เฉยอาริยะ หรือ เฉยปุถุชน

โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ ณ พุทธสถานสันติอโศก


เรายังมีชีวิตอยู่ทุกลมเข้า นี่ก็คือความเกิด เราก็เกิดอยู่ตลอดเวลานะ หายใจเถิด ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าหายใจเข้า ไม่ออก ตาย หายเข้าออกได้น่ะ ก็เรียกว่ามันยังหมุนเวียน เกิดแก่เจ็บตาย เป็นสังสารวัฏ เป็นชีวิต ถ้าหายใจเข้า แล้วไม่ออกตาย หรือว่าหายใจออกแล้วไม่เข้าอีก จบ มันก็ตายอีก เป็นช่วงหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เรายังมีชีวิตที่วนเวียนอยู่ มันก็ซ้ำซาก เหมือนหายใจเข้า เหมือนหายใจออก นั่นอาตมาสรุปให้ฟังสั้นที่สุดแล้ว การหายใจเข้า หายใจออกแล้ว มันก็สะดวก หายใจเข้าหายใจออกเป็นปกติ หายใจเข้า หายใจออก ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อนอะไร นั่นแสดงว่าชีวิตปกติ ชีวิตสมบูรณ์ และชีวิตก็ซ้ำซากอยู่อย่างนั้นแหละ ผู้ที่ซ้ำซากได้สูงสุดแล้ว ก็ปกติสมบูรณ์ ไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนอะไร ผู้นั้นก็สบาย ผู้ที่ซ้ำซาก หมุนเวียนอยู่ได้อย่างนั้น และ สบายแล้ว

ชีวิตจริงๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา ท่านให้รู้ว่าชีวิตกับไม่มีชีวิต ไม่มีชีวิต ท่านก็ว่าไม่มีชีวิต ก็คล้ายกับปรินิพพาน มีชีวิตอยู่ก็อยู่ให้เจริญ เมื่อมันยังมีสังสารวัฏ ก็เป็นสังสารวัฏที่หมุนเวียนอยู่ มีเกิดก็เกิดให้เจริญ เพราะฉะนั้น หายใจเข้าก็ต้องพยายามเป็นผู้ที่หายใจเข้า อย่างมีประโยชน์ อย่างมีความเจริญประโยชน์ตน ประโยชน์ตนจริงๆ และอาตมาก็ย่นย่อให้ฟังแล้ว ประโยชน์จริงๆ มันก็คือประโยชน์ผู้อื่น จะเป็นอันเดียวกัน เมื่อเราละตัวตนได้หมด เพราะฉะนั้น จะมีชีวิตก็คือกลไก เราเหมือนเครื่องกล วิเศษอยู่ตรงที่ว่า เรามีปัญญาเป็นผู้ขับเคลื่อน ปัญญาตัวนี้เป็นปัญญาอันสูงสุด ปัญญาปราศจากตัวตน ปัญญาของตัวญาณ วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นญาณสุดยอดแล้ว ผู้มีวิชชา ๙ แล้ว เป็นวิชชาหรือเป็นญาณ หรือเป็นความรู้ แล้วมีชีวิตอยู่ อย่างรู้ๆ สิ่งแวดล้อม พร้อม เรียกว่า กาโย รู้องค์ประกอบ เรียกว่ากาย กาโย รู้องค์ประชุม ทั้งนอก ประชุมกันอยู่ทั้งนอกและใน และเราก็ได้ฝึกมาแล้ว เป็นผู้รู้จักความรู้สึกของตนเอง จนฆ่ากิเลส ในความรู้สึกของตนเอง คือในเวทนา วิเคราะห์วิจัยจากเวทนา ตั้งแต่เวทนา ๒ เวทนา ๓ เวทนา ๕ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖ เวทนา ๑๐๘

วิจัยวิเคราะห์ จนรู้กิเลสตัณหาอุปาทาน จนหมดอุปาทาน มีชีวิตอยู่อย่างสมาทาน รู้จักจิตใจ โดยเฉพาะจิตใจของตนเอง นี่รู้รอบ รู้แจ้งในจิตใจ หรือ จิตวิญญาณแล้วว่า มันเป็นอย่างนี้ มันไม่ใช่ตัวตนอะไร มันเป็นองค์ประกอบด้วยเหตุปัจจัย มีชีวิตอยู่ ก็มีแต่จะเครื่องกล แล้วก็ใช้ญาณ หรือวิชชาที่วิเศษนั้น สั่งการให้มันอยู่กับสังคมเขา โดยรับใช้ หรือโดยมีประโยชน์คุณค่า ไม่เพื่อตัวเพื่อตนอะไรอีกเลย เป็นพระอาริยเจ้า พระอรหันต์เจ้า รู้จักกาย รู้จักเวทนา รู้จักจิตตนเองดีแล้ว จิตตนเอง มีกิเลสอะไรอย่างไร ก็เข้าใจ จนกระทั่ง อาสวักขยญาณ รู้จักอนุตรจิต จิตเป็นสมาหิตจิต จิตเป็นวิมุตติจิต จิตเป็นจิตอยู่เหนือโลก โลกุตรจิต โลกุตรจิตก็เป็นจิตอนุตรจิต เป็นจิตที่เป็นสมาหิตจิต เป็นจิตที่เป็นวิมุติจิต เป็นจิตที่มั่นคง ตั้งมั่น มั่นคง ชนิดที่ว่า เป็นจิตที่แข็งแรง เป็นจิตที่ทำประโยชน์คุณค่า ตามสถานภาพของพระอรหันต์ แต่ละองค์ๆ แล้วจิตก็วิมุติหลุดพ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆที่ท่านเอง ท่านใช้จิตนี่ ให้ยึดเป็นสมาทาน ให้รู้จักกาละ รู้จักความพอเหมาะพอดี ความควรทำให้พอเหมาะพอดี นิวรณ์นั่นไม่มีแล้ว อายตนะก็ยังเหลืออยู่ ขันธ์ ๕ ยังเหลืออยู่ อายตนะยังเหลืออยู่ ก็รู้จักขันธ์ ๕ สักแต่ว่า ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็ทำหน้าที่ขันธ์ ๕ ของมัน ไม่มีอุปาทานในขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ก็สักว่าอายตนะ ๖ มันสัมผัส มีอายตนะก็มีเหมือนคนทุกๆคน มีอายตนะนอก อายตนะใน มีวิญญาณอยู่ มีผัสสะอยู่ มีเวทนาอยู่ ก็เป็นขันธ์ธรรมดา เป็นเวทนา ก็รู้แล้ว เป็นขันธ์

แม้ที่สุด ท่านจะใช้สัญญาอย่างมาก คือการกำหนดรู้ แล้วก็การกำหนดในปัจจุบัน การกำหนดรู้ไปถึงอดีต เท่าไหร่ก็แล้วแต่ จะมีอนาคตังสญาณ กำหนดรู้ไปในอนาคต ก็เป็นเรื่องของท่านที่จะรู้ มีญาณรู้ ก็ใช้การกำหนดสัญญา นี่แหละเป็นหลัก ความรู้สึกของท่านก็รู้สึกของท่าน มีฐานอุเบกขา เป็นตัวอาศัย อุเบกขาเวทนา และไม่ใช่อุเบกขาเวทนา อย่างเคหสิตอุเบกขาด้วย

เมื่อวานนี้ เห็นท่านสรณีโย อธิบาย เคหสิตอุเบกขา มันยังไม่ครบ เคหสิตอุเบกขานั้น เป็นอุเบกขา คือการวางเฉย ชนิดที่มันเฉยโดยไม่มีญาณ เฉยอย่างปุถุชน เฉยอย่างไม่มีญาณเฉพาะ อย่างไม่มีปัญญา นะ เฉยอย่างไม่รู้ ไม่รู้ตัว ไม่รู้เรื่อง มันเป็นอัตโนมัติ มันเป็นธรรมดาของปุถุชน มันมีวาระที่เฉย อุเบกขาของปุถุชน หรือเคหสิตะ คือมันไม่มีองค์ประกอบของมรรค เป็นอุเบกขาที่มันเฉย โดยไม่มีตัวภาวะของ มีสติสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ มีวิริยสัมโพชฌงค์ หรือว่าไม่มีองค์ประกอบของ โพธิปักขิยธรรม ๔ หลักแรกนะ ไม่มีสติปัฏฐาน ๔ ไม่มีสัมมัปปธาน หรือไม่มีอิทธิบาท ๔ มันปล่อยปละ ละเลยไป

แม้แต่พวกเรานักปฏิบัติธรรม มันก็มีวาระที่จะลืม วาระที่จะทำให้ตัวเองปล่อย มันอุเบกขาเคหสิตะ นั่นแหละ ในช่วงที่ไม่มีโพชฌงค์ ๗ ประกอบร่วมกับเวลามีชีวิตอยู่ธรรมดานี่ ไม่มีโพชฌงค์ ๗ เมื่อไม่มีโพชฌงค์ ๗ มันก็มีการคิด มีการพูด มีการงาน มีการทำอาชีพอะไรอยู่ มันก็มี แต่ว่าสติ มันไม่เป็นสัมมาสติ หรือไม่เป็นสติสัมโพชฌงค์ ความพยายาม มันไม่เป็นสัมมาวายามะ หรือ มันไม่เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ ทิฐิแม้จะเป็นสัมมาทิฐิ แต่มันไม่มีกำลังที่ห้อมล้อม สติไม่เป็นสัมมาสติ วายามะไม่เป็นสัมมาวายามะ หรือสติ คุณสามารถทำให้เป็นสติแห่งการตรัสรู้ได้แล้ว แต่ในขณะนั้น คุณเผลอไป สติของคุณ ไม่ได้ตั้งอยู่ในลักษณะของ สติสัมโพชฌงค์ สติไม่มีการรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่มีการปฏิบัติ ที่มีโพชฌงค์เข้าไปประกอบ หรือไม่มีโพธิปักขิยธรรม ๔ หลัก ๔ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ มันไม่มีพร้อม มันไม่เกิดวงจรจักรกล ของการปฏิบัติธรรม ในระดับสัมมาอริยมรรค คือกลไกที่มันจะขัดเกลา กลไกที่เดินในมรรค

