เห็นอนัตตา...เห็นอย่างไร ?
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
ทำวัตรเช้า วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ ณ พุทธสถานปฐมอโศก

อาตมาจะเอานาถกรณวรรค ที่ท่านบอกว่าเป็นที่พึ่ง เอามาให้ มีสูตรหลายๆ สูตรในวรรคนี้ เสนาสนสูตร คือภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ เสพเสนาสนะ ประกอบด้วยองค์ ๕ พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๑๑ ลองฟังความดู

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่ เสวยอยู่ หมายความว่าอาศัยอยู่ แล้วก็เราเสพนี่ ถ้าลึกๆ แล้วก็แปลว่าอาศัย เอาใช้อันนี้ เหมือนกับสูตรก่อนนี้ที่เราเคยเอามาอธิบาย แล้วพระพุทธเจ้า ท่านก็ตรัสไว้ว่าเสวยรูป แต่ไม่เสวยความกำหนัดในรูปมีตา มีอายตนะนอก อายตนะใน มีตา อายตนะนอก มีรูป อายตนะใน เสร็จแล้วก็มีจักขุวิญญาณ แล้วเสวยรูป เสวยรูป เมื่อเรายังไม่ได้ปฏิบัติธรรม เราก็จะเสวย ความกำหนัดในรูปด้วย จนกระทั่งเรียนรู้ดีแล้ว ปฏิบัติลดละจางคลายได้แล้ว หมดความกำหนัดแล้ว จึงเป็นผู้ที่มีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ เสวยรูป ตาเสวยรูป แต่ไม่เสวย ความกำหนัดในรูป อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นคำว่าเสวยหรือคำว่าเสพนี่ หมายความว่าอาศัย มันมีอันนั้นอาศัย เราก็อาศัยอันนั้น แต่ว่า เราจะรู้ ละเอียดลงไปถึงสภาพที่มันซ้อนอยู่ คือ อารมณ์กำหนัด อารมณ์กิเลส เรายังมีรูป นาม ขันธ์ ๕ นี่ เรายังเสวยรูป นาม ขันธ์ ๕ อยู่ทั้งนั้นแหละ อันนี้ก็ใช้คำว่าเสพ ก็เหมือนกัน คำว่าเสพ

ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่ คบอยู่ หรือคบอยู่ มันยังมีอยู่ มันยังต้องคบกัน มันยังเสพกัน มันยังคบ กันอยู่ ซึ่งเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะ มิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อ พระปัญญา ตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ๑ นี่คือ เป็นผู้มีศรัทธา แล้วท่านก็ขยายความถึงคุณลักษณะของพระพุทธเจ้า เพราะเชื่อในพระปัญญา ของพระพุทธเจ้า

ต่อมาก็เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง นี่เป็นอันที่สอง อันที่หนึ่งเป็นผู้มีศรัทธา
อันที่สอง เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร ๑

ต่อมาสาม เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นผู้ไม่อสโถ อมายาวี อันนี้อาตมาจำภาษาบาลีได้ตัวนี้ เป็นผู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยานะ อสโถ อมายาวีนี่ ทำตนให้เปิดเผย ตามความเป็นจริง ในศาสดา หรือในเพื่อน สพรหมจารีย์ที่เป็นวิญญ ๑ เป็นผู้ไม่มีความโอ้อวด ไม่มีมารยา อสโถ อมายาวี ทำตนเป็นผู้เปิดเผยความจริง ในศาสดา ในปัญญาก็ไม่ต้องไปเปิดเผยอะไรกับเขาหรอก บางทีนี่ บางสิ่งบางอย่าง ก็ไม่ควรจะไปเล่าอะไร สู่กันฟังมากมายนัก เรื่องบางทีเรื่องบอกไปแล้ว ก็ยิ่งตกอกตกใจ ยิ่งเละเทะ หรือยิ่งเกิดความเกลียดชัง ลบหลู่อะไรก็ได้ เพราะบางคนนี่ เป็นอนุปสัมบัน เราไปบอกเล่า ความจริงอะไร ให้ฟังก็เกิดความลบหลู่ เกิดความเกลียดชัง หรือเกิดความรังเกียจอะไรขึ้นมากัน ไม่ดูดีนะ

เพราะฉะนั้นก็ต้องดูว่าเป็นวิญญูชน เป็นผู้ที่ควรบอกกล่าวกันได้ เป็นผู้ที่ควรจะปรึกษาหารือ หรือพึ่งพา อาศัย กันได้อะไร อย่างนี้เป็นต้น จะต้องดู

สี่ ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่น มั่งคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑

ข้อนี้นี่ อาตมาพยายามเตือนพวกเรา ย้ำพวกเราเรื่องวิริยะ เรื่องความเพียรพยายามในการที่จะละอกุศลธรรม เราละความเพียรไม่ได้ เราต้องพยายามมีความเพียร มีความตั้งอกตั้งใจในความเพียร เพื่อที่จะละ อกุศลธรรม ทีนี้ถ้าจะละอกุศลธรรมเราก็จะต้องมีองค์ประกอบ ต้องมีสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ โดยเฉพาะกัมมันตะนี่เป็นตัวกลาง เป็นตัวหมดทุกกรรม ไม่ว่าจะเป็นมโน กรรมวจีกรรม กายกรรม พร้อมไปหมด ทั้งอาชีพ อาชีพก็เป็นกรรม เป็นการงาน เป็นกิริยา เป็นสิ่งที่เราจะมีครบพร้อม เพราะฉะนั้น ผู้ใดทำได้ ครบพร้อมเท่าใด มีสิ่งที่เป็นผัสสะเป็นปัจจัย มีองค์ที่รู้ทุกข์ ในทุกขสูตรนี่ เราจะรู้ทุกข์ได้ชัดเจน ต่อเมื่อมีอายตนะ ๖ อายตนะนอก อายตนะใน แล้วก็มีวิญญาณ มีอายตนะ มีวิญญาณ เมื่อมีอายตนะ มีวิญญาณแล้ว เราก็จะมีผัสสะ มีอายตนะพร้อม ๓ รวม ๓ ประการ ตา รูป จักขุวิญญาณ หรือมีหู มีเสียง มีโสตวิญญาณ มีจมูก มีกลิ่น มีฆานวิญญาณ อะไรอย่างนี้เป็นต้น ครบ ๓ เป็นผัสสะ เมื่อเป็นผัสสะแล้ว เราถึงจะเกิดเวทนา เมื่อเวทนาเราก็อ่านเวทนาได้ เป็นองค์ประชุม ถ้าจะว่าไปแล้วก็คือกาโยนั่นเอง กายะ สติปัฏฐาน ๔ มีกายะ มีองค์ประชุมสำคัญ จะต้องมีสภาพ อย่างที่กล่าวแล้ว องค์ประชุมของอายตนะนอก อายตนะในแล้ว ก็มีวิญญาณประกอบ เป็นองค์ประชุม

