ที่นี่ตอบทุกปัญหา ๕

ไขปัญหา บางคนทำไม่ดี ทำไมถึงได้ดี


คำซักถามต่างๆ ที่ท่านจะได้อ่านกันต่อไปนี้ เป็นข้อสงสัยของอาจารย์แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ท่านหนึ่ง ซึ่งพยายาม เฝ้ามองปัญหา ข้อขัดแย้งต่างๆ ทั้งในชีวิตส่วนตัว และสังคมรอบๆตัว ท่านได้พยายาม แสวงหาคำตอบ จากนานาลัทธิศาสนา มาจนเกือบครึ่งชีวิต พอดีท่านสมณะโพธิรักษ์ ได้เดินทาง ไปที่ ลานนาอโศก จ.เชียงใหม่ อาจารย์ท่านนี้ จึงได้เข้ามาเรียนถามปัญหา ที่น่าสนใจ ชนิดที่พลาดไม่ได้ ถ้าคุณเอง ก็เป็นผู้หนึ่ง ที่กำลังแสวงหาสัจจะของชีวิตเช่นกัน...

อาจารย์ : คำถามนี้ผมถามมาหลายอาจารย์แล้ว ปรากฏว่าตอบกันไม่ค่อยได้ อันนี้ผมพูดภพเดียว ชาติเดียว ตั้งแต่เกิดจากท้องแม่จนตาย ซึ่งจากการสังเกตของผม ปัจจุบันมีอายุ ๔๑ ปีแล้วนะครับ คือ :-

บางคนทำไม่ดีตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ไม่ประสบเภทภัยอะไร ส่วนบางคนทำดีแต่ต้นจนจบเหมือนกัน แต่ผมไม่ทันเห็นตอนจบ เอาแค่ช่วงระยะสัก ๑๐ ปี ก็แล้วกันนะครับ ปรากฏว่าเขาได้ดี ประเด็นนี้ หากจะพูด ในแง่วิทยาศาสตร์ พ่อท่านพอจะให้คำอธิบายอะไรได้บ้างครับ

สมณะโพธิรักษ์ : พูดทางวิทยาศาสตร์ คนเรามองแค่โลกดวงเดียว สุริยจักรวาลกลุ่มเดียว โดยไม่มองไป ถึงพลังของสุริยจักรวาล หรือกาแลกซี่ต่างๆ ที่สัมพันธ์โยงใยเกื้อหนุน

เพราะคนเราไม่ได้มีพลังงานของกรรมวิบากในชาติเดียว ไม่รู้ตั้งกี่ชาติต่อกี่ชาติมากมาย หลายชาติ เหตุปัจจัย ของคนที่บอกว่าชาตินี้เขาก็ทำดีแล้ว เขาก็ไม่ได้ดีชาตินี้ มันก็เท่านั้น หรือบางคนทำดี ไม่เท่าไร เขาก็ได้ดี อะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นเอาเพียงเหตุปัจจัยของปัจจุบันเท่านั้นเอง มาอ่านมามอง

นี่ย่อมเป็นสื่อแสดงให้เห็นแล้วว่า แรงของกรรมไม่ใช่มีแค่ปัจจุบันเท่านั้น ไม่เช่นนั้น ก็ต้องมีค่าเท่ากันหมด คนที่ทำดีชาตินี้ ก็ต้องได้ดีในชาตินี้ เหมือนกันเท่ากันหมด คนที่ทำดีกว่าคนนี้ ทำไมไม่ได้ดีกว่าคนนี้ คนที่ทำดีน้อยกว่า ยังได้ดีกว่า นั่นย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่า แรงกรรมของเขา มีค่าที่เป็นค่าแฝง ที่เราไม่รู้ โดยเฉพาะ กรรมอดีต ที่มาช่วยอุดหนุน หรือ มาลดทอน

ส่วนที่จะเข้าใจว่าเป็นการยึดอดีตนั้น แม้ไม่ต้องยึด มันก็เป็นของมันอยู่ ให้รู้ว่าอดีตคือสิ่งจริงที่ได้ทำมาแล้ว จะมีวิบากดี วิบากชั่วอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น แก้ไม่ได้ ทำแล้วคือทำแล้ว คุณไม่อาจเปลี่ยน สิ่งที่ทำ แล้วนั้น เป็นตรงกันข้ามได้ จะทำมากน้อยเพียงใด ก็ย่อมมีอิทธิพลกับกรรม ซึ่งเราไม่อาจทราบได้ว่า อิทธิพล ของกรรมเก่า ที่มีอยู่นั้นแค่ใด

อาจารย์ : แล้วปัจจุบันคนนี้ทำดีมาตั้งมากตั้งมาย ทำไมไม่ได้ดี อีกคนทำดีหน่อยเดียว ทำไมได้ดีมากกว่า

สมณะโพธิรักษ์ : เพราะมีอิทธิพลของกรรมเก่า ที่เราไม่รู้ค่าของมัน เป็นค่าแฝง

อาจารย์ : คนที่ทำดีแล้ว ถูกคนอื่นชุบมือเปิบ เอาความดีเป็นของตัวผู้นั้น แล้วเราจะได้ดีไหมครับ

สมณะโพธิรักษ์ : ได้ซี ได้หลายชั้นหลายต่อด้วย

อาจารย์ : เอ๊ะ! จะได้หลายต่อยังไงครับ

สมณะโพธิรักษ์ : เมื่อเราทำดี มันก็เป็น "ความดี" อันเราทำเองจริงๆนั้นแล้ว ใครจะปล้นจะโกงเอา "กรรม" ที่เราทำนี้ ไปไม่ได้ เสร็จแล้ว มีผลพลอยได้เป็นลาภ เป็นยศ เป็นผลงาน เป็นผลผลิตตามมา แล้วมีคน มาเอาผลผลิต เอาผลงาน หรือเอาลาภ เอายศนั้นๆ ไปเป็นของเขา เราก็สละให้เขา เราก็ยิ่งได้บุญ ได้ชื่อว่า "ให้" ประโยชน์แก่คนอื่น คนอื่นได้ประโยชน์จากที่เราทำ "กรรม" ที่ดีก็ได้แล้ว ยังได้ "ทาน" อีก ยิ่งละ ความหวงแหน ได้อีก ไม่ไปหลงถือว่าเป็นของเรา เรายิ่งได้ "ปรมัตถสัจจะ" สูงส่งขึ้นไปอีก อธิบายแค่นี้ ก็ได้หลายชั้นแล้ว