เดินในมรรค หมายความว่า มันมีโพชฌงค์เข้าไปร่วมกับมรรค คิดก็รู้ตัวได้วิจัย พูดก็รู้ตัวได้วิจัย ทำงานทำการ กระทำกายกรรม ทำอะไรอยู่ทั้งหมด กรรมทุกกรรม เราได้วิจัย งานทุกงาน อาชีพทุกอาชีพ ที่เรากำลังทำในปัจจุบันนั้นๆ วิปัสสนานี่ มีเงื่อนไขหลักอันหนึ่ง ก็คือ ในขณะปัจจุบันนั้น เรามีองค์ประกอบของโพชฌงค์ หรือมีองค์ประกอบของโพธิปักขิยธรรม มีเดินบทอยู่ ติดเครื่องอยู่ ไม่ใช่ว่าลืมไป เครื่องดับ หรือว่ามันตกหล่นไป เผลอไปเป็นแบบปุถุชน เป็นโมฆบุรุษชั่วคราว ไม่ได้สังวร ไม่ได้ปหาน ไม่ได้ต่อสู้กิเลส ไม่ได้รู้กิเลส ปล่อยให้กิเลสทำงานชั่วขณะ

ถ้าคุณรู้ตัว มีสติสัมโพชฌงค์ รู้ตัวในขณะนั่นนะ แล้วก็ได้วิจัย มีมุทุภูตธาตุ ทำงานอย่างรู้นอกรู้ใน รู้อายตนะนอก รู้อายนะใน มีวิญญาณ มีผัสสะ จับเวทนา รู้ขยาย รู้องค์ประกอบนอกในขยายรู้ เอามาวิจัยหมดแหละ มันสมควรหรือไม่สมควร กิเลสเกิดอาการ เกิดกิเลสประกอบอยู่ในเวทนานั้น อย่างไร แล้วก็ต่อสู้ แม้คุณกำลังจะต่อสู้ แพ้มัน คุณก็ยังเป็นผู้ที่กำลังเดินโพชฌงค์อยู่ แต่ว่าแพ้ แพ้ได้ กิเลสมันเก่งกว่า ก็รู้ตัวว่า เราเองเราแพ้ ก็ต้องพยายามต่อสู้ พยายามใช้ทั้งสมถภาวนา ทั้งวิปัสสนาภาวนา พยายามจริงๆ คุณได้สู้ เป็นนักรบ ในขณะที่คุณเป็นนักรบอยู่นั่นแหละ คุณกำลังเดินทาง อาจจะถอยหลัง เดินหน้าๆ แต่อยู่ในมรรค กำลังเป็นนักรบต่อสู้เลย

ถ้าคุณยิ่งชนะกิเลส รบชนะ กิเลสลดลง จางคลายได้ เดินหน้า มรรคก็ก้าวหน้าขึ้นไป อยู่ในทางเดินหน้าไปเรื่อยๆ นั่นก็ยิ่งได้ประโยชน์ ได้ผลของเรา ก็คือ เดินมรรคไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงแต่ละรอบๆ หรือแต่ละสถานีคล้ายๆ อย่างนั้น แต่ละรอบๆ จะมีกำลังทดไปเรื่อยๆ ได้กำลังได้ซับซ้อน ถอยหน้า ถอยหลังซับซ้อน จนกระทั่ง เดินหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ไปได้ขีด จะเป็นรอบๆ คือปริมาณของคุณภาพของธรรมะ ปริมาณของเนื้อหาของธรรมะที่เราได้ มันก็เหมือนกันกับนักช่างกล นักคิดช่างกลเขาคิดเครื่องกล มันได้รอบของมันๆ ไปเรื่อยๆ เขาจะรู้ว่า รอบการทดนี้ มันจะทดเป็นรอบๆไป และ มันจะมีพลังเสริม มันก็คือการเสริมความตั้งมั่น ความยั่งยืน ความแข็งแรง มันเป็นธรรมชาติของพลัง ซึ่งทางด้านช่างกล นักวิทยาศาสตร์อะไรพวกนี้ เขาก็จะรู้ดี พวกเราก็คงพอมีความรู้ มันมีรอบของมัน อย่างนั้นจริงๆ เพราะผู้ใดปฏิบัติอยู่ในหลัก โพธิปักขิยธรรม ในหลักโพชฌงค์ ทุกเวลาปฏิบัติมรรคองค์ ๘ บอกแล้วว่า ตัวสำคัญก็คือ เรียนรู้ทิฐิ เรียนรู้ความเข้าใจ เรียนรู้จนกระทั่ง เราเห็นแล้วว่า อย่างนี้แหละ เป็นความเห็นที่ถูกต้อง

เสร็จแล้ว เราก็พากเพียรปฏิบัติเรื่อยไป มีวายามะ มีสติประกอบ เป็นตัวประกอบกัน ปฏิบัติสั่งสมลงไป ตัวปฏิบัติก็อยู่ที่สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะนี่แหละ บทปฏิบัติสั่งสมลงเป็นสัมมาสมาธิ ก็คือรอบที่ได้ไปเรื่อยๆ สั่งสมความตั้งมั่นแข็งแรง เป็นสัมมาสมาธิ รอบที่มันยังไม่เป็นสมาธิ มันก็สั่งสมพลังอินทรีย์ พละๆ ไปเรื่อยๆ จนได้รอบ แต่ละรอบๆๆ มันก็เป็นสมาธิไปเรื่อยๆ สมาธิก็แก่กล้าขึ้นมาเรื่อยๆ เป็น อปฺปนา พฺยปฺปนา เจตโส อภินิโรปนา ไปรอบแล้วรอบเล่า เรื่องแล้วเรื่องเล่า เหตุปัจจัยแล้ว เหตุปัจจัยเล่า ได้สั่งสมไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ในช่วงที่อาตมาว่า ช่วงใดที่เราเผลอ ช่วงที่เผลอดังที่อธิบายไปนั่นแหละ เป็นช่วงที่เราขาดทุน ช่วงที่เราฝึกเพียร ให้มันมีองค์แห่งมรรค ให้มันมีบทแห่งโพชฌงค์ เดินโพชฌงค์แห่งการเดินไปสู่นิพพาน ไปสู่ปรินิพพาน สู่จุดหมายปลายทาง ไปสู่การถอนอาสวะ ไปสู่ความสมบูรณ์ ของความเป็นมนุษย์ โพชฌงค์จึงเป็นตัวเดินแท้เลย ถ้าปฏิบัติถูกต้อง มีองค์ประกอบของโพชฌงค์ ๓ ได้โพชฌงค์ ๔ โพชฌงค์ ๕ โพชฌงค์ ๖ สั่งสมลงเป็นโพชฌงค์ ๗ มันซ้อน ในสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ แล้วลึกเข้าไปในสมาธิสัมโพชฌงค์นั้น สั่งสมลงเป็น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นฐานนิพพาน

ที่อาตมาว่า เป็นฐานนิพพาน อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นอุเบกขา เนกฺขมฺมสิตา อุเปกฺขา จนถึง เนกฺขมฺมสิตํ โสมนสฺสํ คือ คุณปฏิบัติได้ผล ในขณะที่คุณปฏิบัติ มันยังไม่ได้ผล เป็นเนกฺขมฺมสิตํ โทมนสฺสํ ยังสู้อยู่ บางทีมันแพ้ มันก็โทมนัส แต่เนกขัมมะในขณะนั้น คุณกำลังปฏิบัติเนกขัมมะ สู้อยู่เป็นพระโยคาวจร มีญาณปัญญารู้ว่าเราสู้ แพ้กิเลสก็แล้วแต่ ถอยหลังบ้าง เดินหน้าบ้าง สู้ๆ บางทีทุกข์ร้อน บาดเจ็บเลยนี่แน่ะ อธิบายอย่างหนังกำลังภายใน บางทีบาดเจ็บ แต่คุณรู้ตัวว่า ปฏิบัติถูกทางอยู่ เป็นโทมนัส เนกขัมมสิตโทมนัส ไม่ใช่เคหสิตโทมนัส ต้องรู้ความต่าง ลิงคะของเคหสิตโทมนัส นั่นมันไม่รู้เรื่อง มันอยากได้ จะไปบำเรอใจตัวเอง แต่มันไม่ได้สมใจตัวเอง ที่จะบำเรอ และมันก็โทมนัส เคหสิตโทมนัสต่างกันกับ เนกขัมมสิตโทมนัส เคหสิตโสมนัสก็บำเรอพอได้สมใจ ก็เป็นเคหสิตโสมนัสไป ก็ต้องรู้ ก็ต่างกันกับเคหสิตะ ต่างกันกับ เนกขัมมสิตโสมนัส ก็ต่างกัน ต่างกันอย่างไร ต้องรู้อาการในจิตใจ แม้แต่อุเบกขา ที่อาตมาหยิบเอามาอธิบายก่อน