เมื่อมีองค์ประชุม แล้วก็เกิดผัสสะ เมื่อเป็นผัสสะเราก็รู้ เราจะเกิดเวทนา วิจัยในเวทนาเข้าไปเห็น ตัณหา อุปาทาน เราก็ละลดตัณหา ละลดอุปาทาน ล้างตัณหา ล้างอุปาทาน นี่เป็นเรื่องการปฏิบัติธรรม ในสายปฏิจจสมุปบาท ที่เราจะต้องรู้ เมื่อเราทำถูกตัวถูกตนมัน มันก็จะหมด มันก็จะลดจะละ หรือแม้แต่ใน อวิชชาสูตร ที่บอกว่า นิวรณ์ ๕ เป็นอาหารของอวิชชา

ทุจริต ๓ เป็นอาหารของนิวรณ์ ๕
การไม่สำรวมอินทรีย์ ๖ เป็นอาหารของทุจริต ๓
การไม่มีสติสัมปชัญญะ เป็นอาหารของการไม่สำรวมอินทรีย์ ๖

นี่มันเป็นเหตุ เป็นปัจจัยแก่กันและกัน เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีสติสัมปชัญญะ จึงจะทำให้การสำรวม อินทรีย์ ๖ บริบูรณ์

สำรวมอินทรีย์ ๖ บริบูรณ์ จึงจะเกิดสุจริต ๓ มีสุจริต ๓ จึงจะละนิวรณ์ ๕ เมื่อลดละนิวรณ์ ๕ ได้ จึงจะลด อวิชชา ละอวิชชา หรือเกิดความบริบูรณ์ในสุจริต ๓ เกิดความบริบูรณ์ ในความไม่มี นิวรณ์ ๕ เกิดความบริบูรณ์ ในวิชชา

ก่อนจะถึงอวิชชา ก็เกิดโพชฌงค์ ๗ น่ะ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ นี่แหละ ลดละอวิชาด้วย ถ้าอีกสูตรหนึ่งนะ มีอีกสูตรหนึ่งมีอันนั้นด้วย ถ้าเผื่อว่าเราไม่ลดละอวิชชา อวิชชาก็ไปต่อเป็น ปฏิจจสมุปบาท ยาวไปเลย เกิดอวิชชา เพราะอวิชชาจึงเกิดสังขาร เพราะสังขารจึงเกิดวิญญาณ เพราะวิญญาณ จึงเกิด นามรูป อะไรนี่ ไล่มาเรื่อยเลย

เพราะฉะนั้น เราจะต้องเพียรที่จะเรียนรู้ในทฤษฎี ในหลักการพวกนี้ เพราะฉะนั้นเราปฏิบัติธรรมมรรคองค์ ๘ เราก็จะมี การสติปัฏฐาน หรือว่ามีการปฏิบัติความเพียร ที่จะมีความพยายาม มีความเพียรจะต้องรู้ตัว ให้ได้เสมอๆ ว่าเราได้ปฏิบัติธรรมนะๆ แล้วในปฏิบัติธรรมนั้น ครบองค์มัคคังคะ องค์แห่งมรรค เมื่อเวลา เราปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติอยู่ที่ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ เป็นตัวปฏิบัติ องค์ประกอบที่ห้อมล้อม มีสติ มีความพยายาม แล้วก็มีทิฐิที่เป็นสัมมา ที่เรากำลังทำความเข้าใจ ในเรื่องสัมมาทิฐิ ตลอดเวลา พร้อมกันนั้น สัมมาทิฐิ มันก็จะไปเจริญในภาคปฏิบัติของเราอีก โดยการปฏิบัติมีเหตุปัจจัย ที่เราสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ นี่แหละ เราก็จะได้มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ แล้วก็องค์ของมัคคังคะ องค์ ๖ ของสัมมาทิฐินี่ สัมมาทิฐิ จะสูงขึ้นก็เพราะว่า เราเองเราได้ปฏิบัติ มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ มีสติ สัมมาวายามะ อะไรของเรา ปฏิบัติ โพชฌงค์ อยู่ในนั้นเสร็จ หรือปฏิบัติอยู่ในมรรคองค์ ๘ มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติประกอบ ห้อมล้อม สัมมาทิฐิ คุณจะทิฐิแค่ไหน คุณจะมีความเห็นตรงแค่ไหน มันก็เป็นประธาน เพราะฉะนั้น เราจะเพิ่ม สัมมาทิฐิ ที่จะสูงขึ้นๆ เป็นสัมมาทิฐิสูงขึ้นๆ ได้ก็เพราะว่า เรามีภาคปฏิบัติในมัคคังคะ แล้วมี ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ มิจฉาสังกัปปะเป็นสัมมา ได้ลดมิจฉาวาจาเป็นสัมมา ได้ลดมิจฉากัมมันตะเป็น สัมมากัมมันตะ ได้ลดมิจฉาอาชีวะเป็นสัมมาอาชีวะ สั่งสมสัมมาเรื่อยๆ ก็เกิดเป็นสัมมาทิฐิ จะซ้อนเป็น สภาพหมุนรอบเชิงซ้อน ที่เป็นกลไก ขัดเกลากันสมบูรณ์เป็นสมังคี

