มีความทุกข์ เท่านั้น เริ่มเชื่อว่าจริงๆ ความทุกข์สอนอะไรเรา ได้ดีกว่าความสุขเยอะเลย

พ่อท่าน : คำถามที่สองยิ่งลึกซึ้ง คำถามแรก เห็นง่ายๆ ทำไมคนยิ่งเรียนมาก ยิ่งโกงมาก จริงที่สุด ทุกวันนี้ มหาวิยาลัย ที่ตั้งขึ้นๆ เพื่อที่จะสอนคน ให้ฉลาดมากขึ้น แล้วก็โกงเก่ง มากขึ้นๆ อย่าไปพูดว่าโกงเลย มันไม่พอ ต้องพูดว่า ยิ่งโลภมากขึ้น เราจะเห็น ผลปรากฏ ความจริงเสมอๆว่า คนที่เรียนมากๆ แล้วได้เปรียบ ได้เปรียบก็เพราะว่า เขารู้มาก ฉลาดมาก แต่เขา ไม่ได้ลด ความเห็นแก่ตัว ไม่ได้ลดความโลภ ไม่มีความพอ ตอนนี้ ไปถามคนที่มีหลักทรัพย์ ถึงเจ็ดหมื่นล้าน เขาจะหยุดหรือยัง? เขายังไม่แก่ เขาไม่หยุดหรอก เขายังไม่เจ็บ ไม่พอหรอก แม้จะกินอีกสัก สามชั่วคน สี่ชั่วคน ก็ยังกินใช้ ไม่หมด แต่เขาไม่พอ เพราะไม่ได้เรียน สัจจธรรมความจริง ว่าความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ไม่รู้จักพอ เป็นความเลว ขอใช้ ภาษาว่า เป็นความเลว ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ แล้วก็กอบโกยมา ให้แก่ตัวมาก นั่นเป็นความเลว คนที่มีความรู้ ความสามารถมากนั้น ไม่เกี่ยง ในศาสนาพุทธไม่เกี่ยง ส่งเสริมด้วย ให้มีความรู้ ให้มีความสามารถมากๆ แต่กิเลสไม่ลด ต้องให้กิเลสลด นี่เป็นหลักสำคัญมาก

ถ้ากิเลสลด ไม่เห็นแก่ตัว หรือลดความเห็นแก่ตัว ลงมาได้ เรื่อยๆ คุณจะรู้มาก แต่กิเลสไม่เห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้น คนที่สามารถมาก รู้มาก แล้วเกื้อกูล เผื่อแผ่คนอื่น หลักเศรษฐศาสตร์ หลักรัฐศาสตร์ หลักสังคมศาสตร์ หลักอะไร ก็ทั้งนั้นแหละ สอดคล้องกับ ปรัชญาของศาสตร์ทั้งนั้น ทุกอย่าง และจริงด้วย เพราะศาสตร์นั้น เป็นปรัชญาของทุกศาสตร์ ไปในทางที่เจริญ ทั้งนั้นแหละ ถูกต้อง ดีงามไปทั้งนั้นแหละ และพฤติกรรมประพฤติ สอดคล้อง แต่ทุกวันนี้ คนก็เรียนรู้ อย่างนั้นจริงๆ พูดจริง ที่อาตมาถาม ตอนหนึ่งแล้ว ว่ารู้ แต่เขาประพฤติ เขาไม่เป็น ทั้งข้าราชการ ทั้งอะไรที่อาตมาพูดไปแล้ว เขาไม่หรอก นักเศรษฐศาสคร์เอง ก็กระจายรายได้ เขาไม่ทำหรอก เขามีแต่โลภ

อาตมาพูดได้เลยว่าการศึกษาล้มเหลวทั่วโลก เพราะเป็นการศึกษาให้คนฉลาด ให้คนมีความสามารถมาก แต่ไม่มีการลด กิเลส ไม่ได้สอนเน้น การลดกิเลส อย่างอาตมาสอนศีลเด่น 40% เป็นงานอาจจะสอนเป็นงานบ้าง แต่ชาญวิชา รู้มาก เหนือชั้นกว่าเขา และ การตั้งอัตราในสังคม เป็นการตั้งอัตราของคนที่ได้บัลลังก์ หรือได้แท่นก่อน และก็สืบทอด มาหา พรรคพวก ลูกหลาน ไว้เรื่อยๆ สร้างต่อไว้เรื่อยๆ แล้วเขาก็ ตั้งกฎระเบียบ ตั้งอัตรามาตรการที่ได้เปรียบ ซับซ้อนขึ้นไปหมดเลย ยกตัวอย่าง เช่น