โอ ตอนนั้นเผลอไปเป็นฝ่ายค้าน ตอนที่อุเบกขา นี่คือตัวเผลอตัว ไม่ค่อยรู้ตัว มาปฏิบัติแล้ว มาเป็นนักปฏิบัติธรรมแล้ว จะรู้มันมาเฉยแล้วเหมือนกับว่าง ที่อาตมาว่าว่างนี้แหละ ไม่ใช่ว่างอาริยะ มาถึงขั้น เคหสิตา อุเปกฺขา แล้วนี่ ที่ท่านว่า อาตมายกตัวอย่าง ที่พุทธทาสเอามาอธิบาย ว่าแล้วก็ไปตีขลุมว่า คนเรา มันไม่ได้ทุกข์ตลอดกาล มันไม่ได้มีกิเลสตลอดกาลหรอก เพราะฉะนั้น ตอนที่ไม่มีกิเลส กาลนั่นแหละ คือ นิพพานชั่วคราว ตอนที่ไม่มีกิเลสนั่นแหละ ตอนจิตว่างๆ นั่นแหละ นิพพานชั่วคราว

อาตมาว่านี่แหละ ท่านอธิบายตรงนี้แหละไม่ละเอียดพอ แล้วนี้ลึกไม่พอ เพราะท่านไม่ได้อ่านพวกจิต เจตสิก อย่างอภิธรรมนี่เท่าไหร่ ท่านก็เลยไปเข้าใจเอาว่า ไอ้ช่วงที่ว่างๆนั่นแหละจิตว่าง จิตไม่มีกิเลส จริงมันว่างเหมือนว่าง แต่มันว่างอันธพาล มันว่างเคหสิตอุเบกขา จิตมันวางเฉย จิตมันว่าง

ประเด็นอย่างนี้ ละเอียดลึกซึ้ง ฟังดีๆ เรามีกันทุกคน จะต้องรู้ให้ชัด ถ้าไม่รู้ชัดแล้ว คุณจะกลายไปเป็น อย่างที่ท่านพุทธทาส ที่ไปพูดอย่างนั้น เลยไปเข้าใจอย่างท่านพุทธทาส ตอนนั้น มันว่างอยู่แล้วนี่ หนักเข้า ก็ทำให้จิตว่าง นี่ประเภทแบบฤาษี ลืมๆมันไปเลย ไอ้นี่มันมาใช้คาถา อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ทุกอย่างไม่เที่ยง ใช้ตรรกะ ทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน ว่างสบายแล้ว เป็น synthomatic treatment เป็นการบำบัดอาการเท่านั้น ปวดท้องกินยาแก้ปวดเฉยๆ แต่ไม่สาวไปหาเหตุ ไม่ไล่จับตัวที่เป็นเหตุแท้ๆ นี้ให้ทัน จับได้ไล่ทัน จับตัวนั้นให้ได้ สาวไปหา radical treatment ไปหาต้นเหตุของตัวที่จะบำบัด คือการแก้ปัญหา คือปวดท้องนี้ มันเกิดจากอะไร นี้ตามไปเหตุนี้ อ๋อตะปู เข้าไปในท้อง ๗ ตัว ต้องเอาตะปูออกให้ได้ ปวดท้องเพราะว่า กินอาหารเป็นพิษ ก็แก้อาหารเป็นพิษนั้น ปวดท้องเพราะเป็นแผลในลำไส้ ก็แก้รักษาแผลที่ลำไส้ ปวดท้องเพราะตัวเองนั่นแหละ ยึดมั่นถือมั่น จนกระทั่ง อัตตามากนัก จนเครียดๆ แล้วก็ไปกดดันประสาท ปวดท้องเป็น psychosis เป็นโรคทางจิต ไม่ได้มีอะไรสักหน่อย จิตตัวเอง ทำให้ตัวเองปวดท้อง ก็ไปแก้จิต ทำไมถึงเครียด เครียดเพราะเรื่องอะไร เพราะยึดมั่นถือมั่นมาก เครียดเพราะไม่รู้จักความผ่อนหนักผ่อนเบา ความควรวาง ควรลดนั่นๆนี่ๆ ให้รู้จักขนาดที่ พอเหมาะพอดี อะไรก็แล้วแต่ สาวไปหาเหตุ แล้วแก้ที่ต้นเหตุ

ไม่ใช่ว่า อะไรก็ไม่เที่ยง นั่นเป็นตรรกะ เพราะฉะนั้น จะเห็นเป็นตรรกะเท่านั้น ตัวนั้นแหละเป็นฤาษีกรุง ที่ได้คาถามาใช้เท่านั้น ฤาษีกรุงที่ได้คาถามาใช้ อย่างนี้ไม่มีทางที่จะเป็น อรหันต์หรอก

อนัตตาแบบตรรกศาสตร์มาแก้ อะไรก็ไม่ใช่ตัวตน อะไรก็ไม่เที่ยง เป็นไตรลักษณ์อย่างตรรกศาสตร์ เป็นคาถาแก้ จริง มันแก้ได้ชั่วคราว และมันก็ใช้ได้ด้วย และเราก็ใช้ คนไหนเข้าใจ ก็ต้องใช้บ้าง เท่านั้นแหละ ชั่วคราว แต่อย่านึกว่านี้มันถาวร มันเป็นเรื่องถึงขั้นปรมัตถ์ จับมั่นคั้นตาย ในจิตเจตสิก ไล่เลียง จับเนื้อตัวกิเลสได้ให้ชัด แล้วจนกระทั่งสามารถที่จะทำให้ กิเลสลดจางด้วยปัญญาด้วย ด้วยวิปัสสนาญาณ เป็นญาณที่เห็นเหตุเห็นผล เห็นหลักฐานความจริงเลยว่า เอ๊ย ไปยึดมันเข้า ไปจริงจังกับมันเข้า ไปเห็นมันเป็นตัวฤทธิ์ตัวเดช ให้มันมามีตัวแรงอะไร อยู่ในชีวิตเรา อยู่ในจิตวิญญาณเรา เราโง่ตายเลย เห็นด้วยญาณแล้วว่า โอ๊ ว่ามันไม่จริงจัง มันไม่ใช่ของจริงหรอก ไม่ใช่ตัว ใช่ตนอะไรหรอก กิเลส เห็นมันจนกระทั่งว่า มันไม่มีตัวตน มันไม่มีฤทธิ์เดช มันไม่มีอาการ มันไม่มีแรง ที่จะมาทำปฏิกิริยาในจิตอะไรกับเรา จนมันไม่เกิดอาการอย่างนี้ เพราะเหตุ จะเหตุนอกเหตุใน อะไรก็แล้วแต่ ที่มันกระทบสัมผัสกับเรา เหตุเป็นวัตถุ เหตุเป็นกิริยาของมนุษย์ เหตุเป็นตัวคน เหตุเป็นกระแสอย่างบาง ทางนามธรรม มันมากระทบเรา แล้วเราก็รู้เท่าทัน

แม้กระแสของสังคม กระแสของกริยามนุษย์แต่ละคน กระแสของหลายๆคนรวมกัน กระแสความชอบ ความไม่ชอบเป็นต้น แล้วเราก็เอาสิ่งเหล่านั้น มาเป็นองค์ประกอบ ในการวินิจฉัยเหตุผล วินิจฉัยความพอเหมาะพอสมทุกอย่าง เสร็จแล้ว เราก็ไม่ได้เกิดจิตกิเลส จิตของเราก็ยังวางเฉย เป็นอุเบกขา ชนิดที่มีญาณปัญญาประกอบรู้เลยว่า อุเบกขานี่วางเฉย และแล้วเราก็หยิบเอาทุกอย่าง นี้มา ไม่ปฏิเสธ ไม่ดูถูกดูแคลนอะไร หยิบมาใช้การสังเคราะห์ มาบวกลบคูณหาร มาพิจารณาร่วม เป็นเหตุผล ครบครัน เป็นข้อมูล เหมือนคอมพิวเตอร์ ที่รับข้อมูลทุกอย่าง ด้วยใจไม่ผลักไส ไม่ชัง ไม่ชอบ ข้อมูลเหตุเหล่านั้น ก็มีเหตุผลทุกอย่าง ไม่ลำเอียง ไม่ผลักอันหนึ่ง ไม่ดูดอันหนึ่ง รับมาเป็น บวกลบคูณหารมา มา solve มาร่วมสังเกตการณ์ บวกลบคูณหาร มาร่วมทำเป็นข้อมูล ที่จะให้เราวินิจฉัย มันก็จะได้ค่าที่ไม่ลำเอียง เป็นค่าที่สมบูรณ์ครบครัน มีข้อมูลมากเท่าไรก็ยิ่งดี