เพราะฉะนั้น ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์องค์ ๖ ของสัมมาทิฐินี่ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฐิ มัคคังคะ องค์ ๖ ของสัมมาทิฐินี่ ตัวจักรก็คือ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ กับมัคคังคะ นี่แหละ เป็นตัวปฏิบัติ เป็นตัวจักร ปฏิบัติไปแล้ว มันก็จะสั่งสมลง เป็นปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล ไล่จนกระทั่งเป็น ปัญญาพละ มันจะเกิดความจริงของจริงที่เรา ปัญญาคือ การรู้ความจริง ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่ผลของความคิด ไม่ใช่ความรู้ รู้เพราะคิด รู้เพราะได้รู้ผลของความคิด คือตักกะไม่ใช่ ปัญญานี่คือ รู้ความจริงตามความเป็นจริงที่มันเกิด มันเกิดอะไร มันเป็นอะไร มันได้กระทบ สัมผัสอย่างไร ได้ทำการปฏิบัติลดละได้หรือไม่ได้ ลดละแล้ว มีอารมณ์ที่เป็นลดละ เป็นอย่างไร นั่นคือ ตัวปัญญา ที่จะรู้ความจริงตามความเป็นจริงนั้นๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะต้องมีเหตุการณ์จริง จะต้อง มีเรื่องจริงนี่แหละ เป็นเรื่องที่จะยืนหยัด ยืนยันแท้ๆ ถ้าผู้ใดมีประสบการณ์น้อย มีการปฏิบัติ ภาคปฏิบัติน้อย มัคคังคะ ไม่สมบูรณ์ด้วยสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ผู้นั้นก็ช้า เอาแต่คิด เอาแต่ชอบคิด ประสบกับ อะไร ก็ได้แค่อยู่กับอะไร เล็กๆ น้อยๆ พบกับคนนั้นคนนี้ เพียงแต่พูด ไม่ได้ลงมือทำ ไม่ได้มีการงาน ไม่ได้มี อิริยาบถ ไม่ได้มีวัตถุแวดล้อมอะไรมากมายนัก สัมผัสสัมพันธ์ไม่ค่อยคล่อง ไม่ค่อย แววไว ไม่มีบทฝึกหัด ที่มาก มีบทฝึกหัดน้อย มันก็ช้า ตามจริงมีผลตามจริง ก็ได้ไปเรื่อยๆ ผู้ใดอินทรีย์พละ อ่อน ก็จะไม่ค่อย กล้าหาญ ไม่ค่อยแกล้วกล้า จะไม่ค่อยจะได้อะไรมากนัก ก็ค่อยๆ เดินทางไป แต่ก็ควร พากเพียร พากเพียรให้เราเอง อาจหาญ แกล้วกล้า เข้าสู่บริษัทแคบๆ อยู่กับคนแคบๆ อยู่กับแวดวงน้อยๆ เราก็เข้าสู่ แวดวงมากๆ หน่อย แวดวงไหนมีเสือสิงห์กระทิงแรดมากๆ ยิ่งดี สู้ไหวไหมล่ะ สู้ไหวก็เข้าเลย แวดวงนี้ เขาได้ข่าวว่า สิงห์เยอะ กระทิงเยอะ เข้าสู่แวดวงนี้หน่อย เราก็จะแกล้วกล้า อาจหาญขึ้น นี่เป็นเรื่องสัจจะ ความจริงนะ

สุดท้ายก็คงพอเดาได้นะว่า องค์ ๕ ที่ว่านี้ ๑. มีศรัทธา เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีอาพาธ ผู้มีอาพาธน้อย เป็นผู้แข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่ออดๆ แอดๆ นั่นแหละ เป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีอาพาธน้อย ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นผู้ที่ไม่เที่ยวได้เบ่งได้ข่ม ได้ยกตัวยกตน หรือว่าเป็นผู้ที่มีมารยา คำว่าไม่มีมารยานี่ มันแหม เสียดแทงจริงๆ เยอะโดยเฉพาะสายเฉโก สายฉลาด ผู้ที่ใช้ชอบความฉลาด ชอบความเฉลียวฉลาด ชอบปัญญานี่ พวกนี้มารยาเยอะ แล้วไม่ค่อยรู้ตัวนะ ไม่ค่อยรู้ตัวหรอก พวกนี้แก้ เป็นพวกฤาษีจัญไร เป็นพวกแก้ตัว ให้ตัวเป็นไฟ ฟังอะไรก็แย้ง ฟังอะไรก็ย้อน ฟังอะไรก็มันแววไว มันดูเหมือนฉลาดไปหมด มันรู้เหลี่ยม รู้มุมรู้รอบ รู้อะไรต่ออะไรจึงช้า พวกนี้จึงช้า พวกสายปัญญานี่ช้า สารีบุตรนี่ ช้ากว่า พระโมคคัลลา ครึ่งต่อครึ่ง เวลาตรัสรู้ จะตรัสรู้นี่ โมคคัลลานะตรัสรู้ไปแล้ว ๗ วัน ๘ วัน เสร็จไปแล้ว พระสารีบุตร ๑๕ วัน

เพราะฉะนั้น อันนี้อยากจะให้เราเรียนรู้ โดยเฉพาะสายที่ชอบความฉลาด พยายามซื่อสัตย์ ซื่อตรง พยายาม ที่จะมองอะไร อย่าให้มันวกวน อย่าให้มันซับซ้อน อย่าให้มันเป็นภัยแก่ตัว ไม่เช่นนั้นเราก็ช้า ดังที่กล่าวแล้ว น่ะ เพราะว่ามันชิน มันเลี่ยงให้แก่ตัวเอง กิเลสมันไม่บอกตัวเรานะ จอมเลี่ยง จอบหลบ จอมแก้ตัว ยังชอบ จัญไร มันไม่บอกเราหรอก มันเองมันก็นึกว่า เราเองเก่ง เราเองฉลาด เราเองจริงแล้วนี่ เราก็ว่า เราจริงใจ ละนะ แต่ที่แท้มันแก้ให้ตัวเอง เลี่ยงให้ตัวเอง มันไม่เอาจริง จริงๆ แล้วเราควรจะต้องรู้ตัวว่า เราปฏิบัตินี่ ต้องตั้งตนอยู่บนความลำบาก จะต้องหนักเอาเบาสู้ จะต้องฝืน การแก้กลับนี่ มันต้องฝืน มันต้องสู้ เพราะฉะนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้านี่ ไม่รู้กี่สูตร ที่อาตมาประมวลมาให้ฟังแล้ว จะเห็นได้ว่า ท่านไม่ได้ ให้เหยาะๆ แหยะๆ ท่านให้อุตสาหวิริยะ บากบั่น แม้ในนี้ก็บอกอยู่เลย ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง ไม่ใช่เหยาะๆ แหยะๆ มีความบากบั่น มั่นคง ความหมายของคำว่า มีความบากบั่นมั่นคงนี่ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ จะต้องบากบั่น อาศัยความบากบั่น ให้แน่วแน่ ให้แข็งแรง มั่นคง ให้อยู่เสมอ อย่าล้ม บากบั่นได้ทีหนึ่งล้ม ๕ ที บากบั่นที ล้มอีก ๘ ที มันจะไปได้เรื่องหรือ มันเหยาะๆ แหยะๆ มันไม่เป็นไปตามจริง มันจะช้านะ ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย อย่างนี้เป็นต้น