คนที่เรียนปริญญาเอกจบแล้ว เมื่อมาทำงาน กับคนที่จบ ม. 6 มา เริ่มต้นทำงาน ต้องให้เงินเดือน คุณได้เปรียบเขา คุณไปเรียนมา ได้ความรู้ ความสามารถมา มากกว่าเขาแล้วด้วยซ้ำ แต่ทำไม เวลามาทำงาน เริ่มต้นพร้อมกัน มาสมัคร พร้อมกัน คุณให้คนโน้น เขามีวุฒิ มีความรู้ ความสามารถ คุณมีคุณไปได้เรียนมา คุณมีโอกาสดี โดยมากคือ ลูกคนรวย ที่มีโอกาสมากกว่า ก็ได้เรียนมา ถึงลูกคนจน ก็เหน็ดเหนื่อยหนักหนา อุตสาหะ วิริยะมากมาย เป็นบุญของเขาล่ะ ที่เขา ได้เปรียบ ที่เขาอุตสาหะ ฉลาดมากก็ตาม บุญเก่า เขาเป็นคนฉลาด เกิดมาชาตินี้ เป็นคนจนก็ตาม แต่สังคมเขาให้ทุน ให้อะไรมาก็ได้ ยังไง คุณก็ได้เปรียบเขา คุณได้เรียนมาก่อน ได้รู้มามากกว่า เมื่อเริ่มสตาร์ทเท่ากัน อัตราชั้นต้น ชั้นตรี ชั้นหนึ่งก็เท่ากัน ซีหนึ่งเท่ากัน ซีสองเท่ากัน คุณมีความสามารถกว่าแล้ว ความรู้ มากกว่าแล้ว เมื่อปฏิบัติ ก็ได้รับพิจารณา เดินหน้า เก่งกว่าแน่ แต่ถ้าอุตส่าห์เรียนมาจบ ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็ไม่เป็นท่าเลย สู้จบม.6 ไม่ได้ คนเก่งกว่า ควรจะได้รับ การเลื่อนขั้นเลื่อนยศ เลื่อนชั้นต่อไปกว่า นั่นถึงจะสุจริต

นี่เป็นการฉ้อฉลของสังคมอย่างมหาศาล เพราะฉะนั้น ในการเป็นอย่างนี้ มันจึงต่อชั้นที่ได้เปรียบมาเรื่อยๆ คนก็ไม่รู้ ตั้งหน้าตั้งตา ดีไม่ดี ได้บัตรจริงมั่ง ไม่จริงมั่ง ชั่งหัวมัน เพราะอัตรามันตั้งไว้แล้ว เป็นความซับซ้อน เอาจริงๆแล้ว คนที่ชำนาญ มีประสบการณ์ มากกว่าคน ที่เรียนมาน่ะ มันเก่งกว่าทั้งนั้นแหละ เชื่อไหมว่า นายสิบกับจ่า จับโจรเก่งกว่านายร้อย นี่คือ ความฉ้อฉลของสังคม เรียนนายร้อยตำรวจ แล้วขึ้นมาบริหารปกครอง อย่างนี้เป็นต้น เป็นเรื่องเหลื่อมล้ำ มากที่สุดเลย

นี่คือการสูญเสียในเรื่องความไม่เข้าใจสัจจะที่มันถูกต้อง ตอนนี้ต่างประเทศ หลายๆแห่ง เขาเข้าใจแล้วตอนนี้ เขาเริ่ม เข้าใจแล้ว เอาประสบการณ์ เอาความสามารถจริงๆ เมืองไทยยังเห่ออยู่อีกเลย ยังหลงงมงาย พูดกันไม่รู้เรื่อง ทุกวันนี้ อาตมาก็ ไม่ไปแย้ง ไม่ไปเถียง ไม่ไปแย้ง ไม่ไปดันทุรังเขา ทำไม่ได้ เอาไม้สั้นไปรันขี้ ไม่เกิดประโยชน์ (เราก็มาสร้าง ขนาดนั้นเขายังแย้งอยู่ตลอดเวลา