จนสุดท้าย เราก็ทำงานโดยจะบวกลบคูณหาร อะไรก็ได้ แต่จิตใจก็อุเบกขา สังขารได้ จิตอุเบกขา คือ ปรุงร่วม ร่วมรู้ ร่วมคิด ร่วมเห็น ร่วมทำ ร่วมวินิจฉัยอะไรทุกอย่าง สังขารทำงานได้เป็นวิสังขาร เป็นการปรุงอย่างวิเศษยิ่ง จิตนี้เป็นตัววิเศษ โดยไม่มีอะไร ไม่มีกิเลส ไม่มีตัวตนของกิเลส เป็นการปรุง อย่างอนัตตา กำหนดรู้ก็ยิ่งเก่ง สัญญาก็ยิ่งเป็นปัญญาที่ยิ่งเก่งๆ เรื่อยๆ การกำหนดรู้ ความจำก็จะดี เอาเหตุผลจากอดีต หยั่งรู้อดีตไปเรื่อยๆไป เป็นความรู้อย่างอดีตไปมากขึ้น เป็นบุพเพนิวาสานุสติญาณ ลึกขึ้น ยิ่งทำก็ยิ่งลึกขึ้นเรื่อยๆ จึงมีอภิญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

พระอรหันต์เจ้า ยังทำงานอยู่เมื่อไหร่ ก็มีอภิญญาเสริม พระโพธิสัตว์เสริม อภิญญาเสริมขึ้นมา โดยสัจจะ ไม่มีใครไปแกล้ง ไม่มีอะไรมายัดเยียด เพราะเราฝึกเราปรือ ทุกอย่างเจริญยิ่งขึ้น เวทนาก็ยิ่งเก่ง อุเบกขาก็แข็งแรง โสมนัสก็โดยสักแต่ว่าโสมนัส ที่เคยอธิบายแล้ว ว่ามันเป็น มุทิตาจิต เป็นการเข้าถึง อนุโมทนา ในระดับบุญชั้นสูง บุญของอริยะ เป็นปัตตานุโมทนามัยของอริยะ เป็นการเข้าถึงความยินดี ปัตตานุโมทนามัย ยินดีที่ได้ดี ที่เห็นความเป็นเทวดาชั้นสูง จิตของเรานี้แหละเจริญ เป็นเทวดาชั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หรือยินดีในบุญเมื่อท่านละกิเลสของท่านหมด ท่านก็มีแต่จะไปขัดเกลา

บุญคือการขัดเกลา ขัดเกลาให้ผู้อื่น ท่านก็ยิ่งรู้ว่า ทำอย่างนี้ช่วยผู้อื่นได้ ขัดเกลารื้อขนสัตว์ได้ ช่วยผู้อื่นเจริญขึ้นได้ ทำให้ผู้อื่นเป็นเทวดาที่แท้จริง เป็นอุบัติเทพขึ้นไปได้ จนเป็นวิสุทธิเทพ ช่วยผู้อื่นเป็นอุบัติเทพ ช่วยผู้อื่นเป็นวิสุทธิเทพขึ้นได้ ก็รู้ว่าดี ยินดีที่เขาได้ดี มุทิตาจิตเกิด หรือเข้าถึงปัตตานุโมทนามัยของพระอริยะ หรือเป็นพระอรหันต์โน่นแหละ จิตก็ยิ่งเจริญ จิตก็เจริญได้ตลอดไป สั่งสมสัพพัญญุตญาณ ก็ได้เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ มีแต่ประโยชน์ท่าน และ มันก็เจริญไปตามภาวะจริงๆ เจริญไปตามที่ท่านยังมีการเกิดอยู่ ยังไม่ยอมปรินิพพาน เพราะฉะนั้น ก็ใช้ขันธ์ ๕ รู้จักขันธ์ ๕ รู้จัก อายตนะดี โพชฌงค์ก็เป็นตัวเดินตัวก้าวไป ถ้าเราก้าวไปสู่ความเป็นอริยะ แค่โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ ก็ก้าวไปถึงอรหันต์

ถ้าคุณเป็นอรหันต์แล้ว คุณก้าวไปสู่สัมมาสัมพุทธะ ก้าวไปอย่างนั้นจริงๆ ก้าวเดินอยู่ โพชฌงค์นี่ ก็ยิ่งเจริญ เป็นตัวก้าวไปสู่ สัมมาสัมพุทธะโน่นแหละ ก็อยู่ในลักษณะมรรคองค์ ๘ ไม่ออกเหนือไปจาก สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ตรงไหน หากเพียรประโยชน์ตน จนเป็นพระอรหันต์ จะมีแต่ประโยชน์ท่าน จนเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็อยู่ที่สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ อยู่กับมนุษยชาติ อยู่กับกรรม ๓ อยู่กับการงาน อยู่กับอาชีพของมนุษย์ มนุษย์ไม่มีอาชีพไม่ได้ อาชีพที่จริงมันก็แปลว่าชีวิต เท่านั้นแหละ ชีพก็คือชีวิต ชีวะ ชีพะ พ.พาน กับ ว.แหวนนี่ ก็ตัวเดียวกัน แทนกัน ชีวะหรือชีพะ ชีพ ชีวะ อาชีวะ ก็คือชีวิต เป็นชีวิตวิเศษ อาตัวนี้นี่ ย้อนไปย้อนมา อุปสรรคตัวนี้นี่ ที่นำหน้าชีวะนี่ เป็นชีวิตที่วิเศษ เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่มีชีวิตยังไม่วิเศษ ทำอะไรอยู่ในโลก เป็นอาชีพอย่างปุถุชน อาชีพมันก็มีแต่บาป มีแต่เวร มีแต่ภัย มีแต่ทุกข์ มีแต่ร้อน ยิ่งไม่รู้เอาหนักๆ โง่หนักๆ โง่ก็คืออวิชชาหนักๆ ก็ยิ่งมีแต่เวรแต่ภัย แต่บาป

เขาสอนว่า ให้รู้จักบุญบ้างเถอะ สั่งสมไปก็ไม่แน่ไม่ชัด จนมาพบศาสนาพุทธ รู้ชัดว่าอย่างนี้แหละ ละล้าง นี่เป็นตัวเวร ตัวหมุนเวียน ตัวที่ไม่รู้จักจบ ถ้าคุณรู้ว่าอย่างนี้ เป็นแย่แล้วนะนี่ การหมุนเวียนที่ต่ำที่สุด คือบายมุข หรือ โลกอบาย โลกนรกอย่างนี้ ฌานเหล่านี้มันลึก

อาตมาเคยเมาเหล้า ถึงขนาดอาเจียน เดินก็นึกว่า เราเดินตรงนะ ตอนเมานี่ นึกว่าเราเดินตรง ทั้งนั้นแหละ ไอ้จะตรงหรือไม่ตรงไม่รู้ละ ขับรถได้ ขนาดขับมอเตอร์ไซค์นี่เมา กินมาด้วยกันกับเพื่อนนี้ สมจินต์ ธรรมทัต นั่งหวดด้วยกันนี่ Hennessy หนึ่งขวด โซดาขวดเดียวๆ ไม่เติมโซดาอีก ตบตูดกัน อย่างธรรมดา มาเน้นน้อย ก็ค่อยๆล้างคอด้วยโซดาHennessy ขวดหนึ่งหมด สองคน สั่งแม่โขงมาอีกครึ่งขวด โซดาขวดเดียว นั่นแหละ ตบตูด คิดดูซิ มันจะไม่เมาทนไหวหรือ สองคนน่ะ Hennessy หนึ่งขวด กับแม่โขงอีกครึ่งขวด ขับมอเตอร์ไซค์อยู่ ตอนนั้น อาตมาก็เอาสมจินต์ ใส่ท้ายรถ ไปส่งบ้านเขา สมจินต์ ฟุบอยู่หลังท้ายรถ ไม่ตกรถก็บุญแล้ว ซ้อนรถไป ก็เอาไปส่งขึ้นบ้าน ต้องหามกันขึ้นบ้าน เมียก็ลงมารับ ก็หามกันขึ้นบ้านให้เขาเสร็จ อาตมาก็ขับมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน เคยเมาขนาดหนักไหนๆ อาตมาก็เคยเมา คนอื่นเขาก็เมาจนไม่รู้ตัว หมดสติ คือคุมสติทำอะไรไม่ได้ อาตมาก็ยังขับมอเตอร์ไซค์ได้ ขับรถยนต์นี่สี่ล้อนะคุณ ขับมอเตอร์ไซค์นี่สองล้อ ตั้งแต่ไหนๆมา

แม้แต่ไปเล่นไสยศาสตร์ ทรงเจ้าเข้าผีอะไรกับเขานี่นะ มันไม่หมดสติ มันยังมีสติ รู้ตัวอยู่ว่า เราคือเรา เราคือเรา เรายังเป็นเราอยู่นะ เรายังเป็นตัวเราอยู่ ยังมีสติเหลือ ยังไม่เคยขาดสติ จนกระทั่ง ดับไม่รู้เรื่อง ไม่เป็นเราเลย ไม่เคยเลย เมาก็ไม่เคยหมดสติ ไปเข้าทรงก็ไม่เคยหมดสติ ไปถามซิ คนเข้าทรงนี่ เขาไม่รู้ตัวหรอก ไม่รู้เรื่องเลย แสดงว่า มันเข้ามาสิงมาสู่หมดเลย ไม่รู้เรื่อง ไอ้เราก็อยากเป็นอย่างนั้น ตอนเข้าทรงนี่ อยากจะหมดไม่รู้เรื่องเลย แต่มันก็ไม่หมด มันก็ยังมีนิดๆ มลังเมลืองลึกๆ ที่ตัวเรา เราก็รู้ตัวเราอยู่ แต่ก็ไปกับมันนะ ไปตามบทบาทของมัน เป็นยังไงไป มีพลังอะไร ที่มันจะไปอย่างโลกๆ ไปกับมันอยู่ ทุกอย่างได้ แต่มันก็ยังรู้ว่ามีเรา นี่มันก็เป็นบารมีอาตมา