อาจารย์ : ปรมัตถสัจจะนี่ยังไงครับ

สมณะโพธิรักษ์ : เรื่องอย่างนี้ คนนั้นจะต้องรู้จักสัจจะ จะมองเผินๆ ว่า ผลของการได้ลาภ ได้ยศ คือ "ความดี" เท่านั้นยังไม่พอ ยังหยาบอยู่ "ความดี" แท้ๆสูงกว่านั้นมีอีก กรรมคือกรรม ความดีคือความดี ความชั่วคือความชั่ว เช่น คนปล้น คนคอร์รัปชั่นได้เงินมา คนเลียแข้งเลียขาได้ตำแหน่งมา พฤติกรรม อย่างนี้ เป็นกรรมชั่ว ได้ "ความชั่ว" แล้วทันที เขาทำลงไป แม้เขาจะได้เงิน ได้ลาภ ได้ยศที่เป็นโลกธรรม เป็นผลพลอยได้ อีกส่วนหนึ่ง ก็ตาม แต่นั่นเขาก็ยังได้ยังเป็น "ความชั่ว" คือ ตัวกรรม ตัวการกระทำ ของเขาแท้ๆ ที่เขาได้ก่อน เช่น กรรมที่ปล้น ที่คอร์รัปชั่น นั่นเป็นต้น ได้แน่ เป็นสมบัติแท้ๆ กว่าเสียอีก เป็น "อดีตกรรม" เป็นวิบากของเขาไปอีกนาน กว่าเงิน กว่าลาภ กว่ายศ พวกนี้แหละค่าแฝง

และหากเรามีปัญญารู้จักกรรมดี เราซื่อสัตย์ เราก็ต้องทำกรรมดี ซึ่งจะต้องรู้ว่า ผลของกรรมดี คือสิ่งที่ได้ดี สิ่งที่เป็น ปรมัตถสัจจะ คือกรรมที่สั่งสม คือจิตใจที่ได้ฝึกฝนอบรม เช่น เรามีความขยัน ฝึกหัดขยัน ฝึกหัดเสียสละ ซึ่งเป็นการละ โลภะ ที่ขี้เกียจ ที่หวงแหนเป็นของของตน เราก็ได้ความขยัน เสียสละ เป็นนิสัย เป็นสมบัติ สร้างคุณสมบัติให้กับชีวิต สั่งสมลงไปถึงจิตใจของเรา เป็นสิ่งจริงทั้งสิ้น ถึงขั้น จิตเป็นจิต มีได้จริง นั่นแหละคือ ปรมัตถสัจจะ

ส่วนการที่ไปหลงหอบหวง รับมาได้แค่เงิน แค่ลาภวัตถุเท่านั้น โดยศาสนาพุทธที่เป็นโลกุตตระ ถือว่า ไม่สูงส่ง ไม่ใช่เรื่อง "ปรมัตถสัจจะ" นั่นเป็นแค่ผลพลอยได้ เป็นเรื่องรอง ยิ่งไปโกงมา ไปโลภเอาเปรียบ มาได้ นั่นยิ่งนับเป็นความล้มเหลว ถือว่า เป็นหนี้ เป็นบาป แม้แต่ได้มาอย่างสุจรติแท้ๆ เช่น ยังเอาค่าแรง ยังเอาค่าความรู้ ที่ยังเป็นการแลกเปลี่ยน ประเภทลาภแลกลาภ ลาภแลกยศ แลกสรรเสริญ แลกสุข หรือ ลาภแลกโลกธรรมอยู่ ก็ยังไม่ใช่ "ความดี" ที่ยิ่งแท้ หรือค่า "ความดี" หรือ "บุญ" ยังไม่สูงขึ้น

เพราะฉะนั้น การได้ลาภมามากๆ แล้วก็ยังหลงลาภ ไม่สละลาภ จึงยังไม่ใช่ "ความดี" ขั้นปรมัตถสัจจะ ยังเป็นแค่ "สมมุติสัจจะ" เป็นขั้นโลกียะธรรมดาๆ แต่ยังมีลึกซึ้งกว่าที่พูดนี้อีก อาตมาพยายามจะอธิบาย คำว่า "ความดี" ให้คนเข้าใจ แต่ทุกวันนี้เข้าใจผิดกัน คนทำดีแล้วสามารถ "ให้ไป" ได้อย่างสมบูรณ์ แม้จะไม่ให้ โดยมีคนมาโกง คนทำดีนี้ก็ไม่ได้เป็นคนเลว คนนี้ก็ไม่ได้เสียหาย เมื่อเราทำสิ่งดี คุณความดี ที่เราได้ทำไว้แล้ว มีคนมาเอาความดีของเราไป โดยเอาไปอ้างว่า เป็นของตัวเอง เหมือนกับโกงเอาความดี ของเราไปนั้น คนที่ทำเช่นนั้น เขาก็บาปแล้ว ส่วนความดีที่เราทำ แม้มนุษย์ไม่เห็น มันก็เป็นกรรม ที่เป็นอันทำ คือ เราได้ทำตามสัจจะ ไม่มีใครเบี้ยว ไม่มีใครโกงไปได้ เป็นกรรมที่แท้จริง ที่เราทำโดยจริง ของเรา ก็ต้องเป็นของเราโดยสัจจะ

ศาสนาพุทธสอนเรื่องกรรมที่เป็นของของตน (กัมมัสสโกมหิ) เพราะฉะนั้น หากเราเน้นที่กรรม เราไม่ได้ ไปเลวอะไร เข้าใจกรรมถูกสภาพ ทั้งทางกายกรรม วจีกรรม ที่สำคัญมาก และรู้ได้ไล่ทันยาก คือ "มโนกรรม" กุศลกรรมเป็นอย่างไร อกุศลกรรมเป็นอย่างไร หรือกรรมที่เป็นอัพยกตาอย่างโลกียะ เป็นแบบไหน อย่างโลกุตตระเป็นแบบไหน แล้วก็พยายามทำให้ตรง ให้ถูกกรรมดี ผู้รู้ถูกต้อง มีสภาวะ ของกรรมที่ทำแล้ว ก็อ่านของตนออกชัด ก็จะหมดปัญหาข้องใจในประเด็น "ทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่ว" แต่ถ้าผู้ใด ยังเข้าใจ ที่อธิบายนี้ไม่ได้ จับเป้าไม่ถูก ยังวนตื้นอยู่แค่ ไปนับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นเครื่องวัด กรรมดี - กรรมชั่ว ซึ่งเป็นค่าวัด ที่ผิดพลาดอยู่ในสังคมทุกวันนี้ ก็ยิ่งเข้าใจกรรม เข้าใจว่า "ทำดีได้ดี - ทำชั่วได้ชั่ว" ไม่ถูก

เพราะทุกวันนี้สังคมเอาค่าของลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเท่านั้นไปตีราคาว่าดี ว่าทำดีแล้ว ได้ผล ตอบแทน เป็นโลกธรรม จึงนับว่า การตอบแทนที่แลกเปลี่ยนคืน มานั่นแหละ ยิ่งเป็นการลดค่า เป็นความล้มเหลว เป็นการเข้าใจสัจธรรมลึกซึ้งสูงขึ้น ขั้นปรมัตถ์ไม่ได้

อาจารย์ : ถ้าเช่นนั้น คนรับเงินเดือนก็ไม่ได้ทำความดีสูงขึ้น

สมณะโพธิรักษ์ : ใช่ยิ่งมีเชิงได้เปรียบมาก เอาเงินเดือนขึ้นๆมาก ก็ยิ่งต่ำลงๆ ในทางปรมัตถสัจจะ เพราะฉะนั้น พวกอาตมา จึงมาถึงขั้นทำงานฟรีกันได้ไง คุณรู้จัก อโศกนานเท่าไร