ตอนนี้กฎหมายใหม่ออกมา เป็นตามอัธยาสัย ระบบได้ จะดูว่าจะให้ขนาดไหน สรุปแล้วเป็นคำถามว่า ทำไม? คนที่ไปเรียน มามากๆ แล้ว เก่งๆ ฉลาดๆ แล้ว จึงยิ่งกิน ยิ่งโกง ก็เพราะไม่ศึกษาศีลธรรมอย่างเป็นจริง เพื่อให้มันเข้าลึกไปกว่านั้นอีก แม้แต่มหาวิทยาลัยสงฆ์ แม้แต่วงการสงฆ์ วงการศาสนา ก็ศึกษา แต่ศึกษาเพียร และไม่เอาจริงในการศึกษา จะอยู่ในโลกียะ ธรรมดาเท่านั้น ไม่ถึงแก่นจิต ที่จะขัดเกลากิเลสในจิต เพราะฉะนั้น คนเหล่านี้ จึงเพียงต้องการ มหาวิทยาลัยสงฆ์ ต้องได้ ปริญญาตรี โท เอก เพื่อจะได้เรียนๆๆ แล้วก็มองเผินๆว่า ที่นี่สำหรับคนจน ไม่มีทางที่จะไปศึกษา ก็มาเรียนเป็นเณรเป็นพระ ก็ได้มาต่อ ต่อภพ ต่อภูมิ เป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาฯ ก็หลายคนนี่ ปริญญาเอก มาจากสายนี่แหละ เดินไป ก็ไปจบอยู่ที่ อจ.ถามว่า ทำไมยิ่งเรียนยิ่งรู้ ยิ่งฉลาด ก็ยิ่งไปกินไปโกง ก็ไม่มีศีลธรรมทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้น พอสึกออกมา ก็ไปเอาสิ่งเหล่านี้ ไม่เข้าถึงจิตตรงนั้น แล้วก็เป็นอย่างนั้นไป เพราะว่าศาสนาก็ไม่ได้เน้นศีลธรรม หรือประสิทธิภาพของความรู้ ความเป็นจริง ของศาสนา

เดี๋ยวนี้ อาตมากล้าพูดมากขึ้นตอนนี้ เพราะว่าอาตมาแพ้มาสามศาลแล้ว จะเอาอีกสามศาล ก็จะเป็นไรมี อาตมาไม่มีปัญหา ทุกวันนี้ อาตมาก็มีกลุ่ม มีก้อน มีแกนอยู่แล้วด้วย อาตมาก็เลยบอกจริงๆก็คือ กลัวน้อยลง เพราะฉะนั้น คงเข้าใจแล้ว เพราะมันเป็น อย่างนั้นจริงๆ เราจึงสอนเด็กพวกนี้เลยว่า เอาเถอะ จบที่นี่แล้ว ไม่ต้องไปเข้าที่โน่นหรอก อยู่ที่นี่ ให้มันรอด เด็กที่เชื่อ เขาก็อยู่ เปอร์เซ็นอยู่ จะมากกว่าที่ออกไป อยู่ที่นี่ เขากลัวแต่ว่า จบที่นี่แล้วจะเอ็นทร้านซ์ เขาก็เข้าไปได้เท่าที่มี จบออกไปสิบคน ประมาณ เจ็ดแปดคน ไปสอบสองคนสามคน บางที คนเดียวก็เข้าได้ สองคนสามคนก็เข้าได้ เพราะฉะนั้น เปอร์เซ็นต์ในการที่เขา ไปเข้านี่ สูงมาก แต่ที่สำคัญก็คือ แม้ไม่ไปสอบเข้า ที่นี่เขาจบมาแล้ว ก็ยังไม่เคยปรากฏว่า เด็กไปเกเร ที่ไหน สิบกว่าปีมาแล้ว เด็กที่จบออกไป จากเรานี้ ก็สร้างฐานะ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ได้ไปโกง ไปเสียสละ เพราะฉะนั้น เด็กหลายคนไปทำงาน พอสมควร แล้วก็เห็นว่า เขาอยู่ทีนี่หกปี เขาซึมซับ ได้รับความเข้าใจ แล้วเขาก็จะเห็น เปรียบเทียบ เปรียบเทียบหมดแหละ เปรียบเทียบสภาวะจริง อารมณ์จริง คุณธรรมจริง ประโยชน์จริง ของสังคม ของความเป็นคน ต่างๆนานา สอนให้เขาเข้าใจ