องค์ที่ ๕ นอกจากเป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีอาพาธน้อย เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ปรารภความเพียร แล้วก็ เป็นผู้มีปัญญา สุดท้ายข้อที่ ๕ เป็นผู้มีปัญญาคือ ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิด และความดับ เป็นอริยะ เห็นความเกิดความดับที่เป็นอริยะนี่ ก็พูดกันมาเสมอ ความเกิดความดับอันนี้ ไม่ใช่เรื่องของ การเป็น การตายของร่างกาย แล้วความเกิดดับ ที่ใช้ตรรกศาสตร์ ที่เขาพูดกันอยู่มากมายก็คือ เราจะเห็น ความเกิดดับ ของจิตวิญญาณ ความเกิดดับของเวทนา ความเกิดดับของสัญญา ความเกิดดับของสังขาร ความเกิดดับของวิญญาณ ว่าทุกอย่าง มันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความเกิดดับแล้ว เราก็เห็น ไตรลักษณ์ อธิบายอย่างนี้ มันก็อธิบายได้ เป็นเบื้องต้น เป็นเบื้องพื้นฐาน เราเห็น ความเกิดดับสิ่งเหล่านี้ เราก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราของเรา ไอ้เห็นความเกิดดับของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็จริง ในเบื้องต้น เห็นแล้วเราก็จะบอกว่า เราอย่ายึดมั่นถือมั่น พอเราไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่เป็นคาถา ทำให้เราปล่อย วาง ได้เหมือนกัน การปล่อยวางอันนี้ เป็นแต่เพียง symptomatic treatment เป็นการบำบัดด้วยการบรรเทา เพราะตรรก เป็นตรรก เป็นคาถา เป็นเหตุผล เมื่อเป็นเหตุผล มันก็ทำให้เราจางคลาย ทำให้เราเบาใจได้บ้าง ปล่อยได้ วางได้เป็นเบื้องต้น ทำเบื้องต้นนี้แล้ว เราอย่าไปคิดว่า เราจะรู้จักจิต เจตสิก อะไรต่างๆ นานา เพียงแค่ รู้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น เราต้องเรียนเวทนาในเวทนา สัญญาในสัญญา สังขารในสังขาร วิญญาณในวิญญาณ เวทนา เวทนาอย่างไร เราก็เรียนเวทนาถึง ๑๐๘ โน่นแหละ สัญญาเราก็ต้องรู้สัญญา ไปจนกระทั่งถึง เนวสัญญานาสัญญายตสัญญา โน่นแหละ แล้วก็ดับทีนี้

เพราะฉะนั้น ถ้าเรียนรู้เวทนาที่ควรดับคืออะไร แล้วสุดท้ายเราก็เสวยเวทนา มีเวทนาตัวรู้ มันก็รู้ เวทนา มันรู้สึก รู้สึกเขียว รู้สึกแดง รู้สึกเสียงดัง เสียงไม่ดัง เสียงอย่างนั้นอย่างนี้อะไร เรารู้ตามโลก แต่เราไม่มี ความกำหนัด ไม่มีความโกรธเข้าไปผสมผสาน แล้วมันก็ใช้ความจริงอาศัย พระอรหันต์บรรลุแล้ว เป็นพระอรหันต์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ท่านมีขันธ์ ๕ แต่ท่านไม่มีอุปาทานในขันธ์ ๕ ไม่ได้ติดยึด ไม่มีตัณหาในอะไรต่างๆ นานา ที่เกิดเพราะขันธ์ ๕ มันไม่มีตัณหาที่เกิดเพราะขันธ์ ๕ จึงเรียกว่า ดับเวทนาในเวทนา ดับสัญญาในสัญญา ดับสังขารในสังขาร คนที่ยังมีรูปนามขันธ์ ๕ อยู่ ก็คือมีสังขาร ร่างกาย ทั้งปวงหมด มีสังขารที่พร้อมไปทั้งขันธ์ ๕ แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปทะลวงขันธ์ ๕ ต้องไปดับ สัญญา เป็นอสัญญีสัตว์ ไม่ใช่ นี่แหละเป็นแนวลึก เป็นความลึกที่ไม่รู้จักจังหวะ ความซ้อนที่ลึกซึ้ง สูงสุด ขึ้นไป พิจารณาความเกิดดับ ท่านก็อธิบายเป็นเบื้องต้นไว้ว่า เราพิจารณาแล้วก็เห็นเป็นไตรลักษณ์