อาจารย์ : เพิ่งมาไม่กี่วัน

สมณะโพธิรักษ์ : คุณรู้ไหม คนอโศกนี่ทำงานฟรี มีอยู่ไม่ใช่น้อย

อาจารย์ : ทราบครับ

สมณะโพธิรักษ์ : นั่นก็เพราะเขาเข้าใจสัจธรรม และได้ปฏิบัติธรรมถูกทางถึงขีด ถึงขั้น จึงกล้ามา ทำงานฟรี บางคนที่มีความจำเป็นจะต้องแลกเปลี่ยนคืนมาบ้าง ก็เอามาบ้าง ลดละไปตามลำดับ แต่พยายาม จะไม่ให้เกินทุน เพราะถ้าเอาเกินทุน เรา ก็ "ขาดทุน" ทุกที เราก็ไม่มีคุณค่า เพราะฉะนั้น การเอาน้อย ได้เท่าไร ให้คนอื่น ได้มากเท่าไร และยิ่งให้อย่างไม่มีเล่ห์ ไม่หวงแหนได้เท่าไหร่ นั่นคือ เราเป็นคน มีคุณค่า เราได้เสียสละ เป็นความดีงาม เป็นความประเสริฐแท้ของคนยิ่งๆขึ้น มากเท่านั้น

อาจารย์ : ทีนี้ปัญหาระบบสังคมละครับ

สมณะโพธิรักษ์ : อย่างที่พูดแต่ต้นแล้ว หากคนในสังคมทำได้ดังนี้ สังคมก็จะไม่เดือดร้อน เพราะ แต่ละคน ในสังคม มีแต่การให้อย่างเข้าใจจริง และทำเพื่อเสียสละด้วยใจ ด้วยปัญญา ลึกซึ้งจริง ทุกวันนี้ แก้ปัญหาไม่ตก เพราะหลงค่านิยมความเชื่อในโลกธรรม หลงล่า ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข นั่นเอง

อาจารย์ : มันเป็นเรื่องของความสามารถ (ที่แย่งชิงและกอบโกยเอามาได้มากๆ)

สมณะโพธิรักษ์ : ก็ลดราคาของความสามารถของตัวเองซิ เราจะยิ่งมี "ค่า" มากขึ้นๆ

อาจารย์ : เขายกย่องอันนี้เป็นความสามารถ

สมณะโพธิรักษ์ : เขายกย่องความสามารถก็ดีแล้วนี่ ไม่ขัดแย้งเลย ขอให้มีความสามารถ ในการงานนั้นๆ จริง คุณทำความสามารถ ให้ดียิ่งๆขึ้นเถอะ แต่คุณจะไม่มีคุณค่าอะไร ถ้าคุณไปตีราคาความสามารถ ของคุณ แล้วก็แลกมันมา เป็นเงินทอง-ยศ-สรรเสริญ-สุข เป็นโลกธรรม ครบค่า จนเอามาเกินค่า เพราะไป หลง เข้าใจ "ค่า" ในสภาพที่ไม่ใช่ค่าแท้ ก็ผิดสัจจะ มันคือ "อสัจธรรม" เป็นความ ไม่ถูกต้อง คนจะมี "ค่า" เพราะสามารถ "ให้" ออกไป เสียสละออกไป ไม่ใช่สามารถเอามากักตุน ให้กับตัวเองไว้มากๆ หรือแลกเอา ของตอบแทน คืนมามากๆ

ตัวอย่างของพระพุทธเจ้า ท่านมีความสามารถ มีทรัพย์สินศฤงคาร แต่ท่านก็ทิ้งได้ ทิ้งบ้านทิ้งเมือง ออกบวชได้ เรื่องบารมี จึงต้องสั่งสมกัน ไม่รู้กี่ชาติ

จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ใช่พูดแต่ปาก เหตุผลดูเข้าใจง่าย แต่กระทำจริงไม่ง่ายนัก บางคนอย่าว่าแต่เข้าใจเลย เข้าใจ ก็ไม่ได้ บางคนเฉลียวฉลาด สารพัดที่จะโกงในทางโลก สารพัดที่จะเอาเปรียบโลก แต่พอฟังธรรมะ สัจจะอย่างนี้ กลับไม่เข้าใจ

บางคนเข้าใจ แต่ไม่เชื่อ แถมนึกว่าเป็นปรัชญาลอยลม ไม่มีใครทำได้จริง ก็ทำแบบเอาหน้า อวดดี มาทำ เล่น ๆ ไม่ใช่สัจจะ หรือไม่ก็ใช้เป็นกรรมวิธีเชิงกล เพื่อได้เปรียบยิ่งขึ้น ก็ทำกันจนเก่งแล้ว เข้าใจแบบนี้ ก็มาก บางคนเข้าใจไม่ได้จริง ๆ แถมหัวหมุน

อาจารย์ : คนฉลาดเฉลียว มีปัญญาฉลาดนี่ จะเกี่ยวกับกรรมพันธุ์หรือว่ากรรมเก่า

สมณะโพธิรักษ์ : เกี่ยวกับกรรมอะไรทุกกรรมทั้งเก่าทั้งใหม่ เกี่ยวกับสิ่งที่สั่งสมมา ทั้งนั้น ทำกรรมฉลาด โกงมามาก ก็เก่งโกงมาก ทำกรรมเสียสละ ซื่อสัตย์ไว้มาก ก็เก่งซื่อสัตย์เสียสละมาก ตามกรรมที่สั่งสมจริง จะเป็นความฉลาด ความอดทน ความเมตตา ความเสียสละ ความเอาเปรียบ อะไรนี่สั่งสมฝึกกันมาทั้งนั้น

ความฉลาดมี ๒ อย่าง ฉลาดอย่างโลกๆที่ร่ำเรียนกัน แล้วก็ร่ำรวยกันนั่น ภาษาบาลีคือคำว่า เฉกะ หรือ เฉโก ส่วนฉลาดอย่างปรมัตถสัจจะ หรืออย่างโลกุตตระนั้น ฉลาดสร้างสรร เสียสละแท้ จะละอาย ในความร่ำรวย ด้วยซ้ำ ฉลาดอย่างนี้ ภาษาบาลีคือคำว่า ปัญญา หรือ ญาณ คนไทยรู้ว่า ฉลาดอย่างเฉกะ (เฉโก) นั้น ไม่ดี จึงไม่ยอมให้ใครเรียกตน แม้ใครจะฉลาดอย่างเฉโกขนาดไหน ก็ยังไปเรียกกันว่า ปัญญา นี่คือ อสัจธรรม ชนิดหนึ่งในสังคม

อาจารย์ : ถ้าเกิดมาเป็นมหาเศรษฐีนี่ ถือว่าเป็นกรรมดีหรือว่ากรรมชั่วครับ

สมณะโพธิรักษ์ : เรื่องนี้ซับซ้อน บุญของเขาจริงๆ ถ้าเขาได้สั่งสมมาก็เป็นส่วนของเขา เขาเกิดมา จึงมีพร้อม แม้มีทรัพย์พร้อม ถ้าคนที่ดี เขาก็สละได้ อย่างพระพุทธเจ้า พระองค์เกิดมา บนกองเงิน กองทอง พระองค์ไม่ต้องสะสม ไม่ต้องหา ไม่ต้องทำ มันมีของตัวเองเป็นบุญเก่าสร้างมา สละมา ไม่รู้กี่ชาติ ต่อกี่ชาติอยู่ ตามประวัติจะเห็นว่า แม้พระองค์จะมีขุมทรัพย์ ๔ มุมเมือง เกิดมาพร้อมกับ พระองค์ท่าน ก็ยินดีสละได้อีก