บางคนก็ไปพิสูจน์ ไปลอง กิเลสมันยังไม่หมด มันสุขเดี๋ยวเดียว สุขโลกีย์ ที่จริงมันทุกข์มากกว่า ภาระมากกว่า เขาก็จำนน ก็ถอยเข้ามา ขยับกลับเข้ามามากขึ้น คิดว่าอีกยี่สิบปี สามสิบปีข้างหน้า มันจะเป็นวัฒนธรรม จะเป็นระบบที่ คำถามอย่างอจ. จะน้อย ที่ถามว่า ทำไมจบไปเอาเปรียบเอารัดสังคม ฉลาดมาก ยิ่งรู้มาก ยิ่งจะไปเอา ก็จะน้อยลง เพราะว่าที่นี่ฉลาด ความสามารถมาก ปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก ไม่ใช่ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก อันนั้นเลวทรามแน่ๆ เขาเห็นจริงมั่นใจว่า ความเป็นคน นั่นก็คืออย่างนี้จริงๆ ปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก ความเป็นคนก็ประเสริฐ ถ้าปลาใหญ่ กินปลาเล็ก ความเป็นคนก็เลว เป็นความจริง เขาเถียงไม่ได้ เขาก็จะไม่ไปเอาเปรียบ เอารัด เราก็ไม่เคยไปกดไว้ อย่าไปศึกษา อย่าไปสร้างความสามารถ เชิญ จะสามารถเท่าไหร่ จะรู้มากเท่าไหร่ เราไม่กด แต่อย่าเอาสิ่งนี้ ไปเอาเปรียบคน เอาไปช่วย เอาไปเกื้อกูล มันก็เป็นบุญคุณ ของคุณ เป็นประโยชน์ เป็นค่าของคุณ ยิ่งเสียสละจริง คุณอย่าไปเล่ห์เหลี่ยม ทำทีเป็นเสียสละ แต่ที่แท้ มันมีบูมเมอแรง ทำออกไป แล้วก็มันโค้ง งอเข้ามาหาตัว อย่าให้เขารู้เหลี่ยม ว่ามันไปโค้งตรงไหน มันวนมาหาตัวเองตรงไหน เขาจะพราง ตรงนี้ไว้เก่งมาก คนฉลาดในสังคม ฉลาดที่จะพราง อย่าให้คนมารู้ว่าฉันมาได้ สิ่งที่แสดงให้ออกไป แต่ที่จริง ฉันเอา ยิ่งกว่าด้วย วนมา พวกคุณไม่รู้ว่า เมื่อไหร่ อย่างไร ซับซ้อนเป็นเชิงชั้น ประธานบริษัท มีความซับซ้อน ตอนที่ได้กอบโกยมา ตั้งไว้หมดเลย ค่าไอ้โน่นไอ้นี่ ประธานเป็นผู้ได้ส่วนนี้ ตัวน้อยๆ เป็นแรงงานที่ออกมาก ประธานที่สุดก็มาวางผัง เพื่อที่จะ ซับซ้อนให้ตัวเอง ให้ได้มากๆ ส่วนคนกระทำลงแรงนั้น ก็คือเบื้องล่างลงมาเรื่อยๆๆ นี่คือหลักเกณฑ์ของสังคม ผู้ฉลาด ก็ต้องศึกษาวิธีนี้ให้ช่ำชอง คือผู้ประสบผล สำเร็จในสังคม เหลวไหลจริงๆ ถ้าจะต้องตอบไปอีกก็คือ เลวร้าย คำตอบนี่ ก็ตอบมากหน่อย คนเรียนล้มเหลว ยิ่งเก่ง ยิ่งฉลาด ยิ่งทำให้สังคมเลวร้าย