เพราะฉะนั้น ไตรลักษณ์นี่ที่ตัวปรมัตถ์ที่แท้ ที่อาตมาอธิบายแล้วเป็นสัมมาทิฐิ ไม่ใช่มิจฉาทิฐิ แล้วก็เป็น การลด สักกายทิฐิ ไม่ใช่เหลือสักกายะ จนกระทั่ง ลดอัตตานุทิฐิ เป็นอนัตตา ไม่ใช่แค่ตรรกศาสตร์ รู้ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วก็ไม่มีตัวตน ที่ไม่มีตัวตน นั่นก็คือ เราก็เข้าใจ อะไรๆ มันก็ไม่ สุดท้ายเราเดาได้นี่ อะไรมันก็ ไม่เป็นตัวตนหรอก มันเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะต้องจับมั่นคั้นตาย ตัวไม่มีตัวตน คือตัวอะไรแน่ ที่จะจัดการ ก็คือกิเลส ตัณหา อุปาทาน จับตัวนั้นให้มั่น จนกระทั่งเห็นเลยทีนี้ เห็นความจริง ตามความเป็นจริง ของอนิจจัง ที่อาตมาอธิบายมาแล้วๆ เล่าๆ ซ้ำๆ ซากๆ ว่ามันไม่เที่ยง เพราะเรามี วิราคานุปัสสี มีวิราคานุปัสสี ตามเห็นความจางคลาย อนิจจานุปัสสี ตามเห็นความไม่เที่ยง ที่มีทิศทาง เข้ามรรค เพราะเราเกิดความจางคลาย ทำให้จางคลายได้ เพราะมันปุถุ เพราะมันหนาขึ้น เห็นทิศทาง เห็นความจริง ของกิเลสชัดเจนเลยว่า เป็นสภาวะที่รองรับด้วยญาณ ไม่ใช่ว่า เราแค่รู้ด้วยทิฐิ หรือรู้ด้วย ความเห็น รู้ด้วยความเข้าใจ รู้ด้วยตรรกศาสตร์ รู้ด้วยเหตุผล เป็นความฉลาด แต่แค่เหตุผล ไม่ใช่ เห็นความจริงเลย ตามเห็น วิราคานุปัสสี แปลว่าตามเห็นนะ อนุปัสสี นี่แปลว่าตามเห็น ตามเห็นอนิจจัง ที่มีทิศทาง ทิศทางไหน วิราคะ นิโรธ ปฏินิสสัคคะ เห็นอนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี ตามเห็นความจริง ที่มันจางคลาย ตามเห็นความจริงที่ดับ ดับแล้วนะ ดับจริงๆ แล้ว ตามเห็นความดับนะ ไม่ใช่คิดที่ว่าเออ ทุกอย่างก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่จริงๆ เราก็ยังไม่ดับ ความจริง เราก็ยัง มีตัวตน ร่างกายก็มี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็มี มันก็ยังไม่ดับจริง เสร็จแล้ว เราก็ไป หลงใหลว่า อะไรมันก็ไม่เที่ยง อะไรมันก็ดับ จริง! เป็นเบื้องต้น ไม่ใช่เบื้องปลาย

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมที่เอาแค่ คนที่เข้าใจยังไม่ลึก แล้วก็ไม่อยากจะปฏิบัตินี่ก็จบ เพราะท่านบอก แล้วนี่ เรียนรู้ไตรลักษณ์ ก็รู้ไตรลักษณ์แล้วนี่ พวกคุณรู้ไหมไตรลักษณ์ทั้งหลายพวกนี้ รู้ไหม เข้าใจไหม รู้ทุกคน มันก็ควรจะบรรลุทุกคนแล้ว ควรจะเป็นพระอรหันต์ได้ทุกคนแล้ว ไม่รู้ได้ยังไงไตรลักษณ์ ความหมาย ของอะไร มันก็ไม่เที่ยงหรอก อะไรมันก็เป็นทุกข์ อะไรมันก็ไม่ใช่ตัวตน มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้ที่จริง อะไรก็รู้อยู่ ทุกคน แต่ทำให้ไม่มีตัวตน อย่างเห็นอยู่หลัดๆ เดี๋ยวนี้เลยว่า อนัตตาปรากฏ อนัตตาปรากฏ

เพราะฉะนั้น อนัตตาของอาตมา จึงไม่เหมือนของท่านพุทธทาส อาตมายังไม่เคยได้ยินท่านพุทธทาส อธิบาย อย่างที่อาตมาอธิบาย ท่านอธิบายแต่แค่เบื้องต้น ซึ่งอาตมาก็รู้ว่า ท่านพุทธทาสมาอธิบายเบื้องต้น ของปรมัตถ์ นี่ก็พูดให้ฟัง ... ท่านเป็นหลวงปู่ เบื้องต้น เป็นปรมัตถ์ ท่านสอนปรมัตถ์ ท่านพุทธทาส ท่านสอนปรมัตถ์ ท่านสอนโลกุตรธรรม ท่านก็ใช้อย่างนี้มาตลอด ตถตา ของท่าน ก็อธิบาย อย่างเดียวกัน ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา ท่านก็อธิบายอย่างเดียวกัน คือประเภท ยังไม่ได้จับปรมัตถ์ ที่แท้ ยังไม่ได้จับ จิตในจิต เจตสิกในเจตสิก ยังไม่ได้จับเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่แท้ ซึ่งจะต้องอ่าน อาการ ลิงคะ นิมิต

เพราะฉะนั้น ท่านจึงปฏิเสธพระอภิธรรมน่ะ ปฏิเสธพระอภิธรรม พระอภิธรรมนี่จะชี้บอก มีภาษาบอก ลักษณะของจิต เจตสิก พวกนี้หมดเลย จิตกี่ดวง เจตสิกกี่ดวง อะไรพวกนี้ อภิธรรมท่านจะแจกตัวหมดเลย ท่านพุทธทาสนี่ ท่านยังจับไม่ติด ท่านยังไม่ถึงขั้นนั้น ท่านก็เลยปฏิเสธพระอภิธรรมทิ้งหมดเลย เป็นพวก เม็ดมะขาม ท่านว่าพระอภิธรรมนี่คือ พวกเม็ดมะขาม ซึ่งมันก็น่าเห็นใจท่าน คือท่านเองท่าน มันต้องสำคัญ มันเรื่องยาก มันเรื่องละเอียดลออ มันเรื่องของสภาวะที่ลึกซึ้ง ซึ่งต้องเรียนรู้จริง มันปฏิเสธไม่ได้หรอก อีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องจริงของสภาวจิต เจตสิกต่างๆ จริงๆ เราพิจารณาจิต เจตสิก ธรรมในธรรม เรื่องพวกนี้ เป็นเรื่องรายละเอียด อย่างที่อาตมาพูดให้ฟังนี่ แม้แต่เวทนา สัญญา สังขารนี่ ก็เป็นเจตสิก ที่จะต้องเรียนรู้ แล้วก็ต้องเจาะ เวทนาในเวทนา สัญญาในสัญญา สังขารในสังขาร อย่างละเอียดลออนะ