อาตมาไม่รู้ แต่ก่อนไม่รู้ แต่ก่อนนี่นึกน้อยใจว่า เอ๊ เราทำไม เราไม่หมดความรู้ตัว ทำไมเราไม่หมดความเป็นเราเลย แต่ตอนนั้น เราไม่ได้เรียนธรรมะ ไม่ได้รู้ความเป็นเรา ความไม่เป็นเราอะไรหรอก ไม่รู้เรื่อง ทำไมเราจึงไม่เหมือนเขา เขาบอกว่า เขาเข้าทรงสนิท เทพเข้าสิงสนิท เทวดาเข้าสิงสนิทหมด ไม่มีเหลือเรา เพราะไม่รู้ตัวเลย เราเอ๊ ทำไมเรายังรู้ตัวว้า นึกว่าเราไม่เก่งอีกนะ เดี๋ยวนี้ถึงรู้ตัวว่า พวกนั้น มันไม่เป็นตัวของตัวเอง มันโมหะ ไอ้เรามันหมดโมหะแล้ว มันก็มีเรา มันก็มีอะไรที่แข็งแรงอยู่อย่างนั้น เหมือนอย่างสิกขมาตุจินดาว่า เราก็น้อยใจนะ ไปนั่งเจโตสมถะกับธรรมกายเขา ทำไมเราไม่เห็นดวงแก้วสักที นั่ง แหม น้อยใจ เราไม่เห็นดวงแก้ว เสร็จแล้วก็มาที่นี่ ก็มาปฏิบัติธรรมไป ก็ดีแล้วล่ะ คุณไม่ถูกเขามอมเมาได้ เขาครอบงำคุณไม่ติด นั่งไม่เห็นดวงแก้วก็ดีแล้ว ถ้าเห็นดวงแก้ว ป่านนี้ไม่ได้มาที่นี่แล้ว ถูกเขาครอบงำไปทางโน้นแล้วนี่ เห็นโสดาในดวงแก้ว เห็นสกิทาในดวงแก้ว เห็นธรรมกาย ป่านนี้เป็นพระอรหันต์ไปแล้วมั้ง เห็นธรรมกายในดวงแก้วเป็นอรหันต์ นี่ธรรมกายของโสดา ธรรมกายของสกิทา ธรรมกายของอนาคา ธรรมกายของอรหันต์ ก็จบแล้วนี่ พอเห็นธรรมกายในอรหันต์ ดวงแก้วมันก็เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว ก็เป็นพระอรหันต์กันไป

ดีแล้วละ ไม่ได้อรหันต์ในดวงแก้ว ไอ้นี่ก็เป็นทางจิตวิญญาณ อาตมาพูดไป ใครเข้าใจก็เข้าใจไปก่อน ใครยังไม่เข้าใจ ก็อย่าเพิ่งเอาไปพูดเล่น อย่าไปคิดเทียบค่าโน่นค่านี่ มันจะกลับไปกลับมา หัวหกก้นขวิดอยู่ ไม่ใช่เรื่องเล่น มันเรื่องลึกซึ้ง พูดเล่าสู่ฟัง

เอาทีนี้กลับมาถึงตัวเมื่อกี้นี้ พูดถึงอุเบกขา ที่ขึ้นต้นว่า อุเบกขาอย่างเคหสิตะนั่นน่ะ มันเป็นอุเบกขาของโลกีย์ ที่มันวางเฉย ชนิดที่คุณต้องรู้เลยว่า ในขณะนั้นเฉย นั่นมันไม่ใช่เฉยธรรมดา มันต่างกันกับเนกขัมมสิตอุเบกขา (เนกฺขมฺมสิตา อุเปกฺขา) วางเฉย ที่ตั้งแต่เป็นโทมนัส เนกขัมมสิตโทมนัส จนกระทั่ง เนกขัมมสิตโสมนัส ปฏิบัติได้แล้วเป็น ปีตีสัมโพชฌงค์ เนกขัมมสิตโสมนัส เป็นปีติสัมโพชฌงค์นั่นเอง ปฏิบัติได้ มีโพชฌงค์ ๓ ปฏิบัติได้ผล ก็เป็นปีติ มันได้ดี ซึ่งอาตมาแปล ปีติตัวนี้ว่า ได้ดี ถ้าใครฟังธรรมะอาตมา มาแต่ไหนๆ คงจำได้ เป็นองค์ฌาน ฌาน ๒ ปีติมันชัด มันได้ดี แต่คุณก็ต้องมีฟูใจ แต่แรกๆ ที่คุณยังไม่เก่ง คุณจะมีฟูใจ มันเป็นอุปกิเลสซ้อน ให้ลดอุปกิเลสนั้น แต่ไม่ใช่ไปลดตัวได้ดี ได้ดีพยายามสั่งสมเข้าไป ให้มันเป็นสมาธิ ให้เป็นความตั้งมั่น ให้ได้ คุณภาพ คุณธรรมอะไรที่ดี คุณต้องเอาตัวดีไว้ วิเคราะห์ซ้อนไปอีก และ อุปกิเลสเป็นอาการอย่างไร ดีใจ ฟูใจ หลงในความดีใจที่ได้ดี แต่ตัวได้ดี คือคุณภาพอย่างไร พลังงานจิต ที่รู้จักเจโตปริยญาณ ในการรู้จักกิเลส รู้จักเข้าใจ วิจัยอาการของจิต สัญญาเป็นอย่างไร สังขารเป็นอย่างไร เวทนาเป็นอย่างไร เจตสิกต่างๆ เป็นอย่างไร อ่านอาการให้ละเอียดลออ อุปกิเลสเป็นอย่างไร วิจัย อุปกิเลสออกมา ฆ่า ไม่ให้มันฟูใจตัวนั้น

ถ้าปีติลดอีก ก็ปัสสัทธิเป็นความสงบระงับ ปีติปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ พอสงบระงับนั้น ก็ลึกซึ้งลงไปอีก แม้แต่จะสงบระงับนั้น มันก็เหมือนอุเบกขานั่นแหละ แต่อุเบกขาขั้นนี้ ยังไม่แข็งแรงหรอก มันเป็นความสงบระงับ เป็นความวางเฉยได้ อย่าไปติดความวางเฉย ขนาดนี้ก่อน ซ้อนลงไปอีก สั่งสมลงไปให้แน่นหนา ให้มั่นคงเป็นสมาธิ ให้มันแข็งแรง นี้เป็นอุเบกขาลำลอง ปัสสัทธิตัวนี้ คุณอ่านอาการให้ได้ ฟูใจกับไม่ฟูใจเป็นอย่างไร วางเฉย แต่เจตสิกทำงานได้ดีนะ เวทนา สัญญา สังขาร ทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ คุณก็จะเก่งเป็นอินทรีย์พละ ที่รู้จักเวทนา รู้จักสัญญา รู้จักใช้สัญญา จนกระทั่ง รู้จักใช้สังขาร วิสังขาร หรือเป็น ปุญญาภิสังขาร ปรุงเป็น ปรุง ขัดเกลาตัวเองก็เก่ง จนขัดเกลาได้ จนกระทั่งเป็น ปัสสัทธิได้

ปัสสัทธิคือ จิตที่เราอาศัยสงบระงับ แต่เป็นธาตุรู้ สงบระงับคืออะไร กิเลสนะระงับ แต่จิตเป็นธาตุรู้ มันรู้ มันยิ่งแคล่วคล่อง สังขารได้เก่งด้วยซ้ำ สัญญาก็เก่ง รู้สึกก็ได้ชัดความจริง ตามความเป็นจริง ไม่มีกิเลส ไม่มีอุปกิเลส เข้าไปสังขาร ร่วมกับเวทนาเลย เพราะเราจะเก่งเวทนา ไปจนถึง ๑๐๘ เวทนา ในเวทนานี้

จะสังเกตได้ว่า สัญญาท่านก็ไม่ได้วิเคราะห์ซอยลึกเข้าไปถึง ๑๐๘ แต่สังขารไม่ต้องไปนับมันหรอก สังขารนั่น มันสังขารอะไรก็ได้ เพราะสังขารมันปรุงแต่งเป็นโลกียะไป ๑๐๘ เลย มันนับไม่ถ้วน สังขารมันปรุง แต่ทีนี้ สังขารอย่างไรล่ะ สังขารอย่างวิสังขาร สังขารอย่างโลกียะ อย่างเคหสิตะ สังขารอย่างโลกุตระ หรือ สังขารอย่างเนกขัมมะ ทั้งสังขารอย่างพระอริยะ สังขารอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น เราก็ปรุงสังขารอย่างโลกุตระ หรือสังขารอย่างเนกขัมมะ นี้คือสังขารอย่างแข็งแรง อย่าง ไม่ปรุงกิเลส เข้ามาปรุง บำเรอตนแล้ว ไม่ให้กิเลสเข้ามาร่วมสังขาร แต่ปรุง เหมือนกับแม่ครัว ปรุงอาหาร นี่เราไม่ได้เอาความชอบของเราไปปรุงเลย เราเอาแต่ว่า เออปรุง ตอนนี้ทำกับข้าว ให้คนนี้ก่อน เรารู้จักปุคคลปโรปรัญญุตา เรารู้จักคนคนนี้ เพราะเขาชอบรสนี้ แต่ทีนี้เราปรุงกับข้าว ให้หลายคนกิน อ๋อ หลายๆคนนี่ เขารสกลางๆ อย่างนี้ เราก็ปรุงรสกลางๆ ไม่ใช่เฉพาะบุคคล แต่ปรุงรสเหล่านั้น เราเองอุเบกขา เราเองไม่ติดรสเหล่านั้นแล้ว กินก็ได้ ไม่กินก็ได้ รสนั้นน่ะ รสที่เราปรุงน่ะ เราปรุงให้คนอื่น เราไม่ได้เป็นเรา เราไม่ได้เอาเราเป็นหลัก เราไม่ได้เอาว่าเราชอบ และก็ไม่เอา ว่าเราชัง ชังก็ไม่มี ชอบก็ไม่มี แต่เราปรุงเพื่อเขา ปรุงเพื่อผู้อื่น อย่างนี้เป็นต้น