บางคนไม่ได้ทำบุญด้านวัตถุทรัพย์ จนได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง แต่มี ภูมิธรรม ทางโลกุตระ ก็สละ ลดละได้เช่นกัน แม้มีน้อย ก็สละได้

คำว่า "เศรษฐี" นี่ก็อีกคำ ก็นัยะคล้ายกันกับคำว่า "ปัญญา" ซึ่งยังเป็นภาษา ที่ใช้เรียกกันอย่าง อสัจธรรม ชนิดหนึ่ง ในสังคม ที่จริงคนร่ำรวยนั้น ภาษาบาลีว่า "กฏุมพี" ที่ไทยเพี้ยนมาเรียกว่า "กระฎุมพี" นั่นแหละ ซึ่งเป็นการร่ำรวย ด้วยความไม่ประเสริฐ คือรวยเพราะได้เปรียบ เพราะเอาเปรียบ เพราะใช้ความฉลาด เฉลียว ชนิด "เฉกะ" สมัยนี้ก็คือ รวยชนิด "ระบบทุนนิยม" แต่ไม่รู้ลำเอียดแจ้งชัดกัน ก็เรียกกันว่า เศรษฐี ไปหมด ที่ถูกแล้ว "เศรษฐี" คือคนรวยด้วยความประเสริฐแท้ รวยบุญ รวยความเสียสละ รวยยิ่งไม่สะสม รวยที่ได้สร้างสรร ขยัน มีความรู้ความสามารถ ทำประโยชน์ให้แก่สังคม รวยชนิด "ระบบบุญนิยม" รวยชนิด มักน้อย - สันโดษ ตรงหลักพุทธธรรม "เศรษฐี" ประเสริฐสุด ก็คือ พระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีทรัพย์ศฤงคาร เป็นของตน แม้แต่บาทเดียว อริยบุคคลที่ปฏิบัติตามธรรมของพระพุทธเจ้าได้ ก็เป็น "เศรษฐี" ตามท่าน ขยันสร้างสรรจริง เป็นประโยชน์แก่มวลมหาชน (พหุชนหิตายะ) จริง เสียสละไม่สะสม (อปจย) จริง ทำงานฟรี ได้จริง กล้าหมดเนื้อหมดตัวได้จริงๆ อย่างนี้ "เศรษฐี" แท้ ไม่ใช่ "กระฎุมพี" ซึ่งมีความลึกซึ้ง ซับซ้อน อยู่อีกมาก

อาจารย์ : หากอายุมากแล้ว สละแล้วเช่นนี้ ผมกลัวป่วย แบบนี้จะทำอย่างไร ถ้าเกิดสละทรัพย์หมด

สมณะโพธิรักษ์ : ที่นี่เราไม่มีปัญหา เราพึ่งพากันได้ แม้จะเป็นง่อยในวันพรุ่งนี้ก็สามารถอยู่กับหมู่กลุ่มได้ (แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถรับเลี้ยงคนเป็นง่อยอื่นๆ ได้ไปทั่ว แบบสังคมสงเคราะห์ ดอกนะ)

อาจารย์ : ก็เป็นภาระกับเขานะซีครับ

สมณะโพธิรักษ์ : ไม่ถือว่าเป็นภาระหรอก แต่เราเอาภาระกันจริงๆ วัฒนธรรม ของเราพึ่งแก่พึ่งเจ็บ พึ่งตาย กันได้ ซึ่งขณะนี้เราก็มีตัวอย่าง มีทายก มีปฏิคาหก คือมีผู้รับและผู้ให้ ที่พูดนี้ไม่ใช่เป็นแค่ปรัชญา แต่เรามี ของจริง รองรับ ยืนยันได้ มีตัวตน บุคคล มีพฤติกรรม มีวัฒนธรรม มีรูปแบบ เพราะฉะนั้น คนหนุ่มสาวที่นี่ จึงสามารถ อยู่เป็นโสดได้ ไม่ต้องไปหวังพึ่งแค่ลูกหลาน เขาเหล่านั้น มีความมั่นใจว่า หมู่กลุ่มนี้ไปรอด พึ่งกันได้เป็น "ญาติแท้" คือ "ญาติธรรม" ความเป็นญาติต้องเอาภาระ ในการช่วยเหลือเกื้อกูล หรือพึ่งพากัน จนแก่ จนตายได้จริง เรามีความจริงเป็น "ญาติธรรม - ญาติแท้" กันอย่างนี้จริงๆ

อาจารย์ : ได้ข่าวว่ามีนายแพทย์บางคน ถึงกับลาออกจากงาน แล้วมาอยู่กับสันติอโศก

สมณะโพธิรักษ์ : นายแพทย์ที่ลาออกจากงานแล้วมี แต่ยังไม่มาอยู่เป็นกิจจลักษณะ เหมือนอย่างกับ ทันตแพทย์ ซึ่งมีหลายคน

อาจารย์ : ครับ

สมณะโพธิรักษ์ : มีนายแพทย์หลายคนที่มาปฏิบัติธรรม แต่ทันตแพทย์มีหลายคน ที่ลาออกจากงาน แล้วมาทำงาน ประจำอยู่กับเรา ซึ่งผู้มาทำงานนี้มีค่าลึก มีคุณธรรมต่อสังคม ที่ว่ามีค่าลึก เพราะว่า เขาไม่โลภเอา ไม่ดูดเอา ฝึกหัดให้ มีแต่สิ่งที่สละ จริงเป็นคนมีค่าที่แท้จริง อย่างแน่นและลึก โดยกำลังฝึก ให้ลึกลงไปอีกๆ เพื่อเป็นแกน ของวัฒนธรรม แกนของสังคมมนุษยชาติ

ทุกวันนี้ระบบศาสนาพุทธ ที่เป็นโลกุตตระอย่างสัมมาทิฐิมันเสียแล้ว มันล้มเหลวแล้ว ช่วยสังคมไม่ได้ ไม่เป็นโลกุตระ อย่างที่อาตมาว่า เพราะยังหลง เห็นความร่ำรวยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นความเจริญ ซึ่งหากทวนกระแส ได้จริงแล้ว มีโลกุตรจิต จริงแล้ว ต้องเห็นชัดเจนเลยว่า โลกธรรมลดลง ยิ่งหมดตัว นี่แหละ เป็นความเจริญ!