ข้อที่สอง ทุกข์นี่ ต้องคนทุกข์ เห็นทุกข์เสียก่อน จึงจะมาปฏิบัติ หรือมาศึกษาธรรมะ เห็นแก่นของธรรมะ อันนี้ก็จริง การที่จะเห็นทุกข์นั้น เป็นความเฉลียวฉลาด ที่เรียกว่าปัญญา ที่จริงคำว่าปัญญา ต้องรู้สาระ หรือรู้ว่าปัญญา กับคำว่าฉลาด อีกชนิดหนึ่งที่ ภาษาบาลีมีคำว่า เฉโก หรือ เฉกะ หรือ เฉกะตา ภาษาบาลี แปลว่าฉลาด ปัญญาแปลว่า ความฉลาด แต่เมืองไทย ก็เอาภาษาบาลีมาใช้ คนไทยก็เข้าใจดีว่า เป็นความฉลาดโกง ยิ่งเอาเปรียบเอารัด ยิ่งฉลาด ยิ่งไม่ซื่อสัตย์ ยิ่งฉลาด ยิ่งทำให้บ้านเมือง พังทะลาย นั่นคือฉลาด เฉโกกัน จะเป็นมหาวิทยาลัย จะเป็นที่ไหนๆ คนทุกข์ อันนี้จะสร้าง ความฉลาด อันนี้ให้แก่ตัวเองทั้งนั้น ไม่ได้มาสร้างความฉลาด ที่เรียกว่าปัญญาจริงๆ แต่คนทุกวันนี้สับสน ไม่รู้ว่า ความฉลาด เป็นปัญญา หรือเป็นเฉโก เขาเพิ่มภูมิความเฉโก เขาไม่ได้เพิ่มภูมิปัญญาหรอก ปัญญาเป็นความฉลาดทางธรรม แต่เฉโก เป็นความฉลาดอธรรม แต่คนก็สร้างความฉลาด อธรรม แต่เขาไม่เข้าใจ

ทีภาษาเขารู้ คนเฉโกยอดเลย คุณรับไหม ไทยรู้แล้ว ยังไม่ฉลาดแบบนี้ไม่รับหรอก เพราะฉะนั้น คำว่าเฉโก จึงใช้ในสังคมไม่ได้ ไม่ได้ เขารู้แล้วนี่ ก็เลยต้องเอาคำฉลาด อีกคำหนึ่งมาใช้ ทั้งๆที่ความจริง ไม่ได้ฉลาดอย่างปัญญาเลย ฉลาดอย่างเฉโกแท้ๆ แต่เขาไม่รับคำว่า เฉโกกัน คำว่าเฉโก เขารู้แล้วว่า มันถูกด่า เพราะฉะนั้น ในสังคม จึงไม่รับคำว่าเฉโกกัน ใช้แต่คำว่าปัญญา ความเพี้ยนของภาษา ก็เลยเพี้ยนไป เพราะฉะนั้น คนในโลกพวกนี้ จะมีแต่เฉโกส่วนใหญ่ ก็ยังเรียกว่า มีปัญญา มีปัญญา อยู่นั่นแหละ ไม่จริง ส่วนคนไม่มีปัญญารู้จักทุกข์นี่ ที่จริงปัญญาแปลว่า รู้ความจริงตามความเป็นจริง ปัญญาไม่ใช่ผลของ ความคิด วิจัยวิเคราะห์อะไร แล้วก็ได้ผลออกมา ความฉลาดอย่างนั้น เป็นตรรกะ ไม่ใช่ปัญญารู้ของจริง ที่มันเป็น เพราะฉะนั้น ท่านแบ่งสุขออกเป็นสองอย่าง เมื่อพูดถึงทุกข์ ก็ต้องรู้จักสุขให้ชัดเจน คนเราไปหลงสุข ที่เป็นของไม่จริง ขอยืนยันว่า เป็นสุขลวง ภาษาพระเรียกว่าสุขัลลิกะ อลิกะ แปลว่าหลอกลวง สุขขัลลิกะ แปลว่าสุข หลอกลวง อาตมาแปล อย่างถึงกึ๋นว่า สุขตอแหล นี่แปลว่าหลอกลวง สุขขัลลิกะ นี่แปลว่าสุขหลอกลวง มันลวงอย่างไร คือมันอย่างที่ว่านี่ มันมอมเมา มันสร้างสมมุติว่า อันนี้อร่อยนะ อันนี้สวยนะ แต่งตัวอย่างนี้เรียกว่าสวย คนจะต้องชั้นสูง จะต้องแต่งตัวดีๆ ยิ่งปกปิด นุ่งผ้าถุงอย่างนี้ อาตมาว่าดี มันไม่ไปยั่วกาม ตัวเองก็มิดชิดดี คลุมตัว เดินไปเดินมา ขีดข่วนก็ผ้ารองรับได้