เพราะฉะนั้น เราจะมีปัญญารู้ความเกิด ความดับเป็นอริยะ ดังที่กล่าวนี้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ไม่รู้จริง ไม่เห็นจริง แล้วคุณ จะไม่มั่นใจจริง ไม่มั่นใจจริง คุณต้องรู้เห็นของจริง ของตัวเราจริงๆ คุณจะมั่นใจ คุณจะรู้เลย ใครจะพูดยังไง ไม่มีปัญหา และสิ่งนี้เราก็ได้พิสูจน์แล้ว เรากระทบ เราสัมผัส เรายืนยันชัดเจนเลย มันมา โดยรู้ตัว หรือมาโดยไม่รู้ตัว เราก็รู้ มาโดยเราตั้งสติสู้นี่นะ ถ้าเรายังมีกิเลสนี่นะ เราก็พอสู้ได้นะ แม้ยังมีกิเลส เหลือนะ เราตั้งใจสู้นี่ พอสู้ได้ แต่ถ้าเผื่อว่า เราไม่ตั้งใจสู้ เผลอๆ นะ ยังมีกิเลสอยู่นะ เสร็จ เผลอๆ ไป เอ้า ไปแล้วเรา ลองทบทวนดูสิ อ่านดู โอ๋ย! กิเลสเรามันไปแล้ว สู้ไม่ได้ แต่ถ้าเผื่อว่า คุณหมดกิเลส กิเลสของคุณ หมดแล้ว แม้คุณจะไม่รู้ตัว แม้แต่คุณจะไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้ตั้งสติสัมปชัญญะ เพื่อที่จะรับรู้ต่อผัสสะ พวกนี้ เวลาผัสสะไม่รู้ตัว กิเลสหมดแล้ว มันก็ไม่ปรุงอะไร มันก็ผ่านไป มันก็ไม่พ่ายแพ้อะไร มันก็ไม่มีกิเลสอะไรเกิด ไม่ปรุงอะไร ตามกิเลส ก็เฉยๆ วางๆ คุณไประลึกทบทวนดู มันก็ยังจะพอมีสัญญา ที่จะรู้ว่าเราได้ผ่านอะไร แล้วมัน ก็ไม่เกิดอะไร ไม่ได้มีกิเลส ที่จะทำให้เราต้องเป็นทุกข์ ไปมีกิเลสเข้าไปปรากฏตัวเล่นงาน หรือว่า สังขาร อย่างโน้น อย่างนี้ มันก็ไม่มี มันก็จะเห็นจริงว่าอันนี้ เราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ก็เป็นอัตโนมัติ ไม่มีตัวตน ของกิเลสจริง มันก็ไม่มีอะไรไปปรุงไปสร้าง มันก็ว่างเป็นธรรมดา ตถตา ตัวสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่ตถตาแค่ ตรรกศาสตร์อะไรๆ เออ มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ กิเลสมันเกิด มันก็เป็น ทุกอย่างมันก็เป็นอย่างนั้นเองน่ะสิ กิเลสมันเกิด มันก็เป็นอย่างนั้นเอง ถ้าจะแปลไปแล้ว ตถตา มันเป็นเช่นนั้นเองแหละ มันเป็นเช่นนั้นเอง แหละ โดยที่เรียกว่าแล้วปล่อยให้มันเป็น มันจะเป็นเช่นใด ก็เพราะว่าเรา ตัวเราทำมันสมบูรณ์ เราละ กิเลสมันหมด มันก็เป็นเช่นนี้เองได้ ถ้าเราละกิเลสยังไม่หมด มันก็เป็นเช่นนั้นเอง อย่างที่มีกิเลส อยู่นั่นแหละ หรือคุณยังไม่เก่ง ใช่มัน มันปัดพ้นไป ก็นั่นละ อันนี้แหละ มันละเอียดลออ บางทีมันปัด พ้นไปเฉยๆ กับที่เรา อยู่กับกิเลสเลย แล้วเห็นด้วยปัญญาญาณ ชนะด้วยปัญญา การถอนอนุสัยอาสวะนี่ ต้องชนะ ด้วยการ เห็นอยู่หลัดๆ ด้วยปัญญา แล้วกิเลสมันจางคลายลงไป จนไม่เกิดอาการสังขาร ไม่เกิดอาการปรุงแต่งเลย กิเลสก็อยู่ ตรงนี้แหละ กระทุ้งกระแทกกระเทือนอยู่ตรงนี้หลัดๆ นี่ แข็งแรง เป็นสภาพที่แข็งแรง อยู่ ไม่ต้องหนี ไม่ต้องหลบเลย โลกุตรจิตนี่ โลกุตรจิตที่สมบูรณ์แบบ มันเป็นอย่างนั้น ประกอบด้วยปัญญา ที่เห็นความเกิดและดับ เป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลส ปัญญานี่นะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลสนะ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ๑ เพราะไปดับเอาตัวสมุทัยมัน ชัดเจนนี่มันอันที่ ๕

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะ อันประกอบด้วย องค์ ๕ อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะในธรรมวินัยนี้ อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก สมบูรณ์ ด้วยทางไปมา ไม่ใช่ว่าไปเจาะรูอยู่ แล้วก็ทางตัน ไม่มีที่ไหนมาถึงเลย ไม่ใช่นะ เสร็จแล้วปิดปากถ้ำ แล้วสบายเลย ไม่ใช่ กลางวันไม่เกลื่อนกล่น เป็นแต่เพียงว่า กลางวันก็มีผู้ไปผู้มา พอสมควร แต่ไม่จอแจ จนเกินควร กลางวันไม่เกลื่อนกล่น กลางคืนเงียบเสียง เหมือนอย่างที่เราอยู่นี่ ไม่ได้ยินเสียงโน่นนี่ กลางคืน ก็เงียบ ไม่ใช่เงียบทีเดียวหรอก ก็มีเสียงธรรมชาติ มีเสียง จิ้งหรีด มีเสียงโน่น เสียงนี่อะไรต่ออะไร ตามธรรมชาติ พอสมควร เท่านั้นเอง เราก็รู้ละนะ หมายความว่า เงียบคืออะไร แล้วอย่าไปให้ไม่มี แม้แต่ เสียงธรรมชาติ อยู่คนเดียว อยู่ไม่ได้ยินเสียงธรรมชาติ ไอ้ธรรมชาติที่เราจะได้อยู่ด้วย มันก็จะมีบ้าง เช่น เสียงกรนของเพื่อน อย่างนี้ เป็นต้น มันก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ปราศจากเสียงอึกทึก มีเหลือบยุง ลม แดด และ สัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลานน้อย ๑ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีนะ นี่มันก็น้อยลงมา พอสมควรแล้ว เกือบจะอยู่ ในมาตรฐานหรือยังไม่รู้นะ มียุง ยังเยอะอยู่ หรือยังมากกว่ามาตรฐานอยู่ หรือก็ ท่านก็บอกว่า มีเหลือบยุง มีลม มีแดด มีสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลานน้อย มันก็พอมี อยู่ในมาตรฐานน้อยนี่ ยังว่ายังมากกว่า มาตรฐานอยู่ ยุงน้อยกว่านี้หน่อย ก็ดีเหมือนกันละนะ แต่มันก็ต้องพอมี ไม่เช่นนั้น เราก็ไม่ได้ฝึกฝน ไม่ใช่ยุง ไม่ทำให้เราได้ฝึกฝน แมลงวันก็ทำให้เราได้ฝึกฝน อะไรก็ทำให้เราได้ เป็นเหตุปัจจัยอยู่ได้เลยนะ