อาจารย์ : ผมคิดว่าทำงานพยาบาลไม่รับเงินเดือน มีประโยชน์กว่ามาล้างจาน

สมณะโพธิรักษ์ : อย่างนั้นเราก็มี ถ้าตามกาละเทศะใดๆ งานพยาบาลเป็นงานที่มีอุปสงค์ หมอก็ทำงานพยาบาล แต่บางกาละเทศะ งานล้างจานมีอุปสงค์สูงกว่า หมอก็ช่วยล้างจาน เราต้องเข้าใจงาน และไม่ใช่จะโง่ ตื้นเขินอยู่แค่ศักดินาของงาน จนกลายเป็นคนเฉโก เป็นสังคมชนชั้น ไม่พากันสู่ ความเป็นอริยชาติ ได้จริงกันสักที อาตมาว่า ค่าของคน แม้คนเก็บขยะ ก็มีค่ายิ่งกว่า ผู้ดำรงตำแหน่งสูง ในทางโลก ที่ยิ่งศึกษาเศรษฐศาสตร์มาก ก็ยิ่งเอาเปรียบได้มาก บางคนต้องทำบาป หยาบลึกๆ เพื่อรักษาเก้าอี้ไว้ มิเช่นนั้น จะอยู่อย่างโดดเด่น ด้วยลาภ-ยศ-สรรเสริญ -โลกียสุขไม่ได้

อาจารย์ : ผมจะประมวลดูว่า คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำกรรมดีใช่ไหมฮะ แล้วคนดีที่ไหน จะมาเกิดบ่อยๆ

สมณะโพธิรักษ์ : คนดีมันก็เกิดน้อยลงไปเรื่อยๆ แหละก็ถูกแล้ว ตามยุคตามสมัย เพราะขณะนี้ โลกกำลัง เข้าหาความเสื่อม เข้าหากลียุค เข้าหายุคสมัยที่ คนชั่วมากกว่าคนดี เพราะฉะนั้น คนดีก็เกิดมาบ้าง ชะลอไป แล้วก็มาสร้างบารมีร่วมกัน มาพาพวกที่จะพัฒนา พวกที่สร้างสมบุญให้แก่สังคม ไปเรื่อยๆ มันจะเป็นเอง

เพราะฉะนั้น คนที่เลวร้าย เขาก็จะทำแต่ความเลวร้ายอยู่เช่นกัน พูดกันไม่รู้เรื่อง ดีไม่ดี เขาจะเอาคนดี ให้ตายด้วย หากคนดีด้วยกัน ย่อมไม่มีปัญหา ถ้าคนดีกับคนไม่ดี มันย่อมแตกต่างกันแน่นอน ต้องแย้งกัน แน่นอน มันเป็นเรื่อง "บอกสัจธรรม" ตรงๆอยู่แล้ว เข้าใจให้ได้สิ

เมื่อเป็นคนดี ก็ย่อมไปทำร้ายคนร้ายไม่ได้ แต่คนร้ายนั้นทำร้ายคนดีได้ จึงอย่าไปยั่วคนร้าย แม้ต้องจำนน แต่เราก็จะพยายาม ทำดีให้ได้มากเท่าที่เราจะทำสิ่งดีได้ จนกว่าชีวิตจะตาย

อาจารย์ : ตามหลักศาสนาพราหมณ์ ผมเคยอ่านมานานแล้ว เขาบอกว่า คนเราที่ทำ อะไรนี่ มันมีเป็นอนุสัย ใช่ไหมครับ

สมณะโพธิรักษ์ : มีเป็นอนุสัยใช่ ในพุทธก็เรียนรู้อนุสัย

อาจารย์ : ไม่ใช่มาถึงก็เปลี่ยนจากดีเป็นชั่วกันง่ายๆ

สมณะโพธิรักษ์ : นั่นแหละ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า มีบางพวกที่ช่วยไม่ได้ เป็นพวก อเวไนยสัตว์ สอนกัน ไม่ได้ เพราะเขามีอนุสัยชั่วสูงมาก หนามาก ส่วนพวกที่สอนได้ก็สอนกันไป เป็นพวกเวไนยสัตว์ เพราะฉะนั้น กรรมจึงเป็นของของตน เป็นมรดกของตน ตนต้อง เป็นทายาทของกรรม มีการสั่งสม กรรมดี - กรรมชั่วไว้เป็น "สมบัติ" ที่จะเป็นมรดกของตนแท้จริงยิ่งกว่ามรดกแค่ลาภ -ยศ -สรรเสริญ -โลกียสุข และจะติดตามไป ในสังสารวัฏ อันนับไม่ถ้วนกันจริงๆ ผู้มีญาณ จะเชื่อจริง เห็นจริง

อาจารย์ : แล้วเรื่องของวิบากกรมเล่าครับ เช่นผมเคยอ่านกรณีลิงมากินข้าวโพด แล้วเจ้าของก็โกรธลิง ตัดนิ้วมือลิง แล้วปล่อยไป ต่อมาคนนั้น มีลูกออกมา ลูกนิ้วขาดเหมือนกับลิง

สมณะโพธิรักษ์ : คุณจะไปประมวลกรรมแค่นี้นั้นไม่ใช่นะ ลูกนิ้วด้วนนั่น เพราะวิบากส่วนหนึ่ง เป็นส่วน ของลูกเอง ที่ต้องเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้เป็นอจินไตย ไม่ได้เป็นกรรมวิบาก อย่างที่คุณคิดตื้น ๆ กรรมวิบากนี่ เป็นเรื่องอจินไตย ที่ลึกซึ้ง เรื่องที่คุณเล่ามานั้น มันพอเหมาะ พอดี พอสม จึงเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่กรรม ไปตกที่ลูกทีเดียว กรรมที่ทุกข์ เป็นของพ่อแม่ ไม่ใช่ทุกข์ของลูก แต่เพราะมีเหตุปัจจัย ที่ได้เกิดมา กับพ่อ แม่นี้ มันเป็นจังหวะพอดี ที่เกิดมาเช่นนี้

อาจารย์ : ในฐานะชาวบ้านอย่างผมนี่นะครับ จะยึดถือหลักอะไร ที่จะทำให้สบายอก สบายใจ เกี่ยวกับเรื่อง ไม่ชอบมาพากล ในสังคมนี้

สมณะโพธิรักษ์ : เราต้องเรียนสัจธรรมไปตามลำดับ พิสูจน์แล้วจะเห็นจริง เกิดความเชื่อมั่น หากคุณเห็นว่า ศาสนาใดดี ก็เอาศาสนานั้น เรื่องนี้เราต้องเป็นผู้ตัดสินใจเอง ใครบังคับใครไม่ได้ อยู่ที่ปัญญา ของตัวเอง ที่จะมีข้อมูล หรือว่าการตัดสินของตนเอง ที่จะเป็นผู้เลือก เรื่องนี้โทษใครไม่ได้

อาจารย์ : คือหลักที่ผมใช้นี่ ผมอาจจะแปลเพี้ยน ผมว่าอนิจจัง ถ้าทำดี อาจจะไม่ได้ดี อันนี้เป็น อนิจจัง มันไม่เที่ยง แล้วผมก็ไม่ได้สนใจหรอก ปล่อยมันไปเลย

สมณะโพธิรักษ์ : อย่างนั้นเป็นการโมเม ทำดีอาจจะไม่ได้ดี

อาจารย์ : มันไม่แน่

สมณะโพธิรักษ์ : มันไม่ใช่หรอก เอาคำว่า อนิจจังมาตีความว่าไม่แน่ใจ อย่างนี้ไม่ได้ มันผิด
อย่างนี้ ไม่ใช่สัจธรรม สัจธรรมนั้น ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ทำดีมันไม่แน่ มันอาจจะไม่ได้ดี มันอาจจะได้ดี ที่คุณคิดอย่างนี้ มันไม่ใช่หลักอนิจจัง คุณจะไปตีความหลักอนิจจัง อย่างนี้ไม่ได้