เพราะสังขารนี้ เป็นสังขารที่เราใช้เผื่อผู้อื่น ฝึกไปเรื่อยๆ ปรุงเท่านี้ เราเป๋เหมือนกันแฮะ แอบเสพหน่อยๆ ก็ต้องอ่าน เหลือสิ่งที่แซมเสพ ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ คุณจะรู้ตัว นี่เราแอบเสพ มีภาวะอยู่นิดหน่อย คุณจะต้องมีญาณตรวจไปเรื่อยๆ อย่าเผลอไผล อย่าไปหลงว่า ตัวเองกิเลสเกลี้ยงไวนัก อ่านปัสสัทธิ อ่านจิตสงบ หรือ อุเบกขา ช่วงนี้ไปสั่งสมลงเป็นสมาธิๆ จนมีภาคปฏิบัติที่มีปัจจัย มีสัมผัสเป็นปัจจัย มีอายตนะ ๖ มีองค์ประกอบ ยิ่งแข็งแรงๆ โจทย์ยิ่งหนักๆ โจทย์ยิ่งแรง คุณก็มีประโยชน์ต่อผู้อื่นเรื่อยไป สั่งสมความเป็นประโยชน์ สมาหิตจิต ก็จะแข็งแรงเรื่อยๆ สมาธิตัวนี้ สั่งสมขึ้นมาเป็น สมาหิตจิต เรื่อยๆๆ มันก็ซ้อน ในเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ๆๆ ตัวเพ่งๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นเนกขัมมสิตอุเบกขา เป็นอุเบกขาที่วางเฉย ยิ่งเฉยๆยิ่งแข็งแรง ยิ่งตั้งมั่น ยิ่งโลกวิทู ยิ่งรู้เท่าทันโลก ยิ่งกระทบสัมผัส ผุฏฺฐสฺสะ โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺสะ น กมฺปติ ยิ่งสัมผัสกับโลกธรรมที่จัดจ้าน โลกธรรมที่นรกลึก สวรรค์จัดจ้าน เราก็สามารถเป็นพระมาลัย ลงไปโปรดสัตว์ได้ แข็งแรงได้ นรกร้อนเท่าไหร่ ก็สามารถเข้าไปช่วยมนุษย์ ที่ในโลก หรือโลกียะต่ำๆๆ เท่าไหร่ก็ได้ เพราะมีอิทธิวิธี มโนมยิทธิเก่ง อิทธิวิธีเก่ง กิเลสกองเท่าภูเขา ก็เดินทะลุ เหมือนเดินในที่ว่าง อุเบกขา กิเลสของโลกหนาขนาดไหน ก็เดินเหมือนทะลุกำแพง เดินเหมือนทะลุภูเขา ได้เก่ง ภูเขาโตยิ่งขึ้นๆๆ ยิ่งเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ อิทธิเดชยิ่งขึ้น เข้าไปช่วยคนอื่นได้มากขึ้น จึงเป็นผู้รื้อขนสัตว์

นี่อาตมาอธิบาย เพราะอาตมาเป็นโพธิสัตว์ พวกคุณยังไม่ถึงโพธิสัตว์ คุณก็ฟังไว้ เป็นเหตุผลที่ชัดเจน อิทธิวิธี ก็จะเป็นอย่างนั้น ลงไปในแดนโลกียะนั่นเอง หรือนรกจริงๆ นั่นแหละ นรกก็อยู่ในโลกียะนี่แหละ เข้าไปช่วยคนตกนรกได้มากขึ้น รื้อขนสัตว์ได้มากขึ้น เพราะเราแข็งแรง คุณก็สั่งสมตัวคุณได้ โสดา สกิทา อนาคา ซ้อนไป อาตมาก็ไม่ได้พาคุณ ออกหน้าไปทีเดียวหรอก อาตมาก็พาคุณทำ โดยเฉพาะหมู่เรานี่นะ

ทุกวันนี้ เราก็เป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมา และก็พวกเรากันเองนี่แหละ เป็นตัวโจทย์ ให้พวกเรากันเอง ตราบใด ที่คุณไม่เลิกกัดกัน ใช้สำนวนหยาบๆหน่อย กระทบสัมผัสกันแล้ว ก็ถือสากันอยู่ บางคน ยังไม่มองหน้ากัน บางคนนี่ เฮ้ย เหม็นขี้หน้ามัน คุณมาชังกันทำไม พี่น้องกันทั้งนั้น ภราดรภาพ ก็อยู่ที่จิตเรานี่แหละ มีกิเลส เราจะชังจะชอบก็อยู่ที่เรา ประชดกันแดกดันกัน มันก็เป็นบทฝึกหัด ทั้งนั้นแหละ เป็นโจทย์ทั้งนั้นแหละ โจทย์ของการปฏิบัติธรรม นี่มากมาย กระแทกกันอย่างแรงบ้าง กระแทกกันอย่างเบาบ้าง พวกเราไม่เหมือนชาวโลกหยาบๆ เขาหรอก ชังกัน ก็ด่ากันหยาบๆ เหมือนปากตลาด ดีไม่ดี ก็ทุบกัน ข่วนกัน เราไม่หรอก ลีลาเหลือร้ายละ พูดเหน็บ พูดแนม กับปากหอก ประชดกัน บางทีก็สอนกันแหละนะ แล้วแต่ใคร จะมีลีลาสอนอย่างไร บางคนก็สอนอย่างหยาบๆ หยาบของหยาบ อย่างพวกเราด้วยนะ มันก็ไม่เหมือนปากตลาด ว่ากันประชดกัน อย่างโน้นอย่างนี้กันนะ มันยังมีอารมณ์ชังๆ อยู่นี่ มันจะรู้ตัวเลยว่า มันหยาบชนิดนั้น ชนิดนี้ รู้สึกตัวเมื่อไหร่ ไม่เป็นการหลุดหลง โพชฌงค์ไม่หลุดไปจากตัว เมื่อนั้นก็ ถ้าจะสอนเขาก็ชักดีหน่อย เผลอตัวเมื่อไหร่ กิเลสเข้าไปปรุงร่วม ในการที่จะสอนเขา ผีเข้า เพราะฉะนั้น การสอนเขาด้วยท่าทีลีลา จะเป็นกายกรรม วจีกรรม หรือแม้สายหูสายตาก็ตาม มันไม่ค่อยรู้ตัว แต่คนอื่นเห็น ไอ้นี่จะด่าคนนี่ ดูมันด่าอย่างนั้นนะ ไอ้นี่จะว่าคนนี่ พวกเรานี่แหละ ถ้าคนอื่นเข้ามา มีสติดี โอ๊ เสร็จแล้วยอมเขา แล้วพวกเรา ไม่ยอมกัน อย่างนี้เป็นต้น มันก็ซัดกันไป ซัดกันมา

พวกเรานี่แหละ มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี อยู่ร่วมกันสหายนี่ สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีโจทย์ของพวกเรากันเองนี่แหละ จะลึกซึ้งแนบเนียนขึ้น ผู้ดีขึ้น จะไปเอาคนข้างนอกมาเป็นโจทย์ให้เรา ก็มีเหมือนกัน แต่โจทย์อีกอย่างหนึ่ง ซับซ้อนเหมือนกัน บางทีทำให้เราเป็นผู้ดีได้เหมือนกัน ข้างนอก นะ เพราะเขาถือสามาก บางทีนี่ เราต้องทำเป็นผู้ดีมากๆ บางคนถือจัด มาเห็นเรา ตัวเขาเองนั่น มันไม่ได้เป็นผู้ดีเลยนะ เขาถือของเขา เพราะเขาตั้งค่าของเรามาสูง เพราะเราต้องผู้ดีเปรี๊ยะ อย่างนี้เลยนะ เพราะเราจะหยาบนิดหยาบหน่อยนี่ ไม่ได้หรอก โอ้โฮ อโศกนี่มันร้าย ทั้งๆที่บางที ไม่ได้ร้ายแรงอะไรเท่าไหร่เลย คนตั้งค่ามาอย่างนี้ก็มี บางคนมาเจอพวกเรา บางคนก็หยาบจริงๆ มันหยาบซ้อน บางคนมองในเรื่องของวัตถุ ธรรมดาบ้านเขานี่ บ้านเขาสะอาดนะ พอเข้ามาที่นี่ โอ๋ ดูซิ ที่นี่มันรก มันไม่สะอาด ฝุ่นก็มาก แค่ฝุ่นมันก็ ผู้ดี พวกอริยะอะไรฝุ่นก็มี เฮอะ บางทีเขาเข้าส้วมพวกเรา ดูซิ ส้วมมันก็ไม่สะอาดเลย บางทีเขาไม่เข้าด้วยซ้ำ นั่งอยู่ข้างนอกนี่แหละ พวกนี้ปฏิบัติธรรมอย่างไร เปิดน้ำแรง ก็จริงอีก พวกเราบางคนนี่ ฟุ่มเฟือย อีกหน่อยนี่ น้ำจะต้องจำกัดการใช้กันแล้ว ก็พวกเรานี่แหละ จะเป็นโจทย์แก่กันและกันอย่างจริง ให้เรียนรู้ ให้ละเอียดลออเถอะ