นี่อันที่หนึ่งนะ อยู่ในสภาพที่ ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลนัก สมบูรณ์ด้วยทางไปมา กลางวันไม่เกลื่อกล่น กลางคืน เงียบเสียง ปราศจากเสียงอึกทึก มีเหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลานน้อยนะ
๒. จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร นี่ก็มาซ้ำเสนาสนะ ก็มาซ้ำอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นสำนวน ท่านก็ว่า เป็นสำนวนไป มีจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัชบริขาร ปัจจัย ๔ ท่านว่าเป็นสำนวนไป ทั้งๆ ที่มี เสนาสนะ สูตรที่เจาะลงไปถึงเสนาสนะ แล้วก็เจาะลงไปถึงเสนาสนะซ้อนอยู่อีก ในปัจจัย ๔ ก็คล้ายๆ บอกว่า ป่าช้า ป่าชัฏ ก็เจาะลงไปที่ป่าอีกแหละ ตรงกลางนี่ ใครละถามวันนั้น สงสัยคลางแคลง บอกมันข้องใจ พลอยแผ้ว ถามอยู่โน่น สงสัยทำไม ป่าช้าป่าชัฏอีก มันจะคล้ายๆ อย่างนี้ มันซ้อน เป็นสำนวนนะ ก็บอกแล้วว่า เป็นสำนวน คำว่า ป่าช้า ป่าชัฏ อะไรอย่างนี้ มันเป็นสำนวน เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นสำนวน มันก็อย่างนี้เหมือนกันแหละ ทั้งๆ กำลังอธิบายถึง เสนาสนะสถานที่อยู่ มันเป็นยังไงบ้าง เขาบอกว่า มาอยู่ในที่ ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลนัก ก็มีทางไปมา มีอะไรต่ออะไรพร้อม มีองค์ประกอบอะไรนี่ เสร็จแล้ว ท่านก็มาตรงนี้ ท่านก็บอกว่า จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ อีกซ้อนอีกน่ะ มันก็เป็นสำนวนละนะ และ เภสัชบริขาร อันเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ ย่อมเกิดขึ้น โดยไม่ฝืดเคืองแก่ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะนั้น ๑ หมายความว่า มีปัจจัย ๔ ไม่ฝืดเคือง ฝืดเคืองไหมที่นี่ มีจีวรนุ่งห่มไหม จีวรก็หมายถึงเครื่องนุ่งห่ม เป็นสำนวน ทั้งนั้นแหละ พาซื่อละ แม้แต่อย่างนี้ ยังไม่มีเลยจีวร เครื่องนุ่งห่ม บิณฑบาตก็คืออาหาร เสนาสนะ ก็ที่พักที่อยู่ที่อาศัย เภสัชบริขาร มีเภสัช มีบริขาร อะไรต่างๆ อีกพอสมควร นี่ก็มีพร้อม บริขารอะไร ก็มีเยอะแยะ ... มีบริขาร มีเครื่องใช้ เครื่องอาศัยอะไร ที่พอจะอาศัยพอสมควร ไม่ใช่มีแต่มีดโกนอย่างเดียว บริขาร พวกเราก็ใช้อะไร พอสมควรน่ะ โดยไม่ฝืดเคืองแก่ภิกษุ ผู้อยู่ในเสนาสนะนั้น

๓. ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระ เป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ในเสนาสนะ นั้น ๑ นี่ก็เป็นองค์ประกอบ คือหมายความว่า เสนาสนะนั้นนอกจาก จะประกอบไปด้วย เป็นสถานที่ ที่กำหนด ให้แล้วว่า ไม่ใกล้ไม่ไกลนัก มีทางไปมาไม่เกลื่อนกล่น เงียบเสียง ไม่อึกทึกเกินการ มียุง เหลือบ ลม แดด สัตว์เลื้อยคลานอะไรบ้างพอสมควร แต่ไม่มากนัก จนกระทั่งอยู่กันไม่ไหว พอมี เหมือนอย่างกับ ที่เราอยู่ อย่างนี้ สัตว์เลื้อยคลานก็มีงูเห่าบ้าง แต่นานๆ เจอกันทีอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ว่า มีเสียจน โอ้โห ประเดี๋ยว ก็โดนงูเห่ากัด ก็ไม่ถึงอย่างนั้น พอออกไปป่า มันก็เยอะจริงๆ นะ มันไม่ใช่สถานที่ ที่เสนาสนะ อันที่ควรจะอยู่ ไม่ใช่เสนาสนะสปายะ นอกจากจะมีนั้นแล้ว ก็มีองค์ประกอบ ของปัจจัยบริขารพอใช้ พร้อมพรั่งสมบูรณ์ แล้วต้องมีอาจารย์ พระเถระ มีผู้ชำนาญพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ในเสนาสนะนั้น นี่ ๓

๔. ภิกษุนั้นเข้าไปหาพระเถระเหล่านั้น ตามกาลอันสมควร แล้วย่อมสอบถาม ไต่ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของข้อนี้เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น แม้จะไม่ได้รับคำสอน ก็ต้องเข้าหาอาจารย์ ต้องสนิทสนม ต้องทำการศึกษาของตน ต้องเรียนรู้ ครูบาอาจารย์ต้องคบหาอย่างเป็นธรรมดา นี่ข้อ ๔