อาจารย์ : ผมยังมองไม่ทะลุเลยครับ

สมณะโพธิรักษ์ : อันไหนที่เรายังมองไม่ทะลุ อันที่เรายังเข้าใจไม่ได้ เราก็ยังเข้าใจไม่ได้ แม้แต่ผู้บรรยาย จะพยายาม อธิบายให้เข้าใจ ก็ยังเข้าใจไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่อีกร้อยคน เขาเข้าใจ มีเราไม่เข้าใจอยู่คนเดียว ก็ได้

อาจารย์ : ครับ

สมณะโพธิรักษ์ : ลักษณะอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องเข้าใจไปทั้งหมด ผู้ที่ยังไม่มีภูมิ ที่จะรับได้ มันไม่ได้จริง ๆ เพราะฉะนั้น ส่วนไหนที่เราเข้าใจ เราก็เอาก่อน ศาสนาทุกศาสนา สอนให้ดี เราก็ทำดี ไปตามลำดับ ซึ่งใครจะนับถือศาสนาใดๆ ก็สุดแล้วแต่ภูมิฐาน ฐานะ ให้กระทำไปตามฐาน ของแต่ละคน

อาจารย์ : จะเกี่ยวกับการศึกษาที่ต้องศึกษาตั้งแต่เด็กหรืออย่างไร ถึงจะได้ผล เช่นการสอนเด็กตัวเล็ก ๆ

สมณะโพธิรักษ์ : ความควรก็ควรศึกษาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ความเป็นจริง มิได้เป็นเช่นนั้น จะเป็นเด็ก หรือเ ป็นผู้ใหญ่ วิบากของเขา เขาก็จะต้องไปถูกลากจูง หากเขามีบุญ เขาก็จะมา ในวาระใด วาระหนึ่ง แล้วเขา ก็ไปได้เร็ว ถ้าเขามีบุญมากๆ เขาก็ไปได้เร็ว ไม่จำเป็นต้องมาตั้งแต่เด็ก เด็กบางคน มาตั้งแต่เด็ก ไปจนกระทั่งโต จนกระทั่งตายก็ไม่ได้เท่าไร ก็มี ซึ่งก็เป็นตามความเป็นจริงในตัวเขา เพราะฉะนั้น ในกาลเวลา ที่จะต้องมาก่อนหลังอย่างนี้ เราจะไปพูดว่า เป็นตัวกำหนดว่า ต้องเจริญก่อน เจริญหลัง ทีเดียวไม่ได้ เรื่องนี้เป็นสัจธรรม บางคนมาช้า แต่ไปได้ลิ่วๆ บางคนมาก่อน แต่สุดท้าย ก็ไปไหน ไม่เท่าไหร่เลย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสัจจะที่มีจริงในตัวเขา ว่าเขาจะมีบุญจริงแค่ไหน

อาจารย์ : มันเป็นเรื่องของกรรมเก่า วิบากเก่า

สมณะโพธิรักษ์ : ด้วยอย่างมากเลย รวมทั้งกรรมใหม่ด้วย ความพากเพียร บางคน บุญเก่ามาดี แต่เสร็จแล้ว ความพากเพียร ในปัจจุบันนี้น้อย ชะล่าใจ ประมาท

บางคนบุญเก่าน้อย แต่เขาเพียรดีกว่า อุตสาหะดีกว่า ในปัจจุบันนี้ดี เขาก็ไปได้มากกว่า จึงมีทั้งบุญเก่า - บุญใหม่ควบกัน ข้อสำคัญ ทำให้มันถูกก็แล้วกัน ไม่มีหลักตายตัว

สมมติคน ๒ คน มีความเพียรเท่ากัน มีความอุตสาหะเท่ากัน บุญคนหนึ่งน้อยกว่า บุญอีกคนหนึ่งมากกว่า แน่นอน คนที่มีบุญมากกว่า ก็ไปได้มากกว่า หรือถ้าคนนี้มีเพียรเท่ากันอีก คนที่มีบุญมากกว่า อีกคน มีบุญน้อยกว่า คนมีบุญมากกว่า มันก็มีแรงไปได้ดีกว่าแน่นอน

อีกนัยหนึ่ง สำหรับคนที่มีบุญมากกว่า กับคนที่มีบุญน้อยกว่า แต่ความเพียรของคนที่มีบุญมากกว่านั้น น้อย ความเพียรของคนที่มีบุญน้อยกว่านี่ มีความเพียรมากกว่า คนที่มีบุญน้อยกว่านี่ เขาอาจจะนำหน้า คนที่มีบุญ มากกว่าก็ได้ เมื่อต้นทุนเท่ากัน กรรมใหม่จะพาเพิ่มได้ พาให้เจริญได้แน่นอน

สมณะติกขวีโร : มาฟังเหมือนกับอาจารย์ไม่ค่อยมั่นใจ ในอดีตชาติเท่าไร

สมณะโพธิรักษ์ : เราอย่าไปงมงาย อย่าเพิ่งเชื่อทันทีทันใด เพราะปัจจุบัน เราไม่รู้ด้วยบุญเก่า บุญตั้งแต่อดีต เราจะไม่เชื่อก่อนก็ได้ มาพิสูจน์ปัจจุบัน แล้วค่อยๆ รู้ และจะเห็น จะเข้าใจความจริงว่า เราเพียรกว่า แล้วทำไมได้น้อยกว่า ส่วนอีกคนดูไม่ค่อยเพียรเท่าไร เราเห็นว่าเขากลับดี เขากลับเจริญ เขากลับพัฒนา สิ่งที่ไม่เท่ากันย่อมมีอยู่ เพราะแม้แต่ปรมาณู ในมหาจักรวาลนี้ ยังไม่เท่ากันเลย

อาจารย์ : ทีนี้ สมมติว่า ทุกคนก็จะวิ่งไปหาความดับเย็น หลุดพ้น นิพพาน หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ แล้วเมื่อไร เล่าครับ มีบางคนบอกว่ายังอีกนาน ใจเย็นๆ เขาว่าอย่างนั้น ทำอะไรก็ทำไปก่อน

สมณะโพธิรักษ์ : นั่น ประมาทแล้ว ใจเย็นๆ เป็นเพียงภาษา

อาจารย์ : เพราะยังไงๆ เขาว่าอีกชาติสองชาติ

สมณะโพธิรักษ์ : ถ้าบอกว่าใจเย็นๆ ค่อยๆ ไปเถอะ ฟังเหตุผผลตามนี้ไว้ เรายิ่งเห็นว่า ไม่มีบุญ เรายิ่งเห็นว่า อีกนาน มันควรจะใจเย็นหรือควรจะรีบ

อาจารย์ : มันควรจะเร่ง เพราะระยะเวลามันเหลือสั้น

สมณะโพธิรักษ์ : ก็นั่นน่ะซี จึงต้องรีบ ข้อสำคัญเราจะต้องรู้ด้วยปัญญา รู้ด้วยทิฐิ รู้ด้วยความเข้าใจ ให้ได้ว่า นี่เป็นสิ่งที่ดีแล้วหรือยัง ตรวจดูให้ดีๆ