พวกเรามีบุญคุณต่อกัน ไม่ได้เป็นพี่น้องกันแต่ชาตินี้หรอกนะ มันเป็นพี่น้องกันก็คือเป็นคู่ต่อสู้กันมา นั่นแหละ ก็มาเป็นพี่น้อง มันซัดกันมา ไม่รู้นานเท่าไหร่แล้ว จนกระทั่ง ซัดกันมาเป็นพี่น้อง นี่แหละ ซัดกัน ซัดกันตามอย่างพี่น้องนี่แหละ จวกกันไป จวกกันมา ซัดกันไป ซัดกันมา เพราะฉะนั้น ตั้งจิตไว้ให้ดี ตั้งจิตไว้ให้ตรง มนสิการไว้ให้ดี ถ้าตั้งจิตไว้ชอบ เราก็จะแข็งแรงต่อกัน พวกกันเองนี่ ทะเลาะกันเอง จนเราจะตกล่วงนี่ เราโง่ตายเลย พวกเรากันเองแท้ๆ พี่น้องกันเองแท้ๆ แล้วก็ชังกัน เหมือนกะครอบครัวข้างนอก มีพี่น้องกันแล้ว ก็ชังกัน ไม่ดูดำดูดีกัน กลายเป็นเงินคนละกระเป๋ากัน กลายเป็นคนละชีวิต กลายไปเป็นคน เหมือนไม่ใช่ญาติกัน ไม่เผาผีกัน อะไรกันนี่ คิดดูซิ มันร้ายแรงไหม ลูกพ่อเดียวแม่เดียวกัน โกรธกัน หรือว่า ลูกไม่เผาผีพ่อแม่ พ่อแม่ไม่เผาผีลูก อะไรนี่ มันคล้ายๆ อย่างนั้น มันเลวร้ายนะ

พวกเราก็เหมือนพี่น้องกัน ไม่ใช่เหมือนน่ะ มันเป็นพี่น้องกันมา แต่อาตมาไม่อยากจะพูดอะไร มันเรื่องอจินไตย ให้มันวุ่นวาย มันมาอยู่ร่วมกันได้อย่างนี้ มันเป็นพี่เป็นน้องแล้ว ระดับโลกุตระ เรามาเป็นเหตุปัจจัย แก่กันและกัน พยายามตั้งใจดีๆ พวกนี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแก่เรานะ เขาอย่างนี้ จัดตั้งใจพิจารณาให้ดีๆนะ เออ อย่างนี้เขาให้ประโยชน์แก่เรา เราก็เหมือนกัน บางทีผีเข้า เราก็ให้ประโยชน์แก่คนอื่น เป็นโจทย์ให้คนอื่น เขาผีเข้าบ้าง เขาก็เป็นโจทย์ให้แก่เรา บางคนไม่ผีเข้าหรอก ตั้งใจเลย เจตนา เรารู้ใจเขา เขาเจตนาจะทำโจทย์ให้แก่เราอย่างนี้ เหมือนอย่างอาตมานี่ คุณรู้หรือว่า อาตมาตั้งใจ จะให้โจทย์แก่คุณอย่างนี้ ทำไมนะ ทีกับเราดุจังเลย ทีกับคนนั้น ทำไมเอาใจจังเลย จริงๆแล้ว คนที่เอาใจด้วยมากๆ นั้นนะ ไม่ดีเท่าไหร่หรอก คนโดนดุมากๆ นั่นน่ะ เหมือนกระทบ แข็งแรงนะ

อาตมานี่ จะหยาบ ก็หยาบขนาดหนึ่ง หยาบเกินนั้น อาตมาหยาบด้วยไม่ได้แล้ว ก็พอ เด็กดื้อก็ต้องหยาบมาก ก็เป็นได้ มันนัยคล้ายๆกัน ซ้อนกัน เด็กดื้อที่สุด ก็ต้องหยาบขนาดนี้ คนที่จิตแข็งแรงสูงส่ง ก็ต้องหยาบ อย่างนี้บ้างด้วยเหมือนกัน นี่มันซ้อน แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไง คุณเป็นคนต่ำ หรือเป็นคนสูง อาตมาหยาบอย่างนี้ อย่างเดียวนี่ คุณเป็นผู้ที่ต้องทดสอบ คนนี้บรรลุแล้วละ แต่หนักกว่านี้ จะสู้ไหวไหม หรือคุณเอง คนหยาบ มันก็คนหนาจริงๆ ก็ต้องหยาบอย่างนี้เหมือนกัน แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไร สมมุติหยาบ เป็นผู้ดีแล้วกันนะ แต่ถ้าสมมุติหยาบเป็นผู้ดีนะ เราจะอ่านชนิดหนึ่ง อ่านจิต ละเอียด ไม่ใช่อ่านจิตต่ำ เพราะฉะนั้น ต้องอ่านทั้งสองด้าน เออเรา เรายังไม่รู้ว่า ท่านแรงกับเรา อย่างนี้ เอ๊ เราหยาบอย่างชนิดดื้อด้าน หรือว่าหยาบชนิดที่ท่านทดสอบ ลองแรง เราจะขึ้นไหม ถ้าจิตของคุณเป็นจริงนะ คุณจะขึ้นไม่ขึ้น อย่างที่จะเป็นอริยะ มันก็จะว่าขึ้นอย่างอริยะ ถ้าจิตของคุณเป็นปุถุชน หรือว่าเป็นอริยะต่ำ ชั้นต่ำ ด้าน ยังดื้อด้าน อย่างนี้ ก็โดนโจทย์แรงๆ อย่างนี้ คุณก็อ่านดู กิเลสเราจะเป็นอย่างไร

เราจะอ่านออก ความจริง ตรงกิเลสของเราจริงๆ จะเป็นลักษณะอย่างไรนี่ ลิงคะ ความแตกต่างของกิเลส ก็จะซับซ้อน เราจะรู้เลย อ๋อ กิเลสของเรา ยังมีพลิ้วพราย หรือกิเลสของเรานี่ โอ้โฮ นี่กิเลสแท้ ยังไม่ได้ล้าง ก็จะรู้ว่า อ้อ นี่ของเรา ในระดับยังไม่ได้ล้าง แต่กิเลสโดนกระแทกแล้วยังไหวๆ ซึ่งมันต่างกันกับ กิเลสอนุสัยอาสวะ กับกิเลสที่มันกระทบแล้วผิวแผ่วไหว กับกิเลสที่มีความหนาของอนุสัยสวะ หรืออนุสัยสวะด้วยซ้ำ ก้อนเบ้อเร่อแน่ะ ปริยุฏฐานกิเลส ไม่ใช่อนุสัยกิเลส โอ้โฮ หน้าตายังเต็มตัวเลย คุณจะมีญาณที่จะอ่าน รู้ว่ามันต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าโดนบ่อยๆนี่นะ มันจะรู้เลย ข้อสำคัญ ก็คือ โดนบ่อยนี่ หลายทีๆ ถ้ากิเลสพลิ้วแผ่วนี่นะ กิเลส.. ที่จริงเราเคยแน่นมาแล้ว แต่มันก็ยังไหว พลิ้วแผ่ว น กัมปติ ไหวได้ สั่งสมมาเรื่อย จนกระทั่ง ผุฏฐัสสะ โลกะ ธัมเมหิ ไหวกับที่เราจะเจอว่า มันไม่ใช่ไหว มันยังไม่ได้ล้าง ก้อนเบ้อเร่อ หรือ เหลือก้อนที่เป็น อนุสัยอาสวะ เพราะฉะนั้น ตัวจิตที่อยู่ กับตัวจิตที่มันเกิดไหม่ ไหวนี่คือ ตัวเกิดใหม่นะ ตัวจิตที่ยังไม่ได้ล้างเกลี้ยงนี่ จิตที่ยังอยู่กับเราก่อน เพราะฉะนั้น ลักษณะมันจะต่างกัน หลายครั้งเข้า คุณจะรู้เองว่า อ๋อ จิตตัวนี้ เป็นจิตตัวไหน จิตตัวนี้ เป็นจิตที่ยังไม่ได้ล้างออก หรือว่าจิตตัวนี้ เป็นภาวะที่ยังไม่แข็งแรง ยังไม่สมาธิที่มั่นคง ยังไม่ใช่ อกุปปาเจโตวิมุติ ยังไม่ใช่ อกุปปาเจโตวิมุติเจตสิก ยังไม่ใช่ จิตตัวนี้ จิตตัวที่วิมุติ อย่างไม่มีหวั่นไหว อีกแล้ว อกุปปาเจโตวิมุติ ยังไม่ใช่จิตตัวนี้ คุณก็จะเข้าไปรู้ละเอียดลออ ในจิต เจตสิก รูป นิพพาน รู้ปรมัตถ์ของคุณเอง จริงๆ เพราะเราพิสูจน์กัน ผู้ดีกระทบ เราก็รู้ว่า ผู้ดีกระทบกระแทกเราด้วยโจทย์ อย่างนี้ คนชั้นต่ำกระทบเรา เราก็จะรู้ว่า คนชั้นต่ำกระทบเรา ลักษณะจะต่างกันอย่างไร ก็จะมีนัยที่ต่างกัน อีกเหมือนกัน