ข้อ ๕ ท่านพระเถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ย่อมทำให้ง่ายซึ่งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย ย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมะ เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยแก่ผู้นั้น ๑ นี่ ประการที่ ๕ นี่ขาดไหม อาตมาว่า ของเรานี่ครบ ๕ นะ องค์ ๕ ประการนี่ครบ เป็นเสนาสนะที่ดี สมบูรณ์ทุกอย่างแล้ว นี่เรียกว่า เสนาสนะ สปายะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่ คบอยู่ ซึ่งเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก ก็พึงทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ จบ

จบสูตร เสนาสนสูตร อะไรๆ ก็มีครบพร้อม ยังเหลืออยู่แต่ตัวเอง ทวน ข้อไหนองค์ ๕ อันแรก ประกอบด้วย องค์ ๕ เสพเสนาสนะ ประกอบด้วยองค์ ๕ เอาละ เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ พวกเราไม่ปฏิเสธ มีครบครัน ยังเหลือแต่ ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ องค์ ๕ ศรัทธา ศรัทธาในพระปัญญาของพระพุทธเจ้า พร้อมกันนั้น เมื่อศรัทธาในปัญญาของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะต้องมาศรัทธาในกรรม ศรัทธาในวิบาก ศรัทธาใน กัมมัสสกตา ศรัทธาในกรรมเป็นของของตน คนที่ศรัทธากรรมเป็นของๆ ตนนี่ เป็นคนที่มี ปัญญาญาณ ลึกนะ ผู้ที่มีปัญญาญาณลึก ศรัทธาในกัมมัสสกตา หมายความว่า ผู้นี้ไม่ประมาทในกรรม ผู้นี้ซาบซึ้งในกรรม และรู้จักผลประโยชน์ของตน ว่าตนจะต้องก่อกรรมที่เป็นกุศลกรรมใส่ตนเอง เพราะฉะนั้น คนผู้นี้ จะมีความขยันทุกประการ ขยันทั้งการงาน ขยันทั้งละกิเลสให้ตัวเอง เพราะมันเกิด จากกรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นกรรมเลี่ยงๆ กรรมน้อยๆ กิริยาน้อยๆ บทน้อยๆ ไม่มีองค์ประกอบ ที่สมบูรณ์ ไม่มีกาโย ไม่มีอายตนะ ๖ ไม่มีอายตนะนอก ไม่มีอายตนะใน ไม่มีจักขุ ไม่มีวิญญาณ ไม่มีสัมผัส ไม่มีอะไร เป็นปัจจัย ไม่มีอะไรครบครัน มันก็แหว่ง มันก็น้อย มันก็ช้า เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดเข้าใจในกรรม เข้าใจในวิบากแล้ว และซาบซึ้งใน กัมมัสสกตา เชื่อมั่นในกัมมัสสกตา กรรรมเป็นของๆ ตน เราเป็นทายาท ของกรรม กรรมเป็นกำเนิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมเท่านั้นแหละเป็นตัวจริง กัมมสัจจะ กัมมนิยมะ กัมมนิยม กรรมเที่ยง กรรมนี่แหละ เป็นตัวเที่ยงกว่าอะไร

เพราะฉะนั้น คุณสั่งสมกรรมของคุณ จนกระทั่งกรรมของคุณเป็นที่สุด กรรมของคุณเป็นของดี สั่งสม กุศลกรรม จนทั้งกุศล ไม่ว่าจะเป็นกุศลโลกีย์ หรือกุศลโลกุตระสมบูรณ์ แม้เป็นพระอรหันต์แล้ว กุศลที่เป็น โลกุตระสมบูรณ์แล้ว อย่างพระโพธิสัตว์นี่ ที่ปรารถนาพุทธภูมินี่ ต้องมาสั่งสมกรรมด้วยโลกีย์นะ แม้จะได้ ความรู้ เพื่อประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ตนน่ะหมดแล้ว อรหัตผลได้แล้ว ได้ความรู้ ได้รับรู้กว้างขวาง มีโลกวิทู รู้กิเลสมากมายอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นไปอีกนั่นน่ะ เพื่อผู้อื่นทั้งนั้นเลย เพื่อผู้อื่นทั้งนั้นเลย ถ้าจะว่าแล้ว ก็คือ รู้โลกกว้างขึ้น เข้าใจในโลกียะมากขึ้น ช่วยผู้อื่นได้มากขึ้น รื้อขนสัตว์ได้มากขึ้น เป็นกุศล จึงเป็นผู้ที่ น่านับถือบูชา เพราะเป็นผู้ที่เสียสละ ท่านเองท่านมีสิทธิ์แล้ว ท่านจะปรินิพพาน ท่านก็ปรินิพพานได้แล้ว แต่ท่านกลับมาทุกข์ ทนทุกข์ เพื่อที่จะทำความรู้ ความสามารถที่จะช่วยเหลือผู้อื่นต่อๆๆ ต่อออกไปอีก

เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์ทางมหายานถึงได้เทิดทูนยิ่งกว่า อรหัตผล แล้วก็จบในชาติเดียว พอได้ อรหัตผลแล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะปรินิพพาน แล้วก็ปรินิพพานไปชาติเดียว จึงถือว่าพวกยานเล็ก ถึงมีการดูถูก กันกลายๆ แต่ที่จริงก็ไม่ใช่ดูถูกหรอก กล่าวตามสัจจะ ก็เป็นผู้หินยานเป็นยานเล็ก เป็นผู้ที่นำพาผู้อื่นไป ไม่ได้มาก เท่าที่ตัวเองจะมีบารมี เท่านั้นๆๆ เท่าใดก็เท่านั้น แล้วก็ทำโพธิกิจ เท่าที่ตัวเองได้ทำ ก็ช่วยเขาได้ เท่านั้น ชาติเดียวก็ปรินิพพานไปเลย ส่วนมากแล้วพระอรหันต์นี่ เมื่อเป็นอรหันต์แล้ว ความไม่มีตัวตน ความไม่มีกิเลส มันจะมีจริง เมื่อความไม่มีกิเลสมีจริงแล้ว ความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มันจะมีจริง ความมีน้ำใจ ความเกื้อกูลจะมีจริง

เพราะฉะนั้นทุกข์มันก็เบา

(อ่านต่อหน้า ๒)

เห็นอนัตตา...เห็นอย่างไร ADD6A.TAP