อาจารย์ : คือการกระทำปกติ ผมก็ดูตัวเอง คือผมไม่อยากได้ทรัพย์สินเงินทองอะไรหรอก แม้ชื่อเสียง ก็ไม่อยากได้ แต่ต้องการสิ่งหนึ่งคือ ต้องการความยอมรับในใจของเขา แค่นั้นเอง

สมณะโพธิรักษ์ : นั่นก็เป็นอัตตาในตัวเรา ที่ทำให้เราเป็นทุกข์

อาจารย์ : คือเขาไม่พูดก็ไม่เป็นไร แต่ขอแค่ในใจให้รู้ว่าแค่เราทำดี แค่นั้นเอง

สมณะโพธิรักษ์ : นั่นแหละ มันเป็นการเรียกร้อง ถ้าเราทำดีแล้ว ใครไม่รู้ก็เป็นดีแล้ว ไม่ต้องเรียกร้อง

อาจารย์ : แต่การกระทำของเรานั้น เราว่าเราดีแล้ว บางทีไขว้เขวครับ เขาไม่ยอมรับ ทำให้เราคิดว่า เราทำนั่น มันดีจริงหรือ หรือว่าเราเอาหัวชนฝา

สมณะโพธิรักษ์ : นั่น เราช่วยไม่ได้ เรารับผิดชอบคนอื่นไม่ได้หรอก คุณจะต้องตรวจสอบ คุณจะต้องดี คุณจะต้องเข้าใจ คุณจะต้องถูก คุณจะต้องรู้ว่า ฉันดีนะ ซึ่งเราจะบังคับความเห็นของคนอื่น ให้มาเข้าใจเรา ไม่ได้ เมื่อเราแน่ใจว่าเราดีแล้ว ตรวจสอบแล้วว่าดีจริง หากเขาไม่เชื่อ ก็เป็นเรื่องของเขา แต่ที่สำคัญ เราต้องตรวจให้แน่ชัด และถ้าเขาไม่เชื่อก็เป็นเรื่องของเขา ที่สำคัญคือ เราต้องตรวจ ให้แน่ชัด และ ถ้าเขาไม่เชื่อ หรือเข้าใจเราไม่ได้ ก็ไม่ต้องดูถูกเขา และให้เราปล่อยวาง และถ้าเราไม่ดี แล้วยัง หลงตนว่าดี นี่ซิซวย

เพราะฉะนั้น คนที่ไม่แสดงความเห็นด้วยกับเรา ก็เป็นเครื่องเตือนใจให้เราย้อนกลับมาดูตัวเอง อย่าถือดี ว่าฉันแน่ ซึ่งถ้าเขาว่าเราไม่ดี เขาจะต้องมีเหตุผล หลักฐานมาตรวจสอบ หากเราไม่ลำเอียงเข้าข้างตน จริงๆ เราก็รู้ว่า เราอาจเผลอไป แม้อาตมาเอง ก็ได้พยายามตรวจสอบอยู่เหมือนกัน ในเรื่องนี้ จึงไม่ควรประมาท

อาจารย์ : ที่พูดถึงการทำดี ทำชั่ว อะไรต่างๆ นี่ มันมีภพ มีชาติ ก็ยอมรับว่ามีภพ มีชาติ แล้วใคร จะจดบันทึก ไว้เล่าครับ

สมณะโพธิรักษ์ : กรรม สัจจะ ไม่มีใครบันทึก นอกจากกรรมสัจจะ บางคนใช้คำว่าพระเจ้า (GOD) ที่จริง คำว่าพระเจ้า ในศาสนาคริสต์ ก็คือตัวกรรม ในศาสนาพุทธนั่นเอง หากเรามีกรรมดีมากๆ กรรมดี ก็เป็นฤทธิ์ เป็นอำนาจ หากเรามีกรรมชั่วเป็นฤทธิ์ ก็เป็นอำนาจชั่วได้เหมือนกัน ฤทธิ์อย่างที่คนโค่นไม่ได้ จริงๆ ด้วยกรรมดีนี่ ดูยาก แต่กรรมชั่วจะดูง่ายกว่า เพราะทำง่ายกว่า ได้ง่ายกว่า เพราะใกล้ๆ กลียุค ส่วนคนดี สิ่งดีเยี่ยมสูงๆ มีน้อย จึงหายาก

อาจารย์ : สวรรค์ นรก นี่มีไหม เมื่อตายไปแล้วนะครับ

สมณะโพธิรักษ์ : นรกก็เรื่อง อยู่ที่ใจของเราในปัจจุบันนี้ นรกไม่มีสมัย ไม่มีกาละ ไม่มีสถานที่ นรกอยู่ที่ปัจจุบัน ของความรู้สึก นอกจากความรู้สึกแล้ว ก็คือสัจจะ เมื่อเรารู้สัจจะจริงแล้ว เราก็จะรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ เช่น เรารู้สึกสุข ที่จริงไม่ใช่สัจจะหรอก มันเป็นความลวง เช่น เราไปปล้นเขา แล้วได้เงินมาก็ดีใจ คุณว่า ควรสุขไหม

อาจารย์ : ไม่ควรหรอกครับ คนอื่นทุกข์

สมณะโพธิรักษ์ : แต่คนที่ปล้นได้เขาว่าเขาสุขนะ เขาดีใจ เพราะฉะนั้นความสุขลวงนี่ ซับซ้อน หรือ อีกตัวอย่าง ที่ละเอียดกว่านี้ เช่น คุณไปได้ตำแห่งหน้าที่มา คุณดีใจไหม

อาจารย์ : ดีใจครับ เป็นลาภ

สมณะโพธิรักษ์ : นั่นก็ยังผิด ดีใจที่ได้ลาภมา โดยสัจจะ จะดีจะชั่วอยู่ที่กรรมเราทำ การที่ไปปล้นมา แล้วดีใจ นึกว่าได้กรรมดี ไปแย่งตำแหน่งหน้าที่ ได้ยศศักดิ์ ได้อำนาจมา นึกว่ากรรมดี แม้เราไม่แย่งก็ตาม ได้ยศได้ศักดิ์มาฟูใจ นี่ก็เป็นเรื่องลึกซึ้งแล้ว เป็นโลกุตรธรรม มาศึกษาระดับสูง และรู้สัจจะจริง จึงจะรู้ว่า อย่างนี้ผิด และ ในระดับ อนัตตา สูงสุดยอดแล้ว แม้แต่เรามีดี ก็อย่าหลงดีว่าเป็นเรา เป็นของเรา

อาจารย์ : เมื่อกี้พ่อท่านบอกว่า คนได้ลาภเป็นคนมีความสุข ก็เป็นสวรรค์ลวง ใช่ไหมครับ

สมณะโพธิรักษ์ : ใช่

อาจารย์ : แล้วมีโทษตรงไหน

สมณะโพธิรักษ์ : มีโทษตรงที่ติดยึดน่ะซิ เพราะมันต้องหาอย่างนี้ ตลอดกาลนาน กี่ชาติก็ไม่รู้ ยิ่งไม่รู้ เรื่องปลดปล่อย ยิ่งไม่รู้นิพพาน แต่ก็ยังไม่สละให้เป็นผู้บริสุทธิ์แท้