เหมือนกับเราบอกว่า เออพวกเรานี่นะ ถ้าพวกเรามาว่าอย่างนี้ เราถือสา แต่คนข้างนอกว่า ไม่ถือสา นั่นก็นัยจริง เห็นพวกเรา มันเป็นอย่างนี้ไม่ได้ ก็คนอื่นหยาบกว่าเราแท้ๆ คุณยังทนได้ เฉยๆ เพราะคุณวางเขาใช่ไหม แต่นี่คุณยึด เป็นพวกเราเป็นผู้ดี เป็นคนของเรา มันมีนัยน่าขำอันหนึ่ง นี่เป็นครูบาอาจารย์เรา หรือเป็นสมณะแล้ว ก็เป็นสมณะแล้ว น่าจะเป็นอย่างนี้ ทำไมมันไม่ดี เป็นอย่างนี้ มันไม่ได้หรอก มันถือ คุณก็คันหัวใจ ก็ท่านเป็นอย่างนั้นของท่าน ก็ท่านได้แค่นั้น คุณวัดเป็นไหมว่า ท่านสูงกว่าคุณ หรือว่าคุณสูงกว่าท่าน นัยนี้หรือเหตุปัจจัยนี้ ท่านอาจจะต่ำกว่าคุณ แต่นัยอื่น ท่านจะสูงกว่าคุณ คุณละเอียดลอออย่างนั้น พอหรือยัง ยังไม่พอ คุณก็อย่าเพิ่งไปเดา อย่างน้อย สมมุติของท่าน ก็เป็นอย่างนั้น วางไว้ก่อน คุณก็มีญาณ พอรู้ไปเรื่อยๆ หรือ วางไว้ก่อน ก็วางไว้ก่อน ถ้าวางไว้ก่อนเราก็ได้ประโยชน์ เพราะสมมุติของท่าน เป็นอย่างนี้แล้ว เราก็รู้จักฐานะสมมุติ เป็นสัจจะชนิดหนึ่ง เราก็ง่าย แต่คนที่มันไม่รู้จักสัจจะ มันถือนะ มันไม่ต้องห่วง มี คนนั้น จะเป็นประโยชน์ อยู่นั่นแหละ ถือ เป็นสมณะแล้ว ไม่น่าทำอย่างนี้ เขาก็ถืออยู่อย่างนั้นแหละ

ถึงแม้ในนี้หมด ทุกคนไม่ถือ เดี๋ยวหน้าใหม่มา ไม่รู้ตัวมาถืออีกแหละ ไม่รู้ตัว คนมันมีเข้าๆออกๆ เยอะแยะ คุณไม่กลัวว่าจะไม่มีโจทย์ ถ้าเราไม่เป็นโจทย์เสียแล้ว ใครเล่าจะเป็นโจทย์ นั่นแน่ะ เอาเลย คุณจะเป็นถาวรก็เอาเลย ตามแต่ ยึดกันไป อีกกี่ชาติก็ตามใจ มันต้องเรานี่แหละ ขัดเกลาผู้นี้ เอาเลย ได้คู่แล้ว ชิงชนะเลิศกันไปนะกี่ชาติ ผูกยึดกันเอาไว้ ต้องขัดเกลาให้คนนี้ ไม่ขัดเกลาแล้วจะเป็นใคร ถ้าไม่ใช่เรา จองไว้เลย คู่ก็ขัดเกลาไป อีกคู่ต่อสู้กันไป ฮ่าๆ ซัดกันไป กี่ชาติก็เอา

ถ้าคุณไม่วางของคุณก่อน คุณก็ยึดไปซิ แต่ถ้าเราฉลาด ประโยชน์ตน วางก่อนก็ดี อันนี้ท่านนี่ แหม ท่านก็อุตส่าห์ถือสมมุติ ยึดสมมุติ เอาสมมุติเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องใหญ่ให้ได้ โง่เอง ก็แล้วไป วาง เราเป็นฆราวาสนี่ เราก็คือฆราวาส มันต้องฉลาด เป็นสิกขมาตุแล้ว หนอยสิกขมาตุนี่ จะตกนรกหกคะเมนอย่างไร ก็ช่างเถอะ ก็อยากได้สมมุติเป็นสิกขมาตุนี่ เราวางเราก่อน ไม่งั้นใหญ่ สิกขมาตุ ก็ต้องขัดเกลา เรื่องอะไรต้องขัดเกลาคนนี้ ยิ่ง แหม ไม่ต้องกับโฉลกเลย จิตกิเลสนี้น่ะ ต้องเป็นคู่ต่อสู้ ขัดเกลา จองเวรจองกรรม เป็นคู่ต่อสู้ ขัดให้ได้ จะขัด คุณจองเวรกันไว้ อีกหลายชาติ กี่ชาติก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก ถ้าไม่รู้ตัว สิกขมาตุรูปนั้นไม่รู้ตัว สิกขมาตุคนนั้นไม่วาง จนกระทั่ง ล้างของตัวเองได้ จนกระทั่ง รู้ว่าตัวเอง อ้อ คนนี้มาทำให้เราได้ประโยชน์ เราจะรู้ว่าคนนี้ ให้ประโยชน์แก่เรา

สุดท้าย วางแล้ว ก็ขอบคุณ แก้กลับ จนคนนั้นเขาจะต้องรู้ตัว มีญาณรู้ตัว ถ้ามีญาณรู้ตัว ทั้งๆที่ท่านเป็นอรหันต์แล้ว คุณก็ยังไปขัดท่าน คุณก็ขัดฟรีนะซิ คนนั้นก็โง่อยู่ จนกระทั่ง อรหันต์ก็จะต้องช่วยคนนั้น เออ เราเป็นอรหันต์แล้ว เราจะช่วยคนนี้ได้ยังไง จนกระทั่ง คนนั้นรู้ตัว แล้วก็ยอมรับ หมดอัตตามานะ หมดถือดี ยอมรับนับถือ อ๋อ เป็นอรหันต์จริงแล้ว จึงเกิดญาณรู้อรหันต์จริง โน่นแหละ ถึงจะวางกัน พูดไป ก็ฟังดีๆ ไม่ใช่เบานะ นาน แต่จะจองเวร แต่ละคู่ๆๆ นี้นาน เพราะฉะนั้น เราจะเอาประโยชน์ตน มีคู่ต่อสู้เยอะนะ วางบ้าง ที่คัดเลือกมาไว้ในนี้แล้วนะ ข้างนอก ก็วางได้ แต่ในนี้แหละ ก็มีคู่ต่อสู้เสียหมด ก็คุณไม่ทุกข์ จะทนไหวหรือ มันจะมีวิบากเป็นอจินไตย อย่างหนึ่ง

ขนาดอาตมา ถ้าบอกพวกคุณ คุณก็ต้องไปเตรียมตัว เออนี่วางเถอะ คนนี้ๆวางเถอะ ก็ยังมีบางคน ว่าจะวาง แต่มันวางไม่ลงหรอก วิบากมันมีกัน อจินไตยนี่นะ คนนี้เราว่าวางแล้ว ทำไมมันยังถืออยู่นะ คนนี้ ๆ เราว่าจะวางนะ มันก็ยังถือไอ้คนนี้ ที่จริง คุณดูดีๆเถอะ คนนั้นหยาบกว่าคนนี้ด้วยซ้ำไป แต่คุณก็ไม่ถือสาเขา ไอ้คนนี้มันไม่หยาบเท่าไหร่หรอก จริงๆ ไม่หยาบเท่าคนนั้นหรอก แต่มันก็วางไม่ได้ คนนี้น่ะ นั่นแหละ มันผูกยึดกันมา เป็นคู่เวรคู่กรรมกันมา ทั้งรักทั้งชัง ทั้งหวานและขมขื่น ๑๖ ปีแห่งความหลัง มันหลังมาไม่รู้กี่ชาติ ทั้งรักทั้งชัง ทั้งขมทั้งขื่น มันเป็นคู่เวรคู่กรรม คู่รักคู่ชังกันมา กันตั้งเท่าไหร่ อจินไตยมันอีกมากมายเหลือเกิน เอาจบอจินไตยนี้ไว้ ไม่อยากให้คุณคิดมาก ให้รู้ปัจจุบัน ว่าเรายึดติดกันอยู่ จะจองเวรด้วยรัก หรือจองเวรด้วยชัง ก็ตามแต่ กิเลสนี่ ต้องละ ทั้งรอบชัง รอบรัก ทุกประตู


ถอดโดย ยงยุทธ ใจคุณ ๗ พ.ค. ๓๗
ตรวจทาน ๑ สม.ปราณี ๙ มิ.ย. ๓๗
พิมพ์โดย ทองแก้ว ทองแก้ว
ตรวจทาน ๒ โครงงานถอดเท็ปฯ ๒๙ มิ.ย. ๓๗
เข้าปกโดย สมณะพรหมจริโย
เขียนปกโดย พุทธศิลป์