หรือแม้แต่ถูกหลอกว่า ชั้นสูง ต้องมีชุดอาบน้ำ ผ้าชิ้นนิดหนึ่ง ขายแพงกว่าคนนุ่งผ้าซิ่น กระโจมอกอาบน้ำ ตั้งเยอะแยะไป คนไม่มีชั้น โง่ ไม่ทันสมัย ไม่เจริญ แหละคือ จุดของผู้รู้ความเจริญแล้ว พวกนั้นต่างหากเสื่อม โง่ ไปยั่วกาม ให้เกิด อาชญากรรม ให้เกิดอะไร ต่ออะไร สาระพัด นี่คือ สัจจะที่เขารู้ แล้วก็ไปหลงว่า ได้ทำอย่างนั้น ถูกหลอกว่าสุข เขาอุปาทาน ว่าจริงๆเลย ถามผู้หญิงเลย ปีนี้สีแดงฮิต ต้องหาเสื้อสีแดงมาใส่ ได้เสื้อสีแดงมาใส่ แล้วมันชื่นใจจริงๆ รู้สึกเหมือนว่า เหมือนนางฟ้า มันสุขจริงๆ ปีนี้ไม่ใช่ สีแดงแล้ว ปีนี้ต้องฮิตเหลือง เสื้อยังไม่ขาดเลยทิ้งแล้ว ต้องเอาเหลืองอย่างเขามาใส่ ผู้หญิง ถูกปั่นหัว ไม่รู้จะโง่ไปถึงไหน นี่คือ ได้สมใจ อุปาทาน แล้วสุข สุขอย่างนี้แหละคือ สุขถูกหลอก ได้ยศได้ศักดิ์ขึ้นมา ก็สุขเหลือเกิน โง่จนกระทั่ง ไปได้เปรียบเขามา ได้เปรียบ ไปค้าขาย อย่างทุนนิยม ทุนร้อยหนึ่ง ที่จริงเคยตั้งราคาขาย 150 เห็นหน้าคนลนลานมา คิด 250 ทุนนิยมเป็นอย่างนี้จริงๆ คนนั้นก็คนอยากได้ 250 อย่างเก่ง 220 ทั้งๆที่เคยขาย 150 เท่านั้นแหละ ได้ 220 ชื่นใจ สุข ชื่นใจ ชั่ว ... ดีใจที่ตัวเองได้ทำชั่ว เป็นสุขที่ชั่ว นี่คือความหลง ความหลอก เพราะฉะนั้น คนมีเงิน ไม่เห็นความทุกข์ อยากเสพอย่างไร เขามอมเมาอย่างไร เขาบำเรอ เสื้อผ้า แฟชั่นชุดธรรมดา มีขนนกปัก ฉายแสง ใช้จิตวิทยา นางแบบ ชั้นดีชั้นสูง ทำแฟชั่นโชว์ ประมูลไปแสนหนึ่ง ซื้อไปเสร็จแล้ว เอาไปใช้ ชั้นสูง ไฮคลาสจริงๆ ต้องใช้งานเดียว แล้วก็เอาแขวนทิ้งไว้ ถ้าขืนใช้งานที่สอง ไม่ได้ แทบมุดดินตาย ขายหน้ามาก ต้องฉิบหายให้มันมากๆ ซื้อใส่ให้มันแพงๆ ใช้ครั้งเดียว นี่คือความฉลาดหรือความโง่ ต้องทำอย่างนี้ถึงจะสุข นี่แหละคือ คนไม่รู้จักทุกข์ คนหาเงินมา เพื่อจะให้ถูกหลอก สาระพัด แต่คนพวกนี้เข้าใจสาระแล้ว ก็เลยไม่ไปให้ถูกหลอก จึงไม่มีทุกข์ที่จะต้อง ไปโง่งมงายกับเขา เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ทุกข์ จะต้องรู้ว่าทุกข์หลอก สุขหลอกอย่างนี้ เพราะคนที่ถูกหลอก มีกิเลส มีตัณหา มีอุปาทาน ที่จะต้องถ้าได้สมใจ ก็จะสุข ไม่ได้สมใจก็ทุกข์ เป็นโลกีย์ธรรมดา เพราะฉะนั้น คนรวยจึงไม่เห็นทุกข์ง่ายๆ