อาจารย์ : เกี่ยวกับคนเป็นโรคประสาท ท่านมีความเห็นอย่างไร

สมณะโพธิรักษ์ : โรคประสาทนี่น่าจะเกี่ยวกับระบบประสาท มันไม่น่าจะเกี่ยวกับภพชาติ ระบบประสาทนั้น มันทำให้ทำงานไม่ได้ เรื่องของความติดยึด ไม่ใช่ประสาท ประสาทไม่ได้ทำให้คนหลง แต่เป็นเรื่องของจิต ที่ติดยึด ประสาทที่เป็นอุปกรณ์ ให้แก่จิตวิญญาณ เป็นอำนาจมีส่วน แต่จริงๆ แล้ว ตัวจิตวิญญาณ เป็นตัวสำคัญ เป็นตัวหลัก อุปกรณ์นั้นเป็นตัวรอง แต่ก็มีส่วนร่วม เหมือนกับเรา จะไปทำบาปนี่ มือเราเป็นอุปกรณ์ ไม่ใช่มือเราไปทำบาป แต่จิตวิญญาณ สั่งให้มือทำบาป ประสาท เล็กลงไป แต่เป็นอุปกรณ์ของจิตวิญญาณ จิตวิญญาณเป็นตัวประธานของสิ่งทั้งปวง

อาจารย์ : อย่างนี้ คนที่เป็นโรคประสาท ก็สามารถรักษาโดยทางธรรมได้

สมณะโพธิรักษ์ : บางทีก็รักษาไม่ได้ เพราะประสาทของเขาไม่เอื้ออำนวย แก้ประสาทไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าหนักๆ ถึงขนาดนั้นต้องไปให้โรงพยาบาลประสาท ช่วยประสาทไปก่อน ถ้าประสาทนั้นดีจริงๆ ก็อาจจะรักษา ทางธรรมได้ แต่คนที่มีวิบากถึงขั้นประสาทก็เสียนี่ จะมารักษาทางธรรมนี่ ยากเหมือนกัน เพราะว่า ฐานจิตของเขาต่ำ

เหมือนกับคนไม่มีความสามารถ แล้วจะให้ไปพารวยนี่ยาก จะให้ไปสอนให้รวยนี่ยาก เพราะคนไม่มี ความสามารถ ไม่มีปัญญา ความสามารถก็ไม่ค่อยมี อย่างนี้ยาก คล้ายๆ ว่าอุปกรณ์ของเขา ไม่ค่อยดี ใช้งานประเดี๋ยว ก็ชำรุด มันจะพาไปสู่ที่หมายยาก

สมณะติกขวีโร : แต่ส่วนใหญ่มันจะสอดคล้องกันใช่ไหม เพราะว่าอุปกรณ์นี้มันไม่ดี เพราะว่า วิบากไม่ดี จิตวิญญาณ มันไม่ดี มันก็สมกันไป

สมณะโพธิรักษ์ : ใช่ มันผสมกันไป สมเหมาะสมควรกัน ถึงได้ประสาทขนาดนี้

อาจารย์ : ธรรมะ ที่ผมฟังมานี่ รู้สึกว่ามันลึกซึ้งเกินกว่าที่ผมจะเข้าใจได้

สมณะโพธิรักษ์ : หลายอย่างคุณเข้าใจได้บ้างใช่ไหม

อาจารย์ : ครับ นิดๆ หน่อยๆ ทีนี้ถ้าพ่อท่านช่วยลดลงมาให้ในระดับที่ชาวบ้านธรรมดา ควรทำอย่างไร คือ ยังกินเงินเดือนอยู่ ยังไม่ทิ้งเงินเดือนศูนย์บาทนี่

สมณะโพธิรักษ์ : เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น หลักการให้คุณฟังไปหมดแล้ว โดยความเป็นจริง แล้ว ตามพื้นฐาน พวกนี้ก็มาหัดละลดลงไปเรื่อยๆ เช่น อบายมุข เป็นต้น คือ หลักการ ของศีล สมาธิ ปัญญา หากสามารถปฏิบัติตามนี้ได้ ไม่เป็นทุนนิยม หรือบริโภคนิยม อย่างดีเดือด ลดความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยลงได้ ก็นับว่าดี แม้แต่การกินเนื้อสัตว์ก็ตาม หรืออย่างคนติดบุหรี่ ก็อดเรื่องบุหรี่ซิ

อาจารย์ : ของผมนี่ ไม่มีอบายมุขเลย ผมไม่ติดเหล้า บุหรี่ แต่คนที่ถามนี่ก็คือว่า ยังอยากอยู่ในทางโลก

สมณะโพธิรักษ์ : ไม่มีปัญหาก็ปฏิบัติตามฐานซิ เรื่องผู้หญิง-ผู้ชายนั้น ถ้าเราสามารถเป็นโสดได้ ก็ยิ่งดี เพราะพระพุทธเจ้า ท่านตัสว่า ผู้ตั้งตนเป็นคนโสด ท่านเรียกว่าบัณฑิต คนชั่วฝักใฝ่ในเมถุน คือมีคู่ ย่อมเศร้าหมอง คนปลอดภัยเรื่องคู่ครองมาได้ นับว่าเป็นบุญ

คนอื่นถาม : อยากทราบว่า อาจารย์รอดมาได้อย่างไร

อาจารย์ : คือผมจะแต่งงาน ๓ ครั้งนะครับ

สมณะโพธิรักษ์ : นั่นแหละมองในแง่โลก เรารู้สึกว่า เราน้อยอกน้อยใจ รู้สึกว่าทำไมผู้หญิง เขาไม่เอาเรา แต่โดยสัจจะแล้ว คุณมีบุญ อาตมาก็รอดปากเหยี่ยวปากกามา ไม่ได้แต่งงานถึงอายุ ๓๖ ปี ออกมาบวช อาตมาแต่ก่อน ก็น้อยใจ ทำไมนะ เราไม่ได้แต่งงาน ทำไมเราไม่มีคู่เหมือนเขา ไปจีบเขาดะเรื่อยไป เหมือนกันนะ ทำเป็นไก้แจ้ป้ออะไรต่างๆ นานา แต่ก็พลาด แต่มันก็รอดจนได้บวช หากมาศึกษาธรรมจริงๆ เรามีบุญ บุญช่วยไว้ ไม่เช่นนั้นคงจะซวย มหาซวย ไม่รู้จะถูกผูก ถูกตรึงเอาไว้ที่ไหนก็ไม่รู้


ส่วนปัญหาท้ายๆ พอสรุปได้ว่า อาจารย์เยี้ยง สงสัยเรื่องการกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเรื่องนี้ แสงสูญ เคยนำเสนอ ลงใน ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๒ เล่มที่ ๑ มกราคม-มีนาคม ๒๕๒๔ แล้ว

เนื่องจากเนื้อที่เรามีจำกัด หากท่านผู้อ่านมีความสนใจ จะติดตามอ่านได้ในเรื่อง วิเคราะห์มังสวิรัติ ตามหลัก วิทยาศาสตร์ จากแสงสูญ ฉบับดังกล่าว จะทำให้เข้าใจเรื่อง มังสวิรัติดีขึ้น พบกันใหม่ ฉบับหน้า


ไขปัญหา FILE 2662.ss