ถ้าคนทุกข์ เป็นคนจนไม่มีปัญญาจะรู้สัจจะ คนมีปัญญาแม้เขาจะไม่รวย เขาหยุดแล้ว ไม่ไปแย่งโง่แล้ว ไม่ไปแย่งสุข แบบนั้นแล้ว รู้แล้วว่า สุขอย่างนั้นก็คืออุปาทาน ความยึดติดยึดมั่นตามที่เขาหลอก แล้วก็ไปหลง อะไรที่ตัวเองถูกหลอก มีอีกตั้งเยอะ แล้วก็ ได้บำเรอ เช่น อาหารอร่อยได้กินปลาร้า ปลาแดกนี่อร่อย ทั้งที่ฝรั่งมาเห็นแล้ว ฝรั่งกินไม่ได้ ปลาเน่า ไม่มีอุปาทานเป็นต้น ยังไม่ติด แค่นี้ก็ถูกหลอก เป็นสุขโลกีย์เหมือนกัน ได้กินอย่างนี้สมใจ จะต้องกลิ่นอย่างนี้ รสอย่างนี้ ความจริงแล้ว มันจะเป็นกลิ่น หรือไม่เป็นกลิ่นอย่างนี้ ก็ตามแต่ ถ้ามันได้ธาตุไปเลี้ยงขันธ์ ก็เอาเท่านั้นเอง แต่คนไปติด รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส กามคุณ 5 นี่คือกิเลสอีก ฉะนั้นจึงมาเรียนลึกซึ้ง ไม่ไปแย่ง แบบโลกีย์ก็มาเรียนรู้พวกนี้ลึกซึ้งอีก แล้วลดอีก ก็จะลดทุกข์ที่แท้ ตอนนี้ถึงจะเห็นว่า ทุกข์เพราะกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันนี้สูงกว่าทุกข์โลกีย์อีก

รศ.ดร.สุรกุล : ผมได้คำตอบ จากการที่ฟังพ่อท่านพูด ที่ผมใช้คำพูดว่า คนเราเมื่อทุกข์เท่านั้น จึงจะเห็นแก่นของสัจจธรรม ต้องเปลี่ยนคำพูดใหม่ว่า คนเราเมื่อหลุดจาก อุปาทานแล้ว ถึงจะเข้าถึงหลักธรรม ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พ่อท่าน : ใช่ แล้วจึงต้องมาศึกษาตัณหา อุปาทาน

รศ. ดร.สุรกุล : ฉะนั้นทุกวันนี้ ที่เราบอกว่าไม่ทุกข์ คือเราติดอุปาทาน ก็เลยนึกว่า ที่เราไม่ติดอยู่ คือความทุกข์ ที่เราติดอยู่กับ อุปาทาน สิ่งที่ลวงโลกนั่นแหละ คือความสุขของเรา แต่เมื่อเราหลุดพ้นตรงนั้น ก็แสดงว่า หลุดจากอุปาทาน ที่เขาหลอกเราไว้

พ่อท่าน : เราล้างอุปาทานอันนั้น เราไปเห็นความจริง เขาหลอกมาอย่างไรก็รู้ทันแหละคือ ปัญญาที่แท้ ส่วนปัญญา ที่ฉลาดไปตามโลก แล้วก็วิ่งตามโลก ทันสมัย ทันแฟชั่น อะไรพวกนี้ มันไม่ใช่มีปัญญา มันโง่ เพราะฉะนั้น พวกมามีอย่างนี้นี่ เขามีปัญญาต่างหาก เขานำสมัย พวกไปตามสมัยนั่นโง่ ฉะนั้นไปแต่งแฟชั่นตามสมัย โง่ ไม่ใช่ปัญญา มันโง่ต่างหาก มันลวง เพราะฉะนั้น คุณยังไม่หยุดโง่เลย วิ่งๆๆๆ เขาหยุดโง่แล้ว เขาฉลาดแล้ว นำสมัยไหม

รศ.ดร.สุรกุล : ชัดเจนแล้วครับ รบกวนพ่อท่านมาชั่วโมงเกือบครึ่งแล้วนะครับ วันนี้ผมได้อะไรเยอะ ถ้าไม่ติดยึด ต้องเดินทาง ไปที่ลำปาง คงจะอยู่คุยกับพ่อท่านถึงค่ำๆ แต่ว่าผมก็ได้อะไรเยอะมาก ผมอธิบายไม่ได้ เกิดเองนะฮะ เกิดว้าบขึ้นมา ในสมองขึ้นมาครับ ผมขอกราบนมัสการลาพ่อท่าน

พ่อท่าน : โอ้โฮ สมาชิกสนใจไม่ใช่เล่น ที่จริงเขาจะต้องกลับ เพราะมาอบรมอยู่ 7 วันแล้ว อาตมายั่วๆ เขาอยู่เหมือนกัน ว่าเสร็จงานแล้ว มันจะไปเหมือนไก่จะบิน เขาก็รู้ วันนี้เขาไม่บินแล้ว อยู่ดีแล้วล่ะ เป็นครูเป็นอาจารย์ จะต้องพยายามเอา สารสัจจะ หรือศึกษาความรู้ ของพระพุทธเจ้าให้มาก เราเป็นพุทธโดยตระกูลมานานแล้ว ศึกษาธรรมะของพระพุทธ เจ้านี่ ยิ่งทันสมัยที่สุดเลย อาตมาก็ขอยาว อีกนิดหนึ่ง ก่อนที่จะไป ว่าสังคมชาวอโศก ทำมา ตามธรรมะของพระพุทธเจ้า เขาพยายาม มีแผน 6 แผน 7 แผน 8 พอแผน 8 ก็ค่อยมา ถึงขณะนี้ กำลังจะร่างแผน 9 เขาก็บอกว่า เออ พวกนี้ชุมชน พึ่งตนเอง เศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง ชักเล็งมาตรงนี้ อาตมาขอยืนยันว่า อาตมาไม่ได้มีความรู้ ทางด้านศาสตร์ที่โลกีย์ เขาสอนกันทั้งหมด อาตมาเรียนศาสนาพุทธอย่างเดียว อาตมาไม่มีปริญญา สักใบเดียว อาตมาว่า อาตมาได้ศาสตร์ของ พระพุทธเจ้า บรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า ขอประกาศเลยว่า อาตมาบรรลุธรรม ของพระพุทธเจ้า แต่เขาจับอาตมาว่า อวดอุตริมนุสสธรรม

อาตมาบอก อาตมามีสิ่งนี้จริง เพราะฉะนั้น ชุมชน ที่ทำอะไรต่ออะไรได้นี้ มันเป็นศาสตร์ที่ได้เรียน อาตมาสอนอย่างไร ก็สอนย่างที่อาตมาสอน อย่างที่เป็นครูนี่แหละ อยากจะให้ไป ติดตามค้นคว้า ศึกษาพุทธศาสนาให้มาก เป็นแก่นเป็นแกน แห่งศาสตร์ที่วิเศษที่สุด คลุมไว้ทั้งหมด ทั้ง รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจที่ล้มเหลว พวกเราไม่กระเทือน เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ แม้การศึกษาศาสตร์ หรือกิจกรรม ด้านต่างๆ เกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อะไรก็แล้วแต่ เด็กเรา ศึกษาหมด เด็กพวกนี้นี่ ศาสตร์ก็เรียน เด็กๆทั้งนั้นแหละ ถ่ายวิดีโอ เขาไปตัดต่อ เขาไปทำอะไร เด็กของเราเรียนจริงๆ โดยความเป็นจริง ของชีวิตจริง เป็นโรงเรียนที่จะต้องเข้าไปอยู่ในกรอบ ห้องเรียนสี่เหลี่ยม เช้าไปเย็นมา แต่นี่อยู่ตั้งแต่เช้า จรดเย็น จนกระทั่ง วันรุ่งขึ้น เป็นการศึกษาหมด ทั้งยี่สิบสี่ชั่วโมง แต่เด็ก เราให้เข้ากรอบมากหน่อย เพราะเขายังไม่มี วุฒิภาวะ ผู้ที่มีวุฒิภาวะก็ปล่อยให้อิสระ เสรีภาพมากขึ้น ส่วนเด็กก็ต้องมีกรอบ คุมไว้หน่อย แล้วเขาก็ศึกษาไป พอเขาโตหน่อย ศึกษา หมดกรอบ หกปี เขาพ้น มีวุฒิภาวะพอ เขาหลุดออกจากกรอบนี้ แล้วเขาก็จะจัดการ ของเขาเอง เพราะรุ่นนี้ เขาเข้ากรอบ เราก็ศึกษาตลอดชีวิต ชีวิตสามัญที่เป็นชีวิตประจำวัน เราจำนนว่า เราจดทะเบียนกับกระทรวงศึกษา ต้องตามหลักสูตร ตามที่เขากำหนด แต่จริงๆแล้ว ทางศีลเด่น เป็นงาน เป็นหลักเลย วิชาการ เราก็ไม่ให้ล้าสมัย ขอย้ำอีกทีว่า ให้ไปศึกษา ศาสนาพุทธให้ดีๆ

สาธุ

5788a.etc